จิตหยิบฉวยจิต

เมื่อคืนฝนตกที่วัดหลายชั่วโมง ตกมาเรื่อยๆ ไม่รุนแรง บางวันก็ร้อน บางวันก็ฝนตก ดินฟ้าอากาศก็เปลี่ยนทุกวัน ก็ธรรมดา อย่างเวลาฝนไม่ตก เราอยากให้ฝนตก ความอยากเกิดใจเราก็กลุ้มใจ พอฝนตกก็ดีใจ ได้อย่างที่อยาก บางทีเราไม่อยากให้ตก เราจะไปเดินบิณฑบาต ไม่อยากให้ตก ฝนมันตกเราก็ไม่ชอบใจ ได้อย่างอยากก็ชอบใจ ได้สิ่งที่ไม่อยากก็ไม่ชอบใจ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันไม่ได้เป็นไปตามที่อยาก แต่มันเป็นไปตามเหตุของมัน ฝนจะตกก็มีเหตุของฝน ฝนจะไม่ตกมันก็มีเหตุ

ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจ ธรรมะก็แสดงตัวอยู่ทุกหนทุกแห่ง กระทั่งฝนตกแดดออกอะไรก็เป็นธรรมะ สอนเราได้ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักมอง ถ้าเราสังเกตเรื่อยๆ ไป เราจะพบว่าเวลาใจเรามีความอยากขึ้นมามันจะทุกข์ ถ้าใจเราเข้าใจความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ มีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา ความอยากมันเป็นเรื่องไร้เดียงสา อยากขึ้นมาก็ไม่มีอะไร ก็แค่ทำให้ใจเราทุกข์เท่านั้นเอง ฉะนั้นเราจะมาเรียนธรรมะเพื่อใจเราจะเข้าถึงความเป็นธรรมดา เราจะเห็นเลยว่าอะไรๆ มันก็ธรรมดา ธรรมดาก็คือมันเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ธรรมดาลอยๆ ไม่มีเหตุมีผลอะไร อย่างทำไมเราต้องแก่ ก็เพราะว่าเราเกิด ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่แก่ มันก็ไม่เจ็บ มันก็ไม่ตาย นี่มีความเกิดเป็นเรื่องธรรมดา เกิดแล้วต้องตาย เรามีคนที่เรารัก เราชอบใจ เราอยากให้เขาอยู่กับเราตลอดกาล มันก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครอยู่ตลอดกาลได้ ความอยากเกิดขึ้นเราก็มีความทุกข์ ไปสังเกตให้ดีเถอะความอยากทั้งหลาย มันล้วนแต่อยากของที่ไม่มีไม่เป็น ถ้ามีอยู่เป็นอยู่มันก็ไม่อยากหรอก อย่างเรายังไม่มีแฟน อยากมีแฟน พอมีแล้วเราก็ไม่ได้อยากมีแฟน ถ้าอยากก็หมายถึงอยากมีแฟนใหม่ ไปอยากอันอื่นแล้ว อันเก่าไม่อยากแล้ว

ฉะนั้นตัวที่ทำให้เราทุกข์ คือตัวความอยากนั่นเอง ท่านถึงสอนว่า ตัณหาคือความอยาก เป็นตัวสมุทัย คือเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนธรรมะนี้มาตั้งนานแล้ว เกือบ ๒,๗๐๐ ปี ๒,๖๐๐ กับอีกหลายสิบปีอยู่ ความจริงอันนี้ตั้งแต่ท่านประกาศมานี่ไม่มีใครค้านได้ เป็นสัจธรรม ไม่มีใครมาค้านได้เลย เอาความอยากหรือตัวตัณหานั้นเป็นสมุทัยให้เกิดความทุกข์ ฉะนั้นเราเฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปในจิต ในใจเรา เราก็จะเห็นความจริง อยากทีไรก็ทุกข์ทุกทีเลย เพราะว่าสิ่งที่อยากนั้นมันไม่มี มันไม่เป็น อย่างอยากเป็น ส.ส.อะไรอย่างนี้ ถ้าเป็นแล้วมันก็ไม่ต้องอยาก มันไปอยากอย่างอื่นแทน อยากอยู่ตลอดอะไรอย่างนี้ อยากรอบหน้าให้ได้คะแนนเสียงอีก มันไปอยากของไม่มี ฉะนั้นมันทุกข์ตลอดเวลา อย่างเวลาเราเกิดความอยากขึ้น แล้วเราก็ต้องลุ้นว่าจะได้อย่างที่อยากหรือไม่ได้ ตรงที่ลุ้นนั้นก็ทุกข์แล้วล่ะ ฉะนั้นตัวที่ทำให้จิตใจเรามีความทุกข์ก็คือตัวความอยากนี่ล่ะ ทีนี้ใจจะมีความอยากเราก็ห้ามมันไม่ได้ ความอยากมันก็มีเหตุอีกล่ะ อยู่ๆ จะไปบอกใจว่าอย่าอยาก อันนี้คืออยากจะไม่อยาก ก็ใช้ไม่ได้ ไม่พ้นหรอก เราก็ต้องดูสาวลงไปอีก ความอยากมันมาจากอะไร

