เรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง

เมื่อก่อนตอนหลวงพ่ออยากปฏิบัติ แล้วก็ไปอ่านพระไตรปิฎก คือตอนนั้นทำสมาธิเป็นแล้ว นั่งสมาธิแล้วก็ไปต่อไม่เป็น ฉะนั้นได้แต่สงบ ออกจากสมาธิมาประเดี๋ยวหนึ่งก็ฟุ้งซ่าน ก็กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้นล่ะ เดี๋ยวก็สงบ เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน ในใจก็รู้ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้ามีอะไรมากกว่านี้ มากกว่าที่เรารู้จัก แล้วหาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ตอนนั้นก็ไม่ได้มีครูบาอาจารย์ ท่านพ่อลีอะไรก็สิ้นไปแล้ว ก็พยายามไปอ่านตำรับตำราพระไตรปิฎก อ่านเสร็จแล้วก็งงๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ก็รู้ว่าในพระไตรปิฎกนั้นสอนธรรมะสำคัญๆ ภาคปฏิบัติเอาไว้เยอะ

อย่างสอนเรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อะไรพวกนี้ก็อยู่ในตำรับตำรา แล้วบอกต้องดูให้เป็นไตรลักษณ์ ทีนี้ทำอย่างไรเราจะเห็นไตรลักษณ์ มันไม่เห็น มันได้แค่คิดเรื่องไตรลักษณ์ แต่มันไม่เห็นไตรลักษณ์ หาทางปฏิบัติก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนสั้นๆ ท่านบอก “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” คีย์เวิร์ดจริงๆ ก็คือ “อ่านจิตตนเอง” แต่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีฤทธิ์เยอะ ท่านนั่งดูที่หลวงพ่อไปนั่งอยู่กับท่าน ท่านนั่งเงียบๆ เข้าสมาธิไป ท่านก็หลับตาไป

 

อ่านจิตตนเอง

ตอนนั้นเพิ่งเจอท่านครั้งแรก ท่านเพิ่งฉันข้าวเสร็จ เราก็นึกในใจผู้เฒ่าอายุ 95 แล้ว ฉันข้าวเสร็จแล้วหลับไปแล้ว ที่จริงท่านไม่ได้หลับ ท่านตรวจสอบเรา เสร็จแล้วท่านก็บอกว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” นี่ท่านรู้ด้วยว่าเราไปอ่านตำรามา แล้วก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ท่านเลยให้อ่านจิตตนเอง ทีนี้การจะอ่านจิตตนเองจะอ่านอย่างไร จิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะเอาไปอ่าน เอาอะไรไปอ่านก็ไม่รู้ จะอ่านอย่างไรก็ไม่รู้ รวมแล้วไม่รู้อะไรสักอย่างเลย

ทีนี้พอทำอะไรไม่ถูก ท่านให้อ่านจิตตนเองก็อ่านไม่เป็น อย่างเราจะอ่านหนังสือใช่ไหม มันก็ต้องมีหนังสือมาอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ทีนี้อ่านจิต จิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ก็เลย พอตกใจ ตอนนั้นตกใจว่าแย่แล้วไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรอีก ขนาดฟังครูบาอาจารย์แล้วก็ยังปฏิบัติไม่เป็นอีก พอตกใจแล้วก็ไม่ทำอะไร ตกใจแล้วก็ทำสมาธิก่อน หายใจเข้าพุธ หายใจออกโธไป ประเดี๋ยวหนึ่งจิตก็สงบ จิตสงบก็พิจารณา ใช้ปัญญาพิจารณาได้

อย่างทีแรกถ้าเราตกใจลุกลี้ลุกลน ปัญญามันไม่มี แก้ปัญหาไม่ตก แต่พอใจเราสงบลงมาก็พิจารณา ท่านให้ดูจิต จิตต้องอยู่ในร่างกาย จิตไม่อยู่ที่อื่น จิตไม่ได้อยู่ในท้องนา ไม่ได้อยู่ตามต้นไม้ ตอนนั้นนั่งรถไฟอยู่ จากสุรินทร์จะลงมาโคราช เห็นข้างทางเป็นท้องนา เป็นบ่อน้ำ เป็นต้นไม้ รู้ว่าจิตไม่ได้อยู่ข้างนอก จิตอยู่ในร่างกายเรานี่ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราจะเรียนธรรมะ เราจะไม่ให้เกินกายออกไป เราจะวนเวียนดูอยู่ในร่างกายนี้ ไม่ออกข้างนอกลืมร่างกายตัวเอง

อย่างคนส่วนใหญ่จิตไม่ยอมอยู่ที่ร่างกายหรือจิตใจตัวเอง มันจะไปข้างนอกตลอด เราเห็นคนอื่นมากกว่าเห็นตัวเอง เราฟังคนอื่นมากกว่าฟังใจของเราพูด ใจเราพูดแจ้วๆๆ เราไม่ฟัง เราไม่สนใจ อะไรเกิดขึ้นในร่างกายถ้าไม่เจ็บจริงๆ ก็ไม่รู้สึก อย่างใจลอย ยุงกัดอย่างนี้ก็ไม่รู้สึก เพราะฉะนั้นคนทั่วไปลืมกายลืมใจของตัวเองตลอด ทีนี้หลวงพ่อก็คิดว่าจิตมันต้องอยู่ในร่างกายนี้ ฉะนั้นเราจะคอยรู้สึก คอยรู้สึกเรื่อยๆ

