เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์จึงปล่อยวางจิต

ที่บ้านจิตสบายที่เขานิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์ รับได้เฉพาะคนที่ลงทะเบียน

อยากให้พวกเราที่ลงทะเบียนมาฟังที่นี่แล้ว ก็เว้นเสีย ให้คนซึ่งเขาไม่ได้มาที่วัดมีโอกาสบ้าง พวกเราลงทะเบียนเก่ง พอลงทะเบียนปุ๊บเอาไปหมดแล้ว พวกเก่าหน้าเดิมๆ ฉะนั้นให้โอกาสคนอื่นก่อน การที่เราเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว มันคือการพัฒนาธรรมะขึ้นในใจเรา อย่านึกว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ เราจะพ้นทุกข์ได้ใจเราต้องสูง ใจต้องสูง ไม่เห็นแก่ตัว คือปล่อยวางตัวตนได้ ถ้าเราจะทำอะไรกระทั่งจะฟังเทศน์เราก็แย่งกัน ไม่เผื่อแผ่ให้คนอื่น ใจเราคับแคบ มันไม่เหมาะที่จะรองรับธรรมะได้หรอก

 

จุดสำคัญคือเราไม่เห็นแก่ตัว ลดละตัวตนลงไป

หลวงพ่อเคยยกตัวอย่างให้พวกเราฟัง บางครั้งที่ยกให้ฟังหลายครั้งแล้ว อย่างตอนหลวงพ่ออยู่เมืองกาญจน์ฯ สวนโพธิญาณอรัญวาสี มีโยม 2 คนคือคุณแม่ชีนุช ตอนนั้นไม่ได้บวช กับพระอาจารย์อ๊า ตอนนั้นก็ยังไม่ได้บวช 2 ท่านนี้เวลาญาติโยมมาที่วัด จะคอยดูแลช่วยเหลือ ไม่ได้กีดกัน ไม่ได้ขับไล่ แต่คอยเกื้อกูล อย่างกินข้าวเสร็จ 2 ท่านนี้ ก็บอกให้โยมไม่ต้องมาช่วยล้างจาน เข้าไปฟังธรรม 2 ท่านนี้ก็ล้างจาน ตอนนั้นเพิ่งสร้างวัดใหม่ๆ ตากแดดล้างจานไป ถึง 11 โมงกว่าแล้วกว่าจะล้างจานเสร็จ ตากแดดอยู่อย่างนั้น แดดเมืองกาญจน์ฯๆ ไม่ธรรมดา ร้อนแรง คนที่มาวัดจะช่วย ก็ไล่เข้าไปฟังธรรมไป ให้โอกาส

ใจที่เสียสละให้ผู้อื่นแบบนี้ เป็นใจที่สูง เป็นใจที่ไม่เห็นแก่ตัว มันเป็นจิตใจที่รองรับธรรมะได้ง่าย ถ้าจิตใจเราเห็นแก่ตัว อะไรกูก็จะเอาๆ แทนที่ภาวนา หรือปฏิบัติ หรือฟังธรรมแล้วจะลดละกิเลสได้ กลายเป็นพอกพูนกิเลสโดยไม่รู้ตัว สะสมไปทุกวันๆ ฉะนั้นคนไหนที่ได้ฟังธรรมที่นี่แล้ว มาที่วัดได้แล้ว ก็ให้คนซึ่งเขาไม่มีกำลังที่จะมาที่วัด ไปฟังในกรุงเทพฯ แบ่งให้เขาบ้าง ที่บอกอย่างนี้เพราะว่า ไม่อย่างนั้นพวกเราแย่งเก่ง ลงทะเบียนก็ลงทะเบียนเก่งอีก มีอะไรก็เอาหมดไม่แบ่ง แบ่งๆ กันไป