 

ปฏิจจสมุปบาท

พระพุทธเจ้าท่านสอนปฏิจจสมุปบาท ตัณหามันมาจากเวทนา อย่างถ้าเรากระทบอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ มันเกิดความสุขขึ้นมา เราก็จะอยากให้ความสุขนั้นอยู่ตลอดไปนี้มันจำรสชาติของความสุขได้ พอความสุขหายไปก็เสียใจ ก็อยากให้มีความสุขกลับมาใหม่ พออยากให้มีความสุขขึ้นมาอีก อยากจะมีผัสสะที่ดีที่ถูกใจ เราบังคับผัสสะไม่ได้ หรือกระทบอารมณ์ที่พอใจบ้าง ที่ไม่พอใจบ้าง ไม่ว่าจะเหตุจะผลอะไร ทุกตัวก็อยู่ใต้กฎของคำว่าอนัตตา บังคับไม่ได้ทั้งนั้น เวลากระทบอารมณ์ที่พอใจก็เกิดความสุข มีความสุขแล้วก็อยากให้ความสุขอยู่นานๆ ความสุขหายไปเราก็อยากให้มันกลับมา ตรงความสุขยังไม่มี อยากให้มันมี อยากได้อารมณ์ที่ชอบใจ ตรงที่เราอยากได้อารมณ์ที่ชอบใจนั้นเรียกว่า “กามตัณหา” ตรงที่เราอยากให้อารมณ์ที่ชอบใจมันอยู่นานๆ ก็เรียกว่า “ภวตัณหา” ทีนี้อารมณ์บางอย่างเราอยู่กับมันนานๆ ทีแรกก็ชอบ อยู่ไปแล้วเบื่อ อยากให้มันหมดไปสิ้นไป หรืออารมณ์บางอย่างเกิดขึ้น เราไม่ชอบเลยตั้งแต่เริ่มต้น เราก็อยากให้หมดไปสิ้นไปเร็วๆ เพราะใจมันโง่ ใจมันไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันเกิดจากเหตุ เราต้องกระทบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจอยู่ ความไม่ชอบใจ ความอยากให้หมดไปสิ้นไปมันก็ยังมีอยู่

เราค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ สาวดูเหตุดูผลในจิตใจเรา ดูจากของจริงไม่ใช่คิดเอา อย่างปฏิจจสมุปบาท คนอ่านธรรมะของพระพุทธเจ้า อ่านปฏิจจสมุปบาท หรืออ่านหนังสือปฏิจจสมุปบาทมีหลายเล่ม อ่านอย่างไรมันก็ไม่เห็นสภาวะ มันก็พ้นทุกข์ไม่ได้หรอก ตอนหลวงพ่อยังเป็นนักศึกษาอยู่ หลวงพ่อไปบวชที่วัดชลประทาน ที่จริงอยากบวชกับหลวงพ่อพุทธทาส แต่ท่านอยู่ไกล อยู่ตั้งชุมพร เราคนเมืองนนท์ คนกรุงเทพฯ มีวัดที่สอนแบบเดียวกันคือวัดชลประทาน คือหลวงพ่อปัญญา ท่านเป็นครูบาอาจารย์ นับถือท่านมาตั้งแต่เด็ก บวชเข้าไปอยู่กับท่าน บวชที่ท่าน ท่านบวชให้ พอบวชให้แล้วท่านให้หนังสือของท่านพุทธทาสมาเล่มหนึ่ง เล่มใหญ่ๆ บอกว่าคุณไปอ่านเอา ทีนี้ท่านให้หลวงพ่อศึกษาเอาเอง ให้ไปอ่านเอาเอง เราก็มานั่งอ่านๆๆ แล้วถึงเวลาเราก็ภาวนา ว่างๆ ขึ้นมาก็มานั่งอ่าน อุปัชฌาย์ให้อ่านก็อ่านมาเรื่อย ๆ อ่านทั้งเล่มไปสะดุดใจในธรรมะอันหนึ่ง ท่านพุทธทาสท่านเขียนไว้บอก “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม” “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท” ความจริงเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้า หลวงพ่อพุทธทาสท่านเอามาเขียนไว้ เกิดมาไม่เคยได้ยินคำว่าปฏิจจสมุปบาท รู้สึกตื่นเต้นมากเลยแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เที่ยวถามพระที่เขาบวชก่อนว่าปฏิจจสมุปบาทคืออะไรครับ ท่านก็คงไม่รู้เหมือนกัน ท่าน อ๋อ เป็นเรื่องเหตุกับผล บอกอย่างนี้แล้วก็เดินหนีไปเลย ถามต่อไม่ได้แล้ว จะถามหลวงพ่อปัญญา ท่านก็ไม่เคยอยู่วัดเลย รับนิมนต์ คนศรัทธาเลื่อมใสท่านมาก ท่านใจดี ใครนิมนต์ท่านไปหมด

