มรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา

งานกรรมฐานเป็นงานฝึกจิตใจ เบื้องต้นก็ฝึกจิตใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว ให้มันสงบ ให้มันตั้งมั่น ถัดจากนั้นก็ฝึกให้จิตใจมันเรียนรู้ความจริงของโลก ของกายของใจ สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนามนั่นเอง ให้จิตมันเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ สุดท้ายมันปล่อยวาง พอปล่อยวางแล้วมันก็ไม่ทุกข์ โลกมันทุกข์ แต่จิตมันไม่ทุกข์ ฉะนั้นจุดหมายปลายทางนั้น เราภาวนาไป วันหนึ่งเราพ้นทุกข์ แล้ววันที่ขันธ์มันแตก รูปนามมันดับ นั่นก็คือดับทุกข์

ตรงที่เราภาวนา จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันยังมี 2 อัน 2 ลักษณะ อันหนึ่งมันพ้นแต่ว่ามันมีขันธ์ รูปนามมันมีอยู่ จิตมันพ้นจากรูปนาม เรียกมันพ้นโลกเหมือนกัน อีกอันหนึ่งรูปนามมันดับ ฉะนั้นนิพพานมันมี 2 อัน ตรงที่ภาวนาจนแตกหัก อันแรกมันพ้นทุกข์ มันพ้นจากรูปนาม อันที่ 2 มันดับทุกข์ มันดับรูปนาม ที่จริงเราปฏิบัติ เราไม่ได้ดับรูปนาม รูปนามมันดับเพราะเหตุมันดับ รูปนามเราได้มาเพราะวิบาก กำลังของวิบากส่งผลมา เรามีกายอย่างนี้ มีจิตใจที่เราจะต้องกระทบอารมณ์ที่ดี อารมณ์ที่ไม่ดีอะไรนี้ เป็นผลของกรรม ถึงจะพ้นทุกข์แต่ขันธ์ยังเหลืออยู่ มีวิบากเหลืออยู่ เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีเศษเหลือ

วันที่ขันธ์มันหมดเชื้อแล้ว วิบากให้ผลมาเต็มที่ ขันธ์มันแตกดับไป เรียกมันดับทุกข์ เรียกอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานไม่มีอะไรเหลืออีก เหลือแต่ธรรม เหลือแต่ธรรมะ คือจิตกับธรรมนั้นมันรวมเป็นอันเดียวกัน มันไม่ได้สูญ นิพพานพ้นจากคำว่าอมตะ คำว่ามีอยู่ บรรลุพระนิพพานแล้วก็เป็นอมตะ หรือบรรลุพระนิพพานแล้วสูญ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถ้ายังคิดว่ามีรูปนามอยู่ มันก็ไม่ใช่นิพพาน ถ้าคิดว่ามันคือความสูญทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอีกสายหนึ่ง เรียกอุจเฉททิฏฐิ ดับหมดไม่มีอะไรเหลือ อันนี้วันหนึ่งพวกเราจะเข้าใจ จะเห็นด้วยตัวเอง แต่ก่อนที่เราจะไปเห็นจุดนั้นได้ ขั้นแรกเลยมาเรียนรู้รูปนามให้ถ่องแท้เสียก่อน ตัวรูปนามบอกแล้วว่าคือตัวทุกข์ มันเป็นตัวทุกข์

 

ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง

การเรียนรู้รูปนาม มันก็คือเรียนรู้ทุกข์ มันคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนว่า “ทุกข์ให้รู้” สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือรูปนาม เพราะฉะนั้นหน้าที่เรารู้รูป รู้นาม รู้กายรู้ใจของตัวเองให้มาก รู้จนถ่องแท้ รูปนามนี้ไม่มีอะไรดีหรอก เบื้องต้นก็รู้มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ของเรา ตัวเราไม่มี อันนั้นเราได้ธรรมะขั้นต้น ต่อมาปัญญาแก่รอบขึ้น ถึงจะเห็นรูปนามที่ว่าไม่ใช่เรานั้น มันเป็นอะไร มันเป็นทุกข์ พอเห็นทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว จิตก็ปล่อยวาง เรื่องอะไรจิตจะไปยึดถือตัวทุกข์เอาไว้ ที่พวกเราปล่อยวางความยึดถือกาย ปล่อยวางความยึดถือจิตไม่ได้ เพราะเราไม่เห็นความจริงว่ากายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์

เราเห็นอย่างไร เราเห็นว่าร่างกายเรานี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง เห็นอย่างนี้ไหม ร่างกายนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง จิตใจของเราก็ทุกข์บ้าง สุขบ้าง คนทั่วไปอย่างมากก็เห็นแค่นี้ ถ้าหลงโลกมากกว่านี้ไม่รู้เลย ร่างกายจิตใจตัวเองเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เลย อันนั้นพวกเหลวไหล ถ้าเรามาหัดภาวนา เราไม่เห็นหรอกว่าร่างกายเราเป็นทุกข์ จิตเราเป็นทุกข์ แต่เราจะเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง พอมันมี 2 ทางเลือก เราก็จะเลือกเอาความสุข เราจะปฏิเสธความทุกข์ จิตมันก็จะอยากได้ความสุข อยากให้ความทุกข์หายไป ได้ความสุขมา ก็อยากให้ความสุขอยู่นิรันดร พอได้ความทุกข์มา ก็อยากให้ความทุกข์หมดไปสิ้นไป

ตัวอยากคือตัวตัณหา หรือตัวสมุทัย มันเป็นตัวที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมา ทีแรกทุกข์มันอยู่ที่ตัวขันธ์ ร่างกายมันตัวทุกข์ เวทนามันก็ตัวทุกข์ สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นตัวทุกข์ พอเราอยากให้มันสุข อยากให้มันไม่ทุกข์ ความอยากเกิดขึ้น ความดิ้นรนของจิตก็เกิดขึ้น เมื่อความดิ้นรนของจิตเกิดขึ้น มันก็เกิดตัวกูของกู เข้าไปหยิบไปฉวยไปยึดถือ เข้าไปหยิบอะไร หยิบรูป หยิบนาม คือยึดกายยึดใจ รูปนามจริงๆ มันคือตัวทุกข์ แต่เราไม่เห็นจริง เราก็เลยไปหยิบฉวย ไปกอดเอาตัวทุกข์ไว้ เหมือนเราเห็นงูเห่ามันสวย งูเห่ามันสวยจริงๆ เกล็ดมันดำๆ เวลาถูกแสงแดดเป็นประกายวับๆ อย่างกับรุ้งเลย สวย ถ้าเราไม่รู้จัก เราก็ โอ้ มันสวยดี เราก็ไปหยิบมาอุ้มไว้ เดี๋ยวมันก็กัดเรา

