การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

จะสิ้นปีแล้วเหลืออีกเดือนกว่าๆ แล้วก็จะแก่กันขึ้นอีกปีหนึ่ง ชีวิตคนมันไม่ยั่งยืนนักหรอก อายุเฉลี่ยก็ประมาณ 30,000 วัน 30,000 วันเอาไปนอนเสีย 10,000 วันแล้ว เหลือ 20,000 วัน เอาไปเรียนหนังสือ ไปกิน ไปเที่ยว ไปทำงาน หมดเวลา ฉะนั้นต้องรู้จักบริหารเวลาให้ดี ถ้าบริหารเวลาไม่เป็น เราจะบอกว่าเราไม่มีเวลา ทั้งๆ ที่เวลาของเราแต่ละวัน ก็เท่าๆ กับเวลาของคนอื่น แต่ถ้าบริหารเวลาเป็น คำว่าไม่มีเวลาจะเป็นข้ออ้าง เพราะจริงๆ การปฏิบัติธรรม มันไม่ได้เบียดบังเวลาอะไรของเรา โดยเฉพาะถ้าเราสามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เราจะไม่รู้สึกว่าเราไม่มีเวลา เราจะรู้สึกแค่ว่าขี้เกียจปฏิบัติ วันนี้ขี้เกียจ ทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ปฏิบัติ เพราะเวลาก็มีเท่าๆ กันทุกคน แต่ละวัน

 

ปฏิบัติในรูปแบบเพื่อจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้

เมื่อเช้าก็มีโยมมาคุยกับหลวงพ่อบอกว่า ปฏิบัติในชีวิตประจำวันมันยาก ที่จริงการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มันยากสำหรับคนซึ่งอ่านจิตตัวเองไม่ออก มันไม่ยากสำหรับคนที่อ่านจิตตัวเองได้ เราจะอ่านจิตตัวเองออก เราก็ต้องฝึกซ้อม อยู่ดีๆ มันอ่านไม่ออกหรอก เพราะธรรมชาติของจิตส่งออกนอกตลอด มันสนใจสิ่งอื่น สนใจคนอื่น สนใจสัตว์อื่น สนใจสิ่งอื่น มันไม่สนใจตัวเอง ฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์ท่านถึงบอกว่า “ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก” พอส่งออกนอกก็กระเพื่อมหวั่นไหว พอจิตส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์

เพราะฉะนั้นเราภาวนา ค่อยๆ ฝึกตัวเอง ก่อนที่เราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต้องซ้อมไว้ก่อน การซ้อมก็คือการปฏิบัติในรูปแบบ แล้วต้องมีวินัยในตัวเอง ถ้าเราไม่มีวินัยในตัวเอง เราก็จะอ้าง มีข้ออ้างมากมายที่จะไม่ปฏิบัติ ทีเรื่องอื่นขาดไม่ได้ แต่เรื่องปฏิบัตินี้ขาดได้ เว้นได้ ใจมันไม่เด็ดพอ ใจแบบนี้โอกาสได้มรรคผล ยาก ต้องใจเด็ดจริงๆ ใจเข้มแข็งจริงๆ ฉะนั้นถ้าเราอยากได้ดิบได้ดี ในทางธรรมะในชีวิตนี้ เราไม่พูดถึงว่าจะสะสมบารมีอีกหลายภพหลายชาติแล้วจะได้ธรรมะ เสียเวลา ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้าไม่มีข้ออ้าง จะต้องทำอีกนานๆ ถึงจะได้

เดินให้ถูก แล้วขยันเดินก็ถึงที่หมายเร็ว สิ่งที่เราจะต้องฝึกตัวเองก็มี 3 อย่าง เราจะต้องฝึกเรื่องศีลสิกขา ต้องเรียนรู้ว่าทำอย่างไร ศีลมันจะสมบูรณ์ จิตตสิกขาจะเรียนรู้ว่าทำอย่างไร เราจะได้สัมมาสมาธิอย่างสมบูรณ์ ปัญญาสิกขา เราเรียนรู้ว่าทำอย่างไร จิตจะเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม ของชีวิตจิตใจ หรือของโลกทั้งโลก ถ้าเข้าใจจิตใจตัวเองอย่างเดียว ก็เข้าใจรูปนามกายใจ เข้าใจจิตใจอย่างเดียว จะเข้าใจโลกทั้งโลกได้ อันนั้นเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา เรียนรู้ความจริง

ฉะนั้นถ้าเราดำเนินไปตามลำดับ การปฏิบัติจะไม่ยาก ถ้าอยู่ๆ กระโดดข้ามขั้น อยู่ๆ ก็จะเจริญปัญญา อันนี้ยากแน่นอนไม่มีทางทำได้ ฉะนั้นเบื้องต้นตั้งอกตั้งใจเรียน ว่าทำอย่างไรศีลของเราจะสมบูรณ์ในเบื้องต้นเราก็ตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อ เอา 5 ข้อก็พอแล้ว ไม่ต้องเอาเยอะหรอก รักษาศีล 5 ไว้ เวลาเราโกรธคนขึ้นมา เราจะชก จะต่อย จะตบ หรือจะด่า หรือจะทำร้ายทรัพย์สินเขา หรือจะไปแย่งชิงคนที่เขารัก เพื่อให้เขาเจ็บใจเล่น เราก็รู้ทัน เราไม่ทำ เงื้อมือจะตบแล้ว เราถือศีลอย่าไปตบเขา อย่าไปต่อยเขา

ฉะนั้นศีลเบื้องต้นเราต้องข่มใจตัวเอง ไม่ทำความผิดบาปอกุศล 5 ข้อ ตามแรงผลักดันของกิเลส ฉะนั้นเวลาอยากได้ของของคนอื่น เดินศูนย์การค้าเห็นเขาเอามือถือมาวาง คนกำลังเผลอ หยิบได้ก็ไม่มีคนเห็น ก็ไม่หยิบ รู้สึกว่านี่มันไม่ถูกต้อง ไปขโมยของเขา เขาจะได้รับความเดือดร้อน ทำไม่ได้ นี่ข่มใจไม่ทำตามกิเลส อันนี้เป็นการรักษาศีลในเบื้องต้น ต่อมาเราก็พัฒนาวิธีรักษาศีลให้ดีขึ้น วิธีที่เราจะรักษาศีลได้ดี ก็ต้องมามีสติรักษาจิตไว้ คนทำผิดศีลเพราะว่า กิเลสมันครอบงำจิตได้

