เวลาเรานั่งรอ ไม่ว่ารออะไร อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ รู้สึกตัวไป 5 นาที 10 นาทีอะไรก็ทำ อย่างมานั่งรอฟังหลวงพ่อเทศน์ หลวงพ่อยังไม่ได้มาหรือมาแล้วยังไม่เทศน์ อย่ามัวแต่ฟุ้งซ่าน เก็บเล็กเก็บน้อยไปเรื่อยๆ อย่างชั่วโมงหนึ่ง ถ้าเราภาวนาได้ 5 นาที 12 ชั่วโมงได้ชั่วโมงหนึ่งแล้ว รวมแล้ว มันไม่น้อยหรอก
เคยมีพระอุปัฏฐากของครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านถามหลวงพ่อ โยมเป็นฆราวาส โยมภาวนาได้อย่างไร ปีหนึ่งขึ้นไปกราบครูบาอาจารย์ครั้งหนึ่ง ท่านก็เห็นความเปลี่ยนแปลง โยมภาวนาปีหนึ่ง พระทำ 10 ปี 20 ปี ไม่ได้เท่านี้ หลวงพ่อบอกท่าน หลวงพ่อทำทั้งวัน ท่านก็งงๆ ทำทั้งวันทำได้อย่างไร ทำมาหากินด้วย มานั่งสมาธิเดินจงกรมทั้งวัน เป็นไปไม่ได้
การปฏิบัติมันไม่ใช่เรื่องของการนั่งสมาธิหรือการเดินจงกรม มันเป็นเรื่องของความมีสติ ถึงเรานั่งสมาธิเราเดินจงกรม แต่ถ้าเราไม่มีสติมันก็คือไม่ได้ปฏิบัติ อาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่นท่านก็สอน มีสติก็คือได้ทำความเพียรอยู่ ขาดสติก็คือไม่ได้ทำความเพียร ฉะนั้นหัวใจสำคัญที่เราจะต้องพัฒนาตัวเองก็คือการฝึกสติของตัวเองให้ดี
หลักสูตรในการฝึกสติก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง ฉะนั้นสติปัฏฐานเลยเป็นเรื่องใหญ่ ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต้องทำให้ถูกด้วย ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานอยู่ การที่จะบรรลุมรรคผล ไม่เหลือวิสัย มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเราทิ้งเรื่องของสติปัฏฐาน ให้เรานั่งสมาธิตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง หรือเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ มันก็ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธต้องรู้จักหัดเจริญสติปัฏฐานให้ได้
วิธีฝึกให้เกิดสติ
การเจริญสติปัฏฐานมันมี 2 อย่างซ้อนกันอยู่ เบื้องต้น เราฝึกเพื่อให้เกิดสติ เบื้องปลายเราฝึกเพื่อให้เกิดปัญญา 2 อย่างนี้ได้มาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติ ทำอย่างไรมันจะเกิด สติเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีสติก็ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล จิตที่เป็นกุศลทุกดวงต้องมีสติ อกุศลไม่มีสติหรอก ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
หลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอนหลวงพ่อ บอก “สติจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ” อย่างประโยคบอก สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ หมายถึงเราจะต้องปฏิบัติเจริญสติ ไม่มีเว้นวรรค ถ้าเป็นฆราวาสก็เว้นได้ตอนที่เราต้องทำงาน ที่ต้องทำมาหากิน ต้องใช้ความคิดอะไรอย่างนี้ อันนั้นเป็นข้อยกเว้น แต่เวลานอกนั้นคือเวลาที่เราต้องมีสติ
จำเป็นในที่ทุกสถาน อย่างบางคนก็บอกกันว่าเวลาเข้าส้วมอย่าไปปฏิบัติ อย่าไปภาวนา ไม่ดี การปฏิบัติมันเป็นของสูง ไปทำในส้วมไม่ดี พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกอย่างนั้นเลย สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในส้วมก็จำเป็น เคยมีไหม คนที่ตายในส้วม มีตั้งเยอะ บางคนเข้าห้องส้วม ตายในส้วม เบ่งมากไป เส้นเลือดในสมองแตกตาย บางคนอยู่ในห้องน้ำอาบน้ำ เอาน้ำเย็นๆ ไปโดนหัวเข้า ปุ๊บปั๊บก็ตาย
เพราะฉะนั้นเราตายตรงไหนก็ได้ ฉะนั้นการปฏิบัติจะมาเว้นช่วง เข้าส้วมแล้วไม่ให้ปฏิบัติ ไม่ถูกหรอก เข้าส้วมอย่าไปเชิญเทวดาเท่านั้นล่ะ อย่าไปท่อง “สัคเค กาเม จะรูเป” ในส้วม น่าเกลียดไปหน่อย คล้ายๆ มันเป็นที่ส่วนตัว เวลาเราเข้าส้วม เราก็ไม่ได้เชิญคนมาดู เราก็อยู่ลำพัง แต่ว่าเราต้องเจริญสติทุกที่แล้วก็ทุกเวลา ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อยกเว้น เวลาอย่างเราเข้าห้องน้ำ ถ้าเราจะฝึกให้มีสติ เราก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหวไป ร่างกายนั่ง ร่างกายยืนอะไรอย่างนี้ ในห้องน้ำก็ทำได้ เราอาบน้ำใช่ไหม ร่างกายก็กระดุกกระดิก ขัดขี้ไคลตรงนั้นตรงนี้ ถูสบู่ตรงนั้นตรงนี้ ร่างกายก็เคลื่อนไหว ให้เรารู้สึก
สติปัฏฐาน เบื้องต้นทำให้มีสติ สติเกิดจากอะไร สติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่นยำ อย่างถ้าจิตมันจำได้ ขยับแล้ว มันจำได้รูปมันเคลื่อนไหว ต่อไปไม่ได้เจตนาจะมีสติ พอร่างกายขยับปุ๊บ สติเกิดเองเลย หรือจิตใจเราสุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไรขึ้นมา เรารู้ทันบ่อยๆ อย่างถ้าเป็นคนขี้โมโห ประเดี๋ยวก็โกรธๆ โกรธแล้วแทนที่จะมัวแต่ไปดูคนที่ทำให้โกรธ เราเปลี่ยนมา โกรธแล้วเรามาดูใจที่กำลังโกรธ
หัดดูอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปใจมันจำสภาวะความโกรธได้ พอมันขัดใจเล็กๆ ผุดขึ้นมา สติเกิดเอง สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ หลวงพ่อเคยทดลองมาทั้ง 2 อย่าง อย่างตอนเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็ดูจิต จิตเดี๋ยวก็สุข จิตเดี๋ยวก็ทุกข์ จิตเดี๋ยวก็ดี จิตเดี๋ยวก็ชั่ว โดยเฉพาะนิสัยหลวงพ่อเป็นคนใจร้อน เป็นคนขี้โมโห เพราะฉะนั้นประเดี๋ยวก็โกรธๆ มันไม่ได้โกรธตึงตังอะไรหรอก มันขัดใจๆ เล็กๆ
อย่างเรานั่งอยู่ในห้องร่มๆ สบายๆ มีธุระเดินออกไปนอกห้อง แสงแดดกระทบเปลือกตานิดเดียวก็หงุดหงิดแล้ว นิสัยมันหงุดหงิดง่าย เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเวลาภาวนาก็จะเห็นจิตที่หงุดหงิดบ่อย เดี๋ยวก็หงุดหงิด หงุดหงิดแล้วก็รู้ๆๆ ต่อไปจิตมันจำสภาวะที่หงุดหงิดได้ พอหงุดหงิดเราไม่ต้องเจตนารู้ มันรู้ได้อัตโนมัติ อันนั้นล่ะสติเกิดแล้ว สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่นเพราะจิตเห็นสภาวะอันนั้นบ่อยๆ
อีกคราวหนึ่งหลวงพ่อเข้าไปกราบหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามใน ไปถึงท่านกำลังสอนโยมอยู่ วันอาทิตย์ตอนเช้า ท่านสอนโยม ท่านก็นั่งพูดไปเรื่อยๆ ขยับมือไปพูดไป โยมก็ฟังท่านแล้วก็ขยับตามไปเรื่อยๆ หลวงพ่อก็ไปดู ดูว่าวิธีนี้มันจะใช้ได้ไหม ก็พบว่าวิธีนี้ก็ใช้ได้ เพราะอะไร หลวงพ่อเทียนขยับ หลวงพ่อเทียนรู้สึกตัวตลอด พูดอยู่ยังรู้สึกเลย ไม่ได้พูดแล้วก็หลงฟุ้งๆ ไป มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดสาย
ส่วนโยมที่ปฏิบัติอาจจะยังไม่เก่ง บางคนก็นั่งคิด ท่านี้แล้วต่อไปท่าไหน ท่านี้แล้วยกมือ นั่งคิดไปเรื่อย เดี๋ยวจะทำท่าไหนดี พวกนี้ฟุ้งซ่าน อีกพวกหนึ่งขยับสวยถูกเป๊ะเลยตามตำราที่หลวงพ่อเทียนสอนขยับ 14 จังหวะ ขยับสวยแต่ใจมันหนีออกไปนอกวัด ใจมันหนีไปเที่ยว ใจมันไม่ได้อยู่กับร่างกายที่เคลื่อนไหว
หลวงพ่อไปดู หาประสบการณ์ ไปดู โอ้ วิธีนี้ก็ดีเหมือนกัน ส่วนที่ทำได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่ตัวบุคคลหรอก ก็เลยไปนั่งใต้ต้นไม้ที่วัดนั้นล่ะ วัดสนามใน ไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ไม่ได้ไปรวมกลุ่มฟังเทศน์หรอก เราไปเห็นมาก็เข้าใจแล้ว ก็ไปนั่งลองทำดูบ้าง ขยับ 14 จังหวะ 1 2 3 ข้างละ 7 แต่ท่านทำสลับกัน
หลวงพ่อเป็นคนใจร้อนบอกแล้ว ขยับแล้ว ตั้ง 14 จังหวะ รำคาญ หลวงพ่อก็เลยคลายเหลือนิดเดียวๆ เคล็ดลับของการขยับ 14 จังหวะไม่ได้อยู่ที่กระบวนท่า แต่อยู่ที่ความมีสติ ขยับจะกี่จังหวะก็ตาม ขอให้มีสติรู้รูปที่กำลังเคลื่อนไหว ใจเป็นผู้รู้ไว้ เห็นรูปมันเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นจะทำ 14 จังหวะหรือ 2 จังหวะแค่นี้ ก็เหมือนกัน บางทีขยับอย่างนี้เมื่อย หลวงพ่อเอาแค่นี้เอง แค่นี้ สัมผัสไปเรื่อยๆ แล้วก็รู้สึกตัวไป ใจหนีไป รู้ทัน ใจไปจ้อง รู้ทัน
มันก็หลักเดียวกับกรรมฐานที่หลวงพ่อฝึกนั่นเอง อย่างเราดูจิตของเรา จิตหลงไปคิด เรารู้ทัน จิตหลงไปเพ่ง เรารู้ทัน อันนี้เราขยับนิ้ว จิตหลงไปเพ่งนิ้ว เรารู้ทัน จิตหลงไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน เห็นไหมกรรมฐานมันหลักเดียวกัน ถึงจะใช้ได้ ถ้าไม่ถูกหลัก ให้วิธีวิเศษแค่ไหน ให้ครูบาอาจารย์วิเศษแค่ไหน มันก็ไม่ถูก
ฉะนั้นพอหลวงพ่อไปเห็น หลวงพ่อกำลังเล่นอยู่ใต้ต้นไม้วันนั้น ขยับแล้วรู้สึกๆ ไป ทำอยู่ 2-3 วัน ไม่นานไม่เกินอาทิตย์หนึ่ง วัน จำไม่แม่นแล้ว มันหลาย 10 ปีมาแล้ว แต่ไม่กี่วัน วันหนึ่งเห็นเพื่อนเดินอยู่คนละฝากถนน ดีใจ เพื่อนคนนี้ไม่เจอนานแล้ว เป็นเพื่อนสนิทกัน พอดีใจไม่เห็นว่าดีใจ นี่ขาดสติ ดีใจแล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองดีใจ จะไปคุยกับเพื่อน อยากพูดกับเขา ไม่รู้ว่าอยาก นี่ก็หลงอีกแล้ว ก็เริ่มหันซ้ายหันขวา ดูรถแล้ว จะข้ามถนน หันทางนี้ไม่มีรถๆ ยังขาดสติอยู่ หันดูไปอย่างนั้นล่ะ ไม่มีสติ แต่พอก้าวเท้าจะข้ามถนน พอเท้าขยับเท่านั้น สติเกิดเอง
เวลาฝึก เราฝึกรู้สึกมือขยับ แต่ว่าเรารู้มือขยับ สติเกิด แต่พอเท้าเราขยับ สติก็เกิดเพราะร่างกายมันเคลื่อนไหวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสติมันเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่นเพราะเห็นสภาวะอันนั้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเราก็หัดดูสภาวะ สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมมี 2 อัน มีรูปธรรมกับนามธรรม ส่วนสภาวะอีกอันหนึ่งก็คือพระนิพพาน พวกเรายังไม่เห็น ปุถุชนจะไม่เห็นนิพพาน จะไม่เห็น
