ขอโอกาสพระเดชพระคุณท่านเจ้าคณะจังหวัดครับ วันนี้พวกเรามาฟังธรรมในงานทำบุญถวายพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ ก็ถือเป็นโอกาสที่พวกเราชาวพุทธจะได้ฟังธรรม เวลาฟังธรรมสละเวลาช่วงนี้เสีย งานอื่นๆ วางไปก่อน แล้วก็ไม่ต้องพนมมือก็ได้ เดี๋ยวจะเมื่อย แต่ว่าไม่ใช่พอเอามือลงก็คุยต่อเลย ไม่คุย โอกาสที่จะได้ฟังธรรมมีไม่มากหรอก ในศาสนาของเราไม่เหมือนของคนอื่นเขา ศาสนาอื่นๆ เขาอาศัยศรัทธาเชื่อว่ามีพระเจ้า แล้วก็ปฏิบัติไป ประพฤติปฏิบัติอะไรแต่ละศาสนาก็แตกต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายก็คือให้พระเจ้าพอใจ แล้วก็ไปอยู่กับพระเจ้า
แต่พวกเราชาวพุทธ คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เทวนิยม ไม่ได้เน้นเรื่องเทวดาเรื่องพระเจ้าอะไรทั้งสิ้น ศาสนาพุทธนั้นท่านให้ความสำคัญกับมนุษย์ ว่ามนุษย์นี่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ต้องใช้ความสามารถของตนเอง ไม่ใช่ร้องขอให้ใครช่วย กระทั่งร้องขอให้พระพุทธเจ้าช่วยก็ไม่ถูก พระพุทธเจ้าก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ ท่านช่วยเราได้แค่บอกว่าเส้นทางที่จะไปสู่ความพ้นทุกข์นั้นไปอย่างไร จะเดินในเส้นทางนี้จะทำอย่างไร ท่านบอกเราได้แค่นี้ ส่วนจะเดินหรือไม่เดินอยู่ที่ตัวพวกเราเอง
ศาสนาพุทธเริ่มต้นคือเรียนรู้ทุกข์
ศาสนาพุทธประกาศมาตั้ง 2,600 ปี นาน ตกมาอยู่ในบ้านในเมืองเรามันก็ปนเปื้อน ปนเปื้อนกับศาสนาดั่งเดิมดึกดำบรรพ์ที่คนโบราณนับถือกันมา คือศาสนาผี แล้วก็มีศาสนาพราหมณ์ฮินดูอะไรอย่างนี้ตามเข้ามาด้วย ฉะนั้นเราชาวพุทธจำนวนมากไม่สามารถแยกได้ว่าอันไหนคือคำสอนในพระพุทธศาสนาหรือคำสอนที่ปนเปื้อน ถามว่าศาสนาคำสอนที่ปนเปื้อนเสียหายมากไหม บางเรื่องมันก็ดี อย่างเรานับถือผีนับถือในแง่ของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษมีบุญคุณกับเรา เราชาวพุทธพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บอกให้เราอกตัญญู
แต่ว่าเรารู้อย่างหนึ่งว่าไม่มีใครช่วยเราให้พ้นทุกข์ได้ เราต้องช่วยตัวเอง เส้นทางเดินไปสู่ความพ้นทุกข์คืออริยมรรคมีองค์ 8 ประการ มรรคมีหนึ่งแต่มีองค์ประกอบ 8 ประการ ย่อลงมาก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทีนี้พวกเราส่วนใหญ่เข้าวัดหรือฟังเทศน์ฟังธรรม เราไปเน้นอยู่ที่ประเพณี จารีตประเพณี เข้าวัดมันไม่ค่อยได้สติได้ปัญญาในความเป็นพุทธแท้ๆ ถ้าเราอยากจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง อันแรกเลยต้องเรียนให้รู้เรื่องก่อน เรียนให้รู้ว่าจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนอะไร คำสอนของพระพุทธเจ้านี่มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดเลย ก็คือความดับทุกข์ ความดับสนิทแห่งทุกข์ แต่ก่อนจะถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ก็ต้องผ่านกระบวนการอันหนึ่งให้พ้นทุกข์
