วิธีปฏิบัติ

นมัสการครับ เจริญพรญาติโยม ก่อนอื่นหลวงพ่ออนุโมทนา พวกเรามีศรัทธาเข้ามาบวช ได้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ญาติโยมก็นุ่งขาวห่มขาวกัน เครื่องแบบของพระ เครื่องแบบของโยม เป็นเครื่องเตือนใจให้รู้ว่าเราไม่เหมือนฆราวาสทั่วๆ ไป การออกมาบวชก็เป็นบุญแล้ว แต่บางคนบวชแล้วก็บาป ไม่ได้บุญ ได้บาปแทน ฉะนั้นลำพังการบวชถึงจะดี แต่ว่าก็ต้องระมัดระวัง พระวินัยต้องรักษา

จุดสำคัญในการปฏิบัติจริงๆ คือความมีสติ และความรู้เนื้อรู้ตัว พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ที่จะทำให้สาวกของท่าน ล้างอาสวกิเลสได้ คือพ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ ความรู้สึกตัวนั้นสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามฝึกตัวเอง จิตของเรามันมีแต่ธรรมชาติฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็หนีไปคิด คิดอดีต คิดอนาคต เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ

 

อย่าส่งจิตออกนอก

จิตมันหลงออกไป 6 ช่องทาง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้จิตเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เราไม่รู้สึกตัว อย่างเวลาที่เราใจลอย เรามีร่างกาย ตอนที่ใจลอย แต่มีร่างกาย เราก็ลืมร่างกายตัวเอง เรามีจิตใจ เราก็ลืมจิตใจตัวเอง ฉะนั้นเราต้องพยายาม ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังจะได้ไม่หมดไปสิ้นไป แต่ถ้าเราไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติจริงๆ เราไม่เข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าหรอก

หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่ 7 ขวบ เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี วัดอโศการาม ตั้งแต่ 7 ขวบจนถึงอายุ 29 ปีก็ทำแต่สมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สงบอยู่อย่างนั้น หาทางไปต่อไม่ได้ จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 เข้ามากราบท่านครั้งแรก ไปบอกท่านว่า “หลวงปู่ครับ ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่บอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้ให้อ่านจิตตนเอง” การอ่านจิตตนเอง ก็คือคอยรู้ทัน คอยรู้ทัน จิตใจของเราสุขก็รู้ จิตใจของเราทุกข์ก็รู้ จิตใจของเราดีก็รู้ จิตใจของเราชั่วก็รู้ นั่นคือสิ่งที่หลวงปู่ดูลย์สอน

ก่อนจะมาถึงจุดนี้ ท่านมักจะสอนว่า “อย่าส่งจิตออกนอก” การส่งจิตออกนอกก็คือ การที่เราหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างเราหลงไปคิด เรามีร่างกายเราก็ลืมร่างกาย เรามีจิตใจเราก็ลืมจิตใจของตัวเอง อันนั้นล่ะหลวงปู่ดูลย์เรียกว่า “จิตออกนอก” หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนธรรมะสำคัญเอาไว้บทหนึ่ง ท่านบอก “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ” นิโรธก็คือนิพพาน ฉะนั้นในธรรมะ 4 ประโยคนี้ มันเป็นธรรมะ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็คือมีเหตุฝ่ายชั่ว มีผลเป็นทุกข์ อีกกลุ่มหนึ่งมีเหตุฝ่ายดี มีผลเป็นความพ้นทุกข์ ฉะนั้นในธรรมะสั้นๆ ครอบคลุมธรรมะทั้งทางโลกทางธรรมไว้ทั้งหมดเลย คืออริยสัจ 4 นั่นเอง อริยสัจ 4 เป็นธรรมะที่ครอบคลุมธรรมะทั้งหลายทั้งปวงเอาไว้ได้ทั้งหมด

ตรงที่ท่านสอนบอกว่า “อย่าส่งจิตออกนอก” เพราะท่านบอกว่า “จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย” สมุทัยก็คือเหตุให้เกิดทุกข์ จิตที่ส่งออกนอกก็คือ จิตที่หลงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างเวลาเรานั่งดูมือถือ จิตเราไหลออกไปดู ดูแล้วก็คิด หลงไปในความคิดแล้ว แค่ดูมือถือ หลงทางตาบ้าง หลงทางใจคือหลงไปคิดบ้าง แล้ววันๆ หนึ่งสะสมแต่ความหลง แล้วเมื่อไรมันจะรู้สึกตัว ฉะนั้นเราต้องเข้มแข็ง พระพุทธเจ้าบอก “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” สมุทัยก็คือการที่จิตเราหลงออกไปนั่นเอง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ฉะนั้นเราจะต้องมาฝึก ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้ ในโลกนี้หาคนที่รู้สึกตัว หายากมาก ในโลกนี้มันมีแต่คนหลง หลงตลอดเวลาเลย มีกายลืมกาย มีจิตใจลืมจิตใจ ฉะนั้นพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมา อย่าเอาแต่หลง วิธีที่เราจะรู้ทันความหลง แล้วก็ข้ามความหลงได้ ก็คือประโยคที่หลวงปู่บอก “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค” นั่นล่ะ “จิตส่งออกนอก” เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จิตที่เราเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นเหตุของความพ้นทุกข์ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกทำเหตุของความทุกข์ หรือเราจะเลือกทำเหตุของความพ้นทุกข์ ทุกคนมีสิทธิ์เลือกของตัวเอง สังสารวัฏนี้ไม่มีใครมาบงการเรา เราเลือกอนาคตของเราเอง

