ใช้ร่างกายให้เกิดประโยชน์

ที่เราเดือดร้อนวุ่นวายกันทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของกาย เรื่องร่างกาย ตั้งแต่เด็กๆ ต้องอาศัยพ่อแม่เลี้ยง มีร่างกายขึ้นมา อายุยังน้อยๆ เราก็รู้สึกร่างกายนี้ดี เชื่อฟัง เป็นเครื่องมือให้จิตเที่ยวแสวงหาความสุข ยังเด็กๆ ไม่ค่อยรู้สึกว่าร่างกายเป็นตัวทุกข์ ยังรู้สึกร่างกายเป็นของดี จิตมันเข้ามาครอบครองกายอยู่ ก็เลยคิดว่ากายเป็นตัวเรา เป็นของเราไป พอมีร่างกาย เราอาศัยกายไปหาความสุขจากการดูรูป การฟังเสียง การดมกลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสที่พึงพอใจ เอาร่างกายไปใช้งาน

พอใช้ไปๆ มันก็เหมือนวัตถุสิ่งของในโลก อย่างบ้านสร้างมานานๆ มันก็เก่า รถยนต์ขับไปนานๆ มันก็เก่า บางทีไม่ได้ขับ จอดทิ้งเฉยๆ ก็เก่า ร่างกายก็เหมือนบ้าน เหมือนรถยนต์นี้ แรกๆ ก็ใช้งานได้ดี พอนานๆ ไปก็ใช้งานไม่ค่อยดีแล้ว ชำรุด เราเคยปลูกฝังความรู้สึกว่าร่างกายคือตัวเรา คือของเรา พอตัวเราของเราชำรุดไป เสื่อมไป เจ็บป่วยอย่างนี้หรือแก่ มันก็รู้สึกทุกข์ทรมานใจ นี่ทุกข์ สิ่งที่เราอาศัยมาแล้ว เราก็เชื่อมั่นว่าคือตัวเรา คือของเราอย่างแท้จริง แปรปรวนไป เราไม่อยากให้มันแปรปรวน ไม่อยากให้มันแก่ ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันตาย ใจมันก็กังวล เร่าร้อน กังวล อย่างตอนนี้เราก็เครียด กลัวจะติดเชื้อโควิด ถามว่ากายหรือใจติดโควิด ร่างกายติด มันเป็นร่างกาย มันคือตัวเรา ก็เป็นเราติด

 

ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

ฉะนั้นเรามาหัดภาวนา แยกกายกับจิตออกจากกัน ก็ต้องฝึก แล้วต่อไปเราจะเห็นว่าร่างกายเรามันแก่ มันไม่ใช่เราแก่ มันคล้ายๆ บ้านที่อยู่มานานมันเก่าไป บางทีร่างกายมันเจ็บป่วย เหมือนบ้านมันชำรุด ถูกปลวกขึ้นมากินบ้านให้ผุอะไรอย่างนี้ พอเราค่อยๆ ฝึกไป เราเห็นร่างกายมันเหมือนบ้านเท่านั้นล่ะ หรูหราแค่ไหน อยู่ไปเรื่อยๆ มันก็ทรุดโทรม พอทรุดโทรมเต็มทีอยู่ไม่ไหว ทำอย่างไร ก็ต้องย้ายบ้าน ย้ายบ้านคือไปเกิดที่อื่น ไปหากายเอาใหม่ ฉะนั้นกายนี้คือบ้าน เราอยู่มานาน เราก็เลยคิดว่าบ้านคือของเรา เราเป็นเจ้าของ ถ้ากายนี้เราอยู่ด้วยมาตั้งแต่เกิด เรารู้สึกนี่ของเรา นี่คือตัวเรา นี่คือของเรา บ้านมันห่างออกไปหน่อยแล้ว เรารู้สึกนี่บ้านของเรา ร่างกายมันก็มีธรรมชาติต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

ค่อยๆ ฝึกตัวเองให้เห็นความจริงว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก ปุถุชนก็ทำได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนบอกว่า ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ คือคนซึ่งไม่เคยได้ยินธรรมะเลย สามารถเห็นได้ว่ากายไม่ใช่ตัวเรา เพราะฉะนั้นอย่างพวกเราจะเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เรื่องยาก ถึงจะเป็นปุถุชนก็มองเห็น วิธีที่เราจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา เราก็ต้องแยกขันธ์ออกมาให้ได้ แยกกายกับจิตออกจากกัน จิตนี้มันมาอาศัยอยู่ในร่างกาย จิตเป็นเจ้าของบ้าน กายเป็นบ้าน อย่างบางคนอยู่บ้านก็ดูแลรักษาบ้านดี บ้านก็ชำรุดช้า บางคนไม่ดูแล ใช้งานอย่างเดียว บ้านก็พังเร็วอะไรอย่างนี้

