การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

ก่อนเทศน์มีเรื่องประชาสัมพันธ์เรื่องหนึ่ง มีคนบอกมา ว่ามีคนโทรศัพท์ไปหา บอกว่า หลวงพ่อปราโมทย์โทรมาเอง ประเภทจะให้กดบริจาคโน่นนี่ ดีเขาเฉลียวใจว่า หลวงพ่อไม่เคยเรี่ยไร ไม่เคยขอเงินใคร ก็เลยวางหูไป เดี๋ยวนี้แก๊งคอลเซนเตอร์เอาทุกรูปแบบ อ้างกระทั่งหลวงพ่อด้วย ดูอนาถาจัง ฉะนั้นถ้าใครบอกว่าหลวงพ่อโทรไปหา โกหกแน่นอน หลวงพ่อไม่โทรศัพท์ไปหาใครหรอก ยิ่งโทรไปขอเงินเป็นไปไม่ได้เลย มาที่วัดเคยได้ยินไหม หลวงพ่อขอเงินพวกเรา ไม่เคยเลย ฉะนั้นจะโทรศัพท์ไปขอเงิน บอกเกิดเรื่องฉุกเฉินอะไร เชื่อไม่ได้

อาทิตย์หน้าไม่อยู่ ไปเผาศพพระอุปัชฌาย์ที่สุรินทร์ อาทิตย์ถัดไปก็มีเผาศพหลวงปู่หา แต่หลวงพ่อไม่ได้ไป เราติดงานทางนี้ กำหนดไปหมดแล้ว ครูบาอาจารย์ก็หมดไปเรื่อยๆ ก็ต้องภาวนาเอา ช่วยตัวเองให้ได้ ตอนนี้มีโอกาสภาวนารีบภาวนาไว้ อย่าให้เสียใจทีหลังว่าอยากภาวนา ในยุคที่ไม่มีครูบาอาจารย์ มันลำบากมาก เพราะจิตใจเรามันถูกกิเลสย้อมมาแต่ไหนแต่ไร มันเต็มไปด้วยคำว่าไม่รู้ จะภาวนาให้มันรู้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องพยายามฝึก

อย่างพระมาบวชที่นี่ บวชสั้นๆ ไม่ได้กินหรอก ไม่เข้าใจหรอก แล้วใช้เวลา ขนาดพระอยู่ในวัด จะภาวนายังต้องใช้เวลา ถูกควบคุมจ้ำจี้จำไช เราเป็นโยมไม่มีใครมาควบคุมเราได้ แล้วเราเพลิดเพลินกับโลก สนุกอยู่กับโลก โอกาสจะเข้าใจธรรมะก็ยาก แต่ถ้าเรามีวินัยจริงๆ เป็นฆราวาสก็ทำได้ ต้องมีวินัยในตัวเองให้มากเลย อย่าย่อหย่อน อันแรกเลยต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี ไม่ต้องถึงศีล 8 หรอก เอาศีล 5 ให้ได้ก็พอแล้ว ถือให้เป็นธรรมชาติของเราเลย ที่จะรักษาศีล

 

ข้อปฏิบัติจริยธรรมทั้งหลายสำคัญ

บางคนมันมีธรรมชาติทุศีล โกหก พูดอะไรออกมาแต่ละคำ ไม่สนใจว่าความจริงเป็นอย่างไร มันพูดไปเรื่อยๆ พูดที่หนึ่งก็เป็นอย่างหนึ่ง พูดอีกทีหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือพูดวันนี้อย่างหนึ่ง อีกวันหนึ่งพูดอีกอย่างหนึ่ง พูดไปเรื่อยๆ แบบมันเคยชินที่จะโกหก พวกนี้ภาวนายาก จิตมันเคยชินทางชั่วแล้ว เราแต่ก่อน พวกเราก็คงชั่วมาก่อน นี้ตั้งอกตั้งใจถือศีล 5 ไว้ ไม่ยอมทำผิด จิตมันจะเริ่มอบอุ่น ถ้าถือศีลไป ใจมันเริ่มอบอุ่น รู้สึกชีวิตมันมีทิศทางที่ดีขึ้น

ถ้าเราไม่เคยถือศีล หรือถือบ้างไม่ถือบ้าง เราจะไม่รู้สึกหรอก แต่ถ้าเราถือศีลได้ต่อเนื่อง อย่างบางคนเข้าพรรษาไม่กินเหล้า ออกพรรษามาก็ไปกินต่อ แต่ระหว่างเข้าพรรษาที่ไม่กินเหล้ามันนาน แล้วออกพรรษาแล้ว ถ้าไม่กินต่อ แล้วเวลานึกถึง ว่าเราได้ถือศีลที่ดี ไม่ด่างพร้อย จิตใจมันจะเกิดความอบอุ่นขึ้นมา มันจะมีความสุข สมาธิมันจะเกิดอย่างง่ายดายเลย เราคิดถึงศีลที่เรารักษามาดี ก็เกิดสมาธิได้

