จิตเป็นผู้สัมผัสธรรมะ

โควิด ทางการเขาก็เตรียมจะให้เป็นโรคประจำถิ่น หลวงพ่อคุยกับทีมงาน ถ้าโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็จะเปิดวัด แต่การเข้ามาในศาลานี้ต้องใช้วิธีจองเหมือนเดิม คงไม่ให้วิ่งแย่งกันเหมือนแต่ก่อนนี้ ดูแล้วสลดสังเวช แย่งกันอะไรนักหนา ต้องแบ่งๆ กันไป ส่วนการส่งการบ้านหลวงพ่อจะใช้วิธี Zoom ต่อไป แล้วทั่วโลกก็ส่งได้เหมือนกันหมด เท่าเทียมกัน ยุติธรรม ไม่ใช่ส่งได้เฉพาะคนที่มาวัด คนที่อยู่ไกลๆ ไม่ได้มาวัด มีจำนวนมากกว่าคนมาวัดอีก เมื่อก่อนก็พูดอยู่เรื่อยอย่าแย่งกันเข้าศาลา อย่าแย่งกันกินข้าวพูดไปก็เท่านั้นล่ะ ก็แย่งกันเหมือนเดิม คือตราบใดที่เราคิดว่า ได้มาฟังธรรมใกล้ๆ หลวงพ่อแล้วจะได้ธรรมะ เข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงเลย คือถ้าเราไม่คิดลดละกิเลสของตัวเอง ไม่ลดละความเห็นแก่ตัว อย่างไรมันก็ไม่ได้ธรรมะ

ธรรมะเป็นของสะอาดบริสุทธิ์หมดจด แต่เราหล่อเลี้ยงความสกปรกเอาไว้ในใจเรา ไม่กล้าแตะมัน ใจมันก็ไม่เข้าสู่ความสะอาดหมดจดเสียที ไม่ได้ธรรมะเสียที อะไรที่มันเป็นกิเลสพยายามอย่าไปตามใจมัน ทุกๆ เรื่องไม่เฉพาะเรื่องแย่งกันฟังเทศน์หรอก สังเกตดูคนซึ่งไม่เห็นแก่ตัว ภาวนาให้ผลง่าย คนเห็นแก่ตัวมันภาวนาลำบาก ทำทุกอย่างก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น นั่งสมาธิก็หวังผลประโยชน์ว่าจะมีความสุข มีความสงบ มีหูทิพย์ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ มีอิทธิฤทธิ์ อันนี้ทำไปด้วยกิเลสทั้งหมด หรือเจริญปัญญากะว่าได้โสดาบันแล้ว จะทำบาปก็ไม่ตกนรก ใจลึกๆ ยังไม่ได้คิดจะละอกุศล อย่างนี้ไปไม่รอดหรอก

 

ไม่ต้องไปเที่ยวหาแสวงหาพระอริยะที่ไหน

พูดถึงโสดาบัน ยุคนี้เป็นยุคเห่อพระอรหันต์ เห่อพระอริยะกัน ใครจะเป็นพระอรหันต์ ใครจะเป็นพระอริยะไม่สำคัญหรอก สำคัญที่เรามีกิเลสแค่ไหน ได้พยายามลดละกิเลสไหม อย่างเราอยากเจอพระอรหันต์เพื่อจะได้ไปทำบุญด้วย หวังว่าทำบุญด้วยแล้วจะได้บุญเยอะๆ คิดจะเอา อย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร มันเห็นแก่ตัวอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นงานของเราจริงๆ คอยลดละความเห็นแก่ตัวของเราลงไป เรียนรู้ตัวเองไป จิตใจเราเห็นแก่ตัวรู้ทันไป กิเลสทั้งนั้น เมื่อกี้ก็บอกใครจะเป็นพระอรหันต์ไม่สำคัญหรอก สำคัญที่ว่าเราได้พยายามที่จะลดละกิเลสตัวเองหรือเปล่า

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างหนึ่งว่า ถ้ามีใครบอกว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกว่าไม่ต้องยอมรับแล้วก็ไม่ต้องปฏิเสธ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้ไปนานๆ ว่าบุคคลนั้นประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลาตัวเองไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจริงไหม ค่อยๆ สังเกตดู ฉะนั้นอย่าไปมัวแต่เห่อเที่ยวแสวงหาพระอรหันต์ พยายามสังเกตจิตใจตัวเองไป กิเลสอะไรมีอยู่ซ่อนอยู่ เรียนรู้มันเข้าไป ท่านอื่นท่านจะเป็นพระอรหันต์ก็เรื่องของท่าน กิเลสมันเรื่องของเรา เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครพูดกัน เรื่องใครบรรลุอะไรต่ออะไร ยุคหลังๆ นี้เยอะเหลือเกิน ถึงขนาดขึ้นทะเบียน มีทะเบียน แล้วทะเบียนนี้ก็ปรับปรุงเป็นระยะๆ เอาภูมิจิตภูมิธรรมอะไรไปวัดกัน เอาความรู้สึก เอาความเชื่อ มันใช้ไม่ได้หรอก อะไรซึ่งมันกำกวม ไม่ใช่ อะไรที่เป็นข้อกำกวม อย่างบางคนเขาเชื่อเขาเรียนปริยัติ เรียนอภิธรรม เขาบอกเลยว่ายุคนี้ไม่มีพระอรหันต์แล้ว พันปีที่หนึ่ง พ.ศ.ศูนย์ถึงหนึ่งพัน มีพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา พันปีที่สองมีพระอรหันต์ธรรมดา ของเราพันปีที่สามบอกมีแค่พระอนาคามี พันปีที่สี่มีแค่สกทาคามี พันปีที่ห้ามีแค่โสดาบัน ถัดจากนั้นไม่มีแล้ว อันนี้ก็เรื่องมโนเอาทั้งนั้น

