กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

การปฏิบัติจะทำแบบซังกะตายไม่ได้ คล้ายๆ ทำไปเรื่อยๆ ทำบ้างไม่ทำบ้างอะไรอย่างนี้ หรือทำนิดๆ หน่อยๆ ไปเล่น หาเรื่องเล่นเรื่องโน้นเรื่องนี้กันยาวๆ นานๆ ไม่ได้ผลหรอก อยากภาวนาให้มันได้รับประโยชน์สูงสุดจากการภาวนาจริงๆ ต้องเอาจริง คนที่เขาตั้งอกตั้งใจจริงจัง เขาก็ได้ดีของเขา บางทีเขามาส่งการบ้านให้ฟังชื่นอกชื่นใจ หลายคนภาวนาทำไปอย่างนั้นล่ะไม่เด็ดเดี่ยว ไม่เด็ดเดี่ยวมันก็ทำไม่ได้อะไร ก็ได้แค่ได้บุญนิดๆ หน่อยๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาภาวนาจริงจังมากเลย เขาเคยทำงานกว่าจะเสร็จงานทั้งหมด ตั้งแต่ทำมาหากินจนงานดูแลบ้าน ดูแลครอบครัว ห้าทุ่มแล้วเขาภาวนาถึงตีหนึ่งอะไรอย่างนี้ เขามาเล่าให้ฟัง ช่วงโควิดห้าทุ่มทำงานไม่พอแล้ว ทำงานหนักกว่าเก่าเพื่อให้กิจการมันอยู่รอดได้ ทำถึงเที่ยงคืน มีงานที่ต้องทำถึงเที่ยงคืน ทั้งงานทำมาหากินงานในบ้าน เขาภาวนาอดทนภาวนา มันเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อวานมาส่งการบ้านฟังแล้วก็ชื่นอกชื่นใจกับเขาด้วย พัฒนาไป

ของฟรีไม่มีหรอก ของฟลุกไม่มี ทั้งหมดอยู่ในคำว่ากฎแห่งกรรม ทำเหตุอย่างนี้มีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนั้นมีผล อย่างนั้น ทำความเพียรได้ถูกต้อง ทำได้มากพอ มันก็มีผลของการปฏิบัติที่ชื่นอกชื่นใจ ทำไม่ถูกแล้วขยันก็ยิ่งแย่ใหญ่เลย ถ้าจัดลำดับ ทำไม่ถูกแล้วขยันปฏิบัติ มันไปไกลหลงไปไกล อย่างบางคนชอบเพ่ง เพ่งๆๆ แล้วขยันเพ่ง เพ่งทั้งวัน เพ่งทั้งคืน เพ่งอยู่อย่างนั้นหลายๆ ปี แก้ไม่ไหวมันติดรุนแรง บางคนหลวงพ่อก็บอกเขาว่า ตอนนี้ไม่ต้องทำอะไรแล้ว จะให้หลวงพ่อแก้ให้มันแก้ไม่ไหว ให้พยายามทำสมาธิแต่ว่าให้มีความรู้สึกตัวไว้ อย่าให้มันเลยไปจนถึงอรูปเคลิ้มๆ ไปเลย พอเข้าไปถึงอรูปพระพุทธเจ้ารุ่นต่อไปมาตรัสรู้ ก็ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมะ ถ้าเพ่งแรงๆ หลวงพ่อก็ไม่แก้ให้ มันอันตราย บางคนอย่างคนติดเพ่งแรงๆ พอหลุดออกจากการเพ่ง อารมณ์มันจะรุนแรงกว่าคนธรรมดา

เคยเพ่งนิ่งๆ นี่คือกลุ่มที่หนึ่ง พวกทำผิดแล้วขยัน ถ้าให้คะแนน คะแนนติดลบ ติดลบเยอะๆ ด้วย ทำผิดแล้วขี้เกียจ ฟังแล้วแย่ ทำผิดด้วยนานๆ ทำที ขี้เกียจทำ พวกนี้ก็ติดลบแต่ติดลบยังไม่มาก ถ้ามาทำสมาธิที่ถูกต้อง จิตตั้งมั่นขึ้นมาก็พอแก้ได้ อีกพวกหนึ่งทำถูก แต่ทำถูกแล้วนานๆ ทำที ทำถูกแต่ขี้เกียจ เก่งแวบๆ เดี๋ยวก็เสื่อมหมดแล้ว พวกนี้ถามว่าดีไหม ดี ได้คะแนนนิดหน่อย คะแนนบวกนิดหน่อย นานๆ ทำทีมันก็ได้คะแนนนิดหน่อย ทำถูก เช่น ทำสมถะน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง พอจิตสงบปุ๊บเลิกแล้วไปเล่นเฟซบุ๊ก เล่นไลน์ เล่นไอจี ห่วงโน่นห่วงนี่ออกไป พวกนี้ได้คะแนนนิดหน่อย ตอนที่ทำปฏิบัติได้คะแนนนิดหน่อย แต่ตอนที่หลงก็ติดลบเยอะเลย เพราะยาววันหนึ่งๆ คำนวณออกมาแล้วก็ได้ผลบวกเล็กน้อย ถ้าคนไหนทำถูกแล้วขยันหลวงพ่อให้คะแนนเยอะเลย สุดยอด ถ้าทำผิดแล้วขยัน สุดขั้วอีกข้างหนึ่งเลย ติดลบอย่างแรง ทำถูกแล้วขยัน ก็ติดเครื่องหมายบวกไปอีกฝั่งหนึ่งอย่างแรงเลย

