ใช้กิเลสเป็นอุปกรณ์ทำกรรมฐาน

เมื่อวานก็มีข่าวดี สถานการณ์เหลือที่แรงหน่อยก็ที่สมุทรสาครกับกรุงเทพฯ บางอำเภอรอบๆ กรุงเทพฯ คนไปๆ มาๆ กัน เมืองชลฯ ไม่มีคนติดเชื้อมาหลายวันแล้ว ภาคตะวันออกทีแรกดูน่ากลัว ตอนนี้ก็สงบลง ของเราก็เริ่มผ่อนคลาย ทางราชการเขาปล่อยให้ทำกิจกรรมได้มากขึ้น

เราอย่าประมาทก็แล้วกัน โรคนี้มันติดต่อกันง่าย ประมาทเมื่อไรก็แย่เมื่อนั้น สังเกตดูพวกที่ไปติดเชื้อ พวกที่มาจากต่างประเทศ เป็นแรงงานถูกกฎหมายบ้างผิดกฎหมายบ้าง คนไทยที่ติดส่วนใหญ่สังเกตให้ดี เป็นกลุ่มที่มักจะเกี่ยวข้องกับอบายมุข อบายมุขเริ่มตั้งแต่พวกกินเหล้า พวกติดสารเสพติด พวกเที่ยวกลางคืน พวกดูการละเล่นต่างๆ ดูชนไก่ ดูชกมวย พวกเล่นการพนัน พวกคบคนไม่ดี ถ้าดูให้ดีอยู่ในกลุ่มอบายมุขเป็นส่วนใหญ่ ถ้าอยู่กับพวกอบายมุขมันเจริญยาก ล่อแหลมที่จะติดโรคง่ายด้วย ติดคนเดียวไม่พอเข้ามาติดในบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ลูกเด็กเล็กแดงพลอยติดไปด้วย

ถ้าพวกเรามีศีล ศีล 5 มีธรรมะ หลีกเลี่ยงอบายมุขเสีย ไม่ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านในการงาน นี่คืออบายมุข 6 ข้อ ทางแห่งความเสื่อม ทางเสียหาย หลีกเลี่ยงเสีย แล้วพัฒนาคุณธรรมของเราขึ้นมา มีศีล 5 แล้วก็ฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกทำความเข้าใจโลกอย่างที่โลกมันเป็น

ฆราวาสก็ทำได้ ฆราวาสจะภาวนาให้ได้มรรคได้ผลยังทำได้เลย บางท่านบางองค์เป็นฆราวาส ถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็เคยมีมาแล้ว อยู่ที่เราจะตั้งใจรักษาศีลไหม หลีกเลี่ยงในสิ่งที่เสียหายไหม แล้วก็ค่อยๆ ฝึกจิตฝึกใจตัวเองทุกวันๆ แทนที่จะฟุ้งซ่าน หลงโลกไม่รู้จักจบจักสิ้น แล้วหันมามีวินัย อยู่กับตัวเอง เรียนรู้ตัวเองให้มากๆ แบ่งเวลาไว้เลยทุกวัน ตั้งแต่ตื่นนอนมาพยายามมีสติไว้

ตอนตื่นจิตมันขึ้นจากภวังค์ จิตมันขึ้นมาก่อน ตอนมันขึ้นมาทีแรก มันยังไม่มีร่างกายหรอก จิตมันขึ้นๆ มา มันกระทบความรู้สึกนึกคิด จิตก็เกิดขึ้นมา แล้วขยายความรับรู้ออกมาที่ร่างกาย ถ้าเรามีสติเราก็ฝึกของเราทุกวันๆ สติเราก็จะเร็วขึ้นๆ จิตเริ่มเคลื่อนจากภวังค์ก็ค่อยๆ รู้ๆๆ ขึ้นมา เปิดสวิตช์ขึ้นมารับรู้ความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาได้ ทำงานทางใจขึ้นมาได้แล้ว แล้วแผ่ขยายความรู้สึกออกไปที่ร่างกาย

ตอนนอนหลับอยู่ร่างกายเราไม่มีสติ เราไม่มีความรู้ตัว มันนอนท่าไหนก็ไม่รู้ ตอนที่จิตมันตื่นขึ้นมา สังเกตลงไปเลย ร่างกายมันนอนอยู่ในท่าไหน นอนตะแคงซ้ายตะแคงขวา นอนหงายนอนคว่ำ นอนอ้าปาก นอนเหยียดแขนเหยียดขา หรือนอนเรียบร้อย มันนอนอยู่ในท่าไหน ตื่นมาปุ๊บรู้เลย พยายามฝึกตัวเองให้สติมันทำงานตั้งแต่ตื่น ไม่ใช่ตื่นมาก็บิดขี้เกียจ บิดไปบิดมาอยู่อย่างนั้น หรือคิดอะไรเลื่อนๆ ลอยๆ ไป ต้องพยายามฝึกตัวเองให้สติมันรวดเร็ว ระลึกรู้กายระลึกรู้ใจของตัวเอง ระลึกรู้ได้รวดเร็วขึ้น รวดเร็วขึ้น เราจะเกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณของเรา จิตใจเราจะมีคุณภาพสูงขึ้นๆ บางคนบอกตอนตื่นนอนยังทำไม่ได้ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ตอนนี้ยังทำไม่ได้วันข้างหน้าก็ทำได้ ถ้าฝึกไม่เลิก ตื่นนอนมาแล้วยังขี้เกียจอยู่ รู้ทันใจตัวเองขี้เกียจ หรือมันปวด มันเมื่อย มันบิดขี้เกียจ เห็นร่างกายมันบิด

ตอนขณะที่ตื่นแท้ๆ เราดูไม่ทัน เราก็ดูขณะถัดมา ตื่นมาพักหนึ่งแล้วยังนอนกลิ้งไปกลิ้งมา มีสติรู้ลงไป จิตใจมันอ่อนแอขี้เกียจขี้คร้าน ยังติดในความสุขจากการนอนอยู่ มีสติรู้ไป ตรงนี้รู้ไม่ทัน รู้ที่มันหยาบกว่านั้นอีก นอนคิดคิดว่าวันนี้วันอะไร วันเสาร์แหมสบายนอนให้มากขึ้น ใจมันขี้เกียจรู้ว่าขี้เกียจ ตื่นมาแล้วนึกว่าวันนี้เป็นวันอาทิตย์ก็ยังนอนสบายอยู่ ตื่นขึ้นมาอีกทีวันนี้วันจันทร์แล้ว ตกใจว่าจะไปทำงานทันไม่ทัน มัวแต่นอน รู้ทันใจที่มันตกใจขึ้นมา