การปฏิบัติ จุดสำคัญก็คือเราไม่เห็นแก่ตัว ลดละตัวตนลงไป สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็มีกายกับใจนี้ล่ะ เป็นตัวตนของเรา เราก็ต้องมาเจริญสติ เจริญปัญญา มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจ มีปัญญาเห็นความจริงของกายว่าเป็นไตรลักษณ์ มีปัญญาเห็นความจริงของจิตใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างนี้มันก็ค่อยๆ วาง ค่อยๆ คลายออกๆ เวลาปล่อยวางได้มันก็จะปล่อยวางของที่หยาบๆ ก่อน แล้วก็ค่อยปล่อยวางสิ่งที่ละเอียดประณีตเข้าไปเป็นลำดับๆ อย่างสิ่งที่หยาบๆ ก็คือ อันแรกก็โลกข้างนอก โลกข้างนอก ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อะไรพวกนี้มันเป็นของที่หยาบ ถ้าจิตใจเราหมกมุ่นแสวงหาแต่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ไม่ได้ไปไหน ก็อยู่กับโลกอย่างนั้น

ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นธรรมะประจำโลก เราอยากได้ธรรมะประจำโลก เราก็อยู่กับโลกไปเรื่อยๆ โอกาสจะพ้นโลกไม่มีหรอก บางทีกระทั่งบวชแล้วก็ยังติดความเป็นชาวโลกมา อย่างบวชแล้วบางทีก็แสวงหาลาภ หายศ หาคำสรรเสริญ แสวงหาความสุข ความสบาย อันนั้นก็คือเอาโลกเข้ามาไว้ในวัดอีกแล้ว ฉะนั้นคำว่าโลก ไม่ใช่เรื่องบวชหรือไม่บวช อยู่ที่ใจเรา ใจเราติดโลกไหม ถ้าใจเราหมกมุ่นในเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อยู่อย่างนี้ ก็แย่งชิงกันไป ก็ไม่จบไม่สิ้นหรอก

เราดูระดับอินเตอร์ก็ได้ ประเทศใหญ่ๆ เขาก็แย่งกัน แย่งผลประโยชน์ แย่งชื่อเสียง ความเป็นผู้นำ ให้คนทั้งโลกยอมรับ ให้คนยกย่อง แย่งชิงกันจนโลกจะแตกโลกจะพังอยู่แล้ว โลกที่อาศัยได้แบบโลกของเราดาวเคราะห์สีน้ำเงิน มีไม่มากในจักรวาล ก็ไม่ดูแล ไม่รักษา แย่งชิงกันจนกระทั่งมันจะถล่มทลาย แล้วก็เริ่มมองไปอยากหาโลกอื่นสำรองเอาไว้อยู่อีก มันเรื่องของตัวตนทั้งสิ้นเลย มันมีตัวเรา มันใหญ่ในโลกนี้ไม่พอ มันก็รุกไปถึงโลกอื่นด้วย กิเลสตัณหามันไม่จบไม่สิ้นหรอก นี้พวกเราชาวพุทธเราก็คอยระวัง คอยสังเกตตัวเอง

เราอยู่กับโลกจำเป็นต้องทำมาหากิน ต้องมีกลุ่ม มีคณะ มีพวก เรื่องธรรมดา แต่อยู่ให้เป็นอยู่แล้วไม่เพิ่มอัตตาตัวตน ทำความเข้าใจกับโลกให้ดี โลกไม่มีอะไร มีผลประโยชน์ได้ก็เสื่อมผลประโยชน์ได้ มีตำแหน่งหน้าที่ก็หมดตำแหน่งหน้าที่ได้ มีความสุขก็มีความทุกข์ได้ มีคำสรรเสริญยกย่อง ก็มีคนให้ร้ายนินทาได้ โลกไม่มีสาระแก่นสารหรอก พอเราภาวนาเราเห็น โลกข้างนอกนี้หาสาระไม่ได้เลย เราก็มาเรียนรู้สิ่งซึ่งเรายึดมั่นถือมั่น ยิ่งกว่าโลกข้างนอกอีก โลกข้างนอกอย่างทรัพย์สินเงินทอง เราก็แย่งกันมา แต่เวลาเราเจ็บเราไข้ เรายอมเสียเงินเยอะแยะเลย เพื่อรักษาชีวิตร่างกายนี้เอาไว้ เห็นไหมของข้างนอกที่เราว่าสำคัญที่ว่าดี เราก็ไม่ได้รักเท่ากับร่างกายของเราเอง ยอมเสียเงินเสียทองตั้งเยอะตั้งแยะ ไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล ใช้จ่ายมากมาย เพื่ออะไร เพื่อจะรักษาร่างกายนี้ไว้

