ขาดสติเมื่อไรก็คือประมาทเมื่อนั้น

วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราก็ควรจะประเมินผลการพัฒนาจิตใจของเรา ไม่ใช่ภาวนาไปเรื่อยๆ ตามยถากรรม อย่างนั้นไม่ดี ต้องตรวจสอบตัวเองเป็นระยะๆ ช่วง 3 เดือนนี้เรามีอะไรดีขึ้น ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีอะไรดีขึ้นไหม ปีนี้กับปีก่อนมีอะไรพัฒนาขึ้นไหม ถ้าเราปฏิบัติต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองเป็นระยะๆ ให้ความอิ่มอกอิ่มใจว่าชีวิตเราไม่สูญเปล่า ได้สร้างสมสิ่งที่ดีงามให้กับชีวิตตัวเอง ฉะนั้นถ้าเราขี้เกียจ ภาวนาบ้าง ไม่ภาวนาบ้าง หลงโลกไปบ้าง หลงอดีตบ้าง หลงอนาคตบ้าง ไม่มีอะไรดีขึ้น พอเรานึกย้อนหลังไป ตั้งหลายปีแล้วจิตใจเรายังไม่มีพัฒนาการให้ชื่นใจได้เลย ใจมันจะเร่าร้อน จะทุรนทุรายขึ้นมา มันจะเห็นสิ่งที่ดีๆ ทำไมยังไม่ได้ทำ ยังทำไม่ได้

หลวงพ่อภาวนา เราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้อะไรเมื่อไร แต่หลวงพ่อตรวจสอบจิตใจตัวเองเป็นระยะๆ 3 เดือนนี้กับ 3 เดือนก่อนต่างกันไหม ถัดไปเมื่อ 6 เดือนก่อนเป็นอย่างไร เมื่อปีก่อนเป็นอย่างไร ถ้ามันหยุดนิ่ง คงที่อยู่ ใช้ไม่ได้ ถ้ามันเลวลง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย มันใช้ไม่ได้อย่างยิ่ง แค่มันหยุดนิ่งอยู่ ไม่เจริญขึ้นก็ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเราลงทุนด้วยทรัพยากรชีวิตเราไป 1 ปี แล้วไม่มีอะไรดีขึ้น ก็ต้องสำรวจแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราภาวนา ที่ทำอยู่มันถูกหรือมันผิด ผิดมันผิดตรงไหน หรือทำถูกแล้วแต่ทำไม่พอ ต้องวัดตัวเองเป็นระยะๆ ไป

 

วัดตัวเองเป็นระยะๆ

มีอยู่ช่วงหนึ่งหลวงพ่อภาวนาตอนเป็นโยม เห็นกิเลส เห็นโทสะมันผุดขึ้นกลางอก ก็มองเห็นมัน ดูมันเบาๆ ไม่ดูแบบเข้มแข็ง ถ้าดูด้วยสติที่คมกล้า ด้วยสมาธิที่แรงๆ อะไรนี่ พวกนี้กระเจิดกระเจิงหมด นี่รู้แบบแตะๆ แค่รู้แบบแตะมันนิดเดียว ก็เห็นสภาวะ เห็นโทสะเคลื่อน เคลื่อนออกไปอยู่ข้างนอก แล้วมันก็ดับไป เกิดสภาวะความว่างขึ้นมา ว่าง สว่าง จิตใจมีความสุข มีความเบิกบาน สบาย แล้วก็หยุดอยู่ตรงนี้ ตื่นนอนมาจิตก็ไปอยู่ตรงนี้เลย คุ้นเคย ผ่านมาเป็นปี คิดว่า เอ๊ะ ทำไมจิตเรามันเที่ยง ทุกวันจิตมันสบาย สงบ สบาย มีความสุขอยู่อย่างนั้น

วัดดู 1 ปีที่ผ่านมา ทำไมเหมือนเดิม ไม่มีพัฒนาการ อันนี้มันละเอียดมาก แล้วก็เลย 3 เดือนนี้ยังดู หาข้อยุติไม่ถูก ก็คิดว่าภาวนาดี จิตมันก็เลยรู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว ไม่มีกิเลสอยู่อย่างนั้น พอผ่านมาถึงปีหนึ่ง ทำไมมันคงที่ เราก็ยังไม่ได้พ้นทุกข์ ไม่ใช่พระอรหันต์เสียหน่อย มันผิดตรงไหน ดีคงที่ 1 ปี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้องมีอะไรผิดพลาดแล้ว ฉะนั้นกระทั่งความดีหยุดนิ่งอยู่ ก็ใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่สรรเสริญหรอก ความดีที่มันหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่พัฒนาต่อ ก็ค่อยสังเกตว่ามันเกิดอะไรขึ้น ดูไม่ออก มันว่างๆ อยู่อย่างนั้น