ฉะนั้นถ้าเรามีโอกาส ได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว พยายามมาเจริญสติให้ดี อย่าให้พลาดโอกาส เมื่อก่อน 40 ปีก่อน ที่หลวงพ่อเข้ามาเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เมืองสุรินทร์ขึ้นชื่อลือชา มีนักปฏิบัติชั้นยอดมากมายเลย ทั้งพระ ทั้งโยมเก่งๆ เยอะเลย นี้นานวันไปๆ กระแสของโลกมันก็แรงขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นอยู่ของพวกเราก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน มีอยู่ มีกิน มีสุข มีสบายอะไรขึ้นมา ความใส่ใจที่จะพ้นทุกข์มันก็น้อยลง เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นว่ามันทุกข์ตรงไหนเลย ทุกข์ก็ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ ไม่เห็นจะต้องดิ้นรนเพื่อความพ้นทุกข์อะไรเลยฉะนั้นการปฏิบัติมันถึงย่อหย่อนลง

 

คอยรู้เท่าทันจิตของเราเองไว้เรื่อยๆ

ถ้าเราตั้งอกตั้งใจให้มันเข้มแข็ง ว่าเราจะต้องพ้นทุกข์ให้ได้ เราอย่านึกเราว่ามีแต่ความสุข ชีวิตของเรามีความทุกข์รออยู่ข้างหน้า คือความแก่ เราหนีไม่ได้ ความเจ็บ เราหนีไม่ได้ ความตาย เราหนีไม่ได้ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก จากคนที่เรารัก เราหนีไม่ได้ บางทีเราก็เป็นคนพลัดพราก เราตายเสียเอง บางทีคนที่เรารักก็พลัดพรากไป ทุกคนมีความทุกข์รออยู่ข้างหน้า เพราะฉะนั้นอย่าประมาท อย่านึกว่าชีวิตนี้สบายแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติ อันนั้นเรียกว่าเราประมาทแล้ว

ถ้าเราเป็นชาวพุทธจริงๆ อุตส่าห์มาอยู่วัด มาภาวนา มาบวช จะกี่วันก็ตาม ก็ถือว่าเราฝักใฝ่ สนใจที่จะเรียนธรรมะ นี้เราพูดถึงการเรียนธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนดี ท่านเคยสอนหลวงพ่อว่า “ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ เกิดจากจิตที่บริสุทธิ์เท่านั้นเอง” ธรรมะนั้นเกิดจากจิต ถ้าจิตเราไม่บริสุทธิ์ จิตมันก็ปรุงธรรมะฝ่ายอกุศลขึ้นมา ถ้าจิตเราสะอาดขึ้นๆ มันก็ปรุงธรรมะฝ่ายกุศลขึ้นมา ปรุงความมีสติ ความรู้เนื้อรู้ตัว ปรุงศีล ปรุงสมาธิ ปรุงปัญญา ขึ้นมา เราก็ต้องพยายามช่วยมันหน่อย ทำอย่างไรจะให้มันมีสติ ทำอย่างไรมันจะมีสมาธิ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนรวบยอดเอาไว้แล้ว ให้เราเห็นจิตตัวเองไว้ การเห็นจิตเราไม่ได้เห็นด้วยตา เพราะจิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน จิตเป็นอรูป ไม่มีตัวตน เป็นนามธรรม เราเห็นจิตด้วยความรู้สึก เราจะรู้สึกเอา จิตของเราขณะนี้สุขก็รู้ จิตของเราขณะนี้ทุกข์ก็รู้ จิตของเราขณะนี้ดีก็รู้ จิตของเราขณะนี้ชั่วก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ของยาก หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”

เพราะฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทันจิตของเราเองไว้เรื่อยๆ ถ้าเมื่อไรไม่รู้ทันจิต จิตก็หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปสร้างเรื่อง สร้างความทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเอง ไปสังเกตให้ดีเถอะ ความทุกข์ในใจเรา เกิดตามหลังการหลงคิดมาทั้งนั้นเลย เราคิดไปในทางชอบอกชอบใจ ก็เกิดราคะอยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็น พอความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที บางทีจิตมันไหลไปทางโทสะ มันปรุงไปทางมีโทสะ จิตมันก็หงุดหงิด ขัดข้อง ไม่สบายกาย ไม่สบายใจขึ้นมา เวลากิเลสจะเกิด มันเกิดตอนหลงคิด ถ้าเรามีสติ จิตหลงแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้เรื่อยๆ ต่อไปสติเราจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ

วิธีการฝึกให้มีสติ ง่ายๆ เลย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งก่อน เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือถนัดจะทำกรรมฐานอะไรก็ทำ ถนัดจะดูท้องพองยุบ จะยืน เดิน นั่น นอน แล้วรู้สึกตัว อะไรก็ได้ รู้อิริยาบถ 4 ก็ได้ ให้จิตมันมีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ไว้สักอย่างหนึ่งก่อน นี่คือการฝึกให้เกิดสติ สติเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า “ธรรมะที่มีอุปการะมาก มี 2 ตัว สติกับสัมปชัญญะ” สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สัมปชัญญะคือความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่หลง

เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเอง ลดสิ่งที่จะยั่วยวนให้เราหลง อย่างมือถืออะไรอย่างนี้ วางๆ มันบ้าง ไม่เคยมีใครได้ดิบได้ดีเพราะของพวกนี้ เสียเวลา เราพยายามให้ความสำคัญ ที่จะคอยรู้สึกกายรู้สึกใจไว้ ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึกไว้ วิธีฝึกก็ไม่ยากอะไร ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พอจิตมันหลงไปคิด ให้รู้ทัน เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ ฟังให้ดี ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ได้ทำเพื่อความสงบ เพราะความสงบเป็นของไม่เที่ยง ไม่ได้ทำเพื่อความสุข เพราะความสุขก็ยังไม่เที่ยง ไม่ได้ทำเพื่อความดี เพราะความดีก็ยังไม่เที่ยง

เราทำไปเพื่อความมีสติเท่านั้นเอง เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเราลืมการหายใจ ลืมพุทโธ หนีไปคิดเรื่องอื่น ให้เรารู้ทัน ตรงที่จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่นนั่นล่ะ หลวงปู่ดูลย์เรียกจิตส่งออกนอก ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ส่งออกนอก คือจิตที่หลงคิด จิตที่หลงคิดจะดับ จิตรู้จะเกิดขึ้น จิตรู้คือจิตที่ทรงสติ และก็ทรงสมาธิที่ถูกต้อง ฉะนั้นต้องพยายามฝึกตัวนี้ให้มากๆ ให้จิตมันเป็นผู้รู้ขึ้นมาให้ได้ ด้วยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตมันไหลไปคิดแล้วรู้ทัน จิตมันไหลไปคิดแล้วรู้ทัน สงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ ไม่สำคัญ สำคัญที่รู้ทันจิตตนเอง

เพราะฉะนั้นเราก็หายใจไป ทุกวันๆ ต้องแบ่งเวลาไว้ทำ อย่าอยู่กับโลกแล้วก็หลงโลก แบ่งเวลาไว้เลย ทุกวันเราต้องปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม แล้วก็คอยรู้ทันจิตของตัวเองไว้ นี่จิตมันเห็นจิตแล้ว อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิดเรารู้ทัน เรียกว่าเรารู้ทันจิต เราเห็นจิตที่กำลังฟุ้งซ่าน พอมันหลงไปคิด มันก็เกิดราคะบ้าง เกิดโทสะบ้าง เราก็มีสติรู้ทันไป พอสภาวะอะไรเกิด เรารู้ทันบ่อยๆ สติของเราจะเร็วขึ้นๆ

หัดทีแรกนานๆ กว่าสติจะเกิด แต่พอเราฝึกบ่อยๆ ชำนิชำนาญขึ้น พอจิตมันหลงปุ๊บรู้ปั๊บ หลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย สติมันจะถี่ยิบขึ้นมาเลย พอสติมันถี่ยิบขึ้นมา จิตมันจะเริ่มทรงตัว ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา มีสมาธิ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราต้องทำ ทุกวันแบ่งเวลาไว้เลย นั่งสมาธิไป ก่อนนั่งก็ไหว้พระ สวดมนต์ นึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไป แล้วก็สังเกตจิตตัวเองไป หายใจไปสังเกตจิตตัวเองไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดรู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตสงบรู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตฟุ้งซ่านรู้ทัน หายใจไปแล้วจิตหงุดหงิด รู้ว่าหงุดหงิด หายใจไปแล้วจิตมีความสุข รู้ว่ามีความสุข

 

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ถึงจะเป็นมรรค

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เราก็รู้ทันจิตใจที่มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เริ่มต้นส่วนใหญ่มันก็หลงไปคิดก่อน แล้วมันถึงจะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว ขึ้นมา ถ้าเรารู้ทันจิตที่หลงไปคิด มันก็ไม่ปรุงต่อ ก็จบตรงนั้น ตรงนี้คือการเห็นจิต เรียกว่าจิตเห็นจิต แต่สิ่งที่หลวงปู่ดูลย์พูดมันลึกกว่านั้นอีก ไม่ใช่จิตเห็นจิต ท่านบอก “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ถึงจะเป็นมรรค” จิตเห็นจิต เราก็แค่เห็นว่า ตอนนี้จิตมันสุข ตอนนี้จิตมันทุกข์ ตอนนี้จิตมันดี ตอนนี้จิตมันโลภ โกรธ หลง ตอนนี้จิตมันหลงไปคิด ตอนนี้จิตมันรู้สึกตัว อันนี้เรียกว่าเราเห็นจิต

แต่จะเห็นอย่างแจ่มแจ้งนั้น เห็นอย่างไร เราจะต้องเห็นลึกซึ้งลงไปอีกชั้นหนึ่ง เราจะเห็นว่าจิตทุกชนิด เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป คือเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิต ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของจิต จิตมันไม่เที่ยงอย่างไร ก็จิตสุขมันก็อยู่ชั่วคราวก็ดับ จิตทุกข์มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ ลองไปดูของจริง ทำกรรมฐานไปแล้วก็สังเกตจิตตัวเองไป เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว อันนี้เราเริ่มเห็นจิตมากขึ้นแล้ว ไม่ใช่เห็นจิตเฉยๆ แต่เราเริ่มเห็นไตรลักษณ์ของจิต เห็นความไม่เที่ยงของจิต จุดตรงนี้เป็นจุดที่เริ่มเจริญปัญญา