เพราะฉะนั้นเราก็เอากรรมฐานที่เราทำได้ ถนัดรู้ร่างกาย รู้ไป ถนัดรู้จิตใจก็รู้ไป อย่างถนัดรู้กาย ก็ทำได้หลายแบบ เช่น ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก คอยรู้สึกตัวไป ไม่ได้ฝึกหายใจเพื่อให้จิตสงบ คนละโลกกันเลย คนละเรื่องกันเลย แต่หายใจเพื่อจะรู้สึก เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า รู้สึกอยู่ ไม่หลงลืมว่าร่างกายกำลังหายใจ ไม่ไปถลำ ไปจ้องๆ
โดยเฉพาะจ้องลม ไปจ้องลมหายใจ จ้องๆๆ มันกลายเป็นกสิณ เป็นสมถะเฉยๆ แต่ถ้าเราจะฝึกให้เกิดสติ วัตถุประสงค์คนละอันกัน ถ้าจะฝึกให้เกิดความสงบก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อันนี้ที่หลวงพ่อพูดวันนี้ เราจะฝึกให้เกิดสติ ถ้าเราจะฝึกให้เกิดความสงบ เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง
วิธีฝึกให้เกิดความสงบ
อย่างหลวงพ่อถ้าทำอานาปานสติ รู้ลมหายใจแล้วใจมันมีความสุข ถ้าหลวงพ่อต้องการความสงบ หลวงพ่อก็ไปอยู่กับลมหายใจ เห็นลมหายใจออก เห็นลมหายใจเข้าด้วยใจปกติแล้วจิตมันจะรวมเอง สงบเอง ถ้าชำนาญหายใจทีเดียว 2 ทีก็รวมแล้ว แต่ถ้าเราให้เกิดสติ เราไม่มุ่งไปที่ให้จิตรวม เรามุ่งที่จะรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น เราเห็นร่างกายหายใจออก เราเห็นร่างกายหายใจเข้า ฝึกอย่างนี้
พอเราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า มันก็เหมือนเห็นร่างกายขยับมือนั่นล่ะ อันเดียวกันนั่นล่ะ หลวงพ่อเทียนมา apply เป็นเรื่องขยับมือ แต่ถามว่าผ่าเหล่าผ่ากอออกนอกสติปัฏฐานไหม ไม่ออก ขยับมือก็อยู่ในสัมปชัญญบรรพในสติปัฏฐาน เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก หยุดนิ่งแล้วรู้สึก เพราะฉะนั้นหลักของท่านใช้ได้ แต่หลักเชื่อมๆ อะไรนี่ไม่มีในสติปัฏฐาน เป็นหลักหลอกลวง ใช้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราดูในพระไตรปิฎกเป็นหลักไว้
หลวงพ่อหัดที่จะให้เกิดสติ ใช้วิธีนี้ อ่านใจตัวเอง ใจเราโกรธขึ้นมาก็รู้ ใจไม่โกรธก็รู้ จิตจำสภาวะความโกรธได้ ต่อไปพอมันโกรธปุ๊บ มันรู้เอง ทีนี้พอจำโกรธได้อันหนึ่ง ต่อไปเวลามันโลภ มันหลง มันก็รู้ได้เอง เพราะว่ามันรู้แบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นเบื้องต้นรู้อันใดอันหนึ่งไป ถ้าเราขี้โกรธก็ดู ใจมันโกรธก็รู้ ไม่โกรธก็รู้ โลภขึ้นมา ใจมันโลภก็รู้ ไม่โลภก็รู้ บางคนชอบฟุ้งซ่าน ใจชอบหลงไปคิด หลงไปคิดก็รู้ พอรู้ทัน ใจก็ไม่หลงคิด ใจก็ตั้งมั่น ทำอะไรก็ได้ ใจหดหู่ก็รู้ ใจฟุ้งซ่านก็รู้ คอยดูไป
ดูซ้ำๆๆ ไปจนจิตจำสภาวะอันหนึ่งได้แล้ว จำได้แล้วว่าโกรธเป็นอย่างไร อย่างหลวงพ่อดูจากโกรธก่อน จำได้ว่าโกรธเป็นอย่างไร แล้วต่อไปพอมันไม่โกรธ มันโลภ มันก็เห็น เพราะว่าจะโกรธ จะโลภ จะหลงอะไร มันผุดขึ้นมาจากที่เดียวกัน มันผุดขึ้นมาจากกลางอกเหมือนกันหมดล่ะ ผุดขึ้นมาจากฝั่งนี้ล่ะสภาวะทั้งหลาย
จุดที่นามธรรมจำนวนมากผุดขึ้นมาเรียกว่าหทัยรูป ในตำรามี หทัยรูป หรือหทัยวัตถุ หรือบางทีเรียกสั้นๆ ว่าวัตถุ คือจุดที่เกิดของนามธรรม มันเกิดที่เดียวกันนี้เอง แต่ในตำราเขาไปแปลหทย นึกว่าแปลว่าหัวใจ ก็เลยคิดว่าหทยรูปอยู่ในหัวใจ ก็เป็นน้ำเลี้ยงหัวใจสีนั้นน้ำเลี้ยงหัวใจสีนี้ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่มันไม่ได้มี พอวิทยาการตามทันมันไม่ใช่อย่างนั้น ตรงที่น้ำเลี้ยงหัวใจอะไรนี่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้ เป็นคนรุ่นหลังมาแต่งตำราขึ้นเอง
ที่สำคัญคือตัววัตถุ ตัวหทยรูปๆ หทยตัวนี้แปลว่ากลาง อย่างคำว่าใจ ใจแปลได้หลายอัน หัวใจก็ได้ แปลว่ากลางก็ได้ ใจกลาง ฉะนั้นตัวหทย หลวงปู่เทสก์ท่านบอกแปลว่ากลาง มันผุดขึ้นกลางอก สภาวะใครเห็นบ้างไหม สภาวะเวลาผุดๆ จากกลางอกนี่ล่ะ โกรธมันก็พุ่งขึ้นมาจากนี่ ถ้าโกรธนิดหน่อยพุ่งขึ้นมาก็ดับไป ถ้าโกรธแรงก็พุ่งขึ้นหัว คราวนี้ถูกกิเลสครอบหัวแล้ว ก็หน้ามืด
ฉะนั้นมันจะผุดขึ้นอย่างนี้ เราเห็นตัวเดียวผุดขึ้นก่อน แล้วต่อไปตัวไหนผุดขึ้น เราก็เห็นได้ เพราะมันเกิดที่เดียวกันนั่นล่ะ ผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไปๆ หัดดูอย่างนี้ ถ้าจะเริ่มจากรูปธรรมก็ได้ แต่เดิมหลวงพ่อหัดอานาปานสติ แต่มุ่งไปที่ความสงบ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 2 นับไปเรื่อยๆ พอจิตเริ่มสงบ การนับหายไป เพราะการนับเป็นภาระมากไปแล้ว
