ใจดิ้นรนเพราะยึดถือ

เราก็ทนกับโควิดมาปีกว่าแล้ว ตอนนี้มันเป็นขาลงแล้ว ทั่วโลกมันเริ่มลดลง เรียกว่าเข้าโค้งสุดท้ายแล้ว เราก็แค่ระวังตัวเองอย่าให้แหกโค้งเท่านั้น ผ่านช่วงนี้ไปได้ก็จะใช้ชีวิตได้สบายขึ้น

ความทุกข์ทั้งหลายมันเป็นธรรมชาติอย่างนี้ บทมันจะมาก็มา ตึงตังโครมครามอะไร ถึงเวลาไม่ว่ามันจะทุกข์แค่ไหน ถึงเวลามันก็ผ่านไป อยู่ที่เราประคองตัว รักษาตัวไว้ให้ผ่านพ้นวิกฤติแต่ละครั้งๆ ในชีวิตของเรา ชีวิตเราก็จะเจอวิกฤติเป็นระยะๆ อย่างเรื่องโรคระบาดนี่ มันเป็นวิกฤติร่วมกันของคนทั้งโลก คือมีวิกฤติของแต่ละประเทศ บางประเทศก็เกิดปัญหาวุ่นวาย มีวิกฤติในชีวิตเราเอง เฉพาะครอบครัว เฉพาะตัวเอง ชีวิตเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าความทุกข์มันจะหนักหนาสาหัสเท่าไรถึงจุดหนึ่งมันก็ไป ความสุขก็เหมือนกัน ดิ้นรนหาแทบตายเลยถึงจุดหนึ่งมันก็ไปเหมือนกัน

ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ เรียนรู้ความจริงไป ต่อไปใจเราจะไม่กระเพื่อม ความสุขมาใจก็ไม่ฟู ความทุกข์มาใจก็ไม่แฟบลงไป ใจเป็นกลางในสภาวะทุกๆ สภาวะ ก็จะมีความสุขความสบายเกิดขึ้นในจิตใจเรา ใจมันจะเป็นอิสระ ไม่ได้ถูกสิ่งเร้าต่างๆ มามีอำนาจเหนือใจ ค่อยๆ ฝึกไป ทุกวันๆ ตั้งใจรักษาศีล ศีล 5 ข้อสำคัญที่สุด ถึงเป็นพระเมื่อมีศีล 227 ก็ทิ้งศีล 5 ไม่ได้

ศีล 5 เป็นศีลที่อยู่ในองค์มรรค สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะอะไรอย่างนี้ต้องรักษา ก็ฝึกให้มีสมาธิ ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถ้าจิตใจฟุ้งซ่านล่องลอย เราก็ไม่สามารถเรียนรู้ความจริงของกายของใจได้ ต้องฝึก อยู่ๆ มันไม่เกิดหรอก

ศีลต้องตั้งใจรักษา สมาธิต้องฝึก การเจริญปัญญาต้องรู้วิธี แล้วก็ลงมือปฏิบัติ ฝึกไปเรื่อย เราจะอ่านจิตอ่านใจตัวเองได้ละเอียด ได้ชัดเจนมากขึ้นๆ  อย่างเราจะเห็นเลยว่ามันมีความอยากขึ้นมาเมื่อไร มันก็มีความยึดขึ้นมาเมื่อนั้น มีความยึดเมื่อไร ก็มีความดิ้นรนของใจเมื่อนั้น มีความดิ้นรนของจิตใจเมื่อไร ก็มีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันมีความทุกข์ มันมีตัวตนขึ้นมาแบกรับความทุกข์

อย่างมีความอยาก เราพูดกันบ่อยเรื่องตัณหา 3 อย่าง กามตัณหา-อยากได้ ภวตัณหา-อยากเป็น วิภวตัณหา-อยากให้มันไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ ตัณหาจะผลักดันให้จิตเกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ตรงที่จิตเข้าไปยึดถือเรียกว่าอุปาทาน ตัวตัณหามันเป็นตัวโลภะที่มีกำลังแรง ตัวอุปาทานมันมีกิเลสก็คือตัวโลภะที่แรงที่สุดเลย แรงกว่าตัณหาอีก ถ้าแยกละเอียดออกไป มันก็มี 2 ตัว คือตัวราคะตัวหนึ่ง ตัวทิฏฐิตัวหนึ่ง ทิฏฐิมันก็อยู่ในตระกูลของราคะของโลภะนี้เหมือนกัน

ถ้าเราพูดแบบสอนพระ เราก็พูดถึงอุปาทาน 4 ตัว กามุปาทาน-รักใคร่พอใจ ติดอกติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย รักใคร่พอใจในร่างกายของตัวเอง ของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของกามคุณอารมณ์ เกิดกิเลสกาม ตัวที่ 2 นี้สำหรับพระ คือตัว ทิฏฐุปาทาน-ความยึดในมิจฉาทิฏฐิต่างๆ ตัวที่ 3 เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน-เป็นตัวยึดการถือศีล บำเพ็ญพรตแบบงมงาย ยึดถือว่าวิธีนี้ดีจะทำให้บรรลุมรรคผล ถึงฝั่งถึงพระนิพพาน ตัวที่ 4 เรียก อัตตวาทุปาทาน-ยึดถือในวาทะ ในทัศนะว่าตัวกู ของกูมีอยู่จริงๆ

 

อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น

ถ้าพูดอธิบายธรรมะแบบนี้ฟังยาก สำหรับคนรุ่นนี้ พูดให้ฟังง่ายขึ้นถ้าให้โยมฟัง เรายึดอะไรบ้างในชีวิตเรา ที่เราเที่ยวยึดเที่ยวถือเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เรายึดในความสุขความสบาย ความรื่นรมย์เพลิดเพลินทั้งหลาย มีความสุขขึ้นมา พออกพอใจยึดถือเอาไว้เหนียวแน่น ไม่อยากให้มันหลุดมือไป มีความสุขเพราะอะไร เพราะได้เห็นสิ่งที่พอใจ ได้ยินเรื่องราวที่พอใจ ได้กลิ่นที่ถูกอกถูกใจ ได้รสที่ถูกอกถูกใจ ได้สัมผัสที่พอใจ หรือเพลิดเพลินคิดในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเพลินๆ ติดอกติดใจในร่างกาย แล้วก็สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกายตัวเอง ดูสิที่เรายึดถือมากๆ ก็คือตัวเราใช่ไหม เรายึดถือมากเลยก็คือตัวเรานี่ล่ะ อะไรเป็นตัวเรา ก็ร่างกายเป็นตัวเรา ฉะนั้นยึดถืออย่างรุนแรงเลย ทรัพย์สมบัติของเรายึดถือ ไม่ได้มาก็อยากได้มา ได้มาแล้วก็หวงแหน ผูกพัน การยึดถือเกิดขึ้นมันก็เหมือนโซ่ตรวนมัดใจเราไว้ ฉะนั้นเราจะยึดถือ ก็คือยึดถือตัวเอง ร่างกายของเรา ทรัพย์สินเงินทอง ครอบครัว ลูก เมีย อันนี้อยู่ในกลุ่มของกามุปาทาน ความยึดมั่นตัวที่ 1 พูดอย่างนี้ก็เห็นง่าย ยึดอะไร นี่ตัวเรา ยึดร่างกาย ยึดบ้านของเรา ลูกเรา เมียเรา สามีเรา รถยนต์ของเราอะไรอย่างนี้ นี่ยึดถือในวัตถุ สิ่งของทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ร่างกายตัวเองออกไป

สิ่งที่เรายึดถืออันที่ 2 ก็คือยึดถือในความคิดความเห็นของเรา อย่างพวกเจ้าลัทธิอุดมการณ์ทั้งหลาย มันยึดถือในความคิดความเห็น แต่ความคิดความเห็นที่ยึดถือแล้วไม่ดี คือความเห็นผิด แต่อย่างความเห็นถูก ถึงไม่ยึดถือ ความเห็นถูกก็เป็นความเห็นถูกอยู่อย่างนั้น อย่างในโลกทะเลาะกันแทบเป็นแทบตาย ก็เพราะความเห็นมันขัดกัน อย่างยุคหนึ่งก็มีประเทศหนึ่ง เขาคิดว่าผู้นำประเทศนั้นเขาคิดว่า ชนชาติของเขาดีที่สุด ชนชาติอื่นมันเกิดมา เพื่อจะมาเป็นทาสของเขาเท่านั้นเอง ชนชาติไหนที่ตัวเองไม่พอใจก็ไปไล่ฆ่า ฆ่าตายตั้งหลายล้าน นี่ยึดถือความเห็นว่าชนชาติหนึ่ง ดีกว่าชนชาติหนึ่ง พวกหนึ่งก็ถือวรรณะหนึ่งดีกว่าอีกวรรณะหนึ่ง ยึดถือในความคิดความเห็นของตัวเอง เราเป็นวรรณะชั้นสูง วรรณะชั้นต่ำคบกันไม่ได้ อยู่ร่วมกันไม่ได้ บางพวกก็ยึดลัทธิอุดมการณ์ ยุคหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านเรานี่ล่ะ มีสงครามภายในฆ่ากันตายไปเกือบครึ่งประเทศ ตายไปตั้งหลายล้านคน เพราะว่าฝ่ายยกย่องลัทธิมาร์ค คิดว่าคนอื่นกลุ่มอื่นไม่มีประโยชน์ ต้องทำลายไปให้หมด ต้องเหลือแต่ชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นกรรมาชีพอย่างเดียวมันอยู่ได้ที่ไหน สังคมมันแยกหน้าที่กันตั้งเยอะแยะ กว่าจะรู้สึกสูญเสียกันไปตั้งเท่าไหร่ เสียชีวิตเพื่อนร่วมชาติไปตั้งเยอะแยะ

มีอีกประเทศหนึ่งเห็นว่า ศาสนา วัฒนธรรมอะไรของบรรพบุรุษนี้ไม่ดี ทำให้คนงมงาย ทำลายล้างหมดเลย เผาวัดเผาอะไรไป เจดีย์ พระพุทธรูปอะไรทำลาย พ่อแม่ไม่มีความสำคัญ ครูบาอาจารย์ไม่สำคัญ เอาครู เอาอาจารย์ไปซ้อมไปอะไร นี่ยึดถือในความคิดความเห็นในลัทธิอุดมการณ์ซึ่งมันผิด มันผิดอย่างไร มันผิดธรรมชาติ ที่จริงแล้วคนแต่ละคนแต่ละกลุ่ม มันมีประโยชน์ของมันทั้งนั้น ขยะยังมีประโยชน์เลย ถ้ารู้จักใช้ บางประเทศทำลายคนบางกลุ่มไป สุดท้ายก็ต้องดิ้นรนสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ นี่เพราะยึดถือในความคิดความเห็น

พวกหนึ่งก็ยึดถือประชาธิปไตย ประชาธิปไตยดีที่สุด ยึดไปยึดมากลายเป็นเผด็จการโดยไม่รู้ตัว อยากเป็นประชาธิปไตย แต่ใครคิดต่างไม่ได้เลย เอาเรื่องเลย ต้องฆ่าให้ตายถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ที่จริงลัทธิอุดมการณ์มันเป็นแค่ความเชื่อเท่านั้นเอง สิ่งที่สังคมต้องการ ประเทศชาติต้องการ คือการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความสุขด้วยกัน นั่นดีที่สุด