บางคนดูแลพ่อแม่แก่เฒ่า ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ เหนื่อยมาก ดูแลไป พ่อแม่ตายไปแล้ว เวลานึกถึงย้อนหลังไป ว่าเราเคยดูแลพ่อแม่มาเต็มที่แล้ว ไม่ละอายใจตัวเอง จิตใจอบอุ่น มีความสุข สมาธิก็เกิดได้ อย่างการที่เราดูแลพ่อแม่ มันเป็นการทำทาน เป็นทานที่สำคัญ ให้ความช่วยเหลือทางร่างกาย ให้ความรัก ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ มันคือทานที่สำคัญ เรานึกถึงจิตใจเราก็มีความสุข พอจิตใจมีความสุข สมาธิก็เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติในโลก ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนจริยธรรมทั้งหลาย ถ้าเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติสม่ำเสมอ แล้วเรานึกถึง ผ่านไปช่วงหนึ่งนึกถึง จิตใจมันจะอบอุ่นมีกำลังขึ้นมา มีความสุข สมาธิมันจะเกิดง่าย เพราะฉะนั้นความดีทั้งหลาย มีโอกาสทำก็ทำ แต่อย่าทำความดีจนกลายเป็นความชั่ว ทำดีจนกลายเป็นชั่วมีเยอะแยะ จะทำทาน อยากได้โน้นอยากได้นี้ ขอโน้นขอนี้เยอะแยะเลย ทานแบบนั้นมันไม่ใช่ความเสียสละ มันเป็นการลงทุนทางธุรกิจ

ไปทำบุญแล้วก็หวังผล แบบนั้นนึกทีไร จิตจะเป็นอกุศล แหม ใส่บาตรมาตั้ง 9 วัด ไปไหว้พระมา 9 วัด ทำไมยังไม่ถูกหวยสักที จิตมันเป็นอกุศล เพราะตอนที่ทำมันก็เป็นอกุศลอยู่แล้ว เวลานึกถึงก็เป็นอกุศลมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องจริยธรรมจำเป็น อย่าละเลย ทำในสิ่งที่ควรทำเสีย มีพ่อมีแม่ยังไม่ตายก็ดูแล ไม่ใช่ตายแล้วร้องห่มร้องไห้ มาถามพระ ทำบุญนี้แม่จะได้กินไหม มาห่วงตอนตายแล้ว ตอนเป็นๆ ไม่ห่วง ใช้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นทำความดี เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ อย่าให้เสียใจทีหลัง

ข้อปฏิบัติทางจริยธรรมทั้งหลาย มันจะเกื้อกูลให้จิตใจของเราทำบาปอกุศลน้อยลง ทำกุศลให้มากขึ้น อย่างเราเป็นผู้ปกครองมีลูกน้อง ทางจริยธรรมก็มี พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องทิศ 6 เป็นผู้ใหญ่ปกครองผู้น้อย ต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเราได้ทำเต็มที่ ไม่ได้โหดร้ายทารุณกับลูกจ้าง นึกถึงทีไรเห็นหน้าลูกจ้างก็คิดถึงเงิน อย่างนั้นใจไม่มีกุศลแล้ว

ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาทำอย่างนี้ ปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างนี้ ปฏิบัติต่อเพื่อน ปฏิบัติต่อเมีย ต่อลูก ต่อสามี พระพุทธเจ้าสอนไว้หมดเลย ถ้าเราทำได้ จิตใจเราจะอบอุ่น มีความสุข ถ้าทำไม่ได้ จิตมันเป็นอกุศลทุรนทุราย เพราะฉะนั้นเรื่องจริยธรรม ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ สำคัญ ก็รีบสำรวจตัวเอง อันไหนบกพร่อง รีบพัฒนาเสีย แก้ไขไม่ใช่แก้ตัว แก้ไขเสีย แล้วทุกวันตั้งอกตั้งใจถือศีล 5 ให้ดี แล้วทุกวันต้องปฏิบัติในรูปแบบ ถ้าเราทิ้งการปฏิบัติในรูปแบบ จิตจะไม่มีกำลัง จะดีชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวก็เสื่อม

 

การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

เมื่อเช้าหลวงพ่อเจอหมอคนหนึ่ง หมอนี้มาวัดเรื่อยๆ หลวงพ่อถามไปทำอะไรมา จิตใจดูดี ดูโปร่งโล่งเบา รู้เนื้อรู้ตัวเป็นธรรมชาติดี หมอก็บอกหลวงพ่อว่า ไปทำงานทางโลกมา ทำงานแต่ไม่ใช่งานชั่วร้ายอะไร เป็นงานที่ดี จิตใจจดจ่ออยู่กับการทำงาน ถ้าจิตใจเราจดจ่ออยู่กับงาน ซึ่งเป็นงานที่ดีมีคุณประโยชน์ สมาธิมันจะเกิด หลวงพ่อพุธท่านเคยพูดเรื่องนี้มานานแล้ว แต่มันหาตัวอย่างให้ดูยาก

วันนี้เห็นตัวอย่างชัดๆ ที่หลวงพ่อพุธท่านเคยบอก งานทางโลก ถ้าเป็นงานที่ดี ไม่ผิดศีลผิดธรรม ทำไปจิตใจจดจ่ออยู่กับงาน การที่จิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ได้คือสมาธิ สมาธิ จิตใจมันสงบ แล้วยิ่งถ้าเคยฝึกรู้ทันจิตที่หลง มันจะสงบ แล้วมันก็จะตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ ฉะนั้นการใช้ชีวิตธรรมดา ใช้ชีวิตให้ถูก แล้วมันจะภาวนาง่าย