มันคล้ายๆ เราจะล่ามวัวดุๆ สักตัวหนึ่ง วัวนี้ยังดุอยู่ก็ต้องใช้เชือกหลายเส้น แต่พอวัวมันเชื่องก็ใช้เชือกเส้นเดียว ไม่ต้องมีหลายเส้น จิตที่ฝึกทีแรกมันดิ้นมาก ก็เลยมีเชือกหลายเส้น เชือกเส้นที่หนึ่งก็ลมหายใจ เชือกที่สอง พุทโธ เชือกที่สาม นับตัวเลข ท่านพ่อลีท่านสอนอย่างนี้ ท่านไม่ได้สอนละเอียดอย่างนี้ ท่านสอนหลวงพ่อแค่ว่าไปฝึก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2
เราก็มาทำ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับๆๆ ไปเรื่อย สุดท้ายพอจิตสงบ การนับเป็นส่วนเกิน จิตมันไม่นับแล้ว มันก็เหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตมันสงบมากขึ้น พุทโธหายไป เหลือแต่ลมหายใจ พอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไปกลายเป็นแสงสว่าง กลายเป็นพลิกไปทางกสิณ จะไปทางฌานทางอะไร ทางโน้นแล้ว อันนี้เป็นเส้นสำหรับเดินไปสู่ความสงบของจิต
ส่วนเส้นของการเจริญสติง่ายกว่านั้น “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ไม่เห็นมีอะไรลึกลับเลย มีสติอยู่ ไม่ได้บอกว่าให้หลับตาด้วย ใครจะหลับตาหรือจะลืมตา ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอจิตรวมจริงๆ มันก็หลับตาไปเองล่ะ
เพราะฉะนั้นจุดสำคัญที่จะฝึกสติ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ไม่ใช่หายใจออกก็หลง หายใจเข้าก็หลง คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วก็ไม่ใช่หายใจออก หายใจเข้า ก็เพ่งลมหายใจ อันนั้นจะไปเป็นสมถะ เพราะฉะนั้นอย่างแค่ลมหายใจพลิกแพลง ทำให้เกิดความสงบก็ได้ จะทำให้เกิดสติก็ได้ ทำได้หลายอย่าง
หลวงพ่อก็มาทำให้มันมีสติ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ตรงนี้ ฝึกตรงนี้มาตั้งแต่ยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์ แต่ฝึกตรงนี้มาเพราะว่ากลัวผี พอเราหายใจออก หายใจเข้า สว่างแล้วใจมันไหลออกไป มันไปเที่ยวสวรรค์ เที่ยวเห็นเทวดา เห็นโน่นเห็นนี่ ออกไปรู้ไปเห็น เสร็จแล้ว ใจมันก็นึกขึ้นมา เราไปเห็น ไม่เห็นมันจะมีประโยชน์อะไรเลย แล้วเห็นเทวดาได้มันต้องเห็นผีได้ หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จะไม่ให้จิตไหลเข้าไปตามแสงออกไปข้างนอกแล้ว
เพราะฉะนั้นภาวนา พอหายใจ พอสว่าง ก็ทำความรู้สึกตัวไว้ ไม่ให้ใจไหลตามแสงไป กลายเป็นฝึกอานาปานสติเพื่อให้มีสติ ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าจะให้ใจสงบก็ปล่อยใจ ให้แนบเข้าไปกับอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะให้มีสติก็คือรู้เท่าทัน ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก
อย่างบางคนไม่ถนัดหายใจ อย่างยกตัวอย่างพระอาจารย์อ๊า พระอาจารย์อ๊าอยู่กับหลวงพ่อมาตั้ง 20 กว่าปี อยู่ด้วยกันตลอด แต่ว่าทำอย่างหลวงพ่อไม่ได้ ทำอานาปานสติไม่ได้ เพราะเป็นโรคหายใจไม่ค่อยออก จมูกตันอยู่เรื่อยๆ อาจารย์อ๊าก็ใช้วิธีเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกๆ ร่างกายขยับก็รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้สึก ใช้หลักอันนี้ ต่อไปจิตมันจำสภาวะได้ มันจำสภาวะรูปที่เคลื่อนไหว รูปที่หยุดนิ่ง มันก็หลักสูตรเดียวกับที่หลวงพ่อเล่าเรื่องว่าไปทำแบบหลวงพ่อเทียนนั่นล่ะ ก็อยู่ในหลักตัวนี้นั่นเอง เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก
อย่างหลวงพ่อหัด ก็หายใจออกหายใจเข้าแล้วรู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอนแล้วรู้สึก หัดรู้สึกๆ นี่ล่ะการหัดรู้สึกเรื่อยๆ จิตมันจำสภาวะได้แม่นแล้วสติจะเกิดเอง เมื่อเราได้สติมาแล้ว ไม่ว่าจะโดยรู้สึกกายหรือรู้สึกใจ เป็นจุดตั้งต้นก็ตาม สติมันก็อันเดียวกันล่ะ เส้นทางเดินอาจจะมีหลายเส้นทาง แต่รสชาติของธรรมะนั้นก็เป็นอันเดียวกันทั้งสิ้น จะเดินทางกาย ทางเวทนา ทางจิต ทางธรรม รสชาติของธรรมะ รสชาติของความสงบ รสชาติของวิมุตติ ก็เป็นอันเดียวกันทั้งหมดล่ะ แล้วแต่ความถนัด
จิตจำสภาวะได้แม่นแล้วสติเกิดเอง
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะฝึกสติ รู้ไปจนจิตมันจำสภาวะได้แม่นแล้วสติเกิดเอง ทีแรกจำอันเดียว อย่างถ้านามธรรม อย่างหลวงพ่อดูโกรธ ก็ดูอันเดียว โกรธก็รู้ ไม่โกรธก็รู้ สุดท้ายมันก็รู้นามธรรมทั้งหมด รู้ร่างกาย ขยับมืออย่างนี้ สุดท้ายร่างกายขยับ รู้ทั้งหมดล่ะ สติมันอัตโนมัติขึ้นมา พอเรามีสติแล้ว ศีลอัตโนมัติจะเกิด สมาธิอัตโนมัติจะเกิด ปัญญาอัตโนมัติจะเกิด
อย่างถ้าเราเคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก พอเราโกรธใครสักคน เราจะชกหน้ามันแล้ว ขยับมือ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกแล้ว สติเกิดแล้ว ไม่ชกเขาแล้วคราวนี้เพราะสติเกิดแล้ว โทสะดับ อาศัยรู้สึกร่างกายเคลื่อนไหว ศีลก็เกิด อาศัยรู้จิตเคลื่อนไหว ศีลก็เกิด พอโกรธขึ้นมาปุ๊บ เห็นความโกรธ อยากทำร้ายเขาแล้ว พอรู้ทันปุ๊บ ความโกรธดับ ไม่ไปทำร้ายเขา ไม่ไปด่าเขา ไม่ไปตีเขา