ในแต่ละเงื่อนไข แต่ละสถานการณ์ ก็อาจจะต้องมีวิธีปกครอง มีวิธีดำเนินเศรษฐกิจอะไรแตกต่างกันไป หรือวัฒนธรรมก็มีความเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายมันก็ต้องมี ไม่ใช่ไม่มี ไม่อย่างนั้นมันจะไม่มีหลักยึดที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม สังคมมันก็ต้องมีกติกาของสังคม สังคมที่ไม่มีกติกาอยู่ไม่ได้ จลาจล ถ้าเรายึดถือความคิดความเห็นเราว่าต้องแบบนี้เท่านั้นอย่างอื่นไม่ได้ คิดเอาเองก็วุ่นวายไม่รู้จักจบ พวกหนึ่งเขาก็ใช้ความเชื่อ อุดมการณ์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง พวกหนึ่งที่เจ้าเล่ห์ก็ใช้ประโยชน์ แสวงหาประโยชน์ ชูอุดมการณ์ขึ้นมาแล้วก็แสวงหาประโยชน์ซ่อนเร้นอยู่ มีตั้งแต่ระดับโลก ยันระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล พวกนี้ทำไป เป็นความคิดความเห็นที่ทำแล้วร้อน ปฏิบัติไปยึดถือไว้ยิ่งเร่าร้อน

ไม่เหมือนสัมมาทิฏฐิ อย่างคำสอนของพระพุทธเจ้า เรายึดถือไว้ไม่เรียกว่าทิฏฐุปาทาน ไม่เรียกอย่างนั้น ทิฏฐิตัวนี้หมายถึงมิจฉาทิฏฐิเท่านั้น อย่างยึดถือหลักว่าทำดีก็มีผลทำชั่วก็มีผล มีหลักอย่างนี้ เป็นหลักของเหตุของผล ทำเหตุอย่างนี้แล้วมีผลอย่างนี้ เราเชื่อมั่นในทฤษฎี ในทิฏฐิ ทิฏฐิก็คือคำว่าทฤษฐีนั่นเอง ภาษาบาลีเรียกทิฏฐิ ภาษาสันสกฤตเรียกทฤษฎี เรามีทฤษฎีอย่างนี้ ทฤษฎีนั้นถูก กับทฤษฎีที่คิดเอาเองโดยปุถุชน ทฤษฎีของปุถุชนมันก็ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกชั่วคราว เป็นครั้งเป็นคราวตามสถานการณ์ ผ่านช่วงนั้นมาอาจจะไม่ถูกก็ได้ แต่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้กี่พันปีมันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นสัจจะ เป็นความจริงอยู่ อย่างถ้าเราทำกรรมชั่วไป สุดท้ายเราต้องได้รับความทุกข์ ถ้าเราสร้างคุณงามความดีไป สุดท้ายต้องมีความสุข ถ้าเราภาวนาทุกวันๆ เราจะรู้เลยว่ามันเรื่องจริง ยิ่งเราปฏิบัติ เรามีศีล มีธรรม เราฝึกจิตฝึกใจของเรา มีสมาธิ มีปัญญา เข้าใจความจริงของโลก ของชีวิต จะยิ่งมีความสุข มีความสงบมากขึ้นๆ

คนในโลกมันไม่เห็น มันก็ยึดตัวเองกับสิ่งที่เนื่องด้วยตัวเอง ยึดในร่างกาย ยึดในครอบครัว ยึดในทรัพย์สินเงินทองอะไร ตัวนี้ที่เราเรียกว่า กามุปาทาน ยึดถือในลัทธิอุดมการณ์แบบงมงาย คนอื่นผิดกูถูกอะไรอย่างนี้ เบียดเบียน เริ่มต้นแต่เบียดเบียนตัวเองก่อน ยึดถือมากก็ไม่มีความสุขแล้ว ไม่มีความสงบ จิตใจเร่าร้อน แล้วก็แพร่ความเร่าร้อนไปสู่คนอื่น นี่ยึดถือในความคิดความเห็น ย่อยๆ ลงมากระทั่งในครอบครัว ในบ้าน ในที่ทำงาน คนไหนยึดถือในความคิดความเห็นมาก ตัวเองก็ไม่มีความสุข คนที่อยู่ด้วยก็ไม่มีความสุข ภาษาสมัยนี้บอกพวกเซลฟ์จัด ก็คือพวกมันยึดถือในความคิดความเห็นของตัวเองมาก ตัวเองก็ไม่มีความสุข ก็ทำให้คนอื่นที่อยู่ใกล้ไม่มีความสุขไปด้วย

ตัวนี้เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ทำให้เซลฟ์จัด ยึดถือ ถ้าอย่างพระ เราบอกยึดถือในสีลัพพตที่งมงาย ถ้าบอกฆราวาส ก็บอกยึดถือแบบแผนการทำงาน การปฏิบัติงานอะไรนี้ยึดถือไว้ตายตัวเลย มันมีธรรมชาติอันหนึ่ง คนอายุมากขึ้น ตอนหนุ่มมีความคิดริเริ่ม มีอะไรขึ้นมา ทำงานไปช่วงหนึ่งเติบโตขึ้นมา ก็รู้สึกว่าวิธีทำงานที่ตัวเองเคยทำดีที่สุดแล้ว ผ่านการพิสูจน์มายาวนาน ฉะนั้นยึดถือในแบบแผนการทำงานอะไรต่างๆ ของเรานี้ดีที่สุดแล้ว ทั้งๆ ที่สังคมมันเปลี่ยน โลกมันเปลี่ยน วิธีเก่าๆ อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว

อย่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่ เราจะเห็นเลยว่าวิธีเก่าๆ บางทีมันไปไม่รอดแล้ว อย่างที่ชลบุรี มันมีตึกแถวอยู่ พอเขาสร้างทางด่วนมาเส้นลอยฟ้าผ่านชลบุรีไม่ได้ คนประท้วงไม่ยอมให้ทำทางด่วนผ่านชลบุรีไป กลัวคนไม่ลงไปเดินซื้อของตามตึกแถว เคยขายของอยู่ในตึกแถว ก็จะต้องขายอยู่อย่างนั้น ถึงจุดหนึ่งสังคมมันเปลี่ยน ระบบเศรษฐกิจมันเปลี่ยน อะไรมันเปลี่ยนหมด คนไม่มาเดินซื้อของตามข้างถนนอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นที่พยายามต่อสู้ไว้ เพื่อจะรักษาการค้าตามห้องแถวที่เราเคยทำมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย มันเป็นการต่อสู้ที่เหนื่อยเปล่า สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้