อย่างบางคนหลวงพ่อพุธท่านเคยเล่าเรื่อย เป็นสถาปนิก จดจ่ออยู่กับการคิดแบบสร้างอาคารขนาดใหญ่ คิดตรงนั้นติดตรงนี้ คิดตรงนี้ติดตรงนั้น คิดไม่ตก แต่แกไม่สนใจสิ่งอื่น ก็จดจ่ออยู่กับงาน ตรงนี้ยังพลาดอยู่ คือทำงานไปจดจ่อกับงานจริง แต่มันหมกมุ่นไป จิตมันจมลงไปกับงานเลย นี้แกเข้าฌานไม่เป็นหรอก พอแกทำเหนื่อยมากๆ แกไปนอน ถึงเวลานอนก็ไปนอน ช่วงที่นอนจิตมันก็ลงภวังค์ไป มันก็ได้พักเหมือนกัน

แล้วพอจิตมันขึ้นมา มันตื่น ตอนตื่นปัญญามันเกิด มันรู้เลยว่า ปัญหาตัวนี้จะแก้อย่างไร ก็สามารถออกแบบแปลนที่ยากๆ นี้ ออกมาได้อย่างง่ายดายเลย คล้ายๆ มีภาพขึ้นในหัวสมอง การทำงานทางโลก ถ้าไม่ใช่งานชั่วร้าย วางแผนปล้นเขาอะไรอย่างนี้ มันให้สมาธิเหมือนกัน แต่เวลาทำมันจดจ่อลงไปที่งาน พอมันหยุดการทำงานนั้นปุ๊บ บางทีจิตรวมเลย เข้าที่เลย หรือบางคนมันยังไม่รวม ก็ไปพักเสียหน่อยหนึ่ง ไปหลับเสียตื่นหนึ่ง ตื่นมาจิตใจเบิกบานแจ่มใส ทำงานก็ทำได้ดี จะภาวนาก็ภาวนาได้ดี

หลวงพ่อเคยบอกบ่อยๆ ว่า การทำหน้าที่ของเราในทางโลกที่ถูกต้อง ไม่ขัดไม่ขวางการปฏิบัติธรรม เราเป็นครู เราก็ทำหน้าที่ของครูให้ดี เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ท่านพุทธทาสท่านก็พูดเอาง่ายๆ ว่า “การปฏิบัติงาน การทำหน้าที่นั่นล่ะ คือการปฏิบัติธรรม” แต่ต้องทำให้เป็น ถ้าทำหน้าที่ งานที่เป็นอกุศลนี้ไม่ใช่ ทำแล้วจิตใจยิ่งแย่ลง ถ้างานเป็นงานที่ดี อย่างเราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ ถ้ารักษาไปแล้วโมโหไป อันนี้ไม่ใช่แล้ว จิตเป็นอกุศล

ถ้าจิตใจเรามีความกรุณา สงสารคนไข้เจ็บป่วย แต่แนะนำอย่างไรก็ไม่ยอมเชื่อ บอกว่าอย่ากินเหล้าก็ยังจะกินอีก อย่าสูบบุหรี่ก็ยังจะสูบอีก แนะแล้วไม่เชื่อเราโมโห ทีแรกกรุณา ตรงโมโหนี้เป็นโทสะ พลิกไปพลิกมา ฉะนั้นเวลาที่เราจะทำหน้าที่ของเรา สังเกตจิตใจของเราไปสักนิดหนึ่ง ที่ทำอยู่นี้ทำเพราะกุศล หรือเพราะอกุศล อย่างถ้าเราทำงานที่เป็นประโยชน์ งานวิจัย งานอะไรอย่างนี้ ไปช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย งานนี้เป็นงานที่เป็นกุศลโดยตัวมัน

ถ้าใจเราเครียด โมโหตัวเอง ทำไมคิดไม่ออก เบื่อ อยากให้เสร็จเร็วๆ อันนี้ตระกูลโทสะทั้งนั้น จิตจะไม่สงบ แต่ถ้าเราทำงานอย่างมีความสุข จิตจะสงบ บางคนสอนกรรมฐาน สอนแล้วมีความสุขที่ได้สอนกรรมฐาน ในระหว่างสอนกรรมฐาน จิตจะมีสมาธิ ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านเคยเล่าให้ฟัง ท่านเทศน์ ขึ้นธรรมาสน์เทศน์นี่ล่ะ จิตก็ถ่ายทอดธรรมะไปเรื่อยๆ ให้ญาติโยมฟัง

แล้วท่านก็รู้ อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป จิตก็ถ่ายทอดธรรมะไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตรวม จิตรวมปั๊บเลย ร่างกายก็หาย ญาติโยมอะไรหายไปหมดเลย โลกนี้หายไปหมดเลย เหลือแต่จิตดวงเดียว นี้จิตมันสู้ชนะกิเลสขึ้นมา ตอนแสดงธรรมบอก ไม่ได้นั่งสมาธิทำไมจิตรวมได้ ก็ทำงานที่มีความสุข งานที่เป็นประโยชน์ งานที่เป็นกุศล ถ้าเราทำงานที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เป็นกุศล สมาธิมันเกิด เกิดได้เอง ไม่ยากหรอก

ฉะนั้นจะทำสมาธิ เมื่อเช้าก็มีทิดเก่าคนหนึ่ง ทำสมาธิอย่างไรก็ทำไม่ได้ ฟุ้งตลอดเลย บอกว่า โอ๊ย ตอนทำ ทำด้วยความอยากสงบ ไม่สงบหรอก ทันทีที่ความอยากเกิดขึ้น จิตมันก็เกิดความดิ้นรน เมื่อจิตมันดิ้นรน มันจะสงบได้อย่างไร มันหยุดไม่เป็น ฉะนั้นอย่างเราทำสมาธิไป จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน ไม่ต้องอยากสงบ ถ้ายิ่งอยากสงบจะยิ่งฟุ้งซ่าน ถือว่าเรากำลังทำหน้าที่ ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าอยู่