ตรงที่เราเห็นจิตแล้วก็จิตสงบนิ่งลงไป อันนั้นเป็นสมถะ แต่ตรงที่เราเริ่มเห็นความเป็นไตรลักษณ์ จิตมันไม่เที่ยง จิตสุขก็ชั่วคราว เกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดี จิตชั่ว มีแต่เกิดแล้วก็ดับ จิตผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ จิตผู้คิดเกิดแล้วก็ดับ หัดดูบ่อยๆ สุดท้ายจิตมันจะเห็นความจริง จิตทุกอย่างมันเกิดแล้วดับ เห็นอย่างนี้ก็ได้ บางคนก็เห็นว่าจิตแต่ละอย่างนั้น มันกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อย่างเวลาเรามีความสุขเยอะๆ เราสังเกตไป ความสุขของเราว่ามันมีเยอะ มันกำลังถูกบีบคั้นให้สลายตัวไป นั่งดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็หาย ความสุข จิตสุขมันอยู่ได้ชั่วคราว มันก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป อันนี้เรียกว่าเราเห็นความเป็นทุกขัง ทุกขตาของจิต

ถ้าเราเห็นว่าจิตมันจะดี หรือมันจะชั่ว มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ เราเลือกไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ เราสั่งให้จิตสุขไม่ได้ สุขแล้วเราสั่งให้สุขตลอดกาลไม่ได้ จะทุกข์เราก็ห้ามทุกข์ไม่ได้ ทุกข์แล้วสั่งให้หายก็ไม่ได้ มันจะดี เราสั่งให้ดีก็ไม่ได้ ดีแล้วจะสั่งให้อยู่ตลอดไปก็ไม่ได้ มันจะชั่วเราก็ห้ามมันไม่ได้ แล้วชั่วแล้วก็ไปไล่มันก็ไม่ไป ตัวนี้เรียกว่าอนัตตา ฉะนั้นเราจะต้องเห็นจิตเป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา เห็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอแล้ว บางคนเห็นจิตไม่เที่ยง จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีจิตชั่ว เกิดแล้วดับ อันนี้เรียกว่าเห็นไม่เที่ยง บางคนเขาก็เห็นจิตที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อันนี้เรียกว่าเห็นทุกข์

ถ้าเราเห็นอีกชั้นหนึ่งก็คือ เห็นว่าจิตทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับมันไม่ได้ ก็เรียกเห็นอนัตตา เห็นเพียงมุมใดมุมหนึ่ง เราก็จะรู้จักว่าจริงๆ แล้ว จิตเองก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษ กระทั่งตัวจิตผู้รู้ที่เราสร้างสมอบรมมาอย่างดี คนในโลกมีแต่จิตผู้หลง แต่เราฝึกจนได้จิตผู้รู้ แล้วเราพบลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง จิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง จิตผู้รู้ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย จิตผู้รู้ก็บังคับไว้ไม่ได้ รักษาไว้ไม่ได้ คือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมันอีกชั้นหนึ่ง ตรงที่เราเห็นว่าตัวจิตนั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตรงนี้ล่ะที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง”

“เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง” คือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิต ถ้าเราเห็นได้ จะแตกหักพ้นกิเลสกันตรงนี้เอง ให้ภาวนาให้จริงจัง แต่อย่าเคร่งเครียด ถ้าตั้งอกตั้งใจภาวนาไปเรื่อยๆๆๆ ไม่ทิ้ง ถึงจุดหนึ่งแล้วจะเริ่มเห็น เบื้องต้นเราก็จะเห็น จิตทั้งหลายเกิดแล้วดับ จิตทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา แล้วเบื้องปลายมันจะเห็น จิตทั้งหลายที่ว่าไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้ ทุกข์เพราะเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างนั้นถึงจะเรียกว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง แล้วมันเป็นมรรคระดับไหน อันนั้นเป็นอรหัตตมรรค ตรงที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งนั้นเป็นอรหัตตมรรค มันแตกหักตรงนั้นเอง จิตจะปล่อยวางจิตได้ เมื่อจิตปล่อยวางจิตได้ จิตจะปล่อยวางรูปนาม ขันธ์ 5 กายใจได้ เมื่อวางกายวางใจได้ ก็วางโลกทั้งโลกได้ จิตก็อยู่กับความสุขความสงบ

ธรรมะอย่างนี้มีอยู่ ธรรมะอันนี้ยังไม่ได้สูญหายไป ฉะนั้นพวกเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ ก่อนที่ธรรมะที่ดีๆ มันจะสูญหายไป ส่วนมากเราเข้าวัด เราก็จะได้ยินแต่เรื่องให้เราทำทาน ให้เรารักษาศีล เมื่อก่อนหลวงพ่อบวช แล้วก็สอนกรรมฐาน ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านยังบอกว่า “โอ๊ย ปราโมทย์สอนยากไป สอนฆราวาส สอนให้มันทำทาน ให้มันรักษาศีล ให้มันทำให้ได้ก่อน ยังไม่ต้องสอนสมาธิ ไม่ต้องสอนปัญญาหรอก ฆราวาสทำไม่ได้” หลวงพ่อก็ “ครับๆๆ” แต่ไม่เชื่อ ทำไมไม่เชื่อ เพราะหลวงพ่อทำตั้งแต่เป็นฆราวาส

