ชาวพุทธที่แท้จริง ต้องดูจากของจริง

ในเมืองไทยทีมงานสาธารณสุขและรัฐบาล จัดการได้ดีนะ ไม่มีการติดเชื้อในประเทศมา 2 เดือนกว่าแล้ว แต่ต่างประเทศนี่หนักหนาสาหัส รอบๆ บ้านเรานี่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ยังหนักอยู่ เราก็ต้องระมัดระวัง ฝึกตัวเองให้มันเคยชิน

ตัวที่จะช่วยเราได้มากก็เรื่องสติ พอขาดสติแล้วก็ ล้วงแคะแกะเกาอะไรไปเรื่อยๆ มีสติไว้ปลอดภัย พูดถึงสตินี่สำคัญมาก พระพุทธเจ้าท่านบอก สติกับสัมปชัญญะเป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก สงเคราะห์เรา ช่วยเหลือเราได้มาก

สัมปชัญญะเป็นตัวปัญญาเบื้องต้นที่จะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะทำอะไร ตอนนี้เราควรจะทำอะไร อะไรเหมาะกับเรา เรารู้แล้ว เราก็ไม่หลงไม่เผลอ อย่างเรารู้ว่าสิ่งที่เราควรปฏิบัติ ด้วยปัญญาอันยิ่งเพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานพ้นทุกข์ คือสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน เรารู้ว่า 2 อันนี้มีสาระแก่นสารมีประโยชน์มาก และเราก็ฉลาดมากกว่านั้นอีก อย่างสมถะที่ว่าดีมีประโยชน์นี่ เราเหมาะกับกรรมฐานแบบไหนในเวลาจะทำสมถะ ถ้าเรารู้ได้ก็เรียกว่าเราฉลาด มีสัมปชัญญะ มีปัญญา เวลาเราจะทำวิปัสสนานี่เราควรจะใช้กรรมฐานอะไร นี่จะต้องรู้ สังเกตตัวเองเอา

สมัยที่หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เข้าไปกราบท่านบอกหลวงปู่ครับผมอยากปฏิบัติ หลวงปู่ดูลย์ไม่พูดอะไร ท่านนั่งหลับตาเงียบๆ เกือบชั่วโมง ลืมตามาแล้วท่านก็สอน ท่านสอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน สอนหลวงพ่อให้ดูจิตเอาเลย อันนี้ท่านมีความสามารถพิเศษและท่านมีเวลา อย่างคนๆ หนึ่งท่านดูร่วมชั่วโมง แล้วก็จะบอกเราว่าให้ทำกรรมฐานอย่างนี้อย่างนี้ ถ้าเราทำตามที่ท่านบอก เราเจริญอย่างรวดเร็ว เราดื้อไปทำอย่างอื่น ทำอย่างไรก็ไม่ได้ผล ครูบาอาจารย์อย่างนี้หลวงพ่อเห็นมีแต่หลวงปู่ดูลย์ องค์อื่นท่านก็เคยสอนอย่างไรเคยภาวนามาอย่างไรท่านก็สอนอย่างนั้นส่วนใหญ่

เราไม่มีครูบาอาจารย์จะมานั่งเฝ้าให้เรา อย่างหลวงพ่อ มาเฝ้าพวกเราไม่ไหว มาเรียนทีหนึ่งเป็นร้อยๆ เอาเวลาที่ไหนไปนั่งดูให้ทีละคน หลวงพ่อเลยพยายามมาสอนหลักของการปฏิบัติให้เรา อย่างการเลือกอารมณ์ของสมถกรรมฐาน เราต้องดูว่าสติเราระลึกรู้อารมณ์ชนิดไหน แล้วจิตใจมีความสุข เราก็จะใช้อารมณ์อย่างนั้น เราดูตัวเอง

 

อยู่กับอารมณ์กรรมฐานชนิดไหนแล้วจิตใจมีความสุข เลือกอันนั้น

สมถกรรมฐานนี่อารมณ์มันสารพัดจะใช้ได้ อารมณ์บัญญัติ อย่างพวกคำบริกรรมทั้งหลาย หรือการคิดพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อันนี้เป็นอารมณ์บัญญัติ เป็นเรื่องที่คิด พุทธานุสติ ธรรมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ พิจารณาความตาย เป็นเรื่องความคิด สีลานุสติ ก็ความคิด คิดเรื่องศีลที่เรารักษาด้วยดี อย่างเรารักษาศีลได้ดีตลอดพรรษาอย่างนี้ เราไม่กินเหล้าตลอดพรรษา พอออกพรรษาเราคิดเรื่องเราไม่กินเหล้า เรามีความสุขมันอิ่มอกอิ่มใจ สมาธิมันจะเกิด

เราดูตัวเองไป อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อารมณ์ปรมัตถ์คือดูรูปดูนามก็ได้ อย่างเราดูจิตของเรา นี่จะเป็นสมถะก็ได้ ดูกายเป็นสมถะก็ได้ หรือจะใช้อารมณ์นิพพานก็ใช้ทำสมถะได้ สำหรับท่านที่เคยเห็นพระนิพพานมาแล้ว ปุถุชนทำไม่ได้ ฉะนั้นอย่างพวกเราก็ตัดนิพพานออกไป เรายังเป็นปุถุชนกันอยู่ อารมณ์ที่เราใช้ทำสมถะก็มีอารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่คิด แล้วก็รูปธรรมนามธรรม ใช้ทำสมถะได้ อย่างเราดูท้องพองดูท้องยุบอะไรอย่างนี้ หรือเรารู้ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นตัวรูป ก็ทำความสงบเข้ามาได้ หรือดูสุขดูทุกข์ ดูดีดูชั่ว ดูจิต ก็เป็นสมถะ ทำสมถะได้ เราต้องมีปัญญา สังเกตตัวเองว่าเราอยู่กับอารมณ์อันไหน แล้วมีความสุข

อย่างหลวงพ่อไม่ใช่คนเก่งหรอก แต่คงจะมีบุญ ตอนเด็กๆ ก็ไปหาครูบาอาจารย์องค์แรกคือท่านพ่อลี กรรมฐานที่ได้มาจากท่านพ่อลีคือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วมันเป็นกรรมฐานที่หลวงพ่อทำแล้วมีความสุข สอดคล้องกับจริตนิสัย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำแล้วมีความสุข ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ ตอนนอนก็ยังหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไปเรื่อยๆ บางทีไม่นอนเอาเลยยันเช้า ใจมันสว่างสบาย แล้วค่อยมาง่วงตอนบ่ายๆ

เราดูตัวเอง พวกเราได้ยินว่าหลวงพ่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เราจะมาทำอย่างหลวงพ่อ บางคนทำแล้วอึดอัด ไม่สบาย อึดอัด หงุดหงิด อันนี้อย่าทำ ไม่เหมาะกับเรา เราไปเลือกดู เราจะอยู่กับอารมณ์กรรมฐานชนิดไหน แล้วจิตใจมีความสุข เราก็เลือกอารมณ์กรรมฐานอันนั้น ไปสำรวจตัวเอง ไม่มีใครมาดูให้เราแล้วในยุคนี้ มีก็หลอกๆ เรานะ พวกหลอกๆ มันเยอะต้องระมัดระวังไว้