 

มีสติรู้เท่าทันจิต แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง

เวลาความโกรธครอบงำจิต มันก็ทำผิดศีลได้ทั้ง 5 ข้อ กระทั่งข้อ 5 เวลาโกรธ โทสะขึ้น ไปกินเหล้าก็มี เช่น อกหัก เสียอกเสียใจนี่ตระกูลโทสะ ก็ไปกินเหล้าแก้กลุ้ม ทำผิดศีลได้ หรือหงุดหงิดขึ้นมา เดินผ่านหมาก็เตะหมาเลย ทำผิดศีลแล้ว เพราะโทสะ หมาไม่ได้เกี่ยวข้อง หาเรื่องเตะมันเล่น เบียดเบียนสัตว์ โมโหขึ้นมา หยิบอะไรได้ก็ขว้าง ให้มันแตกหักเสียหาย ทำลายข้าวของของคนอื่นด้วยโทสะฉะนั้นโทสะตัวเดียว ก็ทำให้ผิดศีล 5 ได้ ทำนองเดียวกัน ราคะตัวเดียวก็ทำให้ผิดศีล 5 ได้ แล้วโมหะ ไม่ต้องพูดถึงเลย จะผิดศีล 5 ได้ต้องมีโมหะ ถ้าไม่มีโมหะผิดศีลไม่ได้ โมหะคือความหลง ไม่มีสติ

ฉะนั้นเราพยายามมาฝึก มีสติรักษาจิตของเราไว้ เราไม่ต้องรักษาจิต เรามีสติรู้เท่าทันจิตไป แล้วสติจะเป็นผู้คุ้มครองรักษาจิตเอง ให้เรารักษาจิต เดี๋ยวเดียวก็รักษาไม่อยู่แล้ว ตั้งใจจะไม่โกรธเดี๋ยวก็โกรธ ตั้งใจจะไม่โลภ เดี๋ยวก็โลภ ตั้งใจจะไม่หลง เดี๋ยวก็หลง ฉะนั้นเราไม่มีปัญญา ที่จะรักษาจิตของตัวเองได้ เราต้องพัฒนาสติขึ้นมา เป็นเครื่องมือรักษาจิต สติจะทำหน้าที่อารักขา คุ้มครองรักษา ฉะนั้นเราจะต้องฝึกจิตใจตัวเอง อ่านจิตตัวเองให้ดี

จิตเราโกรธให้รู้ จิตเราโลภ ให้รู้ จิตเราฟุ้งซ่าน ให้รู้ จิตเราหดหู่ ให้รู้ จิตเราหลงลืมเนื้อลืมตัว ให้รู้ อ่านจิตตัวเองไปเรื่อยๆ พอความโกรธเกิดขึ้น เราอ่านจิตจนชำนาญแล้ว เราจะเห็นความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป บางทีสติเรายังไม่แข็งแรงพอ โกรธเรารู้ว่าโกรธ แต่ยังไม่หายโกรธ เคยเป็นไหม โกรธแล้วรู้ว่าโกรธ แต่ไม่หายโกรธ โลภรู้ว่าโลภ รักรู้ว่ารัก แต่ไม่หายรัก มันยังรู้ไม่จริง สติที่แท้จริงมันยังไม่เกิดหรอก มันเกิดแบบอนุมานเอา ถ้าสติตัวจริงเกิด กิเลสจะขาดสะบั้นทันทีอัตโนมัติเลย สติอัตโนมัติมันจะเกิดได้ เราต้องค่อยๆ หัดไปเรื่อยๆ จิตโลภขึ้นมาก็รู้ จิตโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตหลงไปก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ หัดรู้เรื่อยๆ ไป แล้วต่อไปสติมันจะเร็วขึ้นๆ

อย่างเราเป็นคนขี้โมโห หลวงพ่อเป็นคนขี้โมโห เมื่อก่อนขี้โมโห หงุดหงิดเก่ง ไม่ได้โกรธคน บางทีโกรธดินฟ้าอากาศก็ได้ เดินอยู่ลมพัดแรงๆ ขี้ฝุ่นฟุ้ง หงุดหงิดแล้ว เดินอยู่แสงแดดกระทบเปลือกตา ก็หงุดหงิดแล้ว นี่พวกขี้โมโห หลวงพ่อก็หัด จิตโกรธแล้วรู้ จิตโกรธแล้วรู้ มีโทสะแล้วรู้ มีโทสะแล้วรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปพอจิตมันหงุดหงิดขึ้นมานิดเดียวก็เห็นแล้ว พอเราเห็นตัวหนึ่งแล้ว ต่อไปการเห็นตัวอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก อย่างเราขี้โมโห เราก็ดูจิตโกรธ จิตมีโทสะ ต่อไปเราก็จะเรียนรู้ได้มากขึ้น

จิตมีราคะ มีโลภะ เราก็เห็น แล้วต่อไปจิตหลง จิตมีโมหะเราก็เห็น ตัวนี้ยากที่สุด โทสะดูง่าย ราคะดูยากขึ้นมาหน่อย โมหะดูยากที่สุด โทสะดูง่ายเพราะมันรุนแรง มันโฉ่งฉ่าง ตึงตัง โครมคราม ดูง่าย ราคะ แหม มันหวานหยาดเยิ้ม ดูยากขึ้น โมหะดูยากที่สุด หลง เผลอๆ เพลินๆ เลยไม่ดู หลวงพ่อเริ่มมาจากการดูโทสะ เพราะเราเป็นคนขี้โมโห เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เห็น พอเห็นตัวนี้ชำนาญ ต่อไปมันก็ขยายความรับรู้ออกไป จิตเกิดชอบอันนั้น ชอบอันนี้ขึ้นมาก็เห็น แต่เดิมเห็นแต่จิตไม่ชอบอันนั้น ไม่ชอบอันนี้ แล้วมันก็เขยิบขึ้นมา จิตชอบอันนี้ก็รู้ จิตไม่ชอบอันนี้ก็รู้ อันนี้รู้ขึ้นมาถึงโลภะ ราคะแล้ว แล้วก็ฝึกไปเรื่อย ต่อไปจิตหลงเราก็รู้ จิตหลงเราก็รู้ ฝึกไป