เพราะฉะนั้นศีลอัตโนมัติมันจะเกิด ถ้าเรามีสติ ไม่ว่าจะสติจากการฝึกเริ่มต้นรู้กาย หรือสติ ฝึกเริ่มต้นจากการรู้จิต ก็อันเดียวกันล่ะ คือมันจะรู้เท่าทันตัวเอง สมาธิมันก็เกิด อย่างเรารู้สึกกายไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ใจมันไม่วอกแวกไปที่อื่น ใจสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือร่างกายนั่นล่ะ เราก็ได้สมาธิชนิดสงบ
ทีนี้จะพัฒนาไปสู่สมาธิตั้งมั่น เช่น เราหายใจอยู่ จิตเราหนีไปคิด รู้ทัน จิตเราไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน เราขยับร่างกายอยู่ จิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตไปเพ่งร่างกาย รู้ทัน ตรงที่เรารู้เท่าทันจิตตัวเอง จิตมันก็จะไม่หลงไปไม่ไหลไป จิตมันก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะได้จิตที่มีสมาธิชนิดตั้งมั่น
ถ้าอยากสงบ เราก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราอยากได้สมาธิชนิดตั้งมั่น เรามีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไหลไปไหลมา ไหลไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ไหลไปตามความคิด ไหลไปตามมือตามเท้าอะไร ถ้าเรารู้ว่าจิตไหลไป จิตก็จะไม่ไหล จิตที่ไหลจะดับ ก็จะเกิดจิตที่รู้ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
นี่คือการฝึกสติปัฏฐาน แล้วเราจะได้อะไรตั้งหลายอย่าง เห็นไหม ได้สติก่อน ได้ศีล ได้สมาธิชนิดสงบ ได้สมาธิชนิดตั้งมั่น นี่คือผลจากการที่เราฝึกเจริญสตินั่นล่ะ แล้วการเจริญปัญญาทำอย่างไร ขอให้มีสติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดขึ้น ถ้ามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้องแล้วรู้วิธีเจริญปัญญา การเจริญปัญญาจะไม่ใช่เรื่องยาก
เท่าที่หลวงพ่อสังเกตพวกเรา ที่ฝึกใช้เวลานาน บางคนตั้ง 10 ปี 20 ปีเพื่ออะไร เพื่อให้จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ในตำราสอน สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าจิตเราตั้งมั่น ไม่ต้องกลัวโง่หรอก ไม่ต้องกลัวไม่มีปัญญา ถ้ารู้วิธีนิดเดียว ก็เดินปัญญาได้แล้ว
หลวงพ่อฝึกตั้งแต่เด็ก แล้วหลวงพ่อได้จิตที่ตั้งมั่นตั้งแต่เด็ก 10 ขวบได้แล้ว ตอนนั้นไฟไหม้ข้างบ้าน แล้วตกใจ ก็วิ่งจะไปบอกพ่อ ก้าวที่หนึ่ง ตกใจ ก้าวที่สอง ตกใจ ก้าวที่สาม สติระลึกรู้ความตกใจ ความตกใจขาดสะบั้น จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นผู้รู้ขึ้นมา ทำมาได้ตั้งแต่เด็กๆ ฉะนั้นเวลาเจอหลวงปู่ดูลย์ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเจริญปัญญา ท่านก็สอนเจริญปัญญาด้วยการดูจิตเอา
หลักของการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์สอนไว้ ถ้าดูจิตได้ให้ดูจิต ถ้าดูจิตไม่ได้ก็ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ทำสมถะไว้ก่อน ไม่มีตรงไหนที่บอก ทำไม่ได้ก็เลิกทำไปก่อน ไม่มี อย่ามั่ว ทำไมว่าดูจิตได้ให้ดูจิตก่อนเลย เพราะกุศลเกิดที่จิต อกุศลเกิดที่จิต มรรคผลเกิดที่จิต ถ้าเราเข้าถึงจิตได้ โอกาสที่จะใกล้ธรรมะมันก็ง่าย
ครูบาอาจารย์สอนดูจิตเพื่อให้เห็นธรรม เวลาเราดูจิตใจของเรา รู้จิตใจของเรา เราก็จะเห็นธรรมะ คือกุศลธรรมบ้างอกุศลธรรมบ้าง ถ้าเราภาวนาได้ดีจริง โลกุตตรธรรมก็เกิดขึ้นที่จิต เพราะฉะนั้นธรรมะทั้งหลายก็เกิดอยู่ที่จิตนี้เป็นหลักเลย เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ เป็นประธานเพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาดูจิตได้ ก็ดูเลย
วิธีจะดูจิตก็คือเวลาเราภาวนา เราสังเกตจิตใจของตัวเอง อย่างเราพุทโธๆ แล้วจิตเราหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน พุทโธๆ จิตไปเพ่งลมหายใจแล้วรู้ทันอะไรอย่างนี้ หรือไปเพ่งพุทโธ รู้ทัน หัดรู้ทันจิตไป ขยับมือ จิตหนีไปก็รู้ จิตไปเพ่งมือก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ
แล้วตรงที่เรารู้ทันว่าจิตมันพลาดไป 2 อย่าง อันหนึ่งมันหลงไป อันหนึ่งคือมันตึงเครียด เพ่งจ้องเกินไป ถ้าเรารู้ว่าจิตไปผิดอันใดอันหนึ่ง มันไม่ผิด เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นมันถูกเอง ที่ถูก จิตที่ถูกทำขึ้นมาไม่ได้ จงใจทำก็โลภแล้ว ไม่มีทางทำสำเร็จหรอก ให้เรามีสตินี่ล่ะ คอยรู้ทันจิตที่มันผิด จิตที่ผิดมี 2 อันเอง จิตที่หลงไป ลืมกรรมฐานของเรา อีกอันหนึ่งคือจิตที่ไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐานของเรา ฝึกไปเรื่อยๆ
