กถาวัตถุ 10

มีข่าวเรื่องพระบ่อย พระมีปัญหาโน้นปัญหานี้ คือถ้ารักษาพระวินัยให้ดี ก็คุ้มครองตัวเองได้ อย่างพระไปอยู่กับผู้หญิงตามลำพังไม่ได้ ถ้ารักษาตัวนี้ได้ ก็ปลอดภัยไปเยอะเลย กิเลสไม่เข้าใครออกใคร เวลาเราเห็นคนเขาพลาด ก็ดูเป็นบทเรียน พระบางทีเขาก็พลาด มีให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ พลาดเรื่องผู้หญิงก็เยอะ พลาดเรื่องเงินก็มี บางทีไม่รู้จักโลกพอ บวชแต่เด็กๆ เล่นอะไรตลก คนชอบอะไรอย่างนี้ คนกดไลค์กดแชร์เยอะ คิดว่านี่เป็นเส้นทางที่ถูก มันไม่ใช่เส้นทางของพระ ไม่ใช่เส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอนเลย

เส้นทางที่ท่านสอน ต้องมักน้อย ต้องสันโดษ ต้องฝักใฝ่ในความสงบ ต้องไม่คลุกคลี ต้องปรารภความเพียร ต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีวิมุตติ มีวิมุตติญาณทัสสนะ ก็เป็นลำดับ อย่างไม่มักน้อย โลภมาก หาเงินวุ่นวาย ไม่สันโดษ ไม่ได้ตระหนักสถานะของตัวเอง ธรรมะเหล่านี้ ถึงเป็นฆราวาสเราก็ควรจะศึกษา มักน้อย พระต้องเรียนเยอะหน่อย สันโดษ ทั้งพระทั้งฆราวาสต้องเรียน

 

มักน้อย – สันโดษ

มักน้อย หมายถึงว่ามีโอกาสได้เยอะ ก็รับไว้น้อย เท่าที่จำเป็น มีชีวิตแค่พออยู่พอกิน พอดำรงชีวิตอยู่ หลวงพ่อก็สอนพระในวัด ต้องรู้จักมักน้อย อยู่กับหลวงพ่อลาภสักการะเยอะ ญาติโยมมาเยอะ ถวายข้าวของอะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมด เราใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนเกินเราก็แจกจ่ายไปให้ส่วนที่เขาขาด ไม่ใช่มีเยอะก็ละโมบโลภมาก บริโภคเกินสมควร ส่วนสันโดษ ยินดีพอใจในสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราได้ สิ่งที่เราเป็น แต่ไม่สันโดษในความดี ความดี ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ต้องสันโดษเลย ยิ่งมาก ยิ่งดี

อย่างฆราวาสสันโดษ ไม่เจ้าชู้คือสันโดษแล้ว เจ้าชู้ก็ไม่สันโดษ มักมาก แล้วคนที่หวังคุณงามความดี นอกจากมักน้อย มักน้อย คือมีโอกาสได้เยอะก็รับไว้เท่าที่จำเป็น อันนี้สำหรับพระเลย ฆราวาสรวยได้ก็รวยไป ไม่เป็นไรหรอก มีเงินมีทองเก็บไว้กินไว้ใช้ ตอนแก่ๆ อะไรอย่างนี้ ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นหน้าที่ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ แต่พระไม่ใช่ พระมักมากอยู่ไม่รอดหรอก พระไม่สันโดษ ก็ไม่มีความสุข เห็นคนอื่นเขามีจีวรดีๆ ของเราจีวรขาดๆ ปะแล้วปะอีกอะไรอย่างนี้ ไม่พอใจ อยากได้ของดีๆ อย่างนี้เรียกมันไม่สันโดษ

เมื่อก่อนหลวงพ่อไปกราบครูบาอาจารย์ หลวงปู่ดูลย์นี่ล่ะ เป็นเจ้าคุณ เป็นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ เข้าไปนั่งอยู่กับท่าน เห็นจีวรท่านปะแล้วปะอีก ไม่ใช่ท่านไม่มีคนเขาถวายท่าน ท่านก็แจกไป ตัวท่านเองปะแล้วปะอีก จนกระทั่งมันปะไม่ไหว ถึงจะเปลี่ยน สิ่งที่พวกเราควรจะมีอีกอันหนึ่ง อันที่สาม อันแรก มักน้อย อันที่สอง สันโดษ สันโดษก็คือยินดีพอใจในสิ่งที่เรามีที่เราได้ แต่ไม่สันโดษในคุณงามความดี ความดียิ่งเยอะยิ่งดี อันที่สามคือฝักใฝ่ใส่ใจในเรื่องของความวิเวก ความสงบ

