เรียนรู้ความจริงของโลก

เมื่อเช้าหลวงพ่อเดินตรวจแถวพระ เจอพระองค์หนึ่งอายุยังน้อย บอกให้ไปเรียนหนังสือเสีย ยังไม่ใช่เวลาที่จะบวชยาวๆ ถ้าเข้าใจโลกมันภาวนาง่ายหน่อย ไม่รู้จักโลกเลยมันภาวนายาก พระพุทธเจ้าบอกมีแต่ทุกข์ ในโลกมีแต่ทุกข์ คนไม่รู้จักโลกมันยังไม่เห็นทุกข์หรอก ยังไม่เข้าใจ บอกดูเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนท่านออกมาบวชอายุยี่สิบเก้า มีลูก มีเมีย ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องมีก่อน หมายถึงท่านรู้ชีวิตชาวโลก แล้วท่านเห็นในโลกมันมีแต่ทุกข์ เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย แล้วเห็นนักบวช ท่านก็รู้เลยโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ พอท่านเข้าใจว่าโลกนี้มันมีแต่ความทุกข์ ใจที่อยากจะดิ้นรนต่อสู้เพื่อความพ้นทุกข์มันก็เกิดขึ้น

ถ้าไร้เดียงสาไม่รู้จักว่าโลกเป็นอย่างไร เมื่อไม่เห็นทุกข์มันภาวนาก็ทำไปอย่างนั้น ก็ไม่ได้ความอะไรเท่าไรหรอก บางท่านมีปัญญาท่านบวชตั้งแต่เด็กๆ เป็นเณร ครูบาอาจารย์จำนวนมาก ท่านก็เห็นทุกข์เหมือนกัน สมัยก่อนเป็นชาวไร่ชาวนาชีวิตลำบาก ท่านก็เห็นชาวโลกมันทุกข์เยอะ มายุคเราสิ่งหลอกลวงมันเยอะเหลือเกินที่จะให้หลง ถ้าเราไม่เห็นทุกข์ของโลก เราจะไม่มีกำลังที่จะออกจากโลกหรอก คนทั่วไปไม่เคยอบรมจิตใจมา มันไม่เห็นทุกข์ ก็หลงโลกไปวันหนึ่งๆ แต่คนซึ่งมีบุญบารมีสะสมมา อยู่กับโลกก็เห็นโลกไม่มีอะไร เป็นทุกข์ ว่างเปล่า หาสาระแก่นสารไม่ได้ ถ้าใจแบบนี้เป็นใจที่เหมาะมากเลยกับการภาวนา

เราจะเห็นทุกวันนี้มีข่าวแทบทุกวันเลย พระสร้างความเสียหายตลอดเวลา เราก็บอกว่าพระไม่ดีศาสนาคงไม่ดี ถึงสร้างบุคลากรที่ไม่ดีอย่างนี้ออกมาเยอะแยะ คนเหล่านี้มันมีหลายแบบที่ไปบวช พวกหนึ่งบวชไปไม่รู้เรื่องอะไรก็บวช อยู่ในวงการพระอยู่ตามๆ กันไป เขาเรียนก็เรียนบ้าง เขาหาตำแหน่งก็หาบ้าง ไม่ได้ลิ้มรสชาติของธรรมะ สำนวนโบราณบอก “เป็นทัพพีที่ไม่รู้รสแกง” เป็นกระบวยอยู่ในหม้อแกงไม่เคยรู้รสชาติ ถึงบวชกี่ปีก็ตาม บวชจนยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม ไม่เคยรู้รสชาติของธรรมะ จิตใจมันก็เป็นชาวโลก ยังเป็นชาวโลกอยู่ มีข่าวมาเรื่อยๆ แทบทุกวัน มันสร้างความเสียหายเรื่อยๆ ที่จริงคนพวกนี้ไม่ใช่พระ ต้องเข้าใจ ก็แค่มาใส่เครื่องแบบเป็นพระโดยสมมติไม่ได้เป็นจริง

ฉะนั้นถ้าอย่างมาบวชแล้วไม่ได้ภาวนา หรือไม่ได้ศึกษาธรรมะเพื่อจะขัดเกลาตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์ ก็ทำผิดอะไรได้มากมาย วัดกรรมฐานไม่ได้ให้บวชง่าย กว่าจะได้บวชผ่านกระบวนการคัดกรองอย่างเข้มงวดเลย วัดครูบาอาจารย์จะบวชต้องไปถือศีลอยู่วัดก่อน ถือศีล 8 อยู่วัด บางทีอยู่กับเป็นปีๆ ฝึกภาวนาฝึกอะไร ฝึกข้อวัตรปฏิบัติแบบพระ พอทดลองดูแล้วมันไปไม่ไหว เขาก็ไม่ได้บวชก็กลับบ้านไป เดี๋ยวนี้บวชง่ายใครจะบวชก็ไปบอกหาอุปัชฌาย์ ปุ๊บปั๊บก็บวชแล้ว มันคือชาวบ้านล้วนๆ เลยไม่เคยให้จะเป็นพระอะไรเลย จุดอ่อนมันเริ่มตั้งแต่ระบบ การคัดเลือกคนเข้ามาสู่วงการสงฆ์ เข้ามาแล้วระบบของการให้การศึกษา จะเป็นพระสายปริยัติหรือสายปฏิบัติ ทั้งหมดต้องปฏิบัติ อย่างน้อยต้องรักษาศีล มีศีลอันดีก็ถือว่าได้ปฏิบัติธรรมแล้ว