ทีแรกพอดูลงไป จิตอยู่ในร่างกายแล้วมันอยู่ตรงไหนของร่างกาย ก็ดูลงไปที่ผม ตั้งแต่ผม ปลายผมจนถึงเท้า พื้นเท้า จากพื้นเท้าไล่ขึ้นมาปลายผม ดูไปทีละส่วนๆ ดูไปที่ผม พอผมสลายไปก็ไม่มีจิต ผมไม่ได้อยู่ที่จิต อยู่ที่ขนหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ อยู่ที่เล็บ ที่ฟัน ที่หนัง ที่เนื้อ ที่เอ็น ที่กระดูก หรือเปล่า ดูไปทีละส่วนๆ ก็ไม่เห็นจิต อ้าว จิตอยู่ในร่างกายแต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนในร่างกาย จิตอยู่ในกายแต่ไม่อยู่ตรงไหนของร่างกายเลย หาไม่เจอ ก็พิจารณาต่อไปอีก

หรือจิตอยู่ในเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็ทำสมาธิให้จิตมีความสุขขึ้นมา พอมีความสุขขึ้นมาเราก็ดูลงไปในความสุข พอความสุขหายไปก็ว่างๆ ไม่เห็นจิต ดูไม่ออกอีก จิตไปรู้เวทนาแต่ว่าเรานึกว่าจิตอยู่ในเวทนา ก็ไม่ใช่ เวทนาอย่างความสุขดับไป จิตก็ยังไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็น หรือว่าจิตอยู่ในความทุกข์ ความทุกข์ กำหนดจิตให้ทุกข์ไม่เป็น แล้วอาศัยทุกข์ของร่างกาย นั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิกเลย นั่งแล้วรถไฟมันก็โคลงไปโคลงมามันก็เมื่อย ดูลงไปที่ความปวดความเมื่อย พอจิตมีสมาธิ ดูไปสักพักหนึ่งความเมื่อยหายไป เราก็ไม่เห็นจิต เอ้ จิตก็ไม่ได้อยู่ในเวทนา

หรือจิตมันอยู่ในความคิดของเรา ในสังขาร ในความปรุงแต่งของจิต หลวงพ่อจงใจสวดมนต์ในใจ เจตนาสวดมนต์เลย พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ พอสวดอย่างนี้ พุทโธ สุสุทโธ เราเห็นกระแสของความคิดมันผุดขึ้นมา หัวสมองเราคิดคำพูดว่า พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว แต่เราเห็นกระแสของความคิดมันผุดขึ้นมาจากกลางอก ผุดขึ้นมา พอมันผุดขึ้นมาจากความว่างกลางหน้าอก ขึ้นมาแล้วก็ดับไปในความว่าง ทันทีที่เห็นกระแสของความคิดผุดขึ้นมา สติมันเกิดแล้ว แล้วมันดับให้ดู จิตมีสติรู้สภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จิตก็ทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา สมาธิก็เกิดขึ้น จิตก็กลายเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมา

ทีนี้ที่บอกพวกเราว่าให้ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตหลงไปคิดให้รู้ทัน ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ไม่สำคัญหรอก จะพุทโธ จะนะมะพะทะ สัมมาอะระหังอะไรมันก็อันเดียวกันเท่านั้นเอง พวกคำบริกรรมทั้งหลายหรืออารมณ์กรรมฐานทั้งหลายเป็นแค่เหยื่อล่อ เป็นเหยื่อตกปลา จิตของเราเป็นปลา เราจะเอาปลา เราไม่ได้เอาเหยื่อ ฉะนั้นถ้าถนัด ใจของเราคือปลา ใจตัวนี้ ปลาตัวนี้ มันชอบเหยื่อชนิดไหน เอาเหยื่อชนิดนั้นมาล่อมัน ทีนี้หลวงพ่อตอนนั้นใช้เหยื่อล่อก็คือใช้การคิดบทสวดมนต์เป็นเหยื่อล่อจิต ท่องตั้งยาว พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว บางท่านท่านท่องพุทโธคำเดียวก็พอแล้ว หรือนะมะพะทะคำเดียวก็พอ สัมมาอะระหังอะไรสั้นๆ จุดสำคัญก็คือเมื่อเรามีอารมณ์กรรมฐานขึ้นมาแล้ว ให้เรารู้ทันจิตใจของตัวเอง

 

รู้ทันจิตใจของตัวเอง รู้อย่างไร

การรู้ทันจิตใจของตัวเองรู้อย่างไร อย่างเราท่อง “พุทโธ สุสุทโธ” หรือเราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก แล้วพอจิตหนีไปคิดเรื่องอื่นให้รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งให้รู้ทัน ในความเป็นจริงแล้วถ้าหากจิตรู้สภาวธรรมอันใดอันหนึ่งได้ แล้วก็จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่เฉพาะว่าต้องหลงแล้วรู้ โกรธขึ้นมาแล้วเรามีสติรู้ว่าเมื่อกี้นี้โกรธ สติเกิดขึ้นทันที สติที่รู้กาย รู้ใจ รู้รูป รู้นาม ทันทีที่เกิดตัวนั้นเรียกว่าสัมมาสติ ถ้าสติทั่วๆ ไป เดินไม่ตกถนน หรือเวลาเราอยากทำบุญใส่บาตรอย่างนี้ ใจเราปลาบปลื้มแล้วไม่รู้ว่าใจกำลังมีความสุขที่ได้ทำบุญอะไรนี่ อันนี้มีสติ แต่เป็นสติธรรมดา ไม่ทำให้เกิดตัวผู้รู้หรอก สติที่ทำให้เกิดตัวผู้รู้เป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือสติที่รู้กายรู้ใจของตัวเอง