ทำกรรมฐานไป เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถือว่าเรากำลังทำหน้าที่ กำลังปฏิบัติบูชาอยู่ ผลจะเป็นอย่างไรไม่ต้องห่วง จะสงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ ขอให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ดีเท่านั้นล่ะ ถ้ารู้จักวางใจอย่างนี้ จิตจะสงบอย่างรวดเร็วเลย เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ จะทั้งหน้าที่ทางโลกหรือหน้าที่ทางกรรมฐาน ทำไปด้วยจิตใจที่เป็นกุศลไว้แล้วมันจะพัฒนาง่าย อย่างนั่งสมาธิไปแล้วก็หงุดหงิดไป เมื่อไรจะสงบ อันนั้นจิตเป็นอกุศล ไม่มีทางที่จิตจะดีขึ้นมาได้ สงบไม่ได้หรอก

เพราะฉะนั้นท่านพุทธทาสท่านถึงบอก การทำหน้าที่ก็คือการปฏิบัติธรรม

 

ปัญญาขั้นต้นเป็นการหัดดูสภาวะ

พอจิตใจเรามีกำลังอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ก็ถึงขั้นการเจริญปัญญา การเจริญปัญญาขั้นแรก มันยังเจือการคิดอยู่ ก็เป็นปัญญาธรรมดา มันเป็นปัญญาธรรมดาๆ เริ่มต้นพอจิตเราตั้งมั่น ก็เห็นเลยร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้คนดู ร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน นี่เริ่มแยกขันธ์แล้ว แยกรูปแยกนาม เป็นการเจริญปัญญาขั้นต้น จะทำได้ถ้าจิตเราตั้งมั่น มีกำลังขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตไม่มีกำลัง มันไม่แยกหรอก จิตมันรู้อะไร มันก็ไหลเข้าไปรวมกับสิ่งนั้นหมด พอจิตตั้งมั่นก็ดูลงไป ร่างกายมันของถูกรู้ถูกดู ร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน นั่งไปๆ มันปวดมันเมื่อย เราก็เห็นความปวดความเมื่อย ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายตอนแรกที่นั่งไม่ปวดไม่เมื่อย นั่งไปนานๆ ปวดเมื่อยขึ้นมา ความปวดเมื่อยมันแทรกเข้ามาในร่างกาย ฉะนั้นความปวดเมื่อยไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิตใจด้วย มันเป็นของถูกรู้ถูกดู

นั่งไปๆ นั่งนานๆ แล้วขี้เกียจ ความขี้เกียจไม่ใช่ร่างกาย ความขี้เกียจไม่ใช่ความปวดเมื่อย ความขี้เกียจเป็นสภาวธรรมอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าสังขารขันธ์ เป็นความปรุงของจิต แล้วเราจะเห็นความขี้เกียจไม่ใช่ร่างกาย เพราะร่างกายไม่ได้มีความขี้เกียจ ความขี้เกียจไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่ความรู้สึกสุขทุกข์ มันเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ความขี้เกียจไม่ใช่จิต มันเป็นคนละอันกับจิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ดูไปด้วยจิตที่ตั้งมั่น อย่ารีบร้อน ไม่ใช่แยกขันธ์ 5 ใน 1 นาทีอะไรอย่างนั้น มันทำไม่ได้ มันจะฟุ้งซ่าน ให้ใจสงบ ตั้งมั่น แล้วก็สังเกตลงไปทีละขันธ์ ทีละขันธ์ กายกับจิตคนละอันกัน เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์กับจิต ก็คนละอันกัน สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วกับจิต ก็เป็นคนละอันกัน ความจำได้ ความหมายรู้อะไรก็เป็นอีกอันหนึ่ง

อย่างเราจำได้ เราขับรถอยู่ เราเห็นไฟแดง เราจำได้ว่านี่ไฟแดง แปลว่าหยุด ตัวนี้ไม่ใช่เวทนา ความจำก็ไม่ใช่ตัวคิด ตัวคิดมันจะเป็นตัวที่ต่อเรื่องราว สร้างภพสร้างชาติให้ยาวออกไป สัญญามันแค่จำสิ่งที่มี ที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ได้ จำรูปได้ จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัสได้ จำเรื่องราวต่างๆ ได้ นี่เรื่องของสัญญา ความจำมันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ความคิดมันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง

เพราะฉะนั้นความจำอยู่ในสัญญาขันธ์ ความคิดนึกปรุงแต่งอยู่ในสังขารขันธ์ จิตก็เป็นอีกขันธ์หนึ่ง เป็นตัวรู้ เดี๋ยวก็รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอีกขันธ์หนึ่งเรียกว่าวิญญาณขันธ์ การเจริญปัญญา ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว อย่าตั้งซื่อบื้ออยู่เฉยๆ อย่าไปทำจิตให้ว่าง บางคนบอกว่าเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ แล้วก็สอนลูก ศิษย์ว่าให้ทำจิตให้ว่าง พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน หลวงปู่ดูลย์ก็ไม่เคยสอนให้ทำจิตให้ว่าง ครูบาอาจารย์ที่ดีทั้งหลาย ไม่เคยสอนทำจิตให้ว่าง

