รอบนี้ดูพวกเราดูดี ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ฟุ้งซ่าน นั่งรอ ก็นั่งทำความรู้สึกตัวไป คนไทยชอบปฏิสันถาร เจอกันแล้วคุยมาก งานศพ งานอะไรก็คุย พูดเยอะไม่ดี พลังของจิตมันจะเสีย เวลาเราพูดๆๆ ใจมันจะฟุ้ง ต้องค่อยๆ พยายามฝึกตัวเองในทุกที่ทุกสถานการณ์ จะต้องฝึกตัวเองให้จิตใจมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้
ศัตรูสำคัญที่ทำให้เราภาวนาไม่สำเร็จก็คือความฟุ้งซ่าน ในนิวรณ์ 5 ตัว ตัวฟุ้งซ่านมันเกิดบ่อยที่สุด กามฉันทะ นิวรณ์ ความผูกพัน พออกพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็มีเป็นคราวๆ ความฟุ้งซ่านมีตลอด นิวรณ์ มันเป็นเครื่องกั้นความเจริญ จะทำสมาธิ มีนิวรณ์ มันก็ไม่เจริญ จะเจริญปัญญา เกิดนิวรณ์ก็ทำไม่ได้
ฉะนั้นพวกเราต้องระมัดระวัง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างดูไม่น่าจะมีพิษมีภัย อย่างเรื่องฟุ้งซ่าน คุยไม่เป็นเรื่องเป็นราว ดูแล้วไม่ได้เป็นพิษเป็นภัย ไม่ได้ทำชั่วร้ายอะไร คุยทักทาย ปฏิสันถารไม่รู้จักจบจักสิ้น สิ่งที่เสียไปก็คือความเป็นปกติของจิต จิตที่จะเจริญสมาธิได้ก็ต้องเป็นปกติ ถูกกิเลสย้อมอยู่ ก็ไม่ปกติ จิตจะเจริญปัญญา ก็ต้องปกติ
ศีลแปลว่าปกติ
ครูบาอาจารย์แต่ก่อนบางทีท่านสอนว่าตัวปกตินั่นล่ะ ตัวศีล ศีลแปลว่าปกติ ฉะนั้นอย่างเราถือศีลเป็นข้อๆ อันนั้นเป็นศีลข้างนอก แต่ศีลข้างในก็คือทำอย่างไรจิตใจเราจะมีความเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสลากไปลากมา อันนี้เราต้องฝึก เริ่มตั้งแต่การดำรงชีวิตของเรานี่ล่ะ ในแต่ละวันๆ เราฝึกฟุ้งซ่าน มันก็ฟุ้งซ่าน ฝึกให้จิตใจมันเป็นปกติ เป็นตัวของตัวเอง มันก็ฝึกได้
วิธีฝึกก็ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่งอะไรก็ได้ เบื้องต้นทำกรรมฐานไป อยากจะพุทโธ ก็พุทโธไป อยากหายใจ ก็หายใจไป หรือพุทโธไป หายใจไปก็ได้ จะดูท้องพองยุบ จะขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน จะบริกรรมสัมมาอรหัง นะ มะ พะ ทะ มันเหมือนกันหมดล่ะ สิ่งเหล่านี้มันเหมือนเหยื่อ กรรมฐาน อารมณ์กรรมฐานทั้งหลายมันเหมือนเหยื่อตกปลา จิตของเราคือปลา เราก็มีเหยื่อมาล่อ อย่างเขาตกปลา เขาเอาเบ็ดหย่อนลงไป แล้วเขาดูที่ไหน เขาไม่ได้ดูที่เบ็ดหรอก เขาดูปลามันมาหรือยัง ปลามันมาแล้ว มันจะมากินเหยื่อแล้ว อ้าว มันหนีไปอีกแล้ว
อารมณ์กรรมฐานทั้งหลายมันเป็นเหยื่อตกปลา จิตของเราคือตัวปลา เราจะจับปลา เราไม่ได้กินเหยื่อ ไม่ได้ไปกินไส้เดือนแข่งกับปลา ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน เราคอยรู้ทันจิตตัวเองไป พอเรารู้ทันจิตบ่อยๆ จิตมันก็จะค่อยๆ สงบลงมา มันเริ่มเป็นปกติ จิตที่ไม่ปกติ ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ เพราะเราไม่รู้ไม่เห็นมัน แต่ถ้าจิตมันมีราคะ เราเห็น ราคะมันก็ดับ จิตมีโทสะ เราเห็น โทสะก็ดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เราเห็น มันก็ดับ
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้เท่าทันจิตใจของตนเองเรื่อยๆ ไป จากคนที่เคยทำผิดศีลง่ายๆ จะไม่อยากทำแล้ว จากคนที่ฟุ้งซ่าน จิตใจก็เริ่มสงบ แล้วก็จิตใจที่มีความเป็นปกติธรรมดา ไม่ถูกกิเลสเร้าให้กระโดดไปกระโดดมา มันมีศีลภายในอยู่ แล้วก็จิตใจที่มันไม่หลงตามความฟุ้งซ่านไป มันก็จะสงบ มีสมาธิขึ้นมา อาศัยกำลังของศีล กำลังของสมาธิเกื้อกูลให้เกิดการเจริญปัญญาได้ ถ้าจิตเราไม่ปกติ หรือจิตเราถูกกิเลสเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เราไม่สามารถเจริญปัญญาได้ หรือจิตเราไม่สงบ เราก็เจริญปัญญาไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ ศีลมันก็จะเกิด สมาธิมันก็จะเกิด คนทำผิดศีลก็เพราะกิเลสมันลากจิตออกไป อย่างความโกรธ มันครอบงำจิตใจเรา เราก็ทำผิดศีลได้หลายข้อ ไปฆ่าเขา ไปตีเขา หรือไปด่าเขา ไปแกล้งเผาบ้านมัน ประทุษร้ายทรัพย์ ไปแกล้งจีบลูกสาวเขา ทำร้ายคนที่เขารัก หรือไปโกหกหลอกลวงเขา ถูกโทสะครอบ เราก็ผิดศีล ถูกราคะครอบ ก็ผิดศีลได้หมดล่ะ อย่างไปปล้นฆ่าอย่างนี้ เราอยากได้ทรัพย์เขา ไปทำร้ายเขาด้วย