 

เรียนให้เข้าใจแล้วลงมือปฏิบัติ

ฉะนั้นพวกเราก็เรียนกรรมฐานให้มันรู้เรื่อง ฟังให้เข้าใจแล้วก็ลงมือปฏิบัติเอา เวลาลงมือปฏิบัติก็ใช้ความสังเกตเอา ที่ทำอยู่นี่มันถูกหลักไหม เช่น ที่เราจะทำสมถะอันนี้เรายังโลภอยากสงบอยู่ไหม สมาธิมันเริ่มเมื่อหมดความจงใจ ถ้าเราโลภ อย่างจงใจจะให้สงบ มันไม่สงบหรอก ถ้าเราสังเกตทำสมาธิอยากพักผ่อน ทำไมยิ่งทำยิ่งเครียด ก็ค่อยๆ สังเกตเอา มันผิดตรงไหน มันผิดตั้งแต่เริ่มต้นคิดจะทำแล้ว พอเริ่มต้นคิดจะทำแล้วไปบังคับตัวเอง บังคับกาย บังคับใจ ก็เครียดขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเรารู้จักสังเกต เราภาวนาเราค่อยๆ สังเกต เราได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์สอนแล้ว ให้เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ทำสบายๆ อย่าโลภ อย่าเคร่งเครียด อย่าไปเพ่งจ้องแรงๆ จิตใจไม่มีความสุข เวลาเราไปเพ่งจิตใจเราไม่มีความสุขหรอก มันเครียด ฉะนั้นสมาธิไม่เกิดหรอก สมาธิที่ว่านี้คือสมาธิที่ดี ถ้าอย่างพวกอภิธรรมเขาจะบอกว่า สมาธิเกิดร่วมกับจิตทุกดวง นี้เราไม่พูดถึงสมาธิเหลวไหล เราพูดถึงสมาธิที่ดี สมาธิที่ดี 2 อัน อันหนึ่งสงบ อันหนึ่งตั้งมั่นด้วยสงบด้วย เอาไว้เดินปัญญา

เราจะทำสมาธิให้สงบ เราก็ต้องฉลาดรู้ว่า ถ้าเราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น แต่อยู่แบบไม่โลภ ไม่ได้อยากให้มันสงบ ถ้าอยากให้สงบมันจะเริ่มไปเค้นจิต ไปบังคับจิต แล้วมันจะไม่สงบหรอก มันเครียด อย่างหลวงพ่อชอบทำอานาปานสติ มันชินทำมาแต่เด็ก เวลาหลวงพ่ออยากพักผ่อน อยากให้จิตใจสงบ หลวงพ่อก็หายใจ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง ทำแป๊บเดียวมันก็สงบแล้ว เพราะว่าจิตมันชอบการรู้ลมหายใจ คราวหนึ่งติดกรรมฐานตัวหนึ่ง คือจิตไม่ตั้งมั่น จิตมันสว่างออกไปข้างนอก แล้วก็มีแต่ความสุข สงบ สบาย ผ่านไปนาน พยายามดูมันผิดตรงไหนดูไม่ออก

มีโอกาสขึ้นไป วัดป่าบ้านตาด เข้าไปถามครูบาอาจารย์หลวงตามหาบัว ยุคนั้นที่เข้าไปหาท่านคนยังไม่เยอะ เข้าถึงตัวท่านได้ง่าย เข้าไปถามท่านว่า “ผมภาวนา พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต แต่ผมมาสังเกตว่ามันไม่เจริญขึ้นเลย” ท่านหันมองหน้าแวบเดียว ท่านก็ตอบแล้วว่า “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” หลวงพ่อก็กราบท่านถอยออกมา ท่านนั่งฉันข้าวเราอยู่ข้างท่านห่างมาเมตรกว่าๆ แล้วมานั่งพุทโธๆๆ จิตไม่ชอบ ขนาดครูบาอาจารย์ว่าสำหรับท่านพุทโธนี้ดีที่สุดเลย เราก็เคารพท่านแต่ว่าเราก็สังเกตเอา เรายิ่งพุทโธจิตยิ่งอึดอัด นึกขึ้นได้มันไม่ชอบ ครูบาอาจารย์จะให้พุทโธเพราะอะไร แสดงว่าสมาธิเราไม่พอแล้ว พิจารณาด้วยเหตุด้วยผลท่านให้พุทโธเพราะอะไร เพราะสมาธิเราไม่พอ ฉะนั้นเราก็ต้องทำสมาธิ

หลวงพ่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ต้องมีลมหายใจด้วยถึงจะชอบ หายใจไม่กี่ทีจิตก็สงบลงไป เลยรู้เลยว่าหนึ่งปีที่สูญเปล่าไป จิตไปติดความว่าง ความสว่าง ไปติดโอภาส แสงสว่าง มันอยู่กับแสงมีแต่ความสุข อาศัยได้ยินครูบาอาจารย์บอก จุดที่ผิดของเราก็คือมันไม่ถึงจิต ท่านบอกอย่างนี้แล้วท่านให้พุทโธ เราสังเกตตัวเองเราไม่เหมาะกับพุทโธ เราก็ทำกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเรา

 

 

อย่างหลวงปู่ดูลย์ท่านจะเป็นครูบาอาจารย์ที่อัศจรรย์มากเลย แต่จะไปเปรียบกับหลวงตามหาบัวก็ลำบาก หลวงตามหาบัวนั้นคนเข้าไปเรียนด้วยเยอะ ท่านไม่มีเวลามานั่งพิจารณาทีละคนหรอก ท่านก็สอนท่านเคยทำอย่างนี้ก็บอกว่าท่านทำมาอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์ตอนไปเรียนกับท่าน ไม่มีใครเข้าไปหาท่านหรอกวันๆ หนึ่ง คนก็นึกว่าเป็นพระบ้าน พระหลวงตาอยู่วัดในบ้าน เป็นเจ้าคุณด้วยคงภาวนาไม่เป็นอะไรอย่างนี้ แต่หลวงพ่อรู้ประวัติท่าน ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ฝั้น สมเด็จพระญาณสังวรฯ ก็นับถือท่าน เรารู้ ฉะนั้นท่านต้องดีแน่ ไปเรียนกับท่าน หลวงปู่ดูลย์เวลาเราไปถามกรรมฐาน ท่านยังไม่ตอบท่านจะพิจารณาธรรมะที่เหมาะกับเรา ใช้เวลานาน บางคนก็เกือบๆ ชั่วโมง หลวงพ่อไปเกือบๆ ชั่วโมงที่ท่านนั่งหลับตานิ่งๆ เราก็นึกว่าท่านเพิ่งฉันข้าวมา ท่านอายุเกือบร้อยปีแล้ว ฉันข้าวเสร็จแล้วท่านคงหลับไปแล้ว เราก็นั่งรอท่านภาวนาของเราไป นึกว่าท่านหลับ จริงๆ ตอนหลังถึงรู้ว่าท่านไม่ได้หลับหรอก ท่านสืบค้นประวัติของเราว่าเราเคยภาวนาอย่างไร จะต่อยอดให้อย่างไร

ฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์จะเป็นครูบาอาจารย์ ที่พิจารณาแล้วก็บอกลูกศิษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วคนไหนทำอย่างที่ท่านบอก ก็จะเจริญอย่างรวดเร็ว คนไหนไม่ทำอย่างที่ท่านบอกก็อยู่แค่นั้นล่ะพัฒนายาก อย่างมีโยมคนหนึ่ง ตอนหลังท่านบวชชื่อหลวงพ่อคืน ตอนเป็นฆราวาสท่านชอบไปภาวนาที่หินหมากเป้ง นี้ท่านไปภาวนาหลวงปู่ก็สอนท่าน หลวงปู่ดูลย์บอกให้พิจารณาผมเส้นเดียว เอาเส้นเดียวเลยหลายเส้นไม่ได้ ท่านบอกท่านฟังแล้วท่านเสียใจ หลวงปู่ดูลย์สอนคนอื่นเยอะแยะเลย แต่ละเรื่องน่าตื่นเต้นอะไรอย่างนี้ ทำไมของท่านให้ดูผมเส้นเดียวท่านก็ไม่เชื่อ ไปภาวนาอยู่หินหมากเป้งกับหลวงปู่เทสก์ตลอดพรรษาเลย ท่านก็ไปพยายามกำหนดจิตเผาร่างกายตัวเอง เผากำหนดคล้ายๆ กสิณ เผากายตัวเอง เผาๆๆ คนอื่นเขาเผาแล้วเขาไหม้ ของท่านเผาแล้วไม่ไหม้ มันเกรียมๆ

วันหนึ่งท่านก็นั่งสมาธิของท่าน ท่านก็ถอดจิตออกจากร่างขึ้นไปอยู่เหนือแม่น้ำโขง แล้วมองลงมาที่หินหมากเป้ง หินหมากเป้งหายไป มองลงมาที่จังหวัดอุดรฯ จังหวัดอุดรฯ ก็หายไป มองไปเวียงจันทร์ เวียงจันทร์ก็หายไป ท่านก็คิดว่าโอ้นี่ล่ะนิพพาน เป็นสุญญตาทุกอย่างดับไปหมดเลย ท่านกลับมารายงานหลวงปู่ดูลย์ว่าท่านบรรลุธรรมะชั้นสูงแล้ว เข้าถึงสุญญตาแล้ว หลวงปู่ดูลย์บอกนิพพานอะไรอยู่บนแม่น้ำโขง ท่านก็ไม่ใช่อีกแล้ว หลวงปู่ว่าแค่นี้รู้แล้วไม่ใช่แล้ว ที่จริงคือจิตมันเข้าสมาธิ มองอะไรตรงไหนมันละลายหายไปหมดเลย มันไม่ได้ย้อนมาดูตัวเอง มันมัวแต่ดูหินหมากเป้ง ดูอุดรฯ ดูเวียงจันทร์ ดูอะไรอย่างนี้ไม่ได้ดูตัวเอง ฉะนั้นนิพพานอย่างนี้นิพพานปลอม ว่างๆ ไปอย่างนั้นจิตไปติดในว่างๆ นี้ท่านกลับมาแล้วท่านมาพิจารณาผมเส้นเดียว ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว มาดูผมเส้นเดียว ผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ ไม่สะอาดเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ พิจารณาวนอยู่เส้นเดียว จิตก็รวมได้สมาธิขึ้นมาเลย เข้าไปหาหลวงปู่ หลวงปู่ก็สอนการเจริญปัญญาให้ ท่านก็ได้ดีขึ้นมาก็เป็นครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง

เมื่อก่อนสมัยหลวงปู่ดูลย์ยังอยู่ เมืองสุรินทร์มีพระลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่มีชื่อเสียงอยู่ 2 องค์ คือหลวงพ่อคืนกับหลวงพ่อกิม หลวงพ่อคืนอยู่วัดหน้าเรือนจำ หลวงพ่อกิมอยู่วัดป่าดงคู ตอนหลวงปู่จะมรณภาพ หลวงพ่อเคยถามท่านว่าจะให้ผมไปเรียนต่อกับใคร ท่านบอกให้ไปเรียนกับหลวงพ่อกิม เราก็จำไว้ต้องไปเรียนกับหลวงพ่อกิม หลวงพ่อคืนท่านจะสอนเริ่มจะไปทางสมาธิ ทางอิทธิฤทธิ์ อย่างคนในศาลา 50 คนท่านมองปราดท่านรู้จิตเขาหมดแล้ว ถ้าหลวงพ่อกิมเป็นอีกแบบหนึ่ง ไปภาวนากับท่าน โอย แทบจะขยาดเลย ทำวัตรสวดมนต์ตอน 6 โมงเย็น ทำวัตรสวดมนต์เสร็จนั่งสมาธิ เราก็นึกว่าจะนั่งแบบวัดอื่น นั่งประเดี๋ยวประด๋าว นั่งยัน 5 ทุ่มเลยไม่กระดุกกระดิก ตี 3 เคาะระฆังมานั่งสมาธิยันสว่างอีก เราก็ดู โอย ตายแล้ว เรานั่งแล้วเราปวดเราเมื่อยไปหมดทั้งตัวเลย เราไม่เคยนั่งพื้นนานๆ อย่างนั้นนั่งแต่เก้าอี้ ดูพระอื่นท่านนั่งอย่างไรของท่าน อ๋อท่านนั่งหลับ อย่างนี้นั่งกี่ชั่วโมงก็ได้นั่งแล้วหลับ แต่นั่งเจริญสติมันทรมาน แต่ละองค์ๆ ที่ท่านได้ดี ท่านพากเพียรเอาทั้งนั้น ไม่มีฟลุก ไม่มีบังเอิญ หลวงพ่อคืน หลวงพ่อกิมอะไรอย่างนี้ สิ้นจากหลวงพ่อคืนท่านสิ้นไปก่อน แล้วก็ไม่นานหลวงพ่อกิมมรณภาพไป แล้วรู้กันวงในว่าให้ไปเรียนต่อจากหลวงตาผนึก ก็ขึ้นไปหาหลวงตาผนึก บ้านเขวาฯ ก็ไปเรียนกับท่าน หลวงตาผนึกท่านก็บวชเมื่ออายุหกสิบ บวชเมื่อแก่ ก็พากเพียรภาวนาเด็ดเดี่ยวมาก

ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ที่ท่านได้ดี ไปดูประวัติท่าน ประเภทเช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัดอะไรนี่ ไม่เห็นจะได้ดีสักองค์เลย แต่ละองค์ก็ต่อสู้มาดุเดือดทั้งนั้น กระทั่งฆราวาสที่เขาภาวนาได้ดี เขาก็ต่อสู้เข้มแข็งทั้งนั้น ฉะนั้นทำถูกด้วยแล้วก็ขยันทำเยอะด้วยถึงจะได้ดี เล่าให้ฟังไม่ต้องตกใจว่า โอย ตายแล้ว ให้เรานั่งสมาธิทีละ 5 – 6 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้ บางที่เขานั่งกัน 10 ชั่วโมง บางที่เขานั่งกันโต้รุ่ง มีเคยอ่านประวัติครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านนั่งสมาธิแล้วท่านตั้งใจจะไม่ลุกขึ้น ไปนั่งบนแคร่ไม้ไผ่ ตอนนั่งลงไปแคร่มันก็ยุบลงไป พอนั่งมันกลับมาหนีบ มันหนีบก้นท่านไว้ หนีบเจ็บอยู่อย่างนั้น ตั้งใจไม่ลุกขึ้นจนเช้า ก็ต้องทนเจ็บอยู่อย่างนั้นไม่ถอยแล้วไม่หนี ถ้าเป็นเรา อุ๊ย ไม่เอาย้ายที่ดีกว่า นั่งตรงนี้ ตรงนี้ยุงชุมย้ายตรงนี้ดีกว่า นั่นเรียกภาวนาแบบหมาขี้เรื้อน หมาขี้เรื้อนเป็นอย่างไร อันนี้หลวงพ่อไม่ได้ว่าเองอยู่ในพระไตรปิฎกมี หมาขี้เรื้อนตัวหนึ่งมันวิ่งไปอยู่ตามกุฏิพระ ไปอยู่หลังนี้ไม่นานก็คันเกาๆๆ แล้วมันก็คิดว่าอยู่ตรงนี้ไม่ดี วิ่งไปที่อื่นแล้วเดี๋ยวไปอยู่ที่อื่น เดี๋ยวก็คันไปเกาอีก ก็หนีไปที่โน่นที่นี่ หนีมาถึงกุฏิพระพุทธเจ้าก็ยังคันแล้วก็วิ่งไปอีก นี่กรรมฐานแบบหมาขี้เรื้อน ใจไม่สู้ คิดว่าปัญหาอยู่แต่ข้างนอก ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ใจของตัวเอง