 

กายวิเวก จิตตวิเวก

ถ้าเป็นพระ ท่านสอนบอก ให้อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด อย่างที่วัดหลวงพ่อพยายามสร้างกุฏิให้พระอยู่หลังละองค์ๆ หลังเล็กๆ แยกกันอยู่ ปลูกต้นไม้บังไว้ ไม่ให้มองทะลุกัน เดี๋ยวเห็นหน้ากันแล้วอยากคุยกัน อันนี้เรียกว่ากายวิเวก ถ้าเป็นฆราวาสทำอย่างไร เป็นฆราวาส เราก็ควรจะมี ถ้ามีได้ มีพื้นที่ส่วนตัวของเรา ที่บ้านเราเล็ก ไม่มี ก็อาจจะไปอยู่ตามวัดอะไรอย่างนี้ มีเวลา มีพื้นที่ส่วนตัวอยู่ ถ้าอยู่ในที่ที่ต้องยุ่งกับคนเยอะแยะตลอดเวลา ไม่ดีหรอก สมัยหลวงพ่อเป็นฆราวาสทำงาน ก็เหมือนพวกเราตอนนี้ล่ะ อยู่บนตึกคนตั้งเยอะตั้งแยะ เราสามารถหาที่สงบสงัดได้ กินข้าวกลางวันแล้ว ไปเดินไปวัด ริมถนนเรา ที่วิเวกของเรา เดินไป ก็ไม่ต้องยุ่งอะไรกับใคร เราเดินไปตัวคนเดียว ทุกก้าวที่เดิน เรารู้สึกไป นี่เป็นสถานที่วิเวก ไม่ใช่จำเป็นต้องอยู่ในถ้ำ ในป่า ในเขาอะไร ริมถนนก็วิเวกได้ หาที่ที่ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร

นอกจากกายวิเวก ก็มีเรื่องจิตตวิเวก ความสงบสงัดของจิต ทุกวันแบ่งเวลาไว้ภาวนา ทำสมถะกรรมฐาน ทำสมาธิ ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นล่ะ สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์ ไม่เหมือนวิปัสสนา วิปัสสนาต้องใช้อารมณ์รูปนาม สมถะใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์มันมี 4 อัน อารมณ์บัญญัติ เรื่องราวที่เราคิด เช่น เราคิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงทานที่ได้ทำแล้ว คิดถึงศีลที่ได้รักษาแล้ว คิดถึงความสงบ คิดถึงคนดี คิดถึงลมหายใจ คิดถึงร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนังอะไรอย่างนี้ อันนี้อารมณ์บัญญัติทั้งหมดเลย ใช้การคิดเอา

อารมณ์รูปนาม รูป อย่างขณะนี้เราเห็นร่างกายมันหายใจออก หายใจเข้า ตัวที่หายใจออก หายใจเข้า ตัวรูปนั่นล่ะ ตัวที่ยืนเดินนั่งนอนก็ตัวรูปนั่นล่ะ มันยืน เดิน นั่ง นอน มันเคลื่อนไหว มันคู้ มันเหยียด นี่รูป ใช้ทำสมถะก็ได้ ใช้ทำวิปัสสนาก็ได้ ส่วนใหญ่ที่เขาบอกว่า เข้าคอร์สวิปัสสนาแล้วไปดูกาย เป็นสมถะ ก็ไปเพ่งกาย เพ่งลมหายใจ เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้องอะไรนี่ ให้จิตมันไปนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว ทั้งๆ ที่รู้รูป หรือบริกรรมไปด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอะไรอย่างนี้ ดูกายไปก็ท่องไปด้วย อันนั้นก็เป็นสมถะ

ถ้าดูรูปให้เป็นวิปัสสนา ต้องเห็นว่ารูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องเห็นเอา มันจะเห็นได้ มันต้องมีสัญญาหมายรู้ถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่คิด เป็นการหมายรู้ ตรงนี้ภาษามนุษย์มันไม่ค่อยสื่อ ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ ไปนั่งคิดเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ครูบาอาจารย์ก็จะชี้ให้ดู นี่คิดแล้ว ยังเป็นสมถะอยู่ หรือตรงนี้เห็นแล้ว เห็นรูปมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู เห็นรูปนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันขึ้นวิปัสสนาแล้ว แต่ว่าไปทำเองก็ต้องใช้ความสังเกตเอา ตรงไหนคิด ตรงไหนเห็นไม่เหมือนกันหรอก ทีแรกจะคิดก่อนก็ได้

