มีศีลเป็นเครื่องป้องกันตัว

พวกเรามีโอกาสพบพระพุทธศาสนาแล้ว ต้องรู้จักแสวงหาประโยชน์ให้มากที่สุดจากพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เข้ามาทำมาหากิน แสวงหาประโยชน์หมายถึงเอาหลักธรรมคำสอนของท่านมาปฏิบัติ เราจะได้รับประโยชน์ ได้รับความสุขที่ยั่งยืน ส่วนพวกเข้ามาแสวงหาประโยชน์ทางวัตถุ พวกนี้ไม่ยั่งยืน อยู่ได้ช่วงหนึ่งก็ทนอยู่ไม่ได้แพ้ความจริง ศาสนาพุทธเป็น พระพุทธเจ้าท่านเทียบเหมือนมหาสมุทร มีธรรมชาติจะพัดเอาสิ่งสกปรกขึ้นไปบนฝั่ง อย่างเราไปดูตามชายหาดเราจะเห็นเลยสกปรก พวกที่เข้ามาสร้างความสกปรก ในวงการพระศาสนามักจะอยู่ได้ไม่นาน ถึงช่วงหนึ่งความจริงก็ปรากฏ พอไปทำไม่ดีมา ไม่รักษาพระธรรม ไม่รักษาพระวินัย มันทำไม่ดีก็เที่ยวโทษโน้นโทษนี้ไป โทษกระทั่งผู้หญิงมันยั่ว ผู้หญิงมันก็ยั่วมันก็เรื่องธรรมชาติของมัน หาผลประโยชน์ หาคนเลี้ยง หาอะไรอย่างนี้ อยู่ที่เจ้าตัวเองยอมให้เขายั่วหรือเปล่า เปิดโอกาสหรือเปล่า จะมาบอกว่าอินโนเซนต์ไม่ได้

 

กิเลสไม่กลัวผ้าเหลือง

กว่าจะบวชเป็นพระได้ก็ต้องรู้ วันที่บวชพระอุปัชฌาย์ก็จะสอนแล้วว่า มีเรื่อง 4 อย่างที่ทำไม่ได้เด็ดขาด คือปาราชิก 4 ข้อห้ามทำ จะบอกว่าอินโนเซนต์บอกไม่ได้ ที่จริงก็คือสู้กิเลสไม่ไหว ที่สู้กิเลสไม่ไหวเพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้เอาธรรมะมาปฏิบัติจริง ถ้าเอาธรรมะมาปฏิบัติ ขัดเกลาตัวเองไป มันก็ไม่ยอมแพ้ ไม่ต้องโทษโน่นโทษนี่ ผู้หญิงสึกพระมีถมเถไป มีทุกยุคทุกสมัย ในวัดหลวงพ่อยังมีเลยเข้ามาอ่อยพระ สุดท้ายอยู่ไม่ได้หรอกเราก็ไล่ไปหมดแล้ว ไม่ให้เข้ามายุ่ง

ถ้าพระรักษาพระวินัย มันจะเป็นเกราะป้องกันตัวเองอย่างดีเลย อย่างพระวินัยไม่เปิดโอกาสให้อยู่ในที่ลับหูลับตากับผู้หญิง ลับหูเป็นอย่างไร ลับหูคือไปคุยกันโดยคนอื่นเขาไม่ได้ยิน ลับตาก็คืออยู่ในที่ปิด อย่างเข้าอยู่ในห้อง ถ้ารักษาพระวินัยไว้ได้ก็ไม่ค่อยพลาด หรือพระระบบของพระ พระจะเก็บเงินเก็บทองด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีไวยาวัจกรเก็บให้ อย่างคนจะถวายปัจจัยให้พระ พระรับไม่ได้ต้องมีไวยาวัจกรเป็นคนรับแทน แล้วเวลาพระต้องการปัจจัย 4 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรือกุฏิพัง ก็ไปบอกไวยาวัจกร ถามว่ามีปัจจัยไหมจะซ่อมกุฏิแล้ว หรือจะไปหาหมอต้องจ่ายค่ายา ไวยาวัจกรเป็นคนจ่าย พระไม่มีสิทธิ์เก็บเงินเอง พระไม่มีสิทธิ์ใช้เงินเอง แล้วถ้าไวยาวัจกรจะโกง พระก็ไปทวงถามได้ไม่กี่ครั้ง แล้วเขาไม่ยอมให้พระต้องสละ ถ้าพระรักษาวินัยอย่างนี้ใครจะมาหลอกเอาเงินพระ ถ้าหลอกต้องไปหลอกไวยาวัจกรด้วย คือระบบที่พระพุทธเจ้าวางไว้มันเหมาะมันสมควรแล้ว ที่ไม่ดีคือเราไม่ทำตามที่ท่านวางหลักเกณฑ์เอาไว้ สู้กิเลสไม่ได้