ขันธ์นี้เหมือนกัน ดูผิวเผินมันสวยงาม มันดีงาม มันน่ารัก มันน่าหวงแหน เราเข้าไปหยิบไปฉวยไว้ ถึงวันหนึ่งมันก็กัดเรา ร่างกายนี้เราอุตส่าห์ดูแลมันอย่างดีที่สุดเลย ถึงวันหนึ่งมันก็ทำร้ายเราด้วยความแก่ ด้วยความเจ็บ ด้วยความตาย อารมณ์ทางใจ เราดิ้นรนแสวงหาความสุข ต้องได้สิ่งนี้ ต้องพ้นจากสิ่งนี้ แล้วจะมีความสุข เช่น ต้องอยู่กับคนนี้ ต้องแต่งงานกับคนนี้ แล้วจะมีความสุข แต่งไปนานๆ เบื่อ อยากจะพ้นไป ถ้าพ้นได้แล้วจะมีความสุข ก็จะคิดอย่างนี้ เดี๋ยวก็อยากได้ เดี๋ยวก็อยากรักษา เดี๋ยวก็อยากให้มันหมดไป ตรงที่ใจมันเกิดความอยาก มันจะดิ้นรนขึ้นมาแล้ว เสียอิสรภาพทางใจ มันจะดิ้นๆๆ ไป ความทุกข์มันก็จะเข้าถึงจิตใจของเรา

ถ้าเราภาวนาให้ดี ความทุกข์มันอยู่ที่ขันธ์หรอก ความทุกข์มันไม่อยู่ที่จิตที่เหนือขันธ์ จิตยังมี 2 ส่วน จิตที่เป็นขันธ์ กับจิตที่เหนือขันธ์ ในตำราเขาพูดถึงอุปาทานขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น อันนี้อยู่ในกองทุกข์ คือขันธ์ที่เรามี กายนี้ใจนี้ที่เรามีนั่นล่ะ เรียกเป็นอุปาทานขันธ์ แต่เราภาวนาไป เราจะเจอขันธ์ซึ่งมันอยู่เหนืออุปาทานคือวิญญาณ จิตที่บริสุทธิ์กับธรรมะ ที่เกิดร่วมกับจิตที่บริสุทธิ์ อันนั้นไม่ใช่อุปาทานขันธ์ ไม่จัดอยู่ในกองทุกข์ ฉะนั้นจิตที่บรรลุอริยมรรค อริยผล ไม่ใช่อยู่ในกองทุกข์ เราไม่ได้ทำ ไม่ได้รู้มัน ไม่ได้ละมัน แต่เราจะเข้าถึงมัน จะเข้าถึงจิตซึ่งพ้นจากความทุกข์ เป็นจิตที่สัมผัสนิโรธ

เพราะฉะนั้นท่านบอกว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยคือตัณหาให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง” นิโรธก็คือนิพพาน ถ้าจิตที่ทรงพระนิพพานอยู่ มันก็ไม่ใช่อุปาทานขันธ์จิต พ้นจากอุปาทานขันธ์ มันก็พ้นจากตัวทุกข์ เราไม่ได้มีหน้าที่สร้างสิ่งนี้ขึ้นมา แต่เราปฏิบัติจนวันหนึ่งเราแจ้งมัน แจ่มแจ้ง เข้าถึง เข้าไปสัมผัสมันได้ จิตที่พ้นจากความปรุงแต่ง จิตที่พ้นจากความปรุงแต่ง มันก็สัมผัสพระนิพพาน ธรรมชาติของจิตนั้น ต้องเกิดร่วมกับอารมณ์เสมอ อย่างจิตของเรา ก็เกิดร่วมกับอารมณ์ที่ดีบ้าง ที่ร้ายบ้าง ที่สุขบ้าง ที่ทุกข์บ้าง ฉะนั้นจิตที่สัมผัสพระนิพพาน ก็สัมผัสอะไร สัมผัสพระนิพพาน ไม่ได้สัมผัสโลก

นิพพานมีความสุขอันมหาศาล จิตที่สัมผัสพระนิพพาน มันจะมีความรู้สึก 2 อัน อันหนึ่งมีความสุขอันมหาศาล อีกอันหนึ่งเป็นอุเบกขา ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง คือหลวงปู่สุวัจน์ เอ่ยชื่อได้ท่านมรณภาพไปนานแล้ว ท่านพูดถึงตอนที่จิตท่านหลุดพ้น ท่านบอกว่าจิตท่านมีความสุขมหาศาลอยู่ปีกว่าๆ แล้วถัดจากนั้น ท่านบอก “จิตของเรา” เราไปอย่างนั้น เราโดยโวหารเพื่อสื่อความหมาย ท่านไม่ได้ว่ามีเรามีเขาจริงๆ หรอก บอก “พอเราวางจิตลงไปแล้ว จิตเรามีความสุขอยู่ปีกว่าๆ ถัดจากนั้นมันก็เป็นอุเบกขา เป็นอย่างที่เป็นอย่างนี้” ท่านบอก “มันเป็นอย่างที่มันเป็นนี่ล่ะ”

เพราะฉะนั้นจิตที่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันมีเวทนาได้ 2 ชนิด คือมีความสุขเขาเรียกโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา แล้วมันทรงตัวเด่นดวง ไม่ต้องรักษา สัมผัสพระนิพพาน มันสัมผัสพระนิพพาน เราจะรู้เลยว่า ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนี้ ที่สุดของทุกข์ก็อยู่ตรงที่สุดของขันธ์ ค่อยๆ ฝึก ก่อนจะถึงจุดนี้ ขั้นแรกก็ต้องเรียนรู้ทุกข์ให้ดี เราไม่ต้องพยายามดิ้นรน ที่จะประจักษ์พระนิพพาน แจ่มแจ้งพระนิพพาน ไม่ต้อง ให้รู้ทุกข์ให้ดี เครื่องมือที่เราจะต้องพัฒนาตัวเองก็เรียกว่ามรรค ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา เรามีศีล ใจเราจะได้ไม่วอกแวก เรามีสมาธิเพื่อให้ใจเรามีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงอยู่ สามารถเอาไปเจริญปัญญา คือเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจได้