ฉะนั้นให้เรามีสติรักษาจิตใจของเราไว้ให้ดี สติจะสามารถรักษาจิตใจเราได้ ต้องฝึก ต้องซ้อม เพราะสตินั้นเป็นอนัตตา ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ แต่สติมีเหตุ เหตุใกล้ที่ทำให้สติเกิด ภาษาบาลีเรียกว่า ถิรสัญญา สัญญาคือความจำได้หมายรู้ ถิระก็คือเสถียรนั่นล่ะ จำได้หมายรู้อย่างชัดเจนเลย อย่างมั่นคง เราจะจำสภาวะได้ เราต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ ฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐาน แล้วจิตหลงไปคิด เรารู้ จิตโลภขึ้นมา เรารู้ จิตโกรธขึ้นมา เรารู้ ต้องทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง
พยายามให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้
ในสติปัฏฐาน 4 ที่พระพุทธเจ้าบอกเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น เริ่มต้นการปฏิบัติของสติปัฏฐานคือการมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จะใช้กายก็ได้ กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม ใช้เวทนาในเวทนา ใช้จิตในจิต ใช้ธรรมในธรรมเป็นวิหารธรรม ฉะนั้นต้องมีเครื่องอยู่ วิหารธรรมคือเครื่องอยู่
พอเรามีเครื่องอยู่ของจิตแล้ว เราก็คอยสังเกตจิตใจของเราไป จิตใจเราที่เราภาวนาอยู่ เป็นไปเพื่อการลดละกิเลสไหม หรือเราปฏิบัติแล้ว พอกพูนกิเลส ตัวนี้ก็ต้องรู้ อันนี้เรียกว่าพระพุทธเจ้าสอนคำว่า อาตาปี อาตาปีคือนอกจากมีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่แล้ว การอยู่นั้นต้องอยู่เพื่อแผดเผากิเลส ไม่ใช่อยู่แล้วสบายเพลินๆ ไป ตามใจกิเลส
อย่างบางคนนั่งสมาธิจิตสงบ จิตสบาย มีความสุขแล้วก็พอใจอยู่แค่นั้น อันนั้นไม่ได้แผดเผากิเลส แต่กำลังสนองกิเลสอยู่ ฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ แล้วเราคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ที่เราปฏิบัติอยู่ เราทำเพื่อสนองกิเลส หรือทำเพื่อจะพ้นจากอำนาจของกิเลสกันแน่ อ่านใจตัวเองให้ออก
การที่เราคอยอ่านใจตัวเองเสมอๆ เราจะได้สิ่งหนึ่งขึ้นมา คือตัวสัมปชัญญะ สัมปชัญญะ ความรู้เนื้อรู้ตัวๆ เราค่อยฝึกไป อย่างจิตเรามันจะตามใจกิเลสแล้ว ให้เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้เท่ารู้ทัน ความตื่นตัวมันก็จะเกิดขึ้น จิตจะไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด คนในโลกมันหลงอยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย หลับแล้วก็ยังไปฝันต่ออีก ตรงนั้นเราหลงอยู่ ฉะนั้นเราต้องพยายามตื่นขึ้นมา ไม่ใช่ตื่นเฉพาะร่างกาย ขณะนี้เราตื่นในร่างกายเรา แต่จิตเราชอบฝัน จิตมันแอบไปหลับไปฝัน ลืมเนื้อลืมตัวอยู่ อันนั้นใช้ไม่ได้ ก็ต้องพยายามรู้สึกตัวไว้
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรจะสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัวเลย ที่จะสามารถทำให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ อาสวกิเลส มันมี 4 ตัว ตัวหนึ่งคืออวิชชานั่นล่ะ ถ้าพ้นอาสวะทั้งหมดนี้ได้ ก็เป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นท่านบอกเองเลย บอกตรงๆ เลยว่าท่านไม่เห็นอะไรสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัวเลย ฉะนั้นพวกเราอย่าเอาแต่ล่องลอย ฟุ้งๆๆ ไปเรื่อย ลืมเนื้อลืมตัว พยายามให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ไม่ใช่รู้เพื่อเอาดี เอาสุข เอาสงบหรอก แต่ถ้ากิเลสเกิด เราคอยรู้ กุศลเกิด เรารู้ สุขเกิด เรารู้ ทุกข์เกิด เรารู้ ทุกคราวที่รู้ จิตใจมันก็จะตื่นตัวขึ้นมา มีความรู้สึกตัว ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ความฝัน เวลาเราถูกราคะครอบงำ เราก็คิดฝันในเรื่องราคะ มีกามวิตกไป เวลาเราถูกโทสะครอบงำ เราก็หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน เป็นพยาบาทวิตกไป ฉะนั้นเราพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาให้ได้
ที่หลวงพ่อสอนมาตั้งหลายสิบปี จุดแรกที่พยายามพาพวกเรามาก็คือจุดที่จิตมันตื่นขึ้นมา ถ้าเราตื่นได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกเอง ท่านไม่เห็นอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวนี้เลย ที่จะทำให้เราสามารถละอาสวกิเลสทั้งหมดได้ ละอาสวะได้ มันก็เป็นพระอรหันต์นั่นล่ะ
เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวไม่ใช่เรื่องเล็ก เราอย่าวอกแวก วันๆ หนึ่งอย่าได้หลงฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คิดโน่นคิดนี่ พูดโน่น พูดนี่ไปเรื่อยๆ พยายามอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราไว้ แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่เรื่อยๆ ไป จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันปุ๊บ ความรู้สึกตัวจะเกิดขึ้น จิตจะกลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ผู้หลง ผู้หลับ ผู้ฝัน แล้วก็ถูกกิเลสเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา
ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเองให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา นั่นล่ะคือสภาวะแห่งความรู้เนื้อรู้ตัว ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสภาวะที่จิตมีสัมมาสมาธินั่นเอง อาศัยการมีสติ คอยรู้ทันจิตใจของตัวเองเรื่อยๆ ไป แล้วสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้น พอเรามีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว อย่าหยุดอยู่แค่นั้น ถ้าหยุดอยู่แค่นั้นก็คือการแพ้กิเลสแล้ว เป็นผู้รู้แล้วสบาย โล่งว่างอยู่ทั้งวัน อันนั้นตกเป็นเหยื่อของกิเลสอีกแล้ว
บอกแล้วว่าเราไม่ได้มุ่งไปที่ความสุข ความสงบ ความดี เพราะความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง ความดีไม่เที่ยง เราพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมา แล้วเรียนรู้ความจริงของตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็คือกายกับใจ พอใจเราตื่น ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝันแล้ว รู้สึกลงที่กาย รู้สึกลงที่ใจ มีสติระลึกอยู่ที่กาย มีสติระลึกอยู่ที่ใจ สติเป็นตัวระลึกรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเป็นตัวรู้
ต้องหลุดออกจากความคิดให้ได้
ถึงจะก้าวต่อไปในเส้นทางของพระพุทธเจ้าได้
เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึก เบื้องต้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ ไม่ได้ทำเพื่อสุข เพื่อสงบ เพื่อความดีใดๆ ทั้งสิ้น ทำเพื่อจะรู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป เพราะฉะนั้นตรงที่เราไม่ได้ทำเพื่อความสุข ความสงบ ความดีอะไรนั่นล่ะ เรากำลังแผดเผากิเลสอยู่ เป็นอาตาปี ฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น มีสติปุ๊บ สมาธิที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น อาการของสมาธิที่แท้จริงก็คือความตื่น จิตจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
คำว่าพุทโธๆ ที่เราท่องๆ กัน พุทโธแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธไม่ใช่ชื่อพระพุทธเจ้า พวกเราก็สามารถเป็นพุทโธได้ คือถ้าเราตื่นขึ้นมา เราก็เป็นพุทโธได้ ฉะนั้นพวกเราทุกคน เรามีจิต จิตทุกๆ ดวง ถ้าเราฝึกให้ดี มันสามารถเป็นพุทโธได้ อย่างเราเป็นปุถุชนอยู่ เราฝึกไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่ง เราได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์อะไรขึ้นมา จิตมันเป็นพุทโธขึ้นมาแล้ว มันเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
สิ่งเหล่านี้ พวกเรามีของดีของวิเศษอยู่ในตัวเอง ก็คือจิตของเรา แต่จิตของเรานั้นถูกกิเลสห่อหุ้มเอาไว้ ถูกกิเลสลากไป เราไม่ต้องทำอะไรมาก เราคอยพยายามมาสังเกตจิตใจตัวเองไป ทำกรรมฐานแล้วสังเกตจิตใจตัวเองไป ถึงจุดหนึ่งจิตใจมันจะแหวกอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ มันแหวกออกเอง จิตมันก็จะเป็นอิสระขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ตื่นที่แท้จริงขึ้นมา
สิ่งเหล่านี้ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำ ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจมีความเพียรไป ไม่ยากเกินไป แต่ก็ไม่ง่าย มันยากตรงไหน มันยากตรงที่เราเคยชินที่จะหลง เราไม่เคยชินที่จะรู้สึกตัว เราจะต้องมาสร้างความเคยชินอันใหม่ จิตทำไมมันหลงเก่ง เพราะมันชำนาญ มันหลงมาแต่ไหนแต่ไร ถ้าไม่หลง มันก็ไม่เกิดล่ะ เพราะฉะนั้นมันชินกับความหลง เดี๋ยวก็หลงไปทางตา หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หลงบ่อยที่สุดคือหลงทางใจ คิดโน่นคิดนี่ทั้งวัน
