อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด

วันนี้เป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของชาวพุทธเรา เราก็รู้อยู่ วันวิสาขบูชา วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน การประสูติ เราก็ไปอ่านเอาเอง เรื่องการตรัสรู้ เรื่องสำคัญมาก ท่านตรัสรู้อะไร ท่านตรัสรู้อริยสัจ อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของธรรมะเลย ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดเอาไว้ได้ ในเรื่องของอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ บอกอริยสัจเทียบเหมือนรอยเท้าช้าง ยุคนั้นไม่มีไดโนเสาร์แล้ว ช้างใหญ่ที่สุด ท่านบอกรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย มันไปบรรจุอยู่ในรอยเท้าช้างได้ เล็กกว่ารอยเท้าช้าง ธรรมะทั้งหมดก็ประมวลลงอยู่ในอริยสัจได้

การที่ท่านตรัสรู้อริยสัจ มันไม่ใช่ของง่าย ท่านตรัสรู้อริยสัจได้ ท่านต้องฝ่าด่านสำคัญ 2 ด่าน อันหนึ่งก็คือความหลงติดอยู่กับโลก เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค เกิดมาเป็นเจ้าชาย มีวัตถุทั้งหลายที่เศรษฐีเขามีกัน มีความสุขอย่างโลกๆ สมบูรณ์เต็มที่ ท่านต้องใช้ความเข้มแข็ง ใช้ความกล้าหาญมากในการที่จะสละความสุขทั้งหลายเหล่านี้ อย่างพวกเราไม่ได้มีวัตถุสิ่งของ หรือข้าทาสบริวารเท่ากับท่าน ให้เราทิ้งโลกออกมาบวชตอนนี้ เราทำไม่ได้หรอก น้อยรายที่จะทำได้ กล้าไหมที่จะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างของโลกไว้กับโลก แล้วออกมาแสวงหาสัจธรรม อันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องใจแข็งจริงๆ

ตอนท่านตัดสินใจทิ้งทางโลกออกมาประพฤติธรรม ในตำราบอกมารมาห้ามไว้ มารพยายามติดสินบนท่าน บอกว่าเดี๋ยวจะรวยกว่าเก่า จะมีอำนาจมากกว่าเก่า อย่าไปบวชเลย ให้เสียดายทุกสิ่งทุกอย่างในทางโลกนี้ล่ะ ท่านจะได้เหนือคนอื่นทุกๆ อย่าง แต่ท่านเอาชนะมารได้ด้วยความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยว ออกมาภาวนา ออกมาบวช มาแสวงหาธรรมะ ตรงนี้ถ้าท่านใจไม่แข็งพอ พวกเราก็ไม่มีพระพุทธเจ้าในวันนี้ เข้มแข็งขนาดไหน ลองคิดดูเสีย สมมติว่ามีคนเรียกให้เราทิ้งทุกอย่างมาอยู่วัดเลย มีกี่คนที่กล้าทำ ทิ้งทรัพย์สมบัติ ทิ้งลูก ทิ้งเมีย ทิ้งสามี ทิ้งทุกอย่าง เป็นอดีตไปหมดแล้ว ไม่ใช่ง่าย ถ้ามันง่าย พระบวชแล้วไม่มีองค์ไหนสึกหรอก อันนี้มีแต่สึก ส่วนใหญ่พระประจำจริงๆ ที่บวชถาวรจริงๆ เพราะศรัทธามีไม่มากหรอก แต่ประเภทบวชเพราะไม่รู้จะไปไหนแล้ว อยู่กับวัดไปเรื่อยๆ อะไรอย่างนี้ นี่ก็มีส่วนหนึ่ง จะออกมาด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง เข้มแข็งกล้าหาญ ยาก ท่านออกมาตั้งแต่ยังหนุ่ม อายุ 29 ปี กล้าเสียสละความสุขซึ่งมากกว่าคนอื่นในทางโลก

 

 

ออกมาสิ่งแรกที่ท่านทำก็คือการไปเรียนนั่งสมาธิ นี่ก็เรื่องปกติ เวลาพวกเราคิดถึงการปฏิบัติธรรม สิ่งแรกที่เราคิดก็คือต้องนั่งสมาธิ มันฝังอยู่ในดีเอ็นเอพวกเราเลย ความเชื่ออันนี้ว่าต้องนั่งสมาธิ แล้วท่านก็ออกไปเรียนนั่งสมาธิกับฤๅษี องค์แรกชื่อ อาฬารดาบส ท่านเรียนแล้วได้ถึงอรูปฌานที่สาม หรือฌานที่เจ็ด ฌานทั้งหมด มันมี 8 แบ่งเป็นรูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 ท่านไปเรียนกับอาฬารดาบส ท่านได้ถึงอรูปฌานที่สาม คือฌานที่เจ็ด ออกจากฌานที่เจ็ดมา ท่านก็พบว่ากิเลสก็เหมือนเดิม ไม่ได้ลดไม่ได้ละลงเลย ท่านก็ไปหาที่เรียนต่อไปเรียนกับฤๅษีอีกองค์หนึ่งชื่อ อุทกดาบส องค์นี้สอนได้ถึงฌานที่แปด อรูปฌานอันที่สี่ สอนแล้วท่านก็พบว่า มันก็ไม่พ้นทุกข์ตรงไหนเลย มันมีความสุขตอนเข้าฌาน พอออกจากฌาน ก็ไม่มีความสุขแล้ว กิเลสมาเหมือนเดิม ท่านก็รู้ว่า มันยังไม่ใช่สาระแก่นสารที่แท้จริง ก็ลาอาจารย์ ไม่หนี ลาอาจารย์ไป บอกจะไปแสวงหาโมกษะด้วยตนเองแล้ว