หลวงพ่อก็ฝังใจกับคำว่า ปฏิจจสมุปบาท คิดว่าเป็นธรรมะที่เราจะต้องเรียนรู้ให้ได้ สึกออกมาแล้วเที่ยวไปเดินตามร้านหนังสือ อยากหาหนังสือที่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทตรงๆ หาอยู่นาน ไปได้เล่มเล็กๆ ของท่านพุทธทาสอีกนั่นล่ะเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท มานั่งอ่าน ในนั้นเต็มไปด้วยศัพท์ อะไรชื่อว่าอวิชชา ความไม่รู้อริยสัจ 4 เรียกว่าอวิชชา ไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้เหตุและผล เรียกอวิชชา ตัวนี้ แล้วบอกอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารมี 3 อย่าง “ปุญญาภิสังขาร” ความปรุงแต่งที่เป็นบุญ “อปุญญาภิสังขาร” ความปรุงแต่งที่เป็นบาป “อเนญชาภิสังขาร” ความปรุงแต่งแบบอเนญชา แล้วก็อธิบายเรื่องอรูปฌานอะไรแบบนี้ อ่านแล้วก็ยังไม่รู้อีก ไม่รู้จะเอาไปปฏิบัติอย่างไร รู้ว่าอวิชชา คือความไม่รู้อริยสัจ ทำอย่างไรจะรู้อริยสัจ ก็ไม่รู้อีก

พูดเรื่องสังขาร 3 สังขาร 3 จริงๆ แล้วเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ รู้จักแต่ตัวหนังสือ สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ไปกันใหญ่แล้ววิญญาณ ไม่รู้เป็นอย่างไร รู้แต่ว่าเป็นการรับรู้อารมณ์ วิญญาณหยั่งลงไป ตัวนี้เป็นปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณหยั่งลงไปเป็นเหตุให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นอย่างไรก็ไม่รู้จักอีก นามรูป มีนามรูปขึ้นมา ก็มีอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอายตนะก็มีผัสสะ มีผัสสะก็มีเวทนา แต่ละอันๆ แล้วก็จะมีการแจกแจง ผัสสะก็มี ๖ อัน การกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีผัสสะแล้วเกิดเวทนา มี 3 อย่าง เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดไม่สุขไม่ทุกข์ ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงภพ ภพก็มีกามภพ รูปภพ อรูปภพ มีชาติ ชาติคือการได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชาติทำให้เกิดทุกข์ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็ทุกข์ อ่านแล้วอ่านอีกก็ไม่รู้จะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร ฉะนั้นลำพังตำราเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันมีอยู่แล้ว ไม่เคยหายไป ยังไม่หายไป แต่เราอ่านแล้วไม่รู้จะลงมือปฏิบัติเพื่อทำลายอวิชชาได้อย่างไร เพื่อจะทำลายตัณหาได้อย่างไร สมุทัยให้ละ ตัวตัณหานี้ต้องละ ตัณหานั้นมาจากรากเหง้าของมันก็คืออวิชชา ฉะนั้นก็ต้องทำลายที่อวิชชา ในหนังสือก็บอกว่าต้องมีวิชชา ถ้าเกิดวิชชาเมื่อไหร่ก็ทำลายอวิชชาเมื่อนั้น ทำอย่างไรจะมีวิชชาก็ไม่รู้อีก ตรงนี้ถึงจุดตันเลย หลังจากนั้นหลวงพ่อก็พากเพียรพยายามอ่านพระไตรปิฎก อ่านตำรับตำราอะไร มันไม่ตอบโจทย์ว่าเราจะภาวนาอย่างไร เพื่อจะละตัณหาได้ เพื่อจะละอวิชชาได้