หัดรู้เป็นช็อตๆ ไป เป็นขณะๆๆ ไปเรื่อยๆ ใจมันตกใจก็รู้ ใจมันขี้เกียจก็รู้ ใจมันสบายใจก็รู้ หัดรู้ความรู้สึกของตัวเองไปเรื่อยๆ ความรู้สึกทางใจเป็นนามธรรม ใช้ทำวิปัสสนากรรมฐานได้ แต่เรื่องราวที่คิดไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม เรื่องราวที่คิด คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้เรียกอารมณ์บัญญัติ เอาไปทำวิปัสสนาไม่ได้ ทำสมถะได้

อย่างเราคิดพิจารณาร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คิดๆๆ ไป อันนี้ใจมันสงบได้ แต่ทำวิปัสสนาจริงๆ ต้องดูกาย ต้องดูใจของตัวเอง ดูกายกายเป็นของดูยาก ไม่ใช่ดูง่ายๆ หรอก ดูกายที่จริงก็ยังง่ายอยู่ แต่ดูให้เห็นรูปนี่ยาก สิ่งที่ประกอบกันเป็นร่างกายเราจริงๆ มันเป็นรูป รูปดิน รูปน้ำ รูปลม รูปไฟ มีช่องว่างเป็นที่รูปเข้าไปตั้งอยู่สเปซ (space) เป็นที่ตั้งของวัตถุ ก็มีรูปละเอียดๆ ลงไปอีกหลายอย่าง ดูให้เห็นรูปจริงๆ ยังพอดูได้ อย่างเรารู้สึก ลองจับดูมันมีความแข็งๆ อยู่ ส่วนที่แข็งเรียกว่าเป็นรูปดิน แข็งๆ เราลองจับไปตรงนี้อุ่น ตรงนี้เย็น ทำไมในร่างกายเราบางที่อุ่นบางที่เย็น ตรงที่มันอุ่นมันมีธาตุไฟเยอะ ตรงที่มันเย็นธาตุไฟมันน้อย ธาตุไฟก็อาศัยร่างกาย อาศัยเลือด อาศัยอะไรอยู่ด้วย ไฟอยู่ในน้ำก็ได้ เลือดเราเป็นสัตว์เลือดอุ่น ช่วงไหนส่วนไหนของร่างกายที่เลือดไปเลี้ยงน้อย มันก็จะเย็นๆ ขึ้นมา ดูธาตุไม่ใช่ดูง่าย ดูไม่ใช่ง่ายๆ เลย

พระพุทธเจ้าเลยไม่ได้สอนให้ดูธาตุตรงๆ ทีแรกท่านสอนให้ดูกายก่อน ในกายานุปัสสนา ดูร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง หรือดูร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ ตรงนี้ท่านสอนไว้เหมือนกัน อยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฎฐาน

ฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4 ไม่ได้ไปทำวิปัสสนาได้ทั้งหมด บางอย่างเป็นเรื่องของสมถะ อย่างดูร่างกายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ อันนี้เป็นเรื่องของการทำสมถะ พิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ มันก็ข่มราคะได้ เอาไว้ข่มกิเลส มีสมาธิขึ้นมามันข่มกิเลสได้ หรือดูลึกลงไปเห็นถึงธาตุ ตัวธาตุเอาไว้ทำวิปัสสนาได้ ในกายานุปัสสนาจะมีบรรพหนึ่งหมวดหนึ่งที่เรื่องของธาตุ บางอย่างในกายานุปัสสนา บางอย่างไว้ทำสมถะ บางอย่างไว้ทำวิปัสสนาได้ บางอย่างทำได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา

อย่างอานาปานสติใช้ทำสมถะก็ได้ ใช้ทำวิปัสสนาก็ได้ เราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ใจไม่หนีไปที่อื่นเลย ใจอยู่กับการหายใจ รู้สึกหายใจอยู่ รู้สึกอยู่อย่างนั้นนี้ได้สมาธิ ถ้าเดินวิปัสสนาหายใจไปแล้ว เราเห็นร่างกายหายใจ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเห็นนะไม่ใช่แค่คิด อย่างนี้ก็ขึ้นวิปัสสนาได้แล้ว ใช้การหายใจ ฉะนั้นอานาปานสติ มันครอบคลุมทั้งสมถะทั้งวิปัสสนาได้ เป็นกรรมฐานที่ยอดเยี่ยมมาก แต่เล่นยากมาก ครูบาอาจารย์ฝ่ายปริยัติบางท่าน อาจารย์อภิธรรมบางท่าน ท่านสอนอานาปานสติเป็นกรรมฐานของมหาบุรุษ ระดับพระพุทธเจ้าเล่น พวกเราเล่นเต็ม 16 ขั้นเล่นไม่ไหว เราก็เล่นตื้นๆ หน่อย อย่างหายใจไปรู้สึกไป เห็นร่างกายที่หายใจอยู่เป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างนี้พอจะทำได้ แล้วทำถึงอานาปานสติเต็มสูตรเลย 16 ขั้นยากมากที่จะทำ ลูกศิษย์หลวงพ่อที่ทำอยู่ตรงนี้ก็มี แกบอกกว่าจะผ่านจุดที่ลมหายใจระงับ แกฝึกอยู่ 9 ปี ฝึกไม่ใช่ง่ายๆ ส่วนใหญ่พวกเราทำอย่างนั้นไม่ได้

เราทำเท่าที่ทำได้ กรรมฐานมีตั้งเยอะตั้งแยะ รู้จักพลิกแพลงเอา ดูกายในกายานุปัสสนามีทั้งสมถะ มีทั้งวิปัสสนา บางอย่างเป็นวิปัสสนา บางอย่างเป็นสมถะ บางอย่างเป็นทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา

ในเวทนานุปัสสนา ดูเวทนาความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ความรู้สึกสุขทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ บางอย่างก็ต้องมีสิ่งเร้า บางอย่างไม่ต้องมีสิ่งเร้า ภาษาบาลีเรียกมีอามิส ไม่มีอามิส มีสิ่งเร้า เช่น ต้องได้เห็นรูปสวยๆ ถึงจะมีความสุขขึ้นมา ต้องได้ยินเสียงเพราะๆ ถึงจะมีความสุขขึ้นมา ต้องอาศัยสิ่งเร้า หรือเห็นรูปอย่างนี้แล้วเกิดความทุกข์ขึ้นมา ได้ยินเสียงอย่างนี้มีความทุกข์ขึ้นมา คิดเรื่องนี้มีความสุขขึ้นมา คิดเรื่องนี้มีความทุกข์ขึ้นมา เรียกว่ามีอามิส มีสิ่งเร้า