ในยุคที่ท่านออกแสวงหา มันเป็นยุคที่ศาสนาเชน มันมีขึ้นมาแล้ว พวกทรมานกาย พวกนี้เขาก็เห็นว่าตัณหา ความอยาก มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่วิธีละตัณหาของเขาคือทรมานมัน อยากมีความสุข ก็ทรมานให้ร่างกายนี้มันทุกข์ไป ให้ทุกข์ให้เต็มที่เลย จนใจมันอิ่มกับความทุกข์ มันเหมือนคนที่เคยทุกข์สุดขีดมาแล้ว หรือเคยลำบากที่สุดมาแล้ว ไม่กลัวความลำบากในชีวิตอีกแล้ว เพราะเคยลำบากถึงขีดสุดมาแล้ว ทฤษฎีมันจะคล้ายๆ แบบนี้ เพราะฉะนั้นเขาจะมาทรมานร่างกาย ไม่กิน ไม่นอน อยากกินก็ไม่กิน อยากนอน ก็ไปนอนบนหนามเสียเลย อยากสบายนัก

อันนี้มันก็เป็นหลักสูตรที่นักบวชส่วนหนึ่งในสมัยพุทธกาล เขาทำกันอยู่แล้ว นิครนถนาฏบุตร เป็นคนร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ที่เป็นศาสดาองค์หนึ่งของเชน เป็นคนร่วมสมัยกัน เกิดเป็นลูกกษัตริย์เหมือนกัน ออกบวชเหมือนกัน ประวัติแทบจะก็อปปี้กันเลย แล้วก็ค้นพบโมกษะด้วยการทรมานกาย ทรมานจนกระทั่งมันยอมหมดแล้ว ใจมันไม่ดิ้น พระพุทธเจ้าท่านก็ทดลองวิธีนี้ สุดท้ายท่านก็พบว่ามันก็ลำบากเปล่าๆ ไม่เห็นว่ามันจะลดละกิเลสได้จริง ทรมานกายเก่ง เซลฟ์จัด กลายเป็นกูเก่งๆ ขึ้นมาเสียอีกแล้ว

บุญบารมีท่านสูง ท่านก็ค้นพบ การหลงอยู่ในโลก ความสุขทางโลกไม่มีสาระแก่นสาร ท่านก็วางความสุขในโลก พอลงมือปฏิบัติธรรม ท่านก็ไม่ไปติดในเรื่องของฌาน ไม่ไปติดในเรื่องการทำตัวเองให้ลำบาก เข้าฌานมีความสุข หนีจากกามสุขคือความสุขโลกๆ มาสู่ความสุขของสมาธิ รูปฌาน อรูปฌานอะไรพวกนี้ ท่านก็พบว่าไม่ใช่ กามสุขก็ใช้ไม่ได้ สุขในรูปฌาน ในอรูปฌานก็ไม่ยั่งยืน จะมาทรมานตัวเอง เห็นไหม สุดโต่งมาข้างทรมาน มันก็ไม่ได้พ้นทุกข์จริง ท่านก็เริ่มเดินเข้าสู่ทางสายกลาง ไม่ย่อหย่อนตามโลกตามกิเลส ไม่ทรมานกายทรมานใจ เริ่มฉันอาหาร ร่างกายก็แข็งแรงขึ้นมา สติปัญญาก็แข็งแรงขึ้นมา

 

 

ท่านก็ภาวนามาเป็นลำดับๆ จนวันสุดท้ายที่จะตรัสรู้แล้ว ท่านมั่นใจแล้ว เส้นทางเดินในทางสายกลาง ท่านมั่นใจแล้วว่ามันพ้นทุกข์ได้แน่ๆ ท่านก็นั่งที่ใต้ต้นโพธิ์ แล้วก็อธิษฐานจิตเลยว่า ถ้าไม่พ้นทุกข์จะไม่ลุกขึ้นจากที่นี่แล้ว ก็จะตายอยู่ตรงนี้เลย ยอม ยอมตาย พอท่านภาวนา ในยามที่หนึ่ง ช่วงหัวค่ำ ท่านก็อยากรู้ เริ่มใช้เหตุใช้ผลแล้วว่า ทำไมคนเรามันเกิดมา เพราะอะไร ท่านก็ระลึกย้อนอดีตไป ระลึกชาติ ระลึกไปไกลแสนไกลก็เห็นแต่ว่า มันตาย มันเกิดแล้วมันตายๆ เวียนอยู่อย่างนี้เอง ไม่มี สำนวนโบราณบอกไม่มีเงื่อนต้น ไม่มีเงื่อนปลาย ดูอดีตของตัวเอง ระลึกไป มีแต่เกิดแล้วดับๆ ไม่รู้ว่าอะไรทำให้เกิด คือท่านมุ่งที่จะเรียนรู้ว่า จุดต้นกำเนิดของความเกิดมันอยู่ที่ไหน ท่านจะได้ไปดับตรงนั้น แล้วจะได้ไม่ต้องเกิดอีก จะไปละเหตุของความเกิด เลยระลึกไปเรื่อยๆ จะไปหาต้นตอว่าทำไมถึงเกิดมา ระลึกไปเท่าไหร่ก็ไม่จบ