ฉะนั้นบางคนฝึกรู้สึกร่างกายเคลื่อนไหว สายหลวงพ่อเทียนเขาฝึกเคลื่อนไหว แล้วถ้าเวลาฝึกเคลื่อนไหว แล้วถ้าจิตเราเข้าไปอยู่ในมือ เราไปเพ่งใส่มือ จิตผู้รู้จะไม่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้รู้รูป แต่เราไปเพ่งมือ หรือเราขยับมือแล้วจิตเราหนีไปคิด เราไม่รู้ เราก็หลง แต่ว่าถ้าเราขยับมือจิตไหลไปอยู่ที่มือ เรารู้ทัน จิตก็จะตื่นขึ้นมา เราขยับมือจิตหนีไปคิด เรารู้ทันว่าตอนนี้หลงคิดแล้ว จิตก็จะตื่นขึ้นมา

ตอนนี้จะต่างกับที่หลวงพ่อสวดมนต์นิดหนึ่ง อันนั้นสวดมนต์ด้วยความจงใจ แต่มีสติในการสวด แล้วมันก็เห็นกระแสของความคิด ตัววิตกมันผุดขึ้นมา จิตมันเป็นคนรู้ พอตัววิตกผุดขึ้นมันเป็นสภาวธรรมตัวหนึ่ง แล้วจิตไปเห็น จิตก็เกิดเป็นตัวผู้รู้ขึ้นมาทันทีเลย พอสติรู้ทันสภาวะ ผู้รู้ก็จะเกิดขึ้น คือจิตจะทรงสัมมาสมาธิอัตโนมัติขึ้นมา

ทีนี้พวกเราดูสภาวะที่เราดูได้ อย่างหลวงพ่อนั่งสมาธิแต่เด็ก ดูสภาวะได้เยอะ แต่ไม่รู้ความสำคัญของมัน ทีนี้ตอนนั้นเจตนา “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” เห็นสภาวะของความคิดผุดขึ้นมา ไม่ใช่เห็นเรื่องที่คิด ถ้าเราท่อง “พุทโธ สุสุทโธ” แล้วใจเราไปอยู่กับคำท่องนั้น ตัวผู้รู้ยังไม่เกิด ต้องรู้สภาวะ

บทสวดบทบริกรรมอะไรพวกนี้มันเป็นแค่เหยื่อตกปลาเท่านั้นเอง แล้วมันเป็นอารมณ์ที่เรียกว่า “อารมณ์บัญญัติ” เป็นเรื่องราวที่คิดขึ้นเอง ไม่ได้มีจริง ใจเราคิดขึ้นมาเลื่อนลอย ไม่มีอะไรเลย ความคิดทั้งหลาย เรื่องราวที่คิดทั้งหลายไม่มีสาระแก่นสาร เพราะฉะนั้นเรารู้เรื่องที่คิดไม่ทำให้จิตผู้รู้เกิด แต่ถ้าเรารู้ว่าจิตมันคิด เราเห็นกระแสความคิดผุด เห็นสภาวะแล้ว อันนี้จิตผู้รู้ถึงจะเกิดขึ้น ตัวนี้จะยากนิดหนึ่งเพราะละเอียด

ของเราก็หัดที่ง่ายกว่านี้หน่อย ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วจิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ อย่างบางคนเขาฝึกหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ เขาทำกรรมฐานอย่างขยับมือหรือท่องพุทโธไปก็ได้ อะไรก็ได้ เสร็จแล้วพุทโธๆๆ พอจิตมันหลงมันจะไปคิดเรื่องอื่น มันไม่คิดพุทโธแล้ว แล้วเราเคยพุทโธจนชำนาญ แล้วพอมันหนีพุทโธไปสักพัก มันก็จะกลับมานึกได้ว่าลืมพุทโธ ตรงที่มันรู้ทันว่ามันหลงแล้วมันลืมพุทโธ ตรงนั้นจิตผู้รู้มันจะเกิด เพราะมันจะเห็นรู้ทันว่าจิตเมื่อกี้หลงไปแล้ว มันลืมพุทโธไปแล้ว นี่จิตที่หลงไปเรียกว่า “อุทธัจจะ” จิตฟุ้งซ่าน เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่ง

อย่างที่หลวงพ่อบริกรรมแล้วผุดขึ้นมา ตัวนั้นเป็นวิตก ก็เป็นสภาวธรรมอีกตัวหนึ่ง สภาวธรรมมีตั้งเยอะตั้งแยะ ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมมีจำนวนมาก ฉะนั้นถ้าเราเห็นตัวไหนได้สักตัวหนึ่ง ก็จะเกิดจิตผู้รู้ได้ อย่างบางคนขี้โมโหคอยสังเกตตัวเองเรื่อยเลย พอโกรธแล้วก็รู้ทันว่าโกรธแล้วอะไรอย่างนี้ หัดสังเกตไป ทีแรกดูไปไม่หายโกรธเพราะสติยังไม่เกิด มันแค่จงใจมีโลภะเจืออยู่ที่จะดู สติยังไม่ได้เกิดจริง ไปดูเห็นความโกรธอะไรนี่ ไม่ใช่จิตที่เป็นกุศลที่แท้จริงหรอก

