น้ำหนักในใจคือดัชนีชี้วัด

เวลาเรารู้สึกตัวอย่าไปจงใจมาก จงใจรู้สึกมันจะอึดอัด มันไม่ใช่ของจริงหรอก ทำกรรมฐานไปเสียอย่างหนึ่ง อย่างรู้สึกร่างกาย เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก รู้สึกไป ฝึกสักช่วงหนึ่งไม่นาน มันจะเห็นว่าร่างกายก็ส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ร่างกายก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มันแยก ตรงที่มันแยกขันธ์ได้นั้น เป็นจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญา อย่างเรารู้สึกร่างกายนี้ ร่างกายมันนั่ง เหลียวซ้ายแลขวา พยักหน้า รู้สึก ทีแรกที่เรารู้สึกร่างกาย มันมีสติ ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกๆ ได้สติขึ้นมา พอเรามีสติสมาธิมันก็มี จิตมันจะตั้งมั่น มันจะเห็นร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตใจอยู่ส่วนหนึ่ง เมื่อจิตตั้งมั่นได้แล้วมันเจริญปัญญาได้ จะเห็นอย่างเราเคลื่อนไหวร่างกาย จะเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของถูกรู้ถูกดู ง่ายๆ ง่าย ถ้าดูจิตได้ก็ดูจิตไป ดูจิตไม่ได้รู้สึกร่างกาย จิตมันหนีเที่ยวเก่ง แต่ร่างกายมันไม่ไปไหน มันก็อยู่ตรงนี้ล่ะ

ฉะนั้นถ้าสมาธิเราไม่ดีพอ เราไปดูจิตมันจะหลงไปเลย หลงยาว อย่างเรารู้สึก นั่งอยู่รู้สึก ยืนอยู่รู้สึก เดินอยู่รู้สึก นอนอยู่รู้สึก หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก จิตใจมันจะค่อยๆ ตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมา สมาธิมี พอร่างกายเคลื่อนไหว ไม่ได้เจตนารู้มันรู้เอง ตรงนั้นเราเรียกว่าเราได้สติแล้ว แล้วจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนดู เรียกว่าเราได้สมาธิ เมื่อเรามีสติกับมีสมาธิ การเจริญปัญญามันจะเกิดขึ้น เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่พอร่างกายเคลื่อนไหวสติระลึกรู้ ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นร่างกายมันเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ฝึกไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นว่า ทุกคนจะต้องมาดูจิตอย่างหลวงพ่อ หลวงพ่อฝึกสมาธิมาตั้งแต่เด็กแล้ว 7 ขวบก็ฝึกแล้ว ฉะนั้นจิตมันมีกำลัง ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเห็นการทำงานของจิต

ที่จริงการดูจิตมันก็มี 2 ขั้น ขั้นง่ายกับขั้นยาก อย่างพวกเรากำลังสมาธิสติเราไม่พอ ถ้าจะดูจิตก็ดูขั้นง่ายๆ จิตตอนนี้สุข จิตตอนนี้ทุกข์ หรือจิตตอนนี้เฉยๆ ต่อไปมันก็จะเห็นสุข ทุกข์ เฉยๆ เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู สิ่งที่ถูกรู้ถูกดูก็ไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนดูฝึกไปเรื่อยๆ มันจะเห็นมันก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน สั่งอะไรมันไม่ได้ หรือถ้าดูจิตอย่างง่ายๆ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ นี้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้กำลังอะไรมาก กรรมฐานมีให้เราเลือกตั้งเยอะตั้งแยะ ขอให้ทำให้จริงเท่านั้นล่ะ จะรู้สึกกายก็รู้สึกให้จริง แต่ไม่ใช่แบบรู้สึกแบบเคร่งเครียด รู้สึกจริงๆ ก็คือรู้สึกบ่อยๆ ไม่ใช่หลงยาวเป็นวันๆ แล้วนานๆ มารู้สึกทีหนึ่ง ไม่ได้เรื่อง ฉะนั้นจิตต้องมีเครื่องอยู่ อยู่กับกายก็ได้ อยู่กับจิตก็ได้

อยู่กับกายแล้วก็เห็นกายหายใจออก กายหายใจเข้า กายยืน เดิน นั่ง นอน กายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ธรรมชาติที่ไปรู้ร่างกายก็คือจิตนั่นเอง จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ จิตก็คือตัวธรรมชาติที่เป็นผู้รู้อารมณ์ แยกตัวนี้ได้ก็เป็นปัญญาขั้นต้น แล้วก็ค่อยฝึกไปเรื่อย ก็จะเห็นไตรลักษณ์ก็ขึ้นวิปัสสนาปัญญาได้ ถ้าไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ แค่เห็นว่ากายมันก็อันหนึ่ง เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้อยู่ ตรงนี้ยังไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ก็ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เป็นปัญญาเบื้องต้น ฉะนั้นเรารู้สึกอยู่ในร่างกายนี่ล่ะ หายใจออก หายใจเข้า ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง เห็นมันเป็นของถูกรู้ถูกดูไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหาว่าตัวที่รู้อยู่ที่ไหน อย่าพยายามหาว่าตัวรู้อยู่ที่ไหน หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนบอกว่า “ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ” ฉะนั้นเราจะไปหาตัวรู้ไม่ได้หรอก ไม่ต้องตกใจ

