จากสังขตธรรมสู่อสังขตธรรม

เมื่อวานเวียนเทียน ญาติโยมเยอะเหลือเกิน ใช้เวลาเวียนเทียนชั่วโมงครึ่ง แต่ต่อไปถ้าโบสถ์เสร็จไปเวียนเทียนที่โบสถ์จะเร็วขึ้น ไม่ต้องเดินเรียงแถว

คนส่วนหนึ่งที่มาก็เป็นคนจีน คนจีนมาเยอะที่นี่ ก็น่าสงสาร เขาอยากได้ธรรมะ อุตส่าห์เดินทางมา บางคนมาอยู่แถวสวนเสือแถวอะไรนี่ เช้าๆ ไม่มีรถ เดิน เดินมาวัด เดิน จากหมู่บ้านมาก็ 2 กิโลเมตรแล้ว อยู่ไกลกว่านั้น เดิน เขาอดทนมาก เขาอยากได้ธรรมะ เอาไปให้ชีวิตมันพ้นทุกข์ พวกเรามีธรรมะอยู่แล้ว ก็สนใจหน่อย ถ้าวันใดธรรมะสูญหายไปจากบ้านเมืองเรา แล้วเราอยากได้ธรรมะขึ้นมาอีก ลำบาก ไปเรียนที่ประเทศอื่น ภาษาก็พูดกับเขาไม่ค่อยได้ เขามา หลวงพ่อก็เลยรู้สึกสงสาร ก็ดูแลเขามากหน่อย

พวกเราอย่าเป็นใกล้เกลือกินด่าง แต่คนที่อยู่ใกล้ๆ ครูบาอาจารย์บางทีมันก็เป็นแบบนั้น ใกล้เกลือกินด่าง ไม่ได้สนใจ เมื่อก่อนหลวงพ่อไปเรียนกับครูบาอาจารย์ พอเข้าไปที่กุฏิครูบาอาจารย์ พวกพระอุปัฏฐากท่านร้องบอกกัน อยู่กัน 2 – 3 องค์ บอกพวกผึ้งมาแล้ว เรียกหลวงพ่อว่าเป็นผึ้ง มากินน้ำหวานแล้วก็ไป พวกท่านเป็นกบ อยู่กับกอบัว ไม่เคยได้กินเลย แต่กบจริงๆ มันก็กิน มันกินผึ้งที่มาหาดอกบัว แต่อันนี้ท่านเปรียบเทียบว่าอยู่ใกล้แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติจริงจัง สู้คนอยู่ไกลๆ ไม่ได้ มาตั้งอกตั้งใจเรียน

 

โลกนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์

พวกเราก็พยายามตั้งอกตั้งใจเข้า ธรรมะของพระพุทธเจ้ายิ่งเราเรียนเราปฏิบัติมากเท่าไร เราจะอัศจรรย์ในธรรมะ เราจะเห็นความอัศจรรย์อยู่ 2 อย่าง คนอื่นอาจจะเห็นหลายอย่าง หลวงพ่อเห็นไม่มาก อย่างที่หนึ่งก็คือในโลกนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ เห็นคนเขาสนุกสนานกัน อยู่กับโลกเพลิดเพลิน เราภาวนา เรากลับเห็นว่าโลกไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่แล้วก็ทุกข์ดับไป เห็นอยู่แค่นี้ ความอัศจรรย์ใจอันที่สอง คืออัศจรรย์ใจในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ท่านค้นพบธรรมะที่เหนือโลกมาได้อย่างไร

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน

อย่างพวกเราที่มาอยู่ตรงนี้ ก่อนที่พวกเราจะมาอยู่ตรงนี้ แผ่นดินตรงนี้อาจจะมีคนอื่นมีสัตว์อื่นเขาเคยอยู่มาก่อนแล้ว แล้วเขาล้มหายตายจากไป เราก็เข้ามาอยู่ตรงนี้ วันข้างหน้าเราก็ไม่อยู่ คนอื่นก็มาอยู่ ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไปๆ ไม่เห็นว่ามันจะน่ายินดีพอใจอะไรกันนักหนา ถ้าไม่ใช่คนหลง จะไม่เห็นว่าโลกน่าอยู่หรอก โลกมันน่าอยู่สำหรับคนหลงเท่านั้น เราภาวนามากๆ เห็นโลกไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วก็หายไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

พระโพธิสัตว์บารมีท่านเต็ม เจ้าชายสิทธัตถะ พ่อพยายามไม่ให้ท่านเห็นโลกข้างนอก เลี้ยงอยู่ในวังตลอด พอท่านหนุ่มขึ้นมา ท่านก็ออกไปดูข้างนอกบ้าง ก็ไปเห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย แล้วก็เห็นนักบวช นักบวชหัวโล้นเรียกว่าสมณะ นักบวชมีหลายพวก ถ้านักบวชหัวโล้นอย่างหลวงพ่อเขาเรียกว่าสมณะ ท่านเห็น 4 อย่างนี้ เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย แล้วเห็นสมณะ ตอนท่านเห็นคนแก่ ท่านไม่เคยเห็น ท่านก็ถามนายฉันนะ ซึ่งเป็นคนขับรถให้ท่าน เป็นสารถี ถามว่านี่มันตัวอะไร ทำไมมันคดๆ งอๆ เดินระหกระเหินอย่างนี้ นายฉันนะก็ตอบว่านี่คือคนแก่ ท่านก็ถามทำไมมันเป็นอย่างนี้ได้ ฉันนะก็บอกว่าทุกคนเกิดมาถึงวันหนึ่งก็ต้องแก่ ท่านก็สลดสังเวช โอ้ ความหนุ่มสาวไม่จีรังยั่งยืน สุดท้ายก็ต้องแก่

อีกคราวหนึ่งท่านเห็นคนเจ็บนอนโอดครวญ ท่านก็ถามนายฉันนะอีกว่าเขาเป็นอะไร บอกเขาเจ็บ ไม่สบาย และทุกคนก็ต้องเจ็บ หนีไม่พ้น ท่านก็สลดใจ อีกคราวหนึ่งเห็นคนตาย ญาติๆ หามไปเผา เดินตามร้องห่มร้องไห้ สงสัยว่าทำไมเอาคนไปเผา บอกนี่ตายแล้ว ทุกคนต้องตาย ท่านก็สลดสังเวช ชีวิตนี้ไม่เห็นจะดีวิเศษตรงไหนเลย ยังไม่ได้ตรัสรู้แต่บารมีเต็ม สังเกตไหมว่าที่ท่านเห็นคือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทีแรกท่านเห็น ท่านเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วก็รู้ว่าโลกนี้ไม่น่าชื่นชม ความสุขในโลกนี้ฉาบฉวยมาก

อีกคราวหนึ่งท่านออกไป ท่านไปเห็นสมณะ นักบวชหัวโล้น ถามฉันนะว่าพวกนี้คืออะไร พวกนี้คือพวกหาทางพ้นทุกข์ ท่านก็คิดว่า เอ๊ะ ความทุกข์มันมีได้ ทางพ้นทุกข์มันก็มีได้ ถ้าท่านอยากแสวงหาทางพ้นทุกข์ ท่านก็ต้องไปเป็นนักบวช ท่านก็เลยออกบวช คนไทยเราจะเรียนว่าท่านหนีออกจากวังไปบวช แต่ในตำราบางอันบอกท่านออกบวช ในขณะที่พ่อท่านน้ำตานองหน้าเลย ท่านไปลาออกไปบวช ไม่ได้หนี จริงๆ เป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้หรอก เกิดมาไม่ทัน ท่านออกไปบวช ท่านก็ไปเพื่ออะไร ชัดเจน ไปเพื่อหาทางออกจากความทุกข์ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อความเฮงความรวย เพราะท่านรวยอยู่แล้ว ท่านเป็นรัชทายาท สิ่งที่ท่านอยากได้คือความพ้นทุกข์ อะไรที่ท่านเห็นว่าทุกข์ ก็ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตัวนี้ทำให้คนเป็นทุกข์ อยากให้พ้นสิ่งนี้ไป

พอออกบวช งานแรกของคนที่ไปบวชเหมือนกันตั้งแต่ยุคโน้นยันยุคนี้ อยากพ้นทุกข์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือนั่งสมาธิ เหมือนสูตรสำเร็จเลย ในใจของพวกเราทุกคนเป็นอย่างนั้น อยากพ้นทุกข์ ต้องไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม ท่านก็ไปฝึกนั่งสมาธิกับฤๅษี เข้าฌานได้ถึงฌานที่เจ็ด ฌานที่แปด ฌานที่เจ็ดเรียกอากิญจัญญายตนะ มันไม่ยึดทั้งจิตไม่ยึดทั้งอารมณ์ วางทั้งจิตวางทั้งอารมณ์ แล้วจิตรวมลงไปในความไม่มีอะไร เหลือแต่รู้อันเดียว นิ่งๆ สงบอยู่อย่างนั้น อากิญจัญญายตนะบอกว่าคล้ายนิพพานมาก เพราะในนั้นไม่มีเวลา ไม่มีความคิด ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีพระจันทร์ แหม ฟังแล้วคล้ายๆ พระนิพพานจังเลย แต่มันไม่เที่ยง นิพพานเป็นของเที่ยง

ท่านก็ฝึกเข้าฌานไป ฌานที่เจ็ดออกมาแล้วก็ทุกข์เหมือนเดิม ไปฝึกกับดาบสอีกคน ชื่ออุทกดาบส ฝึกจนได้ฌานที่แปด ใจมันเคลิ้มลงไปเกือบจะหมดความรู้สึก มีความรู้สึกเหลืออยู่นิดเดียว พอออกมาท่านก็พบว่ามันไม่ได้พ้นทุกข์อะไรเลย ออกมามันก็ทุกข์เหมือนเดิมอีก เพราะฉะนั้นการนั่งเข้าฌานไม่ใช่ทางที่จะพ้นจากความทุกข์ได้เลย เห็นไหมท่านตั้งเป้าให้ถูก ท่านตั้งเป้าว่าทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ ส่วนพวกเราตั้งเป้าว่าทำอย่างไรจะมีความสุข ถ้าขืนเข้าฌานได้ โอ๊ย มีความสุขลืมโลกเลย อยากได้ความสุข

ทำบุญทำทานก็อยากรวยมีแต่อยากได้ทั้งนั้น ไม่มีใครอยากพ้นทุกข์ มีแต่อยากมีความสุข ทำอย่างไรจะมีความสุข ร่ำรวยแล้วมีความสุข มีชื่อเสียงแล้วมีความสุข มีคนนับถือเยอะๆ ยอมรับเยอะๆ มีความสุข ใจลึกๆ มันอยากหาความสุข มันเลยไปไม่ถึงพระนิพพานสักที อยากได้ความสุขก็ทำบุญไปสิ บุญเป็นชื่อของความสุข ชวนคนทำบุญง่าย เอาสวรรค์ เอาโชคลาภเอาอะไรดีๆ มาหลอกมาล่อ ยอมทุ่มเทเพื่อจะได้อันโน้นได้อานิสงส์อย่างนี้ คนส่วนใหญ่มันต้องการความสุข ไม่เหมือนพระโพธิสัตว์ ท่านเห็นโลกมันทุกข์ คนเรามันทุกข์ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ท่านอยากพ้นทุกข์

 

ของเหนือกว่าบุญยังมี คือกุศล

ฉะนั้นลองวัดใจเราก่อน เราอยากพ้นทุกข์หรืออยากมีความสุข ถ้าอยากมีความสุข เราก็ทำทานไป รักษาศีลก็มีความสุข ทำสมาธิให้จิตสงบก็มีความสุข ก็ทำไปอย่างนั้น แล้วยินดีพอใจในผล ของบุญทั้งหลาย มีความสุขอยู่ไปนานๆ สุดท้ายก็ลงนรกอีกล่ะ มันไม่มีสาระแก่นสารจริง หลวงพ่อเห็นคนชวนกันทำบุญ หลวงพ่อสลดใจ พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ทำไมเราเอาของแค่นั้น ของเหนือกว่าบุญมันยังมีคือกุศล ทำไมไม่เอา กุศลเป็นเรื่องของความฉลาด ของปัญญา ของการลดละกิเลส เพื่อจะได้พ้นทุกข์ บุญเป็นเรื่องของการสั่งสม สั่งสมบุญไปแล้วก็จะได้มีความสุข

ทำไมมักน้อยในสิ่งซึ่งควรจะมักมาก ก็หลอกล่อกัน ทำอันนี้สิ ทำบุญอันนี้สิ จะได้อานิสงส์อย่างนี้ๆ มีความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องปลีกย่อยที่พระพุทธเจ้าไว้สอนพวกอินทรีย์อ่อน ธรรมะส่วนใหญ่ท่านก็ไม่ได้มานั่งสอนหรอกว่าทำตัวนั้นอานิสงส์อย่างนั้นอย่างนี้ ท่านสอนทาน ทำทานเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อรวย ไม่ใช่เอาบุญ ทำทานเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ถือศีลก็ไม่ใช่เพื่อจะได้ไปขึ้นสวรรค์ ไม่ได้เพื่อจะเอาอะไร ถือศีลเพื่อจะขัดเกลาจิตใจของเรา กิเลสมันรุนแรงนัก ยังไม่มีสมาธิ ยังไม่มีปัญญาที่จะต่อสู้กับมัน ก็พยายามรักษาใจของเราไม่ให้ทำชั่ว ไม่ให้ทำผิดศีล ฉะนั้นศีลเลยเป็นเครื่องมือข่มใจไม่ให้ไหลตามกิเลสไป

ถ้าสูงขึ้นไปคือสมาธิ เป็นเครื่องข่มกิเลสไม่ให้มาย้อมใจ เห็นไหมมันมีดีกรีของมัน ศีลเป็นเครื่องข่มใจไม่ให้ตามใจกิเลส สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลสไม่ให้มาย้อมใจได้ ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารผลาญกิเลส นี่เครื่องมือสำคัญ ทีนี้พวกเราถือศีล หวังจะได้อย่างโน้น หวังว่าจะได้อย่างนี้ โฆษณากันจัง “สีเลนะสุคะติงยันติ” พระพุทธเจ้าสอนไว้ไหม สอน แต่สอนคนที่อินทรีย์ยังอ่อน รักษาศีลแล้วไปสุคติได้ “สีเลนะโภคะสัมปะทา” รักษาศีลแล้วจะรวย “สีเลนะนิพพุติงยันติ” มีศีลแล้วจะไปนิพพานได้ ตัวนี้ตัวสำคัญ ถ้าไม่มีศีลก็ไปนิพพานไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าสู้กิเลสไม่ไหว ท่านก็ยังอุตส่าห์แทรกนิพพานเอาไว้ให้ ไม่ได้สอนลอยๆ

ในขณะที่รุ่นหลังๆ มาพูดกัน โอ๊ย ถือศีลแล้วดีอย่างโน้นอย่างนี้ ชาติหน้าจะได้สวยๆ ไม่ต้องรอชาติหน้าให้สวยหรอก เดี๋ยวนี้ทำศัลยกรรมให้สวยได้ ไม่มีความหมายอะไรเลย หรือสมาธินั่งสมาธิแล้วอยากมีฤทธิ์ หลวงพ่อเคยได้ยินหลวงพ่อพุธพูด คนมาถามท่าน ทำสมาธิแล้วจะมีฤทธิ์ได้ไหม เหาะได้ไหม ท่านว่าได้ แต่จะไปฝึกมันทำไมล่ะ ฝึกแทบตายเลย เหาะได้คนเดียว เดี๋ยวนี้เขาทำเรือบิน เหาะได้ทีหนึ่งตั้ง 300 – 400 คน ไม่เห็นมีประโยชน์เท่าไรเลย ไปหัดเหาะ ท่านก็พยายามสอนว่าสิ่งซึ่งมันเหนือกว่าอิทธิฤทธิ์ก็ยังมี

เราทำสมาธิเพื่อข่มกิเลส ไม่ให้มันมีอำนาจครอบงำใจเรา ศีลเป็นเครื่องข่มใจไม่ให้ยอมแพ้กิเลส เพราะกิเลสยังแข็งแรงมาก เราไม่แข็งแรง เราข่มเอา ตั้งใจงดเว้น ส่วนสมาธิ จิตเราแข็งแรง กิเลสหนีไปซ่อนตัว พอสมาธิอ่อนลงเมื่อไร กิเลสกลับมาอีก ตัวที่จะล้างกิเลสได้คือตัวปัญญาที่หลวงพ่อพยายามสอนเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน คือเรื่องปัญญา ทำไปเพื่อล้างกิเลส ไม่ใช่ทำเพื่อพอกพูนกิเลส อย่างเราทำบุญทำทานเห็นไหม เราซ่อนเร้นกิเลสเอาไว้เยอะแยะเลย จะหล่อพระก็อยากได้บุญ มันมีแต่คำว่าอยากได้ๆๆ แล้วมันจะพ้นโลกได้อย่างไร มันจะพ้นวัฏฏะได้อย่างไร จะพ้นวัฏฏะได้ มันต้องสิ้นอยาก ไม่ใช่หาทางสนองความอยากไปเรื่อยๆ

เวลานี้พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่แต่เปลือกมันเยอะ ที่เปลือกมันเยอะเพราะอินทรีย์ของคนรุ่นนี้มันอ่อนลงๆ พระท่านก็หลอกล่อ ชวนทำบุญทำทานอะไรไป มันได้แค่นั้น แล้วถ้ามันขยันทำบุญทำทาน ก็ชวนมารักษาศีล ตอนที่หลวงพ่อออกสอนใหม่ๆ ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านยังท้วงหลวงพ่อเลย “ปราโมทย์สอนยากไป ฆราวาสสอนมันทำทานรักษาศีลแค่นี้มันยังทำไม่ได้เลย” ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อ “ครับๆ” เรื่องอะไรเราจะไปเถียงกับครูบาอาจารย์ ครับไว้ก่อน “ครับๆ” เชื่อไหม ไม่เชื่อ ความเชื่อของเรา มันเกิดจากปัญญา ถ้าเรายังไม่เห็นจริงด้วย ไม่เห็นด้วย เราไม่เชื่อ พื้นจิตของหลวงพ่อไม่เชื่อง่ายๆ เลย อย่างไหว้เจ้าไหว้อะไร หลวงพ่อไม่เชื่อง่ายๆ

หรือทำแล้วจะได้โน้นทำแล้วจะได้นี้ บริจาคเยอะๆ แล้วได้บุญเยอะๆ บริจาคเยอะไม่ใช่ได้บุญเยอะ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน เราไม่มีเงินสักบาทหนึ่ง เห็นคนเขาทำความดีแล้วเราดีใจกับเขา เราก็ได้บุญแล้ว ไม่ต้องเสียเงินเลย วิธีที่จะได้บุญมีตั้งเยอะตั้งแยะโดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ส่วนใหญ่ก็หลอกให้เสียเงิน เสียเงินมากจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูง ไม่ไปเกิด ไม่อยากพูด มันโมหะทั้งนั้น จิตที่ประกอบด้วยโมหะมันจะไปไหน ก็ไปพิจารณาเอาเอง มันไม่ใช่ไปสวรรค์ชั้นสูงหรอก ฉะนั้นหน้าที่เราอย่าหยุดอยู่แค่บุญ ยกระดับขึ้นเป็นกุศลให้ได้ ถือศีลไม่ใช่เพื่อให้รูปงาม ทำทานไม่ใช่เพื่อให้ร่ำรวย ทำทานก็เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ถือศีลก็เพื่อไม่ทำตามใจกิเลส ข่มใจตัวเอง ทำสมาธิก็ไม่ใช่เพื่อมีอิทธิฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ หรือนั่งแล้วมีความสุขแล้วก็เสพสุขอยู่แค่นั้น

 

สัมมาๆ ทั้งหลายไม่ทิ้งสติ

สมาธิก็ต้องฝึกให้ถูก สมาธิมีตั้งหลายชนิด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือมิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธินั้นไม่เคยว่างจากโลกเลย แมวจะจับนก แมวต้องมีสมาธิ แต่เป็นสมาธิที่จดจ้องออกไปข้างนอก มันเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ประกอบด้วยสติ ขณะนั้นใจอยากจับนก อยากทำร้ายคนอื่น ไม่รู้ไม่เห็น มีโมหะ เพราะฉะนั้นสมาธิ ส่วนที่เรียกว่ามิจฉาสมาธิคือสมาธิที่ไม่ประกอบด้วยสติ อย่างเรานั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้มเห็นโน่นเห็นนี่ ไม่มีสติ อันนั้นมันเป็นมิจฉาสมาธิ

สัมมาสมาธินั้นประกอบด้วยสติ นี่คือตัวที่ชี้ขาดว่าเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ สัมมาๆ ทั้งหลายไม่ทิ้งสติ ขาดสติตัวเดียวไม่มีหรอก สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ ไม่มี ถ้าไม่มีสติ เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิก็ต้องประกอบด้วยสติ สัมมาสมาธิก็ยังแยกออกเป็น 2 ส่วน สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ทำให้จิตได้พักผ่อน จิตมีเรี่ยวมีแรง มีกำลัง อีกอันหนึ่งเป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น สมาธิที่จิตสงบในอารมณ์อันเดียวมีสติอยู่ เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน สมาธิที่จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกว่าลักขณูปนิชฌาน ลักขณูปนิชฌานเกิดยากมาก ต้องเคยฝึกจริงๆ หรือสะสมบารมีมา

เมื่อเช้ามีทิดคนหนึ่งเรียนกับหลวงพ่อมานานนักหนาแล้ว เกิน 10 ปี หรือจะถึง 20 ปีแล้วด้วยซ้ำไป ภาวนาไม่ได้มีสัมมาสมาธิ ภาวนาก็เอาแต่เพ่งให้สงบ เมื่อเช้าหลวงพ่อเลยให้ยาแรง หลวงพ่อพิจารณา ไม่ใช่ให้ยาส่งเดช ไม่ใช่เป็นครูบาอาจารย์บ้าเลือด เจอหน้าใครก็ให้ยาแรง คนไข้ตายหมด หลวงพ่อก่อนจะให้ยาตัวนี้หลวงพ่อพิจารณาแล้ว คนนี้พร้อมแล้วที่จะรับยาแรง มาถามหลวงพ่อว่าทำอย่างไรจะภาวนาดีกว่านี้ หลวงพ่อบอกว่าเลิกภาวนาไป ที่ทำอยู่นั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย พอได้ยินคำนี้ใจสลดเลย ใจสลดแทบจะร้องไห้เลย

หลวงพ่อก็ถามเห็นไหมใจมันสลด เห็น รู้ไหมที่มันสลดลงมาเพราะหูได้ยินเสียง ได้ยินคำพูดของหลวงพ่อแล้วก็แปลความหมาย พอแปลความหมายออกมา จิตมันสลดใจด้วยตัวเอง อยากจะร้องไห้เลย เห็นไหม จิตมันสลด พอเห็นที่จิตสลดปุ๊บ จิตที่สลดก็ดับ จิตผู้รู้ก็ตั้งมั่นขึ้นมาทันทีเลย ตัวผู้รู้ ถ้าเมื่อไรเรามีสติ รู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น ตัวรู้จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ อาศัยสติรู้ทันสภาวะ ทีนี้สภาวะที่หลวงพ่อให้คนนี้ดู หลวงพ่อเล่นยาแรง เลิกปฏิบัติไปเถอะ ถ้าอยากดีกว่านี้ เลิกปฏิบัติไป ที่ทำมา 20 ปี พอได้ยิน ฟังแล้วใจสลดอย่างแรง เสียใจ บอกเห็นไหมเสียใจ เห็น ทันทีที่เห็น ความเสียใจก็ขาดสะบั้น จิตก็ดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วชี้ให้เขาดู ตรงนี้คือจิตผู้รู้ล่ะ

เราทำขึ้นมาไม่ได้ตรงนี้ เพราะว่าจิตเป็นอนัตตา สั่งให้เป็นผู้รู้ไม่ได้ อาศัยสติรู้ทันสภาวธรรมที่กำลังมีกำลังเป็น ตัวผู้รู้มันจะเกิดขึ้น อย่างที่ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ก็จะสอนหลงแล้วรู้ๆ หลงก็เป็นสภาวธรรม ถ้าเรามีสติรู้ว่าจิตหลง จิตหลงก็ดับ จิตผู้รู้ก็เกิด แต่คนนี้ให้ดูจิตหลงไม่พอแล้ว ต้องเล่นของหนักๆ กิเลสตระกูลที่ดูง่ายที่สุดคือโทสะ ดูง่ายที่สุด ความเสียใจเป็นโทสะ มันดูง่าย

เหมือนหลวงปู่ดูลย์บางทีท่านก็เล่นของแรง มีพระคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ ลูกศิษย์ท่านมีองค์หนึ่งคิดว่าตัวเองบรรลุพระอรหันต์แล้ว ภาวนาอยู่ที่พนมรุ้ง ใครเคยไปไหมพนมรุ้ง พอคิดว่าบรรลุพระอรหันต์ ดีใจ แล้วก็นึกถึงพระเพื่อนด้วยกัน นึกถึงหลวงปู่ดูลย์ โอ๊ย พวกนี้คงจะไม่บรรลุเหมือนเราหรอก จิตใจเกิดมหากรุณา เดินจากเขาพนมรุ้งเข้ามาที่วัดบูรพารามที่สุรินทร์ ระยะทางไม่ใช่ใกล้ๆ กี่สิบกิโลเมตรก็ไม่รู้ เดินมาถึงนี่ค่ำแล้ว แล้วก็เที่ยวเคาะประตูกุฏิโน้นกุฏินี้ บอกว่ามีพระอรหันต์มาแล้ว มาฟังธรรม เคาะไปจนถึงกุฏิหลวงปู่ หลวงปู่ก็รู้ว่าโดนวิปัสสนูปกิเลสเข้าแล้ว แต่แก้ยาก ก็เลยบอกว่าเดี๋ยวนิมนต์พระอรหันต์ไปพักในโบสถ์ก่อน เช้าๆ แล้วค่อยคุยกัน ตอนนี้ดึกแล้วคนเขาง่วง เขาฟังธรรมไม่ได้หรอก ท่านก็ยอมเข้าไปพักอยู่ในโบสถ์

พอเช้าขึ้นมาหลวงปู่ก็พยายามแก้ให้ แก้อย่างไรก็แก้ไม่ตก เพราะว่าใจมันฝังแน่นเลยว่าบรรลุพระอรหันต์แล้ว หลายวันเข้าหลวงปู่ก็เลยใช้ไม้ตาย หลวงปู่ยั่วให้โมโห บอก “สัตว์นรก ไปให้พ้น ไสหัวไป” พระอรหันต์โกรธ โกรธแล้วยังไม่เห็นว่าโกรธ “โอ๊ย หลวงตาดูลย์ เราจะมาโปรดแล้วยังไม่เอาก็ช่าง หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่เรา” บอกอย่างนี้ด้วย แทนที่หลวงตาดูลย์ไม่ใช่พ่อเรา กลับบอกหลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่เรา

เดินออกจากวัดบูรพารามไป เดินไปถึงวัดป่าโยธาประสิทธิ์ เดี๋ยวนี้มันเป็นวิทยาลัยครูอะไรอยู่ตรงนั้น ห่างออกไป 3 กิโลเมตร โกรธหลวงปู่อยู่ 3 กิโลเมตร พอไปถึงหน้าวัดป่าโยธาประสิทธิ์ นึกขึ้นได้ เฮ้ย นี่มันโกรธ เห็นสภาวะ ความหลงผิดดับทันทีเลย พอเห็นสภาวะปุ๊บ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา เห็นอะไร เห็นโกรธ ฉะนั้นตัวตระกูลโกรธเป็นกิเลสที่ดูง่ายที่สุด ตระกูลหลงดูยากที่สุด อย่างบอกหลงแล้วรู้ๆ อันนี้พูดเอาง่าย แต่จริงๆ คนมันหลงทั้งวัน มันไม่รู้หรอก ยาก ฉะนั้นดูกิเลสที่เรามี เห็นชัดๆ เอาตัวไหนก็ได้ ทีนี้พอหลวงพ่อบอก “เฮ้ย เลิกปฏิบัติเถอะ ที่ทำอยู่ไม่ได้เรื่องเลย” ใจสลด สติเห็นว่าใจสลด ผู้รู้ก็ตั้งขึ้นมา จิตเกิดปีติ มีปีติน้ำตาจะไหล บอกเห็นไหมมีปีติเกิด เห็น ปีติดับ จิตตั้งมั่น

 

ถ้ารู้สภาวะอย่างที่มีที่เป็นได้ ตัวผู้รู้ก็จะเกิด

ฉะนั้นตัวรู้เองก็สั่งให้เกิดไม่ได้ ถ้าสติเรารู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น จิตมันจะดีดตัวขึ้นมาเป็นตัวรู้เอง อย่างตัวแรกจิตเสียใจ รู้ว่าเสียใจ จิตก็เป็นผู้รู้ตั้งมั่นขึ้นมา ตัวที่สองจิตดีใจ มีความสุข มีปีติ โหย น้ำหูน้ำตาจะร่วง ถ้าปล่อยให้ปีติครอบงำจิตก็ถือว่าใช้ไม่ได้อีกแล้ว เห็นไหมปีติมันไม่ใช่ของไม่ดี ปีติในธรรมะเป็นของดี แต่เป็นของดีก็ไม่ควรจะติด เพราะเราอยากพ้นทุกข์ เราต้องพ้นความปรุงแต่ง ปีติก็เป็นความปรุงแต่งอันหนึ่ง พอมีปีติ รู้ว่ามีปีติ จิตมันก็วางปีติ ตั้งมั่นขึ้นมา บอกจำไว้ นี่ล่ะคือสภาวะผู้รู้ล่ะ เมื่อมีสภาวะเป็นผู้รู้แล้ว ต่อไปไม่ว่าสติจะระลึกรู้รูปธรรมหรือนามธรรม ปัญญามันจะเกิด จิตที่เป็นผู้รู้คือจิตที่ทรงสมาธิ ชนิดลักขณูปนิชฌาน สามารถเห็นไตรลักษณ์ได้ ไม่ใช่สงบนิ่งอยู่ในอารมณ์

เพราะฉะนั้นพอจิตมันดีดขึ้นมาแล้วสติระลึกรู้กาย มันจะเห็นว่ากายเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรา จิตเป็นผู้รู้ตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา คือความสุขทุกข์ในร่างกาย ก็จะเห็นสุขทุกข์ในร่างกายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ สติระลึกรู้เวทนาทางใจ ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉยๆ ในใจ ก็จะเห็นเวทนาในใจเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรา สติระลึกรู้ความจำได้หมายรู้ อันนี้ต้องประณีตถึงจะเห็น ข้ามไปก่อนก็ได้ วันหลังก็เห็น

ความจำได้ไม่ใช่เรื่องแปลก จำได้ว่าคนนี้ชื่ออะไร คนนี้เป็นลูกใคร จำง่าย ถนนหน้าวัดวิ่งไปทางนี้ จะไปบ้านบึง จำอย่างนี้จำธรรมดา จำระดับลึกขึ้นมานิดหนึ่งก็จำสัญลักษณ์ เห็นไฟแดงแปลว่าต้องหยุด เห็นไฟเขียวก็ว่าไปได้ อันนี้จำสัญลักษณ์ได้ อันนี้ก็เป็นสัญญา ความจำได้ จำสัญญาชั้นเดียว สัญญา 2 ชั้น สัญลักษณ์ทั้งหลาย

อีกอันหนึ่งหมายรู้ หมายรู้มีหมายรู้ถูกกับหมายรู้ผิด ปุถุชนทั้งหลายหมายรู้ผิด เพราะฉะนั้น ท่านถึงยังไม่ค่อยพูดถึงสัญญา เพราะตอนนี้เรามีสัญญาผิด ท่านก็สอน บอกให้พยายามสร้างสัญญาที่ถูก เวลาสติระลึกรู้กาย สัญญาที่ถูกก็คือดูลงไป ร่างกายไม่ใช่ของสวยของงาม ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าหมายรู้กายว่าไม่สวย ไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เรียกว่ามีสัญญาถูก ถ้าหมายรู้จิต มันไม่มีสวยไม่มีงามหรอก มันไม่มีร่างกาย หมายรู้นามธรรมก็จะเห็น เออ สุข ทุกข์ ดี ชั่ว หรือจิตใจเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้หมายรู้ถูก ไม่ใช่ตัวเรา

พอจิตเรามีสมาธิพอแล้ว ตั้งมั่นเป็นผู้รู้แล้ว แล้วมันไปรู้ร่างกายแล้วรู้นิ่งๆ เฉยๆ อยู่กับกาย อันนั้นจิตสงบอยู่กับกายเฉยๆ เป็นอารัมณูปนิชฌาน มีสติ เป็นสัมมาสมาธิชนิดสงบเฉยๆ ถ้าอยากให้มันเจริญปัญญา พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ร่างกาย หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายไปเลย สติเกิดไประลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็หมายรู้มองมันเข้าไปในมุมของไตรลักษณ์ สติไปรู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว เช่น โลภ โกรธ หลงอย่างนี้ หมายรู้มันไป

ถ้าเห็นแต่ตัวโลภ เห็นตัวโกรธ ตัวหลง แล้วเราไปจ้องอยู่ที่ตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง ก็เป็นสมาธิชนิดแรก คือสงบอยู่ในอารมณ์เดียว แต่ถ้าเราหมายรู้ลงไป โลภ โกรธ หลงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มอง มองรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายในมุมของไตรลักษณ์ อันนี้ล่ะเรียกว่าหมายรู้ถูก เป็นการมองให้ถูกมุม ถ้าภาษายุคนี้ก็คือมองให้ถูกมุม มองต่างมุมจากที่เคยมอง มุมที่เคยมองก็คือร่างกายนี้คือตัวเรา สุขทุกข์ ก็เราสุขเราทุกข์ จำได้หมายรู้ ก็เราเป็นคนจำได้หมายรู้ ปรุงดีปรุงชั่ว ก็เราปรุงดี เราปรุงชั่ว จิตใจก็เป็นตัวเรา มันเคยแต่หมายรู้ผิด

มาหัดหมายรู้ใหม่ หมายรู้ให้ถูก เห็นร่างกายก็หมายรู้ไป ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ก็หมายรู้ไป โลภ โกรธ หลง ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หัดหมายรู้อย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าหัดหมายรู้ ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาแท้ๆ หรอก วิปัสสนาแท้ๆ มันหมายรู้โดยไม่ได้เจตนา สติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมโดยไม่ต้องเจตนา จิตตั้งมั่นโดยไม่เจตนาให้ตั้งมั่น จิตไปหมายรู้รูปธรรมนามธรรมว่าเป็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนา เห็นไหมมันไม่มีคำว่าเจตนา เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆ ฝึก ทีแรกก็เจตนาไปก่อน พอหมายรู้ถูก ต่อไปมันก็คิดถูก คิดถูกต่อไปจิตมันก็เชื่อ ก็มีความเห็นถูก ค่อยๆ ฝึก

แต่ถ้าเราไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ ไม่มีจิตตั้งมั่น ไม่ต้องมาพูดถึงสิ่งเหล่านี้เลย ถ้าไม่มีจิตผู้รู้จะแยกขันธ์ไม่ได้ เราจะรู้สึกว่ากายใจเป็นก้อนเดียวกันหมดเลย แต่พอเรามีจิตผู้รู้ สติระลึกรู้กาย มันเห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน เรามีจิตผู้รู้ สติระลึกรู้เวทนา เราก็เห็นเวทนากับจิตเป็นคนละอัน จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ สติระลึกรู้สัญญา รู้สังขาร มันก็จะเห็นสังขาร สัญญา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นไตรลักษณ์ ปัญญามันจะเกิดตรงนี้ ถ้าไม่มีจิตที่ตั้งมั่นจะแยกขันธ์ไม่ได้ แยกขันธ์ไม่ได้จะทำวิปัสสนาไม่ได้ เพราะวิปัสสนาจะดูสภาวะทีละอันๆ รูปธรรมเกิดแล้วดับ เวทนาเกิดแล้วดับ สัญญาเกิดแล้วดับ สังขารเกิดแล้วดับ จิตเกิดแล้วดับ อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา ถ้าขันธ์ 5 รวมกันเป็นก้อน มันก็เป็นตัวเราขึ้นมา ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง

หลวงตามหาบัวท่านพูดได้เด็ดขาดมากเลย น่าฟัง ท่านก็สอนอะไรไว้เยอะแยะ แต่ประโยคนี้ถึงใจ ท่านบอกว่า “ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้ อย่ามาคุยกับเราว่าเจริญปัญญา” ทีนี้จะแยกธาตุแยกขันธ์ได้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ต้องตั้งมั่น จิตเป็นผู้รู้ได้ เพราะสติไประลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังมีกำลังเป็น

อย่างเด็กเมื่อกี้นี้ ไม่เด็กแล้วล่ะ อายุสัก 40 แล้วกระมัง จิตสลด โดนหลวงพ่อแกล้ง แทบร้องไห้เลย ร้องแล้วล่ะแต่ร้องอยู่ในใจ หลวงพ่อชี้ให้ดู เห็นไหมจิตมันสลดแล้ว สติระลึกตามที่หลวงพ่อบอก เฮ้ย สลดจริงๆ ความสลดขาดสะบั้นเลย ตัวจิตที่เศร้าโศกตัวนั้นมันเป็นโทสะ มันดับทันที จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา ผู้รู้เกิด นี่วิธีให้ผู้รู้เกิด คือรู้สภาวะ ถ้ารู้สภาวะอย่างที่มีที่เป็นได้ ตัวผู้รู้ก็จะเกิด

อีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีทำฌาน ไม่ได้สอนพวกเรา พวกเราทำฌานไม่เป็นยุคนี้ ที่เรียกว่าฌานๆ ยังไม่ใช่หรอก นั่งทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ ไม่ใช่หรอก เรียกให้มีกำลังใจว่าเข้าฌานนั้นฌานนี้ เวลาเข้าฌานจริงมันไม่มานั่งนับหรอกว่านี่ฌานอะไร นับมันนับทีหลังออกมาแล้วมันถึงจะมานั่งนับได้

 

สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข

พอจิตเราตั้งมั่น เราจะเห็นเลยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณคือตัวจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป มีขึ้นแล้วก็หายไป ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ทั้งกายทั้งใจ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับๆ ไปเรื่อย ไม่พ้นทุกข์ พอเกิดแล้วค่อยดับ ดับแล้วยังเกิดอีก เวียนไปไม่จบ ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น

แล้วจิตมันจะเข้าถึงสภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข สังขารคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น คือกายคือใจทั้งหมดทั้งสิ้นนี่ล่ะ มันเกิดดับๆ พอสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ทุกอย่างที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น จิตก็ปล่อย จิตมันปล่อย จิตก็พ้นจากความปรุงแต่ง เวลาไปงานศพ เคยได้ยินพระสวดไหม “อนิจจา วะตะสังขารา” สังขารคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เที่ยง “อุปปาทะวะยะธัมมิโน” เกิดแล้วก็หายไป “อุปปัชชิตะวา นิรุชชันติ” มีแล้วก็ดับ “เตสังวูปะสะโม สุโข” สังขารทั้งหลายสงบระงับเสียได้เป็นสุข

สังขารทั้งหลายจะสงบระงับได้ หมายถึงใครเป็นคนระงับ จิตที่มีปัญญาแก่รอบ รอบรู้ความจริงของกองสังขารทั้งรูปธรรมนามธรรม มีแต่ของที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น จิตก็วางขันธ์ เมื่อจิตวางขันธ์ได้ จิตก็หลุดพ้น นิพพานปรากฏขึ้นตรงนั้นเลย ไม่มีการส่งจิตไปเข้าพระนิพพาน ถ้าส่งจิตไปเข้าพระนิพพาน ยังเป็นนิพพานที่เกิดๆ ดับๆ อยู่ เป็นนิพพานพรหม ไม่ใช่นิพพานพุทธ นิพพานพุทธ สังขารระงับลงไปตรงนี้ ปล่อยวางขันธ์ได้ ทันทีที่ปล่อยวางขันธ์ 5 ได้นิพพานมันปรากฏอยู่แก่จิตของเราตรงนั้นเลย

บทที่พระท่านไปอยู่ในป่าช้าแล้วไปดูเขาเผาศพ เผาศพคน ผู้หญิงสวยๆ เผาไปเรื่อยๆ ในที่สุดหมด ไม่มีอะไรเหลือ จิตท่านก็เลยอุทาน สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนไปดับไป สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข สังขารสงบที่ไหน สงบที่จิต คือจิตไม่เข้าไปยึดในสังขาร สังขารนั้นก็เลยสงบลงที่จิต ไม่ได้ไปสงบข้างนอกหรอก สงบข้างนอก ก็สงบแล้วเกิดอีกๆ เพราะฉะนั้นตรงที่จิตมันพ้นสังขาร จิตเป็นอิสระจากสังขาร จิตสัมผัสพระนิพพานทันที

เพราะฉะนั้นเวลาพระอรหันต์ท่านคุยกันว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วไปอยู่ที่ไหน ท่านไม่บอกหรอกว่านิพพานแล้วไปอยู่โลกนั้นโลกนี้ ท่านพูดบอกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีคำพูดต่อจากนั้นแล้ว พอจิตมันเห็นความจริง รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตมันทิ้ง มันวาง มันวางสังขาร มันก็เห็นวิสังขารเลย พ้นจากความปรุงแต่ง จิตเป็นอิสระตรงนั้นเลย อันนี้คือเส้นทาง เป็นชาวพุทธ อย่างน้อยตอนนี้ฟังธรรมะอย่างนี้ไว้บ้าง แล้วก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ เป็นฆราวาสทำทานตามที่สมควรจะทำ ไม่ใช่ทำทานบ้าเลือดหมดตัว นั่นโง่แล้วล่ะ ทำตัวเองให้ลำบาก ทำทานโดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ก็ได้ เราเห็นคนเขาทำประโยชน์อะไรก็ไปช่วยเขาทำอะไรอย่างนี้

อย่างคนทำบุญเท่านั้นล้านเท่านี้ล้าน หลวงพ่อได้ยินแล้วหลวงพ่อเฉยๆ หลวงพ่อว่าเคยมี ดาราหรือนักร้องอะไรคนหนึ่งไปช่วยทำงานเก็บศพไม่มีญาติ งานอาสากู้ภัยอะไรพวกนี้ ได้ยินว่าเขาทำงานนี้ หลวงพ่อเกิดปีติ นั่นบุญเขาแรง บุญแรงกว่าบริจาคเงินเยอะๆ อีก เขาทำด้วยกำลัง ทุ่มเทลงไปทำอย่างนี้ หรือบริจาคเงิน หลวงพ่อได้ยินว่าพวกเราบริจาคเงิน ก็เฉยๆ เธอจะบริจาคหรือไม่บริจาค วันหนึ่งเงินของเธอก็ต้องเป็นของคนอื่นอยู่ดีล่ะ แต่กล้าบริจาคโลหิต ต้องเข้มแข็งกว่ากัน เสียเงินง่ายกว่าเสียอวัยวะ เสียร่างกาย หลวงพ่อได้ยินว่าลูกศิษย์ไปบริจาคโลหิตก็มีความปีติ ปลื้มใจ โห ลูกศิษย์เราสมเป็นชาวพุทธ ไม่เห็นแก่ตัว บริจาคโลหิตไม่ได้สตางค์เสียหน่อย ทำความดีโดยไม่เห็นแก่ตัว ลูกศิษย์ก้าวใกล้พระนิพพานเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ฟังแล้วปลื้มใจ

ฉะนั้นที่นี่ไม่มีเรื่องเรี่ยไร เพราะหลวงพ่อไม่ชอบเลยเรื่องเรี่ยไร ใครเขามาเรี่ยไรในนี้หรือมาใช้ที่นี่เรี่ยไร หลวงพ่อไล่หมด หน้าอินทร์หน้าพรหมไล่หมด เพราะฉะนั้นที่นี่ไม่เสียสตางค์ มาเรียนเอาธรรมะ พูดอยู่เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าได้ธรรมะมาด้วยความยากลำบากแล้วท่านให้ฟรี หลวงพ่อก็ได้มาฟรีๆ หลวงปู่ดูลย์ไม่เคยเก็บค่าเล่าเรียนเลย หลวงปู่ทั้งหลายที่หลวงพ่อไปเรียนด้วยก็ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ท่านสอนให้ด้วยความเมตตาล้วนๆ เลย ด้วยความกรุณาล้วนๆ ฉะนั้นเราก็เดินรอยของพระพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์ ธรรมะไม่ขาย ไม่ใช่ของขาย ไม่ใช่ของต่ำทราม เป็นของสูง ให้กันด้วยใจ คนไหนมีจิตใจสุภาพอ่อนโยน สมควรแก่ธรรมะก็ให้ธรรมะ คนไหนยังไม่ได้ ฟังไปก่อน แต่ไม่ไปเบียดเบียนเขาเพิ่ม

อย่างจะไปรีดไปไถไปขอเงินเขา เบียดเบียนเขา ต้องรู้เลยว่าคนขอ ชอบคิดว่าเปิดโอกาสให้เขาทำบุญ ไม่แน่ว่าเขาจะได้บุญ หรือว่าเขาถูกเบียดเบียน ต้องระมัดระวังพวกบอกบุญ จะกลายเป็นทำบาปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ แต่สิ่งที่ดีก็คือให้ธรรมะแก่เขา เป็นบุญที่ใหญ่ ใหญ่กว่าทำทาน ปล่อยวัวปล่อยควาย ปล่อยปลาอะไรอย่างนี้ ดีไหม ดี แต่ดีที่สุดก็ปล่อยกิเลสเราเองนั่นล่ะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กุมภาพันธ์ 2567