ในที่สุดจิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น พอตากระทบรูป ใจมันคิด นี่ไม่ดี นี่ศัตรูเรา โทสะก็เกิด เราเห็นกระบวนการทำงานมัน เออ โทสะมันเกิด เราเป็นแค่คนดู เห็นกระบวนการที่จิตมันทำงานขึ้นมา ตรงที่เราเห็นกระบวนการทำงานมันขึ้นธัมมานุปัสสนาแล้ว แล้วแต่แต่ละคน ถ้ามาไม่ถึงตรงนี้ ก็ไม่เป็นไรหรอก ตามรู้ลงไป
อย่างถ้าบางคนดูกาย อย่างพวกเราขณะที่ฟังหลวงพ่อพูดธรรมะให้ฟัง จิตพวกเราจะมีกำลัง รู้สึกตัวไหม จิตมันจะมีแรงมากกว่าอยู่คนเดียว หรืออยู่บ้าน เมื่อจิตมันมีกำลังอย่างนี้ เรียกว่ามันมีแรงแล้ว มันมีสมาธิแล้ว
รู้สึกไหมร่างกายกำลังนั่งอยู่ อย่าไปเพ่งมัน ถ้าเพ่งก็ผิดอีกแล้ว ไม่ต้องเพ่ง รู้สึกเฉยๆ ตัวนี้มันนั่งอยู่ เห็นไหมมันยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้กำลังนั่ง ถ้าใครไม่รู้นี่โรคจิตแล้ว ก็นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ ก็แค่นั้น รู้ไหมร่างกายกำลังหายใจ ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้หายใจ ไม่เห็นยากตรงไหนเลย เห็นไหมธรรมะมันธรรมดาๆ เราไปคิดมากยากนานนั่นเอง
วิธีเจริญปัญญา
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเจริญปัญญาด้วยการดูกาย เราก็เห็นร่างกายมันถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่นั่งอยู่ มันถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง ร่างกายที่หายใจออก ร่างกายที่หายใจเข้า ล้วนแต่เป็นของถูกรู้ถูกดู ดูไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปมันจะเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก มันเป็นแค่วัตถุธาตุ เป็นสมบัติของโลก เรายืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องคืนโลกไป
ร่างกายเป็นของไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง เห็นไหม คิดดูสิ ร่างกายเราตายมาตั้งแต่เท่าไรแล้ว อย่างเราตายมาตั้งแต่เป็นทารก จากทารกเราตายไป เราก็มาเป็นเด็ก จากเด็กตายไปก็มาเป็นวัยรุ่น เกิดใหม่เป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นตายไปก็มาเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวตายไปก็มาเป็นกลางคน จากกลางคนก็มาเป็นคนแก่ เห็นไหมร่างกายเรามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
ค่อยรู้สึกๆ ไป อันนี้ดูแบบยาวๆ ถ้าดูแบบใกล้ๆ ก็เห็นร่างกายที่หายใจออกเกิดแล้วก็ตายไป ร่างกายที่หายใจเข้าเกิดแล้วก็ตายไป ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน แต่ละอย่างๆ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น มันเป็นการเจริญปัญญา ดูกาย ก็เห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อนัตตาดูอย่างไร เห็นไหมร่างกายเราสั่งอะไรไม่ได้จริงหรอก ร่างกายเป็นทุกข์ ก็ถูกบีบคั้นตลอดเวลา ร่างกายเราสั่งว่าอย่าหิวก็ไม่ได้ อย่าร้อนก็ไม่ได้ อย่าหนาวก็ไม่ได้ อย่าปวดอึ อย่าปวดฉี่ สั่งไม่ได้สักอย่างเลย อย่าแก่ก็สั่งไม่ได้ อย่าเจ็บก็สั่งไม่ได้ อย่าตายก็สั่งไม่ได้ หัดดูความจริงของมันไปเรื่อยๆ จิตก็จะรู้ความจริงร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แล้วดูจิตใจเราก็เหมือนกัน เราจะเห็นเลย จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตชั่วเกิดแล้วดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ อันนี้เห็นอนิจจัง ถ้าเราทรงสมาธิขึ้นมา จิตมีสมาธิ จิตมันจะมีความสุขมีความสงบยาวนาน เราก็จะดูลงไปอีก เจริญปัญญาลงไป เห็นไหมจิตที่ทรงสมาธิอยู่ ที่เหมือนจะเที่ยง จิตที่เหมือนจะเที่ยง เช่น มันมีปีติอยู่อย่างนั้นยาว หรือมีความสุขอยู่ยาว มีอุเบกขาอยู่ยาวๆ เรานึกว่าเที่ยง
แต่ถ้าเรามีสติตามรู้ตามเห็น เราก็จะรู้ว่ามันไม่เที่ยงเหมือนกัน เข้าสมาธิได้ ก็ออกจากสมาธิได้ เข้าๆ ออกๆ ไม่เที่ยงหรอก มีปีติแล้วปีติก็ไม่มี มีสุขแล้วสุขก็ไม่มี มีอุเบกขาแล้วอุเบกขาก็ไม่มีอีกแล้ว อันนี้เราจะเห็นจิตนี้ถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะจิตทรงสมาธิ มีความสุขทรงตัว นึกว่าจะอยู่ได้นาน สุดท้ายก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย จิตที่ทรงสมาธิก็อยู่ไม่ได้นาน นี่เราเห็นทุกขัง ทุกขตาของจิต
อนัตตตาของจิตยิ่งดูง่ายหนักเข้าไปอีก ทุกขตา ส่วนใหญ่ต้องทรงฌานถึงจะเห็น ถ้าไม่ได้ทรงฌาน จิตมันเปลี่ยนเร็ว มันไม่ทันเห็นว่าถูกบีบคั้น มันดับไปแล้ว เกิดปุ๊บดับปั๊บๆ แต่ถ้าจิตมันทรงฌานอยู่ มันจะเกิดจิตลักษณะเดิมซ้ำกันยาวๆ แล้วเราเห็นว่าจิตในกลุ่มนี้ จิตที่เป็นปฐมฌาน เป็นกลุ่มของจิตยาวๆ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป อาจจะหลุดออกมาไม่ได้ฌานเลย หรือขึ้นฌานที่สอง ขึ้นฌานที่แปดเลย ข้ามไปเลยก็ยังได้ ถ้าจิตมันชำนาญ อันนี้ทุกขัง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย
อนัตตตา เราเห็นว่าเราบังคับจิตไม่ได้ เราสั่งจิตให้ดีได้ไหม ห้ามจิตชั่วได้ไหม อย่างเราบอกว่าคนนี้หักหลังเรามานานแล้ว ต่อไปจะมาขอคืนดี เราไม่คืนดีด้วยแล้ว จะจำ เจ็บแล้วต้องจำ สมมติว่าผู้ชายคนหนึ่งไปจีบผู้หญิงแล้ว เป็นแฟนกัน รักกัน ดูแลกันดี วันหนึ่งไปมีกิ๊กแล้ว เราตั้งใจว่าเราจะไม่คืนดีแล้ว พอเขามาคุยดีด้วยหน่อย อ้าว คืนดีอีกแล้ว มันบังคับไม่ได้
เราจะสั่งจิตให้มีแต่ความสุขก็ไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ เราห้ามจิตว่าอย่ามีความทุกข์ก็ไม่ได้ เราห้ามว่าอย่าโกรธก็ไม่ได้ โกรธแล้วบอกให้หายไปเร็วๆ ก็สั่งไม่ได้ ห้ามว่าอย่ารักก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เราสั่งได้เลยในจิตนี้ มันมีแต่เกิดแล้วก็ผันแปรไปตามสภาพของมัน ตามเหตุปัจจัยของมัน ตรงนี้เรียกว่าเราเห็นอนัตตา
อย่างหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเห็นจิตเป็นอนัตตาเสียส่วนใหญ่ ก็จะเห็น เอ๊ะ เราบังคับไม่ได้สักอย่างหนึ่ง จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ทำหน้าที่ของจิตไป จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แล้วมันก็ทำหน้าที่รู้อารมณ์ เราจะไปบอกมันว่ารู้เฉยๆ อย่ารัก อย่าโกรธ อย่าโลภ บอกไม่ได้ ค่อยๆ ฝึก สุดท้ายเราก็เห็น เกิดปัญญา
ปัญญาคือเห็นไตรลักษณ์ อาศัยการเจริญสติปัฏฐาน เบื้องแรกให้มีสติ พอมีสติแล้วก็พัฒนาเป็นศีล เป็นสมาธิ จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว เราก็เดินปัญญาได้ ก็จะเห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง จิตนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็เห็นด้วยจิตที่ตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง
เมื่อเราทำอย่างนี้มากๆ ต่อไปพอจิตมันเห็นความจริง มันจะเบื่อหน่าย รู้สึกร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตใจนี้ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอมันเห็นความจริง แล้วรู้ตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น พอหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
นี่คือเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอนเรา เป็นเส้นทางที่อยู่ในกฎแห่งกรรม ใครทำใครได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้ ทำผิดก็ไม่ได้ ทำถูกแต่ไม่พอก็ไม่ได้ เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมล้วนๆ เลย ไม่มีใครช่วยใครให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ กระทั่งเราจะสั่งจิตของเราให้บรรลุมรรคผลนิพพานยังสั่งไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่มีใครสั่งจิตให้บรรลุมรรคผลได้หรอก จิตบรรลุมรรคผลได้เองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว
วิธีปฏิบัติคือน้อมเข้ามาที่ตัวเอง
มารู้กายมารู้ใจตัวเองไว้
เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา คนอื่นมอบให้เราได้ไหม ไม่ได้ เราต้องพัฒนาขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นทฤษฎีที่ว่าคนโน้นจะมาช่วยเราคนนี้จะมาช่วยเราให้บรรลุ เรื่องโกหกทั้งสิ้น ผิดหลักของพระพุทธเจ้า หลักของพระธรรมใช่ไหม พระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว สามารถเห็นตามได้ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติ เราเห็นตามได้ เรียกสันทิฏฐิโก
ไม่จำกัดด้วยเวลา ไม่ใช่ว่าผ่านเวลามา 1,000 ปี 2,000 ปี 2,500 ปีแล้วความจริงอันนี้จะแปรปรวนไป ธรรมะคือความจริง นานเท่าไรก็ไม่ได้แปรปรวนไป ก็ยังเป็นความจริงอยู่ เรียกอกาลิโก ธรรมะของพระพุทธเจ้า เอหิปัสสิโกๆ แปลว่าพึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด อันนี้คืออะไร งานเดียวที่เราจะช่วยคนอื่นได้ ก็คือบอกทางให้เขา แล้วบอกให้เขามาลองดู ไม่ใช่ให้เขาเชื่อ แล้วก็ไม่ได้ว่าเราไปช่วยให้เขาบรรลุมรรคผลได้
แล้วถ้าเขาฟังรู้เส้นทางแล้ว วิธีที่จะปฏิบัติก็คือโอปนยิโกๆ คือน้อมเข้ามาหาตัวเอง เข้ามาเรียนรู้กายเรียนรู้ใจของตัวเอง ถ้าเราคอยเรียนรู้กาย เรียนรู้กายของตัวเองได้ สุดท้ายก็เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชน รู้ด้วยตัวเองว่าเรายังมีกิเลสหรือเราหมดกิเลสแล้ว ไม่ต้องให้ใครช่วย ไม่ต้องให้ใครสอน