เราเคยขายของตามตลาด ตลาดสด ตลาดอะไรอย่างนี้ นานๆ ไปพอสังคมมันเปลี่ยนมากกว่านี้ ตลาดพวกนั้นก็จะหายๆ ไป เดี๋ยวนี้ก็หายไปตั้งหลายแห่งแล้ว ตลาดร้างไปเลย ไม่มีคนเข้า เพราะคนไปซื้อของตามห้าง ถ้าเรายึดถือในแบบแผนที่เราเคยทำ สุดท้ายมันไปไม่รอดเหมือนกัน ก็กลุ้มใจ แบบแผนอันนี้ดีที่สุด เรียกว่าปรับไม่เป็น พัฒนาไม่เป็น ถ้ายึดเอาไว้ก็กลุ้มใจเปล่าๆ ไปไม่รอด อย่างเราเห็นคนเขาขายของออนไลน์ ขายกันใหญ่เลยทุกคนขาย ปรากฏว่าถึงจุดหนึ่งมันมีการรวมกลุ่ม มีตัวกลางขาย เราขายของออนไลน์เดี่ยวๆ สู้เขาไม่ได้แล้ว มันต้องปรับตัวตลอดเวลา เรายึดแบบแผนอะไรตายตัว ไปไม่รอดหรอก กลุ้มใจเปล่าๆ นี่อยู่ในธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เรามองไม่เป็น ที่จริงธรรมะที่ท่านสอนอยู่กับชีวิตเรานี่เอง เรามองไม่ออกเท่านั้น

แล้วก็ตัวสุดท้ายที่ยึดถือคือตัวเรา ตัวกูๆ อะไรกูไว้ก่อน ตัวเราไว้ก่อน ยึดถือในวาทะว่านี่เป็นตัว เป็นตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา เรามีอยู่จริงๆ ยึดถือในวาทะอย่างนี้ พระอริยบุคคล เวลาท่านพูดถึงตัวท่านเอง ผมอย่างนั้น ดิฉันอย่างนี้ อาตมาอย่างนี้ พูดโดยโวหาร ไม่ได้ยึดในวาทะที่แท้จริงว่า ตัวเรามีอยู่จริงๆ อาตมาอย่างโน้นอย่างนี้ ดูลงไปในส่วนลึก ไม่มีกระทั่งเงาของความเป็นตัวตนอยู่ พอมีอุปาทาน 4 ตัว ยึดถือในตัวร่างกาย ในวัตถุสิ่งของ ยึดถือในความคิดความเห็น ยึดถือในแบบแผนของการทำงาน ยึดถือในความเป็นตัวเป็นตน การยึดถือทั้งหมดนั้นมันพุ่งมาที่การยึดถือในความเป็นตัวเป็นตน ท่านเลยจัดเอาไว้ตัวสุดท้าย ร่างกายก็ตัวเราใช่ไหม ความคิดเห็นนี้ก็ความคิดเห็นของเรา แบบแผนการดำเนินชีวิต การทำงานของเรา สุดท้ายมันมาเซิร์ฟที่ตัวกูของกูนี่ล่ะ ท่านพุทธทาสท่านเก่ง ท่านเจาะมาที่ตัวกูของกู

 

อุปาทานนำไปสู่ภพ คือความดิ้นรนของจิตใจ

พอเรามีอุปาทาน 4 ตัวนี้แล้ว สิ่งที่ตามมาถ้าพูดให้พระฟังก็คือ อุปาทานนี้นำไปสู่ภพ ภพมี 2 อัน มีอุปัตติภพ ภพโดยการเกิด อย่างพวกเรามีอุปัตติภพเป็นมนุษย์ แล้วก็กรรมภพ ก็คือการทำงานของจิต

อย่างจิตเรา เดี๋ยวก็เป็นเปรต นี่มันโลภ เดี๋ยวก็เจ้าความคิดเจ้าความเห็น เป็นอสุรกาย เดี๋ยวก็จมในความทุกข์ ก็เป็นสัตว์นรก เดี๋ยวก็หิวโหย มีแต่ความอยาก ความโลภ ก็เป็นเปรต บางทีก็มีศีลมีธรรม ก็เป็นมนุษย์ บางทีก็มีหิริโอตัปปะ ยิ่งกว่าถือศีลธรรมดา มีหิริโอตัปปะมันละอายใจที่จะทำชั่ว เกรงกลัวผลของการทำชั่วอะไรอย่างนี้ เรียกว่าเทวธรรม บางทีใจของเราก็เป็นเทวดา เป็นมนุสสเทโว บางทีใจก็สงบ เข้าสมาธิเข้าอะไรไปก็ไปเป็นพรหม อย่างบางทีใจของเรา เราเข้าสมาธิไม่เป็นหรอก แต่ใจเราเกิดความเมตตา กรุณาขึ้นมา เรียกว่าใจของพรหม เป็นภพของพรหม ภพย่อยๆ ในใจเรา เป็นขณะๆ ไป เป็นช่วงๆ ไป เราก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยๆ นี้ จะเวียนอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ หมุนๆ อยู่อย่างนั้นเอง