เพราะฉะนั้นระหว่างเงินทอง ทรัพย์สิน กับร่างกายนี้ อะไรสำคัญกว่ากัน เราเห็นร่างกายสำคัญกว่า เพราะถ้าร่างกายเราแตกสลาย มีเงินมันก็เป็นของคนอื่น มีชื่อเสียงคนเขาก็จำไว้ได้ชั่วคราว ไม่นานเขาก็ลืม โลกข้างนอกมันไม่มีสาระแก่นสารหรอก เราจะภาวนา ข้างนอกเราก็วางเสียบ้าง แล้วเราก็มาเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของตัวเอง เบื้องต้นจะเรียนรู้กายก่อนก็ได้ หรือจะเรียนรู้จิตใจก่อนก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของเรา ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนกายก่อน แต่เวลาปล่อยวางถึงเราดูจิตๆ อยู่นี้ ในขั้นที่ปล่อยวาง มันปล่อยวางกายก่อนปล่อยวางจิต เพราะระหว่างกายกับจิต กายเป็นของหยาบ จิตเป็นของละเอียด เป็นของประณีต เป็นสิ่งที่เรารู้สึกแน่นแฟ้นว่าคือตัวเรา คือของเราอย่างแท้จริง

 

จิตของเรานี้เองเป็นศูนย์กลางของโลก

ส่วนร่างกายทีแรกเราก็คิดว่าเป็นตัวเราๆ พอเรามาหัดภาวนาสักช่วงหนึ่ง มันลดฐานะจากความเป็นตัวเรา เหลือว่าเป็นของเราเอง นี่ร่างกายของเราๆ ใครเป็นเจ้าของ จะรู้สึกว่าจิตนั่นล่ะเป็นเจ้าของกาย มันลดฐานะจากตัวเราไปเป็นของเรา เราภาวนาต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็น จากฐานะของความเป็นของเรา กายนี้ก็เปลี่ยนฐานะเป็นของโลก ไม่ใช่ของเราหรอก อยู่กับมันไม่นาน มันก็แตกสลายไป คืนให้โลกไป มันมาจากวัตถุ มันก็กลับไปเป็นวัตถุธรรมดาๆ ตอนนี้วัตถุนั้นมาประมวลกันมี 1 หัว 2 แขน 2 ขาอะไรขึ้นมา 1 ตัว มีสัญญาเข้าไปหมายว่านี่ตัวเราๆ มีความยึดถือว่านี่เป็นตัวเรา

พอเรามาภาวนาเรื่อยๆ ดูลงในร่างกายเรื่อยๆ ไปก็จะเห็น มันก็ของโลกนั่นล่ะ มันเป็นแค่วัตถุ หัดภาวนาเรื่อยๆ เราก็จะวาง อย่าหมกมุ่นกับโลกข้างนอก มาเรียนรู้กายรู้ใจมากๆ แล้วมันจะเริ่มปล่อยวางของหยาบ คือปล่อยวางกายก่อน พอเราปล่อยวางกายได้ มันจะเข้ามาที่จิต การภาวนามันจะมาแตกหักกันลงที่จิตนั่นขั้นสุดท้าย ถ้าปล่อยวางจิตได้มันก็พ้นจากทุกข์แล้ว ในจักรวาลนี้สิ่งที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่จุดกึ่งกลางของกาแล็กซีอะไรหรอก คือจิตของเรานี้เองเป็นศูนย์กลางของโลก ศูนย์กลางของจักรวาล เวลาเรามองทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็มองออกไปจากตัวตนของเรา จากจิตนี้เอง

