ศีล 5 มีประโยชน์มาก

ชาวพุทธเรา เราเชื่อเรื่องของกรรม เรื่องการกระทำกับผลของการกระทำ กรรมมันก็มี 3 ส่วน ทั้งชั่ว ทั้งดี ทั้งกลางๆ มีทั้งกรรมทางใจ ทางวาจา ทางร่างกาย ทำกรรมอันใดไว้ต้องได้รับผล ทำชั่วต้องรับผลของความชั่ว ทำความดีก็จะต้องมีผลของความดี ฉะนั้นชาวพุทธเราเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม เราก็ไม่ควรจะทำชั่วสร้างความดี ทำให้ดีที่สุดทางกาย วาจา ใจของเรา พัฒนาตัวเองเรื่อยๆ ไป เราก็จะเห็นตัวอย่างคนทำความชั่ว ถ้าเป็นความชั่วที่ร้ายแรงก็เห็นผลรวดเร็ว ถ้าไม่มีกรรมดีเก่าๆ หนุนหลังมา กรรมชั่วมันให้ผล แล้วถ้าเป็นกรรมชั่วที่รุนแรงเป็นครุกรรม ให้ผลรวดเร็วมาก แล้วก็มีตัวอย่างให้พวกเราเห็น

 

นักปฏิบัติอยากพ้นทุกข์ ละเลยการรักษาศีลไม่ได้

ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลไว้ ไม่ทำกรรมชั่วแล้วพยายามสร้างความดีของเรา การถือศีลก็เป็นการงดเว้นการทำกรรมชั่วทางกาย ทางวาจา แล้วนั่นล่ะเป็นความดีของเรา ยิ่งเราเป็นนักปฏิบัติ เราอยากพ้นทุกข์ เราละเลยการรักษาศีลไม่ได้ ยิ่งการปฏิบัติขั้นละเอียดขึ้นไป ศีลเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เกิดความด่างพร้อย เศร้าหมองในจิตใจได้ พระอุปัชฌาย์หลวงพ่อท่านบอก บางที่บางแห่งเขาไม่ค่อยสนใจเรื่องรักษาศีลแล้ว เว้นแต่คนที่ตั้งใจอยากภาวนา อยากปฏิบัติจะต้องรักษา คนส่วนใหญ่เขาไม่รู้ว่ามันมีคุณค่าอะไร ดูเชยๆ ถือศีลดูงมงาย ดูโง่ๆ แต่คนจะปฏิบัติละเลยการรักษาศีลไม่ได้ ถ้าศีลด่างพร้อยเมื่อไรจิตก็เศร้าหมองทันที

อย่างคนจะมาบวชที่วัดหลวงพ่อ ก็ต้องสอบประวัติก่อน เคยบวชมาไหม เคยบวชมาพอมาเป็นพระเข้ามาที่นี่ เราก็ต้องสอบครั้งก่อนที่บวช ติดอาบัติอะไรติดเนื้อติดตัวมาบ้างหรือเปล่า ถ้ามีอาบัติที่มันแก้ได้อย่างสังฆาทิเสสแก้ได้ พระมีความกำหนัดจับต้องกายหญิงอะไรอย่างนี้ ต้องมีความกำหนัดถ้าไม่มีความกำหนัด อย่างผู้หญิงตกน้ำไปช่วยลากขึ้นมา ไม่ใช่สังฆาทิเสส หรือจีบผู้หญิง พระจีบผู้หญิง สังฆาทิเสส มีอยู่ 13 ข้อที่เป็นอาบัติแรงรองจากปาราชิก 4 ข้อ พวกเราถ้ามาที่นี่ก็ต้องสอบ ติดอาบัติมาก็หาทางแก้ไข แก้อาบัติเสียก่อน ที่เคยทำมา ไม่ใช่สึกไปแล้วก็หาย อย่างติดสังฆาทิเสสยังไม่ได้อยู่ปริวาส ไม่ได้อยู่มานัต ไม่มีอัพภาน อาบัตินี้ยังไม่ขาด เศร้าหมอง ถ้าหูตาไวมองหน้าเราก็รู้แล้ว มันเศร้าหมอง