ตรงที่เราหัดทีแรกก็หัดความโกรธเกิดแล้วรู้ๆๆ มันยังไม่รู้จริง มันก็จะเห็นความโกรธยาวไม่จบเสียที ไม่หายโกรธเสียที หัดดูไปเรื่อยๆ ไม่เสียหายอะไรหรอก ถึงจุดหนึ่งจิตมันจำสภาวะของความโกรธได้ เรียกว่ามันได้ถิรสัญญาของโทสะแล้ว คือมันจำสภาวะของโทสะได้ โทสะเวลาเกิดมันมีความรุนแรง เร่าร้อน ล้างผลาญ มุ่งทำลายล้าง มุ่งผลักอารมณ์ทั้งหลายออกไปให้ห่างๆ อย่างเราเห็นหน้าคนนี้เราเกลียด เราอยากผลักให้กระเด็นไป เอามือผลักยังสั้นไปอยากเอาเท้ายัน นี่ลักษณะของโทสะ ถ้าลักษณะของโลภะของราคะจะดึงเข้าหาตัว อย่างเราเห็นแมวน่ารัก อยากอุ้ม อยากดึงเข้ามา ฉะนั้นโทสะจะผลัก ผลักอารมณ์ ราคะมันดึงอารมณ์

หัดดูสภาวะเรื่อยๆ การที่เราหัดดูสภาวะ ต่อไปจิตมันจำได้ ถ้าจิตมันมีแอนตี้ ไม่เอาอารมณ์ ต่อต้านอารมณ์ นี่ตัวนี้โทสะ ทีแรกมันยังเจือการคิด สติตัวจริงยังไม่เกิด ทีนี้พอเราเห็นจิตที่มีโทสะหลายๆ ที ซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตมันจำสภาวะของโทสะได้ พอโทสะเกิด สติมันเกิดอัตโนมัติ โทสะจะดับ ดับก่อนที่สติจะเกิด ต้องจำกฎของธรรมะไว้ข้อหนึ่ง กุศลกับอกุศลเกิดร่วมกันไม่ได้ สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล สติเกิดเฉพาะจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตเรามีโทสะอยู่ แล้วเราบอกดูแล้วไม่ขาด เพราะเราไม่ได้มีสติจริง แต่ถ้ามีสติจริง สติมันทำงานขึ้นมาปุ๊บ โทสะมันดับทันทีเลย จิตดวงใหม่เป็นจิตที่ไม่มีโทสะ แล้วมันก็ย้อนไปรู้ว่าจิตเมื่อกี้มีโทสะ

การดูกายกับการดูจิตเลยต่างกัน ถ้าดูกายเขาเรียกปัจจุบันขณะ นี่กำลังยกมือ กำลังกำมือ กำลังหันขวาหันซ้าย มีคำว่า “กำลัง” ในร่างกายนี้คือดูเรียลไทม์ได้ แต่การดูจิตดูใจดูนามธรรมเราจะดูตามหลัง แต่ตามหลังแบบกระชั้นชิด เมื่อวานโกรธ วันนี้รู้ว่าโกรธ อันนี้ไม่ใช่แล้ว แต่ถ้าโกรธเกิดขึ้น แล้วสติผุดขึ้นมา มันเห็นความโกรธมันหายไปแล้ว มันดับไปแล้ว ตรงจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นนี่ไม่มีความโกรธ แล้วจิตดวงนี้ล่ะเป็นจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา เพราะสติ สัมมาสติเกิดขึ้นเมื่อไร สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยเสมอ

เพราะฉะนั้นเวลาเราทำสมาธิ คนส่วนใหญ่ก็คิดจะไปมุ่งทำสมาธิ สมาธิมีหลายแบบ ฝรั่งเขาเรียกสมาธิแบบที่เราพุทโธๆ แล้วสงบ หายใจแล้วสงบ เป็นการน้อมใจเข้าหาความสงบ เขาเรียก “Mantra Meditation” Mantra คือมนตรา Meditation ส่วนสมาธิที่อาศัยสัมมาสติเกิดขึ้นเป็น “Mindfulness Meditation” ของเขามีคำที่แยกกัน 2 ตัวไม่เหมือนกัน

ของเรา เราก็เรียกสมาธิ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าสมาธิมีหลายแบบ พอเราจะนั่งสมาธิเราก็ไปบังคับจิตให้นิ่งๆ น้อมจิตให้นิ่ง ทำใจให้เคลิ้มๆ พอบอกทุกคนนั่งสมาธิ ทำใจให้เบลอๆ เคลิ้มๆ ครึ่งหลับครึ่งตื่น แล้วบอกสมาธิ ไม่ใช่ ไม่ควรทำอย่างยิ่งเลย อันนั้นเป็นฝึกให้จิตถูกโมหะครอบ จิตจะต้องฝึกให้มันตื่น ไม่ใช่ฝึกให้มันหลับ เพราะปกติมันก็หลับอยู่แล้ว มันไม่เคยตื่น มันไม่เคยตื่น มันตื่นแต่ร่างกาย แต่จิตมันฝันตลอดเวลาเลย จิตที่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดคือจิตที่ฝันอยู่ เพราะฉะนั้นมันเป็นจิตที่หลับ ไม่ใช่จิตที่ตื่น จิตที่ตื่นเป็นจิตที่หลุดออกจากโลกของความคิดได้ คนละแบบกัน

 

