รู้ทันความปรุงแต่งของจิต

จิตใจเรามันไม่เคยหยุดความปรุงแต่ง มันเป็นธรรมดาอย่างนั้น มันก็ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง พยายามจะไม่ปรุงบ้าง หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ทั้งวัน เราคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตใจ ปรุงชั่ว มันปรุงจนเคยชิน เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง รู้ทันเวลามันโลภขึ้นมาก็รู้ มันโกรธขึ้นมาก็รู้ มันหลงก็รู้ คอยรู้ทันความปรุงแต่ง บางทีมันก็ปรุงดี

เมื่อวานหลวงพ่อตรวจการบ้านพระในนี้ เรียนกับหลวงพ่อมา 20 กว่าปีแล้ว วันๆ ก็เอาแต่ปรุงแต่ง คอยควบคุมตัวเอง บังคับ อย่างเวลาจะพูดต้องพูดเสียงหล่อๆ เสียงไม่เป็นธรรมชาติ เสียงต้องหล่อ พวกเราก็ทำเสียงให้สวยๆ พวกผู้หญิง ผู้ชายก็ทำเสียงหล่อๆ จะทำ จะเคลื่อนไหวอะไร จะทำงานอะไร ก็เหมือนพระเอกอยู่ต่อหน้ากล้อง ต้องให้ดูดี เหมือนเล่นหนังอยู่ตลอดเวลา เหมือนเขาถ่ายหนัง ผู้หญิงก็เป็น ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ชายหรอก ทำตัวเป็นดาราหน้ากล้องอยู่เรื่อยๆ เวลาจะพูดก็ทำเสียงหล่อ เสียงสวย ให้เสียงสวยๆ ภาษาโบราณเขาเรียกมารยา มารยามาก เป็นคนธรรมดาให้เป็น

 

ความปรุงของจิตใจคือสิ่งที่เรียกว่าภพ

ทำอย่างไรจะเป็นคนธรรมดาเป็น รู้ทันว่ากำลังมารยาอยู่ กำลังเก๊กหล่อเก๊กสวยอยู่ รู้ทันไป นี่เป็นความปรุงแต่งทั้งหมดเลย เวลาจะภาวนาก็เก๊ก เก๊กเป็นนักปฏิบัติ วางฟอร์มจะเคลื่อนไหว จะขยับ จะพูด จะกินอะไรนี่ มันมีฟอร์มของนักปฏิบัติ เป็นนักปฏิบัติ เดินก็ต้องไม่เดินเหมือนคนอื่นเขา นั่งก็ต้องนั่งไม่เหมือนคนอื่น ทำอะไรก็ต้องไม่เหมือนคนธรรมดา ความปรุงแต่งของจิต ถ้าเราไม่รู้ทัน เราก็โดนมันครอบอยู่อย่างนี้ ไม่สามารถเอาชนะมันได้ ก็เลยไม่ธรรมดาเสียที ฝ่ายชั่วก็อย่างที่เล่า ทำไปด้วยอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ ฝ่ายดีก็ทำด้วยอำนาจของโลภะเหมือนกัน ราคะแต่ไม่ใช่กามราคะ อยากดี อยากได้มรรคได้ผล อยากถึงพระนิพพาน มันก็มาจากความอยากทั้งนั้นล่ะ จะปรุงดี หรือปรุงชั่ว มันก็เกิดจากตัณหา

ความปรุงของจิตใจคือสิ่งที่เรียกว่าภพ ฉะนั้นเราจะสร้างภพของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้เป็นผู้บริหารบริษัท สร้างภพ ต้องวางฟอร์มอย่างนี้ แต่งตัวอย่างนี้ กินอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ตอนนี้เป็นอาจารย์ ก็ต้องแต่งตัวอย่างนี้ วางฟอร์มอย่างนี้ พูดอย่างนี้ กระทั่งเป็นพระ พระก็ต้องทำให้ดูดี ดูเรียบร้อย วางฟอร์มให้ดูเป็นพระ พยายามปรุง ปรุงให้ดูดี ลึกๆ ลงไปมันคือความรักตัวเอง มันไม่ได้ทำให้เกิดสติเกิดปัญญาอะไรหรอก