หลวงปู่มั่นถึงขนาดกำชับเลยว่า “ระวังอย่าให้จิตไปติดเฉย” เพราะฉะนั้นจิตเรานิ่งสงบแล้ว ต้องโน้มน้อมออกมาเจริญปัญญา ในพระไตรปิฎกท่านก็พูดถึงจิตที่ทรงสมาธิแล้ว ท่านบอกให้โน้มน้อมจิตนี้ไปเพื่อญาณทัสสนะ ก็คือไปเจริญปัญญานั่นเอง ปัญญาขั้นต้นมันยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เริ่มแยกรูปแยกนามได้ เห็นรูปแต่ละรูป ก็มีเหตุให้เกิด เห็นนามแต่ละนามมีเหตุให้เกิด อันนี้เห็นด้วยการคิดเอา คิดเอา เอ๊ะ ร่างกายมันหันซ้ายหันขวา จิตมันสั่งนี่ นี่เริ่มเดินปัญญาไป

แล้วพอเราหัดดูสภาวะเนืองๆ ปัญญาในขั้นต้นนี้ เป็นการหัดดูสภาวะ พอรู้ว่าสภาวะมีอยู่ สภาวะของรูปธรรมเป็นอันหนึ่ง จิตเป็นอันหนึ่ง สภาวะของเวทนาเป็นอันหนึ่ง จิตเป็นอันหนึ่ง สภาวะของสัญญา ความจำได้หมายรู้อันหนึ่ง จิตเป็นอันหนึ่ง สภาวะของสังขาร คือความปรุงแต่งของจิตเป็นอันหนึ่ง จิตเป็นอีกอันหนึ่ง อันนี้เห็นตัวสภาวะ เรียนถึงตัวสภาวะ

การที่เราเห็นตัวสภาวะได้ จิตเดินปัญญาแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ร่างกายเราเป็นสภาวธรรม เห็นไหมร่างกายนั่งอยู่ ร่างกายเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ร่างกายนั่ง ร่างกายหายใจอยู่ ร่างกายที่หายใจอยู่ เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู มันหัดแยกๆๆ แยกอย่างนี้ มันเห็นสภาวะ สภาวะของร่างกายที่หายใจออก สภาวะของร่างกายที่หายใจเข้า สภาวะของร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน สภาวะของร่างกายที่คู้ ที่เหยียด

แล้วถ้าจิตทรงฌานจริงๆ ถึงจะเห็น สภาวะที่ประณีตในร่างกาย คือเห็นธาตุ ร่างกายนี้จริงๆ ก็เป็นสภาวะของดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นสภาวธรรม บางอาจารย์ก็เรียกสภาพธรรม ก็แล้วแต่จะเรียก คำเดียวกันนั่นล่ะ เราสามารถรู้สภาวธรรมแต่ละตัวๆ ได้ อันนี้ตั้งต้นของการเจริญปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าเรายังเห็นตัวสภาวธรรมไม่ได้ เราเดินปัญญาไม่ได้จริง

ตัวสภาวะบางทีก็เรียกว่าปรมัตถธรรม เรียกหลายชื่อให้มันเวียนหัวเล่น แบบนักวิชาการ จริงๆ เราดูไป สภาวะแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ในร่างกายก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง เป็นสภาวะของรูปธรรม ความรู้สึกสุขทุกข์ ก็เป็นสภาวะอีกแบบหนึ่ง ถ้าแยกละเอียดออกไป สุขก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทุกข์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่สุขไม่ทุกข์คืออุเบกขา ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นสภาวธรรมแต่ละตัวๆ ออกมาได้หลายตัว

ตัวสังขาร เป็นสภาวธรรม ที่มีจำนวนมากมายมหาศาล สังขารมีทั้งหมด 50 ชนิด 50 ตัว เวทนามี 1 ตัว สัญญามี 1 ตัว สังขารมีแยกได้ 50 ชนิด สังขารบางอย่างเกิดอยู่ในโลกธรรมดา อย่างที่พวกเราอยู่นี้ อยู่ในกามาวจร สังขารบางอย่างอยู่ในรูปพรหม สังขารบางอย่างเกิดในอรูปพรหม สังขารบางอย่างเกิดในโลกุตตรภูมิ

 

ขึ้นวิปัสสนาเมื่อเห็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรม

อย่างปัญญา เห็นไหม มีปัญญาเบื้องต้น แยกขันธ์ได้ แยกรูปแยกนามได้ ก็เป็นปัญญาธรรมดา แล้วต่อมาเราเห็นสภาวะแต่ละตัวๆ ที่เราแยกได้แล้ว แต่ละตัวๆ ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อย่างความสุขเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ความจำได้หมายรู้เกิดแล้วก็ดับ ความดีเกิดแล้วดับ โลภ โกรธ หลง เกิดแล้วก็ดับ อันนี้เราเห็นสภาวะที่มันเกิดดับๆ ไป อันนี้มันขึ้นวิปัสสนาแล้ว

แล้ววิปัสสนามันก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ ทีแรกก็ค่อยๆ ชำนิชำนาญ ค่อยๆ ดูไป แล้วจะค่อยพัฒนาไป ดูไปถึงจุดหนึ่งบางคนก็รู้สึกว่า โอ้ น่าเบื่อ โลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่ความน่าเบื่อ เอาตรงไหนมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยที่มีความสุข หาไม่ได้เลย โลกที่เราเคยรู้จักพึ่งพาไม่ได้ บางคนเห็นโลกนี้ไม่มีความมั่นคงเลย ไม่มีความปลอดภัย ความรู้สึกมันเกิด มีหลายแบบ แต่ไม่ว่าความรู้สึกอย่างไรเกิด ให้รู้ไปด้วยจิตที่เป็นกลาง เคล็ดลับอยู่ตรงนี้ล่ะ