 

น้ำหนักของการรู้

ขั้นแรกๆ รู้สึกไป ดูจิตไม่ได้ดูกายไป เห็นร่างกายมันเป็นของถูกรู้ ร่างกายมันถูกรู้ รู้ทีแรกมันยังมีน้ำหนักของการรู้อยู่ มันรู้สึกนี่ร่างกายเรา นี่มือ นี่แขน นี่ตัวเรา มันจะมีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ น้ำหนักนี้เกิดจากการความสำคัญมั่นหมายผิดๆ แต่พอเรารู้เรื่อยๆ ต่อไปร่างกายเราขยับ มันรู้แล้วไม่มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ เราจะรู้ถูกหรือรู้ไม่ถูก สังเกตตัวเองง่ายๆ เลย ถ้ารู้แล้วมีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ แสดงว่ายังรู้ไม่ถูก ยังจงใจรู้อยู่ แต่ถ้ารู้แล้วไม่เกิดน้ำหนักขึ้น สักว่ารู้ว่าเห็นจริงๆ มันจะเห็นมันไม่มีเราตรงไหนเลย ใจเป็นปกติ

ลองทดสอบหน่อยสิ ลองขยับมือ ทุกคนลองขยับมือดู แล้วรู้สึกเห็นมือมันเคลื่อนไหว รู้สึกไป แล้วสังเกตนะถ้าจิตมันมีน้ำหนัก มันแน่นขึ้นมา แสดงว่าจงใจ ทำผิดแล้ว จงใจรู้สึก ถ้ามันขยับแล้วใจเราก็ปกติ ไม่มีน้ำหนักขึ้นมา แสดงว่าเรารู้เก่งแล้ว รู้ใช้ได้แล้ว สักว่ารู้ว่าเห็นแล้ว ไม่เข้าไปแทรกแซง เอ้า ขยับแล้วหลงไปเลย ไม่ได้เรื่องเลย ขยับแล้วรู้สึกๆ ไม่ใช่ขยับแล้วจิตหนีเตลิดเปิดเปิง มันใช้ไม่ได้หรอก รู้สึกไหมพอเราขยับๆ บางคนแน่นขึ้นมาแล้ว แน่นขึ้นมาแสดงว่ามันจงใจทำ มันไม่ได้สักว่ารู้ว่าเห็นไป ถ้ารู้ไปตามธรรมชาติจริงๆ ไม่ได้จงใจอะไร ไม่มีน้ำหนัก ร่างกายแต่ละคน รู้สึกร่างกายก็หนัก 10 กิโลกรัม 20 กิโลกรัม 30 – 40 – 50 – 80 – 90 – 100 กิโลกรัมอะไรอย่างนี้ ร่างกายมีน้ำหนัก แต่เราเจริญสติอยู่น้ำหนักนั้นไม่เข้ามาที่ใจเรา มันว่างเปล่าไม่มีน้ำหนัก มีน้ำหนักขึ้นมาได้เพราะความยึดถือ เพราะความโลภ

ฉะนั้นหัดรู้สึกร่างกายไป รู้สึกไปตามธรรมดาๆ รู้สึกสบายๆ แต่ถ้าแกล้งรู้สึกเมื่อไรใจจะหนัก ถ้าไม่ได้แกล้ง ใจไม่มีน้ำหนักขึ้นมา ใจโปร่ง โล่ง เบา ใจที่เบา ใจที่โปร่ง อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ใจดวงนั้นเป็นใจที่เป็นกุศลจริงๆ แล้วถ้าเป็นกุศลชนิดที่เห็นกายมันทำงาน เห็นใจมันทำงาน มันเป็นจิตชนิดที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้ารู้สึกอยู่เฉยๆ จิตเป็นกุศลไม่หลงไปไหน เบาสบาย แต่ไม่ได้มีปัญญา ไม่ได้แยกรูปแยกนาม รู้สึกแล้วมันแยกไม่ออก มันไม่ยากหรอก อดทน ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ

อย่าว่าแต่ใจ อย่าว่าแต่ร่างกายเราเลย เราภาวนาเป็น ใจเรารู้สึกถึงร่างกาย สติระลึกร่างกาย ไม่มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ ตาเห็นโลกข้างนอก เห็นภูเขา อยู่สวนโพธิ์ฯ หลวงพ่อเห็นภูเขา จากสวนโพธิ์ฯ จากที่เมือง กาญจน์ฯ วัดที่ไปอยู่ นอกวัดมันมีภูเขาอยู่ 3 ลูกเรียงกัน สวยมากเลย มันเป็นมุมที่ดูแล้วสวย ถ้ามองจากมุมอื่นไม่สวย มองจากมุมที่สวนโพธิ์ฯ แล้วสวย 3 ลูกนี้เท่าๆ กัน เรียงเป็นแถวเลยเว้นระยะห่างเท่าๆ กัน สวยมาก ดูออกไปภูเขาตั้ง 3 ลูกไม่มีน้ำหนัก น้ำหนักมันเกิดขึ้นที่ใจเรานี่เอง ใจเราเที่ยวยึดเที่ยวถือ ใจเราก็มีน้ำหนักขึ้นมา อย่าว่าแต่ร่างกายตัวเองเลย แค่ ภูเขาใหญ่ๆ ตั้งหลายลูกยังไม่มีน้ำหนักเลย

ฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้วใจเราหนักๆ แสดงว่าเราจงใจมากไป เราโลภ เราฟุ้งซ่านมากไป เราบังคับตัวเองมากไป ใจมันจะหนักๆ ขึ้นมา ดูออกไหมแต่ละคน หนักไม่หนัก หนักเป็นแถวเลยเห็นไหม ยังรู้ไม่เป็นธรรมดา รู้ธรรมดาๆ นี่ล่ะไม่มีน้ำหนักหรอก วัดกันที่ใจตัวเอง ไม่ต้องวัดที่ไหน ไม่ต้องถามใครเลยบางทีดูนามธรรมก็มีน้ำหนักขึ้นมา ไม่เฉพาะดูรูปธรรมหรอก อย่างบางคนพยายามจะดูจิต ตรงที่พยายามดูจิต จิตก็มีน้ำหนักขึ้นมาแล้ว พยายามจะดูจิตมันก็หนักขึ้นมาได้

 

เห็นถูก ใจจะไม่มีน้ำหนัก

ฉะนั้นเวลาเรารู้สภาวะ จะไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม รู้ด้วยใจธรรมดา แต่ถ้าใจเราผิดธรรมดาเมื่อไรแสดงว่าผิดแล้ว ตรงไหนที่มันผิดธรรมดาใจมันจะเกิดน้ำหนักขึ้น แต่ถ้าเรารู้ตามธรรมชาติจริงๆ ไม่ได้เจตนา ไม่ได้จงใจ ไม่ได้อยาก ไม่ว่ารู้อะไรจะไม่เกิดน้ำหนักขึ้นในใจ ยากไปไหม ลองรู้สึก รู้สึกร่างกายไป แล้วถ้าใจเราหนักขึ้นมา ผิดแล้ว ไปค่อยๆ ดูเอา จงใจมากไป จงใจเยอะไปมันก็จะแน่นๆ ขึ้นมา แต่ถ้าเรารู้เป็นไม่มีน้ำหนัก รู้อะไรก็ไม่มีน้ำหนัก เห็นภูเขาตั้งหลายลูก ยังไม่มีน้ำหนักขึ้นในใจเลย หรือเห็นความรู้สึก อย่างเราจะดูจิต จงใจดูจิตมันจะหนัก จะหนักทันทีเลย จงใจปุ๊บจะแน่นๆ หนักๆ อย่าไปจงใจ

วิธีดูจิตก็คือความรู้สึกเกิดก่อน มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นก็รู้มันไป ก็จะเห็นความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ถ้าเห็นถูกใจไม่มีน้ำหนัก นอกจากไม่มีน้ำหนัก บางทีใจเกิดปีติขึ้นมาได้ อย่างเราเห็นร่างกายเคลื่อนไหวใจเป็นคนรู้ ใจไม่มีน้ำหนักก็ไม่จงใจขึ้นมา หรือเราเห็นจิตมันเคลื่อนไหวไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว จิตไม่มีน้ำหนักเพราะไม่ได้เจตนารู้ ทรงตัวอยู่อย่างนั้น บางทีความสุขผุดขึ้นมาเองเลย ฉะนั้นอย่างที่พวกเราภาวนาแล้วบอกไม่ได้ทำอะไร ทำไมมีความสุขผุดขึ้นมาได้ มันมีความสุขผุดมาได้เพราะมันไม่ได้ทำ ถ้าทำมันก็ไม่ผุดขึ้นมาหรอก มันจะแน่นๆ มันจะสุขตรงไหน รู้สึกไหมตรงนี้ก็ทำอยู่ รู้สึกเอา พอทำเป็นจะรู้สึกมันไม่ยาก ไม่ได้ทำอะไรแค่รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งรู้สึก มีความสุข มีความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกายรู้สึก มีความสุข มีความทุกข์ มีความเฉยๆ เกิดขึ้นในจิตใจก็แค่รู้สึก ถ้าเกินจากรู้สึกเมื่อไรจะแน่นเมื่อนั้น ตรงที่มันแน่นๆ มันเป็นทุกข์ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมา อะไรทำให้มันทุกข์ ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดตัวทุกข์ทางใจ

ฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้ว โอ๊ย ใจเราอึดอัด แสดงว่าเราภาวนาด้วยตัณหา เราอยากโน่น อยากนี่ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากสุข อยากสงบ อยากได้มรรคผลนิพพาน ใจอย่างนั้นใจจะแน่นขึ้นมา มีตัณหาก็มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ ค่อยรู้สึกไปไม่ต้องรีบร้อนหรอก รู้สึกทุกวันๆๆ ไป ร่างกายนั่งอยู่รู้สึก ร่างกายหายใจรู้สึก รู้สึกสบายๆ ถ้ารู้สึกแล้วแน่นๆ แสดงว่ามีตัณหาแทรก มีอยากแทรก ไม่ยากนะ วันนี้เทศน์ง่ายๆ รู้สึกง่ายไหมหรือยากอีก ไม่ยากนะ ถ้าแค่นี้ยากไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำสมถะไป ถ้าแค่นี้ยังทำไม่ได้ก็ทำแต่สมถะ พุทโธๆๆ ไป ทำสมถะก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าจิตเรามีกำลังพอ รู้สึกเลยร่างกายมันของถูกรู้ ร่างกายมันหายใจ ใจเราเป็นคนรู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ใจมันเป็นคนรู้ ถ้าใจมันเป็นคนรู้ ใจจะไม่มีน้ำหนัก แต่ถ้ามีความอยากสักนิดหนึ่งเกิดขึ้น ก็มีน้ำหนักขึ้นมาทันทีเลย มีทุกข์เกิดขึ้นในใจ

หรือดูนามธรรม สุข ทุกข์ กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง บางคนยังไม่ได้ภาวนาใจสบายเป็นธรรมดา พอจะดูจิตเริ่มจ้องแล้ว เครียดแล้ว จะดูตรงไหนดี ไม่เห็นว่าใจกำลังโลภ ใจกำลังฟุ้งซ่าน สภาวะเกิดแล้วไม่เห็น ใจก็เครียดขึ้นมา หรือบางคนเห็นโทสะ โทสะเกิดขึ้นใจไม่ชอบ ไม่เห็นว่าใจไม่ชอบ มีน้ำหนักเกิดขึ้น ใจเครียด ฉะนั้นน้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจ เป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเรารู้เป็นธรรมชาติไหม หรือรู้แบบมีตัณหาแทรกเข้ามา ถ้ารู้อย่างเป็นธรรมชาติ จะไม่มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ ลองไปดู น้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ก็ไม่คงที่ เดี๋ยวหนักมาก เดี๋ยวหนักน้อย เวลาจิตเราชั่วๆ ก็หนักมาก เวลาจิตเราเป็นกุศลก็หนักน้อยหน่อย เวลาเราอยากดีลงมือปฏิบัติ บังคับกายบังคับใจก็หนักเยอะหน่อย ถ้าเห็นกายเห็นใจมันทำงาน แต่มีความจงใจจะไปเห็นก็หนักน้อยหน่อย มีแต่หนักมากกับหนักน้อยในใจ ตรงนี้จริงๆ ก็แสดงธรรมะ จิตนี้เดี๋ยวก็หนักมาก เดี๋ยวก็หนักน้อย สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ดูอย่างนี้ก็เดินปัญญาได้ คือถ้าภาวนาเป็นแล้วอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับกายกับใจ ใช้เดินปัญญาได้ทั้งนั้นล่ะ ภาวนาไม่เป็นมันก็ได้แต่เพ่งๆ เอา เครียดๆ เอา ไม่ได้เดินปัญญาจริง

เอ้า ทุกคนลองยิ้มหวานสิ ยิ้มหวานเหมือนมีคนมาบอกรักเรา รู้สึกไหมร่างกายมันยิ้ม มันยิ้ม รู้สึก ตอนที่รู้สึกทีแรกว่ามันยิ้ม ไม่มีน้ำหนัก รู้สึกไหม แต่ตอนนี้ลองยิ้มใหม่ รู้สึกไหมรอยยิ้มของเราแห้งแล้งมากเลย ใจเริ่มหนักๆ แล้ว มันจงใจ ฉะนั้นถ้ากายเราเคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติ ไม่ได้เจตนาบังคับมัน มีสติรู้ไปไม่มีน้ำหนักหรอก เพราะไม่มีตัณหา แค่เราจะยิ้ม ถ้าเราไม่ได้เจตนาจะยิ้ม แค่ยิ้ม มีความสุขแล้วยิ้มขึ้นมา อย่าว่าแต่หน้าเรายิ้มเลย ใจเรายังยิ้มด้วยเลย ใจเราจะมีความสุขขึ้นมา ลองยิ้มสบายใจสิ ยิ้ม เริ่มทำไม่ได้แล้วรู้สึกไหม ยิ้มอนาถา ยิ้มแล้วก็เครียดๆ ยิ้มหวานๆ เห็นไหมตอนนี้ใจคลายออกได้แล้ว เห็นไหมหลวงพ่อทำตลกให้ดูนิดหนึ่ง ใจก็คลายแล้ว เพราะว่าไม่ได้จงใจที่จะดูของตัวเอง ฉะนั้นที่มันแน่นๆ ขึ้นมาเพราะจงใจเยอะไป เพราะโลภ เพราะตัณหา

