การปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบ

ตอนนี้โควิดมันก็เป็นขาลงแล้ว มันขึ้นได้มันก็ลงได้ คนก็ตายวันละร้อยกว่าคน คนไทย ส่วนใหญ่ก็คือคนใกล้จะตาย ใกล้จะตายอยู่แล้ว ถ้าพูดไปเราก็เสียหายน้อยเทียบกับหลายๆ ประเทศ เราแก้ปัญหาโควิดแบบทางสายกลาง แล้วไม่ตึงเกินไป ประเภทล็อกดาวน์ตลอดเวลา ไม่ได้หย่อนเกินไปปล่อยตามใจตลอดเวลา บางช่วงเราก็เข้มงวดขึ้น แต่เราค่อยๆ ปลูกฝังนิสัย เวลานี้เราชินที่จะใส่แมสก์กันก็เป็นเรื่องดี รักษาตัวเองไป ตอนนี้ก็ติดกันทั่วๆ แล้ว บางคนฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติด บางคนเขาแข็งแรงไม่ติด อยู่กับคนที่ติดก็ไม่ติด ก็ประคองตัวกันไป ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพวกเราก็ลำบากกันเยอะ โดยเฉพาะเรื่องทำมาหากิน บางคนปรับตัวไม่ได้ โรงงานปิดตกงานไม่รู้จะทำอะไร ก็ไปขายของออนไลน์ เต็มไปด้วยคนขาย คนซื้อก็เท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม บางคนก็หากินเก่ง มีช่องทางทำกิจการใหม่ๆ ขึ้นมา ในท่ามกลางความลำบากบางคนก็รวยขึ้น บางคนก็จนลง ปรับตัวได้ก็อยู่ได้ ปรับตัวไม่ได้ก็ลำบากหน่อย

หลวงพ่อเคยบอกพวกเราอยู่เสมอๆ ว่า ในโลกนี้ไม่ว่างจากปัญหาหรอก ปัญหาหนึ่งยังไม่ทันจบ แล้วปัญหาใหม่ก็มา อย่างนี้โควิดอยู่ในช่วงท้ายแล้ว มีปัญหาความไม่สงบในยุโรป ข้าวของแพง ข้าวของแพงมากๆ เดี๋ยวค่าแรงก็ต้องขึ้น เงินก็ยิ่งเฟ้อหนักเข้าไปอีก ก็ลำบาก แต่บ้านเราก็ยังดี มันมีระบบที่ไม่ก่อหนี้สาธารณะเยอะเกินไปจนประเทศรับไม่ไหว บางประเทศจะล้มละลาย ช่วงไม่กี่ปีนี้ 2 – 3 ปีนี้เคยหากินอยู่กับการท่องเที่ยว ไม่มีการท่องเที่ยว ก็กู้หนี้ยืมสินต่างประเทศมาเยอะแยะ อยากได้โน้นอยากได้นี้เกินฐานะก็จะล้มละลาย ก็ทางใครทางมันเลือกเส้นทางกันเอง พวกเราก็จะลำบาก หมดเรื่องโควิดก็มาเรื่องน้ำมันแพง เรื่องข้าวของก็แพงทุกอย่าง โลกมันไม่เคยสงบหรอก มีปัญหาทยอยเข้ามาเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ทะเลไม่เคยหมดคลื่นมีตลอดเวลา คลื่นเล็กหรือคลื่นใหญ่เท่านั้นเอง เราจะไปหวังว่าทะเลจะเรียบไม่มีคลื่น มันเป็นไปไม่ได้ เราจะหวังว่าโลกนี้จะสงบสุข ทุกคนดีต่อกัน เมตตาต่อกัน มันเป็นไปไม่ได้ คนซึ่งมันอยู่เบื้องหลังทางการเมือง บางประเทศมันมีอำนาจมาก บงการให้โลกปั่นป่วนอย่างไรก็ได้ พวกเราเป็นเบี้ยตัวเล็กตัวน้อยก็ลำบาก จะไปตัดพ้อต่อว่าใครก็ไม่ได้ มันเป็นกรรมที่เรามาเกิดในโลกมนุษย์นี้

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดีจะพบว่า โลกไม่เคยสงบหรอก มีเรื่องโน้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา เป็นอย่างนี้มาตลอด ฉะนั้นเราอย่าไปใฝ่ฝันเลย โลกอุดมคติ ทุกคนดีต่อกันไม่เบียดเบียนกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอาเปรียบกัน เราหวังไม่ได้หรอกในประวัติศาสตร์มันไม่เคยมี มีแต่วุ่นวายมีปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา เรื่องนี้ยังไม่จบเรื่องนั้นก็มา เป็นเรื่องปกติของโลก ความวุ่นวายบางทีมันก็เป็นธรรมชาติ อย่างมีเชื้อโรคมีอะไรขึ้นมา บางทีก็เกิดจากการกระทำของมนุษย์ คนซึ่งเห็นแก่ตัวไม่กี่คนสร้างปัญหาได้เยอะแยะ เราหนีจากโลกนี้ยังไม่ได้ก็ต้องอยู่กับมัน เราก็ตั้งใจไว้อย่างเดียว เราจะไม่เพิ่มความทุกข์ให้คนอื่น เราจะไม่เบียดเบียนคนอื่น เพราะไม่มีใครอยากได้รับความทุกข์ แต่ความไม่ฉลาดและความเห็นแก่ตัวของคนบางส่วน ความไม่ฉลาดของคนส่วนใหญ่ มันทำให้ตัวเองทุกข์ ไปหวังว่าจะไม่ทุกข์มันไม่ได้ เราตั้งใจไว้อย่างเดียว เราจะไม่เพิ่มทุกข์ให้คนอื่น พูดง่ายๆ เราจะไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น

 

ตั้งใจงดเว้นการเบียดเบียนคนอื่น

ชาวพุทธเรามีศีล 5 ศีล 5 จริงๆ ก็คือเรื่องของการไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนด้วยการกระทำทางร่างกาย แล้วเราก็งดเว้นการทำบาปอกุศล ทำผิดศีล ข้อแรกเลยปาณาติบาต เรางดเว้นการทำร้าย การทำร้ายคนอื่น ทำร้ายสัตว์อื่น ไม่ทำร้ายร่างกายเขา เราตั้งใจงดเว้น เราไม่ประทุษร้ายทรัพย์สินของเขา โลกที่วุ่นวายเพราะว่ามันมีคนที่มีอิทธิพล มันมุ่งแต่ความร่ำรวยของตัวเอง ก่อเรื่องก่อราวให้คนทั้งโลกเดือดร้อน มันทำได้นะ เขาทำไปเรื่องของเขา เราห้ามเขาไม่ได้แต่เราไม่ทำ เราไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น นี่มันก็คือศีลข้อ 2 “อทินนา ทานา เวรมณี” เราไม่เบียดเบียนครอบครัวของคนอื่น คนที่เขารัก นี่คือศีลข้อที่ 3 ไม่มีใครอยากถูกเบียดเบียนทางร่างกาย ทางทรัพย์สิน ในทางครอบครัว เราเองก็ไม่ชอบ ฉะนั้นเราก็ไม่ทำต่อผู้อื่น ส่วนผู้อื่นจะกระทำเราห้ามเขาไม่ได้

สัตว์โลกมันเป็นอย่างนั้นล่ะ มันมืดบอดมันเห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่รู้ถึงโทษภัยที่จะตามมาทีหลัง ฉะนั้นเราไม่ทำเท่านั้นล่ะ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายกรรม การกระทำทางกาย เบียดเบียนชีวิตร่างกายผู้อื่น สัตว์อื่น เบียดเบียนทรัพย์สินของเขา เบียดเบียนครอบครัวคนที่เขารัก เพราะเราก็ไม่ชอบสิ่งเหล่านั้น เมื่อเราไม่ชอบเราก็ไม่ทำให้คนอื่น เพราะคนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน ถ้าคนมาทำไม่ดีใส่เรา เราก็มีความทุกข์ ถ้าเราไปทำความไม่ดีเบียดเบียนคนอื่น คนอื่นเขาก็ทุกข์เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็ไม่อยากไปเพิ่มความทุกข์ให้คนอื่น คนแต่ละคนเขามีความทุกข์มากอยู่แล้ว เขาทุกข์เพราะความแก่ เพราะความเจ็บ เพราะความตาย เพราะความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เพราะการประสบกับสิ่งที่ไม่รัก เพราะความไม่สมปรารถนา คนอื่นเขาก็ทุกข์มากอยู่แล้ว เราก็ไม่เพิ่มทุกข์ให้เขา

การเบียดเบียนคนอื่นมีอีกอย่างหนึ่ง คือการเบียดเบียนด้วยวาจา เรางดเว้นเสีย การโกหกหลอกลวง ฉ้อฉลต่างๆ อย่าไปทำมัน คนโกหกได้ต่อไปก็ทำชั่วอย่างอื่นได้หน้าตาเฉย หลวงพ่อเคยเห็นคนหนึ่งเขาโกหกเก่ง ทุกคำพูดที่ออกมามันเชื่อถืออะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นเรื่องที่เขาจะดีจริง มันเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอก “คนพูดเท็จได้ มันก็ทำชั่วอย่างอื่นได้” นี้เราก็ห้ามคนอื่นพูดเท็จไม่ได้ เราก็อย่าพูด เราอย่าทำผิดเสียเอง คนอื่นทำผิดเราห้ามเขาไม่ได้ เราไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยคำพูด พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดส่อเสียดไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะ พูดส่อเสียดคือยุให้เขาตีกัน ยุให้เขาโกรธกัน พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ วาจาที่ไม่ดีเป็นมิจฉา เป็นมุสาวาทา ไม่ดี พูดเท็จอันนี้เราก็เข้าใจ พูดส่อเสียดเราก็เข้าใจง่าย ยุให้เขาทะเลาะกัน พูดคำหยาบตัวนี้เริ่มมีปัญหา ภาษาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยุคหนึ่งคำๆ นี้เป็นคำสุภาพ ผ่านไปอีกยุคหนึ่งคำนี้กลายเป็นคำหยาบไปแล้ว ยุคหนึ่งคำๆ นี้เป็นคำหยาบ ผ่านมาอีกยุคหนึ่งคำนี้เป็นคำธรรมดาไปแล้ว ไม่หยาบ อย่างสมัยหลวงพ่อยังเป็นนักเรียนนักศึกษาอยู่ คนพูดเพราะกว่ายุคนี้ ยุคนี้กระทั่งผู้หญิงพูดจาหยาบคายกว่าผู้ชายสมัยหลวงพ่อหนุ่มๆ สมัยหลวงพ่อวัยรุ่น แล้วพูดกันเดี๋ยวนี้พูดหยาบมาก แต่มันพูดหยาบกันจนชิน ฟังแล้วไม่หยาบเป็นคำธรรมดาไปแล้ว คำที่หยาบๆ ถึงจุดหนึ่งมันไม่หยาบอีกแล้ว ส่วนคำที่สุภาพถึงจุดหนึ่งกลายเป็นคำหยาบอีกแล้ว