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2526 หลวงพ่อไปกราบหลวงปู่ดูลย์เป็นครั้งสุดท้าย อีก 36 วันท่านก็มรณภาพแล้ว เข้าไปหาท่านตอนกลางวันบ่ายๆ แล้ว เข้าไปอยู่กับท่านก็สอนธรรมะอะไรต่ออะไร ไปนั่งอยู่กับท่าน ถึงเวลาท่านก็พูดเอง เราไม่ต้องทำอะไร เราก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ท่านเห็นธรรมะอะไรสมควรสอน ท่านก็สอนๆ สอนมากมาย จักรวาลเกิดมาได้อย่างไร จักรวาลแตกสลายอย่างไร จะเข้านิพพานมีกระบวนการอย่างไร ท่านสอนละเอียดยิบไปหมดเลย เราฟังก็ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก

ท่านบอกต้นเหตุให้เกิดรูปนามของจักรวาล เป็นเหตุให้เกิดภพและดวงดาวต่างๆ นับไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มต้นอย่างนี้ ฟังแล้วก็ โอ้ อะไรก็ไม่รู้ เข้าใจยาก ตอนค่ำสักทุ่มกว่าๆ แล้ว ท่านก็หอบ ท่านอายุ 96 ปีแล้วนั่งหอบแล้ว พูดนาน หลวงพ่อก็ลาท่านบอก “หลวงปู่ หลวงปู่เหนื่อยมากแล้ว ผมจะกราบลาแล้ว” ท่านบอก “จะกลับแล้วหรือ ยังกลับไม่ได้ ต้องจำอันนี้ไว้ก่อน” “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เข้าใจไหม” บอก “ไม่เข้าใจครับ” ไม่หลอกท่านหรอกว่าเข้าใจ บอกเลย “ไม่เข้าใจ แต่ผมจะจำไว้” ท่านบอก “เออ จำไว้นะ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”

วันนั้นก็นอนพักอยู่ที่สุรินทร์ พอเช้าขึ้นมาก็ขึ้นรถไฟมากราบหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธท่านก็ถาม “ไง นักปฏิบัติ รอบนี้หลวงปู่สอนอะไร” ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ กราบเรียนท่านบอกหลวงปู่สอนว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” หลวงพ่อพุธท่านก็บอกว่า เมื่อ 7 วันก่อน ท่านก็ไปกราบหลวงปู่ หลวงปู่ก็บอกท่านเหมือนกันว่า “เจ้าคุณฯ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านบอกหลวงปู่ก็บอกอย่างนี้เหมือนกัน ตอนที่ท่านเข้าไปกราบ ท่านกลัวหลวงพ่อจะหลงทาง ก็สติปัญญาของเรายังอ่อนด้อยมาก

ธรรมะที่หลวงปู่สอนไว้ คล้ายๆ สมบัติชิ้นสุดท้ายที่ท่านรีบมอบให้ ในเวลาที่ยังไม่ควรจะมอบ ภูมิจิตภูมิธรรมหลวงพ่อไม่ถึงขั้นที่จะไปทำลายจิต แต่ว่าท่านจำเป็นเพราะท่านจะไม่อยู่แล้ว หลวงพ่อพุธท่านก็ขยายความให้ฟังว่า “การทำลายผู้รู้นี้ ทำลายจิต ไม่ใช่ไปทำลายตัวมัน ไม่ใช่ทำลายจิตให้แตกสลายไป มันก็คือการไม่ยึดถือจิตนั่นเอง ไม่ยึดมั่นถือมั่นจิต” ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็มาภาวนาเรื่อยๆ มันก็เห็น จิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์อันหนึ่ง แต่มันยึดถือจิตอยู่ มันไม่ยอมปล่อย มันยึดเอาไว้อย่างแนบแน่นเลย ภาวนาอยู่นาน ภาวนาก็ยังไม่สามารถทำลายผู้รู้ได้ ไม่สามารถทำลายจิตได้

 