อะไรเรียกว่าทุกข์ เห็นไหมพวกเราแค่นี้เราก็งงแล้ว เราบอกเราเป็นชาวพุทธ แต่เริ่มต้นทำไมเริ่มจากทุกข์ ทำไมไม่เริ่มจากสุข นี่ศาสนาพุทธอยู่ยากก็เพราะเรื่องนี้ คนอื่นก็บอกว่าทำตามที่เขาสอนแล้วมีความสุข ในขณะที่ศาสนาพุทธเริ่มต้นนี่เรียนรู้ทุกข์ เราไม่เหมือนคนอื่น โดยธรรมชาติของเรา เราเกลียดทุกข์ เรากลัวทุกข์ ที่จะให้รู้ทุกข์มันฝืนความรู้สึกอย่างยิ่งเลย
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือร่างกายจิตใจของเรา รูปนามขันธ์ 5 นี่ ภาษาบาลีฟังแล้วน่ากลัวเรื่องขันธ์ 5 ขันธ์จริงๆ ก็แปลว่ากอง แปลว่ากอง เป็นกองๆ เป็นส่วนๆ ขันธ์ 5 นี่ก็คือการแยกแยะสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ตัวเรา ออกเป็นส่วนๆ ส่วนที่หนึ่งคือรูปธรรม อย่างร่างกายเรานี่เราจะมีชีวิตอยู่ก็มีร่างกาย อีก 4 ส่วนนั้นเป็นส่วนของนามธรรม รูปธรรมมี 4 อัน เอ้ย รูปธรรมมีอันเดียว แต่ก็แยกแยะออกไปก็เป็นธาตุ 4 นามธรรมก็มีความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือร่างกายจิตใจของเรานี่เอง คนทั่วไปกลัวทุกข์ เกลียดทุกข์ ไม่อยากเจอทุกข์ แค่ได้ยินชื่อว่าจะทุกข์ก็ไม่อยากได้ยินแล้ว ถือว่าอัปมงคล แต่พระพุทธเจ้ากลับเริ่มต้นสอนเราว่าทุกข์ให้รู้ ไม่ใช่ให้หนี ไม่ใช่ให้ละ ทุกข์ให้รู้ ทุกข์คือขันธ์ 5 คือร่างกายจิตใจ พูดให้ง่ายๆ ให้เรารู้ รู้อะไร รู้ร่างกาย รู้จิตใจของตัวเอง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร เราจะละเหตุของทุกข์ได้
เหตุของทุกข์ก็คือตัวตัณหาตัวอยาก เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ความจริงของร่างกายจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว เราจะละความอยากได้ ทันทีที่เราละตัณหาหรือละความอยากได้ ละสมุทัยได้ นิโรธคือภาวะที่ดับสนิทของทุกข์ หรือเบื้องต้นก็เป็นสภาวะที่พ้นจากทุกข์ มันจะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราเอง เราจะเข้าถึง ฉะนั้นนิโรธหรือตัวนิพพานนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะสร้างขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่เราเข้าไปรู้เข้าไปเห็นได้เมื่อใจของเราสิ้นตัณหา เราสิ้นตัณหาได้เพราะเรารู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง
ทำอย่างไรเราจะรู้ทุกข์ได้
หลวงพ่อพูดภาพรวมๆ คร่าวๆ ให้ฟังก่อน แล้วหนทางที่เราจะรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งได้ก็คือเรื่องของอริยมรรคมีองค์ 8 หรือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง ฉะนั้นวันนี้เราจะพูดกันในเชิงการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เรื่องจารีตประเพณีอะไรทั้งสิ้นแล้ว ทำอย่างไรเราจะรู้ทุกข์ได้ มันอัศจรรย์มาก เราเกิดมากับทุกข์ มีกายมีใจนี่คือมีตัวทุกข์อยู่ แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้ เรามัวแต่หลงไปหาสิ่งอื่น เพราะเราอยากหาความสุข เราไม่อยากรู้ทุกข์ ทั้งวันใจของเราก็จะวิ่งตระเวนไปข้างนอก วิ่งไปดูรูป วิ่งไปฟังเสียง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย วิ่งไปคิดนึกเรื่องอะไรที่สนุกสนาน