เจอหลวงตามหาบัว ไปถามท่าน ไปกราบ ยุคนั้นคนยังน้อยที่เข้าไปที่วัดท่าน ไปกราบท่านบอกว่า พ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ทำไมมันไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นเลย ท่านมองหน้าปราด ท่านก็ตอบเลย “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” เมื่อท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็กราบท่าน ถอยออกมาห่างท่านนิดหนึ่ง แล้วก็มาภาวนา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรอย่างนี้

ทีแรกท่านบอกให้บริกรรม ก็พุทโธอย่างเดียว พุทโธๆ ใจไม่ชอบ ใจไม่ชอบพุทโธอย่างเดียว รำคาญ ก็นึกได้ เอ๊ะ ปกติครูบาอาจารย์ให้บริกรรมเพื่อเพิ่มสมาธิ แสดงว่าปัญหามันอยู่ที่สมาธิเราไม่พอ หลวงพ่อก็เลยใช้สมาธิที่เราถนัด กรรมฐานที่เราถนัด ไม่ได้พุทโธอย่างเดียว แต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจอยู่ไม่กี่ที จิตก็รวม แล้วคราวนี้กลับมาบ้านตอนตื่นนอน มันก็เห็นจิตมันเคลื่อนไปสู่ความว่าง

ฉะนั้นตอนตื่นนอนเป็นนาทีทองที่จะสังเกตว่าจิตเราติดอะไร พอจิตเราติดอะไรอยู่ พอตื่นนอนปุ๊บ เราคิดถึงการปฏิบัติปั๊บ จิตจะไหลไปในช่องทางที่มันเคยติด นี่ขนาดจิตรวมเข้ามาแล้ว รู้แล้วว่าอันนั้นมันอยู่ข้างนอก ว่างๆ มันอยู่ข้างนอก ใช้ไม่ได้ แต่พอตื่นนอน จิตมันคุ้นเคยที่จะไปอยู่ข้างนอก เพราะมันไปอยู่มาเป็นปีแล้ว มันก็จะเห็นจิตมันเริ่มเคลื่อนที่จะเข้าไปสู่ความว่างข้างนอก พอเห็นทันปุ๊บ มันก็ขาดลงไป จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา ผ่านตัวนี้มาได้ เพราะความเฉลียวใจว่าทำไมปีนี้กับปีกลายจิตเหมือนกัน ไม่มีพัฒนาการ ไม่เลวลง แต่ไม่ดีขึ้น มันต้องมีอะไรที่ไม่ถูก เราก็สังเกตเอา

 

ไม่หวนคำนึงถึงอดีต

บางคนได้ยินพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ไม่หวนคำนึงถึงอดีต ไม่กังวลถึงอนาคต มีสติอยู่กับปัจจุบัน ฟังตรงนี้ บางทีก็มักง่าย อยู่กับปัจจุบันไปเรื่อย ไม่ทบทวนว่าอดีตเป็นอย่างไร เราก็ไม่เห็นความแตกต่างกับปัจจุบัน ไม่เห็นพัฒนาการของตัวเอง คำที่บอกว่าไม่หลงคำนึง คร่ำครวญ โหยหาอดีตอะไรนี่ ไม่ใช่ไม่คิดถึงอดีต ถ้าเรามองอดีต ในมุมของการสะสมประสบการณ์ อันนั้นจำเป็น เราจะเห็นว่าอดีตมันเป็นอย่างนี้ มันเคยผิดพลาดอย่างนี้ เราจะไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก นี่ประโยชน์ของการคำนึงถึงอดีต

ท่านไม่ได้ห้ามคิดถึงอดีตเพื่อการประเมินผลตัวเอง ที่ท่านห้ามก็คือห้ามฝัน ห้ามเพ้อ ห้ามเคลิ้ม ฝันใฝ่ถึงอดีต โอ๊ย ตอนสมัยเมื่อก่อนบ้านเมืองดี มีความสุข มีความสงบ อยู่บ้านใกล้ๆ กัน เป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมู่บ้านเลย บ้านไม่ต้องมีรั้ว เพราะเพื่อนบ้านของเรานั่นล่ะคือรั้วบ้านของเรา แหม บ้านเมืองมันดี แล้วก็เสียดาย สิ่งเหล่านั้นผ่านไปหมดแล้ว อันนี้ต่างหากที่ท่านห้าม ไปคร่ำครวญ เสียดาย อาลัยอาวรณ์อดีต ท่านไม่ได้ห้ามการประเมินผล เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ออก

ถ้าเรามองอดีตในมุมของการเป็นบทเรียน หรือมองเพื่อให้เห็นพัฒนาการในปัจจุบันที่เชื่อมโยงมาจากอดีต อันนี้มีประโยชน์ ไม่ใช่ห้าม อันนี้อย่ามักง่ายว่าพระพุทธเจ้าห้ามคิดถึงอดีต ท่านไม่ให้โหยหา คร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์ เพราะว่ามันเป็นของผ่านมาหมดแล้ว เหมือนความฝัน ตื่นจากฝันทุกอย่างก็หมดไปแล้ว แต่ถ้าเรามองอดีตในแง่ที่ว่าเมื่อก่อนนี้เราไม่ดี เราไม่เคยมีศีล เดี๋ยวนี้เราได้รักษาศีลแล้ว คิดแค่นี้สมาธิก็เกิดแล้ว มันเป็นสีลานุสสติขึ้นมาแล้ว