หลวงพ่อพูดอยู่เรื่อยๆ กิเลสไม่กลัวผ้าเหลือง ไม่ใช่เป็นชาวบ้านอยู่พอห่มผ้าเหลืองแล้ว แหม จะเข้าใจธรรมะ ไม่เข้าใจหรอก มันก็คือฆราวาสนั่นล่ะแต่เอาผ้าเหลืองมาห่ม ผู้คนก็นับถือ นับถือกันง่ายเหลือเกิน ไม่มีสติ ไม่มีปัญญาแยกแยะไม่ออกว่าใครนับถือได้ ใครนับถือไม่ได้ คือชาวพุทธจะรักษาศาสนาพุทธไว้ได้ ทั้งพระ ทั้งอุบาสก ทั้งอุบาสิกา ต้องเข้าใจ อย่างที่มีเรื่องเมื่อไม่กี่วันนี้ ก็มีคนคอมเมนต์ว่าน่าเห็นใจพระ พระยังหนุ่มอยู่ จีบกับผู้หญิง ไปทำอะไรกับผู้หญิง ก็เรื่องธรรมชาติไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย มันพูดแบบคนไม่มีการศึกษาธรรมะออกความเห็น ออกความเห็นยิ่งทำลายศาสนาให้มากขึ้น พระทุกวันนี้มีโทรศัพท์ ที่วัดหลวงพ่อถ้าโทรศัพท์ถึงโยม ยังบอกไว้เลยว่าต้องมีพระอื่นได้ยินอยู่ด้วย เปิดแฮนด์ฟรีคุย มางุบๆ งิบๆ อะไรกันไม่ถูก เปิดแฮนด์ฟรีให้คนอื่นเขาได้ยินด้วย นี่ไม่ลับหู

ถ้าตั้งใจรักษาพระวินัย ธรรมวินัยก็จะรักษาเรา ถ้าไม่รักษาตัวเองก็เอาตัวไม่รอด แล้วจะไปรักษาพระศาสนาได้อย่างไร ตัวเองยังรักษาไม่ได้เลย เรื่องของเรื่องทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องของกิเลสนั่นล่ะ ถ้ายังไม่เห็นโทษไม่เห็นภัยของกิเลส ยังลดละกิเลสไม่ได้ มันก็พร้อมจะพลาด ถึงเราเป็นฆราวาสก็เหมือนกัน ต้องรักษาศีล 5 ไว้ ถ้าศีล 5 เรายังรักษาไม่ได้ เราก็เริ่มเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตัวเราเองเพราะไม่มีศีล รักษาศีล 5 ไว้ก็ช่วยตัวเองได้เยอะเลย อย่างเราไม่กินเหล้า จะบอกว่าเมาเหล้าไปปล้ำใคร มันก็ไม่เป็น เราไม่กินเหล้าเราก็ไม่เมาเหล้าขับรถ ก็ไม่อันตรายมาก

 

ศีลเป็นเครื่องป้องกันตัวทั้งพระทั้งโยม

ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องป้องกันตัวทั้งพระทั้งโยม ต้องรักษาศีลเอาไว้ ถ้าศีลเราไม่ดีสมาธิเราก็เสื่อม สมาธิเสื่อมปัญญาก็ไม่เกิด ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเหมือนฐาน อย่างเราดูพระพุทธรูป ส่วนใหญ่ก็จะทำฐาน 3 ชั้น เป็นสัญลักษณ์ของศีล ของสมาธิ ของปัญญา ศีลนั้นเป็นพื้นฐานเบื้องต้น สมาธิก็เป็นฐานชั้นกลาง ปัญญาเป็นฐานชั้นสูง แล้วเราก็จะประคับประคององค์พระพุทธรูป คือพุทธะ พระพุทธเจ้า รวมทั้งพวกเราด้วย เรามีศีล สมาธิ ปัญญา วันหนึ่งใจเราก็เป็นพระ จะบวชหรือไม่บวชใจเราก็เป็นพระ ส่วนถ้าบวชแล้วไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา มันก็แค่พวกอาศัยหลอกๆ บวชไปเท่านั้น ฉะนั้นเราต้องรักษาศีล ขาดศีลสมาธิก็เสื่อม เพราะศีลเป็นเครื่องป้องกันเรา ไม่ให้ไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้เบียดเบียนสัตว์อื่น แล้วก็ไม่ให้เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเราเอง เมื่อเราไม่ได้เบียดเบียนใจเราจะสงบง่าย ใจของคนที่คิดจะเบียดเบียน เช่น จะไปทำร้ายร่างกายคนอื่น จะไปฉ้อโกง ไม่สงบ จะไปผิดลูกผิดเมียเขา มันไม่สงบ คิดจะปลิ้นปล้อนหลอกลวงโกหกเขา ใจไม่สงบ

