ธรรมะช่วยเราได้

วันนี้คนกรุงเทพฯ มีเลือกตั้งใช่ไหม หลวงพ่อไม่ได้เลือกกับเขาด้วย เดี๋ยวนี้ไม่รู้เรื่องการเมือง ใครเป็นใหญ่เป็นโตเป็นอะไร ไม่รู้เรื่องเลย รู้เยอะก็ยุ่ง เรารู้แค่หายใจออก หายใจเข้า ชีวิตสงบสุข โลก ยุ่งกับมันมากก็วุ่นวาย

โลกมันก็ยุ่งอย่างนี้ สารพัด ยิ่งข้อมูลเยอะก็มีเรื่องให้คิดเยอะ คิดเยอะก็กังวลใจ หรือไม่ก็เกิดกิเลส ใจก็ดิ้นไปเรื่อยๆ ใจก็เป็นทุกข์ คนแต่ก่อนไม่ค่อยมีข่าวสารอะไร วันๆ มีเรื่องหาอยู่หากิน มีกินอิ่มท้องก็สบายใจแล้ว ไม่ต้องคิดเยอะ ตอนหลวงพ่อเด็กๆ เขาทำนากันปีละครั้ง พอหมดหน้าทำนา บางพื้นที่มันเป็นที่ลุ่ม เขายังจับปลาจับอะไร หาผักหาอะไรกินกันได้ อยู่ได้ ที่ดอนที่กันดารพวกนั้นลำบาก น้ำจะใช้ น้ำจะกิน ไม่ค่อยจะมี ความยากลำบากของคนรุ่นโน้น มันเป็นความยากลำบากที่ดิบๆ เรื่องหาอยู่หากิน แบบหาอาหารมาได้ก็ดีใจแล้ว สังคมก็ไม่ค่อยมีอะไรวุ่นวาย นานๆ ก็มีงานวัดทีหนึ่ง เป็นที่ชุมชนได้พักผ่อน ผ่านมานานๆ เข้า บ้านเมืองมันเปลี่ยนรวดเร็ว สมัยก่อนเปลี่ยนช้า ตอนนี้อัตราเร่งของความเปลี่ยนแปลงเร็วมากเลย หลวงพ่อเกิดในกรุงเทพฯ ถ้าเอาหลวงพ่อไปปล่อยที่กรุงเทพฯ ตอนนี้หลงเลย ไปไหนไม่ถูกเลย ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด

 

เราต้องการความสุข แต่สิ่งที่ได้มาคือความเหน็ดเหนื่อย​

ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ คนแต่ก่อนเขาจะคิดในเรื่องของเขาเอง จะหาอยู่หากินอย่างไรถึงจะเอาตัวรอด เจ็บไข้จะไปทำอย่างไร ไปหาพระ หายาหม้อหาอะไรมากิน เดี๋ยวนี้วัตถุมันมีมากมาย แต่วัตถุทั้งหลายต้องเอาเงินซื้อทั้งนั้นเลย มันไม่เหมือนแต่ก่อน ไปจับปลาไปทำนาอะไรอย่างนี้ มันไม่ต้องมีเงินเลยก็อยู่ได้ ทุกวันนี้ถ้าไม่มีเงินก็อยู่ไม่ได้แล้ว คนก็เลยเห็นความสำคัญของเงิน พยายามหาให้มากที่สุด รวยได้ก็ยิ่งดี เหนือคนอื่น

สิ่งที่บริโภคทุกวันนี้ มันเกินกว่ามาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีวิต เกินไปเยอะเลย อย่างเราต้องถือกระเป๋าลูกหนึ่งเป็นแสนอย่างนี้ ประสาทกินแล้ว ต้องหาเงินมามากมายซื้อกระเป๋ามีแบรนด์ ราคาแพงๆ รองเท้าคู่หนึ่งตั้งหลายหมื่น เราถูกกระตุ้นให้บริโภคเกินความจำเป็น เราต้องทำงานให้หนักเพื่อหาเงินให้มาก ไม่รู้ชีวิตนี้มันมีความสุขมากขึ้น หรือมันมีความทุกข์มากขึ้น อยากมีเร็วๆ ก็ไปกู้เงินมา มีชีวิตที่เป็นหนี้ พระพุทธเจ้าท่านบอก “ความเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก” เราก็ดีใจภูมิใจว่ามีเครดิต ต้องเป็นหนี้ถึงจะดี แสดงว่ามีเครดิต คนไหนไม่มีใครยอมให้กู้ ไม่มีเครดิต ก็เป็นหนี้กันเต็มบ้านเต็มเมือง บางอาชีพเป็นหนี้อย่างไม่น่าเชื่อเลย อาชีพครูอย่างนี้ ครูเป็นหนี้เยอะมาก เป็นหนี้จนกระทั่งทำงานจนเกษียณยังใช้หนี้ไม่หมด

ทำไมต้องเป็นหนี้กันเยอะ เพราะว่ามันต้องการบริโภคสูง อันนี้ไม่ได้ว่าครู หมายถึงทั่วๆ ไป ยิ่งเราต้องการบริโภคสูง ก็ต้องหาเงินมากๆ ชีวิตก็เลยต้องเอาชีวิตทั้งหมดไปทุ่มเทกับการทำงาน บางคนได้จังหวะมีโอกาส หรือมีบุญหนุนหลัง หากินง่ายหากินถูกช่องก็รวยขึ้นมา แต่ไม่นานสังคมมันก็เปลี่ยน เศรษฐกิจมันก็เปลี่ยน ที่เคยรวยมันจะไม่รวยแล้ว