การปฏิบัติไม่ใช่แค่นั่งสมาธิ เดินจงกรม การที่พยายามทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าถึงจะเรียกว่าปฏิบัติ แล้ววัตถุประสงค์ในการบวชของแต่ละคน มันก็ไม่เหมือนกัน บางคนมันติดยาแล้วก็มาบวชหวังว่าจะมาเลิกยา สุดท้ายเลิกไม่ได้จนเป็นเจ้าอาวาส เอาพระพุทธรูปไปตัดขายเอาเงินไปซื้อยา มันไม่ได้เป็นพระอะไรหรอก วัดกรรมฐานมาอยู่แล้วไม่ภาวนา อยู่ไม่ได้ ไม่โดนมนุษย์ขับไล่เทวดาก็ขับไล่เองอยู่ไม่ได้ เราต้องแยกแยะให้ออกว่า อันหนึ่งมันลูกชาวบ้านธรรมดาคนธรรมดาแค่แต่งเครื่องแบบ คนพวกนี้ไม่ได้สนใจ ไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการบวช ว่าจะภาวนาเพื่อพ้นทุกข์ หรือเพื่อจะศึกษาธรรมะแล้วเอาไปปฏิบัติ ถ้าไม่ได้มีเป้าหมายที่ดีก็บวชส่งเดชไปอย่างนั้น ดำรงชีวิตแบบไม่มีเป้าหมาย ถ้ามีเป้าหมายชัดเจน บวชเพื่อศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์ เข้าใจโลกมาพอสมควรแล้ว โลกนี้ไม่มีสาระ บางคนบวชแต่เด็กสุดท้ายไม่รู้จักโลก ก็หลงโลก หลงโลกอยู่ในเพศของพระบ้าง สึกออกมาก็เป็นทิดหลงโลกบ้าง ไม่เข้าใจโลก ถ้าเข้าใจเราถึงจะบวชไม่บวชก็ตาม เราชาวพุทธเราต้องมีเป้าหมาย ไม่ใช่เป็นชาวพุทธส่งเดชไปตามๆ กันไป ไร้สาระมากเลย

เป้าหมายของเราชาวพุทธ อันแรกเลยต้องเรียนรู้คำสอนในพระศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้า ของพระสาวกที่ดีๆ มีคำสอนอยู่มากมายในพระไตรปิฎก ทั้งของพระพุทธเจ้า ทั้งของพระสาวก มีครูบาอาจารย์ท่านก็ยังสืบทอดธรรมะภาคปฏิบัติกันมา ภาคปริยัติมีตำราอยู่แล้ว ถ้ามีเป้าหมายว่าเราจะศึกษาธรรมะ เพื่อเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็เอามาทำมาปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่ออะไร เพื่อความพ้นทุกข์ ถึงจุดหนึ่งก็จะถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ เบื้องต้นก็พ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือพ้นโลกนั่นล่ะ เพราะโลกมันคือตัวทุกข์ จะพ้นโลกได้ก็ต้องเข้าใจโลก

“เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว” กระบวนการทางจิตใจมันจะพัฒนาไปในแนวนี้ ไม่รู้ทุกข์ก็หลงเพลินอยู่กับโลก เหลวไหล เป็นโยมยังไม่เท่าไร มาบวชแล้วก็อาศัยผ้าเหลืองทำให้ภาพของพระศาสนาเสียหาย ถามว่าธรรมะจะเสื่อมไหม ธรรมะไม่เสื่อม ธรรมะไม่ได้เสื่อม เพราะดิน น้ำ ไฟ ลม เพราะอะไรต่ออะไรไม่เสื่อม ธรรมะ แต่ธรรมะอันตรธานไปได้ ไม่เสื่อมแต่หายไป ธรรมะเป็นสัจธรรมอย่างไรก็ไม่เสื่อม แต่มันหายไปเป็นช่วงๆ และช่วงที่หายนั้นยาวนาน จนมีพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ขึ้นมา ค้นพบของที่หายไปเอามาประกาศ อยู่ได้ชั่วคราว ผู้คนรักษาสัจธรรมไว้ไม่ได้ก็อันตรธานไปอีก