อย่างคิดพิจารณาร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คิดๆ เอา แต่ตรงที่มันเห็นเอา มันรู้สึก พอขยับปุ๊บ มันรู้สึก รูปนี้มันไม่ใช่เรา มันไม่มีภาษาหรอก แต่มันเป็นความรู้สึกของใจว่าไม่ใช่ตัวเรา ฉะนั้นเราใช้รูป ทำได้ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา นามก็ใช้ทำสมถะก็ได้ ใช้ทำวิปัสสนาก็ได้ อย่างดูจิตๆ อย่านึกว่าเป็นวิปัสสนาตลอด เกือบทั้งหมดของพวกดูจิตนั่นล่ะ ลงไปเพ่งจิตไว้ ก็เป็นสมถะ

เพ่งจิตนิ่งๆ อยู่ ว่างๆ นิ่งๆ เพ่งในความว่างๆ เรียก อากาสานัญจายตนะ บางทีก็เพ่งตัวจิตผู้รู้ เรียกว่า วิญญานัญจายตนะ บางทีก็เลยรู้ว่าเพ่งอารมณ์ คือช่องว่าง เพ่งจิตคือตัววิญญาณ ยังเป็นภาระอยู่ ก็ไม่เพ่ง ไม่เพ่งทั้งจิต ไม่เพ่งทั้งอารมณ์ ไม่เพ่งทั้งตัวจิต ตัววิญญาณ ไม่เพ่งทั้งตัวความว่าง ก็เป็นสมถะ ชื่ออากิญจัญญายตนะ

ดูจิตมันก็เป็นสมถะ ไม่ใช่ว่าเป็นวิปัสสนาตลอด แล้วตรงไหนดูจิตเป็นวิปัสสนา ก็ตอนเราเห็นจิตมันเกิดดับได้ ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป การเห็นจิตเกิดดับ เห็นยาก เพราะจิตมันเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง เราอาศัยสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต เรียกว่าเจตสิก เช่น เราเห็นว่า จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วดับ จิตไม่โลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตไม่โกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ จิตรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดแล้วก็ดับ เห็นอย่างนี้ก็ได้ ต่อไปเราก็จะเห็นว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ แต่จะเห็นผ่านอายตนะก็ได้ แต่ตัวนี้ดูยากกว่าการดูจิตผ่านเจตสิก

เจตสิกคือองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิต สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ละเอียดขึ้นไปคือดูจิตเกิดดับผ่านอายตนะ จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับ จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับ จิตเกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดแล้วก็ดับ อย่างนี้ถึงจะขึ้นวิปัสสนาจริงๆ ถ้าเพ่งจิตให้นิ่งให้ว่างเป็นสมถะ หรือไปเจอแสง เจอนิมิตอะไรก็ไปเพ่งอยู่อย่างนั้น ก็เป็นสมถะ อารมณ์ที่ใช้ทำสมถะ ไม่เลือก เป็นอารมณ์บัญญัติ คือเรื่องที่คิดก็ได้ รูปธรรมก็ได้ นามธรรมก็ได้

อารมณ์ชนิดที่สี่ คือนิพพาน ใช้ทำสมถะก็ได้ แต่พวกเราทำไม่ได้ เพราะเราไม่เคยเห็นนิพพาน ปุถุชนไม่เคยเห็นพระนิพพาน เพราะฉะนั้นนั่งสมาธิแล้วเห็นนิพพาน นิมิตทั้งสิ้น ปุถุชนไม่เห็นนิพพานหรอก นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา สงบ มีความสงบ ไม่มีความปรุงแต่ง พวกเรามีแต่ความปรุงแต่ง ฉะนั้นเรายังไม่เห็น เราก็วางไว้ก่อน อันนี้เรายังไม่เห็น

อารมณ์ที่ใช้ทำสมถะก็มีอารมณ์บัญญัติ เรื่องที่คิด อารมณ์รูปธรรม อารมณ์นามธรรม 3 อันนี้ใช้ทำสมถะ เวลาใช้ทำวิปัสสนา มี 2 อัน อารมณ์รูปธรรมกับอารมณ์นามธรรม เราเห็นไตรลักษณ์ของรูป เห็นไตรลักษณ์ของนาม ก็เป็นวิปัสสนา