เราก็ดูในแต่ละช่วงนั้น คำไหนที่เป็นคำหยาบฟังแล้วมันไม่ดี พูดแล้วใจของเราหยาบขึ้นนั่นล่ะคำหยาบ ถ้าคำพูดใดที่เราพูดแล้วใจเราหยาบกระด้างขึ้น อันนั้นคือคำหยาบ คำหยาบมันก็ออกมาจากใจหยาบๆ นั่นล่ะ อย่างจะพูดกู พูดมึง ถ้าใจมันไม่หยาบ คุยกับเพื่อนสนิทมันก็ปกติ ใจมันไม่ได้หยาบขึ้น แต่อย่างเราเจอพระเราก็ขึ้นมึงขึ้นกูกับพระ ใจมันต้องกระด้างพอมันถึงจะหยาบอย่างนั้นได้ ฉะนั้นพูดคำหยาบวัดกันที่ใจเรานี่ล่ะ ใจเราพูดแล้วมันหยาบขึ้นไหม เพราะว่าโดยภาษามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เอาแน่นอนไม่ได้หรอก คำสุภาพยุคหนึ่งก็กลายเป็นคำหยาบ หรือกลายเป็นคำพิลึกไป อย่างคำว่า ก้น ยุคหนึ่งต้องเลี่ยงคำนี้หยาบ ใช้คำว่า ที่นั่งทับ ฟังแล้วก็ไม่รู้ที่นั่งทับมันอะไร เก้าอี้หรือเปล่าที่นั่งทับ ยุคหนึ่งก็ไม่หยาบ ยุคหนึ่งก็หยาบ ประดิดประดอยถ้อยคำไป เลยวัดกันที่ใจเรา เราพูดด้วยใจที่หยาบกระด้าง หรือพูดด้วยใจที่เป็นปกติ อย่างบางคนท่านพูดหยาบ ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านพูดกูพูดมึง อย่างหลวงพ่อคูณพูดกูพูดมึงเป็นปกติของท่าน ท่านพูดแล้วใจท่านไม่ได้หยาบ ใจท่านก็ยังสงบ ใจท่านก็ยังเมตตาอยู่ อันนั้นไม่เรียกว่าท่านพูดหยาบ

พูดเพ้อเจ้อ อันนี้ล่ะยากที่สุด เป็นมุสาวาทอีกตัวหนึ่ง พูดเพ้อเจ้อ มุสาวาทมี 4 ตัว พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดเพ้อเจ้อก็คือ พูดโดยไม่จำเป็นต้องพูด คนฟังเขาก็เสียเวลาฟัง คนพูดก็เสียเวลาพูด มันทำลายเวลาไปเฉยๆ ไม่มีประโยชน์อะไร อันนี้ก็เป็นโทษเหมือนกันแต่โทษก็เบาหน่อย เราก็จะไม่ไปพูดเพ้อเจ้อ ชวนคนเขาพูดเพ้อเจ้อ อันนั้นก็ไม่ดีก็ละเว้นเสีย เป็นการทำให้เขาเสียหาย เสียเวลา มานั่งฟังเรื่องไม่เป็นสาระ อย่างหลวงพ่อไปเห็นในเฟซบุ๊ก วันนี้ไปกินข้าวกับอะไร พูดทำไมไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย คนฟังเขาก็ไม่ได้ประโยชน์ ตัวเองพูดแล้วกิเลสฟูว่ากูแน่มากเลย กูได้กินของแพงอะไรอย่างนี้ ของหายาก อย่างนี้ไม่มีประโยชน์ก็อย่าไปพูดมัน

เพราะฉะนั้นเราตั้งใจงดเว้นการเบียดเบียนคนอื่น ทางกาย 3 อย่าง ทางวาจา 4 อย่าง ทางกาย 3 อย่างคือเบียดเบียนชีวิตร่างกายเขา เบียดเบียนทรัพย์สินเขา เบียดเบียนครอบครัวคนที่เขารักเสีย ไม่เบียดเบียนทางกาย ไม่ใช้กายไปเบียดเบียน แล้วก็ไม่เบียดเบียนทางวาจา 4 อย่าง ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ถ้าดูให้ดีมันคือศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 นั่นล่ะ ศีลมันมี 5 ข้อ ข้อ 5 งดเว้นสุราเมรัย สมัยก่อนมันไม่มีอะไรมาก มันก็มีสุราเมรัย เดี๋ยวนี้สิ่งเสพติดสารเสพติดอะไรมีเยอะแยะไป หมดตามไม่ทันเลย มีชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

 

ไม่เบียดเบียนตนเอง

การที่เรางดเว้นสิ่งเสพติดทั้งหลาย เป็นการไม่เบียดเบียนตัวเองในเบื้องต้น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในเบื้องปลาย อย่างพวกติดยา ติดยาบ้า ยาอะไรต่ออะไร เบียดเบียนตัวเองก่อน สมองดีๆ ก็ไปกินยาให้สมองเสื่อม ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ควบคุมความประพฤติตัวเองไม่ได้ บางทีบ้าคลั่ง ในหมู่บ้านนี้ก็มีเมายาขึ้นมาก็ไล่ยิงคน ยิงคนในบ้านเสร็จแล้วก็วิ่งไปหน้าบ้าน ไปยิงคนนอกบ้านที่เขาไม่รู้เรื่องด้วย นี่มันเบียดเบียนตัวเองก่อน อย่างยาบ้าเห็นได้ง่ายๆ เลย พอเบียดเบียนตัวเองเสร็จแล้วก็ไปเบียดเบียนคนอื่น