หลวงพ่อภาวนาอยู่ 7 เดือน หลวงปู่ดูลย์ท่านรับรองว่า หลวงพ่อเข้าใจสิ่งที่ท่านสอนแล้ว ในเวลาไม่นานหรอก ขอให้เราทำให้จริงเท่านั้นเอง วิธีทำให้จริง รักษาศีล 5 ศีล 5 ต้องรักษา แล้วถ้าเป็นพระก็รักษาพระวินัยเอาไว้ด้วย รักษาอภิสมาจาร รักษาข้อวัตรทั้งหลายเอาไว้ด้วย พระทุกวันนี้ที่หลวงพ่อเห็น ติดอาบัติเยอะแยะมากเลย อย่านึกว่าเป็นเรื่องเล่นๆ พออาบัติแล้วมันภาวนาไม่ขึ้น ภาวนาไม่ได้ อย่างบางองค์ติดอาบัติ ภาวนา พอจิตจะรวม มันดีดออกเลย จิตกระโดดหลุดออกไปเลย ฟุ้งซ่านขึ้นมาทันทีเลย เพราะศีลไม่ดี พระมีพระวินัยมากมายที่ต้องรักษา ส่วนโยมรักษาศีล 5 ไว้ ตรงนี้ได้เปรียบพระ พระผิดวินัยภาวนาไม่ขึ้น โยมผิดศีล 5 5 ข้อเท่านั้น ก็ภาวนาไม่ขึ้น

 

ศีลจะสมบูรณ์ขึ้นมา ถ้าเรามีสติรักษาจิต

ฉะนั้นถ้าเป็นฆราวาสรักษาศีล 5 ไว้ ถ้าเป็นพระต้องรักษาพระวินัยเอาไว้ให้ได้ เราอาจจะตกใจ พระวินัยมีตั้ง 227 ข้อ วินัยนอกปาติโมกข์ มีอีกตั้งเยอะตั้งแยะ ข้อวัตรปฏิบัติมีอีกตั้งเยอะตั้งแยะ จะรักษาอย่างไร ปัญหานี้เคยมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว สมัยพุทธกาลก็มีพระองค์หนึ่ง ท่านตั้งใจดีอยากปฏิบัติ อยากพ้นทุกข์ มาบวช แล้ววันหนึ่งท่านก็ไปทูลลาพระพุทธเจ้าว่า ท่านต้องสึกแล้ว ท่านไม่สามารถรักษาพระวินัยจำนวนมากมายอย่างนี้ได้ ต้องสึก ไม่อยากเป็นพระเลว

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าศีล 227 รักษาไม่ได้ รักษาข้อเดียวได้ไหม” ก็เอาข้อเดียว ท่านบอกว่า “ถ้ารักษาข้อเดียว ท่านรักษา” ท่านไม่สึก ท่านจะรักษาศีลข้อเดียวอันนี้ พระพุทธเจ้าก็ให้ศีลข้อเดียว บอก “ท่านจงมีสติรักษาจิตเอาไว้” ข้อเดียว แล้วศีลที่เหลือมันมาเอง มีสติรักษาจิตทำอย่างไร ก็คอยรู้เท่าทันจิตของเราเอง จิตเรามีราคะเกิดขึ้น เรารู้ทัน จิตเรามีโทสะเกิดขึ้น เรารู้ทัน จิตเราฟุ้งซ่านไป จิตเราหดหู่ไป เราคอยรู้ทันไว้ ถ้าเรารู้ทันจิตใจของตัวเอง กิเลสอะไรเกิดเรารู้ทัน กิเลสอะไรเกิดเรารู้ทัน เรียกว่าเรามีสติรักษาจิตอยู่ เราไม่ต้องรักษาจิต ให้เรามีสติ คือคอยรู้ทันจิตตนเอง แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตให้เรา

พระพุทธเจ้าบอก “ให้มีสติรักษาจิตเอาไว้” ข้อเดียว แล้วศีลมันจะมาเอง อย่างเวลาราคะเกิด หรือโทสะเกิด เรามีสติรู้ทัน กิเลสมันจะดับ อย่างราคะเกิดขึ้น ถ้าเป็นพระหนุ่มๆ ปวดหัวเลย เครียด เราไม่ต้องตกใจ ให้เรารู้ทันว่าจิตกำลังมีราคะ ดูมัน ให้เห็นมันเหมือนจิตคนอื่นมันมีราคะ เราเป็นแค่คนดู เรามีสติรักษาจิต ราคะมันดับทันทีเลย หรือเวลาเราโกรธ เรามีสติรู้ทันจิตที่กำลังโกรธ สติก็จะรักษาจิตของเรา คือความโกรธจะดับทันทีเลย เวลาเราหลงคิดโน่นคิดนี่ไป เรารู้ทันว่าจิตกำลังฟุ้งซ่านอยู่ นี่สติรักษาจิต ความฟุ้งซ่านจะดับทันทีเลย

