ผู้มีปัญญามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

ในโลกมันมีแต่ความทุกข์หรอก มันสุขหลอกๆ ชีวิตมันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่มีหลักประกันของชีวิตที่แท้จริงเลย เราถึงต้องร่อนเร่อยู่ในสังสารวัฏไม่รู้จักจบจักสิ้น ไม่มีหลักประกันว่าวันข้างหน้า เราจะดีขึ้นหรือจะเลวลง จะไปเกิดในภพในภูมิอะไร ไม่มีใครช่วยเราได้ ก็ต้องพยายามช่วยตัวเองให้ได้ ศึกษาปฏิบัติธรรมไป วันละเล็กวันละน้อยก็ยังดี อย่าหยุดนิ่ง อย่ายอมแพ้ มันเหมือนไฟกำลังไหม้บ้านเราอยู่ ถ้าเรามัวแต่ท้อแท้ หรือมัวแต่หลงเพลิน สุดท้ายก็โดนไฟคลอกตาย ฉะนั้นอย่าประมาท

โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ ผู้มีปัญญาก็หาที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งที่อาศัยของเราก็คือสรณะนั่นเอง อย่างเราไปทางทะเลมันก็มีพวกชูชีพ พวกเรือลำเล็กๆ เอาไว้อาศัยเวลาเรือใหญ่มันล่ม ในสังสารวัฏสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ ก็มีแต่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของอื่นไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่อาศัยได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทำอย่างไรเราจะสามารถมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มาเป็นสรณะ และเป็นที่พึ่งในจิตใจของเราได้ ตัวนี้เราจะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ

สิ่งที่ต้องรักษาคือศีล สิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอก็เรื่องของสมาธิ สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ คือปัญญา การทำ 3 อย่างนี้ 3 สิ่งนี้ จะทำให้เรามีจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็มีที่พึ่ง เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เหมือนเราอยู่ในที่มืดอยู่ในก้นเหวลึกๆ เลย มืดตื๋อเลย ต้องพยายามสำรวจตรงไหนจะเป็นทางรอดของเรา มีแสงสว่างปรากฏขึ้นบนยอดภูเขา เป็นจุดเป็นดวงเล็กๆ นั่นคือแสงสว่างที่พระพุทธเจ้าท่านทำ ประทานมาให้ ท่านเป็นผู้จุดโคมไฟในความมืด เพื่อให้คนซึ่งมีปัญญาสำรวจไป ว่าทางไหนจะออกจากที่มืด ออกจากหุบเหว ออกจากถ้ำนี้ได้

พระพุทธเจ้าพยายามจุดไฟขึ้นมาให้เราเห็น เรามีหน้าที่ต้องตะเกียกตะกายเข้าไปหาความสว่างนั้น ในพระไตรปิฎกคนซึ่งเข้าใจธรรมะแล้ว มักจะเปรียบพระพุทธเจ้าเป็นผู้จุดประทีป โดยหวังว่าคนซึ่งมีตาจะมองเห็น ประทีปที่ท่านให้ไว้คือหลักของการปฏิบัตินั่นเอง คือศีล สมาธิ และปัญญา ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจรักษาศีลเอาไว้ให้ดี 5 ข้อเท่านั้นไม่ต้องรักษาเยอะหรอก ในขั้นโสดาบัน สกทาคามี แค่ศีล 5 ก็พอแล้ว จะฝึกตัวเองระดับพระอนาคามีควรจะถือศีล 8

ฉะนั้นอย่างพวกเรามันเป็นขั้นต้นๆ ของการปฏิบัติ ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ แล้วก็ต้องฝึกสมาธิ ละเลยไม่ได้ การฝึกสมาธิไม่ใช่แค่ฝึกให้จิตสงบ สมาธิของพระพุทธเจ้าไม่ใช่มีแค่ความสงบ สมาธิที่มุ่งไปด้วยความสงบนั้นมีมาก่อนพระพุทธเจ้า พวกฤษีชีไพรพวกนี้เขาก็ทำได้ ทำจนกระทั่งเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีอภิญญา สิ่งเหล่านี้มีมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก สมาธิของพระพุทธเจ้าคือความตั้งมั่นของจิต เป็นสภาวะซึ่งจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว เราต้องพยายามฝึกทุกวันๆ เพราะจิตของเรานั้นมีธรรมชาติร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตลอดเวลา เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ

 

สมาธิคือสภาวะซึ่งจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว

จิตเรามันมีธรรมชาติคุ้นเคยที่จะร่อนเร่ไปเรื่อยๆ เราต้องมาฝึกสมาธิ สมาธิก็คือสภาวะซึ่งจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อไรลืมตัวเอง ลืมกายลืมใจ เมื่อนั้นฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิ เมื่อไรเพ่งกาย เมื่อไรเพ่งใจ มีสมาธิแต่มันเป็นสมาธิธรรมดา ไม่ใช่สัมมาสมาธิที่พระพุทธเจ้าสอน สมาธิสงบ เราเพ่งกายก็สงบ เพ่งใจมันก็สงบ สมาธิของพระพุทธเจ้าไม่ใช่แค่สงบ มันสงบด้วยตั้งมั่นด้วย ตั้งมั่นก็คือไม่หลงไปไม่ไหลไป เป็นภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เราต้องฝึก พอจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เราถึงจะเจริญปัญญาได้

เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดขึ้น ฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จำไชพวกเราเรื่องของสมาธิ พูดมากเลยเรื่องนี้ มันคือสิ่งที่ฆราวาสขาด หลวงพ่อพูดมาตลอด สิ่งที่ฆราวาสขาด สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอนี้อันหนึ่ง อีกอันหนึ่งก็คือความต่อเนื่องของการปฏิบัติ ถ้าสมาธิถูกต้องแล้วเพียงพอแล้ว จะต้องเดินปัญญาต่อให้ได้ ไม่หยุดอยู่แค่สมาธิ ใช้ไม่ได้ สู้กิเลสไม่ได้จริง ฉะนั้นถึงจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรามาก ว่าจิตเราต้องตั้งมั่น อย่าเผลอ เผลอก็คือจิตฟุ้งซ่าน มีกายลืมกาย มีจิตลืมจิต อย่านั่งเพ่งนั่งจ้อง อย่าเพ่งของข้างนอก เช่นเพ่งเทียน เพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ เพ่งในร่างกายก็เพ่งลมหายใจ เพ่งกระดูก เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง นี่คือเพ่งทั้งนั้น

สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิไม่ใช่สมาธิเพ่งจ้อง เป็นความตั้งมั่น ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นเราไปเพ่งไว้ ปัญญาไม่เกิด สงบเฉยๆ เรียกว่าสงบโง่ๆ บางทีโมหะแทรกเลย นั่งสมาธิไปแล้วก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นเป็นสมาธิที่มีโมหะครอบงำอยู่ ใช้ไม่ได้ เราจะต้องพยายามฝึกจิตใจของเราให้มีกำลัง ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา วิธีฝึก สอนอยู่เสมอเลย ทำได้ตั้งหลายแบบ แต่หลักสำคัญก็คือการเรียนรู้จิตตนเอง เพราะฉะนั้นบทเรียนที่จะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง ถึงเรียกว่าจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตตัวเอง

ตอนหลวงพ่อบวชใหม่ๆ หลวงพ่ออยู่ที่เมืองกาญจน์ฯ ที่สวนโพธิ์ ญาติโยมเข้าไปหาหลวงพ่อสอนบอกให้ไม่เผลอ ไม่เพ่ง รู้เนื้อรู้ตัวไว้ ตอนนั้นก็มีพวกนักปฏิบัติหัวเราะเยาะเลย ทำไมหลวงพ่อไม่สอนศีล สมาธิ ปัญญา ศีลต้องสอนอยู่แล้ว แล้วที่สอนว่าไม่เผลอไม่เพ่งนั่นคือสอนสมาธิ เนื้อแท้ของสัมมาสมาธิมันเป็นสมาธิที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่เผลอไปที่อื่น แล้วก็ไม่นั่งเพ่งนั่งจ้องโง่ๆ อยู่แค่นั้น ฉะนั้นที่บอกไม่เผลอ ไม่เพ่งนั้นคือเรื่องของสมาธิทั้งนั้นเลย เพียงแต่ไม่ได้พูดคำว่าสมาธิมากมาย เพราะว่าฟังแล้วมันน่ากลัว

พวกเราฝึกสมาธิแบบมิจฉาสมาธิ มานานแสนนานนับภพนับชาติกันไม่ถ้วน พอได้ยินคำว่าสมาธิก็จะเพ่งลูกเดียว เพราะมันเคยชิน ตอนนั้นหลวงพ่อเลยเลี่ยง พูดคำว่าไม่เผลอ ไม่เพ่ง ถ้าเผลอก็มีสติรู้ทัน ถ้าเพ่งก็มีสติรู้ทัน เบื้องต้นต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งให้จิตมีเครื่องอยู่ มันคล้ายๆ จุดสังเกต เช่นเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตเราเผลอมันก็ลืมการหายใจ หรือลืมพุทโธไปคิดเรื่องอื่น ถ้าเราเคยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธจนเคยชิน มันคิดเรื่องอื่นแป๊บเดียว มันก็จะรู้ทันว่า เฮ้ย นี่หลงไปแล้ว เผลอไปแล้ว ทันทีที่เรามีสติรู้ว่าจิตหลงไป เผลอไป ทันทีนั้นความไม่หลง ความไม่เผลอ ความรู้เนื้อรู้ตัวก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นพวกเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วถ้าจิตเราหนีไปจากกรรมฐานของเรา เรามีสติรู้ทัน การที่เราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง บางทีจิตไม่หนีไปที่อื่นหรอก แต่จิตไหลเข้าไปอยู่ ไปจม ไปแช่ ในอารมณ์กรรมฐานอันนั้น อย่างเรารู้ลมหายใจจิตไม่หนีไปที่อื่นแล้ว แต่จิตไหลเข้าไปจมอยู่ในลมหายใจ อันนั้นคือการติดเพ่งแล้ว มันเพ่งอยู่ที่ลม ลืมโลก ลืมกาย ลืมใจ เหลือแต่ลมอันเดียว หรือบางคนดูกระดูก พิจารณากระดูก ดูลงไปเรื่อยๆ หรือบางคนดูผม ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อันใดอันหนึ่ง ฝึกให้ชำนาญ อย่างดูกระดูกอยู่ หรือดูลมอยู่ บางทีจิตมันถลำลงไปอยู่ที่ลมหายใจ จิตมันถลำลงไปอยู่ที่กระดูก อันนั้นมีสมาธิแต่เป็นสมาธิที่จิตไปเพ่งอารมณ์อันเดียว ยังไม่ใช่สมาธิที่เราต้องการที่แท้จริง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้น เป็นสมถกรรมฐานเฉยๆ เอาไว้พักผ่อน เอาไว้ทำให้จิตมีกำลัง

