จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์
เราภาวนาถ้าเรามีจิตตั้งมั่นขึ้นมา มีความรู้เนื้อรู้ตัว เรียนรู้แยกกายแยกใจ แยกธาตุแยกขันธ์ออกไป เราจะเห็นทั้งกายทั้งใจ ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ล้วนแต่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ พอใจมันเห็นอย่างนี้ มันจะค่อยวาง คลายความยึดถือ ถ้ามันยังรู้สึกว่าตัวนี้เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ เป็นตัวเราเป็นของเราอยู่ มันวางไม่ได้
เหมือนอย่างเราไม่มีสติปัญญา เด็กเล็กๆ อะไรอย่างนี้ เมื่อก่อนหุงข้าวใช้ถ่านใช้ฟืน ไฟมันสวย ถ่านไฟแดงๆ ก็สวย เด็กมันไม่รู้จักฤทธิ์เดชของไฟ มันก็ไปจับเล่น ครั้งเดียวจะไม่จับอีกแล้ว เพราะเห็นทุกข์เห็นโทษ ตัวธาตุขันธ์ ตัวกายตัวใจของเรา เหมือนถ่านไฟแดงๆ นั้น ถ้าเรามีสติปัญญา เรารู้ว่าจับเข้าไปแล้วทุกข์ มันก็วาง ก็ไม่จับ จับเข้าไปทีไรก็ทุกข์ทุกที
ฉะนั้นจิตมันจะพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในรูปนาม ในกายในใจ ในธาตุในขันธ์ได้ ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นทุกข์เห็นโทษคือเห็นความไม่สมบูรณ์ของมัน ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง ล้วนแต่เป็นของที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ล้วนแต่ของที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ควบคุมไม่ได้ ถ้าเห็นอย่างนี้ จิตถึงจะวาง ถ้าไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของธาตุขันธ์ ไม่สามารถวางได้หรอก ก็ยังยึดอยู่
ภาวนาขั้นแรกต้องฝึกความรู้สึกตัวให้ได้ก่อน
จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ เริ่มมาตั้งแต่การฝึกให้รู้สึกตัว พอรู้สึกตัวแล้วก็แยกธาตุแยกขันธ์ แยกธาตุแยกขันธ์ได้ ก็เห็นแต่ละธาตุแต่ละขันธ์ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุดท้ายจิตมันก็มีปัญญาแก่รอบ มันก็วางความยึดมั่นถือมั่นในธาตุขันธ์ไป วางความยึดมั่นถือมั่นในธาตุขันธ์แล้วธาตุขันธ์ยังมีไหม ก็ยังมีอยู่ ตราบใดที่กำลังของกรรมที่ส่งผลมาให้เราได้กายได้ใจนี้ยังอยู่ ยังไม่หมด ก็ยังมีกายมีใจอยู่ แต่จิตต่างหากที่มันไม่ยึดถือ เพราะฉะนั้นอย่างพระอรหันต์ท่านก็มีขันธ์ 5 ไม่ใช่ไม่มี แต่ท่านไม่ได้ยึดถือมัน เพราะฉะนั้นขันธ์ 5 จะไม่เที่ยง ท่านก็ไม่เดือดร้อน มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ท่านก็ไม่เดือดร้อน มันไม่ใช่ตัวท่าน ท่านก็ยิ่งไม่เดือดร้อนใหญ่
ฉะนั้นเราต้องมารู้เส้นทางที่เราจะเดินไป จุดที่ยากมากๆ เลย จุดที่จะรู้สึกตัวคือจุดตั้งต้น ยากมาก ในโลกมันแทบไม่มีคนรู้สึกตัว ในโลกมันเต็มไปด้วยคนหลง คราวหนึ่งหลวงพ่อจะไปเทศน์ในกรุงเทพฯ ตอนนั้นจะไปเทศน์ศาลาลุงชิน แล้วไปเวลามันยังเหลือเยอะ ไปนั่งที่มอเตอร์เวย์ นั่ง เห็นคนเดินผ่านไปผ่านมา หลวงพ่อชี้ให้พระอาจารย์อ๊าดู บอกอ๊าดูสิ ในโลกมันไม่มีคนรู้สึกตัวเลย มันเดินอยู่มันก็หลงเดิน มันโทรศัพท์อยู่ มันก็หลงคุย มันมีแต่หลงตลอดเวลา อยู่เฉยๆ ก็ใจลอย เหม่อๆ ไป มันไม่มีคนรู้สึกตัวในโลกนี้ มันแปลก ทุกคนรักตัวเอง แต่ทิ้งตัวเองตลอดเลย แล้วเมื่อไรมันจะเข้าใจความจริงของรูปนามกายใจได้ มันไม่มีทางจะเข้าใจความจริงของรูปนามกายใจได้เลย เพราะมันไม่รู้เนื้อรู้ตัว อยู่ จิตใจมันหนีไป