การเบียดเบียนตัวเอง ที่บอกว่าห้ามเรื่องสุราเมรัย เรื่องสิ่งเสพติดทั้งหลายมันเบียดเบียนอะไรของตัวเอง มันเบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง เวลาเราติดสิ่งเสพติด มันจะรู้เลยว่าสติสมาธิอะไรพวกนี้มันเสื่อมลง การใช้เหตุผลเสื่อมลง สัมปชัญญะเป็นเรื่องการรู้เหตุรู้ผล สติก็เสียลงไป ถ้าเรากินเหล้าเราจะรู้สึก หลวงพ่อเคยกินเหล้าอยู่ 2 – 3 ครั้ง ตอนเป็นโยมนะไม่ใช่หลวงพ่อกิน ถ้าหลวงพ่อกินเหล้าต้องเรียกหลวงพ่อฉันเหล้า แต่ไม่ได้ฉันหรอก ตอนเป็นโยมเป็นนักศึกษาเข้าไปแรกๆ รุ่นพี่ก็จับให้กินเหล้า ชีวิตลูกผู้ชายต้องกินเหล้า ลูกผู้ชายงี่เง่าเลยต้องกินเหล้า โมเมกันเอง เรากินไปนะ หลวงพ่อทำสมาธิทำสติมาแต่เด็ก เรากินเหล้าเราก็ค่อยประคองสติของเราไว้ ไม่พูดฟุ้งซ่าน เรารักษาจิตของเราไว้ มันทำได้เพราะกินน้อยหรอก กินนิดเดียว ถ้ากินเยอะๆ คงรักษาไม่ไหว เราก็เห็นคนที่มันกินเยอะ นี้รุ่นพี่เองล่ะ กินแล้วกินอีกเพราะเป็นลูกผู้ชายเยอะ กินไปแล้วก็อ้อแอ้ๆ เอะอะโวยวาย ทำอะไรที่มันดูน่าเกลียดๆ ซึ่งมนุษย์ที่มียางอายเขาไม่ทำกัน อย่างเอะอะโวยวาย นั่งกินข้าวก็เอาช้อนเอาชามมาเคาะเล่น ร้องรำทำเพลง เราดูไม่ได้มีความรู้เนื้อรู้ตัวอะไรเสียอย่างเลย กินเหล้าเข้าไปมันเบียดเบียนสติของตัวเอง แล้วก็สมาธิมันมีไม่ได้หรอก ใจมันมืดมันมัวไปหมด สมาธิที่มันเกิดขึ้นมันจะเป็นมิจฉาไปหมดแล้ว ซึมๆ เซ่อๆ ไป ไม่รู้ ไม่ตื่นไม่เบิกบานอะไรได้หรอก ไปเห็นคนกินเหล้าเราจะรู้เลยว่ามันเป็นโทษ หลวงพ่อไม่กินหรอกนะ เลี่ยงตลอดเลย เลี่ยงไม่ได้อยู่ 2-3 ครั้งเท่านั้นล่ะ แต่ว่ากินแบบประคองรักษาสติ รักษาสมาธิ กินให้น้อยที่สุด

 

“สติสัมปชัญญะเป็นบาทเป็นฐาน
ที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาจิต ในขั้นของสมาธิและปัญญาต่อไป”

 

เป็นฆราวาสจะรักษาศีลให้สะอาดหมดจด 100 เปอร์เซ็นต์ ทำยากมาก ต้องใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้ความเข้มแข็งอดทนมาก หลวงพ่อเคยสูบบุหรี่ สูบบุหรี่ก็สิ่งเสพติดเหมือนกัน เลิกเหล้ายังง่ายกว่าเลิกบุหรี่ เพราะเราไม่รู้สึกว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษอะไร สูบไปเรื่อยๆ ใจมันอยากเลิก มันรู้สึกไม่ดีเราตกเป็นทาสของมัน แต่มันเลิกไม่ได้ มันติด ถึงเวลามันก็อยากสูบบุหรี่ ไม่ได้สูบบุหรี่แล้วก็หงุดหงิด นี่ล่ะสารเสพติด วันที่เลิกได้เพราะว่าจุดบุหรี่ไว้แล้วก็มีคนมาคุยด้วย เขามาคุยด้วยยาวเลย ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่เลย เอาบุหรี่วางบนที่เขี่ยบุหรี่ไว้มันเป็นแก้ว แล้วมันก็ไหม้ๆๆ ลามไปจนหมดเลย เราคุยเสร็จเราหันมาที่บุหรี่ โห เป็นคราบสกปรกเหลืองๆ เหนียวๆ เป็นยางเหนียว พอเห็นแล้วนี่หรือคือสิ่งที่เอามาใส่ในปอดตัวเอง สกปรก โสโครก น่าขยะแขยง พอเห็นอย่างนั้นใจไม่เอาเลย ใจมันเห็นทุกข์มันเห็นโทษ มันสลัดทิ้งได้ทันทีเลย ตั้งแต่นั้นไม่เอาเลย ฉะนั้นอย่าติดได้ดีที่สุด ไม่ต้องลองหรอก เดี๋ยวนี้ยังมีพัฒนา ยาไอซ์ ยาบ้า ยาอี ยามะเหงกอะไรไม่รู้เยอะแยะเลย แล้วตอนนี้ที่จะถูกกฎหมายก็มี เคยผิดกฎหมายจะถูกแล้ว กัญชา ว่าดีอย่างโน้นดีอย่างนี้

สมัยหลวงพ่อเด็กๆ มันมีคำด่ากันอยู่คำหนึ่ง ซึ่งคนยุคนี้ไม่ได้ยินแล้ว เขาเรียกไอ้บ้ากัญชา สูบกัญชาเข้าไปแล้วอารมณ์ดีหัวเราะเอิ๊กอ๊ากๆ แล้วก็หวาดผวาเห็นเชือกนึกว่างู กระโดดโหยงๆ เลย คนยุคโน้นเขาบอกไอ้บ้ากัญชา เขาเห็นว่าสูบแล้วบ้า เขาก็เลยไม่ให้สูบกัน ยุคนี้ให้สูบอีกแล้ว พวกเราก็อย่าเอาก็แล้วกัน ไม่จำเป็น ไม่สูบก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรตายเลย แต่ถ้าเอาไปทำยาไม่เป็นไร ทำยาไม่เป็นไร นี้มาสูบเล่นๆ ให้มันเมาแล้วอารมณ์ครึกครื้น ธรรมดาก็ไม่มีสติอยู่แล้ว ยังไปบ้ากัญชาอารมณ์ดีหัวเราะครึกครื้น ไม่มีเหตุมีผลอะไร หรือเป็นโรคหวาดผวา เลี่ยงได้เลี่ยงอย่าไปยุ่งกับมันเลย