ถ้าเราเห็นร่างกายมันทำงานไป ด้วยใจที่ธรรมดา ใจไม่แน่น ใจไม่หนัก อย่างบางคนตอนที่เริ่มฟังหลวงพ่อ กับตอนนี้ใจก็ไม่เหมือนกันแล้ว รู้สึกไหม ใจมันก็เปลี่ยน ไม่เหมือนกัน ตอนเริ่มฟังทีแรกมันตื่นเต้นใช่ไหม เกร็งๆ เครียดๆ ฟังไปๆ หลวงพ่อพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ฟังแล้วใจมันคลายออก ไม่ได้เจตนาให้คลาย เอ้า ลองเจตนาให้จิตมันผ่อนคลายสิ แน่นเลยรู้สึกไหม ไม่คลายหรอก พอแล้วเดี๋ยวหลวงพ่ออ้วก ของง่ายๆ รู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ไม่ใช่รู้สึกกายอย่างที่อยากจะรู้ รู้สึกใจอย่างที่ใจเป็น ไม่ใช่รู้สึกใจอย่างที่อยากจะให้เป็น มันเป็นอย่างไรรู้อย่างนั้น แล้วปัญญามันก็จะค่อยๆ สะสม

 

รู้สึกด้วยใจธรรมดา

ขั้นแรกมันก็จะเห็นร่างกายมันทำงาน หรือจิตใจมันทำงาน สุข ทุกข์ ดี ชั่ว มันทำงานขึ้นมา ก็แค่ของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่จิตใจเรา ร่างกายมันถูกรู้ถูกดู คนที่รู้ที่ดูก็คือจิต ไม่ต้องไปหามันว่าอยู่ที่ไหน แค่เห็นว่ามีสิ่งบางสิ่งถูกรู้อยู่ ขณะนั้นมีตัวรู้ขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องไปหามัน ถ้าพยายามหาตัวรู้จะสับสนวุ่นวาย ฟุ้งซ่านทันทีเลย ถ้าเรามาทางฌาน ตัวรู้นี้จะเด่นดวงอยู่ อันนี้ดูง่าย แต่ถ้าเราจะใช้ทางขณิกสมาธิ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอะไรอย่างนี้ สุข ทุกข์ ดี ชั่วแล้วรู้สึก สมาธิที่เกิดมันจะสั้นๆ เป็นขณิกะ ตัวรู้มันยัง ช่วงแรกๆ มันยังไม่เด่นหรอก ต้องฝึกรู้บ่อยๆๆๆ สุดท้ายตัวรู้ก็เด่นดวงได้ คล้ายๆ เทียบกับตัวรู้ที่ได้จากการทำฌาน ไม่เท่าเขาแต่พอใช้ พอใช้งาน พอทำวิปัสสนาได้

ฉะนั้นต่อไปนี้หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ใจไม่แน่น ไม่จงใจรู้สึก รู้สึกด้วยใจธรรมดา แล้วต่อไปมันจะเห็นจิตใจนี้ เดี๋ยวก็รู้การหายใจ เดี๋ยวก็ไปคิดเรื่องอื่น พอมีสติรู้ทันมันเข้าไปอีก ก็จะเห็นเลยจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตไหลไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตไหลไปเพ่งก็ไม่เที่ยง ก็อย่างนี้ก็เดินปัญญาได้ คือภาวนาเป็น อยากทำสมถะก็ง่ายๆ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ แต่ถ้าจะทำวิปัสสนาใช้อารมณ์รูปนาม รู้กายรู้ใจ แล้วก็รู้ด้วยใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ใจที่แข็งๆ ใจธรรมดา หัดรู้ด้วยใจธรรมดาบ่อยๆ ในที่สุดใจธรรมดามันก็ทรงตัวอยู่ ใจธรรมดานั่นล่ะคือตัวจิตผู้รู้ ใจที่มันไม่ธรรมดามันเป็นจิตผู้หลง ผู้ปรุง ผู้แต่ง ฉะนั้นถ้าใจเรามีหนักๆ ขึ้นมา แสดงว่ายังไม่ใช่ผู้รู้หรอก ยังเป็นผู้ปรุงแต่งอยู่

เมื่อก่อนหลวงพ่อภาวนา ยังเป็นโยมอยู่ หัดใหม่ๆ แล้วเราก็เห็นเลย ใจเราแต่ละวันไม่เหมือนกัน บางวันปลอดโปร่ง สบาย บางวันเคร่งเครียด หนักๆ แน่นๆ แต่ละวันไม่เคยเหมือนกันเลย พอภาวนาละเอียดมากขึ้นก็เริ่มเห็นอีก ในวันเดียวกันเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ใจเราก็ไม่เหมือนกัน เดี๋ยวหนัก เดี๋ยวเบา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในวันเดียวเปลี่ยนตั้งหลายรอบ เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ไม่เหมือนกัน หัดทีแรกก็ดูเป็นวันๆ โอ้ จิตใจเราแต่ละวันไม่เคยเหมือนกันเลย วันนี้สุข วันนี้ทุกข์ วันนี้สงบ วันนี้ฟุ้งซ่าน พอหัดดูบ่อยๆ สติ สมาธิมันละเอียดขึ้น จะเห็นในวันเดียวกันนั่นล่ะ เช้ามันก็อย่างหนึ่ง สายมันก็อย่างหนึ่ง กลางวัน ตอนบ่าย ตอนค่ำ ตอนดึก ใจเราไม่เคยเหมือนกันเลย แล้วพอฝึกมากเข้าๆ เห็นแต่ละขณะใจเราก็ไม่เหมือนกัน ขณะที่ตาไปมองเห็นรูปใจเราก็เปลี่ยน มีน้ำหนักขึ้นมา หนักบ้าง เบาบ้าง ตอนที่หูได้ยินเสียงใจก็มีน้ำหนักขึ้นมา หนักบ้าง เบาบ้าง