พวกเราเหมือนกัน ภาวนาขั้นแรกต้องฝึกความรู้สึกตัวให้ได้ก่อน เมื่อก่อนหลวงพ่อ ภาวนา พอภาวนาเป็นแล้ว หลวงพ่อก็เที่ยวดูที่โน่นที่นี่ไปเรื่อย ออกไปดู มีคราวหนึ่งก็ไปอยู่กับวัดครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ทางหนองคาย กลางคืนคนนั่งสมาธิเดินจงกรมอยู่ที่โบสถ์แล้วก็รอบๆ โบสถ์ เป็นร้อยเลย คนก็แน่นอย่างนั้นตลอดปี คนนับถือท่านเยอะ เราก็ไปดูเขาภาวนากันอย่างไร เห็นพวกหนึ่งนั่งสมาธิ พวกหนึ่งเดินจงกรม ก็มีอาการของจิตคล้ายๆ กัน นั่งสมาธิหรือเดินจงกรมด้วยความเคร่งเครียดนี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งนั่งสมาธิเดินจงกรมแล้วจิตใจล่องลอยไปที่อื่น หนีกลับบ้านบ้าง หนีไปเที่ยวบ้าง
ดูไป ไม่เห็นมีใครปฏิบัติสักคนหนึ่งเลย มองแล้วรู้สึกไม่ใช่การปฏิบัติสักคนหนึ่ง คนนั่งสมาธิเดินจงกรมเป็นร้อย แต่ไม่เรียกว่าการปฏิบัติ นั่ง พวกหนึ่งนั่งส่งเดชเดินส่งเดชให้ใจล่องลอยไป อีกพวกก็นั่งทรมานกายทรมานใจ เดินทรมานกายทรมานใจไป มันไม่เข้าทางสายกลาง จิตใจมันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ก็รู้เลยว่าที่ภาวนากัน หลายปีหลายสิบปีแล้วก็ไม่ได้ผลอะไร อย่างมากก็ได้สมาธิ เพราะว่าสตาร์ทก็ผิดแล้ว จุดสตาร์ท จุดเริ่มต้น ไม่ได้ฝึกที่จะรู้สึกตัว ถ้าตรงนี้ทำไม่ได้ ไปต่อไม่ได้หรอก
ความสุดโต่ง 2 ข้าง
คนที่ไม่รู้สึกตัว มันจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง จิตใจล่องลอยเตลิดเปิดเปิงไปที่อื่น มีกายก็ลืมกาย มีจิตก็ลืมจิต อีกพวกหนึ่งเพ่งกายเพ่งจิต ดูกายก็เครียด ดูจิตก็เครียด จิตใจก็แน่นๆ อึดอัด คนในโลกส่วนใหญ่ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ จิตมันเตลิดเปิดเปิงหนีออกไปตลอดเวลา เรียกว่ามันหลงในอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดเวลา หรือไม่ก็คิดเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรียกว่ากามธรรม จิตมันหลงในกาม คือหลงไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส หรือการคิดนึกในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่ากาม
ฉะนั้นจิตอย่างนั้น มันไม่ได้ปฏิบัติหรอก มันย่อหย่อน จิตส่วนใหญ่ของคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ มันจะสุดโต่งไปข้างกามสุขัลลิกานุโยค คนที่ไม่ปฏิบัติ ส่วนคนที่ปฏิบัติจิตจะสุดโต่งมาข้างอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้นจะสุดโต่งทุกคนเลย พวกที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างชาวโลกทั้งหลาย จิตใจก็จะสุดโต่งไปข้างกามสุขัลลิกานุโยค เผลอเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือเผลอเพลินทางใจ คิดนึกอะไรสนุกสนานไป ส่วนคนปฏิบัติจะสุดโต่งข้างอัตตกิลมถานุโยค บังคับกายบังคับใจของตัวเอง ทางสายกลางก็ต้องพ้นจาก 2 อันนี้ได้
ครั้งหนึ่งเคยมีเทวดา อันนี้เล่าให้ฟังหลายรอบแล้ว มีเทวดาไปถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร” โอฆะแปลว่าห้วงน้ำ ก็คือข้ามกิเลสได้อย่างไร พ้นกิเลสได้อย่างไร พูดง่ายๆ คือพระองค์เป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร ท่านบอกท่านข้ามโอฆะได้ เพราะท่านไม่เผลอ ไม่เผลอเพลินไป แล้วก็ไม่เพ่งเอาไว้ ถ้าเผลอก็คือกามสุขัลลิกานุโยค ถ้าบังคับตัวเองก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ท่านไม่เผลอไป แล้วก็ไม่พากเพียรแบบเอาจริงเอาจัง แบบเคร่งเครียด ท่านใช้คำนี้ ท่านบอกเทวดาบอก “เราข้ามโอฆะได้ เพราะเราไม่พักอยู่ และเราไม่เพียรอยู่” ท่านใช้คำนี้ เทวดาก็งง ไม่พัก ไม่แปลก แต่ไม่เพียร แล้วจะข้ามกิเลสได้อย่างไร พระพุทธเจ้าบอกท่านไม่พักแล้วท่านก็ไม่เพียร เทวดาก็งง
พระพุทธเจ้าก็ขยายความบอกถ้าเราพักอยู่ เราจะจมลง ถ้าเราเพียรอยู่ เราจะลอยขึ้น เราไม่พัก เราไม่เพียร เราก็พ้นโอฆะได้ด้วยวิธีนี้ เราฟังก็ไม่เข้าใจ ที่จริงคำว่าพักอยู่ก็คือการปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยกายปล่อยใจตามกิเลสไป ก็คือกามสุขัลลิกานุโยค ส่วนเพียรอยู่ก็คือพยายามบังคับกายบังคับใจ เป็นอัตตกิลมถานุโยค พระพุทธเจ้าพ้นจากความสุดโต่ง 2 ข้างนี้ พ้นจากกาม สุขัลลิกานุโยค แล้วพ้นจากอัตตกิลมถานุโยค ท่านก็เลยบรรลุพระอรหันต์ พ้นทุกข์ไป เทวดาฟังแล้วก็เลยได้ธรรมะ พวกเราฟังแล้วก็ยังไม่ได้ ฟังแล้วฟังอีกยังไม่ได้เลย อินทรีย์ของเรา บารมีของเรายังอ่อนอยู่ เราก็ต้องอาศัยสะสมไป คล้ายๆ มีคะแนนสะสมยังน้อย ต้องสะสมไปเรื่อยๆ อย่าเป็นตุ่มรั่วก็แล้วกัน
สังเกตไหมวันๆ หนึ่ง เราใจลอยมากมายเหลือเกิน ใจลอย รู้จักใจลอยไหม ใจลอยคือใจมันหลงไปนั่นล่ะ หลงไปไหน หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือหลงไปในกาม หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ จิตเราหลงอย่างนี้ทั้งวัน อันนี้เรียกว่าเราไม่ได้ภาวนาแล้ว เราไม่ได้ปฏิบัติ ท่านบอกว่าอย่างนี้เรียกว่าพักอยู่ คือไม่ไปต่อ อยู่กับที่ ส่วนพวกเพียรอยู่ พยายามบังคับกายบังคับใจ ควบคุมกายควบคุมใจ ทำตัวเองให้ลำบาก ก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค
แล้วท่านสรุปให้ฟังอีกอย่าง บอกถ้าพักอยู่เราจะจมลง ถ้าเพียรอยู่เราจะลอยขึ้น เราไม่พัก เราไม่เพียร ก็เลยไม่มีจมไม่มีลอยทั้งสิ้น จมลงก็คือถ้าเราปล่อยเนื้อปล่อยตัวตามกิเลสไปเรื่อยๆ เราจะจมลง คือเราจะลงไปในอบาย ตกอบายภูมิ ถ้าเรามีความเพียรอยู่ เราจะลอยขึ้น ลอยไปไหน ลอยไปสวรรค์ ลอยไปพรหมโลก แต่ไม่นิพพาน จะนิพพานต้องไม่พัก ไม่เพียร ถ้าเพียรอยู่ นั่งสมาธิ เดินจงกรมควบคุมตัวเอง ตั้งใจรักษาศีลอย่างเข้มงวดอะไร เครียดไปหมดเลย จิตใจก็สะอาดดีขึ้น แต่มันไม่ฉลาด จิตใจไม่ไปทำชั่วทำอะไร ตายไปมันก็ไปสุคติ ฉะนั้นเราจะต้องไม่พักแล้วก็ไม่เพียร จะต้องรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาให้ได้
วิธีทำตัวผู้รู้ให้เกิด
วิธีที่เราจะรู้เนื้อรู้ตัวทำได้หลายแบบ อย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ หลวงพ่อใช้วิธีนั่งสมาธิเอา นั่งสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธ นับ 2 นับไปเรื่อยๆ พอจิตมันเริ่มสงบก็เหลือแต่หายใจเข้าพุทออกโธ การนับหายไป พอสงบมากขึ้น พุทโธหายไป เหลือแต่การหายใจ พอสงบมากขึ้น ลมหายใจระงับกลายเป็นแสงสว่าง แล้วจิตมันก็ไปจดจ่อมองอยู่ในแสงสว่าง ต่อมามันเห็นว่าการที่จิตไปจดจ่ออยู่กับแสงสว่างยังเป็นภาระอยู่ จิตก็วางแสงสว่างทวนกระแสเข้ามาหาจิต ตัวผู้รู้มันก็เด่นดวงขึ้นมา
อันนี้เป็นวิธีหนึ่ง ทำตัวผู้รู้ให้เกิด ตัวผู้รู้ก็เป็นตัวซึ่งรู้เนื้อรู้ตัวนั่นล่ะ ตัวผู้รู้ตัวนี้เกิดด้วยการนั่งสมาธิ ทำสมาธิ ตัวนี้จะแข็งแรง เป็นผู้รู้ที่แข็งแรง อยู่ได้นานแต่ก็ไม่เกิน 7 วันก็เสื่อม เพราะว่าสมาธิทั้งหลายทั้งปวงยังเป็นของเสื่อมอยู่ เจริญได้ก็ยังเสื่อมได้อยู่ อีกวิธีหนึ่งถ้าเรานั่งสมาธิไม่เป็น แนะนำให้พวกเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วเรารู้ทันความสุดโต่ง 2 ด้าน อย่างเราทำกรรมฐานที่เราถนัด อะไรก็ได้ที่เราถนัด จะดูท้องพอง ดูท้องยุบ จะขยับมือจะเดินจงกรม จะรู้ลมหายใจ อะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้เท่าทันจิตของเราเองที่มันจะสุดโต่งไป 2 ฝั่ง อย่างเรานั่งหายใจเข้าพุทออกโธอย่างนี้ แป๊บเดียว จิตก็หลงไปในกาม หลงไปคิด นึก ปรุง แต่งแล้ว อันนี้จิตใจเราหล่นไปอยู่ข้างกามสุขัลลิกานุโยค ไม่มีความเพียรแล้วขณะนั้น ถึงจะนั่งโต้รุ่ง แต่ใจไปอยู่ที่อื่น ก็ไม่เรียกว่าปฏิบัติอยู่
อย่างที่หลวงพ่อเล่า ว่าหลวงพ่อไปดูๆ คนนั่งสมาธิเดินจงกรมเป็นร้อย ไม่เห็นมีใครปฏิบัติเลย เพราะว่าใจมันหนีไปที่อื่น มีกายก็ลืมกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจไป พวกที่ไม่ได้ฝึกจิต จิตมันจะหลงทั้งวัน หลงครั้งเดียว วันหนึ่งหลงครั้งเดียว คือหลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต่อไป พอจิตหลงไปคิดให้รู้ทัน ไม่ห้าม หลงได้ แต่หลงแล้วรู้ๆ ไว้ ทีแรกก็หลงยาว นานๆ จะรู้ทีหนึ่ง ต่อมาพอหลงปุ๊บรู้ปั๊บเลยพอฝึกชำนาญขึ้น จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่โดยไม่ได้เจตนา ตัวนี้สำคัญ มันตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวโดยไม่เจตนา
ถ้ายังเจตนา ยังจงใจ มันจะสุดโต่งไปข้างอัตตกิลมถานุโยค มันจะอึดอัด เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิด เรารู้ทัน หรือบางทีเราทำกรรมฐานอยู่ จิตไหลลงไป ไปเพ่ง ไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน มันจ้องลงไปแรงๆ อยากให้เห็นชัดๆ พอไปจ้อง ใจเราจะอึดอัด บางที อย่างเราหายใจมาตั้งแต่เกิดไม่อึดอัด พอเรามาทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า โอ๊ย หายใจไปแล้วเหนื่อย อึดอัด อันนั้นเพราะมันไม่ได้หายใจเป็นธรรมชาติ แต่มันเข้าไปบังคับร่างกาย บังคับจังหวะการหายใจ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค ไม่ใช่ของดี
เพราะฉะนั้นบางทีเพ่งกาย คอเคล็ด หลังเคล็ด ยอกไปทั้งตัวเลยก็ได้ บางทีก็ไปเพ่งจิตใจๆ บางทีเพ่งเก่ง ใจก็เบาๆ เผลอเพลินไป อันนั้นสุดโต่งไปข้างกามสุขัลลิกานุโยค บางทีจิตใจไม่สงบ อยากสงบ พยายามเค้นจิตใจให้สงบ ยิ่งบังคับจิตจะให้สงบ จิตยิ่งฟุ้งซ่านใหญ่ จิตยิ่งไม่มีความสุขเลย อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค ฉะนั้นเวลาที่เราดูกาย ถ้าเรารู้สึกกาย จะเป็นทางสายกลาง แต่ถ้าเราไปเพ่งร่างกาย หรือเราลืมร่างกาย อันนั้นเป็นความสุดโต่ง 2 ข้าง ดูจิตดูใจก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของจิตใจ อันนั้นล่ะอยู่ในทางสายกลาง แต่ถ้าเราบังคับจิตใจ บังคับๆๆ เครียดไปหมด อันนั้นก็สุดโต่งข้างบังคับ ข้างอัตตกิลมถานุโยค หรือดูจิตดูใจอยู่ จิตหนีไปไหนแล้วก็ไม่รู้ อันนั้นเป็นกามสุขัลลิกานุโยค
รู้ทันจิตที่เผลอกับเพ่ง
ให้เราฝึก ไม่ต้องกลัวๆ ว่ามันจะไปเพ่ง ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเผลอ หลวงพ่อใช้คำง่ายๆ ว่าเผลอกับเพ่ง ไม่ต้องกลัว เผลอก็รู้เอา เพ่งก็รู้เอา อย่างใจเราเผลอไป เราหายใจเข้าพุทออกโธ พอใจมันเผลอไปคิดเรื่องอื่น เราก็รู้ อ้าว เผลอไปแล้ว แล้วก็แล้วกันไป เริ่มต้นใหม่ หายใจไป รู้สึกตัวใหม่ เดี๋ยวเผลออีกรู้อีกๆ ต่อไปจิตมันจำสภาวะที่เผลอได้ โอ้ จิตเผลอมันไหลไปอย่างนี้เอง พอมันจำสภาวะที่เผลอได้ ต่อไปพอจิตเผลอปั๊บสติเกิดเองเลย รู้ทันทันทีเลย
สตินั้นเป็นอนัตตา เราสั่งให้เกิดไม่ได้ สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่นเพราะจิตเห็นสภาวะบ่อยๆ ฉะนั้นเราทำกรรมฐานแล้วจิตหลงแล้วรู้ๆ รู้บ่อยๆ ต่อไปจิตจำสภาวะหลงได้ ทันทีที่สภาวะหลงเกิดขึ้น สภาวะหลงจะดับทันทีเลย เพราะสติเกิด จะเกิดสภาวะรู้ขึ้นมาทันที ตรงนี้เราก็เดินเข้าสู่ทางสายกลาง
หรือบางทีเรานั่งภาวนา เราอยากเห็น นั่งหายใจอยู่ อยากเห็นลมหายใจให้ชัดๆ อยากให้มีสติเข้มแข็ง ไม่ให้หลง ไม่ให้เผลอ เราก็นั่งจ้องการหายใจไว้ จิตมันจะเครียดขึ้นมา ฉะนั้นเวลาภาวนา ถ้าจิตเครียดให้รู้เลยว่าตอนนี้สุดโต่งไปข้างการบังคับกดข่มตัวเองแล้ว ให้รู้ทัน เฮ้ย นี่บังคับมากไปแล้วล่ะ อะไรที่อยู่เบื้องหลังการบังคับ ความอยากดี อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี ตัวนี้มันทำให้เรามากดข่มบังคับร่างกาย บังคับจิตใจตัวเอง พอเรารู้ทัน เวลาเราภาวนา แหม มันอยากให้สงบ รู้ทันตรงนี้ มันก็ไม่ไปบังคับจิตให้สงบ แล้วจิตมันก็สงบของมันเอง ถ้าบังคับแล้ว จิตยิ่งไม่สงบ จิตไม่ชอบให้ใครบังคับ
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป แล้วจิตหลงไปเรารู้ จิตเริ่มถลำลงไปเพ่ง ไปจ้อง ไปบังคับตัวเอง บังคับกายบังคับใจ ให้เรารู้ ถ้าเรารู้เรื่อยๆ ต่อไปพอรู้ชำนาญ ถ้าเกิดเผลอเมื่อไร สติเกิดเอง รู้เลย เผลอไปแล้ว ถ้าเริ่มบังคับตัวเอง จิตใจเริ่มอึดอัด ร่างกายเริ่มเครียด ก็รู้เลย บางคนภาวนาแล้วเครียดไปหมดเลย หลวงพ่อก็เคยแก้ให้บางคน พวกที่ติดเพ่งแก้ยาก พวกเผลอๆ สอนให้เข้าทางสายกลางง่ายกว่าพวกติดเพ่ง เพราะฉะนั้นคนไม่เคยภาวนา ถ้ามาเรียนแล้วก็ภาวนาง่าย ส่วนพวกที่เคยภาวนามาผิดๆ โอ้ ต้องนั่งแก้กัน บางคนก็แก้ได้ บางคนก็แก้ไม่ได้ ต้องมาแก้ไข
อย่างบางคนเครียดไปทั้งตัวเลย นั่ง บอกให้หลวงพ่อช่วยแก้ให้ หลวงพ่อบอก รู้สึกสิ ผม รู้สึกไปที่ผมสิ ผมเครียดไหม ไม่เครียด ไล่ลงมาในร่างกาย บอกตรงไหนเครียด ตรงคอนี่เครียด ลองทำใจสบายๆ ทำใจผ่อนคลาย รู้ที่คอที่เครียด รู้ด้วยใจที่ผ่อนคลาย ไม่ใช่ไปเพ่งหนักขึ้นๆ อยากให้หาย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราภาวนาจนร่างกายจะพิกลพิการแล้วเครียด ให้ทำใจสบายๆ เลย ไล่ตั้งแต่หัวถึงเท้า จุดไหนที่มันตึงมันเครียด ก็รู้มันสบายๆ ไม่ต้องอยากให้หาย ไม่ต้องอยากให้หายเครียดหายตึง รู้มันไปสบายๆ ดูไปเรื่อยๆ ทำใจสบาย ใจเบาๆ เดี๋ยวที่ตึงอยู่มันก็จะหาย ไล่ขึ้นไล่ลง อยู่ในตัวเอง ตั้งแต่หัวถึงเท้าเท้าถึงหัว ไล่ไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็ไม่เครียด อันนี้เป็นอุบาย
หลักการปฎิบัติกับอุบายไม่เหมือนกัน
หลักการปฏิบัติกับอุบายของการปฏิบัติไม่เหมือนกัน หลักการปฏิบัติทุกคนต้องทำอยู่ในหลักอันนี้ แต่อุบายของการปฏิบัติแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะฉะนั้นอย่างบางคนคอตึงไปแล้ว แล้วจะบอกให้ไปดูด้วยความรู้สึกที่ผ่อนคลาย มันทำไม่ได้ ต้องไปทำอย่างอื่น บางคนเป็นอาการหนัก หลวงพ่อบอกหยุดภาวนาเลย เลิก ลืมการปฏิบัติไปก่อน เดี๋ยวค่อยเริ่มต้นใหม่ ทำผิดแล้วไม่ต้องขยัน เดี๋ยวเริ่มต้นเอาใหม่ ลืมการปฏิบัติไป ใจมันก็จะไม่ไปเพ่ง พอหายเพ่งแล้วก็มาเริ่มต้นภาวนา พอใจมันอยากจะเพ่งให้รู้ทันไป แล้วในที่สุดมันก็จะสามารถรู้เนื้อรู้ตัวโดยไม่เพ่งได้
สิ่งเหล่านี้เป็นอุบายๆ ทั้งนั้น แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก ปัญหาอันเดียวกัน แต่ละคนเวลาจะผ่านปัญหานั้นไม่เหมือนกัน ถ้าดีที่สุดคือผ่านได้ด้วยวิปัสสนา เห็นมันตามความเป็นจริง แล้วก็โอเค มันเป็นอย่างนี้ ไม่ไปยุ่งกับมัน บางคนก็แก้ด้วยสมาธิ บางคนก็ใช้การคิด กระทั่งเลิกปฏิบัติ ชั่วคราวเพื่อจะแก้ ฉะนั้นแต่ละคนจะไม่เหมือนกันหรอก เมื่อก่อนหลวงพ่อเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง เรื่องประทีปส่องธรรม เขียนแล้ว ไม่เอาดีกว่า ตอนหลังก็เลยไม่ได้พิมพ์ เพราะว่าไปอธิบายถึงเรื่องปลีกย่อยพวกนี้ กลยุทธ์ แทคติก อุบาย ซึ่งเรียนมากๆ ยิ่งวุ่นวาย ยิ่งยุ่งยาก ก็เลยไม่เอาแล้ว บางคนแก้ได้ บางคนแก้ไม่ได้