ทำอย่างไรจะไม่หลง รู้ทันมันๆ ถ้าเรารู้ทันมัน ก็ไม่หลงแล้ว อย่างจิตเราทำกรรมฐานไป แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทันมันว่าตอนนี้หลงไปคิดแล้ว ไม่ใช่รู้เรื่องที่คิด เรื่องราวที่คิดหมามันก็รู้ มันจะคิดอะไร มันก็รู้ของมัน ที่สำคัญคือรู้ว่าจิตคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด ตรงนี้แยกกันให้ออก ฉะนั้นอย่างเรานั่งพุทโธๆๆ ไป จิตไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ว่าจิตหนีไปแล้ว รู้ว่าจิตไปคิดแล้ว ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงไปคิด ความหลงคิดจะดับ จิตจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมาในฉับพลันนั้นเลย อันนี้เราจะได้จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ตื่นขึ้นมาแล้ว
เราค่อยๆ ฝึกของเราไปเรื่อยๆ เราก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ การที่เราได้จิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว เป็นจุดตั้งต้นที่จะเอาไปเจริญปัญญา พอจิตใจเราไม่หลงอยู่ในโลกของความคิดความฝันแล้ว ก็ถึงขึ้นที่เราจะเจริญปัญญาได้ ถ้าจิตเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน เจริญปัญญาไม่ได้ ถึงจะไปนั่งคิดว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ยังไม่ใช่การเจริญปัญญา มันเป็นการคิด การเจริญปัญญา มันต้องฝึกระดับภาวนามยปัญญา ไม่ใช่จินตามยปัญญา นั่งคิดเอา
ฉะนั้นเราต้องหลุดออกจากความคิดให้ได้ เราถึงจะก้าวต่อไปในเส้นทางของพระพุทธเจ้าได้ ถ้าเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน เราจะไม่สามารถเห็นความจริงของกายของใจได้เลย อย่างมากก็คิดว่าจริงๆ แล้วกายเป็นอย่างนี้ จริงๆ แล้วจิตใจเป็นอย่างนี้ แค่คิดเอา แต่ไม่เห็น วิปัสสนาแปลว่าเห็นแจ้ง ต้องเห็น ถ้าไปดูในสติปัฏฐาน ศัพท์ที่ท่านใช้ คือคำว่าเห็น หรือคำว่าเห็น หรือคำว่ารู้ ความหมายอันเดียวกัน
อย่างท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว ให้รู้ว่าหายใจออกยาว” เห็นไหม ให้รู้ หายใจเข้ายาว ให้รู้ว่าหายใจเข้ายาว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อนั่งอยู่ ให้รู้ชัดว่านั่งอยู่ ขณะนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม แต่ถ้าใจลอยจะไม่รู้ว่ากำลังนั่งอยู่ อันนั้นจิตมันฟุ้งซ่าน ฉะนั้นนั่งอยู่ก็รู้ เห็นอะไรมันนั่ง เห็นว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ไม่ใช่เรานั่ง เห็นร่างกายมันนั่ง
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อความสุขเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่ามีความสุขเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น รู้ว่ามีความทุกข์เกิดขึ้น ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้น รู้ว่ามันเฉยๆ กิริยาอาการอันเดียวเลยในขั้นนี้ คือการรู้ หรือการเห็นตามความเป็นจริง ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตมีโมหะ ให้รู้ว่ามีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ให้รู้ว่าหดหู่ จิตมีขณิกสมาธิ รู้ จิตมีอุปจารสมาธิ รู้ จิตมีอัปปนาสมาธิ รู้ จิตปล่อยวาง รู้ อันหลังพวกเรายังไม่มี พวกเราไม่ได้ทรงฌาน พวกเราก็ดูจิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ดูพวกนี้ไป ดูสิ่งที่เรามี
พอเราเห็นอย่างนี้บ่อยๆ ทันทีที่สติเกิด กิเลสดับทันที พอกิเลสดับปั๊บ จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ทีแรกมันก็ตั้งแป๊บเดียว เดี๋ยวมันก็หลงใหม่ หลงใหม่ รู้ใหม่ หลงใหม่ รู้ใหม่ ไม่ใช่ห้ามหลง ไม่มีใครสั่งจิตว่าจงอย่าหลง ไม่มีใครสั่งได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป เราก็คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป จิตใจหลงไปคิดก็รู้ จิตใจโลภขึ้นมาก็รู้ จิตใจโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตใจหลงก็รู้ จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจหดหู่ก็รู้ จิตใจมีความสุขก็รู้ จิตใจมีความทุกข์ก็รู้ จิตใจเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ แค่นี้ ถึงจุดหนึ่งมรรคผลมันก็จะมีได้ เพราะสติปัฏฐาน 4 ทำอันใดอันหนึ่งก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้