เราชอบพูดเรื่องพระไม่ดีทำให้ศาสนาเสื่อม ธรรมะเสื่อมอะไรอย่างนี้ ไม่เสื่อมหรอกแต่อันตรธาน นี้ทำอย่างไรเราจะไม่ให้อันตรธาน อันตรธานไปได้ก็เพราะชาวพุทธ ชาวพุทธไม่เคารพในคำสอนของพระศาสดา ไม่เคารพในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่เคารพเพื่อนสหธรรมิกที่ดีๆ ไม่เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศาสนามันก็อยู่ไม่ได้ อันตรธานไป รอวันเวลาในอนาคตอันยาวไกล จะมีท่านผู้ใดผู้หนึ่งค้นพบขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะก็มาค้นพบของซึ่งมันเคยมีอยู่แล้ว มันไม่ได้สูญหายแต่หามันไม่เจอ พวกเรามีโอกาสแล้วได้เจอธรรมะแล้ว ใครเขาเป็นอย่างไรเรื่องของเขา มีข่าวอลัชชีทุกวันก็ช่างของเขา เรารีบภาวนา แต่ถ้าเราจะเจออลัชชีจริง เราอย่าปล่อย เป็นหน้าที่ของชาวพุทธ ต้องช่วยกันชำระล้างรักษาศาสนาไว้ เหมือนชาวบ้านช่วยกันไล่จับพวกไม่ดีที่แอบอยู่ในวัด อันนั้นเขาทำถูกแล้ว เราอย่ามามัวไล่จับคนอื่นอย่างเดียวไม่พอ เราต้องทำความรู้จักตัวเองจับกิเลสตัวเองให้ออก เราก็จะได้ประโยชน์สูงสุด

 

ตั้งเป้าให้ถูกว่าเราจะเรียนรู้ตัวเอง

การที่เราไปช่วยกันปราบพวกอลัชชีก็เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น เป็นการรักษาคำสอนนี้ให้ดำรงอยู่ การที่เราลงมือปฏิบัติจริงๆ เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง อย่าเอาแต่ประโยชน์คนอื่น บางคนก็คอยตั้งเป้าไปไล่จับพระ ก็ทิ้งประโยชน์ของตัวเองไป น่าเสียดาย อยากได้ประโยชน์ของตัวเองก็เรียนรู้ตัวเองให้ดี ไม่ยากหรอก ตั้งเป้าให้ถูกว่าเราจะเรียนรู้ตัวเอง ธรรมะจะเข้าใจได้อาศัยการเรียนรู้ตัวเอง สังเกตลงในกาย ร่างกายนี้เป็นของดีของวิเศษ หรือร่างกายนี้เป็นทุกข์ เราอยากรู้จักทุกข์ อยากรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งว่าโลกนี้ทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าโลกไม่เฉพาะหมู่สัตว์ทั้งหลายหรอก

สิ่งที่เรียกว่าโลกอีกนัยยะหนึ่งก็คือรูปธรรมนามธรรม อยู่ในตัวเรานี่เอง โลกนี้ เราก็เรียนรู้ลงมาในโลก คือในกายของเรานี้ ในกายนี้ ร่างกายนี้มีทุกข์มองเห็นไหม นั่งอยู่ก็เป็นทุกข์มันเมื่อย นอนอยู่ก็ทุกข์ต้องพลิกซ้ายพลิกขวา คืนหนึ่งๆ พลิกหลายสิบครั้ง พลิกไปพลิกมาเพราะมันทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ เดินมากๆ ก็ปวดเมื่อยหมดเรี่ยวหมดแรง รวมแล้วมันทุกข์ทุกอิริยาบถ คอยมีสติเรียนรู้ลงไป มีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวนั่นคือตัวสมาธิ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ใช่หลงลืมกายลืมใจตัวเอง หลงออกไปสนใจแต่โลกข้างนอก อันนี้เรียกว่าฟุ้งซ่าน ถ้าจะเรียนรู้ตัวเองก็ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว คอยดูกายคอยดูใจของตัวเองไป ดูไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นอะไร ดูแล้วจะเห็นทุกข์ กายนี้ทุกข์อยู่ทุกๆ อิริยาบถ ทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก คอยดูไปเรื่อยๆ จะรู้เลยกายนี้คือตัวทุกข์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน

บางคนก็ตั้งเป้าหมายผิด ภาวนาหวังจะให้จิตใจมีความสุข คิดว่าถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วจิตนี้จะได้มีความสุขนิรันดร อยากได้ความสุข เลยไม่เห็นความจริงว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ จิตมันอยู่ในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 อย่างไรก็เป็นตัวทุกข์ มันจะวิเศษอย่างไร มันก็ตัวทุกข์นั่นล่ะ อย่างเราจะดูจิตใจเรา เราก็ดูลงไปเลยเห็นแต่ความเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวสุขชั่วคราว สุขก็ดับ เดี๋ยวทุกข์ ทุกข์ก็ดับ เดี๋ยวเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ มันก็อยู่ได้ชั่วคราวแล้วก็ดับอีก จะเอาความสุขเป็นที่พึ่งที่อาศัยของชีวิต เราจะเห็นเลยว่าเอาไม่ได้หรอก เพราะความสุขไม่ยั่งยืน ฉะนั้นจะภาวนาแล้วอยากได้ความสุข ไม่ได้เรื่องอะไร ไปเอาของซึ่งมันไม่ยั่งยืนมาเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติ

เฝ้าดูจิตใจของตัวเองลงไปเรื่อยๆ ไม่มีอย่างอื่นหรอก จิตใจเรามีแต่ความไม่เที่ยง โดยเฉพาะสิ่งที่เราอยากได้ที่สุดคือความสุข ความสุขมันก็ไม่เที่ยง ดิ้นรนแทบตายเพื่อจะได้มีความสุข อยู่ได้แป๊บเดียวก็ดับไม่มีความสุขแล้ว อย่างดิ้นรนตั้งนานกว่าจะหาแฟนได้ ได้แฟนแล้วก็ไม่มีความสุขอีกแล้ว อยากแต่งงานมีครอบครัว ไม่นานความรู้สึกมันก็เปลี่ยน ความสุขมันหลอกๆ ให้เราวิ่งดิ้นพล่านๆ เที่ยวแสวงหามัน แต่พอเราตะครุบมันไว้ได้ มันจะหลุดมือหนีไปในเวลาอันสั้นเลย วิ่งไล่ตะครุบความสุขมันเหมือนวิ่งไล่จับเงาของตัวเอง จับลงไปก็ว่างเปล่าไม่มีอะไรติดมือขึ้นมา วิ่งตามเงาของตัวเอง

 

ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลางจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

เราภาวนาดูจิตดูใจไป เราจะเห็นความสุขเอาเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้หรอก เหมือนเงา ไล่ตะครุบเหนื่อยแทบตายเลยแล้วก็ว่างเปล่า หายไปแล้วจับไม่ได้ ความทุกข์เกลียดมันจะเป็นจะตาย เดี๋ยวมันก็มาอีกแล้ว ห้ามมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป เพราะฉะนั้นอย่าไปเกลียดมัน เกลียดมันแต่ต้องอยู่กับมัน ทุกข์นะ แต่อยู่กับมันโดยรู้เท่าทันมัน แต่ไม่เกลียดมัน จิตเป็น กลางกับมัน จิตไม่ทุกข์เท่าไรหรอก เหมือนคนในบ้านเราสมมติเราเบื่อแฟนเราเต็มทีแล้ว เบื่อสามีคนนี้เต็มทีแล้ว ห่วยแตก แต่ยังเลิกกับมันไม่ได้ สงสารลูกยังเลิกไม่ได้ต้องอยู่กับมัน แต่อยู่ไปก็เกลียดไป เห็นไหมจิตใจตัวเองไม่มีความสุข ถ้าอยู่แล้วใจมันเป็นกลาง ดีชั่วก็ตัวเอง ตัวของเอ็งไม่ใช่ตัวข้านี่หว่า ใจเป็นกลาง ทุกข์ขึ้นมาใจก็เป็นกลางไม่เกลียดมัน สุขก็ไม่หลงมัน ทุกข์ก็ไม่เกลียดมัน เป็นกลาง

ค่อยรู้ค่อยดูลงไป ฝึกตัวเองไป ในที่สุดจิตมันจะเข้าไปสู่คำว่ากลาง เป็นกลาง ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งที่หลวงพ่อเรียนกับท่านก็คือหลวงปู่เทสก์ ท่านสอนดี ท่านบอกว่า “ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลาง จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” ทุกข์เพราะกระหายในความสุข ทุกข์เพราะเสียดายในความสุขที่หายไป ทุกข์เพราะมีความทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์เพราะไม่อยากให้ความทุกข์เกิดขึ้น สารพัดจะทุกข์ ถ้าจิตเป็นกลางเสียอย่างเดียวมันจะเห็น ความสุขความทุกข์มันเหมือนสายลมแสงแดด พัดมาพัดไป ผ่านมาผ่านไป เหมือนฝันๆ อยู่เท่านั้นเอง ชีวิตเหมือนฝันๆ อยู่เท่านั้นเอง ใจมันเป็นกลางเห็นโลกนี้ คือความฝันเท่านั้นเอง คนเขาแต่งเพลงไว้ โลกนี้คือละคร มันหลอกๆ ไม่ใช่ของจริง

พอเราเรียนรู้ลงในกาย เรียนรู้ลงในใจ ก็เห็นความจริงทุกอย่างในชีวิตเรามันชั่วคราวหมด ในร่างกายเดี๋ยวมันก็แก่ เดี๋ยวมันก็เจ็บ เดี๋ยวมันก็ตายจนได้ ทางจิตใจเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ชั่ว อยากดี เมื่อกี้พูดถึงเรื่องอยากได้ความสุข แล้วก็เหมือนจับเงาจับไม่ได้จริง อยากดีก็เหมือนกัน แต่มันฟังยากดูยากนิดหนึ่ง คนอยากดีถามว่าดีไหม ดี พ้นทุกข์ไหม ไม่พ้น พออยากดีจิตก็จะแสวงหาดิ้นรน ทำอย่างไรจะดีกว่านี้ ทำอย่างไรจะดี แสวงหาอยากให้มันดี อยากให้มันดี แสวงหาเท่าไรมันก็ทำไปด้วยความโลภ ถามว่ามันดีกว่าชั่วไหม ทำดีก็ดีกว่าทำชั่วล่ะ ทำดีมันทุกข์แบบคนดี ทำชั่วมันทุกข์แบบคนชั่ว ทุกข์แบบคนชั่วนี้มันทุกข์สาหัส ทำตัวเองทุกข์ด้วย ทำคนอื่นทุกข์ด้วย ทำดีมันก็ทุกข์อย่างคนดี ทำตัวเองทุกข์ด้วย ทำคนอื่นทุกข์ได้ด้วย