การที่เรานั่งปรุงตัวเองให้ดูดี คอยรู้ทันไปที่ปรุงดีนี่ล่ะ ติดแล้วแก้ยากกว่าปรุงชั่วอีก ปรุงชั่ว อย่างจิตเดี๋ยวก็ปรุงโกรธ ปรุงโลภ ปรุงหลงอะไรขึ้นมา อันนี้เรารู้ว่าเป็นของไม่ดี เราก็ละง่าย เพราะมันมองเห็นง่าย อย่างเวลาโกรธ เห็นไหม หน้าตาเราก็เป็นยักษ์เป็นมาร เสียงเราก็สั่น โกรธมากเสียงสั่นเลย เอะอะโวยวายอะไรอย่างนี้ มันดูน่าเกลียด ในขณะที่ปรุงดีมันดูน่าดู มันดูดี ฉะนั้นปรุงชั่วยังรู้ทันได้ง่าย ละได้ง่ายกว่าปรุงดี แต่ไม่ว่าปรุงดีหรือปรุงชั่ว มันก็เริ่มมาจากตัณหาเหมือนกัน อยาก อยากดีของตัวเองด้วย อยากให้คนอื่นเห็นว่าเราดีด้วยอะไรอย่างนี้ มีหลายอย่าง ลึกลงไปก็คือมันมีเราอยู่ มันมีความหลงผิดว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ ว่าตัวเรามีอยู่ ถ้าเรารู้สึกขึ้นมา จะปฏิบัติธรรมก็ต้องทำให้ดี ก็สนองความเป็นตัวตนนั่นล่ะ โลภ โกรธ หลง มันก็สนองความเป็นตัวตนเหมือนกัน ฉะนั้นความเป็นตัวตนมันถูกพิทักษ์รักษาเอาไว้ วางฟอร์มให้ดูดีอะไรอย่างนี้ ลึกๆ ลงไปก็คือปกป้องตัวตนเอาไว้

เฝ้ารู้เฝ้าดู เฝ้าสังเกตตัวเองเป็นลำดับๆ ไป เมื่อไรจะธรรมดา คนในโลกไม่มีธรรมดาหรอก คนทั้งโลกหาคนธรรมดายากมาก อย่างเวลาเราโกรธ จิตใจเราก็เสียความเป็นธรรมดาไป เวลาเราโลภ จิตใจก็เสียความเป็นธรรมดา เวลาหลงจิตก็เสียความเป็นธรรมดา เวลาอยากดี พยายามบังคับตัวเอง ควบคุมตัวเอง เราก็เสียความเป็นธรรมดา ธรรมดาเลยถูกปิดบังเอาไว้ด้วยความปรุงแต่งที่ไม่ธรรมดา คนทั้งโลกมันไม่ธรรมดาหรอก มันถูกกิเลสปรุงแต่งอยู่ แล้วมันไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น

 

รู้ทันความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งก็ครอบงำใจไม่ได้

อาศัยเราได้ยินได้ฟังธรรมะภาคปฏิบัติ เรารู้ พัฒนาสติขึ้นมา รู้ทันเข้าไป ตอนนี้จิตไม่ธรรมดาแล้ว ไม่ธรรมดาเพราะกิเลสฝ่ายชั่ว ตกต่ำเลย โลภ โกรธ หลง หรือไม่ธรรมดาเพราะอยากดี ปรุงดีหรือปรุงชั่ว มันก็ปรุงแต่ง รู้ลงไปเรื่อยๆ รู้ทันความปรุงแต่ง แล้ววันหนึ่งก็จะพ้นจากความปรุงแต่งได้ ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่งเราก็มีแต่ปรุงแต่งมากขึ้นๆ ปรุงไปตามความเคยชิน เคยชั่วก็ปรุงชั่วบ่อย เป็นนักปฏิบัติก็ปรุงการวางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ ปรุงทั้งนั้นล่ะ แต่พอเรารู้ทัน ถึงจุดหนึ่ง ความปรุงแต่งเกิด เรามีสติรู้ จิตใจจะเป็นอิสระจากความปรุงแต่ง

อย่างมันโกรธขึ้นมา เรารู้ว่าโกรธอย่างนี้ จิตใจก็จะเป็นอิสระจากความโกรธ ความโกรธมาครอบงำจิตไม่ได้แล้ว มาบงการพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจไม่ได้ ทางใจคือบงการความคิด อย่างเราโกรธคนสักคน เราก็คิดไม่ดีกับเขา ความโกรธมันบงการความคิด บงการคำพูด เช่น ไปด่าเขาอะไรอย่างนี้ บงการการกระทำ เช่น ไปตีเขา ความโลภก็บงการพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ความดีก็บงการพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ใจเหมือนกัน ปรุงดีก็ดีกว่าปรุงชั่ว ปรุงดีชีวิตนี้ก็จะเวียนว่ายในสังสารวัฏไปอย่างมีความสุขมากหน่อย ปรุงชั่วก็จะเวียนว่ายไปในความทุกข์มากๆ เลย ไม่ใช่มากหน่อย มากๆ เลย ฉะนั้นความปรุง มันมีปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงดีก็ดีกว่าปรุงชั่ว แต่รู้ทันความปรุงแต่ง อยู่เหนือความปรุงแต่งได้ อันนั้นดีที่สุด