ในยามที่สองกลางคืนตอนดึก ท่านก็ดูตัวเองมาเยอะแล้ว หาเหตุผลไม่ได้ ท่านก็เริ่มดูคนอื่นบ้าง ดูสัตว์ทั้งหลายในโลก ในจักรวาล มันตายแล้วมันไปเกิดเพราะอะไร ดูไปเรื่อยๆ ก็เห็นสัตว์ทั้งหลาย มันก็เกิดแล้วมันก็ตายเหมือนที่ท่านเป็นนั่นล่ะ ในยามสุดท้าย ท่านใช้สติ ใช้สมาธิ ใช้ปัญญาขั้นสูงสุดพิจารณาทบทวนลง สิ่งทั้งหลายมันต้องมีเหตุ ท่านค่อยๆ ดูเหตุ เหตุของความทุกข์ก็คือชาติ ชาติคือการที่จิตมันเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะการหยิบฉวยจิตขึ้นมา พอจิตมันหยิบฉวยจิตขึ้นมา มันจะรู้สึกว่า นี่เรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา

ท่านก็ดูอีก อะไรทำให้มีชาติ ท่านก็พบว่าภพทำให้เกิดชาติขึ้นมา ภพก็คือความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ พอจิตมันดิ้นรนปรุงแต่ง จิตก็จะหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ก็เกิดชาติ เกิดทุกข์ขึ้นมา ท่านเริ่มดู สาวไปเรื่อยๆ ทำไมมีทุกข์ มีทุกข์เพราะมันเกิดขึ้นมา ทำไมมันเกิดขึ้นมา เพราะว่ามันมีภพ ภพคือที่เกิดของจิต ก็คือความดิ้นรน ความปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ

ที่จริงภพมี 2 อัน มีอุปัตติภพกับกรรมภพ อุปัตติภพ ก็คือภพใหญ่ๆ เรียกว่าภพใหญ่ อย่างพวกเรานี้มีอุปัตติภพ ภพโดยการเกิดเป็นมนุษย์ แต่กรรมภพของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวใจของเราก็เป็นมนุษย์ มีศีลมีธรรม เดี๋ยวใจของเราก็เป็นเทวดา มีคุณงามความดี เดี๋ยวใจเราสงบมากก็เป็นพรหม เดี๋ยวใจเราก็โลภมาก เราก็เป็นเปรต เราเวียนว่ายตายเกิดในภพสั้นๆ โบราณเรียกว่าภพน้อย มีภพน้อยภพใหญ่ ภพใหญ่ก็คือภพที่อาศัยการเกิดจริงๆ อุปัตติภพ ภพย่อยๆ คือภพน้อย วันหนึ่งมีตั้งไม่รู้กี่ร้อยกี่พันภพหมุนอยู่ในใจเรา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ ตอนที่ทุกข์ จมอยู่ในความทุกข์ เราก็ตกเป็นสัตว์นรกอยู่ บางทีก็เป็นเปรต เป็นอสุรกาย บางทีก็เผลอๆ เพลินๆ เราก็ไปเป็นเดรัจฉาน กายเราเป็นมนุษย์แต่ใจเราเป็นเดรัจฉาน ภพมันมี 2 อัน

ท่านพิจารณาลงไป เอ๊ะ ทำไมใจมันดิ้นรน ทำไมมันมีกรรมภพขึ้นมา มันดิ้น เพราะว่ามันมีอุปาทาน จิตมันเข้าไปยึดถือ ยึดถืออะไรบ้าง ยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย เรียกว่ากามภพ ยึดถือตรงที่ไปยืดถือในรูป เรียกว่ากามุปาทาน ในตัวกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พอเป็นอุปาทาน เขาเรียกว่ากามุปาทาน ยึดถือในความคิดความเห็น เรียกทิฏฐุปาทาน ยึดถือในเส้นทางการปฏิบัติ อย่างนี้ถึงจะถูกๆ อันนี้ถูกอันนี้ผิดอะไรนี่ งมงาย อันนั้นเรียกว่า สีลัพพตุปาทาน ถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย ไม่ตรงในหลักของมรรคมีองค์ 8 อุปาทานอีกตัวหนึ่งก็คือ อัตตวาทุปาทาน มันมีวาทะ มันมีความรู้สึก มันมีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าตัวเรามีจริงๆ

ความยึดถือมันทำให้เกิดภพขึ้นมา ความยึดถือ มันมาจากไหน รากของความยึดถือก็คือตัวตัณหา มันอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากให้ไม่มี ไม่เป็น ตัณหา 3 ประการ ยังไม่ได้อารมณ์มา ก็อยากได้อารมณ์มา เรียกว่ากามตัณหา ถ้าอารมณ์นั้นถูกใจ ก็อยากให้มันอยู่ตลอดไป เรียกว่า ภวตัณหา อันไหนไม่ถูกใจก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป เรียกว่าวิภวตัณหา

ท่านค่อยๆ ดูตามลำดับๆๆ ลงไป มีตัณหาเพราะมีอะไร เพราะมีเวทนา เรากระทบอารมณ์ ตาเราเห็นรูป มีความสุขแทรกเข้ามา รูปนั้นพอใจ เราก็มีความสุขแทรกเข้ามา ตาเห็นรูป รูปนั้น ไม่พอใจ ก็มีความทุกข์แทรกเข้ามา ก็มีเวทนาแทรกเข้ามา พอมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่มีความสุข ก็อยากให้มันอยู่ตลอดไป ก็เป็นภวตัณหา ถ้าสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่ดี ก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ก็เป็นวิภวตัณหา