สติเป็นของที่รักษายาก สมาธิก็รักษายาก พัฒนาขึ้นมาก็ยาก ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ปัญญาไม่เกิด เพราะฉะนั้นศีลข้อ 5 ให้งดเว้นสุราเมรัยทั้งหลาย เครื่องหมักดองรวมทั้งของมึนเมาทั้งหลาย คนแรกที่ได้ประโยชน์คือตัวเราเอง มันส่งเสริมสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะเป็นบาทเป็นฐาน ที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาจิต ในขั้นของสมาธิและปัญญาต่อไป

 

เมื่อรักษาศีลได้ดี การทำสมาธิจะไม่ใช่เรื่องยาก

ฉะนั้นศีลเป็นการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง มันจะทำให้สมาธิเกิดง่าย ทำไมถึงเกิดง่าย เพราะใจเราไม่แกว่ง ใจเราไม่ฟุ้งซ่าน อย่างเราคิดจะทำร้ายผู้อื่น คิดทำร้ายสัตว์อื่น ใจเราฟุ้งซ่าน คิดจะลักขโมยคนอื่นใจเราฟุ้งซ่าน คิดจะเป็นชู้กับเขา หลอกผู้หญิง ใจเราฟุ้งซ่าน เดี๋ยวนี้ผู้หญิงก็หลอกผู้ชาย ไม่ใช่ผู้ชายหลอกผู้หญิงอย่างเดียวหรอก ผู้หญิงหลอกผู้ชายเละเทะไปเยอะแล้ว กระทั่งพระยังถูกหลอกเลย ถูกหลอกจับสึกไป เอาเงินไปหมดแล้วมันก็ทิ้ง พระก็ซมซานกลับมาบวชอีกก็มี ฉะนั้นเรารักษาศีล ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตนเอง ด้วยการทำลายสติสัมปชัญญะของตัวเอง เราจะได้มีเวลา จิตใจเราจะสงบ พอจิตใจเราสงบ เราก็ทำสมาธิง่าย

มีโยมมาถามหลวงพ่อ โอ๊ย ภาวนา ทำไมสมาธิไม่เกิดเสียที พยายามนั่งสมาธิมานานแล้ว จิตก็มีแต่ฟุ้งซ่านตลอดเลย นานๆ ก็ผิดศีลทีหนึ่ง ทำไมมันฟุ้งอย่างนี้ ก็ลองรักษาศีลให้ดี สมาธิมันก็จะฝึกง่ายขึ้น ศีลไม่ดี สมาธิมีไม่ได้หรอก ถึงเคยมีสมาธิดีแล้วศีลไม่ดีสมาธิก็เสื่อม ในอดีตก็มีในสมัยพุทธกาล เทวทัตสมาธิดีไม่ใช่กระจอก แต่พอเสียศีล ไปหลอกอชาตศัตรูให้ฆ่าพ่อ สมาธิของเทวทัตก็เสื่อมลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็คือเละเทะเลย สติก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี ก็ไปอบายตกนรกไป ยุคนี้ก็มานับถือเทวทัตกันอีก ไม่รู้มันจะบ้ากันแค่ไหน นับถือชูชกกัน ชูชกคือเทวทัต บอกเขาขอเก่ง ขอเก่งมันจะวิเศษอะไร ให้เก่งสิมันถึงจะวิเศษ ขอเก่ง ขี้ขอ ไม่เห็นน่ายกย่องตรงไหนเลย เราชาวพุทธไม่ใช่พวกขี้ขอจะไปนับถือชูชกทำไม ถ้านับถือ นับถือพระเวสสันดร นี่นักให้ มีอะไรท่านก็ให้ คนที่ให้ก็มาบรรลุมรรคผล คนขี้ขอตกนรก เราก็จะไปยกย่องคนขี้ขออีก ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีกันเสียเลย หวังแต่ผลประโยชน์ เหลวไหล ชาวพุทธเราค่อนข้างเหลวไหล

ฉะนั้นรักษาศีลให้ดี การทำสมาธิมันจะไม่ใช่เรื่องยากเลย ง่ายๆ รู้สึกตัวขึ้นมา อยู่กับกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็สังเกตจิตใจตัวเองไป เช่น เราอยู่กับพุทโธๆ ใจเราทิ้งพุทโธไปคิดเรื่องอื่น เราคอยรู้ทันไว้ ทีแรกมันก็หลงไปคิดยาวถึงจะรู้ พอเราฝึกของเราทุกวันๆ ต่อไปพุทโธๆ พอพุทโธหายหนีไปคิดเรื่องอื่นปุ๊บสติเกิดเลย อ้าว หลงไปแล้วนี่ ใจก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว สมาธิคือการที่จิตใจมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึก รักษาศีลให้ดี ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตนเองไป บทเรียนในการสร้างสมาธิท่านเรียกว่า จิตตสิกขา ใครบอกว่าดูจิตผิดๆ แล้วบอกไปนั่งสมาธิ นั่งร้อยคนพันคนจะนั่งถูกสักคน บุญบารมีพอ ส่วนใหญ่ก็นั่งผิดไปเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไม่เอาจิต