เมื่อก่อนจิตเราไม่เคยสงบเลย วิ่งพล่านเป็นหมาบ้าตลอดวันตลอดคืน เดี๋ยวนี้จิตใจเราสงบมากขึ้น คิดถึงอดีตอย่างนี้ คิดดี คิดได้ คิดถูก คิดแล้วประเมินผล หรือเมื่อก่อนนี้เราเคยผิดพลาด เคยเป็นโจร เคยขายยาบ้าอะไรอย่างนี้ ตอนนี้เราเห็นแล้วว่ามันไม่ดี ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ทำความเดือดร้อนให้ตัวเอง คิดสรุปบทเรียนแล้วก็คิดว่าเราไม่ทำอีก อันนี้ดี

เหมือนอย่างเวลาพระมีบททำวัตร หรือบทปลงอาบัติอะไรพวกนี้ ก็จะไปบอกเพื่อนพระด้วยกันว่าผมไปทำอย่างนี้มา ที่ทำเป็นอดีตไปหมดแล้วล่ะ ผมไปกินข้าวเย็นมาอะไรอย่างนี้ ผมมาบอกให้ทุกท่านรู้ ให้ท่านทราบไว้เพื่อความสำรวมระวัง ผมจะไม่ทำอย่างนี้อีกต่อไป อันนี้ใช้อดีต มันมีคุณค่ากับปัจจุบัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่บอกไม่โหยหาอดีต ไม่คิดถึงอดีตเลย กลายเป็นคนไม่มีรากเหมือนต้นไม้ไม่มีราก ไร้ราก อยู่ๆ ก็ลอยๆ มาอยู่ตรงนี้เลย ซึ่งคนเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันต้องมีราก

 

ไม่กังวลถึงอนาคต

ที่บอกไม่กังวลถึงอนาคต ก็อย่าไปตีความเพี้ยนถึงขนาดว่าไม่วางแผนอนาคต โหยหาถึงอดีตนั้นคือคิดถึงอดีตแบบเลื่อนลอย ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีประโยชน์ ห่วงกังวลถึงอนาคตก็คือคิดถึงอนาคตแบบไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราคิดถึงอนาคตแล้วก็วางแผน อนาคตเราจะต้องทำอะไร ช่วงไหนเราจะต้องทำอะไร จะทำอย่างไร การวางแผนเป็นสิ่งที่ดี ท่านไม่ได้ห้าม ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ ล่องลอยอยู่วันหนึ่งๆ อนาคตก็ไม่ต้องนึกถึง อดีตก็ไม่นึกถึง อยู่เฉยๆ มันคล้ายๆ หมา หมาในวัดนี้มีอยู่ มีอยู่ 2 ตัว มันอยู่กับปัจจุบันจริงๆ เลย มันไม่คิดถึงเมื่อตอนมันหมาเด็กๆ มันไปทำอะไร มันไม่ห่วงกังวลว่าเย็นนี้จะกินอะไร เพราะว่ามันรู้ว่าเดี๋ยวก็มีคนให้กิน นี่ดีไหม อันนั้นอยู่กับปัจจุบันแบบหมาๆ ไม่ได้อยู่แบบมนุษย์หรอก

อดีตนั้นมองในแง่ของบทเรียนแล้วก็ใช้ประเมินผล ใช้สอนตัวเอง อันไหนที่ทำยังไม่ถูก ทำเสียให้ถูก อันไหนที่ทำถูกแล้วทำให้ดียิ่งขึ้น อนาคตเราต้องวางแผน ไม่ใช่ปล่อยชีวิตล่องลอยตามยถากรรม อันนั้นใช้ไม่ได้ แต่การวางแผนไม่ใช่การฝันเฟื่อง การวางแผนก็ต้องมีข้อมูล มีเหตุมีผล จะทำอะไรเมื่อไร จะทำอย่างไร ทำแล้วน่าจะมีผลอย่างไร ไม่ได้ฝันลอยๆ นั่งจุมปุ๊กอยู่หน้าบ้านใต้ต้นโสน อยู่หน้าบ้าน รอเวลาเดี๋ยวเจ้าชายจะขี่ม้าหลงมาหา ฝัน จะมีเจ้าชายขี่ม้ามารับโสนน้อยเรือนงามไปอยู่ด้วย อย่างนี้ที่ท่านห้าม ไม่มีสาระอะไรเลย