เพราะฉะนั้นจะรักษาวินัยจำนวนมากได้ ด้วยการที่เรามีสติรักษาจิตของเราไว้ จุดเดียวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติรักษาจิต ศีลจะสมบูรณ์ขึ้นมา รักษาอยู่ที่เดียวนี่เอง เพราะฉะนั้นเรื่องจิตเห็นจิต ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย จิตเห็นจิตในเบื้องต้นเราได้สติ เช่น จิตหลงไปคิดเรารู้ จิตโลภ โกรธ หลง เรารู้ จิตดีจิตชั่วเรารู้ ตรงที่รู้ทันนั่นล่ะเรียกว่าเรามีสติ แล้วต่อไปเราก็จะมีศีล เวลากิเลสเกิดเรามีสติรู้ทันจิต จิตมีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ พอเรารู้แล้ว จิตจะไม่ถูกกิเลสครอบงำ เพราะกิเลสนั้นมันเกิดตอนที่หลงคิดเท่านั้น

ถ้ามีสติอยู่กิเลสเกิดไม่ได้ เมื่อเราไม่มีกิเลส เราก็ไม่ได้ทำผิดศีล คนทำผิดศีลนั้นเพราะกิเลสมันบงการ อย่างจะไปฆ่าเขา ก็เพราะกิเลสบงการ จะไปเป็นชู้กับเขาเพราะกิเลสบงการ จะไปขโมยของเขา ก็เพราะกิเลสบงการ จะไปปลิ้นปล้อนหลอกลวงเขา ก็เพราะกิเลสบงการ ถ้าเรามีสติรักษาจิตเราอยู่ กิเลสบงการจิตใจเราไม่ได้ เราไม่ผิดศีลเลย รักษาอันเดียว มีสติรักษาจิตไว้ ศีลเป็นร้อยๆ ข้อ จะสมบูรณ์ขึ้นอัตโนมัติเลย ตรงนี้ฝึกไว้ แล้วเราจะรู้ทันจิต แล้วจะเกิดสมาธิได้อย่างไร

สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ให้เราสังเกตไปเรื่อย จิตเราเดี๋ยวก็ฟู เดี๋ยวก็แฟบ กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงทั้งวันเลย แกว่งไปแกว่งมา ไม่เคยสุข ไม่เคยสงบ ไม่ต้องไปบังคับมัน ให้มีสติรู้ทัน เวลาจิตมันฟุ้งซ่าน เรามีสติรู้ทันว่าจิตกำลังฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านจะดับ สมาธิจะเกิดอัตโนมัติเลย นี่คือวิธีฝึกสมาธิ คือรู้ทันกิเลสของตัวเอง สมาธิชนิดนี้คนรุ่นหลังๆ ไม่ค่อยรู้จัก

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยสอนพระเจ้าอชาตศัตรู ให้รู้ทันจิตใจของตัวเอง แล้วสมาธิมันเกิด แล้วมันเกิดจริงๆ เวลาที่จิตเราฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ เพราะอะไร เพราะจิตมันทะยานไปตามอำนาจของกิเลส อย่างมีราคะ มันก็ฟุ้งไปคิดถึงสาว มันมีโทสะก็คิดไปถึงคนที่ทำให้เราเจ็บแค้น จิตมันทะยานไป ถ้าเรามีสติรู้ จิตมันวิ่งออกไปแล้ว อย่างที่หลวงพ่อบอกให้พวกเราฝึกทุกวัน หายใจเข้าพุทออกโธ แล้วจิตหนีไปแล้วเราคอยรู้ ตรงที่เรารู้ จิตที่ทะยานออกไปมันจะดับ จิตจะตั้งมั่นรู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา สมาธิมันจะเกิดอัตโนมัติ

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านเคยสอนบอก “ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติ” ท่านบอกทำแค่นี้ล่ะ แล้วเดี๋ยวสติมันก็จะดี ศีลมันก็จะดี สมาธิมันก็จะดีขึ้นมา ไม่ใช่ไปบังคับจิตให้สงบ ถ้าพยายามบังคับจิตเมื่อไร จิตจะเซื่องซึมไปเลย หรือไม่ก็เครียดไปเลย ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นพยายามรู้เท่าทันจิตของเรา จิตมีราคะก็รู้ มีโทสะก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ แล้วสมาธิจะเกิดเอง สมาธิมันถูกทำลายไปด้วยกิเลสที่ชื่อว่านิวรณ์ มีกามฉันทนิวรณ์ รักใคร่พอใจ มีพยาปาทะนิวรณ์ ความพยาบาท มีอุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ มีวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย มีถีนมิทธะ ความเซื่องซึม สิ่งเหล่านี้เป็นตัวทำลายสมาธิ แต่ไม่ว่ากามฉันทะ พยาบาท อุทธัจจะกุกกุจจะ หรือวิจิกิจฉา หรือถีนมิทธะ มันคือกิเลสทั้งหมด

