เราปฏิบัติธรรม มันก็มีความแปลก เรารู้สึกมีความสุข ยิ่งภาวนายิ่งมีความสุข ในขณะเดียวกันยิ่งภาวนายิ่งเห็นทุกข์ ก็เลยไม่รู้ว่ามันสุขหรือมันทุกข์ อย่างภาวนาไปเรื่อย ใจโปร่ง สบาย มีความสุขอยู่ในตัวเอง ไม่ต้องง้อใครทั้งสิ้น แต่การภาวนา ยิ่งเราเห็นทุกข์มากขึ้นๆ ใจมันยิ่งคลายออกจากโลก คลายออกจากทุกข์ ใจยิ่งมีความสงบ มีความสุขมากขึ้นๆ ความสงบสำคัญ ในความสงบมันจะมีความสุขอยู่
พูดถึงนิพพานๆ เราก็วาดภาพกันไปคนละอย่างสองอย่าง บางคนก็วาดภาพนิพพานเหมือนโลกๆ หนึ่ง พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าอะไรไปอยู่รวมๆ กันในโลกอันนั้น อันนั้นยังไม่ใช่นิพพานของศาสนาพุทธหรอก นิพพานมันมีลักษณะเฉพาะ เรียกวิเสสลักษณะของนิพพาน คือมันสงบ เรียกว่ามันมีสันติลักษณะ ลักษณะของพระนิพพานคือสงบ ในขณะเดียวกันท่านก็พูดถึงพระนิพพานว่าเป็นความว่างอย่างยิ่ง ไม่มีความว่างอะไรเสมอเหมือน แล้วท่านก็พูดว่านิพพานนั้นมีความสุขอย่างยิ่งใหญ่ นิพพานัง ปรมัง สุขัง ฉะนั้นในความสงบมีความว่าง มีความสุขอยู่ด้วยกันนี่ล่ะ
ถ้าเราภาวนา เราไม่สามารถไปยึดครองนิพพานได้หรอก เราภาวนาเมื่อไรใจเราสงบสุข ถ้าใจเราเข้าถึงความสงบสุข มันไม่ทุกข์ ก็จะเห็นโลกนี้ว่าง ว่างจากความเป็นตัวเป็นตน ว่างจากความเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา ว่างตั้งแต่ภายใน ในธาตุรู้ ในธรรมะ ธรรมธาตุ ธาตุรู้มันก็ว่าง มันกลืนเข้ากับความว่างของโลก ของจักรวาล เป็นเนื้อเดียวกันหมด เสมอกันหมด
ในขณะที่ใจของเราที่ยังไม่เข้าถึง ยังไม่ได้สัมผัสพระนิพพาน ใจเรากับโลกข้างนอกมันไม่เสมอกัน ถ้าเราสังเกตให้ดี เราเห็นว่าจิตใจเราก็อย่างหนึ่ง โลกข้างนอกก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เราก็ชอบมองว่าโลกข้างนอกนี่เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ วุ่นวาย ไม่มีความสงบที่แท้จริง ที่จริงโลกข้างนอกมันก็ว่าง ที่ไม่ว่างคือใจของเราเอง ใจเรากระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา เราก็ไปโทษว่าโลกมันวุ่นวาย โลกก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ใจเราต่างหากที่วุ่นวาย ไปหลงยินดีกับสภาวะอันนี้ ไปหลงยินร้ายกับสภาวะอันนี้ ใจก็ดิ้นรน ใจก็ปรุงแต่ง ใจไม่ว่าง ใจไม่สงบ ไม่มีสันติในจิตใจ ในใจมันไม่มีสันติเสียอย่างเดียว จะไปโทษว่าโลกไม่มีสันติ
ภาวนาจนเราเข้าใจโลก
ทีนี้เราภาวนาจนวันหนึ่งเราเข้าใจโลก สิ่งที่เรียกว่าโลกนี้ มีโลกภายในกับโลกภายนอก โลกภายนอกก็คือของข้างนอก สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่แวดล้อมเราอยู่ โลกภายในก็คือขันธ์ 5 เรานี้ กายนี้ ใจนี้เป็นโลกภายใน เฝ้าเรียนรู้ความจริงของโลกจนมันเข้าใจ โลกนี้ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน โดยเฉพาะการเห็นลงมาที่ขันธ์ 5 นี้ ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวใช่ตน ว่างเปล่า เห็นตรงนี้แล้ว โลกข้างนอกกับโลกข้างในมันจะเสมอกัน มันจะว่างเสมอกัน
หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอน บอกเมื่อไหร่ที่เราสามารถเห็นว่าจิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน เราจะพ้นจากทุกข์แล้ว มันเป็นสิ่งเดียวกัน มันว่างเสมอกันหมด มันเป็นเรา เป็นเขา เป็นคน เป็นสัตว์อะไรนี่ เพราะจิตมันเข้าไปสำคัญมั่นหมาย ในความเป็นจริงแล้วมันว่างอยู่โดยตัวของมันเอง แต่ว่างนี่ไม่ใช่ว่างเปล่า ไม่ใช่ว่างแบบแห้งแล้งไม่มีอะไรเลย ที่ว่างอยู่นั้นมันสงบๆ มันไม่กระเพื่อมหวั่นไหว แล้วมันก็มีความสุขอันมหาศาล
เวลาเราภาวนา จิตมันเข้าถึงนิพพาน สัมผัสพระนิพพาน มันจะมีความสุขอันมหาศาล ธรรมะอย่างนี้ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าจะไม่มีใครค้นพบเลย ยกเว้นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า คนนอกนั้นไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ด้วยตัวเอง อย่างพวกเราบุญบารมีเราไม่ได้ถึงขนาดจะเป็นพระพุทธเจ้า หรือจะเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า เราก็อาศัยได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกทีหนึ่ง เราได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเราก็มาปฏิบัติ มาเรียนรู้โลก โลกภายใน ก็คือขันธ์ 5 รูป นาม กาย ใจของเรานี้ ถ้าเข้าใจตรงนี้แจ่มแจ้งก็เข้าใจโลกข้างนอกเหมือนกัน
อย่างเราภาวนาเราจะรู้สึกเลย ร่างกายเรากับโลกข้างนอกมันอันเดียวกัน มันก็เป็นวัตถุธาตุเสมอกัน ที่รู้สึกว่านี่เรานั่นของข้างนอกอะไรนี่ มันเกิดจากจิตมันหมายรู้ผิด มันคิดผิด มันมีความเห็นผิดเท่านั่นเอง ร่างกายเรา รู้สึก แหม เรารักเราหวงแหน ที่จริงก็แค่เศษธุลีเป็นฝุ่นละอองเล็กๆ ของโลก โลกเราก็ว่าใหญ่โต เทียบกับจักรวาลโลกก็เล็กนิดเดียวอีก มันใหญ่ด้วยความสำคัญมั่นหมาย โดยตัวมันเองแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย มันว่าง มีขึ้นมาแล้วก็แตกดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป จักรวาลเองก็เกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นถ้าเราภาวนา เรามีสติรู้ลงในกาย จิตหมดความสำคัญมั่นหมายในกาย เราจะรู้เลยร่างกายเรากับโลกข้างนอกมันเป็นของอย่างเดียวกัน เป็นวัตถุ ตัวตนที่แท้จริงของเราไม่มีหรอก ที่ว่าร่างกายของเราๆ ที่แท้ก็เป็นวัตถุธาตุของโลกทั้งหมดทั้งสิ้น
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายอาศัยผัสสะเกิดขึ้น ตามองเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัสก็เกิดความสุขความทุกข์ เกิดความสำคัญมั่นหมาย เกิดความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วต่างๆ ขึ้นมา ตัวจักขุประสาท ประสาทตาที่ไปเห็นรูป ตัวมันก็ว่างเปล่า รูปที่มันเห็น มันก็เหมือนฝันๆ ไปเท่านั้นเอง มันก็ว่างเปล่า ประสาทหู มันก็เป็นวัตถุธาตุ มันก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไร มันก็ว่างเปล่า มันไปกระทบกับเสียง เสียงมันก็ว่างเปล่า อย่างในโลกมีเสียงตั้งเยอะตั้งแยะ เกิดขึ้นแล้วก็หาย หายๆ ไปเรื่อยๆ เราออกเสียงแป๊บเดียว หายไปหมดแล้ว กระจายออกไปในโลกธาตุ กลิ่นทั้งหลาย ประสาทจมูก มันก็เป็นแค่วัตถุ ไปกระทบกับกลิ่น กลิ่นมันก็เป็นของอยู่ชั่วคราว แล้วมันก็กระจายตัวออกไป