ร่างกายนี้เหมือนกัน บางคนตะบี้ตะบันใช้ นอนดึกๆ เล่นโน่นเล่นนี่ไป นอนดึก ตื่นก็สายๆ บางทีถ้าต้องทำงาน ต้องตื่นเช้าๆ ก็ฝืน ทรมานร่างกาย พาร่างกายไปทำงาน นั่งรถเมล์ไป นั่งรถไฟฟ้าไป ขับรถไป ร่างกายมันก็เหนื่อย ไปทำงาน ทำงานเสร็จแล้วแทนที่จะให้มันพักผ่อน จิตยังอยากเสพมากกว่านี้อีก ก็ไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ ตะบี้ตะบันใช้ร่างกายเที่ยวผับเที่ยวบาร์ ดึกดื่นตี 1 ตี 2 อะไรอย่างนี้ ใช้งานหนักเกินไป ร่างกายก็ทรุดโทรม มันเหมือนเรามีรถยนต์ เราขับทั้งวันเลยใช้ทั้งวันใช้ทั้งคืน ไม่ให้พักเครื่องยนต์เลยก็พังเร็ว พอพังแล้วก็โวยวายหาทางแก้ไข พยายามไปหาหมอ ไปทำศัลยกรรม ไปเสริมสวยอย่างโน้นอย่างนี้ คล้ายๆ ซ่อมบ้าน ซ่อมแบบเข้าท่าบ้าง ซ่อมแบบไม่เข้าท่าบ้าง อย่างบ้านทรุดโทรมมากหรือรถยนต์ทรุดโทรมมาก ก็ไปแค่ทาสีใหม่ ไม่ได้ไปปรับปรุงอะไร อย่างพวกแก่แล้วก็ไปดึงหน้าให้ตึงอะไรนี่ ก็เหมือนทาสีบ้านหลอกๆ ที่จริงคือมันชำรุดแล้ว มันเก่า มันคร่ำคร่าหมดอายุ

 

ถ้าเราเห็นความเป็นธรรมดาของร่างกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะร่างกาย
ที่เราทุกข์เพราะร่างกายขึ้นมา เพราะเรายอมรับธรรมดาของกายไม่ได้

 

ความจริงของร่างกายก็คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันก็ต้องทรุดโทรม ต้องแก่ ต้องเจ็บ สุดท้ายก็ต้องตาย มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น ถ้าเราอยู่กับมัน เราคิดว่าร่างกายคือตัวเรา มันก็เลยเป็นเราแก่ เราเจ็บ เราตาย พยายามฝึกตัวเองให้เห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ปุถุชนที่ไม่ได้สดับก็สามารถทำได้ อันนั้นเขาทำด้วยการเห็น มีประสบการณ์ อย่างคนซึ่งไม่เคยภาวนา เขาเห็นร่างกายมันไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะเขาเคยเห็นคนอื่น คนโน้นก็แก่ คนนี้ก็เจ็บ คนนี้ก็ตาย แต่ก่อนยังหนุ่มยังสาว แข็งแรง สุดท้ายก็หนีไม่พ้น แก่ เจ็บ ตายไป เห็นซ้ำๆ ใจยอมรับ

พอใจยอมรับความจริงได้ พอร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย รู้สึกว่าธรรมดา ใจก็ไม่ทุกข์ คือถ้าเราเห็นความเป็นธรรมดาของร่างกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะร่างกาย ที่เราทุกข์เพราะร่างกายขึ้นมา เพราะเรายอมรับธรรมดาของกายไม่ได้ ฉะนั้นวิธีที่จะฝึกตัวเองให้ยอมรับได้ก็คือมาดูจริงๆ ว่ากายนี้มันดีมันวิเศษจริงอย่างที่เราคิดมาหรือเปล่า ยังเด็กยังหนุ่มยังสาวใช้งานร่างกายได้คล่องแคล่ว วิ่งก็วิ่งได้เร็วๆ ทำอะไรก็รวดเร็ว แข็งแรง ไม่ค่อยจะเจ็บป่วย อายุเยอะขึ้น เดินให้เร็ว ยังเดินไม่ได้เลย เดินเฉยๆ ช้าๆ ยังเดินลำบากเลย เราเห็นทีแรกเราเห็นคนอื่นก่อน แล้วก็ความจริงมันค่อยๆ สอนให้ใจเรายอมรับ