ทำไมจิตใจเราวิ่งไปอย่างนั้น มันวิ่งแสวงหาความสุข แล้วมันวิ่งหนีความทุกข์ตลอดเวลา มันไม่มีคนที่กล้าพอที่จะหันมาเผชิญกับความทุกข์ มาเรียนรู้ทุกข์ ฉะนั้นพวกเราอยากเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ไม่ใช่พุทธในทะเบียนบ้าน หรือพุทธตามจารีตประเพณี เวลาทำบุญก็มาทำที่วัด เวลามีใครตายเอาศพมาตั้งที่วัด อันนั้นเรายังได้ประโยชน์จากศาสนาพุทธน้อยเต็มทีเลย
สิ่งที่หลวงพ่อจะพูดต่อไปนี้คือวิธีที่เราจะเรียนรู้กายเรียนรู้จิตใจของตัวเองได้ เครื่องมือที่จะทำให้เรารู้กายรู้ใจของตัวเองได้เรียกว่า “สติ” ในโลกก็มีแต่คนบอกว่าตัวเองมีสติ มีสติ แต่สำหรับผู้ปฏิบัติมองปราดรู้เลย ในโลกไม่มีคนมีสติหรอก มีแต่คนหลง ไม่มีคนรู้สึกตัว ไม่มีสติ หลงตลอดเวลา เดี๋ยวหลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ
สิ่งที่เราหลงไปหาเห็นไหม หาอะไร หารูป รูปมันก็ของข้างนอก ไม่ใช่กายไม่ใช่ใจของเรา หลงไปฟังเสียง เสียงมันก็ของข้างนอก ไม่ใช่ร่างกายจิตใจของเรา กลิ่นก็อยู่ข้างนอก ไม่ใช่ร่างกายจิตใจของเรา รสก็อยู่ข้างนอก ไม่ใช่ร่างกายจิตใจของเรา สิ่งที่มาสัมผัสร่างกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรนี่ก็เป็นของข้างนอก เรื่องราวที่คิดก็ฝันๆ ไป
ฉะนั้นสิ่งที่คนในโลกนี้เขาสัมผัสได้ ล้วนแต่เป็นของข้างนอก ไม่ใช่ร่างกายไม่ใช่จิตใจของตัวเอง เราจะต้องมาฝึกตัวเองใหม่ พยายามให้มีสติรู้สึกอยู่ในร่างกายรู้สึกอยู่ในจิตใจ สติเองก็เป็นอนัตตาสั่งให้เกิดไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้ว่า สติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่น สภาวะของรูปธรรมนามธรรม ทำอย่างไรจิตจะจำสภาวะได้แม่น จิตต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ เห็นเนืองๆ
บทเรียนที่จะทำให้เราเกิดสติในเบื้องต้น เกิดปัญญาในเบื้องปลาย คือการเจริญสติปัฏฐาน อย่างเราท่องสติปัฏฐาน อ่านสติปัฏฐาน แต่เราปฏิบัติไม่เป็น เอาเข้าจริงๆ ไม่เป็น ถ้าเป็นโลกนี้ก็จะเกิดพระอริยบุคคลอีกเยอะแยะเลย แต่ว่าเราทำสติปัฏฐานไม่เป็น บางคนได้ยินชื่อก็กลัวแล้ว สติปัฏฐานคือเรามีสติรู้สึกร่างกายของเราไว้ เบื้องต้นง่ายที่สุดเลย ถ้าจะไปรู้สึกที่จิตตรงๆ จิตมันว่องไว มันหนีเก่ง แป๊บเดียวมันก็หนีไปแล้ว แต่ร่างกายเราไม่เคยหายไปไหนเลย อยู่กับเราทั้งวัน เพียงแต่เราไม่สนใจที่จะรู้สึกมัน
ลองปรับความรู้สึกของตัวเอง หันมาสนใจอยู่ในร่างกายของตัวเองมากๆ หน่อย ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน คอยรู้สึกไว้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง คอยรู้สึกไว้ คนในโลกไม่รู้สึก ไม่ค่อยรู้สึก กระทั่งร่างกายตัวเองก็ไม่ค่อยรู้สึก อย่างสังเกตไหมตอนคนเขาโทรศัพท์ เดินโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ ใจก็คิด ปากก็พูดไป ทำท่าทำทางแปลกๆ หลวงพ่อเคยเจอผู้หญิงสาวๆ นี่ โทรศัพท์แล้วก็เผลอเอานิ้วแคะขี้ฟัน ไม่รู้ตัวเองเลย น่าเกลียด ทำไมทำอะไรน่าเกลียด เพราะมันลืมตัวเอง ขณะนั้นสนใจเรื่องราวที่พูด
