กฎของการดูจิต 3 ข้อ

เมื่อวานหลวงพ่อสอนพวกเราหัดดูใจเรา มันมีน้ำหนักขึ้นมา ปรุงดีก็หนัก ปรุงชั่วก็หนัก ห้ามมันไม่ได้ เพราะความปรุงแต่งทั้งหลาย มันก็นำความทุกข์มาทั้งนั้น แล้วอยู่ๆ จะไม่ให้ปรุงแต่ง มันก็เป็นไปไม่ได้ จิตมันเคยชินที่จะปรุงแต่ง มันไม่เข้าใจอริยสัจ ตราบใดที่ไม่เข้าใจอริยสัจ จิตก็ยังปรุงแต่งไม่เลิก

อริยสัจก็เรื่องของทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ เรื่องมรรค เวลาเรียนรู้ เราเรียนรู้จากสิ่งที่เรามี เรามีทุกข์อยู่ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือกายกับใจของเรานี่เอง เราเรียนจนเห็นความจริง ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีทุกข์กับสุขหรอก พอเห็นอย่างนี้ มันก็จะละสมุทัยได้ รู้ทุกข์เมื่อไหร่ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น สมุทัยก็คือความอยาก

 

ความไม่รู้ทุกข์เป็นรากเป็นเหง้าให้เกิดตัณหา

อย่างพอเราดูลงไป เราเห็นกายนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ใจมันเห็นแจ้งตรงนี้ ใจมันก็จะหมดความอยากที่จะให้ร่างกายเป็นสุข หมดความอยากที่จะไม่ให้ร่างกายมีความทุกข์ ตรงอยากให้มันดี อยากให้มันสุขอะไรนี่ ก็เป็นกามตัณหา มันเกิดอยากแล้ว มันพอใจในอารมณ์อันนี้ มันก็อยากให้อยู่นานๆ อันนั้นเรียกว่าภวตัณหา มันเห็นทุกข์ขึ้นมา เกิดใจไม่ชอบ อยากให้หมดไปสิ้นไป เรียกว่าวิภวตัณหา ฉะนั้นตัณหาจริงๆ เกิดจากการที่เราไม่รู้ทุกข์ ถ้าเรารู้ทุกข์ของกาย เราก็จะสิ้นตัณหาในส่วนของกาย แล้วถ้าเราฝึกเรียนรู้ความจริงของจิตใจ เราก็จะเห็นว่าจิตใจนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงนี้ดูยาก

อย่างจะดูร่างกายว่ามีแต่ทุกข์ล้วนๆ ก็ยากแล้ว เพราะเราเห็นว่ากายเราเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ ดูจิต จะให้เห็นว่ามันทุกข์ล้วนๆ ยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะมันละเอียด เราเห็นได้แค่ว่าจิตใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ พอเห็นว่ามันมีทางเลือก สุขก็มี ทุกข์ก็มี ใจมันก็อยากได้ความสุข ดิ้นรนหาความสุข สังขารคือภพ มันก็เกิดขึ้น พอใจมันมีความอยากขึ้นมา ใจมันก็เกิดความดิ้นรนขึ้นมา ตัวความดิ้นรนของใจ ของจิตนั่นล่ะ เรียกว่าภพ

เราค่อยภาวนาทุกวันๆ ค่อยๆ ดูไป ร่างกายนี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง จริงหรือเปล่า หรือเป็นทุกข์ล้วนๆ แต่ทุกข์น้อยบ้าง ทุกข์มากบ้าง จิตใจนี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง จริงหรือเปล่า หรือว่าจิตใจนี้มีแต่ทุกข์ เพียงแต่ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง ถ้าเราเห็นจนถึงขนาดว่า กายนี้ใจนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มากบ้างน้อยบ้าง ก็ทุกข์ทั้งนั้น เห็นอย่างนี้ถึงจะละสมุทัยได้ ถึงจะละตัณหาได้ แต่ถ้าเห็นว่ากายนี้มีทางเลือก 2 ทาง สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ จิตนี้มีทางเลือก 2 ทาง สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ มันก็จะอยากได้สิ่งที่ดี อยากได้สุข อยากให้ความทุกข์ไม่มี ความอยากมันเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นตัวอวิชชา ความไม่รู้ความจริง ความไม่รู้ทุกข์นั่นล่ะ เป็นรากเป็นเหง้าให้เกิดตัณหา เกิดความอยาก พอใจมันเกิดความอยาก มันก็จะเกิดความยึดถือ แล้วก็เกิดความดิ้นรน มันจะยึดถืออารมณ์ดี อารมณ์ร้าย สุข ทุกข์อะไรพวกนี้ จะยึดถือ พอมันเข้าไปยึดถือ มันจะไปหยิบฉวยเอาอายตนะขึ้นมา ตรงนี้ดูยากแล้ว แต่ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ บางทีเราเห็นได้ ถึงเป็นปุถุชนก็เห็นได้ เคยมีโยมคนหนึ่งเล่าให้หลวงพ่อฟัง อย่างเขาเห็นว่าจิตเขาบางทีก็ปล่อยวางจิต บางทีก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก ยึดถือขึ้นมาอีก ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ทำไมยังไปหยิบขึ้นมาอีก เพราะมันไม่แจ้งอริยสัจนั่นล่ะ มันไม่รู้ว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ

อย่างเห็นจิตนี้สุขบ้างทุกข์บ้าง มันก็ยังชอบใจจิตที่มีความสุข เกลียดจิตที่มีความทุกข์ ก็ดิ้นรน พอดิ้นรน ขณะที่ดิ้นรน ก็ประคองรักษาจิตเอาไว้ ยึดถือเอาจิตขึ้นมา พอมีจิตขึ้นมา ความเกิดก็เกิดขึ้นแล้ว การยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมีขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมา ตรงที่จิตเราเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยเฉพาะการหยิบฉวยใจขึ้นมา เรียกว่าชาติ มีชาติขึ้นมา ไปหยิบฉวยขึ้นมาปุ๊บ ความทุกข์มันเกิดขึ้นทันทีเลย

ทำไมความทุกข์เกิดขึ้นกับจิตเราได้ทันที ก็เพราะสิ่งที่เราไปหยิบฉวยนั้น ที่จริงมันคือตัวทุกข์ รูปธรรมทั้งหลายเป็นตัวทุกข์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันส่วนของรูปธรรม นามธรรมทั้งหลายก็คือตัวทุกข์ คือตัวใจของเรานั้น พอเราไม่เห็นความจริง เราก็ไปหยิบฉวยเอาตัวทุกข์ขึ้นมาว่าเป็นตัวเราๆ จิตมันก็เลยทุกข์ขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้น นี่กระบวนการที่จิตใจมันทำงาน มันก็เริ่มมาตั้งแต่เราไม่เห็นความจริงว่ากายนี้ใจนี้คือทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง มันเป็นทุกข์ล้วนๆ เพียงแต่ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง ถ้าเราสามารถเห็นความจริงตรงนี้ได้ มันจะละตัณหา ละอุปาทาน

ตัณหาเป็นความอยาก อุปาทานเป็นความยึด พอเราอยากได้อะไรเราก็ยึดอันนั้นไว้ พอมีอุปาทาน ก็มีภพ คือความดิ้นรนของจิต พอเกิดความดิ้นรนของจิต จะเกิดชาติ คือการที่จิตมันเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะการหยิบฉวยเอาใจขึ้นมา ตัวนี้เป็นตัวสุดท้ายที่จะวางได้ กายนี้เป็นตัวที่มันจะวางได้ก่อน เพราะมันเห็นง่ายว่ากายนี้มีแต่ทุกข์ ไม่มีของดีหรอก แต่การจะเห็นว่าจิตนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ไม่มีของดีหรอก ยากกว่ากัน แต่ไม่ว่าจะภาวนาอย่างไร สุดท้ายมันก็ต้องลงมาที่จิตนี่เอง มาตัดกันที่จิตนี่เอง ตราบใดที่ยังปล่อยวางจิตไม่ได้ การเวียนว่ายตายเกิดก็ยังมี เพราะว่าอวิชชายังอยู่ มันแค่เห็นว่ากายนี้ไม่ดี ไม่ยึดกาย แต่มันไปยึดจิตอยู่

 

สุดท้ายจะจบลงที่อริยสัจ

การที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง การปฏิบัติมันมีความยึดกาย มีความยึดจิต มันวางกายได้ก่อน วางจิตได้ทีหลัง อันนั้นเป็นกระบวนการปล่อยวางของมัน แต่เวลาที่ลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่ทุกคนต้องเริ่มจากกายก่อน สติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม เปรียบเหมือนประตูเมือง 4 ทิศ เราเข้าทิศไหนได้ เราก็เข้าเมืองได้ คือถึงฝั่ง ถึงพระนิพพานได้ อยู่ที่จริตนิสัยของเรา ถ้าจริตนิสัยเราชอบดูกาย เห็นกายมันทำงานได้ ก็เริ่มไปด้วยกายก่อน บางคนดูกาย จิตใจไม่ชอบไม่อยากดู ชอบดูเวทนา ก็เริ่มจากเวทนาก่อน บางคนชอบดูจิต จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล เกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ไม่หยุด ถนัดดูจิตก็ดูจิตเอา หรือจะดูรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ดูกุศลอกุศลทั้งหมดทั้งสิ้นอะไรอย่างนี้ อันนั้นเป็นขั้นละเอียด หรือเห็นกระบวนการทำงาน กระบวนการปรุงแต่งความทุกข์ อันนั้นอยู่ในส่วนของธัมมานุปัสสนา ยากๆ