อย่างเมื่อ 30 ปีก่อน หลวงพ่ออยู่องค์การโทรศัพท์ องค์การโทรศัพท์รวย คนก็อยากมาขอเบอร์โทรศัพท์ ไม่มีจะให้ด้วยซ้ำไป เป็นสินค้าขาดแคลน ตู้โทรศัพท์สาธารณะวันหนึ่งๆ ได้เงิน 70 ล้าน ตู้โทรศัพท์ พอมาถึงวันนี้ก็เปลี่ยน ไม่มีใครเขาใช้แล้วตู้โทรศัพท์ ซูเปอร์แมนจะมาเปลี่ยนกางเกงก็ไม่มี เขารื้อตู้ไปเกือบหมดแล้ว ถัดจากช่วงโทรศัพท์มีสาย ก็มาสู่ยุคไร้สาย ยุคนั้นใครทำก็รวยๆ มาถึงวันนี้ ก็เริ่มรู้สึกไม่ไหวอีกแล้ว ทุกอย่างมันเปลี่ยนเร็ว สิ่งที่เคยหากินได้ง่ายๆ ถึงจุดหนึ่งมันทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวรวดเร็วมากเพื่อจะอยู่รอด

ปรับตัวมากๆ เครียด โรคจิตถามหา โรคซึมเศร้าถามหาเยอะแยะเลย กระทั่งเด็ก เด็กก็ถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนมากๆ เรียนพิเศษ เรียนอะไร ไม่มีเวลาไปวิ่งเล่นเลย เด็กไม่เหมือนเด็กรุ่นหลวงพ่อมีเวลาวิ่ง ทำโน่นทำนี่ เด็กรุ่นนี้มีเวลาปุ๊บ ต้องเรียนพิเศษ ไม่รู้เรียนอะไรกันนักหนา สถิติหลังๆ พบว่าเด็กเป็นโรคซึมเศร้าเยอะ เด็กมีแนวโน้มที่จะลำบาก จิตใจไม่ค่อยปกติแล้ว เพราะมันเครียดจัด

เราพัฒนาจนกระทั่งคนไม่มีความสุข ทีแรกเราคิดว่าพัฒนาเศรษฐกิจดีๆ แล้วคนจะมีความสุข จอมพลสฤษดิ์ก็บอก “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” คิดว่ามีเงินแล้วจะมีความสุข ยุคนี้มีเงิน เงินเฟ้ออีกแล้ว ไม่รู้จะมีความสุขไปได้อย่างไร ใจมีแต่ความเคร่งเครียด เหน็ดเหนื่อย เศรษฐกิจมันเป็นอย่างนี้ เทคโนโลยีในการผลิตมันเป็นอย่างนี้ เราจะไปหยุดมัน ก็หยุดไม่ได้หรอก แต่จะอยู่กับมันอย่างไรที่ทุกข์ให้น้อยๆ หน่อย อยู่กับมันอย่างฉลาด ไม่ใช่อยู่อย่างโง่ๆ ถูกมันลากๆ ไปเรื่อยๆ ในหลวงองค์ก่อน ท่านพยายามบอกให้เรารู้จักพอเพียง ถ้าเราอยู่อย่างนั้นได้ เราก็อยู่ได้ อาจจะไม่หรูหรา ไม่โก้เหมือนคนอื่น แต่ก็ไม่เครียดเท่าคนอื่น ทำไมต้องการความสุข แต่สิ่งที่ได้มาคือความเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน แล้วก็ความทุกข์ ความเครียด ถึงจุดนี้ธรรมะจะช่วยเราได้

 

อยู่กับโลกโดยมีความทุกข์น้อยๆ

คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักธรรมะ คิดว่าเข้าวัดต้องไปไหว้โน้นไหว้นี้ ไหว้นางตะเคียน ไหว้พระพิฆเนศ ไหว้โน่นไหว้นี่ ไหว้กระทั่งเด็กไม่นุ่งผ้า ชื่ออะไร ไอ้ไข่ๆ ไหว้หมด เพราะอะไร ชีวิตมันไม่มีที่พึ่ง แต่พวกเรามีโอกาสได้เรียนธรรมะแล้ว เรารู้วิธีที่จะฝึกจิตตัวเอง เราสามารถอยู่กับโลกได้โดยมีความทุกข์น้อยๆ ไม่ถึงขั้นอยู่กับโลกแล้วไม่ทุกข์เลยหรอก ถ้าภาวนาจริงจังอันนั้น จิตพ้นโลกไปแล้ว ถึงจะพ้นทุกข์จริงๆ

อย่างถ้าเราได้ธรรมะเบื้องต้น โสดาบัน สกิทาคามีอะไรพวกนี้ ก็ยังไม่พ้นโลก โลกยังกระทบได้แรงอยู่ แต่คนส่วนใหญ่มันไม่ได้ ไม่ได้กระทั่งโสดาบัน ถ้าเราไม่ได้โสดาบัน เราก็พยายามเดินอยู่ในร่องรอยที่จะไปสู่ความเป็นผู้อยู่เหนือโลกในวันหนึ่งข้างหน้า ผู้อยู่เหนือโลก คำว่า เหนือโลก ก็คือคำว่า โลกุตตระนั่นเอง หนทางยังมีอยู่ เส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ คือเส้นทางของการเจริญสติ เจริญปัญญา พวกเรายังมีบุญ เราได้เรียนรู้ธรรมะที่จะพัฒนาจิตใจตัวเอง

อย่างถ้าเรากับพี่น้องเรา หรือเพื่อนเราสนิทๆ โตมาด้วยกัน เรียนมาด้วยกัน ทำงานเหมือนๆ กัน แต่คนหนึ่งไม่ได้ภาวนา คนหนึ่งหัดภาวนา แรกๆ แยกไม่ออก แต่ผ่านไปหลายๆ ปี จะเกิดความแตกต่างที่เห็นได้ รู้ได้ คนหนึ่งก็ยังสกปรกมอมแมม เปื้อนโคลน เปื้อนฝุ่นอยู่กับโลก คำว่าฝุ่น ก็คือพวกธุลีนั่นเอง พวกกิเลสนั่นล่ะ เป็นฝุ่นของโลก ในขณะที่คนที่ภาวนาก็ดูสะอาดสะอ้านมากขึ้นๆ แต่ละคนมันก็เป็นไปตามกรรมของตัวเอง มีกรรมที่หลงโลก มันก็จมอยู่กับความสกปรกของโลกไม่รู้จักจบจักสิ้น