ถ้าดูต่อไป อะไรที่ทำให้เกิดเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ผัสสะเกิดขึ้นเมื่อไร เวทนาก็เกิดเมื่อนั้นล่ะ ท่านจะเห็น อยู่ๆ ไม่ได้มีเวทนาลอยๆ มาจากอากาศหรือเทวดาประทานมาให้ อย่างพวกเราชอบไปขอพร ขอให้มีความสุขอะไรนี่ มันไม่มีเหตุผล ความสุข ความทุกข์อะไร มันตามหลังผัสสะมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ เรียกว่ามีผัสสะ มีตา มีรูป มีความสนใจที่จะดูรูป มีความรับรู้ทางตาเกิดขึ้น การประชุมขององค์ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ คือรูปที่มองเห็น สิ่งที่เห็นคือประสาทตา แล้วคือจิต ความรับรู้ทางตา 3 อันนี้ประชุมกันขึ้นมา เรียกว่าผัสสะ พอมีผัสสะก็จะเกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ขึ้นมา เป็นลำดับไป

ท่านดูต่อไป ผัสสะมันอยู่ที่ไหนผัสสะ มันอยู่ที่อายตนะ อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีตา ก็ไม่มีรูป ก็ไม่มีผัสสะทางตา ถ้าไม่มีหู มันก็ไม่ได้ยินเสียง มันไม่มีผัสสะทางหู เพราะฉะนั้นผัสสะ มันมีอายตนะเป็นที่เกิด ท่านก็ดูต่อไป อายตนะมันมาจากอะไร อายตนะจริงๆ ก็คือรูปกับนาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นตัวรูป ตัวใจที่เข้าไปรับรู้อารมณ์ ตัววิญญาณที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นนาม เพราะฉะนั้นที่ตาเรามองเห็นได้ มันเกิดจากรูปนาม มีรูปมีนาม มันถึงทำงานขึ้นมาได้ ท่านค่อยดูลงไปจนถึงมีรูปนามแล้ว

รูปนามเกิดจากอะไร ตรงนี้พวกเราคิดเอาไม่ออกแล้ว คิดก็คิดอนุมานเอา เวลาเราภาวนา บางทีจิตเราลงไปสู่ภาวะซึ่งไม่มีอะไรเลย ลงไป ลงภวังค์ลึกลงไป ไม่รับรู้อารมณ์ภายนอกทั้งสิ้น ตอนที่จิตมันเคลื่อนขึ้นจากภวังค์ มันเหมือนแสงสว่างผุดขึ้นมาจากความว่างๆ แสงสว่างนี้กระทบเข้ากับความรู้สึกนึกคิด นามธรรมก็เกิดขึ้น แล้วถัดจากนั้นแสงสว่างมันจะขยายตัวออกไปอีกช็อทหนึ่ง มันกระทบเข้ากับร่างกาย กระทบเข้ากับรูป รูปธรรมก็เกิดขึ้น ฉะนั้นตรงที่วิญญาณมันหยั่งลงไป ก็ทำให้เกิดรูปเกิดนามขึ้นมาได้ ตรงนี้เราคิดไม่ได้แล้วล่ะ ต้องไปภาวนาเอาเอง หรือไปเรียนปริยัติก็ไม่เห็น ทำอย่างไรก็ไม่เห็นหรอก ต้องภาวนา

ภาวนาจนกระทั่งจิตมันรวมจริงๆ แล้วตอนขึ้นมากระทบอารมณ์ วิญญาณมันเกิดขึ้น ความรับรู้มันเกิดขึ้น พอความรับรู้กระทบเข้ากับนามธรรม นามธรรมก็ปรากฏ วิญญาณ ตัวความรับรู้ ความรับรู้กระทบเข้ากับรูปธรรม รูปธรรมก็ปรากฏ เพราะฉะนั้นรูปนามที่ปรากฏขึ้นมาได้ อาศัยการกระทบของวิญญาณ วิญญาณมันผุดขึ้นมาๆ ก่อนที่มันจะผุดขึ้นมา มันจะมีความเคลื่อนภายในจิต มีการทำงานภายในจิต ตัวนี้คือตัวสังขาร สังขารก็คือภพชั้นละเอียด เป็นภพอย่างหนึ่ง แต่ละเอียด ก่อนที่เราจะมาเจอภพหยาบๆ ข้างนอก เป็นการทำงานทางใจ แล้วสังขาร รากของมันคือตัวอวิชชา

พระพุทธเจ้าท่านสาวๆๆ มา เพราะไม่รู้อริยสัจ จิตมันถึงดิ้นรนปรุงแต่งขึ้นมา วิญญาณถึงเกิดขึ้น วิญญาณหยั่งลงไปในนามธรรม นามธรรมก็ปรากฏ หยั่งลงไปในรูปธรรม รูปธรรมก็ปรากฏ ก็เกิดเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา แล้วก็เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ ขึ้นมาเป็นสายเลย

เจ้าชายสิทธัตถะท่านสาวลงมาจนถึงอวิชชา ความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ท่านก็รู้เลย โอ้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจเสียตัวเดียว สังสารวัฏก็ถล่มลงต่อหน้าต่อตาเลย ความเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านค้นพบในตอนใกล้ๆ สว่างแล้ว ท่านค้นพบแล้วท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะขึ้นมา พระพุทธเจ้าบางองค์สาวลงมาถึงอวิชชาแล้วยังไม่บรรลุ ท่านดูต่อไปอีก บางองค์ พระพุทธเจ้าโคดมของเราปัญญาท่านเยอะ สาวมาถึงอวิชชา จิตท่านตัดแล้ว