ตัวภพก็คือความดิ้นรนของจิตใจ ตัวกรรมภพเป็นความดิ้นรนของจิตใจ สังเกตให้ดีเวลาเราเกิดความยึดถือขึ้นมาแล้ว มันจะเกิดการดิ้นรนของใจ อย่างเรายึดถือว่านี่คือตัวเรา ร่างกายเรา พอมันจะแปรปรวนไม่เป็นของเราขึ้นมาแล้ว ใจมันจะดิ้นใหญ่เลย กังวล กลุ้มใจ ทุรนทุราย หรือแฟนเรานอกใจเราอะไรอย่างนี้ ใจมันก็ดิ้นรน ทุรนทุราย เพราะเรายึดถือ ถ้าเราไม่ได้ยึดถือว่าคนๆ นี้เป็นของเรา เขาจะไปไหนเราก็ไม่เดือดร้อน แต่พอเรายึดถือปุ๊บ ใจเราจะดิ้นทันทีเลย ตรงที่ใจมันดิ้นเรียกว่าภพ ดิ้นรน เรายึดถือในลัทธิอุดมการณ์ คนอื่นเขาไม่เห็นด้วยใจเราก็ดิ้น ทุรนทุราย อาละวาด ไม่รู้จะทำอะไร เอาสีไปเขียนถนนบ้างอะไรบ้าง คลุ้มคลั่งไปวันๆ หนึ่ง นี่ใจไม่มีความสงบสุข ฉะนั้นตัวอุปาทานมันทำให้จิตใจดิ้น ดิ้นเร่าๆๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน เหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า ไส้เดือนถูกขี้เถ้า คนยุคนี้ไม่รู้จักแล้ว เพราะคนยุคนี้ไม่ค่อยได้ใช้เตาถ่าน หรือเตาฟืนมันจะมีขี้เถ้า ถ้าไส้เดือนไปถูกขี้เถ้า มันจะทรมานมากจะดิ้น ฉะนั้นใจที่มันมีความยึดมั่น ถือมั่นมาก มันจะดิ้น มันยึดถือความเห็นของเรา ลัทธิของเราดีที่สุด ไม่ได้มีความสุขเลย เจ้าลัทธิใดๆ ก็ไม่เห็นจะมีความสุขเลย หรือเรายึดถือแบบแผนการทำงาน เราเคยเป็นผู้บริหารทำงานบริษัทฯ นี้มา 30 ปีแล้ว ประสบความสำเร็จ เด็กรุ่นใหม่มาเสนอวิธีการ รับไม่ได้ ใจก็ดิ้นๆๆ

อย่างตัวนี้หลวงพ่อไม่เป็น หลวงพ่อยังบอกพวกทีมงานเลย พวกที่ช่วยงานหลวงพ่อ ทั้งมูลนิธิฯ ทั้งทีมไลฟ์ ทั้งทีมอะไรพวกนี้ บอกว่านานๆ มานี่หลวงพ่อไม่ทันสมัยแล้ว วิธีการที่หลวงพ่อรู้จัก มายุคนี้วิธีอย่างที่หลวงพ่อเคยทำ อาจจะทำไม่ได้แล้ว เหมือนที่หลวงพ่อเคยเห็นวิธีของพระรุ่นก่อน ถึงเวลาท่านก็ถือใบลานขึ้นมานั่งบนธรรมาสน์ ตั้งนะโมแล้วท่องบาลีเป็นบทตั้ง แล้วก็เทศน์ยืดๆๆ ไป มารุ่นหลังไม่มีใครฟังแล้ว ไม่มีใครฟัง ทนไม่ไหว ก็ต้องปรับต้องเปลี่ยน อย่างหลวงพ่อเปลี่ยน หลวงพ่อใช้อินเทอร์เน็ต ใช้อะไรมากขึ้น ใช้ภาษาที่เปลี่ยนไป ที่ให้คนแต่ละรุ่นคนในรุ่นนั้นเข้าใจ ถ้าเราใช้ภาษาดั้งเดิม แล้วก็อนุรักษ์ เคยเทศน์อย่างนี้ก็ต้องเทศน์อย่างนี้ สุดท้ายก็ไม่มีใครฟัง วัดก็เงียบเหงาไป เพราะคนไม่รู้ว่าเข้าไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไร หรืออย่างหากินด้วยการทำอะไร ต่ออะไรพิลึกๆ ปั้นรูปปั้นต่างๆ อะไรอย่างนี้ให้คนมาไหว้ มันก็ได้ช่วงหนึ่ง สุดท้ายเขาก็บอกว่าไม่เห็นได้ผลอะไรเลย

อย่างหลวงพ่อจะเตือนทีมงานของหลวงพ่ออยู่เรื่อยๆ อย่างมูลนิธิฯ ทีมไลฟ์อะไรอย่างนี้ หลวงพ่อก็บอกวันหนึ่งวิธีการที่หลวงพ่อใช้ อาจจะใช้ไม่ได้อีก พวกเราต้องปรับวิธีการ เพื่อให้ธรรมะนี้เข้าถึงใจคน ให้สะดวกที่สุด ให้ง่ายที่สุด ใช้วิธีอะไรที่ต้องพัฒนา บอกหลวงพ่อคิดไม่เป็นแล้ว เพราะหลวงพ่อไม่รู้เรื่องแล้ว เทคโนโลยีอะไร ทำไม่เป็นแล้ว พวกเราคนรุ่นหลังมีหน้าที่คิด สิ่งเดียวที่ต้องรักษาไว้ คือธรรมะของพระพุทธเจ้าเปลี่ยนไม่ได้ แต่วิธีการถ่ายทอดนั้นต้องเปลี่ยน ตามยุคตามสมัย จะไปใช้วิธีดั้งเดิมไม่ได้กินหรอก มันหมดเวลาแล้ว วิธีอย่างนั้นมันไม่สามารถสื่อกับคนได้แล้ว

กระทั่งภาษา ภาษาธรรมะที่เราใช้กันเป็นหลักๆ อยู่ตอนนี้ เป็นภาษารุ่นรัชกาลที่ 5 คนรุ่นนี้ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วต้องแปลอีกที แปลไทยเป็นไทย ยุคนั้นกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านเก่งมากเลย หลวงปู่มั่นยกย่องท่านว่าท่านเป็นปฏิสัมภิทา ท่านสามารถเขียนตำรานวโกวาท ตำราอะไรต่ออะไรขึ้นมาเยอะแยะเลย เพื่อให้คนรุ่นของท่านอ่านรู้เรื่อง ไม่ใช่มีแต่ตัวหนังสือขอมอะไรอย่างนี้ คนไม่รู้เรื่องสื่อไม่ได้ รัชกาลที่ 5 ท่านเอาพระไตรปิฎกที่แปลภาษาไทยพิมพ์ ภาษาไทย ภาษาขอมอะไรก็ตาม ก็พิมพ์ออกมา เห็นไหมใช้เทคโนโลยีใหม่ คือการพิมพ์ ศาสนาก็อยู่มาอีกช่วงหนึ่ง มาถึงยุคนี้ คนยังติดใจเรื่องการพิมพ์พระไตรปิฎก คิดว่าได้บุญเยอะ พระไตรปิฎกจะท่วมวัดอยู่แล้ว ไม่มีคนอ่านต่างหาก เพราะคนยุคนี้มันไม่อ่านหนังสือก็ต้องเปลี่ยน คนยุคนี้ชอบอินเทอร์เน็ต ก็ต้องเร็วๆ ไม่อยากอ่านทั้งหมดหรอกเสียเวลา ไม่เหมือนรุ่นหลวงพ่อ อ่านพระไตรปิฎกคืออ่านพระไตรปิฎก อ่านกันเป็นปีๆ อ่านแล้วอ่านอีกอยู่อย่างนั้น