เบื้องต้นก็ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตไปก่อน ของง่ายๆ แล้วสุดท้ายทุกคนจะลงไปที่ธัมมานุปัสสนาทุกคน เพราะถ้าไม่แจ้งอริยสัจ อริยสัจเป็นธัมมานุปัสสนาตัวสุดท้ายเลย สูงสูด เรียกว่าสัจจบรรพ ในสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาอยู่สูงสุด ในธัมมานุปัสสนา มีการรู้รูปนามหลากหลาย ทั้งอกุศล คือนิวรณ์ทั้งหลาย ทั้งกุศล คือเรื่องของโพชฌงค์ เรียนเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ อายตนะอะไรพวกนี้ มากมาย แต่ลงท้ายลงด้วยอริยสัจ ลงด้วยปฏิจจสมุปบาท ไม่ว่าเราเริ่มต้นด้วยกาย สุดท้ายก็จบลงที่การเห็นอริยสัจ จะเริ่มด้วยเวทนา สุดท้ายก็จบลงที่อริยสัจ จะเริ่มจากจิต สุดท้ายก็ลงที่อริยสัจ

ทำไมหลวงพ่อพูดเรื่องจิตเยอะ ก็เรื่องกายเขาพูดกันไปเยอะแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอกไว้ว่า คนรุ่นต่อไปนี้ รุ่นต่อไปนี้หมายถึงต่อจากเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน ท่านบอกว่าจะเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น จริตนิสัยเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ไปดูกายก็ไม่มีความสงบพอที่จะดู มันจะไปคิดเรื่องกายเสียมาก ดูเวทนา จิตใจก็ทำไม่ไหว ไม่สงบพอ ไม่มีกำลังพอ เพราะไม่มีสมาธิ เห็นทุกข์เข้า เดี๋ยวก็ทนไม่ได้

ฉะนั้นพวกช่างคิด จิตใจวอกแวกๆ อย่างพวกเราในยุคนี้ บางทีครูบาอาจารย์ท่านเรียกพวกคนเมือง คนเมืองไม่ได้ทำมาหากินด้วยการออกแรงใช่ไหม ส่วนใหญ่ก็อาศัยการคิดเอาเป็นตัวหลัก คิดทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ ว่างๆ จากการคิดทำมาหากิน ก็คิดเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก คิดเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเมืองระหว่างประเทศ เรื่องการทหาร การสงครามอะไร สารพัดจะคิด ฉะนั้นเรื่องสมาธิ จะให้มันแข็งแรงเหมือนรุ่นครูบาอาจารย์ มันยาก ของเรามันเต็มไปด้วยเรื่องที่ต้องคิดมากมาย ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ต่อไปนี้การดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง เพราะการดูจิตมันเหมาะกับพวกทิฏฐิจริต อันนี้ในตำรามี การดูจิตมันเหมาะกับพวกทิฏฐิจริต พวกเจ้าความคิด พวกเจ้าความเห็น มันเป็นคนละเรื่องกับการทำสมาธิ

การทำสมาธิอยู่ในเรื่องกรรมฐาน 40 ข้อ ถนัดอันไหนก็เอาอันนั้น ทำไปแล้วจิตสงบขึ้นมา ส่วนการเจริญปัญญา จะดูกายก่อน ดูเวทนาก่อน หรือดูจิตก่อน แล้วแต่จริตนิสัย พวกช่างคิดดูจิตไปเลย แล้วสมาธิระดับอัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้นทีหลัง พวกดูกาย เวทนา สมควรทำสมาธิให้ได้อัปปนาสมาธิก่อน แล้วมาดูกาย เวทนา มันจะดูได้ดี ดูได้ง่าย ถ้าใจไม่มีสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ ไปดูกาย ไม่ได้เรื่องอะไร อย่างถ้าจิตเรามีสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ เราดูลงที่กาย ดูผม ผมสลายเลย ดูขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดูลงไป มีแต่สลายตัวให้เราดู แสดงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาให้ดูต่อหน้าต่อต่อตาเลย ด้วยกำลังของสมาธิระดับฌาน ถ้าเราไม่มีกำลังระดับนั้น ใจเราวอกแวกๆ ทั้งวัน คิดโน่นคิดนี่ หาความสงบยาวๆ ไม่ได้ เราก็ดูจิตเอา