ฉะนั้นเรานั่งสมาธิแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน ช่างมัน ฟุ้งซ่านเป็นเรื่องของจิต เราก็มาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธต่อ แล้วจิตมันก็ค่อยสงบเข้ามา พอมันไม่ฟุ้งซ่านมันก็สงบ มันก็แค่นั้นล่ะไม่เห็นจะยากอะไรเลย รู้ทันมันเข้าไปเรื่อยๆ หรือจะดูท้องพองยุบก็ได้ เคยถนัดพองยุบก็เล่นพองยุบนี่ล่ะ แต่ดูท้องพองยุบไม่ใช่เอาจิตเข้าไปแนบอยู่ที่ท้อง อันนั้นก็เป็นสมาธิแบบเพ่งจ้อง เป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเราดูท้องพองยุบแล้วจิตเราไหลลงไปที่ท้อง รู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาไม่ไหลลงไป หรือเราดูท้องพองยุบ แล้วจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน จิตมันก็ตั้งมั่นไม่หลงไป ตรงที่มันถลำลงไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค ตึงเกินไป ตรงที่เราทำกรรมฐานแล้วจิตมันหนีไปเลย อันนั้นเป็นกามสุขัลลิกานุโยค หย่อน เกินไป

เราเดินอยู่ในทางสายกลางไม่ตึงไม่หย่อน ก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตมันหนีไปก็รู้ จิตมันถลำลงไปเพ่งเราก็รู้ เราทำจิตตสิกขา เราเรียนรู้จิตของเราไปเรื่อยๆ มีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ไว้อันหนึ่ง ไม่นานหรอกจิตก็จะสงบ แต่ถ้าเรานั่งสมาธิแล้วหวังว่าเมื่อไรจะสงบๆ ไม่มีทางสงบหรอกเพราะใจมันโลภ ใจที่โลภใจมันก็ดิ้นไปดิ้นมา ไม่สงบหรอกใจที่ดิ้นไปดิ้นมา เราพยายามฝึกตัวเอง ทุกวันๆ ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก การเจริญปัญญาต้องทำ พอใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว

 

การเจริญปัญญาขั้นแรก

เราจะเจริญปัญญาเราจะทำอย่างไร ขั้นแรกสุดต้องแยกรูปแยกนามได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการเจริญปัญญา การแยกรูปแยกนาม ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยบอก อย่างหลวงตาท่านเคยพูด หลวงตามหาบัว ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็น ท่านใช้คำว่าแยกธาตุแยกขันธ์ จริงๆ คือแยกรูปนามนั่นล่ะ “ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็น อย่ามาคุยว่าเจริญปัญญา” ไม่ได้เจริญหรอก เพราะฉะนั้นการเจริญปัญญา เริ่มต้นจากการแยกธาตุแยกขันธ์ แยกรูปนาม พอจิตใจเราอยู่กับตัวแล้ว สติระลึกรู้ร่างกาย เช่นร่างกายกำลังหายใจสติระลึกลงไป มันจะเห็นว่าร่างกายที่หายใจอยู่เป็นของถูกรู้ จิตใจของเราเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่ จิตมันมีสมาธิมันจะตั้งมั่นไม่ถลำลงไปรู้

ถ้าเรารู้อิริยาบถ 4 เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตตั้งมั่นเป็นคนรู้ เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน อย่างนี้เรียกว่าเราแยกรูปนามได้แล้ว รูปมันเคลื่อนไหว นามก็คือตัวรู้ มันรู้การเคลื่อนไหว อย่างลองขยับมือสิ ลองขยับมือ ลองขยับ รู้สึกไหมร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตนั่นล่ะเป็นคนรู้สึก แค่นี้มันแยกรูปนามแล้ว ถ้าแยกละเอียดต่อไปก็เห็น จิตที่เป็นคนรู้สึกไม่ได้รู้สึกเพียวๆ แต่มันมีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์แทรกเข้ามาด้วย เกิดร่วมกับจิตด้วย มีกุศล อกุศล มีความปรุงแต่งเกิดร่วมกับจิตด้วย เราจะค่อยๆ แยกออก อย่างเรานั่งหายใจเข้าพุทออกโธ จิตถลำลงไปเรารู้ จิตหนีไปเรารู้ จิตก็ตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นมันเกิดปีติขึ้นมา เราก็จะเห็นว่าปีตินี้ อันนี้เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสังขาร ปีติผุดขึ้นมาเราก็เห็น ปีตินี้ยังเป็นของถูกรู้อยู่ นี่เราแยกละเอียดออกไป แยกปีติกับจิตออกจากกันได้แล้ว ก็คือแยกสังขารกับจิต

หรือนั่งไปๆ แล้วมันหงุดหงิดขึ้นมา ความหงุดหงิดเป็นโทสะก็เป็นสังขารอีกชนิดหนึ่ง แล้วก็เห็นความหงุดหงิดมันของถูกรู้ถูกดู จิตมันเป็นคนรู้คนดู เราก็แยกได้ดีขึ้น สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ทั้งหลาย กับจิตก็แยกออกจากกันอีก มันแยกไปแยกมามันถึงเป็นขันธ์ 5 มีรูปตัวหนึ่ง แล้วในนามธรรมมี 4 ตัว เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกสุขทุกข์มันถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตหรอก สัญญา ความหมายรู้ ความจำได้ ความหมายรู้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัสทางกาย จำเรื่องราวทางใจ นี่ตัวสัญญา หมายรู้ หมายรู้ถูกบ้าง หมายรู้ผิดบ้าง ส่วนใหญ่ก็หมายรู้ผิด หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง หมายรู้ของเป็นทุกข์ว่าสุข หมายรู้ของไม่ใช่เราว่าเรา หมายรู้ของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม สะอาดหมดจด นี่หมายรู้ผิด สัญญาถูกก็มี หมายรู้ถูกก็หมายรู้ไตรลักษณ์