ฉะนั้นศีลต้องรักษา โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดเลยข้อ 5 ข้อ 5 คือการไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง เพราะสติสัมปชัญญะนี่ล่ะ เป็นธรรมะที่มีอุปการคุณสูง ขาดสติสัมปชัญญะอย่างเดียว ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลหรอก ไม่มีแน่นอน ฉะนั้นเราตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้เด็ดเดี่ยว บางทีพลาด พลาดแล้วก็สรุปเป็นบทเรียน ทีหลังจะไม่พลาดอีก อย่างพระบางทีก็ทำผิดพระวินัยเล็กๆ น้อยๆ ครูบาอาจารย์ก็เตือน ก็ระมัดระวังไม่ทำผิดอีก อันนี้ก็ถือว่าเป็นคนดีว่าได้สอนได้ มันไม่มีใครหรอกที่ไม่เคยทำความผิดเลย ทุกคนมันทำความผิด แต่ว่าถ้ามีเพื่อนฝูงสหธรรมิก หรือครูบาอาจารย์เตือนแล้วเราก็ปรับตัว อย่างนี้ถือว่าเป็นคนดี ทำผิดแล้วก็รู้ว่ามันไม่ถูก แล้วก็ตั้งใจว่าไม่ทำอีก

อย่างพระเวลาทำผิดก็ไปปลงอาบัติ ยกเว้นความผิดชั่วหยาบรุนแรง 4 อย่าง คือปาราชิก 4 ข้อ อันนั้นปลงอาบัติไม่ได้ ต้องออกจากหมู่สงฆ์ไป เพราะขาดคุณสมบัติที่ดีของพระแล้ว อย่างเสพเมถุนขาดทันทีไม่ต้องสึก อย่างเราชอบเรียกร้อง ได้ยินข่าวพระนี้ปาราชิก ก็เรียกร้องบอกให้จับสึก ไปจับสึกทำไมมันไม่ใช่พระ มันขาดจากความเป็นพระตั้งแต่ปาราชิกแล้ว ฉะนั้นตอนนั้นถ้ายังห่มผ้าเหลืองอยู่ทั้งๆ ที่ปาราชิกแล้ว อันนี้ปลอมเป็นพระแล้ว ผิดกฎหมายแต่งกายเลียนแบบสงฆ์แล้ว นี่ชาวบ้านก็ต้องรู้เรื่อง

เพราะฉะนั้นศีลตั้งใจรักษาไว้ แล้วทุกวันจะต้องฝึกจิตฝึกใจของเรา ให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว รักษาศีลอย่างเดียวไม่พอหรอก จะต้องฝึกสมาธิด้วย วิธีฝึกสมาธิไม่ยากอะไรมีตั้ง 40 อย่าง 40 อย่างมี 10 อย่างเป็นเรื่องของกสิณ พวกเรายุคนี้ฝึกยากกสิณ ก็เว้นไปเสีย 10 ข้อ ที่ง่ายๆ เลยก็คืออนุสติ 10 ข้อ อันนั้นง่ายมากๆ เลย คอยหมั่นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงทาน ระลึกถึงศีลที่เรารักษาไว้ดีแล้ว ที่เราทำไว้ดีแล้ว ระลึกถึงความสงบ ระลึกถึงคนที่ดีๆ เป็นแบบอย่างที่ดี ระลึกถึงลมหายใจเข้าออก ระลึกถึงร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ระลึกลงไปเรื่อยๆ อย่างเราระลึกถึงร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ใจมันก็สงบ มันไม่วิ่งพล่าน ตัวที่ทำให้ใจวิ่งพล่านส่วนใหญ่ก็กามนั่นล่ะ ความหลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย

เรามาพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังอยู่ หรือเรามาระลึกถึงร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่วัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก คอยรู้สึกๆ อย่างนี้ มันจะข่มกิเลส ข่มนิวรณ์ โดยเฉพาะหัวโจกใหญ่ๆ เลยก็ตัวกามนั่นล่ะ มันจะข่มลงไปได้ ถามว่า ข่มได้เด็ดขาดไหม ไม่เด็ดขาด อย่างเราพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ มันก็ข่มราคะไว้ได้ ในช่วงที่สมาธิยังดำรงอยู่ ถ้าสมาธิเสื่อมราคะมันก็กลับมาอีก บางคนก็พิจารณากายทุกวันๆๆ เลย ไม่มีช่องโหว่เลย ราคะมันก็ไม่โผล่มาเลย ก็นึกว่าราคะหายไปแล้ว ลองหยุดพิจารณาสักพักหนึ่งเดี๋ยวมันก็มาอีก เพราะว่าการพิจารณาปฏิกูลอสุภะ มันได้แค่สมถกรรมฐาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ถึงจะขึ้นวิปัสสนาจริง