ค่อยๆ ดูลงไป ในตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นของโลกทั้งหมดเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นวัตถุ วัตถุทั้งหลายเรายืมโลกมาใช้ เอาไว้กระทบกับวัตถุ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่กระทบกาย ถ้าเราเห็นตา หู จมูก ลิ้น กาย มันว่างเปล่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ภายนอกมันก็ว่างเปล่า มันไม่มีสาระแก่นสารอะไร
ใจเป็นธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชาติแห่งความรับรู้อารมณ์ ตัวจิต ตัวใจ มันก็อาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม ดิน น้ำ ไฟ ลมปรุงขึ้นมา หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอน ไปนั่งอยู่กับท่าน ท่านก็เล่าให้ฟัง ต้นเหตุให้เกิดรูปนามของจักรวาล เป็นเหตุให้เกิดภพ พิภพต่างๆ และดวงดาวต่างๆ นับจำนวนไม่ถ้วนเพราะไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็มันมีพัฒนาการเกิดขึ้นจากสภาวะวัตถุทั้งหลายกับช่องว่างที่ขั้นระหว่างวัตถุ ระหว่างรูปกับอรูป วัตถุมันตั้งอยู่ในช่องว่าง มันถึงเคลื่อนไหวได้ อาศัยรูปกับอรูปนั้น มันก็เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น สิ่งมีชีวิตยุคแรกมีแต่วัตถุ ยังไม่มีจิตวิญญาณ
ท่านสอนอย่างนี้ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ อันนั้นความรู้ของท่าน แล้วมันก็มีพัฒนาการออกมา จากสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจิตวิญญาณก็พัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณขึ้นมา ฉะนั้นตัวจิตมันก็อาศัยวัตถุเกิดขึ้นมาเหมือนกัน เกิดขึ้นมาแล้วมันมีพลังงาน มีการทำงานขึ้นมา มีการกระทำกรรม พอมีกระทำกรรมขึ้นมา คราวนี้มันก็เข้าวงจร มีกิเลสขึ้นมา มีกรรมขึ้นมา มีวิบากขึ้นมา ก็หมุนเวียนไปเรื่อยๆ พอร่างกายนี้แตกสลายลง มันก็ไปหาร่างกายใหม่อยู่ ตัวจิตนั้นเกิดดับ ไม่ใช่เที่ยง
เราภาวนาเรียนรู้ความจริงของกาย
เรียนรู้ความจริงของจิตใจเรื่อยๆ ไป
วันหนึ่งก็เข้าใจ แท้จริงแล้วขันธ์ 5 นี้ว่างเปล่า
ภาวนาไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นอย่างที่ท่านบอก สุดท้ายร่างกายนี้ จิตใจนี้ โลกภายใน โลกภายนอกมันเสมอกันไปหมดเลย มันว่างเปล่า ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย เหมือนเราฝันอยู่แท้ๆ เลย เราคิดว่าขันธ์ 5 มันมีจริง ที่จริงเราฝันว่ามันมีขันธ์ 5 ที่จริงก็เป็นสมบัติของโลก เราฝันๆ เอาว่านี่เป็นตัวเราๆ ขึ้นมา เราภาวนาเรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจเรื่อยๆ ไป วันหนึ่งก็เข้าใจ แท้จริงแล้วขันธ์ 5 นี้ว่างเปล่า มีเหตุก็ประชุมกัน มีเหตุมาประชุมกันแล้วมันก็เกิดขึ้นมา อยู่ชั่วคราว พอหมดกำลังของเหตุ มันก็แตกสลายออกจากกัน ไม่มีใครครอบครองเป็นเจ้าของขันธ์ 5 ไว้ได้สักคนเดียวเลย กระทั่งพระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าแท้ๆ ท่านก็ยังไม่สามารถครอบครองขันธ์ 5 นี้ไว้ได้ ถึงเวลาก็ต้องคืนเจ้าของ เพราะความจริงมันเป็นอย่างนั้น มันไม่มีเจ้าของ มันของโลก ไม่ใช่ของเรา