พระกรรมฐานจริงๆ เข้มงวดเรื่องพระวินัยมาก ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างพระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระอรหันต์แท้ๆ แต่ท่านรักษาพระวินัยเข้มข้นมาก ครั้งหนึ่งท่านอยู่ในถ้ำ ปกติท่านก็อยู่ถ้ำ ท่านออกไปบิณฑบาตกลับมาในถ้ำท่านสะอาดเรียบร้อยดูดี ท่านก็นึกว่าลูกศิษย์มาทำให้ มาปัดมากวาดให้ พอหลายๆ วันก็สังเกตลูกศิษย์ไม่ได้มา ลูกศิษย์ก็ไปบิณฑบาต สังเกตไปสังเกตมาปรากฏว่ามีโอปปาติกะ ไม่ใช่สัมภเวสี เป็นเทวดา เป็นเทวดาผู้หญิง เคารพเลื่อมใสท่านมาก ฉะนั้นพยายามอุปัฏฐากท่านเท่าที่จะทำได้ อย่างคอยไล่ขี้ฝุ่นในถ้ำท่าน พอท่านเห็นว่า เฮ้ย นี่มันผู้หญิงนี่ ท่านก็บอก “ต่อไปนี้อย่าเข้ามาในถ้ำของท่าน” เทวดานั่นก็คร่ำครวญว่า “เป็นเทวดาก็อยากได้บุญเหมือนกัน ทำไมพระคุณเจ้ากีดกัน” ท่านบอก “ไม่ได้ อย่างไรก็เป็นผู้หญิง” กระทั่งโอปปาติกะไม่ใช่มีกายเนื้ออย่างเรา ท่านยังเข้มข้นเลยไม่ให้มาอยู่กับท่าน เดี๋ยวนี้ก็ย่อหย่อนเยอะ อย่างสัตว์ตัวเมีย อย่างหมาตัวเมียพระเอาไปเลี้ยงในกุฏิ ก็ถือว่าไม่ถูก ถือว่าศีลด่างพร้อย ยังไม่ถึงขนาดขาดจากความเป็นพระ

ฉะนั้นจริงๆ แล้วพระที่จะฝึกกรรมฐาน ท่านรักษาศีลประเภทเอาชีวิตเข้าแลก ตัวอย่างเราเห็นในพระไตรปิฎก ในอรรถกถามีเยอะเลย อย่างมีบางองค์ท่านเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านรับนิมนต์ไปฉันในบ้านช่างเลี่ยมเพชร เลี่ยมพลอย ช่างเจียระไน พระเจ้าแผ่นดินเขาให้ทับทิมสีแดงมาอันหนึ่ง สวยงามเม็ดโตจะให้มาทำเครื่องประดับให้ พอถึงเวลาพอดีพระไปบิณฑบาต พระปัจเจกพุทธเจ้าไปบิณฑบาต นายช่างคนนี้ก็มัวถวายอาหารกับพระ ไม่ทันระวัง ไม่ทันสังเกต เขาเลี้ยงนกไว้ตัวหนึ่งเป็นนกกินเนื้อ นกกระเรียนหรือนกอะไรจำไม่ได้แล้ว มันเห็นพลอยแดงๆ มันนึกว่าเป็นเนื้อสัตว์ มันกลืนเข้าไป เจ้าของไม่เห็นมัวแต่หันหน้าไปหาพระ พระหันหน้ากลับข้างก็เห็น เสร็จแล้วนายช่างหันไปไม่เจอพลอยแล้ว สงสัยว่าพระขโมยไปหรือเปล่า เอาท่านไปทรมานจะให้คืนพลอยมาให้ ท่านก็เงียบๆ ถูกทรมานแสนสาหัส เลือดท่านออกนกมันเห็นเลือด มันก็เข้ามาจะมากินเห็นเป็นเนื้อ เจ้าของมันก็โมโหกำลังจะเล่นงานพระ บังคับจะเอาพลอยคืน นกเข้ามายุ่ง มันเลยฟาดนกตายเลย ขี้โมโหจริงๆ พอนกมันตายแล้วพระองค์นี้ท่านก็บอก ท่านเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่า “นกมันกินพลอยเข้าไป” ท่านไม่บอก ถ้าท่านบอกแต่แรก ตาคนนี้ต้องไปฆ่านก เขารักษาศีลกันแบบนี้ เข้มงวด