การประเมินผลในอดีตต้องทำ การวางแผนสำหรับอนาคตต้องทำ ยิ่งทุกวันนี้เป็นฆราวาส จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนอนาคตให้ดี ในอนาคตเราจะอยู่อย่างไร ทำอย่างไรเราจะสามารถพึ่งตัวเองได้ยาวนานที่สุด คนเราถ้าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรประจำตัว จะสามารถพึ่งตัวเองได้จนอายุ 90 ปีพอเลย 90 ปีมักจะไม่มีกำลังที่จะพึ่งตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นช่วงนี้ยังพึ่งตัวเองได้ก็คิดถึงการพึ่งตัวเอง วางแผน จะทำอย่างไร มีเงิน สมัยก่อน มีเงินมีทองก็ใส่ไหฝังดิน ต่อมาก็ไปฝากธนาคาร มีดอกเบี้ย กะว่ามีเงินเท่านี้ ดอกเบี้ยร้อยละ 10 อยู่ได้แล้ว ตอนนี้ดอกเบี้ยติดลบแล้วบางประเทศ เสียค่าฝากอะไรอย่างนี้ มันอยู่ไม่ได้

เราต้องวางแผนอนาคต ทำอย่างไรเราจะอยู่ได้ ความคิดที่จะพึ่งลูกพึ่งหลาน เลิกเถอะ ลูกหลานไม่ต้องมาพึ่งเราอีกก็บุญหนักหนาแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องคิดว่าต่อไปเราจะอยู่อย่างไร แต่ไม่ใช่กลุ้ม คิดด้วยเหตุด้วยผล อย่างคนแก่อย่างนี้ ลูกหลานไม่ต้องหวังหรอก คนแก่ในยุคต่อไปนี้ ก็ต้องรวมกลุ่มกันดูแลกันไป แก่น้อยก็ช่วยดูแลแก่มาก แก่มากตาย มีมรดกเหลืออยู่นิดๆ หน่อยๆ ก็ใช้หมุนเวียนในกลุ่มของตัวอะไรอย่างนี้ ช่วยกัน ต้องช่วยกันแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ต้องวางแผนเอาไว้แล้ว บางคนก็จะประกันชีวิต จะทำอย่างโน้น จะทำอย่างนี้ แต่วางแผนอย่างดีที่สุดแล้ว มันก็ยังมีคำว่าไม่แน่นอน

อย่างบางคนวางแผนว่าเอาเงินฝากธนาคารเยอะๆ ดี มันก็ไม่แน่นอน ธนาคารล้มก็มี ธนาคารไม่จ่ายดอกเบี้ยก็มี เพราะฉะนั้นมันมีสิ่งซึ่ง error ไม่แน่นอน ไม่เป็นไปตามแผน ถ้าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น คนไม่มีธรรมะกลุ้มใจตายเลย ถ้ามีธรรมะอยู่ ไม่เป็นอะไร สมมติว่าเรามีสมบัติไปฝากธนาคารไว้ เราอายุ 80 ปีแล้ว ธนาคารล้ม เราไม่มีกำลังจะทำมาหากินต่อแล้ว ไม่มีลูก ไม่มีหลาน ไม่มีใครสนใจ ประชาสงเคราะห์ก็ดูแลไม่ไหว เพราะสังคมเต็มไปด้วยคนแก่ เมืองไทยตอนนี้เป็นสังคมคนแก่แล้ว สังคมผู้สูงอายุแล้ว คนอายุเกิน 60 ปีมี 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว แล้วกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันจะเป็นภาระของสังคมมากขึ้นๆ

ดูๆ แล้วมันก็ไม่ค่อยยุติธรรม ตอนที่เรามีกำลังใช่ไหม เราสร้างสังคมนี้ขึ้นมา สังคมนี้ใหญ่โตขึ้นมา พอเราหมดกำลัง กลายเป็นส่วนเกินแล้ว เราช่วยตัวเองไม่ได้อะไรอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องไปคร่ำครวญว่าเมื่อก่อนอย่างนั้นเมื่อก่อนอย่างนี้ อันนี้ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไม่ควรทำ คร่ำครวญถึงอดีต เรานึกถึงอดีตด้วยความฉลาดของเรา เช่น เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่ดี เดี๋ยวนี้เรามีศีลอะไรอย่างนี้ เมื่อก่อนเราฟุ้งซ่าน หลงโลก เดี๋ยวนี้เราไม่หลงโลก เมื่อก่อนเราไม่เคยยอมรับความจริง ไม่เคยเห็นความจริงเลยว่าทุกอย่างในโลกนี้ไม่ยั่งยืน เกิดได้ก็ดับได้ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ มันธรรมดา มองอดีตแล้วก็เข้าใจชีวิตขึ้นมา อย่างนี้มีประโยชน์

เวลาช่วยตัวเองไม่ไหว นอนหายใจแขม่วๆ ไม่มีข้าวไม่มีน้ำจะกินอะไรอย่างนี้ จะตายแล้ว เรามีศีลมีธรรมอยู่ นึกถึงสิ่งที่ดีงามของเรา นึกถึงความดีทั้งหลายที่เราเคยทำมา จิตใจมันจะสดชื่น อย่าคิดแต่ว่าทำอย่างไรใครจะมาช่วยเรา ทำอย่างไรเหลนเราจะมาช่วยเราอะไรอย่างนี้ เพราะลูกเราตายไปแล้ว อันนั้นยิ่งฟุ้งซ่านใหญ่