ปรุงชั่วก็ทุกข์แบบคนชั่ว คือทุกข์แสนสาหัส ปรุงดีมันก็ทุกข์อย่างคนดี มันก็ทุกข์เหมือนกัน เมื่อไรพ้นจากความปรุงแต่ง มันก็ไม่ทุกข์ ธรรมะที่พ้นจากความปรุงแต่งเรียกว่าวิสังขาร เป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน วิสังขาร ทำอย่างไรเราจะพ้นความปรุงแต่ง รู้ลงไปเลย จิตปรุงก็รู้ ปรุงก็รู้ไป มันปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลงก็รู้ มันปรุงจะเป็นคนดี ปรุงเป็นนักปฏิบัติ หรือมันปรุงโน้นปรุงนี้ไปเรื่อยๆ ปรุงเป็นพ่อ ปรุงเป็นแม่ ปรุงเป็นลูก ปรุงทั้งนั้นล่ะ อย่างลูกจะพูดกับพ่อแม่ใช่ไหม ก็ปรุงไปแบบหนึ่ง เวลาไปคุยกับเพื่อน มันก็ปรุงไปอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นทุกคนมันมีหน้ากากจำนวนมาก ความปรุงแต่งของเรา ใส่หน้ากาก เปลี่ยนหน้ากากไปเรื่อย มันเป็นผู้บริหารก็มีหน้ากากอย่างนี้ เป็นพระมีหน้ากากอย่างนี้ รู้ไม่ทันก็เป็นทาสมันไปเรื่อยๆ รู้ทันความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งก็ครอบงำใจไม่ได้

อย่างความปรุงชั่วมันเกิด เรามีสติรู้ทันปั๊บ ความปรุงชั่วจะดับอัตโนมัติเลย อย่างเราโลภอยู่ ถ้าเราไม่รู้ทันความโลภ ก็บงการพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ทางใจก็คือบงการความคิด ถ้าเรารู้ทัน เราก็จะเห็นความโลภมันอยู่ส่วนหนึ่ง จิตใจเราอยู่ส่วนหนึ่ง ไม่ถูกมันครอบ ความโลภก็จะดับลงในทันทีนั้นเลยที่สติรู้สึก จิตตั้งมั่นมีสมาธิที่ถูกต้อง มีสติที่ถูกต้อง สติที่ถูกต้องจะเกิดพร้อมๆ สมาธิที่ถูกต้องนั่นล่ะ เกิดด้วยกันนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นเราฝึกเจริญสติ แล้วสติที่ถูกต้องก็เกิด สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิด

วิธีฝึกสติทำได้เยอะแยะไป อย่างการรู้สังขารอย่างนี้ คือรู้การปรุงแต่งของจิต คือรู้ทันจิตตสังขารนั่นล่ะ ความปรุงแต่งของจิต ตัวสังขารขันธ์ ปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลง รู้ทัน มันก็จะดับไป ปรุงดี รู้ทัน การปรุงก็จะค่อยๆ ลดระดับลง เข้าไปสู่ความเป็นธรรมดา เป็นธรรมดาแล้ว จิตใจที่ธรรมดามันเป็นอย่างไร จิตใจที่ธรรมดามันเป็นผู้รู้ มันทำหน้าที่รู้ ไม่ใช่ปรุงแต่งโน้นนี้ไป แล้วมันมีภาวะแห่งความตื่นเกิดขึ้น เราจะรู้สึกเลย ทันทีที่จิตเราตื่นเราจะรู้เลย ตลอดชีวิตที่ผ่านมาตื่นแต่ร่างกาย แต่จิตไม่เคยตื่นเลย แล้วสภาวะที่ธรรมดาของจิตใจ มันมีความเบิกบานอยู่ในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นจะคำว่าพุทโธ คือคำว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็คือจิตใจที่เป็นกุศลของเรานี้ล่ะ รู้เนื้อรู้ตัว

พอจิตใจรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ก็มี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเดินปัญญาได้ อีกกลุ่มหนึ่งพอใจที่จะรู้อยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นกุศล รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา มีสติ ก็ยังมี 2 กลุ่ม พวกหนึ่งเดินปัญญา พวกหนึ่งอยู่เฉยๆ เราก็ค่อยเรียน เห็นความปรุงแต่งที่ประณีตๆ เข้าไปเรื่อยๆ จากปรุงหยาบมาปรุงละเอียด จากปรุงชั่วมาปรุงดี แล้วก็ดีมากขึ้นๆ เฉลียวฉลาดมากขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดในความปรุงแต่ง สิ่งที่เลิศที่สุดในความปรุงแต่งคืออะไรรู้หรือเปล่า ปัญญา ปัญญาคือยอดเลยของความปรุงแต่งทั้งหลาย ปัญญานั้นรู้เหตุรู้ผลๆ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มีอะไรอย่างนี้ รู้เหตุรู้ผล