เมื่อวานก็มี เขามาเล่าให้ฟังว่ามีคนคนหนึ่ง ชอบนั่งสมาธิแต่มันเป็นมิจฉาสมาธิ แล้วพอรู้พอเห็นอะไรขึ้นมา ก็เที่ยวทักจิตของคนอื่น ผิดบ้างถูกบ้างอะไรมั่วๆ ไปเรื่อยๆ เจตนาเพื่อให้เขาเลื่อมใส จะได้รับผลประโยชน์ มีเจตนาเป็นมิจฉาทิฏฐิ เจตนาชั่ว ไม่ถูก ทีแรกก็มาอยู่มาป้วนเปี้ยนๆ อยู่แถวนี้ หลวงพ่อไล่ ไม่ให้มาสอนไม่ให้มาทักใครในวัดนี้ เพราะมันมั่ว แล้วก็มันทำให้คนติด พระพุทธเจ้าสอนให้เราพึ่งตัวเอง เราจะต้องคอยมาพึ่งคนที่บอกว่าจิตเราตอนนี้เป็นอย่างไร สติไม่เกิด สติของเราจะไม่เกิดเลย สติจะเกิดได้ต่อเมื่อจิตเราจำสภาวะได้ด้วยตัวของเราเอง

อย่างเราเป็นคนขี้โมโหเราดูจิตที่โมโหไปเรื่อยๆ ต่อไปพอโมโหปุ๊บสติจะเกิดเองเลย ต้องฝึกเอาเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอก อย่างนี้มาหลอก หลอกให้เขาเลื่อมใส แสวงประโยชน์ไป ได้ผลประโยชน์ ได้อาหาร ได้เงินได้อะไร กินเข้าไปแล้วเหมือนกินถ่านไฟแดงๆ กินเหล็กเผาไฟทุกวันทุกวัน กินของสกปรกเข้าไป ตอนนี้เวลาจะตายทุรนทุราย คุ้มคลั่ง ใครๆ ก็ช่วยไม่ไหวอะไรอย่างนี้

เราพยายามฝึกตัวเราเอง อย่าหลอกตัวเอง อย่าหลอกคนอื่น ดูตัวเองไป อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อทำอานาปานสติ พวกเราไม่จำเป็นต้องทำอานาปานสติอย่างหลวงพ่อ สังเกตตัวเอง อย่างบางคนรักพระพุทธเจ้ามาก คิดถึงพระพุทธเจ้าเรื่อยๆ คิดถึงความดีของท่านเรื่อยๆ แล้วมีความสุข อันนี้ก็ใช้ทำสมถะได้ หรือเราคิดถึงคนซึ่งดีๆ อย่างเราคิดถึงในหลวงองค์ก่อน องค์ก่อนท่านดีมานานหลายสิบปี 70 สิบปีครองราชย์ ทำประโยชน์เยอะ เรานึกถึงความดีของท่านเรื่อย ท่านช่วยพัฒนาชนบท ช่วยคนยากคนจน ช่วยหาแหล่งน้ำเอาไว้เลี้ยงประชาชนอะไรอย่างนี้ นึกถึงความดีของท่าน เรามีความสุข ใจเราก็ได้สมาธิ หรือเรานึกถึงหลวงพ่อคูณ จำหลวงพ่อคูณได้ไหม ท่านชอบนั่งยองๆ ใช่ไหม พูดกูพูดมึงอะไรอย่างนี้ เห็นท่านแล้วเราอารมณ์ดีมีความสุข เรานึกถึงท่านใจเรามีความสุข มันก็ได้สมาธิขึ้นมา

สมาธิชนิดที่หนึ่ง เกิดจากการใช้อารมณ์ที่มีความสุข ก็คือสมาธิชนิดที่จิตสงบ เพราะฉะนั้นเราไปดูตัวเองว่าเราอยู่กับอารมณ์อันไหนแล้วมีความสุข หลวงพ่อเมื่อก่อนนี้ ใครเชิญไปงานต่างๆ นี่บางงานก็ไปด้วยความจำใจ บางงานไปด้วยความเต็มใจ งานที่ไปด้วยความจำใจคืองานแต่งงาน เพื่อนจะแต่ง ญาติของเพื่อนจะแต่ง หรือญาติเราจะแต่งอะไรอย่างนี้ เชิญไปร่วมงาน โอ๊ย เราเซ็งมากเลย มันหลง ไปอยู่ท่ามกลางความหลง ไม่ได้อยากไปเลย ไปแล้วไม่มีความสุข แต่ถ้าไปงานศพจิตใจจะเบิกบาน ไม่ได้เป็นโรคจิตเห็นคนตายแล้วมีความสุข แต่ว่าเวลาไปงานศพใจมันเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น เวลาไปงานศพนี่จิตใจมันไม่ฟุ้งซ่าน มันพิจารณาไปเดี๋ยวคนนี้ก็ตาย ต่อไปเราก็ตายเหมือนเขาอะไรอย่างนี้ พิจารณาใจเราก็มีความสุขมีความสงบ อย่างนี้เรียกว่ามรณานุสติ ตามระลึกรู้ความตาย ไปเลือกเอา ไปดูของตัวเองเอา แต่ว่าบางคนบอกว่าได้ด่าคนอื่นแล้วมีความสุข อันนี้ไม่เอา อันนี้เป็นความสุขที่เจือโทษ ไม่ดี

เลือกเอากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ในเรื่องของสมถกรรมฐาน 40 ข้อ ไปถามพระอาจารย์ Google ดู กรรมฐาน 40 พระอาจารย์จะตอบให้ เราไปลองดูอันไหนเหมาะกับเรา อันไหนเราทำแล้วจิตใจมีความสุข พอมีความสุขปุ๊บ สมาธิมันจะเกิดเลย อย่างเมื่อก่อนมีผู้หญิงคนหนึ่งเขาจะมาส่งการบ้าน แต่เดิมเขาได้ยินหลวงพ่อพูดเรื่องหายใจเข้าพุทออกโธ เขาก็พยามพุทโธบ้าง เขาไม่มีความสุขเลย พุทโธไม่มีความสุข สวดมนต์ก็ไม่มีความสุข เขาไปได้ยินบทสวดสรรเสริญเจ้าแม่กวนอิมภาษาจีน นัมโมไต่ชื้อไต่ปุย กิวโข่วกิวหลั่ง บอกแหมใจมันชอบ ก็มาถามหลวงพ่อว่าใช้บทนี้ได้ไหม บริกรรมด้วยบทนี้ได้ไหม หลวงพ่อบอกว่าได้ ใจมันชอบ เวลาใจมันมีความสุข อยู่ในอารมณ์ชนิดไหนแล้วมันจะไม่หนีร่อนเร่ไปที่อื่น มันจะสงบสุขจะได้สมถะ

เพราะฉะนั้นเราต้องมีปัญญานะมีสัมปชัญญะรู้ว่า เราควรใช้สมถะอะไร แล้วเรา ก็ใช้เมื่อยามจำเป็น สมควรทำสมถะตอนไหน เราก็ทำตอนนั้น วิปัสสนาก็เหมือนกัน เราก็มาดู เราถนัดรู้อะไร ถนัดรู้กาย หรือถนัดรู้เวทนา หรือถนัดรู้จิตอะไรอย่างนี้ เลือกเอาสังเกตเอา ทำอันไหนแล้วสติเกิดคล่องแคล่วว่องไว จิตใจตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดู สติคล่องแคล่ว สภาวะนั้นเกิดเห็นปั๊บเลย ดูเอาเอง