ค่อยๆ ฝึกตัวเอง ฝึกไปเรื่อยๆ มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ ทำสมาธิ ถึงเวลาก็ทำความสงบ แล้ววิเวก ตัวที่สาม ยาก อันแรก กายวิเวก อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด อันที่สอง จิตตวิเวก การทำสมาธิ ทำความสงบจิต อันที่สาม อุปธิวิเวก สงบจากกิเลส ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ กิเลสเบาบางลงไปเรื่อยๆ จิตมันก็มีความสุข มันสงบจากกิเลส เบื้องต้นก็ให้สงบทางกายเสียก่อน สงบวาจา สงบไปก่อน เราทำความสงบ ไม่ใช่เพื่อสงบ สิ่งต่อไปที่เราจะต้องใส่ใจก็คือการปรารภความเพียร

 

ปรารภความเพียร – ไม่คลุกคลี

ความเพียรคืออะไร ความเพียรก็คือการละอกุศลที่มีอยู่ การปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด การทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด การทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ เกิดบ่อยๆ ปรารภความเพียรก็คือต้องวางใจ เราไม่ได้ภาวนาเพื่อวิเวก เพื่อความสุข ความสงบเฉยๆ แต่งานของเราจริงๆ คืองานต่อสู้กับกิเลส เจริญกุศล ละอกุศล นี่เรียกว่าเราปรารภความเพียรแล้ว วันๆ หนึ่งปรารภแต่กิเลส ใจมันก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ เล่นเฟซบุ๊ค เล่นไลน์ เล่น TikTok เล่นโน้นเล่นนี้ ไอจี มีให้เล่นเยอะเหลือเกิน เล่นแล้วก็เผลอๆ เพลินๆ ไป ก็ไม่สงบ ฟุ้งซ่าน ไม่ได้ทำความเพียรเสียที บางคนทำงานที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับคนเยอะ ต้องปฏิสันถาร ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย

ถ้าเราปรารภความเพียร เวลาเรายุ่งเกี่ยวกับผู้คน เราก็ไม่ลืมตัว เราคอยอ่านกายอ่านใจของตัวเองไป อย่างเราเจอลูกค้าคนนี้กวนประสาทมากเลย ใจเราหงุดหงิดขึ้นมา รู้ทันว่าหงุดหงิด นี่กิเลสเกิดแล้ว เราไม่ปล่อยกิเลสให้ครอบงำตัวเอง นี่เรียกว่าเรามีความเพียรที่ถูกแล้ว มีสัมมาวายามะ ปรารภความเพียร มักน้อยสันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร ไม่คลุกคลี ไม่ใช่แปลว่า ไม่คบกับใคร แต่คบด้วยความมีสติ ด้วยใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว ยุ่งกับคนอื่นเท่าที่จำเป็น ฉะนั้นเราอยู่กับคนจำนวนมาก แต่เราไม่ได้คลุกคลี ใจเราไม่เข้าไปรักใคร่ผูกพันเกาะเกี่ยว พยายามฝึกตัวเอง องค์ธรรมเหล่านี้

อย่างมาภาวนาแล้ว เอะอะบอกจะดูจิตๆ ให้บรรลุมรรคผล แต่องค์ประกอบพื้นฐานไม่เคยพัฒนาเลย ไม่มักน้อย ไม่สันโดษ ไม่ฝักใฝ่ในความสงบ ไม่ละเว้นการคลุกคลี คลุกคลี อย่างวุ่นวาย อย่างเล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวัน นี่คลุกคลี อยู่ในโลก แต่ไม่ใช่โลกข้างนอก มันเป็นโลกโซเชียล นั้นเรียกว่าคลุกคลี ก็ปรารภความเพียร รู้ว่าเรามีหน้าที่ต่อสู้กับกิเลส

 