สุข ทุกข์ เฉยๆ บางอย่างไม่มี โดยเฉพาะตัวสุขกับตัวอุเบกขา ถ้าระดับเข้าฌานเรียกไม่มีสิ่งเร้า เราเข้าฌานไปจิตใจมีความสุข จิตใจเป็นอุเบกขาตามระดับของฌาน ในฌานที่ 1 2 3 ยังมีความสุขอยู่ ในฌานที่ 4 5 6 7 8 เป็นอุเบกขา ตรงนี้ไม่มีสิ่งเร้า คือไม่มีอารมณ์ที่เป็นกามคุณอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มายั่ว จิตมันสงบของมันเอง มีความสุขของมันเอง อย่างที่พวกเราภาวนา หัดรู้สึกตัว หัดอะไรไป อยู่ๆ มันมีความสุขผุดขึ้นมา มันขึ้นมาเอง เราอยู่เฉยๆ เราก็รู้สึกตัวของเราไปธรรมดาๆ อยู่ๆ ความสุขมันผุดขึ้นมา อันนี้เรียกว่าเป็นความสุขที่ไม่มีอามิส ไม่มีสิ่งเร้า ความสุขเกิดขึ้นเราก็รู้ ความทุกข์เกิดขึ้นเราก็รู้ ความไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นเราก็รู้ คอยรู้ไปเรื่อยๆ

ตัวเวทนาจะสอนเราให้เห็นไตรลักษณ์ ถ้าเรารู้สุขรู้ทุกข์ รู้ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่มันเกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราทำวิปัสสนาได้อย่างสบายๆ เลย แค่นี้ก็ทำวิปัสสนาได้แล้ว จิตใจเรามีความสุขขึ้นมาเรารู้ จิตใจเรามีความทุกข์ขึ้นมาเรารู้ จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์เรารู้ ฝึกไปเรื่อย จิตทุกดวง จะต้องประกอบด้วยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการดูเวทนาสามารถทำได้ตลอด มีจิตก็มีเวทนาอยู่ มันจะผุดขึ้นมา จิตดวงนี้มีความสุข จิตดวงนี้มีความทุกข์ จิตดวงนี้เฉยๆ เราทำกรรมฐานอะไรไม่เป็น เราก็นั่งอ่านจิตใจของตัวเองไป จิตใจเรามีความสุขเราก็รู้ จิตใจเรามีความทุกข์เราก็รู้ จิตใจมันเฉยๆ เราก็รู้ รู้บ่อยๆ รู้เรื่อยๆ ไป รู้เนืองๆ

ภาษาสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ท่านแปลสติปัฏฐาน จากบาลีเป็นไทย ท่านใช้คำว่ารู้เนืองๆ ตามเห็นเนืองๆ เห็นความสุขเกิดขึ้น เห็นความทุกข์เกิดขึ้น เห็นความไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้น เห็นความสุขดับไป ความทุกข์ดับไป ความไม่สุขไม่ทุกข์ดับไป ตรงที่เราเห็นสภาวะ ความสุขมันผุดขึ้นมาเรารู้ทัน มันก็ดับไปให้เราดู ตรงนี้เราทำวิปัสสนาแล้ว มันเริ่มเห็นไตรลักษณ์แล้ว ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตมันสรุปรวบยอดได้

ตรงที่เราดูเป็นช็อตๆ ไป สัญญามันไปหมายความเป็นไตรลักษณ์ ความสุขเกิดขึ้นดูไปแวบเดียวหายไป ความทุกข์เกิดขึ้นดูแวบเดียวมันหายไปแล้ว ไม่สุขไม่ทุกข์อยู่ชั่วคราวก็หายไปแล้ว ตรงนี้เราเริ่มที่จะหมายรู้เวทนาว่ามันไม่เที่ยง ตรงที่มันหมายรู้ได้ มันก็จะเริ่มเดินปัญญาวิปัสสนาได้แล้ว ต่อไปจะเห็นความสุขเกิดแล้วดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ ความไม่สุขไม่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้เราขึ้นวิปัสสนากรรมฐานได้

ไม่ใช่เรื่องยากเลยจริงๆ ในตำราบอกว่า เวทนานุปัสสนาเทียบกับกายานุปัสสนาแล้วยาก อันนั้นท่านมุ่งไปที่เวทนาทางกาย เวทนาทางกายเล่นยาก ถ้าไม่ทรงฌาน อย่างร่างกายมันเจ็บปวดดิ้นเร่าๆ จะให้จิตสงบตั้งมั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เวทนาทางใจดูง่าย เพราะเรามีอยู่แล้ว เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ ตามรู้ตามดูไปจนเห็นเลยว่า สุขมันก็ชั่วคราว ทุกข์มันก็ชั่วคราว เฉยๆ มันก็ชั่วคราว ตามรู้ตามดูอย่างนี้บ่อยๆ ปัญญาจะเริ่มเกิด เวทนาทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น จิตที่เกิดร่วมกับเวทนาทั้งหลายก็ดับทั้งสิ้น อย่างความสุขกับจิตที่รู้ความสุขมันก็เกิดด้วยกัน ความทุกข์กับจิตที่รู้ความทุกข์มันก็เกิดด้วยกัน ความเฉยๆ กับจิตที่รู้ว่าเฉยๆ มันก็เกิดด้วยกัน มันจับคู่กันระหว่างจิต กับสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต คู่กันไป