แต่สมาธิที่จะใช้เดินปัญญาได้ เป็นสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น สมาธิที่จิตตั้งมั่นมันมีลักษณะที่ไม่เผลอไป แล้วก็ไม่เพ่งเอาไว้ ฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนว่าไม่เผลอ ไม่เพ่ง ถ้าเผลอก็ให้รู้ทัน เช่นเราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตเผลอไปเรารู้ทัน จิตที่เผลอก็ดับ จิตที่รู้ขึ้นมาก็จะเกิดขึ้น ตั้งมั่นขึ้นมา หรือเวลาเราภาวนา จิตเราถลำลงไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน ก็รู้ทันว่าจิตถลำลงไปแล้ว ไม่ต้องไปฝืน แค่รู้เฉยๆ ว่าจิตมันถลำแล้ว เช่น จิตมันไหลไปอยู่ที่ลม รู้ทัน จิตมันไหลออกไปอยู่ในความว่างข้างนอก รู้ทัน จิตไหลลงไปอยู่ที่กระดูก รู้ทัน ไม่ต้องยุ่งอะไรกับมันหรอก ให้รู้ทันว่ามันไหลไปแล้ว แล้วเดี๋ยวมันจะกลับมาเอง จะกลับมาได้เอง

 

จิตผู้รู้ : มหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปเรารู้ทัน จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ทัน ฝึกบ่อยๆ ในที่สุดเราก็จะได้ตัวรู้ขึ้นมา จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตชนิดนี้ถ้าพูดภาษาอภิธรรม คือมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง ฟังแล้วน่ากลัวไม่รู้เรื่องสักคำ เป็นมหากุศลจิต จิตที่เป็นกุศล ก็คือจิตซึ่งมันไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อย่างเรานั่งภาวนาเราอยากสงบ อันนี้จิตโลภ ภาวนาแล้วจิตเราฟุ้งซ่านนั้นจิตหลง ภาวนาแล้วก็หงุดหงิดรำคาญนั่นจิตโกรธ ฉะนั้นตัวจิตผู้รู้ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง แล้วมีลักษณะสำคัญของความเป็นกุศลหลายอย่าง จิตที่เป็นกุศลมันเบา ถ้าเราภาวนาแล้วจิตแน่นอึดทึ่ดเลย ไม่ถูก บางคนแน่นเข้ามาถึงร่างกายเลย ร่างกายก็แน่นๆ หนักๆ อันนั้นไม่ใช่จิตที่เป็นมหากุศลจริงๆ จิตต้องนุ่มนวล

ถ้าภาวนาแล้วจิตแข็งกระด้างแข็งเป๊กเลย บางคนภาวนา จิตที่แข็งกระด้างอย่างนั้นไม่ใช่มหากุศลจิต จิตที่เป็นกุศลมันนุ่มนวล อ่อนโยน เบา มันเบา มันนุ่มนวล อ่อนโยน มันคล่องแคล่วว่องไว ไม่ใช่นิ่งๆ ซื่อบื้ออยู่ตลอดเวลา อันนั้นไม่ใช่ ฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้วจิตเราซื่อบื้อนิ่งๆ อยู่ ไม่ใช่ จิตที่เป็นกุศลจริงๆ เป็นผู้รู้จริงๆ มันคล่องแคล่วว่องไว มันขยันในการเจริญปัญญา ไม่ได้ไปติดความนิ่งความว่างอยู่ แล้วก็มันซื่อตรง มันซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ไม่ได้รู้เพราะอยากรู้ พอรู้แล้วก็ไม่ได้รักษาอารมณ์เอาไว้ หรือก็ไม่ได้รักษาจิตเอาไว้ รู้แล้วยินดี รู้ทัน รู้แล้วยินร้าย รู้ทัน จิตมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง มันจะรู้ซื่อๆ รู้อย่างซื่อๆ รู้ตรงไปตรงมา ไม่ใช่รู้แบบมารยามาก รู้แบบไม่ซื่อ หาทางจะทำจิตให้ดี ให้สุข ให้สงบ อย่างนี้รู้ไม่ซื่อ

รู้ซื่อๆ เป็นอย่างไร จิตไม่ดีรู้ว่าไม่ดี จิตไม่สุขรู้ว่าไม่สุข จิตไม่สงบรู้ว่าไม่สงบ รู้ซื่อๆ เพราะฉะนั้นเราต้องค่อยๆ พัฒนา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตนเองไป เรียกว่าจิตตสิกขา แล้วสุดท้ายเราจะได้จิตผู้รู้ เป็นมหากุศลจิต ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง มีความเบา มีความอ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ขยันทำงาน ไม่ใช่ขี้เกียจขี้คร้านนิ่งๆ เฉยๆ นั่นลักษณะของจิตผู้รู้ มันเป็นกุศล ญาณสัมปยุต เป็นจิตที่เดินปัญญาได้ ประกอบด้วยปัญญา เวลาสติระลึกรู้กายจิตตั้งมั่นเป็นคนรู้อยู่ แล้วถ้าจิตเราเป็นผู้รู้อย่างดีมันจะเกิดปัญญาขึ้น มันจะเห็นไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นมันจะมีการเห็นไตรลักษณ์กำกับมาด้วย ไม่ใช่รู้อารมณ์อยู่เฉยๆ ถ้ารู้อารมณ์อยู่เฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