อย่างมีบางครอบครัวภรรยาอยากจะดี อยากปฏิบัติก็บอกสามี ต่อไปนี้แยกห้องนอนกัน สามีไม่ได้เต็มใจ ภรรยาคิดเอาข้างเดียว อย่างนี้ล่ะดีเป็นบุญ ไม่นานก็บ้านแตกร้องห่มร้องไห้ มาฟ้องพระ มาฟ้องแม่ชี สามีทิ้งไปแล้ว เป็นคนดีไหม เป็นคนดีแต่ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ละเลยหน้าที่ มันเป็นคนดีที่ไม่สมควรหรอก ดีแต่ปากเฉยๆ ไม่รู้จักว่าอะไรดีไม่ดี ละทิ้งหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำ ไม่ดีหรอก มีพ่อมีแม่ พ่อแม่ไม่มีคนดูแลแก่แล้ว อยากบวชทิ้งมาบวชเลย บอกไม่ยึดถือโลก ที่จริงคือไม่รับผิดชอบ ฉะนั้นแยกให้ออกความไม่รับผิดชอบเป็นเรื่องไม่ดี เป็นบาป อยากทำความดีแต่ว่าละทิ้งหน้าที่ที่ควรทำ ไม่ถูกหรอก

ฉะนั้นเราต้องค่อยๆ เรียน ค่อยๆ เรียน เข้าใจโลกไม่มีสาระหรอก แต่ยังจำเป็นต้องอยู่กับมัน ก็อยู่กับมันด้วยความเป็นกลาง ถ้าอยู่กับมันแล้วซัฟเฟอร์ตลอด เครียดตลอด เสียใจตลอด ก็อยู่ไม่เป็น อยู่กับโลกก็ต้องอยู่กับมันให้เป็น เข้าใจมัน เรายังมีหน้าที่อยู่กับมัน เราก็อยู่กับมันแต่อยู่อย่างเข้าใจมัน ไม่ใช่หลงโลก อย่างบางคนบวช 10 ปี 20 ปี บวชมาแต่เด็กไม่รู้จักโลก เป็นพระคนเขากราบเขาไหว้ ก็หลงคิดว่าตัวดีตัววิเศษกว่าคนอื่น จริงๆ ไม่ใช่ เขากราบผ้าเหลืองหรอก เขาเห็นว่าอยู่ในเครื่องแบบพระพุทธเจ้า เขาไม่ได้กราบเธอหรอก เธอมีอะไรให้เขากราบ นี่ไม่เข้าใจโลก บางทีตอนบวชอยู่โอ๊ยคนนับถือกราบไหว้ เลยเมา สึกออกมาไม่มีใครเขาสนใจหรอก ก็เป็นนายอะไรคนหนึ่งเท่านั้นล่ะ ถ้าเข้าใจโลกก็จะไม่คิดอย่างนั้นหรอก

ฉะนั้นอย่างคนจะมาบวชกับหลวงพ่อไม่ใช่ง่าย จะมาบวชที่วัดนี้หลวงพ่อสอบประวัติก่อนทั้งนั้น แต่ละคน พวกติดยาหรือเปล่า ติดยาเดี๋ยวมันก็เอายามาสูบในวัดจนได้ ความประพฤติพอจะขัดเกลาไหวไหม ถ้าพอจะขัดเกลาได้ก็โอเค กระทั่งร่างกายแข็งแรงพอจะบวชไหม บวชแล้วจะต้องรักษาข้อวัตรของพระให้ได้ จะทำได้ไหม ดูเยอะนะ เพราะฉะนั้นกว่าจะบวชหลุดเข้ามาในนี้ได้ ไม่ใช่ง่ายหรอก ถ้าเป็นวัดป่าท่านก็ใช้อีกวิธีหนึ่ง ท่านให้ไปเป็นผ้าขาวอยู่นานๆ แต่คนยุคนี้ลางานมาบวชมันนานไม่ได้ มีเวลาจำกัด เราก็ต้องปรับวิธีในการเช็คว่าคนนี้ตั้งใจจริงหรือเปล่า ดูแลตั้งแต่ก่อนบวช ระหว่างบวชไม่คลาดสายตาเลย กลางค่ำกลางคืนไปทำอะไรไม่คลาดสายตาหรอก แล้วก็ประเมินผลภาวนาดีขึ้นไหม ถ้าภาวนาแล้วไม่ดีขึ้น ปรับตัวได้ไหม มีอะไรบกพร่อง ปรับตัวไม่ได้ออกไป ปรับตัวได้ก็อยู่ต่อ ระบบของวัดจริงๆ เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ใครอยากบวชก็ได้ มันก็เละเทะไปหมด แต่มันยากในการตรวจสอบ ถ้าบอกว่าก่อนจะบวชต้องให้สันติบาลสอบประวัติ ศาสนาก็อยู่ยาก ลำบาก วิธีการในการตรวจสอบก็ต้องมี