หลวงพ่อภาวนาไม่ได้ใช้กายเป็นหลัก หลวงพ่อใช้จิตเป็นหลัก จะเห็นจิตไปดูรูปน้ำหนักก็เกิด จิตไปฟังเสียงน้ำหนักก็เกิด กระทบอารมณ์ทางตาก็มีน้ำหนัก กระทบอารมณ์ทางหูก็มีน้ำหนัก กระทบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทบความคิดทางใจก็มีน้ำหนักขึ้นมา ก็เห็นใจนี้เดี๋ยวหนัก เดี๋ยวเบา เดี๋ยวหนัก เดี๋ยวเบา บังคับมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ ถึงจุดหนึ่งมันก็จะเข้าใจหรอก จิตใจไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก เราสั่งอะไรมันไม่ได้สักเรื่อง ฉะนั้นเราคอยรู้สึกไป ถ้าเรารู้สึกตัวเองได้ รู้สึกใจได้ รู้สึกใจมี 2 ขั้น ถ้าขั้นละเอียดตาเห็นรูปใจเราเปลี่ยน รู้สึก หูได้ยินเสียงใจเราเปลี่ยน รู้สึก จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจเราเปลี่ยนแปลงรู้สึก ใจเราคิดเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจ รู้สึก เดี๋ยวหนัก เดี๋ยวเบา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย จะเกิดขึ้น รู้สึกเรื่อยๆ มันเกิดตามหลังการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้ดูจิตอย่างละเอียด

ถ้าดูจิตอย่างง่ายๆ เราขี้โมโหเราก็เห็น จิตเดี๋ยวก็โมโห เดี๋ยวก็ไม่โมโห เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ นี่สำหรับพวกขี้โลภก็ดูจิตโลภ ถ้าพวกฟุ้งซ่านก็ดูไป เดี๋ยวจิตก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็ไม่ฟุ้งซ่าน ต่อไปก็จะเห็นโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้มันไม่ใช่จิตหรอก เพียงแต่จิตรู้แล้วจิตโดนมันครอบ โดนมันครอบงำเลยรู้สึกว่าเรา เราโลภ เราโกรธ เราหลง เราสุข เราทุกข์ แต่ขันธ์มันแยกออก แต่มันจะไม่มีเรา ความเป็นเราอาศัยการประชุมกันของขันธ์ แล้วก็สัญญาเข้าไปหมายผิดๆ ก็มีเราขึ้นมา แต่ถ้าเราแยกขันธ์ไป ค่อยๆ แยกไป สุข ทุกข์ ก็ขันธ์หนึ่ง ดี ชั่ว ก็ขันธ์หนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็เป็นขันธ์หนึ่ง อย่างนี้ก็แยกขันธ์ได้ หรือเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู นี่ก็แยกขันธ์ได้ พอแยกขันธ์ได้แล้วก็ดูจะเห็นไตรลักษณ์ อันนั้นขึ้นวิปัสสนาจริงๆ

สังเกตไหมฟังหลวงพ่อเทศน์ ตอนนี้ใจสงบรู้สึกไหม ส่วนใหญ่ใจสงบ อ่านใจตัวเองไปอย่างนี้ ถ้าฟังหลวงพ่อเทศน์แล้วหวังว่าจะรู้เรื่อง ไม่ได้ผลอะไรหรอก ฟังเล่นๆ กรรมฐานไม่ได้ฟังเอาจริงเอาจัง ไม่ได้ฟังแบบจดเล็กเชอร์ ฟังไปเราก็อ่านจิตตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ถ้าเราไปนั่งจดท่านเทศน์อย่างนี้จดๆๆ โดนดุนะ ท่านให้เราภาวนาไปเลย แล้วท่านก็เทศน์ไป เดี๋ยวเทศน์เรื่องโน้น เดี๋ยวเทศน์เรื่องนี้ เดี๋ยวเล่าเรื่องเสือ เรื่องช้าง เรื่องหมี เรื่องผี ใจเราก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อย เปลี่ยนๆๆ ไป แล้วถ้าเรามีสติระลึกอยู่แป๊บเดียวเราก็เข้าใจแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น

สังเกตไหมใจตอนนี้ กับใจเมื่อกี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว รู้สึกไหม เพราะตอนนี้เริ่มจะพยายามสังเกตใจแล้ว รู้สึกไหม ตรงที่เริ่มพยายามจะสังเกต แน่นขึ้นมาแล้ว ตอนที่ฟังหลวงพ่อแล้วเพลินๆ หลวงพ่อพูดอย่างโน้นอย่างนี้ จับเนื้อหาสาระไม่ค่อยจะได้ ฟังหลวงพ่อเทศน์ไม่ต้องเอาเนื้อหาสาระหรอก ฟังแล้วก็รู้สึกกายรู้สึกใจของตัวเองไป แล้วเวลาธรรมะมันพอดีกับใจเรา ใจมันจะ alert ขึ้นมา มันจะตื่นตัวขึ้นมา มันจะเข้าใจขึ้นมา อย่างนั่งฟังครูบาอาจารย์เทศน์ บางทีก็เครียดขึ้นมา เรารู้ว่าเครียด บางทีฟังแล้วใจเราเบิกบานขึ้นมา เรารู้ว่าเบิกบาน ไม่ได้ฟังเอาเรื่องหรอก ไม่ใช่ฟังเอาเรื่องราวอะไรมากมาย