 

 

อย่างก่อนที่หลวงพ่อจะเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อก็มีนิสัยชอบไปงานศพ งานแต่งงาน งานอะไรนี่เลี่ยงได้จะเลี่ยงตลอดเลย มันงานลวงโลก ดีใจ สรวลเสเฮฮาประเดี๋ยวหนึ่ง อยู่กันไม่นานเดี๋ยวก็ตีกัน หย่ากัน เลิกกันอะไรอย่างนี้ ดูมันจอมปลอม แต่ไปงานศพมันเห็นความจริง พระพุทธเจ้าท่านเคยสอนว่าซากศพเป็นดอกไม้ของพระอริยะ เรายังไม่ได้เป็นพระอริยะหรอก แต่ว่าใจเราชอบภาวนา หลวงพ่อชอบไปดูงานศพ ใครตายพอรู้จักอยู่ เราก็ไป ไปรดน้ำไปอะไร ฟังสวดไปอะไร เวลาไปงานอย่างนี้ใจมันสลดสังเวช มันเป็นการเตือนตัวเองว่าไม่นานต่อไปข้างหน้าเราก็ต้องมานอนอยู่ในโลงนี้เหมือนกัน ถ้ามีโลงให้นอน ทุกคนมีบั้นปลายของชีวิตอย่างเดียวกัน

พอเห็นอย่างนี้มันไม่หลงระเริง ไม่รู้จะดิ้นรนหาความสุขอะไรในโลกนักหนา โลกมันสุขจริงหรือ มันสุขสำหรับคนหลงเท่านั้น คนไม่หลง โลกนี้ก็ไม่มีอะไรหรอก เที่ยวแสวงหาอะไรตั้งมากมาย สุดท้ายก็ต้องปล่อยวาง ทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่แสวงหามา อย่างหาเงินมามากมาย สุดท้ายก็ต้องทิ้งไว้ คนอื่นเอาไปใช้ มีบ้านสุดท้ายก็ต้องทิ้งไว้ คนอื่นเอาไปใช้อะไรอย่างนี้ ไม่ว่ามีอะไร สุดท้ายก็ต้องทิ้งหมด กระทั่งร่างกาย เวลาไปงานศพใจมันจะพิจารณาอย่างนี้ หลวงพ่อจะไม่ไปเพลิดเพลินอยู่กับโลกเลย มันจะขยันภาวนา ทำอย่างไรเราจะพ้นจากสภาพอย่างนี้ได้ เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านเห็นคนแก่ ท่านเห็นคนเจ็บ ท่านเห็นคนตาย แล้วท่านก็คิดว่าทำอย่างไรท่านจะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปได้

 

ทำอย่างไรเราจะพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ได้

บางคนอินทรีย์อ่อน บุญบารมีทางธรรมไม่มี เห็นว่าชีวิตนี้ไม่แน่นอน เดี๋ยวก็แก่ เดี๋ยวก็เจ็บ เดี๋ยวก็ตายแล้ว ตอนนี้ยังไม่แก่ ยังไม่เจ็บ ไม่ตาย รีบหาความสุขให้มากที่สุด แย่งกันทุกสิ่งทุกอย่าง แย่งชิงกัน แล้วก็ได้มาก็อิ่มอกอิ่มใจ แต่สุดท้ายมันก็หนีความจริงไม่พ้น สุดท้ายก็ต้องทิ้งทุกอย่างไป สิ่งที่เคยแย่งกันมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยนั้น มันสูญเปล่า ไม่ใช่สมบัติของเราที่แท้จริง สิ่งที่แย่งกันมา มันเป็นของโลก สุดท้ายคืนโลกหมดเลย

ใจค่อยๆ พิจารณาไป ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ยังไม่ต้องทำกรรมฐานอะไรเลย พิจารณาความจริงของร่างกายไปเรื่อยๆ ใจก็จะโน้มน้อมไปหาธรรมะ ทำอย่างไรเราจะพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ได้ นี่คนซึ่งมีบุญบารมี ถ้าคนอินทรีย์อ่อนก็คิดว่าตอนนี้เสพสุขไว้ก่อน ไหนๆ ต่อไปก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายแล้ว ตอนนี้ยังไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หาความสุขไว้ก่อน ก็ดิ้นรน เหน็ดเหนื่อย สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลือ เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มีผู้สูงอายุคนหนึ่งมาคุยกับหลวงพ่อว่า เราดิ้นรนแสวงหาอะไรมาตั้งมากมาย สุดท้ายทุกอย่างก็ว่างเปล่า นี่ประสบการณ์ชีวิตสำหรับคนซึ่งช่างสังเกต ช่างพิจารณา เขาเห็นได้เอง ถึงไม่ต้องปฏิบัติเขาก็เห็นได้

ทำอย่างไรเราจะพ้นไปสักที จะพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นผลพวงของความเกิด ถ้าไม่เกิดมีกายนี้ขึ้นมา มันก็ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย กายนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ากายมนุษย์ก็อาศัยวัตถุธาตุของพ่อของแม่เป็นจุดเริ่มต้น อาศัยน้ำ อาศัยอาหาร อาศัยอากาศหล่อเลี้ยงต่อเนื่องมา แล้วก็มีจิต ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นในกายนี้ คือจิตมันเข้าไปครอบครองกายนี้ อันนี้กรรมมันจัดสรรให้ จิตบางดวงเคยถือศีลมาดี ก็ไปเกิดมีกายที่งดงามอะไรอย่างนี้ มีศีลดี บางคนทำปาณาติบาตมาเยอะ มีวิบาก ไปได้กายที่ไม่ดี พิการมาตั้งแต่เกิดอะไรอย่างนี้ กรรมมันจัดสรรให้เราได้กายชนิดต่างๆ

วิธีที่เราจะพ้นจากการเกิดมีกายขึ้นมา ถ้าเราเห็นทุกข์เห็นโทษของกาย จิตมันไม่เข้ามายึดถือ ไม่เข้ามาเกาะเกี่ยวกายอย่างนี้ มันก็ทิ้งไป ไม่เอา ก็ไปหากายที่ละเอียดขึ้นไปอีก อย่างกายของเทพกายของพรหมอะไรพวกนี้ มันละเอียดประณีตสวยงามกว่ากายมนุษย์ ถ้าเราภาวนาเราเคยเห็นพวกเทพพวกอะไร เราจะรู้ว่าร่างกายเขางามกว่าพวกเรามาก ร่างกายของพวกเรามีข้อมีปม เป็นปุ่มเป็นปม ดูไม่งดงาม ร่างกายของพวกเทพกลมกลืนดูงดงาม กระดูกโผล่แหลมๆ อะไรออกมาอย่างนี้ไม่มีหรอก เขางาม อันนั้นเขาได้กายที่ละเอียด ถ้าภาวนาไปเรื่อยๆ ก็จะรู้ว่ามันก็ไม่เที่ยง ถึงจะงามแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องทิ้งไปเหมือนกัน มีความแก่ไหมเทวดา มี มีความเจ็บไหม มี มีความตายไหม ก็มีอีก

 

กายไม่ว่าจะละเอียดขนาดไหน สุดท้ายก็หนีความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่พ้นหรอก

 

เพราะฉะนั้นการที่เราทำความดีหวังว่าจะได้กายที่ประณีตมากกว่ากายมนุษย์ เราก็ได้ แต่มันยังไม่พ้นทุกข์จริง เพราะกายไม่ว่าจะละเอียดขนาดไหน สุดท้ายก็หนีความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่พ้นหรอก จะกายของเทวดาหรือกายของพรหมก็เหมือนกัน อย่างพวกเทพร่างกายเป็นหนุ่ม เป็นสาวหรือสวยงามอยู่ตลอด เทพบางองค์เขาชอบเป็นเด็ก เขาจะเป็นเด็กตลอดชีวิตเลย ก็เป็นเด็กอยู่อย่างนั้นไม่โตหรอก บางองค์ชอบเป็นคนแก่ มีบางคนท่านภูมิใจที่จะแสดงกายที่แก่ๆ อย่างนี้ เขาก็แก่อยู่อย่างนั้น อันนั้นจิตมันสร้างขึ้นมา อย่างกายมนุษย์กรรมมันสร้างขึ้นมา กายของเทวดาของพรหมก็กรรมสร้างขึ้นมา จิตมีกรรมอันไหนก็ไปสร้างอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถึงเราจะสร้างความดีเท่าไหร่ เราก็ยังไม่พ้นจากกายนี้หรอก อย่างไรก็ต้องเวียน ไม่กายหยาบก็กายละเอียด ไม่ได้กายละเอียดก็ได้กายหยาบอยู่อย่างนี้

 

 