 

เรียนจากธาตุ

อย่างปฏิกูลอสุภะมันไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งที่เราคิดขึ้นเอง ปฏิกูลอสุภะไม่ได้มีจริงหรอก ตัวนี้หลวงพ่อเคยเห็นแจ่มแจ้งด้วยตัวเองเลย ว่าปฏิกูลอสุภะไม่ใช่ของจริง เคยเล่าหลายครั้งแล้วว่าหลวงพ่อเคยไปวัดครูบาอาจารย์ วัดป่าสาลวัน ไปกราบหลวงพ่อพุธ เดินเข้าทางหลังวัดขี้หมาเต็มถนนเลย บางอันก็เก่า บางอันก็ใหม่ เก่าๆ ยังไม่น่าเกลียด ใหม่ๆ นี่น่าเกลียดจริงๆ แฉะๆ แมลงวันตอม แมลงวันไปเกาะขี้หมาแล้วก็จะมาเกาะเราด้วย โอ๊ย ขยะแขยงไปหมดเลย ตรงที่ใจมันขยะแขยง จิตมันเกิดรวมตั้งมั่นขึ้นมา มันมองลงไปในกองขี้หมา มันก็แยกเลย สีก็อันหนึ่ง สีไม่มีอสุภะ กลิ่นก็อันหนึ่ง กลิ่นก็ไม่มีอสุภะ ธาตุมีน้ำแฉะๆ ธาตุก็ส่วนธาตุ น้ำไม่เป็นอสุภะ ลมพัดมาไม่มีอสุภะ สุดท้ายด้วยกำลังจิตที่มันมากพอ มันแยกๆๆ ขี้หมากองเดียวนั่นล่ะ แยกออกเป็นธาตุ แยกออกเป็นรูปชนิดต่างๆ รูปสี รูปกลิ่น มันแยกออกไป ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดิน ค่อยสลายแยกออกจากกัน สุดท้ายมันก็เหลือแต่ขี้หมาแห้งๆ ใจมันรู้สึกอย่างนั้น

จากขี้หมาแห้งๆ มันเห็นต่อไปอีก มันคือดินนั่นล่ะ คือแผ่นดินที่เราเหยียบย่ำอยู่นี่เอง จะซากศพ หรือจะขี้หมา สุดท้ายมันก็กลายเป็นแผ่นดิน แผ่นดินนั้นเราก็ไม่บอกว่าสะอาดหรือสกปรกหรอก เป็นกลางๆ พอเห็นอย่างนี้ใจหมดความรังเกียจ ใจก็เป็นกลาง อันนี้มันเป็นกลางด้วยปัญญา เพราะมันแยกธาตุออกไปเรื่อยๆ ถ้าแยกด้วยปฏิกูลอสุภะ ดูเป็นอสุภะ ก็มันอสุภะต่อหน้าต่อตาอยู่แล้ว ไม่ต้องดูมันก็เห็น ถามว่าแล้วมันจะข่มราคะได้ไหม ได้ มันจะล้างกิเลสได้ไหม ไม่ได้ แค่ข่ม พวกปฏิกูลอสุภะ แต่ถ้าข่มทุกวันมันจะเหมือนละได้ เพราะมันจะไม่โผล่เลยราคะ แต่ถ้าเราเดินปัญญาไป แยกธาตุแยกขันธ์ไปเรื่อยๆ เห็นธาตุเห็นขันธ์แต่ละอันๆ ไม่มีปฏิกูล ไม่มีอสุภะหรอก มีแต่รูปธรรม มีแต่นามธรรมทั้งหลายแยกออกไป รูปธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นามธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

จิตเกิดปัญญาอย่างนี้ได้ จิตต้องมีสมาธิ ถ้าจิตเราไม่มีสมาธิ ปัญญาอย่างนี้เกิดไม่ได้หรอก ถ้าจิตเรามีสมาธิดูลงมา ขี้หมามันยังแยกให้เราดูเลยเป็นธาตุต่างๆ เป็นรูปชนิดต่างๆ รูปสี รูปกลิ่น สีเหลืองสกปรกไหม สีเหลือง ขี้หมามันเหลืองๆ แดงๆ เราก็เอาสีเหลืองสีแดงมาทาหน้าเราด้วยซ้ำไป ทาปากเรานี่สีแดงๆ ไม่เห็นจะรู้สึกสกปรกตรงไหนเลย แต่พอมันไปอยู่ที่กองขี้หมาแล้วสกปรกแล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ของจริง ปฏิกูลอสุภะ ข่มราคะได้ชั่วคราว กำลังของสมาธิหมดเมื่อไรกิเลสมันก็มาอีก ต้องทำวิปัสสนาให้ได้ คือต้องเห็นไตรลักษณ์ให้ได้ แยกธาตุแยกขันธ์ไปเรื่อยๆ แล้วเห็นแต่ละธาตุ แต่ละขันธ์ สักแต่ว่าธาตุ สักแต่ว่าขันธ์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ธาตุต่างๆ เสมอภาคกันไปหมด ไม่มีว่าธาตุนี้ดีกว่าธาตุนี้ เสมอกัน ธาตุแต่ละธาตุไม่มีความลำเอียง อย่างธาตุดินก็ไม่มีความลำเอียง เราเอาของสกปรกไปเทใส่ดินก็ไม่เดือดร้อน เอาของหอมไปเทใส่ดินก็ไม่ได้ยินดี ธาตุน้ำก็เหมือนกัน มีของสกปรกตกลงไปน้ำก็ไม่ได้ยินร้าย มีอะไรสวยงามดอกไม้ตกลงไป น้ำก็ไม่ได้ยินดี