 

กฎ 3 ข้อของการดูจิต

วิธีดูจิตไม่ใช่เรื่องยากลึกลับอะไรนักหนาหรอก จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น มีกฎอยู่ 3 ข้อของการดูจิต ข้อที่หนึ่ง ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ โลภขึ้นมาแล้วรู้ว่าโลภ โกรธขึ้นมาแล้วรู้ว่าโกรธ หลงขึ้นมาแล้วรู้ว่าหลง ฟุ้งซ่านหรือหดหู่เกิดขึ้น ก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้ว่าหดหู่ ให้ความรู้สึกนานาชนิดเกิดขึ้นมาก่อน แล้วมีสติระลึก ไม่มีใครสามารถโกรธด้วยมีสติด้วย เป็นไปไม่ได้ เพราะสติเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น เวลาที่จิตมันโลภ มันโกรธ มันหลง จิตเป็นอกุศล ไม่มีใครมีสติได้จริง

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะดูจิต เราดูตามหลังไป แต่ดูตามหลังแบบกระชั้นชิด เขาเรียกปัจจุบันสันตติ สันตติคือความสืบเนื่องกับปัจจุบัน ปัจจุบันสันตติ โกรธปุ๊บ รู้ว่าโกรธ โลภปุ๊บ รู้ว่าโลภ เพราะฉะนั้นหลักการดูจิตข้อแรกก็คือ ไม่ต้องไปแสวงหาว่าตอนนี้จิตเราเป็นอย่างไร จิตมันโลภ หรือมันโกรธ หรือมันหลง ไม่ต้องแสวงหา แสวงหาเมื่อไหร่ จิตหลงเมื่อนั้น จิตฟุ้งซ่านเมื่อนั้นล่ะ แล้วก็ไม่สามารถจะเห็นจิตใจได้เลย เพราะขณะที่จิตฟุ้งซ่านนั่นล่ะ จิตเป็นอกุศล มีอุทธัจจะ ไม่มีสติที่จะรู้จิตใจตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเวลาดูจิต ก่อนจะดู อย่าอยากดู อย่าพยายามจะดู อย่าเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตใจเราเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิด แล้วค่อยรู้เอา

กฎข้อที่สองก็คือ ระหว่างที่รู้ ดูแบบคนวงนอก ดูแบบคนไม่มีส่วนได้เสีย ไม่ใช่ดูแบบถลำลงไปดู เกือบร้อยละ 100 ของผู้ปฏิบัติ พวกดูกายก็ถลำลงไปที่กาย พวกดูจิตก็ถลำลงไปที่จิต อย่างดูกาย แล้วถลำลงไปที่กาย เช่น เรารู้ลมหายใจ จิตก็ไหลไปอยู่ที่ลม ดูท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง เดินจงกรม ยกเท้า ย่างเท้า จิตไหลไปอยู่ที่เท้า มันไหลไป มาดูจิต อย่างเราเห็นโทสะเกิด พอเราไปดูปุ๊บ จิตมันไหลไปรวมเข้ากับโทสะ มันไม่ตั้งมั่น ไม่แยกตัวออกมา ตัวที่จะช่วยให้จิตมันแยกตัวออกมา เป็นคนรู้คนดู ไม่จมลงไปในสิ่งที่มันรู้ก็คือตัวสมาธินั่นล่ะ เพราะฉะนั้นนอกจากฝึกสติให้รู้ทันสภาวะได้เร็วๆ แล้ว เราก็ต้องฝึกสมาธิด้วย

วิธีฝึกสมาธิสำหรับคนซึ่งมาเข้าฌานไม่ได้แบบคนรุ่นเรา น้อยคน พันคนจะเข้าฌานได้คนหนึ่งยังยากเลย เราก็ฝึกสมาธิชนิดที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ เราก็ใช้สติรู้ทันจิตใจของตัวเองไป เช่น จิตเราไหลลงไปอยู่ที่ลมหายใจ เรารู้ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง เรารู้ จิตไหลไปอยู่ที่เท้า เรารู้ จิตไหลไปคิด เรารู้ ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตมันหลงไปไหลไปนั่นล่ะ ความหลงความไหลนั้นมันจะขาดสะบั้นลงไป เพราะจิตที่หลงไปนั้นเป็นจิตที่มีอุทธัจจะ เป็นอุทธัจจะ ฉะนั้นสติรู้ทันว่าตอนนี้จิตมันไหลไป มันฟุ้งออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอรู้ทันปุ๊บเดียว การฟุ้งซ่านนั้นจะดับ จิตจะมีสมาธิตั้งมั่นโดยอัตโนมัติขึ้นชั่วคราว ชั่วขณะ เดี๋ยวก็หลงอีก หลงอีกรู้อีกๆ