พอเรามาภาวนาใช้ตัวเวทนา เป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต เราใช้ตัวเวทนามาทำกรรมฐาน ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐานได้ ฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทันจิตใจตนเอง จิตใจเราสุขเราก็รู้ จิตใจเราทุกข์ก็รู้ จิตใจเราเฉยๆ ก็รู้ อย่างตอนเราฟังข่าวว่าจะเริ่มผ่อนคลายแล้ว ให้เราทำมาหากินได้ปกติแล้ว ได้ยินหัวข้อข่าวก็ดีใจ พอลงรายละเอียดอ้าวของเรายังทำไม่ได้ กิจการของเรา คืออะไรสมมติว่าอาบอบนวด หรือเป็นคาราโอเกะ ผับ บาร์ ในพื้นที่ซึ่งยังควบคุมเข้มแข็ง หรือเข้มงวดอยู่ยังทำไม่ได้ ทีแรกนึกว่าทำได้ดีใจ พออ่านข่าวเพิ่มขึ้นทำไม่ได้ กลายเป็นเสียใจแล้ว ทุกข์ขึ้นมาแล้ว กลุ้มใจอีกแล้วว่าตายแล้ว หลงดีใจนึกว่าจะทำมาหากินได้ ยังทำไม่ได้อีก

เราเฝ้ารู้ เวลาเรากระทบอารมณ์ กระทบเรื่องราวต่างๆ เกิดความสุขขึ้นมาเรารู้ มีการกระทบอันใหม่มาอีก ความสุขดับไปแล้ว เกิดความทุกข์ขึ้นมาแทน เราก็คอยรู้ คอยวัดใจของตัวเองไปเรื่อย ใจสุขก็รู้ ใจทุกข์ก็รู้ ใจเฉยๆ ก็รู้ ฝึกรู้ฝึกดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป สุดท้ายก็จะเห็นความสุขความทุกข์ ซึ่งเป็นอารมณ์ ก็เป็นของเกิดดับ จิตที่เป็นคนไปรู้ความสุขความทุกข์ มันก็เกิดดับเหมือนกัน ทั้งจิตทั้งอารมณ์เกิดดับไปพร้อมๆ กัน มีจิตก็ต้องมีอารมณ์ มีอารมณ์ก็มีจิต เกิดด้วยกันดับด้วยกัน เราจะเฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ จะเห็นแต่ของเกิดดับ เวทนาทางใจดูง่าย คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ เป็นของง่ายๆ แต่เวทนาทางกายยาก ควรจะเล่นฌานก่อน ถ้าเข้าสมาธิเข้าฌานได้ ร่างกายมันเจ็บปวดหนักหนาสาหัส จิตมันแยกออกมาเป็นคนดู ไม่ไหลเข้าไปรวม แต่ถ้าอยากลองฝึกดูก็ทำได้ตอนทำฟัน ตอนทำฟันมันเจ็บๆ ขึ้นมาดูสิจิตมันไหลไปรวมกับความเจ็บหรือมันยังเป็นคนดูอยู่ได้ ถ้ามันยังเป็นคนดูไม่ได้ แสดงว่าตอนจะตาย ถ้าเจ็บหนักขึ้นมาจริงๆ สู้ไม่ไหวหรอก ถ้าสู้ไม่ไหวทำอย่างไร เกิดเจ็บหนักจะตายแล้ว ภาวนาก็ยังไม่เก่ง ทำอะไรไม่ได้พุทโธไปเรื่อยๆ คิดถึงพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ ถึงอย่างไรตายไปก็ยังไปสุคติได้

นี่ธรรมะเอาใจนะ มีหลายระดับ ยังอินทรีย์อ่อนๆ ก็คอยคิดถึงพระพุทธเจ้าไว้ คิดเรื่อยๆ ไป อินทรีย์เราแข็ง เราก็แยกธาตุแยกขันธ์ดู ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่ง ร่างกายส่วนหนึ่ง ความเจ็บปวดส่วนหนึ่ง จิตเป็นอีกส่วนหนึ่ง ฝึกอย่างนี้ได้ต้องมีสมาธิพอ ก็แนะนำว่าให้ทำสมาธิเสียก่อน แล้วมาดูกายดูเวทนาจะทำได้ง่าย ถ้าไม่มีสมาธิ มาดูกายดูเวทนาเดี๋ยวก็สติแตก กรรมฐานแตกใช้ไม่ได้ การดูจิตดูใจมันดูง่ายๆ เริ่มแต่เวทนาทางใจ ไม่ต้องเข้าฌานหรอก ใจเราสุขเรารู้ ใจเราทุกข์เรารู้ ใจเราเฉยๆ เรารู้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ถ้าขืนไปเข้าฌานก่อน เวลาจิตมันมีความสุขอยู่ในฌาน สุขอยู่ตั้งหลายวัน หรือมันเฉยๆ เป็นอุเบกขาตอนเข้าฌาน ยิ่งอยู่หลายวันเลย บางทีอยู่ได้ 7 วัน ฉะนั้นไม่เห็นเกิดดับ มันคงที่นานเลย

กรรมฐาน ถ้าดูจิตดูใจ ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการเข้าฌานก่อน ถ้าเข้าฌานก่อนดูยากเสียอีก สำหรับคนซึ่งเข้าฌานไม่เป็น ก็ฝึกสมาธิขั้นต้น สมาธิขั้นต้น คือขณิกสมาธิ อย่างไรๆ ก็ต้องมีสมาธิ ไม่ว่าจะดูกาย หรือดูจิต แต่ดูกายถ้าได้อุปจาระ ได้อัปปนาสมาธิแล้วดูง่าย ดูเวทนาทางกาย ถ้าได้อุปจาระ ได้อัปปนาสมาธิก็จะดูง่าย แต่ดูจิตดูใจ กระทั่งดูเวทนาทางใจ ใช้ขณิกสมาธิเอา เป็นขณะๆๆ ไป คอยรู้ไปเรื่อยๆ อันนี้สำหรับคนที่อยากดูเวทนา แต่ดูเวทนาทางกายไม่ไหว เราหัดดูเวทนาทางใจไว้ กรรมฐานที่ง่ายมากเลยมีอยู่ 3 ตัวเอง ไม่ได้ดูอะไรเยอะเลย ใจขณะนี้สุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ แค่รู้เท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดว่าตอนนี้สุข หรือทุกข์ หรือเฉย