มาหัดภาวนา ภาวนาปฏิบัติ เจริญสติ รักษาศีล สร้างสมาธิ เจริญปัญญาไป เวลาผ่านไปช่วงหนึ่งจะพบความแตกต่างๆ เราจะรู้สึกเลยว่าคนในโลกน่าสงสาร คนในโลกมันอยู่ในความมืดบอด เราไม่ได้ดูถูกเขา แต่ใจมันสงสาร แล้วก็นึกเมื่อก่อนเราก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ดีว่าเราได้พบธรรมะของพระพุทธศาสนา เราก็ลงมือปฏิบัติ เราก็สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ อันนี้เราจะรู้ได้ด้วยตัวเอง เราเคยทุกข์นานๆ ก็ทุกข์สั้นลง เคยทุกข์หนักๆ ก็ทุกข์เบาๆ ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ ใจมันเปลี่ยน ซึ่งเรารู้ได้ด้วยตัวเอง มันเห็นด้วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าปล่อยเวลาให้เสียไปเปล่าๆ วันๆ ยุ่งกับโลกตลอดเวลา มีข่าวโน้นข่าวนี้ เดี๋ยวก็เรื่องการเมือง เดี๋ยวเรื่องเศรษฐกิจ เดี๋ยวเรื่องสงคราม เดี๋ยวเรื่องทางสังคมจิตวิทยา ข่าวสารสังคมนี่เรื่องพระเรื่องอะไรอย่างนี้ มันมีแต่ความวุ่นวายไปหมดเลย

ในโลกไม่มีอะไรอย่างอื่นหรอกนอกจากทุกข์ เกลียดมันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะต้องอยู่กับมัน แต่อยู่กับมันแล้ว ฝึกพัฒนาใจตัวเองให้ดี พยายามเจริญสติไว้ วิธีเจริญสติง่ายๆ หัดอ่านใจตัวเองไว้ ใจของเราตอนนี้สุขให้รู้ทัน ใจของเรามีความทุกข์ให้รู้ทัน ใจของเราเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ให้รู้ทัน ใจของเราเป็นบุญเป็นกุศล เช่น เราเกิดศรัทธาอยากฟังธรรม อยากไหว้พระสวดมนต์อะไรอย่างนี้ หรือบางวันใจเรามีความเพียรขยันภาวนาอะไรอย่างนี้ เราก็มีสติรู้ไป จิตใจเรามีศรัทธา เราก็รู้ บางวันศรัทธามันก็ตก เพราะปุถุชนนั้นศรัทธามันผลุบเข้าผลุบออก

โบราณเขาบอกว่าปุถุชน ศรัทธาของปุถุชน เขาเรียกศรัทธาหัวเต่า รู้จักหัวเต่าไหม หัวเต่า เดี๋ยวมันก็ยื่นหัวออกมา เดี๋ยวก็หดลงไป ผลุบๆ โผล่ๆ นั่นล่ะศรัทธาของปุถชนล่ะ เดี๋ยวก็ศรัทธา เดี๋ยวก็ไม่ศรัทธา เมื่อไรสิ่งที่เราศรัทธาให้ผลประโยชน์เรา เราก็ศรัทธา เมื่อไรขัดผลประโยชน์เรา เราก็ไม่ศรัทธา เวลาจิตมันมีศรัทธาขึ้นมาก็รู้ มันอยากฟังธรรมแล้ว รู้ทันมัน หรือมันเบื่อ ขี้เกียจจะฟังธรรมแล้ว อยากจะนอน หรืออยากจะไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์อะไรอย่างนี้ ใจก็รู้ทัน รู้ทันจิตใจของตัวเองไว้ หรือใจเราโลภ ใจเราโลภเราก็รู้ ใจเราโกรธ เราก็รู้ ใจเราหลงไป ใจลอยก็รู้ ใจเราฟุ้งซ่านก็รู้ ใจเราหดหู่ก็รู้ หรือใจเราสงบ เราก็รู้

ใจเราเป็นอย่างไร คอยรู้ไว้ ใจเราเกิดความเมตตาอะไรอย่างนี้ เราก็รู้ ความเมตตาหายไป เกิดโทสะ เราก็รู้ ใจเรามีความกรุณา อย่างเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยาก เห็นสัตว์อื่นตกทุกข์ได้ยาก มีความกรุณา อยากช่วยสงเคราะห์ให้เขาพ้นทุกข์ เราก็รู้ว่าใจเรามีความกรุณา กรุณาแล้วมันไม่ได้อย่างใจ โทสะมันจะเข้ามาแทนที่กรุณา เป็นธรรมะที่เป็นคู่ปรับกันเลย ความกรุณากับโทสะ เราจะหงุดหงิดขึ้นมา อย่างเราหวังดีกับคนๆ หนึ่ง เราแนะนำเขา อย่าไปเล่นเงินอะไร เดี๋ยวนี้เขามีเงินอะไรประหลาดๆ อย่าไปเล่นเลย เดี๋ยวก็เจ๊งอะไรอย่างนี้ แล้วเขาไม่เชื่อ เขาไปเล่น เราก็หงุดหงิด เราจะหงุดหงิดมากเลย ถ้าเขาเล่นแล้วเขารวยขึ้น เรายิ่งหงุดหงิดกว่าเก่าอีก อันนี้เขาเรียกว่าอิจฉา ใจเกิดความอิจฉา เราก็รู้ทัน

 