ในพระไตรปิฎกไม่เคยบอกเลยเรื่องอย่างนี้ มีแต่ท่านบอกว่า “ถ้าเรายังเจริญสติปัฏฐานกันอยู่ การที่จะเอาชนะกิเลสก็เป็นไปได้ ถ้าภาวนาไปเรื่อยลดละกิเลสตัวเองไปเรื่อยๆ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์หรอก” เจริญอยู่ในองค์ของมรรค ฝึกตัวเอง ฉะนั้นบางทีตำรามันก็เชื่อไม่ได้ ตำรามันแต่งทีหลัง ในพระไตรปิฎกไม่มี คนที่เขาเรียนปริยัติ เขาได้ยินว่าใครเป็นพระอรหันต์ตอนนี้เขาปฏิเสธทันที ไม่ได้ใช้หลักที่แท้จริงใช้ท่องตำรามา ฉะนั้นมันกำกวม ส่วนคนที่ศรัทธามากได้ยินว่า ท่านนี้เป็นพระอรหันต์เชื่อเลย มีศรัทธามาก ที่ผ่านมาก็มีบ่อยๆ พระอรหันต์ปาราชิกไปก็มี มันหันปลอมๆ ไม่ใช่ของจริง พระดังๆ ตั้งหลายองค์ เมื่อก่อนคนก็เชื่อว่าพระอรหันต์ สุดท้ายสึกออกไปเยอะแยะเลย

ฉะนั้นมันเป็นเรื่องกำกวม พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ยอมให้พระประกาศ ตัวเองเป็นพระอรหันต์ ประกาศไม่ได้ หรือมีหน้าม้ามาประกาศก็ไม่ได้ อย่างเราเป็นหน้าม้าเราก็บอกองค์นี้ได้พระอรหันต์ อย่างนี้ท่านก็ห้าม ทำไมท่านห้าม มันเป็นเรื่องยุ่งยากกำกวม มันพิสูจน์ยาก ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแล้วใครจะไปรู้ได้ มันต้องรู้ด้วยตัวเองว่ากิเลสมีหรือไม่มี ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะไม่มีเรื่องกำกวมเลย ชัดเจนแจ่มแจ้งมีเหตุมีผล ฉะนั้นอะไรที่กำกวมท่านไม่ให้ทำหรอก อีกอย่างหนึ่งถ้าโฆษณาพระอรหันต์ คราวนี้ก็แบ่งแยกพระเป็น 2 พวกแล้ว นี้พวกพระอริยะพระอรหันต์ นี้พระธรรมดาอะไรอย่างนี้ ทำให้วุ่นวายกับพระ พระทั่วๆ ไปท่านก็ลำบาก คนไม่อยากใส่บาตร

ฉะนั้นอะไรที่พระพุทธเจ้าห้ามต้องไม่ทำ อะไรที่ท่านให้ทำเราทำ อย่างถ้าใครเขาบอกเขาเป็นพระอรหันต์ เราก็เฉยๆ เสียไม่ต้องเห่อ ท่านเป็นก็อนุโมททนากับท่าน เป็นหรือไม่เป็นเราไม่รู้ ที่สำคัญคือกิเลสเรามีไหม เรียนรู้ตัวเองสนใจโลกข้างนอกให้น้อยๆ ลง อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ท่านห้ามไว้เยอะ อย่างเรื่องแสดงอิทธิฤทธิ์ก็ห้าม เหาะได้ พระเหาะได้ก็มี เหาะแล้วก็คนก็แตกตื่นอยากดูพระเหาะได้ สารพัด อาจจะเจอการเล่นกลก็ได้ มันไม่แน่นอน แล้วทำให้พระที่เหาะไม่ได้ คนดูถูกทั้งๆ ที่เป็นพระดี ชาวพุทธเราตั้งหลักให้แม่นๆ ดูพระไตรปิฎกเป็นหลักไว้ คัมภีร์รองๆ ลงมา ฟังหูไว้หูมันคือการตีความ ยิ่งคัมภีร์ชั้นหลังๆ เป็นการตีความ อธิบายขยายความ ดูคัมภีร์ชั้นเดิมหรือตัวพระไตรปิฎกเป็นหลักเอาไว้ อันไหนที่ท่านให้ทำเราก็พยายามทำเข้าไป อริยมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้ท่านให้ทำ บาปอกุศลทั้งหลายท่านให้ละเราก็ละเสีย กุศลทั้งหลายท่านให้เจริญเราเจริญเสีย ตัวกุศลไปดูกุศลกรรมบถ 10 ข้อ เป็นเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ ปัญญาทั้งหมด