เมื่อเรียนรู้ความจริงของรูปนาม มันเห็นรูปนามอย่างที่มันเป็นแล้ว ไม่ใช่อย่างที่เราคิดจะเป็น คนทั่วไปปฏิบัติธรรมก็อยากมีความสุข อยากไม่ทุกข์ อันนั้นเรียกว่ายังไม่ยอมรับความจริง ถ้ายอมรับความจริงก็คือเห็นความจริง รูปนามคือตัวทุกข์ จะไปอยากให้มันไม่ทุกข์ ไม่ได้ มันคือตัวทุกข์ ท่านบอกว่า “เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย” เบื่อหน่ายอะไร เบื่อหน่ายในธาตุในขันธ์นั่นล่ะ “เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว” หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามนั่นล่ะ

พอหลุดพ้นจากรูปจากนามได้ ก็เรียกว่ามันพ้นทุกข์ จิตมันลอยตัวอยู่เหนือรูปนามกายใจ คล้ายๆ มันลอยตัวอยู่เหนือรูปนาม คำว่า “ลอยตัว” มันก็ไม่ดี เดี๋ยวเรากำหนดจิตถอดออกจากร่าง แล้วบอกอยู่เหนือรูปนาม อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นส่งจิตออกนอก ใช้ไม่ได้หรอก มันหลุดออกจากรูปนามได้ เพราะมันรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปนามนี้คือตัวทุกข์ มันจะวาง

 

สติกับปัญญา เป็นเครื่องมือสำคัญในการรู้ทุกข์

ฉะนั้นหน้าที่เรารู้ทุกข์ รู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ เครื่องมือสำคัญในการรู้ทุกข์ ก็คือสติกับปัญญา สติเป็นตัวรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น ปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาวะที่มีที่เป็นอยู่ สภาวะก็คือรูปธรรมนามธรรม สติเป็นตัวรู้ทัน

อย่างขณะนี้รูปของเรานั่งอยู่ รู้ไหม รูปมันนั่งอยู่ รู้ว่ารูปมันนั่ง ไม่ใช่รูปมันนั่งอยู่ แล้วใจไปคิดเรื่องอื่น มีรูปคือมีร่างกาย ก็ลืมร่างกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจ อันนั้นเรียกว่าขาดสติ อย่ามัวแต่ไปคิดเรื่องอื่น หลงไปในสิ่งอื่น หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตส่งออกนอก จิตส่งออกนอก คือจิตมันมีตัณหา มันทะยาน มันอยาก มันมีความอยาก แล้วมันเลยทะยานออกไป ไขว่คว้าแสวงหาอารมณ์ หรือไปผลักอารมณ์ทิ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ฉะนั้นเราพยายามมารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็นไปเรื่อยๆ เครื่องมือคือสติกับปัญญา สติเป็นตัวรู้ทันความมีอยู่ของกายของใจ เรียกว่ารู้สภาวะ ว่ารูปธรรมนามธรรมนี้เป็นสภาวธรรม ไม่ใช่สิ่งที่เรามโน คิดเอาเอง ไม่ใช่ของจริง เรื่องที่คิดนึกเอา ไม่ใช่ของจริง เราต้องดูจากของจริง รู้สึกลงที่กาย อันนี้กายมันของจริง เป็นสภาวธรรม จิตใจ สุขทุกข์ ดีชั่ว ที่เกิดทางจิตใจอะไรนี้ เป็นของจริง เป็นสภาวธรรม อย่างความโกรธเป็นสภาวธรรม ความคิดในเรื่องราวที่ทำให้โกรธ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่สภาวธรรม

ฉะนั้นเราปฏิบัติ เราจะเจริญวิปัสสนา ต้องหลุดออกจากความคิดให้ได้ ตื่นขึ้นมาในโลกของความรู้สึกตัวให้ได้ ตัวนี้เครื่องมือที่จะฝึกให้จิตเราหลุดออกมา จากโลกของความคิดความฝัน คือการฝึกสมาธินั่นเอง ฝึกให้จิตตั้งมั่นเรียกว่าจิตตสิกขา พอจิตตั้งมั่นได้ ก็จะเห็นสติระลึกรู้กาย สติระลึกรู้ใจ จะระลึกได้ ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก จิตใจมีอยู่ รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก ตรงนี้ล่ะที่พวกเราจะต้องฝึก ต้องทำให้มาก เรียกว่าเรามีสติ พอเรารู้สึกมากๆ เข้า โดยจิตที่เราตั้งมั่น มีเงื่อนไขคือจิตเราต้องตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดู เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พอจิตเราตั้งมั่น แล้วมีสติระลึกรู้กาย มันก็จะเห็นความจริงของกาย

การที่เราได้เห็น รู้ถูก เข้าใจถูก เห็นความจริง ตัวนั้นคือตัวปัญญา ปัญญาจะทำหน้าที่ละ หน้าที่ปล่อยวาง เราไม่ได้มีหน้าที่ละวางอะไรทั้งสิ้น หน้าที่ที่จะปล่อยวางได้ ละความยึดถืออะไรได้ เป็นหน้าที่ของปัญญา ปัญญาจะเกิดได้ อาศัยสติกับสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นทีแรกเรามีสติระลึกรู้กาย มีสติระลึกรู้จิตใจ กายนั่งอยู่ รู้สึก กายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก กายหายใจออก รู้สึก กายหายใจเข้า รู้สึก ขอเน้นคำว่า “รู้สึก” ไม่ใช่เพ่ง ถ้าเพ่งนี้เสร็จเลย ไม่ได้เรื่องเลย เสียเวลา มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก แค่รู้สึก

สติเป็นตัวรู้ ระลึกรู้ว่าตอนนี้รูปมันนั่งอยู่ รูปมันยืน รูปมันเดิน รูปมันนอน รูปมันหายใจออก รูปมันหายใจเข้า รูปมันเคลื่อนไหว รูปมันหยุดนิ่ง คอยรู้สึกไป แล้วถ้าจิตเราตั้งมั่น เราจะเห็นว่ารูปหรือร่างกายกับจิตใจ เป็นคนละอันกัน จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู มันก็จะเห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู เห็นไหม พอจิตตั้งมั่นมันเห็นทันทีเลย ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู นั่นคือการเจริญปัญญา การเจริญปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือการแยกรูปนาม ก็กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง สุขทุกข์อยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง ดีชั่วอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง แยกๆๆ ออกไปเรื่อยๆ แยกรูป แยกนาม ตรงที่เราแยกรูป แยกนามได้ เป็นการเจริญปัญญาแล้ว เป็นปัญญาขั้นต้น

