จิตตสิกขาและอริยสัจ: ความจริงที่ต้องเรียน กิจที่ต้องทำ

ศาสนาพุทธจริงๆ คำสอนของท่านไม่ได้ยาก แต่ประณีต ไม่ลึกลับ แต่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เรื่องลึกลับ เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติเห็นตามท่านสอนได้ทุกเรื่องๆ คำสอนที่หลวงพ่อเอามาถ่ายทอดเป็นคำสอนของท่านบางส่วนเล็กน้อย ที่หลวงพ่อเอามาเทศน์ให้ฟัง บางคนไปฟังซีดี ภาวนาตามไป แล้วมันเห็นจริงนะ มันเห็นจริงได้ทุกเรื่องๆ ความจริงเป็นความจริงเท่านั้นเอง ความจริงที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ความจริงไม่ใช่เรื่องลึกลับ เป็นเรื่องเปิดเผยแจ่มแจ้ง คนมีตาดูก็มองเห็น ไม่มีก็มองไม่เห็น

ฉะนั้นเรามาฝึกให้เราได้ดวงตา ธรรมะมีอยู่แล้ว แต่เราไม่มีตาจะเห็น เพราะฉะนั้นเรามาฝึกให้ได้ดวงตาที่จะไปเห็นธรรมะ พระโสดาบันก็คือคนที่ได้ดวงตา ธรรมะมีอยู่แล้ว ความจริงมีอยู่แล้ว เรียนธรรมะเรียนลงไป ธรรมะมี ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นรูปธรรม กับส่วนที่เป็นนามธรรม เรียนธรรมะก็เรียนรู้อยู่ในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าแจ่มแจ้งในรูปธรรมนามธรรม วันหนึ่งจะไปรู้จักธรรมที่พ้นจากรูปธรรมนามธรรม เป็นธรรมล้วนๆ เลย ไม่ใช่รูปธรม ไม่ใช่นามธรรม เป็นสัจจะ เป็นความจริงล้วนๆ

จิตตสิกขา

สิกขา เป็นภาษาบาลี แปลว่า ศึกษา คนไทยคุ้นกับภาษาสันสกฤตคำว่า ศึกษา มากกว่า

ศีลสิกขา เรียนเรื่องศีล จิตตสิกขา เรียนเรื่องจิต ปัญญาสิกขา เรียนวิธีเจริญปัญญาให้เห็นความจริงของรูปของนาม ก่อนจะมาเจริญปัญญาเห็นความจริงของรูปของนามได้ ต้องมีศีลสิกขา มีจิตตสิกขา แล้วก็ถึงมาเดินปัญญาสิกขา มีบทเรียนนะ ข้ามขั้นไม่ได้หรอก ทีนี้บางทีพวกเราฟังพูดเอาง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา พอเราไม่ได้เรียนเรื่องจิตตสิกขา เราไม่รู้หรอกว่าสมาธิมี ๒ แบบ เราคิดว่านั่งสมาธิไปเรื่อย พุทโธๆ หายใจไปเรื่อย จิตสว่างๆ ขึ้นมา จิตสงบโลกธาตุหายไป นี่แหละได้สมาธิ ไม่รู้ว่าสมาธิมี ๒ แบบ

เราต้องเรียนเรื่องจิต ถึงจะรู้ว่าสมาธิมี ๒ แบบ อันหนึ่งเป็นความสงบของจิต อีกอันหนึ่งเป็นความตั้งมั่นของจิต ความสงบของจิตกับความตั้งมั่นของจิตไม่เหมือนกัน สิ่งที่หลวงพ่อสอนนี้ไม่ใช่เรื่องลึกลับหรือหลวงพ่อคิดเอาเอง ในคัมภีร์เราก็พูดถึงสมาธิ ๒ ชนิด ชื่อ อารัมมณูปนิชฌาน กับ ลักขณูปนิชฌาน อารัมมนูปนิชฌาน จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว นี่เป็นเรื่องของการทำสมถกรรมฐาน จิตตสิกขาไม่ใช่แค่เรื่องทำสมาถกรรมฐานนะ ไม่ตื้นขนาดนั้น จิตตสิกขาจริงๆ เป็นการเตรียมความพร้อมของจิตให้เหมาะสมต่อการเจริญปัญญา ไม่ใช่แค่ทำจิตให้สงบ ความสงบของจิตกับความตั้งมั่นของจิตไม่เหมือนกัน ทำจิตให้สงบยังเจริญปัญญาไม่ได้ ต้องจิตตั้งมั่นก่อนถึงเจริญปัญญาได้

อริยสัจ

อริยสัจ คือความจริง ๔ อย่างที่ต้องเรียน คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และมีกิจ ๔ อย่างที่ต้องทำ
กิจต่อทุกข์ คือการรู้
กิจต่อสมุทัย คือการละ
กิจต่อนิโรธ คือทำให้แจ้ง
กิจต่อมรรค คือการทำให้เจริญ

ฉะนั้น หน้าที่เจริญสติ เจริญมรรคนี่แหละ ทำให้มากๆ ต่อไปสติปัญญามันจะพัฒนา เบื้องต้นมันก็จะเห็นว่าตัวเราไม่มี กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรา มีแต่ขันธ์ ไม่มีเจ้าของ เห็นอย่างนี้ได้เป็นพระโสดาบัน ภูมิธรรมภูมิปัญญาของพระโสดาบันกับพระสกทาคามีเป็นภูมิปัญญาระดับนี้

ภาวนาต่อไปอีก ภูมิปัญญามันเพิ่มขึ้น มันเห็นเลย จิตไปอยากเมื่อไรก็ทุกข์ จิตไปยึดเมื่อไรก็ทุกข์ ถ้าจิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ทุกข์ เห็นอย่างนี้ ภูมิธรรมตรงนี้เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี ฉะนั้น จิตจะทรงสมาธิอยู่ จิตไม่ไหลไปหาอารมณ์และไม่วิ่งพล่านไปอยากไปยึดอะไรหรอก แต่อยากยึดที่จะไม่ยึดอะไรอยู่ พอใจที่จะยึดความสบาย ความสงบของจิตอยู่ตรงนี้เอง ภาวนาต่อไปอีก จนปัญญามันแจ่มแจ้งว่าตัวจิตนั่นแหละตัวทุกข์ ปัญญาตัวสุดท้ายจะลงมาที่จิต ก่อนปัญญาจะลงมาที่จิต มันจะเห็นมาก่อนว่ากายนี้เป็นตัวทุกข์ พระอนาคามีวางกายได้ ไม่ยึดกาย ไม่ยึดรูป แต่จะไปยึดความสุขทางจิตใจ ต่อมาปัญญามันแก่รอบ มีสติรู้กายรู้ใจเรื่องไป ถึงวันที่เขาแก่รอบจริงๆ เขาจะเห็นเลย ตัวจิตนั่นแหละตัวทุกข์

Download PDF หนังสือจิตตสิกขาและอริยสัจ: ความจริงที่ต้องเรียน กิจที่ต้องทำ

คลิกที่นี่เพื่อติดต่อขอรับหนังสือจากมูลนิธิสื่อธรรมหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช