วิธีปลดปล่อยใจให้พ้นจากอาสวะ

แปลกดีเหมือนกัน พวกเราชอบเวียนเทียนมากกว่าฟังธรรม เมื่อเช้าคนน้อยกว่านี้ มันก็เป็นเครื่องอาศัย การเดินทางในสังสารวัฏมันยาวนาน บุญทั้งหลายก็เป็นเสบียงของเรา ทำให้การเดินทางมันสะดวกสบาย ไม่มีบุญหนุนหลังชีวิตจะลำบาก ไม่ค่อยมีอยู่มีกิน มีคนเกลียด ถ้าเรามีบุญหนุนหลังก็สุขสบายหน่อย อย่างใจเราเป็นบุญ คนใจบุญด้วยกันก็ดึงดูดกัน ถ้าใจเรามีบาปก็ดึงดูดคนบาปมาอยู่ด้วยกัน สังเกตไหมมันจะรวมเป็นฝูงๆ คล้ายๆ ฝูงสัตว์ รวมคนชนิดไหนมันก็ร่วมกับคนอย่างนั้น อยู่ด้วยกันได้

พวกเราเป็นลูกหลานพระพุทธเจ้า หัดภาวนาให้ดี โอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะในสังสารวัฏนี้ ไม่ใช่ง่ายเลย ช่วงเวลาที่มีพระพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้า มีน้อยมากน้อยอย่างยิ่งเลย ช่วงเวลาที่ไม่ได้พบพระพุทธศาสนาเยอะ อย่างช่วงเวลากัปหนึ่ง บางทีมีพระพุทธเจ้าองค์เดียว หรืออย่างพระพุทธเจ้าเรา สร้างบารมีมา 4 อสงไขยแสนมหากัปที่ได้รับพยากรณ์ ออกมาเผยแพร่ธรรมะ ก็พูดกันไว้ว่าประมาณ 5,000 ปีก็หมด เทียบกับเวลาที่ไม่มีธรรมะ เยอะจนเทียบกันไม่ได้เลย

ตอนหลวงพ่อเด็กๆ เรียนอยู่โรงเรียนวัด ใจมันชอบภาวนา มันภาวนาตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน เราเข้าโรงเรียนชั้นประถม ตอนนั้นประถมปลายไปอยู่โรงเรียนวัด กลางวันร้อนๆ วัดในเมือง ในกรุงเทพฯ แดดทั้งนั้น ร้อนจัดๆ หลบไปนั่งในโบสถ์ ไปนั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ด้วยความเคยชิน มองที่พระพุทธรูป พระประธานก็เปื่อยๆ ผุๆ เคยสงสัยว่าเขาสร้างด้วยอะไร ลองเอานิ้วไปแตะหัวเข่าท่าน อ้าว เป็นผงออกมาเลย เป็นปูน ตอนนั้นเด็กก็คิดว่าพระพุทธเจ้าไม่อยู่แล้ว เปื่อยไปหมดแล้ว

มองออกไปนอกโบสถ์ เห็นพระเดินไปเดินมา จิตมันก็รู้เลย มันรู้มาก บอกว่าที่เดินอยู่ก็ไม่ใช่พระสงฆ์จริง ก็เป็นชาวบ้านมาบวชแต่งชุดพระ นี่ไม่ใช่พระสงฆ์ เด็กๆ ใจมันยังคิดอย่างนี้ได้ แล้วใจมันก็นึก ศาสนาพุทธน่าจะหมดไปแล้ว ต่อไปนี้เราต้องช่วยตัวเองแล้ว ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า เราจะต้องหาทางเดินต่อด้วยตัวเอง ตอนนั้นไม่รู้ว่าเดินไปไหน ไม่รู้ว่าเดินไปทำอะไร แต่รู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ต้องดิ้นรนต่อไป ตรงนี้ยังไม่ใช่ที่ของเรา

โตขึ้นมาได้เจอครูบาอาจารย์ ได้ภาวนา ถึงรู้ว่าจริงๆ แล้วพระพุทธศาสนานั้นจะสูญหรือไม่สูญ อยู่ที่จิตของเรา จิตของเราเป็นที่รองรับพระสัทธรรม ส่วนพระพุทธรูปก็เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อเตือนใจให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า แล้วเราจะได้ไม่ทำชั่ว เราจะได้ตั้งอกตั้งใจทำความดี เป็นเครื่องเตือนใจ ส่วนตัวธรรมะแท้ๆ พระพุทธเจ้าแท้ๆ ไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก อยู่ที่จิตของเรานี่เอง ฉะนั้นครูบาอาจารย์บางทีท่านก็สอนว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมเป็นหนึ่ง เกิดอยู่ที่จิตของเรานี่เอง

หลวงปู่ดูลย์ท่านชอบพูด “จิตคือพุทธะ” ทำไมเราไม่สามารถเห็นพุทธะในจิตใจของเราได้ เพราะมันถูกกิเลสห่อหุ้มอยู่ กิเลสที่มันห่อหุ้มจิตใจเรานั้น ชื่อว่าอาสวกิเลส ตำราเขาบอกเป็นกิเลสที่หมักดองในสันดาน นี่ภาษาโบราณ คล้ายๆ ฝรั่งดอง มะม่วงดอง แช่น้ำ รสเปรี้ยวๆ เค็มๆ อะไรมันก็แทรกอยู่ในเนื้อของมะม่วง ของฝรั่ง อาสวกิเลสมันก็มาหมักดองใจของเรา ใจของเราเลยไม่ใช่ใจที่สะอาดหมดจดหรอก เป็นใจระดับมะม่วงดองเท่านั้นเอง ปนเปื้อน

 

จะไม่ยึดมั่นถือมั่นได้
ก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ “ไม่ถือมั่น” เพราะฉะนั้นคำว่า “ไม่ถือมั่น” ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง

เราจะเห็นความจริงของจิตใจตัวเองได้ เราก็อย่าไปคิดเอาว่าจิตเป็นอย่างไร แล้วก็อย่าไปแทรกแซง อย่าไปบังคับจิต ให้รู้สึกเอา จิตของเราสุขให้รู้ จิตของเราทุกข์ให้รู้ จิตเป็นกุศลให้รู้ จิตโลภ โกรธ หลงอะไร ให้รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเห็นความจริงอันหนึ่งก็คือเห็นไตรลักษณ์ บางท่านภาวนาก็เห็นขันธ์ 5 ไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นให้แตกสลาย บางท่านเห็นมันเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ขันธ์ 5 ก็เป็นแค่สภาวธรรมเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่ว่ามีเหตุให้เกิดขึ้นมา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

ตรงที่เราสามารถเห็นขันธ์ 5 ว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ มันมีเงื่อนไขอยู่ 2 ตัว ตัวที่ 1 มีสัมมาสติ ตัวที่ 2 มีสัมมาสมาธิ ถ้าขาดสัมมาสติ สัมมาสมาธิจะไม่มี ถ้าเราเจริญสัมมาสติให้มาก สัมมาสมาธิจะบริบูรณ์ขึ้นมา อาศัยสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เราจะเดินวิปัสสนาได้ ถ้าขาดสัมมาสติ ไม่มีอะไรเลย สมถะก็ไม่มี ถ้าขาดสัมมาสมาธิ อาจจะมีมิจฉาสมาธิ ทำสมถะ แต่เดินปัญญาไม่ได้ เพราะตัวชี้ขาดว่าจะเดินปัญญาได้ไหม คือตัวสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาเครื่องมือ 2 ตัวนี้ขึ้นมาให้ได้ การเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เราได้เครื่องมือคู่นี้

คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ จุดอ่อนที่สุดเลย คือเรื่องของสัมมาสมาธิ พวกหนึ่งคิดว่าสัมมาสมาธิ ก็คือสมาธินั่นล่ะ พวกหนึ่งเรียนมาก พวกปริยัติเรียนมากๆ บอกสมาธิเป็นเจตสิก เป็นองค์ธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นไม่ต้องฝึก ถ้าไม่ต้องฝึก มันจะต้องมีบทเรียนชื่ออธิจิตตสิกขาทำไม สมาธิมันมีตั้งหลายแบบ

หลวงพ่อตอนเด็กๆ ก็ฝึกนั่งสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ฝึก จิตมันก็รวมสว่าง ว่าง สว่าง สบาย แล้วจิตมันก็มองเข้าไปในแสงสว่าง อยากรู้อยากเห็นอะไร มันก็ออกรู้ออกเห็น ต่อมาก็พบว่านี่ไม่ใช่ ออกไปรู้ไปเห็น ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย อย่างเราไปเห็นเทวดา มันเหมือนเราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี ก็เราไม่ใช่เศรษฐี ไปดูบ้านของคนรวย มันจะได้ประโยชน์อะไร น่าอับอายขายหน้า ไม่ไปดีกว่า

ค่อยๆ สอน ก็เลยพบว่า จิตที่มันจะออกรู้ออกเห็นไปข้างนอก เป็นเพราะจิตมันเคลื่อนตามนิมิตไป เคลื่อนตามแสงสว่างไป เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ เราจะไม่เคลื่อนตามแสงสว่างไปแล้ว ก็ทำกรรมฐานอย่างเดิม พอจิตมันจะเคลื่อนเข้าไปในแสง มีสติรู้ทัน มันไม่เคลื่อน จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา บอก เออ จิตที่ตั้งมั่นก็เป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง ก็ฝึกไปเรื่อยๆ ตอนนั้นไม่มีครูบาอาจารย์ ก็ฝึก ไม่รู้จะทำอะไรก็ฝึกสมาธิอยู่อย่างนั้น ก็พบว่าสมาธิมีตั้งเยอะตั้งแยะ หลายรูปแบบ อย่างเราแผ่เมตตา เจริญเมตตา จิตรวมลงไป ไม่มีแสงอะไรทั้งสิ้น อย่างการเจริญเมตตา เวลาจิตมันจะเกิดสมาธิ มันไม่ผ่านปฏิภาคนิมิต ไม่ผ่านแสง มันรวมปั๊บ ว่างไปเลย

สมาธิมันหลากหลาย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรอก ครั้งหนึ่งก็เคยทำสมาธิประหลาดๆ คิดถึงว่าครูบาอาจารย์ให้เดินทางสายกลาง ถ้าเรามองอยู่ที่ตัวผู้รู้ มันก็เอียงข้างหนึ่ง ถ้าเราไปมองอารมณ์ที่ถูกรู้ มันก็เอียงไปอีกข้างหนึ่ง ถ้าเราไม่เอาทั้ง 2 ข้าง มันจะเกิดอะไรขึ้น ก็เลยกำหนดจิต พอจิตมันจะเคลื่อนไปที่อารมณ์ ไม่ให้แตะ ทวนกระแสกลับเข้ามาที่ตัวรู้ พอจิตจะจับตัวรู้ ก็ไม่เอาตัวรู้ ทวนกระแสกลับเข้าไปหาอารมณ์ ขยับไปขยับมา จิตรวมลงไป ว่าง หมดความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น จิตว่างๆ ไม่มีความคิด ไม่มีเวลา ไม่มีอะไรเลย เหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ อย่างนี้ ทีแรกก็นึกว่าตรงนี้ดี ฝึกไปฝึกมาก็พบว่า มันก็ยังไม่ใช่อีก

ฉะนั้นเรื่องสมาธิมันวิจิตรพิสดาร ค่อยๆ ฝึกของเราไป แต่หลวงพ่อก็ไม่ได้แนะนำว่า ทุกคนต้องฝึกสมาธิมากมาย อย่างที่หลวงพ่อไปฝึกมา ที่หลวงพ่อฝึกสมาธิมามากมาย เพราะหลวงพ่อไม่มีครูที่จะสอนวิปัสสนากรรมฐานให้ ตั้งแต่หลวงพ่อเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อทิ้งสมาธิพวกนี้ ทิ้งหมดเลย ฝึกอย่างเดียวให้จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน บางทีเอาตัวผู้รู้มากไป ตั้งมั่น แล้วเดินปัญญาไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำสมาธิ ตรงนี้ก็เกิดวิปัสสนูปกิเลสอีก ฉะนั้นถ้าไม่มีสมาธิก็เดินปัญญาไม่ได้ ถ้าเดินปัญญาไปแล้วสมาธิไม่พอ ก็จะเกิดวิปัสสนูปกิเลส มี 10 อย่างไปถามกูเกิลดู มันเยอะแยะ

ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ พอเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ แล้ว ก็หัดอ่านจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ ตรงนี้ทีแรกก็ไม่ได้คิดว่า มันสมถะหรือวิปัสสนา หลวงปู่บอกให้ดูจิตก็ดูเลย ไม่คิดมากแล้ว ไม่สงสัยว่ามันสมถะหรือวิปัสสนา ลืมหมดเลย พอมาดูจิตดูใจตัวเอง มันรู้สึกสนุก ของที่ไม่เคยรู้ได้รู้ ของที่ไม่เคยเห็นได้เห็น ของที่ไม่เคยเข้าใจได้เข้าใจ แต่ละวันมีสิ่งแปลกใหม่ ให้เรียนรู้ที่จิตของเรานี้ มากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นรู้สึกสนุก กับการที่จะอ่านจิตอ่านใจของตัวเอง ความรู้ความเข้าใจมันค่อยกว้างขวางออกไปตามลำดับๆ ไม่ได้ดิ้นรนค้นคว้า ค่อยภาวนาอ่านใจตัวเองไป ความรู้ความเข้าใจมันค่อยเพิ่มขึ้นๆ

 

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
รวมลงที่จิตดวงเดียวนี่เอง

หลวงปู่ดูลย์ถึงขนาดเคยบอกว่า “พระธรรม ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ออกไปจากจิตนี้เอง” ไม่ได้ออกมาจากมือ จากเท้า จากท้องอะไรทั้งสิ้น ออกไปจากจิตนี่เอง จิตนั่นล่ะคือพุทธะ จิตนั่นล่ะคือธรรมะ แล้วถ้าเราภาวนาดีๆ จิตเราเข้าถึงธรรมะ จิตเราก็เป็นสังฆะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็รวมลงที่จิตดวงเดียวนี่เอง

ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ รักษาศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ต้องทำ โดยเฉพาะคนรุ่นเรานี้ สมาธิไม่ค่อยมี สมาธิอ่อนมากๆ เลย เพราะฉะนั้นต้องทำในรูปแบบ ตรงที่ทำในรูปแบบ ก็ไม่ใช่เจริญปัญญา ก็ต้องทำความสงบเข้ามาบ้าง เจริญปัญญารวดไปเลย เดี๋ยวเป็นวิปัสสนูปกิเลส ก็ต้องรู้จัก เหมือนเราขับรถยนต์ ตอนนี้จะเหยียบคันเร่ง อันนี้เหมือนเราเดินปัญญา หรือตอนนี้จะต้องเหยียบเบรก อันนี้คือการทำสมถะ ทั้ง 2 อย่างจำเป็น ถ้ารถมีแต่คันเร่ง มันก็ไม่ไหว เดี๋ยวก็ตาย มีแต่เบรกก็ไม่ต้องวิ่งไปไหน อย่างพวกที่ติดสมาธิ เหมือนเหยียบเบรกไว้ตลอด กี่ภพกี่ชาติมันก็ไม่เจริญหรอก มันก็อยู่แค่นั้น หยุดอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้ได้ทั้ง 2 อย่าง

ทุกวันแบ่งเวลาภาวนา วันนี้จิตเราฟุ้งซ่าน ดูจิตก็ไม่ออก ดูกายก็ไม่รู้เรื่อง จิตวอกแวกๆ ทำสมถะ ทำสมถะเข้าไปเลย เคล็ดลับของการทำสมถะ ก็สอนแล้วสอนอีก ปกติก็ไม่ค่อยมีใครเขาบอกหรอก มันเข้าใจยาก หลวงพ่อเล่นพวกนี้มาตั้ง 20 กว่าปี มันแยกแยะออกมาได้ ถ้าเราต้องการทำความสงบ ให้เราเลือกอารมณ์ที่อยู่แล้วมีความสุข เอาอารมณ์นั้นล่ะ แต่ไม่ใช่อารมณ์มีความสุขเพราะกิเลส ต้องเป็นอารมณ์ที่มันไม่กระตุ้นกิเลส อย่างเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับมรณสติ คิดถึงความตาย อยู่กับกายคตาสติ คิดถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์กรรมฐานที่ดี พระพุทธเจ้าก็สอนไว้ให้แล้ว เราก็น้อมจิตของเราไปอยู่ในอารมณ์กรรมฐานนั้น

แล้วก็เคล็ดลับอีกตัวหนึ่งก็คือ เราต้องรู้อารมณ์กรรมฐานนั้นด้วยจิตปกติ อย่าอยากสงบ ถ้าพยายามทำจิตให้สงบ มันไม่มีทางสงบหรอก เรายังไปเค้นจิต ไปบังคับจิต เราทำกรรมฐานไปด้วยจิตใจปกติ ประเดี๋ยวเดียวจิตก็สงบ ถ้าเรารู้จักเลือกอารมณ์ที่เหมาะกับเรา ไม่ใช่เอาอย่างคนอื่น อย่างหลวงพ่อเล่นสมาธิมาเยอะ อยากทำความสงบ เล่นอะไรมันก็สงบ เพราะว่าสมถกรรมฐาน มันไม่เลือกอารมณ์ ใช้บัญญัติก็ได้ ภาวนาท่องพุทโธๆ มันก็สงบได้ สวดมนต์ก็สงบได้ ดูรูป ดูร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนังอะไรอย่างนี้ ดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่างนี้ก็สงบได้ ดูจิตดูใจก็สงบได้

ฉะนั้นเรา เบื้องต้นไม่ต้องเอาทุกอย่าง เอาที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง อยู่แล้วสบายใจ เอาอันนั้น พอวันไหนจิตเราฟุ้งซ่าน เราก็ทำความสงบ วันไหนจิตเราสงบดีแล้ว เราจะเห็นพฤติกรรมของจิต เห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิต การดูจิตเราดู 2 อัน อันหนึ่งดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิต อย่างจิตเราสุข จิตเราทุกข์ จิตตอนนี้โลภ โกรธ หลงอะไรนี้ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้งความสุขทุกข์ ทั้งดี ทั้งชั่ว เป็นเจตสิก เป็นความรู้สึกที่แทรกเข้ามาในจิต

การดูจิตอีกลักษณะหนึ่ง ก็ดูพฤติกรรมของจิต จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ออกไปรู้อารมณ์ทางตา เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตที่ไปฟังเสียง เดี๋ยวเป็นจิตผู้รู้ เป็นจิตดมกลิ่น เป็นคู่ๆๆ ไปเรื่อย อันนี้หมายถึงเราต้องมีจิตผู้รู้ก่อน ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ จิตเราจะร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โคจรไปเรื่อยๆ ไปโคจร ไปแสวงหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้ไม่ได้หรอก เราต้องมีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ก่อน แล้วเราจะเห็นว่าจิตผู้รู้ก็ไม่คงที่ เดี๋ยวก็หลงไปคิดแล้ว ผู้รู้ดับ เกิดเป็นผู้คิด พอเรารู้ทันว่าจิตหลงคิด จิตหลงคิดดับเกิดจิตผู้รู้ พอดีเห็นคนเดินผ่านมา จิตมันสนใจ จิตผู้รู้ก็ดับ เป็นจิตไปดูรูป จะเห็นจิตมันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ก็ได้

เพราะฉะนั้นการดูจิตดูได้ 2 ลักษณะ อันหนึ่งดูอารมณ์ ดูความรู้สึก ดูความรู้สึกที่เกิดกับจิต จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีจิตชั่วก็รู้ อีกอันหนึ่งดูพฤติกรรมของจิต มันไปทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูอันไหนก็ได้ แล้วมันสอนไตรลักษณ์เหมือนๆ กัน สอนไตรลักษณ์อย่างไร จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตสุขก็รักษาไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ห้ามมันไม่ได้ จิตเป็นกุศลอกุศลก็เหมือนกัน ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่บังคับไม่ได้ ถ้าเห็นจิตที่เกิดดับทางอายตนะ ยิ่งเห็นหนักบ่อยๆ จะรู้เลย จิตเป็นอนัตตา มันจะเห็นรูป หรือมันจะฟังเสียง หรือมันจะเป็นผู้รู้ สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ จิตมันเป็นของมันเอง

 

จิตหลุดพ้นจากอาสวะ
เพราะความไม่ถือมั่นในขันธ์ 5

ดูซ้ำๆๆ ไป ในที่สุดปัญญามันก็แทงทะลุลงไป ขันธ์ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวจิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเรารู้ความจริงแล้ว พอเราเห็นขันธ์ 5 ทั้งกายทั้งใจ ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเห็นความจริง เพราะเห็นความจริงก็จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น ตรงที่หลุดพ้นก็คือ จิตมันหมดความยึดถือในร่างกาย หมดความยึดถือในจิตใจ ทันทีที่จิตมันรู้แจ้งแทงตลอดตัวนี้ มันหมดความยึดถือ

มันรู้อะไร มันรู้อริยสัจ 4 มันรู้ว่าขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ไม่เห็นจะมีของดีเลย มันทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้ มันเห็นขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ก็เพราะทำวิปัสสนานั่นล่ะ พอเห็นขันธ์ 5 เป็นทุกข์ มันก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็วาง วางกาย วางจิต มันวางกายก่อนแล้ววางจิตทีหลัง ตรงที่วางกายได้ก็ได้อนาคามี ตรงที่วางจิตได้ก็จบ ไม่มีอะไรจะต้องวางต่อไปแล้ว

แล้วตรงที่สามารถวางจิตได้ จิตมันจะพรากออกจากขันธ์ จิตมันจะแยกตัวออกจากขันธ์ ขันธ์ก็ส่วนขันธ์ จิตที่พ้นจากขันธ์มันมีอยู่ มันเป็น เขาเรียกว่าเป็นขันธ์เหมือนกัน แต่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ มันเป็นขันธ์อีกชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ อุปาทานขันธ์ก็ขันธ์อย่างที่พวกเรามีนี่ล่ะ แกว่งไปแกว่งมา เพราะฉะนั้นจิตมันจะพรากออกจากขันธ์ มันไม่เข้าไปรวมกับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตรงที่มันไม่เข้าไปรวมกับขันธ์ มันก็จะไม่รวมเข้ากับอาสวกิเลสด้วย อาสวกิเลสจะหลุดออกไปเลย จะหลุดออกไป ไม่ใช่ดับไป ในพระไตรปิฎกก็พูดชัดอยู่ “จิตหลุดพ้นจากอาสวะ” หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ได้ล้างอาสวะ จิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 นี่ล่ะ

เพราะฉะนั้นงานหลักของเราจริงๆ ก็คือรู้ขันธ์ 5 ตามความเป็นจริง จะรู้ได้ต้องมีสติกับสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันความมีอยู่ของกายของใจ สติรู้ทันความเคลื่อนไหวของกายของใจ รู้โดยที่มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคนดู ถ้าเรามีเงื่อนไข 2 ตัวนี้ มีสัมมาสติกับสัมมาสมาธิ ไม่ต้องคิดเรื่องปัญญา ปัญญาเกิดเอง มันจะเห็นว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเอง พอเห็นจนแจ่มแจ้ง มันก็วาง พอวางคราวนี้จิตก็หลุดพ้นแล้ว จิตจะไม่สร้างภพขึ้นมาอีก

ตรงจิตสร้างภพ จะว่าดูยากก็ยาก ถ้าภาวนาช่วงหนึ่งก็ดูไม่ยาก เราเห็นไหมจิตของเราสร้างภพตลอดเวลา รู้สึกไหม มันเข้าไปสร้างอะไรอย่างหนึ่ง มันสร้างโลกภายในของมันอยู่ อันนี้เป็นภพข้างนอก ตัวสำคัญคือภพในใจเรา มันสร้างอยู่ตลอดเวลา จะนั่งทำกรรมฐาน ก็สร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพของนักปฏิบัติเป็นแบบไหน เช่น เคร่งๆ ขรึมๆ เครียดๆ หนักๆ แน่นๆ อะไรอย่างนี้ ไปสร้างขึ้นมา มีตัณหาอยู่เบื้องหลัง แล้วตัณหาเรามันมีเยอะ มันก็สร้างภพอยู่ตลอด เวลาจะเป็นคนดี ก็สร้างภพของคนดี เวลาชั่วก็สร้างภพของคนชั่ว สังเกตจิตของเรา อ่านจิตออก เราจะรู้เลยจิตมันสร้างภพตลอดเวลา

บางทีจิตก็ถูกราคะย้อม ในขณะนั้นเราได้ภพของเปรตแล้ว บางทีจิตเราถูกโทสะ ความเศร้าหมองย้อม ตอนนั้นจิตของเราสร้างภพของสัตว์นรกขึ้นมาแล้ว บางทีจิตเราสร้างภพหลง นั่งแล้วหลงๆ เผลอๆ เพลินๆ จิตเราสร้างภพของสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาแล้ว จิตมันสร้างภพอยู่ตลอดเวลา กระทั่งเป็นนักปฏิบัติมันก็สร้าง สังเกตให้ดีเถอะ มันก็คือความปรุงแต่ง ถ้าเราภาวนา ลงมือทำแล้วรู้สึก โอ้ ไหล่แข็งๆ คอแข็งๆ อันนี้เรายังดูเข้าไปไม่ถึงจิต แต่เราดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างถ้าเราจงใจปฏิบัติมากๆ มันจะแน่นๆ คอแข็งๆ หลังปวดๆ อะไรอย่างนี้ เราก็อาศัยตัวนี้สังเกตได้ เฮ้ย นี่จะต้องมีการบังคับจิตเกิดขึ้นแล้ว สร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นแล้ว ต่อไปเราก็อาจจะเห็น โดยที่ไม่ต้องไปผ่านร่างกาย จิตไปสร้างอะไรปุ๊บ มันเห็นเองเลย เพราะฉะนั้นการอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ต่อไปจะรู้เลย จิตสร้างภพก็รู้เลย อะไรทำให้จิตสร้างภพ ก็ตัณหานั่นล่ะทำให้จิตสร้างภพ แล้วจิตสร้างภพ ไม่ว่าภพดีภพวิเศษอะไร สิ่งที่ตามมาคือทุกข์แน่นอน

 

ถ้าอ่านจิตขาด จิตต้องปลอดจากอาสวะได้

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ แล้วมันจะรู้เลยว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป แล้วใจมันก็วาง มีแต่ทุกข์ ดิ้นรนหาความทุกข์หรือ จิตก็ไม่เอา จิตมันก็วางของมันเอง ไม่ต้องคิดจะวาง มันวางของมันเอง พอมันวางได้ คราวนี้พอจิตจะสร้างภพ มันเห็นแล้ว จิตพ้นจากอำนาจของภวาสวะ อาสวะคือภพ

เวลาเราเซลฟ์จัด เราเจ้าความคิดเจ้าความเห็น อันนี้เป็นอิทธิพลของทิฏฐาสวะ เรายึดมั่นในในความคิดความเห็นของเราเอง ของเรามีอาสวะอยู่ เราก็ไปดูเอา มันยังมาย้อมจิตเราได้ กามาสวะ จิตของเราติดสุข ติดสบาย จิตมันชอบความสุขความสบาย มันก็มาย้อมใจให้เพลิดเพลิน ให้หลงโลก หลงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หลงคิดนึกอะไรที่สนุกสนานไป อันนี้เป็นอิทธิพลของกามาสวะ แล้วก็อวิชชาสวะ มันจะกลัวทุกข์ สัญชาตญาณไม่อยากเจอทุกข์เลย ไม่อยากเห็นทุกข์เลย รู้สึกไหม เราภาวนา เราไม่อยากเจอทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าสอนเราว่าทุกข์ให้รู้ ไม่ได้ให้ละ ไม่ได้ให้หนี เพราะฉะนั้นอวิชชาสวะ มันก็จะกันไม่ให้เรามารู้ทุกข์หรอก อาสวะ 4 ตัวนี้ มันจะทำให้เราอ่านจิตตัวเองได้ไม่ขาด ถ้าอ่านจิตขาด จิตต้องปลอดจากอาสวะได้

อย่างจิตเราจะสร้างโลกอะไรขึ้นมาสักโลกหนึ่งภายใน รู้ทันปุ๊บ ไม่สร้าง จิตจะหลงไปในโลกของความคิด ก็จะไปยึดไปถือแต่ความคิด รู้ทันปุ๊บก็ไม่หลง ไม่หลงไปในโลกของความคิด จิตมันจะโหยหาความสุขความสบาย ความสนุกสนาน รู้ทัน จิตก็ไม่ถูกกามาสวะย้อม มันไม่ใช่เรื่องยาก มันทนสติทนปัญญาเราไม่ได้หรอก ค่อยๆ สังเกตไป อาสวกิเลสนี่ล่ะเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา เกิดอวิชชาอย่างไร อวิชชาคือการไม่รู้ทุกข์นั่นล่ะพูดง่ายๆ เวลาที่เราหลงเพลิน หาความสุขกับโลกเพลินๆ ไป เรารู้กายรู้ใจได้ไหม ไม่ได้ เวลาเราหลงเพลินดูซีรีส์สนุก สนุกมาก ในขณะนั้นมีความสุข เสวยกามอยู่ แต่ไม่สามารถรู้ทุกข์ ขณะนั้นมีกายลืมกาย มีจิตลืมจิต