เฝ้ารู้เฝ้าดู สังเกตความจริง

หัดรู้ทันใจของเราที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเลย พอมันได้ยินเรื่องนี้ ใจมันก็เปลี่ยนอย่างนี้ พอมันเห็นอย่างนี้ ใจมันก็เปลี่ยนอย่างนี้ พอมันคิดเรื่องนี้ ใจมันก็เปลี่ยนอย่างนี้ คอยรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตนเองสม่ำเสมอ รู้ไปเรื่อยๆ พอเรารู้ไป ต่อไปเราก็จะรู้ว่าทุกสิ่งที่มันผ่านเข้ามาในจิตใจเรา มันเป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย ความสุขก็เป็นของชั่วคราว ความทุกข์ก็เป็นของชั่วคราว ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็ชั่วคราว กุศลก็ชั่วคราว อย่างบางทีก็ศรัทธา บางทีก็ไม่ศรัทธา บางทีก็มีความเพียร บางทีก็ ขี้เกียจอะไรอย่างนี้ บางทีก็มีสติ บางทีก็ขาดสติ มีสติก็เป็นกุศล ขาดสติก็เป็นอกุศล บางทีก็มีปัญญา เห็นโลกตามความเป็นจริง บางทีก็หลงโลก ไม่มีปัญญา ใจเราเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เราจะเห็นว่าไม่ว่ากุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น เฝ้ารู้อย่างนี้ ต่อไปเวลาใจเรามีความสุข หรือใจเราเป็นกุศล ใจเราก็ไม่กระเพื่อมขึ้น เวลาใจเรามีความทุกข์ หรือใจเราเป็นอกุศล ใจเราก็ไม่ทรุดลงไป ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง ไม่กระเพื่อมขึ้น ไม่กระเพื่อมลง ใจเราเป็นกลางในทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะค่อยๆ ฝึกเจริญสติ เจริญปัญญาไป จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง ใจเราจะเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อใจเราจะเป็นกลางแล้ว ใจเราจะไม่หวั่นไหว ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเรา จะเกิดสงครามโลกขึ้นตอนนี้ ใจเราก็ไม่หวั่นไหว จะถูกฆ่าตายตอนนี้ ใจก็ไม่หวั่นไหว เพราะร่างกายมันเป็นของโลก ถ้ามันต้องแตกต้องดับไป ก็เรื่องธรรมชาติ เรื่องธรรมดา ใจมันเป็นกลาง

เพราะฉะนั้นพอใจเราเป็นกลาง ใจมันจะไม่ค่อยหิว ใจมันหิว มันจะไม่เป็นกลางหรอก มันชอบอันนี้ มันเกลียดอันนี้ ใจมันก็จะหิวอารมณ์ หิวอารมณ์ที่ดี เกลียดอารมณ์ที่ไม่ดี ใจมีความหิวโหย หิวในรูปที่พอใจ หิวในเสียง หิวในกลิ่น หิวในรส หิวในสัมผัสทางกาย หิวในธรรมารมณ์ เรื่องราวทางใจ จะอยากได้อย่างนี้ ไม่อยากได้อย่างนี้ ใจพอมีความอยากขึ้นมา ใจก็จะดิ้น ตรงที่ใจมีความอยากนั้นเรียกว่าตัณหา ตัณหานั้นก็คือตัวความอยากของจิต ตรงที่มันดิ้นรน เขาเรียกว่าภพ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ใจเรายังมีความอยากอยู่ ใจเราก็ยังดิ้นรนอยู่ มีภพทีไรก็มีทุกข์ทุกที ความทุกข์ในจิตใจจะเกิดขึ้นทุกครั้งไป

เรามาหัดเจริญสติเจริญปัญญา จนถึงจุดหนึ่งใจเราเป็นกลาง พอใจเราเป็นกลาง ใจเราก็ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง ไม่ได้อยากอันนั้น ไม่ได้เกลียดอันนี้ เป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ตัณหามันก็ทำงานไม่ได้ ภพมันก็ไม่เกิด ความทุกข์มันก็ไม่มี มีตัณหาเป็นผู้สร้างภพ มีภพทีไร ก็มีทุกข์ทุกที พระพุทธเจ้าท่านสอน ไม่ว่าจะภพดีภพวิเศษแค่ไหน ก็ทุกข์ทั้งสิ้น สมมติเราเป็นภพ เราเป็นเศรษฐีอย่างนี้ เราภูมิใจเหลือเกิน เราเป็นเศรษฐี เศรษฐีก็ทุกข์อย่างเศรษฐี คนจนก็ทุกข์อย่างคนจน ไม่ว่าจะเป็นภพอะไร มันก็ทุกข์ทั้งหมดเลย เป็นลูก มันก็ทุกข์อย่างลูก เป็นพ่อเป็นแม่ มันก็ทุกข์อย่างพ่ออย่างแม่ เป็นสามี มันก็ทุกข์อย่างสามี เป็นภรรยา มันก็ทุกข์อย่างภรรยา ไม่ว่าเป็นอะไร ก็เป็นทุกข์ทุกทีเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นไม่มีอย่างอื่นหรอกนอกจากทุกข์ ที่เราว่าเราเป็นโน้นเราเป็นนี้ จริงๆ เราเป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นอย่างอื่นหรอก

เราค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตความจริงไป มันไม่ได้เรื่องยาก ใจเราสุข เรารู้ ใจเราทุกข์ เรารู้ ใจเราเฉยๆ เรารู้ ใจเราดี เรารู้ ใจเราชั่ว โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่อะไรขึ้นมาเรารู้ คอยรู้คอยดูไปเรื่อยๆ มันก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ความสุขก็ไม่ยั่งยืน ความทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน ความเฉยๆ ก็ไม่ยั่งยืน พอมันเห็นอย่างนี้ มันก็จะหมดความหิวในความสุข เพราะความสุขเป็นของไม่ยั่งยืน แล้วจะดิ้นรนไปหามันเอาอะไรนักหนา มันเป็นของไม่ยั่งยืน ทุกวันนี้มนุษย์ทั้งหลายดิ้นรนหาความสุข แล้วก็ทำความทุกข์ให้ตัวเองมากมาย อย่างคิดว่ารวยแล้วจะสุข มีทรัพย์สินเงินทองมาก มีเครื่องใช้เยอะ มีกระเป๋าราคาหลักแสน มีรถยนต์หลักสิบล้านอะไรอย่างนี้ คิดว่าจะมีความสุข เอาจริงไม่ได้มีความสุขหรอก ไม่ว่ามีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นล่ะ พระพุทธเจ้าท่านเคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา มีวัวก็ทุกข์เพราะวัว มีอะไรก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้นทั้งหมดล่ะ

เราเฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ใจเราจะค่อยๆ เป็นกลาง ที่ความสุขที่ดิ้นรนมานั้น เอาเข้าจริงก็สร้างความทุกข์ให้เราตั้งแต่ดิ้นรนแสวงหาความสุขแล้ว พอมีความสุขเกิดขึ้น ใจก็กังวลอีกแล้ว กลัวความสุขจะหายไป ใจมันจะเป็นอย่างนี้ ไม่มีความสงบสุขแท้จริงเลย หรือกุศล อกุศล ในทางจริยธรรม กุศลกับอกุศลไม่เท่าเทียมกัน กุศลนั้นนำความสุขมาให้ อกุศลจะนำความทุกข์มาให้ แต่ในทางปรมัตถธรรม กุศลและอกุศลก็เป็นสภาวธรรมอย่างเดียวกันล่ะ คือสภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เสมอกัน จิตที่เป็นกุศลมันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อกุศลทั้งหลายมันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

อย่างเราภาวนา บางทีจิตเราสงบสุข มีปีติ มีความสุข มีความเบิกบาน ใจเราแน่วแน่ต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อะไรนี่ มีความสุข มันอยู่ชั่วคราว สภาวะนี้ก็หายไป ใจก็เริ่มเดือดร้อนรำคาญหงุดหงิด ถ้าเราไม่ได้ภาวนา พอใจเราเดือดร้อนรำคาญ เราก็ยิ่งดิ้นหนักกว่าเก่าอีก เพื่อจะให้แก้ความทุกข์ที่กำลังเกิด แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติในขั้นทำวิปัสสนาจริงๆ เวลาใจเราเดือดร้อนเป็นทุกข์ ใจเราเศร้าหมอง ใจเรามีกิเลส ไม่ต้องตกใจ ดูลงไปเลย อย่างใจเราโกรธ ดูลงไปสิ ความโกรธนี้จะยั่งยืนแค่ไหน ไม่ใช่ไปดูให้หายโกรธ

 

เวลาจิตใจเราเศร้าหมองขึ้นมา ไม่ใช่ไปดูให้หาย
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น

ท่านบอกว่า “จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ”
ท่านไม่ได้บอก ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้ละเสีย
ไม่เคยสอนเลย

 

อย่างพอจิตเรามีโทสะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะไปดู เมื่อไรจะหายๆ จิตมันไม่เป็นกลาง จิตมันมีตัณหาที่จะอยากให้สภาวะอันนี้ดับไป เรียกว่าวิภวตัณหา พอมีวิภวตัณหา ใจก็ดิ้นเหมือนกัน ทำอย่างไรจะหายๆ ก็ยิ่งดิ้นก็ยิ่งทุกข์ล่ะ แต่ถ้าใจเราฉลาด เราก็จะเห็นความโกรธเกิดขึ้น ใจเราเป็นคนรู้คนดู เราก็จะเห็นความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แต่ถ้ายังไม่เห็นตรงนี้ใจมันจะดิ้น สอนมันสักนิดหนึ่งก็ได้ อย่างเราโกรธ แทนที่จะไปคิดว่าเมื่อไรจะหายๆ ลองคิดใหม่ ไหนอยากดูสิ เธอจะโกรธได้นานสักแค่ไหน ดูตัวเอง แล้วพูดกับมันเลย ไหนๆ จะโกรธได้นานแค่ไหน ดูอย่างนี้ รับรองเลย ความโกรธตัวนั้นจะหนีเรากระเจิดกระเจิงเลย ถ้าพูดแบบสำนวนชาวบ้านๆ มันจะหนีเราไป เหมือนหมา วิ่งหางจุกตูดเลย ถ้าสำนวนชาวบ้าน กิเลสมันจะวิ่งหนีเลย มันอยู่ไม่ได้หรอก มันทนสติ ทนปัญญาไม่ได้

เพราะฉะนั้นเวลาใจเราเศร้าหมอง อย่าไปดูว่าเมื่อไรมันจะหายเศร้า เมื่อไรมันจะหายหมอง ดูลงไปสิ ทำใจสบายๆ ดูสิ เออ ไหนดูสิ แกจะหมองได้นานแค่ไหน แกจะเศร้าได้นานแค่ไหน ดูเข้าไปตรงๆ อย่างนี้เลย หัดรู้อะไรที่มันซื่อๆ ตรงๆ บ้าง แล้วก็เราจะเห็นความจริง สิ่งที่ไม่ดี ความทุกข์ทั้งหลายในใจ กิเลสทั้งหลายในใจ ถ้าเรารู้มันตรงๆ รู้มันอย่างเป็นกลาง ไม่ได้เกลียดมัน มันจะกระเด็นหายไปทันทีเลย ความทุกข์ในใจ จิตที่มีความทุกข์ในใจได้ เป็นจิตชนิดหนึ่งเรียกว่าโทสมูลจิต จิตที่มีโทสะเป็นรากเป็นฐาน เพราะฉะนั้นจิตที่มีราคะมีความสุขได้ แต่ถ้าใจเราเศร้าหมอง เป็นทุกข์ละก็ ให้รู้เลยว่าจิตกำลังมีโทสะอยู่ ถ้าจิตมันมีโทสะ จิตมันเศร้าหมอง มันเป็นทุกข์ รู้มันตรงๆ