จะเอาธรรมะก็ต้องเด็ดเดี่ยว รักษาศีลให้ดี ท่านที่ได้ธรรมะมาแล้ว ท่านก็ยังรักษาศีลอยู่ พวกเราเอาแค่ศีล 5 ยังไม่เข้มข้นขนาดที่หลวงพ่อบอกหรอก อย่างพระปัจเจกฯองค์นั้นท่านถูกทรมานสาหัส พอช่างอัญมณีมันได้พลอยคืนแล้ว มันก็ขอโทษท่าน ขอขมา การขอขมาเป็นเรื่องดีแต่ไม่ล้างกรรม คนละเรื่องกัน การขอขมานั้นก็เพื่อจะไม่ผูกเวร ไม่จองเวรกัน แต่กรรมที่ทำสำเร็จแล้วอย่างไรก็สำเร็จแล้ว ไม่มีใครใหญ่กว่ากรรม ไม่ใช่พระปัจเจกฯอนุญาตได้ว่าไม่ต้องมีกรรมอันนี้ ฉะนั้นเราต้องระวัง ทำกรรมชั่วอะไรถึงจะไปขอขมา วิบากของความชั่วไม่หายหรอก อย่างไรก็ต้องรับ ฉะนั้นไม่ทำชั่วเสียเลยดีกว่า คนทำชั่วเพราะความโง่ความเขลา บางทีก็อยากได้ผลประโยชน์ ไปสร้างความชั่วขึ้นมา ไปเบียดเบียนผู้ที่ไม่เบียดเบียนใคร อันนี้เป็นกรรมหนัก บางทีเห็นผลทันตาเห็นผลทันทีเลย

ความชั่วแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ อะไรก็อย่าทำ ศีล 5 รักษาเอาไว้ อย่างน้อยเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง เป็นความชั่ว ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ละเว้นการทำชั่ว การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยร่างกาย ไปฆ่าเขา ไปขโมยเขา เป็นชู้เขา ข้อ 4 เราไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยวาจา รวมแก๊งรวมก๊วนไปด่าคนโน้นด่าคนนี้ก็กรรม ส่วนข้อ 5 ไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง ไม่เสพสิ่งเสพติด ธรรมดาสมองเรามันก็เสื่อมอยู่ทุกวัน โตเต็มที่แล้วอย่างไรมันก็เสื่อม ไปกินเหล้าเมายาก็ยิ่งเสียหายขาดสติรุนแรง บางคนคิดเข้าใจผิดว่า ถ้าภาวนาดีแล้วสมองไม่เสื่อม ไม่ใช่หรอก เขาไปคิดว่าสมองเสื่อมเพราะเป็นโรคซึมเศร้า สมองเสื่อมไม่ได้เกิดจากซึมเศร้าอย่างเดียว เส้นเลือดในสมองตีบก็เสื่อม เนื้อสมองอยู่มานานแล้วมันก็เสื่อม มีเนื้องอกในสมองมันก็เสื่อม อย่างครูบาอาจารย์วัดป่าเป็นมาลาเรียกันทั่ว ทำให้สมองเสื่อมเหมือนกัน เป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมชาติ ของเราตอนนี้ยังไม่เสื่อม ก็อย่าไปทำให้มันเสื่อมด้วยสิ่งเสพติดทั้งหลาย

 

ฝึกสมาธิก็ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่

ฉะนั้นศีล 5 มีประโยชน์มาก อย่างน้อยเราก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ใจที่ไม่เบียดเบียนใจมันร่มเย็น สมาธิมันก็เกิดง่าย สมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ มันเป็นภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้ามีสมาธิมากพอ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ต้องจงใจทำขึ้นมา ไม่ต้องรักษา มันเป็นอัตโนมัติ สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ ปัญญาสุดท้ายก็อัตโนมัติ ก่อนจะอัตโนมัติก็ต้องตั้งใจทำเอาก่อน จะฝึกสมาธิก็ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เวลาเรามีเครื่องอยู่ เช่น เราพุทโธๆ ไปเป็นเครื่องอยู่ หรือเราหายใจออก หายใจเข้าเป็นเครื่องอยู่ เวลาจิตมันหลงไปไหลไป เราจะได้รู้ได้เร็วๆ เช่น เราพุทโธๆ พอเราขาดสติมันจะไปคิดเรื่องอื่นแทนคำว่าพุทโธ เราพุทโธจนชิน เกิดอะไรขึ้นก็พุทโธๆ เวลาหลงไปมันจะหลงไม่ยาว หลงไม่นานเดี๋ยวก็รู้สึกแล้วมันลืมพุทโธ หรือเราหายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว มีร่างกายที่หายใจเป็นเครื่องอยู่