เคยมีคุณยายท่านหนึ่ง ท่านเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์ ลูกศิษย์อาจารย์เดียวกันนี่ล่ะ ท่านภาวนามาหลายสิบปี อายุ 87 ปี แล้วภาวนาจิตเข้าไปอยู่ในอรูปฌาน ว่าง ร่างกายก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี มีแต่ความว่างๆ อยู่กับความว่างๆ ทีนี้คุณยายท่านนี้ท่านได้ยินซีดีหลวงพ่อ ตอนนั้นเป็นเทป ยังไม่มีซีดี ได้เทปไป คนเอาไปให้ฟัง ก็รู้ว่าที่ทำอยู่ไม่ถูกแล้ว นั่งสมาธิทีไรจิตว่าง ไม่คิด ไม่นึก เข้าอรูปฌานไป รู้แล้วว่าอย่างนี้ไม่ใช่ อุตส่าห์มาหาหลวงพ่อที่สวนโพธิ์ ตอนนั้นอยู่เมืองกาญจน์ ไปไม่ใช่ง่าย ไปลำบาก แล้วไปบอกหลวงพ่อ บอกท่านอาจารย์ช่วยแก้ให้ที มันติดตัวนี้มาหลายสิบปีแล้ว คุณยายอายุ 87 ตัวเลขไม่แน่นอนนัก แต่ประมาณนี้ล่ะ เพราะผ่านมาหลายสิบปี ตัวเลขมันก็เริ่มเพี้ยนๆ ได้บ้าง
หลวงพ่อดูแล้ว ถ้าเราแก้ จิตที่เคยติดสมาธินิ่งๆ ว่างๆ หลายสิบปี พอหลุดจากตรงนี้ มันจะฟุ้งสุดขีดเลย จะกลับข้างเลย จากสงบถึงขีดสุดจะกลายเป็นฟุ้งถึงขีดสุด แล้วโดยอายุขนาดนี้ อาจจะฟุ้งซ่านแล้วแก้ไขตรงฟุ้งซ่านไม่ทัน ถ้าฟุ้งซ่านแล้วตายไปในขณะนั้น จะไปอบาย แต่ถ้าทรง สมาธิอยู่ก็จะไปเป็นพระพรหม หลวงพ่อก็แก้ให้ไม่ได้ ที่จริงจะแก้ก็แก้ได้แต่กลัวไม่ทัน ถ้าเกิดคุณยายท่านเสียเสียก่อน เดี๋ยวท่านจะไปอบายเสีย เพราะว่าจิตที่มันติดสมาธิ พอหลุดจากสมาธิแล้วมันจะร้ายมากเลย มันร้าย มันคิดดอกเบี้ยทบต้นเลย ใครเคยเป็นไหม ช่วงไหนนั่งสมาธิสงบๆ เสร็จแล้วอารมณ์ร้าย หลวงพ่อก็เลยแก้ได้นิดเดียวล่ะ บอกต่อไปนี้อย่าลืมร่างกาย ถึงจะทำสมาธิก็ให้มีร่างกายไว้ อย่าให้ร่างกายหายไป อันนี้ก็คือสอนให้ไปเป็นรูปพรหม พรหมมีรูป แล้วบอกพอพระเมตไตรยมาตรัสรู้ ก็มาเรียนต่อเอาก็แล้วกัน
พอเดินผิด ผิดในทางดีด้วย ทางสูงเลย แต่จิตไม่ได้เดินอยู่ในทางสายกลาง ไม่พ้นทุกข์ ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดไปในภพภูมิที่ดีอยู่ เราจะเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ เราต้องไม่เผลอคือกามสุขัลลิกานุโยค เราต้องไม่เพ่งคืออัตตกิลมถานุโยค ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งอะไรก็ได้ที่เราถนัด ทำไปเถอะ แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตเผลอไปก็รู้ จิตถลำไปเพ่งไปจ้องอารมณ์ หรือไปบังคับจิตตัวเองก็รู้ ทำอย่างนี้บ่อยๆ รู้ทันจิตตัวเองไป จิตมันก็เดินเข้าสู่ทางสายกลาง
ต้องฝึกจนกระทั่งมีตัวผู้รู้ในชีวิตประจำวัน
หลงแล้วรู้ๆ หรือถลำลงไปเพ่ง รู้ทัน สิ่งที่อยู่เบื้องหลังก็ความอยาก อยากดี พอรู้ทันความอยากมันดับ การเพ่งมันก็ไม่มีแล้ว ลดลง จิตมันก็จะเดินเข้าทางสายกลาง รู้เนื้อรู้ตัว มันจะเกิดภาวะแห่งความตื่นขึ้น ภาวะแห่งความตื่นจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ตื่นเต้นแต่ตื่นจากหลับ คนในโลก กลางคืนก็หลับแล้วก็ฝัน กลางวันตื่นแต่ร่างกายแล้วยังฝันกลางวันอีก เพราะฉะนั้นหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝันตลอดเวลา ไม่ตื่นจริง ตื่นแต่ตัว ใจไม่ตื่น ใจยังฝันอยู่ เลยจะต้องมาให้มันตื่น ร่างกายเป็นอย่างไรมันไม่สำคัญเท่า จิตต้องตื่นให้ได้
เคยมีน้องที่ภาวนากับหลวงพ่อ ไปภาวนาในวัดครูบาอาจารย์ด้วยกัน เขานั่งสมาธิแล้วแข้งขาเหยียดไปหมด หัวก็เอียงกระเท่เร่ไป ในขณะที่หลวงพ่อนั่งแล้วตัวตรงได้ แต่เขานั่งเมื่อไร เขาจะทิ้งร่างกายไปเลย ร่างกายสะเปะสะปะ ดูน่าเกลียด พวกญาติโยมทั้งหลายที่เขาภาวนาในวัดเห็นแล้วหัวเราะเลย อุ๊ย นั่งสมาธิไม่เป็น ครูบาอาจารย์เตือน บอกอย่าไปปรามาสเขา ร่างกายเขาไม่ตรงแต่จิตเขาตรง จิตเขารู้ ตื่น เบิกบาน เขาก็ไม่สนใจร่างกายแล้ว กายเป็นอย่างไรก็ช่างมันแล้ว