ภาวนาถึงจุดหนึ่งเราก็จะเห็น ร่างกายกับโลกภายนอกมันเป็นอันเดียวกัน ความรู้สึกนึกคิดก็อาศัยการกระทบอารมณ์ อาศัยผัสสะเกิดขึ้นเป็นคราวๆ แล้วมันก็สลายไป ภาวนามากเข้าๆ มันจะเข้ามาถึงตัวจิต หลวงปู่ท่านสอน ท่านบอกว่า “วันใดที่เธอเห็นจิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน วันนั้นเธอจะถึงที่สุดแห่งทุกข์” ท่านสอนอย่างนี้เลย เรารู้สึกไหมจิตเรากับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ไม่ใช่อันเดียวกัน คนไม่ภาวนามันจะรู้สึกว่าตัวเรานี้ทั้งตัว ไม่เฉพาะจิต ทั้งตัวนี้เลยกับสิ่งที่แวดล้อมอยู่เป็นคนละอันกัน พอเราภาวนาต่อมาเราก็เห็นตัวนี้กับสิ่งที่แวดล้อมอยู่เป็นอันเดียวกัน ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายก็เหมือนความฝัน แต่สุดท้ายของการภาวนามันจะเห็นว่า ตัวจิตเองมันก็ว่าง มันก็ว่างเปล่าเสมอกับโลกข้างนอกนั้นเอง
การที่จิตมันเคลื่อนไปเคลื่อนมา วิ่งไปวิ่งมา มีความทะยานอยากเกิดขึ้น เพราะว่ามันมีการเข้าคู่กันระหว่างสิ่ง 2 สิ่งซึ่งไม่เสมอกัน เหมือนอย่างเรามีน้ำอันหนึ่ง กระบอกนี้สูง อันหนึ่งกระบอกนี้เตี้ย แล้วพอลิงก์ต่อท่อเข้าด้วยกัน น้ำจากที่สูงก็จะไหลลงที่ต่ำ แต่ถ้าน้ำมันเสมอกันเมื่อไหร่มันก็หยุดไหล จิตนี้มันเห็นโลกข้างนอกไม่เสมอกัน มันก็เลยไหลเข้าไป ไหลไปที่นู้น ไหลไปที่นี้เรื่อยๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่มันเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกัน คำว่าเสมอกัน ไม่ได้เสมอในทางเอามาตรอะไรมาวัด จริงๆ มันเป็นไตรลักษณ์เสมอกันหมด ร่างกายนี้กับโลกข้างนอกก็เป็นไตรลักษณ์ จิตใจนี้ก็เป็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นใจก็จะเสมอกับโลกข้างนอก มันจะมีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มันจะรู้สึกว่าจิตใจของเรากับโลกข้างนอกนี้มันว่างเปล่าเสมอกัน ตรงนี้จิตมันจะหมดความทะยานอยาก
ทะยานก็คือกระโจนไป ตัวที่จิตมันทะยานอยาก นั่นล่ะตัวตัณหา มันกระโจนเข้าไปตะครุบอารมณ์โน้นตะครุบอารมณ์นี้ ถ้าเมื่อไหร่เราเห็นว่าจิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกันรวด เสมอกันรวด ก็จะไม่มีการไหลไปไหลมา หมดการกระทำกรรม เพราะฉะนั้นหมดกิเลสคือหมดอวิชชา รู้แจ้งแทงตลอดแล้วในโลกทั้งหลายในรูปนามทั้งหลายว่าเป็นไตรลักษณ์ การที่จิตจะทะยานออกไปก็จะไม่มีอีก ฉะนั้นรู้โลกแจ่มแจ้ง รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูปนามนี้เอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย ละตัณหา จิตจะไม่ไหลไปอีกแล้ว
ของเราจิตมันยังกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไหลแล้วก็หลงเรียกว่าหลงใหล หลงไปเรื่อยๆ เพราะว่ามันเห็นว่าอันนี้ดี ดีกว่าอันนี้ อันนี้เลวกว่าอันนี้ มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น เรียกมีการไหลไปเกิดขึ้น แต่ถ้าเห็นทุกอย่างมันเสมอภาคกันไปหมด การไหลมันก็ไม่เกิดขึ้น โลกทั้งโลกก็ว่าง ใจก็ว่าง โลกก็ว่าง พอใจว่างใจก็ไม่มีแรงทะยานอยาก หมดแรงดิ้น ไม่ไหลไป ไม่ดิ้นไป ใจก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติ สงบแล้วคราวนี้ โลกข้างนอกมาทำให้ใจนี้กระเพื่อมไม่ได้อีกแล้ว
ในขณะที่ถ้าเรายังภาวนาไม่เต็มที่ โลกข้างนอกมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ใจเราก็กระเทือนไปด้วยทุกที คนนี้เรารักใช่ไหม พลัดพรากไป ใจเราก็กระเทือน หรือเราชอบเขา ยังไม่ได้มา เราอยากได้มา ใจเราก็กระเทือน แต่ถ้าเราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างมันเหมือนความฝัน เหมือนกันหมด สิ่งที่เราชอบหรือสิ่งที่เราไม่ชอบ ที่เราเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ สุดท้ายก็หมดไปสิ้นไป เวลาสิ่งทั้งหลายหมดไปสิ้นไป มันเหมือนเราตื่นขึ้นจากความฝัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ตอนฝันอยู่ไม่มีแล้ว ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราจะรู้เลย เรากำลังฝันอยู่แท้ๆ เลย เมื่อไหร่เราตื่นขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่าจริงจังก็จะหายไปหมด ใจก็หลุดออกจากโลกของความฝัน ไม่ยึดถืออะไร มีความสุข มีความสงบ เข้าถึงธรรมะที่สูงคือพระนิพพาน
นิพพานมีอยู่แล้ว นิพพานไม่มีเจ้าของ นิพพานไม่มีใครครอบครอง แต่นิพพานนั้นสัมผัสได้ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ นิพพานคือตัวธรรมแท้ เป็นธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง ในขณะที่สิ่งอื่นๆ นั้นเป็นธรรมะฝ่ายปรุงแต่ง พอเข้าใจธรรมะฝ่ายปรุงแต่ง อย่างถ่องแท้ จิตหมดความปรุงแต่ง จิตก็เข้าถึงธรรมะที่ไม่ปรุงแต่งคือพระนิพพาน มันมีความสุข มีความสงบ ไม่มีอะไรเหมือน นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนๆ มาอย่างนี้ หลวงพ่อก็จำมาบอกพวกเรา
ค่อยๆ ภาวนา ชีวิตยิ่งเห็นทุกข์ ก็ตัวรูปนาม ขันธ์ 5 นี้ ตัวโลกนี้เป็นทุกข์ ตัวรูปตัวนามนี้ก็คือตัวโลก โลกภายใน โลกภายนอก จริงๆ แล้วก็เป็นเหมือนตัวทุกข์ทั้งหมดเลย เป็นภาระ เราจะเห็นทุกข์ในแง่ของมันเป็นภาระที่จิตใจต้องเข้าไปแบกหามอยู่ ใจมันรู้ตรงนี้ มันวาง วางภาระในโลกลงแล้ว ก็ไม่หยิบฉวยภาระใหม่ด้วย บางทีวางภาระในโลกนี้ลงแล้วก็ไปหยิบฉวยภาระในโลกที่ละเอียดขึ้นไปอีก ในรูปโลก อรูปโลก ถ้าภาวนาไปเรื่อยก็เห็นโลกทั้งหมดทั้ง 3 โลก กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร กามโลก โลก ล. ลิง กามโลก รูปโลก อรูปโลก ว่างเปล่า เหมือนความฝันทั้งสิ้น