เรื่องราวที่จะพูดมันคิดมาก่อน คำพูดมันมาจากความคิดก่อน มัวแต่สนใจจะพูดอย่างไรดีเขาจะเชื่อเราอะไรอย่างนี้ ในขณะนั้นมีร่างกายก็ลืมร่างกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจตัวเอง อย่างพูดๆ ไป แล้วอีกฝ่ายหนึ่งขัดคอเราอย่างนี้ เราโมโห เราก็ตั้งอกตั้งใจหาทางตอบโต้ จะต้องด่าให้สะใจ แทนที่เราจะเห็นว่าใจของเรากำลังโกรธ เห็นไหมเราละเลยที่จะรู้ร่างกาย ละเลยที่จะรู้จิตใจของตัวเอง อย่างร่างกายเราขยับเขยื้อน ร่างกายทำอะไร ลืมมันตลอด จิตใจของเราสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว ไม่ยอมรู้ ไม่ยอมรับรู้
ถามว่าถ้าจะรับรู้ยากไหม ไม่ยาก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ มันจะยากอะไร ใจเราโลภ หรือใจเราโกรธ หรือใจเราฟุ้งซ่าน หัดสังเกตสภาวะไปเรื่อยๆ ทีนี้ถ้าทางร่างกาย บางคนต้องเริ่มจากร่างกาย เพราะดูนามธรรมไม่เป็น ดูไม่ออก อ่านใจตัวเองไม่ออกว่าตอนนี้มันสุขหรือมันทุกข์ มันดีหรือมันชั่ว อ่านไม่ออก ก็ดูที่ร่างกายไปก่อน
ดูนามธรรมไม่เป็น ดูที่ร่างกายไปก่อน
ขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกไหม ใครไม่รู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ ถ้าไม่รู้ก็บ้าแล้วล่ะ เห็นไหม ไม่เห็นจะยากเลย ก็ขณะนี้นั่งอยู่นี่ ก็แค่เห็นว่าร่างกายมันนั่งอยู่ ขณะนี้หายใจออก ขณะนี้หายใจเข้า เราก็เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า นี่เราฝึกรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปเวลาเราขาดสติ เราเผลอ แล้วจังหวะการหายใจเราเปลี่ยนนิดเดียว สติมันจะกลับมาเลย มันจะรู้สึกเลย หรือเราเคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งรู้สึก แล้วพอเราขาดสติ แล้วเราเกิดขยับตัวปุ๊บนี่ สติมันมาเอง มันรู้สึกตัว เฮ้ย เมื่อกี้หลงแล้ว นี่จิตมันจะตื่นขึ้นมา เรามีสติขึ้นมา
ขณะนี้หายใจออกหรือขณะนี้หายใจเข้า ยากไหมที่จะรู้ นักปฏิบัติทำไมรู้แล้วไม่ได้ประโยชน์ไม่ได้ผล มันไม่ได้รู้ซื่อๆ ไม่ได้รู้อย่างตามธรรมชาติธรรมดา อย่างเวลาจะรู้ลมหายใจก็ไปเพ่งลมหายใจจนมันแน่นๆ มันอึดอัด แทนที่จะหายใจเหมือนที่เคยหายใจ หายใจออก หายใจเข้า เราหายใจมาตั้งแต่เด็กไม่อึดอัด พอมานั่งสมาธิกำหนดลมหายใจแล้วอึดอัด ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะเราไม่ได้รู้การหายใจอย่างเป็นธรรมชาติธรรมดา