ฉะนั้นจิตที่จะใช้เดินปัญญา ที่หลวงพ่อเรียกว่าจิตผู้รู้ๆ ก็เป็นจิตที่เป็นมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต คือมันมองเห็นไตรลักษณ์ อีกตัวหนึ่งก็คือ อสังขาริกัง อสังขาริกังนี้เราไม่ได้เจตนา หมายถึงเราไม่ได้จงใจทำให้เกิด ไม่ต้องเร้าให้เกิด อย่างบางทีเราอยากมีจิตผู้รู้ ตอนนี้จิตเราหลงไปคิด เราก็พยายามฝืนๆๆๆ พยายามฝืนตัวเองให้ตื่นขึ้นมา ให้จิตมันรู้ตัวขึ้นมา อันนั้นจงใจทำให้เกิด บางทีก็ได้ผู้รู้ขึ้นมา แต่เป็นผู้รู้ที่ไม่มีคุณภาพเท่าไร เป็นผู้รู้ที่เหน็ดเหนื่อยเกินไป ฝืนๆ อย่างจิตเราฟุ้งซ่าน ฝืนจะให้มันสงบ มันไม่ใช่ตัวผู้รู้ที่ดี จิตผู้รู้ที่ดีนั้นมันเกิดอัตโนมัติ เรียกว่าอสังขาริกัง เกิดเอง

วิธีทำให้มันเกิดเองทำอย่างไร ก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตไป ต่อไปจิตมันจำสภาวะที่เผลอได้ จิตมันจำสภาวะที่เพ่งได้ พอเกิดการเผลอขึ้นสติระลึกปั๊บ แล้วจิตมันจะเป็นกลาง มันแค่ระลึกเท่านั้น มันซื่อตรงในการรู้อารมณ์ รู้ว่าจิตเผลอไป รู้ซื่อๆ จิตที่หลงก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิด เกิดเอง เราไม่ได้ทำจิตผู้รู้ให้เกิด จิตผู้รู้เกิดขึ้นเอง เพราะว่ามันไม่หลง ก็แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามฝึก ให้จิตของเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานที่แท้จริง หรือเป็นจิตที่เป็นกุศล ไม่ได้มีจิตโลภ โกรธ หลง แทรกอยู่ จิตนั้นมีลักษณะเบา อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน คือเหมาะที่จะเอาไปเดินปัญญา แล้วก็ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ รู้ซื่อๆ ถ้าเรามีจิตอย่างนี้ได้ เราก็จะเข้าไปสู่ขั้นของการเจริญปัญญาได้ ถ้าเรายังไม่มีจิตชนิดนี้ ยังเจริญปัญญาไม่ได้

บางคนมักง่าย 2 จำพวกใหญ่ๆ พวกหนึ่งอยู่ๆ ก็เจริญปัญญาเลย ไม่เคยฝึกจิตให้มีสมาธิที่ถูกต้อง ก็เจริญปัญญาด้วยการอ่านตำรับตำรา นี่บอกเจริญปัญญา หรือฟังเทศน์ ฟังธรรม นึกว่าเจริญปัญญา การฟังธรรม การอ่านธรรมะ สิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่ปัญญาของเรา มันคือปัญญาของพระพุทธเจ้า ปัญญาของพระสาวก ปัญญาของครูบาอาจารย์ อย่างหลายคนฟังหลวงพ่อเทศน์ โอ๊ย รู้สึกมีปัญญามาก ไอ้นั่นก็รู้ ไอ้นี่ก็รู้ นั่นไม่ใช่ปัญญาของเรา มันจำหลวงพ่อไปอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ของจริงหรอก มันแค่ความจำ ปัญญาที่เป็นความจำนั้นเอาไปสู้กิเลสไม่ได้ มันยังล้างกิเลสไม่ได้จริง

อีกพวกหนึ่งก็ใช้คิดพิจารณาไปเรื่อยๆ ปัญญาจากการคิด เชื่อไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราคิดนั้นถูกก็ได้ผิดก็ได้ ปัญญาที่แท้จริงที่เราต้องฝึก คือปัญญาจากการเห็น เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น ก็เห็นอย่างที่มันเป็น เป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ ต้องเห็นเอา ถ้าไม่เห็นเอาล้างกิเลสไม่ได้ พวกหนึ่งไม่เคยฝึกจิตเลย กระทั่งความสงบก็ไม่มี คิดๆๆ เอา หรืออ่านๆๆ เอา แล้วคิดว่ากูรู้ๆ ก็เป็นกูรูทั้งหลาย รู้ธรรมะเยอะแยะ พูดได้ฉอดๆๆๆ กิเลสสักตัวหนึ่งยังไม่เคยเห็นเลย จะไปสู้กิเลสได้อย่างไร อ่านมาก ฟังมาก กิเลสยิ่งหนักกว่าเก่าอีก กูเก่งๆ อย่างนั้นล้มเหลวแล้ว อีกพวกหนึ่ง พวกนี้ไม่ทำสมาธิให้ถูกต้อง แล้วก็อยู่ๆ ก็จะบอกเจริญปัญญา ไม่สามารถเห็นสภาวะได้ ถ้าจิตไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง จะเห็นสภาวะไม่ได้จริงหรอก ถ้าเห็นแล้วก็ไม่สามารถเป็นกลางกับสภาวะได้ มันก็ได้แต่คิดๆ เอา ไม่ได้เห็นตัวสภาวะ

