ฝึกจิตให้คุ้นชินกับการภาวนา

ตอนนี้หลายๆ คนกลุ้มใจ เชื้อตัวใหม่มาอีกแล้ว มันระบาดเร็ว มีญาติๆ หลวงพ่อเป็นหมอเขาบอกว่าระบาดเร็วมันก็มีข้อดี คนติดเชื้อเยอะๆ มีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเร็ว อย่างไรเราก็ต้องอยู่กับเชื้อนี้ มันหายไปไม่ได้หรอกอยู่กับโลกนี้ มันเชื้อโรคอีกจำนวนมาก ในอดีตเป็นโรคระบาดคนตายทีหนึ่งเยอะๆ ผ่านไปช่วงหนึ่งก็เป็นโรคธรรมดาๆ อย่างสมัยก่อนคนเป็นวัณโรคก็ตายแน่นอน เป็นกาฬโรค ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค สารพัดโรคที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็อยู่ช่วงหนึ่ง มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เชื้อตัวนี้มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เพียงแต่ว่าระหว่างมันกับเรา ใครจะไม่เที่ยงก่อนกันเท่านั้นล่ะ

พยายามมีสติไม่ประมาท คุ้มครองตัวเองให้ดีเท่านั้น ถ้าพลาดพลั้งติดเชื้อไป ตายไปก็ไม่เป็นไร เรายังมีกิเลสอยู่เดี๋ยวเราก็เกิดอีก ไม่เป็นไรหรอก เพียงแต่ฝึกภาวนาให้มันชำนาญ ให้มันชิน ให้มันชินกับการปฏิบัติไว้ คนที่เขาภาวนาดีๆ ภาวนาง่ายๆ อะไรอย่างนี้ ก่อนที่เขาจะมาถึงจุดที่ภาวนาง่ายๆ ภาวนาได้ดี เขาก็ล้มลุกคลุกคลานมาแล้วทั้งนั้น นับภพนับชาติไม่ถ้วน อาศัยการสะสม คุ้นชินที่จะรักษาศีล ที่จะฝึกจิตฝึกใจให้สงบ ให้ตั้งมั่น ไม่หลงกับโลก คุ้นชินที่จะเจริญปัญญา ถ้าจิตมันเคยชินที่ฝึกมาแบบนี้ในอดีต ปัจจุบันก็ภาวนาง่าย ถ้าจิตคุ้นชินกับความไม่มีสติ คุ้นชินที่จะผิดศีล คุ้นชินที่จะฟุ้งซ่าน คุ้นชินที่จะหลงโลก มันก็ภาวนายาก

 

จิตที่ฝึกมาดีมีผลสืบเนื่อง ไม่สูญเปล่า

ฉะนั้นเรามาใช้เวลาช่วงนี้ ที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ มาฝึกความคุ้นชินของจิตใจ ให้มันคุ้นชินที่จะมีสติ มีศีล มีสมาธิ คุ้นชินที่จะเจริญปัญญา แล้วต่อไปบุญบารมีเราพอ อินทรีย์เราแก่กล้า เราก็อาจจะได้มรรคผลในชีวิตนี้ ถ้ายังไม่พอก็ไปต่อเอาชาติหน้า มันจะง่าย ง่ายกว่ากันเยอะเลย คนที่เคยฝึกมาแล้ว แล้วตายมาเกิดอีกมันลืม มันจะลืมสภาวะที่เคยมีเคยเป็น สมองมันลืมเพราะมันสมองคนละอันกัน แต่จิตมันไม่ลืมหรอก จิตมันสืบทอดกันมาเรื่อยๆ ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ทั้งวันทั้งคืนไม่มีช่องว่าง ไม่มีระยะห่างหมายถึงเกิดดับๆๆ ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ มันก็เอาคุณสมบัติ ทั้งที่ดีทั้งที่เลวของจิตดวงก่อนๆ เอามาใช้เป็นความเคยชินของจิต

คนเคยภาวนาเกิดมาใหม่ก็ลืมเรื่องภาวนา แต่พอมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบใจอย่างแรงๆ ของเก่าที่เคยภาวนามันจะดีดตัวขึ้นมาเอง มันจะกลับมาเอง เพราะของมันเคยมีเคยเป็น เป็นสมบัติเขาเรียกว่า อริยสมบัติ สมบัติที่ดีเลิศพวกนี้ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นพระอริยบุคคล ปุถุชนเราก็สร้างอริยสมบัติได้ เช่น เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาอะไร ค่อยๆ ฝึกเอา ถึงคราวมาเกิดใหม่ลืมธรรมะไป แต่พอมีเรื่องราวมา กระทบ โดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้ตกใจ จะขึ้นง่าย ที่หลวงพ่อเคยสังเกตหลายๆ คนจะเป็นเรื่องที่ตกใจ มันเป็นอารมณ์ที่รุนแรง พอตกใจจิตที่ตกใจอยู่ๆ มันจะพลิกตัวเอง กลายเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมาเลย ความตกใจมันจะกระเด็นไปอยู่ต่างหาก จิตเป็นคนรู้คนดู จิตไม่ตกใจแล้ว ตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติเลย

จิตที่มันฝึกมาดี มันก็มีผลสืบเนื่องมาไม่สูญเปล่า ส่วนสมบัติทางโลกนั้น เรายังไม่ทันตายบางทีก็สูญไปก่อนแล้ว หรือตายไปสูญไปหมดแล้ว กลายเป็นสมบัติของคนอื่นหมด กระทั่งเมียเรา เราตายไป ไปเป็นเมียคนอื่นก็ได้อะไรอย่างนี้ สามีเรา เราตายแล้วเขาไปเป็นสามีคนอื่นก็ได้ ฉะนั้นสมบัติทางโลกไม่ยั่งยืนหรอก แต่สมบัติในทางธรรมไปดูกูเกิล เรื่องอริยทรัพย์ไปดู สะสมเอาไว้ มีหลายเคสที่หลวงพ่อเคยเห็น มีเด็กคนหนึ่งอายุ 10 ขวบได้ ตอนเด็กๆ ไฟไหม้ข้างๆ บ้าน พอเห็นไฟไหม้ก็ตกใจวิ่งจะไปบอกพ่อ ก้าวที่หนึ่งตกใจ ก้าวที่สองก็ยังตกใจ ก้าวที่สามจิตผู้รู้มันดีดตัวขึ้นมาเด่นดวงเลย ความตกใจหายไปหมดเลย เหลือแต่ความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ แล้วไปบอกผู้ใหญ่ว่าไฟไหม้ข้างบ้านแล้ว แล้วคราวนี้ก็ดูคนอื่นตกใจ จิตเป็นแค่คนดู