เริ่มต้นเราก็ไปบังคับใจให้แข็งๆ ให้ทื่อๆ นิ่งๆ แล้วก็ไปจ้องเอา จ้องเอา ใจก็จะแน่นขึ้นมา เวลาหายใจไม่นานก็เหนื่อย หรือเวลาเราเดินชอปปิง เดินได้ทั้งวันเช้ายันเย็นไม่เป็นอะไร เดินจงกรมชั่วโมงหนึ่งจะตายแล้ว ทำไมเดินจงกรมมันเมื่อยนักหนา เพราะมันไปดัดแปลงการเดินของตัวเอง พระพุทธเจ้าสอนว่าให้เดิน ภิกษุทั้งหลายเมื่อเดินอยู่ให้รู้ชัดว่าเดินอยู่ ท่านไม่ได้บอกให้มาเพ่งมาบังคับเลยว่าเดินต้องมีกี่กระบวนท่ากี่จังหวะอะไรอย่างนี้ เป็นความคิดของครูบาอาจารย์ชั้นหลังๆ ที่สร้างกันขึ้นมา ภิกษุทั้งหลายหายใจออกยาว หายใจออกยาวก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้าสั้นก็รู้
ทำไมเริ่มจากหายใจยาว เพราะปกติเราหายใจยาวอยู่แล้ว ในขณะนี้เวลาที่เราอยู่ธรรมดาลมหายใจเราจะยาว มันเลยไม่เหนื่อย แล้วทำไมพอมีสติตามรู้การหายใจเรื่อยๆ ไป ลมหายใจจะสั้นๆ จากยาวถึงท้องมันจะขึ้นมาเรื่อยๆ มาอยู่ที่ปลายจมูกนิดเดียว ไหวกริ๊กๆๆ นิดเดียว แล้วเสร็จแล้วลมหายใจมันจะระงับกลายสภาพเป็นแสงสว่าง นี่จิตมันจะเดินไปทางสมาธิ
ฉะนั้นเวลาเราเริ่มต้น หายใจมีสติรู้การหายใจธรรมดาของเรานี่เอง อย่าไปดัดแปลงการหายใจ ไม่ต้องหายใจอย่างนี้ เฮ้อ เดี๋ยวก็เหนื่อยแล้ว หายใจด้วยใจตามปกติ แล้วก็รู้ด้วยใจที่ปกติ ธรรมะคือธรรมดา ธรรมะคือธรรมดา ธรรมะไม่ใช่ของผิดธรรมดา เพราะฉะนั้นเราอยากเรียนรู้ความจริงของกาย เราอย่าไปดัดแปลงร่างกาย อย่าไปดัดแปลงจิตใจที่จะไปรู้ร่างกายด้วย เรารู้ร่างกายไปตามธรรมดา รู้ด้วยจิตใจธรรมดา อย่างเวลาเราทำสมาธิรู้ลมหายใจ ถ้าเรารู้ลมหายใจแล้วก็อยากสงบ ไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นถ้ารู้ลมหายใจ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ ไม่ได้เรียกร้องต้องการให้สงบ หายใจไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว แป๊บเดียวก็สงบแล้ว ลมมันจะละเอียดๆๆ ขึ้น แล้วสงบ
ทีนี้ถ้าเราใช้อิริยาบถ 4 ขณะนี้เรานั่งอยู่ รู้ว่านั่งอยู่ ไม่ใช่นั่งอยู่ตรงนี้แต่ใจหนีไปที่อื่นแล้ว ให้กายกับใจมันสัมพันธ์กันอยู่ ตอนนี้นั่งอยู่ก็รู้สึก ตอนนี้เดินอยู่ก็รู้สึก ไม่ใช่เดินใจลอย หรือละเอียดลงไปอีก ตอนนี้เคี้ยวอาหารอยู่รู้สึก อย่างเราที่นี้มีของให้กินเยอะ เราไปกินอร่อยอย่างนี้ เอร็ดอร่อยเราก็เพลินเคี้ยวเอา เคี้ยวเอา เราไม่ได้เห็นว่าร่างกายกำลังเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการที่จะรู้ร่างกาย ไม่ใช่เรื่องยากอะไร รู้ร่างกายที่ธรรมดาๆ ที่มันเป็นธรรมดานี่ล่ะ แล้วก็รู้ด้วยจิตใจธรรมดา
แล้วต่อไปเราก็จะเห็นธรรมดาของร่างกาย ธรรมดาของร่างกายไม่เที่ยง หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก ธรรมดาของร่างกายไม่เที่ยงอีกอย่าง เดี๋ยวยืนแล้วก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเดิน เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เห็นไหมร่างกายไม่เที่ยง การเคลื่อนไหวการหยุดนิ่ง เราคอยรู้สึก ร่างกายขยับรู้สึก เราก็จะเห็นร่างกายที่เคลื่อนไหวนี่ ลองขยับไปเรื่อย รู้ด้วยใจธรรมดาแล้วเราจะรู้สึกเลย ร่างกายนี่ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นวัตถุอันหนึ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ แล้วจิตใจเราเป็นคนไปเห็นเข้า