หลวงพ่อถึงบอกว่า พวกเราทุกวันจะต้องฝึกในรูปแบบ ต้องทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตนเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเอง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ใช่เอาความสงบ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตไหลไปอยู่ที่ลม ถลำลงไปจ้องลม รู้ทัน จิตไหลไปคิด รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทัน จิตจะตั้งมั่นขึ้นชั่วขณะ เดี๋ยวไหลอีก ไหลอีกรู้อีกๆ สุดท้ายมันจะเกิดสภาวะที่หลงกับรู้เกิดสลับกันอย่างรวดเร็ว หลงปุ๊บรู้ปั๊บๆ ไปเรื่อยๆ พอตัวรู้มันเกิดถี่ๆๆ ขึ้นมา จิตมันจะเริ่มมีกำลังขึ้นมา มันจะเหมือนเรารู้สึกตัวได้ต่อเนื่อง แต่ถ้าเราหัดมาตามวิธีที่หลวงพ่อบอก เราจะรู้เลยว่าจิตเกิดดับเป็นขณะๆ ส่วนที่เรารู้สึกเหมือนกับต่อเนื่อง มันเป็นภาพลวงตาเท่านั้น กระทั่งอัปปนาสมาธิเข้าฌาน จิตก็เกิดเป็นขณะๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นหรอก เพราะว่าเขาไม่ได้ชำนาญในการดูจิต ก็คิดว่าจิตเป็นหนึ่งดวงเดียว นิ่งๆ อยู่อย่างนั้น

แต่เราภาวนา ทำกรรมฐานต้องทำในรูปแบบสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง ท่องพุทโธๆๆ อย่างนี้ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน ตรงที่รู้ทัน จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้วคราวนี้ จิตมันถอนตัวออกมาจากปรากฏการณ์ทั้งหลายขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู ที่หลวงพ่อใช้คำว่า จิตผู้รู้ๆ นั่นล่ะ จิตผู้รู้ ถ้าพูดแบบปริยัติคือมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง นี่พูดเผื่อพวกปริยัติฟัง ถ้าเรามีจิตเป็นผู้รู้แล้ว เวลาอารมณ์ต่างๆ เกิด สภาวะต่างๆ เกิดขึ้น อย่างเราดูจิต ข้อที่หนึ่ง อย่าแสวงหา ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นแล้วค่อยรู้เอา นี่ข้อที่หนึ่ง กฎข้อที่หนึ่ง กฎข้อที่สองก็คือระหว่างที่รู้ เราไม่จมลงไป รอจิตมันถอนตัวออกมาเป็นคนดูอยู่ห่างๆ มันไม่จมลงไปในปรากฏการณ์ทั้งหลาย ในความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย จิตมันถอนตัวขึ้นมาได้ อันนี้เป็นกฎข้อที่สอง

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร
กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป
กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน จิตมันจะเป็นกลาง ตั้งมั่น มันมาในขั้นที่สอง ต้องตั้งมั่นแล้ว ขั้นที่สาม รู้ซื่อๆ คือขั้นของความเป็นกลาง เพราะฉะนั้นเวลาสภาวะใดๆ เกิดขึ้น แล้วจิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน จิตก็จะเป็นกลางต่อสภาวะทั้งหลายทั้งปวง