บางองค์สาวต่อไปอีก อะไรมีอยู่ อวิชชาถึงมีอยู่ ท่านพบว่าอาสวกิเลสมีอยู่ อวิชชาถึงมีอยู่ อาสวะเป็นกิเลสที่หมักดองในสันดานของเรา กามาสวะ ทิฏฐาสวะ ทิฏฐา ทิฏฐินั่นล่ะ ทิฏฐาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อย่างพวกเราเกิดเป็นคน รู้สึกไหม ถ้าตายไปเราก็อยากเป็นคนอีก ส่วนใหญ่ก็อย่างนั้น หรืออย่างบางคนก็อยากเป็นเทวดาอะไรอย่างนี้ แต่ครูบาอาจารย์ท่านสอน พวกหมาอย่างนี้ พอตายไป มันก็อยากเป็นหมาอีก เพราะมันติดอกติดใจในภพของมัน ภพ ความเคยชิน ความคุ้นชินกับภพก็ โง่งมงายอยู่อย่างนั้นล่ะ ออกจากภพไม่ได้

พระพุทธเจ้าเราพอท่านตรัสรู้แล้วก็พิจารณาสัตว์โลก สัตว์โลกที่สอนได้ก็มี ท่านก็ออกสอน ช่วงนี้ใช้เวลา 2 เดือน 2 เดือน ท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ 49 วัน แล้วท่านก็เดินทางไปตามปัญจวัคคีย์ที่ไปเจอที่สารนาถ แล้วก็ไปสอนปัญจวัคคีย์ ธรรมเทศนากัณฑ์แรกคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านแสดงในวันอาสาฬหบูชา 15 ค่ำเดือน 8 ท่านตรัสรู้ 15 ค่ำ เดือน 6 2 เดือน แต่ 2 เดือนนี้ ท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 สัปดาห์ 7 คูณ 7 เท่ากับ 49 แล้วถัดจากนั้นท่านก็ออกมาทำงาน ก็ปฏิบัติ ท่านก็ภาวนาของท่านจนกระทั่งพ้นทุกข์ แล้วท่านก็เอามาบอกต่อ ผู้มีปัญญาก็รู้ตามได้ ผู้ไม่มีปัญญาก็รู้ตามไม่ได้

 

ต้นบัญญัติพระวินัย

พอศาสนาพุทธได้รับความนับถือจากผู้คนจำนวนมาก ทั้งพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งเศรษฐี ทั้งชาวบ้านทั่วๆ ไป ทั้งนักบวชดังๆ หลายสำนัก เข้ามาเรียนเป็นลูกศิษย์ท่าน ผู้คนก็หลั่งไหลมาหาท่าน พอผู้คนหลั่งไหลมา ลาภสักการะมันก็เกิดมาก คราวนี้ผีเปรตอะไรมันก็ตามมา พวกเลวๆ มันก็ตามมาบวช ก็มาอยู่ในวัดก่อเรื่องก่อราว ทำเรื่องเสียหายอะไรเกิดขึ้นเยอะแยะ เป็นต้นตอให้เกิด การบัญญัติพระวินัยจำนวนมาก ก็เพราะพวกที่มันมีกิเลสนี่ล่ะ มันเข้ามาบวช

ท่านเมตตา ถ้าจะเลือกคนที่กิเลสเบาบางบวช ศาสนาพุทธก็อยู่ไม่ได้หรอก เพราะคนที่กิเลสเบาบางมีอยู่นิดเดียวนั่นล่ะ คนส่วนใหญ่กิเลสมันยังหนา แต่ว่ามาได้ยินได้ฟังธรรมะ ค่อยๆ ขัดเกลา กิเลสก็ค่อยๆ บางลง นี่คือความเมตตากรุณาของท่าน แต่เดิมหลวงพ่อสงสัย พระ ขออนุญาตนะ พระเห้ๆ อย่างฉัพพัคคีย์ ทำไมท่านไม่ไล่มันไป ท่านปล่อยมันไว้ เป็นต้นบัญญัติจำนวนมากเลย พระฉัพพัคคีย์ ไม่ใช่ชื่อคน ฉัพพัคคีย์แปลว่าหมู่ 6 คน พระฉัพพัคคีย์เป็นต้นบัญญัติเพียบเลย ทำให้พระเราต้องท่องปาติโมกข์เยอะแยะเลยทุกวันนี้ มานึกอีกที พวกนี้มีคุณูปการ ทำให้พระพุทธเจ้าได้บัญญัติพระวินัย ศาสนาของพระพุทธเจ้าบางพระพุทธเจ้าอยู่ไม่นานก็อันตรธานสูญไป เพราะพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นท่านไม่บัญญัติพระวินัย อาศัยความดีของพระฉัพพัคคีย์หลายๆ องค์ ไม่ใช่ฉัพพัคคีย์คนเดียวล่ะ ก็เป็นต้นตอทำให้บัญญัติพระวินัยขึ้นมา

เราจะต้องไม่แปลกใจ เห็นไหม ทำไมพระไม่ดีมี ก็มี มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว แต่คนที่ดีก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเอง ดีขึ้นๆ ในที่สุดก็เข้าใจธรรมะ เข้าใจอริยสัจ พ้นทุกข์ไป คนไม่ดีพระพุทธเจ้ายังให้โอกาส เทวทัตจะมาก่อเรื่องท่านจะรู้ไหม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านจะรู้ ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อรู้จักตั้งหลายองค์ ท่านก็รู้อะไรต่ออะไรในอนาคตตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ท่านไม่มาเป็นหมอดูทายคนโน้นคนนี้หรอก เพียงแต่ท่านรู้ ท่านก็บอก บางทีท่านก็กระซิบๆ บอกว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้อะไรอย่างนี้

 

 