ฉะนั้นไม่ต้องไปเที่ยวหาแสวงหาพระอริยะที่ไหน ฝึกจิตฝึกใจตัวเอง อยู่ในศีล ในสมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญ ลดละกิเลสไปตามลำดับ ศีลก็เป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสอย่างหยาบ สมาธิก็เป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสชั้นกลาง คือพวกนิวรณ์ทั้งหลาย ปัญญาเป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสชั้นละเอียด คือพวกอวิชชาทั้งหลาย พวกอาสวะทั้งหลาย นี่คือเครื่องมือสู้กิเลส ภาวนาเรื่อยๆ ไป ทุกวันตั้งอกตั้งใจรักษาศีล ศีล 5 ข้อสำคัญที่สุด เมื่อก่อนหลวงปู่ดูลย์ท่านเคยอบรมพระลูกศิษย์ท่าน บอกมัวโฆษณาว่ามีศีล 227 ข้อแล้วก็ลืมศีล 5 มีคนก็นึกว่าพระอรหันต์ ยุคหนึ่ง สุดท้ายก็ไม่ใช่อยู่ไม่รอด คนอื่นอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ กิเลสเรา เราก็มีหน้าที่สะสางของเราเอง ตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อให้ดี

 

สะสางกิเลสของเราเอง – ตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อให้ดี

ศีล 5 ข้อมันจะเป็นเครื่องสู้กิเลสอย่างหยาบๆ คือจะไม่ให้เราทำผิดทางกาย ทางวาจา ด้วยอำนาจของกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ที่มันรุนแรง อย่างโทสะเราเกิด เราก็เกิดการไปทำร้ายร่างกายเขาก็ได้ ไปทำลายทรัพย์สินเขาก็ได้ โทสะเกิดไปแย่งชิงคนรักของเขาก็ได้ ทำลายครอบครัวของเขา เพราะโทสะ หรือไปด่าว่าเขา โกรธเขาก็ไปด่าเขา ไปกระแนะกระแหนเขา มีให้เห็นเรื่อยๆ น่าเกลียด บางทีกระแนะกระแหน ประชดประชัน ไม่ใช่ ศีลด่างพร้อยไปเรียบร้อยแล้ว หรือบางทีเรามีราคะก็ทำผิดศีลได้ เรามีราคะเราอยากได้สมบัติคนอื่น เราก็ไปฆ่าเขาก็ได้ ทำร้ายร่างกายเขาก็ได้ ผิดศีลข้อ 1 ไปจี้ ไปปล้น ไปขโมย ไปฉ้อโกง อันนี้ผิดศีลข้อ 2 การฉ้อโกง ในยุคนี้มันประณีต สมัยก่อนก็โกงกันดิบๆ เดี๋ยวนี้มีวิธีโกงที่ประณีตมากมาย บางทีดูแล้วดูดี

อย่างหลวงพ่อเคยอยู่ในวงราชการ ในวงรัฐวิสาหกิจ เคยเห็นนักการเมืองนี่ตัวดีเลย วิธีโกงของเขาคือกำหนดนโยบายที่แอบแฝง มีนโยบายนี้แต่แอบแฝงผลประโยชน์ของส่วนตัวเข้าไป จะทำโน่นทำนี่เพื่อประชาชน ประชาชนก็จนอย่างเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม พวกนี้รวยกว่าเดิม อันนี้ก็โลภก็เลยผิดศีลข้อ 2 เอาทรัพย์สินของที่ควรจะเป็นของแผ่นดิน หรือของคนส่วนใหญ่มาเป็นของตัวเอง เพราะอะไร ก็เพราะโลภ หรือเจ้าชู้เรี่ยราดก็เพราะโลภ เพราะโลภะ บางทีปลิ้นปล้อนหลอกลวงผิดศีลข้อ 4 ก็เพราะโลภให้เขาหลงเชื่อ ฉะนั้นตัวกิเลสนั่นล่ะมันทำให้เราทำผิดศีล ศีลเลยเป็นเครื่องข่มใจตัวเอง ถึงกิเลสมาแรงเราสู้ไม่ไหว แต่เราไม่ยอมทำผิดศีล ตั้งใจให้เด็ดขาดเลยว่าจะเป็นจะตายอย่างไร ขอรักษาศีลไว้ก่อน ดูแล้วคนบางคนมันจะรู้สึกพวกนี้โง่ พวกถือศีลนี้โง่ โง่ก็โง่ ระยะยาวเราจะเห็นเอง พวกฉลาดนี้ลงนรกไปหมดแล้ว หรือไม่ต้องตกนรกหรอก ตอนยังไม่ตายชีวิตก็ลำบาก หลบๆ ซ่อนๆ ฉะนั้นเราถือศีลโง่ๆ ของเราอยู่อย่างนี้ก็มีความสุข มีความสงบ มีความสบาย