ความไม่รู้ของเราก็บอกนี่คือร่างกายของเรา แต่ถ้าเราเจริญสติไปเรื่อย ดูร่างกายหายใจ เออ ร่างกายที่หายใจไม่เที่ยง ร่างกายที่หายใจเข้าหายใจออกมันหายใจเพื่อหนีทุกข์ หายใจเข้าไปมันก็ทุกข์ มันก็ต้องหายใจออกหนีทุกข์ หายใจออกแล้วก็เป็นทุกข์อีก ก็ต้องหายใจเข้าหนีทุกข์ แค่เห็นร่างกายหายใจ เรายังเห็นเลยว่าร่างกายนี่ หายใจออกก็ไม่เที่ยง หายใจเข้าก็ไม่เที่ยง หายใจออกแล้วก็ต้องหายใจเข้าเพื่อหนีทุกข์ หายใจเข้าแล้วก็ต้องหายใจออกก็เพื่อหนีทุกข์อีก เราจะเห็นเลยร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เราจะเห็นขนาดนั้น
หรือเราเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นแค่วัตถุ อย่างเราหายใจมีลมไหลเข้าไปมีลมไหลออกมา ร่างกายเราเป็นก้อนธาตุเท่านั้นเอง มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม หมุนไปเรื่อยๆ อย่างกินอาหารเข้าไป ดื่มน้ำเข้าไป มีธาตุไหลเข้า เดี๋ยวก็ขับถ่ายออกมา ปัสสาวะออกมา มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ถ้าเรามีสติรู้ในร่างกายเรื่อยๆ เราก็เห็นมันเป็นแค่ธาตุที่หมุนเวียน นี่ยกตัวอย่างอันเดียว คือการรู้กาย ที่พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน 4 ฐาน รู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ รู้สังขาร รู้จิต คือจิตที่ปรุงแต่ง ปรุงดี ปรุงชั่วอะไรพวกนี้ แล้วก็รู้ธัมมานุปัสสนา
อันนี้ธัมมานุปัสสนายากมาก ยากมากเลย โดยเฉพาะบทสุดท้ายของธัมมานุปัสสนาเรียก “สัจจบรรพ” พระอรหันต์ทุกองค์จะเข้ามาที่สัจจบรรพ เข้ามาเห็นอริยสัจ ทีนี้เรายังไปไม่ถึง เราเอาของง่ายๆ อย่างนี้ อย่างรู้สึกร่างกายไป แล้วเราก็จะ ใจเราเป็นคนดู ใจเราธรรมดาๆ นี่มีสติระลึกรู้กายด้วยจิตใจธรรมดา เราจะเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา การที่เราเห็นอย่างนี้ เรียกว่าเราเห็นตามความเป็นจริงแล้ว มียถาภูตญาณทัสสนะ เราเห็นตามความเป็นจริงแล้ว
จิตที่ฝึกอบรมดีแล้วนำความสุขมาให้
เพราะเห็นตามความเป็นจริงมันจะเกิดกระบวนการ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว นี่เส้นทางที่เราจะฝึกจิตฝึกใจของเรา อย่างถ้าเริ่มจากดูกายไป พอเราเห็นความจริงของร่างกายนี่ ความยึดถือผูกพันรักใคร่ในร่างกายก็จะค่อยๆ ลดลงไป ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้สึกร่างกายนี้เป็นของน่าเบื่อ
อย่างทำไมเราไม่เบื่อสักที ถ้าเรามีสติอยู่กับร่างกาย เราจะรู้ว่าร่างกายนี้มีภาระเยอะ ตื่นนอนขึ้นมาก็ต้องพามันไปขับถ่าย พามันไปอาบน้ำ พามันไปแต่งตัว พามันขึ้นรถไปทำงาน นี่แบกหามร่างกายไปตลอดเวลาเลย เดี๋ยวเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นภาระอีกแล้ว แก่ก็เป็นภาระ เจ็บก็เป็นภาระ ตายก็ไปเดือดร้อนอีกแล้ว นี่ความจริงของร่างกาย เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เต็มไปด้วยความแก่ ความเจ็บ ความตาย