ค่อยๆ ภาวนาจนจิตเรากับธาตุมันเสมอกัน ดูทุกอย่างลงเป็นธาตุไป แล้วต่อไปจิตกับธาตุก็เป็นอันเดียวกัน เสมอกัน เพราะจิตนั้นก็คือธาตุอันหนึ่ง ธาตุมันก็มี 6 ธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แล้วก็สเปซ คืออากาศธาตุที่บรรจุธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็ธาตุรู้ คือวิญญาณธาตุ ก็คือธาตุนั่นล่ะ ถ้าเราฝึกจนเข้าใจถึงความเป็นธาตุ แต่ละธาตุก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เสมอกัน ดินไม่ยินดีในสัมผัสที่ดี ไม่ยินร้ายในสัมผัสที่ร้าย น้ำ ลม ไฟ ก็ไม่ยินดีในสัมผัสที่ดี ไม่ยินร้ายในสัมผัสที่ร้าย วิญญาณธาตุนั้นก็ไม่ได้ยินดีในสัมผัสที่ดี ไม่ได้ยินร้ายในสัมผัสที่ร้าย สักแต่ว่าเป็นธาตุเสมอกันไปหมด เที่ยงธรรม ยุติธรรม ฉะนั้นจิตมันจะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ด้วยความยินดียินร้ายหรอก

ค่อยๆ ภาวนา ดูไป แค่เห็นธาตุใจก็วางได้หมดแล้ว จนกระทั่งเห็นจิตก็เป็นธาตุอันหนึ่ง ก็เหมือนกับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนั่นล่ะ ไม่มีความยินดีต่ออารมณ์ที่ดี ไม่มีความยินร้ายต่ออารมณ์ที่ร้าย ค่อยๆ ฝึกไป ทีแรกมันยังยินดียินร้ายก็อย่าไปว่ามัน มันเคยหลงผิดมาตลอดในสังสารวัฏ จะหลงผิดอีกหน่อยหนึ่งไม่เป็นไรหรอก เพราะมันหลงผิดมาเยอะแล้ว เพียงแต่หัดภาวนาแยกธาตุแยกขันธ์ไปเรื่อยๆ ดูแต่ละธาตุ แต่ละขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูไปเรื่อยๆ หรือจะแยก ไม่ชอบแยกธาตุแยกขันธ์ แยกอายตนะก็ได้ อายตนะมีภายในภายนอก รูปกับตาเข้าคู่กัน รูปเป็นอายตนะภายนอก ตาเป็นอายตนะภายใน รูปมันจริงๆ คืออะไรที่ตามองเห็น สิ่งที่ตามองเห็นก็แค่สีเท่านั้นเอง สีมันตัดกันก็เป็นรูปร่างอย่างนี้ขึ้นมา ส่วนตานั้นถ้ามันมีรูป ประสาทตายังไม่ชำรุด มีแสงสว่างมากพอ มีความสนใจที่จะรู้รูป ความรับรู้รูปมันก็เกิดขึ้น ค่อยรู้ค่อยดู อย่างนี้เรียกว่าเรียนทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 

 

เรียนจากธาตุก็ได้ เรียนจากอายตนะก็ได้ เรียนจากขันธ์ก็ได้ ขันธ์ 5 รูปมันยืน รูปมันเดิน รูปมันนั่ง รูปมันนอน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความสุขความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา กุศลอกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดที่ไหนดับที่นั้น ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา การเจริญปัญญาจะมองในมุมของขันธ์ 5 ก็ได้ มองในมุมของอายตนะทั้ง 6 บวกกับอายตนะข้างนอกอีก 6 ก็เป็น 12 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 มองเป็นธาตุ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ช่องว่าง อากาศธาตุก็ได้ ดูลงไปเรื่อยๆ ทั้งหมดมันจะสอนสิ่งเดียวกัน ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา จะสอนสิ่งเหล่านี้ให้เรา