ถ้าเรารู้ทันจิตตัวเอง จิตมีกามฉันทะ ผูกพันรักใคร่พอใจในกามทั้งหลาย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทั้งหลาย เรารู้ทัน กามตัวนั้นดับ เวลาจิตมันคิดอะไรไปในทางพยาบาท ปองร้ายคนอื่น เรามีสติรู้ทัน ความพยาบาทดับ เวลามันฟุ้งซ่านรำคาญใจ หงุดหงิดขึ้นมา เรามีสติรู้ทัน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจก็จะดับ เวลาเราคิดมาก ธรรมะเป็นอย่างไร อย่างโน้นอย่างนี้ คิดใหญ่จะปฏิบัติจะทำอย่างไรดี เรามีสติรู้ทันว่าจิตกำลังฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านจะดับ เราเซื่องซึมหงอยๆ หมดเรี่ยวหมดแรง ให้รู้ลงไปเลย จิตกำลังเซื่องซึมอยู่ ความเซื่องซึมจะดับ ตรงที่นิวรณ์ 5 ตัวนี้ดับไป สมาธิมันเกิดอัตโนมัติ เพราะศัตรูของสมาธิถูกทำลายไปด้วยสติ

 

“ความทุกข์มีได้ ความพ้นทุกข์ก็มีได้ ขอให้รู้เหตุเท่านั้น
เหตุของความทุกข์ก็คือ ความอยากนานาชนิด”

 

ฉะนั้นการที่เรามีสติ ดีหลายอย่าง ทำให้ศีลของเราสมบูรณ์ขึ้น ทำให้สมาธิของเราดีขึ้น แล้วต่อไปสติ เราเจริญให้มาก ทำให้มาก ปัญญามันจะเกิด อย่างเราทำกรรมฐานไป เราจะเห็นจิต ความสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตดีก็ไม่เที่ยง จิตชั่วก็ไม่เที่ยง จิตสงบก็ไม่เที่ยง จิตฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตรู้สึกตัวก็ไม่เที่ยง เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็เข้าใจจิตอย่างแจ่มแจ้ง จิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันก็จะปล่อยวาง

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น ยึดในร่างกาย เพราะร่างกายนี้ เรารู้สึกว่ามันคือตัวเราของเรา ร่างกายมันแก่เราก็ทุกข์แล้ว ไม่อยากแก่ ร่างกายมันเจ็บ มันก็ทุกข์แล้ว เพราะมันไม่อยากเจ็บ ร่างกายมันตาย เราก็ทุกข์แล้วเพราะไม่อยากจะตาย เวลาเราพลัดพรากจากคนที่เรารัก จากสิ่งที่เรารัก มันก็ทุกข์ เราก็ไม่อยากพลัดพราก เวลาเราเจอสิ่งที่เราเกลียด คนที่เราเกลียด เราไม่อยากเจอ มันก็ยังเจอ

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น

ฉะนั้นธรรมะยังมีอยู่ ผู้ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านก็ยังมีอยู่ แต่เหลือน้อยเต็มทีแล้ว ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่ภาวนา ที่หลวงพ่อเห็นตอนนี้ มีหลวงปู่สุจินต์ หลวงปู่สุจินต์มาบวชอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ตั้งแต่ปี 2523 หลวงพ่อเจอท่านตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้วภาวนาเห็นกันอยู่ นี้หลวงพ่อบวชช้า บวชช้าเพราะเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่อยู่ เราลูกคนเดียว เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ พอพ่อแม่ไม่อยู่ มาบวช มาบวชแล้วตั้งอกตั้งภาวนาของเราไป ความทุกข์มีได้ ความพ้นทุกข์ก็มีได้ ขอให้รู้เหตุเท่านั้น เหตุของความทุกข์ก็คือ ความอยากนานาชนิด

เหตุของความพ้นทุกข์ คือจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ทำเหตุให้ดี เหตุชั่วเราก็ละเสีย เหตุดีเราก็เจริญเสีย พระพุทธเจ้าถึงบอก “ทุกข์ให้รู้” ทุกข์ให้รู้หมายถึงอย่างไร กายนี้เป็นทุกข์ให้รู้ จิตใจนี้เป็นทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ คือความอยากทั้งหลายต้องละเสีย อย่าไปตามใจกิเลส แล้วก็นิโรธทำให้แจ้ง คือพระนิพพาน ไม่ใช่ทำพระนิพพานให้เกิด พระนิพพานไม่เคยเกิด ไม่เคยดับ พระนิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ที่ว่าเรามีคุณสมบัติพอไหม จิตใจของเรายังถูกกิเลสครอบงำ เราก็ไม่เห็นนิพพาน

ถ้าจิตใจของเราพ้นจากกิเลส เราก็เห็นนิพพาน แล้วเราก็มีเจริญมรรค ท่านบอกให้เจริญมรรค หลวงปู่ดูลย์บอก จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งคือตัวมรรค มรรคนี้ให้เจริญ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยคือความอยาก ให้ละ นิโรธคือนิพพาน ทำให้เข้าใจ ทำให้แจ้ง แล้วมรรคทำให้เจริญ รู้ทันจิตตัวเอง แล้วศีล สมาธิ ปัญญาจะสมบูรณ์ขึ้น ฉะนั้นองค์มรรคจะมี 8 ตัว ย่อลงมาก็คือศีล สมาธิ ปัญญา มันจะสมบูรณ์ได้ ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตตัวเอง มีสติรู้ทันจิตตัวเอง ศีลจะสมบูรณ์ขึ้นมา มีสติรู้ทันจิตตัวเอง สมาธิจะสมบูรณ์ขึ้นมา มีสติรู้ทันจิตตนเอง ปัญญาจะสมบูรณ์ขึ้นมา เมื่อปัญญาสมบูรณ์แล้ว มรรคผลจะเกิดขึ้นเอง