 

“คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย”

กรรมฐานเขาเรียนกันสนุกนะ หลวงพ่อเคยเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อหลวงพ่อเกษม เขมโก หลวงพ่อเกษมขึ้นชื่อลือชาเรื่องอภิญญา หลวงพ่อไปสัมมนาที่ลำปาง ตกค่ำคนอื่นเขาก็กินเลี้ยงกัน เฮฮา เข้าผับ เข้าบาร์ เราไม่ ชวนพวกที่ชอบเข้าวัดด้วยกันได้ 3 – 4 คน ไปกราบหลวงพ่อเกษม กลางคืนแล้วกว่าจะเสร็จธุระ ไปถึงสุสานไตรลักษณ์มืดตึ๊ดตื๋อเลย นึกว่าจะเปลี่ยวเพราะเป็นสุสาน ที่ไหนได้เข้าไปคนเต็มเลย คนมานั่งอยู่เยอะแยะเลย จะมารอหวยกะว่าถ้าหลวงพ่อทำอะไรขึ้นมา จะตีความเป็นเลขได้หมด เราเข้าไปแล้ว โอ้โห คนเยอะแยะเลยถ้าจะไม่ได้เจอหลวงพ่อเกษม เข้าไปนั่งอยู่ใต้ถุนกุฏิหลังหนึ่ง แป๊บเดียวก็มีลูกศิษย์ท่านเดินมาบอก บอกวันนี้เป็นวันพระหลวงพ่อไม่รับแขกหรอก หลวงพ่อก็ครับๆ เสียดายไม่ได้เจอท่าน แต่ว่าก็ยอมรับกติกา ไม่พยายามฝ่าฝืนกติกาท่าน ท่านว่าอย่างนั้นเราก็เอาอย่างนั้น ก็เลยบอกเขาเดี๋ยวผมนั่งสมาธิตรงนี้ล่ะ หายเหนื่อยแล้วเดี๋ยวจะกลับแล้ว ลูกศิษย์ท่านก็ไป

หลวงพ่อนั่งแล้วก็นึกถึงท่าน อยากรู้ว่าท่านภาวนาอย่างไร อยากรู้ อยากรู้เรื่องโน้นเรื่องนี้เกี่ยวกับท่าน พยายามจะรู้ ทีแรกก็เข้าไปรู้นะ สุดท้ายท่านกั้นไม่ให้ดู เหมือนเข้าไปแล้วเจอกำแพงเลย เราก็โคตรซนเลยตอนนั้น กำหนดจิตเหมือนเข็ม เหมือนสว่านไชเข้าไป ไชๆ เข้าไปได้ ท่านก็ยันอีกที สร้างกำแพงอีกชั้นหนึ่งดันลงมาอีก เราก็ไชอีก พอครั้งที่สามท่านดันพรวดเดียว เราตัวแข็งเลยกระดุกกระดิกไม่ได้เลย อันนี้มันของเล่น ของเล่นเป็นกีฬาของคนเล่นสมาธิ พอตัวแข็งปุ๊บทำอย่างไร เราก็นึกท่านมีพลังฝึกปรือ 60 ปี เรามีพลังฝึกปรือ 20 ปี เราต้องไม่ต่อต้าน ว่างเลย ทำใจสบายว่างๆ ท่านกดเดี๋ยวท่านก็เลิก แล้วท่านก็ให้ลูกศิษย์มาเรียกไปหา ลูกศิษย์ก็บอกไปได้ แต่ว่าต้องไม่ให้ท่านเสียสัจจะ ถือว่าท่านไม่ได้รับแขก ท่านจะนั่งอยู่ในห้องท่านแล้วเปิดประตู ให้หลวงพ่อไปนั่งที่ระเบียง กุฏิท่านเล็กนิดเดียว ก็ห่างกันเมตรเดียว แต่ท่านอยู่ในห้องหลวงพ่ออยู่นอกห้อง เขาบอกอย่าเข้าไปในห้องท่าน ถ้าเข้าไปเดี๋ยวท่านต้องกลายเป็นท่านรับแขก เสียสัจจะ