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันใจตัวเองไว้

ยากไปไหม จะเอาอย่างง่ายก็ได้ ไม่ต้องละเอียดขนาดนี้ ทำกรรมฐานไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ง่ายไหมอย่างนี้ แน่ใจนะว่าง่าย รู้ทันจิตตัวเอง รู้อย่างไร จิตอยู่ตรงไหน ที่หลวงพ่ออธิบายละเอียดเพราะบางคนเขาสงสัยเยอะ ต้องแจกแจงละเอียด บางคนไม่ต้องการความละเอียด ต้องการเอาง่ายๆ ที่สุด พวกจะกินอาหารแล้วก็เตรียมอาหารอย่างประณีตนี่พวกหนึ่ง แล้วพวกฟาสต์ฟู้ดนี่เป็นอีกแบบหนึ่ง พวกเราพวกมักง่าย จะเอาง่ายไว้ก่อน เอาเร็วไว้ก่อน อดทนหน่อยเรียนเพื่อตัวเอง อย่าท้อใจ ใหม่ๆ ยากทุกคนล่ะ

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันใจตัวเองไว้ เช่นเราทำกรรมฐานเราหายใจเข้าพุธ ออกโธ แล้วเรารู้ทันจิตตรงไหน ถ้าจิตเราไหลไปอยู่ที่ลมหายใจให้รู้ทัน จิตก็จะดีดผ่างขึ้นมาตั้งมั่นขึ้นมา ไม่จมลงไปในลมหายใจ หรือหายใจอยู่จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นรู้ทัน นี่จิตฟุ้งซ่านแล้ว ไม่ใช่รู้เรื่องที่คิด แต่รู้ว่าจิตไปคิด รู้เรื่องที่คิดมันรู้อยู่แล้วล่ะ แต่รู้ว่าจิตกำลังคิดไม่ค่อยมีใครรู้หรอก ฉะนั้นถ้าเราหายใจแล้วจิตไปคิด รู้ว่าจิตไปคิด จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด ถ้าจิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ อันนี้เป็นจิตเพ่ง เรามีสติรู้ว่าจิตไปเพ่ง

ทำไมมันเพ่ง มันมีโลภะอยู่ข้างหลัง มันอยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี ก็ถลำลงไปเพ่ง จิตมันมีกิเลส ที่นั่งเพ่งๆ นี่กิเลสทั้งนั้น ระวัง! ทีนี้พอเรารู้ทัน เฮ้ย จิตนี้ไปเพ่ง มันรู้สภาวะที่จิตถลำไปจ้อง จิตที่ถลำไปจ้องจิตที่เพ่งนั้นดับ จิตที่รู้จะเกิดขึ้น หรือเราหัดดูความรู้สึกในใจ คนไหนขี้โมโหก็คอยสังเกตตัวเอง จิตโกรธแล้วรู้ โกรธแล้วรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปพอมันโกรธมันไม่เจตนาจะรู้ สติมันเกิดเอง ความโกรธนั้นจะขาดสะบั้นไปเลย แล้วจิตผู้รู้จะเกิดขึ้นแทน

จิตผู้รู้นี่ถามว่าจะมีกิเลสเจือปนไหม ไม่มี เพราะจิตผู้รู้นี่อภิธรรมเรียกว่า “มหากุศลจิต” แต่ไม่ใช่มหากุศลจิตธรรมดา เป็นมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต ประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกัง ไม่เจตนาให้เกิด ไม่ต้องบิวด์ให้เกิด เกิดอัตโนมัติ ถ้ากุศลตัวไหนต้องบิวด์ให้เกิด เป็นกุศลที่มีแรงอ่อน โทสะหรือราคะหรือกิเลสตัวไหนที่ต้องบิวด์ให้เกิด ก็เป็นกิเลสที่มีกำลังอ่อน

อย่างบางคนขี้โมโห ไม่ต้องบิวด์เลย มันเดินเหยียบเงาเรา เราก็โกรธแล้ว นี่มันจะโกรธง่ายเห็นไหม ไม่ต้องบิวด์ อย่างนี้แสดงว่ากิเลสมันรุนแรง เป็นเกิดแบบอสังขาริกัง ไม่ต้องบิวด์ บางคนเพื่อนชวนไปใส่บาตรหรือชวนมาฟังธรรม ลังเล จะตื่นดีไหมหรือจะนอนดี วันอาทิตย์ของเราหายาก นอนบิดขี้เกียจอีก 3 ตลบน่าจะดี บิดไปบิดมาแถมอีกนิดหนึ่ง แถมไปแถมมาไม่ได้ฟังหรอก หรือต้องบิวด์กันนาน เพื่อนโทรมาเร่ง มาได้แล้ว เร่งแล้วเร่งอีก มาๆ ฟังธรรม เห็นไหมต้องบิวด์นาน กุศลนี่มีกำลังอ่อน กุศลอย่างนี้มีกำลังอ่อน

จิตที่เป็นผู้รู้นี่เป็นกุศลที่แข็งแรง เป็นกุศลที่เขาเรียก “มหากุศลจิต” เป็นจิตที่มีเป็นกุศล “ญาณสัมปยุต” ประกอบด้วยปัญญา “อสังขาริกัง” ไม่ต้องบิวด์ให้เกิด แล้วยังมี 2 ดวง จิตผู้รู้บางดวงประกอบด้วยความสุข บางดวงเป็นอุเบกขา เพราะฉะนั้นในบรรดาจิตจำนวนหลายสิบดวง จิตผู้รู้นี่มี 2 ตัว คือจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา เกิดเอง ประกอบด้วยความสุขในใจ หรือประกอบด้วยอุเบกขาในใจ ไม่มีทุกข์