มีความสุขเกิดขึ้นในใจรู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจรู้ทัน ใจเราเฉยๆ รู้ทัน ให้ความรู้สึกมันเกิดก่อน แล้วค่อยรู้เอา ไม่ต้องไปเที่ยวหาว่า เอ๊ะตอนนี้สุขหรือทุกข์ ตอนนั้นไม่มีสติหรอกหาอย่างไรก็ไม่เจอ กำลังฟุ้งซ่านอยู่ไม่มีสติ โมหะ คือตัวอุทธัจจะ ตัวความฟุ้งซ่านกำลังเกิดอยู่ เพราะฉะนั้นอย่างเวลาที่เราภาวนา เราจะดูจิตดูใจแล้วเที่ยวส่าย ไหนๆๆ จิตเราเป็นอย่างไร จิตตอนนี้เป็นอย่างไร สุข หรือทุกข์ หรือเฉย หรือว่าโลภหรือว่าไม่โลภ โกรธหรือว่าไม่โกรธ หลงหรือไม่หลง เที่ยวหาๆ จิตฟุ้งซ่าน ในขณะที่จิตฟุ้งซ่าน จิตมีโมหะ อย่างไรก็ไม่มีสติเพราะมีกิเลส อย่างไรก็ไม่มีปัญญา เพราะโมหะกับปัญญา มันเป็นศัตรูกัน หัวหน้าโมหะ คือตัวอวิชชา หัวหน้าของปัญญาในฝ่ายโลกียะ พอเห็นตรงนี้จะกระโดดขึ้นโลกุตตระเลย คือตัววิชชา จะมีวิชชาขึ้นมาได้โลกุตตระ เราค่อยรู้ค่อยดูไป ฉะนั้นเวลาใจเราสุขเราก็รู้ ใจเราทุกข์เราก็รู้ ใจเราเฉยๆ เราก็รู้ ดูไปอย่างนี้ บางคนไม่ชอบรู้สึกไม่สนุก น่าเบื่อ อย่างบางคนขี้โมโห บางคนมันขี้โลภ เจออะไรอยากได้หมดเลย พวกขี้โกรธ ขี้โลภอะไรพวกนี้ พวกนี้ไม่ชอบดูเวทนา ก็มาดูจิต เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ส่วนใหญ่ทำวิปัสสนาได้ มีบางตัวใช้ทำสมถะ จิตบางดวงเอาไว้ทำสมถะ ทำง่ายๆ เลย คือจิตที่รู้ช่องว่าง รู้ว่าง ฉะนั้นเมื่อไรที่เราจ้องลงไปในว่าง ถึงดูจิตอยู่ จิตว่างแล้วดูในว่าง อันนั้นสมถะ อีกดวงหนึ่งที่ใช้ทำสมถะ เรียกอากิญจัญญายตนะ จิตที่ไม่จับทั้งอารมณ์ ไม่จับทั้งจิต ไม่จ้อง ไม่เพ่งทั้งอารมณ์ ไม่เพ่งทั้งตัวผู้รู้ ไม่จับอะไรเลยสักอย่าง ไม่ยึด ไม่ใช่ไม่ยึด ไม่เกาะอะไรสักอย่าง ตรงนั้นเอาไว้ทำสมถะ น้อมใจไป ให้มันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ไม่เกาะ ไม่เกี่ยวอะไรเลย นี้เป็นสมถะ ฉะนั้นไม่ใช่ดูจิตๆ แล้วจิตทุกชนิดทำวิปัสสนาหมด จิตบางอย่างทำสมถะได้ ต้องระมัดระวัง อย่างพวกที่ว่าดูจิตๆ แล้วไปเพ่งความว่าง อันนี้ไปหลงในสมาธิแล้ว หลงสมถะแล้ว ชื่อว่า อากาสานัญจายตนะ แล้วก็ถ้าไปพยายามไอ้โน่นก็ไม่จับ ไอ้นี่ก็ไม่จับ เจออะไรผุดขึ้นมาก็ปัดทิ้ง เจออะไรขึ้นมาก็ทิ้งๆๆๆ ไปเรื่อยๆ ไอ้โน่นก็ไม่ยึด ไอ้นี่ก็ไม่ยึด มีนะสอนกันอย่างนั้น อันนั้นชื่อ อากิญจัญญายตนะ มันจะไปหาอากิญจัญญายตนะ เป็นสมถะ

จิตที่จะเดินวิปัสสนาได้ คือจิตธรรมดานี่ล่ะ ไม่ต้องลึกซึ้งอะไรหรอก จิตมันโลภขึ้นมาก็รู้ จิตมันไม่โลภก็รู้ จิตมันโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตมันไม่โกรธก็รู้ จิตมันหลงขึ้นมาก็รู้ จิตมันรู้ตัวขึ้นมาก็รู้ จิตมันฟุ้งซ่านก็รู้ จิตมันหดหู่ก็รู้ ที่เหลือจิตตานุปัสสนามีทั้งหมด 16 ตัว 8 ตัวแรกเป็น 4 คู่ 8 ตัว อันนี้สำหรับคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาธิสูง 4 ตัวหลังเหมาะกับคนที่ได้สมาธิสูงขึ้นไป คือตั้งแต่ได้อุปจาระหรือไม่อุปจาระ อัปปนาหรือไม่อัปปนาขึ้นไปอย่างนั้น พวกเราไม่มี ไม่ต้องไปสนใจมัน ไม่ต้องไปดูมัน ดูของที่เรามี จิตโลภเรามีไหม จิตมีราคะเรามีไหม อยากโน่นอยากนี่ เห็นรูปก็อยากเห็น เห็นมือถือก็อยากได้ เห็นไอ้โน่นเห็นไอ้นี่ก็อยากได้ หรือเห็นแล้วก็หงุดหงิด เห็นบางอย่างก็หงุดหงิด โทสะขึ้น พอตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจกระทบความคิด ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ใจกระทบความคิด มันก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมา เกิดชอบ เกิดไม่ชอบ เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นราคะรักใคร่พอใจ เดี๋ยวก็หงุดหงิดไม่พอใจขึ้นมา

อย่างจิตใจเราขี้โลภ เห็นอะไรก็ชอบไปหมดเลย อยากได้หมดเลย ขี้โลภมาก เราใช้ตัวโลภมาทำกรรมฐาน เล่นมันตัวเดียวเอง ถ้าดูเวทนา 3 ตัว 3 ตัวเยอะไป ดูมันตัวเดียวนี่ ล่ะ ตอนนี้ใจเราโลภ หรือใจเราไม่โลภดูแค่นี้ 2 ตัวเองเหลือ 2 ตัวเอง ใจโลภกับใจไม่โลภ ถ้าเป็นคนขี้โมโห เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็รำคาญ เดี๋ยวก็อิจฉา นี้ตระกูลของโทสะ ใจเรามีโทสะบ่อย เราก็ใช้โทสะมาทำกรรมฐาน อยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราก็จะเห็นเลย เดี๋ยวจิตก็โกรธ เดี๋ยวจิตก็ไม่โกรธ โกรธปุ๊บพอเรารู้ทันว่าโกรธ มันก็ไม่โกรธ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับต่อไปเรื่อยๆ หัดรู้บ่อยๆ หัดรู้เรื่อยๆ ไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นวิปัสสนา ทำวิปัสสนาได้ จะเห็นจิตโลภก็ไม่เที่ยง จิตโลภนี้เราไม่ได้เจตนาโลภ มันโลภของมันได้เอง มันเป็นอนัตตา ถ้าเห็นอย่างนี้เรียกว่าขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐานแล้ว เห็นความจริง คือเห็นไตรลักษณ์แล้ว