หลวงพ่อไม่ได้เน้นให้ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องอยู่ หลวงพ่อให้ดูร่างกายที่หายใจเป็นเครื่องอยู่ของเรา 2 อันนี้จะไม่เหมือนกัน ถ้าเราใช้ลมเป็นเครื่องอยู่ จิตมันจะไปแนบอยู่กับลม มันจะเป็นสมถะ ต่อไปลมมันก็จะค่อยๆ ระงับ ลมก็ระงับไปกลายเป็นแสง จิตก็ไปอยู่กับแสงเกิดปีติ เกิดสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้น จิตก็เข้าฌานไป ได้สมถะพักผ่อนเฉยๆ แต่ถ้าเราเห็นร่างกายหายใจออก เราเห็นร่างกายหายใจเข้า ใจเราเป็นคนรู้ หรือเหมือนเราเห็นร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน รูปมันยืน เดิน นั่ง นอน นามคือจิตเป็นคนรู้ พยายามใช้หลักอย่างนี้ เป็นการแยกรูปแยกนามไปในตัว อย่างเราเห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออกใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจเข้าใจเป็นคนรู้ นอกจากได้ความสงบแล้ว จิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา

อย่างพอเราเห็นร่างกายหายใจอยู่ พอจิตเราถลำลงไปเพ่งลมหายใจ สติระลึกได้ว่าจิตจมลงไปในลมหายใจแล้ว จิตจะถอนตัวขึ้นมาเป็นคนดูต่อ หรือเราเห็นร่างกายหายใจจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น สติรู้ทันจิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา พอตั้งมั่นขึ้นมามันจะเห็น ร่างกายที่หายใจเป็นส่วนหนึ่งเป็นรูป จิตที่เป็นคนรู้ร่างกายที่หายใจนั้นเป็นนาม ถ้าเราฝึกอย่างนี้ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า ไม่ใช่เห็นลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ถ้าเราเห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้าแล้วจะรู้ ร่างกายที่หายใจออกหายใจเข้าคือรูป ตัวที่ไปรู้ร่างกายที่หายใจออกหายใจเข้าคือนาม เราแยกรูปแยกนามได้ ตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญา ถ้าแยกรูป แยกนาม แยกธาตุ แยกขันธ์ไม่ได้ เจริญปัญญาไม่ได้

ฉะนั้นอย่างเวลาเราเดินจงกรม ไม่ได้ไปดูเท้า ถ้าเราเดินจงกรมแล้วเราไปดูที่เท้า มันก็เหมือนเวลารู้ลมหายใจแล้วเราไปดูที่ลม เวลารู้ลมหายใจ เวลาเราดูร่างกายหายใจ ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้ เวลาเดินร่างกายเดินใจเป็นคนรู้ เวลานั่งร่างกายนั่งใจเป็นคนรู้ ตรงนี้เราก็จะแยกรูปแยกนามได้ มันจะเห็นรูปก็อันหนึ่ง รูปมันหายใจ รูปมันยืน เดิน นั่ง นอน รูปมันก็สิ่งหนึ่ง นามก็คือจิตที่เป็นคนรู้คนเห็น ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง เมื่อเราแยกรูปแยกนามได้ เราได้ปัญญาเบื้องต้นแล้ว ค่อยๆ ภาวนาต่อไปเราก็จะเห็น รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายมันมีเหตุ มันไม่ใช่เกิดลอยๆ อย่างร่างกายเราหายใจ ร่างกายเรายืน เดิน นั่ง นอน มันมีเหตุคือจิตมันสั่ง หรือร่างกายเคลื่อนไหวจิตมันสั่ง ร่างกายเป็นแค่วัตถุเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้น ดูไป ร่างกายหายใจ ดูไป ยังไม่ตายมันก็ต้องหายใจ ถ้าไม่หายใจ ร่างกายก็มีความทุกข์มาก จิตก็สั่ง จิตใต้สำนึกมันก็สั่งให้หายใจ