ถ้าจิตเรามีความทุกข์ขึ้นมา ไม่ต้องถามว่ากุศลหรืออกุศล จิตที่มีความทุกข์นี่เป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะเสมอ เป็นกฎของธรรมะเลย เพราะฉะนั้นอย่างหงุดหงิดนี่ วันนี้เป็นกุศลหรืออกุศล หงุดหงิดๆ ไม่ต้องถามเลย อกุศลแน่นอน แล้วเป็นอกุศลตระกูลโทสะ วันนี้มีความสุข จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ใครว่าเป็นกุศล ยกมือไหมเวลามีความสุข เออ เข้าใจผิดนะ เวลาจิตมีราคะก็มีความสุขได้ เห็นไหมไปเดินดูดอกไม้ แหม่ สวย ชอบอะไรอย่างนี้ มีความสุข ฉะนั้นจิตที่มีราคะจะมีเวทนาได้ 2 อย่าง มีความสุขกับอุเบกขา

หัดดูนะหัดดูไป จิตมีโทสะขึ้นมาก็ดูไป หรือดูโทสะไม่ออก ดูจิตที่สุขที่ทุกข์ก็ได้ ดูที่เวทนาของจิต โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนาคือความสุขของจิตใจ โทมนัสเวทนาคือความทุกข์ทางใจ ถ้าเราพูดว่าสุขทางใจทุกข์ทางใจ พูดภาษาไทยง่ายๆ แต่ถ้าทางวิชาการเขาแยก ทุกขเวทนาคือทุกข์ทางกาย โทมนัสเวทนาคือทุกข์ทางใจ สุขเวทนาคือสุขทางกาย โสมนัสเวทนาคือสุขทางใจ อุเบกขาเวทนาคืออยู่ทางใจแล้ว

 

สภาวะที่ดูง่าย

ถ้าเราดูสภาวะอะไรไม่เป็น หลวงพ่อแนะนำให้ดูสภาวะชุดหนึ่งที่ดูง่ายคือ ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตทุกดวงจะต้องมีเวทนาประกอบด้วยเสมอ กระทั่งจิตที่เป็นของพระอรหันต์ มหากิริยาจิตก็ยังมีเวทนา ฉะนั้นจิตทุกดวงมีเวทนา เราหัดอ่านสิ สังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ ตอนนี้จิตใจเรามีความทุกข์ให้รู้ ตอนนี้จิตใจเราสุขให้รู้ ตอนนี้จิตใจเราเฉยๆ ให้รู้ ทั้งวันรู้มันอยู่แค่นี้ ดูสิว่ามันจะไม่ได้มรรคผล หัดรู้ไปเรื่อยๆ ทำไมมันจะไม่ได้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้จิตสุข หรือจิตทุกข์ หรือจิตเฉยๆ ใครมีความสุขบ้างตอนนี้ ใครมีความทุกข์บ้าง ใครเฉยๆ บ้าง เฉยๆ เยอะ อุเบกขา แต่ที่เยอะมากกว่านั้นคือไม่รู้ ทำไมไม่รู้ เพราะมัวแต่ฟังหลวงพ่อเพลินไปเลยอ่านใจตัวเองไม่ออก

ฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์บอกให้อ่านจิตตนเองไม่ใช่เรื่องยากหรอก อ่านง่ายๆ ที่สุดก็อ่านเวทนาทางใจ จิตเรามีความสุขเรารู้ จิตเราทุกข์เรารู้ จิตเฉยๆ เรารู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ แล้วต่อไปเวลาเรานั่งๆ อยู่แล้วใจเราไปคิดถึงศัตรูเรา ใจเราเกิดโทสะ มันจะแน่นขึ้นมา มันมีความทุกข์ขึ้นมาทันทีเลย หรือเราอยากนั่งสมาธิ พอคิดถึงการนั่งสมาธิก็ลงมือนั่ง แล้วใจเราก็แน่นๆ ขึ้นมาเลย อันนี้จิตเป็นอกุศลแล้ว

ทำไมนั่งสมาธิแล้วจิตเป็นอกุศล ก็มันเริ่มด้วยโลภะ มันเริ่มด้วยโลภ มันอยากสงบ มันอยากดี อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี เต็มไปด้วยคำว่า “อยาก” หัดดูไปง่ายๆ หัดดูไปเรื่อย ใจเราสุขก็รู้ ใจเราทุกข์ก็รู้ ใจเราเฉยๆ ก็รู้ มีอีกตัวหนึ่ง บางทีหลวงพ่อก็สอนบางคนให้ดู เมื่อวานยังสอนพระที่วัดให้ดูเลย ดูอยาก ตัวอยากคือตัวโลภะ ตัวตัณหา เวลาที่ใจเราเกิดความอยากขึ้นมาให้รู้ ไม่ว่าอยากอะไร ทีแรกต้องอยากแรงๆ ถึงจะเห็น นี่ดูมันตัวเดียว ดูตัวอยากนี่ล่ะ

เราก็เห็นจิตทั้งวันเต็มไปด้วยความอยาก มีอยากแล้วก็มีไม่อยาก มีอยากแล้วก็มีไม่อยาก ดูง่าย ถ้าดูสภาวธรรมจำนวนมากเลย 52 ตัวอะไรนี่ ตาย ดูกันไม่ไหว เอาตัวที่เราถนัด ตัวที่หลวงพ่อว่าดูง่ายๆ อย่างตัวสุข ตัวทุกข์ ตัวเฉยๆ ขณะนี้สุขก็รู้ ขณะนี้ทุกข์ก็รู้ ขณะนี้ใจเราเฉยๆ ก็รู้ มีอยู่ 3 อันเอง หัดรู้หัดดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเวลาความรู้สึกเกิดขึ้นในใจเรา มันเปลี่ยนแปลงขึ้นมาปุ๊บ เราจะเห็นเองเลย พอตาเราเห็นรูป มีผัสสะ ตามองเห็นรูปแล้วแปลความหมายได้ นี่ดอกไม้สวย มีความสุขที่ได้เห็นบรรยากาศที่ดี ดอกไม้สวยงาม ใจเกิดความสุขขึ้นมา