จะปล่อยวางจิตได้ ก็ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์

ผ่านมาหลายๆ ปีมันเกิดอาการอันหนึ่ง ก็คือบางทีจิตมันก็ยอมวางจิต แต่วางแล้วมันก็หยิบจิตขึ้นมาอีก วางแล้วก็หยิบๆ อยู่อย่างนี้ ตอนก่อนจะบวช หลวงพ่อจิตเดี๋ยวก็หยิบ เดี๋ยวก็วาง พอดีหลวงปู่สุวัจน์ ท่านมาจากอเมริกา มาอยู่ที่สวนทิพย์ที่ซอยวัดกู้ จิตหลวงพ่อมันวางลงไปแล้ว ก็รีบขับรถจากบ้าน จะเอาจิตที่วางจิตไปให้ท่านดู จะไปถามท่านว่าทำอย่างไรวางแล้วจะไม่หยิบอีก แต่พอขึ้นรถเท่านั้นจิตมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมา ทำอย่างไรมันก็ไม่วาง มันไม่ยอมวาง ทำลายผู้รู้ไม่ได้สักที ก็หยิบอยู่นั่นล่ะ วางแล้วก็หยิบๆ

ใจมันมีความรู้สึกว่าเรายังไม่รู้อะไรบางอย่าง มันก็วางไม่ได้ ขาดอะไรบางอย่าง แต่ไม่รู้ว่าขาดอะไร พอขึ้นรถมาจิตมันก็หยิบฉวยจิตอยู่ ไม่ยอมปล่อย ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ยอมปล่อย จนเข้าไปถึงปากซอยแล้ว ใกล้ที่พักของหลวงปู่แล้ว มันก็หมดความพยายาม เฮ้อ ไม่สำเร็จแล้ว ทำอย่างไรก็วางไม่ได้ จิตนี้มันเป็นอนัตตาจริงๆ พอมันพิจารณาลงไป จิตมันเป็นอนัตตา จิตมันก็วาง จิตมันก็วางจิตลงไปอีก อันนี้ดีใจแล้ว เอาจิตที่วางจิตนี้ ไปนั่งรอหลวงปู่อยู่

ท่านเป็นอัมพาต พระก็เข็นรถท่านออกมา ไปรออยู่พักใหญ่ๆ เข็นรถออกมา แล้วท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา ท่านมองหน้าหลวงพ่อ มองแวบเดียวก็ยิ้ม มองเพดาน มองอะไรไป แล้วท่านก็พูด เรายังไม่ได้ถามอะไรท่านเลย ท่านบอก “บางคนก็สงสัยว่าทำไมจิตปล่อยวางจิต แล้วมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวาง ก็จะหยิบอยู่นั่นล่ะ แต่พอมันเห็นไตรลักษณ์ พอมันเห็นไตรลักษณ์มันก็วางของมันเอง” ท่านพูดอย่างนี้ ก็ยิ้มไปยิ้มมา แต่หลวงพ่อได้คำตอบแล้ว เราจะปล่อยวางจิตได้ ก็ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเราไม่ได้เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่วางหรอก มันเหมือนที่เราปล่อยวางกาย เราเห็นกายมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็วาง

จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่วาง ถ้าเราเห็นแล้วมันถึงจะวาง เพราะฉะนั้นอย่างที่เรามาหัดดูจิตๆ เราก็จะมาเห็น จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น จิตที่ไปลิ้มรส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันไปคิดนึกทางใจ ก็จะเกิดเป็นจิตสุขบ้าง จิตทุกข์บ้าง จิตดีบ้าง จิตโลภ โกรธ หลงบ้าง แต่จิตทุกชนิดนั้นเกิดแล้วดับ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งมันจะวาง มันจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าปล่อยวางจิตได้ มันก็ไม่มีอะไรให้ยึดอีกแล้ว

ที่เราภาวนาเหน็ดเหนื่อยแทบเป็นแทบตาย เราก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรจิตจะปล่อยวาง ทำอย่างไรจิตจะปล่อยวาง ต้องไปภาวนาในป่าหรือเปล่าจิตถึงจะปล่อยวาง ต้องไปอยู่ตรงโน้นหรือเปล่าจิตถึงจะปล่อยวาง ต้องไปที่นี้ไหม หรือต้องฉันอาหารอย่างนี้ จะต้องมีข้อวัตรปฏิบัติอย่างไร จิตถึงจะปล่อยวาง อันนั้นเปลือกๆ มันหลอกเราทั้งนั้น จิตมันปล่อยวางจิตได้ก็เพราะมันเห็นจิตแจ่มแจ้งว่าจิตมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันถึงจะวางได้ ไม่ใช่ดิ้นรน ดิ้นรนจะไปภาวนาที่นั้น ภาวนาที่นี้