ฉะนั้นเรามีศีลเพื่อจะข่มใจตัวเอง ศีลเป็นเครื่องข่มใจตัวเอง ไม่ให้ทำตามกิเลสที่มีกำลังแรงกล้า นี่เป็นการสู้กิเลสชั้นหยาบ ส่วนสมาธินั้นเป็นการสู้กิเลสระดับกลางคือพวกนิวรณ์ นิวรณ์มันไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นราคะ โทสะ โมหะ นิวรณ์มันเป็นความเศร้าหมองของใจ มันเป็นพื้นซ่อนอยู่ข้างในยังไม่ทำงานขึ้นมา ถ้ามันทำงานขึ้นมา มันก็จะมาเป็นกิเลส มาเป็นอาสวะที่ซ่อนลึกๆ นิ่งๆ อยู่ เหมือนตะกอนที่อยู่ในก้นโอ่งน้ำ สมัยก่อนมันจะมีโอ่งน้ำ ตักน้ำมาใส่เอาไว้น้ำขุ่นๆ ตักน้ำมาทิ้งไว้นานๆ มันตกตะกอนน้ำก็ใส แต่พอมีอะไรไปกระทบน้ำนิดหนึ่งกระเพื่อม พอน้ำกระเพื่อมตะกอนนั้นก็ขึ้นมา นิวรณ์นั่นล่ะคือตะกอนกิเลสในใจเรา เรียกว่านิวรณ์ เวลาเรามีสมาธิใจเราก็นิ่ง สงบ ตั้งมั่น มันก็เหมือนโอ่งน้ำที่มันไม่มีอะไรมาทำให้น้ำกระเพื่อม ตะกอนมันก็ยังอยู่ข้างล่างแต่มันไม่ขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่มีสมาธิจิตเราแกว่งไปแกว่งมา ก็เหมือนเราเอามือไปกวนในตุ่มน้ำที่มีตะกอน ตะกอนมันก็ขึ้นมาเป็นอาสวกิเลสขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราฝึกสมาธิทุกวันควรจะทำ ฝึกสมาธิมันจะข่มให้นิวรณ์มันตกตะกอนไม่ขึ้นมา ถ้ามันขึ้นมามันจะมากลายเป็นกิเลส กิเลสมันเคยชินมันย้อมใจเรา เรียกอาสวกิเลส

ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องข่มกิเลสอย่างหยาบ สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลสอย่างกลาง คือข่มนิวรณ์ทั้งหลาย ไปดูเอาเองนิวรณ์มี 5 ตัว กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส พยาปาทะ ความยินร้าย ไม่พออกพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ถีนมิทธะ ความซึมเซา เซื่องซึม นี้เป็นตัวนิวรณ์ ถ้ายังไม่มีการกระเพื่อม จิตใจยังไม่กระเพื่อม นิวรณ์ก็ไม่ขึ้นมาทำงาน ตุ่มน้ำมีน้ำอยู่ในตุ่ม น้ำกระเพื่อมขึ้นเพราะมีการกระทบ เช่น เราเอามือไปแกว่ง จิตเรามีนิวรณ์ซ่อนอยู่ยังไม่ทำงานขึ้นมา แต่มีการกระทบคือมีผัสสะ การกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ปุ๊บ ใจก็กระเทือนกระเพื่อมขึ้นมา ใจกระเพื่อมก็คือน้ำในตุ่มกระเทือนขึ้นมาแล้ว นิวรณ์ก็ขึ้นมาปรุงกลายเป็นกิเลสหยาบๆ เข้ามาครอบงำใจของเราอีกทีหนึ่ง

 

ศีลที่ไม่ต้องรักษา

ศีลนั้นต้องตั้งใจรักษาไว้ก่อน เบื้องต้นตั้งใจรักษา แต่เบื้องปลายถ้าสติเราดีจะเกิดศีลอัตโนมัติขึ้นมา คือไม่ต้องเจตนารักษา จิตที่มันฝึกดีแล้วมันมีศีลอัตโนมัติขึ้นมาเอง อย่างพอกิเลสเกิดสติระลึกปั๊บ กิเลสดับไม่ผิดศีลแล้ว จะไม่ทำผิดศีลแล้ว อย่างนี้เราถือศีลได้ดี ถือศีลโดยไม่ต้องถือ ฝึกสติให้ดี แต่เบื้องต้นต้องเจตนางดเว้นการทำบาปอกุศลไว้ก่อน ฉะนั้นตัวเจตนาเป็นการกระทำกรรม แต่เจตนางดเว้น เรียกเจตนาวิรัติ เจตนางดเว้นการทำชั่วนั่นล่ะคือตัวศีล ต่อไปไม่ได้เจตนา สติเร็ว พอกิเลสเกิดปุ๊บรู้ปั๊บ มันเกิดศีลที่ประณีตขึ้นไป ตาเห็นรูปจิตเริ่มยินดียินร้ายขึ้นมารู้ทันแล้ว สติรู้ทันแล้ว จิตก็ไม่เกิดกิเลสที่เกิดจากผัสสะทางตา หูได้ยินเสียงเกิดกิเลสในใจ สติรู้ทันกิเลสก็จะดับ กิเลสดับ หูได้ยินเสียงใจก็ไม่กระเพื่อม จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจก็ไม่กระเพื่อม ศีลของเราก็อัตโนมัติขึ้นมา