จิตที่มันเห็นสภาวะซ้ำๆ อย่างเราเป็นคนขี้โมโห เราก็เห็นจิตโมโหเกิดขึ้นเรื่อยๆ โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ จิตมันจำสภาวะของความโกรธได้ จำสภาวะของโทสะได้ โทสะมันมีลักษณะผลักดัน ทำลายล้างอารมณ์ที่กำลังปรากฎ ไม่ชอบอารมณ์นี้ อยากผลักให้กระเด็นออกไป อย่างเราโกรธใครสักคน มันมายืนใกล้ๆ เรา เราอยากถีบให้กระเด็นเลย ลักษณะของโทสะ คือผลักอารมณ์ออกไป ต่อไปพอเราฝึกชำนาญ จิตผลักอารมณ์นิดหนึ่ง เราก็เห็นแล้ว เขยิบขึ้นมา มันคล้ายๆ จะยกมือขึ้นมาผลักแล้ว อย่างทางร่างกาย เรายกมือขึ้นมา แต่เดิมชกโครมไปแล้ว ไม่รู้ พอสติมันเร็วขึ้น ขยับมือจะชกก็รู้แล้ว

 

กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ศีลจะบริบูรณ์

อันนี้จิตนี้ก็แบบเดียวกัน พอเราจำสภาวะที่มีโทสะได้ เราเห็นเลยมันมีอาการผลักดัน แล้วก็เร่าร้อน มันร้อน โทสะนี่ร้อนมากเลย ผลัก อะไรขวางหน้าก็จะผลักให้ทิ้ง ให้กระเด็นไปให้หมด พอจิตมันเริ่มปฏิเสธอารมณ์ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นหมากรากไม้ เป็นสิ่งไม่มีชีวิตอะไรก็ได้ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ พอจิตมันจะปฏิเสธอารมณ์ มันขยับตัวจะผลักอารมณ์นั้นออกไป สติมันเห็นแล้ว เพราะมันเคยดูอาการที่จิตผลักอารมณ์บ่อยๆ เคยดูโทสะบ่อยๆ จิตจำโทสะได้ ลักษณะของโทสะ มันผลัก ทำลายล้าง เห็น ต่อไปพออาการผลักดันจะเกิดขึ้นปุ๊บ สติเกิดเองเลย ทันทีที่สติเกิด โทสะจะดับ จิตจะไม่มีโทสะแล้ว ที่จะทำลายล้างอะไร ไม่มีแล้ว รับรองไม่ผิดศีล รับรองเลยไม่มีทางทำผิดศีล ด้วยอำนาจของโทสะ

ต่อมาเราก็ภาวนาเรื่อยๆ เราจะเห็นกิเลสละเอียดขึ้น เห็นราคะ ราคะเป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าโทสะ คนโบราณท่านเปรียบว่า โทสะเหมือนไฟไหม้ เหมือนไฟลุก ลมพัดไฟลุกคึกๆๆๆ เสียงดังเลย ราคะเหมือนไฟที่ค่อยๆ เผาไม่รุนแรง ไฟอุ่นๆ แหม สบาย ทำให้เราเพลิดเพลิน อย่างอากาศหนาวๆ อย่างนี้ เราไปสุมไฟ สุมไฟ มีความสุข เมื่อก่อนเป็นนักศึกษาออกไปทำกิจกรรม บ้านนอกอยู่ต่างจังหวัด ทางอิสานนี่ล่ะ หน้าหนาวหนาวจัด เอาผ้ามาห่มก็ไม่หายหนาว กลางคืนเขาก็ไปนั่งผิงไฟกัน ไฟมันก็อุ่นๆ ลักษณะไฟของราคะ แหม มันอบอุ่น มันสบาย เพลินๆ ยิ่งเอาหัวมันโยนเข้าไปในกองไฟด้วย แหม ยิ่งดีใหญ่ ถึงเวลาก็เขี่ยออกมากินได้ด้วย ยิ่งอุ่นหนักเข้าไปอีก

ลักษณะของราคะ มันพอใจ มันเพลิดเพลิน มันยินดี มันดึงอารมณ์อันนั้นเอาไว้ มันพยายามตรึงอารมณ์อันนั้นไว้นานๆ พยายามประคอง พยายามรักษาอารมณ์อันนั้นไว้ นี่ลักษณะของราคะ ดูแล้วเหมือนไม่มีโทษ แต่ถ้าภาวนาเราก็รู้ เรารัก มีราคะคือเรารัก เราพอใจสิ่งใด เราก็จะทุกข์เพราะสิ่งนั้น ถ้าเราชอบผู้หญิงสักคน เราจะต้องทุกข์เพราะผู้หญิงคนนั้น เราชอบผู้ชายสักคน เราก็ทุกข์เพราะผู้ชายคนนั้น กลัวเขาเปลี่ยนใจ กลัวเขาไม่รักเรา เรามีรถยนต์ เรารักรถยนต์ของเรา เราก็กลุ้มใจ กลัวใครมันจะมาข่วน มาขูด มาขีดเล่น หรือจะไปเฉี่ยวชนอะไร ใจก็มีความกลุ้มใจด้วยความรัก ฉะนั้นราคะก็นำความทุกข์มาให้เหมือนกัน แต่มันเนียนกว่า

ส่วนโมหะ โบราณท่านเปรียบบอกเหมือนไฟสุมขอน รุ่นเราไม่รู้จักแล้วไฟสุมขอน เพราะเราไม่เคยสุมไฟ ทุกวันนี้หนาวขึ้นมาเราก็เปิดฮีตเตอร์ ไฟสุมขอนก็คือไฟซึ่งดูข้างนอกไม่ออก มันคุอยู่ข้างใน ในเนื้อไม้ ในท่อนไม้ มันคุ ค่อยๆ คุ คุกรุ่นอยู่ข้างใน พอลมพัดแรงๆ มาที มันก็เป็นเปลวลุกขึ้นมา พอลมหยุดไฟก็หายไป ไฟไม่ได้ดับ เพียงแต่ยังไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเท่านั้นเอง มันกรุ่นๆ อยู่ข้างใน ดูยากที่สุด ไม่รู้ว่าไฟกำลังไหม้อยู่ ไม่รู้ว่าวันหนึ่ง พอลมพัดแรงๆ มันก็จะลุกเป็นเปลวไฟขึ้นมา