ที่หลวงพ่อสอนเน้นมาให้ที่จิตที่ใจ เพราะพวกเราเป็นคนยุคใหม่ คนรุ่นนี้ทำงานที่ต้องคิดทั้งวัน ไม่สามารถทำฌานได้ ถ้าเราทำฌานไม่ได้ การจะดูกายหรือเวทนาทางกาย เป็นเรื่องที่ยากที่สุดเลย อย่างพอเราไปดูร่างกาย มันก็เห็นร่างกายทื่อๆ อยู่อย่างนั้น มันไม่เห็นความเป็นธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อะไรในร่างกาย มองไม่เห็นหรอก อย่างมากก็คิดๆ เอา หรือดูเวทนาในร่างกาย ความเจ็บปวดเกิดขึ้น ไปดู สมาธิเราไม่พอ เดี๋ยวเดียวสติแตกเลย เอะอะโวยวายเลย เจ็บมาก
เพราะฉะนั้นการดูกายหรือดูเวทนา ถ้าจะดูจนทะลุแตกหักเลย ต้องใช้กำลังของสมาธิสูง อย่างต่ำที่สุดก็คือเข้าฌานไป เข้าอัปปนาสมาธิ ออกจากอัปปนาสมาธิ ถอนจิตออกมาครึ่งๆ อยู่ในอุปจารสมาธิ แล้วดูลงไป อย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเรา มันจะใช้ขณิกสมาธิ พวกเราเคยได้ยินไหมว่า คนรุ่นนี้สมาธิสั้น นี่คือตัวจริงของพวกเรา ก็ความจริงของพวกเราคือสมาธิสั้น จะไปตะบี้ตะบันทำสมาธิให้ยาวๆ กี่ปีมันจะทำได้ ไปนั่งสมาธิให้จิตเข้าฌานได้ ไม่เข้าหรอก มันก็ฟุ้งไปเรื่อยๆ
การปฏิบัติมันไม่ใช่เรื่องเกินวิสัย
เราทำในสิ่งที่เราทำได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากว้างขวางมาก ท่านถึงเป็นสัพพัญญู เป็นสัมมาสัมพุทธะ ท่านแจกแจงธรรมะ เป็นภควโต ผู้แจกแจงธรรม ผู้จำแนกแจกธรรม คนอย่างพวกเราสมาธิสั้น ท่านก็แจกธรรมไว้ให้ การปฏิบัติสำหรับพวกสมาธิสั้นก็เรียกว่าพวกขณิกสมาธิ เป็นสมาธิสั้น ชั่วขณะเดียว แป๊บเดียว เดี๋ยวก็หลงอีก เดี๋ยวแป๊บเดียวก็หลงอีก นั่นล่ะสมาธิสั้น
ฉะนั้นเราอาศัยตรงนี้มาดูจิตใจของตัวเอง หรือจิตใจเราดูได้หลายอย่าง อันแรกดูความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ในใจ เป็นเวทนาทางใจ อันนี้ไม่ต้องทรงฌานก็ทำได้ อย่างขณะนี้พวกเราสุข หรือพวกเราทุกข์ รู้ไหม ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้สุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ไม่ต้องมีสมาธิระดับฌาน หรืออยู่ในอุปจารสมาธิแล้วถึงจะรู้ รู้สึกอยู่ในขณะปัจจุบัน เราก็รู้ได้แล้ว ขณะนี้จิตใจเราสุข หรือทุกข์ หรือจิตใจเราเฉยๆ นี่เซตหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง หรือขณะนี้จิตใจเราดี ขณะนี้จิตใจเราชั่ว เวทนานี่ส่วนหนึ่ง สุข ทุกข์ เฉยๆ ดี ชั่ว นี่ส่วนสังขาร
อย่างบางทีเราก็อยากฟังธรรม ตื่นมาแต่เช้าเลย รีบมา ตั้งแต่จองลงทะเบียนมาฟังธรรมอะไรนี่ พอมาอยู่ฟังไปเรื่อยๆ เบื่อแล้ว อยากไปชอปปิงแล้วอะไรอย่างนี้ นี่กุศลดับไปแล้ว อกุศลเกิดขึ้นแทนแล้ว ความขี้เกียจเกิดขึ้นแล้ว ความท้อแท้เกิดขึ้นแล้ว จิตใจเริ่มหดหู่ห่อเหี่ยวแล้ว อาศัยสติรู้ตัวเองเข้าไป มันจะยากอะไรหนักหนา ขณะนี้จิตใจเรากำลังกระตือรือร้นอยากปฏิบัติ เราก็รู้ ขณะนี้จิตใจเราป้อแป้ ท้อแท้ เบื่อหน่ายแล้ว เราก็รู้ ขณะนี้ใจเราโลภ เราก็รู้ ขณะนี้ใจเราโกรธ เราก็รู้ ไม่เห็นจะยากเลย
รู้ไหม อย่างเวลาโกรธ รู้ได้ไหมว่าโกรธ ทุกคนรู้ได้ แต่ปัญหาคือละเลยที่จะรู้ ไม่ใช่รู้ไม่ได้ มันละเลยจะรู้ ความโลภเกิดขึ้น ก็รู้ได้ แต่ก็ละเลยที่จะรู้ อย่างเวลาเราโกรธใครสักคน เราขับรถอยู่อย่างนี้ คนมาปาดหน้าเรา จิตเราโกรธ ถ้าเราจะย้อนมาสังเกต จิตกำลังโกรธ เรารู้ได้ทุกคน แต่เราไม่ย้อน เราจะไปดูคันที่มันปาดเรา เดี๋ยวเราจะไปปาดคืน เรามัวแต่สนใจออกข้างนอก เราไม่สนใจจิตใจของตัวเอง เรากำลังทิ้งของดีของวิเศษไปหาของสกปรกข้างนอก
เพราะฉะนั้นการที่เราจะคอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองเป็นขณะๆ ด้วยขณิกสมาธิ ด้วยสมาธิสั้นๆ เราทำได้ ถ้าเราไม่ละเลยที่จะทำ หลวงปู่ดูลย์ถึงบอกการปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเราสังเกตตัวเองไป อย่างถ้าเราเป็นคนขี้โกรธ เจออะไรก็หงุดหงิด หงุดหงิดเก่ง เราก็คอยรู้ทันไป พุทโธๆ ของเราไปนั่นล่ะ แล้วพอตามันไปมองเห็น นี่มันหงุดหงิดแล้ว รู้ว่ามันหงุดหงิด หรือหายใจไปอย่างนี้ แล้วไปเห็นผู้หญิงสวยมา จิตเกิดราคะชอบแล้ว รู้ว่าชอบ ไม่ใช่รู้ว่าผู้หญิงมา แต่รู้ว่าจิตกำลังชอบ จิตกำลังมีราคะ ไม่ยากที่จะรู้ แต่เราละเลยที่จะรู้
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันไม่ใช่เรื่องเกินวิสัยหรอก สิ่งที่หลวงพ่อเอามาสอนทุกวันนี้ มันเป็นสมาธิสำหรับคนเมือง ไม่ใช่สมาธิสำหรับคนรุ่นครูบาอาจารย์รุ่นเก่า คนรุ่นเก่าท่านเป็นชาวไร่ชาวนา ชีวิตท่านเต็มไปด้วยความลำบาก เต็มไปด้วยความทุกข์ ท่านก็รู้สึกว่าฆราวาสไม่ดี น่าเบื่อหน่าย ท่านก็มาบวช บ้านเมืองก็สงบ ป่าเขาอะไรก็เยอะ วันๆ ไม่รู้จะทำอะไร นั่งสมาธิ ก็ฝึกสมาธิกันเป็นปีๆ เลย พอจิตได้สมาธิแล้ว ครูบาอาจารย์ก็จะสอนต่อ อย่าสงบอยู่เฉยๆ อันนั้นมันแช่อยู่กับกิเลส มันไม่ได้ล้างผลาญกิเลสเลย สงบอยู่เฉยๆ ให้ออกมาดูร่างกายนี่ ให้พิจารณาร่างกายลงไป
ทำไมต้องพิจารณาร่างกาย เพราะถ้าจิตเราทรงสมาธิแล้วเราไปดูจิต มันจะไม่มีอะไรให้ดู มันจะว่างสว่าง อยู่เป็นปีมันก็อยู่อย่างนั้นล่ะ มันไม่มีอะไรให้ดูหรอก มันว่างๆ ไป ฉะนั้นเวลาคนรุ่นก่อนท่านทรงสมาธิขึ้นมา ท่านทำง่าย บ้านเมืองก็สงบ ข่าวสารอะไรไม่ค่อยจะมี แล้วท่านรู้ว่าโลกมันไม่ดี เหนื่อย ทำไร่ทำนา ท่านตั้งอกตั้งใจภาวนา จิตท่านสงบมีสมาธิแล้ว ครูบาอาจารย์ก็บอกให้ไปดูร่างกาย สงบแค่ไหน ร่างกายก็ทุกข์ได้ เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็กระหายน้ำ เดี๋ยวก็ปวดอึปวดฉี่ เดี๋ยวปวดเดี๋ยวเมื่อย เดี๋ยวคัน ทั้งวันเลย นั่งอยู่นานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ ที่ท่านมาดูตัวนี้ เพราะว่าร่างกายนี้มันแสดงไตรลักษณ์ให้ดูได้
เพราะฉะนั้นเวลาเราทรงสมาธิจริงๆ ถอนออกจากสมาธิแล้ว ไปดูกายไว้ ถ้าไปดูจิต มันจะว่างๆ อยู่อย่างนั้น บางทีว่างตั้งหลายวัน การดูจิตมันก็เลยเหมาะกับคนรุ่นเรา เราเกิดในบ้านเมืองที่ โอ้โห มีอะไรให้สนใจมากมาย ใจเราก็สมาธิสั้น วอกแวกๆ ตลอด เพียงแต่ย้อนกลับเข้ามานิดเดียว ย้อนกลับเข้ามาที่ใจของเราบ้าง เห็นของสวยของงาม ใจมันชอบ ให้รู้ว่าใจมันชอบ ไม่ใช่ดูแต่ของสวยของงาม เห็นอะไรน่าเกลียด ย้อนมาดูที่ใจของเราบ้าง มันมีโทสะแล้ว ไม่ใช่ดูแต่ของข้างนอก
ปรับวิธีการให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรามีเราเป็น
มีสมาธิสั้นก็ย้อนมาดูกายดูใจของตัวเองให้มากๆ
โอปนยิโก น้อมเข้ามาเรียนรู้ตัวเอง น้อมมาอยู่กับตัวเองไว้ ไม่นานหรอก เราก็จะเห็น จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ เกิดแล้วก็ดับ ดูไปเรื่อยๆ จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้อยู่ในขั้นเจริญปัญญาแล้ว เจริญปัญญาด้วยขณิกสมาธิ สมาธิสั้นๆ ที่เหมาะกับคนยุคเรานี่ล่ะ อยากจะพูดว่า แหม มันโคตรสั้นเลย ยุคของเรานี่เรื่องของสมาธิสั้นจุ๊ดจู๋เลย แวบๆๆ ตลอด
บางคนไปเดินจงกรม มันเดิน ดาวน์โหลดอะไรไว้ก็เดินไป สุดทางกลับมา มาดูสิ มันโหลดได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้วอะไรอย่างนี้ โอ๊ย เสียเวลาปฏิบัติ ไม่ได้กินหรอก ยอมรับสภาพเสียว่าจะต้องพัฒนาปรับวิธีการให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรามีเราเป็น เรามีสมาธิสั้น มีแค่ขณิกสมาธิเป็นขณะๆ ก็ย้อนมาดูกายดูใจของตัวเองให้มากๆ
หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์เมื่อปี 2525 แล้วก็เข้าใจ เข้าใจสิ่งที่ท่านสอนในเวลาสั้นๆ ในปีประมาณ 2527 หลวงพ่อพุธท่านก็สั่งหลวงพ่อ หลวงพ่อพุธก็เป็นครูบาอาจารย์อีกองค์หนึ่ง ท่านสั่งบอกว่า “คุณไปทำงานเผยแพร่ คนที่จริตนิสัยอย่างคุณมีมาก ต่อไป” อย่างพวกเราจริตนิสัยแบบหลวงพ่อ พวกฟุ้งซ่าน พวกสมาธินิดเดียว แต่หลวงพ่อสมาธิยาว เพราะหลวงพ่อฝึกสมาธิมาแต่เด็ก แต่ว่ามาดูแล้ว ยุคนี้กรรมฐานที่เหมาะกับคนยุคนี้ ดูจิตตัวเองไปเลย หลวงพ่อพุธท่านสั่ง บอก “คุณไปเผยแพร่ คนที่จริตนิสัยอย่างคุณจะมีมาก แล้วเขาจะได้ประโยชน์”
หลวงปู่ดูลย์เองท่านมีชื่อเสียงอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องอนาคตังสญาณ ท่านรู้อนาคต รู้เก่งมากเลย แต่ท่านไม่แสดง ท่านเคยบอกหลวงพ่อว่าต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง ไม่ใช่รุ่งริ่ง จะรุ่งเรืองในเมือง หลวงพ่อตอนที่ได้ยินท่าน ไม่เชื่อหรอก เพราะไปที่ไหนเขาก็ดูกายกันทั้งนั้น สายท่านพุทธทาสก็อานาปนสติ ก็กาย โกเอ็นก้าก็เริ่มจากอานาปานสติ พองยุบมันก็กาย วัดป่าก็กำหนดพุทโธแล้วก็มาดูกาย ไปไหนๆ ก็มีแต่กายทั้งนั้น มีหลวงปู่ดูลย์บอกต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง
เมื่อปี 2525 ชุมชนเมืองก็ยังมีไม่มาก เมื่อวันนี้ชุมชนบ้านนอกไม่ค่อยมีแล้ว ตามหมู่บ้านมันคือเมืองย่อยๆ อันหนึ่งแล้ว มันกลายเป็นสังคมเมืองไปหมดแล้ว สังคมชนบทผลิตเพื่ออยู่เพื่อกิน พอมีพอใช้ อยู่กันญาติพี่น้องเยอะแยะอะไรอย่างนี้ สังคมเมืองนี่มันสังคมตัวใครตัวมัน ทำงานเพื่อหาเงิน เอาเงินไปซื้อข้าวกิน มันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วสังคม