มีพระองค์หนึ่งเคยมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง ตอนท่านเป็นวัยรุ่น ไม่ได้ภาวนา ภาวนายังไม่เป็นหรอก ไปดูงานลอยกระทง ในงานลอยกระทงเขามีการจุดพลุ ไปยืนอยู่ข้างที่เขาจะจุดพลุ ไม่ทันสังเกตก็ไปยืนตรงจุดที่เขาจะจุดพลุกันเลย พอเขาจุดพลุเปรี้ยงขึ้นมาตกใจ พอตกใจจิตรวมพรึบเข้ามาเลย ความตกใจหายไป จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเลย ของที่มันเคยฝึก มันไม่สูญเปล่าหรอก เพราะฉะนั้นพวกเราอดทนนิดหนึ่ง พากเพียรภาวนาของเราทุกวันๆ เราได้ของดีติดเนื้อติดตัวไป ของอันนี้ข้ามภพข้ามชาติได้ แล้วคนพวกนี้จะภาวนาง่าย

อย่างถ้าเราไม่เคยฝึกให้จิตตั้งมั่น จิตเราเป็นผู้หลงตลอดเวลา จะลงมือปฏิบัติธรรมจะให้ได้ธรรมะในชีวิตนี้ ไม่ใช่ง่ายเลย เพราะของมันไม่คุ้นเคยที่จะภาวนา บางทีขยันขึ้นมาก็ภาวนา พอขี้เกียจก็เลิกภาวนา มันจะไม่เหมือนคนที่อินทรีย์เขาสะสมมาแก่กล้า มันจะชอบภาวนา มันภาวนาของมันเอง ไม่มีใครบังคับหรอก ทุกวันๆ ชอบไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรอย่างนี้ เวลาเกิดอะไรกระทบจิตใจอย่างแรงๆ ใจก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เป็นเองเลย เราไม่ต้องไปอิจฉาคนอื่นเขา ทำไมเขาภาวนาเร็ว ภาวนาง่าย ทำไมเราภาวนายากจัง แถมขี้เกียจภาวนา เวลาจะเจอครูบาอาจารย์ก็ภาวนาทีหนึ่ง เวลาห่างๆ ไปก็เลิก ไปหลงกับโลกต่อเพราะชินแล้ว จิตเราชินที่จะหลงโลก มันก็จะหลงโลก

 

“ถ้าจิตเราชินกับการภาวนา มันก็จะภาวนา มันเรื่องแค่นี้เอง เรื่องง่ายๆ
ความเคยชินมันสร้างได้ เราเคยชินจะหลงโลก ก็ฝึกตัวเองให้หลงโลกไป
ปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส ตามโลกไปทุกวันๆ”

 

ถ้าจิตเราชินกับการภาวนา มันก็จะภาวนา มันเรื่องแค่นี้เอง เรื่องง่ายๆ ความเคยชินมันสร้างได้ เราเคยชินจะหลงโลก ก็ฝึกตัวเองให้หลงโลกไป ปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส ตามโลกไปทุกวันๆ ไม่มีอะไรทำ บางคนรายได้ดีทำมาหากินสบาย คนอื่นเขาลำบากปิดบ้านปิดเมือง เราค้าขายออนไลน์อะไรต่ออะไร หากินได้ไม่ลำบาก ไม่ต้องทำมาหากิน แต่ทุกวันชอบดูข่าวเฟซ บุ๊กนี่ล่ะตัวดีเลย ดูข่าวการเมือง คนนั้นโพสต์อย่างนั้น คนนี้โพสต์อย่างนี้ ดูแล้วกิเลสที่ไม่เคยเกิดก็เกิด กิเลสที่มีแล้วก็แรงขึ้น ส่วนใหญ่คนเล่นอินเทอร์เน็ต หลวงพ่อไม่เห็นมันจะมีกุศลสักกี่คนเลย มีเหมือนกันถ้าฟังดูยูทูปที่หลวงพ่อเทศน์ จิตก็เป็นกุศล ถ้าไปดูการบ้านการเมือง นักการเมืองคนนั้นอย่างนั้น คนนี้อย่างนี้ โทสะมันก็ขึ้น

เราก็เลือกเอา เลือกเสพ เราจะเสพสิ่งที่เป็นพิษ เสพยาพิษก็เอา หรือจะเสพยาบำรุงจิตใจก็เอา เราเลือกเอา บางคนสบายทุกอย่างแล้ว แต่มันสนใจวุ่นวายกับการเมืองอะไรอย่างนี้ ข่าววันๆ หนึ่งเยอะแยะ ทั้งในประเทศทั้งต่างประเทศ กิเลสก็เกิดตลอดเวลาเลย แล้วตกค่ำจะไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรมอะไรอย่างนี้ จะไปได้กินหรือ ไม่ได้กินหรอกเพราะมันฟุ้งซ่านมาเต็มวันไปแล้ว บางคนก็กวาดบ้านถูบ้าน เป็นสามีที่ดีทำงานบ้านให้ ทำงานไปก็เจริญสติไป เดี๋ยวแวบเดียวแวะไปดูอินเทอร์เน็ตแล้ว ไปไม่รอดหรอก บวกกับลบ ทำทั้งบวกทำทั้งลบ ถ้ามันเท่าๆ กันก็กลายเป็นศูนย์เลย หมดไม่มีอะไรเหลือ ถ้าบวกเยอะหน่อยมันก็มีลบส่วนหนึ่ง หักลบกลบหนี้ก็ยังกำไรนิดหน่อย ก็อย่าบ่นว่าช้า ทำไมไม่ได้ธรรมะสักที ก็ทำทุกวัน ทำทุกวันแต่ก็รั่วทุกวัน

 