ตัวโมหะนี้ก็เหมือนกัน ถ้าอยู่ตัวของมันเฉยๆ ดูเหมือนไม่มีโทษอะไร ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษ มองไม่ออกหรอก แต่พอมีลมพัด ก็คือมีผัสสะเข้ามากระทบ จากโมหะมันก็จะพัฒนาเป็นเปลวไฟขึ้น เป็นราคะขึ้นมา บางทีรุนแรงมากก็กลายเป็นโทสะขึ้นมา ฉะนั้นทั้งราคะ ทั้งโทสะ มันก็มีโมหะเป็นรากเป็นเหง้าของมัน ถ้าไม่หลงจะไม่รัก ถ้าไม่หลงจะไม่โกรธ

เราค่อยๆ หัดสังเกตกิเลส กิเลสอะไรเกิดก็คอยรู้ หัดแรกๆ เราจะเห็นแต่กิเลสที่หยาบ โทสะหยาบๆ ราคะหยาบๆ โมหะหยาบๆ เช่น ฟุ้งซ่าน โมหะหยาบๆ ต่อมาเราภาวนามันจะละเอียดขึ้น อย่างโทสะ ไม่จำเป็นต้องโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงแล้วถึงจะรู้ ขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว ราคะ ไม่จำเป็นต้องหื่น จนแทบจะข่มขืนคนอื่นอยู่แล้ว แค่มันรู้สึกชอบ คนนี้น่ารักจังเลย แค่นี้มันก็เห็นแล้ว ไม่ทันที่จะเป็นราคะรุนแรง โมหะก็ไม่จำเป็นต้องฟุ้งจนหัวปักหัวปำ เห็นแค่ใจเผลอแวบ นี่โมหะแล้ว เพราะฉะนั้นทีแรกหัด เราก็จะเห็นกิเลสอย่างหยาบ ต่อไปเราก็จะเห็นกิเลสที่ละเอียดขึ้นๆ ดูได้ละเอียด

ตอนหลวงพ่อหัดภาวนา ทีแรกต้องเห็นโกรธแรงๆ ต่อมาขัดใจเล็กๆ ก็เห็น แล้วต่อมาก็เห็น เวลาราคะเกิดก็เห็น ทีแรกต้องราคะแรงหน่อยถึงจะเห็น ต่อมาแค่ชอบนิดเดียวก็เห็นแล้ว ค่อยๆ ฝึก ทีแรกก็ต้องหลงยาวๆ หลงนานๆ ถึงจะเห็น พอเราฝึกมากๆ เข้า จิตไหลแวบหลงนิดเดียวเท่านั้น เห็นแล้ว เพราะฉะนั้นสติเราจะเร็วขึ้นๆ ถ้าเราหัดอ่านจิตตัวเองเรื่อยๆ กิเลสอะไรเกิดก็คอยรู้ไป รู้บ่อยๆ

ถามว่าถ้ากุศลเกิดแล้วรู้ได้ไหม ได้ เพียงแต่พวกเรากิเลสหนา ปัญญาหยาบ กุศลไม่ค่อยมี ที่มีบ่อยคือกิเลส ฉะนั้นเราก็รู้กิเลสเอา รู้ของที่มี ไม่ต้องไปรู้ของที่ไม่มี ถ้าเรากิเลสเกิด เรามีสติรู้ กิเลสจะครอบงำจิตไม่ได้ ศีลของเราจะบริบูรณ์ นี่คือบทเรียนที่หนึ่งเราจะพัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นศีลอัตโนมัติ ศีลอัตโนมัติไม่มีเป็นข้อๆ อีกต่อไปแล้ว มีข้อเดียวก็คือ จิตเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ หรือจิตไม่ปกติ เพราะถูกกิเลสครอบงำ เหลือแค่นี้เอง ค่อยๆ ฝึก แล้ววันหนึ่งสติเราดี ศีลอัตโนมัติก็เกิด

 

สมาธิเพื่อความสงบ ทำให้จิตมีกำลัง

คราวนี้เราก็มาฝึกสมาธิ สมาธิมี 2 ส่วน สมาธิอันหนึ่งเป็นไปเพื่อความสงบ ทำให้จิตมีกำลัง สมาธิอีกชนิดหนึ่ง ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เอาไว้เจริญปัญญา ไม่ทำให้เกิดกำลัง อย่างเวลาเรามีสมาธิชนิดตั้งมั่นไปเจริญปัญญา ถึงจุดหนึ่งจิตหมดแรง เราก็ต้องกลับมาทำสมาธิชนิดสงบ ให้จิตมีกำลังขึ้นมา เคล็ดลับของการทำสมาธิให้จิตสงบ นิดเดียว ถ้ารู้หลักแล้วไม่ใช่เรื่องยากเลย นี้พวกเราทำสมาธิเท่าไรก็ไม่ยอมสงบ เพราะเราไม่เข้าใจหลัก

บางทีครูบาอาจารย์รุ่นก่อน ท่านไม่สอนละเอียด ท่านให้ไปทำเอาเอง บอกไปพุทโธเอา พูดคำเดียวไปพุทโธเอา พุทโธกันเป็นปีๆ เลย บางคนก็ทำได้ บางคนก็ทำไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็ทำไม่สำเร็จหรอก ถ้ามันมีรู้เคล็ดลับ รู้เคล็ดลับจะทำจิตให้สงบ จิตสงบจิตต้องมีความสุข เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ จิตไม่มีความสุข จิตจะไม่สงบ จิตไม่สงบเพราะจิตมันหิวอารมณ์ มันตะเกียกตะกาย อยากได้อารมณ์โน้น อยากได้อารมณ์นี้ อยากหนีจากอารมณ์นี้

ทำไมมันต้องอยากได้อารมณ์โน้น อารมณ์นี้ เพราะอารมณ์ปัจจุบันไม่มีความสุข ทำไมมันอยากหนีจากอารมณ์ปัจจุบัน เพราะอารมณ์ปัจจุบันไม่มีความสุข เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ล่ะ เราต้องมองตัวเอง ว่าเราอยู่กับกรรมฐานชนิดไหนแล้วจิตมีความสุข เราก็อยู่กับกรรมฐานอันนั้น อย่างหลวงพ่อต้องทำอานาปานสติบวกกับพุทโธ จิตจะมีความสุข ฉะนั้นหลวงพ่อก็เลยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