เดี๋ยวกระทั่งในบ้านนอก คนทำไร่ทำนาไม่ใช่ชาวนาตัวจริงแล้ว แต่เป็นผู้ประกอบการ เริ่มต้นก็ไปจ้างเขามาไถนา จ้างรถไถมาไถ แล้วก็จะไปหว่านข้าวสักหน่อยหนึ่ง แล้วตอนเกี่ยวข้าวอะไรนี่ หรือพ่นยา ก็จ้างเขามาพ่นยา ใส่ปุ๋ยอะไรพวกนี้ ตอนเกี่ยวข้าว ก็จ้างรถไถมาเกี่ยว เสร็จแล้วเขาก็เอาข้าวไป นี่เป็นผู้ประกอบการ ขายไปได้กำไรเท่าไร หักต้นทุนออกไปแล้วก็มีกำไรเท่าไร บางทีก็ขาดทุน นี่ไม่ใช่ชาวนาแบบเก่าแล้ว ไม่ใช่ทำเพื่ออยู่เพื่อกิน แต่ว่าทำเพื่อขาย
ในหมู่บ้านต่างๆ เดี๋ยวนี้ในหมู่บ้าน กลางวันแทบจะเป็นหมู่บ้านร้าง คนหนุ่มคนสาว เช้ามา รถสองแถว รถอะไรนี่มารับแล้ว เข้าโรงงาน โรงงานส่งรถมารับเอาไป ในหมู่บ้านเหลือแต่เด็กๆ เล็กเลย กับคนแก่ สังคมมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว สังคมชนบทแบบเก่าไม่มี อย่างแต่ก่อนเด็กเล็กๆ ปู่ย่าตายายเลี้ยง เดี๋ยวนี้ต้องไปเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาลอะไรอย่างนี้ เตรียมไปเตรียมมา คนบ้าเข้าไปฆ่าเด็ก สังคมมันเปลี่ยน
เมื่อสังคมมันเปลี่ยน โอกาสที่จะทำกรรมฐานแล้วจิตใจสงบยาก เราก็ทำกรรมฐานที่เราทำได้ พระพุทธเจ้าให้ไว้แล้ว พระพุทธเจ้าไม่ใช่บอกว่าทุกคนต้องเข้าฌานให้ได้ก่อน กระทั่งพระอานนท์ ท่านเคยพูดไว้เลย อยู่ในพระสูตรอันหนึ่งชื่อยุคนัทธสูตร ท่านบอกการปฏิบัติ มันมีได้ 3 แนวทาง อันหนึ่งใช้สมาธินำปัญญา อันที่สองใช้ปัญญานำสมาธิ อย่างที่พวกเราจะเรียนนี่ล่ะ คือปัญญานำสมาธิ ถึงดูจิตมันเกิดดับๆ นั่นล่ะ สุดท้ายจิตจะเข้าอัปปนาสมาธิเอง เข้าได้ อีกวิธีหนึ่งคือใช้สมาธิกับปัญญาควบกัน อันนี้ต้องชำนาญในฌานและชำนาญในการดูจิต พอเข้าฌานไป อย่างเข้าถึงอรูปฌาน ไม่มีร่างกายจะดูแล้ว ก็จะไปดูจิต เห็นจิตเกิดดับได้
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติที่ท่านให้ไว้ มีตั้ง 3 ทาง ทางไหนที่เราทำไม่ได้ เราก็ไม่เอา ทางไหนที่เราทำได้เราก็เอา เพียงแต่ตั้งใจทำเสียหน่อย อย่าปล่อยวันเวลาให้ผ่านไปๆ ขี้เกียจไปเรื่อยๆ ผัดไปเรื่อยๆ หลายคนผัด เดี๋ยวแก่ๆ แล้วจะค่อยปฏิบัติ แก่แล้วมันจะปฏิบัติไหวหรือเปล่า บางคนไม่มีโอกาสจะแก่ด้วยซ้ำไป ฉะนั้นลงมือเสียแต่วันนี้ พระพุทธเจ้าก็สอนให้ลงมือแต่วันนี้เลย เพราะว่าเราประมาทไม่ได้ว่าความตายจะเกิดกับเราเมื่อไร ฉะนั้นต้องลงมือเสียแต่วันนี้
วิธีลงมือก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป จะพุทโธๆ ก็ได้ แล้วจิตมีความสุขก็รู้ พุทโธๆ จิตทุกข์ก็รู้ พุทโธแล้วจิตฟุ้งซ่านก็รู้ พุทโธแล้วจิตสงบก็รู้ หัดอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปไม่ได้พุทโธ จิตเป็นอะไรมันเห็นหมดเลย แต่เบื้องต้นก็ต้องอาศัยกรรมฐานสักอย่างหนึ่งมาเป็นเหยื่อล่อ เพื่อเราจะได้เห็นจิตของเราชัด พอเราเห็นจิตชำนาญแล้ว เราไม่ต้องทำอะไรเลย ตาเห็นรูป จิตเราเปลี่ยนแปลง เห็นแล้ว หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตเราเกิดความเปลี่ยนแปลง เราเห็นแล้ว ใจเราไปคิด จิตเราเกิดความเปลี่ยนแปลง เราเห็นแล้ว ของง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องยาก
เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตตัวเองไป พอเราฝึกตรงนี้ชำนิชำนาญ ต่อไปเราจะสามารถเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ หลายคนคิดว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวันคือการกำหนดไปเรื่อยๆ อย่างจะหัน หัน (หันศีรษะช้าๆ ) นี่ไม่ใช่เจริญสติในชีวิตประจำวัน
ถ้าเมื่อไรเราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง อันนั้นคือการทำสมถะ คือสมถะ อย่างเราท่อง สมมติพุทโธๆๆ แล้วเราท่องให้ถี่ๆ โธๆๆๆๆๆ (ท่องเร็วๆ) อย่างนี้จิตก็สงบได้ อันนี้คือสมถะ หรือทีแรกเราก็พองหนอ ยุบหนอ (พูดช้าๆ) อะไรอย่างนี้ แล้วต่อมาก็เร่งสปีด หนอๆๆๆๆ (ท่องเร็วๆ) อะไรอย่างนี้ จิตก็สงบได้ อันนั้นไม่ใช่การเจริญสติในชีวิตประจำวัน มันคือการทำสมถะ
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
การเจริญสติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร เราจะทำได้ถ้าเราเคยฝึกอ่านจิตของตัวเองออก การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น เมื่อตาเห็นรูป เกิดอะไรขึ้นกับจิตใจ รู้ทัน อย่างเห็นคนนี้ขึ้นมา โกรธ เห็นคนนี้ขึ้นมา รัก รู้ทันที่ใจ เห็นคนนี้แล้วมีความสุข เห็นหน้าคนนี้ เห็นแล้วมีความทุกข์ เครียด มีความทุกข์เกิดขึ้น รู้ทัน หูได้ยินเสียง ก็เหมือนกัน พอหูเราได้ยินเสียง จิตใจเราเปลี่ยนแปลง เรารู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตใจเราเปลี่ยนแปลง เรารู้ทัน