จิตโลภ พอเรามีสติรู้ทัน อ้าว ดับไปเฉยๆ เลย เราไม่ได้ดับจิตโลภ แต่ทันทีที่สติเกิด จิตโลภมันดับของมันเอง เพราะจิตโลภเป็นจิตอกุศล ทันทีที่จิตเกิดสติ จิตที่เป็นอกุศลนั้นได้ดับไปเรียบร้อยแล้ว ได้เกิดจิตที่เป็นกุศลขึ้นแทนแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาจิตมันโลภ มันโกรธ มันหลง มันฟุ้งซ่าน มันหดหู่ ไม่ต้องนั่งแก้ ขอให้มีสติตัวจริงเกิดขึ้นเท่านั้น รู้อย่างที่มันกำลังเป็น เห็นอย่างที่มันกำลังเป็น กิเลสมันดับเอง ฉะนั้นเวลาที่เราภาวนา เราไม่ได้ภาวนาแล้วดับกิเลส แต่กิเลสมันดับเองเพราะสติมันเกิด สังเกตให้มันละเอียดลงไป ถ้าเราไปเห็นว่า กิเลสโทสะเกิดเราไปจ้องหาทางดับมัน ในที่สุดมันดับไป แทนที่จะเห็นไตรลักษณ์ มันจะเห็นอัปลักษณ์แทน จะเห็นว่ากูเก่ง จิตโกรธขึ้นมากูเพ่งพักเดียวก็หายแล้ว กูเก่ง มีกูขึ้นมาแล้ว มีตัวกูของกูขึ้นมาแล้ว แทนที่จะเกิดปัญญา จะเกิดความหลงผิดมากขึ้นๆ กลายเป็นกูเก่ง เพราะฉะนั้นจริงๆ ไม่มีใครดับกิเลสได้ แต่เมื่อใดสติเกิดเมื่อนั้นกิเลสมันดับของมันเอง เพราะจิตที่เป็นอกุศล มันไม่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศล มันเกิดได้ทีละอย่าง ตอนไหนจิตเป็นอกุศล ตอนนั้นจิตที่เป็นกุศลก็ไม่มี กำลังโกรธอยู่สติไม่เกิดหรอก เราบอกเราก็รู้อยู่ว่าโกรธ แล้วทำไมว่าไม่มีสติ นั่นรู้เฮงซวย รู้ส่งเดชไป ไม่ได้มีสติจริง ถ้ามีสติปั๊บขึ้นมาขึ้นมา กิเลสที่กำลังมีอยู่ขาดสะบั้นเลย ดับทันทีเลย สติเกิด กิเลสดับ

จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปตลอดเวลา เกี่ยวเนื่องกันไปเรื่อยๆ ถ้าเราเป็นคนขี้โลภ เราใช้ความโลภของเรามาทำกรรมฐาน เหมือนเรามีขยะอยู่ เราเอาขยะมารีไซเคิลทำประโยชน์ได้ กิเลสของเราเหมือนขยะ รู้จักใช้มันก็เป็นประโยชน์ อาศัยกิเลสมาทำวิปัสสนากรรมฐานได้ คนไหนขี้โลภ เราก็คอยดูไป เดี๋ยวจิตโลภ เดี๋ยวจิตไม่โลภ เดี๋ยวจิตโลภ เดี๋ยวจิตไม่โลภ ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นจิตโลภก็ไม่เที่ยง จิตไม่โลภก็ไม่เที่ยง จิตโลภเราสั่งห้ามมันว่าอย่าโลภ มันก็ไม่เชื่อ จิตไม่โลภ เราชอบอยากให้มันอยู่นานๆ มันก็ไม่อยู่ เดี๋ยวมันก็โลภอีกแล้ว นี่คือเรียกอนัตตา ฉะนั้นดูจิตดูใจก็จะเห็น เดี๋ยวก็เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา แล้วแต่เราจะเห็น ไม่ได้เจตนาจะเห็นหรอก สัญญามันไปหมายแล้วมันไปเห็นเอาเอง ค่อยๆ ฝึก ถ้าคนไหนขี้โกรธ โกรธเก่ง อย่างหลวงพ่อตอนเป็นโยม หลวงพ่อขี้โกรธ โกรธเรื่อยเลย ไม่ได้โกรธตึงตังอะไรหรอก แต่ว่ามันหงุดหงิด อากาศร้อนๆ แล้วลมมันนิ่งๆ แค่นี้ก็หงุดหงิดแล้ว อากาศกำลังหนาว แล้วลมหนาวพัดเยือกมาก็หงุดหงิดแล้ว อยู่ในที่ที่แสงสว่างสบาย เดินออกไปแดดกระทบเปลือกตาก็หงุดหงิดแล้ว เป็นคนขี้โมโห ขี้หงุดหงิด