เห็นไหมคนที่จะช่วยเราสอนเรามีนิดเดียวเอง คนที่เป็นพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ มาบอกทางให้เรา แล้วก็บอกพวกเรา ลองทำดูสิ ลองปฏิบัติดูสิ พอเราลงมือปฏิบัติ วิธีปฏิบัติคือน้อมเข้ามา โอปนยิโก เข้ามาที่ตัวเอง มารู้กายมารู้ใจตัวเองไว้ พอต่อไปก็เห็นความจริงของกายของใจ ใจก็คลายความยึดถือ ใจก็หลุดพ้น เราก็รู้ด้วยตัวเอง จะหลุดหรือไม่หลุด วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปถามใครเลย
เพราะฉะนั้นมาถามหลวงพ่อเรื่อยๆ ว่าหนูภาวนาอย่างนี้ หนูได้โสดาบันหรือยัง ตอบได้เลยว่ายัง ถ้าได้แล้วไม่สงสัยๆ ง่ายมากเลย อีกพวกหนึ่งก็มาถาม หนูได้โสดาบันหรือยังอะไรอย่างนี้ ก็ยัง โมโหเลย ได้แล้วๆ หลวงพ่อนี่โง่ มันไม่ต้องถามใครหรอก ถ้าเราภาวนามีสติ รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง ใจเรามีกิเลสอะไร เรารู้ เวลาบรรลุมรรคผล เราจะรู้ว่ากิเลสบางอย่างถูกทำลายไปแล้ว
อย่างตอนที่เป็นโสดาบัน เราจะเห็นเลย ความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเราหรือจิตเป็นเรา ถูกทำลายไปแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เราแล้ว ถ้ายังเป็นเราบ้างไม่เป็นเราบ้าง ยังไม่ใช่ อย่ารีบเป็นโสดาบัน เดี๋ยวจะตกกระป๋องก่อน เป็นแป๊บๆ อ้าว เลิกอีกแล้ว กลับไปมีกิเลสเหมือนเดิม ดูที่กิเลส ดูที่ตัวกิเลส โสดาบัน ละกิเลส สังโยชน์
สังโยชน์เป็นกิเลสที่ผูกเราไว้ในภพ แล้วเรายังไม่เห็นภพด้วยซ้ำไป จิตของเราอยู่ในภพ เดี๋ยวก็เป็นภพดี เดี๋ยวก็เป็นภพร้าย เดี๋ยวก็เป็นภพหยาบ ภพละเอียด ถ้าระดับผู้ช่วยสอนอะไรนี้ เขาจะเห็น หลวงพ่อสอน เขาจะเห็นจิตสร้างภพขึ้นมา มีตัณหาก็เกิดการสร้างภพขึ้นมา แล้วจิตก็เข้าไปติดอยู่ในภพ ของเรายังไม่เห็น ฉะนั้นยังไม่พ้นจากภพ
แต่เราเห็นแล้วว่าไม่มีเรา โสดาบันเห็นว่าไม่มีเราแล้วถัดจากนั้นฝึกไปเรื่อย อริยมรรคครั้งที่สองเกิด สติจะเร็วมากเลย สติจะเร็ว ไม่ใช่ว่าเผลอยาวเป็นชั่วโมงๆ ไม่มีแล้ว มีแต่ไหลวูบรู้สึกๆ การที่สติเราเร็ว มันทำให้กิเลสอ่อนกำลังลง เพราะฉะนั้นพระสกิทาคามีกิเลสเบาบาง เพราะกิเลสไม่มีโอกาสโต เหมือนที่วัดปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ หญ้ามันขึ้นใกล้ๆ กัน เด็กมันก็ตัดหญ้า ตัดต้นไม้ทิ้งไปเลย อันนั้นยังเล็กๆ แต่พอต้นไม้ใหญ่ ก็แข็งแรง ก็ดูได้ตรงนี้ต้นไม้ตรงนี้ต้นหญ้า ก็ค่อยๆ เติบโตไป
แล้วถ้าเป็นอนาคามีก็จะละกามและปฏิฆะได้ กามราคะแล้วก็ปฏิฆะ กามราคะก็คือการที่จิตรักใคร่ผูกพันในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ปฏิฆะก็คือความที่จิตไม่ชอบใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย หรือมีอีกคำหนึ่ง คำว่ากามธรรม เป็นกามในใจ คือคิดเรื่องกามแล้วก็เกิดพอใจ เกิดไม่พอใจขึ้นมา
ทำไมพระอนาคามีละกามและปฏิฆะได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะท่านเห็นถ่องแท้แล้วว่ากายนี้คือตัวทุกข์ ท่านหมดความยึดถือกาย สิ่งที่ประกอบเป็นกายมีอะไร ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ตาเป็นกายไหม ก็เป็นร่างกายใช่ไหม หู จมูก ลิ้น ก็เป็นร่างกาย พอมันเห็นความจริง กายเป็นก้อนทุกข์ กายไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตไม่ยึดกาย
ถ้าไม่ยึดตา มันจะไปยึดรูปหาอะไร ที่มันยึดรูปเพราะว่าตาของเราจะได้เห็นอะไรดีๆ มันยึดหูเพราะว่ามันจะได้ฟังเสียงที่ดีๆ มันยึดจมูกเพราะจะได้ดมกลิ่นที่ดีๆ มันยึดลิ้นเพราะจะได้รสอร่อย มันยึดตัวนี้ มันก็เลยต้องอาศัยของข้างนอกด้วย เพื่อมาเสิร์ฟ สนับสนุนให้มันมีความสุข
พอมันกระทบอารมณ์ที่ดี มันก็รักใคร่ชอบใจ กามราคะเกิด กระทบอารมณ์ไม่ดี ก็หงุดหงิดโมโหโทโสไป มีขัดใจเกิดขึ้น พระอนาคามีละกามและปฏิฆะได้ เพราะหมดความยึดถือกาย แล้วส่วนพระอรหันต์ท่านหมดความยึดถือจิต ท่านก็ละสังโยชน์ 5 ตัวที่เหลือได้
มันหมดเวลาแล้วล่ะ เรายังไม่จำเป็นต้องเรียนถึงตรงนั้น เอาโสดาบันให้ได้ก่อน ดูไปมีกูไหม เวลาไม่โกรธ ก็มีเรา คงไม่มีใครบอกดิฉันอย่างโน้นดิฉันอย่างนี้ คงไม่คิดอย่างนั้นหรอก มีไหม ใครคิดในใจว่าดิฉันอย่างโน้นดิฉันอย่างนี้ มีไหม หลวงพ่อไม่รู้ เพราะไม่เคยสัมภาษณ์ผู้หญิง แต่สำหรับหลวงพ่อเอง ถ้าปกติสมัยก่อน ก็เราอย่างโน้นเราอย่างนี้ แล้วเราเป็นเราจริงๆ แล้วถ้าโกรธขึ้นมาก็กูเลย เราเข้มข้นก็กลายเป็นกู
พวกนี้จะหายไป คำว่าเราจะเหลือแต่คำพูดๆ เพื่อสื่อสารเท่านั้นเอง มันจะไม่มีความรู้สึกว่าเรามีอยู่จริงๆ เราต้องฝึก เรียนรู้ขันธ์ 5 ของเราไป ทั้งกายทั้งใจจนเห็นความจริงไม่ใช่เรา ไม่มีเราในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 ด้วย ไม่มีเราที่ไหนเลย อันนั้นล่ะก็จะได้จุดที่ปลอดภัยแล้ว ได้โสดาบัน โสดาบันไม่ยากเกินไป ถ้ารู้วิธีแล้วก็ลงมือทำให้พอ
บ้านจิตสบาย
19 พฤษภาคม 2567