อีกพวกหนึ่งทำสมาธิแต่มันเป็นมิจฉาสมาธิ เมื่อหลายสิบปีก่อน ประมาณสี่สิบปีก่อน หลวงพ่อก็เที่ยวไปตามสำนักกรรมฐานทั้งหลาย ที่เขาฝึกสมาธิกัน ก็พบว่าสมาธิที่คนส่วนใหญ่ฝึกมันเป็นมิจฉาสมาธิ คือมันไปเพ่ง ไปจ้อง อยู่ในอารมณ์อันเดียวเพื่อให้จิตสงบ สมาธิให้จิตสงบนี้หลวงพ่อพูดเมื่อกี้แล้ว มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ฉะนั้นส่วนใหญ่ที่ทำกันก็เป็นแบบนั้น ไปนั่งให้มันเงียบๆ มันสงบไป บางคนก็สงบลึก เคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว นั่งเคลิ้มๆ ไป บางคนนั่งแล้วใจก็สว่าง ออกไปเห็นโน้นเห็นนี้ เห็นผี เห็นเปรต เห็นเทวดา เห็นสัตว์นรก เห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นจิตคนอื่น เห็นว่าคนนี้ตายแล้วไปเกิดที่ไหน ไม่เห็นอย่างเดียว ไม่เห็นกายเห็นใจของตัวเอง สมาธิอย่างนั้นก็เป็นสมาธิฟุ้งซ่านออกไปข้างนอก ใช้ไม่ได้

 

เมื่อจิตเราทรงสมาธิที่ถูกต้อง
การเจริญปัญญาจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ฉะนั้นเกือบร้อยละร้อยของนักปฏิบัติ ที่ไปทำสมาธิส่วนใหญ่มันเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไม่ได้เคล็ดลับ เคล็ดลับก็คือการที่เรามีสติ เราต้องมีวิหารธรรมไว้อันหนึ่ง แล้วเรามีสติคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตเผลอรู้ทัน จิตเพ่งรู้ทัน รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ไม่ต้องคิดแต่ว่าจะแก้อย่างไร จะแก้อย่างไร แก้ๆ ทั้งหลายมันเป็นแค่อุบาย ส่วนหลักของการปฏิบัติ คือรู้อย่างที่มันเป็น รู้สภาวะอย่างที่มันเป็น พอเราหัดอย่างนี้เรื่อยๆ ในที่สุดจิตเราก็ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา

เมื่อจิตเราทรงสมาธิที่ถูกต้องแล้ว การเจริญปัญญาจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว เวลาสติมันระลึกรู้กาย ร่างกายเคลื่อนไหวสติระลึกรู้ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู มันก็จะเห็นว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวนั้นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันเห็นมันไม่ได้คิด วิปัสสนานั้นเลยขั้นความคิดไปแล้ว หลวงพ่อพุธท่านเก่ง ท่านสอน “สมถะเริ่มเมื่อหมดความจงใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด” ถ้าเรามีจิตเป็นผู้รู้ไม่ใช่ผู้คิด เวลาสติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น มันจะเห็นว่ากายมันก็อันหนึ่ง จิตมันก็อันหนึ่ง กายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู มีความไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู นี้คือตัวปัญญา เห็นไตรลักษณ์ถึงจะเป็นปัญญาที่แท้จริง

ปัญญาแบบท่องตำราได้ไปสอบได้ ไม่ใช่ตัวปัญญาสัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญาจากการคิดนึกปรุงแต่ง จดจำ ปัญญาจากการเห็นถึงจะเกิดสัมมาทิฏฐิขึ้นมาในตัวเราได้ หรือถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ แล้วจิตใจมันแอบทำงาน มันเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล อกุศล เกิดหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติระลึกรู้แล้วจิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา แล้วมันจะเห็นสุข ทุกข์ ดี ชั่ว ทั้งหลาย เป็นของข้างนอกไม่ใช่จิต ความสุขไม่ใช่จิต ความทุกข์ไม่ใช่จิต กุศลไม่ใช่จิต อกุศลไม่ใช่จิต มันจะเห็นอย่างนี้ นี่เป็นปัญญาขั้นต้น

แล้วมันก็จะเห็นต่อไป สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วก็หายไป สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป นี้คือทุกขตา การเห็นทุกขัง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่เห็นอนัตตา อย่างนี้เรียกว่าเรามีปัญญาแล้ว จะมีปัญญาได้จิตต้องมีสัมมาสมาธินี่ตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งคือมีสติ สติเราก็ต้องฝึกให้เกิด สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่นเพราะจิตเห็นสภาวะนั้นเนืองๆ เห็นบ่อยๆ เหมือนญาติพี่น้องเราไม่เจอกัน 20 ปี เห็นหน้าแล้วจำไม่ได้ แต่ถ้าเราเห็นกันทุกวัน เห็นทุกวันๆๆ คุ้นเคยจำได้ พอเห็นปุ๊บจำได้เลย ตัวสติเกิดจากจิตจำสภาวะได้

เราอยากให้ความสุขเกิดขึ้นก็รู้ ความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ กุศลเกิดขึ้นก็รู้ได้ อกุศลเกิดขึ้นก็รู้ได้ สติรู้ทันเราก็ต้องฝึก ก็ทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เคยทำ แล้วมีอะไรแปลกปลอมเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน เช่นเรานั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่เผลอ ไม่เพ่งอยู่ รู้ไปสบายๆ ต่อมาจิตมันฟุ้งซ่านไม่ยอมสงบเลย เราก็เห็นความฟุ้งซ่านมันเกิดขึ้น นั่งไปๆ จิตมันสงบเราเห็นว่าความสงบเกิดขึ้น พอเห็นบ่อยๆ มันจำได้ว่าความฟุ้งซ่านหน้าตาเป็นอย่างนี้ ความสงบหน้าตาเป็นอย่างนี้ ต่อไปพอจิตมันฟุ้งซ่านขึ้นมา สติมันระลึกได้ เฮ้ย ฟุ้งซ่านแล้ว หรือว่ามีความสุขขึ้นมาแล้ว มีความสงบขึ้นมาแล้ว มันจะระลึกได้เอง