อย่างหลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านหลับตาอยู่เกือบชั่วโมงแล้วท่านก็สอนหลวงพ่อ ท่านไม่สอนสมถะ เพราะหลวงพ่อได้สมถะมาตั้งแต่เด็กแล้ว ท่านพ่อลีสอนให้ ท่านสอนให้หลวงพ่อดูจิตไปเลย เพราะฉะนั้นกรรมฐานที่ท่านสอนหลวงพ่อคือการดูจิต แต่ไม่ใช่พวกเราทุกคนต้องดูจิตอย่างหลวงพ่อ จุดสำคัญต้องดูตัวเองว่าเรารู้อะไรเราเห็นไตรลักษณ์ได้ง่าย อย่างรู้กายแล้วเห็นไตรลักษณ์ง่ายเราก็ใช้กาย รู้เวทนา แล้วเห็นไตรลักษณ์ง่ายเราก็รู้เวทนา รู้จิตที่เป็นกุศลอกุศลแล้วเราเห็นไตรลักษณ์ได้ง่าย เราก็เอาการดูจิตที่เป็นกุศลอกุศลนั่นล่ะ สำรวจตัวเอง ค่อยๆ สังเกตไป

 

ดูจิตไม่ได้ก็ไม่ต้องไปดูจิต ดูกายไป

อย่างบางคนดูจิตไม่ได้ ดูจิตไม่ได้ก็ไม่ต้องไปดูมัน ดูกายไป เห็นร่างกายมันยืนเดินนั่งนอน จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายหายใจจิตเป็นคนดู เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนดู ดูไปดูไปเราก็จะเห็นร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเลย เดี๋ยวก็หายใจเข้าเดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็ยืนเดี๋ยวก็เดินเดี๋ยวก็นั่งเดี๋ยวก็นอน เดี๋ยวก็ขยับมือขยับเท้าส่ายหน้า กระพริบตา อ้าปาก กะยุกกะยิกๆ ไป นี่เรามีสติ

รู้ความเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตกับกายเป็นคนละอันกัน ร่างกายเคลื่อนไหวจิตเป็นคนดู อย่างนี้เรียกว่าเราทำวิปัสสนาแล้ว ทำแล้วเราเห็น เออ ร่างกายมันไม่เที่ยง ทำไมมันไม่เที่ยง ร่างกายมันทำไมต้องเคลื่อนไหว เพราะร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จริงหรือไม่จริง ไม่ต้องถามหลวงพ่อ

ไปดูด้วยตัวเองว่าร่างกายเราถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จริงหรือไม่จริง ลองหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกสิ ทุกข์หรือสุข หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าทุกข์หรือสุข นั่งเฉยๆ ไม่กระดุกกระดิกเลยทั้งวัน ทุกข์หรือสุข ไปซื้อเก้าอี้ตัวละแสนมานั่งกะว่ามีความสุข ไม่นานก็ต้องกระดุกกระดิกแล้ว เพราะร่างกายมันทุกข์ เราต้องขยับตัวเพื่อหนีความทุกข์ นี่ค่อยๆ รู้ลงมาในร่างกาย จะเห็นความจริงของร่างกาย ร่างกายเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เคลื่อนไหวไปตลอดเวลาเลย ทำไมมันต้องเคลื่อนไหว เพราะมันทุกข์ มันทุกข์ ความทุกข์มันบีบคั้นร่างกายนี้อยู่ตลอดเวลา

หรือบางคนดูร่างกายแล้วก็เห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นวัตถุธาตุ เป็นสมบัติของโลก วันหนึ่งเราก็ต้องคืนโลกไป อย่างเวลาหลวงพ่อไปงานศพบางที เราก็เห็นมีปัญญาทะลุลงมาในร่างกายตัวเอง อีกหน่อยก็เหมือนคนที่นอนอยู่ในโลง ร่างกายนี้ก็ต้องคืนให้โลก เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่สมบัติของเรา ตรงนี้เรียกว่าเราเห็นอนัตตา นี่เราสำรวจตัวเองว่าถ้าเราดูกายแล้วเห็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา เราก็ดูกาย ดูแล้วเห็นไตรลักษณ์ได้ก็เอา

 

ดูเวทนาทางกายกับเวทนาทางใจ

บางคนดูกายไม่ได้ ชอบดูเวทนา เวทนามี 2 ส่วน คือเวทนาทางกายกับเวทนาทางใจ เวทนาทางกายนี้จะทำได้ถ้าเราทรงสมาธิ ทรงสมาธิได้อย่างดี ยิ่งทรงฌานได้นี่ ออกจากฌานมาแล้ว มาดูเวทนาในร่างกายแล้วมันจะดูได้ดี อย่างพวกเราเข้าฌานไม่เป็น เราจะไปดูเวทนาของร่างกาย มันทนไม่ค่อยไหว มันทนความเจ็บปวดไม่ไหว

อย่างสมัยก่อนครูบาอาจารย์ท่านเล่า ท่านเวลาจะนั่งสมาธิท่านตั้งใจจะนั่งสมาธิที่แคร่ตัวนี้ อยู่ที่แคร่ ถ้าท่านตั้งใจจะนั่งสมาธิที่แคร่นี้โตรุ่ง ขึ้นไปนั่งปรากฏว่าแคร่นั้นมันเป็นแคร่ไม้ไผ่ นั่งกดลงไปแล้วมันแยกตัวออกไป เสร็จแล้วมันหนีบก้นท่าน หนีบก้นเจ็บ แต่ท่านตั้งสัจจะไว้แล้วท่านจะนั่งโต้รุ่ง ท่านก็นั่งจริงๆ เจ็บอย่างไรก็ทน นั่งโต้รุ่งทรมานมากเลย ทำไมท่านทนไหว จิตท่านทรงสมาธิ ช่วงไหนที่เจ็บทรมานมากๆ จิตมันจะทำสมาธิของมันเอง มันก็ไม่เจ็บ จิตมีกำลังของสมาธิคุ้มครองร่างกายอยู่ จิตถอยออกมานะท่านก็ดูร่างกายนี้ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ นี่ท่านภาวนาอย่างนี้

หรือบางองค์ท่านชอบนั่งขัดสมาธิเพชร นั่งขัดสมาธิเพชรไขว้อย่างนี้ ปวด นั่งแล้วปวดมากๆ เลย หลวงปู่สิมท่านชอบให้นั่งขัดเพชร ท่านเรียกนั่งขัดเพชร เวลาไปนั่งฟังเทศน์ท่านเราจะรู้สไตล์ท่าน หลวงพ่อก็จะนั่งขัดเพชร ท่านเทศน์ชั่วโมงหนึ่งเราก็นั่งชั่วโมงหนึ่ง แทบเป็นแทบตายก็ทนเอา เราอดทนเพราะตั้งใจแล้วต้องทำให้ได้ ตั้งใจแล้วต้องทำให้ได้ ไม่ถอย

มีครั้งหนึ่งเคยพาเพื่อนๆ กัน เรียกว่าเพื่อนไปอย่างนั้นล่ะ ความจริงแก่กว่าหลวงพ่อทั้งนั้น เป็นเพื่อนร่วมรุ่นสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง หลวงพ่อเด็กเกือบที่สุดในรุ่น มีเด็กกว่าหลวงพ่อมีคนเดียว นอกนั้นแก่ๆ ทั้งนั้นเลย ใกล้เกษียณ ไปเชียงใหม่ก็พากันขึ้นไป หลวงพ่อก็ชวนขึ้นไปถ้ำผาปล่อง ไปถึงก็หลวงพ่อเดินเร็ว ก็ขึ้นๆๆ ไปถึงถ้ำก่อน ตอนนั้นถ้ำทำลูกกรงปิดแล้ว เหมือนประตูตึกแถว เป็นลูกกรงมองทะลุเข้าไปได้ เห็นมีกลดกางอยู่หลังหนึ่ง ในที่ที่หลวงปู่สิมท่านนั่งประจำ เราก็สงสัยเอ๊ะหลวงปู่อยู่ที่ไหนนี่ มีพระเดินผ่านมา ถามว่าหลวงปู่อยู่ไหม บอกอยู่ อยู่ที่ไหนครับ อยู่ในกลด เราก็ฟังแล้วงงว่าหลวงปู่อยู่ในกลดเหรอ หลวงพ่อเป็นคนหูไวตาไว หลวงปู่อยู่ในกลด ทำไมเราไม่เห็น