ในการทำวิปัสสนาถึงต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มันเบื่อขึ้นมาก็เห็น ความเบื่อเป็นสภาวธรรมอีกอันหนึ่งที่ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิต จิตไม่เคยเบื่อ จิตเป็นคนรู้ ค่อยๆ เรียนรู้ประณีตมากขึ้นๆ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ทีแรกเห็นเกิด ไม่ค่อยเห็นดับหรอก เพราะว่าสติไม่ไวพอ เห็นแต่เกิดขึ้นมา ยังไม่ทันจะดับเลย อันใหม่มาเกิดซ้อนเข้ามาอีกแล้ว ฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ

ฝึกไปเรื่อยๆ จะเห็นสิ่งบางสิ่งไหวตัวแวบแล้วก็ดับเลย จุดเด่นชัดอยู่ที่ดับ ไม่ใช่จุดเด่นชัดอยู่ที่เกิดแล้ว เพราะสติเร็วมากเลย เห็นแต่ดับๆๆ ดับไปเรื่อย ว่องไว เพราะว่าจิตมันก็ โอ้ เมื่อไรจะพ้นหนอ หาทางพ้น กำหนดจิตอย่างนั้นก็ไม่พ้น กำหนดจิตอย่างนี้ก็ไม่พ้น เข้าฌานแล้วยังไม่พ้นเลย เข้าฌานจิตก็ยังเกิดดับอยู่ ทำอย่างไรก็ไม่พ้น

จนกระทั่งวันหนึ่งมันจนตรอก ไม่พ้น ก็ดูไปจริงๆ มันเป็นอย่างไร ค่อยดูตามความเป็นจริงไป คือใจมันจะวกเข้ามาดูไตรลักษณ์ ทีแรกมันเห็นสภาวะ ต่อมาเห็นสภาวะเกิดดับ เห็นสภาวะเป็นของไม่ดี เป็นของน่าเบื่อ เป็นของไม่ปลอดภัย เป็นของเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้ ใจมันก็อยากจะพ้นจากสภาวะทั้งหลายเหล่านี้ แล้วก็หาทางปฏิบัติมากมายเพื่อจะพ้นจากสภาวะ หาอย่างไรก็หาไม่ได้ จนใจมันยอมจำนน หาไม่ได้แล้ว

แต่สติ สมาธิ ปัญญามันทำงาน มันก็จะเห็นสภาวะนั้นเกิดดับไปเรื่อยๆ แล้วใจมันไม่มีความดิ้นรน ว่าทำอย่างไรจะพ้นไป ใจมันเป็นกลาง ยอม มันก็ดูความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรมแต่ละตัวๆ เรื่อยๆ ไป พอดูสภาวธรรมมันเกิดดับเป็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆๆๆ จิตก็จะเดินปัญญาสูงขึ้นไปอีก ในที่สุดจิตมันก็จะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา จิตมันเป็นกลางด้วยปัญญา ปัญญาตัวนี้เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ เป็นปัญญาที่ทำให้เรามีอุเบกขาต่อสังขาร คือความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง

ตรงที่เราเห็นว่าสุขเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ เออ สุขกับทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตยอมรับความจริง จิตก็ไม่ดิ้นรน จะเห็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ อกุศลเกิดแล้วก็ดับ กุศลกับอกุศลเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลเกิดเราก็ไม่หิวโหย อยากให้มีแต่กุศล อกุศลเกิด เราก็ไม่มีโทสะอยากให้ดับ จิตมันมีความเป็นกลางนี้ล่ะ เป็นกลางเพราะปัญญา

ตรงนี้สำคัญนะ ปัญญาตรงนี้เป็นวิปัสสนาปัญญา แล้วมันก็จะดำเนิน ถัดจากนั้นจิตมันจะเข้าสู่กระบวนการ ที่จะเกิดอริยมรรคอริยผล เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา ของเราทำงานเต็มที่แล้ว บริบูรณ์แล้ว จิตมันก็จะรวมลงไป ทำไมมันรวมลงไป ไม่ได้เจตนารวม มันรวมเอง ทำไมมันรวม เพราะมันไม่มีความหิวโหย มันไม่มีความดิ้นรน จิตที่หิวโหยก็คือจิตที่มีตัณหา

 

ปัญญาแก่รอบ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเสมอกัน

จิตที่มีปัญญาแก่รอบแล้ว มันหมดความหิว มันเป็นอุเบกขา มันสักว่ารู้สักว่าเห็นแล้วคราวนี้ คำว่า “สักว่ารู้ สักว่าเห็น” เป็นคำสูง พวกเราชอบพูด หลายที่เขาพูดว่าสักว่ารู้ว่าเห็น ได้ยินแล้วอยากเขกกระโหลก มันสักว่ารู้ว่าเห็นอะไรของมัน ไม่ได้สักว่ารู้ว่าเห็นหรอก จิตสักว่ารู้ว่าเห็น จิตต้องมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาแก่รอบ ปัญญาลึกซึ้งจนถึงขนาดเห็นว่า สุขกับทุกข์เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีกับชั่วก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