วิธีพัฒนาสติก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน

พยายามนะ พยายามเข้า รักษาใจเราอย่าให้มันรั่วให้มันไหลตามกิเลส พยายามหลีกเลี่ยงผัสสะอะไรที่กระทบแล้ว กิเลสที่ยังไม่เกิดก็เกิด กิเลสที่เกิดแล้วรุนแรงขึ้น ผัสสะอะไรที่เกิดแล้ว กุศลที่เคยมีก็ไม่มี หายไป เราก็เลี่ยงเสียสิ่งเหล่านี้ พยายามเลี่ยง แล้วสะสมแต้มของเราไปเรื่อยๆ พยายามพัฒนาสติ วิธีพัฒนาสติก็คือ การเจริญสติปัฏฐานนั่นล่ะ มีสติระลึกรู้กาย มีสติระลึกรู้เวทนา มีสติระลึกรู้จิตตสังขาร มีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย มีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ มันทำงานสืบเนื่องกัน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ไม่มี ค่อยฝึกตัวเอง เจริญสติ รู้กาย เวทนา จิต ธรรม เฝ้ารู้ไปเรื่อย สติระลึกรู้อะไรก็รู้อันนั้น ถนัดอะไรก็เอาอันนั้น ถนัดรู้กายก็รู้กาย รู้กายแล้วได้อะไร ก็ได้สติ ได้ศีล ได้สมาธิ ปัญญา รู้เวทนาก็ได้สติ ได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญา จะรู้จิตมันก็ได้อย่างเดียวกัน เจริญธัมมานุปัสสนามันก็ได้อย่างเดียวกัน รายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันนิดๆ หน่อยๆ แต่ความบริสุทธิ์นั้นมันอันเดียวกัน แต่ความแตกฉาน พวกที่เจริญเข้าไปถึงธัมมานุปัสสนาก็จะแตกฉานในธรรมะ

ถ้าเราไม่แก่กล้า ดูกายกับดูใจไว้ 2 อันนี้ง่ายๆ ที่สุด ดูใจเช่นใจมันโลก ใจมันโกรธ ใจมันหลง ใจไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ดูแค่นั้น ถ้าอินทรีย์เรากล้าแข็งขึ้นเราก็ดูเวทนา กับดูธัมมานุปัสสนา เวทนายากกว่าดูกาย ธัมมานุปัสสนายากกว่าดูจิต มันละเอียดประณีตขึ้น อย่างหลวงพ่อให้ไปดูกายนะจืด ใจมันรู้สึกจืดชืดเลย รู้สึกคับแคบ รู้สึกไม่ชอบ มันตื้นมากเลย ดูกายเคยดูไม่ใช่ไม่เคย ดูผมพอดูแป๊บเดียวผมสลายหมดเลย เห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ เห็นหัวกะโหลกมันสลายตัวเป็นชั้นๆ ไป ดูหัวกะโหลกหัวขาดไปแล้ว ดูลงในร่างกายเนื้อหนังหายไปเหลือแต่กระดูก ดูกระดูก กระดูกระเบิดเลย ดูเศษเล็กเศษน้อยของกระดูกกลายเป็นคลื่นแสง ดูแล้วก็จืดมันจบอยู่ตรงนี้ทุกทีเลย ไม่เห็นมีอะไร ใจเรามันก็แจ่มแจ้งอยู่แล้วว่ากายนี้มันไม่ใช่ตัวเรา ตรงนี้ไม่ใช่พระอริยะหรอก พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ “ปุถุชนที่ไม่ได้สดับธรรมะ คนทั่วๆ ไปสามารถเห็นได้ว่ากายไม่ใช่ตัวเรา” เพราะมันตายให้ดู มันเจ็บให้ดู มันแก่ให้ดูอยู่เรื่อยๆ คนตายเยอะแยะใช่ไหม คนนั้นที่เรารู้จักก็ตาย คนนี้ก็ตายอะไรอย่างนี้ ใจมันก็เห็นความจริงง่ายว่าร่างกายไม่ใช่เรา ถึงวันหนึ่งมันก็แตกสลาย

แต่บางคนต้องดูทางนี้ก่อน ต้องดูกายก่อน ดูจิตไม่ได้ดูกายไปก่อน แต่อย่างหลวงพ่อจิตมันไม่ชอบกาย มันดูแล้วรู้สึกคับแคบ มันตื้น หลวงปู่ดูลย์ท่านเลยสอนให้หลวงพ่อดูจิต ท่านเก่งนะท่านเก่งมากๆ เลย ท่านรู้ว่าลูกศิษย์คนนี้ควรจะภาวนาอย่างไร พอหลวงพ่อมาดูจิต รู้สึกโอ๊ยจิตมันทำไมมีสิ่งให้เรียนรู้มากมายเหลือเกิน กว้างขวางเหลือเกิน ร่างกายเรา เรายังเห็น แต่จิตใจของเรา เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นเลย เรารู้แค่ว่าสิ่งบางสิ่งมันอยู่ในนี้ มันเป็นตัวรับรู้อารมณ์แต่มันเป็นอย่างไรเราไม่รู้ มันทำงานได้อย่างไรเราไม่รู้ มันดี มันชั่ว มันทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง เราไม่รู้เลย จิตทำงานได้ตั้งสิบสี่อย่าง ทำงานได้ตั้งสิบสี่แบบ เราไม่ต้องเรียนทั้งหมดหรอก หลวงพ่อเล่าให้ฟังเท่านั้น

จิตก็มีหลากหลาย ปุถุชนมันก็มีจิตได้ 81 อย่าง ถ้าไม่ได้ฌานก็น้อยลงไปกว่านั้นอีก แต่ก็หลายสิบ แล้วพระอริยบุคคลก็มีความหลากหลายไปอีก หลายชนิด รู้สึกเอ้อจิตมันวิจิตรพิสดารจริงๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูทีแรกก็ไม่รู้ หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิตๆ ไม่รู้ว่าจิตมันอยู่ที่ไหน แล้วก็คิดจิตต้องอยู่ในร่างกายเรา แต่ดูตรงไหนของกาย กำหนดจิตดูไปที่ผมเลยผมยาวๆ ตอนนั้น ดูลงไปมีจิตอยู่ไหมในนี้ ดูลงไปผมก็สลายไปไม่มีจิต ไม่มีจิตอยู่ในเส้นผม ไม่มีจิตอยู่ในขน ในเล็บ ในฟัน ในหนัง ในเนื้อ ในเอ็น ในกระดูก ไม่มีจิตอยู่ตรงไหนเลย จิตอยู่ในกายแต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนของกาย มันวิจิตรพิสดารจริงๆ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้ไป แล้วค่อยๆ สังเกตไปตรงที่หลวงพ่อเข้าใจจิตในเบื้องต้น ตอนนั้นหลวงพ่อสวดมนต์ สวดมนต์ในใจ “พุทโธ สุสุทโธ กรุณามหัณโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ” สวดอยู่ในใจ พอท่องคำว่า “พุทโธ สุสุทโธ” เห็นกระแสของความคิดมันเลื้อยออกมาจากกลางอก เหมือนงูเลื้อยๆๆ ขึ้นมาอย่างนี้ เลื้อยออกมาจากกลางอก แล้วทันทีที่เราเห็นกระแสของความคิดเท่านั้น กระแสของความคิดดับปั๊บ ผู้รู้เกิดขึ้นเลย โอ้ผู้รู้กับผู้หลงมันตรงข้ามกัน