แล้วถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้รูปที่ถูกแยกออกไปแล้ว ปัญญามันก็จะเกิด มันจะเห็นว่ารูปที่มันแยกออกมา ต่างหากจากจิต เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี้เรียกเราเห็นไตรลักษณ์แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ มีเครื่องมือสำคัญ 2 ตัว มีสติกับสมาธิ แล้วเราก็จะเห็นไตรลักษณ์ เรียกว่าเราเกิดวิปัสสนาปัญญา สติจะเป็นตัวจับสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ ใช้คำว่า “จับ” มันก็รุนแรงไป แค่ระลึกถึงความมีอยู่ สติมันเป็นตัวระลึกรู้ ความมีอยู่ของรูปนามกายใจ แล้วถ้าระลึกรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่ารูปที่สติไประลึกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นามธรรมที่สติระลึกรู้ เช่น สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ตรงนี้เรียกว่าเรามีวิปัสสนาปัญญาแล้ว

พอเรามีปัญญามากๆ ดูไปกายไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่เรา ดูไปเรื่อย ตัวเราไม่มี ก็ล้าง เกิดปัญญาในขั้นโลกุตตรปัญญา ล้างความเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่ แล้วต่อไปเราก็เจริญสติ สมาธิ ปัญญาของเราเรื่อยไป ทำทุกวันๆ มีร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก แต่ทุกวันแบ่งเวลา ฝึกให้จิตมีกำลังตั้งมั่น ทำในรูปแบบทุกวันๆ จิตจะได้มีแรง พอรู้สึกไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันรู้แจ้งแทงตลอด ลึกละเอียดลงไปอีก ตัวรูปหรือตัวกายที่มันไม่ใช่ตัวเรา แท้จริงมันคือตัวทุกข์ แล้วต่อไปมันรู้แจ้งแทงตลอดลงที่จิต จิตที่ว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวเรา แท้จริงมันคือตัวทุกข์

อย่างพวกเรารู้สึกไหม ที่เราภาวนา เรายังรู้สึกว่าจิตคือตัวเราอยู่ ปุถุชนทุกคนจะรู้สึกว่าจิตคือตัวเรา ถ้าได้โสดาบันมันก็จะรู้สึกจิตว่าไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี แต่มันยังมีร่างกาย มีของเราอยู่ ไม่มีตัวเรา แต่มันก็ยังยึดถือในรูปนาม ในกายในใจนี้อยู่ เราก็เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ เจริญสติ สมาธิ ปัญญา ที่จริงก็คือเจริญปัญญานั่นล่ะ แต่ปัญญาเกิดได้ด้วยกำลังของสติและสมาธิ ในที่สุดปัญญารู้ความจริง มันก็ทำหน้าที่ตัด ทำหน้าที่ล้าง ล้างความเห็นผิด ก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั่นล่ะคือตัวปัญญา ความเห็นถูกว่ากายนี้คือตัวทุกข์ ความเห็นถูกว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ มีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดอย่างนี้ จิตมันก็ปล่อยวาง ถ้าจิตปล่อยวางกายได้ ปล่อยวางจิตได้ แล้วก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก จิตมันก็พ้นทุกข์

 

หน้าที่ของเราก็คือพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา
หรือการเจริญมรรคของเราให้มาก

ตอนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อก็ภาวนาจนกระทั่งมันเห็น ร่างกายไม่ใช่เรา อันนี้ปุถุชนก็เห็นได้ ถ้าจิตมีสมาธิ พระพุทธเจ้าบอก “ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ ไม่เคยฟังธรรมะ สามารถเห็นได้ว่ากายไม่ใช่เรา แต่เห็นไม่ได้ว่าจิตไม่ใช่เรา” หลวงพ่อก็เห็นกายไม่ใช่เรา แต่จิตมันยังยึดถือจิตอยู่ ไม่ยอมวาง ก็ภาวนาเรื่อยๆ บางทีจิตมันก็ปล่อยวางจิต วางแล้วก็หยิบฉวยขึ้นมาอีก หยิบฉวยขึ้นมาแล้วภาวนาไปเรื่อยๆ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็วางเอง วางแล้วก็หยิบ วางแล้วก็หยิบอยู่อย่างนั้น จนนึกสงสัย เอ๊ะ ทำอย่างไรมันจะวางแล้วไม่หยิบ

มีวันหนึ่งได้ข่าวว่า หลวงปู่สุวัจน์กลับมาจากอเมริกา ก็ดีใจ ยุคนั้นครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วยหมดแล้ว หมด เหลือก็เป็นผู้เฒ่า แบบเข้าไปไม่ค่อยถึงแล้ว อายุเยอะๆ นี้หลวงปู่สุวัจน์มา ยังพอเข้าถึงได้ตอนนั้น ก็ชวนคุณแม่ชีขับรถไป ออกจากบ้านไป จิตมันปล่อยวางจิตอยู่ จะให้จิตมันปล่อยวางอย่างนี้ แล้วไปถามท่านว่า ถ้าจิตมาถึงตรงนี้แล้ว ภาวนาอย่างไรต่อจิตถึงจะวางไม่เลิก ไม่ใช่ไปหยิบฉวยขึ้นมาอีก พอขึ้นรถขับออกจากที่พัก จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก คราวนี้วุ่นวายแล้ว เราอยากจะให้จิตมันปล่อยวางจิต เพื่อจะไปถามหลวงปู่สุวัจน์ว่าทำอย่างไรมันจะวางถาวร แล้วมันดันไปหยิบขึ้นมาอีก ทำอย่างไรๆ ดูอย่างไรมันก็ไม่วาง ทุ่มเทกระทั่งสมาธิอะไรต่ออะไร ทุ่มลงไป พิจารณาอะไรต่ออะไร ไม่วาง

จนกระทั่งขับรถไปใกล้ๆ ที่พักของท่านแล้ว แล้วก็ถอนใจเลย อืม ไม่วางแล้ว จิตนี้มันเป็นอนัตตา เราสั่งให้มันวางไม่ได้ พอจิตมันเฉลียวใจ ว่าจิตมันเป็นอนัตตา เราสั่งให้วางไม่ได้ มันวางเอง อุ๊ย ดีใจ เข้าไปนั่งรอหลวงปู่ รออยู่พักหนึ่งมันก็ยังวางอยู่ เขาก็เข็นรถหลวงปู่ออกมา ท่านเป็นอัมพาต พอท่านออกมาท่านก็มองซ้ายมองขวา ญาติโยมก็กราบท่าน ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา มองหลวงพ่อแวบหนึ่งแล้วท่านก็พูดบอก “บางทีเราภาวนา จิตมันก็ปล่อยวางจิต จิตมันปล่อยวางจิตแล้ว มันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก มันหยิบฉวยจิตขึ้นมาแล้ว ทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมวาง จนกระทั่งมันเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันก็เลยวาง” ท่านก็หันมามองก็ยิ้มไปยิ้มมา ไม่ต้องถาม อธิบายให้หมดแล้ว คือท่านยืนยันให้ฟังว่า มันวางได้เพราะมันเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันวางร่างกายได้ ก็เพราะเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ วางจิตได้ก็เพราะเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์

เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ดู ให้เห็นไตรลักษณ์ของกาย ให้เห็นไตรลักษณ์ของจิต ถึงจุดหนึ่งมันก็วางของมันเอง เราไม่มีหน้าที่ไปทำให้จิตปล่อยวาง ครั้งสุดท้ายที่หลวงพ่อเข้าไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2526 เป็นครั้งสุดท้าย เพราะอีก 36 วันท่านมรณภาพ เข้าไปหาท่านครั้งสุดท้าย ท่านก็สอนบอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านถาม “เข้าใจไหม” บอก “ไม่เข้าใจ แต่ผมจะจำไว้” ท่านบอก “เออ จำไว้นะ” วันรุ่งขึ้นเข้าไปกราบหลวงพ่อพุธที่โคราช หลวงพ่อพุธก็ถาม “นักปฏิบัติ ไปรอบนี้หลวงปู่สอนอะไร” ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ บอกหลวงปู่สอนบอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”

หลวงพ่อพุธท่านก็บอก “พบผู้รู้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต” ท่านจะพูดช้าๆ ไม่พูดเร็วอย่างหลวงพ่อหรอก ท่านบอกอันนี้คือสุดยอดของกรรมฐาน แล้วท่านก็บอกว่า “การทำลายจิตนั้น คือไม่ยึดถือจิต ไม่ใช่ไปทำลายมัน” คำว่า “ทำลายจิต” หมายถึงไม่ยึดถือ ท่านบอกว่าก่อนที่หลวงพ่อไปหาหลวงปู่ดูลย์ 7 วัน ท่านก็เข้าไปกราบหลวงปู่เหมือนกัน หลวงปู่ก็สอนท่านบอก “เจ้าคุณฯ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” หลวงพ่อพุธท่านก็สรุปให้หลวงพ่อฟัง บอกตัวนี้เป็นสุดยอดของกรรมฐานแล้ว ในขั้นแตกหักลงที่จิตนี้

พวกเราภาวนาดูกายดูใจของเราทำงานไป ถึงวันหนึ่งมันก็จะลงมาที่จิตนี่ล่ะ แล้วท่านก็กลัวหลวงพ่อไปทำลายมัน เดี๋ยวจะบ้าเสียก่อน อย่าไปคิดทำลายมัน ท่านบอกว่าต้องเห็นไตรลักษณ์ ท่านบอกอย่างนี้ แล้วท่านก็บอกว่า “คุณกับอาตมา มาทำกติกากัน ใครทำลายได้ก่อนให้บอกกัน” ท่านบอกอย่างนี้ เราก็นึก โอ๊ย ท่านสิต้องทำลายก่อนเรา ท่านเป็นพระ เราเป็นโยม เราจะไปทำลายอะไรได้ อย่างไรท่านต้องเสร็จก่อนเราล่ะ เราค่อยมาเรียนต่อจากท่านก็ได้

ถัดจากนั้นพอสิ้นหลวงปู่ดูลย์ไป แล้วก็เข้าไปกราบท่านทุกเดือน แล้วช่วงหนึ่งท่านเป็นมะเร็ง ท่านก็หลบไปอยู่วัดอื่น ไปอยู่วัดวะภูแก้ว ไปอยู่วัดอะไรจำชื่อไม่ได้ หลบอยู่ 2 – 3 ที่ เพราะท่านสู้กับโยมไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว โยมมายุ่งกับท่านทั้งวันทั้งคืน อาการกำเริบ พอช่วงท้ายๆ อีกไม่กี่เดือนท่านจะมรณภาพ ท่านไปเทศน์ที่องค์การโทรศัพท์ หลวงพ่อตอนนั้นทำงานที่องค์การโทรศัพท์ ตอนที่ท่านไปเทศน์ พอท่านเทศน์จบ คนอื่นเขาก็มัววุ่นวายอยู่กับการเอาเงินใส่ขัน หลวงพ่อไม่ได้สนใจหรอก เราใส่เสียก่อนจะฟังเทศน์แล้ว รีบคลานเข้าไปหาท่าน บอก “หลวงพ่อครับ ผมไม่เจอหลวงพ่อนานแล้ว” ท่านบอกว่า “หลวงพ่อจำได้ นักปฏิบัติมีไม่มากหรอก” ก็กราบเรียนท่าน “หลวงพ่อครับ ผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้”

ท่านกำลังเหนื่อยๆ จิตท่านมีพลังปุ๊บขึ้นมาทันทีเลย ยืดตัวสง่าผ่าเผย แล้วท่านก็บอกประโยคเด็ดมา “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง” มันทำลายของมันเอง เหมือนลูกไก่พอมันอยู่ในไข่ พอมันโตเต็มที่ มันก็เจาะเปลือกของมันเอง เราไม่ต้องไปเจาะให้มัน ขืนเราไปเจาะให้มัน ลูกไก่ตายเลย พวกเราก็เหมือนกัน อย่ารีบทำลายผู้รู้ ท่านบอก “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง”

พอฟังแล้วก็ปิ๊งเลย เข้าใจเลย หน้าที่ของเราก็คือพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา หรือการเจริญมรรคของเราให้มากนั่นเอง จิตใจมันก็จะค่อยห่างจากตัณหา อำนาจของกิเลสตัณหาก็จะอ่อนลงๆ จนกระทั่งจิตมันหมดตัณหา หมดลงไปชั่วขณะ ชั่วขณะเดียว จิตก็เข้าถึงสภาวธรรมที่พ้นจากความปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเรา รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น ร่างกายเป็นอะไร ร่างกายเป็นไตรลักษณ์ จิตใจเป็นอะไร จิตใจเป็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นดูกายดูใจ ดูมันเรื่อยๆ ไป จนมันเห็นไตรลักษณ์ แต่มันมีเคล็ดลับบอกแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ได้จิตต้องตั้งมั่น แล้วก็จะเห็นได้ดี จิตต้องเป็นกลาง

ฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปออกมา “ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” มีอะไร มีสติ สติเป็นตัวอะไร ตัวระลึกรู้ ระลึกรู้อะไร ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ ระลึกอย่างไร ระลึกอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงมัน เรียกว่ามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง กายเป็นอย่างไร รู้สึก จิตใจเป็นอย่างไร รู้สึก สติเป็นตัวระลึกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราคอยระลึกรู้กายรู้ใจ อย่าใจลอย คิดอะไรฟุ้งซ่านทั้งวัน แล้วก็อย่านั่งเพ่งกายเพ่งใจ นั่งเพ่งกายเพ่งใจ ไม่ใช่รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง แต่มันคือการบังคับกายบังคับใจ ให้รู้ไม่ใช่ให้บังคับ

มันเหมือนเราอยากรู้พฤติกรรมของคนสักคนหนึ่ง สมมติเราเป็นผู้บังคับบัญชา เราอยากรู้ว่าลูกน้องคนนี้นิสัยเป็นอย่างไร เราก็ต้องค่อยๆ สังเกต ถ้าเราไปนั่งเฝ้ามันอยู่หน้าโต๊ะทำงานของมัน เราไม่เห็นตัวจริงของมัน ต้องเล่นทีเผลอ ดูไกลๆ ดูห่างๆ หรือดูกล้องวงจรปิดอะไรอย่าให้เขารู้ตัว เขาถึงจะแสดงตัวจริงออกมา การที่เราจะดูกายดูใจตามความเป็นจริงได้ อย่าไปเพ่งไปจ้อง ถ้าเพ่งจ้องก็เหมือนเราไปนั่งเฝ้าลูกน้องอยู่ เราอยากรู้ว่าลูกน้องมีพฤติกรรมอย่างไร เราไม่เห็นของจริง

เคยมีแม่ทัพคนหนึ่งมาหาหลวงพ่อ ตอนนั้นหลวงพ่อยังอยู่สวนโพธิ์ฯ เป็นแม่ทัพทหารบก ไปถึงแกก็บอกหลวงพ่อว่า แกเป็นคนมีระเบียบวินัย ลูกน้องแกมีระเบียบมากเลย เวลาเข้าไปในกรมฯ ในกองพล ทุกคนเรียบร้อย เพราะฉะนั้นทหารของแกเรียบร้อย หลวงพ่อก็บอกแกว่า ท่านนายพลต้องแอบดูเขา ต้องไปแอบดูแล้วถึงจะรู้ว่าลูกน้องเรียบร้อยไหม ถ้าถึงเวลาขับรถเข้าไป ยามเป่านกหวีดทุกคนตะเบ๊ะพรึบ มันเรียบร้อยหมด ต้องแอบๆ ดูมัน ถึงจะรู้ว่าจริงๆ เป็นอย่างไร

การที่เราจะดูกายดูใจของเราก็เหมือนกัน ชำเลืองๆ ดู ไป ไม่ใช่ไปนั่งจ้อง ถ้านั่งจ้องร่างกายก็แข็งทื่อ จิตใจก็แข็งทื่อ ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นเราแค่ระลึกรู้ ร่างกายขยับ ระลึก ร่างกายหันซ้ายหันขวา รู้ ไม่ใช่เพ่ง ถ้าเพ่งมันจะแข็งๆ ตอนนี้จะหันแล้วนะ เพ่ง ได้อะไร ได้การทรมานตัวเอง อัตตกิลมถานุโยค ฉะนั้นรู้สึก รู้สึกกายรู้สึกใจไปเรื่อยๆ ทีแรกรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ เรียกรู้ด้วยสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น พอสติระลึกรู้กายรู้ใจ ก็จะเกิดปัญญา ก็จะเห็นความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์

ในหลวงองค์ก่อนท่านเคยถามหลวงปู่เทสก์ว่า “อะไรเป็นที่สุดของศีล อะไรเป็นที่สุดของสมาธิ อะไรเป็นที่สุดของปัญญา” นี่ระดับพระเจ้าแผ่นดินถามที่สุดเลย ไม่ถามจุดเริ่มต้น เพราะท่านเก่งอยู่แล้ว หลวงปู่เทสก์ก็ตอบว่า “เจตนาวิรัติ เป็นที่สุดของศีล” เจตนาวิรัติ คือจิตมันเจตนาที่จะงดเว้นบาป การทำบาปอกุศล แล้วถ้าเจตนานั้นแข็งแรง มันเป็นเจตนาอัตโนมัติ ไม่ได้จงใจ แต่จิตมันมีเจตนา ตรงนี้พูดแล้วจะเข้าใจยาก เอ๊ะ ไม่ได้จงใจแล้วเจตนา เพราะเรารู้จักเจตนาที่เป็นความจงใจ ที่จริงเจตนาเกิดกับจิตทุกดวง มีเจตนา ที่สุดของศีลก็คือเจตนาวิรัติ จิตมันเจตนารักษาศีลเอง เราไม่ได้รักษา

ที่สุดของสมาธิ คืออัปปนาสมาธิ สมาธิระดับฌาน ที่สุดของสมาธิ ที่สุดของปัญญา คือไตรลักษณ์ ท่านพูดชัดเจนเลย ที่สุดของปัญญาคือไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นพวกเราก็พยายามดูกาย วันหนึ่งก็จะเห็นกายตามความเป็นจริง คือเป็นไตรลักษณ์ ดูจิตใจไป วันหนึ่งก็เห็นความจริงคือไตรลักษณ์ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้น ก็จะรู้ด้วยตัวเองว่าหลุดพ้นแล้ว จิตมันหลุดเอง แล้วรู้เอง ไม่ต้องเที่ยวถามคนอื่นว่าได้โสดาบันหรือยัง พวกถามเขาว่าได้โสดาบันหรือยัง ก็ยังนั่นล่ะ ถ้ามันถึงจริง มันไม่ต้องมาถามใครหรอก มันรู้ด้วยตัวเอง

 

มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางให้ได้

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงให้ได้ จะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ ก็มีประโยคต่อไป อันนี้วงเล็บ “ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตเป็นสัมมาสมาธินั่นเอง มีสัมมาสมาธิ ฉะนั้นเราจะรวมกันทั้งหมดก็เป็น “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง” (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง)” อันนี้หลวงพ่อย่อธรรมะ ย่อการปฏิบัติซึ่งหลากหลายมากมายมหาศาล ลงเหลืออยู่ในประโยคนี้ประโยคเดียวเท่านั้น ถ้าเราจับหลักตัวนี้ได้ เราจะใช้กรรมฐานอะไรมันก็ไปได้