 

 

เรารู้หลักของการภาวนาแล้ว เราก็ต้องทำให้เด็ดเดี่ยวลงไป จะทำสมถะก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แต่อย่าอยากให้สงบ ถ้าเราอยาก ถ้าเราโลภ มันจะไม่สงบหรอกเพราะจิตไม่มีความสุข ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ พอจิตเราสุขจิตเราสงบดีแล้ว อย่าติดอยู่แค่นั้นต้องพัฒนาตัวเองไปสู่ขั้นการเจริญปัญญา สงบนี่มันได้กำลัง จิตสงบ จิตก็จะสว่างขึ้นมามีเรี่ยวมีแรง สดชื่น ถ้าติดอยู่ตรงนี้ก็คือไปไหนไม่ได้เหมือนกัน ก็รอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ใหม่ก็มาเรียนเอาใหม่ ถ้าเราจะเจริญปัญญา เราก็ยกระดับสมาธิจากสงบขึ้นมาเป็นความตั้งมั่น เช่น เราเคยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเราสงบ สว่างออกไป เราไปอยู่กับแสงสว่าง อยู่กับลมอะไรอย่างนี้ ลมมันระงับกลายเป็นแสง อยู่ตรงนี้มันก็ได้แต่สมาธิ ถ้าเราจะเจริญปัญญาต่อ เราต้องฝึกสมาธิชนิดตั้งมั่น ก็ทำกรรมฐานเหมือนเดิมนั่นล่ะ แต่ปรับมุมมองเสียใหม่ แทนที่จะมองไปที่อารมณ์กรรมฐาน เช่น มองไปที่ลมหายใจ มองไปที่แสงสว่าง เปลี่ยนมาเป็นการรู้ทันจิตตัวเอง เราก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นเรารู้ทัน กลับมาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธใหม่ จิตไหลไปที่ลมหายใจ จิตไหลไปที่แสงสว่างเรารู้ทัน เอาจิตเป็นตัวพระเอก ไม่ได้เอาอารมณ์เป็นตัวพระเอก

ถ้าเอาอารมณ์เป็นตัวพระเอก เราจะได้สมาธิชนิดสงบ ถ้าเอาจิตเป็นพระเอก เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น ฉะนั้นเราทำกรรมฐานแบบเดิมนั่นล่ะ ที่เราเคยทำ เราถนัดอันไหนเอาอันนั้น แล้วก็เอาจิตเป็นพระเอก อย่างเราขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน ขยับมือไปจิตหนีไปคิดเรารู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่มือเรารู้ทัน ไปเพ่งมือรู้ทัน เราเคยดูท้องพองท้องยุบด้วยจิตที่ตั้งมั่น ไม่ไปจมไปแช่ อย่างนี้เราก็จะเดินปัญญาต่อได้ แต่ถ้าเราดูท้องพอง ดูท้องยุบ ท้องพองท้องยุบเป็นอารมณ์ จิตจมลงไปที่ท้องได้แต่ความสงบ แล้วถ้าขาดสติกลายเป็นมิจฉาสมาธิเลย ถ้ามีสติอยู่ก็เป็นสมาธิชนิดสงบ ฉะนั้นถ้าขาดสติเมื่อไรเป็นมิจฉาสมาธิทันที สัมมาสมาธิจะต้องประกอบด้วยสัมมาสติเสมอ เราเคยดูท้องพองยุบ จิตไหลไปนิ่งอยู่ที่ท้อง ไปเพ่งท้อง แล้วก็ไม่ขาดสติได้สมาธิชนิดสงบมีแรง ถ้าจะให้สมาธิตั้งมั่นเกิด เราก็ดูท้องอย่างนี้ล่ะ แต่จิตไหลไปที่ท้องเรารู้ทัน จิตหนีไปที่อื่นเรารู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น

 

การแยกธาตุแยกขันธ์นั้นเป็นการเจริญปัญญาในขั้นพื้นฐาน

สมาธิชนิดตั้งมั่นเป็นจุดตั้งต้นเลย ที่จะทำให้เราสามารถแยกธาตุแยกขันธ์ได้ การแยกธาตุแยกขันธ์นั้นเป็นการเจริญปัญญาในขั้นพื้นฐานที่สุด ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็นยังไม่ได้เจริญปัญญาเลย รู้ตัวไว้เลย แยกธาตุแยกขันธ์แยกอย่างไร ก็ต้องแยกระหว่างจิตกับอารมณ์ให้ออก เราจะเห็นว่าธาตุขันธ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นอารมณ์ จิตเป็นคนรู้อารมณ์ แยกจิตกับอารมณ์ออกจากกันได้นั่นล่ะ แล้วก็อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์รูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นมีหลักแค่นี้เอง แยกจิตออกมาเป็นคนดู จิตเป็นแค่คนดูไม่จมลงไปในอารมณ์ ไม่หลงไปที่อื่น คือไม่เผลอไปแล้วก็ไม่เพ่งเอาไว้ ในขณะเดียวกันตัวอารมณ์นั้นก็เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เพราะเราจะเจริญวิปัสสนา