 

ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ สติเป็นตัวรู้ทัน

เวลาภาวนาบางทีรู้ตัวอยู่เฉยๆ ยังใช้ไม่ได้ ดีเหมือนกัน ปรุงดี แต่ยังดีไม่ถึงที่สุด ปรุงดีให้ถึงที่สุด ต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เห็นสภาวะทั้งหลาย มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ สภาวะทั้งหลาย เห็นไหม มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ มันแสดงอนิจจัง บังคับไม่ได้ การที่มันเกิดจากเหตุและมันดับเพราะเหตุดับ นั่นล่ะมันสอนอนัตตาเรา ฉะนั้นปัญญาจะช่วยให้เราเห็นไตรลักษณ์ของความปรุงแต่ง ถึงจุดหนึ่งจิตก็จะพ้นจากความปรุงแต่งได้ ถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

แต่ปัญญาเกิดขึ้นก็อาศัยศีล อาศัยสมาธิ อาศัยสติ อาศัยองค์ธรรมที่ดี เราพัฒนาขึ้นมา เบื้องต้นตั้งใจรักษาศีล ฝึกสมาธิ ฝึกสติ สามารถฝึกควบไปได้เลย โดยการทำสติปัฏฐานที่ถูกต้อง มีวิหารธรรมไว้สักอย่างหนึ่งที่เราถนัด เป็นรูปธรรม หรือเป็นนามธรรมก็ได้ เอาที่ตัวเองถนัด แล้วก็มีสติรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป อย่างเราหายใจออกหายใจเข้าเป็นบ้านของจิต เป็นวิหารธรรม อย่างจิตมันหนีไป ปรุงแต่ง ไปคิด นึก ปรุงแต่ง รู้ทันมัน จิตก็จะมีสติเป็นตัวรู้ทัน แล้วทันทีที่รู้ทัน ความตั้งมั่นคือตัวสมาธิก็จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันนั้นเลย ฉะนั้นทำสติปัฏฐานไว้ มีวิหารธรรม มีสติระลึกรู้ เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นในจิตใจนั่นล่ะ ความปรุงแต่งมันเกิดแล้ว

อย่างจิตมันเที่ยวแสวงหา นั่งหายใจเข้าพุทออกโธ เดี๋ยวจิตมันก็ส่ายๆ อยู่ข้างใน เริ่มปรุงแต่งแล้ว ส่ายๆ แล้วก็ส่งออกไป ดูทางนี้ๆๆ จิตมันดิ้นรนปรุงแต่งแล้ว ไปเจออันนี้เข้า เกิดพอใจ ปรุงพอใจขึ้นมา นี่ก็ปรุงแต่งแล้ว ปรุงๆๆ ไปเรื่อยๆ ทั้งวัน ไม่เคยหยุดเลย เราอาศัยการปฏิบัติ เจริญสติปัฏฐาน มีเครื่องอยู่ของจิต แล้วระลึกรู้จิตที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ เราจะเห็นเลยว่าทั้งๆ ที่เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ ประเดี๋ยวเดียวก็หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ไปปรุงแต่งความฟุ้งซ่านขึ้นมา หลงไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการที่เราภาวนา เรามีวิหารธรรม แล้วจิตใจมันทำงาน แล้วเรามีสติรู้ เราจะรู้ทันความปรุงแต่ง เราจะรู้เลยว่าความปรุงแต่ง ไม่ว่ามันจะปรุงดีหรือปรุงชั่ว หรือพยายามจะไม่ปรุง พยายามจะไม่ปรุงก็เป็นความปรุง พยายามปรุงความไม่ปรุง เรียกอเนญชาภิสังขาร พยายามไม่ปรุง ดีก็จะไม่เอา ชั่วก็จะไม่เอา จะไม่เอาอะไรเลย จิตก็จะไปหลงว่างๆ ไป นี่ก็ปรุง