ถ้าจิตเราหลงปรุงหลงแต่งแล้วเรามีสติรู้ ตัวรู้เกิดเลย พอมีตัวรู้แล้วก็สังเกต โอ้ มันตัวเดียวกับตัวที่เคยนั่งสมาธิมาแต่เด็กนั่นล่ะ แต่ว่าแต่ก่อนนี้มีตัวรู้แล้วก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ ก็มัวแต่ไปดูโน้นดูนี้ออกไป ไปอ่านพระไตรปิฎก ไปอ่านธรรมะอะไรมากมาย หาวิธีที่จะปฏิบัติต่อ ทั้งๆ ที่ได้ตัวรู้มาแต่เด็กแล้ว ได้เจอหลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูจิต จิตนั่นล่ะคือตัวรู้ ดูทีแรกดูไม่เป็นไปนั่งเฝ้าไว้ นั่งจ้องไม่ให้คลาดสายตาเลย ตัวรู้มันก็เด่นดวงอยู่อย่างนั้น เกิดตัวรู้ซ้อนตัวรู้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สุด เรียกว่าวิญญาณเป็นอนันต์ ดูไปๆ ในที่สุดก็หยุดนิ่ง ว่าง สว่างอยู่อย่างนั้น ไปหาหลวงปู่ หลวงปู่บอกทำผิดแล้ว นี่บังคับจิตไม่ได้ดูจิต จิตมีธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่ง ไปทำเสียไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง ใช้ไม่ได้ไปทำใหม่ คราวนี้ก็เลยมาดู ดูจริงๆ แล้ว จิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็จิตโกรธขึ้นมา รู้ จิตโกรธก็ดับ เกิดจิตไม่โกรธ เดี๋ยวก็โกรธอีกรู้อีก โกรธอีกรู้อีก

 

หลุดโลก

หลวงพ่อเป็นพวกขี้โมโห พวกโทสะ ฉะนั้นจิตโกรธเกิดบ่อย พอจิตโกรธเกิดบ่อยเราก็เห็นไปเรื่อยๆ เห็นมันเกิดแล้วมันก็ดับไป เดี๋ยวเป็นจิตโกรธ เดี๋ยวจิตไม่โกรธ เกิดดับๆๆ ในที่สุดต่อไปมันก็เริ่มเขยิบไป บางทีจิตไม่ได้โกรธ จิตโลภก็เห็นจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ เราก็ฝึกไปเดี๋ยวก็มีจิตรู้ อ้าว เผลอแป๊บเดียวหลงไปแล้วเป็นจิตหลงอีกแล้ว จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของมันไป แล้วก็เห็นจิตมันเกิดดับ เดี๋ยวมันไปเกิดที่ตาแล้วก็ดับ เกิดที่หูแล้วก็ดับ เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดที่ไหนดับที่นั้น แต่ก่อนจะเห็นตรงนี้ยังเห็นผิดก่อน เห็นจิตมันตั้งมั่นอยู่แล้วมันก็วิ่งไปที่ตา ไปดูรูปอยู่พักหนึ่งก็วิ่งกลับมาอยู่ตรงกลางนี้ (หลวงพ่อเอามือจับที่กลางอก) ก็วิ่งไปที่หู วิ่งไปที่จมูก วิ่งกลับไปกลับมา

จิตเหมือนแมงมุมอยู่กลางใยแล้วก็วิ่งซ้าย วิ่งขวา วิ่งบน วิ่งล่าง ก็ดูไปเรื่อยๆ พบว่าไม่ใช่หรอก จิตไม่ได้วิ่งไปวิ่งมา แต่จิตรู้เกิดแล้วมันดับ มันเกิดจิตที่ไปดูรูป มันเกิดต่อกันอย่างรวดเร็ว สัญญามันเลยทำให้เรารู้สึกว่าจิตอยู่ตรงนี้ แล้วตอนนี้ไปอยู่ตรงนี้ มันเห็นการเคลื่อน อย่างหลวงพ่อเคลื่อนมือให้เราดู เห็นไหมมันมีตั้งหลายช็อตใช่ไหมกว่าจะเคลื่อนไปได้ เป็นช็อตๆๆ ฉะนั้นจิตมันเกิดดับ มันไม่ใช่มีดวงเดียวแล้ววิ่งไปวิ่งมาหรอก อย่างเคลื่อนมือคือรูป เห็นไหมรูปก็เกิดดับดูได้ไหม ลองเคลื่อนๆๆ มันจะเกิดดับให้ดู เดี๋ยวอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวอยู่ตรงนี้ จิตก็เหมือนกันเดี๋ยวอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวอยู่ที่ตา อยู่ตรงนี้อยู่ที่หู อยู่ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย เดี๋ยววิ่งไปทางใจ วิ่งไปคิด เห็นจิตมันทำงานอย่างนี้ โอ๊ยจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ เกิดแล้วก็ดับ จิตไปดูรูป จิตไปฟังเสียง จิตไปดมกลิ่น จิตไปลิ้มรส จิตไปรู้สัมผัสทางกาย จิตไปคิดนึกทางใจ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้นเลย

เฝ้ารู้เฝ้าดู ถึงจุดหนึ่งมันปิ๊งขึ้นมาเอง จิตมันก็ไม่ใช่ตัวเราเหมือนกัน เหมือนร่างกายที่มันไม่ใช่ตัวเรานี่ล่ะ เฝ้าดูไปเรื่อยๆ มันจะเห็นในโลกมันไม่มีเราหรอก โลกทั้งโลกก็เป็นแค่ความกระเพื่อมไหว เป็นคลื่นเท่านั้นเองนะโลก เป็นคลื่น เป็นความกระเพื่อมไหวเท่านั้นเอง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครเป็นเจ้าของเรา พวกอวดว่าเป็นเจ้าโลก เป็นเจ้าโลก ไม่ได้เป็นหรอก โลกมันก็เป็นโลกของมันอยู่อย่างนี้ มันกระเพื่อมไหวเป็นคลื่น เป็นพลังงาน เป็นสสารที่กระเพื่อมไหวอยู่ตลอดเวลา ดูไปๆ แล้วมันก็เห็น มันว่างเปล่า ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน ไม่มีตัวตนตรงไหนเลย ก็มีแค่นี้มีแต่รูปธรรมนามธรรม ที่กระเพื่อมไหวเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น