ตายไป ถึงเวลาจะต้องตายก็ตายด้วยความมีสติ ตายคนเดียว ไม่มีคนมาแวดล้อม น่าตกใจไหม ไม่น่าตกใจ เพราะทุกคนตายคนเดียวทั้งนั้น ไม่มีใครมาร่วมตายกับเราหรอก ฉะนั้นเราก็เอาลมหายใจของเราเป็นเพื่อน สมมติว่าเราไม่มีที่พึ่งที่อาศัยแล้ว ไม่ไปหวนหาอาลัยอาวรณ์อดีต อยู่กับปัจจุบันไป หายใจไป มีสติไปจนนาทีสุดท้ายของชีวิต

 

มีสติอยู่กับปัจจุบันทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

เราชาวพุทธเราก็ต้องรู้จักการดำรงชีวิต รู้จักใช้ประโยชน์ของอดีต รู้จักวางแผนอนาคตเพื่อว่าเราจะไม่ต้องเป็นภาระของคนอื่น ช่วยตัวเองได้มากที่สุด นานที่สุด ถ้ามันหมดกำลังแล้วไม่มีใครช่วยเรา เราก็ยอมรับสภาพ ชีวิตนี้ก็มีความสุขมานานแล้ว เคยกระโดดโลดเต้นได้ เดี๋ยวนี้สิ่งนั้นผ่านไปแล้ว ก็ดีแล้ว ได้เคยมีความสุขในโลกก็เข้าใจ เข้าใจโลกมาแล้ว ถึงตอนนี้เป็นวาระสุดท้ายของเราแล้ว เราก็จะตายอย่างสง่างาม ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ เราตายอย่างสง่างาม ไม่ใช่ตายแบบดิ้นรนทุรนทุราย โอ๊ย แย่แล้วๆ หรือห่วงทรัพย์สมบัติ มีเงินทองอะไรตั้งเยอะตั้งแยะ จะตายแล้ว จิตจะไปอบายทันทีเลย ไปอบาย มีเยอะแยะเลย พวกเปรต พวกอะไรนี่ บางทีก็เป็นสัตว์เดรัจฉานเฝ้าสมบัติอะไรอย่างนี้ ไม่มีสาระอะไรเลย เฝ้าไว้ก็เอาไปทำอะไรไม่เป็น ทำอะไรไม่ได้

ถ้าเรารู้อดีต เราเกิดมาตัวเปล่าๆ ตอนตายไป เราก็ตายมือเปล่า ไม่ได้เอาอะไรไปเลย สิ่งที่จะติดตัวเราไป ที่จะฝังลงไปในจิตใจเรา มีแค่บุญกับบาป เพราะฉะนั้นตัวนี้ตัวสำคัญ บาปทั้งหลายอย่าทำ บุญทั้งหลายมีโอกาสทำก็ทำ แล้วบุญใหญ่ที่สุดคือบุญที่ประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยปัญญา มีสติอยู่กับปัจจุบันนั่นล่ะดีที่สุดแล้ว

ฉะนั้นเราไม่คร่ำครวญโหยหาอดีต ไม่ห่วงกังวลเลื่อนลอยถึงอนาคต มีสติอยู่กับปัจจุบันทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ชีวิตเรามีคุณค่ามากที่สุดเลย หายใจอยู่ด้วยความรู้สึกตัวอยู่มีประโยชน์มาก มีคุณค่ามาก พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าเรามีสติอยู่แค่คืนเดียว แค่วันเดียว คืนเดียวอะไรนี่ มีคุณค่ากว่าคนที่อายุตั้ง 100 ปี แต่ว่า 100 ปีที่หลงกับอดีตบ้าง หลงกับอนาคตบ้าง ไม่เคยรู้เนื้อรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันเลย

คำว่าอยู่กับปัจจุบัน มีสติรู้สึกตัวเองไป รู้ว่าเราควรจะทำอะไร เรากำลังทำอะไร ทำไปเพราะอะไร รู้ทันตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วชีวิตมันจะร่มเย็น ชีวิตที่โหยหาอดีตไม่ร่มเย็น แต่จะทำให้เคลิ้มๆ แต่ไม่สงบ ไม่เย็น เพ้อฝันถึงอดีต รู้สึกมีความสุข แต่มันมีความสุขเหมือนคนติดยา สุขกับอดีตคือสุขกับสิ่งซึ่งจับต้องไม่ได้ สิ่งซึ่งไม่มีจริง เหมือนมีความสุขอยู่กับความฝัน สุขกับอดีต เพราะมันผ่านไปหมดแล้ว ถ้าเรามีสติอยู่กับปัจจุบันแต่ละขณะๆ เราเห็นชีวิตนี้ล่วงไปเรื่อยๆ แต่ละขณะ ไม่ประมาท ถ้าขาดสติเมื่อไรก็คือประมาทเมื่อนั้น มีสติก็ไม่ประมาทนั่นล่ะ