ยุคนี้ถ้าอยากรู้อะไรก็เสิร์ชเอา แต่ก่อนอยากรู้ธรรมะอะไรสักข้อหนึ่ง หากันแทบตายเลย คลับคล้ายคลับคลาว่าอยู่เล่มไหน เปิดกันนานเลย เดี๋ยวนี้ง่าย ถามว่ามันเสียหายไหม ไปเสิร์ชพระไตรปิฎก ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลย มันเสียหายตรงที่คนมันไม่อ่านต่างหาก ฉะนั้นต้องเปลี่ยนวิธี นี้มาถึงรุ่นนี้ก็ต้องคิดต่อไป ต่อไปอาจจะต้องเทศน์ระบบ 5G แต่ละคนอยู่ที่บ้านไม่ต้องมาที่วัดหรอก ใส่แว่นเข้าแล้วเห็นหลวงพ่ออยู่ต่อหน้าเลย มันก็ต้องพัฒนาไปอีก อะไรก็ได้วิธีการที่จะสื่อเข้าถึงคนให้ได้ ให้เขาเข้าใจให้ได้

ฉะนั้นถ้าเรายึดในวิธีการก็ไปไม่รอดหรอก ต้องปรับเปลี่ยน แต่ตัวยากที่สุดเลย คือการที่จะเข้ามาเห็นความยึดในตัวตน ตัวนี้ต้องภาวนากันนาน จะเห็นทีแรกก็ยึดในวัตถุว่าเป็นตัวเราของเรา ยึดถือในความคิด ทฤษฎีต่างๆ ว่าเป็นของเรา ยึดถือในแบบแผนการปฏิบัติของเรา สุดท้ายก็คือยึดตัวเองนี่ล่ะ กูถูก คนอื่นถูกน้อยกว่า หรือคนอื่นผิด กูเท่านั้นดีที่สุด ทุกอย่างที่ทำทางวัตถุหรือทางนามธรรม มันมุ่งมาเซิร์ฟสนองอัตตาตัวตน ให้ดูให้ดีเถอะ ค่อยๆ ดูไป พอจิตใจเราเกิดความดิ้นรน มีความอยากก็มีความยึด พอมีความยึดถือแล้วก็เกิดการดิ้นรนทางจิต ทันทีที่มันดิ้นรน เราจะเห็นเลยว่า มันมีการหยิบฉวยขึ้นมา หยิบฉวยอะไร อันแรกเลยหยิบฉวยจิตขึ้นมาก่อน ตัวนี้ไม่ภาวนาจะไม่เห็น จิตหยิบฉวยจิต หรือเวลาจะดูรูปด้วยอำนาจของความยึดมั่น ถือมั่น มันไม่ใช่สักว่ารู้ว่าดูหรอก มันจะดูแบบหยิบฉวยเอาตาขึ้นมา หยิบฉวยหู หยิบฉวยจมูก หยิบฉวยลิ้น หยิบฉวยกาย แล้วหยิบฉวยจิตใจของตัวเองขึ้นมา ตรงที่มันหยิบฉวยขึ้นมา เรียกว่าชาติ

ก็ต้องภาวนาแล้วจะเห็น ตรงที่เห็นง่ายๆ เรื่องยึดถือ 4 ตัว เรื่องความอยาก 3 แบบอะไรอย่างนี้ อันนี้ดูง่าย เรื่องตรงที่ใจมันเริ่มดิ้นรน ตรงนี้เป็นภพเริ่มดูยากขึ้นหน่อย ถ้าไม่ภาวนาไม่เห็น ใจแต่ละคนนี่ดิ้นเป็นหมาถูกน้ำร้อน เป็นไส้เดือนถูกขี้เถ้า ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น เมื่อดิ้นรนทุกข์ร้อนก็ไประบาดใส่คนอื่นเขาต่อไปอีก ถ้ารู้ถ้าเห็นก็ไม่เป็นหรอก ตรงที่ใจมันดิ้น ถ้าภาวนาเห็น เราจะเห็นจิตมันเข้าไปตะครุบ ตะครุบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตะครุบทีละอัน ไม่ได้ตะครุบทีละ 6 อัน มันจะใช้อายตนะทวารไหน มันก็ตะครุบอันนั้นขึ้นมา ไม่ได้ตะครุบทีละ 6 ตัวหรอก ตะครุบเป็นตัวๆ ไป ตัวนี้พูดฟังเอาไว้ก่อน แล้วค่อยภาวนาเดี๋ยววันหนึ่งเห็น แล้วทันทีที่หยิบฉวยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจขึ้นมา มันจะเกิดความทุกข์ขึ้นทันที เพราะตัวตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นละตัวทุกข์ มันคือตัวทุกข์ แต่มันเป็นทุกข์ทีแรก มันเป็นทุกข์ของโลก ตรงที่เราไปตะครุบขึ้นมา มันเป็นทุกข์ของเราขึ้นมาแล้ว มันกลายเป็นทุกข์ขึ้นมา