พอเรามีสติระลึกรู้เรื่อยๆ จิตใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ เพราะทรงสมาธิที่ถูกต้อง พอมีอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจ ความปรุงแต่งใดๆ เกิดขึ้น สติเป็นตัวรู้ทัน ต่อไปพอรู้ทันบ่อยๆ เข้า มันจะเกิดปัญญา ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ สติเป็นตัวรู้ทัน ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ อย่างทีแรกเราก็อาศัยสติ รู้จิตเดี๋ยวมันก็ไปปรุงดี จิตเดี๋ยวมันก็ไปปรุงชั่ว สารพัดจะปรุงเลย ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกไปช่วงหนึ่ง มันก็เกิดความเข้าใจขึ้นมา เออ จิตนี้มันไม่หยุดปรุงแต่งหรอก มันปรุงแต่งได้เอง จิตนี้มันเป็นอนัตตา หรือเดี๋ยวมันก็เห็น เดี๋ยวมันก็ปรุงดี เดี๋ยวมันก็ปรุงชั่ว เดี๋ยวพยายามจะไม่ปรุง ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงจุดหนึ่งปัญญาก็เกิด ก็เข้าใจจิตนี้มีแต่ความไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว เดี๋ยวพยายามจะไม่ปรุง

ฉะนั้นเราก็อาศัยการเจริญสติปัฏฐานนี้ล่ะ มีวิหารธรรมที่เราอยู่ด้วยแล้วสติเกิดบ่อยๆ เอาอันนั้นล่ะ อยู่กับวิหารธรรมไป เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตมันหนีไปปรุงแต่ง สติเป็นตัวรู้ทัน พอเห็นบ่อยๆ รู้บ่อยๆ สติก็ยิ่งเกิดเร็วขึ้นๆ แต่ก่อนนี้ไม่เคยรู้ทันสภาวะ ต่อมาเรารู้ทัน จิตปรุงความโกรธ พอเรารู้ว่ามันปรุงความโกรธ ต่อไปพอมันปรุงความโลภ ปรุงความหลง ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงอย่างโน้นปรุงอย่างนี้ มันก็ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ไปเรื่อย สติของเราก็จะว่องไวขึ้นเรื่อยๆ มันปรุงท่าไหนก็รู้ทันหมดเลย

ฉะนั้นตัวที่รู้ทันคือตัวสตินั่นล่ะ หัดรู้บ่อยๆ แล้วมันก็จะรู้ทันได้มากขึ้นๆ แต่อย่าลืมว่าจิตต้องตั้งมั่นๆ เป็นแค่คนดู จะเห็นความปรุงแต่งมันเกิดขึ้น จิตเป็นแค่คนดู ความปรุงแต่งนั้นขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ปรุงแต่งไป สติเป็นตัวรู้ จิตตั้งมั่นมีสมาธิ เป็นผู้รู้ผู้ดู ดูซ้ำๆๆ ไป ถึงจุดหนึ่งปัญญาจะเกิดขึ้นเอง ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่การคิด ถ้านั่งคิดเอา ยังไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง เป็นปัญญาเบื้องต้น ปัญญาจากการฟัง การอ่าน การคิด มันเป็นปัญญาขั้นต้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราลงมือภาวนา ลงมือปฏิบัติ เจริญสติปัฏฐานจริงๆ แล้ว ไม่ต้องมานั่งคิดหรอก มีสติรู้สภาวะทั้งหลายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางไป ถึงจุดหนึ่งปัญญามันเกิดเอง คือความเข้าใจมันจะเกิดขึ้น

ฉะนั้นสติเป็นตัวรู้ทัน ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ เข้าใจอะไร เข้าใจไตรลักษณ์ มันจะเข้าใจไตรลักษณ์ขึ้นมา อย่างมันเห็นจิตปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ปรุงสุขบ้าง ปรุงทุกข์บ้าง สติมันรู้ไปทีละช็อตๆ สติรู้ทีละช็อตเท่านั้นเอง แต่รู้ซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญามันเข้าใจ เข้าใจในพริบตาเดียว เข้าใจในพริบตาเดียวเท่านั้นเอง เวลาเข้าใจ มันเข้าใจภาพรวม โอ้ จิตทุกชนิดนี้ไม่เที่ยง จิตทุกชนิดนี้เป็นอนัตตา มันจะเข้าใจอย่างนี้ ฉะนั้นเวลาปัญญาที่แท้จริงมันเกิด มันเกิดในพริบตาเดียวล่ะ ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์อะไร

 