เราค่อยดูไปแล้วจะเห็นว่า ความจำ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นของถูกรู้อีก จิตที่เป็นคนรู้มันอยู่ต่างหาก เราก็จะเห็นเลยสัญญาไม่ใช่ตัวเราของเราหรอก เป็นอีกสิ่งหนึ่งไม่ใช่จิต สังขารคือความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ หงุดหงิดอะไรพวกนี้ นี่เป็นสังขาร หรือมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่สังขารทั้งนั้น เป็นความปรุงของจิตขึ้นมาทั้งนั้น ปรุงศีลก็มี ปรุงทุศีลก็มี ปรุงสมาธิก็มี ปรุงฟุ้งซ่านก็มี ปรุงปัญญาก็มี ปรุงหลงผิดก็มี สิ่งเหล่านี้ก็ถูกปรุงแต่งทั้งหมดเลย เวลาเราหัดเราก็หัดดูสังขารตัวไหนเกิดบ่อย อย่างถ้าเราขี้โมโห เราก็เห็นเดี๋ยวจิตก็โมโห เดี๋ยวจิตก็ไม่โมโห ต่อไปก็เห็นโมโหนั้นไม่ใช่จิตหรอก มันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา แล้วจิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง เราแยกได้ ถ้าเราแยกรูปแยกนามได้ นี่การเจริญปัญญาขั้นแรกสุด

 

ตรงที่ขึ้นวิปัสสนานั้นเลยขั้นคิด ไปถึงขั้นเห็น

เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนพวกเราแต่เดิมว่าไม่เผลอ ไม่เพ่ง สอนแรกๆ เลยไม่เผลอ ไม่เพ่ง เพื่อให้มีสมาธิตั้งมั่น ถัดจากนั้นหลวงพ่อก็สอนให้แยกธาตุ แยกขันธ์ เห็นไหมร่างกายมันถูกรู้ ความรู้สึกสุข ทุกข์มันถูกรู้ กุศลอกุศลมันถูกรู้ หัดแยกมันไปเรื่อยๆ จิตมันเป็นคนรู้อยู่ พอแยกได้อย่างนี้จิตใจเราก็เริ่มมีปัญญามากขึ้นๆ ต่อไปเราก็จะเห็น สิ่งที่แยกออกไปนั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราสักอย่างเดียวเลย ทีแรกก็ยังคิดๆ เอาว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เช่น นั่งอยู่ เอ๊ะ มันไม่ใช่ตัวเรานั่นล่ะคิดเอา ตรงนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาแต่เป็นปัญญาขั้นต้นๆ ถัดจากการแยกรูปนามได้ ก็จะเริ่มเข้าใจเหตุเข้าใจผล รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายก็ล้วนแต่มีเหตุให้เกิดขึ้นมา มันเห็นด้วยการสังเกตเอา แล้วก็มันก็คิดเอา ทุกอย่างมันไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เป็นปัญญาที่ยังเจือการคิดอยู่ ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา แต่เป็นปัญญาแล้ว เป็นการเจริญปัญญาแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา

ตรงที่ขึ้นวิปัสสนามันเลยขั้นคิดไป มันไปถึงขั้นเห็น เรามีความคิดความเห็น ความคิดนั่นล่ะปิดบังความจริง ว่าความคิดไม่ใช่ความจริง แต่เราเห็นเอา เราเห็นอะไร เช่น เราเห็นความโกรธผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ความโลภผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย ความสงบผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ความฟุ้งซ่านผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ตรงนี้เราเห็น เราไม่ได้คิดว่า เอ๊ะ มันจะดับไม่ดับ มันต้องดับเพราะตำราบอกว่าดับ อันนั้นไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาเห็นจริงๆ เห็นความโกรธมันผุดขึ้นมาจากกลางอกเรานี้ มันผุดขึ้นมา พอเรารู้แล้วมันก็ดับไป ความโลภมันก็ผุดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไป เหมือนตาน้ำเดี๋ยวก็พุ่งๆๆ ขึ้นมาเรื่อย พุ่งมาแล้วก็แตกสลายๆ หรือเหมือนฟองน้ำ เปิดโซดาหรือเปิดน้ำอัดลม มีฟองขึ้นมาแล้วฟองก็แตก กิเลสหรือกุศลทั้งหลายก็ผุดขึ้นมาอย่างนี้แล้วก็แตกไปๆ ตรงที่เห็นมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไปนี่เห็นเอาไม่ได้คิดเอา อย่างเราเปิดน้ำอัดลมมีฟองผุดขึ้นมาแล้วก็แตก ผุดขึ้นมาแล้วก็แตก ต้องคิดไหมว่าแตกไม่แตก ไม่เห็นต้องคิดเลยเพราะมันเห็นเสียแล้ว ว่านี่ฟองมันเกิดขึ้นมาแก๊สมันดันขึ้นมา แล้วมันก็แตกหายไป เกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้เรียกว่าเราเห็นแล้ว วิปัสสนาอยู่ในขั้นเห็น เลยขั้นคิดไปแล้ว

ฉะนั้นเราจะเห็นความโลภเกิดขึ้นมาแล้วดับ ความโกรธเกิดขึ้นมาแล้วดับ ความสงบเกิดแล้วดับ ความฟุ้งซ่านเกิดแล้วดับ เฝ้ารู้เฝ้าดู กระทั่งความสุขความทุกข์ในใจเรา เกิดแล้วก็ดับ ต่อไปเฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย กระทั่งร่างกายก็มีเกิดดับ ร่างกายหายใจออกเกิดแล้วก็ดับ ร่างกายหายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับ ร่างกายยืนเกิดแล้วก็ดับ ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด ก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงตลอด เฝ้าดูให้เห็นไปเรื่อย เห็นๆ เราจะเห็นอะไร เราจะเห็นรูปนามทั้งหลายนั้นแสดงไตรลักษณ์ ร่างกายก็แสดงไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา มันไม่เที่ยง เดี๋ยวหายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า มันสุขหรือมันทุกข์ เฝ้ารู้ลงไป เดี๋ยวก็ทุกข์ให้ดูแล้ว มันก็บังคับไม่ได้ สั่งให้ดีตลอดก็ไม่ได้ สั่งให้สุขตลอดก็ไม่ได้ร่างกายนี้ จะเจ็บ จะป่วยขึ้นมาก็ห้ามไม่ได้อีก นามธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง

 

ปัญญาขั้นล้างความเห็นผิด

พอเราดูซ้ำๆๆ ดูอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจเรานี่เอง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว มันอยู่ที่ใจ ร่างกายเคลื่อนไหวใครเป็นคนรู้ ก็ใจเราเป็นคนรู้อีกล่ะ พอฝึกมากเข้าๆ ต่อไปมันก็จะสรุปขึ้นมาได้ จิตมันสรุปนะไม่ใช่เราสรุปว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” นี่เราจะเกิดปัญญารวบยอด เวลาเกิดอริยมรรคจะเกิดเป็นปัญญารวบยอด ไม่ใช่เกิดปัญญาว่า เอ้อ ความโลภเกิดแล้วดับ ความโกรธเกิดแล้วดับ ไม่ใช่อย่างนั้น ปัญญาในอริยมรรคเป็นองค์ความรู้รวบยอดเลย “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” ปัญญาระดับนี้ มันล้างความเห็นผิดไป จะเห็นว่าตัวเราไม่มีจริง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็คือ สัญญามันเข้ามาประกอบกับจิต สังขารมันก็ปรุงก็เลยรู้สึกว่ามีเราขึ้นมา ที่จริงแล้วขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่เห็นเอา ถ้าเห็นเอาแล้วสุดท้ายเราจะเห็นธรรมะระดับโลกุตตระ กระทั่งพระนิพพาน เราก็เห็นพระนิพพาน

ฉะนั้นนิพพานไม่ใช่ทำนิพพานให้เกิดขึ้น งานต่อพระนิพพานเรียกว่า สัจฉิกิริยา การเข้าไปเห็น การเข้าไปประจักษ์ การเข้าไปรู้แจ้ง ไปเห็นพระนิพพาน ไม่ใช่ทำพระนิพพานให้เกิด เฝ้ารู้เฝ้าดู ตามเส้นทางที่หลวงพ่อบอก ขั้นเริ่มต้นอย่าเบียดเบียนคนอื่น อย่าเบียดเบียนตัวเอง รักษาศีล 5 ไว้ ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง มีวิหารธรรม แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เช่น หายใจไปสงบก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ ไม่ห้ามมันหรอก แล้วจิตมันจะค่อยๆ สงบ โดยไม่ได้เจตนาจะสงบ จิตมันจะอยู่กับเนื้อกับตัว ตั้งมั่นโดยไม่ได้เจตนาให้ตั้งมั่น แล้วก็ไม่ต้องรักษา มันไม่ยอมหลงโดยที่ไม่ต้องรักษา ค่อยฝึกไปเถอะแล้วพอถึงจุดหนึ่ง มันก็เป็นอย่างที่ว่านี้ ตอนนี้ถ้าไม่รักษามันก็หลง ก็ต้องพยายามฝึกตัวเองก่อน ฝึกจนกระทั่งมันหลงไม่เป็น พอจิตมันจะขยับไหวตัวนิดหนึ่ง มันก็เห็นแล้ว มันจะหลงได้อย่างไร มันไม่หลง

ค่อยๆ ฝึก สุดท้ายเรามีสติรู้ทันรูป รู้ทันนามที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มีสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ ปัญญามันจะเกิด ฉะนั้นในองค์มรรค เห็นไหมจบลงท้ายองค์มรรคที่ 7 ที่ 8 ก็คือสติกับสมาธิ มีสติกับสมาธิแล้วปัญญาจะเกิด ค่อยๆ ฝึก พอปัญญาเกิด ปัญญาเราแก่รอบถึงขั้นโลกุตตระ โลกุตตรปัญญา ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา โลกียปัญญามันยังมีคน มีสัตว์ มีเรา มีเขาอยู่ อย่างมีเรา แหม วันนี้เราฉลาด วันนี้เราโง่ วันนี้เราดี วันนี้เราเลวอะไรอย่างนี้ มันมีเราอยู่ ในขั้นโลกุตตรปัญญามีแต่สภาวะล้วนๆ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีคน ไม่มีสัตว์อะไรทั้งสิ้นหรอก เป็นแต่สภาวธรรม

 

ค่อยๆ นะ เริ่มต้นก็ถือศีล 5 แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งจิตตั้งมั่น ด้วยการมีวิหารธรรมแล้วรู้ทันจิตไป ถัดจากนั้นเวลาสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปของนาม จิตตั้งมั่นเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่ มีสมาธิมันก็จะเห็นความจริงของรูปนาม ว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้าดูเฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งแล้วมรรคผลมันเกิดเองล่ะ ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ เกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว

หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ฉะนั้นจุดตั้งต้นทำให้ได้ก่อน ศีล 5 ไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจาของเรา ไม่เบียดเบียนตัวเองด้วยการทำลายสติสัมปชัญญะของตัวเอง ทำลายสติไปแล้ว สัมปชัญญะความรู้เหตุรู้ผลอะไรไม่มี ฉะนั้นรักษาตัวเองให้ดีให้ได้ศีล 5 ไว้ก่อน ศีล 5 ไม่ได้อย่างอื่นก็ล้มเหลวหมด.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 เมษายน 2565