เบื้องต้นหัดดูสภาวะนามธรรมสักอย่างหนึ่ง ถ้าเราจะหัดรู้จิตรู้ใจของตัวเอง อย่างหลวงพ่อพื้นเดิมของหลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต รวดเร็ว รุนแรง ล้างผลาญ เวลาจะมาสู้กิเลสก็รวดเร็ว รุนแรง ล้างผลาญเหมือนกัน ไม่ยอม ตราบใดที่กิเลสยังครอบงำจิต ไม่ยอมเลิกเลย พวกโทสะไม่ยอมแพ้หรอก สู้ตาย หลวงพ่อก็หัดดูจิตมันมีโทสะบ่อย เราก็หายใจเข้าพุทออกโธไป เดี๋ยวตาเกิดไปเห็นอะไรเข้าโทสะขึ้นแล้ว ไม่ต้องเห็นอะไรหรอก นั่งภาวนาสบายๆ อยู่ในห้องนี่ล่ะ ก็เปิดประตูออกไป มีธุระจะออกนอกห้อง แสงแดดกระทบเปลือกตานี้โทสะขึ้นแล้ว รำคาญ หงุดหงิด แดดกระทบตาเรา หงุดหงิดแล้ว นี่เห็น พอเราเห็นมันมีความเปลี่ยนแปลง เดิมจิตมันไม่มีอกุศลตัวนี้ อยู่ๆ เกิดโทสะผุดขึ้นมา ตามองเห็นรูปโทสะก็เกิด หูได้ยินเสียงโทสะก็เกิด จมูกได้กลิ่นโทสะก็เกิด นี้สำหรับพวกโทสะ คิดเรื่องนี้โทสะก็เกิด หัดรู้โทสะเรื่อยๆ ไป ต่อไปจิตมันจำสภาวะของโทสะได้ โทสะหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง ต่อไปแล้วโทสะเกิดปุ๊บ สติรู้เองเลย สติอัตโนมัติเกิดขึ้น

 

“รู้ทันจิตตัวเองไป จะได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ
จะได้ควบเลย ได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ
เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก เราจะได้ปัญญา”

 

เมื่อกี้พูดเรื่องสมาธิอัตโนมัติ อสังขาริกัง ไม่เจตนาให้เกิด สติก็ต้องให้มีสติอัตโนมัติเหมือนกัน สติอัตโนมัติเกิดจากเราเห็นสภาวะซ้ำแล้วซ้ำอีก เบื้องต้นหัดดูตัวใดตัวหนึ่งเสียก่อนก็ได้ เช่นคนไหนขี้โกรธก็ดูโทสะ จิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ต่อไปจิตจำสภาวะของโทสะแม่น พอโทสะเกิดสติเกิดเอง รู้ทัน สติเป็นตัวรู้ทันว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้น รู้ทันปั๊บมันเห็นโทสะเลย แล้วก็จิตมันตั้งมั่นเป็นคนดู โทสะนั่นล่ะสอนไตรลักษณ์เรา เห็นไหมกิเลสสอนธรรมะเรา อย่าไปเกลียดกิเลส แต่ไม่ใช่ยอมแพ้กิเลส จมอยู่กับกิเลส กิเลสเกิดเรามีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู สติระลึกรู้ว่ากิเลสนี้เกิดขึ้น โทสะเกิดขึ้น มันจะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู โทสะนี้มันไม่ได้เจตนาให้เกิด มันเกิดได้เอง นี่มันแสดงอนัตตาให้ดู แล้วพอเราเห็นปุ๊บมันขาดสะบั้นลงไปเลย มันดับ มันเกิดแล้วมันก็ดับ นี้มันเห็นอนิจจัง

พอเราดูเป็นตัวหนึ่งแล้ว อย่างหลวงพ่อเริ่มมาจากดูตัวโทสะ ถ้าพวกเราเป็นพวกราคะเยอะ เห็นอะไรก็อยาก เห็นอะไรก็อยากไปเรื่อย ก็หัดรู้ใจที่อยาก ใจมีความอยากเกิดขึ้นรู้ทัน ใจมีความอยากเกิดขึ้นรู้ทัน ต่อไปจิตมันจำสภาวะความอยากได้ ความอยากมันลักษณะอย่างนี้ พอความอยากมันผุดขึ้นมาปุ๊บ สติรู้ทันปั๊บเลย แล้วจิตมันตั้งมั่นเป็นคนดู ความอยากนั้นขาดสะบั้นเลย แสดงไตรลักษณ์ให้เราดูแล้ว เพราะฉะนั้นกิเลสนี้อย่าไปเกลียดมัน แต่อย่าไปยอมจำนนกับมัน กิเลสเป็นครูของเรา กุศลก็เป็นของดีแต่อย่าไปติดกับมัน มันก็สอนไตรลักษณ์เหมือนกัน อย่างจิตเราเป็นบุญเป็นกุศล รู้ไป มีสติรู้ไป ประเดี๋ยวหนึ่งจิตที่เป็นบุญเป็นกุศลก็ดับแล้ว อย่างเราเห็นเด็กลูกเรา มันชอบไปวิ่งข้างถนน เราก็มีกรุณากลัวมันจะถูกรถชน เป็นห่วงมัน ห้ามมันไม่ฟัง โมโห กรุณาดีๆ พลิกเป็นโทสะเลย