หลวงพ่อทำกรรมฐานง่ายๆ เลย จิตหงุดหงิดแล้วรู้ จิตหงุดหงิดแล้วรู้ไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ตั้งแต่มันเริ่มหงุดหงิด มันก็จะไม่มีจิตโกรธแรงๆ หรอก แต่ถ้ารู้ไม่ทันเดี๋ยวมันก็พัฒนาขึ้นมาเป็นโมโห เป็นโกรธแรงๆ คนไทยใช้คำผิดนะว่าโมโห โมโหไม่ได้แปลว่าโกรธ โมโหคือตัวโมหะ โมโหผู้มีโมหะ โทสะ อยู่ในกลุ่มนี้ เราเรียกผิด เราไปเรียกตัวโกรธว่าโมโหแล้ว วันนี้โมโหแล้ว อันนี้ไม่ถูกแต่ก็เรียกกันจนรู้เรื่อง ก็ใช้ได้แล้ว แต่เราภาวนาแล้วอย่าไปเรียก จิตโกรธไม่ใช่จิตโมโห จิตโกรธก็คือจิตมีโทสะ ฉะนั้นเราคอยรู้ไป เราจะเห็นว่าจิตที่มีโทสะก็ไม่เที่ยง จิตที่ไม่มีโทสะก็ไม่เที่ยง จิตที่มีโทสะก็เป็นอนัตตา ตั้งใจไว้ว่าจะไม่โกรธก็โกรธ จิตที่ไม่มีโทสะก็เป็นอนัตตา ตอนนี้สบาย พอกระทบอารมณ์ใหม่โทสะขึ้นอีกแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดู คนไหนขี้โลภก็เอาจิตโลภมาทำกรรมฐาน คนไหนขี้โกรธก็เอาจิตโกรธมาทำกรรมฐาน เหมือนเอาขยะมารีไซเคิล แล้วใช้ประโยชน์ใหม่ได้ ไหนๆ ก็มีกิเลสแล้ว แทนที่จะปล่อยให้มันแผดเผาเรา เราเอามาใช้ประโยชน์จากมันเสียเลย เอามาเป็นอุปกรณ์ทำกรรมฐาน มาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ฝึกไปเรื่อยๆ อาจจะได้บรรลุมรรคผลก็ได้ ไม่ต้องไปเข้าฌานก่อนหรอก แค่มีสมาธิชั่วขณะ สมาธิชั่วขณะต้องฝึก

วิธีฝึกสมาธิชั่วขณะ ก็คือทุกวันต้องแบ่งเวลาทำกรรมฐานในรูปแบบ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง เช่น พุทโธๆๆ ไปก็ได้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ได้ นะ มะ พะ ทะ ก็ได้ สัมมาอรหังก็ได้ อะไรก็ได้ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก็ได้ หรือจะหายใจเอาก็ได้ ต้องทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วเรารู้ทันจิตตัวเอง ทำกรรมฐานแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตหลงไป รู้บ่อยๆ ตรงที่เรารู้ทันสภาวะ จิตรู้จะเกิด จิตหลงมันจะดับ เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พุทโธๆๆ ไป พุทโธ เป็นความคิดเอาไปทำวิปัสสนาไม่ได้ พุทโธ เป็นความคิด เรียกอารมณ์บัญญัติ แต่ว่าเวลาเราพุทโธๆ ไปแล้วเราสังเกตจิต เราเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ตรงนี้ทำวิปัสสนาได้ เพราะตัวจิตนั้นมีสภาวะ เป็นนามธรรม คำว่าพุทโธเป็นสมมติบัญญัติ แต่ว่าเราอาศัยสมมติบัญญัติ แล้วมารู้จิตรู้ใจตัวเอง ไปอย่างนี้ได้

เราก็พุทโธๆๆ ไปสบายๆ พอจิตหนีไปคิดเรื่องอื่นมันลืมพุทโธ เราก็ได้รู้ไวๆ เฮ้ย ลืมพุทโธไปแล้วอย่างนี้ เราก็จะกลับมาพุทโธใหม่ ไม่ห้าม จิตจะหลงก็ไม่ห้าม แต่ว่าอย่าหลงนานเท่านั้นเอง พุทโธเป็นความคิด เป็นเรื่องที่เราจงใจคิด ถ้าเราไม่จงใจคิดพุทโธ จิตมันก็หนีไปคิดของมันเอง มันไปคิดร้อยเรื่อง พันเรื่อง หมื่นเรื่อง แสนเรื่อง ในเวลาอันสั้นๆ คิดสารพัดเรื่องเลย ตรงนั้นเรียกว่าฟุ้งซ่าน ฉะนั้นที่เรามาหัดพุทโธๆ เพื่อไม่ให้จิตมันหนีฟุ้งซ่านไปที่อื่นหรอก เพียงแต่ว่าไม่ได้พุทโธแล้วบังคับจิต ว่าต้องสงบอยู่กับพุทโธ เราพุทโธๆๆ ไปพอจิตลืมพุทโธ หนีไปคิดเรื่องอื่น สักพักเดียวเราจะนึกได้ว่ามันลืมพุทโธ ขาดสติไปแล้ว ต่อไปมันจะรู้ได้เร็วขึ้น พอเริ่มหนีไปคิดปุ๊บรู้ปั๊บ หนีไปคิดปุ๊บรู้ปั๊บ พุทโธๆๆ ไป มันหนีไปคิด ลืมพุทโธปั๊บแล้วรู้เลย เพราะมันเคยพุทโธจนชำนาญแล้ว

หรือเราเคยฝึกหายใจจนชำนาญ พอจิตหนีไปคิดเรื่องอื่นมันลืมลมหายใจ สักพักหนึ่งเราก็จะนึก อุ้ย ลืมลมหายใจไปแล้ว ขาดสติแล้ว ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตมันหลงไป ทีแรกนานๆ ถึงจะรู้ ต่อมาพอรู้บ่อยๆ สติมันเร็วขึ้นๆ ต่อไปพอมันหลงปุ๊บรู้ปั๊บ หลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย สติอัตโนมัติมันเกิด ตรงที่สติมันรู้ทัน จิตหลงแล้วรู้ปุ๊บ จิตมันจะเกิดสมาธิชนิดขณิกสมาธิขึ้น จิตจะตั้งมั่นขึ้นชั่วขณะเราฝึกบ่อยๆ หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้บ่อยๆ ขณิกสมาธิของเราก็จะเริ่มถี่ขึ้นๆๆ ไม่ใช่รู้ตัว 1 ครั้ง ลืมตัวไป 3 ชั่วโมงแล้วรู้อีกครั้ง อย่างนี้จับไม่ได้ว่าขณิกสมาธิเป็นอย่างไร แต่ทีแรกก็หลงยาวหน่อยแล้วก็รู้ หลงยาวแล้วก็รู้ ต่อมามันก็เริ่มหลงสั้นลงแล้วรู้ได้เร็วขึ้นๆ จนรู้ถี่ๆ ขึ้นมา ตรงรู้ถี่ๆ ขึ้นมาใจเราจะค่อยๆ ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ใจมันมีขณิกสมาธิขึ้นมาแล้ว