 

หัดทำตัวเองให้เบา

อยากพ้นทุกข์รู้สึกตัวไว้ สังเกตลงในกาย สังเกตลงในใจ จะเห็นในกายนี้มีแต่ทุกข์ ในใจนี้มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของบังคับไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูจิตมันจะเริ่มเบื่อ กระทั่งร่างกายตัวเองยังเบื่อเลย มันจะไปสนใจอะไรกับร่างกายคนอื่น เรื่องเอาสีกาเข้ามาอยู่ในห้อง มันเป็นไม่ได้เลย ร่างกายของตัวเองยังเบื่อเลย จะไปสนใจอะไรร่างกายคนอื่น ไปเอาที่รัดผมมาคาดหัวเล่นอะไรอย่างนี้ บ้าแล้วอ้างส่งเดช ฉะนั้นพวกเราเป็นโยม เป็นฆราวาส เราก็ต้องทำ ภาวนาเข้า รู้เนื้อรู้ตัวไว้ เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป วันหนึ่งก็จะรู้ว่า ในโลกนี้อะไรมีคุณค่าบ้าง ในโลกมีแต่ของชั่วคราว สิ่งที่มีคุณค่าคือธรรมะ แล้วยิ่งเราเข้าใกล้ธรรมะเท่าไร จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เป็นทาส ขณะที่อยู่กับโลก อยู่กับโลกเป็นทาสมันหนักขึ้นทุกที เป็นทาสของเงินทอง ของทรัพย์สิน เป็นทาสของครอบครัว เป็นทาสของหน้าที่การงาน เป็นทาสของชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นทาสของความโลภต่างๆ เป็นทาสของกาม หิวตลอดเวลา เราเข้าใจความจริง ร่างกายนี้หาสาระไม่ได้ การที่จะเอาตัวเองให้เป็นทาสมันจะลดลง

กระทั่งร่างกายนี้ยังไม่มีสาระแก่นสารเลย มีแต่ก้อนทุกข์ จะอยากอะไรนักหนาในโลก มีข้าวกินพออิ่มวันหนึ่งก็ดีถมไปแล้ว มีที่ให้นอน ไม่ต้องนอนตากแดดตากฝนก็ดีแล้ว มีเสื้อผ้าใช้ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป ไม่อุจาดตา ก็ดีถมไปแล้ว เจ็บไข้ก็มียาให้กิน มีหมอดูแล ก็ดีถมไปแล้ว ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมากมายนักหรอก สิ่งที่เราต้องการไม่รู้จักจบจักสิ้น คือกิเลสทั้งนั้น กิเลสมันลากเราไป ชีวิตจริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไรเยอะหรอก ปัจจัย 4 เป็นมาตรฐานมันเป็น basic minimum needs จริงๆ นอกนั้นเป็นส่วนเกิน พอใจมันฉลาดมันก็ไม่บ้าส่วนเกิน ไม่บ้าส่วนเกินมันก็ไม่ต้องเหนื่อยนัก อยากได้ส่วนเกินเยอะๆ ก็เหนื่อย

อย่างชีวิตพระเป็นชีวิตที่เบา พระดีๆ พระสมมติพระเหลวไหลไม่นับ ไม่ใช่พระจริง ชีวิตพระเบามากเลย อย่างโยมจะไปงานอะไรซักงานต้องคิด จะแต่งหน้าอย่างไร แต่งผมอย่างไร จะใช้เสื้อผ้าอะไร รองเท้าอะไร จะถือกระเป๋าลูกไหน ต้องคิดหมดเลย พระไม่ต้องก็มีอยู่แค่นี้ แถมย่ามไปอีก 1 ใบจบ ไปได้แล้ว กินข้าวมีบาตรอยู่ใบหนึ่ง ฉัน แค่นั้นล่ะพออยู่แล้ววันหนึ่ง ฉะนั้นเป็นพระจริงๆ เบา โยมไม่ต้องเอาอย่างพระ 100 เปอร์เซนต์หรอก แต่ว่าหัดทำตัวเองให้เบาบ้าง โลภมากก็ทุกข์มากเหนื่อยมาก ภาระพะรุงพะรังมาก พออยู่พอกินดีที่สุดแล้ว ไม่เป็นหนี้ สำคัญมากเลยไม่เป็นหนี้ พระพุทธเจ้าสอน “เป็นหนี้ เป็นทุกข์ในโลก” เป็นทุกข์ของชาวโลก การเป็นหนี้