ศีล – สมาธิ – ปัญญา

สิ่งต่อไปก็คือ ศีล เมื่อวานหลวงพ่อพูดเรื่องศีลเยอะแยะเลย ศีลจริงๆ ก็คือการไม่เบียดเบียนนั่นเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง นั่นคือศีลที่พวกเราต้องทำ พอเราฝึกตัวเอง ไม่เบียดเบียนทำลายสติสัมปชัญญะของตัวเอง สมาธิมันก็จะเกิดง่าย เห็นไหม มีศีลก็มีสมาธิ มีสมาธิ จิตมันก็ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม มันเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ ดับไป สติเป็นตัวรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย มีอะไรเกิดขึ้นในใจ จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ ไม่ใช่ผู้แสดง แต่เป็นแค่ผู้เห็นเท่านั้นเอง เช่น ความโลภเกิด จิตเป็นผู้เห็นว่ามีความโลภเกิดขึ้น เกิดความไม่ชอบที่มีความโลภ มีสติรู้ทัน มีความไม่ชอบเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน จิตเป็นผู้รู้ความไม่ชอบ อย่างนี้เราก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อาศัยเครื่องมือคือสติกับสมาธิ มีศีล สติ สมาธิมันก็จะค่อยมีมากขึ้นๆ ก็จะเกิดปัญญา

ปัญญานั้นมีสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด แต่ไม่ใช่สมาธิทุกชนิด ในพระไตรปิฎกท่านก็พูด ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เน้นคำว่าสัมมา เพราะสมาธิที่เป็นมิจฉานั้นเยอะแยะเลย มีมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ หายาก ไม่มีพระพุทธเจ้า มีได้ไหม มีได้ แต่มียาก ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเป็นเด็กเล็กๆ มีงานแรกนาขวัญ สมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินยังไถนา ไถนาเอง พระเจ้าสุทโธทนะก็ไปไถนา ผู้คนก็ไปดู พี่เลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะก็วิ่งไปดู ทิ้งเจ้าชายสิทธัตถะ ยังเด็กเล็กๆ อยู่ใต้ต้นไม้

ท่านอยู่ว่างๆ ท่านก็ลุกขึ้นนั่งขัดสมาธิ หายใจเข้าหายใจออก ท่านรู้สึกตัวไปเรื่อย หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว ท่านทำไปด้วยความรู้สึกตัว เห็นร่างกายมันหายใจออก เห็นร่างกายมันหายใจเข้า ท่านไม่ได้ไปเพ่งตัวลมหายใจ แต่ท่านเห็นร่างกายหายใจ ในที่สุดจิตก็ค่อยๆ สงบ สงบลงมา จนท่านเข้าปฐมฌานได้ เกิดปีติ เกิดความสุขขึ้นมา เบิกบาน แต่เสร็จแล้วท่านก็ลืม อันนี้ท่านเคยฝึกของท่านมาแต่ชาติก่อนๆ พออยู่ว่างๆ ของเก่ามันกลับมา แต่เสร็จแล้วก็ลืม

ตอนท่านออกไปบวช สิ่งแรกที่ท่านทำก็เหมือนพวกเราล่ะ อยากปฏิบัติธรรม สิ่งแรกที่ทำก็คือไปนั่งสมาธิ ไปเรียนกับฤๅษี ไปนั่งเพ่ง เพ่งๆๆ ไปแล้ว ท่านก็พบว่ามันไม่ใช่ทางหรอก ตอนเพ่งจิตสงบ กิเลสก็สงบ ความทุกข์ก็สงบไป พอเลิกเพ่ง เลิกเข้าฌานออกจากฌานมา จิตก็ทุกข์เหมือนเดิม บางทีทุกข์มากกว่าเก่าอีก ท่านรู้ว่าไม่ใช่ ท่านก็ไปค้นคว้าหาทางทำต่อไป ไปทรมานร่างกายอะไรอย่างนี้ อย่างพวกนิครนถ์ ศาสนาเชนอะไรนี่ เกิดก่อนศาสนาพุทธ เพราะมีอยู่ก่อนแล้ว พวกลัทธิทรมานกายอะไรนี่ ท่านก็ไปเรียน ท่านก็เรียนของท่านเอง ไม่ต้องไปหาอาจารย์ทรมานตัวเอง ไม่เห็นต้องหาอาจารย์ ทรมานจนสลบแล้วสลบอีก พบว่าไม่เห็นมันจะพ้นทุกข์ตรงไหนเลย ใจมันก็ยังทุกข์เหมือนเดิม

วันหนึ่งท่านก็นึกถึงสมาธิที่ท่านเจอตอนเด็กๆ ท่านก็กลับไปทำสมาธิตัวนั้น สมาธิที่ถูก ในที่สุดจิตของท่านก็ตั้งมั่นขึ้นมา เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มองย้อนๆ จากตัวทุกข์ ย้อนๆ จนไปถึงต้นตอ คือตัวอวิชชา ทวนขึ้นทวนลงอยู่ จากอวิชชาก็ปรุงทุกข์ขึ้นมา จากทุกข์ รากเหง้าของมันก็คืออวิชชา ท่านพิจารณาไปเรื่อยๆ ในที่สุดบรรลุพระอรหันต์