ส่วนเรื่องสมาธิก็ต้องฝึก ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องฝึกมี 3 อัน คือเรื่องของฝึกอย่างไรให้มีศีล ฝึกอย่างไรให้เกิดสมาธิ ฝึกอย่างไรให้เกิดปัญญา การเรียนรู้ที่จะให้เกิดศีลเรียกว่า อธิศีลสิกขา การเรียนรู้ที่จะให้เกิดสมาธิที่ถูกต้องเรียกว่า อธิจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตแล้วจะได้สมาธิ แล้วก็อธิปัญญาสิกขา เรียนว่าทำอย่างไรจะเกิดปัญญา พวกเราทุกคนเป็นนักเรียน ผู้ที่พ้นจากการเป็นนักเรียนคือพระอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นคือนักเรียน พวกเราปุถุชนยิ่งต้องเรียนให้หนัก เรียกว่าพวกยังไม่เข้าโรงเรียนจริงเลย พวกเตรียมอนุบาลยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาจริง ได้โสดาบันถึงจะเป็นนักเรียนจริง ถ้ายังไม่ได้โสดาบันยังไม่ใช่นักเรียนตัวจริงหรอก

นักเรียนเรียกเป็น เสขบุคคล เสขบุคคลก็คือพระอริยบุคลล ระดับโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ส่วนพระอรหันต์นั้นเรียกว่า อเสขบุคคล ผู้ไม่ต้องศึกษาอีกแล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว มันอัตโนมัติเอง อย่างตรงนี้พวกคนก็สับสน ทำไมพระอรหันต์หลงลืม หลงลืมมันเป็นเรื่องของขันธ์ ขันธ์ 5 อย่างไรก็ไม่เที่ยง เพราะขันธ์ 5 เป็นสังขาร “สัพเพสังขารา อนิจจา สัพเพสังขารา ทุกขา” อย่างไรก็ไม่เที่ยง อย่างไรก็ทนอยู่ไม่ได้ แต่จิตที่ฝึกดีแล้ว รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแล้ว มันแยกตัวเองออกไปจากขันธ์ มันพราก ในพระไตรปิฎกใช้คำว่ามันพรากออกจากขันธ์ อย่างพระอรหันต์ท่านยังมีกำลังอยู่ ท่านก็เจริญสติปัฏฐาน พวกเราเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดสติ เกิดปัญญา แต่พระอรหันต์ท่านก็เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต่อท้ายด้วยประโยคที่ว่า “จิตพรากออกจากขันธ์” ไปดูในมหาสติปัฏฐานสูตร

ถ้าเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ทำไปเพื่อความมีสติ หรือเพื่อความมีปัญญา แต่ทำเป็นเครื่องอยู่แล้วจิตมันพรากจากขันธ์ ขันธ์มันก็เสื่อมไป แต่จิตที่พรากจากขันธ์แล้วมันไม่ได้เสื่อมตามไปด้วย อย่างจิตดวงนั้นไม่กลับมาโง่ ไม่กลับมาเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นของดีของวิเศษ จิตที่มันพรากออกไปแล้วมันไม่เห็นหรอก ถึงสมองจะฝ่อไปหมดแล้ว แต่จิตดวงนี้ก็จะไม่เข้ามาเกาะขันธ์ ไม่เข้ามายึดขันธ์อีกแล้ว เพราะจิตนั้นพรากจากขันธ์ แต่ขันธ์เสื่อมไหม ขันธ์เสื่อมแน่นอนอย่างไรก็เสื่อม ทำไมมันหลุดออกมาเรื่องนี้ได้ ค่อยๆ ฝึก เรียนตัวเอง มีศีลในเบื้องต้น ก็ต้องตั้งใจงดเว้นบาปอกุศล 5 ข้อนั่นล่ะ ต่อมาก็ค่อยฝึกสติตัวเองว่องไวขึ้น กิเลสเกิดปุ๊บรู้ปั๊บไม่ผิดศีลหรอก อันนี้เราจะมีศีลที่ชั้นสูงขึ้นมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้วจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เรียกอินทรียสังวรศีล ศีลก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันกลายเป็นศีลที่พระอริยเจ้าทั้งหลายชมเชย คือศีลที่ไม่ต้องรักษา สติมันรักษาศีลเอง สมาธิ ปัญญา มันรักษาศีลเอง

 

ฝึกสมาธิชนิดที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว

ส่วนสมาธิ วิธีฝึก สอนอยู่เป็นประจำ วิธีฝึกให้จิตได้สมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิชนิดที่หนึ่ง จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน จิตเพ่งอยู่ที่ตัวอารมณ์ สมาธิชนิดที่สองเรียก ลักขณูปนิชฌาน จิตไปสนใจอยู่ที่ไตรลักษณ์ ที่ลักษณะคือไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นอารัมมณูปนิชฌานนี่แบบหนึ่ง ลักขณูปนิชฌานเป็นอีกแบบหนึ่ง ท่องปริยัติมาอย่างไรก็แยกไม่ออกหรอก ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วย ท่านเก่ง หลวงปู่เทสก์ท่านเก่งเรื่องสมาธิ ที่ท่านเก่งเรื่องสมาธิ เพราะท่านเคยติดสมาธิอยู่ตั้ง 10 กว่าปี หลวงปู่มั่นแก้ให้ท่านก้าวสู่การเจริญปัญญาไปได้ เป็นผู้นำครูบาอาจารย์สายวัดป่าอยู่ช่วงหนึ่งจนท่านสิ้นไป ถัดมาก็เป็นรุ่นหลวงตามหาบัว