พอทีมทั้งทีมแก่ๆ เขาตามขึ้นมาทัน ท่านก็ออกจากกลดมา อยู่ในนั้นจริงๆ แต่เรามองอย่างไรก็ไม่เห็น มองด้วยตาเนื้อก็ไม่เห็น มองด้วยมโนภาพอะไรก็ไม่เห็น มองไปไม่ถึง ท่านออกมาท่านก็ล้วงกุญแจออกมา ยิ้มหวานออกมาเลย บอกหลวงพ่อว่า นี่ขึ้นเขามาเหนื่อยๆ หลวงปู่ก็เลยให้นั่งพักก่อนให้หายเหนื่อย ทีมที่ตามมาทีหลังยังเหนื่อยอยู่ท่านไม่สนใจแล้ว เสร็จแล้วท่านก็เทศน์ให้ฟัง

ท่านบอกให้นั่งขัดเพชร ทุกคนนั่ง ท่านเทศน์ไป 5 นาทีก็เริ่มมีคนถอยออกไป สุดท้ายเหลือหลวงพ่อกับพี่อีกคนหนึ่ง พี่คนนี้แกแก่วัด นั่งได้ 2 คน ท่านเทศน์ๆๆ ไป เสร็จแล้วท่านบอกเอาแล้ว พอแล้ว สมาธิแตกกันหมดแล้ว เสร็จแล้วท่านก็ถาม นั่งขัดเพชรเป็นอย่างไรบ้าง พี่แกก็ตอบ “ปวดครับ ปวดขาครับ” หลวงปู่ถาม “ขามันบอกว่าปวดเหรอ” นี่ท่านสอนแล้ว ขามันไม่ใช่ตัวเราหรอก ขามันไม่เคยบ่นเลย คนที่บ่นไม่ใช่ขา คนที่บ่นคือจิต แทนที่ท่านจะบอกตรงๆ ท่านถามกลับมาประโยคเดียวว่า ขามันบอกว่าปวดเหรอ พอหลวงพ่อฟังปุ๊บ เราหายปวดเลย จิตใจเบิกบาน พี่เค้าก็บอก “ปวดจริงๆ ครับ ผมไม่หลอกหลวงปู่หรอกครับ” แกไม่เข้าใจ แกยังปวดอยู่ เพราะฉะนั้นอย่างถ้าเราตั้งสัจจะแล้ว ว่าตราบใดที่หลวงปู่ยังเทศน์อยู่เราจะนั่งขัดเพชร ถ้าท่านเกิดเทศน์โต้รุ่ง เราก็ต้องนั่งโต้รุ่ง เพราะฉะนั้นเวลาตั้งสัจจะอย่าตั้งส่งเดช ตั้งในขอบเขตที่เราทำได้

เราต้องเลือก กรรมฐานเราจะใช้อันไหนอะไรอย่างนี้ ดูตัวเอง ดูเวทนานี่ถ้าจิตไม่ทรงสมาธิจริงๆ ดูเวทนาทางกายไม่ได้หรอก อย่างมันมีคนต่างชาติท่านโกเอ็นก้าเขาสอนอานาปานสติก่อน ก่อนที่จะมาดูเวทนาของกาย เขาสอนอานาปานสติก่อน ถ้าทำอานาปานสติไม่ได้ เสร่อไปดูกายไม่ไหวหรอก เดี๋ยวก็สติแตก ทนไม่ไหว ก็ได้แต่ทนเอาๆ มันไม่ได้ปัญญา สิ่งที่ได้คือขันติ ไม่ใช่ได้ปัญญามันคนละเรื่องกัน แต่ถ้าจิตทรงสมาธิจริงๆ มันจะได้ปัญญา เงื่อนไขมันต่างกัน

ทีนี้ถ้าเราดูเวทนาทางกายดูไม่ไหว หลวงพ่อแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ เวทนาทางใจไม่ต้องเข้าฌานนะ อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ เราก็แค่รู้ไป อย่างตอนนี้มีความสุขรู้ว่ามีความสุข ตอนนี้มีความทุกข์รู้ว่ามีความทุกข์ ตอนนี้มันเฉยๆ รู้ว่ามันเฉยๆ แค่นี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไปแล้วก็จะเห็นเลย ความสุขเกิดขึ้น เราไม่ได้เจตนาให้เกิดเลย อยู่ๆ มันก็เกิดได้เอง แล้วมันอยู่ เราอยากให้มันอยู่นานๆ มันก็อยู่ไม่ได้ มันก็ดับเอง เราควบคุมไม่ได้ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนัตตา หรือทีแรกเราเห็นใจเราเฉยๆ อยู่มาความสุขผุดขึ้นมา แล้วความสุขก็ดับไปอะไร นี่เราเห็นอนิจจัง ดูไปอย่างนี้ก็ได้ เห็นอนิจจังก็ได้เห็นอนัตตาก็ได้ ดูให้เห็นทุกขัง ยาก ถ้าจะดูให้เห็นทุกขังของนามธรรม โดยเฉพาะของตัวจิตผู้รู้นี่ ต้องทรงฌาน ไม่อย่างนั้นดูไม่ได้ สติแตกเหมือนกัน เพราะว่าเวลาเราภาวนาจนมันทวนๆๆ เข้าจนถึงตัวจิตผู้รู้แล้วมันวางโลกธาตุ วางทุกสิ่งทุกอย่างหมดแล้วมันทวนเข้ามาถึงตัวผู้รู้แล้ว ตัวผู้รู้กลายเป็นตัวทุกข์ขึ้นมา มันทุกข์ไม่มีอะไรเหมือนเลย มันทุกข์ยิ่งกว่าที่ร่างกายเคยทุกข์อีก เพราะฉะนั้นถ้าจิตไม่ได้ทรงสมาธิอยู่นี่ สติแตก ทนไม่ไหว เพราะอย่างนั้นเวทนา อย่างไรมันก็หนีสมาธิไม่พ้นหรอก แต่ถ้าเราทำสมาธิไม่ได้เราก็ดูเวทนาธรรมดานี่ไม่ต้องไปดูถึงเวทนาของตัวจิตผู้รู้หรอก ดูเดี๋ยวสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ ดูไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

 