มัวแต่สร้างเงื่อนไขหลอกตัวเองให้มันเสียเวลา รู้เข้าไปตรงๆ เลย รู้เข้าไปที่จิตที่ใจของตัวเองตรงๆ วันใดอินทรีย์แก่กล้ามันจะปิ๊งขึ้นมา จิตนี้มันเป็นอนิจจัง บางท่านก็เห็นจิตมันเป็นทุกขัง บางท่านเห็นจิตเป็นอนัตตา แล้วแต่ แต่ละคนพัฒนามาไม่เหมือนกัน อย่างพวกทรงฌานจิตจะปล่อยวางจิตได้ โดยมากจะเห็นทุกข์ จิตนี้คือก้อนทุกข์ก็จะวาง ทำไมพวกทรงฌานต้องเห็นจิตเป็นทุกข์ เพราะเวลาเข้าฌานจิตมันแสนจะสุข มันสุขมหาศาลเวลาจิตมันเข้าฌานอยู่ ฉะนั้นต้องเฝ้ารู้เฝ้าดูจนกระทั่งเห็น ว่าจริงๆ มันทุกข์ พอจิตมันเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ได้ ก็ปล่อยวาง

ฉะนั้นมันจะตอบโจทย์ว่าเราขาดอะไร ที่ทำให้เราปล่อยวางจิตไม่ได้ เราขาดความรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนั่นเอง ไม่รู้ว่าอริยสัจคือไม่รู้อะไรบ้าง ไม่รู้ทุกข์ เราไม่รู้ทุกข์ คือเราไม่เห็นความจริงว่ากายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เพียงแต่ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง ไม่ใช่มีทุกข์กับสุขหรอก เพราะเราไม่เห็นอย่างนี้ เราก็ยังไปหยิบฉวย เราก็ไปดิ้นรน ไปตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าต้องทำอย่างนี้ถึงจะดี ทำอย่างนี้ถึงจะดี แต่ถ้าเราเห็นความจริงลงไปนั้น ไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย

ถ้าเป็นพวกมีปัญญากล้า เดินมาด้วยปัญญาเป็นหลัก มันจะเห็นอนัตตา จิตไม่ใช่อะไรเป็นสมบัติโลก ขว้างทิ้งเลย ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านภาวนาถึงจุดที่แตกหัก ท่านหยิบจิตของท่านมาแล้วขว้างลงทิ้งเลย ท่านเปรียบบอกเหมือนท่านไปถอนต้นหญ้า เอามือจับต้นหญ้าแล้วก็กระชากขึ้นมา ต้นหญ้าหลุดขึ้นมาพร้อมราก แล้วท่านก็ขว้างลงเหวไปเลย อันนี้ปัญญาของท่านแก่กล้า ท่านเห็นว่าไม่มีสาระแก่นสารอะไร ปล่อย

 

ใจที่ดิ้นรนจะบังพระนิพพานไว้

เพราะฉะนั้นเราภาวนา พยายามเรียนรู้ตัดตรงเข้ามาที่จิต ไม่ไปตั้งเงื่อนไขอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่โทษอะไรทั้งสิ้น รู้ที่จิตตัวเอง รู้เท่าทันไป จิตมันปรุงอย่างไร ปรุงสุขก็รู้ ปรุงทุกข์ก็รู้ ปรุงดีก็รู้ ปรุงชั่วก็รู้ ก็ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง หลวงปู่สุวัจน์ท่านก็เคยพูดให้ฟัง ท่านบอกว่า “พระสกทาคามี” ท่านเริ่มบอก “พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เห็นสิ่งเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ไม่มีอะไรหรอก ทิ้งมันไปให้หมดเลย” ท่านพูดง่ายให้ทิ้งไปให้หมดเลย แต่พอภาวนาถ้าเราทิ้งได้ เราก็จะรู้สึกว่ามันง่าย ส่วนคนที่ยังทิ้งไม่ได้ มันก็รู้สึกยาก ไม่รู้จะทิ้งอย่างไร คิดจะทิ้งก็ยิ่งจับ ยิ่งยึดยิ่งจับ

ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากการเห็นกายเห็นจิตนี้เป็นไตรลักษณ์ ไม่มีทางอื่นหรอก คอยรู้อย่างนี้เรื่อยๆ แล้วพอมันแจ้งขึ้นมา กายนี้ไม่ใช่ของดี เพราะไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้น เพราะบังคับไม่ได้ มันก็วางกาย ภาวนาไปเห็นจิตไม่เที่ยง ถูกบีบคั้น บังคับไม่ได้ มันก็วางจิต มันก็วางได้เพราะมันเห็นไตรลักษณ์ เรียกว่ามันรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว รู้ว่ากายนี้จิตนี้ รูปธรรมนามธรรมนี้ ไม่มีอย่างอื่น มีแต่ทุกข์ การเห็นทุกข์นั่นล่ะก็คือเห็นทุกขสัจ เห็นกายนี้ เห็นใจนี้ คือตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้

เพราะเห็นทุกข์ การละสมุทัยก็เกิดขึ้นเอง เราไม่ต้องละอะไรแล้วคราวนี้ จิตมันละของมันเอง อย่างถ้ามันรู้ว่าจิตคือตัวทุกข์ มันก็ไม่มีความอยากที่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก เพราะจิตมันคือตัวทุกข์ จะไปหยิบมันขึ้นมาทำอะไร จิตมันทุกข์เยอะ เราภาวนาไม่ละเอียด เราก็ไม่เห็นว่ามันทุกข์หรอก มันหมุนติ้วๆๆ อยู่ทั้งวันเลย บางคนไม่เห็นมันหมุน เห็นมันไหวยิบยับๆๆ ทั้งวันเลย เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหาทางแก้ ไม่ต้องดิ้นรน รู้ซื่อๆ รู้เข้าไปตรงๆ นั่นล่ะ แต่อย่าถลำลงไปเพ่ง รู้อยู่แบบคนวงนอก ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละสมุทัยไปเอง รู้ทุกข์เมื่อไรละสมุทัยเมื่อนั้น สมุทัยคือตัวความอยาก ตัณหา อยากอะไร อยากให้จิตนี้มันดี อยากให้จิตนี้มันสุข อยากให้จิตนี้มันสงบ อยากมีความสุข อยากไม่มีความทุกข์ อยากไม่มีกิเลส สารพัดอยากเลย สิ่งเหล่านี้มันจะหายหมดเลย

ในนาทีที่เรารู้ทุกข์ กายนี้ทุกข์ จิตนี้ทุกข์ มันก็วาง ละสมุทัยไป พอจิตหมดความดิ้นรน นิพพานก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้ว ไม่ต้องไปหานิพพานที่ไหนหรอก นิพพานไม่ใช่โลกๆ หนึ่ง นิพพานไม่มีพระพุทธเจ้ามานั่งเข้าแถวอะไรหรอก นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก ที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยากได้ ก็เพราะรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง ที่พวกเราปล่อยกายไม่ได้ เพราะเรายังเห็นว่ากายนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง

ที่เราปล่อยจิตไม่ได้ เพราะเราเห็นว่าจิตนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง มันจะดิ้นรนหาความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์ไปเรื่อย ตัณหาไม่หมดหรอก แล้วตรงที่ใจเราดิ้นรน มันจะบังพระนิพพานไว้ นิพพานมีอยู่แล้ว นิพพานไม่ใช่ของที่เกิดใหม่ แต่ว่าเรามองไม่เห็น เพราะโดนตัณหามันบังอยู่ เมื่อจิตมีความอยากเกิดขึ้น แล้วจิตก็ดิ้นเร่าๆๆๆ ก็ไม่สงบสุข ก็ไม่เห็นพระนิพพาน เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร เราก็ละสมุทัยเมื่อนั้น ถ้าเราละสมุทัย คือละความอยากได้เมื่อไร นิโรธคือภาวะที่สิ้นความอยากสิ้นตัณหา ก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตา ในขณะนั้นอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อริยมรรคจะเกิดได้ 4 ครั้ง ในวัฏฏะ เกิดได้ 4 ครั้ง