วิธีภาวนา เราค่อยๆ แยกขันธ์ก่อน ทำใจให้มันมีสมาธิขึ้นมา มันถึงจะแยกขันธ์ได้ ถ้าใจไม่มีสมาธิ มันแยกขันธ์ไม่ได้จริงหรอก อย่างหลวงพ่อฝึกสมาธิตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ 7 ขวบก็เริ่มภาวนาแล้ว ทำทุกวัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ตอนเด็กๆ นับด้วย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง ทำทุกวันๆ ว่างเมื่อไหร่ก็ทำเมื่อนั้น มันอยากทำ มันชอบที่จะทำ มันมีความสุขที่จะทำ ภาวนาไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มันเห็นว่ากายกับจิตคนละอันกัน มีอยู่คราวหนึ่งภาวนาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จิตรวมลงไป มันก็เห็นเลยว่าปีติ สุขทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู เห็นอย่างนี้ ภาวนาไปเรื่อยๆ ร่างกายมันหายไปเหลือแต่จิต พอร่างกายมันหายไป เหลือแต่จิต พอกลับมามีร่างกาย จิตถอนจากสมาธิ มีร่างกาย หลวงพ่อเชื่ออย่างแน่วแน่ไม่คลอนแคลนอีกต่อไปแล้วว่า กายกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน เพราะเมื่อกี้เราภาวนาไปไม่มีร่างกายเหลือแต่จิตอันเดียว แล้วต่อมาพอมีร่างกายเราจะรู้เลยว่าจิตมันอาศัยอยู่ในร่างกาย ร่างกายมันไม่ใช่จิตหรอก

ถ้าฝึกสมาธิเรามากพอมันจะเป็นอย่างที่หลวงพ่อบอก ถ้าสมาธิยังไม่พอเราก็อาศัยการสังเกตเอา พิจารณาร่างกายเอา เราสั่งมันได้ตลอดเวลาไหม ถ้าสั่งได้จงสั่งมันเลย อย่าหิว อย่ากระหายน้ำ อย่าปวดอึ อย่าปวดฉี่ อย่าร้อน อย่าหนาว อย่าเหนื่อย จงมีแต่ความสุขตลอดเวลา พิจารณาอย่างนี้ก็ได้ ในที่สุดก็เห็นว่าเราสั่งร่างกายไม่ได้ ร่างกายไม่ใช่ตัวเราอย่างนี้ก็ได้ หรือจะทำสมาธิอย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ก็ได้ ทำได้หลายแบบ คนฝึกสมาธิมากๆ ก็จิตรวมลงไป ร่างกายหายไป อันนี้จะรู้สึกอย่างแน่นแฟ้นเลย กายนี้ไม่ใช่เราหรอก กายกับจิตนี้คนละอันกัน ขันธ์จะแยกออกจากกันเด็ดขาด จิตกับขันธ์ไม่เข้าไปรวมกันอีกแล้ว ไม่รวมเข้ากับกายแล้ว จะไปรวมกับนามขันธ์ ไปรวมกับเวทนา สัญญา สังขารแทน แต่ว่าจะไม่รวมกับกาย มันจะรู้เด่นชัด กายนี้มันแยกต่างหากจากจิต

 

อิริยาบถปิดบังทุกข์

อันนี้ถ้าเราเคยภาวนาเป็นสมาธิจนถึงขนาดร่างกายหาย แต่ถ้าไม่เคย ทำไม่เป็นทำไม่ได้ อาศัยการพิจารณา การสังเกตร่างกายเราไปเรื่อยๆ เราสั่งมันได้จริงไหม อย่าหิว อย่าหนาว อย่าร้อน อย่าปวด อย่าเมื่อย อย่าเจ็บไข้ อย่าแก่ สั่งอย่างไรก็สั่งไม่ได้ แค่สั่งอย่าเมื่อย ทดลองดูจริงไหม สั่งได้ไหม ตั้งใจเลย สั่งว่าอย่าเมื่อยแล้วนั่งนิ่งๆ อย่ากระดุกกระดิก ไม่นานหรอกมันก็จะเห็นความจริง นั่งไม่เคลื่อนไหว ความทุกข์มันก็ตามมาขยี้เอา เพราะฉะนั้นพอคนส่วนใหญ่มันไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่ช่างสังเกต พอร่างกายมันเมื่อยมันก็ขยับ เปลี่ยนอิริยาบถไป ร่างกายก็หายเมื่อย อิริยาบถปิดบังทุกข์ของร่างกาย นี่ถูกหลอก ที่จริงร่างกายนี้แสดงไตรลักษณ์ตลอด แสดงความทุกข์ตลอดเลย แต่เราเปลี่ยนอิริยาบถทำให้กลบเกลื่อนความทุกข์ เราเปลี่ยน ชิน เปลี่ยนอัตโนมัติ พอนั่งนานๆ เมื่อย เราก็ลุกขึ้น ขยับซ้าย ขยับขวา ไม่ได้ทันสังเกตว่าทำไมต้องขยับ ที่ขยับก็เพราะว่าจะหนีทุกข์ ร่างกายนี้มันทุกข์