อย่างคนกรุงเทพฯ จะชอบอากาศหนาวๆ พอลมหนาวโชยมา รู้สึกไหมมีความสุข มีความสุขแล้วทำอย่างไรดี โอ้ จะไปเที่ยวไหนดี ไปเสียทางนั้น จะไปดูแม่คะนิ้งดีไหม หรือจะไปดูหิมะที่ไหน นี่มันเตลิดออกไปอย่างนั้น ถ้าลมหนาวโชยมา ใจเราชอบ รู้ว่าชอบแค่นี้ล่ะ ย้อนเข้ามาเรียนรู้ตัวเอง อากาศก็ร้อนๆ ลมพัดมา ลมนั้นร้อนอีก หลวงพ่อเคยเจอทางอีสานนี่ล่ะ หน้าร้อน เวลาลมมาถูกตัวเรา ร้อนยิ่งกว่าเก่าอีก ต้องพยายามหลบลมไม่ให้ถูกตัว
เวลาร้อนๆ ลมร้อนๆ มาถูกเรา รำคาญ รู้ว่ารำคาญ กำลังร้อนๆ แล้วลมเย็นมันโชยมา รู้สึกมีความสุข รู้ว่ามีความสุข นี่การปฏิบัติในชีวิตจริงเป็นอย่างนี้ หรือใจเรานั่งคิดเรื่องนี้ไปแล้วมีความสุข เรารู้ว่ามีความสุข คิดเรื่องนี้แล้วทุกข์ รู้ว่าทุกข์ คิดเรื่องนี้แล้วโลภ โกรธ หลง ก็รู้ว่าโลภ โกรธ หลง นั่นคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน
หลักของการเจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตใจ คอยรู้ไว้ แค่นี้ล่ะ อายตนะมี 6 ตัว เราเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไปรู้ว่าตอนนี้ไปดู ตอนนี้ไปฟัง ประสาทกิน 6 ช่อง ดูยาก ดูมันจุดเดียวเลย ตาเห็นรูป แล้วจิตเป็นอย่างไร หูได้ยินเสียง แล้วจิตเป็นอย่างไร
อันนี้หลวงพ่อเคยเขียนไว้ในหนังสือเรื่องทางเอก เรื่องพระโปฐิละ พระโปฐิละก็ไปเรียนกรรมฐานกับเณร แต่เณรเป็นพระอรหันต์ พระโปฐิละเป็นพระผู้ใหญ่มีชื่อเสียง เจนจบในพระไตรปิฎก ธรรมะอะไรนี่ท่องได้หมดเลย แต่ว่าเป็นปุถุชน วันหนึ่งไปเรียนกรรมฐานกับเณร เณรบอกว่าท่านอาจารย์เป็นผู้ใหญ่แล้วมันจะดื้อ เพราะฉะนั้นต้องไม่ดื้อ ผมสั่งอะไร ท่านอาจารย์ต้องทำ พระโปฐิละท่านก็บอกตกลง
เณรบอกลุยลงไปในน้ำเลย ใส่จีวรสวยๆ จีวรผ้าอย่างดี ผ้าไหม ผ้าอะไร สั่งให้ท่านลุยน้ำ ท่านลุยจริงๆ ก็ลงไปในน้ำ พอลงไปในน้ำ น้ำยังไม่ทันถูกจีวรท่าน เณรก็บอกหยุดก่อน แล้วก็ชี้ให้ดูท่านอาจารย์เห็นไหม ข้างตลิ่งนี่มีจอมปลวกร้างอยู่อันหนึ่ง คือไม่มีปลวกแล้วล่ะ มีเหี้ยตัวหนึ่งมันเข้าไปขุดโพรง มันเข้าไปอยู่ข้างในจอมปลวกนี้ แล้วเหี้ยตัวนี้มันเจาะรูเอาไว้ 6 ทาง มี 6 รู บอกท่านจะจับเหี้ยตัวนี้ให้ได้ จะไปตะครุบรูนี้ มันก็หนีออกรูโน้น อย่างนี้ไม่ได้เรื่องหรอก ท่านอาจารย์ปิด 5 รู แล้วเฝ้าอยู่รูเดียว เดี๋ยวมันก็ต้องออกมา
พระโปฐิละบอกว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจหลักของการปฏิบัติแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กายจะกระทบอารมณ์ หรือใจจะคิดอะไรก็ช่างมันเถิด แต่เราเฝ้าอยู่อันเดียว รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเอง ลองทำดู แล้วมันจะไม่ได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ก็ให้มันรู้ไปเลย
ถ้าทำให้ได้อย่างที่บอก ศีล 5 ถือเอาไว้ ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ มีกรรมฐาน เราคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ มันจะสามารถเจริญสติในชีวิตประจำวันได้เข้มแข็ง ถ้าเราไม่เคยฝึกในรูปแบบเลย ไม่มีเครื่องอยู่ ไม่มีอะไร บอกว่าจะเจริญสติในชีวิตประจำวัน ก็หลงอยู่ในชีวิตประจำวันเท่านั้นล่ะ มันดูจิตตัวเองไม่ออกหรอก ต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ แล้วคอยรู้ทันจิต ไม่ใช่อยู่กับเครื่องอยู่เพื่อสงบ อันนั้นตื้นเกินไป อยู่เพื่อจะรู้ทันจิต แล้วทำอย่างนี้ แล้วเรามาเจริญสติในชีวิตประจำวันได้
ถ้าเราทำได้ครบ 3 อัน ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ เจริญสติในชีวิตประจำวัน มันจะไม่ดีก็ให้มันรู้ไป เราก็บอกแล้ว เราไม่ได้หวังดีหรอก แต่มันดีเองล่ะ ของที่ไม่เคยรู้จะได้รู้ ของที่ไม่เคยเห็นจะได้เห็น ของที่ไม่เคยปล่อยวางก็จะปล่อยวางได้ จิตมันก็จะพัฒนาเป็นลำดับๆ ไป มีความสุขอันมหาศาล ในโลกมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ สุขของโลก มันสุขปลอมๆ สุขของธรรมะ มันสุขแท้จริง สุขที่ยั่งยืน อยู่กับตัวเรา ไม่เสียเงินซื้อหรอก แต่ต้องลงทุนลงแรงปฏิบัติเอา
บ้านจิตสบาย
18 ธันวาคม 2565