 

 

ฉะนั้นเราอย่านึกว่าเราบวชไม่กี่วัน ไม่มีประโยชน์เท่าไร อย่าบวชเปลืองผ้าเหลือง บวชแล้วจะบวชกี่วันก็ตาม พยายามมีสติรักษาจิตไว้ แล้วเราจะได้กำไรของชีวิตอย่างมหาศาลเลย โยมมาอยู่วัดก็เหมือนกัน มาจำศีล มาอะไรอย่างนี้ มาแล้วใจเราก็ฟุ้งกลับบ้าน ใจมันหนีกลับบ้านบ้าง หนีไปเรื่องโน้นเรื่องนี้บ้าง อันนั้นเราไม่ได้บุญหรอก ไม่ได้ประโยชน์เท่าไรหรอก

ฉะนั้นเราพยายามมีสติรักษาจิตของตัวเองไว้ แล้วเราจะได้บุญใหญ่ บุญจากการบวชมันก็ดี ได้บารมี ได้เนกขัมมะ อดข้าวเย็น นอน ที่นั่ง ที่นอนไม่ได้สบาย ก็เป็นการออกจากกามอย่างหนึ่ง เป็นการฝึก ก็ดี มีประโยชน์ อดข้าวเย็นก็เป็นการฝึกตัวเอง ก็มีประโยชน์ แต่เรายังไม่ได้ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่สุด ประโยชน์ที่สูงสุดนั้น ก็คือมรรคผลนิพพาน ฉะนั้นมีสติรักษาจิตไว้ อย่านึกว่าไกล หลวงพ่อมาเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เมื่อ 40 ปีก่อนนั้น หลวงพ่อพบนักปฏิบัติจำนวนมากเลย ทั้งพระ ทั้งโยม ภาวนาเก่ง

โยมบางคนภาวนา ตายไปเผาออกมากระดูกเป็นแก้วเลย กระดูกเป็นพระธาตุเลย ฆราวาสนี้ล่ะ ก็รักษาศีล 5 นี้ล่ะ พอภาวนาดีๆ ขึ้นมาแกถือศีล 8 อัตโนมัติ ฉะนั้นเราอย่านึกว่ามันเหลือวิสัย ขอให้ตั้งใจให้จริง แล้วก็ตั้งอกตั้งใจเรียนรู้ตัวเองให้มาก คอยรู้เท่าทันจิตของตัวเองไว้ ฝึกตัวเองทุกวัน ไหว้พระ สวดมนต์ ทำสมาธิ เดินจงกรมอะไรก็ทำไปเถอะ แต่คอยรู้ทันจิตไว้ หายใจไปจิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ ฝึกอย่างนี้ ต่อไปจิตจะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่ว มันรู้หมดเลย แล้วศีล สมาธิ ปัญญา จะค่อยๆ แก่กล้าขึ้น ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์เมื่อไร อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง ฉะนั้นมันไม่เหลือวิสัย

เอ้า วันนี้หลวงพ่อเทศน์ให้พวกเราฟังแค่นี้ เทศน์ไม่ยาว แต่ถ้าเอาไปปฏิบัติ นานเลย เป็นปีๆ เลย ต้องสู้ ขอให้พวกเรามีความสุข ให้พวกเราเจริญในธรรม เราอยากเจริญในธรรม เราก็ต้องปฏิบัติธรรม อยู่ๆ หลวงพ่อให้เจริญในธรรม มันเจริญไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำเอาเอง หลวงพ่อบอกให้พวกเรามีความสุข ถ้าเราไปทำเหตุของทุกข์ เราก็ไม่สุขหรอก เราก็ต้องทำเหตุที่ดี ลดละกิเลสไป ถ้าทำเหตุดีเดี๋ยวเราก็สุขเองล่ะ ฉะนั้นส่วนใหญ่ให้พรกัน บอกให้มีความสุข ให้มีความเจริญ ล้วนแต่ต้องทำเอาเองทั้งสิ้น ใครก็ให้กันไม่ได้หรอก ความดี ความสุข ต้องทำเอาเอง

ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อให้พวกเราวันนี้ คือวิธีปฏิบัติ คือวิธี ฉะนั้นพวกเราก็รู้วิธีแล้ว ลงมือทำ เหมือนที่เมื่อ 40 ปีก่อน หลวงพ่อมาเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนวิธีให้หลวงพ่อ ท่านบอกให้ดูจิตตัวเอง ท่านสอนวิธีแล้ว หลวงพ่อก็ไปลงมือทำ ก็ไม่สงสัย ก็ไม่สงสัยว่าศาสนาพุทธเป็นอย่างไร ไม่สงสัย ฉะนั้นขอให้พวกเรามีความสุข มีความเจริญ ด้วยการกระทำที่ดีของเราเอง ด้วยการงดการกระทำที่ไม่ดี ด้วยการเจริญการกระทำที่ดีไว้ แล้วชีวิตของเราจะดี ทั้งทางโลก ทั้งทางธรรม

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
อุทยานธรรมหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
23 ธันวาคม 2565