หัดมีสติรู้ลงในกายอย่างนี้ กายไม่ใช่ของดีหรอก กายนี้เป็นทุกข์ ยืนอยู่นานๆ ไม่ขยับเลย ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ยืนไปเรื่อยๆ ทุกข์ นอนนานๆ ไม่ขยับเลย ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่เคลื่อนไหว เดี๋ยวก็ทุกข์ อย่างคนเป็นอัมพาตนอนนิ่งๆ นี่ทำบุญมาดี บอกว่าทำบุญมาดี ได้นั่งกิน นอนกิน ได้จริงๆ เลย เป็นอัมพาต นอนนิ่งๆ อยู่อย่างนั้น ถามว่าทุกข์ไหม ทุกข์ นอนไปเรื่อยๆ ร่างกายเน่าเลย เป็นแผลกดทับขึ้นมา ฉะนั้นตัวที่ปิดบังความทุกข์ในร่างกายของเราคือการเคลื่อนไหวนั่นเอง การเปลี่ยนอิริยาบถ การเคลื่อนไหวต่างๆ พวกเราให้มีสติ รู้สึกอยู่ในร่างกาย เราจะเห็นว่าร่างกายนี้มันถูกบีบคั้น มันถูกความทุกข์บีบคั้นให้ต้องเคลื่อนไหว ถ้าอยากดูอย่างละเอียด อย่างถ้านั่งอยู่นี่นานกว่าจะเมื่อย

ของที่ดูได้เร็วกว่านั้นคือการหายใจ ลองหายใจเข้าสิ หายใจเข้าไปเรื่อยๆ ดูสิว่าสุขหรือทุกข์ นี่แค่ชั่วลมหายใจเดียวเราก็เห็นแล้วว่ามันทุกข์ ร่างกายนี้หายใจเข้าไปเรื่อยๆ ทุกข์ เราก็ต้องเปลี่ยน คล้ายๆ เปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจออก หายใจออกทีแรก รู้สึกว่าสุข พอหายใจออกไปเรื่อยๆ ทุกข์อีกแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนการหายใจมาเป็นหายใจเข้า หายใจเข้าทีแรกก็มีความสุข หายใจไปเรื่อยๆ ทุกข์อีกแล้ว อันนี้เป็นส่วนละเอียดของร่างกายที่แสดงความจริงให้เราดูได้ แค่ลมหายใจเห็นไหม ตอนเริ่มต้นหายใจมีความสุข ต่อไปก็เริ่มเฉยๆ ต่อไปก็ทุกข์ ร่างกายตัวใหญ่นี้ก็เหมือนกัน ทั้งตัวนี้ก็เหมือนกัน ตอนเกิดใหม่ๆ เหมือนตอนเริ่มหายใจใหม่ๆ มันมีความสุข หายใจไปๆ แล้วมันทุกข์ ร่างกายนี้อยู่ไปๆ มีแต่ทุกข์มากขึ้นๆ เราหายใจเข้าแล้วทุกข์ เราก็เปลี่ยน เราไปหายใจออกแก้ทุกข์ หายใจออกแล้วทุกข์อีก เราเปลี่ยนมาหายใจเข้าแก้ทุกข์

เรานั่งนานๆ มันทุกข์ เราก็ลุกขึ้นยืน ลุกขึ้นเดิน หรือลงไปนอนอะไรอย่างนี้เพื่อจะแก้ทุกข์ ฉะนั้นในความเป็นจริงร่างกายนี้ทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แต่คนไม่มีสติไม่มีปัญญาไม่เคยเห็น ไม่รู้ว่าตรงนี้มีประโยชน์มหาศาล รู้สึกว่าตรงนี้สู้ไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ไม่ได้ มีความสุข มาดูอะไรทุกข์อย่างนี้ ถ้าไม่รู้จักเรียนรู้ตัวเอง วันที่ร่างกายไม่อยู่ในอำนาจของตัวเอง มันจะกลุ้มใจที่สุดเลย มันจะเศร้าใจ มันจะเสียใจ มันจะกังวลใจ แล้วมันจะตายไปด้วยความเศร้าหมอง ทุคติก็เป็นที่ไป หวังได้ว่าจะไป