หลวงปู่เทสก์ท่านสอนสมาธิไว้ 2 อย่าง อันหนึ่งคือสมาธิที่เพ่งอารมณ์ ก็คือตัวอารัมมณูปนิชฌานนั่นเอง อีกอันหนึ่งเป็นสมาธิที่ใช้เจริญปัญญา ก็คือลักขณูปนิชฌาน แต่ท่านไม่ได้เรียกอย่างนี้ ท่านเรียกสมาธิกับฌาน ท่านเรียกย่อๆ ตัวคำว่าฌานของท่านก็คือ อารัมมณูปนิชฌาน คำว่าสมาธิของท่านหมายถึง ลักขณูปนิชฌาน วิธีฝึกให้ได้อารัมมณูปนิชฌาน อารัมมณูปนิชฌานก็คือการที่จิตมันเพ่ง สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำอารัมมณูปนิชฌาน จะฝึกให้จิตสงบ ต้องหาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่สักอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์ที่จิตไปรู้ คำว่าอารมณ์ไม่ใช่ความรู้สึกอะไรหรอก คำว่าอารมณ์ในทางพระพุทธศาสนาคือสิ่งที่ถูกรู้ ตัว object สิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นเราต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ไว้สักอย่างหนึ่ง อย่างมากไม่เกิน 3 อย่าง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจอันหนึ่ง พุทโธเป็นอันหนึ่งอันที่สองแล้ว บางท่านหายใจเข้าพุทออกโธยังไม่พอ จิตยังฟุ้ง ท่านก็มีอันที่สาม มีการนับเลขด้วย เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง อันนี้หลวงพ่อเรียนมาตั้งแต่ตอน 7 ขวบ ครูบาอาจารย์ที่สอนเรื่องนี้ที่หลวงพ่อเรียนด้วย ก็คือท่านพ่อลี วัดอโศการาม ท่านสิ้นไปตั้งแต่อายุไม่มากเป็นโรคกระเพาะ ยุคนั้นการแพทย์ยังไม่ค่อยเก่ง

ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน หาอารมณ์กรรมฐานสักอย่างหนึ่ง หรืออย่างมากก็ 2 อย่าง หรืออย่างมากที่สุด 3 อย่าง อย่าเยอะ เยอะแล้วจิตใจจับจด เวลาเราจะทำอารมณ์กรรมฐานอันหนึ่ง ทำอารัมมณูปนิชฌาน อยู่กับอารมณ์อันนั้นไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ได้ จะดูท้องพอง จะดูท้องยุบก็ได้ หรือท่องพุทโธเฉยๆ ก็ได้ อารมณ์ของสมถกรรมฐานใช้ได้ทั้งหมด ใช้อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่คิดก็ได้ เช่นคิดพิจารณาร่างกาย พิจารณาปฏิกูลอสุภะ พิจารณาความตาย หรือพิจารณาอะไรก็ได้ หรือบริกรรมต่างๆ อันนี้เป็นอารมณ์บัญญัติ จะพุทโธ สัมมาอรหัง นะ มะ พะ ทะ เหมือนกันหมดล่ะ ยุบหนอ พองหนอ ถ้าบริกรรมขึ้นมามันก็คืออารมณ์บัญญัติเหมือนกันหมด ใช้อารมณ์บัญญัติก็ทำสมาธิชนิดสงบได้ เช่นเราพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ ตอนไหนใจฟุ้งซ่านเราก็พุทโธเร็วๆ ตอนไหนใจสงบมันก็พุทโธช้าลง เช่น พุทโธๆ กว่าจะใจสงบ เวลาใจฟุ้งซ่านมันจะหนีไปคิดอุตลุดเลย พยายาม ใจมันดิ้นๆๆ จะไปคิด เราก็พุทโธเร็วๆ พุทโธๆๆ พุทโธๆๆ อย่าให้มันมีช่องโหว่ที่มันจะหนีไป ทำไปเรื่อยๆ ใจมันจะค่อยๆ calm down ค่อยๆ เชื่องลงมา ในที่สุดจิตใจมันก็สงบ

จะใช้อารมณ์รูปธรรมก็ได้ ใช้นามธรรมก็ได้ อย่างหลวงพ่อเคยเล่นตั้งแต่เด็ก ชอบๆ จุดเทียนเข้าแล้วก็นั่งดูไฟ ชอบมาแต่เด็กเลยเรื่องไฟ นั่งดูไฟมีความสุข จะหลับตามันก็สว่างขึ้นมา ก็เล่นไปเรื่อยๆ ใจก็ไม่วอกแวกไปที่อื่น เพราะใจมันชอบดูไฟ ถ้าใจมันชอบดูไฟ เราก็นั่งดูไฟไปจุดเทียนเข้าสักอันแล้วก็นั่งดู จิตใจมีความสุข เคล็ดลับของการทำสมาธิชนิดสงบก็คือความสุข ฉะนั้นอย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ มี 2 อันกรรมฐานที่หลวงพ่อใช้ คือใช้ลมหายใจกับพุทโธประกอบกันนี่อันหนึ่ง อีกอันหนึ่งคือเล่นกสิณไฟ เล่นไฟ นั่งดูไฟ ชอบดูไฟ เราเห็นไฟแล้วมีความสุข พอมีความสุขใจมันก็สงบ หรือชอบหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจไปแล้วมีความสุข พอใจเรามีความสุขสมาธิชนิดสงบจะเกิดขึ้นทันทีเลย