พอเห็นมันหาสาระไม่ได้ ใจมันก็ค่อยๆ คลายออก ค่อยคลายออกจากโลกเป็นลำดับๆ ไป ในที่สุดมันก็หลุดจากโลก หลุดโลกนี่เรามาใช้จนเสียหาย กลายเป็นพวกบ้าไปแล้ว หลุดโลก จริงๆ มันหลุดจากโลกจริงๆ โลกมันคืออะไร โลกมันคือตัวทุกข์ โลกไม่มีตัวอื่นหรอกโลกมีแต่ตัวทุกข์ ดูเป็นแล้วจิตหลุดโลกมันเสียหายไหม หลุดออกจากกองทุกข์มันเสียหายไหม ไม่เสียหายเลย มีแต่เรื่องที่เป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง รู้แจ้งอริยสัจ พระพุทธเจ้าบอกเป็นมงคลอย่างยิ่ง รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ จิตเข้าถึงความปลอดภัย จิตมัน “เขมัง” จิตมันไม่มีความผูกพันอะไร จิตเข้าถึงความปลอดภัย ก็มีความสุข สงบสุข

ค่อยๆ ฝึกไป ถ้าเราดูอย่างที่หลวงพ่อบรรยายเรื่องดูจิตให้ฟังไม่เป็น ดูกายไปก่อน เห็นร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา มันทำงานไป ค่อยรู้ค่อยดูไป ถ้าดูได้แล้วต่อไปก็มาดูจิตใจเรา แต่บางคน บางท่าน ท่านดูกายแล้วท่านก็บรรลุมรรคผลเลย บรรลุถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้เลย ทำไมดูกายแล้วถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะตัวถึงที่สุดแห่งทุกข์นั้นมันต้องปล่อยวางจิตได้ มันปล่อยวางกายไปก่อน ปล่อยวางจิตตามมา คนละสเต็ปกัน อย่างเราดูกายดูไปเรื่อยๆๆ ใครเป็นคนดู จิตเป็นคนดู ตรงที่ปัญญาเกิด มันเห็นกายกับจิตทำงานอยู่ด้วยกัน ร่างกายมันเคลื่อนไหวได้เพราะจิตสั่ง “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” อะไรอย่างนี้

 

“ทำเหตุให้มากแล้วผลมันมาเอง ทำเหตุก็คือเจริญสติไว้ ทำสติให้มาก
ศีลที่ไม่เคยมีก็จะมี สมาธิที่ไม่เคยมีก็จะมี ปัญญาที่ไม่เคยมีก็จะมีขึ้นมาได้
อาศัยสติเป็นตัวตั้งต้น”

 

ฉะนั้นดูกายมันก็เห็นจิต ตรงที่มันรู้แจ้งแทงตลอด มันเห็นทั้งกายทั้งจิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แล้วดูไปเรื่อยๆ ก็เห็นอีก กายนี้คือตัวทุกข์ก็วางกาย พอวางกายแล้ว โดยธรรมชาติก็เข้ามาที่จิต คราวนี้ร่างกายจะเคลื่อนไหวอย่างไร เห็นจิตหมดเลย ฉะนั้นการรับรู้มันลงมาที่จิตทั้งนั้นเลย พอลงมาต่อไปมันก็เห็นจิตก็ไม่มีอะไร จิตคือตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะว่าบังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ พอรู้แจ้งแทงตลอดทั้งกายทั้งจิต ก็ไม่มีอะไรให้รู้อีกแล้วก็วาง วางกายวางจิต มันจะไปรู้ธรรม รู้ธรรมที่สุดสุดคือพระนิพพาน นิพพาน สงบ สันติ ว่าง ที่ว่างเพราะไม่มีรูปธรรม ไม่มีนามธรรม ไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ว่างอยู่อย่างนั้น เสถียร ใจที่เราเข้าไปสัมผัส ใจมันก็มีความปลอดภัย เพราะตรงนี้ไม่มีศัตรูรุกรานเข้ามาได้แล้ว มีความสุข มีความปลอดภัยอยู่ในตัวเอง

 

วิธีทำสติปัฎฐาน

พยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ อดทน ทำให้เต็มที่แล้วได้ผลแค่ไหนก็แค่นั้น อยากได้ผลมากๆ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทำเหตุให้มากแล้วผลมันมาเอง ทำเหตุก็คือเจริญสติไว้ ทำสติให้มาก ศีลที่ไม่เคยมีก็จะมี สมาธิที่ไม่เคยมีก็จะมี ปัญญาที่ไม่เคยมีก็จะมีขึ้นมาได้ อาศัยสติเป็นตัวตั้งต้น คล้ายๆ เป็นเซลล์ตั้งต้น ตัวสติ แล้วก็พัฒนาเป็นเซลล์ชนิดนั้นชนิดนี้ขึ้นมาที่ดีๆ ฉะนั้นเราพยายามฝึก เมื่อกี้บอกแล้วการฝึกสติ ทำได้โดยการทำสติปัฏฐาน วิธีทำสติปัฏฐาน จะรู้กายก็ได้ รู้เวทนาก็ได้ รู้จิตก็ได้ แต่ธัมมานุปัสสนาเว้นไว้ก่อน ยากเกินไป แต่ไม่ว่าจะเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา สุดท้ายมันจะไปลงที่ธัมมานุปัสสนาอัตโนมัติ ไปตรงนี้ทุกคนล่ะ จะไปเห็นอริยสัจ ลงตรงนี้

ฉะนั้นเริ่มต้นไม่ต้องไปที่ธัมมานุปัสสนาก็ได้ มันยาก อย่างเราดูจิตเราก็จะเห็นจิตใจเรามีกิเลสบ้าง ไม่มีกิเลสบ้าง เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าดูระดับ ธัมมานุปัสสนามันละเอียดลงไปอีก มันไม่ใช่แค่ดูจิตโลภ โกรธ หลงหรอก มันดูลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันดูไปถึงตัวนิวรณ์ ตัวรากตัวเหง้าของโลภ โกรธ หลงอีกทีหนึ่ง เป็นตัวที่ขัดขวางคุณงามความดีทั้งหลาย แล้วจะพบว่านิวรณ์แต่ละตัวมีเหตุ นิวรณ์แต่ละตัวมีเหตุทั้งสิ้นเลย ทั้ง 5 ตัวก็มีเหตุต่างๆ กันไป จะเรียนรู้ รู้เหตุ รู้ผล รู้เหตุ รู้ผล ตัวธัมมานุปัสสนาเรียนแล้วจะรู้เหตุรู้ผล ส่วนตัวกาย เวทนา จิต เรียนแล้วจะเห็นว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา

ถนัดอันไหนเอาอันนั้น ทำอะไรไม่ได้ก็หายใจไป ไหนๆ ก็หายใจอยู่แล้วอย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ หายใจเข้ารู้สึกตัว หายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้าอ้าวลืมไปแล้ว จิตมันหนีไปแล้วรู้ว่ามันหนี กลับมาหายใจใหม่ไม่ว่ามัน หายใจธรรมดาๆ เวลาหายใจก็อย่าไปบังคับให้จิตสงบ ถ้าหายใจแล้วก็บังคับจิตก็ผิดธรรมชาติอีกแล้ว ผิดธรรมดาอีกแล้ว จิตมันมีธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่ง ไปหายใจจนมันนิ่งๆ ไปปรุงแต่งความนิ่งความว่างขึ้นมาก็ใช้ไม่ได้ เราอยากเห็นความจริงเราก็อย่าไปดัดแปลงมัน จะทำ อานาปานสติ เจริญสติด้วยการหายใจก็หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก แล้วพอมันไม่รู้สึก พอมันเผลอก็รู้ว่ามันเผลอ แป๊บเดียวผู้รู้มันจะเกิดเอง จิตมันจะตั้งมั่นขึ้น แล้วก็ต่อไปเผลออีก เผลออีกรู้อีก เผลออีกรู้อีก ต่อไปสติมันจะไวเผลอปุ๊บรู้ปั๊บ เผลอปุ๊บรู้ปั๊บเลย

ค่อยๆ ฝึกไป หรือบางคนไม่ชอบดูลมหายใจ ดูแล้วอึดอัด ก็มาดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนไปเรื่อย พอขาดสติแล้วมันก็ลืมร่างกาย มันไปคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องวันนี้นัดกับสาวไว้ พอร่างกายมันขยับจะโทรฯ หาเขาแล้ว ขยับจะคว้ามือถือแล้ว ร่างกายเคลื่อน มันเคยรู้สึกตัว ร่างกายขยับเราเคยรู้สึก มันจะรู้สึกขึ้นเอง นี่เรียกสติเกิดแล้ว ความหลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน มันก็หลุดออกมาดับไป จิตมันหลุดออกมาเป็นผู้รู้ขึ้นมาอีก ฉะนั้นเราก็จะได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ

การเจริญสติปัฏฐานคอยมีสติรู้สภาวะที่กำลังเกิดขึ้น ให้จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูอยู่ ค่อยๆ ฝึกไป โดยเฉพาะจิตมันหลงปุ๊บรู้ปั๊บ ตัวรู้มันเด่นดวงขึ้นมาเลย หรือจิตมันโลภ โลภปุ๊บรู้ปั๊บก็ใช้ได้ หรือร่างกาย ร่างกายมันขยับ สติมันระลึกร่างกายขยับ ผู้รู้ก็เด่นขึ้นมาทันทีเลย ฉะนั้นมีสติที่ถูกต้องเมื่อไร สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดเมื่อนั้น เกิดอัตโนมัติเลย ฉะนั้นเวลาฝึกท่านถึงสอนเรื่องสติปัฏฐาน เจริญสติไปแล้วสิ่งที่ได้คืออะไร ก็จะได้สติได้สมาธิ จิตมันจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอัตโนมัติ แล้วการเจริญสติปัฏฐานเมื่อทำต่อไปจะได้อะไร จะได้ปัญญา เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน เราจะได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา มันเป็นหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง เราจะได้ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ปัญญา ถ้าสติ สมาธิ ปัญญาของเราแก่กล้าแล้ว วิมุตติก็เกิดเอง มรรคผลมันจะเกิดเอง

 

ทำสมถะให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้วเจริญสติปัฏฐานให้เกิดปัญญาต่อไป

ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจ แต่ละคนสังเกตตัวเอง ทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เนื่องด้วยกายด้วยใจของเรานี้ล่ะ ไม่ต้องเอาของข้างนอก ไม่ต้องไปนั่งดูเทียน ดูใบไม้ไหวดูอะไร ไม่ต้องไปดูข้างนอกหรอก ดูเข้ามาที่ตัวเอง ดูกาย ก็เช่นดูร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งอะไรอย่างนี้ หรือเห็นความเป็นธาตุของร่างกาย ร่างกายหายใจเข้า ก็มีธาตุไหลเข้า ร่างกายหายใจออก ก็มีธาตุไหลออก เห็นความเป็นธาตุของมัน กินอาหารก็เอาธาตุใส่เข้าไป ขับถ่ายก็เอาธาตุไหลออกไป ร่างกายก็เป็นแค่ธาตุ คอยรู้คอยดูอย่างนี้ก็ใช้ได้ ดื่มน้ำแล้วก็ไปปัสสาวะออก ร่างกายก็มีธาตุน้ำ มีธาตุดิน มีธาตุน้ำ มีธาตุลม แล้วมีความร้อนเกิดขึ้นภายใน ธาตุไฟ เวลาเจ็บป่วยบางทีตัวร้อนเชียว บางทีเจ็บป่วยบางทีตัวเย็นเลย ธาตุไฟมันแปรปรวน

จะดูธาตุอย่างนี้ก็ได้ถ้าดูได้ แต่ของง่ายๆ คือดูร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง หัดดูอย่างนี้ไป แล้วต่อไปสติ สมาธิ ปัญญา มันจะแก่รอบขึ้น บางคนให้ดูร่างกายจิตใจยังวอกแวก ให้ดูกายหายใจ ถ้าใจยังวอกแวกอย่างอื่น ให้ดูกายเคลื่อนไหวใจก็ยังวอกแวกๆ ก็ต้องเพิ่มเติมอะไรลงไปอีกเพื่อให้ใจไม่วอกแวก การให้ใจไม่วอกแวก คือการทำสมถกรรมฐานนั่นเอง อย่างบางคนทำสมถกรรมฐานด้วยกาย กำหนดจิตเลยไม่ต้องใช้มือ ใช้จิต เราลองหลับตาแต่อย่าให้ตามันแข็ง หลับตาให้มันสบายๆ อย่าให้ตรงนี้แข็งๆ กำหนดจิตเหมือนมีมือลึกลับ มือเรานี่ล่ะกำหนด มือจริงไม่ต้องเคลื่อน ดึงผม ถอนมัน ถอนๆๆ ไป กำหนดด้วยจิต แล้วก็ถลกหนังหัวมันหัวกะโหลก เห็นหัวกะโหลกเอานิ้วแหย่ลงไปในลูกนัยน์ตา ฉีกมัน ง้างขากรรไกรมันอะไรอย่างนี้ ทำไปแล้วได้อะไร ได้สมาธิ

ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็ถนัดเรื่องนี้ ท่านฉีกร่างกายท่านเป็นส่วนๆ เรียกม้างกาย ครูบาอาจารย์ที่ชำนาญอันนี้ คือหลวงปู่หลุย จันทสาโร ลูกศิษย์หลวงปู่หลุยก็หลวงปู่สุจินต์ สุจิณโณ นี่ล่ะ เดิมเรียนอยู่กับหลวงปู่หลุย ค่อยมาบวชกับหลวงปู่ดูลย์ทีหลัง ฉีกร่างกายเป็นชิ้นๆ แหวกอกตัวเอง แหวกๆๆ จิตมันชอบคิดนักหรือ ชอบคิดโน้นคิดนี้ให้ดูกายไม่ยอมดู ให้นั่งคิดพิจารณากายไม่ยอม ก็ต้องมีแอคชั่นฉีกโน้นฉีกนี้ ให้มันหยาบขึ้นไปอีก หยาบ หักกระดูก ถอดกระดูกเป็นชิ้นๆๆ ขว้างไปทิศเหนือ ทิศใต้ ขว้างไปข้างหน้าข้างหลัง ในที่สุดร่างกายสลายไป จิตก็สงบตั้งมั่นขึ้นมาได้ นี่ก็อุบายเป็นอุบาย คือถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเราก็เห็นแค่กายเคลื่อนไหว ดูไป แต่ถ้าตรงนี้เอาไม่อยู่ หรือจิตยังฟุ้งซ่านมากก็ทำสมถะ

ทำสมถะก็ทำได้เยอะแยะไป อารมณ์อะไรก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างการม้างกาย ฉีกร่างกายอะไรอย่างนี้ก็เป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา อุบายในการปฏิบัติมีเยอะแยะ ถ้าเราฉลาดเราก็รู้ว่าอันไหนเหมาะสมกับตัวเอง อย่างหลวงปู่หลุยท่านฉลาด ท่านรู้ว่าท่านฉีกร่างกายแล้วจิตท่านสงบ พอจิตสงบแล้วท่านก็เจริญธรรมะต่อไป พิจารณา เจริญสติปัฏฐานให้เกิดปัญญาต่อไป

พวกเราก็ต้องทำ ตอนไหนฟุ้งซ่านมากก็ทำสมถะ ไปดูตัวเองทำสมถะแบบไหนสงบ แบบหวือหวาอย่างที่เล่าเมื่อกี้มันหวือหวามาก แต่หลวงพ่อทำสมถะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธเดี๋ยวก็สงบแล้ว อยู่ที่เราถนัดอะไร บางคนถนัดสวดมนต์ แต่สวดมนต์หลวงพ่อไม่แนะนำบทสวดที่ยาวๆ บทสวดที่ยาวกว่าจะจบบท หลงไปห้าร้อยรอบแล้ว อย่างนั้นไม่ได้เรื่อง สวดก็สวดอะไรที่สั้นๆ “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” อะไรก็ได้ “พุทธะเมตตัง จิตตัง มะมะ” สักบทหนึ่งสั้นๆ อะไรอย่างนี้ อะไรก็ได้ “เมตตา คุณัง อรหัง เมตตา” หาสักบทหนึ่ง แล้วก็บริกรรมของเราไปเรื่อยๆ บางคนเขาก็ชอบ “นะ มะ พะ ทะ” “นะ มะ พะ ทะ” พวกที่ชอบ “นะ มะ พะ ทะ” ส่วนใหญ่จะชอบทางกสิณ แล้วเล่นให้เกิดอิทธิฤทธิ์ แต่ถ้าเราไม่เอากสิณ ไม่เอาอิทธิฤทธิ์ เราเอาแค่บริกรรมเป็นที่อยู่ที่อาศัยของจิตก็ใช้ได้ ไม่มีอะไรต่างกัน บางคนก็บอกไม่เอา “สัมมาอรหัง” เพราะเป็นหลักสูตรที่เราไม่ชอบ ที่จริง “สัมมาอรหัง” เป็นคำบริกรรมเฉยๆ อย่าไปสร้างนิมิตอะไร อย่าไปหลงนิมิต มันก็ใช้ได้เหมือนกัน อะไรก็ได้เอาที่เราถนัด เอาที่เราถูกใจ บริกรรมแล้วก็จิตใจสบาย จิตใจมีความสุขอยู่กับการบริกรรม เราก็บริกรรมของเราไป อย่างนี้เราก็ได้สมาธิแล้ว

จะฝึกให้เกิดสติทำอย่างไร เราก็บริกรรมของเราไปนี่ล่ะ พอจิตมันหลงลืมคำบริกรรม มันหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน รู้ทันสภาวะที่จิตมันเคลื่อนไป ต่อไปพอจิตมันเคลื่อนไป สติมันเกิดเอง มันจะระลึกได้เอง อ้าว เผลอแล้ว ใช้ได้ หลงแล้วก็รู้ แต่ไม่ใช่ไปนั่งท่องอย่างนี้ หลงรู้ๆๆๆ อันนี้หลงๆๆๆ ไม่ใช่หลงรู้หรอก ถ้าหลงรู้ คือหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ อย่างนี้ใช้ได้ กรรมฐานอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ทันสภาวะที่กำลังมี กำลังเป็น ตัวผู้รู้จะเกิดอัตโนมัติ โกรธแล้วรู้ว่าโกรธก็เกิดตัวผู้รู้ โลภแล้วรู้ว่าโลภก็เกิดตัวผู้รู้ หลง โดยเฉพาะหลงคิด หลงคิดมันเกิดทั้งวัน ฉะนั้นส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะสอนเรื่องหลง หลงคิด เพราะอะไร เพราะมันเกิดทั้งวันเดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็หลง อย่างจะเอาโกรธมาทำกรรมฐานเหรอ นานๆ โกรธที บางคนชาตินี้ไม่เคยโกรธ มันเป็นคนใจเย๊นใจเย็นมาแต่ไหนแต่ไร ไม่โกรธ แล้วจะรอดูเมื่อไรจะโกรธ อย่างนี้ไม่มี ไม่มีให้ดู ดูของที่เรามี เราขี้โลภเห็นอะไรก็อยากได้ เห็นอะไรก็อยากได้ จิตโลภขึ้นมาแล้วรู้ โลภขึ้นมาแล้วรู้อย่างนี้ใช้ได้

อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนขี้หงุดหงิด ใครมาพูดอะไรด้วยยาวๆ ยังรำคาญเลย เนื้อหาเธอมีแค่นี้ พออ้าปากเราก็รู้แล้วว่าจะว่าอย่างนี้ๆ รู้จัก รำคาญ หลวงพ่อก็ดูโทสะเกิดแล้วรู้ เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวดับ ตรงที่ความโกรธผุดขึ้นมาเรารู้ ผู้รู้ก็เกิด ผู้รู้มันเป็นของที่เข้าคู่กับอารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นรูปธรรมนามธรรมมีสภาวะรองรับ เกิดขึ้นมาแล้วสติรู้ทัน ตัวผู้รู้จะเกิดอัตโนมัติเลย แต่ถ้าเป็นอย่างอารมณ์บัญญัติ สมาธิที่เกิดขึ้น มันจะไม่ตั้งมั่น เช่น เราดูไฟ จิตไหลไปอยู่ที่ไฟแล้ว ดูอากาศ ช่องว่าง จิตก็ไหลไปในช่องว่าง ฉะนั้นดูสภาวะ หัดดูสภาวะเรื่อยๆ โกรธขึ้นมาแล้วรู้ โลภขึ้นมาแล้วรู้ ที่มีบ่อยที่สุดคือหลงคิด

 

มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่จะเน้นมาที่หลงคิด จิตมันหลงไปคิดแล้วรู้ หลงไปคิดแล้วรู้ ดูได้บ่อย ยิ่งดูได้บ่อยสติยิ่งเกิดเร็ว สติยิ่งแข็งแรง เพราะจิตมันจำสภาวะได้แม่น พอมันเห็นบ่อยมันก็จำแม่น ไม่เห็นจะเรื่องแปลกอะไรเลย อย่างเราเห็นหน้าคนนี้บ่อยๆ เราก็จำได้แม่น ญาติพี่น้องเราแท้ๆ 20 ปีแล้วไม่เคยเห็น ไปเห็นเข้าจำไม่ได้ สภาวะท่านให้ดูเนืองๆ สติปัฏฐานถึงบอกให้ดูสภาวะเนืองๆ คอยดูไปเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ แล้วสติเกิดเอง พอสติเกิดระลึกรู้สภาวะถูกต้องตามความเป็นจริง ทีแรกมันยังไม่ได้รู้สภาวะตามความเป็นจริงหรอก สภาวะอะไรเกิด สติรู้ทันสมาธิจะเกิด จิตผู้รู้มันจะเกิด พอมีจิตผู้รู้แล้ว สติระลึกรู้สภาวะ คราวนี้จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว สภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่กระบวนการ

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานอันหนึ่งที่เนื่องด้วยกายด้วยใจ แล้วก็คอยรู้ทันมันไปเรื่อย ร่างกายหายใจออก รู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก สุขก็รู้สึก ทุกข์ก็รู้สึก ดี ชั่ว รู้สึกไปเลย พอรู้สึกๆๆ ต่อไปไม่ได้เจตนารู้สึก พอสภาวะอันนั้นเกิดสติจะเกิดเอง แล้วพอสติมันเกิดอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติมันก็เกิด มันจะเกิดมาทันทีเลย พอมีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง ต่อไปก็จะเกิดสภาวะที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง” ตามความเป็นจริงนี้เกิดจากอะไร เกิดจากจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ฉะนั้นคีย์เวิร์ดจริงๆ คือ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงไว้ คือหลักของวิปัสสนากรรมฐาน แต่เราจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ มีวลีที่เติมมาเพื่อขยายความ ก็คือเราต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง “จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” คือจิตที่มีสัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าเราไม่มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เราระลึกรู้โน้นรู้นี้ไป ปัญญาไม่เกิดหรอก ฉะนั้นต้องมีจิตที่ตั้งมั่นด้วย ค่อยๆ ฝึก ทำสติปัฏฐานค่อยๆ ฟัง ไปรีรันฟังหลายๆ รอบเดี๋ยวก็เข้าใจ คงไม่โง่จนกระทั่งฟังไม่รู้เรื่องหรอก มีคนมาส่งการบ้านอยู่เรื่อยๆ มาบอกหลวงพ่อดูยูทูปนี่ล่ะ ดูไปดูมาภาวนาได้ ภาวนาเป็น บางคนก็บอกสงสัยจะได้มรรคผลแล้ว จะได้มรรคผลหลวงพ่อบอกวิญญูชนก็รู้ด้วยตัวเอง ดูซิจะได้มรรคผลจริงหรือสังเกตเอา เวลาสังเกตจิตต้องเป็นสภาวะปกติ ถ้าจิตทรงสมาธิอยู่สังเกตไม่ได้ อย่างจิตทรงอย่างนี้ มันจะไม่มีอะไรให้เราดูหรอก กิเลสหยาบๆ อะไรไม่เกิดหรอก

แต่ถ้าจิตปกติอย่างนี้แล้วเห็นสภาวะไป แล้วมันจะรู้ อย่างถ้าเราคิดว่าภาวนาแล้วได้โสดาบัน ตอนที่จิตใจเราปกติ กระทั่งจิตหลง หลงๆๆ อยู่แล้วระลึกลงไป มันไม่มีเราหรอก แล้วจิตของระดับพระสกทาคามี ก็คล้ายๆ พระโสดาบันแต่ต่างกัน ความต่างจริงๆ ก็ต่างเยอะ จิตพระโสดาบันมันยังใกล้เคียงจิตปุถุชนอยู่ จิตพระสกทาคามีมันห่างโลกออกมาอีกชั้นหนึ่ง แต่ยังไม่หลุดออกจากโลก ยังเกาะเกี่ยวโลกอยู่นิดๆ หน่อยๆ แล้วถึงขั้นที่สามจิตของพระอนาคามี มันไม่เกาะเกี่ยวกับโลกแล้ว ไปเกาะเกี่ยวกับโลกละเอียด เกาะเกี่ยวกับรูปโลก อรูปโลกภายใน ขั้นสุดท้ายจิตไม่เกาะอะไรเลย ไม่เกาะกระทั่งฌานสมาบัติทั้งหลาย รูปฌาน อรูปฌานอะไรไม่เกาะหรอก

ถ้าภาวนาแล้วจิตยังเกาะอยู่อย่างนี้ทั้งวันเลย จิตไม่ไหลไปทางกามแล้ว แต่นี้ (หลวงพ่อทำท่าให้ดู) ยังติดอยู่ในรูป อยู่ในรูปฌาน รูปภพ แล้วส่วนใหญ่ของนักปฏิบัติมาจบลงตรงนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกไม่ใช่หลวงพ่อบอก ส่วนใหญ่ก็คือได้อนาคามีแล้วก็ติดอยู่ในรูปอย่างนี้ รูปฌาน ติดอยู่ในฌาน จิตก็นิ่ง ว่าง สว่างอยู่ ไม่ติดโลก ทำอย่างไรจิตก็ไม่เข้าไปจมอยู่กับโลกอีกแล้ว วิญญูชนสังเกตเอา ใช้ความสังเกตเอาก็จะรู้ด้วยตัวเอง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 ธันวาคม 2564