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนว่าเวลามีความสุขก็ให้รู้ เวลามีความทุกข์ก็ให้รู้ เฉยๆ ก็ให้รู้ อยู่ในสติปัฏฐาน อันนี้เป็นเรื่องของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวลาใจเรามีโทสะ หงุดหงิด รำคาญ ไม่ชอบ เศร้าโศกเสียใจ อันนี้ตระกูลโทสะ ท่านก็บอก “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ” ไม่ใช่ให้ละ แต่ให้รู้ เพราะฉะนั้นเวลาจิตใจเราเศร้าหมองขึ้นมา ไม่ใช่ไปดูให้หาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกว่า “จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ” ท่านไม่ได้บอก ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้ละเสีย ไม่เคยสอนเลย

ท่านสอนบอกว่า “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ” พอเรารู้ว่ามีราคะ ราคะก็ดับ แล้วจิตก็ไม่มีราคะ เราก็ดูไป จิตไม่มีราคะอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับอีกล่ะ หรือถ้าเราขี้โกรธ เราก็จะเห็นเลย จิตมันมีโทสะ พอเรารู้ซื่อๆ ตรงๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง มันก็ดับให้เราดู เราเห็นแล้ว จิตมีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะ มันจะกลายเป็นจิตไม่มีโทสะ พอจิตมันไม่มีโทสะ เราก็รู้ ท่านก็สอนต่อ “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ว่าไม่มีโทสะ” พอเราดูไป โทสะดับไป

จิตไม่มีโทสะทำอย่างไรต่อ ไม่ใช่ทำอะไรต่อ ให้รู้ว่ากำลังไม่มีโทสะเท่านั้นล่ะ พวกเราในใจมันลึกๆ มันจะคอยคิดว่าจะทำอย่างไรดี จะทำอะไรต่อ มันคิดแต่คำว่าจะทำโน่นจะทำนี่ ทำอย่างนี้ถูก ทำอย่างนี้ผิด ถ้าทำวิปัสสนา มันมี verb อยู่ตัวเดียว มีกิริยาตัวเดียว คือคำว่า เห็น เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นเวทนาอย่างที่เวทนาเป็น เห็นสังขารอย่างที่สังขารเป็น เช่น ความโลภ โกรธ หลง อยู่ในสังขาร คือสังขารขันธ์ อยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป จะเห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับเสมอกันหมด

 

จิตเข้าถึงความเป็นกลาง

พอใจเราภาวนามากๆ เราเห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตใจเราจะค่อยๆ เป็นกลางมากขึ้นๆ อย่างแต่เดิมเราหิวความสุข พอเราภาวนาเรื่อยๆ เราก็จะเห็นความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ความหิวในความสุขมันก็จะลดลง ไม่รู้จะดิ้นรนหาอะไรหนักหนา เหน็ดเหนื่อยแทบตาย อย่างคนในโลกทั่วไปมันดิ้นรนหาความสุขทั้งนั้นล่ะ ถึงขนาดไปเล่นงานพระ เล่นงานเจ้าอะไร เพราะอยากมีความสุขนั่นล่ะ ไม่ได้อยากทุกข์อะไรหรอก ถ้าเฝ้าดูลงไป โอ้ ที่หาความสุข ที่จริงคือหาความทุกข์ แล้วความสุขที่ได้มาก็ไม่ยั่งยืน ใจมันเห็นอย่างนี้ หรือเวลาความทุกข์เกิดขึ้น เราก็เห็น ความทุกข์ก็เป็นของไม่ยั่งยืน ความสุขก็ไม่ยั่งยืน ใจจะค่อยๆ โน้ม ไปสู่ความเป็นกลาง

มันเป็นกลางเอง ไม่ต้องไปทำให้มันเป็นกลาง ถ้าไปทำให้มันเป็นกลาง มันก็เกินจากคำว่าเห็นไปแล้ว เห็นจิตใจมันสุข เห็นจิตใจมันทุกข์ เห็นเฉยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญา มันจะเกิด สุขกับทุกข์นั้นเท่าเทียมกัน ด้วยความเป็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยงเหมือนๆ กัน ทนอยู่ไม่ได้เหมือนๆ กัน บังคับไม่ได้ตามใจชอบเหมือนๆ กัน พอจิตมันเข้าสู่ความเป็นกลาง มันก็จะหยุดการดิ้นรน พอเป็นกลาง มันก็คือมันจะไม่อยากต่อแล้ว ที่มันมีตัณหาขึ้นมา เพราะมันไม่ยอมเป็นกลางนั่นล่ะ ถ้ามันเป็นกลาง มันก็ไม่ต้องอยาก อย่างมันเป็นกลางต่อความสุข เป็นกลางต่อความทุกข์ มันก็ไม่ได้อยากได้ความสุข ไม่ได้อยากหนีความทุกข์ เมื่อไม่มีความอยาก ความดิ้นรนของจิตก็ไม่เกิด จิตใจก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงความสงบสุข ไม่ดิ้น