ดูจิต: ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหนีไปคิดรู้ทัน

หรือเราจะดูจิตก็ได้ ถ้าเราเป็นคนขี้โกรธ เราก็ดูไปทั้งวันเลย จิตมันมี 2 อย่างเอง จิตที่โกรธกับจิตที่ไม่โกรธ ทั้งวันมีอยู่แค่นี้ ถ้าเราเป็นคนขี้โลภ เดี๋ยวก็โลภๆ เราก็ดู ทั้งวันมีอยู่ 2 อย่าง จิตโลภกับจิตไม่โลภ เราเป็นคนฟุ้งซ่านใจลอย ขี้หลงอะไรนี่ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เช่นหายใจเข้าพุทออกโธ แป๊บเดียวจิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้วไม่คิดพุทโธแล้ว เราก็ใช้ตัวหลงมาทำกรรมฐาน แต่อาศัยลมหายใจ อาศัยพุทโธ อาศัยอะไรนี่เป็นกำลังช่วย เพราะตัวโมหะเป็นตัวที่ดูยาก ราคะโทสะมันดูง่ายกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเราขี้โกรธเราก็ดู จิตเดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็ไม่โกรธ อันนี้แสดงความไม่เที่ยง จิตจะโกรธเราก็ห้ามมันไม่ได้ โกรธแล้วจะสั่งว่าอย่าโกรธก็ไม่ได้

อย่างเราเสียใจอกหัก สามีทิ้งไปเราอกหัก เราเสียใจ เพื่อนก็มาปลอบอย่าเสียใจไปเลย นี่เพื่อนไม่ได้ทำกรรมฐาน เพื่อนนึกว่าบอกอย่างนี้ก็หายเสียใจได้ จริงๆ สั่งไม่ได้ มันจะเสียใจ อย่างไรมันก็เสียใจ มันเป็นอนัตตาสั่งไม่ได้ นี่เราเฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเลย จิตเราจะโกรธจะเศร้าหมองอะไรอย่างนี้ ห้ามไม่ได้ สั่งไม่ได้ นี่คืออนัตตา

 


เราสังเกตตัวเองว่า เรารู้กายหรือรู้เวทนา หรือรู้จิต แล้วเราเห็นไตรลักษณ์ได้ง่าย เราใช้อันนั้น ในการทำวิปัสสนากรรมฐาน

ไม่ต้องมาถามหลวงพ่อ หลวงพ่อดูให้ไม่ไหวหรอก สังเกตตัวเอง ช่วยตัวเองให้มากๆ หน่อย พยายามฝึกตัวเองอย่างนี้ทุกวันๆ ไป ชีวิตเราก็จะรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ คุณงามความดีที่ไม่เคยมีมันก็จะมีขึ้น ความชั่วที่เคยมีอยู่มันจะค่อยลดค่อยละไป พอเราได้ปฏิบัติธรรม ตอนไหนควรเจริญวิปัสสนาได้มีกำลังพอ เราก็ทำวิปัสสนา ทำวิปัสสนาไม่นานหรอก กำลังก็จะหมด จิตมันก็ไม่มีแรง เราก็มาทำสมถะ สลับกันไปอย่างนี้ ส่วนใหญ่อาจจะเป็นการทำสมถะ แล้วก็มีกำลังขึ้นมาเดินปัญญาได้นิดหน่อย ได้ทีละนิดๆ แต่อย่าดูถูกปัญญาทีละนิด ตอนที่อริยมรรคเกิดนี่ โลกุตตระปัญญาเกิดขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง นิดเดียว ไม่เกิดเยอะหรอก

เพราะฉะนั้นเราพยายามสะสมของเราไป มีสติ มีสัมปชัญญะ รู้ว่าตอนนี้ควรทำสมถะ ตอนนี้ควรทำวิปัสสนา ทำสมถะนี้ควรใช้อารมณ์อะไร ทำวิปัสสนาควรจะใช้กรรมฐานตัวไหน ใช้อารมณ์ตัวไหน นี่ตัวนี้เรียกสัมปชัญญะ แล้วก็มีสติคอยระลึกรู้อารมณ์ระลึกรู้จิตของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันเห็นไตรลักษณ์ ทีนี้เราก็จะเจริญได้ ชีวิตเราก็จะดีขึ้นดีขึ้น

แต่ถ้าวันๆ เราไม่สนใจ เราสะสมแต่กิเลส อย่างบางคนที่เล่าให้ฟัง แกล้งหลอกคนอื่นเขา ทายจิตคนนั้นคนนี้ หลอกคนโง่ก็พากันหลง หลงหาเงินหาทองอะไรก็ให้เขาอะไรอย่างนี้ บางคนเขาก็ทายโน่นทายนี่ มีหลายชนิด บางคนก็ทายเราว่าเจ้ากรรมนายเวรของเราคือคนนี้ ให้ไปขอขมาเขาแล้วกรรมฐานจะดีขึ้น ทำไมมันดีขึ้นได้ เพราะเราได้ใช้ ได้ตอบสนองความโง่ของเราแล้ว พอเราไปขอขมาเขาเราก็สบายใจ ใช่ไหม อาจารย์ของเราบอกแล้วคนนี้เป็นเจ้ากรรมนายเวรกับเรา ให้เราไปขอขมา พอเราไปขอขมา เราสบายใจ พอสบายใจแล้วอะไรจะเกิดขึ้น สมาธิจะเกิดขึ้น ใช่ไหม ไม่ใช่เพราะการขอขมาเจ้ากรรมนายเวร แต่เป็นเพราะสบายใจ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนมันสมบูรณ์ด้วยเหตุด้วยผล เจ้ากรรมนายเวรของเราถ้าตอนนี้เกิด อยู่ในอเวจีอย่างนี้ เราจะไปขอขมาได้อย่างไร ก็เที่ยวโมเมคนโน้นคนนี้อะไรอย่างนี้ไป เราก็เชื่อ แล้วมันก็ทำมาหากินไป

หลวงพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไรหรอก เพียงแต่เตือนคนที่บอกว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ อย่าลืมสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สิ่งที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราชาวพุทธ คือสิ่งที่เรียกว่า ชนกกรรม กรรมที่ทำให้เราเกิดนี่ล่ะ ถึงจะเรียกว่าตัวเจ้ากรรมนายเวรตัวจริง เจ้ากรรมนายเวรทำให้เราเกิดมาหน้าตาอย่างนี้ มียีนที่กำหนดไว้ว่าพออายุถึงเท่านี้จะต้องเป็นโรคอย่างนี้อย่างนี้ นี่ล่ะตัวเจ้ากรรมนายเวร แก้ได้ไหม แก้ไม่ได้ เราเป็นทายาทของกรรม หรือของเจ้ากรรมนายเวรของเรานั่นล่ะ มันส่งผลให้เรามาเป็นอย่างนี้ มันต้องเป็น แล้วชาวพุทธจะทำอย่างไร

 

ชาวพุทธที่แท้จริง ต้องดูจากของจริง

ชาวพุทธก็คือว่ามีกรรมส่งผลให้เราเจอสถานการณ์ปัจจุบันอย่างนี้ เราทำกรรมใหม่ที่ดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อิทธิพลของกรรมใหม่นี่มันจะลดอิทธิพลของกรรมเก่าที่ไม่ดีลงไป นี่คือหลักของชาวพุทธ ไม่ใช่วิ่งเที่ยวขอขมาคนโน้นขอขมาคนนี้ มัน nonsense จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วทำไมเจ้ากรรมนายเวรของเราเป็นคนทั้งนั้นเลย ทำไมไม่เป็นผีนรก ทำไมไม่เป็นเปรต ไปขอเปรตตัวนี้ ไม่เห็นมีเลย เหมือนเรื่องระลึกชาติ ระลึกกันจริงเชียว บางคนก็เป็นพระนเรศวรอะไรอย่างนี้ ล้วนแต่คนใหญ่คนโตทั้งนั้น ไม่เห็นมีระลึกเลยเคยเป็นหมาขี้เรือน อดข้าวตายอยู่ข้างๆ วัดอะไรอย่างนี้ ไม่มีใครระลึก ระลึกทีไรใหญ่ทุกทีเลยเพราะอะไร ระลึกอย่างนั้นมันสนองกิเลส กิเลสมันพาระลึกไป ฉะนั้นอย่าไปงมงายอะไรสิ่งเหล่านี้