คราวหนึ่งภาวนาผิด ทิ้งสมาธิไปนาน จิตไม่เข้าฐานแล้วดูไม่ออก รู้แต่ว่าจิตมันว่าง สว่าง มีแต่ความสุขอยู่เป็นปีเลย รู้ว่าไม่ถูก เพราะมันเที่ยง มันมีแต่ความสุข แทนที่มันจะไม่เที่ยง แทนที่มันจะทุกข์ กลับเห็นว่ามันมีความสุข แล้วมันบังคับได้ด้วย อยากอยู่กับความสุขนี้นานอย่างไรก็อยู่ได้ เสียเวลาอยู่ตรงนี้เป็นปี สังเกตไปเรื่อยๆ ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์ก็ไม่อยู่แล้ว พอดีขึ้นไปกราบหลวงตามหาบัว ก็ไปถามท่าน “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต แต่ทำไมผมรู้สึกมันไม่พัฒนาเลย” ท่านหันมามองหน้าแวบ ท่านก็บอกเลย “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา ตรงนี้สำคัญมาก เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” เพราะหลวงตาท่านถนัดบริกรรม พุทโธๆ ไม่ต้องอย่างอื่นเลย พุทโธๆ ไป

พอหลวงตาบอกให้บริกรรม หลวงพ่อก็กราบท่าน ถอยออกมานิดหนึ่ง ก็นั่งอยู่หลังท่านใกล้ๆ ท่านก็ฉันข้าวไป เราก็นั่งพุทโธๆ ไป จิตไม่สงบ จิตไม่รวม ก็มาพิจารณา ท่านจะให้พุทโธ แสดงว่าสมาธิเราไม่พอ เพราะฉะนั้นเราต้องทำจิตให้มีสมาธิขึ้นมา ฉะนั้นหลวงพ่อก็ไม่พุทโธแล้ว หลวงพ่อทำสมาธิที่ตัวเองคุ้นเคย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจไม่กี่ครั้ง 28 ครั้ง จิตก็รวม พอจิตถอยออกมา โอ๊ย แทบเขกหัวตัวเองเลย เราหลงอยู่ในความว่างตั้งนาน

ที่เล่าตรงนี้เพื่อจะบอกว่า หลวงตาท่านถนัดพุทโธ ท่านพุทโธแล้วท่านสบาย จิตท่านรวม หลวงพ่อพุทโธเฉยๆ จิตไม่ชอบ ไม่มีความสุข จิตไม่รวม หลวงพ่อก็ต้องใช้กรรมฐานที่ตัวเองถนัด ทำแล้วสบายใจ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แหม ทำแล้วสบายใจ จิตก็รวม เพราะฉะนั้นตัวที่จะทำให้จิตสงบ เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ เลือกอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง ไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น ไปสังเกตตัวเองเอา เราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข ถ้าเราอยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข จิตมันก็ไม่วิ่งพล่านไปหาอารมณ์อื่น มันไม่ฟุ้งซ่านแล้ว

ถ้าอยู่อารมณ์นี้มีความสุข จิตก็ไม่พยายามดิ้นรนผลักดันอารมณ์นี้ เพราะฉะนั้นจิตก็จะไม่ดิ้นรนต่อไป ไม่ดิ้นรนผลักดันอารมณ์เก่า ไม่ดิ้นรนแสวงหาอารมณ์ใหม่ จิตก็สงบ นี่ล่ะคือเคล็ดลับที่จะทำให้จิตเราสงบ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แล้วจิตเราจะสงบในเวลาอันสั้น ไม่ต้องอยากสงบ ถ้าอยากสงบ จิตจะไม่มีวันสงบเลย ไม่ต้องอยากสงบ พาจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แล้วจิตสงบเอง แต่อารมณ์ที่มีความสุข ต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ทำให้กิเลสแรง อย่างด่าคนแล้วมีความสุขอะไรอย่างนี้ บางคนได้ด่าคนแล้วมีความสุข บางคนได้ยิงนกตกปลาแล้วมีความสุข อารมณ์อย่างนั้นทำให้กิเลสเกิด ไม่เอา เอาอารมณ์ที่ดี เราก็ไปสังเกตตัวเอง

ในกรรมฐาน 40 กอง ไปถามกูเกิลดูก็ได้ กรรมฐาน 40 กอง แนะนำว่าให้ตัดกสิณ 10 ออกไป กสิณเล่นยาก ไม่มีครูบาอาจารย์เดี๋ยวเพี้ยน ตัดทิ้งออกไป กรรมฐานที่ปลอดภัยคืออนุสติ 10 ข้อ เราไปดูกูเกิลเอา มันยาว เราดูเอา เราอยู่กับอะไรแล้วเรามีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น สังเกตตัวเองเอา

 

สมาธิจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเอาไว้เจริญปัญญา

สมาธิอีกชนิดหนึ่ง คือความตั้งมั่นของจิต สมาธิสงบบอกแล้ว เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่า รู้จักเลือกอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข ตัวเด่นของสมาธิชนิดสงบคืออารมณ์ หลวงพ่อพูดอยู่เรื่อยๆ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ เป็นสิ่งที่คู่กับจิต จิตคือผู้รู้อารมณ์ จิตกับอารมณ์จะต้องเกิดร่วมกันเสมอ ไม่มีจิตที่ไม่มีอารมณ์ ไม่มีอารมณ์ที่ไม่มีจิต ต้องเกิดด้วยกันตลอด เวลาเราจะทำความสงบ เราเลือกอารมณ์ที่ดี น้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์อันนั้น แต่เวลาที่เราจะฝึกให้จิตตั้งมั่น เราไม่เอาอารมณ์เป็นพระเอกแล้ว เราจะเปลี่ยนมุม เราเอาจิตเป็นพระเอก

อย่างเดิมเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตใจเราก็สงบอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ ใช้พุทโธ ใช้ลมหายใจเป็นพระเอก นี้เอาใหม่ เราจะฝึกจิตให้ตั้งมั่น เราก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างเดิม แต่พอจิตเราจะไหลเข้าไปที่อารมณ์ เรารู้ทันว่าจิตนี้กำลังไหลเข้าไปแล้ว จิตจะไหลเข้าไป รู้ทัน จิตก็จะถอนตัวตั้งมั่นขึ้นมา หรือบางทีหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น เราก็รู้ทัน มีสติรู้ทันว่า โอ้ ตอนนี้จิตหลงไปคิดแล้ว ฉะนั้นจิตหลงไปคิด เราก็รู้ จิตถลำไปเพ่งอารมณ์ เราก็รู้ ฝึกอย่างนี้ ฝึกมากๆ ตรงที่จิตไหลไปคิด เราก็รู้ จิตก็จะไม่ไหล จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ตรงที่จิตจะถลำไปหาอารมณ์ เรารู้ทัน จิตก็ไม่ถลำลงไป จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา เห็นไหม