จนกระทั่งมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนเข้ามาที่จิต พอภาวนา มีจิตเป็นคนรู้คนดู เราก็เริ่มเห็นสภาวะ เราเห็นเลยความทุกข์มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ความทุกข์มันอยู่ที่กาย ความทุกข์มันอยู่ที่ใจ อยู่ๆ ความทุกข์ไม่เกิดหรอก ความทุกข์ในกายมันเกิดเพราะมันมีกาย พอมีร่างกายมันก็ต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย ต้องหิว ต้องกระหายน้ำ ต้องปวดอึ ปวดฉี่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย นี่ความทุกข์ในกาย ดูแล้วไม่มีทางแก้ เพราะมันมีกายมาแล้ว ทุกข์ตัวนี้เป็นวิบาก ต้องทนรับเอาแก้ไม่ได้ ได้แต่บรรเทา เช่น หิวก็ฉันอาหาร ในนี้เต็มไปด้วยพระเลยใช้คำว่าฉันอาหาร ร้อน ไม่มีห้องแอร์อยู่ก็ไปอยู่ใต้ต้นไม้ เย็นหน่อย หรือไปอาบน้ำอะไรอย่างนี้ บำบัดไปเรื่อยๆ เหน็ดเหนื่อย ง่วงก็นอน ก็บำบัดทุกข์ไป ฉะนั้นทุกข์ทางกายมันทำได้แค่บำบัดไปเป็นคราวๆ อย่างมีความหนาวความร้อน เราก็มีเครื่องนุ่งห่ม เป็นพระท่านจะสอนเรื่องปัจจเวกขณะ จะใช้ห่มจีวรอย่างนี้ก็เตือนตัวเองเราไม่ได้ห่มเพื่อความสวยความงาม แต่ห่มเพื่อจะกันอุจาด กันเหลือบยุงลิ้นไรกัด กันร้อน กันหนาว ให้รู้เหตุรู้ผลในการบริโภค ฉันอาหารท่านก็สอนปัจจเวกขณะ ฉันเพื่อระงับเวทนา คือความอดอยากหิวโหย ไม่ได้ฉันเพื่อความเอร็ดอร่อย ฉันเพื่อความเพลิดเพลินมัวเมา นี่ท่านก็สอน ฉะนั้นทางกายเราแก้ทุกข์ทางกายให้เด็ดขาดไม่ได้ มีกายแล้วก็ต้องมีทุกข์ แต่เราบรรเทาได้ เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ไปหาหมอ มียารักษา รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ตายไป นั่นเป็นธรรมชาติของร่างกาย

 

ภาระทางใจคือตัวทุกข์

แต่ความทุกข์ทางจิตใจนั้นไม่เหมือนกัน เราค่อยภาวนาไปเราก็จะเห็น ความทุกข์ทางจิตใจนี่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ทีแรกเรายังไม่เห็นหรอกว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ค่อยรู้ค่อยดูไป ค่อยสังเกตไป ในที่สุดเราก็จะเห็น ทุกคราวที่เกิดความอยาก ใจจะเกิดความดิ้นรน เมื่อใจเกิดความดิ้นรน ใจจะหยิบฉวย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา จะหยิบมาทีละอัน ไม่ได้หยิบทีละ 6 อันหรอก อย่างมันดิ้นรนอยากดูรูป ความสำคัญมาอยู่ที่ตาแล้ว มันดิ้นรนอยากฟังเสียง ความสำคัญมาอยู่ที่หูแล้ว มันจะไปใส่ใจที่ตา ที่หู เวลากระทบอารมณ์ ยุงมากัดแล้วคันขึ้นมามันจะสนใจที่กาย เราเลือกไม่ได้ว่าจิตจะสนใจที่ตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย หรือใจ จิตมันจะไปหยิบฉวยขึ้นมาเอง ตะครุบรูป ตะครุบเสียง มันตะครุบมาจาก ตะครุบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันก็จะไปสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ภายนอก ตรงที่มันตะครุบขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าภาระทางใจนี่เกิดขึ้น

ภาระทางใจนี่ล่ะคือตัวทุกข์ ใจมันเกิดภาระทันทีเลย ที่เราไปยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา อันนี้พูดอย่างไรมันก็ไม่รู้เรื่องหรอก ต้องภาวนาเอง ต้องเห็นด้วยตัวเอง แค่เราเห็นว่าจิตไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็พูดได้ตามตำรา แต่เราไม่เห็นของจริงว่ามันหยิบฉวยอย่างไร ฉะนั้นไม่มีทางพ้นทุกข์หรอก อ่านหนังสือให้ตาย แต่ไม่ได้ภาวนาก็ไม่ได้เรื่องอะไร แต่ก็ดีกว่าไม่อ่านเลย นอกรีตนอกรอยไปยิ่งเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่ เช่น คิดว่าไปไหว้เจ้าแล้วก็จะพ้นทุกข์อะไรอย่างนี้ มันก็นอกรีตนอกรอยไป คิดว่าจะไปอ้อนวอนเทวดา อ้อนวอนพระเจ้าให้ช่วยอะไรอย่างนี้ ช่วยไม่ได้ อย่างคนจะติดโควิด ใช่ไหม? ไปสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้าให้พระเจ้าช่วย ช่วยไม่ได้ ก็ต้องช่วยตัวเอง มีสติ มีธรรมะรักษา