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานให้จิตมันมีสมาธิจริงๆ ก่อน จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็เจริญปัญญาไป ถ้าเป็นพวกชอบดูจิตดูใจ เจริญปัญญาด้วยการดูขันธ์ เพราะในขันธ์ 5 นี้มีรูป 1 มีนาม 4 ถ้าเป็นพวกชอบดูกาย ก็เจริญปัญญาด้วยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เป็นส่วนรูป ใจเป็นนามธรรม ดูไป ตัวธาตุดูได้หลายมุม ดูธาตุ 6 อย่างที่หลวงพ่อบอกเมื่อกี้ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ช่องว่างคือสเปซ อากาศธาตุ เรียกว่าอากาศธาตุ กับความรับรู้คือจิต หรือวิญญาณธาตุ แต่ละอันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูธาตุอย่างนี้ก็ได้ การดูธาตุมีอีกมุมหนึ่งเรียกธาตุ 18 อันแรกมันเป็นธาตุ 6 ตัว ธาตุ 18 มันก็ครอบคลุมถึงพวกอายตนะกับจิตเข้าด้วยกัน อายตนะ 12 แล้วก็จิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อีก 6 ก็เป็น 18 รูปกับตา กับความรับรู้ทางตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้เยอะหน่อยดูยาก อันไหนมันยากเกินไปก็ไม่ต้องดู ดูของง่ายๆ ไป จะดูแล้วเกิดปัญญาได้ จิตต้องมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิจิตฟุ้งซ่าน ไม่ได้เรื่องหรอก จิตฟุ้งซ่านจิตมันมีกิเลส มันจะไปเจริญปัญญาได้อย่างไร เอาจิตที่มีกิเลสไปเจริญปัญญา มันทำไม่ได้จริงหรอก

 

พิจารณาปฏิกูลอสุภะข่มราคะ

แต่หลวงพ่อพูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่แปลว่า การพิจารณาปฏิกูลอสุภะไม่ดี การพิจารณากายคตาสติ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วพิจารณาลงเป็นปฏิกูลอสุภะ ก็มีข้อดี อย่างสมีที่เลิกเป็นพระไปเมื่อไม่นานนี้ ถ้าเขาพิจารณาปฏิกูลอสุภะ เขาก็จะไม่พลาด ผู้หญิงมันมายั่วมันจะเห็นเลยตัวสกปรกมายั่ว ไม่น่าสนใจ ไม่ใช่ตัวสวยตัวงามมายั่ว เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า ผู้หญิงชอบท่านก็มี หรือพวกพระสาวกผู้หญิงชอบท่านก็มี ท่านก็บอกตรงๆ เลย ว่า ท่านเห็นความไม่สวยไม่งามเห็นอสุภะ กระทั่งปลายเท้าท่าน ท่านยัง ไม่อยากสัมผัสเลยผู้หญิงนี้ ไม่ได้ดูถูกผู้หญิง แต่อันนี้ท่านจะสอนผู้หญิงนั่นล่ะว่า อย่ามัวแต่หลงรูปอยู่เลย รูปจริงๆ เป็นของไม่ยั่งยืนหรอก ความสวยความงามอย่าไปหลงมันนักเลย ผู้มีปัญญาเห็น มันไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไรหรอก มันสวยหลอกๆ ไม่นานมันก็แตกสลาย ฉะนั้นใจก็ไม่มีราคะขึ้นมา

เคยมีคนถามพระพุทธเจ้า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์มีกามราคะไหม” ถามดี ถามว่าพระพุทธเจ้ามีกามราคะไหม พระพุทธเจ้าบอก “เราไม่มีกามราคะ เพราะเราไม่มีกามวิตก” ฉะนั้นกามราคะมันทำงานขึ้นมาได้เพราะการคิดเรื่องกาม อย่างแทนที่จะคิดว่าผู้หญิงคนนี้สวย อายุตั้ง 38 แล้วยังสวยยังแจ๋ว อันนี้คิดไปในทางกามวิตกราคะมันก็แรงขึ้น ถ้าไม่คิดไปในทางกามวิตก ก็ดูลงไปเห็นมีแต่ของสกปรก ไม่สวยไม่งาม กามราคะมันก็ไม่เกิด เป็นพระ พระหนุ่มๆ นั่นล่ะต้องพิจารณากาย ต้องช่วยตัวเอง ไม่อย่างนั้นบางทีสู้กิเลสไม่ไหว เพราะยังไม่ชำนาญในเรื่องของสมาธิ ยังไม่ชำนาญในเรื่องการเจริญปัญญา ก็ต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน แค่พิจารณาปฏิกูลอสุภะ มันก็ไม่วิ่งตามผู้หญิงไปแล้ว