สติเป็นตัวจับ ปัญญาเป็นตัวตัด

อย่างสมมติว่าเราไปอ่านหนังสืออะไรสักอย่างหนึ่ง หรือวิชาการอะไร ฟังเลกเชอร์ ฟังแล้วไม่รู้เรื่องเลย หรือฟังหลวงพ่อเทศน์ ฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่ฟังมาหลายปีแล้ว บทจะเข้าใจ บทปัญญามันจะเกิด มันปิ๊งขึ้นมาเลย อ๋อ อย่างนี้เอง มันอ๋อเลย มันอ๋อ อย่างนี้เอง บางคนยิ่งกว่าอ๋ออีก บางคนจิตอุทานเลย เอ๊ะ อย่างนี้เลยหรือ อย่างนี้ก็มี เพราะฉะนั้นเวลาที่ปัญญาเกิด มันเกิดในพริบตาเดียว เราอ่านหนังสือที่ยากๆ หรือฟังอะไรยากๆ รอบที่หนึ่งไม่รู้เรื่อง รอบที่สองไม่รู้เรื่อง รอบที่สิบไม่รู้เรื่อง รอบที่ร้อยเกิดรู้เรื่อง เวลารู้เรื่องรู้ในฉับพลันเลย รู้ในพริบตาเดียว ฉะนั้นเวลาปัญญาเกิด ไม่เกิดยาวหรอก เกิดแป๊บเดียวเท่านั้นเอง จิตก็เข้าถึงความหลุดพ้นได้ เข้าถึงความบริสุทธิ์เป็นลำดับๆ ไป เป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์อะไรไป

อย่างถ้าเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เราคอยดูความปรุงแต่งของจิตไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้ว่าความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง มันคือภพนั่นเอง ความปรุงแต่งนั้นเป็นที่อาศัยของจิต ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ปรุงชั่วก็ทุกข์ ปรุงดีก็ทุกข์ พยายามจะไม่ปรุงก็ทุกข์ จิตมันรู้แจ้งแทงตลอด จิตมันจะวาง เมื่อไรจิตมันเห็นทุกข์ จิตมันก็จะวาง เหมือนเราเด็กๆ สมัยก่อนที่บ้านหุงข้าวด้วยฟืน หรือด้วยถ่านหุงข้าวอะไรอย่างนี้ ไฟมันสวย เปลวไฟเวลามันลุกมันสวย บางคนชอบดูไฟ ผู้ใหญ่บอกอย่าไปโดนมัน เดี๋ยวมือพองอะไรอย่างนี้ พอผู้ใหญ่เผลอ ลองไปจับดูเพราะมันสวย มันถูกใจ มันอยากได้ อยากได้ก็หยิบมา ไปจับเข้า มันร้อน พอรู้ว่ามันร้อน ต่อไปเรียกให้จับ มันก็ไม่จับแล้ว ถ้าจิตมันฉลาด มันรู้ว่าความปรุงแต่งทั้งหลายเป็นของร้อน ไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก เป็นตัวทุกข์ หยิบขึ้นมาทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที จิตมันจะวางเอง เรียกให้จับมันยังไม่จับเลย

อย่างถ้าเราภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าจิตเราจะเที่ยวจับโน้นจับนี้ตลอดเวลา เดี๋ยวก็ไปจับเรื่องนี้ๆ เดี๋ยวไปจับรูป จับเสียง จับกลิ่น จับรส จับโผฏฐัพพะ จับธรรมารมณ์ จิตวิ่งไปจับโน้นจับนี้ตลอดเลย ภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง มันรู้เลยไม่ว่าหยิบฉวยอะไรขึ้นมา อันนั้นก็คือทุกข์ทั้งสิ้น คือภาระทั้งสิ้น จิตมันก็ไม่ไปหยิบขึ้นมาอีก มันก็เป็นของมันเอง พอปัญญามันเกิด มันรู้แล้วว่า ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีอย่างอื่นหรอก มีแต่ทุกข์ ทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง ทุกข์เพราะมันทนอยู่ไม่ได้ ทุกข์เพราะว่ามันบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้จริง สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราจงใจบังคับ นี่เรียกว่าปัญญา

ปัญญาเกิดปุ๊บ มันจะวางทันทีเลย จะไม่ไปหยิบฉวยแล้วสิ่งนี้ เพราะเรารู้แจ้งแล้ว ฉะนั้นบางทีในตำราเขาสอนว่าสตินี้เป็นตัวจับ ปัญญาเป็นตัวตัด มันจับคืออารมณ์อะไรเกิดขึ้น ความปรุงแต่งอะไรเกิดขึ้น มันรู้ทัน คล้ายๆ มันจับ จับอะไร จับตามอง เห็นแล้ว ไม่ได้เอาไปจับจริงๆ มันแค่จับตามอง สติมันจับอารมณ์ขึ้นมาแล้ว อะไรแปลกปลอมเข้ามาสติจับได้ รู้ ดูไปเรื่อยๆ ความปรุงแต่ง สุดท้ายปัญญาเกิด ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ทุกข์ ไม่มีอะไรหรอก นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป พอปัญญามันเกิด มันจะตัด มันจะไม่ไปหยิบไปฉวยสิ่งนี้อีกต่อไปแล้ว อันไหนที่รู้แจ้งแล้วก็จะวางแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว ฉะนั้นในตำราเขาสอนก็ถูกว่า สติเป็นตัวจับ ปัญญาเป็นตัวตัด มันทำหน้าที่อย่างไร สติเป็นตัวรู้ทัน ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ พอเข้าใจปุ๊บตัดปั๊บเลย