ปัญญาเกิดเพราะมีสมาธิที่ถูกต้อง สมาธิชนิดตั้งมั่น ไม่ใช่สมาธิชนิดสงบ สมาธิสงบ มันก็ได้แต่พักผ่อน บางทีโมหะครอบเลย นั่งแล้วก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว เมื่อก่อนหลวงพ่อชอบสอน ไม่ใช่ชอบหรอก แต่ว่าบอกกับลูกศิษย์ลูกหา บอกจริงๆ เลย ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ดูถูกใคร บอกเกือบร้อยละร้อยของนักปฏิบัติ ก็คือไปทำมิจฉาสมาธินั่นล่ะ มันไม่ถูก ไปนั่งเพ่งนั่งจ้อง หรือไม่ก็สะกดจิตตัวเองให้เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวไป เห็นโน้นเห็นนี่ เห็นแสง เห็นเทวดา เห็นผี เห็นอดีต เห็นอนาคต เรื่องไม่มีสาระแก่นสารทั้งสิ้นเลย ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เป็นไปเพื่อความงอกงามของกิเลสอีก มันเกิดความโอหังขึ้นมาในใจว่ากูเก่ง กูรู้อดีต กูรู้อนาคต รู้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ พิสูจน์ไม่ได้

อย่างใครมาเล่าเรื่องว่าระลึกชาติได้ หลวงพ่อไม่เคยอินด้วยเลย เพราะหลวงพ่อเจอมาเยอะเลยว่า อย่างบอกเป็นพระนเรศวรมาเกิดอย่างนี้ มีสักโหลหนึ่งกระมัง พระนเรศวรมาเกิด มั่วกันไปหมด เชื่อถืออะไรไม่ได้ ของอะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่ยอมรับมัน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธมัน ฟังเฉยๆ มันไม่มีสาระแก่นสารอะไร ฉะนั้นใครมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง เห็นนิมิตอย่างโน้นอย่างนี้ เฉยๆ มาเล่า นานไปก็จะไล่ตะเพิดเอาว่าไปภาวนา ไป เตลิดเปิดเปิงมากไปแล้ว

พอเรามีสมาธิที่ถูก จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูจริงๆ การเจริญปัญญาคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะเกิดได้ ในที่สุดมันก็เกิดวิมุตติ เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ เกิดวิมุตติ คือเกิดมรรคเกิดผล วิมุตติญาณทัสสนะก็คือ หลังจากที่เกิดมรรคเกิดผลแล้ว หลังจากเกิดผล เกิดอริยผลแล้ว จิตมันจะถอนตัวออกจากอัปปนาสมาธิ แล้วก็ทวนกระแสกลับเข้าไปพิจารณาว่ากิเลสอะไรล้างแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ได้ล้าง กิเลสที่ล้าง ตัวไหนล้างเด็ดขาด ตัวไหนล้างไม่เด็ดขาด มันจะดูอย่างนี้ เรียกว่าวิมุตติญาณทัสสนะ

จนขั้นสุดท้าย ไม่มีกิเลส ทวนเข้าไปอย่างไร ก็ไม่มีกิเลสให้ละอีกต่อไปแล้ว กิเลสที่ละนั้น ละหมดแล้ว ที่ควรต้องละ ละไปหมดแล้ว จิตจะรู้ว่าชาติคือความเกิดสิ้นแล้ว หมายถึงต่อไปนี้ จิตจะไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมาอีกแล้ว จิตจะไม่หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาอีกแล้ว ชาติมันสิ้นแล้ว คือสิ้นการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะการหยิบฉวยจิตนั่นล่ะ ปล่อยวางได้ยากที่สุด ตัวสุดท้ายเลยที่จะวางได้ ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว หมายถึงการประพฤติปฏิบัติธรรมทำเสร็จแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว จะรู้สึกอย่างนี้ มันเป็นวิมุตติญาณทัสสนะ

 

 