ในตำราเขาก็สอนดีบอกว่า “ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ” เราต้องไปฝึกเอา ฝึกแล้วได้อะไร เราได้ที่พักผ่อน เวลาที่เราเจริญวิปัสสนาจิตใช้พลังงานมาก พอใช้พลังงานมากสักพักหนึ่งกำลังไม่พอแล้ว กำลังไม่พอเราก็กลับมาพักผ่อน ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตจะมีกำลังแข็งแรงถ้าจิตหยุดนิ่ง ร่างกายจะแข็งแรงถ้าเคลื่อนไหวเป็นประจำ กลับกัน ร่างกายเรา เรา exercise ทุกวันก็แข็งแรง เคลื่อนที่ไป แต่จิตหยุดแล้วก็จะแข็งแรง จิตของเราไม่เคยหยุดเลย ฟุ้งซ่านทั้งวัน คิดโน้นคิดนี้ทั้งวัน เราก็มาให้มันคิดเรื่องเดียว เช่น มาคิดเรื่องพุทโธ คิดเรื่องไฟ คิดเรื่องลม คิดเรื่องอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง คิดถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรก็ได้ ให้มันอยู่ในเรื่องเดียว แล้วถ้าใจเราชอบอันนั้น

ต้องไปดูตัวเองว่าอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไร แล้วมีความสุข เอาอันนั้นล่ะไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น เราถนัดอะไรเราเอาอันนั้น พอใจเรามีความสุขอยู่ในอารมณ์อันนั้น จิตใจก็ไม่หนีไปหาอารมณ์อันอื่น จิตที่ไม่มีสมาธิ จิตที่ฟุ้งซ่าน คือจิตที่วิ่งไปจับอารมณ์โน้นทีจับอารมณ์นี้ที วิ่งไปดูรูปไม่มีความสุข ก็วิ่งไปฟังเสียงก็ไม่มีความสุข เหมือนบางคนไปดูหนังนึกว่าจะมีความสุข มันสุขนิดเดียวไม่สุขอีกแล้ว ไปฟังเพลงนึกว่าจะมีความสุขก็ไม่สุขอีกแล้ว เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใจมันไม่อิ่ม มันไม่เต็มเพราะมันไม่มีความสุข ถ้าเรามาทำกรรมฐานอยู่ในอารมณ์ที่อยู่แล้วใจมีความสุข ใจก็ไม่หิวอารมณ์อันอื่น ใจก็ไม่วิ่งแส่ส่ายไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนี้เรียกว่าเราได้อารัมมณูปนิชฌาน ได้สมาธิชนิดที่หนึ่งเอาไว้พักผ่อน เวลาต้องการพักผ่อนก็ใช้สมาธิอย่างนี้ เวลาจะเล่นอภิญญาเล่นอะไรก็ใช้สมาธิชนิดนี้ ไม่ใช่ชนิดอื่นหรอก แต่เรื่องอภิญญาอะไรนี่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกสิณ พวกเราอย่าไปเล่นเลยเดี๋ยวบ้า เล่นแล้วไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ๆ เพี้ยนไปง่ายๆ เลย เห็นโน้นเห็นนี้สุดท้ายแยกไม่ออก ว่าที่เห็นจริงหรือไม่จริง ใช้ไม่ได้ อันนั้นทำไปแล้วกิเลสมากกว่าเก่า กูเก่งกว่าคนอื่น กูรู้ กูเห็น พวกกูรูๆ ทั้งหลาย มันมาจากกูรู้ ที่แท้ไม่รู้อะไรหรอก

 

ฝึกสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น เอาไว้เจริญปัญญา

ส่วนวิธีที่จะฝึกให้ได้สมาธิชนิดตั้งมั่น อาศัยสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่น อย่าไปบังคับจิตให้ตั้งมั่น จิตเหมือนเด็กไม่ชอบให้ใครบังคับ บังคับแล้วเครียด เครียดแล้วไม่มีสมาธิ เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เคยใช้กรรมฐานอะไรก็ใช้อันนั้น แต่ปรับขึ้นนิดหนึ่งอย่างแต่เดิมเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เราเห็นร่างกายหายใจไปเรื่อยๆ แล้วใจสงบ เราปรับนิดหนึ่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วรู้ทันจิตตัวเอง ถ้าจิตมันหนีไปคิดรู้ทัน จิตมันถลำไปเพ่ง เพ่งลมหายใจ เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง เพ่งอะไรก็รู้ทันเอา หรือไปเพ่งไฟไหลไปอยู่ที่แสง รู้ทันเอา ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา ไหลไปไหลมา การเคลื่อนนั้นจะดับ เพราะจิตที่เคลื่อนไปนั้นมันมีอุทธัจจะ มีความฟุ้งซ่านอยู่ เป็นกิเลส เรามีสติรู้ทันกิเลสมันก็ดับ จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา

สมาธิชนิดนี้ สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นเอาไว้เจริญปัญญามี 3 ระดับ ตั้งแต่ขณิกสมาธิเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นชั่วขณะ แต่ให้มันชั่วขณะบ่อยๆ ไม่ใช่วันหนึ่งชั่วขณะเดียว อย่างนั้นไม่ได้เรื่อง ต้องชั่วขณะบ่อยๆ ถี่ๆ จิตผู้รู้มันก็จะทรงตัวขึ้นมาได้ ทีแรกมันก็ไม่ได้ รู้ตัวแวบเดียวหลงยาว ผู้รู้ไม่เกิดให้เห็นหรอก แต่ถ้ามันหลงแล้วรู้ๆๆ ถี่ยิบขึ้นมา ตัวรู้มันจะเด่นขึ้นมาเลย นี้เราได้สมาธิที่ทำให้จิตเราตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่แล้ว มันก็ถึงบทเรียนที่สามชื่อ อธิปัญญาสิกขา หลักของอธิปัญญาสิกขา ก็คือให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางก็คือ จิตที่มีลักขณูปนิชฌาน แล้วมีอะไร มีสติ สติไปทำหน้าที่อะไร ไปทำหน้าที่ระลึกรู้ ไม่ใช่ไปบังคับ ทำหน้าที่ระลึกรู้อะไร รู้รูปธรรมนามธรรม พูดให้เข้าใจง่ายก็คอยรู้กายรู้ใจของตัวเองไป คอยรู้สึกไป มีสติระลึกไป แต่ระลึกด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วจะเห็นอะไร จะเห็นว่าทุกสิ่งที่สติระลึกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น นั่นล่ะคือการเจริญปัญญาที่แท้จริง

การเจริญปัญญาไม่ใช่การนั่งคิดเอา ไปอ่านๆ เอาแล้วก็มาคิดธรรมะเอา กิเลสไม่กลัวคนอ่านมาก ไม่กลัวคนคิดมากหรอก มันสู้กิเลสไม่ได้ กิเลสมันกลัวคนที่เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะเข้าใจ พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระอรหันต์อยู่ที่ไหน ธรรมะที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เราจะเข้าใจด้วยตัวของเราเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้สูญหายไปไหน พระธรรมไม่ได้สูญหายไปไหน แต่คนในโลกอาจจะลืมพระธรรมหมดแล้ว แต่ธรรมะไม่เคยสูญหายไปไหนเลย ขออย่างเดียวให้จิตเราเป็นพระสงฆ์ขึ้นมาให้ได้เท่านั้นล่ะ เรานุ่งกระโปรงอยู่นุ่งกางเกงอยู่นี่ล่ะ เราเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ ศีลรักษา สมาธิฝึก เจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญา ทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งใจเราก็เป็นพระขึ้นมา

 

ไปดูบทสังฆคุณ สังฆคุณเป็นบทที่กล่าวถึงคุณของพระอริยะ ท่านที่เป็นพระอริยะ ท่านบอกว่าได้แก่บุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษ นี่ภาษาโบราณ บุรุษ 4 คู่คืออะไร โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ มีสี่ นับเรียงได้แปด โสดาปัตติมรรคบุคคล โสดาปัตติผลบุคคล สกิทาคามิมรรคบุคคล สกิทาคามิผลบุคคล อนาคามิมรรคบุคคล อนาคามิผลบุคคล อรหัตมรรคบุคคล อรหัตผลบุคคล มีแปด ก็คือท่านที่ได้มรรค 4 ผล 4 แต่ย่อๆ ลงมาก็เรียกว่ามี 4 ขั้น โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์

ท่านเหล่านี้คือ “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ” คือสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นพระ ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นภิกขุสังโฆ ท่านบอกเป็นสุปะฏิปันโน ภะคะวะโต เป็นสาวะกะสังโฆ เพราะฉะนั้นฆราวาสฝึกตัวเองให้ดีเถอะ ศีลตั้งใจรักษา สมาธิฝึกซ้อมทุกวัน ได้ทั้ง 2 อย่างยิ่งดีทั้งอารัมมณูปนิชฌาน ทั้งลักขณูปนิชฌาน แล้วก็เจริญปัญญา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ไป ปัญญาจะเกิดตอนไหน ตอนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีสติระลึกรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น รูปธรรมนามธรรมที่กำลังมีกำลังเป็น ระลึกรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง แล้วปัญญามันจะเกิด พอศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ อริยมรรคก็จะเกิดขึ้นเอง

เราก็สามารถเป็นพระอริยบุคคล ทั้งๆ ที่ยังอยู่กับลูกกับเมียอย่างนี้ก็อยู่ได้ อยู่กับสามียังอยู่ได้ อย่างนางวิสาขาหรืออนาถบิณฑิกะ เขาก็เป็นพระอริยบุคคล เขาก็อยู่กับครอบครัวของเขาได้ ทำมาหากินได้ ฉะนั้นความเป็นพระแท้ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบหรอก แต่อยู่ที่จิตของเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญามากพอไหม มันจะมากพอถ้าเราสะสม ฝึกของเราทุกวันๆ ตั้งอกตั้งใจฝึก แล้ววันหนึ่งเราจะรู้เลยพระสงฆ์อยู่ที่ไหน พระสงฆ์อยู่ที่ใจที่สะอาดนี่เอง สะอาดหมดจดขึ้นมาเป็นลำดับๆ ไป พระธรรมก็ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลยอยู่ที่จิตอันนี้เอง เป็นผู้สัมผัสธรรมะ กระทั่งธรรมะสูงสุดคือพระนิพพาน จิตนั่นล่ะเป็นผู้สัมผัส เราจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าจริงๆ อยู่ที่ไหน

 

หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 พฤษภาคม 2565