เราจะเห็นกายตามความเป็นจริงก็ได้ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มันก็พ้นทุกข์ได้ เจริญกายานุปัสสนาก็พ้นทุกข์ได้ เราจะเห็นเวทนาตามความเป็นจริง คือมันเป็นไตรลักษณ์ มันก็พ้นได้ ก็บรรลุไป เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราจะเห็นจิตเป็นกุศลอกุศล เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เห็นไตรลักษณ์ของจิต อันนั้นเราก็ทำด้วยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ว่าจะเริ่มจากกาย เริ่มจากเวทนา หรือเริ่มจากจิต สุดท้ายจะลงที่ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือจะลงไปรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เหมือนกันหมดทุกคน ทุกคนที่เดิน เพราะฉะนั้นพระอรหันต์รู้อันเดียวกันนั่นล่ะ คือรู้อริยสัจ

เริ่มต้นจะดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตก็ได้ แต่ดูให้ถูกหลัก เช่น มีสติรู้กายตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง หรือมีสติรู้เวทนาตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง หรือมีสติรู้จิตตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เคล็ดลับมันอยู่ที่ความตั้งมั่นและเป็นกลาง เกือบร้อยละร้อยของผู้ปฏิบัติ ที่มันไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มันไม่มีสัมมาสมาธิ แต่มันมีมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้นให้ภาวนาให้ตาย มันก็ไม่เกิดปัญญา เพราะสัมมาสมาธิต่างหาก ที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ที่จะเดินวิปัสสนาได้ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ อย่างไรก็เดินปัญญาไม่ได้

ฉะนั้นที่หลวงพ่อพากเพียรสอนพวกเรา จนเสียงแหบเสียงแห้ง สอนให้พวกเรามีสติ สอนให้พวกเราฝึกจิตให้ตั้งมั่น ถ้าเรามีสติระลึกรู้กายรู้ใจได้ มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางได้ ไม่ต้องห่วงปัญญาเกิดแน่นอน เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ถัดจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการที่จิตจะพัฒนาตัวเอง ไปสู่ความเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น จิตจะเป็นไปเอง เพราะฉะนั้นพยายามฝึกสติ ด้วยการทำสติปัฏฐาน คือระลึกรู้กายเนืองๆ ระลึกรู้เวทนาเนืองๆ ระลึกรู้จิตใจที่เป็นกุศลอกุศลเนืองๆ ถนัดอันไหนเอาอันนั้น เบื้องต้นไม่จำเป็นต้องรู้จากกาย แต่ถ้ากำลังเราพอ เราตัดเข้าที่จิตเลย ถ้ากำลังไม่พอก็ไปเริ่มจากกายเอา แล้วถ้าทรงฌานทรงอะไรจริงๆ ไปเล่นเวทนาได้ ถ้าจิตไม่ทรงฌาน ไปเล่นเวทนาเดี๋ยวสติแตก มันเจ็บ มันทนไม่ไหว

เพราะฉะนั้นเราดูสิ่งที่พอเหมาะพอดีกับตัวเราเอง คนรุ่นนี้เหมาะกับการดูจิต เพราะวันๆ หนึ่งก็ฟุ้งซ่านทั้งวัน ให้ไปนั่งสมาธิดูกายทีหนึ่งตั้งหลายๆ เดือน ทนไม่ไหว มาดูจิตที่กลับกลอกไปมาเรื่อยๆ แต่ถึงเวลาต้องทำในรูปแบบ แล้วตลอดต้องรักษาศีล ศีล 5 รักษาเอาไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ จิตจะได้มีกำลัง การทำในรูปแบบคือการฝึกให้เกิดสัมมาสมาธิ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ถึงเรียกว่าจิตตสิกขา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด เช่น หายใจเข้าพุทออกโธแล้วรู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ถนัดดูท้องพองยุบ ก็ดูท้องพองยุบไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งท้อง รู้ทัน นี้เกือบร้อยละร้อย ไปดูท้องพองยุบ มันก็ไปเพ่งท้อง ไปดูลมหายใจ มันก็ไปเพ่งลมหายใจ ไปดูมือมันก็ไปเพ่งมือ มันก็เลยไม่ได้เรื่อง มันกลายเป็นอัตตกิลมถานุโยค

เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาพยายามฝึก ให้เกิดสมาธิที่แท้จริง ให้คอยรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น แล้วจิตจะตั้งมั่นเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็คือ จิตที่หลงไปคิดอันหนึ่ง จิตที่หลงไปเพ่งอันหนึ่ง แล้วทำกรรมฐานไป จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ แล้วจิตมันจะตั้งมั่นเอง ไม่ใช่เราทำจิตให้ตั้งมั่น ไม่มีใครทำจิตให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ จิตเป็นอนัตตา แต่เราฝึก จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปเพ่งแล้วรู้ ฝึกเรื่อยๆ ในที่สุดจิตก็จะตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้ว ต่อไปพอสติระลึกรู้ร่างกาย ตอนนี้ร่างกายไม่ค่อยสบาย จิตไม่เป็นกลาง ไม่ชอบเลย รู้ที่ไม่เป็นกลาง จิตจะกลับมาเป็นกลางด้วยกำลังของสติ จิตใจเรามีความสุข เราเห็น โอ้ มันเพลิดเพลินพอใจ นี่จิตไม่เป็นกลาง รู้ว่าจิตไม่เป็นกลาง แล้วจิตมันก็จะกลับมาเป็นกลาง ด้วยกำลังของสติ

เพราะฉะนั้นต่อไปเราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ไม่มี Bias จิตที่ไม่เป็นกลางมี Bias มีอคติ ชอบอันนี้ เกลียดอันนี้ เพราะฉะนั้นเห็นอะไรก็ไม่ตรงความจริง อย่างมีลูกน้อง 2 คน คนหนึ่งทำงานดี แต่ประจบไม่เป็น อีกคนหนึ่งประจบเก่ง ทำงานไม่เป็น ถ้าใจเรามีอคติ เราก็ชอบพวกประจบ ไม่ชอบคนที่ไม่ประจบ นั่นเป็นผู้บริหารที่ยังอ่อนหัดอยู่ มีอคติไม่เห็นความจริง เราต้องมาฝึก จิตเรามีอคติขึ้นมา ยินดีรู้ทัน ยินร้ายรู้ทันด้วย ทีแรกรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น อันที่ 2 รู้ทันปฏิกิริยาของจิตต่อสภาวะอันนั้น ยินดีรู้ทัน ยินร้ายรู้ทัน เราจะได้จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางขึ้นมา คราวนี้จิตไม่มี Bias แล้ว