นี่คือธรรมะสำคัญที่พระพุทธเจ้าสอนเรา นาทีสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ช่วงเวลาสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ท่านบอกพวกเราให้ทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คำว่าไม่ประมาทคือเราต้องมีสติอยู่กับปัจจุบันไป ถ้าเราทิ้งปัจจุบันก็เรียกว่าเราประมาท คือเราไปเพ้อฝันถึงอดีตเรียกว่าประมาท เพราะว่าเราทำลายเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ ในความฝัน ถ้าเราไปห่วงไปกังวลถึงอนาคต เครียดทั้งๆ ที่ปัญหายังไม่ได้เกิด โง่ไหม เครียด กลุ้มใจตั้งแต่ปัญหายังไม่เกิดเลย พอปัญหาเกิดแล้วก็ตีโพยตีพายจะให้คนโน้นช่วยจะให้คนนี้ช่วย ใครเขาไม่ช่วยก็โมโหอีกอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่อง

ฉะนั้นเราใช้ปัจจุบัน มีสติอยู่กับปัจจุบัน ใช้อดีตเป็นบทเรียน วางแผนถึงอนาคต มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันไป มีสติไปทุกขณะๆ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกตัว เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง รู้สึกตัว มีความสุข รู้สึกตัว มีความทุกข์ รู้สึกตัว ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้สึกตัว จิตเป็นกุศลก็รู้สึกตัว จิตโลภ โกรธ หลงก็รู้สึกตัว จิตไปดู จิตไปฟัง จิตไปดมกลิ่น จิตไปลิ้มรส จิตไปรู้สัมผัสทางกาย จิตไปคิดนึกทางใจก็รู้สึกตัว พอรู้สึกตัวมันก็จะไม่หลงไปทางทวารทั้ง 6 ใจก็จะตั้งมั่นเด่นดวง

เรามีความสุขตั้งแต่ปัจจุบัน เราภาวนา เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามีความสุขตั้งแต่ปัจจุบัน อย่างถ้าเรามีสติอยู่ มีสมาธิอยู่ มันมีความสุขอยู่แล้ว อย่างพวกเราเรียนกับหลวงพ่อรู้สึกไหม บางทีไม่ได้ทำอะไรอยู่ๆ มีความสุขผุดขึ้นมา เพราะใจเราไม่ได้ไปทำชั่ว ไม่ได้ไปคิดชั่ว ไม่ได้ไปพูดชั่วอะไรอย่างนี้ มันก็มีสมาธิ ความสุขก็ผุดขึ้นมา มันอิ่ม มันมีความเบิกบาน มีความสุขในปัจจุบันนั่นล่ะ เป็นระยะๆ

 

ล้างกิเลสออกจากจิตด้วยสติกับสัมมาสมาธิ

ถ้าเราภาวนาประจำ เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรอย่างนี้ หรือเราเดินจงกรม เราเห็นร่างกายเราเดิน มันจะทำไปด้วยความสุข ไม่ใช่ทำไปด้วยความเครียด แต่ถ้าทำด้วยความโลภล่ะก็ไม่มีความสุข นั่งหายใจแล้วก็เมื่อไรจะสงบๆ นี่คำนึงไปถึงอนาคต อยากให้มันสงบอะไรอย่างนี้ มันไม่สงบ อยู่กับปัจจุบัน มีสติอยู่กับปัจจุบันไป เห็นร่างกายหายใจไป รู้สึกๆ เฉยๆ ไม่ได้เข้าไปแทรกแซง จิตใจมันก็สงบ มันก็มีความสุข มันก็ประภัสสร

เมื่อเช้าพระล้างบาตรอยู่ข้างหลัง ก็มีองค์หนึ่ง หลวงพ่อก็บอก เรียกชื่อ บอกรู้สึกไหมเมื่อกี้นี้ ใจมันโปร่ง มันเบา มันสบาย ตรงนั้น ธรรมชาติเดิมของจิตมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติเดิมของจิตมันสว่างๆ มันเบิกบาน มันมีความสุข ที่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสมันจรมา ฉะนั้นอย่างเราอยู่กับปัจจุบัน กิเลสมาเรารู้ทัน กิเลสก็ไป กิเลสไป เราก็รู้อยู่ ใจเราก็เบิกบาน สว่างไสวขึ้นมา สงบ สว่าง นั่นก็คือจิตประภัสสร หรือคือตัวจิตผู้รู้นั่นเอง เป็นจิตที่สงบ จิตที่สว่าง แต่ไม่สะอาด จะสะอาดต้องเดินวิปัสสนา ทำวิปัสสนา ล้างกิเลสไป พอล้างกิเลสได้ จิตถึงจะสะอาด ก็จะสงบ สว่าง สะอาด อันนั้นถึงจะดี