จิตที่ตั้งมั่น เราอยู่ๆ เราไปสั่งจิตให้ตั้งมั่นไม่ได้หรอก อาศัยที่เรามีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่ตั้งมั่น ส่วนใหญ่ก็มี 2 อัน อันหนึ่งหลงไป อันหนึ่งก็ถลำลงไปเพ่ง ฉะนั้นจิตหลงไปเรารู้ จิตถลำไปเพ่งเรารู้ จิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา โดยที่ไม่ได้เจตนา เหมือนตอนทำสมาธิ เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข จิตจะสงบโดยไม่ได้เจตนา เรามีสติรักษาจิตไว้ จิตจะมีศีลโดยไม่ได้เจตนา อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราจะทำสมาธิชนิดตั้งมั่น เรามีสติรู้จิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตหลงไปคิดเรารู้ จิตหลงไปเพ่ง ถลำ ไหลลงไปเพ่ง เรารู้ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา

ฉะนั้นสมาธิที่จะให้จิตสงบ เราน้อมจิตไปอยู่อารมณ์อันเดียวที่มีความสุข มีอารมณ์เป็นพระเอก แต่เวลาจะให้จิตตั้งมั่น เรามีสติรู้ทันจิตตัวเอง ทำกรรมฐานอันเดิมนั่นล่ะ บางคนถนัดพองยุบก็พองยุบไป ถ้าจะให้จิตสงบ ก็น้อมจิตลงไปอยู่ที่ท้อง จิตก็สงบ ไม่หนีไปที่อื่น แต่ถ้าจะให้จิตตั้งมั่น พอจิตจะไหลลงไปที่ท้อง รู้ทัน จิตจะไหลไปคิด รู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ถ้าเราฝึกให้ชำนาญ เราจะได้สมาธิทั้งจิตสงบ และจิตตั้งมั่น

สมาธิที่จิตตั้งมั่น เอาไว้เจริญปัญญา เมื่อเจริญปัญญาไปช่วงหนึ่งแล้ว จิตจะหมดแรง พอจิตจะหมดแรง จิตจะเริ่มฟุ้งซ่าน เราก็หยุดการเจริญปัญญา มาทำสมาธิชนิดสงบ พอมันสงบแล้วจิตจะมีกำลัง จิตมีเรี่ยวมีแรงแล้ว เราก็ปรับจิตนิดหนึ่ง จากการที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็รู้ทันว่าจิตเข้าไปติดอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็ดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ แล้วคราวนี้เราเดินปัญญาได้

วิธีเดินปัญญาก็คือ เราต้องมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเสียก่อน พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้รูปธรรม ค่อยๆ ฝึก ฝึกไป พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว ต่อมาสติระลึกรู้กาย เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน อย่างพวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ จะไม่ได้สงบแบบซื่อบื้อ ส่วนใหญ่ฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตมันจะตั้งมั่น แล้วเรารู้สึกลงไป ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายกับจิตเป็นคนละอัน ร่างกายที่นั่งอยู่ เป็นของถูกรู้ ร่างกายที่หายใจอยู่ เป็นของถูกรู้ มันจะแยกกัน ระหว่างจิตกับอารมณ์ อารมณ์อันนี้คือร่างกายกับจิต แยกกัน พอเราแยกอย่างนี้ได้ เรียกแยกรูปนามได้ เราแยกละเอียดต่อไปอีก แยกรูปถ้าละเอียด มันจะลงเป็นธาตุ ซึ่งอันนี้ยากเว้นไว้ก่อน เพราะเราไม่ได้ทรงฌาน เล่นถึงธาตุกรรมฐาน เล่นไม่ได้ ไม่ค่อยได้ผลหรอก

เรามาแยกนามต่อไป สิ่งที่เป็นนามธรรมมี 4 ส่วน อันหนึ่งคือจิต หรือวิญญาณขันธ์ จิตกับวิญญาณคือตัวเดียวกัน คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ นามธรรมอันหนึ่งก็คือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ เกิดขึ้นในกายบ้าง ในจิตบ้าง มีอยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็เป็นนามธรรมตัวหนึ่ง อันหนึ่งนามธรรม อีกตัวหนึ่งคือตัวสัญญา ตัวความจำได้ ความหมายรู้ ตัวนี้ฟังเข้าใจยาก เว้นไปก่อน อีกตัวหนึ่งคือตัวสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างโลภ โกรธ หลง เป็นความปรุงชั่ว เป็นสังขาร สังขารขันธ์ ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา เป็นความปรุงดี เป็นสังขารขันธ์ ขันธ์ 5 มันจะกระจายตัวออกไป

 

ขึ้นวิปัสสนาเมื่อเห็นไตรลักษณ์

พอเราสามารถแยกขันธ์ 5 ออกไปได้แล้ว เราจะเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตรงที่เราแยกขันธ์ 5 ได้ ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นต้น แต่ตรงที่เราเห็น ตรงที่เราเห็นร่างกายนี้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนา ตรงที่เราเห็นเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ หรือความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ตรงที่เราเห็นตัวเวทนา ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา แต่ตรงที่เราเห็นเวทนา สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่เที่ยง อันนี้เราขึ้นวิปัสสนา เห็น ไม่ใช่คิด

ตรงที่เราเห็นสังขาร จิตเราเป็นกุศล อย่างอยากฟังธรรม จิตมีฉันทะ อยากฟังธรรม อยากในทางดี เขาเรียกฉันทะ อยากในทางชั่วก็เรียกตัณหา เวลาอยากในทางดี เราก็รู้ทัน อยากฟังเทศน์แล้ว พออยากฟังเทศน์แล้ว เมื่อก่อนนี้แย่งกันเข้าศาลา เข้าไม่ได้ โทสะขึ้น กุศลหายไปกลายเป็นอกุศลแล้ว เราก็เห็นกุศลก็ไม่เที่ยง อกุศลก็ไม่เที่ยง โลภ โกรธ หลงอะไรก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น ไปหัดดูเอา