เพราะฉะนั้นตัวชาติ มีชาติก็มีชรา มีมรณะอะไรอย่างนี้ การที่หยิบฉวยสภาวะตัวชาตินั้น ก็คือตัวทุกข์ หยิบฉวยขึ้นมาตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วแต่จะแยก จะแยกในแง่มุมใด มันไปหยิบฉวยขึ้นมาเมื่อไร มันก็ทุกข์เมื่อนั้น ท่านสอน “ขันธ์ 5 เป็นภาระ บุคคลทั้งหลายแบกภาระไว้ ก็ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์วางภาระลงแล้ว แล้วไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก” ท่านก็ไม่มีภาระ พ้นจากทุกข์ ทุกข์ทางกาย ทุกข์อะไรอย่างนี้มันก็มี เป็นของโลก ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย มีไม่ใช่ไม่มี พระอรหันต์ไม่ใช่หุ่นยนต์ พระอรหันต์ก็มีความรู้สึกนึกคิด แต่มันไม่ได้รู้สึกนึกคิดด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา มันเป็นสักว่ารู้สึกนึกคิดไป มีความสุข มีความทุกข์อะไรนี่มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าจิตมันไม่เข้าไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา พอจิตไม่ไปหยิบฉวยจิต มันก็ไม่มีตัวตน เรียกว่ามันไม่เกิด ถ้าจิตมันไปหยิบฉวยจิต ก็คือมันเกิดแล้ว มันมีชาติขึ้นมา มีความเกิดขึ้นมา

 

ต้นตอคือตัวอวิชชา ความไม่รู้อริยสัจ 4 ไม่รู้ทุกข์
คือไม่รู้ว่ารูปนาม ขันธ์ 5 กายใจนี้เป็นตัวทุกข์ เรียนรู้ตรงนี้ให้เยอะๆ
ตรงที่เราเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ ก็จะให้เห็นว่ามันเป็นตัวทุกข์
ตรงนี้เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน

 

ถ้าเราภาวนาเราจะเห็นบางทีจิตก็ปล่อยวางจิต บางทีจิตก็หยิบฉวยจิต ฉะนั้นภาวนาไปเรื่อยๆๆ ถึงจุดหนึ่งเราจะรู้เลยว่า ที่จิตไปหยิบฉวยจิตเพราะจิตไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 ไม่รู้ว่าขันธ์ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวจิตคือตัวทุกข์ ฉะนั้นถ้าไม่เห็นทุกข์ ก็ไม่เรียกว่ารู้อริยสัจ ถ้าไม่รู้อริยสัจ 4 จิตก็ยังยึดถืออยู่ ฉะนั้นอย่างเราเห็นความยึดถือ 4 อย่างเกิดขึ้น ที่ว่ายึดถือในร่างกายและสิ่งที่เนื่องกับกาย ยึดถือความคิดเห็น ยึดถือระเบียบแบบแผน ข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย ยึดถือในตัวในตนอะไรอย่างนี้ เราจะไปละตรงนี้ไม่ได้ ไม่ต้องไปละตรงนี้ ละอย่างไรก็ไม่หาย อย่างมากก็หายชั่วคราว เดี๋ยวก็ยึดอีก อย่างเราเห็นใจเรายึดเมียเราอย่างนี้ ก็ไปดูว่าหาย เดี๋ยวก็ยึดอีก

ฉะนั้นยังแก้ตรงนี้ไม่ได้ ต้องสาวลงไปแก้ที่ต้นตอแท้ๆ เลย ต้นตอแท้ๆ เลยคือการไม่รู้อริยสัจ 4 คือตัวอวิชชา เพราะมีอวิชชา จึงมีตัณหา เพราะมีตัณหา จึงมีอุปาทาน จึงมีภพ จึงมีชาติ จึงมีทุกข์ จะละจริงๆ ไปละที่ต้นตอ ละที่อวิชชา การไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้ว่าขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ อายตนะ 6 ก็คือตัวทุกข์ แล้วจิตมันไม่รู้ว่าเป็นตัวทุกข์ มันจึงไปยึดไปถือ ไปหยิบไปฉวยขึ้นมา ก็เป็นทุกข์หนักเข้าไปเลย ฉะนั้นเวลาแก้ ให้แค่รู้ทันเท่านั้น เพื่อจะได้รู้ว่า ตอนนี้ไปหลงยึดอันนี้แล้ว ตอนนี้หลงยึดแนนี้แล้ว ตอนนี้ยึด เซลฟ์จัดเลย กูแน่กูหนึ่ง ความเห็นอันนี้ถูกเท่านั้น คนอื่นผิดหมดเลย นี่ถ้าเราเห็น หรือใจมันห่วง ยึดถือ ห่วงสมบัติ ห่วงโน่นห่วงนี่ ใจมันมีเครื่องพะรุงพะรัง เราเห็นเลยยึดทีไรก็ทุกข์ทุกที จะให้เลิกยึด ให้หายยึด ไม่ใช่ไปสั่งจิตให้เลิก ไม่มีใครสั่งจิตให้เลิกยึดได้หรอก ต้องจิตได้รับการอบรมให้มีปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดว่าขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ รูปนามทั้งหลายเป็นทุกข์ เห็นอย่างนี้แล้วมันเลิกยึดไปเอง มันจะยึดทำไมมันมีแต่ตัวทุกข์ ทุกวันนี้ที่ยึดอยู่เพราะไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ การเห็นทุกข์นี่ล่ะทำให้เราเข้าใจธรรมะ