เพราะฉะนั้นองค์ธรรม 10 ประการ เป็นเส้นทางที่พวกเราควรจะพัฒนาตัวเองขึ้นมา มักน้อย หัดมักน้อย โดยเฉพาะเป็นพระ หัดมักน้อย มีโอกาสได้เยอะก็เอาน้อย เท่าที่จำเป็น รู้จัก basic minimum needs แต่ฆราวาสต่างออกไป ฆราวาสต้องสันโดษ หมายถึงทำเต็มที่แล้ว มันได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว ไม่ใช่เห็นคนอื่นมีเงินร้อยล้าน เราก็ทำ ได้ร้อยล้าน เห็นเขามีหมื่นล้าน อยากมีอีกแล้ว ทำไปแล้ว มันก็ไม่ถึงสักทีอะไรอย่างนี้ แล้วใจเศร้าหมอง อย่างนี้เรียกว่าไม่สันโดษ ถ้าทำเต็มที่ ได้แค่นี้ โอเคแค่นี้ จบ นี่เรียกสันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ บางคนมีฐานะหน่อยก็มีพื้นที่ มีห้องพระ มีที่ภาวนา มีที่เดินจงกรมในบ้าน ถ้าไม่มีทำอย่างไร ที่ไหนก็ได้ ที่เราไม่ต้องยุ่งกับใคร มีสติ มีสมาธิ อยู่ตรงนั้น ที่นั่นล่ะวิเวกสำหรับเรา

ในคัมภีร์ของมหายาน เคยพูดถึงเขาเรียกว่า พุทธเกษตร บอกว่ามีพระอรหันต์ถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมโลกธาตุของพระองค์ถึงสูงๆ ต่ำๆ ไม่สม่ำเสมอเลย ดูแย่มาก สกปรกมอมแมม โลกที่พระองค์มาตรัสรู้ ในขณะที่โลกธาตุของพระพุทธเจ้าบางพระองค์ พระองค์อื่นบางทีสวยงามราบรื่น ไม่กระโดกกระเดก ก็มีพระโพธิสัตว์อธิบาย บอกจริงๆ แล้ว พุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าเราก็ราบ ราบเป็นหน้ากลอง ไม่ได้ต่างจากของพระพุทธเจ้าอื่นเลย คือโลกของจิตวิญญาณ

ฉะนั้นอยู่ตรงไหน ท่ามกลางความวุ่นวาย เราก็มีความวิเวกของใจเราได้ ถ้าใจเราไม่คลุกคลี เราก็คลุกคลีเท่าที่จำเป็น มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อย่างไรก็ต้องคลุกคลี แต่ว่ามีปฏิสัมพันธ์ แต่ไม่ผูกพัน มีหน้าที่ เช่น เราต้องไปงานศพก็ไป แต่ไม่ใช่ไปแล้วก็เม้าท์มอยเพลิดเพลินสนุกสนาน วันนี้งานศพ พรุ่งนี้งานแต่ง มะรืนวันเกิด อีกงานวันขึ้นบ้านใหม่อะไรอย่างนี้ วันมีลูกใหม่ มีเมียใหม่อะไรอย่างนี้ สารพัดวัน ได้ทำงานใหม่ ย้ายบ้านใหม่ ขึ้นบ้านใหม่อะไรอย่างนี้ โอ๊ย งานเยอะไปหมดเลย ถ้างานไหนไม่จำเป็น เลี่ยงได้เลี่ยง

อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม หลวงพ่อไม่คลุกคลี เลิกงานแล้วหลวงพ่อก็รีบกลับบ้าน งานบางงานเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อย่างงานศพอย่างนี้ ถ้างานศพหลวงพ่อจะไป งานแต่งไม่ไปหรอก ไปงานศพมีข้อดี ใจเราได้ไปเห็นความตาย เออ คนนี้ตายไปอีกคนหนึ่งแล้ว ศาลาข้างๆ ก็มีคนตาย ศาลาโน้นก็มีคนตาย อ้าว ตรงเมรุก็กำลังเผาอีกรายหนึ่งอย่างนี้ ใจมันก็เห็น พิจารณาความตายไปอะไร อย่างนี้ดี ไปงานอื่นๆ มันมีแต่เพิ่มกิเลสเราให้หนักหนาสาหัสขึ้น ธรรมดาเราก็กิเลสเยอะอยู่แล้ว ยังไปวุ่นวายกับโลก เรื่องวุ่นวายกับโลก ถ้าเป็นพระจะต้องละให้ได้ สังคมพระเองก็เป็นโลกๆ หนึ่ง สังคมพระก็มีงานสารพัดจะงานเลย งานสังคม ถ้าต้องไปทุกงานก็คือไม่ได้ต่างจากชาวโลกหรอก วุ่นวายมากเลย