ที่จริงตอนที่ตาเห็นดอกไม้ยังไม่ได้มีความสุข ถ้าเราละเอียดพอตอนนั้นจะเป็นอุเบกขา แต่พอมีการแปลความหมาย นี่ดอกไม้ นี่ทุ่งหญ้า นี่มีกระไอหมอกตอนเช้าแหม่สวย พระอาทิตย์เพิ่งจะทอแสงอ่อนๆ เห็นแล้วมีความสุข นี่ความสุขเกิดตามหลังการคิดมา พอความสุขเกิดขึ้นมันจะมีราคะแทรก แทรกตามสุขเวทนา มันจะมีราคะแทรก พอมีราคะแทรกมันก็จะบงการให้เราเกิดความอยาก อยากได้ อู้ย ดอกไม้สวยอยากได้แล้ว อยากจะเด็ดมา อันนี้อยากได้มา ไปแอบเด็ดมาแล้วก็ต้องรักษาหวงแหน นี่ก็เป็นอยากรักษาเอาไว้ แล้วเอาดอกไม้มาถือ มีหนอนตัวเบ้อเร่อเลยซ่อนอยู่ในดอกกุหลาบ คราวนี้ไม่เอาแล้ว โยนทิ้ง อยากให้มันไปไกลๆ นี่อยากอีกแล้ว คืออยากให้มันหมดไปสิ้นไป

อยากมันเลยมี 3 อยาก อยากได้มา อยากรักษาเอาไว้ อยากให้มันหมดไปสิ้นไป เห็นไหมมี 3 ตัว คอยอ่านใจของตัวเอง ใจเราอยากได้มา อยากได้อะไรก็รู้เอา ทีแรกก็รู้แต่ของหยาบๆ ต่อไปละเอียด แค่อยากฟัง แค่อยากดู แค่อยากฟัง แค่อยากเข้าใจ ก็อยาก อยากแล้ว ฟังหลวงพ่อเทศน์อยากเข้าใจไหม ให้รู้สิแล้วจะเข้าใจ เข้าใจอะไร เข้าใจตัวเอง เข้าใจธรรมะ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ที่หลวงพ่อเทศน์ๆ ให้เราฟัง แค่ Guideline ให้พวกเราเท่านั้นเอง แล้วเราต้องเห็นธรรมะของจริงในใจของเราเอง

ตอนนี้ใครเห็นสุข ทุกข์ เฉยๆ บ้าง อันใดอันหนึ่ง ใครดูเป็นแล้ว ใครพอดูได้ เห็นไหมไม่เห็นมีกระบวนท่าอะไรยากเย็นที่จะรู้เลย มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุขเท่านั้นเอง คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะรู้ อย่างพอมีความสุขเห็นดอกไม้แล้วมีความสุขก็ดูแต่ดอกไม้ ไม่ดูว่าใจกำลังมีความสุข หรือใจกำลังมีราคะ มันไม่ดู มันไม่ใช่ว่าดูไม่ได้ ดูได้ทุกคนล่ะ

อย่างร่างกาย ร่างกายนั่งอยู่รู้สึกไหม ต้องทำใจให้สงบก่อนไหมถึงจะรู้ว่าร่างกายนั่ง ร่างกายส่ายหัวดุกดิกรู้ไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย เพราะฉะนั้นหัดดูไปเรื่อยๆ ดูกาย ร่างกายหายใจรู้ ร่างกายเคลื่อนไหวก็รู้ ร่างกายอยู่ในอิริยาบถอะไรก็รู้ หัดรู้ไปก็ได้ หรือรู้เวทนา แต่เวทนาจะแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ เวทนาทางกายดูยาก ถ้าไม่ทรงฌาน สติแตก ทนเจ็บไม่ไหว

พอหลวงพ่อหยุดนิ่งสังเกตไหมจิตของเราก็เปลี่ยน มันพลอยนิ่งตามไปด้วยรู้สึกไหม ทีแรกฟังแล้วเพลินมีความสุข ส่วนใหญ่ตอนนี้มีความสุขแล้ว รู้สึกไหม สบาย วันนี้ได้ฟังธรรมะแล้วได้บุญแล้ว สบาย ตายไปยมบาลถามมีความดีอะไรบ้าง มาฟังเทศน์ ยมบาลถามต่อว่าเทศน์เรื่องอะไร เออๆ เดี๋ยวขอคิดก่อน เห็นไหมจิตมีความสุขรู้สึกไหม

 

การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ

ยากไหมที่จะรู้ว่ามีความสุข ไม่เห็นยากตรงไหนเลย ที่ส่ายหัวดุกดิกๆ ยากไหมที่จะรู้ว่าร่างกายเคลื่อนไหว ฉะนั้นจริงๆ แล้วหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดที่สอนหลวงพ่อประโยคแรกเลย “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” การปฏิบัติมันยากตรงไหน ขยับก็รู้สึกอย่างนี้ ไม่เห็นจะยากอะไร ก็รู้ด้วยจิตธรรมดานี่เอง หรือจิตใจเราสุข จิตใจเราทุกข์ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย มันละเลยที่จะรู้ ถ้าหัดสังเกต หัดรู้เรื่อยๆ ก็ไม่ยากหรอก