หลวงพ่อเข้าใจนะว่า กิเลสมันไม่เข้าใครออกใครหรอก เราเพียงแต่สร้างเงื่อนไข ที่ไม่เอาตัวเองไปอยู่ในความล่อแหลม หลวงพ่อตอนยังไม่บวชก็มีผู้หญิงมาอ่อย มาบอกหนูเหงาอย่างโน้น หนูเหงาอย่างนี้ ชวนไปบ้าน ไม่ไป ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสทำงานหรอก ไม่คิดในทางลามก เห็นแล้วสงสาร โอ้ น่าสงสารผู้หญิงคนนี้ อยากได้สามี ดูแล้วน่าสงสาร ใจมันเมตตา ไม่มีราคะ มันมีความรู้สึกเหมือนเรารู้สึกกับน้องสาวพี่สาวเรา คือถ้าเราไม่เอาตัวเราเข้าไปสู่จุดอับ เราก็ไม่โดนเข้าไปในจุดอับ รักษาตัวไว้ให้ดี ก็เข้าใจนะกิเลสไม่ใช่ของสู้ง่าย หลวงพ่อเข้าใจตรงนี้ ในวัดนี้หลวงพ่อถึงสร้างเงื่อนไขอะไรขึ้นมามากมาย อย่างพระจะคุยกับผู้หญิงเท่าที่จำเป็น ไม่จำเป็นไม่ต้องไปคุย ถ้าคุยไม่คุยตามลำพัง คุยสั้นๆ หมดธุระแล้วก็เลิก กุฏิแต่ละหลังหลวงพ่อให้พระแยกกันอยู่ มีกฎเกณฑ์ กลางค่ำกลางคืนห้ามไปกุฏิคนอื่น ทำไม มีแต่พระผู้ชายทำไมต้องห้าม ผู้ชายไปกุฏิพระผู้ชายด้วยกัน ก็ยุคนี้พระตุ๊ดพระแต๋วก็มี เราได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ เราก็ต้องป้องกันไว้ก่อน เราไม่รู้ใครจะเป็นอะไร

ฉะนั้นถ้าเราสร้างเงื่อนไขที่คุ้มครองตัวเองได้ก็ดี อันตรายน้อยหน่อย เดี๋ยวนี้วัดทั่วๆ ไปเขาไม่สนใจกัน พระก็ต่างคนต่างอยู่ในวัด ใครอยากทำอะไรก็ทำไป ไม่มีการดูแล ครูบาอาจารย์บางทีก็ไม่อยู่วัด บางทีก็ชรามากดูแลไม่ไหว ในวัดเองไม่มีระบบที่จะให้พระช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน มันก็เละเทะไปหมด เราก็จะบอกว่าศาสนาเสื่อม ศาสนาคือสัจจะ สัจจะนั้นไม่ตายไม่มีวันเสื่อม คนมันไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เข้าใจสัจจะอันนี้ มันเสื่อม ฉะนั้นเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็ต้องระมัดระวังตัวเอง สำรวม เป็นฆราวาสก็ต้องสำรวม เป็นฆราวาสยิ่งยุคนี้ระบบส่ำส่อนเป็นเรื่องปกติขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นเราก็ต้องสำรวมในคู่ของเรา เมื่อก่อนมี คนมาที่วัดนี้ สามีภรรยารักกันมากเลย สามีขยันภาวนา เห็นใครก็อยากสอน หลวงพ่อก็เตือนอย่าไปสอนเขาตามลำพัง เดี๋ยวเราแพ้กิเลส สุดท้ายก็ทิ้งเมียไปอยู่กับคนอื่น สู้กิเลสไม่ไหว ฉะนั้นต้องไม่เปิดโอกาสให้กิเลสมีช่องเล่นงานเรา

 

 

ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ราคะเกิดพิจารณาอสุภะเข้าไป พิจารณาปฏิกูลเข้าไป มันก็ข่มราคะได้แล้ว ปัญญาต้องเจริญ จะดูตัวเราแยกเป็นรูปเป็นนามก็ได้ แยกเป็นอายตนะก็ได้ แยกเป็นธาตุก็ได้ ค่อยๆ ดูลงไป ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ถ้าอย่างนี้จะล้างกิเลสได้เด็ดขาดเป็นลำดับๆ ไป เบื้องต้นก็จะล้างกิเลส ความเห็นผิดว่ามีตัวเรา ต่อไปก็จะมีปัญญาขั้นกลาง ก็จะเห็นความจริงร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นตัวทุกข์ นี่เป็นปัญญาขั้นกลาง เข้าใจความจริงของตัวรูป รูปนี้ไม่มีวิเศษอะไรหรอก มันคือตัวทุกข์ ปัญญาขั้นสูงคือการเข้าใจความจริงของจิต ของนาม นามนี้มีทั้งนามจิต นามเจตสิก นามหัวโจกก็คือจิตนั่นล่ะ จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธานในธรรมะทั้งปวง เราเข้าใจความจริง จิตนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตนี้ก็คือตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะไม่ใช่ตัวเรา เห็นด้านใดด้านหนึ่งจิตก็ปล่อยวางจิตได้ นั่นเป็นปัญญาขั้นสูง สามารถปล่อยวางจิตใจตัวเองได้