เป็นชาวพุทธทั้งที พยายามมีสติอยู่กับปัจจุบัน นี่ล่ะของจริงที่ไม่หลอกลวง ใจเราเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย อันนี้จริงหรือไม่จริง จริงเห็นไหม ไม่มีทางหลอกลวงเลย ร่างกายเรามันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอด จริงไม่จริง นี่มันไม่มีอะไรที่มาขวางกั้นเอาไว้ได้เลยกับความจริงเหล่านี้ เพราะฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ไม่มีทางเถียงเลย ธรรมะอะไรที่ดูกำกวมนี่ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ที่กำกวมต้องอาศัยเชื่อคนโน้นเชื่อคนนี้ ท่านไม่ได้สอนให้เชื่อคนโน้นคนนี้

ขนาดตัวท่านเองเป็นพระพุทธเจ้า ท่านบอกอย่าเชื่อว่าเราตถาคตเป็นคนบอกแล้วต้องเชื่อ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังไม่ให้เชื่อท่านเลย ท่านให้พิสูจน์ด้วยตัวเราเอง เราก็พร้อมที่จะไปเชื่อคนอื่น มันไม่ใช่ความฉลาดเลย ไม่ใช่ชาวพุทธที่แท้จริงเลย เราค่อยๆ ดู เครื่องมือของเรา คือสติกับสัมปชัญญะ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย มีอะไรเกิดขึ้นในใจ สติตัวนี้ไม่ใช่สติธรรมดา แต่เป็นสติปัฏฐาน สัมปชัญญะเป็นตัวปัญญา ตัวที่รู้ว่าอะไรมีสาระแก่นสาร อะไรสมควรแก่เรา สมถะกับวิปัสสนานี่มีสาระแก่นสาร แล้วอันไหนสมควรแก่เรา เช่น หลวงพ่อทำสมถะ อานาปานสติสมควร จะทำวิปัสสนา เมื่อก่อนดูจิตเอา ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็ดูได้หมด ทีแรกก็เริ่มต้นดูอันใดอันหนึ่งไปก่อน นี่เรารู้ตัวเราเอง วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ค่อยภาวนาไป เห็นไตรลักษณ์ไป ตอนนี้ฟุ้งซ่านทำความสงบเข้ามาอะไรอย่างนี้ เดินไป เดิน 2 ขา ยังมีสมถะกับวิปัสสนา ขาเดียวไปได้ไหม ขาเดียวก็ไปได้ ผีกองกอย มีขาเดียว กระโดดหยองๆๆ ไป หรือเดินวิปัสสนารวดไปเลยก็ทำได้ แต่ลำบากหน่อย ล้มลุกคลุกคลานหน่อย แล้วแต่ละคนก็มีทางของตัวเอง ไปดูเอา

 

คำถาม 1: ผมขอให้หลวงพ่อช่วยดูการ ปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาของผม เพื่อหลวงพ่อจะได้แนะนำการปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้ผมได้ปรับปรุงและพัฒนาต่อไปครับ

หลวงพ่อ: ทำสมถะให้หลวงพ่อดูซิ นั่งลง เอ้า ทำวิปัสสนาซิ สมถะได้นะ ทำวิปัสสนา เวลาเราทำวิปัสสนาเรารู้สภาวะนี่ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การที่จิตถลำลงไปจมอยู่กับสภาวะ ไประวังตัวนี้ อย่างพอเราจะดูสภาวะนี่จิตมันเคลื่อนๆๆๆ เข้าไป ไปแช่อยู่ที่สภาวะมันจะไม่ใช่วิปัสสนาจริงหรอก จิตมันไปแนบกับอารมณ์ จิตมันต้องแยกกับอารมณ์ได้ ต้องแยกขันธ์ได้ โดยเฉพาะขันธ์ตัวหนึ่งก็คือตัวจิต ต้องแยกออกมาเป็นคนดู เห็นสภาวะทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราดูแล้วจิตเราไหลลงไป จมลงไป อันนั้นกำลังของสมาธิชนิดตั้งมั่นนี่ยังไม่พอ ให้เรารู้ทันว่าตอนนี้จิตเคลื่อนไปแล้ว พอเรารู้ทันว่าจิตเคลื่อน สมาธิชนิดตั้งมั่นนี้จะเกิดขึ้นเอง

เพราะฉะนั้นจิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตเคลื่อนแล้วรู้บ่อยๆ สมาธิที่ตั้งมั่นก็จะเกิด เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วเราก็จะเห็น สภาวะทั้งหลายล้วนแต่ของถูกรู้ถูกดู สภาวะทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวเรา อันนี้ตัววิปัสสนามันจะเห็นไม่ใช่คิดเอา ฉะนั้นของคุณตรงสมาธิทำได้อยู่ แต่ตรงวิปัสสนานี่จิตยังไม่ตั้งมั่น เวลารู้สภาวะแล้วมันยังไหลไป

 

คำถาม 2: ช่วงนี้เห็นกิเลสบ่อยขึ้น เห็นความยินดียินร้ายมากขึ้น ขอคำแนะนำด้วยครับ

หลวงพ่อ: จิตมันไม่เข้าฐาน ตอนนี้จิตมันกว้างๆ สบายออกไปข้างนอก รู้สึกหรือเปล่า ไม่รู้ สั่นหน้าอย่างนี้รู้ไหม สั่นหน้าก็ไม่รู้ พยักหน้ารู้ไหม ดูกายไว้ รู้สึกกายไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะเห็นจิตชัด อาศัยรู้กายก่อน พอจิตมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา มันก็จะเห็นจิตได้ชัดขึ้น ตอนนี้จิตไม่มีสมาธิพอ ไม่ถึงฐาน กระจายกว้างๆ ว่างๆ ไป เพราะฉะนั้นรู้สึกในร่างกาย นี่พยักหน้าแล้วรู้สึกๆ ไป หายใจแล้วก็รู้สึกไป จำได้ไหมหมอ นี่พยักหน้าเห็นไหม เมื่อกี้พยักหน้าแล้วหลง หลงไปไหน หลงไปคิด ทำไมคิด เพราะฟังหลวงพ่อพูด ฟังแล้วก็ต้องคิดสิ ฟังแล้วไม่คิดมันก็ไม่รู้เรื่อง ตอนนี้จิตมันหลงไปรู้สึกไหม นี่เห็นไหมพอดูกายสักพักหนึ่งแล้วก็เห็นจิตแล้ว จำหลักตัวนี้ให้มันแม่นๆ ดูกายเรื่อยๆ แล้วมันจะเห็นจิตชัด อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อสอนหรอก แต่หลวงปู่สุวัจน์ท่านเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่มั่นสอนท่านมาอย่างนี้ หลวงพ่อก็ไม่ได้เก่งหรอก หลวงพ่อจำครูบาอาจารย์มาสอนอีกที

 