อย่างเราไม่มีอบายมุข โอกาสจะติดเชื้อน้อยเต็มทีแล้ว อย่างคนที่ติด ลองไปดูข่าวเก่าๆ ที่เขาติดกันมาแล้ว ไปติดจากสนามมวย ไปติดจากร้านเหล้า ติดตามผับ ตามบาร์ ไปสนามมวยไปทำอะไร ไปดูกีฬาชกมวยจริงไหม? ไม่จริงหรอก คนไปดูมวยบางทีก็ไปเล่นพนัน ไปดูม้าก็เล่นพนัน เป็นเรื่องอบายมุข ทีนี้ถ้าเราดูมวยแล้วเราไม่ได้เล่นพนันกับใคร เราอยู่กับบ้าน ดูที่บ้านไม่ติดหรอกโควิด

 

จิตหยิบฉวยจิต

ฉะนั้นใจนี่ที่มันดิ้นรนตามกิเลส มันมีภาระ มันมีความทุกข์เกิดขึ้น อย่างเราอยากจีบผู้หญิงสักคน ใจก็ดิ้นรน ใจมีภาระเกิดขึ้น ถ้าเราเฝ้ารู้ เฝ้าสังเกตไปเรื่อยๆ เราจะรู้เลย เวลาใจมีความอยากเกิดขึ้น ใจมีความดิ้นรนตามมา เมื่อใจมีความดิ้นรน ตรงความดิ้นรนนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า “ภพ” ดิ้นรนเรียกว่าภพ เมื่อมีความดิ้นรนเกิดขึ้นก็มีชาติ ชาติก็คือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนมา มันหยิบจริงๆ อย่างเราภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วค่อยรู้ ค่อยเห็น ค่อยละไปเป็นลำดับๆ ตอนท้ายเราจะเห็น จิตนี้หยิบฉวยจิต หยิบฉวยใจอยู่ อย่างใจของพวกเรานี่ มันถูกหยิบฉวยขึ้นมาเอาไว้คิดนึกปรุงแต่ง คิดดี คิดร้าย คิดสุข คิดทุกข์ ใจเป็นคนหยิบฉวยขึ้นมา จะวาง ทำอย่างไรจะวางได้ สั่งให้มันวางใจ มันก็วางไม่ได้ สั่งให้วางก็วางไม่ได้ ตอนภาวนาใหม่ๆ บางครั้งเราเห็น บางครั้งจิตก็วางลงไป วางใจวางจิตลงไป ใจตัวเดียวกันนะ บางครั้งจิตก็ปล่อยวางจิต บางครั้งก็หยิบฉวยขึ้นมาอีก แต่คนที่ไม่ได้ภาวนา ถามว่ามีการวางจิต แล้วก็หยิบฉวยจิตไหม? มีทุกคน เวลาเราจะใช้จิตทำงาน สัมผัสธรรมารมณ์ เราจะหยิบฉวยจิต เวลาเราใช้ตาทำงานเราหยิบฉวยตา เราไม่ได้หยิบฉวยจิต

เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติธรรมดา หมา แมว ปุถุชนทั้งหลาย ไม่ได้ว่าปุถุชนเป็นหมา แมวนะ หมายถึงกระทั่งหมา กระทั่งแมว สัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นมนุษย์อะไรนี่ จิตมันก็หยิบฉวยจิตบ้าง ปล่อยวางจิตบ้าง แต่มันไม่ได้ปล่อยวางด้วยปัญญา มันปล่อยวางเพราะว่าตอนนี้ไม่ได้ใช้งาน เหมือนเราจะทำนา ทำไร่ ทำปลูกป่าอะไรของเรา เวลานี้จะต้องใช้จอบใช้ขุดดิน เราก็ใช้จอบขุดดิน ตอนนี้จะทำให้เป็นรูเล็กๆ เราก็ใช้พลั่ว เอาจอบไปสับมันก็กว้างไป ตอนนี้จะถางหญ้าก็ใช้มีด ใช้พร้าถางหญ้า เราจะหยิบเครื่องมือทีละอันๆ จิตใจนี้ก็เหมือนกันมันจะหยิบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาทีละอัน ตอนที่มันจะใช้อะไร มันก็จะหยิบอันนั้นขึ้นมา

ตอนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อเห็นเลยว่าจิตมันหยิบฉวยจิตอยู่ ที่เห็นจิตหยิบฉวยจิตเพราะสติมันเร็ว มันไปเห็นจิตวางจิต จิตวางจิตลงไป พอเห็นจิตวางจิตสักพักหนึ่งก็หยิบขึ้นมาอีก เราก็รู้แต่ว่ามันหยิบขึ้นมา แต่ทำอย่างไรมันจะวาง ไม่รู้ ภาวนาใหญ่เลยอุตลุดเลย พยายามดูว่าทำอย่างไรจิตจะปล่อยวางจิตได้ รู้อย่างหนึ่งถ้าจิตปล่อยวางจิตได้อย่างถาวรละก็ ความทุกข์ในจิตจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว ตอนนั้นลืมปฏิจจสมุปบาทอะไรลืมหมดเลย ที่จริงก็คือถ้าไม่มีชาติ มันก็ไม่มีทุกข์ ชาติคือความหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็เห็นเดี๋ยวจิตก็หยิบ เดี๋ยวจิตก็วางจิต ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทีแรกปล่อยปุ๊บ หยิบปั๊บ ปล่อยปุ๊บ หยิบปั๊บ ต่อมามันปล่อยได้ยาวขึ้น ปล่อยได้นานขึ้น

ทีนี้หลวงพ่อยังหาครูบาอาจารย์มาตอบคำถามเราไม่ได้ว่าทำอย่างไรจะวางตลอดได้ ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจะปล่อยวางจิตได้ พอดีได้ยินข่าวว่าหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ท่านกลับมาจากอเมริกา ท่านมาพักอยู่ที่สวนทิพย์ ในซอยวัดกู้ที่ปากเกร็ด พอดีใกล้บ้านตอนนั้น หลวงพ่ออยู่เมืองนนท์ ตอนที่กะว่าจะไปหาท่านจะไปกราบท่าน จะเอาจิตปล่อยวางจิตไปถามท่าน จิตเราปล่อยอยู่ ช่วงนี้ปล่อยยาวเลย แล้วปรากฏว่าตอนขึ้นรถ ตอนนั้นไปกับคุณแม่ชี ยังไม่ได้บวชนะ ไม่ใช่พระพาชีขับรถไปด้วยกัน เป็นโยมทั้งคู่ ก็ขับรถออกจากบ้านไป พอรถออกจากที่อยู่เท่านั้น จิตหยิบฉวยจิตขึ้นมาใหม่ ตกใจว่า เฮ้ย เราจะเอาจิตปล่อยวางจิตไปถามหลวงปู่ ดันไปหยิบขึ้นมาอีกแล้ว ก็พยายามจะแก้ ทำอย่างไรจะหาย ทำอย่างไรจะวาง ดิ้นรนอุตลุดเลยก็วางไม่ได้ มันไม่ยอมวาง

จนกระทั่งรถมาถึงปากซอยวัดกู้แล้ว เข้าทางปากเกร็ด ตอนนั้นก็ถอนใจ เฮ้อ ทำไม่ได้ ปล่อยไม่ได้ เฮ้อ จิตนี้มันเป็นอนัตตานะ เราสั่งให้ปล่อยมันก็ปล่อยไม่ได้ พอจิตมันนึกถึงว่าจิตเป็นอนัตตา มันวางปั๊บลงไปอีก ดีใจ รีบเข้าไปหาหลวงปู่เลย ไปถึงห้องที่เข้าไปมันไม่โตเท่าไหร่หรอก หลวงปู่ยังพักอยู่ห้องข้างใน เราอยู่ห้องข้างนอก คนก็มาเยอะเลย เราก็นั่ง รีบไปแต่มืด ไปรออยู่ ได้นั่งข้างหน้าหน่อย จนถึงเวลาพระท่านก็เข็นหลวงปู่ออกมา ที่ต้องเข็นเพราะหลวงปู่ท่านรถคว่ำแล้วท่านเป็นอัมพาต ท่านเดินไม่ได้ ช่วยตัวเองไม่ค่อยจะได้ กระทั่งกลืนน้ำลายยังพระต้องคอยดูดน้ำลายให้ท่าน ดำรงขันธ์แบบลำบากมากๆ เลย พอพระเข็นท่านออกมา พระเข็นมาอยู่ตรงหน้า กราบเสร็จ ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา คล้ายๆ ท่านพิจารณาธรรมะ มีโยมเยอะแยะหลายคน ยิ้มไปยิ้มมาแล้วท่านก็มองหลวงพ่อแล้วท่านก็พูดบอกว่า “บางครั้งนะ จิตมันก็ปล่อยวางจิต แล้วจิตก็ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ทำอย่างไรๆ มันก็วางไม่ได้ จนกระทั่งจิตมันเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันถึงจะวางจิต” ท่านพูดลอยๆ ขึ้นมา เรายังไม่ได้ส่งการบ้านเลย สงสัยว่าคิดแรงไป ท่านบอก เราก็กราบท่านในใจ ตอนนั้นยังกราบไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลากราบ คนก็ชวนท่านคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไปอเมริกาเป็นอย่างไรอะไรต่ออะไร ถามท่านก็ตอบไปบ้างอะไรบ้าง บางทีพระก็ตอบแทน เพราะท่านเหนื่อย ท่านพูดไม่ค่อยไหว แต่หลวงพ่อได้คำตอบแล้ว เข้าไปกราบ ประโยคแรกที่ท่านบอกเลยก็คือ บางครั้งจิตมันก็ปล่อยวางจิต บางครั้งจิตมันก็หยิบฉวยจิต เราสั่งมันไม่ได้หรอก พอเราเห็นว่ามันเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา จิตมันก็วาง