อย่างร่างกายเรานี้เหมือนกัน มันก็ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างร่างกายนี้เราอยู่มาจนแก่ มันอยู่ไม่ไหว มันตาย ก็ไปมีร่างกายใหม่ มีร่างกายใหม่ทีแรกก็สดชื่น อยู่ไปเรื่อยๆ มันเก่าแก่อีกแล้ว มันทุกข์อีกแล้ว มันตายอีกแล้ว ก็ไปหาร่างกายใหม่ ก็รู้สึกมีความสุขใหม่ มันไม่ได้ต่างอะไรกับที่เราหายใจ หายใจทีแรกก็มีความสุข หายใจไปๆ มันกลายเป็นทุกข์ เราก็เปลี่ยนการหายใจ เคยหายใจเข้าจนทุกข์ เราก็หายใจออก มีความสุข สุขอยู่ไม่นาน หายใจออกไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์อีกแล้ว ก็ต้องเปลี่ยน การที่ร่างกายนี้แก่ตายลงไป เราก็ได้ไปหาร่างกายใหม่ จะได้ดูสดชื่นขึ้นมาใหม่ มีความสุขขึ้นมาใหม่ เราก็จะได้หลงในวัฏฏะอันนี้ต่อไป ก็เวียนอยู่อย่างนี้ หาที่จบไม่ได้ ไม่มีที่สิ้นที่สุดหรอก

 

มีร่างกายทั้งที แทนที่เอาไปทำเหลวไหล เอามาฝึกกรรมฐานเสีย

 

ฉะนั้นเราพยายามมาสังเกต อย่าไปหลงมันมาก มีสติรู้ลงไป ร่างกายนี้คือตัวทุกข์หนอ คอยดูมันทุกวันๆ อย่าหลงระเริง มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสิ่งที่เรายืมโลกมาใช้ เรายืมของเขามาใช้ เราก็มีหน้าที่ดูแลรักษา แล้วถ้าเราฉลาด สมมติเราไปเช่าท้องนาเขามาอย่างนี้ เราก็รู้จักเอามาปลูกข้าว มีผลประโยชน์เกิดขึ้นได้ประโยชน์ เรามีร่างกายนี้ เราไปยืม เราไปเช่าของโลกมา ถึงวันหนึ่งเราต้องคืน แต่ระหว่างที่ยังมีประโยชน์ ระหว่างที่เรายังใช้งานมันได้อยู่ เอามาใช้ประโยชน์ เอามาใช้ประโยชน์คือการสร้างคุณงามความดีทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอามาทำกรรมฐาน อย่ามัวแต่เอาร่างกายนี้ไปเที่ยวผับ เที่ยวบาร์ เที่ยวซ่อง หรือเที่ยวบ่อนอะไรอย่างนี้ เอาร่างกายนี้มาทำกรรมฐานบ้าง คล้ายๆ เราไปเช่านามา ไม่ใช่เช่ามาทำสนามกอล์ฟ เล่นอยู่คนเดียว ถึงเวลามีแต่หนี้ท่วมหัว อย่างเราเช่านามา เราก็มาปลูกผักปลูกอะไรต่ออะไรไป มีรายได้ขึ้นมางอกเงย มีร่างกายนี้ก็เอาร่างกายมาทำงาน ให้มันเกิดสิ่งที่งอกเงยขึ้นมา มีบุญ มีกุศล มีสติ มีปัญญาให้มันมากขึ้นๆ ใช้ประโยชน์จากร่างกายให้มันสมกับสิ่งที่เราได้มา ก่อนที่มันจะแตกสลายไป