ฉะนั้นพยายามอย่าเป็นหนี้ แล้วอีกการพนันทั้งหลายจะถูกกฎหมาย หรือจะผิดกฎหมายก็เลี่ยงๆ เสีย ถึงวันที่ 16 ทีหนึ่ง วันที่ 1 ทีหนึ่ง โอ๊ย โอดครวญจะเป็นจะตาย ก่อนหน้านั้นก็กระดี๊กระด๊า วันหวยออกหน้าหงอยเลย หงอย สำนวนเขาเรียกเป็นหมาหงอยเลย หลวงพ่อไม่เคยเดือดร้อนเลยหวยจะออกอะไร ตั้งแต่เป็นโยมหลวงพ่อก็ไม่เล่นหวย ลอตเตอรี่ก็ไม่ซื้อ เพราะเราเรียนวิทยาศาสตร์ เรารู้มันเป็นเรื่องของพ็อป โอกาสถูกกินมีมากกว่าโอกาสได้กิน เรื่องอะไรจะโง่ หลวงพ่อไม่เคยเสียค่าเหล้าเลย เพราะหลวงพ่อไม่กินเหล้าตั้งแต่เป็นโยม ฉะนั้นวันหนึ่งใครจะไปบุกตรวจกุฏิหลวงพ่อ เจอขวดเหล้าอะไรไม่ได้เจอหรอก เพราะเป็นโยมยังไม่กินเลย แหมตรวจเจอกระทั่งคอนดอม อุบาทว์จริงๆ เลย

 

ส่งทอดดวงประทีปของพระสัจธรรมนี้ต่อไปให้ได้

พระศาสนามีคุณค่ามาก นานๆ ถึงจะเกิดขึ้นปรากฏขึ้นสักครั้งหนึ่ง เมื่อปรากฏขึ้นอยู่ไม่นานก็อันตรธาน เรียกอันตรธานไปไม่ใช่ดับสูญไป สัจธรรมนั้นอันตรธานไม่มีผู้ทรงเอาไว้ นี้เราก็รู้คุณค่าเราก็มาเรียนให้ดี เรียนเรื่องทุกข์ เรียนเรื่องเหตุของทุกข์ เรียนเรื่องความดับสนิทแห่งทุกข์ หรือความพ้นทุกข์ในเบื้องต้น ดับสนิทแห่งทุกข์ในเบื้องปลาย เรียนวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ ถ้าเรายังเรียนสี่เรื่องนี้อยู่ เรียกว่าพระสัจธรรมยังไม่อันตรธานจริงหรอก ในตำราชอบเขียนบอกว่า ถ้ากระทั่งศีลสักข้อหนึ่งยังจำไม่ได้ อันตรธาน ศีลมันมีก่อนพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธอันตรธานได้ ตั้งแต่ก่อนที่ศีลจะหมดไปด้วยซ้ำ ศีลมันมีมาก่อนพระพุทธเจ้าเสียอีก สมาธิก็มีมาก่อนพระพุทธเจ้าแต่มันเป็นสมาธิแบบฤๅษี ฝึกจิตให้สงบ แต่สมาธิชนิดตั้งมั่นพระพุทธเจ้าท่านสอนเรา

ส่วนตัวปัญญา ธรรมะแท้ๆ คือเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุแห่งทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าก็ไม่มี พระพุทธเจ้าตอนนี้ท่านปรินิพพานแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของสาวกที่จะทรงธรรมะ 4 ข้อนี้เอาไว้ เรียนเรื่องทุกข์ อะไรคือทุกข์ รูปนาม ขันธ์ 5 นี้เป็นทุกข์ กายใจเรานี้ตัวทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้มัน อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความอยาก ความอยากทำให้เราต้องมาเกิด ผลักดันให้เราต้องมาเกิด พอเกิดแล้ว ความอยากก็ผลักดันให้จิตของเราเป็นทุกข์ไป แต่ละขณะๆ นี้ อาศัยความอยากนั่นล่ะผลักดันมา หน้าที่ต่อความอยากคือละมันให้ได้ ทำอย่างไรจะทำลายสมุทัยความอยากได้ ก็ต้องดูรากของความอยากคืออะไร รากเหง้าที่ทำให้เกิดความอยากคืออวิชชา มีอวิชชาก็มีตัณหา มีอุปาทาน

อวิชชาคือการไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ถ้ารู้ทุกข์อันเดียวก็จะรู้สมุทัย นิโรธ มรรคด้วย เรียนแค่จุดเดียวเท่านั้น ก็จะรู้อริยสัจทั้งหมดเลย เรียนเรื่องทุกข์อันเดียวล่ะ รู้ทุกข์อย่างที่มันเป็นแล้ว กายนี้มันทุกข์ ใจนี้มันทุกข์ รู้อย่างนี้ล่ะถึงจุดที่รู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง สมุทัยจะถูกละอัตโนมัติเลย เพราะมันรู้ความจริงแล้วกายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์ ความอยากจะไม่เกิดขึ้น อยากให้กายเป็นสุข ไม่มีหรอก เพราะมันรู้แล้วกายนี้คือทุกข์ อยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่มี เพราะมันรู้ว่ากายคือทุกข์ อยากให้จิตเป็นสุข ไม่มีหรอก เพราะมันรู้ว่าจิตคือตัวทุกข์ อยากให้จิตไม่ทุกข์ก็ไม่มี เพราะมันคือตัวทุกข์ เห็นไหมคำตอบมันมีอันเดียว เพราะมันคือตัวทุกข์

เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ตัวสมุทัยถูกละอัตโนมัติเลย ทันทีที่สมุทัยถูกละ จิตจะพ้นความดิ้นรนปรุงแต่ง มันพ้นจากตัณหา พอพ้นจากตัณหามันก็พ้นจากภพ คือการดิ้นรนปรุงแต่งของจิต จิตก็เป็นอิสระขึ้นมา จิตก็เข้าถึงนิพพาน ถึงนิโรธ นิพพานคืออะไร นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา นิพพานคือสภาวะที่สงบสันติ อาศัยรู้ทุกข์นี่ล่ะแล้วละสมุทัยก็แจ้งนิโรธขึ้นมาเลย การที่เรารู้ทุกข์จนละสมุทัยแจ้งนิโรธได้ เรียกว่าการเจริญมรรค ฉะนั้นรู้ทุกข์เอาไว้ รู้สึกตัวขึ้นมา รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น แล้วเราจะเข้าใจอริยสัจ ตราบใดที่อริยสัจยังดำรงอยู่ พระสัจธรรมยังไม่ได้อันตรธานไป ถ้าอริยสัจไม่มีก็คือไม่ได้มีศาสนาพุทธแล้ว

เพราะฉะนั้นการที่หลวงพ่อพร่ำสอนพวกเราว่า รู้สึกตัวไว้ ดูกายไว้ ดูใจไว้ เพื่อให้เราเข้าใจอริยสัจในวันหนึ่งข้างหน้า ก็เพื่อให้พวกเราช่วยกันดำรงรักษาพระสัจธรรมอันนี้เอาไว้ ไม่ให้สูญหาย หลวงพ่อพูดอยู่เรื่อยๆ เลยว่าหลวงพ่อตั้งใจไว้เลยว่า จะไม่ยอมให้ดวงประทีปของพระสัจธรรมนี้มันดับลงในมือเรา อย่างไรๆ ต้องส่งทอดต่อไปให้ได้ พวกเราก็ต้องส่งทอดต่อไป ฉะนั้นเราลงมือปฏิบัติ รู้สึกตัวขึ้นมา ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็น ถึงจุดหนึ่งเราจะเข้าใจพระสัจธรรมขึ้นมา เข้าใจอริยสัจ แล้วเราก็จะส่งมอบของวิเศษอันนี้ ให้ลูกให้หลานของเราสืบๆ ไป ดีกว่าให้มรดกอย่างอื่น ให้มรดกไปไม่นานมันก็ทำฉิบหายหมด ยิ่งมันได้ง่ายมันยิ่งไม่เห็นคุณค่า อย่างคนซึ่งภาวนา โอ๊ย ต่อสู้มากมายกว่าจะเข้าใจธรรมะ จะเห็นคุณค่าของธรรมะมากเลย ถึงกล้าเอาชีวิตเข้าแลกกัน ถ้ายังเห็นคุณค่าของโลก ไม่ได้เห็นคุณค่าของธรรมะ มันก็ไม่ได้ธรรมะ มันก็ได้โลกไป

เพราะฉะนั้นเราเห็นพวกอลัชชีพวกอะไร เรารู้ว่ามันไม่ถูกแต่ไม่ต้องไปเกลียดมันหรอก เกลียดมันใจเราไม่เป็นกลาง ใจเป็นทุกข์ พวกนั้นก็สัตว์โลกมันทุกข์ มันทุกข์อยู่แล้วล่ะ แล้วก็หาทุกข์ให้ตัวเองเพราะความโง่ความเขลา เราได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว เราลงมือปฏิบัติไป เราเข้าใจโลกแต่เราไม่หลงโลก พวกที่เขาหลงโลกเพราะเขาไม่เข้าใจโลก ถ้าเข้าใจโลกแล้วจะรู้ว่าโลกหลงไม่ลงเลย ของที่หลงไม่ลง มันมีแต่ทุกข์ไปหลงมันทำไม

เรียนเรื่องอริยสัจเท่านี้เอง รู้ทุกข์เมื่อไรก็ละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยเมื่อไรก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น แจ้งนิโรธตรงไหน ตรงนั้นล่ะอริยมรรคเกิด ฉะนั้นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นกิจที่เราต้องทำ 4 อย่าง รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ทำเสร็จในขณะจิตเดียว ขณะจิตที่รู้ทุกข์นั่นล่ะ ที่เหลือนั้นมันเกิดอัตโนมัติเลย.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 กุมภาพันธ์ 2565