พระพุทธเจ้าทำไมจะไม่รู้ว่าเทวทัตจะมาก่อเรื่อง แต่ท่านสงเคราะห์ ให้โอกาส แล้วตอนหลังเห็นไหม พอความดีของท่านชนะใจเทวทัต เทวทัตคิดจะกลับมาขอขมาท่าน เขามาด้วยใจจริงๆ มาด้วยใจที่ยอมจำนนจริงๆ ไม่ใช่ขอขมาเพราะสื่อด่า ขอขมาเพราะสื่อมันด่ามาก โซเชียลโจมตีอะไร เลยต้องขอขมา ไม่ใช่ เทวทัตไม่มีอย่างนั้น เทวทัตมาด้วยใจจริงๆ อยากมาขอขมาพระพุทธเจ้าก่อนจะตาย แต่มาไม่ทัน จมลงไปในโคลนก่อน ในธรณีสูบ ในขณะที่ตาย มือเท้าอะไรนี่จมดินไปหมดแล้ว เหลือแต่หัว แกเอาลูกคางของแกนี่แตะลงไปที่พื้นดิน ขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกระดูกลูกคางนี้ อานิสงส์ที่เทวทัตทำมาตั้งแต่อดีตมากมาย ไม่ใช่ไม่มีบารมี มีเยอะ แต่ขี้อิจฉาไปหน่อย รวมทั้งความสำนึกผิดในนาทีสุดท้ายของชีวิต พระพุทธเจ้าท่านถึงพยากรณ์ว่าต่อไปเทวทัตจะได้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ปัจเจกพระพุทธเจ้าบารมีเยอะกว่าอัครสาวกอีก

ถ้าพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้โอกาสเทวทัตใช่ไหม เทวทัตจะไม่ได้มาถึงตรงนี้ นี่คือความกรุณาของพระพุทธเจ้า ให้โอกาสกระทั่งคนแย่ๆ ท่านเองยอมรับสภาพ ความเดือดร้อนอะไรมากมาย เหมือนหลวงพ่อก็เห็นตามวัดบางที ครูบาอาจารย์ท่านก็เลี้ยงพระเหลวไหลเอาไว้ตั้งเยอะ ท่านไม่ไล่ไป ท่านก็หวังว่าวันหนึ่งมันจะดีได้บ้าง ถ้าไล่มันไปแล้ว มันคงไม่ได้ดีเลย มันจะลำบาก ก็เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านดูแลเทวทัตนั่นล่ะ ความเมตตาของท่านสูงจริงๆ ความกรุณา

ท่านก็ภาวนาแล้วก็รู้ธรรมรู้แจ้ง แล้วท่านก็ค่อยๆ สอนออกไป จนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน วาระสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ยังทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งถึงชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต ยังทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าอยู่ ท่านอุตส่าห์เดินไปที่กุสินารา เมืองบ้านนอกเล็กๆ เลย เพราะว่าท่านจะต้องไปโปรดสาวกองค์สุดท้ายที่จะทันท่าน คือพระสุภัททะ สุภัททะจะต้องมาถามกรรมฐานท่าน เป็นคนสุดท้าย

ตอนท่านไปถึงกุสินารา นอนป่วยหนักแล้ว สุภัททะปริพาชกก็มาขอเข้าเฝ้า พระอานนท์ไม่ให้ พระพุทธเจ้าได้ยิน ท่านบอกให้เรียกเข้ามา ที่ท่านอุตส่าห์มากุสินาราก็เพราะเรื่องนี้ล่ะ เป็นเหตุหนึ่งๆ ไม่ใช่เหตุเดียว ท่านจะต้องมาโปรดสุภัททะ แล้วท่านก็สอนสุภัททะ สุภัททะมาถึงก็ถามเลยว่า สำนักนั้นเป็นพระอรหันต์ไหม สำนักนี้เป็นพระอรหันต์ไหมอะไรอย่างนี้ ท่านบอกว่าอย่าสนใจ เลย ไม่มีเวลาที่จะมาตอบคำถามอย่างนั้นแล้วล่ะ แล้วท่านก็สอนกรรมฐานให้ สุภัททะก็ออกไปภาวนา ไปเดินจงกรม ตั้งใจว่าเราจะต้องเข้าใจธรรมะ รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจที่ท่านสอนมาก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านก็เด็ดเดี่ยว สร้างบารมีมาไม่ใช่น้อย ท่านเริ่มสร้างบารมีมาพร้อมๆ กับพระโกณฑัญญะ เป็นพี่น้องกัน แล้วองค์หนึ่ง ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นปฐมสาวก องค์น้องตั้งความปรารถนาเป็นปัจฉิมสาวก ก็แปลกขอเป็นคนสุดท้าย แล้วในที่สุดท่านก็ทำสำเร็จทั้งคู่ ทั้งพี่ทั้งน้อง ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ทัน ได้เห็นพระพุทธเจ้าทัน

เพราะฉะนั้นท่านทำหน้าที่ของท่านตั้งแต่ต้นจนจบสะอาดหมดจดมาก ไปดูประวัติท่าน หลวงพ่อศึกษาประวัติท่าน บางทีปีติ น้ำตาตกเหมือนกัน คนจะบอกพระร้องไห้ เราไม่ได้นั่งร้องไห้เพราะโสกะ ความเศร้าโศก มันมีธรรมปีติ อ่านเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เรื่องท่านต่อสู้มาอย่างยากลำบากอะไรนี่ ใจเราฮึกเหิม ใจเราอิ่มเอิบ ฮึกเหิม ตอนท่านจะปรินิพพาน อ่านมาถึงตรงนี้ ใจเราก็สลดสังเวช ขนาดพระพุทธเจ้าประเสริฐที่สุดยิ่งกว่าใครๆ ในโลก ถึงจุดหนึ่งท่านก็ต้องทิ้งธาตุทิ้งขันธ์นี้ไป แล้วก็เอาไปเผาทิ้งไม่ได้เก็บเอาไว้ทำมัมมี่ เอาไว้หลอกคนต่อ