 

“ค่อยๆ ภาวนาไป พากเพียรไป ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว
ทุกวันๆ เตือนตัวเองชีวิตของเราสั้นนิดเดียว จะอยู่ได้อีกสักกี่ปีก็ไม่รู้
ก่อนจะตายต้องหาสิ่งที่ดีที่สุด ให้ติดเนื้อติดตัวเราไป

ไม่เคยรักษาศีลก็รักษาเสีย
ไม่เคยฝึกสมาธิก็ฝึกเสีย
ไม่เคยทำวิปัสสนาก็ทำเสีย”

 

ฉะนั้นค่อยๆ ดูไปเราก็จะเห็น รูปธรรมทั้งหลายมันก็มีเหตุ นามธรรมทั้งหลายก็มีเหตุ อย่างจิตเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย มันก็มีเหตุ มันกระทบอารมณ์ที่พอใจมันก็มีความสุข กระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจมันก็มีความทุกข์ มีผัสสะขึ้นมา เกิดเวทนา แล้วจิตก็เกิดตัณหา อุปาทาน เกิดชาติ เกิดภพ เกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นมีขบวนการ ทั้งรูปทั้งนามก็มีเหตุเกิด เฝ้ารู้เฝ้าดูแล้วเราจะค่อยๆ เห็นทุกอย่าง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม มีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ จะเห็น แต่ตรงนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เป็นปัญญาเบื้องต้น พอเราแยกรูปแยกนามได้แล้ว แล้วค่อยๆ ดูไป รูปแต่ละรูปเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นามแต่ละนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

เราไม่คิดเรื่องไตรลักษณ์แล้วตอนนี้ แต่เราเห็นจริงๆ อย่างความโกรธ บางคนขี้โกรธ เราก็จะเห็นความโกรธมันผุดขึ้นมาได้เอง เราไม่ได้สั่งให้โกรธอยู่ๆ ความโกรธมันก็ผุด ที่จริงก็คือจิตมันไปกระทบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจโทสะมันก็เกิด พอโทสะมันเกิดเราก็เห็นมันผุดขึ้นมาแล้วมันก็ดับ ตัวอื่นๆ ก็เหมือนกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ความสุขในใจเราเกิดแล้วก็ดับ ความทุกข์ในใจเราเกิดแล้วก็ดับ กุศลเกิดแล้วก็ดับ โลภ โกรธ หลงเกิดแล้วก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดู ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะปิ๊งขึ้นมา สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ ทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น ตรงนี้มันเป็นปัญญาชั้นยอด เป็นปัญญาอย่างดีเลย ถ้าใจเข้าใจตรงนี้ได้ ใจก็ได้ธรรมะแล้ว เรียกมีดวงตาเห็นธรรม มันจะรู้ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา”

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเรียกว่าสังขาร มีเหตุแล้วก็เกิดขึ้นมาเรียกว่าสังขาร สังขารมีทั้งรูปธรรม อย่างร่างกายเราก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง ความรู้สึกนึกคิดจิตใจก็เป็นสังขารอีกอย่างหนึ่ง เกิดแล้วก็ดับๆ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ คือมันทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ มันถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา มีสิ่งที่ไม่ใช่สังขาร วิสังขาร วิสังขารคือพระนิพพาน พระนิพพานไม่มีการเกิดขึ้น ฉะนั้นพระนิพพานไม่มีการดับไป ไม่ใช่สังขาร เราเรียนสังขารนี้ให้ดี พอเรียนสังขารได้ดีแล้ว วันหนึ่งเราจะเห็นวิสังขาร สิ่งที่เหนือการเกิดดับ ส่วนธาตุขันธ์อะไรนี่มันเป็นสังขาร อย่างไรก็เกิดดับ มีได้เสื่อมได้

 