ใจตรงนี้ก็จะหมดความหิวโหย ใจไม่มีภาระอีกต่อไปแล้ว มันมีสันติสุขเกิดขึ้น จิตใจไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตามโลก จิตใจไม่เศร้าโศก จิตใจไม่มีธุลีของกิเลสใดๆ เข้ามาแต่งแต้ม จิตใจเข้าถึงความปลอดภัย เรียกเข้าถึงความเกษม ปลอดภัยจากอะไร ปลอดภัยจากมารทั้ง 5 จิตใจดวงนี้เวลาร่างกายมันจะแตกดับ ขันธมารมันทำงาน ร่างกายมันจะแตกดับก็ไม่เดือดร้อน จิตใจไม่ได้เศร้าหมองด้วย กิเลสมารก็มาทำอะไรจิตใจนี้ให้เศร้าหมองไม่ได้ อภิสังขารมาร ความปรุงแต่งทั้งหลายก็มาทำให้จิตใจนี้เศร้าหมองไม่ได้ เทวปุตตมาร จิตใจขี้อิจฉา จิตใจอะไรพวกนี้ ก็ทำให้จิตใจที่พ้นแล้วกระเพื่อมหวั่นไหวอะไรไม่ได้ ความตายเองก็มาทำให้จิตใจดวงนี้กระเพื่อมหวั่นไหวไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นจิตดวงนี้เข้าถึงความปลอดภัยที่แท้จริง พ้นจากอำนาจของมาร พ้นจากมารทั้ง 5
ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา ทุกวันๆ เบื้องต้นถือศีล 5 ไว้ รักษาศีลให้ดี แล้วก็ฝึกจิตฝึกใจให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว พอจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ก็จะเรียนรู้ความจริง เรียนรู้ความจริงของกายของใจ พอรู้ความจริงของกายของใจ ก็จะเข้าใจหรอก กายนี้ใจนี้ จะเป็นโลกภายในหรือกระทั่งวัตถุสิ่งของภายนอก โลกภายนอก มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ใจมันก็คลายออกจากโลก ถึงรูปโลก อรูปโลก มันก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ใจเราเข้าไปยินดีในรูปโลก ในอรูปโลก ใจก็เกิดภาระ เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก
ฉะนั้นการภาวนามันมีแต่เรื่องเรียนรู้ความจริงของโลกไปจนกระทั่งเป็นโลกวิทู รู้โลกแจ่มแจ้งแล้วว่าโลกนี้เหมือนความฝัน โลกนี้มันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่ได้มีอะไรจริงจังหรอก ใจก็หมดความสำคัญมั่นหมาย หมดความยึดถือ ใจก็พ้นจากโลก คำว่าพ้นจากโลก คำว่าเหนือโลก ก็คือคำว่าโลกุตตระ ก็มีเป็นชั้นลำดับๆ ไป สุดท้ายมันเห็น มันก็คืนจิตให้โลกอีก มันคืนจริงๆ อย่างที่พวกเราภาวนา เราพากเพียรพัฒนาจิตผู้รู้ขึ้นมา ถึงจุดสุดท้ายของการปฏิบัติมันคืนจิตผู้รู้ให้โลก สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ ธาตุรู้ เป็นธาตุที่ไม่มีเจ้าของ ธาตุรู้อันนี้ มันว่าง มันเสมอกับพระนิพพาน ธาตุรู้หรือจิตชนิดนี้ล่ะ ไม่อยากเรียกจิตเลย หน้าตาไม่เหมือนจิต ธาตุรู้อันนี้ มันเป็นตัวที่สัมผัสพระนิพพาน ทรงพระนิพพานเอาไว้ ทรงไว้ในความรับรู้ จะบอกว่าธาตุรู้อันนี้ทรงธรรมเอาไว้ก็บอกได้ มันเป็นธรรมที่สูงสุด เป็นธรรมที่พ้นความปรุงแต่งคือพระนิพพาน ธาตุรู้อันนี้มันทรงพระนิพพานอยู่ ทรง ไม่ได้เข้าไปยึดถือ ไม่ได้เข้าทรงด้วย ไม่รู้จะใช้ศัพท์อะไร
รู้เท่าทันกิเลส อย่าปกป้องกิเลส