จิตที่เป็นกลางต่อสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ก็คือจิตที่ปราศจากอคติ ปราศจากอคติต่อสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ไม่ได้ชอบอันนี้ ไม่ได้เกลียดอันนี้ ไม่ได้กลัว บางทีเห็นจิตใจทำงาน กลัว จิตเกิดดับ ตัวเราหายไปไหน หรือดูกาย ร่างกายหายไป กลัวอะไรอย่างนี้ นี่จิตมีอคติแล้ว ด้วยความกลัว ด้วยความหลง ด้วยความโลภ โกรธ หลง ด้วยความกลัว อคติทั้งหลาย ถ้ามันเกิดขึ้นให้รู้ทัน ย่อๆ ลงมาก็คือเรื่องของความยินดียินร้ายนั่นเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่เรารู้สภาวะทั้งหลาย จิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ “ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงก็คือ มีอะไรเกิดขึ้นในกาย รู้สึก มีอะไรเกิดขึ้นในใจ รู้สึก อย่างในร่างกายนี้กำลังเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเมื่อกี้มันโกรธ ตอนนี้รู้ว่าโกรธ โกรธแล้ว โลภแล้ว หลงแล้ว ฟุ้งซ่านแล้ว หดหู่แล้ว จะไม่เหมือนการรู้กาย รู้กาย กายขณะนี้เคลื่อนไหว กายขณะนี้หยุดนิ่งอะไรอย่างนี้ กายขณะนี้หายใจออก กายขณะนี้หายใจเข้า นี่คือความจริงของกาย เราสามารถเห็นกายได้ในปัจจุบันขณะ กำลังเกิดขึ้น อะไรกำลังเกิดขึ้นในกาย เราดูได้ แต่การเห็นความจริงของจิต ต้องให้ความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นเสียก่อน เราถึงจะเห็นได้ เช่น โกรธแล้วถึงรู้ว่าเมื่อกี้นี้โกรธ โลภแล้วเมื่อกี้นี้โลภ แต่ถ้าเมื่อวานโกรธ วันนี้รู้ว่าเมื่อวานโกรธ อันนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ปัจจุบันสัตติ ไม่ต่อเนื่องกับปัจจุบัน

 

การดูกายกับดูจิตต่างกันนิดเดียว

เพราะฉะนั้นการดูกายกับดูจิตต่างกันนิดเดียว ดูกายเป็นปัจจุบันขณะ คือเดี๋ยวนี้ กำลัง มีคำว่า กำลัง กำลังยิ้ม กำลังหน้านิ่วคิ้วขมวด กำลังหายใจออก กำลังหายใจเข้า รู้สึกอย่างนี้ รู้ไปเรื่อยๆ ส่วนจิตดูตามหลังมันไป กระชั้นชิด เราก็จะเห็นความจริงของมัน เออ เดี๋ยวมันเกิด เดี๋ยวมันก็ดับ เดี๋ยวมา เดี๋ยวก็ไป เราเห็นซ้ำๆๆ อย่างนี้

ส่วนกฎข้อที่สอง เวลาเห็นแล้ว อย่าถลำลงไป ตัวนี้คือจิตตั้งมั่น แล้วก็ตัวสุดท้าย ถ้าเกิดเห็นสภาวะแล้ว จิตยินดียินร้าย ให้รู้ทัน ตัวนี้จะเป็นกลาง ฉะนั้นหลวงพ่อสรุปออกมาทั้งหมดก็คือ ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง นี่คือข้อ 1 ด้วยจิตที่ตั้งมั่น นี่คือข้อ 2 และเป็นกลาง นี่คือข้อ 3 กฎข้อ 3 การดูกายก็มี กฎ 3 ข้อเหมือนกัน แต่ว่าต่างกับข้อที่หนึ่งจะต่างกับการดูจิตนิดเดียว คือกายนี้ดูเดี๋ยวนี้ กำลังๆ กำลังเคลื่อนไหว กำลังยิ้ม กำลังหน้าบึ้งอะไรอย่างนี้ กำลังหัวเราะอะไรอย่างนี้ ดูของที่กำลังเป็น กำลังหายใจออก กำลังหายใจเข้า กำลังยืน เดิน นั่ง นอนอะไรอย่างนี้ ส่วนดูจิตต่างกันนิดหนึ่ง ก็คือให้ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยรู้ ค่อยรู้ไป ฉะนั้นกฎข้อนี้เอามารวมกันได้หมด ลงมาเป็นคำว่า “ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง”

การรู้กาย รู้อีกแบบหนึ่ง รู้ใจรู้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเข้าใจแล้ว ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าพวกเราจะภาวนาด้วยการดูจิต เพราะพวกเราเป็นพวกฟุ้งซ่าน เข้าฌานไม่ได้เสียที ก็ดูจิตมันเปลี่ยนแปลงไป จิตเดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไม่หลง เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็หดหู่ ดูมันไปอย่างนี้เรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด แล้วสมาธิมันก็เกิด เราดูสภาวะซ้ำๆๆ มันมีสมาธิทีละขณะๆๆ ต่อไปกำลังมันจะเข้มแข็งขึ้น จิตมันจะอัพตัวเองขึ้นมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิได้ แล้วเราก็ดูอย่างนี้ เราเข้าฌานไม่เป็นหรอก แล้วจิตไม่เคยเข้าฌานเลย เราเห็นสภาวธรรมเกิดดับในจิตในใจเราซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี

ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนั้นล่ะ ไม่ท้อถอย ตามกฎ 3 ข้อ ดูให้ถูกหลัก ถึงจุดหนึ่ง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยอัตโนมัติ คนที่ไม่เคยเข้าฌาน ถึงจุดนั้นจิตจะเข้าฌานอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนา จิตมันรวมปึ๊บลงไปเลย บางทีลึกถึงขั้นอรูปฌาน โลกธาตุดับเลย ไม่มีอะไรเหลือเลย เหลือแต่จิต แล้วจิตก็เดินในกระบวนการที่จะเกิดอริยมรรคต่อไป ทั้งหมดรวมแล้ว 7 ขณะ ในขณะที่เกิดอริยมรรค มันเป็น 7 ขณะ เป็นธรรมชาติอย่างนี้ ไม่มีใครมากำหนดว่าต้อง 7 ขณะหรอก แต่ว่ามันเป็นธรรมดาที่จะเป็นอย่างนั้น

 

“ถ้าเราภาวนาตัดเข้ามาที่จิตได้ มันก็สั้นหน่อย
แต่ถ้าบางคนดูจิตไม่ได้จริงๆ ก็ดูกายไป ไม่เห็นจะเสียหายเลย”

 

เพราะฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึกตัวเอง ถ้าเราดูจิตได้ ดูไปเลย ครูบาอาจารย์หลายองค์ ท่านพูดตรงกันเลยว่า การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด เพราะอะไร ปฏิจจสมุปบาทหรืออริยสัจอะไรนี่ มันแสดงตัวในขั้นแตกหัก มันแสดงตัวอยู่ที่จิตที่เดียวเลย ถ้าเราเข้ามาไม่ถึงจิต เราจะไม่เห็นปฏิจจสมุปบาท หรืออริยสัจ เพราะปฏิจจสมุปบาทมันแสดงอยู่ที่จิต อวิชชาอยู่ที่ไหน อวิชชาอยู่ที่จิต สังขารอยู่ที่ไหน สังขารคือความปรุงแต่งก็อยู่ที่จิต วิญญาณก็คือตัวจิต นามรูปก็รู้มันด้วยจิต

อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นรูปก็จริง แต่ถ้ามีแต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีจิต มีตา อย่างคนตายแล้ว มีตาไหม ตาก็ยังอยู่ แต่มองอะไรไม่เห็น เพราะฉะนั้นต้องอาศัยจิตนั่นล่ะ อายตนะถึงทำงานได้ เวทนาก็เกิดขึ้นที่จิต ตัณหา ความอยากก็เกิดขึ้นที่จิต อุปาทาน ความยึดถือก็เกิดขึ้นที่จิต ภพคือความดิ้นรนปรุงแต่ง ก็เกิดขึ้นที่จิต ชาติคือการที่จิตเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวทำงานก็คือตัวจิต ทุกข์ ตัวนี้ ทุกข์ก็อยู่ที่จิต

เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาตัดเข้ามาที่จิตได้ มันก็สั้นหน่อย แต่ถ้าบางคนดูจิตไม่ได้จริงๆ ก็ดูกายไป ไม่เห็นจะเสียหายเลย ครูบาอาจารย์รุ่นก่อน ท่านก็ดูกายกัน แต่พวกเราดูกาย เราไม่ได้ทำฌานก่อน การดูกายของเรา เราจะได้สมถะ จะได้สมถะ แล้วฌานจะเกิดขึ้น อย่างเราดูร่างกายแยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แยกไปทีละส่วนๆ กรรมฐาน 5 ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ฟังแล้วเหมือนตลก เรียนอะไร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เวลาพระจะบวช อุปัชฌาย์ต้องสอนเรื่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าอุปัชฌาย์ไม่สอน อุปัชฌาย์อาบัติ เพราะฉะนั้นเรื่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มีประโยชน์มาก

ถ้าเราดูจิตไม่ออก เราดูกายเลย ดูผม ผมรูปร่างเป็นอย่างไร มีสีอย่างไร มีกลิ่นอย่างไร รสไม่ต้องหรอก ไม่ต้องไปชิมมันหรอก ผมจริงๆ หอมหรือเหม็น ที่หอมเพราะแชมพู เอาเข้าจริง ไม่ได้ต่างกับขนหมาหรอก ก็เหม็นสาบนั่นล่ะ ลองไม่สระผมสักเดือนหนึ่งสิ เป็นนางงามจักรวาลแต่ไม่สระผมสักเดือนหนึ่ง ไม่มีใครเข้าใกล้หรอก ร่างกายมันเป็นของสกปรก เป็นของไม่สวยไม่งามจริง ดูไปทีละส่วน ดูผม ดูให้แจ้งเลยไม่ใช่ดูปุ๊บ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปุบปับๆ นาทีเดียวทั้งตัวแล้ว อย่างนี้ไม่ได้เรื่องหรอก