คำถาม 3: ระหว่างวันใส่ใจกับกรรมฐานมากขึ้น ช่วงนี้รู้สึกมีความไหวๆ ในกลางอกเยอะมาก แต่ใจไม่เป็นกลาง ขอคำแนะนำจากหลวงพ่อด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ภาวนาดีภาวนาถูก ไหวๆ รู้ว่าไหวๆ อย่าถลำลงไปอยู่กับมัน ไม่เป็นกลางรู้ว่าไม่เป็นกลาง ไม่ต้องอยากให้เป็นกลาง ถ้ามันอยากเป็นกลางรู้ว่าอยาก เรียกว่าเรารู้ทันตัวเองเป็นช็อตๆ ไปเลย ตอนนี้จิตไหลไปคิดรู้ว่าจิตไหลไปคิด จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อก็พูดเป็นตัวอย่างให้ฟังหรอก ไหลไปคิดหรือยัง หัดดูอย่างนี้ ไหลไปคิดแล้วก็รู้ พอรู้แล้วอย่าไปรอดูที่จิต กลับมาอยู่กับกรรมฐานของเรา เห็นตัวนี้ไหวๆ ใช้ตัวนี้เป็นกรรมฐานก็ได้ ถ้าเห็นตลอด เห็นตัวไหวๆ แล้วจิตถลำลงไปที่ไหวๆ ก็รู้ จิตหนีไปคิดก็รู้ อย่างนี้ใช้ได้ จะเจริญปัญญาได้ จะเห็นว่าจิตนี้ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เป็นจิตดู เดี๋ยวก็เป็นจิตฟัง เดี๋ยวเป็นจิตดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นจิตลิ้มรส เดี๋ยวเป็นจิตรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวเป็นจิตหลงไปคิดทางใจ เดี๋ยวเป็นจิตหลงไปเพ่งทางใจ อย่างตอนนี้จิตหลงไปคิดหรือยัง ดูออกไหม เออดูออกแล้วก็รู้ทัน พยักหน้าแล้วรู้ไหม เมื่อกี้ลืมใช่ไหม เพราะว่าอะไร เพราะเรากำลัง สังเกตจิตเราอยู่ ธรรมชาติของจิตนี้รู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว เรากำลังดูจิตอยู่เราจะไม่ดูกายหรอก จะไม่เห็นกาย อย่างตอนนี้จิตหนีไปคิดหรือยัง ดูอย่างนี้ จิตมันไหลไปคิดเราก็รู้เอา รู้บ่อยๆ เอ้า ต่อไป

 

คำถาม 4: ส่งการบ้านในรอบหลายปี หลงว่าได้หลักการปฏิบัติแล้วทำให้ประมาทมาก ไม่จริงจัง ขอหลักที่ทำให้ไม่ประมาทด้วยครับ

หลวงพ่อ: ถ้าไม่ประมาทจริงๆ ต้องพิจารณาว่า ชีวิตเรานี้มีแต่ความไม่มั่นคง ความทุกข์มาถึงเราเมื่อไหร่ก็ได้ ความเจ็บไข้มาถึงเราเมื่อไหร่ก็ได้ ความตายมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ได้ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ จะมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ได้ พิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ คิดพิจารณาไปเรื่อยๆ ใจมันจะไม่ประมาท มันจะขวนขวายในการปฏิบัติมากขึ้น พิจารณาไป อย่างจะพิจารณาความแก่นี้ ยังหนุ่มอยู่พิจารณายาก ลองพิจารณาความเจ็บไข้ เราพร้อมที่จะเจ็บไข้เมื่อไหร่ก็ได้ เดินไปเดินมา เผลอไปเชียร์มวยเข้าก็เลยติดโควิดมา อะไรอย่างนี้ มันไม่แน่ ทำอะไรมันก็เต็มไปด้วยความไม่แน่ๆ ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก จะมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ได้ นี่ดูลงไปอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะเลิกประมาท ที่มันประมาทเพราะมันคิดว่ายังไม่แก่หรอก ยังไม่เจ็บหรอก ยังไม่ตายหรอก ยังไม่พลัดพรากจากคนที่เรารักจากสิ่งที่เรารักหรอก มันคอยคิดอย่างนี้ มันประมาท ฉะนั้นจะแก้ประมาทก็สอนมันไปเรื่อยๆ

สังเกตคนรอบๆ ตัวเราในโลกนี้ เค้าก็เต็มไปด้วยความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เต็มไปด้วยความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโตมาถึงตอนนี้ ก็อายุเกิน 20 แล้วสิใช่ไหม เออเคยพลัดพรากไหม เห็นไหมมันมี แล้ววันข้างหน้าจะมีอีกไหม ไม่แน่ใช่ไหม เรายังไม่รู้ แต่อดีตนี่เราเห็นแล้ว เราเคยพลัดพรากมาแล้ว เราเคยทุกข์มาแล้ว เราก็สอนใจ วันข้างหน้าเราอาจจะเจออีก ความพลัดพรากมาเมื่อไหร่ก็ได้ นี่สอนตัวเองไป ใจมันไม่ประมาท มันจะขยันภาวนา จะรอแก่แล้วภาวนาไม่ได้ บางคนมันไม่มีโอกาสแก่ มันตายซะก่อน บางคนตั้งใจว่าอายุ 50 แล้วจะภาวนา ตอนนี้จะเรียนหลักเอาไว้ก่อน ที่คิดอย่างนั้นก็เพราะกาม คิดว่าพอแก่เพราะอายุ 50 แล้วจะสู้กามไหวแล้ว ยังหนุ่มยังสาวอยู่ยังเสียดายกามยังไม่ยอมวาง ยังไม่อยากปฏิบัติกลัวลำบาก บอกให้อย่างหนึ่ง พอแก่แล้วภาวนายากนะ ยังหนุ่มยังสาวนี่รีบภาวนาเข้า

 

คำถาม 5: ปฏิบัติตามคำสอนของหลวงพ่อทุกวันค่ะ ทำในรูปแบบทุกวันระหว่างวันมีสติรู้บ้าง หลงบ้าง ขอหลวงพ่อเมตตา ช่วยชี้ทางในการเพิ่มสมาธิที่เหมาะสมแก่ลูกด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: เราฟุ้งซ่านเก่ง ใจมันช่างฟุ้ง เพราะฉะนั้นอยู่กับกรรมฐานอะไรสักอย่าง หายใจเข้าพุท ออกโธ อะไรก็ได้ พวกฟุ้งซ่านก็ใช้ได้อานาปานสติอะไรพวกนี้ ฝึกไปเรื่อยๆ ไม่ได้ฝึกเอาสงบ แต่หายใจเข้าพุท ออกโธ แล้วพอจิตมันหนีไปก็คอยรู้เอา รู้บ่อยๆ แล้วสมาธิมันจะเพิ่มขึ้น ถามได้ตรงประเด็น ถามว่าจะทำสมาธิเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพราะจริงๆ แล้ว ใจเราฟุ้งซ่าน ถามได้ตรงกับปัญหาของเรา ฉะนั้นเราก็ไปทำ หายใจไปพุทโธไป ไม่ได้มุ่งที่ความสงบ มันสงบของมันเอง ถ้าอยากสงบ มันจะไม่สงบ

 

คำถาม 6: มีปกติฝึกในรูปแบบเป็นประจำ โดยการนั่งสมาธิวันละประมาณ 45 นาที ระหว่างวันก็หมั่นรู้กายรู้ใจเนืองๆ ในบางครั้งจะเจอว่ามีความฟุ้งซ่าน มีความกังวลใจในเรื่องต่างๆ พึ่งมีโอกาสได้มาส่งการบ้านหลวงพ่อเป็นครั้งแรก อยากให้หลวงพ่อช่วยชี้แนะการปฏิบัติค่ะ