ค่อยฝึกของเรา กิเลสอะไรยังมีอยู่ก็ลดละเสีย อ่านตัวเองให้ออก อย่าเข้าข้างตัวเอง กุศลอะไรยังไม่ทำก็ทำเสีย แล้วก็ฝึกเรียนรู้ความจริงของโลก คือรูป นาม กาย ใจนี้ เรียนรู้มันเข้าไปให้มากจนมันวางได้ มันก็จะเห็นพระนิพพาน อย่างเรื่องความไม่ดีทั้งหลาย พวกเรามีความไม่ดีมาแล้วทุกคน กระทั่งพระอรหันต์ กระทั่งพระพุทธเจ้า ก่อนที่ท่านจะเข้าถึงธรรมะท่านก็เคยทำความไม่ดีมาแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาพวกเราทำบาปอกุศลอะไรนี่ ไม่ต้องเสียใจมาก มันก็เป็นกันทุกคน ก่อนที่จะดีมันก็ชั่วมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีใครวิเศษมาจากไหนหรอก ถ้ามันไม่มีกิเลส มันก็ไม่เกิดสิ ที่เกิดมาได้ก็เพราะมันมีกิเลส แต่มันมีกิเลสแล้ว อย่าสงวนรักษากิเลสไว้
คนในโลกนี้มันจะถนอมกิเลสไว้ มันจะสร้างเปลือกที่ดูดีมาห่อหุ้มซ่อนเร้นกิเลสของตัวเองไว้ สร้างเปลือกสวยๆ เอาไว้ให้คนอื่นเห็น เรานักปฏิบัติต้องรู้เท่าทันกิเลสของเราเอง มีกี่ตัวๆ ดูมันเข้าไป อย่าปกป้อง วิธีปกป้องที่ชาวโลกเขาใช้กันเยอะเลยคือหาคำอธิบายว่า อันนี้ที่ทำชั่วอย่างนี้ มันจำเป็นอะไรอย่างนี้ มันไม่ชั่วหรอก มันพลิ้วไปพลิ้วมาอะไรอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นเรียกว่า ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากกิเลสที่มี การที่เรามีกิเลส มันก็มีกันทุกคน ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันก็มีกิเลส แต่มีกิเลสแล้วอย่าปกป้องกิเลส โดยเฉพาะพระ พระเวลาทำอะไรผิด เรามีระบบปลงอาบัติ แต่ปลงอาบัติหลังๆ มันกลายเป็นพิธีกรรมพิธีการเท่านั้นเอง ถ้าปลงอาบัติที่แท้จริงก็คือไปสารภาพว่าเราได้ทำความผิดอย่างนี้ ขอให้ท่านเป็นพยานรับรู้ไว้ว่าต่อไปนี้เราจะสำรวมระวังไม่ให้ทำผิดอีก จะเปิดเผย เปิดเผยกระทั่งสิ่งที่น่ารังเกียจของตัวเองที่ซ่อนอยู่ในใจ
เพราะฉะนั้นอย่างพวกเรามีกิเลสไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราอย่าปกป้องมัน เราใช้ประโยชน์ที่จะลดละมานะอัตตาของเรา ลดละกิเลสของเรา ถ้าเราปกป้องกิเลส นี่คือปกป้องมานะอัตตาของเรา ฉะนั้นโยมก็เหมือนกัน ถ้ามันมีความชั่วอะไรก็อย่าตลบตะแลง พลิ้วไปพลิ้วมา อย่างเมื่อก่อนก็มีนักการเมืองบอกโกงก็ได้ เพราะตัวจะโกง โกงก็ได้ถ้ามีผลงานอะไรอย่างนี้ นี่คือการพลิ้ว ปกป้องกิเลส สร้างความชอบธรรมในสิ่งซึ่งไม่ชอบธรรม
ยิ่งถ้าเป็นพระเรานี่ไม่ได้เลย เราต้องกล้าเผชิญหน้ากับกิเลสของตัวเอง ถ้าเราไม่กล้าตรงนี้เราจะเอากิเลสของเราไปตีกับคนอื่น เราก็สำรวมระวัง ใช้ประโยชน์ รู้เท่าทันกิเลสทั้งหลาย รู้แล้วเราก็ไม่สนองมันอีก ไม่ทำอีกอะไรอย่างนี้ นานไปๆ ใจเราก็เข้าถึงความสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ทั้งพระ ทั้งโยม ทุกคนก็เหมือนกัน ถึงจะเป็นพระ จริงๆ ก็ปุถุชนเหมือนกันกับฆราวาส ยังเป็นคนที่ต้องเรียนต้องศึกษาอีก