วิปัสสนากรรมฐานใช้อารมณ์รูปนาม อย่างเราดูร่างกาย ดูเวทนา ดูกุศลอกุศลที่เกิดในจิต ดูวิญญาณคือจิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 อะไรอย่างนี้ เวลาดูกายเราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า จิตเป็นคนดู เห็นว่าร่างกายกับจิตคนละอันกัน ตรงนี้เรียกแยกขันธ์ได้แล้ว อย่างเรานั่งอยู่นี่เราเห็นร่างกายมันนั่ง จิตมันเป็นคนรู้ว่าร่างกายนั่ง ร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน อย่างนี้แยกขันธ์ได้ แต่ถ้าเรานั่งอยู่ หรือเราหายใจอยู่อย่างนี้ จิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ หรือไหลลงไปเพ่งร่างกายทั้งตัว อันนี้เป็นสมาธิชนิดสงบเฉยๆ แล้วถ้าขาดสติก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าจิตมันเป็นคนดูขึ้นมา ถ้ามันเห็นร่างกายหายใจเป็นของถูกรู้ถูกดู เห็นร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นของถูกรู้ถูกดู เห็นร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง เป็นของถูกรู้ถูกดู เห็นร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุ เห็นเป็นธาตุกรรมฐาน จิตเป็นคนรู้คนดู ถ้าอย่างนี้จิตมันเดินปัญญาได้

ตรงนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาแต่มันเริ่มแยกขันธ์ออกมาแล้ว กายกับจิตคนละอันกัน เวทนากับจิตก็คนละอัน สังขารปรุงดีปรุงชั่วกับจิตก็คนละอันกัน วิญญาณที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 ก็เป็นของถูกรู้ จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู แต่เวลาวิญญาณทางตาเกิดจิตผู้รู้จะดับ เพราะวิญญาณกับจิตมันตัวเดียวกันนั่นล่ะ มันมีได้ทีละดวงเดียว ฉะนั้นเวลาจิตที่ไปรู้เกิดขึ้น จิตผู้รู้จะดับ แล้วเกิดจิตระลึกรู้ รู้ทันว่าเมื่อกี้จิตหลงไปรู้ จิตที่หลงไปรู้ก็จะดับ จิตผู้รู้ก็จะเกิด จิตมันจะเกิดดับๆ ทีละดวงๆ สลับกันไป เพียงแต่มีตัวผู้รู้ขึ้นมาขัดจังหวะแทรกๆๆ เข้ามา อย่างจิตไปดูตรงนี้ไม่มีผู้รู้ แล้วเกิดจิตผู้รู้ รู้ว่าจิตไปดู จิตไปฟัง ตรงที่จิตไปฟังไม่มีผู้รู้ มีแต่ผู้ไปฟัง เสร็จแล้วพอสติเกิดจิตที่ไปฟังดับ จิตรู้ก็เกิด มันสลับกันอย่างนี้ จิตเกิดดับทีละดวง

พระพุทธเจ้าสอนว่า “จิตนั้นเกิดดับรวดเร็ว ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ทั้งวันทั้งคืน” จิตไม่ได้มีทีละ 2 ดวง ฉะนั้นถ้าจิตเกิดที่ตาจิตก็ไม่เกิดที่ใจ จิตผู้รู้เป็นจิตที่เกิดที่ใจ จิตที่เกิดที่ใจมีหลายชนิด จิตเกิดที่ตามีชนิดเดียวคือจิตดู จิตเกิดที่หูมีชนิดเดียวคือจิตฟัง จิตเกิดที่จมูกก็มีชนิดเดียวคือจิตที่ดมกลิ่น เกิดที่ลิ้นก็มีอันเดียวจิตที่ลิ้มรส จิตที่เกิดที่ใจมีหลากหลาย เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลชั้นเลิศเลยคือเป็นจิตผู้รู้ก็ได้ จิตที่เป็นผู้รู้ ตำราเขาเรียกมหากุศลจิต ญาณสัมปยุตประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกัง ไม่จงใจให้เกิด ถ้าจงใจให้เกิด น้อมให้เกิดยังไม่มีคุณภาพพอ ในตำรามันก็มีพวกนี้ เพียงแต่ว่าคนเรียนตำรามันไม่เคยภาวนา มันมองไม่ออกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน ถ้าเราเคยฝึกมีจิตผู้รู้เราจะสังเกตลักษณะของมัน จิตดวงนี้เป็นมหากุศล มีความเบามีความนุ่มนวลอ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ คือรู้แล้วไม่เข้าไปแทรกแซง นี่ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อันนี้กุศลแค่นี้ยังไม่พอต้องเกิดอัตโนมัติด้วย