หลวงพ่อ: ฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่านไป แต่จุดสำคัญคือรู้ปัจจุบัน รู้จิตใจของเราที่เป็นปัจจุบัน อย่างขณะนี้ใจเราแน่นๆ ใจเราหนักๆ แน่นๆ อะไรอย่างนี้ เราตื่นเต้น เราก็กดเอาไว้ เราก็รู้ทัน ฉะนั้นการปฏิบัตินี่ รู้ทันจิตใจของเราที่เป็นปัจจุบันไปเรื่อยๆ ดีก็ได้ ร้ายก็ได้ สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ สงบก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ อะไรก็ได้ เรารู้อย่างที่มันกำลังเป็นอยู่ ตามรู้ตามดูไป อย่างตอนนี้ใจหนีไปคิดหรือเปล่า รู้ไหม ใจมันหนีไปคิดแล้วเราก็รู้ นี่หลวงพ่อกำลังฝึกพูดอยู่รู้ไหม แทนที่หลวงพ่อจะบอกว่า ใจหนีไปคิดแล้ว หลวงพ่อก็เปลี่ยนเป็นใจหนีไปคิดหรือเปล่า ใจหนีไปคิดหรือยัง เปลี่ยนภาษาสักหน่อยให้ไพเราะ แล้วตอนนี้ใจหนีไปคิดหรือยัง เออ อย่างนั้นล่ะ พยักหน้าก็รู้สึก พยายามไป สมาธิเรายังไม่พอ ใจมันยังฟุ้งอยู่

 

คำถาม 7: สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านง่าย หลับแล้วฟุ้งซ่านมาก และรู้สึกว่า หลับแล้วจิตอยู่ข้างนอก เห็นกิเลสแล้วชอบคิดวิเคราะห์ ขอหลวงพ่อเมตตาให้คำแนะนำด้วยครับ

หลวงพ่อ: เวลามันคิด วิเคราะห์นะก็รู้ทันว่ามัน กำลังฟุ้งซ่านอยู่ มันคือความฟุ้งซ่าน วิปัสสนาคือการเห็น เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นใจอย่างที่ใจเป็น แต่ถ้าเราไปเห็นสภาวะแล้วเราก็คิดต่อ มันเป็นอย่างนี้|มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์อะไรอย่างนี้ อันนี้คิดเอาฟุ้งซ่าน แล้วก็พยายามให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ทำกรรมฐานไว้ซักอย่างหนึ่ง จะหายใจก็ได้อะไรก็ได้ หายใจแล้วก็บริกรรมไปพุทโธ หายใจเข้าพุท ออกโธ ฝึกเรื่อยๆ ไป แล้วเวลาจิตมันหลง เราจะได้รู้ได้เร็วขึ้นเร็วขึ้น เราหายใจไป พุทโธไป ไม่ใช่เพื่อที่จะไม่ให้หลง หลงก็ได้ แต่หลงแล้วรู้ไวไวหน่อยเท่านั้นล่ะ

เวลาใจเรากระฉอกไปกระฉอกมา กระโดดไปกระโดดมานี่ เราคอยรู้มันไปเรื่อยๆ พุทโธๆ ไป แล้วใจมันกระโดดไปกระโดดมาก็รู้ รู้แล้วก็ไม่ไปแก้ไข กลับมาพุทโธต่อ อะไรอย่างนี้ เราจะไม่บังคับจิตตัวเอง แต่จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ทีนี้เราจะรู้จิตได้ดีโดยไม่หลงยาว เราก็ต้องมีเครื่องอยู่ อยู่กับกรรมฐานของเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ อย่างตอนนี้จิตหลงไปคิดหรือยัง ดูอย่างนี้ ใช้ได้ ปัญหาใหญ่ตอนนี้ก็คือจิตยังฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นต้องมีกรรมฐาน แล้วจิตเคลื่อนไปแล้วรู้ จิตเคลื่อนแล้วรู้ ฝึกบ่อยๆ ไม่ใช่ทำกรรมฐานแล้วห้ามจิตเคลื่อน ถ้าห้ามจิตเคลื่อน ใจจะเครียดๆ อันนั้นใช้ไม่ได้ เอาแค่เคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนแล้วรู้ แค่นี้พอ

 

คำถาม 8: เมื่อหลับตาจิตจะไปเพ่งจ้องที่ศีรษะบ่อยๆ เพราะทำให้เกิดความสุข จิตติดความสุขนี้ และไม่อยากให้จิตเคลื่อนไปที่อื่น อันนี้ต้องแก้ไขหรือไม่ และขอหลวงพ่อเมตตาตรวจสอบความก้าวหน้าของการภาวนาด้วยครับ

หลวงพ่อ: ก็ก้าวหน้านะ จิตใจน่าจะมีกำลังมากขึ้น เห็นไหม พูดไพเราะนะ จิตใจดูมันมีเรี่ยวมีแรงมากขึ้น ใช้ได้

จิตมันติดในความสุข มันมีความสุข อันแรกมีความสุขรู้ว่ามีความสุข ตัวที่หนึ่งมีความสุขรู้ว่ามีความสุข ตัวที่ 2 พอใจในความสุข ติดใจในความสุข รู้ว่าพอใจรู้ว่าติดใจ แล้วดูไปที่ตัวความพอใจ เปลี่ยนจากดูที่ตัวสุข มาดูที่ตัวพอใจในความสุข เราจะเห็นว่าความพอใจนี้มันไม่เที่ยง ดูอย่างนี้ อย่าไปดูที่ตัวความสุข มีความสุขแล้วมันพอใจ ดูที่ตัวพอใจ รู้ว่าตัวพอใจเกิดแล้ว แล้วเราจะเห็นว่าตัวพอใจตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป จิตเป็นกลาง จิตเป็นกลางแล้วเราจะรู้ความสุขต่อก็ได้ หรือจิตมันจะไปรู้อย่างอื่นก็ได้ พอเราเป็นกลางแล้วเราไม่ติดในตัวสุข ใจเราก็จะไม่โน้มเข้าไปหามัน เฝ้ามันไว้ทั้งวัน ไม่ขึ้นหัวทั้งวัน จำได้ไหมอันแรกมีความสุข รู้ว่ามีความสุข อันที่สองพอใจในความสุข รู้ว่าพอใจ ทีแรกเราดูที่ความสุข แล้วพอเราเกิดความพอใจในความสุขเราเปลี่ยนจากดูความสุขมา เป็นดูความพอใจ ดูที่ความพอใจ รู้เฉยๆ ความพอใจเกิดแล้วก็ดับ ใจเราก็จะเป็นกลางกับความสุข นี่ค่อยๆ ฝึกไป ต่อไปมันจะไม่ติดกับตัวสุขหรอก แล้วพอภาวนามากขึ้นมากขึ้น มากกว่านี้ เราจะรู้ว่าตัวสุขไม่มี มันมีแต่ตัวทุกข์ ความสุขก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ความสุขเกิดขึ้นเป็นภาระของจิตใจเรา เราจะเห็นเลยตัวสุขนี่มันพึ่งพาอาศัยไม่ได้หรอก มันเป็นตัวทุกข์ แล้วค่อยๆ ฝึกเป็นขั้นๆ ไป ขั้นนี้แค่ว่ามีความสุขรู้ว่ามีความสุข พอใจในความสุขรู้ว่าพอใจ ความพอใจก็จะเกิดดับให้เราดู ฝึกอย่างนี้ก่อน แล้วค่อยมาส่งการบ้านเพิ่ม

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 สิงหาคม 2563