เพราะฉะนั้นจิตโดยตัวของมันมันสว่างอยู่แล้วล่ะ สังเกตไหม เวลาเราสบายใจ เราปลอดโปร่งใจ รู้สึกไหมโลกนี้สดใส โลกนี้สว่าง เวลามีราคะจรมา โลกนี้เริ่มไม่ผ่องใสแล้ว โลกเริ่มเป็นสีชมพูแล้ว สีชมพูก็เป็นสีที่แปลกปลอมเข้ามาแล้ว เวลาโกรธขึ้นมา มีแสงไฟพุ่งขึ้นมาในใจเราเลย ไม่สว่าง ไม่สะอาดแล้ว หรือเวลาโมหะเข้ามา โลกมืดเลย ไม่สว่างแล้ว แต่จิตโดยตัวของมัน มันสว่างอยู่แล้วล่ะ มันสว่าง มันสงบ มันสบาย แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมาเป็นคราวๆ

กิเลสไม่ได้มีตลอดเวลา กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา กิเลสเกิดเป็นคราวๆ อย่างบางคนก็คิดว่าสังโยชน์ต้องมีตลอดเวลา สังโยชน์ที่เป็นกิเลสที่ผูกมัดเราไว้ในภพ มีตลอด ไม่ได้มีตลอด เกิดดับเหมือนกัน อย่างตอนเกิดมาใหม่ๆ เราไม่ได้ลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย เราไม่มีความสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องทำอย่างไร มันคิดอะไรไม่เป็นตอนนั้น ตอนคิดเป็นมันถึงจะเริ่มปรุงขึ้นมา ตอนเด็กๆ หัว blank ไม่มีสักกายทิฏฐิหรอก พอเริ่มมีความคิดขึ้นมา มันถึงจะเกิดสักกายทิฏฐิขึ้นมาได้

ฉะนั้นกิเลสเอง กระทั่งสังโยชน์ก็เกิดๆ ดับๆ ไม่ได้มีตลอดเวลาหรอก ช่วงที่กิเลสไม่เกิด จิตมันจะเป็นธรรมชาติเดิมของมัน มันเสียธรรมชาติเดิมของมันเพราะกิเลสที่แทรกเข้ามา เราค่อยๆ ภาวนา ในที่สุดเราก็เข้าถึงจิตที่เป็นธรรมชาติเดิมของมัน คือจิตมันสว่าง มันสงบ มันสบาย แต่มันโง่ๆ ถ้าเรามีจิตผู้รู้แล้ว เราก็รู้อยู่เฉยๆ นั่นผู้รู้โง่ ยังใช้ไม่ได้ ต้องมาทำวิปัสสนาอีกทีหนึ่ง ลำพังทำจิตให้สงบ ให้สว่าง ศาสนาอื่นเขาก็ทำได้ แต่จะทำให้สะอาด มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า สามารถล้างกิเลสออกไปจากจิตได้

เครื่องมือที่เราใช้ล้างกิเลสออกจากจิต คือสติกับสัมมาสมาธินั่นล่ะ จิตเราตั้งมั่นอยู่ กิเลสแปลกปลอมเข้ามา สติรู้ทัน จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้คนเห็น กิเลสจะกระเด็นหายไปทันทีเลย เกิดแล้วก็ดับ แทนที่กิเลสจะมาเล่นงานเรา กิเลสกลับมาสอนธรรมะเรา ราคะเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป นี่เป็นธรรมะ โทสะก็มาสอนเรา โทสะเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เห็นไหม มันก็สอนธรรมะเรา

เพราะฉะนั้นกิเลสเอง ถ้าเรามีสติแล้วก็สัมมาสมาธิอยู่ กิเลสก็คือครูตัวหนึ่งเหมือนกัน เป็นครูที่หน้าตาน่าเกลียดเท่านั้นเอง กุศลก็เป็นครูอีกตัวหนึ่ง เป็นครูที่ดูดีแล้วก็เป็นครูที่ละยาก ละกิเลสยังละง่าย ละกุศลละยากกว่าอีก เพราะมันดูดี พวกที่ติด ติดดี มันไม่อยากละ พวกติดชั่วบางทียังอยากละ เพราะติดชั่วมันทุกข์ ติดดีแล้ว แหม มันมีความสุข ไม่อยากละ

เราภาวนาให้มันแจ่มแจ้งลงไป สิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นในจิตทั้งหมด จะดีหรือจะชั่ว จะสุขหรือจะทุกข์ คือความปรุงแต่งทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นมาในจิตนั้นนำความทุกข์มาให้ทั้งสิ้นเลย คือเข้ามาทำให้จิตเกิดความดิ้นรน ตรงที่จิตมันปรุงแต่งนั้นคือจิตมันสร้างภพ มันดิ้นรน มันไม่มีความสุข มันเสียสมดุล ถ้าเรามีผู้รู้ เราก็ได้ความสงบ ได้ความสว่าง เดินปัญญาไป เราก็จะได้ความสะอาดขึ้นมา คือปราศจากกิเลส สะอาดสูงสุดปราศจากกุศลด้วย กระทั่งกุศลยังไม่ยึดเลย ฉะนั้นถ้ายึดดีก็จะทุกข์อย่างคนดี ยึดชั่วก็ทุกข์อย่างคนชั่ว ไม่ยึดไม่ทุกข์ ไม่ยึดก็ไม่ทุกข์