การเรียนรู้อย่างนี้มันจะไม่ทำให้จิตใจเราท้อแท้หดหู่ เราจะต้องฝึกใจของเราให้ตั้งมั่นด้วยการทำสมาธิเสียก่อน เรียกว่ามีสมถกรรมฐาน แต่ไม่มีเวลาพูดแล้ว ก็ไปฟังเพิ่มเติมเอา หลวงพ่อเทศน์เอาไว้เยอะแยะแล้ว ในยูทูปมีเยอะแยะเลย เพราะว่าฟังเที่ยวเดียวเนื้อหาสาระในศาสนาพุทธที่เราจะลงมือปฏิบัติไม่ใช่น้อย แต่สำหรับคนๆ หนึ่ง ไม่มาก
อย่างถ้าเราดูกายแล้วเราเห็นร่างกายหายใจ ร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถ ร่างกายขยับ ร่างกายหยุดนิ่ง ใจเราเป็นแค่คนเห็น ตรงนี้ที่ยาก จิตของเราไม่ใช่คนเห็น จิตของเราไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ตลอดเวลา ตรงนี้เราจะต้องมาฝึกอีกอย่างหนึ่งเพื่อให้จิตของเราตั้งมั่น สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต มันก็มีวิธีฝึก ฝึกได้หลายอย่าง แต่มันไม่ทันแล้ว หมดเวลาแล้ว ไปดูยูทูปที่หลวงพ่อเทศน์ไว้มีเยอะแยะเลย วิธีที่จะให้จิตตั้งมั่นมีสมาธิ
ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่นเจริญปัญญาไม่ได้ คือจะเห็นความจริงเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจไม่ได้ เพราะสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิตเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ไม่ใช่สงบแล้วทำให้เกิดปัญญา สงบมันเป็นการพักผ่อน ไม่ทำให้เกิดปัญญา เราจะต้องไปเรียนอีก
ส่วนหนึ่งเรื่องของสมาธิ 2 แบบ อันแรกมิจฉาสมาธิ สมาธิที่ไม่มีสติ นั่งแล้วก็เห็นโน้นเห็นนี้อะไรไป อีกอันหนึ่งสัมมาสมาธิ สมาธิที่มีสติ สัมมาสมาธิก็ยังมี 2 ส่วน อันหนึ่งจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตได้พักผ่อนอยู่ด้วยความมีสติ อีกอันหนึ่งจิตตั้งมั่นเห็นอารมณ์เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป โดยจิตเป็นแค่คนดู ตั้งมั่นอยู่ มันมีวิธีฝึก แต่ไม่มีเวลาเล่าให้ฟัง เพียงแต่จะบอกว่าถ้าสติรู้สึกร่างกายเรา ร่างกายเราเผลอ กำลังเผลอ แล้วเกิดขยับตัวปั๊บนี่ แล้วสติเกิด เฮ้ย เมื่อกี้เผลอ สมาธิเกิดขึ้นร่วมกับสติ สัมมาสติเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิจะเกิดเมื่อนั้น จะเกิดด้วยกัน
เพราะฉะนั้นอย่างเราหันปุ๊บ เรารู้สึกตัว เฮ้ย ร่างกายขยับ รู้สึกปุ๊บนี่กำลังเผลอๆ อยู่ หันไปดู อยากดูรูปปั้นท่านเจ้าคุณ หันไปปุ๊บ มันรู้สึกตัวว่าร่างกายเคลื่อนไหวแล้ว หรือจิตใจมันอยาก มีความอยากผุดขึ้นมา เรามีสติรู้ ตัวความอยากมันดับ แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติ ตรงนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้ว คืออาศัยการเจริญสติ ทำให้เกิดสัมมาสมาธิ มีอีกวิธีหนึ่ง การใช้การทำฌาน ซึ่งพวกเรายุคนี้ทำยาก เป็นยุคของพวกสมาธิสั้น มันสั้นมากๆ เลย แป๊บเดี๋ยวก็หลง แป๊บเดี๋ยวก็หลง