พยายามตั้งใจทุกวันๆ ทุกวันเราจะต้องสร้างความดีให้ได้อย่างน้อยก็อย่างหนึ่ง ตั้งใจไว้เลย ทุกวันนี้จะต้องทำความดีสักอย่างหนึ่ง สะสมไปเรื่อย อาจจะไปช่วยสงเคราะห์คน ไปช่วยสัตว์ลำบาก ไปอย่างโน้นอย่างนี้แล้วแต่โอกาส แล้วแต่ความเหมาะสม แล้วแต่ความสามารถ อย่างเป็นหมออย่างนี้ยิ่งง่ายใหญ่เลย ช่วยดูแลรักษาคนอะไรอย่างนี้ ทำด้วยใจที่เมตตากรุณาอย่างนี้ อันนั้นร่างกายเขาก็ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ดีกว่าเอาร่างกายไปทำชั่ว ไม่มีประโยชน์ทั้งตัวเองทั้งผู้อื่น ฉะนั้นทุกวันทำความดีอะไรสักอย่างหนึ่งก็ยังดี ทำอะไรไม่ได้หรือไปกวาดหน้าบ้านเราให้สะอาดๆ คนผ่านไปผ่านมาเขาได้สบายใจแค่นี้ก็ดีแล้ว ฝึกตัวเองทุกวันๆ ส่วนเรื่องกรรมฐานก็ต้องทำทุกวัน ความดีมีโอกาสทำก็ทำ ถ้ายังไม่มีโอกาสก็อยู่เฉยๆ แต่กรรมฐานต้องทำ ค่อยๆ ฝึกไป มีร่างกายทั้งที แทนที่เอาไปทำเหลวไหล เอามาฝึกกรรมฐานเสีย เอามาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไปเรื่อยๆ ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

หลวงพ่อทำมาแต่เด็กอย่างนี้ ใช้ร่างกายมาอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธอะไรอย่างนี้ ไม่เที่ยววุ่นวาย ซุกซนอะไร เป็นเด็กซนๆ เด็กช่างคิดช่างสังเกตแต่ไม่เกเร ไม่ชอบหรอกไปชกต่อย ไปเที่ยวบ่อน เที่ยวซ่อง เที่ยวอะไรอย่างนี้ ไม่เอาหรอก รู้สึกไม่ดี เหล้าอะไรนี่ไม่กิน ตั้งแต่ไหนแต่ไร ตอนเข้าจุฬาฯ รุ่นพี่มาให้กิน กินไปอย่างนั้น ใจรู้สึกรังเกียจ จำเป็นต้องกิน มิฉะนั้นมันโวยวาย มันว้ากเอา กินด้วยความมีสติ เราใช้ร่างกายเราให้เกิดประโยชน์ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นี้เป็นประโยชน์ของตัวเองในปัจจุบัน แล้วพอเราเข้าใจธรรมะขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นในอนาคต ฉะนั้นอาศัยร่างกาย ไหนๆ ก็มีแล้ว ก็เอามาทำประโยชน์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม แทนที่จะไปดิ้นเร่าๆ เป็นหมาถูกน้ำร้อนอะไรอย่างนี้ พอฟังเพลงแล้วไปกรี๊ดๆๆ โอ๊ย ถ้ามีหูมีตา จะรู้เลยในนรกมันก็กรี๊ดอย่างนั้น แล้วมันก็ดิ้นอย่างนั้น ดิ้นเร่าๆ อย่างนั้น ก็ร้องกันกรี๊ดๆ เห็นแล้วไม่ได้รู้สึกสนุกอะไรหรอก เห็นแล้วอนาถ ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ

เราก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีตอนนี้ คือมีกายมานั่งสมาธิ มาเดินจงกรม มารู้การหายใจ มารู้การยืน เดิน นั่ง นอน เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันถอดถอนความเห็นผิด กายนี้มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พอเราตามรู้ตามดูไปเรื่อย เดี๋ยวมันก็ต้องเห็นจนได้ กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พอเห็นอย่างแจ่มแจ้ง พอตอนกายมันแก่ เออ กายมันแก่ไม่ใช่เราแก่ กายมันเจ็บไม่ใช่เราเจ็บ กายมันตายไม่ใช่เราตาย เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ ไป เราจะได้ไม่ทุกข์เพราะกาย ไม่กังวล ไม่เคร่งเครียด เพราะฉะนั้นรักกายมากก็กังวลมากทุกข์มาก พยายามฝึกตัวเอง ส่วนเรื่องจิตเรื่องใจหลวงพ่อก็เทศน์มาให้ฟังเยอะแล้ว ไปฟัง YouTube ไปฟังซีดีเอา ฝึกจิตฝึกใจสอนมาตั้งมากตั้งมาย ช่วงนี้โรคระบาดมันรุนแรง เลยสอนเรื่องกายบ้าง เพราะว่าจิตมันไม่เป็นโรคหรอก โรคของจิตมันก็โรคกิเลสอย่างเดียวล่ะ ไม่มีหรอกโควิดอะไร อยู่ที่กายทั้งหมด ฉะนั้นฝึกนะ ใช้กายนี้ทำประโยชน์ในขณะที่มันยังใช้ได้อยู่.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 สิงหาคม 2564