ถ้าอินทรีย์แก่กล้าพอ ศีล สมาธิ ปัญญาแก่กล้าพอ อริยมรรค อริยผลก็จะเกิดขึ้น เกิดเอง ไม่มีใครสั่งให้เกิดได้ เพราะฉะนั้นเราหัดรู้หัดดูสภาวะทั้งหลายที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในปัจจุบัน เกิดขึ้นในจิตในใจเรานี่ล่ะ เกิดตลอดเวลา ดูจนกระทั่งจิตเข้าถึงความเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง จิตจะหมดการดิ้นรน หมดความหิวโหย ถ้าสติ สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว การที่เราฝึกรู้ฝึกดูนั่นล่ะ จากไม่เคยมีศีล ก็จะมีศีล จากไม่เคยมีสมาธิที่ถูกต้อง ก็จะมีสัมมาสมาธิ จากที่ไม่เคยเห็นไตรลักษณ์ ก็จะเห็น ในที่สุดจิตก็เป็นกลาง ฉะนั้นการที่เรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองนั่นล่ะ ศีล สมาธิ ปัญญามันจะสมบูรณ์ขึ้น เมื่อศีล สมาธิ ปัญญามันสมบูรณ์แล้ว อริยมรรคก็จะเกิดขึ้นเอง เราไม่ต้องสั่งถึงจุดหนึ่ง มันเกิดเอง จะห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ มันเกิดได้เองอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นหน้าที่เราทำอย่างไร หน้าที่เราไม่ใช่ไปทำมรรคผลให้เกิด เพราะบอกแล้วไม่มีใครทำได้ หน้าที่เราก็คือเจริญสติไป มีสติรู้กายอย่างที่กายเป็น มีสติรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น เวทนาที่ดูง่ายคือเวทนาทางใจ เวทนาทางกายเล่นยาก จิตไม่ทรงฌานจริง ดูเวทนาทางกาย ทุกข์หนักๆ สติแตกเอา ฉะนั้นแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ในใจเรา รู้ไปเรื่อยๆ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ตอนนี้ใจเราสุขเราก็รู้ ตอนนี้ใจเราทุกข์เราก็รู้ ตอนนี้ใจเราเฉยๆ เราก็รู้ ก็หัดอย่างนี้ไป หรือใจเราเป็นกุศลขึ้นมา เราก็รู้ ใจเราเป็นอกุศลขึ้นมา เราก็รู้

เมื่อรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อไปจิตมันจะค่อยๆ ฉลาด มันจะรู้ว่าธรรมะทั้งหลายที่เป็นคู่ๆ สุขหรือทุกข์ก็ของคู่กันใช่ไหม ดีหรือชั่ว มันก็ของคู่กัน สิ่งที่เป็นคู่ๆ ทั้งหลาย มันเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ สุขกับทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงเหมือนกัน ถูกบีบคั้นให้แตกสลายเหมือนกัน บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้เหมือนกัน ดีกับชั่วก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีหรือชั่วก็เป็นของไม่เที่ยง ความดีหรือความชั่วเกิดขึ้น จิตที่ดีหรือจิตที่ชั่วเกิดขึ้น ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เดี๋ยวก็ดับ เพราะฉะนั้นจิตจะดีหรือจิตจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ นั่นคืออนัตตา พอเห็นอย่างนี้ เห็นไตรลักษณ์ซ้ำๆ ซ้ำๆ ลงไป จิตมันจะเป็นกลางเอง ต้องเติมคำว่าเอง มันเป็นกลางเอง แต่ถ้าเราพยายามให้มันเป็นกลาง มันจะเป็นกลางเอ๋ง มันจะไม่เองหรอก เพราะฉะนั้นพยายามดูซ้ำแล้วซ้ำอีก

การภาวนาไม่มีอะไรมาก เห็นกายอย่างที่กายเป็นเห็นเวทนาอย่างที่เวทนาเป็น เห็นจิตใจที่เป็นกุศล อกุศลอย่างที่มันเป็น หรือถ้าละเอียดขึ้นไป เราก็จะเห็น กระทั่งตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตที่เป็นคนรู้คนดูนี่ล่ะ ทีแรกเรามีจิตที่เป็นคนรู้คนดูไปดูกาย แล้วก็เห็นกายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เรามีจิตที่เป็นคนรู้คนดูเป็นผู้เห็นไปรู้เวทนา เราก็เห็นเวทนาตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เรามีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่ สติไประลึกรู้กุศลอกุศลที่เกิดขึ้น เราก็จะเห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ แล้วตัวจิตเอง ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ผู้เห็น เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง

เฝ้าดู ฝึกไปเรื่อยๆ ในที่สุด จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง หมดความหิวโหย โลกก็อยู่ส่วนโลก โลกก็กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง แต่ใจเราไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง เพราะเราเข้าใจโลกแล้ว โลกก็คือรูปกับนาม เรียนรูปนามของตัวเอง ดูกายดูใจตัวเอง ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะเข้าใจโลกทั้งโลกเลย มันก็เหมือนกัน กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตลอด ไม่เคยหยุดนิ่ง ฝึกไป แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ

 

สติปัฏฐานคือทางสายเอก ทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

คนส่วนใหญ่เขายังเวียนว่ายอีกนาน ต้องสะสมบุญบารมีของเขาต่อไป การเดินทางในสังสารวัฏนี้ยาวนานมาก เวียนว่ายตายเกิดยาวนานเหลือเกิน บางทีตัณหา มานะ ทิฏฐิอะไรพวกนี้ลากเราลงทะเล ลากเราลงไปในนรกก็ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ วันหนึ่งจะได้พ้นจากมัน โลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์ เห็นแล้วสลดใจ สลดสังเวช ไม่มีอะไรจริงๆ ความโง่ คือตัวอวิชชานั่นล่ะ ตัวโง่ ทำให้เกิดตัณหา อยากโน้นอยากนี่ พอเรียนรู้ความจริงลงไป ทุกอย่างเกิดแล้วดับ โลกนี้มีแต่ความกระเพื่อมไหว กายนี้ใจนี้ของเรามีแต่ความกระเพื่อมไหว ไม่มีอะไรจริงจัง ไม่มีอะไรยั่งยืน ใจมันจะค่อยๆ คลายตัวออกจากโลก คลายออกเป็นลำดับๆ ไป ฝึก ไม่มีทางเลือกที่สองหรอก นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน มีสติ รู้กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่มีอย่างอื่น ไม่มีเส้นทางที่สอง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าสติปัฏฐาน การที่มีสติรู้กาย รู้เวทนา รู้จิตที่เป็นกุศล อกุศล รู้รูปธรรมนามธรรมทั้งปวง นั่นล่ะคือทางสายเอก ทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