ถ้าเราภาวนาจิตมันถึงวิสังขาร มันคล้ายๆ ครูบาอาจารย์สมัยโบราณท่านเปรียบ เหมือนเราเคี่ยวกะทิ เคี่ยวจนกระทั่งมันเป็นน้ำมันขึ้นมา แยกชั้นออกมา น้ำมันก็ไม่กลับเข้าไปรวมกับน้ำกะทิที่เหลือแล้ว ฉะนั้นจิตที่มันเรียนรู้สังขารแจ่มแจ้ง มันจะถอดถอนตัวเองขึ้นเหนือสังขารเป็นวิสังขาร เมื่อจิตมันเข้าถึงวิสังขาร มันจะไม่กลับเข้าไปรวมกับสังขารอีก ส่วนสังขารก็แก่ไป เจ็บไป ตายไป เป็นธรรมชาติธรรมดา สิ่งเหล่านี้พวกเราต้องค่อยๆ ภาวนาไป พากเพียรไป ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว ทุกวันๆ เตือนตัวเองชีวิตของเราสั้นนิดเดียว จะอยู่ได้อีกสักกี่ปีก็ไม่รู้ ก่อนจะตายต้องหาสิ่งที่ดีที่สุด ให้ติดเนื้อติดตัวเราไป ไม่เคยรักษาศีลก็รักษาเสีย ไม่เคยฝึกสมาธิก็ฝึกเสีย ไม่เคยทำวิปัสสนาก็ทำเสีย

ค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นลำดับๆ จนเกิดปัญญา ปัญญาขั้นต้นก็จะเห็นว่า “สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ” ปัญญาขั้นกลางก็จะเห็น “รูปทั้งหลายนั้นคือตัวทุกข์” ปัญญาขั้นสูงก็จะเห็น “นามทั้งหลายนั้นเป็นตัวทุกข์” พ้นจากรูปพ้นจากนามไป ก็จะไปรู้จักวิสังขาร เวลาภาวนาเบื้องต้นก็ล้มลุกคลุกคลาน ก็เป็นอย่างนั้นทุกคน อย่าว่าแต่พวกเราเลย เจ้าชายสิทธัตถะท่านออกจากวังมาบวช ท่านก็ล้มลุกคลุกคลาน ภาวนาตึงไปบ้างหย่อนไปบ้าง ค่อยๆ เรียนค่อยๆ รู้ วันหนึ่งก็แจ้งก็พ้นทุกข์ไป ศีลอัตโนมัติมันจะเกิด ถ้าไม่มีเจตนาจะทำผิดศีล เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเจตนาทำผิดศีล ฉะนั้นจิตก็ตั้งมั่นโดยไม่เจตนาให้ตั้งมั่น มองสิ่งทั้งหลายมันจะเห็น มันว่างเปล่า มันว่าง ดูลงที่ใจตนเองมันก็ว่าง ขยายความรับรู้มาที่ร่างกาย ร่างกายก็ว่าง ขยายความรับรู้ออกไปสู่โลกข้างนอก โลกข้างนอกก็ว่าง มันเป็นความว่างที่เสมอกันหมด ไม่มีอะไร

เพียรฝึกทุกวัน เบื้องต้นรักษาศีลให้ดี อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์แล้วทำผิดศีล อย่าเห็นแก่ความสนุก ความสบายแล้วทำผิดศีล สู้เอา ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์แรก เราดูประวัติท่าน ท่านสู้มาทั้งนั้น ไม่มีหรอกได้ง่ายๆ อยู่ๆ ก็ได้ปิ๊งขึ้นมา ไม่มี มีแต่ลำบากต่อสู้มาแล้วทั้งนั้น ถ้าเราไม่สู้เราก็แพ้ แพ้อะไร แพ้กิเลส แพ้แน่นอน เพราะธรรมชาติของจิตนั้นไหลลงต่ำตลอดเวลา ถ้าไม่สู้ก็ไหลลงต่ำไปเรื่อยๆ ทีแรกไหลลงต่ำไม่มาก เวลาจะทำชั่วยังรู้สึกละอาย พอทำหลายๆ ทีเข้าไม่ละอายแล้ว เฉยๆ แล้ว เคยชินกับความชั่วแล้ว อย่างคนโกหก โกหกทีแรกใจสั่นเลย หน้าร้อนเลย โกหก พอโกหกหลายๆ ทีหน้าไม่ร้อนแล้วเพราะหน้าด้าน เฉยๆ ฉะนั้นความชั่วเล็กๆ น้อยๆ อย่าไปทำเลย อดทนเอา อยากได้ดีก็ต้องสู้เอา ไม่สู้ก็ต้องแพ้ แพ้กิเลส .

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
21 พฤษภาคม 2565