แล้วต่อไปเราก็เห็น จิตเองก็เกิดดับ จิตเดี๋ยวก็เกิดที่ตา เดี๋ยวก็เกิดที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ จิตก็เกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เราจะเรียก เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว คือเราเห็นรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่เราเคยหลงว่าเป็นตัวเราของเรา แท้จริงแล้วมันล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ คือเป็นของที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรเห็นว่าเป็นเราเลย ไม่ใช่เราหรอก ถ้าเป็นเรา เราก็สั่งให้มันเป็นสุขได้ เรื่องอะไรจะเป็นทุกข์อยู่ อย่างเราสั่งร่างกาย จงมีแต่ความสุข อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย สั่งไม่ได้ เราสั่งจิตใจเรา จงมีแต่ความสุข เราสั่งไม่ได้ สั่งจิตใจว่าอย่าทุกข์ เราสั่งไม่ได้ สั่งจิตใจว่าจงเป็นกุศลอย่างเดียว สั่งไม่ได้ สั่งจิตใจว่าอย่าเป็นอกุศล สั่งไม่ได้ สั่งจิตว่า จงเห็นรูปอย่างเดียว ไม่ได้ยินเสียง สั่งไม่ได้ สั่งจิตว่าอย่าคิด สั่งไม่ได้ อย่างนี้

การที่เราเห็นอนิจจัง คือภาวะที่เกิดมีขึ้นแล้วก็ดับไป ของเคยมีแล้วไม่มี ของเคยไม่มีแล้วเกิดมี เรียกอนิจจัง ของที่กำลังมี กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป นี้เรียกว่าทุกขัง ของจะมี หรือของจะไม่มี เป็นเพราะเหตุ ไม่ใช่เพราะเราสั่ง เราสั่งไม่ได้ นี้เรียกว่าอนัตตา การเจริญปัญญาเราจะต้องเห็นขันธ์ 5 ของเรานี้เป็นไตรลักษณ์ ต้องเห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ 5 ดูกายก็ต้องเห็น กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูเวทนาคือสุขทุกข์ ก็เห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูกุศลอกุศล ก็เห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูจิตเองก็เหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้

นี่คือการเจริญปัญญา อาศัยองค์ธรรมหลายอย่าง มาร่วมมือกันทำให้เจริญปัญญาได้ อันหนึ่งก็คือเราจะต้องมีสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น ถ้าไม่มีสมาธิที่จิตตั้งมั่น จะเดินปัญญาไม่ได้ เพราะจิตเราจะไหลเข้าไปรวมกับอารมณ์ มันจะไม่ถอนตัวออกมา ขันธ์มันจะไม่แยก ขันธ์มันจะไม่แยก แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่นปุ๊บ จะเห็นเลย กายกับจิตมันคนละอัน เวทนากับจิตก็คนละอัน สังขารกับจิตก็คนละอัน จะเห็นมันแยกออกจากกัน

เพราะฉะนั้นตัวแรกสำหรับการเจริญปัญญา เราต้องฝึกให้จิตตั้งมั่น เครื่องมือตัวที่ 2 คือสติ นี้สติเราฝึกมาตั้งแต่ การอ่านจิตอ่านใจตัวเอง มาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว จนเราได้ศีล จนเราได้สมาธิ ตอนที่มาเดินปัญญา ให้มีจิตที่ตั้งมั่น แล้วพอสติระลึกรู้กาย เราก็มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย หมายรู้นี้เข้าใจยากนิดหนึ่ง ไม่ใช่คิด สัญญาไม่ใช่วิตก ไม่ใช่การตรึก ไม่ใช่วิตก เป็นองค์ธรรมอีกชนิดหนึ่งเลย สัญญาเป็นการหมายรู้ของจิต สัญญามันจำได้กับหมายรู้ จำได้ว่าคนนี้ชื่อนี้ คนนี้ชื่อนี้ ถ้าไฟเขียวแปลว่าให้วิ่งได้ ไฟแดงแปลว่าวิ่งไม่ได้ อย่างนี้สัญญาธรรมดา ส่วนอันนี้คือจำได้

ส่วนหมายรู้มี 2 อย่าง หมายรู้ถูก กับหมายรู้ผิด อย่างปุถุชนทั้งหลายหมายรู้ผิดแน่นอนเลย รู้สึกไหม นี่คือเรา นี่คือเรา นี่ร่างกายก็ร่างกายเรา จิตใจก็จิตใจเรา นี่คือหมายรู้ผิด เห็นของไม่สวยไม่งาม ว่าสวยว่างาม เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นของไม่ใช่ตัวเรา ว่าเป็นตัวเรา นี่หมายรู้ผิด จะทำวิปัสสนาได้ต้องหมายรู้ถูก หมายรู้ของไม่สวยไม่งาม ก็รู้ว่าไม่สวยไม่งาม อะไรไม่สวยไม่งาม ก็ร่างกายนี้ล่ะ หมายรู้ของไม่เที่ยง ก็รู้ว่าไม่เที่ยง อะไรไม่เที่ยง รูปนามไม่เที่ยง กายนี้ก็ไม่เที่ยง จิตใจก็ไม่เที่ยง หมายรู้ถูก หมายรู้ของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์ กายนั้นล่ะเป็นทุกข์ จิตนั้นล่ะเป็นทุกข์ รูปนามนั้นล่ะเป็นทุกข์ หมายรู้รูปนามเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ อันนี้หมายรู้ถูก

เวลาเราจะเดินวิปัสสนา เราต้องฝึก ทีแรกหมายรู้ไม่เป็น ก็ช่วยมันหมาย ช่วยมันคิด อาศัยวิตก ช่วยมันคิดตรึกไป แต่พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว ก็มารู้สึกร่างกาย แล้วมันก็เป็นร่างกายเราอยู่อย่างนั้น ค่อยๆ สอนมัน ร่างกายไม่ใช่ตัวเราหรอก มันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย เราก็ห้ามไม่ได้ จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา เราสั่งอะไรมันไม่ได้ สอนมันก่อน ตรงนี้ยังไม่ใช่สัญญา อันนี้เป็นการฝึกกระตุ้น ต่อไปจิตมันรู้จักมองเอง สัญญาคือมุมมองของจิต ไม่ใช่ความคิด เป็นมุมมองของจิต

 

ฝึกจนหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้เอง โดยไม่เจตนา

พอจิตเราตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย สัญญามันเข้าไปหมายรู้เลยว่า นี่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันหมายรู้ไม่ใช่คิด ตัวนี้พูดยาก จะต้องฝึกเอา แต่ทีแรกก็อาศัยคิด อาศัยคิดก่อนว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา สังขารหรือจิตก็เหมือนกัน ทีแรกก็ช่วยมันพิจารณาอย่างนี้ พอจิตมันเคยมองกาย มองเวทนา มองสังขาร มองจิตในมุมของไตรลักษณ์แล้ว ต่อไปเราไม่ต้องคิด พอสติระลึกรู้กาย มันหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายอัตโนมัติ สติระลึกรู้เวทนา มันก็หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของเวทนาอัตโนมัติ สติระลึกรู้สังขารคือกุศลอกุศลทั้งหลาย มันก็หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกุศลอกุศล สติระลึกรู้จิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 มันก็หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของจิต มันจะมองเอง