 

ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

นี่คือเหตุการณ์ในวันวิสาขบูชา ตั้งแต่การเกิดของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านออกมาบวช จนท่านเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาออกสอน จนกระทั่งท่านปรินิพพาน ก่อนปรินิพพาน ท่านยังให้ธรรมะไว้อีก บอกให้พวกเราถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ให้พวกเราอยู่ด้วยความไม่ประมาท ถ้าเราประมาทก็คือเราปล่อยวันปล่อยเวลาให้มันล่วงไป นี่ประมาทในชีวิต ประมาทในวัย ยังหนุ่มยังสาว ยังไม่ต้องภาวนาอะไรอย่างนี้ นี่พวกประมาททั้งสิ้น

ถ้าไม่ประมาททำอย่างไร ไม่ประมาทก็คือลงมือเสียแต่เดี๋ยวนี้เลย ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะสายเกินไป ลงมือปฏิบัติเสียตั้งแต่วันนี้ แต่ก่อนปฏิบัติต้องเรียนธรรมะก่อน ต้องรู้ ปฏิบัติ มี 2 อัน ปฏิบัติจริงๆ มีศีลด้วย แล้วการฝึกจิตมี 2 ส่วน ฝึกจิตให้มีสมาธิกับฝึกจิตให้มีปัญญา ฝึกจิตให้มีสมาธิ เรียกว่าสมถกรรมฐาน ฝึกจิตให้มีปัญญา เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน นี้คืองานที่เราต้องทำ บางคนบอกว่าไม่มีหรอกคำว่า สมถะ วิปัสสนา ในพระไตปิฎกไม่มี มี พระพุทธเจ้าบอกธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน มีเหมือนกัน

ถ้าเราไม่ประมาท เราได้ยินได้ฟังอย่างนี้ เราก็ลงมือทำ ถือศีลไว้ สำหรับฆราวาส ศีล 5 พอแล้ว ตามกาลเทศะที่สมควร ก็ถือศีล 8 เช่น บางท่านวันเกิดถือศีล 8 อะไรอย่างนี้ บางคนวันพระถือศีล 8 ถือเป็นวันๆ ไม่ได้ถือทุกวันหรอก ไม่ใช่เป็นนิจศีลหรอก เป็นฆราวาสทำงานหนัก อดข้าวเย็นทุกวัน เดี๋ยวก็เป็นโรคกระเพาะจนได้ ฉะนั้นธรรมะไม่ได้โหดร้ายทารุณอะไรนักหนา เป็นพระถ้าฉันข้าวเย็นเป็นโรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย ลำบาก แล้วก็อีกอย่างจะต้องท้องเสียยับเยินเลย เพราะไปบิณฑบาตมาแต่เช้า เก็บไว้ฉันตอนเย็น ยกเว้นแต่บางที่เขาฉันมาม่า ฉันอะไร อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท มีชีวิตที่ไม่ประมาท ทุกลมหายใจเข้าออก ให้มีสติไว้ จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อะไรก็ได้ หรือจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็มีสติไว้ มีสติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มีสติอยู่ทุกๆ อิริยาบถ แล้วก็เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบอารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย รู้สึก เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ รู้สึก ถ้าเราทำได้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้ามีสติอยู่ได้อย่างนี้ รู้กายรู้ใจอยู่ได้คืนเดียว มีคุณค่ามากกว่าคนที่อายุร้อยปีที่ไม่เคยมีสติอีก อย่างพวกเราอยากอายุยืนๆ แต่อายุยืนแล้วก็ไม่มีแก่นสารสาระอะไร ก็อย่ายืนเลย เกะกะชาวบ้านเขา แต่ถ้าเรามีสติ ท่านบอกแม้เพียงราตรีเดียวก็พึงชม

เพราะฉะนั้นเราจะไม่ประมาท ตั้งใจไว้ให้เด็ดเดี่ยว ต่อไปนี้เราไม่ประมาท เราจะมีสติหายใจออก เราจะมีสติหายใจเข้า เราจะมีสติยืน เดิน นั่ง นอน เราจะมีสติเคลื่อนไหว เราจะมีสติหยุดนิ่ง เราจะมีสติ เวลาความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย มีสติรู้ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ มีสติรู้ รู้ลงไป กุศล อกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ มีสติรู้ อย่างโกรธขึ้นมา รู้ว่าโกรธ โลภขึ้นมา รู้ว่าโลภ มีสติกำกับกายกำกับใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราก็จะได้เข้าใจอริยสัจ

 

“พระพุทธเจ้าถึงบอกให้เราทำประโยชน์ของตนเอง ประโยชน์ของผู้อื่นด้วย
ทำให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท นี่คือสิ่งที่ท่านฝากเอาไว้ให้พวกเราชาวพุทธ
เราเป็นลูกเป็นหลานท่าน รับมรดกมาแล้ว มรดกธรรม ก็ต้องรักษามรดกนี้ไว้”

 

ภาวนาเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจะแจ้งอริยสัจ พอถึงอริยสัจ แต่เดิมเราเด็กๆ เราก็เรียนเรื่องอริยสัจ 4 สมัยโบราณก็มีวิชาศีลธรรม เรียนแล้วก็ไม่รู้มันจะมีประโยชน์อะไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคอะไรอย่างนี้ ดูไม่เห็นมีสาระแก่นสารอะไรเลย พอโตขึ้นมา ศึกษาธรรมะ ภาวนาปฏิบัติอะไรไม่เป็นหรอก แต่ว่าอ่านเอา ก็ยังไม่เข้าใจอริยสัจ อย่างท่านบอกอุปาทนาขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ก็ไปตีความ ขันธ์ 5 ถ้าเราไม่ยึด มันก็ไม่ทุกข์ เราจะเห็นอย่างนี้ กายนี้ใจนี้ถ้าเราไม่ยึด มันก็ไม่เป็นอะไร ไม่ทุกข์แล้ว คิดว่ารู้อริยสัจ นี่ยังไม่ได้รู้อริยสัจ ถ้ารู้อริยสัจก็จะรู้ว่ากายนี้ล่ะคือตัวทุกข์ จิตนี้ล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ จะยึดหรือจะไม่ยึด มันก็คือตัวทุกข์ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ารู้อริยสัจแล้ว

ครูบาอาจารย์ที่ท่านแจ้งอริยสัจ ใจท่านก็พ้นจากโลก มันพ้นจริงๆ มันไม่ใช่คำเปรียบเทียบ โลกมันไม่เข้ามาสัมผัสใจแล้ว ใจก็ไม่เข้าไปคลุกกับโลกแล้ว บางทีลองทดสอบ อันนี้อนุมานเอา ใจเราคล้ายๆ ลูกฟุตบอล เราถือลูกฟุตบอลลงไปในสระว่ายน้ำ กดลูกบอลลงไปในน้ำ พอเราปล่อยมือ ลูกบอลจะเด้งขึ้นมาเอง มันยังต้องลอยขึ้นมาเหนือน้ำ จิตที่มันแจ้งอริยสัจแล้ว ถึงจะแกล้งน้อมเข้าไปในอารมณ์ของโลก มันทำไม่ได้หรอก มันจะดีดขึ้นมาอย่างรวดเร็วเลย จะหลุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เจตนา มันจะเป็นของมันเองอย่างนั้นเอง

เพราะฉะนั้นอย่างครูบาอาจารย์ถึงแก่ถึงเฒ่า ขี้หลงขี้ลืม หลงลืมเป็นเรื่องปกติ ธาตุขันธ์มันเสื่อม เพราะสังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง สัญญาเป็นอัตตาหรืออนัตตา เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง มันเป็นเรื่องของขันธ์ แต่จิตที่มันแจ้งอริยสัจแล้ว มันไม่จมลงในกองทุกข์อีกต่อไปแล้ว มันคนละเรื่องกัน

ค่อยๆ ภาวนาไป ค่อยๆ เรียน ลงมือทำทุกวันๆ เราจะได้ช่วยกันรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นของที่รักษายากเอาไว้ ยากมาก ลำพังคนรุ่นเรา เราภาวนาแล้ว ยังไม่เท่าไหร่ เราก็มีต้นทุน ถึงชาตินี้เราไม่ได้มรรคได้ผลอะไร ก็อาจจะพากันขึ้นไปอยู่ในเทวโลก ในพรหมโลก ไปภาวนากันต่อที่โน่นก็ได้ แต่คนรุ่นหลังมันจะไม่มีแสงสว่าง คือไม่มีธรรมะอีกต่อไป มันน่าสงสาร ฉะนั้นที่พวกเราพากเพียร นอกจากประโยชน์ของตนเองแล้ว ผู้อื่นก็ได้ประโยชน์ด้วย พระพุทธเจ้าถึงบอกให้เราทำประโยชน์ของตนเอง ประโยชน์ของผู้อื่นด้วย ทำให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท นี่คือสิ่งที่ท่านฝากเอาไว้ให้พวกเราชาวพุทธ เราเป็นลูกเป็นหลานท่าน รับมรดกมาแล้ว มรดกธรรม ก็ต้องรักษามรดกนี้ไว้ อย่าไปปู้ยี่ปู้ยำจนมันสลายไปหมด เหมือนพ่อแม่ให้มรดกมาก็ถลุงเละเทะหมด เราได้มรดกมาจากพระพุทธเจ้าแล้วรักษามรดกนี้ไว้ แต่ต้องเข้าใจ พระไม่ดีอะไรนี่เป็นเรื่องปกติ มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว เพราะว่ากิเลส มันสู้ไม่ได้ แต่วันหนึ่งเขาอาจจะดีก็ได้

ค่อยๆ สะสมไป มันไม่ใช่ทุกคนจะเป็นบัวพ้นน้ำในวันนี้เหมือนกันหมดเมื่อไรล่ะ ก่อนที่พวกเราจะมาถึงตรงนี้ เราก็เป็นบัวใต้น้ำมาก่อน ก็เป็นอาหารของเต่าปลามาก่อนแล้วเหมือนๆ กัน เห็นคนที่เขาชั่ว ก็อย่าไปเกลียดเขา ชั่วอย่างนี้อาจจะน้อยกว่าที่เราเคยชั่วมาแล้วก็ได้ การดูถูกพระอริยะอะไรนี่ สมมติๆ ดูถูกพระอริยะ เราก็อาจจะเคยทำมาแล้ว ไม่ใช่ไม่เคย นรกพวกเราก็ผ่านกันมาแล้ว ภพภูมิต่างๆ ก็หมุนเวียนไปเรื่อยๆ น่าสงสาร น่าเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เกลียดชังกัน เขาทำไม่ดีกับครูบาอาจารย์ อย่าไปเกลียดเขา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ​ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 พฤษภาคม 2565