ปรากฏว่าพอท่านเปิดประตูออกมาเราก็กราบ ท่านก็เทศน์ให้ฟัง ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่อยู่ในเล้า ตะลึงเลย หา เทศน์อย่างนี้หรือ ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่อยู่ในเล้า ฃ.ขวดของเรา ค.ควายเข้านาอะไรอย่างนี้ เคยท่องไหมตอนเด็กๆ ฅ.คนขึงขัง ฆ.ระฆังข้างฝา ท่านจะท่องอย่างนี้ แล้วก็ท่องบทแต่งกลอน ท่านท่องกลอนที่ท่านแต่งเรื่องโน้นเรื่องนี้ พอหลวงพ่อฟังใจหลวงพ่อนี้แน่น แน่นไปหมดเลย ก็บอกท่าน รู้ว่าเราคิดในใจท่านรู้หมด ก็บอกท่านในใจ บอก “หลวงพ่อ หลวงพ่อเทศน์แบบนี้ให้ผมฟังไม่เป็นไรหรอก แต่อย่าไปเทศน์ให้คนต่างชาติ ต่างศาสนาฟัง เดี๋ยวเขาดูถูกศาสนาพุทธว่าพิลึก เรียนเรื่อง ก.ไก่ ข.ไข่” ท่านก็ยิ้ม ท่านก็ไม่ว่าอะไรหรอก

พอท่านเล่นจนกระทั่งใจเราป่วนไปหมดแล้ว ใจเรานี่ โอ๊ย เครียดไปหมดเลย ทุกข์ไปหมดเลย รู้สึกเป็นห่วงพระศาสนามาก พอท่านเล่นเราเต็มที่แล้วท่านก็หยุด พูดประโยคเดียว “คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย” ได้ยินประโยคเดียวคุ้มค่าแล้ว ที่มาวันนี้ได้ธรรมะแล้ว “คิดดี” คืออะไร คิดไปในทางกุศล จิตใจเราก็ร่มเย็น “คิดไม่เป็น” เป็นอย่างไร คิดแล้วไม่มีตัวมีตน ไม่มีคน มีสัตว์ มีเรา มีเขา จิตพ้นออกจากความคิด ความคิดส่วนความคิด จิตส่วนจิต ไม่ปรุงตัวปรุงตนขึ้นมา มันเย็นสบาย เย็นสบายตัวนี้คือคำว่านิพพานนั่นเอง คิดแล้วไม่เป็น คิดแล้วไม่เป็นตัวเป็นตน

วิธีสอนธรรมะของครูบาอาจารย์แต่ก่อนเล่นกันอย่างนี้เลย เล่นเราหัวปั่นเป็นจิ้งหรีดเลย แบบ โห งงไปหมดเลย เครียดไปหมดเลย เสร็จแล้วท่านหยอดธรรมะให้ประโยคเดียว จำมาจนถึงวันนี้เลย ประโยคเดียวสั้นๆ ครอบคลุมธรรมะไว้มหาศาลเลย “คิดดีก็ใจเย็น” ถ้าคิดเลวล่ะก็ใจร้อน คิดในทางไม่ดีใจก็เร่าร้อน ถ้าคิดไปในทางดีจิตใจก็ร่มเย็น เป็นกุศล คิดไปทางบุญกุศล “คิดไม่เป็น” ก็คือคิดแล้วไม่มีตัวมีตน ขั้นสุดท้ายมันหมดความคิด “คิดไม่เป็น” ไม่คิดอะไรเลย แล้วเย็นสบายมันดับสนิท ฉะนั้นเวลาฟังธรรมะ ฟังสบายๆ ไม่ต้องฟังเครียดๆ ไม่ต้องฟังเพื่อจะให้รู้เรื่อง ถ้าอยากรู้เรื่องเป็นเรื่องๆ ไปอ่านพระไตรปิฎก แต่ถ้าฟังไปแล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ ต่อไปเราจะภาวนาเป็น

อย่างเราอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านเทศน์อย่างนี้ จิตใจเราเบื่อหน่าย รู้ว่าเบื่อ ท่านเทศน์อย่างนี้จิตใจเราร่าเริง รู้ว่าร่าเริง พอท่านเลิกเทศน์แล้วเรามาอยู่กับโลกข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์เกิดเบื่อหน่ายรู้ว่าเบื่อหน่าย มันเคยรู้มาแล้วนี่ มันเกิดชื่นมื่นมีความสุข ร่มเย็นเป็นสุข ก็รู้ มันเคยรู้มาแล้วนี่ เพราะฉะนั้นเวลานั่งทำกรรมฐาน นั่งทำกรรมฐานของเราไปเลย ครูบาอาจารย์เทศน์ก็เทศน์ไปเถอะ แล้วเราจะเห็นว่าใจเรามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสงบ เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย รู้มันไปเรื่อยๆ พอเลิกฟังกรรมฐานแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้วใจเราเปลี่ยนอีกแล้ว มันเคยเห็นจิตใจที่เปลี่ยนแปลงแล้ว มันจะเห็นได้เองโดยไม่ได้เจตนาจะเห็น อันนี้สำหรับพวกดูจิต แต่ถ้าจะดูกาย รู้สึกมันไปเลย กายหายใจออก หายใจเข้า กายยืน เดิน นั่ง นอน กายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง รู้ด้วยใจที่ธรรมดาไม่มีน้ำหนัก ถ้ามีน้ำหนักขึ้นมา รู้ทัน ก็จะเห็นใจนี้เดี๋ยวก็หนักมาก เดี๋ยวก็หนักน้อย นี่เข้ามาดูจิตแล้ว เข้ามาดูจิตได้แล้ว.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 เมษายน 2565