 

ความปรุงแต่งทั้งหลายคือทุกข์

ค่อยภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าความปรุงแต่งทั้งหลายคือทุกข์ พอรู้แล้ว ปัญญามันแก่รอบ มันก็ไม่เอาแล้ว ความปรุงแต่ง จะปรุงชั่ว จะปรุงดี หรือพยายามจะไม่ปรุง มันก็คือปรุง ก็คือทุกข์ทั้งหมด พอจิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง มันก็เข้าถึงความสุขที่อยู่เหนือความปรุงแต่ง ความสุขของความสงบ ความสุขของการพ้นความเสียดแทงทั้งหลาย ความสุขของการไม่มีภาระของใจ ใจมันมีความสุขขึ้นมา อย่างเวลาเราไปงานศพ เวลาพระชักบังสุกุล สวด “อนิจจา วตสังขารา อุปปาทวยธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ” ปัชชิตวา นิรุชชันติ สิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับ นิรุชชันติ มันดับ แล้ววรรคสุดท้าย “เตสังวูปสโม สุโข” สังขารคือความปรุงแต่งทั้งหลายดับเสียได้เป็นสุข

เราภาวนา เราค่อยรู้ทันสังขารไป สังขารคือความปรุงของจิต ถ้าเราไม่รู้ทัน มันจะครอบงำความคิด คำพูด การกระทำ คนชั่วมันก็มีความคิดชั่ว คำพูดชั่ว การกระทำชั่ว มันปรุงดีขึ้นมา มันก็วางฟอร์มให้ดูดี วางฟอร์มให้คนอื่นเขาเห็นว่าเรานี้ดีๆ แล้วตัวเองก็เชื่อว่าอย่างนี้ก็ดี วางฟอร์ม ถ้ารู้ว่าทุกอย่างนี้มันความปรุงแต่งทั้งหมด เป็นทุกข์ทั้งหมด จิตมันก็เลิกปรุงแต่ง ความปรุงแต่งยังมีไหม มี แต่เข้าไม่ถึงจิตอีกต่อไปแล้ว จิตไม่ไปหยิบฉวยขึ้นมาอีกแล้ว เพราะปัญญามันตัดไปแล้ว มันตัดการเชื่อมต่อระหว่างจิตกับความปรุงแต่ง มันขาดสะบั้นออกจากกัน จิตก็เข้าถึงสภาวะที่ไม่ปรุงแต่ง คือพระนิพพาน

ฝึก รู้ทันความปรุงแต่งของจิตไปเรื่อยๆ มันปรุงสุขก็รู้ ปรุงทุกข์ก็รู้ ปรุงโลภ โกรธ หลงก็รู้ ปรุงวางฟอร์มเป็นคนดีก็รู้ ปรุงเป็นนักปฏิบัติก็รู้ อย่างเป็นนักปฏิบัติเห็นไหม จะเดินต้องเดินไม่เหมือนชาวบ้าน ต้องค่อยๆ ยกขาย่างเท้าอะไรอย่างนี้ ให้มันไม่เหมือนคน ไม่เหมือนคนธรรมดา ไม่ใช่ไม่เหมือนคน เดี๋ยวว่าหยาบคาย ไม่เหมือนคนธรรมดา คนธรรมดาคือใคร ก็ตัวเองนั่นล่ะ มีความเป็นธรรมดาอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่เอาความปรุงแต่งไปครอบเสียจนกระทั่งความเป็นธรรมดาของตัวเองหายไป พอไม่ปรุงแต่ง ความเป็นธรรมดาของตัวเองก็ปรากฏขึ้นมา ธรรมดาของกายก็เป็นอย่างนี้ล่ะ มันเป็นอย่างนี้ล่ะ ธรรมดาของจิตมันก็เป็นอย่างนี้ล่ะ

ยากไปหรือเปล่า เห็นนั่งกันซื่อบื้อไปเลย อ่านใจตัวเองให้ออก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง นั่นคือมีวิหารธรรม ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันเวลามีอะไรเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงในกายก็ได้ ในใจก็ได้ ร่างกายก็เป็นสังขารส่วนรูปธรรม จิตใจก็มีสังขารส่วนนามธรรม ถ้าจะดูเข้ามาที่จิตที่ใจ ก็ดูนามธรรมไป ไม่ใช่เรื่องยากอะไรหรอก บางคนว่านามธรรมยาก ยากอะไร ตอนนี้กำลังสุขรู้ไหม ตอนนี้กำลังทุกข์รู้ไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ดูกายก็ไม่เห็นมันจะยากตรงไหนเลย ตอนนี้หายใจออก ตอนนี้หายใจเข้า ตอนนี้ยืน เดิน นั่ง นอน มันยากเสียที่ไหน ฉะนั้นจริงๆ ไม่ได้มีอะไรยากสักอย่าง มันยากตรงที่ขี้เกียจภาวนา