เราต้องเห็น ถ้าเราเรียนด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง ด้วยการคิด กิเลสไม่สะเทือนเลย เรียนตำรามากๆ บางทีเซลฟ์จัด บางทีหลงผิดอะไรได้ง่ายๆ เลย บางทีก็ตีความธรรมะเพี้ยน เพราะว่ามีกิเลสอยู่ แต่หัดรู้จิตใจตัวเอง มันจะไม่มีการตีความธรรมะ เพราะมันเห็น ถ้าเรายังไม่เห็นก็อาศัยคิดเอา ตีความเอา ถูกบ้างผิดบ้าง ฉะนั้นไม่มีวิธีที่สองที่พาเราสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน พยายามศึกษาเข้า

ธรรมะที่พวกเราควรจะเรียนรู้ อย่างน้อยก็รู้ว่ามันคืออะไร อย่างรูปธรรมนามธรรม ขันธ์ 5 อายตนะ 6 อะไรอย่างนี้ เรียนลงไป ไตรลักษณ์ สติปัฏฐาน 4 อะไรนี่ ลองไปอ่านพระไตรปิฎกในเรื่องเหล่านี้ อ่านเข้าใจ เราจะคลำเส้นทางได้ หลวงพ่อเริ่มต้น หลวงพ่อก็อ่านจากพระไตรปิฎกนั่นล่ะ ใครพูดธรรมะอะไรเราก็เข้าใจ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ ฟังใครพูดอะไร เราก็รู้หมด เพราะเราก็อ่านมาแล้ว แต่มันรู้ด้วยการจำเอาๆ มันไม่ใช่รู้แจ้ง ต้องภาวนา ถึงจะรู้จริงๆ

หลวงพ่อเคยไปถามหลวงพ่อพุทธทาส ยุคก่อนท่านพุทธทาสเป็นพระที่ดังมาก เมืองไทยมีพระที่ดังสุดๆ เลย ที่มีความรู้แตกฉานถึงขีดสุดเลย ในยุคก่อนมี 2 องค์ คือหลวงพ่อพุทธทาสกับท่านประยุทธ์ ตอนนี้ท่านเป็นสมเด็จแล้ว 2 องค์นี้ความรอบรู้ของท่านมาก หลวงพ่อเห็นท่านพุทธทาสแต่งตำราเยอะแยะ แล้วหลวงพ่อก็อ่านของท่านแล้วหลวงพ่อก็เกิดมิจฉาทิฏฐิ โน่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง

วันหนึ่งไปประชุมกรรมการศาสนาในทำเนียบ เจออาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ หลวงพ่อก็พูดถึงนั่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง ท่านก็ เมตตาเรียกเข้าไปหา ก็ไปนั่งที่พื้น นั่งพับเพียบ ท่านเป็นระดับครูบาอาจารย์ ท่านเป็นฆราวาส ความรู้ท่านเยอะ ท่านแต่งพระไตรปิฎกฉบับประชาชน ท่านบอกว่าที่เราเข้าใจมันยังไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านไม่ได้สอนว่าตายแล้วสูญ ท่านไม่ได้สอนให้อยู่ๆ ก็ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างให้ว่างให้หมดอะไรนี่ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น ท่านก็สอน เราก็อึ้งเลย ที่เราอ่านตำรามาเยอะแยะ เราก็ตีความผิดหมดเลย อ่านพระไตรปิฎกแล้วก็ไปอ่านหนังสือท่านพุทธทาส แล้วก็ตีความผิด แล้วอาจารย์ สุชีพท่านแก้ให้

หลวงพ่อลงไปประชุมที่สุราษฎร์ ที่ไชยา ไปไชยา เลยเข้า ไปกราบหลวงพ่อพุทธทาส ไปถึงก็ไปถามท่าน ท่านอาจารย์ครับ “ท่านอาจารย์สอนว่าตายแล้วสูญหรือครับ” ท่านตอบว่าอย่างไรรู้ไหม “คุณเห็นเราเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือ” โห ท่านพูดคำเดียว เรารู้เลยว่าเราไปอ่านหนังสือท่านแต่เราไม่เข้าใจ เราตีความผิดว่าตายแล้วสูญ ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ตายแล้วเกิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วทำจิตให้ว่างมันก็มิจฉาทิฏฐิอีก หลวงพ่อเลยถามท่านต่อ “ท่านอาจารย์ครับ ถ้าผมอ่านหนังสือของท่านอาจารย์ทุกเล่ม ผมจะเป็นพระโสดาบันได้ไหม” ท่านตอบ “ไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติเอา” ท่านฟันธงเลย อ่านให้หมดเลย ที่ท่านเขียนเป็นตู้ๆ เลย อ่านให้หมดก็ไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติเอา หลวงพ่อฟังแล้วก็ปิ๊ง เพราะเราเข้าใจอย่างนั้นอยู่แล้วล่ะ เพราะเราเคยอ่านพระไตรปิฎกเป็นตู้ๆ อ่านแล้วก็ไม่เห็นจะบรรลุอะไร นอกจากความจำที่มากมาย แล้วก็เอาไปหัวเราะเยาะเย้ยคนที่เขาพูดผิดอะไรอย่างนี้ ก็มีแต่กิเลสล่ะ พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนดูจิตดูใจ ก็ดูอย่างที่สอนพวกเราวันนี้นั่นล่ะ ดูไปๆ ใจมันค่อยเป็นกลาง ถ้าใจเป็นกลาง ใจมันก็ไม่ดิ้นรน ใจมันก็เข้าถึงความสงบสุขเป็นลำดับๆ ไป ปฏิบัติเอาๆ ไม่มีทางที่สองหรอก นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 พฤษภาคม 2565