เพราะฉะนั้นตัวสำคัญแห่งความตื่นไม่ใช่ร่างกายตื่น แต่คือจิตที่ตื่นขึ้นมา จิตตื่นก็คือจิตที่ไม่หลงเคลิ้มฝัน ถ้าจิตมันหลับมันก็ฝัน ถ้าฝันกลางคืนก็เรียกฝัน ฝันกลางวัน รู้จักฝันกลางวันไหม พวกเราฝันกลางวันทั้งวัน คือคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เผลอๆ เพลินๆ ไป ทำกรรมฐานพอจิตหลงไปฝันกลางวัน หลงไปคิด รู้ทัน ในที่สุดจิตมันจะตื่นขึ้นมา พอจิตมันตื่นครั้งแรก เรารู้สึก โอ้โห อัศจรรย์ ทำไมตลอดชีวิตเราจิตมันหลับตลอดเลย จิตไม่เคยตื่นเลย หลวงพ่อรู้สึกถึงจิตที่ตื่นครั้งแรกตอน 10 ขวบ นั่งสมาธิทุกวัน ทำอานาปานสติไปเรื่อยๆ แต่มันทำแบบเด็ก ไม่รู้เหนือรู้ใต้ มันทำไปแบบไม่ได้มีความอยาก จิตใจมันก็สงบสบาย
มีวันหนึ่งไฟไหม้ ข้างบ้าน ก็ตกใจ เห็นไฟไหม้ จะวิ่งไปบอกพ่อ ก้าวที่หนึ่งตกใจ ก้าวที่สองตกใจ พอก้าวที่สาม มันเหมือนเปิดสวิตช์ขึ้นจากข้างใน จิตมันตื่นพรึบขึ้นมาเลย ความตกใจหายไป จิตกลายเป็นผู้รู้แล้ว ไม่ใช่ผู้ตกใจแล้ว เพราะฉะนั้นความตกใจไม่มีเลย จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร รู้สึกมันแปลกๆ เวลานั่งสมาธิบางทีมันก็มาที่ตรงนี้ ตอนนั้นไม่ได้นั่งสมาธิ อยู่โลกธรรมดา พอตกใจขึ้นมาจิตมันเข้ามาถึงฐาน มันตื่นขึ้นมาอย่างฉับพลัน เราก็ไม่ตกใจ เราก็เดินไปบอกพ่อ แล้วก็เห็นคนอื่นเขาตกใจ เราเป็นคนดูเฉยๆ ตอนนั้น เป็นภาวะซึ่งเราไม่เคยรู้จัก เคยเจอแต่ตอนนั่งสมาธิ ไม่เคยเจอตอนอยู่กับโลกข้างนอกนี้
ตัวผู้รู้ อยู่กับโลกข้างนอกต้องมี ต้องฝึกจนกระทั่งมี จะมีแต่ตัวผู้รู้ตอนนั่งสมาธิ ยังไม่พอหรอก เพราะชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกนี้ เราจะมีจิตที่เป็นผู้รู้ในชีวิตตรงนี้ได้ เราก็ต้องฝึกต้องซ้อม ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ เวลามันเพ่งแล้วมันหลง มันไหลลงไปเพ่ง ให้รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วพอมีอะไร กระทบ มีอารมณ์ที่แรงๆ มากระทบ จิตมันดีดตัวผางขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย
เมื่อก่อนมีโยมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟัง ตอนช่วงโน้นก็ภาวนาดี หลังๆ ไม่รู้เป็นอย่างไร เขาบอกว่าขับรถในมอเตอร์เวย์หรืออะไร แล้วเกิดอุบัติเหตุรถมันหมุน จิตมันถอดออกมาเป็นคนดู เห็นร่างกายถูกรถมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา จิตเป็นแค่คนดู ไม่ตกใจ เฉยๆ จิตมันเป็นผู้รู้ขึ้นมา ตัวผู้รู้ในชีวิตประจำวันมันจะเด่นชัดเลยตอนที่เกิดอะไรที่รุนแรง ที่นึกไม่ถึง แล้วเราเคยฝึก แต่ถ้าเราไม่เคยฝึก มันไม่เกิด มันจะสติแตกไปเฉยๆ
เหมือนหลวงตามหาบัวท่านเคยเล่าตอนที่ท่านรถคว่ำ จิตท่านก็เป็นคนดู เห็นร่างกายเอียงไปเอียงมา เห็นรถพลิกไปพลิกมา จิตท่านเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ ครูบาอาจารย์ก็เคยเล่าหลายองค์ หลวงพ่อพุธก็เคยเล่า รถตกเหว แต่เหวไม่ได้ชัน ไหลลงไป จิตท่านตั้งมั่นขึ้นมา พอรถวิ่งลงไป รถตู้ มันจะไปชนต้นไม้ อยู่ๆ รถมันก็หลบเอง มันหลบต้นไม้ ท่านบอกท่านไม่ได้ทำอะไร มันหลบเอง พอหลบ วิ่งไปนิดหนึ่ง ไปเจออีกต้นหนึ่ง มันก็หลบอีก หลบไปหลบมาๆ ท่านบอกต้นสุดท้าย มันหมดแรง เหนื่อย แต่ว่ามันลงไปที่ลาดๆ แล้วก็เลยชน ไม่ได้เสียหายอะไรมาก จิต ถ้าเราฝึกทุกวัน เวลาที่เกิดอะไรฉุกเฉิน จิตมันดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ได้ แล้วคราวนี้มันจะมีสติมีปัญญารักษาตัวเองรอด