เห็นไหม ภาวนา สุดท้ายมันมีแต่เรื่องอัตโนมัติทั้งหมดเลย สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ พอถึงขั้นเดินปัญญา ไม่ต้องคิดแล้ว มันเดินปัญญาอัตโนมัติ มันหมายรู้ถูกเอง การหมายรู้ถูก เรียกว่ามีสัญญาที่ถูก ก็จะทำให้คิดถูก คิดถูกต่อไปก็จะเกิดความเห็นถูก พวกเราก็สะสม หมายรู้ผิด หมายรู้ของไม่ใช่เราว่าเรา หมายรู้ผิด เรียกว่าสัญญาวิปลาส หมายรู้ผิดก็ทำให้เกิดจิตตวิปลาส คิดผิด คิดทีไรก็เป็นเราทุกที แล้วก็เกิดทิฏฐิวิปลาส เกิดความเห็นผิด ความเชื่อผิดๆ ว่านี่คือเรา

ฉะนั้นเราจะต้องมาฝึก พอจิตเราตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิชนิดตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ลงในกาย ไม่ได้เจตนาระลึก สติระลึกเอง ไม่ได้เจตนาหมายรู้ไตรลักษณ์ แต่เห็นไตรลักษณ์เอง นี่ล่ะเรียกว่าปัญญาอัตโนมัติแล้ว ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกก็ไม่ได้กินหรอก ฝึกทีแรกก็ฝึกถือศีล 5 ฝึกในรูปแบบ ฝึกในรูปแบบทุกวัน วันไหนจิตฟุ้งซ่าน ก็น้อมจิตให้สงบในอารมณ์อันเดียว วันไหนจิตมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็คอย ไม่บังคับจิต ปล่อยให้จิตทำงาน จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตถลำไปเพ่งก็รู้ จิตก็จะตั้งมั่น ถัดจากนั้นเราจะเจริญปัญญา เราเจริญปัญญาได้อย่างแท้จริงแล้ว เราเจริญสติ เจริญปัญญาในชีวิตธรรมดานี้ล่ะ

ถ้าเราฝึกซ้อมจนสติเราว่องไว ในรูปแบบนี้ฝึกจนสติเราว่องไว สมาธิอัตโนมัติมีแล้ว เรามาอยู่กับโลกข้างนอกนี้ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบธรรมารมณ์ ความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลายทางใจ พอกระทบแล้วเกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทันปฏิกิริยาที่เกิด มี 2 อย่าง อันหนึ่งเกิดความรู้สึก เช่น รู้สึกสุข เราเห็นผู้หญิงสวย ใจเราชอบ คนนี้สวย ดอกไม้สวย ใจเราชอบ มีความสุขขึ้นมา รู้ ใจเรายินดีพอใจ รู้ ตรงที่มีความสุขขึ้นมานั่นตัวเวทนา ตรงที่เรายินดีพอใจนั้นตัวสังขาร

พอตากระทบรูป มีความรู้สึกอะไรเกิดที่จิต รู้ทัน หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นที่จิต รู้ทัน นี้ดูได้แบบหนึ่งแล้ว อีกแบบหนึ่งดูพฤติกรรมของจิต อันนี้จะดูยากขึ้นหน่อย ตาเห็นรูป จิตวิ่งไปหาสาวแล้ว เห็นสาวสวย ลืมตัวเองวิ่งไปหาเขาแล้ว จิต พอจิตมันวิ่งไป เดี๋ยวขามันก็วิ่งตามไป นี่เห็นจิตมันวิ่งไปทางนี้ วิ่งไปทางนี้ อันนี้เราเห็นพฤติกรรมของมัน หรือเราเคยนั่งฝึกทุกวัน จิตไหลไปคิดเรารู้ จิตไหลไปคิดเรารู้ ตรงที่จิตไหลไปคิดเป็นพฤติกรรมของจิต พอมันไหลไป แล้วมันค่อยเกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดดีเกิดชั่วอะไรขึ้นมา

ถ้าเรามาหัดดูจิตในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว ดูได้ 2 อัน ความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ กุศลอกุศลเกิดขึ้นก็รู้ นี่กลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งพฤติกรรมของจิต จิตหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็รู้ คอยรู้ทันไป ถ้าเราฝึกจนกระทั่งเราสามารถเจริญปัญญาอัตโนมัติ สติระลึกรู้อะไรปุ๊บ ไม่ว่าจะระลึกรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ได้ นี่เราได้ปัญญาอัตโนมัติแล้ว ครูบาอาจารย์จะเรียกมหาสติ มหาปัญญา ภาษาของท่าน

เราต้องฝึกจนกระทั่งมีสติอัตโนมัติ มีศีลอัตโนมัติ มีสมาธิอัตโนมัติทั้ง 2 แบบ ทั้งแบบสงบ และแบบตั้งมั่น มีการเจริญปัญญาอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาเจริญปัญญา จิตเจริญเอง สติระลึกรู้รูป จิตเห็นไตรลักษณ์เอง ไม่ได้เจตนา สติระลึกรู้นาม ก็หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้เอง โดยไม่เจตนา ถ้ายังเจตนาอยู่ ยังอินทรีย์ยังอ่อน มันต้องชำนาญถึงขนาดว่า เราไม่ได้จงใจ แต่จิตนั่นล่ะมันเจตนาของมันเอง มันเจตนาไปดูไตรลักษณ์ของมันเอง ต้องฝึก

ถ้าเรามีสติอัตโนมัติ ศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ มรรคผลนิพพานอยู่ไม่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อมแล้วในชีวิตนี้ ควรจะได้โสดาบัน สกทาคามีอะไรไม่ใช่ของยากหรอก ฆราวาสก็ทำได้ สมัยพุทธกาลฆราวาสก็ได้ธรรมะตั้งเยอะตั้งแยะ พวกเราก็ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้เพราะไม่รู้หลัก พอรู้หลักแล้วก็ไม่ยอมทำ ก็แค่นั้นล่ะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 พฤศจิกายน 2566