อันนี้ก็คือสิ่งที่หลวงพ่อเห็นที่ขับรถมา มาถึงปากซอย ถึงรู้ว่าเราบังคับจิตไม่ได้ โอ้ จิตเป็นอนัตตา พอตรงนี้ปุ๊บวางปั๊บเลย มันรู้แล้วว่าเราต้องดูจิตให้เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ มันก็คือการทำวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง แต่ว่าใช้จิตเป็นอารมณ์ ใช้ตัวจิตผู้รู้เป็นอารมณ์ หลังจากนั้นก็ภาวนามาเป็นลำดับๆ แล้วใจมันก็คลายออกจากความทุกข์มาเรื่อยๆ ก็รู้ว่าความอยากเกิดเมื่อไหร่ ใจก็ดิ้นรน ใจดิ้นรนใจก็มีภาระ ใจที่มีภาระก็คือใจที่มีความทุกข์นั่นล่ะ ฉะนั้นจิตยังปล่อยวางจิตไม่ได้ จิตก็มีความทุกข์

ตรงนี้มาเฉลียวใจ นึกถึงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกว่า “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ” ภาวนาแล้วถึงเข้าใจ ว่าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ก็คือจิตเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง ก็เป็นมรรค ตรงนี้หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดแบบออมๆ ไม่พูดเต็มที่ ถ้าพูดเต็มที่จะต้องบอกว่า “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นอรหัตตมรรค” เพราะตัวสุดท้ายของขันธ์ที่ปล่อยวางได้ ตัวจิตผู้รู้นี้เอง ฉะนั้นที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนๆ มา แล้วก็ภาวนาแล้วเราไปเทียบเคียงเข้ากับปริยัติ ตรงกัน อัศจรรย์มากเลย

 

ปริยัติมีประโยชน์ เอาไว้ตรวจสอบการปฏิบัติ

หลวงพ่อนับถือพระปริยัติ ไม่ใช่ไม่นับถือท่าน ท่านรักษาคัมภีร์ รักษาตำรับตำราจนตกทอดมาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีมาถึงรุ่นเรา ไม่ใช่งานที่สบาย งานที่ยากลำบากมากเลย ท่านรักษาตำรามาไว้ เอามาเป็นเครื่องตรวจสอบการปฏิบัติ ถ้าเราภาวนาแล้วผลการปฏิบัติมันขัดมันแย้งกับพระไตรปิฎก ไปทบทวนใหม่เลย ที่ภาวนาผิดแน่นอน อย่างภาวนาแล้วเห็นนิพพานเป็นโลกโลกหนึ่ง ผิดแน่นอน แล้วภาวนาแล้วเห็นว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นดวงสีต่างๆ เป็นดวงแก้วสีต่างๆ อันนี้ไม่อยู่ในพระไตรปิฎก ไม่มีหรอก เพราะอย่างนั้นไม่ถูกหรอก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคเป็นเรื่องของรูปธรรม นามธรรมทั้งนั้น ไม่มีเรื่องนิมิตอะไร พวกนั้นเป็นเรื่องนิมิต ฉะนั้นปริยัติมีประโยชน์ เอาไว้ตรวจสอบการปฏิบัติ ฉะนั้นนักปฏิบัติจริงๆ ไม่ดูถูกปริยัติ อย่างพระอาจารย์มั่น ท่านยังอ่านตำราเลย ท่านภาวนาเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ใหญ่ของวงกรรมฐานสายวัดป่า หลวงพ่อก็เรียนจากรุ่นลูกศิษย์ท่าน ท่านก็อ่าน ท่านไม่ได้ดูถูกตำรับตำราอะไรนี่ ท่านไม่ให้วางต่ำ