ฉะนั้นอดทน อดทนเผชิญหน้ากิเลสตัวเอง อ่านตัวเองให้ออก อ่านตัวเองให้ขาด แล้วจิตมันก็จะพัฒนาได้ ศีลมันจะดี ถ้าเรากล้าเผชิญกับกิเลสตัวเอง ศีลมันจะงามขึ้นมาเอง อย่างเราทำอะไรผิดไปแล้วไม่ต้องเสียใจทีหลัง เราแค่ตระหนักไว้ว่า อันนี้ไม่ถูก เราจะมีบทเรียนแล้วเราจะไม่ทำอีกเท่านั้นเอง กิเลสบาปทั้งหลาย บาปธรรมทั้งหลาย ผลของมันคือความทุกข์แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่อยากทุกข์ เราก็อย่าไปตามใจกิเลส ตามใจกิเลสก็จะเริ่มผิดศีล เริ่มผิดธรรม ผิดศีลก็ได้ ผิดธรรมก็ได้ บางทีไม่ผิดศีลแต่ผิดธรรม ผิดธรรมนี่ก็ภาวนาพัฒนายาก ถ้าผิดศีลภาวนาไม่ได้จริงหรอก แล้วเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจไป เห็นทุกข์เห็นโทษ ถึงจุดหนึ่งจิตมันก็วาง จิตมันก็เข้าถึงความสะอาดหมดจดเป็นลำดับๆ ไป
เมื่อกี้ตอนเริ่มต้นหลวงพ่อถึงบอก ยิ่งเห็นทุกข์ยิ่งมีความสุข คือเห็นความจริงของรูปนามกายใจ ยิ่งเห็นมันเข้าไป อย่าไปรักษาปกป้องมัน ยิ่งเห็นใจก็ยิ่งคลายออกๆ ใจมีความสุข อย่างบางคนทำผิด หมู่คณะเตือนหรือครูบาอาจารย์เตือนอะไรอย่างนี้ อย่าเสียใจ ควรจะดีใจว่ายังมีคนเตือนอยู่ ถ้าไม่มีคนเตือนแสดงว่าเลวสุดขีดแล้ว ไม่มีใครเอาแล้ว เขาลงพรหมทัณฑ์ ถ้าครูบาอาจารย์ยังเตือนอยู่นี่แสดงว่ายังเมตตาอยู่ ทั้งพระทั้งโยมเรา บางคนก็เตือนไม่ไหว เขาก็ปล่อยทิ้งไป คนเกเรมากก็บอกไม่ต้องมาวัดเราแล้ว ไปที่อื่นเสียไปอะไรอย่างนี้ อย่างนี้เราสอนไม่ไหวแล้ว ก็ปล่อยทิ้งไป
ใครๆ มันก็มีกิเลส แต่เริ่มต้นก็เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ รู้เท่าทันกิเลสตัวเองไป ใจเห็นทุกข์เห็นโทษ ใจก็คลายออกๆ สะอาดผ่องใสมากขึ้นๆ กระทั่งพระในวัด บางองค์ท่านซ่อนกิเลสไว้ หลวงพ่อรอจังหวะ พอเขาเติบโตแข็งแรงพอ หลวงพ่อคล้ายๆ ฉีกหน้ากากเลย แล้วเขาก็ดีขึ้นๆ บางองค์กิเลสเยอะ สะสมมาเยอะอะไรอย่างนี้ พอถูกฉีกหน้ากากแล้ว ท่านก็เลยรู้จักฉีกหน้ากากตัวเอง ปอกเปลือกตัวเองออกมา โอ้ เห็นความจริงของตัวเอง ใจค่อยคลายออกๆ ฉะนั้นยิ่งเห็นทุกข์เห็นโทษของโลก ใจยิ่งคลายออกจากโลก เข้าถึงความสุขความสงบ เข้าถึงความเกษม คือความปลอดภัย
ยากไปไหม ถือศีล 5 ไว้ ฝึกจิตใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อย่างครูบากว่าจิตใจจะอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่มา 3 เดือนแล้ว ถือว่าเร็ว ถือว่าใช้ได้ ค่อยๆ ฝึก พอจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว งานต่อไปก็คือการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ไม่ใช่รู้ตัวอยู่เฉยๆ ต้องเรียนรู้ความจริงของโลกภายในนี้ ถ้าเข้าใจโลกภายใน มันก็เข้าใจโลกภายนอก มันก็เหมือนกัน ก็เป็นวัตถุเหมือนกัน เป็นนามธรรมเหมือนๆ กัน ฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงจุดที่มันเข้าใจมันก็วาง แล้วจะทุกข์น้อยลง ๆ ตรงที่มันทุกข์น้อยลงนั่นล่ะที่เรารู้สึกว่ามันมีความสุขมากขึ้นๆ มันเป็นความรู้สึกที่สัมพัทธ์ ที่จริงก็คือมันทุกข์น้อยลงเรื่อย ๆ มันทุกข์สั้นลง ทุกข์น้อยลง มันก็เลยรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ๆ ตรงจุดที่มันไม่ทุกข์ ตรงที่ภาวนาถึงพระนิพพาน มันไม่ทุกข์แล้ว เพราะมันไม่มีตัณหาอีกต่อไปแล้ว มันก็ถึงเป็นบรมสุข ตรงที่มันไม่ทุกข์นั่นล่ะมันเป็นบรมสุข สิ่งที่ทุกข์ก็คือขันธ์ 5 รูปนาม กายใจนี้ ค่อย ๆ เรียนไป
วัดสวนสันติธรรม
28 กุมภาพันธ์ 2564