ตอนนี้เราตื่นเต้นกับเด็กคนหนึ่งอายุ 5 ขวบ ใครเคยเห็นข่าวไหมเมื่อไม่กี่วันนี้ มีข่าวเด็ก 5 ขวบบอกว่าอยากนิพพาน โลกนี้ไม่มีอะไรเลย โลกนี้มีแต่ทุกข์ อย่างนี้ถ้าเด็กมันพูดเอง ไม่ได้มีใครสอนหรอก อันนี้ของเก่าของเขาเยอะ เคยภาวนาแล้วมันจะเห็น โลกไม่มีอะไร โลกมีแต่ทุกข์ เขาอยากนิพพานแต่ก็ยังไม่รู้วิธี เรียนรู้ทุกข์ยังไม่แจ่มแจ้ง แต่ว่าตอนนี้เกลียดทุกข์อยู่ อยู่ในขั้นที่ไม่ชอบทุกข์อยู่ ถ้าเห็นจิตแจ่มแจ้งก็ผ่านไปได้รวดเร็วหรอก ไม่ยาก

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ หรือพวกเราเองโลกนี้เป็นสุข เราดิ้นหาความสุขเร่าๆ อยู่ เต้นเร่าๆ อยู่ทั้งวันเลย อยากได้ความสุข อยากหนีความทุกข์ เด็ก 5 ขวบนั้นมันบอกโลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์ ใจอยากพ้นโลก ถ้าใจเรามันไม่ได้อยากพ้นโลกจริงหรอก มันอยากอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ถ้าเราตั้งเป้าแค่อยากอยู่กับโลกอย่างมีความสุข เราก็ทำบุญไป สร้างคุณงามความดีอะไรไป พากเพียรไป แล้วก็ภาวนาให้เป็นนิสัยไว้ ต่อไปอีกหลายๆ ภพหลายๆ ชาติ บุญบารมีมากขึ้น มันจะเห็นโลกนี้เป็นทุกข์ขึ้นมา ทำบุญเยอะอาจจะรวย เคยถือศีลดีอาจจะสวยหรือหล่อ แต่พอสติปัญญาแก่กล้าขึ้นก็รู้มันไม่มีสาระอะไรหรอก

อย่างบางคนรวยมีความสุขที่ไหน พอรวยแล้วก็มีโอกาสทำชั่วได้เยอะ บางคนหล่อก็มีโอกาสทำชั่วได้เยอะ ใช้ความหล่อไปหลอกผู้หญิง อย่างที่ท่านพระอานนท์ท่านเคยเป็น ท่านทำบุญแล้วท่านก็อธิษฐานขอให้รูปหล่อ เกิดมารูปหล่อก็ไปเป็นชู้กับเมียชาวบ้านเขา ตกนรกไป ฉะนั้นสมบัติในโลกมันมีอันตรายแฝงมาด้วย อย่างเรามีเงินเยอะๆ อันตรายมันก็แฝงมา เดี๋ยวโจรจะมาปล้นไหม กลุ้ม เอาเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารจะล้มไหม มีเรื่องกลุ้มทั้งนั้น ฉะนั้นเราค่อยๆ สะสม ค่อยๆ ภาวนาของเราไป มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตมันจะก้าวกระโดดไป

เอ้า วันนี้เท่านี้ วันนี้เร็ว อยู่กับเครื่องอยู่ไว้ ทำกรรมฐานถ้าไม่มีเครื่องอยู่ มันก็จะหลงยาว แต่เวลาอยู่กับเครื่องอยู่ก็ต้องอยู่ให้เป็น อย่าไปบังคับจิต อย่าไปแต่งจิตให้ซึมๆ นิ่งๆ อะไรอย่างนั้น ไม่ต้อง แค่ระลึกถึงเครื่องอยู่บ่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เอ้า เชิญกลับบ้าน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 กันยายน 2565