เวลาเห็นร่างกายไม่มี Bias ไม่รักไม่เกลียดกาย ก็จะเห็นความจริงของกาย เวลาสติระลึกรู้เวทนา จิตตั้งมั่นเป็นกลาง ไม่มีอคติ ก็จะเห็นความจริงของเวทนา ไม่รักไม่เกลียดเวทนา เห็นจิตที่เป็นกุศลอกุศล จิตไม่มีอคติ ไม่มี Bias ไม่ยินดียินร้าย จิตก็เป็นกลาง ก็เห็นตามความเป็นจริง เห็นจิตที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เสมอกัน สุขทุกข์ ดีชั่ว เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตมันเป็นกลาง เมื่อจิตเป็นกลาง ต่อไปเราจะได้เจอสัมผัสธรรมะที่ละเอียดประณีตมากขึ้นๆ เมื่อจิตเป็นกลาง จิตจะหมดความดิ้นรน ถ้าจิตยินดี จิตยินร้าย มันจะมีตัณหา ยินดีพอใจในสิ่งนี้ก็อยากได้ อยากรักษา ยินร้ายไม่พอใจ ก็อยากปฏิเสธ อยากทำลาย

แต่ถ้าเราฝึกจนจิตเราตั้งมั่น จิตเราเป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันนี้รู้ด้วยสติก่อน แล้วพอเราเดินวิปัสสนามากๆ มันจะเป็นกลางด้วยปัญญา เบื้องต้นเป็นกลางด้วยสติ เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา เป็นกลางด้วยสติก็คือ รู้ทันจิตลำเอียง แล้วจิตชอบอันนี้ เกลียดอันนี้ รู้ทันอย่างนี้ มันจะเป็นกลางด้วยสติ แล้วมันจะเห็นสภาวะทั้งหลาย เกิดดับเปลี่ยนแปลงไป สุขเกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ ดีเกิดแล้วดับ ชั่วเกิดแล้วดับ ต่อไปมันจะเป็นกลางด้วยปัญญา มันจะเห็นสุขกับทุกข์ มันเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีกับชั่วมันก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

ตรงที่มันเป็นกลางด้วยปัญญาตัวนี้ล่ะ คือประตูของอริยมรรค ตรงนั้นจิตจะมีสิ่งที่เรียกว่า มีปัญญาชนิดที่เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ ญาณคือปัญญา ปัญญาที่เป็นอุเบกขาต่อความปรุงแต่ง สุขทุกข์ ดีชั่วนี้เป็นความปรุงแต่งทั้งนั้น จิตเป็นกลาง สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว จิตเป็นกลาง เมื่อจิตเป็นกลาง จิตก็หมดความดิ้นรน ตัณหาก็ดับลงไปในขณะนั้น เมื่อตัณหาดับลงไป นิพพานก็ปรากฎขึ้น เพราะนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา มรรคผลก็เกิดขึ้นในขณะนั้นล่ะ ขณะที่เกิดอริยมรรค อริยผล จิตเห็นพระนิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหานี่คือเส้นทาง

วันนี้สอนให้ละเอียดนิดหนึ่ง นานๆ สอนอย่างนี้ทีหนึ่ง พอสอนแล้วกินแรงน่าดูเลย คล้ายๆ เข็นควายขึ้นภูเขา สอนทิ้งท้ายไว้ให้ วันหนึ่งพวกเราได้ใช้ สะสมการปฏิบัติของเรา วันหนึ่งได้ใช้ เหมือนที่หลวงปู่ท่านทิ้งท้ายไว้ให้หลวงพ่อ เหมือนที่หลวงพ่อพุธท่านทิ้งท้ายไว้ให้

พวกเรารับสืบทอดธรรมะอันนี้ไว้ แล้ววันหนึ่งเราจะได้ใช้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ศีลต้องรักษา ทุกวันต้องทำในรูปแบบ ฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นกลาง แล้วอันที่ 3 ก็เจริญสติในชีวิตประจำวัน ทำทุกวันๆ เดี๋ยวจิตจะมีกำลังขึ้นมา จิตเห็นความจริงแล้วปล่อยวาง ก็พ้นทุกข์

 

 

วันอังคาร วันพุธนี้ หลวงพ่อไม่ได้อยู่วัด เพราะต้องไปธุระ ก่อนเข้าพรรษาต้องไปกราบอุปัชฌาย์ อาจารย์ พวกเราที่อยู่ในห้องนี้ พยายามมีสติไว้ ธรรมะที่มีอุปการคุณมากคือสติกับสัมปชัญญะ สติเป็นตัวรู้ทัน ความมีอยู่ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ สัมปชัญญะมันเป็นตัวกำกับ ควบคุมไม่ให้เราละเลย เผลอเพลินจนลืมกายลืมใจตัวเอง ฉะนั้นรู้ว่าสิ่งที่เราควรทำคือการรู้ทุกข์ คือรู้กายรู้ใจ สัมปชัญญะเป็นตัวเตือนของเรา ให้ไม่เตลิดออกนอกลู่นอกทาง ธรรมะคู่นี้ล่ะ สติที่คอยรู้ทันกาย รู้ทันใจ สัมปชัญญะที่คอยเตือนใจของเรา ไม่ให้ละทิ้งการรู้กายรู้ใจตัวเอง ตามความเป็นจริง

ธรรมะคู่นี้มีอุปการคุณมาก จะทำให้เราเกิดพัฒนาการ ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง อย่าละเลย อย่ามัวแต่เผลอเพลินไปวันหนึ่งๆ แป๊บเดียวก็หมดไปครึ่งปีแล้ว นี่ขึ้นครึ่งปีหลังของปี 2566 แล้ว แป๊บเดียวเท่านั้นเอง ฉะนั้นอย่ามัวแต่เพลิน โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่เครื่องมือของมาร ที่จะหลอกให้คนโง่มันหลงติดอยู่ เราเป็นลูกศิษย์ของพุทธะ พุทธะไม่ได้โง่ พุทธะคือผู้รู้ ฉะนั้นเราก็ต้องฝึกตัวเอง อย่าหลงเพลินกับโลก เวลานั้นหมดไป สิ้นไป ทุกทีๆ แล้ว

มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางไปเรื่อยๆ แต่วันไหนกำลังไม่พอ ก็ทำความสงบมา ส่วนศีลนั้นต้องรักษาให้เป็นปกติ ศีลต้องรักษาจนเป็นปกติ เป็นธรรมดาของเรา อย่าให้กระพร่องกระแพร่ง ถ้าเราทำได้อย่างที่หลวงพ่อบอก มรรคผลมันอยู่ได้แล้ว ในชาตินี้มีโอกาสที่จะได้แล้ว มันไม่ยากเกินไปหรอก มันยากกับผู้ไม่ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาอยู่ ไม่ยาก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 กรกฎาคม 2566