ปัญญาขั้นต้นล้างความเห็นผิดว่ามีตัวเรา กายนี้ใจนี้เป็นเรา ปัญญาขั้นกลางก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่เราหรอก มันเป็นตัวทุกข์ ปัญญาขั้นสูงจิตนี้ก็ไม่ใช่เราหรอก มันเป็นตัวทุกข์ นี่เรียกว่าเราเห็นทุกข์แล้ว เห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้งก็คือเห็นธรรมนั่นล่ะ รู้ทุกข์ก็จะรู้ธรรม ไม่รู้ทุกข์ก็ไม่รู้ธรรม รู้ทุกข์แล้วมันรู้ธรรมได้อย่างไร มันจะรู้เลยว่าธรรมะฝ่ายโลกียะ มันก็เกิดจากกิเลสตัณหาพาเกิดนี่ล่ะ ธรรมะฝ่ายโลกุตตระ มาจากมรรค การเจริญมรรค มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา โดยเฉพาะการมีปัญญาเห็นความจริงของธาตุของขันธ์ ของรูปนาม กายใจ อายตนะ เห็นความจริงของมันจนมันวาง วาง จิตก็เข้าถึงธรรม ธรรมอันนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นโลกุตตระ ธรรมะมันมีทั้งโลกียะ ทั้งโลกุตตระ

อย่างถ้าเราปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส มันก็เห็นธรรมเหมือนกันก็คือทุกข์มันจะเกิด แต่ถ้าเราพัฒนามรรคให้ดี มีศีล มีสมาธิ จนกระทั่งเกิดปัญญา พอมีปัญญาเกิดอริยมรรคขึ้นมา มันจะเห็นความจริง เห็นธรรมะ ธรรมะตัวนั้น คือธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง สูงสุดก็จะเห็นพระนิพพาน หน้าที่ของเราต่อพระนิพพาน คือการเห็นเท่านั้น ไม่ได้ทำนิพพานให้เกิด มรรคผลเราต้องพัฒนาตัวเอง จนปัญญาแก่รอบแล้วมรรคผลเกิดขึ้น แต่นิพพานนั้นเป็นโลกุตตระ เช่นเดียวกับมรรคผล มรรคผลก็เป็นโลกุตตระ แต่ยังเป็นโลกุตตระที่เกิดแล้วก็ดับอยู่ นิพพานเป็นโลกุตตระอันเดียวที่ไม่เกิดไม่ดับ ฉะนั้นเราไปทำนิพพานให้เกิดไม่ได้ แต่เราไปเห็นได้ เมื่อไรใจเราสิ้นตัณหา สิ้นความอยาก เราจะเห็นนิพพาน พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา มันจะเห็นแจ่มแจ้งด้วยตัวเอง ทุกข์มันสิ้นตรงนี้เอง โลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเลย ดูลงในกายก็เห็นแต่ความว่าง ดูโลกธาตุที่แวดล้อมอยู่ก็เห็นแต่ความว่าง ดูจิตก็เห็นแต่ความว่าง จะไม่ไปหมายรู้จิต ถ้ายังหมายรู้จิตอยู่ จิตก็ยังทำงานขึ้นมาอีก ยังไม่พ้นความปรุงแต่งขั้นละเอียด

ค่อยๆ ฝึกแล้วชีวิตเราจะดีขึ้น ค่อยสมกับที่เราเกิดมาในยุคที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ เราไปคาดหวัง เราไปเรียกร้องว่าพระทุกองค์ที่มาบวช โยมทุกคนที่มาบวชเป็นพระจะต้องดี พอห่มผ้าเหลืองปุ๊บแล้วดีปั๊บเลย นั่นมันนิยาย ที่จริงก็คือฆราวาสนั่นล่ะแค่ห่มผ้าเหลือง กิเลสก็เหมือนพวกเรา ถ้าเขารักดีเขาก็ระวังตัว เขาก็พัฒนาตัวไป ถึงเราเป็นโยมถ้าเรารักดี เราก็ต้องระวังตัวเอง ต้องพัฒนาตัวเอง ระวังอย่าให้ผิดศีล พัฒนาสมาธิและปัญญาขึ้นมา สำรวมระวังอย่าให้ผิดศีล.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 พฤษภาคม 2565