ถ้าเราจงใจจะมีผู้รู้ อันนั้นผู้รู้คุณภาพต่ำ จิตผู้รู้ที่ดีไม่จงใจให้เกิดมันเกิดขึ้นเอง มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเรามีสติรู้ทันจิตผู้หลง จิตหลงไปดูเรารู้ จิตหลงไปฟังเรารู้ จิตหลงไปคิดเรารู้ จิตผู้รู้มันก็เกิด เกิดทีละดวง พอมีจิตผู้หลงจิตผู้รู้มันก็ไม่มี พอมีจิตผู้รู้จิตผู้หลงมันก็ไม่มี ง่ายๆ แค่นี้ ง่ายๆ แต่มันละเอียดมันก็ดูยากนิดหนึ่ง แรกๆ ก็นานๆ เห็นทีหนึ่ง ภาวนาชำนิชำนาญก็เห็นได้ถี่ยิบขึ้นมา ค่อยๆ ฝึกไป ไม่เหลือวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเราจะทำได้ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นธรรมะที่พอดีๆ ที่มนุษย์จะทำได้ อย่างพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมในดาวดึงส์ ไปแสดงโปรดพุทธมารดา ท่านไม่ได้แสดงเทศน์อย่างที่เราเทศน์กันอยู่ทุกวันนี้หรอก ท่านแสดงธรรมะในขั้นปรมัตถธรรมจริงๆ ไม่มีเรื่องของคน สัตว์ เรา เขา อะไรอย่างนี้ไม่มี มีแต่เรื่องสภาวธรรมล้วนๆ เลย อันนั้นพวกเทพเขาเรียนกันได้ ของเราต้องมีแถมเติมนิทานชาดกบ้าง เติมตัวอย่างบ้างอะไรอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นไม่รู้เรื่อง

ฉะนั้นเราค่อยๆ หัดดูไป พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา จิตไหลไปเรารู้ปุ๊บ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเอง หรือจิตมันโกรธขึ้นมาเรารู้ปุ๊บ จิตโกรธดับ จิตรู้ที่ตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้นเอง เวลามันมีความสุขเรารู้ปุ๊บ เราก็จะเห็นความสุขถูกรู้จิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว จิตผู้รู้มันก็เกิดแล้ว พอมีจิตผู้รู้แล้ว เห็นอารมณ์มีจิตคู่กับอารมณ์ เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นต้องมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นต้องมีจิต กระทั่งตอนบรรลุมรรคผลมีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะอย่างนั้นก็ต้องมีจิตที่บรรลุมรรคผล เรียกว่ามรรคจิตผลจิต ประเภทดับวูบหมดความรู้สึกแล้วบรรลุมรรคผล ไม่ใช่ ของเก๊ นั่นพรหมลูกฟักต้องแยกให้ออก

 

วิปัสสนาที่แท้จริง

ฉะนั้นมีจิตต้องมีอารมณ์เป็นของคู่กัน แต่อารมณ์ที่จะใช้เจริญวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์รูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นเรามีอารมณ์รูปธรรมนามธรรม มีจิตตั้งมั่นเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู แล้วต่อไปมันจะเห็นไตรลักษณ์ ตรงที่มันเห็นรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้งตัวจิตผู้รู้แสดงไตรลักษณ์ ตรงนั้นล่ะเราก้าวเข้าสู่วิปัสสนากรรมฐานแล้ว อย่างเรานั่งดูเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า จิตเป็นคนดู อันนี้ยังเป็นการมีปัญญาขั้นต้นๆ ยังอยู่ในโซนคาบเกี่ยวระหว่างจิตที่สงบ กับจิตที่เดินปัญญาขั้นต้น พอเห็นร่างกายหายใจเข้า ร่างกายหายใจออกแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมา มันเห็นว่าร่างกายที่หายใจเข้า หายใจออกนี่เป็นของไม่เที่ยง ร่างกายที่หายใจเข้าก็ถูกบีบคั้น ร่างกายที่หายใจออกก็ถูกบีบคั้น นี่เรียกว่ามันเป็นทุกข์ แล้วก็มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นแค่วัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก หายใจเข้า หายใจออก ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อันนี้เรียกเห็นอนัตตา

ถ้าเราสามารถเห็นร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นไตรลักษณ์ อันนั้นเราขึ้นวิปัสสนาที่แท้จริงแล้ว หรือเราเห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว ถ้าจิตเรานั่งสมาธิมีความสุขแล้วเราก็จมอยู่ในความสุข อันนั้นเป็นสมถะยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ถ้าเห็นว่าความสุขกับจิตเป็นคนละอันกัน อันนี้เดินปัญญาขั้นต้นยังไม่ถึงวิปัสสนา แต่ถ้าเมื่อไรเห็นความสุขนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตที่ไปรู้ความสุขก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นข้างไหนก่อนก็ได้ ตรงนั้นเราขึ้นวิปัสสนาแล้ว หรือเราเห็นโลภ โกรธ หลงเกิด บางคนบอกความโกรธเกิดแล้วเราก็รู้ ความโกรธเกิดเรารู้ก็เป็นการแยกขันธ์ แยกสังขารขันธ์กับจิตแยกออกจากกัน ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นต้น แต่ถ้าเราเห็นว่าความโกรธมันเกิดขึ้นเอง แล้วมันก็ดับไป เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่คิดแต่เห็นเอา เห็นไตรลักษณ์ไม่ใช่คิดไตรลักษณ์ คิดไตรลักษณ์ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา แต่เบื้องต้นบางคนก็ต้องคิดนำไปก่อน แล้วต่อไปจิตมันเห็น ตรงที่จิตมันเห็นเอง มันขึ้นวิปัสสนาแล้ว

ถ้าเราเดินวิปัสสนาแรกๆ สมาธิเรายังไม่พอ พอสมาธิตกในขณะที่เดินวิปัสสนา มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา เช่น เกิดโอภาส สว่าง ว่างไปหมดเลยทั้งจักรวาลนี้ อย่างที่หลวงพ่อบอกว่า หลวงพ่อต้องไปหาอาจารย์มหาบัวให้ท่านแก้ให้ อันนั้นเป็นโอภาส เป็นวิปัสสนูปกิเลสเพราะสมาธิไม่พอ ฉะนั้นท่านให้ทำสมาธิ หลวงพ่อทำสมาธิพอจิตตั้งมั่นถึงฐานปุ๊บ วิปัสสนูปกิเลสดับทันที เพราะอย่างนั้นถึงเราจะเจริญวิปัสสนาแล้ว เราก็ทิ้งสมาธิไม่ได้ ถ้าเราทิ้งสมาธิไปแล้วสมาธิไม่พอเมื่อไร วิปัสสนูปกิเลสจะเข้ามาทันทีเลย ฉะนั้นเรา มีเวลาเราก็ทำสมาธิสลับไปเรื่อยๆ เจริญสติไป เจริญปัญญาไป ถึงเวลาสมควรก็พักผ่อน หายใจเข้าพุท ออกโธอะไรก็ทำไปเถอะ ทำให้จิตมันสงบ สว่าง สบาย มีเรี่ยวมีแรง ให้มันเข้าฐาน เสร็จแล้วมันถึงจะเดินปัญญาต่อ พอทีแรกเราเห็นสภาวะทั้งหลายมันเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอะไรอย่างนี้ แต่สมาธิไม่พอวิปัสสนูปกิเลสจะแทรก แล้วตรงที่เรารู้ว่าตรงนี้มันเป็นวิปัสสนูปกิเลสแล้ว เราก็กลับมารู้รูปนามมันเกิดดับต่อไป ด้วยจิตที่มีกำลังมากพอ จิตมันก็จะพัฒนาต่อไปเป็นลำดับๆ จนสุดท้ายมันจะเข้าถึงความเป็นกลางต่อรูปธรรมนามธรรมทั้งปวง ต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว เสมอกันหมด จะเห็นว่าธรรมะทั้งหลายนั้น เสมอภาคกันหมดด้วยความเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะเป็นผลจากการที่เราเจริญวิปัสสนามาอย่างแก่กล้า จิตจะสักว่ารู้ว่าเห็น สุดท้ายจิตก็บรรลุมรรคผลนิพพานไป

 

 

ฉะนั้นพวกเราต้องพยายามฝึก สมาธิก็ทิ้งไม่ได้ฝึกไว้ สังเกตตัวเองทำสมาธิแบบไหนถึงจะเหมาะ อยู่กับอารมณ์ชนิดไหน แล้วก็ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่ขาดสติ แล้วก็มีความสุขเราก็ทำไป ระหว่างทำถ้ามันเครียดขึ้นมา สังเกตดูมันผิดแล้ว ถ้าเครียดจิตไม่สงบหรอก มันเครียดเพราะมันโลภ มันอยากจะดี อยากสงบ รู้ทันเข้าไป ใจมันไม่โลภแล้วใจก็สบาย รู้อารมณ์ไปปุ๊บเดียวก็สงบแล้ว แล้วพอสงบมีเรี่ยวมีแรงแล้วก็สังเกตไป อารมณ์กรรมฐานมันถูกรู้ เช่น ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า แทนที่จะเอาลมหายใจเป็นพระเอก เอาแสงสว่างเป็นพระเอก มาเอาจิตเป็นพระเอก เห็นร่างกายมันหายใจ จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายเหยียด ร่างกายคู้อะไรอย่างนี้ จิตเป็นคนดู แล้วต่อไปก็เห็นร่างกายจะอยู่แบบไหน มันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น

ความสุขความทุกข์ในกายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ความสุขความทุกข์ความเฉยๆ ทางใจ ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กุศลอกุศลทางใจไม่มีทางกายมีแต่ทางใจ ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ โลภ โกรธ หลงอะไรอย่างนี้ เกิดดับเป็นไตรลักษณ์ จิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตที่ไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวเป็นจิตไปฟังเสียง เห็นไตรลักษณ์ อย่างนี้เรียกว่าเราเดินวิปัสสนา ทำวิปัสสนาพอสมควร พอจิตเริ่มเหนื่อยก็หยุด อย่าตะบี้ตะบันทำวิปัสสนา ก็ต้องหยุดทำสมถะขึ้นมา ทำสมาธิให้จิตมีกำลังขึ้นมาแล้วไปเดินปัญญาต่อ ถ้าเดินอย่างนี้ทำให้มาก เจริญให้มาก ไม่ขี้เกียจไม่ใช่นานๆ ทำที ทำให้ได้ทุกวันๆ ทำให้ได้มากที่สุดที่จะทำได้ เราก็อาจจะได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ ไม่ต้องรอชาติไหนหรอก ถ้าเราทำไม่ถูก ทำถูกแล้วขี้เกียจ ยังไม่ได้หรอกอีกนาน ยุติธรรม กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 พฤศจิกายน 2564