จิตก็จะไม่รักสุขเกลียดทุกข์ ไม่รักดีเกลียดชั่ว ไม่แสวงหาความสุข ไม่ผลักดันความทุกข์ ไม่แสวงหากระทั่งความดี ไม่เกลียดชังกระทั่งความชั่ว แต่ตรงนี้ต้องระวัง พอได้ยินอย่างนี้เลยคิดว่าเหนือดีเหนือชั่ว ทำอะไรก็ได้ อันนั้นชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เลวร้ายที่สุดเลย คือเป็นมิจฉาทิฏฐิ ร้ายกาจ นี้ต้องฝึกซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ดูสภาวะจริงๆ ดูไปเรื่อยๆ ดูไปแล้วตอนนี้จิตฟุ้งซ่าน กลับมาทำความสงบ มีเรี่ยวมีแรงแล้วก็ไปดูต่อ เจริญปัญญาต่อ

บอกแล้วปัญญาเบื้องต้น เป็นปัญญาธรรมดา แยกธาตุแยกขันธ์ได้ ก็รู้จักสภาวธรรม แยกได้ว่าเวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารแต่ละชนิด แต่ละชนิดเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะขึ้นวิปัสสนาได้ ก็เห็นเลย เวทนาแต่ละอย่างๆ เกิดแล้วก็ดับ สัญญาแต่ละอย่างเกิดแล้วก็ดับ สังขารแต่ละชนิดเกิดแล้วก็ดับ นี่ขึ้นวิปัสสนาไป แล้วจะผ่านกระบวนการพัฒนาไป จนกระทั่งปัญญาแก่รอบ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเสมอกัน มีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอย่างอื่น

ในโลกนี้มีแต่ของที่เกิดแล้วดับ จิตก็หมดความดิ้นรน จิตก็รวมลงไป ตรงนี้จิตจะเข้าฌาน จิตมันจะเข้าฌานอัตโนมัติ แต่ยังเป็นโลกียะอยู่ แล้วจิตมันไปเดินปัญญาในฌาน 2 – 3 ขณะ แล้วถัดจากนั้นจิตจะวางการรู้อารมณ์ในฌาน มันจะทวนกระแสเข้าหาจิตผู้รู้ เมื่อมันทวนกระแสเข้ามาถึงจิตผู้รู้แล้ว ตรงที่มันทวนกระแสเขาเรียกโคตรภู โคตรภูญาณ

ช่วงนี้ไม่ใช่ปุถุชน แต่ยังไม่ใช่พระอริยชน เปรียบเทียบคล้ายๆ เราลงเรือลำใหญ่ๆ เรือมาจอดใกล้ฝั่งแล้ว ถึงเวลาเราจะขึ้นจากฝั่ง เรากระโดดจากเรือ เท้าเราพ้นจากเรือแล้ว แต่เท้าเรายังไม่แตะท่าน้ำ ยังไม่ถึงโป๊ะ ท่าน้ำ ตรงที่วางโลกียะ แต่ยังไม่ถึงโลกุตระ เป็นรอยต่อ เหมือนตอนที่เราลอยตัวอยู่กลางอากาศ โดดจากเรือขึ้นบก ไม่เหยียบเรือ ไม่เหยียบบก

ชั่วขณะแวบเดียว ถ้าหลายแวบก็ตกน้ำแน่นอน นี่แวบเดียวเท่านั้น มันทวนกระแสเข้ามาถึงจิต เมื่อมันทวนกระแสเข้าถึงจิตปั๊บ อริยมรรคจะเกิดขึ้น มันจะแหวกอาสวกิเลสออกในพริบตาเดียว ชั่วขณะเดียว มันจะแหวกขาดสะบั้นออกไปเลย แล้วอริยผลจะเกิดขึ้น 2 ขณะ 3 ขณะ จะว่าง สว่าง บางท่านก็ว่าง สว่าง แล้วก็เบิกบาน ถัดจากนั้นจิตจะถอนออกมาสู่โลกข้างนอกนี้ จิตมันถอนเอง

แล้วจิตมันก็ทวนกลับเข้าไป พิจารณาว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันก็จะดูออกว่า ช่วงที่ผ่านมาเมื่อกี้นี้ เราล้างอกุศล ล้างกิเลสตัวไหนไปได้แล้ว ตัวไหนล้างชั่วคราว ตัวไหนล้างเด็ดขาด ตัวไหนยังล้างไม่ได้ มันจะทวนเข้าไปดู คล้ายๆ การประเมินผล มันประเมินของมันเอง ไม่ใช่คิด จิตมันวกเข้าไปพิจารณา ถ้ายังไปคิด เอ๊ะ เมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่หรอก มันไม่ได้น่าสงสัยอย่างนั้นเลย มันแจ่มแจ้งในตัวเอง ว่าตัวไหนเราละแล้ว ตัวไหนยังไม่ละ มันรู้เอง

หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ว่า สภาวะอย่างนี้ต้องเกิดกี่ครั้ง ท่านบอก 4 ครั้ง ต้องเกิด 4 ครั้ง ตอนที่มันแหวกออกไป แล้วก็เข้าถึงอริยผล เข้าถึงพระนิพพานชัดเจน อยู่ชั่วคราวแป๊บเดียว อาสวกิเลสก็กลับเข้ามาห่อหุ้มจิตอีก มาย้อมจิตได้อีก ภาวนาครั้งที่ 2 ก็แหวกอาสวะได้ครั้งที่ 2 แล้วมันก็กลับมาปิด ครั้งที่ 3 มันก็ยังมาปิด จนถึงครั้งที่ 4 ถึงจะขาดสะบั้นออกจากจิต