อย่างครูบาอาจารย์ของหลวงพ่ออีกองค์หนึ่ง คือหลวงพ่อเกษม เขมโก ไม่ได้สายวัดป่า ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อเรียนมาด้วยหลายสาย หลวงพ่อเกษมท่านก็เคารพตำรับตำรา ไม่ได้สอนว่านักปฏิบัติให้ดูถูกตำรา ขืนเอาหนังสือ ไม่ต้องตำราธรรมะ ตัวหนังสือตกอยู่ที่พื้น ท่านยังเก็บเลย ตัวหนังสือท่านถือว่าเป็นเครื่องมือสื่อเป็นเครื่องถ่ายทอดธรรมะ เป็นของสำคัญเป็นของสูง เก็บ ฉะนั้นครูอาจารย์สายปฏิบัติจริงๆ ไม่รังเกียจฝ่ายปริยัติหรอก ฉะนั้นพวกเราหลวงพ่อถึงส่งเสริมให้ไปเรียน ทีนี้คำว่าพวกเรา พวกที่อยู่ที่บ้านจะสงสัย หลวงพ่อเทศน์นี่พระในวัดของหลวงพ่อมานั่งฟังเป็นตัวแทน ถ้าให้หลวงพ่อเทศน์ให้กล้องฟังเทศน์ไม่ออกหรอก เราไม่เคยเทศน์ให้อมนุษย์ฟัง เทศน์ก็เทศน์ต้องมีคนฟังพระหลวงพ่อต้องเรียน เรียนนักธรรมถึงเข้าพรรษาทีก็ไปเรียน ได้นักธรรมเอกมาเป็น ๑๐ กว่าองค์แล้ว เรียนกันจนถึงนักธรรมเอกกันทั้งนั้น ที่ความรู้ต่ำต้อยด้อยที่สุดในวัดก็คือหลวงพ่อ หลวงพ่อสอบแค่นักธรรมตรี ลูกศิษย์เก่งกว่าหลวงพ่อทุกองค์เลย อย่างต่ำสุดก็นักธรรมตรี โท เอก อะไรนี่ได้กัน ให้เรียนเพื่อจะรู้ว่าการปฏิบัติจริงๆ มันเป็นอย่างไร เรื่องของการปฏิบัติจริงๆ อยู่ในนักธรรมเอก เรื่องของสมถะ-วิปัสสนา แต่ปีนี้โรคระบาดมันยังมี พรรษานี้หลวงพ่อว่าจะไม่ส่งพระไปสอบ เดี๋ยวติดโรคกลับมา พ่อแม่เขาจะมาว่าเอาลูกเขาติดโรคเราดูแลไม่ดี

ฉะนั้นเวลาภาวนาดูจากของจริง พอดูของจริงแล้วกลับไปอ่าน อย่างอ่านปฏิจจสมุปบาทของท่านพุทธทาส เออ ท่านเขียนถูกๆ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้วิธีปฏิบัติ วิธีที่จะปฏิบัติให้ได้ ได้จิตที่เป็นคนดูมา แล้วก็ดูรูปธรรมดูนามธรรมมันทำงาน แล้วจะวางรูปธรรมวางนามธรรมไป สุดท้ายก็จะวางตัวจิตที่เป็นคนดูได้ นี่เส้นทางที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมา เอามาถ่ายทอดให้พวกเรา ฉะนั้นหลวงพ่อจะได้ไม่เป็นหนี้ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อได้ส่งทอดแสงสว่างนี้ออกไปให้พวกเราแล้ว ส่วนพวกเราจะภาวนาได้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ตัวพวกเราเอง ธรรมะยังไม่เคยหายไป ทั้งฝ่ายปริยัติทั้งฝ่ายปฏิบัติธรรมะยังอยู่ มันอยู่ที่ว่าเราจริงจังเข้มแข็งเพียงพอที่จะเข้าถึง ปฏิบัติให้เข้าถึงของจริงนี้หรือเปล่า

วันนี้สมควรแก่เวลา เท่านี้นะ พวกโยมพวกที่อยู่บ้านรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีนะ จะได้มีโอกาสมาฟังธรรมกับหลวงพ่อตัวเป็นๆ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 พฤษภาคม 2563