ถ้าจะดูทางกาย ค่อยๆ ดูไป ผมมันรูปร่างอย่างไร มีสีอย่างไร มีกลิ่นอย่างไร มันสะอาดหรือมันไม่สะอาด มันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง มันอยู่ได้ตลอดกาลไหม เราสั่งมันได้ไหม อย่าหงอก หรือเราไปตัดผมมา ไปเซ็ทผมมา สวยดี อย่ายาวกว่านี้ ให้หยุดนิ่งอยู่แค่นี้ ทีแรกก็คิด แล้วต่อไปมันจะเห็น เขาเรียกว่าความคิดความเห็น ทีแรกอาศัยการคิดก่อน คิดนำไป แล้วต่อไป จิตมันจะเห็นจริงๆ ผมมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร ถ้าดูกาย เขาดูกันอย่างนี้

มาดูขน เล็บ ฟัน หนังก็ดูแบบเดียวกัน เนื้อ เอ็น กระดูก กระดูกมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ อันนี้ใช้จินตนาการ เพราะเรามองกระดูกตัวเองไม่เห็น มีกระดูกอยู่อันหนึ่งที่เรามองเห็น คือกระดูกฟันของตัวเอง ฉะนั้นดูลงไปที่ฟันก็ได้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังใช่ไหม ท่านเลยหยุดอยู่แค่นี้ ตัวฟันมันก็แทนกระดูกทั้งตัวได้ ก็ดูลงไป มันมีรูปร่างอย่างไร มีสีอย่างไร มีกลิ่นอย่างไร เที่ยงหรือไม่เที่ยง ทนอยู่ได้ตลอดกาลไหม ถ้าทนได้ตลอดกาลคงไม่ผุหรอก เป็นตัวเราไหม สั่งได้ไหม สั่งให้ฟันสวยๆ สั่งไม่ได้ สั่งให้ฟันไม่ผุเลย สั่งไม่ได้ อย่างนี้คิดพิจารณาไปเรื่อยๆ มีความคิดก่อนแล้วต่อไปความเห็นมันเกิด

 

 

ตรงที่เราคิดๆๆๆๆ สิ่งที่เราได้คือสมาธิ อย่าคิดว่าได้ปัญญา ตรงที่เห็นนั่นล่ะ ถึงจะได้ปัญญา เพราะวิปัสสนาคือการเห็น การคิดอยู่ในขั้นของสมถะ ฉะนั้นเราคิดพิจารณาร่างกาย นี่คือสมถกรรมฐาน แต่คิดจนกระทั่งจิตมันฉลาดขึ้นมา มันเห็นได้เอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนังทั้งตัว ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเห็นเอง อันนั้นมันเห็นแล้ว มันขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นขั้นเห็น ส่วนการคิดเอาเป็นขั้นสมถะ

ไม่เห็นยากเลย ขอให้อดทน ถ้าดูจิตได้ ดูไปเลย ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกาย พิจารณาเรื่อยๆๆๆ สุดท้ายกายก็หมด จิตก็วางกาย พอจิตวางกาย ก็ต้องเข้ามาศึกษาต่อที่จิต กระบวนการของปฏิจจสมุปบาทแสดงอยู่ที่จิต ฉะนั้นไม่ว่าสายไหน สุดท้ายต้องลงที่จิตนั่นล่ะ จะเริ่มจากกาย เริ่มจากเวทนา เริ่มจากสังขาร สุดท้ายก็ลงที่จิต ค่อยฝึก ค่อยเรียนไป ถนัดอันไหน เอาอันนั้น ไม่ต้องไปเอาอย่างคนอื่นเขา ใครเขาว่าวิธีไหนดี ก็สาธุ ดีๆ ก็ดีสำหรับเธอ อาจจะไม่ดีสำหรับเราอะไรอย่างนี้ ทางใครทางมันกรรมฐาน ถ้ากรรมฐานมีอันเดียว ต้องอย่างนี้ถึงจะดี พระพุทธเจ้าไม่สอนเอาไว้เยอะแยะหรอก สิ่งที่ท่านสอนดีทั้งหมดล่ะ สติปัฏฐาน 4 ก็ 4 อัน ดีทั้งหมดล่ะ.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 เมษายน 2565