อันแรกเลยไม่รู้หลัก ยากมาก รู้หลักเรียนตำรามา ตำราถูก แต่ตีความผิด ตีความแล้วก็คือไปปรุงแต่งตลอดนั่นล่ะ เฝ้ารู้ พัฒนา มีเครื่องอยู่ แล้วพอเกิดอะไรเปลี่ยนแปลงในกายในใจ วันนี้ที่เน้น คือเน้นที่ใจ มีอะไรเกิดเปลี่ยนแปลงในใจเรา รู้ทันไป เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปทางดี เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปทางชั่ว เดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว รู้ไปเรื่อย สติเป็นตัวรู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ จิตตั้งมั่น มีสมาธิ เป็นคนรู้เฉยๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง รู้ซื่อๆ รู้ธรรมดาๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก สุดท้ายปัญญามันจะเกิดในพริบตาเดียว เข้าใจ ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ พอเข้าใจปุ๊บตัดปั๊บเลย วางทันทีเลย ความปรุงแต่งอันนั้นหลอกเราไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

 

ไปทำเอา อยากได้ของดีต้องทำเอา ไปขอใครก็ไม่ได้หรอก บางคนจะมาขอหลวงพ่อ เอาผ้าไตรมาถวายแล้วก็อธิษฐาน ธรรมใดที่หลวงพ่อรู้แล้ว ขอให้ผมรู้ด้วย หลวงพ่อก็เลยให้พร อันไหนที่หลวงพ่อปฏิบัติแล้ว เราก็ปฏิบัติด้วยก็แล้วกัน อยากรู้สิ่งที่หลวงพ่อรู้ ก็ทำเหตุอย่างที่หลวงพ่อทำก็แล้วกัน ค่อยๆ ทำไป เราก็จะค่อยๆ ทุกข์น้อยลงๆ ทุกข์สั้นลงๆ เห็นด้วยตัวเองได้ หรืออย่างเวลาจิตมันตื่นขึ้นมาครั้งแรก เราจะรู้เลย ตลอดชีวิตนี้ไม่เคยตื่นเลย ตลอดชีวิตหลับฝันตลอดเวลา ตัวฝันนั่นล่ะ ตัวปรุงแต่ง ตัวสังขารล่ะ เดี๋ยวก็ฝันเป็นคนดี เดี๋ยวก็ฝันเป็นผู้ร้ายอะไรอย่างนี้ ใจมันปรุงแต่งทั้งนั้น

ค่อยรู้ค่อยดู วันหนึ่งก็จะพ้นจากความปรุงแต่ง พ้นจากความปรุงแต่งแล้ว ความปรุงแต่งยังมีไหม ถ้ายังมีขันธ์ก็ยังมีสังขารอยู่ อย่าไปวาดภาพพระอรหันต์ว่าไม่มีสังขาร ประสาทแล้ว ขันธ์ยังอยู่ สังขารขันธ์ก็ต้องมี แต่ว่าจิตต่างหากที่มันพ้นจากความปรุงแต่ง ไม่ใช่ไม่มีความปรุงแต่ง จนถึงวาระที่ขันธ์แตกดับนั่นล่ะ ถึงหมดความปรุงแต่งจริงๆ

วันนี้เทศน์เท่านี้ แค่นี้ก็ยากแล้ว ถ้าทำได้ ก็จะได้ของดีล่ะ ใช้เวลาไม่มากหรอก ค่อยๆ ดู พวกที่ใช้เวลาเรียนนานๆ เพราะมันมองความปรุงแต่งไม่ออก ไปตั้งหน้าตั้งตาปรุงแต่ง ปรุงดีไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ได้อะไรหรอก ก็ได้ความทุกข์ไป ทุกข์ของคนดี ภาวนาถูกหลักถูกเกณฑ์ จิตตั้งมั่น สติรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ต่อไปปัญญาคือความเข้าใจก็เกิด เท่านี้ล่ะ แล้วจิตมันก็วางเองล่ะ เข้าใจรูปก็วางรูป เข้าใจนามก็วางนาม เข้าใจจิตก็วางจิต.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
20 กุมภาพันธ์ 2565