ทำไมอาสวะกลับเข้ามาครอบงำจิตไม่ได้อีก เพราะการตัดครั้งที่ 4 นี้ ตัดอวิชชา อวิชชามีอยู่เมื่อไร อาสวะก็จะเกิดขึ้น ดับอวิชชาได้ก็ดับอาสวะได้ อาสวะเป็นปัจจัยของอวิชชา อวิชชาก็เป็นปัจจัยของอาสวะ หล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน พอทำลายอวิชชาได้ อาสวะก็ขาดไปเลย เพราะว่าไม่มีตัวพ่อตัวแม่มันแล้ว เพราะฉะนั้นมันจะขาดออกไปจากจิตของเรา จิตก็จะเข้าถึงความเป็นธรรมธาตุ ไม่ใช่จิตผู้รู้อีกต่อไปแล้ว มันจะพ้นสภาพจิตผู้รู้แล้ว

จิตผู้รู้ยังเป็นโลกียะอยู่ จิตผู้รู้ยังเป็นโลกิยธรรมอยู่ แต่เป็นโลกิยธรรมชั้นเลิศที่สุดเลย ความอัศจรรย์ของจิตผู้รู้ คือมันเป็นโลกิยธรรมที่เลิศที่สุด แล้วมันก็เป็นโลกิยธรรมที่ชั่วร้ายที่สุดเลย หัวโจกของกิเลสคือตัวอวิชชา ซ่อนอยู่ในตัวจิตผู้รู้ของเรานี่เอง แต่เราต้องมีจิตผู้รู้ก่อน เมื่อสัก 2 – 3 อาทิตย์นี้ มีโยมคนหนึ่งมาพบครูบา มาบอกว่าทำลายจิตผู้รู้ไปแล้ว ยังไม่เคยมีจิตผู้รู้เลย แล้วไปบอกทำลายจิตผู้รู้ มันทำลายอะไรไป ทำลายสติ สติแตก

พวกนี้ไม่ได้ภาวนาตามขั้นตอนมา อยู่ๆ ก็นึกเอาเองว่าต้องทำลายจิต ต้องทำลายจิต ก็บ้าเท่านั้นเอง ต้องมี จิตผู้รู้ต้องมีไว้ก่อน อย่าเพิ่งรีบทำลาย เพราะพวกเราถ้าอยู่ๆ ทำลายจิตผู้รู้ เราไม่มีจิตผู้รู้ที่จะให้ทำลาย กลายเป็นทำลายสติไป เราต้องพัฒนาจิตผู้รู้ให้เกิดขึ้น จิตผู้รู้เหมือนเรือ เอาไว้จะขึ้นฝั่งแล้วค่อยทิ้งเรือ ยังอยู่กลางทะเลของวัฏฏะ อย่าเพิ่งทิ้งเรือ เดี๋ยวตายเสียเปล่าๆ

 

 

เพราะฉะนั้น ที่เทศน์ให้เราฟังวันนี้ มันก็ตั้งแต่เบสิกเลย ตั้งแต่ต้นเลย ตั้งแต่โลกิยธรรมเลย หน้าที่ของเราในทางโลก อย่าละทิ้ง มีหน้าที่อะไรที่สมควรทำ ทำไป มันไม่ขวางการปฏิบัติหรอก แต่ทำแล้วก็รู้จักเบรกตัวเอง ทำความสงบเข้ามาเป็นระยะๆ แล้วก็ทำงานไป พอเหน็ดเหนื่อยฟุ้งซ่าน ก็ทำความสงบเข้ามา งานทางโลกก็จะดี ทางจิตใจเราก็จะมีความสุข ในการที่ได้ทำงานที่ดีมีประโยชน์ พอจิตใจมันมีความสุข มีความสงบ อย่างเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ เป็นทานที่ยิ่งใหญ่มากเลย การเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นี้ กตัญญูกตเวทีคือตัวทานที่สำคัญ

ทานชนิดเอาเงินไปถวายวัดโน้นวัดนี้ แต่ไม่ได้ดูแลพ่อแม่ ตวาดพ่อตวาดแม่ ไม่ได้เรื่องหรอก ละทิ้งบุญใหญ่ไปเอาบุญย่อยๆ ต้องฉลาดในการที่จะเดินทางในสังสารวัฏนี้ พอทำหน้าที่ของเราได้ดี จิตใจเราจะสงบสุข แล้วเรามาทำกรรมฐาน จิตใจเราก็จะสงบง่าย พอจิตใจเราสงบตั้งมั่นดีแล้ว สังเกตจิตไป สงบแล้วจิตใจเราหนีไปแล้วรู้ จิตก็จะตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้วก็มาเดินปัญญาขั้นต้น คือแยกขันธ์ แยกธาตุแยกขันธ์ไป

ต่อไปก็ขึ้นวิปัสสนา เห็นสภาวะของธาตุแต่ละธาตุ ของขันธ์แต่ละขันธ์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นี่ขึ้นวิปัสสนาแล้ว จนกระทั่งจิตมันเป็นกลาง จนกระทั่งจิตรวมลงไป สุดท้ายก็เกิดโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาเกิดในอริยมรรค ในอริยผล มันจะเกิด ปัญญามีหลายระดับ ปัญญาธรรมดา วิปัสสนาปัญญา โลกุตตรปัญญา มีหลายขั้นหลายตอน เดินไปตามลำดับ อย่ารีบร้อนข้ามขั้น เดี๋ยวตกบันไดคอหักเสียก่อน เป็นบ้าเสียก่อน

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 ธันวาคม 2566