หรือจิตใจเรามีความอยากเกิดขึ้นอย่างนี้ เราก็รู้ตอนนี้มันอยาก มันอยากพูดแล้ว บางคนอยากพูด เคยเจอไหมพวกอยากพูด แล้วบอกหยุดก่อน หยุดก่อน หยุดไม่ได้ จะตายละต้องพูด ความอยากพูดมันล้นๆๆ บอกอย่าเพิ่งพูด ไม่ไหว แน่นไปหมดเลย พอปล่อยให้พูด ไปเรื่อยเลย ไม่มีสติ ยากไหมที่จะรู้ว่าอยาก ภาษาไทยก็ฟังยาก ให้ต่างชาติฟัง “ยาก” กับ “อยาก” มันไม่ยากหรอก หลวงปู่ดูลย์บอกการปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ

อย่างขณะนี้จิตใจเราจะมีความสุขเป็นส่วนใหญ่ จะมีพวกข้างในขมวด หลวงพ่อนี่พูดเรื่องอะไร ให้รู้ว่าสงสัย เห็นไหมมันมีสภาวะทั้งนั้นล่ะ งง งงอย่าไปมัวแต่คิดหาคำตอบ งงรู้ว่ากำลังงง งงรู้ว่ากำลังสงสัยอยู่ ทำไมเราต้องคิดเยอะ เพราะเราอยากเข้าใจ เห็นไหมมีอยากนำหน้าแล้วเห็นไหม ถ้ารู้เข้าไปที่อยาก จะคิดเรื่องอะไรไม่สำคัญ รู้ว่าอยากนี่ จบ หัดดูสภาวะ สรุปก็คือไปหัดดูสภาวะที่เราถนัด

อย่างหลวงพ่อได้จิตที่เป็นผู้รู้ทีแรก ตอนเด็กไม่นับ อันนั้นได้มาจากการนั่งสมาธิ ทีนี้ตอนที่เจอหลวงปู่ดูลย์แล้วมานั่งสังเกต จนกระทั่งจิตมันผุด ผุดคำสวดมนต์ขึ้นมา จิตมันสวดมนต์ สมองเราก็คิด “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” แต่กระแสความคิดนี่ผุดขึ้นจากกลางอก ตัวนี้เรียกว่าวิตก นี่ก็เป็นสภาวะตัวหนึ่ง เรารู้ทันปุ๊บ จิตก็กลายเป็นผู้รู้เลย พอจิตเป็นผู้รู้แล้ว หลวงพ่อก็ เอ๊ะ ตัวนี้ของเก่า เรามีมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตั้งแต่ 10 ขวบก็ได้มาแล้วตัวนี้ แต่ได้จากการนั่งสมาธิ

ฉะนั้นตัวรู้เกิดจาก 2 แบบ แบบหนึ่งจากการนั่งสมาธิ แบบมีสติไม่นั่งเคลิ้ม นั่งแล้วมีสติ จิตมันละวิตกวิจารทวนกระแสเข้ามาที่จิต จิตจะเกิดเป็นผู้รู้ขึ้นมา ผู้รู้ตัวนี้จะทรงอยู่ได้หลายวัน มีกำลัง ส่วนวิธีอีกวิธีหนึ่งของพวกสมาธิสั้น คือพวกเรานี่ล่ะ อาศัยรู้สภาวะ สภาวธรรม อย่างโลภโกรธหลงเป็นสภาวะ สุขทุกข์เป็นสภาวธรรม ความอยากอย่างนี้ก็เป็นตัวโลภก็เป็นสภาวธรรม

ฉะนั้นหัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ หัดไปเรื่อยๆ เริ่มต้นเรารู้คู่ใดคู่หนึ่งก็พอแล้ว เช่น จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตโลภกับจิตไม่โลภ ตอนนี้อยาก ตอนนี้เฉยๆ อย่างนี้ หัดดูสิ่งที่เป็นคู่ๆ ตอนนี้สุข ตอนนี้ทุกข์ ตอนนี้สุข ตอนนี้เฉยๆ อันนี้ก็เป็นเซ็ตหนึ่งมี 3 ตัว สุข ทุกข์ เฉยๆ หัดเรียนกรรมฐานเรียนเซ็ตเดียวพอ คู่เดียวพอแล้ว อย่างเห็นจิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ทั้งวันก็มีแต่จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ

ถ้าเราดูตัวอยากทั้งวันก็มีแค่ตอนนี้อยากตอนนี้ไม่ได้อยาก ก็มีแค่นี้เอง หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นว่าจิตเราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เดี๋ยวเหวี่ยงซ้าย เดี๋ยวเหวี่ยงขวา เดี๋ยวอยาก เดี๋ยวไม่อยาก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธ ตรงที่มันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา มันกำลังสอนไตรลักษณ์เรา จิตอยากก็ไม่คงที่ จิตไม่อยากก็ไม่คงที่ เห็นไหมจิตโกรธก็ไม่คงที่ จิตไม่โกรธก็ไม่คงที่ ฉะนั้นเวลาเรียนธรรมะ เรียนเป็นคู่ คู่เดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องเรียนเยอะหรอก

ต่อไป assign ให้ไปอ่านหนังสือที่หลวงพ่อเขียนไว้เล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือชื่อ “เรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง”

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
16 กุมภาพันธ์ 2568j