 

 

สรุปก็คืออยู่กับปัจจุบันไว้ แต่ไม่ใช่ไม่คิดถึงอดีต คิดเพื่อสรุปบทเรียน วางแผนอนาคตต้องทำ ยิ่งเป็นฆราวาสต้องวางแผนอนาคต ไม่ใช่วางตามกิเลส วางแผนอนาคตไม่ใช่ทำตามกิเลส ไปเรื่อยๆ ต้องดู มีเหตุมีผล ทำอย่างไรชีวิตเราจะร่มเย็นเป็นสุข อย่างวางแผนให้รวยไม่ยากเท่าไร วางแผนให้รวย วางแผนให้รวยแล้วก็ดีด้วย แล้วจิตใจเราเข้าถึงความสงบสุขมากขึ้นด้วย มันต้องมีหลายเงื่อนไข อย่างบางคน แต่เดิมทำงาน อยากรวยอย่างเดียวเลย ก็เครียดมากเลย โรคประสาทกิน ได้เงินไว้เยอะแยะเพื่อจะเอาไว้จ่ายให้หมอ เพราะว่าเดี๋ยวก็ป่วยแล้วโรคประสาทกิน โรคจิตกิน หรือโรคโน้นโรคนี้เกิดขึ้นเยอะแยะ หาเงินไว้เยอะแยะเอาไปให้โรงพยาบาลหมดเลย

บางคนเกิดเฉลียวใจ เราทำงาน ถ้าเราสามารถเลี้ยงชีวิตตัวเองได้ เราก็ปฏิบัติธรรมไปได้ด้วย แหม อย่างนี้ดี อย่างนี้ดีที่สุดเลย หลวงพ่อก็คิดอย่างนั้น เมื่อก่อนนี้ทำงาน ก็เป็นลูกจ้างรัฐบาลบ้าง ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจบ้าง แล้วเราก็มีเวลาเหลือ มีเวลาเอามาปฏิบัติธรรม ไปเรียนธรรมะกับครูบาอาจารย์อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นช่วงชีวิตที่ทำงาน ทำงานอยู่ 20 กว่าปี จิตใจมันก็พัฒนาได้ เราไม่ได้บ้ากับงานแบบจะแย่งชิงตำแหน่ง อยากเป็นผู้ว่าอะไรอย่างนี้ เราไม่ได้มุ่งไปตรงนั้น เราทำงานเพื่อจะเลี้ยงชีวิตได้แล้วเราก็มีเวลาเหลือเพื่อพัฒนาตัวเอง อย่างนี้ก็ดี อย่างในหลวงองค์ก่อนท่านสอนเรื่องพอเพียง พอเพียงทางวัตถุ พอเราอยู่ได้แล้ว ดำรงชีวิตเลี้ยงตัวเองได้แล้ว อาจจะไม่รวยเหมือนคนอื่น แต่ไม่มีหนี้ ไม่กลุ้มใจ มีอยู่มีกิน มีเวลาที่จะพัฒนาจิตใจตัวเอง ท่านสอนดี

สรุปก็คืออยู่กับปัจจุบันไว้ อดีตเป็นบทเรียน อนาคตต้องวางแผน แต่ไม่ใช่เลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ ให้มันสมจริงหน่อย แล้วก็วางแผนไปเพื่อว่าเราจะได้มีเวลา มีโอกาสที่จะได้ปฏิบัติธรรมในอนาคต ไม่ใช่วางแผนอนาคตเพื่อรวยๆๆ แล้วก็ไม่มีเวลาเลย อย่างนั้นไม่ฉลาดหรอก เพราะความรวย มีเงินตั้งเยอะ สุดท้ายเราก็ต้องทิ้งไว้ให้คนอื่น ของที่จะติดตัวเราไปคือบุญกับบาปต่างหาก บางทีรวยมากก็ทำบาปมาก ฉะนั้นเราแค่อยู่ได้ แล้วเราพัฒนาจิตใจตัวเองไปได้ อันนั้นดีที่สุด แต่อย่าเพ้อเจ้อ อย่าเพ้อฝัน เลื่อนลอย ไม่มีเหตุผล เท่านี้ก็แล้วกัน เท่านี้ก็ทำยากแล้ว แค่มีสติอยู่กับปัจจุบันทั้งวันทั้งคืน มีความสุขจะตาย ทำยากอยู่ เพราะเราชอบหลง หลงอดีต หลงอนาคต

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 สิงหาคม 2565