ฉะนั้นเราหัดรู้ทันสภาวะไป ทีแรกรู้อันใดอันหนึ่งที่เกิดบ่อยๆ แล้วต่อไปสภาวะอะไรเกิดก็รู้หมดเลย รู้ตัวหนึ่งก่อน พอรู้ตัวนี้แจ่มแจ้งแล้ว มันจะรู้ตัวอื่นด้วย อย่างเราเห็นโทสะมันขึ้นมามันดับไป เห็นจนชำนาญ ต่อไปสิ่งที่ตรงข้ามกับโทสะคือราคะเกิดขึ้น เราก็จะเห็น อ๋อราคะเกิดแล้ว ราคะต่างกับโทสะอย่างไร โทสะมันมีอาการผลักดันอารมณ์ออกไป เห็นหน้าคนนี้ไม่ชอบอยากกระแทกหน้ามันออกไป เห็นหมาตัวนี้ไม่ชอบมันอยากเตะให้กระเด็นออกไป นี่ลักษณะของโทสะ คือมันผลักอารมณ์ จะผลักอารมณ์ที่ไม่พอใจออกไป ลักษณะของโลภะ ของราคะ คือจะดึงอารมณ์ที่ชอบใจเข้ามา

ถ้าเราเห็นการผลักเรื่อยๆ ต่อไปมันไม่ผลัก มันดึง นี่จิตมีราคะแล้วมันก็จะเห็น ทีแรกหัดรู้ตัวหนึ่ง แล้วต่อไปมันก็รู้หมด ตัวอะไรเกิดขึ้นมันก็รู้หมด ในที่สุดก็รู้ได้ทุกตัว ทีแรกก็หัดรู้ตัวใดตัวหนึ่งไปก่อน โดยการทำกรรมฐานไว้อย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป จะได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ จะได้ควบเลย ได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก เราจะได้ปัญญา พอจิตเราเป็นผู้รู้อยู่ สติระลึกรู้กาย มันก็จะเกิดปัญญา เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา มันก็จะเห็นเวทนาแสดงไตรลักษณ์ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ สติระลึกรู้สังขาร ความปรุงที่เป็นกุศล อกุศล มันก็จะเห็นกุศล อกุศลทั้งหลายก็เป็นไตรลักษณ์ จิตตั้งมั่นอยู่แล้วเห็น จิตเกิดดับทางทวารทั้ง 6 มันก็เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ นี่คือการเจริญปัญญา จะเห็นไตรลักษณ์

ค่อยๆ ฝึกไป พอปัญญาเกิดสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าท่านบอก “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” แต่ปัญญาตัวนี้เป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา คือการเห็นความเป็นจริงของรูปธรรม นามธรรม ของกายของใจ ไม่ใช่ปัญญาจากการอ่าน การฟัง การท่องจำ หรือการคิดไตร่ตรองพิจารณา ปัญญาจากการอ่านการฟังอะไรพวกนั้น มันเป็นปัญญาที่เรียกว่า สุตตมยปัญญา ก็ทำให้ดูเหมือนฉลาด สอบเก่ง ได้คะแนนเยอะ ปัญญาจากการคิดเรียกว่า จินตามยปัญญา อาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้ เพราะเรายังมีกิเลส เราก็คิดไปตามอำนาจของกิเลส ส่วนใหญ่ก็คิดไม่ค่อยจะถูกเท่าไร

บางทีอ่านมาก ฟังมาก คิดมาก กิเลสแรงกว่าเก่าอีก ปัญญาที่ล้างกิเลส เรียกว่าภาวนามยปัญญา ต้องเห็นเอา เจริญวิปัสสนาไป มีจิตตั้งมั่นก็เห็น มีสติระลึกรู้สภาวะ คือรูปธรรม นามธรรม ที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ มันก็เห็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะคือปัญญา ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ยังไม่ใช่วิปัสสนาปัญญา พอเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญาที่ถูกต้องแล้ว วิมุตติก็จะเกิดขึ้น แล้วจะเกิดอริยมรรค โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ก็จะเกิดต่อ สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ฝึกไปเรื่อยเป็นลำดับไป

 

หลุดพ้นด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามฝึก ตอนที่อริยมรรคเกิด มีคำอยู่คำหนึ่งว่า “จะหลุดพ้นได้ด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ” เพราะฉะนั้นเวลาหลุด ต้องหลุดด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ หลุดด้วยเจโตวิมุตติคือหลุดด้วยกำลังของฌาน อันนี้คนนอกศาสนาทำได้ แต่ตัวสำคัญคือต้องมีหลุดพ้นด้วยปัญญาวิมุตติ หลุดพ้นด้วยวิปัสสนาปัญญา และขณะที่เกิดวิปัสสนาปัญญาในขั้นของอริยมรรคนั้น จิตมีเจโตวิมุตติอัตโนมัติ คือจิตเข้าฌานอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นเรายังไม่ต้องห่วงเรื่องฌานหรอก เราหัดจิตหลงไปแล้วรู้ๆ สติก็เพิ่ม สมาธิก็เพิ่ม ต่อไปปัญญาสมบูรณ์ขึ้นมา จิตมันรวม ตรงที่จิตรวมลงไปเรียกว่าเรามีเจโตวิมุตติ เราดับพวกนิวรณ์ลงไป มีปัญญาวิมุตติเห็นจริง ก็หลุดพ้นขึ้นมาเป็นลำดับๆ ไป

เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดอริยมรรคต้องเกิดในฌาน มันเกิดในฌานแน่นอนไม่เกิดนอกฌานหรอก แต่ว่าไม่ต้องกลัว ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก เดี๋ยววันหนึ่งกำลังพอ จิตมันรวมเข้าฌานอัตโนมัติ แล้วก็อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น ตรงที่จิตเราเข้าถึงอริยมรรคแล้ว มันล้างกิเลสสังโยชน์ กิเลสที่ผูกมัดเราเอาไว้ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ ถูกล้างไป กิเลสสังโยชน์มี 10 ตัว ได้โสดาบันล้างได้ 3 ตัว ได้อนาคามีล้างได้อีก 2 ตัว ตอนที่บรรลุพระอรหันต์ล้างไปอีก 5 ตัว อันนี้จิตมันล้างของมันเอง เราไม่มีหน้าที่ล้างหรอก มันทำลายไปด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันไม่กำเริบกลับ คือไม่เสื่อมถอย ล้างแล้วล้างเลย ไม่ต้องล้างแล้วล้างอีก

เพราะฉะนั้นเราจะต้องค่อยๆ ฝึก ในที่สุดเราก็จะพ้นไปโดยส่วนทั้ง 2 คือส่วนของทั้งกำลังของสมถะ ทั้งกำลังของวิปัสสนา ถ้าทำแต่สมถะมีเจโตวิมุตติเข้าฌานได้ อันนี้ศาสนาอื่นเขาก็ทำได้ แต่ถ้ามีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันนี้เป็นเส้นทางของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่มีแต่ปัญญาวิมุตติเฉยๆ ตอนที่อริยมรรคเกิดอย่างไรก็ต้องมีฌาน ประกอบด้วยเจโตวิมุตติเสมอ ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ฝึกไป เดี๋ยววันหนึ่งเราจะเข้าถึงพระรัตนตรัย เมื่อเราเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล จิตของเราเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระสงฆ์ขึ้นมาแล้ว เราจะรู้ธรรมะไปตามลำดับ พระโสดาบันก็รู้ธรรมะระดับพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ก็รู้ธรรมะในระดับของตน ก็จะเข้าใจเป็นลำดับๆ ไป อันนั้นคือเราก็จะเข้าใจพระธรรม จิตของเราที่ฝึกดีแล้ว สมบูรณ์ เข้าถึงปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติมาแล้ว ล้างกิเลส ล้างอาสวะออกไป ล้างสังโยชน์ลงไปเป็นลำดับๆ จิตของเราเป็นพระสงฆ์ เราเข้าใจธรรมะ

ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอนหลวงพ่อ หลวงปู่สุวัจน์เคยสอนหลวงพ่อบอก “พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เห็นสิ่งเดียวกัน แต่ตรงความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน” เห็นธรรมะอันเดียวกัน แต่ความเข้าใจมันไม่เท่ากัน คือคล้ายๆ คนเรียนปริญญาตรี มองปัญหานี้ ปริญญาโทก็มองปัญหานี้ ปริญญาเอกก็มองปัญหานี้ แต่ความเข้าใจในปัญหานั้นไม่เท่ากัน บอกไม่มีอะไรหรอก รู้แล้ววางไปเลย ตรงที่จิตของเราเป็นพระสงฆ์ คือจิตของเราบรรลุมรรคผลแล้ว ขณะนั้นเรารู้จักพระธรรมเรียบร้อยแล้ว เราจะเข้าใจธรรมะตามระดับของเรา แล้วเราก็จะเชื่อแน่นแฟ้น พระพุทธเจ้ามีจริง คือท่านผู้สอนธรรมะอันประเสริฐอย่างนี้ให้เราได้ คือพระพุทธเจ้าผู้ค้นพบธรรมะ ก็ต้องมีจริง

เราก็จะเชื่อแน่นแฟ้นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริง ไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัยอีก เรียกว่าเราได้ที่พึ่งของเราแล้ว เมื่อเราได้ที่พึ่ง คือมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว การเดินทางในสังสารวัฏนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปแล้ว ภายในเวลาไม่เกิน 7 ชาติเราจะต้องบรรลุพระอรหันต์แน่นอน ถึงที่สุดแห่งทุกข์แน่นอน แต่ถ้าเรายังไม่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ยังไม่ได้โสดาบัน โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เราก็จะเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ทุกข์แล้วทุกข์อีก เกิดแล้วเกิดอีก แก่แล้วแก่อีก เจ็บแล้วเจ็บอีก ตายแล้วตายอีก พลัดพรากแล้วพลัดพรากอีกจากสิ่งที่รัก ประสบกับสิ่งที่ไม่รักซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้นในโลกมีแต่ทุกข์ มีแต่โทษ มีแต่ภัย ผู้มีปัญญาก็พยายามเอาตัวเองออกให้พ้น ก้าวเดินไปตามดวงประทีปที่พระพุทธเจ้าทิ้งไว้ให้เรา จุดไว้ให้เรามอง เจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไป ถึงวันหนึ่งจิตเราเป็นพระสงฆ์ จิตเราเข้าใจธรรมะ จิตเราเคารพแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า นั่นล่ะเราจะมีที่พึ่ง ที่พึ่งอื่นไม่มี แล้วมันจะเกิดฤทธิ์ชนิดหนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นสัจจกิริยา อย่างถ้าเราภาวนาจนเราถึงพระรัตนตรัยแล้ว มันมีบทอยู่บทหนึ่งบอก “ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยอำนาจแห่งความสัจนี้” จะอะไรก็อธิษฐานเอา ฉะนั้นอยากอธิษฐานได้ด้วยตัวเองไม่ต้องขอใคร ก็ทำตัวเองให้มันมีที่พึ่ง ถ้ายังไม่มีที่พึ่งก็ต้องเที่ยวขอโน้นขอนี้ ขอหลวงพ่อโน้น ขอเจ้าแม่นี้ เรียกว่าพวกไม่มีที่พึ่ง มันจะเกิดฤทธิ์ขึ้นมาเป็นบุญฤทธิ์

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 สิงหาคม 2565