หลวงพ่อครั้งหนึ่งจะไปดูนกปากห่าง พาคุณแม่ไป ตอนนั้นยังไม่ได้บวชทั้งคู่ ไม่ใช่พระพาแม่ชีไปดูนกปากห่าง นั่งรถขับรถไป ไปเจอสะพานที่หัวแบนๆ วิ่งไปแบบไม่เคยรู้จักสะพานชนิดนี้ ในเมืองกรุงเทพฯ ไม่มี มันอยู่บ้านนอก สะพานหัวแบนๆ พอวิ่งขึ้นไปรถลอยทั้งคันเลย รถลอย หัวชนเพดานรถ มองลงไปข้างหน้า พอพ้นเชิงสะพานไปนิดเดียว เลี้ยวหักศอก ถนนเลี้ยวหักศอก ถ้าตกใจ ตกถนนไปแล้ว พอรถตกมาที่พื้นก็จะวิ่งลงข้างทางไปเลย ทีนี้สติมันดี มันดีดตัวขึ้นมาเป็นคนรู้คนดู ไม่มีความตกใจ หลวงพ่อก็เหยียบเบรกสุดขีดเลยกลางอากาศ เหยียบเต็มเหนี่ยวเลย พอรถลงถึงพื้นไม่เหยียบ ให้มันไหลไปๆ แล้วค่อยแตะเบรกค่อยๆ ประคองเอารถเลี้ยวไปได้ จิตไม่มีความตกใ ของเราถ้าเกิดอะไรขึ้นก็วี้ดว้ายกระตู้วู้อะไรขึ้นมา อันตราย
พอมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นขึ้นมา เราจะแยกขันธ์ได้
ฉะนั้นเราพยายามฝึกจนกระทั่งจิตของเราเป็นผู้รู้ เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้สบายเลย เราจะเห็นเลยร่างกายไม่ใช่จิตหรอก ความรู้สึกกลัว หรือความรู้สึกตกใจก็ไม่ใช่จิต มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้ไปเห็นเข้า มันจะแยกได้ ความสุขความทุกข์ก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้ไปเห็นเข้า เห็นไหม พอเรามีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นขึ้นมา เป็นจิตที่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นจิตที่รู้สึกตัว เราจะแยกขันธ์ได้ เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตเป็นคนละอัน เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์กับจิตเป็นคนละอัน สังขารคือกุศลอกุศล กับจิตเป็นคนละอัน
ต่อไปละเอียดขึ้น เราจะเห็น จิตที่เกิดที่ตาก็เป็นคนละดวงกับจิตที่เกิดที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ จิตเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 อย่างนี้เราก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่างกายก็เป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา พอจิตตั้งมั่น จิตรู้เนื้อรู้ตัว แล้วจะเห็นร่างกายไม่ใช่เรา พอสติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา สติระลึกรู้สังขาร มีจิตตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ ก็จะเห็นความปรุงดีปรุงชั่ว กิเลสทั้งหลายก็ไม่ใช่เราอีก พอทุกอย่างมันไม่มีเรา แล้วสุดท้ายกระทั่งตัวจิตมันก็ไม่มีเรา ตัวจิตมันมีเราเพราะมันหลงคิด มันหลงคิดเพราะมันหมายรู้ผิด มันก็เลยหลงคิดผิด พอคิดผิดแล้วมันก็เลยเชื่อผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา
เพราะฉะนั้นเราคอยรู้สึกตัวให้ดี ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ จิตที่รู้สึกตัวนั่นล่ะ เป็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา ที่หลวงพ่อสอนอยู่ทุกวันจะย้ำอยู่ตรงนี้เยอะๆ เลย เพื่อให้พวกเราเป็นผู้รู้ให้ได้ มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนที่อื่นเขาภาวนา มีแต่ผู้เผลอกับผู้เพ่ง ไม่มีผู้รู้ อย่างนั้นไปไม่รอดหรอก ฉะนั้นพยายามฝึก ไปทำกรรมฐานแล้วก็อ่านจิตตัวเองให้ออก จิตหลงไปแล้วรู้ จิตไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานแล้วรู้ ฝึกอย่างนี้ ในที่สุดจิตจะกลายเป็นผู้รู้เข้าทางสายกลางได้
ตั้งใจปฏิบัติ ธรรมะที่หลวงพ่อบอก ให้พวกเรามากมายมหาศาลเกินพอที่จะเอาไปปฏิบัติ ธรรมะเพื่อการปฏิบัติสำหรับคนคนหนึ่งไม่มากหรอก แต่ที่สอนหลากหลายเพราะว่าพวกเราจริตนิสัยแต่ละคนมันหลากหลาย ฉะนั้นธรรมะที่พูดแต่ละวันมันจะกว้างขวางเยอะแยะไปหมด ไม่ต้องตกใจ จับจุดเล็กๆ จุดเดียวก็พอ คือคอยรู้สึกตัวไว้ รู้สึกกาย รู้สึกใจ ไม่บังคับกาย ไม่บังคับใจ ไม่หลงลืมกาย ไม่หลงลืมใจ ฝึกตัวนี้เยอะๆ ไป แล้วจิตมันจะพัฒนาขึ้นได้
วัดสวนสันติธรรม
26 พฤศจิกายน 2566