เพราะฉะนั้นหัดฝึก ฝึกตัวเอง อย่าเอาแต่หลงไปของข้างนอก หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส แล้วว่างๆ เมื่อไรก็ดูซีรีส์อย่างนี้ เวลาดูซีรีย์เราก็หลงไปดูรูปใช่ไหม หลงไปฟังเสียง หลงไปคิด ตอนนี้หนังมันไปถึงตอนนี้แล้ว ตรงนี้แล้ว ตัวนี้ดี ตัวนี้ไม่ถูกใจอะไรอย่างนี้ ใจมันออกข้างนอกไป คอยรู้สึกที่ร่างกายของตัวเอง คอยรู้สึกที่จิตใจของตัวเองไป จิตใจสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ หัดไปรู้อย่างนี้
ส่วนร่างกาย ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้ ร่างกายเคลื่อนไหวก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ พอรู้เรื่อยๆ ต่อไปสมาธิจะดีขึ้นๆ จิตจะตั้งมั่น ในโลกแทบไม่มีคนที่มีจิตตั้งมั่นเลย มีแต่จิตที่หลง กระทั่งนั่งสมาธิยังหลงอยู่ในโลกของความคิด หรือจิตถลำลงไปเพ่ง กรรมฐาน เพ่งลมหายใจ เพ่งมือเท้าท้องอะไร ไม่เห็นว่าจิตไหลไปเพ่ง อันนั้นหลง เรียกว่าหลงเพ่ง
ฉะนั้นเราทั้งหลายบนโลก มันเกิดมากับความหลง ดำรงชีวิตอยู่กับความหลง แล้วมันก็ตายไปกับความหลง แล้วมันก็ไปเกิดอีกกับความหลงอีก เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้ว พวกเราชาวพุทธทั้งหลายฝึกเดินในเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอน รู้ทุกข์คือรู้กายรู้ใจของตัวเอง อย่าละเลย รู้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งเห็นความจริง ร่างกายจิตใจของเราเป็นแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตมันจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ พอมันไม่ยึดถือมันหลุดพ้น ต่อไปร่างกายจะแก่จิตไม่สะเทือนเลย ร่างกายจะเจ็บจิตไม่หวั่นไหว ร่างกายจะตายจิตบางทีเบิกบานด้วยซ้ำไป ตัวทุกข์มันจะแตกแล้ว
จิตที่ฝึกอบรมดีแล้วนำความสุขมาให้เรา แล้วการจะฝึกอบรมให้ดีก็คือการรู้ทุกข์นั่นล่ะ ดีที่สุดเลย หัดรู้สภาวะเรื่อยๆ แล้วสัมมาสติก็เกิด สัมมาสติเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิก็เกิด มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะคือการเจริญปัญญาก็จะเกิด ไม่ได้คิดเอา แต่ต้องเห็นสภาวะเอา
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ 40 นาที ถ้าเทศน์ให้เต็มหลักสูตรหลายชั่วโมง พวกเราคงกลุ้มใจว่า อยากฟังพระสวดมนต์แล้ว ฟังเจริญสวดอภิธรรม หลวงพ่อก็เทศน์ไม่หยุดสักที พอดีท่านพระครูดำท่านให้ท้าย ท่านบอกเทศน์ไปเลย ฝนตกๆ อย่างไรก็หนีกลับบ้านไม่ได้อยู่แล้ว ฟังธรรมไปก่อน
ต่อไปก็จบภารกิจของหลวงพ่อแล้ว มาเทศน์เป็นการสนองคุณท่านเจ้าคุณ ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดรุ่นก่อนองค์ก่อน เจ้าคณะ ตอนหลวงพอย้ายมาอยู่นี่ ท่านเมตตามากเลย ท่านเมตตามาก เราสร้างวัดสร้างอะไรท่านก็ช่วยให้คำแนะนำอะไรต่ออะไรเรา แล้วท่านบอกต่อด้วยว่าเจ้าคณะคนใหม่ดี ท่านบอกหลวงพ่อเองบอก โอ้ย มหาชัยวัฒน์ดี ท่านเป็นพระดี หลวงพ่อฟังแล้วก็สบายใจ เท่านี้
วัดเขาบางทราย พระอารามหลวง
22 กุมภาพันธ์ 2568