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถือหลัก อันไหนเลี่ยงได้เลี่ยง แล้วยุ่งกับคนอื่นให้น้อย ยุ่งเท่าที่จำเป็น ไม่คลุกคลี แล้วก็มีเวลามาเรียนรู้กายรู้ใจตัวเอง ต่อสู้กิเลสตัวเอง ปรารภความเพียรไป สำรวจตัวเองไป ศีลอันไหนยังบกพร่อง สมาธิพอหรือยัง ถ้าไม่พอก็ไปทำเอา ทุกวันแบ่งเวลาไว้ทำ เห็นไตรลักษณ์ไหม เห็นกายเห็นใจแสดงไตรลักษณ์ไหม ดูตัวเองเรื่อยๆ เรียนรู้ตัวเองไป มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา สุดท้ายมันก็ต้องมีวิมุตติจนได้

วิมุตติ ไม่มีใครทำวิมุตติให้เกิดได้ ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ อันนี้พระพุทธเจ้าบอก ท่านบอกว่าเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์แล้ว วิมุตติจะเกิดเอง ฉะนั้นหน้าที่เราทำศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญาจะบริบูรณ์ได้ เงื่อนไข 5 ข้อแรก ต้องทำ มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร ถ้าใจเราไปเดินอย่างนี้ มีสิ่งเหล่านี้ 5 อย่างเป็นพื้นฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็จะแก่กล้าขึ้นเร็ว

ถ้าบอกเราภาวนาทุกวัน แต่ทั้งวัน วุ่นวายทั้งวัน ยุ่งกับคนอื่นทั้งวัน เล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวัน อย่ามาพูดเลยเรื่องวิมุตติ เป็นไปไม่ได้ พื้นฐานยังไม่มีเลย ฉะนั้นไปสำรวจตัวเอง พื้นฐานของเราดีพอหรือยัง อันไหนบกพร่องก็ปรับเสีย แต่ไม่ใช่ว่า หนีโลก หนีไม่ได้ ต้องทำมาหากิน ต้องอยู่กับคนจำนวนมาก อยู่กับคนจำนวนมากอย่างไรให้เหมือนอยู่คนเดียว อยู่ตัวคนเดียว ถ้าเราภาวนาจริงๆ เราอยู่กับคนเป็นร้อย เรามีความรู้สึกเหมือนเราอยู่กับต้นไม้ ใจเราไม่ได้เข้าไปคลุกคลีผูกพันอะไร มันก็อยู่ในดงต้นไม้เท่านั้นเอง

ฉะนั้นถ้าใจเราไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ ใจก็กระโดดเข้าไปยุ่งกับคนอื่น เอาดีไม่ได้ วันๆ ก็นั่งดูข่าวโน้นข่าวนี้ไป พระเลวอย่างโน้น พระเลวอย่างนี้ พระดีมันไม่มีข่าว มีแต่พระไม่ดี เพราะมันขายได้ อย่าไปยุ่งกับโลกมาก ยุ่งเท่าที่จำเป็น ถ้าจะยุ่งกับมันก็ยุ่งด้วยสติสัมปชัญญะ ยุ่งด้วยจิตที่มีสมาธิ คุ้มครองรักษาตัวเอง สตินั่นล่ะเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาจิต อย่างเราต้องเจอหน้าคนนี้ เราเกลียดอย่างนี้ เรามีสติรู้เลย ความเกลียดมันจะดับ จิตเราจะเป็นกลาง มีความจำเป็นต้องคุยกับเขาก็คุยได้ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่คุยไปกระแนะกระแหนไปเพราะจิตมันเกลียดอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นเอาสตินี่ล่ะ รักษาจิตตัวเองไว้ เวลาที่ต้องยุ่งกับโลก ต้องคลุกคลีกับโลก

ไปฝึกเอา องค์ธรรม 10 ประการนี้ ที่เราต้องฝึกก็คือศีล สมาธิ ปัญญา องค์ธรรมที่หก เจ็ด แปด หลังจากนั้นวิมุตติจะเกิดเอง วิมุตติญาณทัสสนะจะเกิดเอง แต่ก่อนที่ศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิด มีองค์ธรรม 5 ประการ มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร ถ้าทำได้อย่างนี้ ศีล สมาธิ ปัญญาจะงอกงาม อดทน พากเพียรไป วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็พอแล้ว ที่จริงเทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็ทำได้ทั้งชาติแล้ว บางทีชาติเดียวทำไม่เสร็จ ทำหลายชาติด้วยซ้ำไป อดทนทำไป.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 พฤษภาคม 2565