ในขณะที่เราหลงกับภวาสวะ หลงอยู่ในภพ กูใหญ่ กูเป็นโน่น กูเป็นนี่อะไรขึ้นมา ในขณะนั้นไม่ได้รู้ความจริงเลยว่า มึงไม่ได้เป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง นอกจากตัวทุกข์ มันไม่เห็นหรอก ภวาสวะเกิด มันก็ทำให้มองไม่เห็น ไม่เห็นอริยสัจ ไม่สามารถล้างอวิชชาได้ ฉะนั้นอาสวะมันหล่อเลี้ยงอวิชชา ค่อยๆ เรียนไป หรือความคิด เจ้าความคิดเจ้าความเห็นเกิด ขณะที่เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ยึดถือความคิดความเห็นอยู่ จิตมันไม่รู้กายรู้ใจ ขณะที่อวิชชาสวะเกิด มันเกลียดทุกข์ มันรักสุขเกลียดทุกข์ รักสุขก็เพราะกาม เกลียดทุกข์ก็เพราะว่าไม่อยากรู้ความจริง เวลาเราไม่อยากรู้ทุกข์ เราก็ไม่สามารถดูกายดูใจของตัวเอง แล้วเห็นความจริงว่า จริงๆ มันคือตัวทุกข์

อาสวกิเลสกับอุปาทาน ฟังแล้วบางทีบางตัวซ้ำๆ กัน แต่ลีลาอาการไม่เหมือนกัน อาสวกิเลสเป็นกิเลสที่เข้ามาย้อม ซึมซ่านเข้ามาในจิต อุปาทานเป็นกิเลสที่ผลักดันจิตให้กระโจนออกไปตะครุบอารมณ์ ลีลาไม่เหมือนกัน อาสวะประณีตกว่าตัวอุปาทานมากเลย อันนี้เราภาวนายังไม่เห็นอาสวะไม่เป็นไร ถ้าจิตไปยึดอะไรคอยรู้ไว้ จิตยึดในรูป เสียง กลิ่น รส นี้ก็เป็นกามุปาทาน ความยึดในกาม ทิฏฐปาทาน ยึดในความคิดความเห็น อัตตวาทุปาทาน ยึดในความรู้สึกว่าตัวกูมีอยู่ มีวาทะว่าตัวเรามีอยู่ อันนี้เป็นลูกน้อย ลูกเล็กๆ ตัวหนึ่งของอวิชชา ของโมหะ มันไม่เหมือนกัน ลีลามันไม่เหมือนกัน

อาสวะประณีตมากเลย ดูยาก ถ้าจิตไม่เคยหลุดออกมา ไม่เคยรู้เลยว่ามีอาสวะย้อมอยู่ตลอดเวลา แต่อุปาทานค่อยภาวนาไป เห็นว่ามีตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทาน อุปาทานแล้วก็เกิดอะไร เกิดภพ คือความดิ้นรนของจิต เกิดภพแล้วก็เกิดชาติ ในขณะที่มีอาสวะก็จะเกิดอวิชชา คือไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือสังขาร สังขารนี้ถ้าจิตเข้าไปยึดไว้ เกิดด้วยอำนาจของอุปาทาน ความยึดจะเป็นภพ แต่ถ้าสังขารที่มันปรุงขึ้นมา ด้วยกำลังของอวิชชาเฉยๆ ยังไม่ได้เข้าไปยึด อันนั้นคือสังขาร “อวิชชา ปัจจยา สังขารา” ธรรมะบางทีชื่อมันซ้ำกัน หรือคำอธิบายแปลความหมายมันซ้ำกัน แต่เนื้อหามันไม่เหมือนกันหรอก ถ้าไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่แจกแจงเอาไว้ละเอียดขนาดนั้นหรอก

เราเรียนปฏิจจสมุปบาท ค่อยๆ เรียน เรียนเท่าที่เราเห็นก่อน แล้วต่อไปอ่านใจตัวเองได้ดี แล้วมันจะเห็นกิเลสได้นานาชนิดขึ้น กิเลสมีตั้งเยอะ นิวรณ์เป็นกิเลสที่ขวางกั้น ไม่ให้เราทำคุณงามความดี ทั้งทางโลกทางธรรม อาสวะเป็นกิเลสที่ย้อมใจเอาไว้ ทำให้เราไม่เห็นอริยสัจ ตัวอุปาทาน ตัณหา อุปาทาน ทำให้เราเข้าไปสร้างภพ แต่ละตัวทำหน้าที่ต่างๆ กัน สังโยชน์ พอเราสร้างภพ จิตมันจะผูกพันอยู่กับภพ สังโยชน์เป็นกิเลสที่ทำหน้าที่ผูกจิตไว้ในภพ แต่ละตัว มันมีลีลา มีอาการ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่ได้พูดออกมา ชื่อกิเลสได้ตั้งเยอะตั้งแยะ แล้วบอกว่าจริงๆ ตัวเดียวกัน ไม่ใช่หรอก อาการมันไม่เหมือนกัน ค่อยๆ ภาวนา แล้วก็จะรู้จะเห็นด้วยตนเอง

หลวงพ่อบอกไว้เป็นแผนที่ให้เรา วันหนึ่งเราก็ต้องใช้ เมื่อก่อนหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ให้แผนที่หลวงพ่อไว้ฉบับหนึ่ง ครั้งสุดท้ายที่ไปกราบท่าน ท่านบอกว่า “จำไว้นะ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” เป็นแผนที่ที่ห่างไกลมากเลย กับความรู้ความเข้าใจในขณะนั้น เราเพิ่งเดินได้นิดหน่อย แล้วท่านให้แผนที่สุดทางเลย หลวงพ่อก็ให้แผนที่เอาไว้ แล้ววันหนึ่งข้างหน้าพวกเราเดินไป ก็จะรู้จะเห็นได้

วันนี้เทศน์ให้ฟังเล็กๆ น้อยๆ สังเกตไหมเมื่อเช้าเทศน์บ้านๆ เลย ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะส่วนใหญ่ของคนที่มาตอนเช้า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ พวกขยันภาวนา Active มันมาชุมนุมกันตอนเย็น โดยมิได้นัดหมาย เอ้า ต่อไปพระอาจารย์อ๊าจะพาพวกเรา พวกเรานั่งสมาธิไป พระอาจารย์อ๊าจะพาพวกพระสวดถวายพรพระ เดี๋ยวเราจะเดินจงกรมแล้ว ถวายพรพระสักหน่อย อย่าเพิ่งให้พระให้พร ถวายพรพระกันก่อน นิมนต์อาจารย์

 

(คณะสงฆ์สวดถวายพรพระ)

 

รอบนี้เราเวียนเทียนกันนานมาก คนข้างนอกเยอะกว่าคนในนี้ ในแง่ดีก็คือ คนยังสนใจเข้าวัดอยู่ เป็นเรื่องดี อีกอย่างหนึ่งเย็นนี้ อาหารมื้อเย็นของโยมจะอร่อยกว่าทุกวัน ในสถานการณ์อันใดอันหนึ่ง เราวางใจให้เป็นกุศลก็ได้ วางใจให้เป็นอกุศลก็ได้ อย่างเราเวียนเทียนเสร็จแล้ว เรานั่งรอคนที่เขายังไม่เสร็จ การรอเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง สำคัญมากเลย ถ้าเรารู้จักรอ ถ้าใจร้อนรอไม่ได้ เราไม่มีความสุข ในชีวิตจริงๆ ของเรา บางเรื่องเรารู้สึกปัญหาร้ายแรง จะแก้อย่างไรดี แก้ไม่ตก รอสักนิดหนึ่งเดี๋ยวปัญหามันก็แก้ตัวเองได้ เพราะมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ถ้าเรารู้จักรอ รอ

มีเวลาอย่างนี้ เราภาวนาไปเรื่อยๆ หลวงพ่อก็เห็นพวกเราที่อยู่ในศาลา นั่งภาวนากัน สิ่งที่ทำก็มี 2 – 3 แบบ อันหนึ่งก็ปรุงดี อันหนึ่งก็ปรุงไม่ดี หงุดหงิด รอนาน อีกอันนั่งไปๆ เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว คอยรู้ทันความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง เมื่อใจพ้นความปรุงแต่งได้ ก็มีความสุขมาก เหมือนที่พระชักบังสุกุลแล้วบอกว่า “สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข” ของเรามันแต่งไม่เลิก แต่งไปเรื่อยๆ นั่งสมาธิก็นั่งแต่งจิต ทำอะไรก็นั่งแต่งไปเรื่อยๆ ไม่จงใจปฏิบัติก็แต่งชั่ว หลงๆ ไป เมื่อเราอยู่กับความปรุงแต่ง ให้รู้ทันมัน วันหนึ่งใจก็อยู่เหนือความปรุงแต่งได้

วันนี้ก็เสร็จแล้ว คนสุดท้ายวางดอกไม้แล้ว ต่อไปพระอาจารย์อ๊าจะนำพระสงฆ์ให้พร ที่จริงพวกเราได้พรไปแล้ว คือเราได้สร้างคุณงามความดี นั่นล่ะพรสำคัญ ส่วนพรที่พระให้นี้เป็นกำลังใจ แผ่ส่วนบุญ ถือว่าได้บุญไปแล้ว

 

(แผ่ส่วนบุญ และให้พร)

 

อนุโมทนานะ ความดีทำแล้วรักษาไว้ให้มันงอกงามขึ้นไปอีก ไป เชิญกลับบ้าน

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กุมภาพันธ์ 2567 (ช่วงบ่าย)