ฉะนั้นเวลาภาวนา เราไม่ได้ตัดตรงตัณหา ไม่ได้ตัดตรงอุปาทาน ไม่ได้ตัดที่ภพ เราตัดที่ต้นตอ ต้นตอคือตัวอวิชชา ความไม่รู้อริยสัจ 4 ไม่รู้ทุกข์ คือไม่รู้ว่ารูปนาม ขันธ์ 5 กายใจนี้เป็นตัวทุกข์ เรียนรู้ตรงนี้ให้เยอะๆ ตรงที่เราเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ ก็จะให้เห็นว่ามันเป็นตัวทุกข์ ตรงนี้เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ถ้าตัดตัวนี้ขาดความปรุงแต่งตามของหลักปฏิจจสมุปบาทก็ขาด ส่วนตรงที่เราเห็นว่ามันยึดความเห็น ยึดทรัพย์สมบัติ ยึดลูก ยึดเมีย ยึดระเบียบแบบแผน วิธีการต่างๆ อะไรนี่มันปลายทาง จะไปละตรงนี้ละไม่ได้จริงหรอก ละได้ชั่วคราวเดี๋ยวก็ไปยึดใหม่ มันยังไม่เข็ด จะเข็ดต่อเมื่อมันทวนเข้าไปจนถึงต้นตอของมัน ตอนนี้ยังไม่เห็นต้นตอ ก็เห็นปลายตอไปก่อน ยอดของมันก็คือใจมันทุกข์ ทุกข์เพราะว่ามันดิ้นรน มันดิ้นรนเพราะเรายึดมาก ยิ่งยึดมากก็ยิ่งทุกข์มาก อย่างยึดว่านี่เมียเรา เสียไปก็ทุกข์มาก บางทีแทบฆ่าตัวตาย อะไรอย่างนี้

ยึดว่านี่หน้าที่การงานของเรา จะต้องดีตลอด ค้าขายบริษัทเรา หรือบ้านเราค้าขาย จะต้องดีตลอด เรายึดคิดว่าโลกนี้ต้องอยู่กับที่แค่นี้ เสร็จแล้วมันยึดไม่ได้มันก็ทุกข์ กลุ้มใจ อย่างคนไทยชอบงานสบาย บอกค้าขายออนไลน์ ใครๆ ก็ค้าขายออนไลน์หมดเลย ปรากฏว่าเจอเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เข้ามา เดี๋ยวนี้มันขายเป็นกลุ่มๆ คนเขาอยากซื้ออะไร เขาก็ไปเปิดแอปพลิเคชันยี่ห้อนี้ เปิดสั่งซื้อได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ใครเขาจะมาดูทีละอันย่อยๆ มันสู้กันไม่ไหวหรอก มันคล้ายๆ ร้านโชวห่วย สู้ของตามห้างไม่ได้ ของตามห้างเองก็ลำบากแล้ว เจอของออนไลน์เข้า สะดวกกว่าเยอะเลย นึกจะจิ้มอะไรก็จิ้มๆ เข้าไป เงินก็ไม่ต้องจ่าย กดบัตรเครดิตก็จิ้มเอาอีก เสร็จแล้วค่อยไปล้มละลายเอาทีหลัง

 

 

ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีคุณมหาศาล อยู่กับโลกก็จะเข้าใจโลก เข้าใจว่าเราจะปรับตัวอย่างไรได้ ที่เราจะอยู่รอด แล้วเราจะไม่ทุกข์ ในทางธรรมช่วยเราได้มหาศาล เราสามารถมีความสุขในปัจจุบัน มีความสุขในอนาคต มีความสุขอย่างยิ่ง คือถึงพระนิพพาน ตอนที่ใจมันถึงพระนิพพานแล้วลองทวนลงมาดู เราจะเห็นว่าเราไม่มีอุปาทาน ใน 4 ตัวนั้นไม่มี แล้วก็จะเห็นว่าไม่มีที่ไปเกิดอีกแล้ว จะเห็นด้วยตัวเอง อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา ค่อยๆ ดูเอา ค่อยๆ ศึกษาไป

เมื่อเช้าหลวงพ่อออกไปหน้าศาลา เห็นแม่ชีดูผ่องใสดี ภาวนารู้เนื้อ รู้ตัว รู้ใจ รู้กิเลส รู้อะไรของเราไปเรื่อยๆ ดูดีขึ้นเยอะเลย หลายๆ คนช่วงโควิด มีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะขึ้น สามารถเอาเวลาที่อยู่กับตัวเอง มาเรียนรู้ตัวเองได้ แต่กับบางคนเท่านั้น บางคนว่างมันก็เล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวัน ไม่มีอะไรจะโพสต์ มันก็โพสต์เรื่องของกินบ้าง เรื่องหมา เรื่องแมว วันนี้แมวของเขาขี้แล้ว มาบอกชาวบ้านเขา จะกินข้าวนะกินขี้แมวลอยมาเลย ตามมโนภาพ ถ้าลองเล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวันอย่ามาคุยเรื่องภาวนาเลย ไม่ได้กินหรอก กิเลสเอาไปกินหมด หลายคนนะเล่นเน็ทเขียนแต่ธรรมะเยอะแยะเลย แต่ว่าไม่ได้ภาวนา คิดๆ เอา เวลาที่เหลือเอาไปฟุ้งเรื่องโลกๆ หลงโลกไป เรื่องหมา เรื่องแมว เรื่องคนโน้น เรื่องคนนี้ บางคนก็เรื่องการเมือง

เรื่องการเมืองเป็นเรื่องร้อน ยุ่งกับมันเท่าที่จำเป็น ทำความเข้าใจกับมัน แล้วเราจะรู้เลยที่ดิ้นเร่าๆ นั้น มันดิ้นเร่าๆ เพราะมันไม่รู้ ถ้ามันรู้มันไม่ดิ้นหรอก อย่างหลวงพ่อเรียนรัฐศาสตร์ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 30 กว่าปี นี่ 89 ปีแล้วมันยังไม่มีอะไรพัฒนาเลย ก็อย่างเดิมล่ะ เพราะกิเลสแต่ละคนแต่ละรุ่นๆ มันก็กิเลสอย่างเดิม เพียงแต่วิธีการมันปรับเปลี่ยน ก็หลอกใช้คนโน้นคนนี้ไปเรื่อยๆ เป็นประโยชน์ของตัวเอง ถ้ารู้แล้วมันไม่ได้ตอบโจทย์ อุดมการณ์ใดๆ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ แต่ละช่วงแต่ละสถานการณ์มันจะมีวิธีการที่เหมาะในแต่ละช่วงแต่ละสถานการณ์ ไม่มีคำตอบตายตัวที่ใช้ได้นิรันดร

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 มีนาคม 2564