ฉะนั้นค่อยๆ ฝึก อย่าดูถูกขณิกสมาธิ ท่านที่บรรลุพระอรหันต์ส่วนใหญ่นั้นมาด้วยขณิกสมาธิ ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง อยู่ในพระไตรปิฎก พระส่วนใหญ่เป็นสุกขวิปัสสกะ ท่านไม่ได้ทรงฤทธิ์ ทรงเดช ทรงฌานอะไรกับใครเขาเท่าไรหรอก เป็นคนอย่างพวกเรานี่ล่ะ แล้วก็หัดสังเกตสภาวะไป ตรงที่รู้สภาวะตรงตามความเป็นจริงได้ สติรู้สภาวะถูกต้องตามความเป็นจริง ขณิกสมาธิก็จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ ถ้ามันเกิดถี่ขึ้นๆๆ มันจะเหมือนใจเราทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้นานๆ ฝึกอย่างนี้แล้วจะเห็นเลย สิ่งทั้งหลายล้วนแต่ผ่านมาแล้วผ่านไป สิ่งทั้งหลายมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไปเห็นอยู่อย่างนี้ทั้งวันเลย เห็นอยู่อย่างนี้แล้วไม่ต้องกลัว มรรคผลนิพพานไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้านานๆ เห็นทีไม่ได้กินหรอก กิเลสเอาไปกินหมด

ค่อยๆ สังเกตเอา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราทำได้ จะดูกายก็ได้ จะดูเวทนาก็ได้ เวทนาที่แนะนำสำหรับคนที่ไม่ได้ฌาน คือดูเวทนาทางใจ จะดูจิตดูใจก็ได้ แต่อย่าไปแทรกแซงบังคับจิตให้นิ่งให้ว่าง อันนั้นเป็นสมถะ ถ้าจะดูจิตให้เกิดวิปัสสนา ก็ดูให้เห็นจิตโลภก็ไม่เที่ยง จิตไม่โลภก็ไม่เที่ยง จิตโกรธก็ไม่เที่ยง จิตไม่โกรธก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตสงบก็ไม่เที่ยง จิตฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง จิตหดหู่ก็ไม่เที่ยง ไม่มีจิตไหนเที่ยงเลย ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป ไม่ต้องไปเข้าฌาน ถ้าเข้าฌานแล้วจะดูยาก เพราะว่าเวลาเข้าฌาน จิตจะเกิดจิตชนิดเดียวกันต่อเนื่องยาวนานมากเลย อย่างถ้าเราเข้าฌานตลอดคืน จิตมันจะเกิดซ้ำๆๆ กันเหมือนเดิมตลอดคืนเลย เราจะรู้สึกว่าจิตเที่ยง อย่างพวกฤษีชีไพรทำสมาธิไป ทำสมาธิมาเลยสอนบอกว่า จิตเป็นอัตตา อัตตานี่ภาษาบาลี ถ้าสันสกฤตบอกจิตเป็นอาตมัน เป็นอัตตา เป็นพระเจ้า จิตเป็นพระเจ้า สำคัญผิดว่ามันมีอัตตา มีอาตมัน เพราะทำสมาธิผิด

ถ้าทำสมาธิถูกก็จะไม่เห็นอย่างนั้น พวกที่เล่นฌานเล่นสมาธิแล้วเป็นต้นตอของมิจฉาทิฏฐิ มีจำนวนมากเลย อย่างบางคนเข้าฌานได้ เข้าอรูปฌานที่ 4 แล้วน้อมจิตไปสู่เนวสัญญาฯ จิตดับ เหลือแต่รูปจิตดับ พอจิตเกิดขึ้นมาจะระลึกชาติไปด้วย ก็จะเห็นว่าก่อนที่จะมีจิตไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นก็จะคิดว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นลอยๆ ไม่มีเหตุหรอก แต่เดิมไม่มีแล้วก็มีขึ้นมาเฉยๆ นี่มันก็มิจฉาทิฏฐิ บางพวกก็ระลึกไป เราเป็นพระพรหมนานมาก คนอื่นตายไปเยอะแยะแล้ว แต่เรานี้เที่ยง เราเป็นสยัมภู เป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไปสังเกตดูมิจฉาทิฏฐิส่วนใหญ่มาจากการทำสมาธิที่ผิด เราทำสมาธิให้ถูก ทำสมาธิแล้วก็มีสติไว้ คอยสังเกตคอยรู้คอยดูให้เห็นว่า กระทั่งจิตที่มีสมาธิก็เกิดดับเหมือนกัน เกิดดับ เกิดดับ แล้วก็ฝึกตัวเองอย่าให้จิตมันหายไป ให้จิตมันดับหายไปเลยคิดว่าบรรลุมรรคผล ไม่ใช่ อันนั้นเป็นพรหมลูกฟัก เหลือแต่ร่างกายไม่มีจิต

ฉะนั้นค่อยๆ ฝึก ไม่ใช่เรื่องยากเรื่องเย็นอะไร ฝึกง่ายๆ เลย ถ้าเราเห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้าแล้วก็รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จิตเป็นคนรู้คนดูได้ก็ทำอย่างนี้ก็ได้ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนไป จิตเป็นคนรู้คนดู เราก็ทำอย่างนี้ก็ได้ เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้คนดูอย่างนี้ก็ได้ หรือจะดูความสุข จิตเราสุข จิตมันทุกข์ จิตมันเฉยๆ ค่อยๆ รู้ไป ทีแรกจะรู้สึกว่าเราสุข ดูไปๆ จะเห็นเลยความสุขกับจิตมันคนละอันกัน แล้วจะรู้เลยไม่ใช่เราสุขแล้ว เพียงแต่ความสุขมันเกิดขึ้นแล้วจิตมันไปรู้เข้า ความทุกข์เกิดขึ้นจิตไปรู้เข้า ปัญญามันก็เกิด ฉะนั้นเราคอยรู้เวทนาในใจของเรา ดูแค่นี้ก็พอ แค่นี้ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า หรือถ้าโลภมาก โกรธมาก ฟุ้งซ่านมาก ดูเวทนาแล้วมันไม่ถึงอกถึงใจ ก็เจริญจิตตานุปัสสนาไป จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ ไม่มีโทสะก็รู้ จิตมีโมหะก็รู้ ไม่มีโมหะก็รู้

ฝึกเรื่อยๆ ไป ไม่ว่าเราจะฝึกกาย หรือเวทนา หรือจิต เราทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ทั้งสิ้น อย่างในพระไตรปิฎกก็มีร่องรอยให้เราเห็น ท่านที่เจริญกายานุปัสสนาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือท่านพระอานนท์ พระอานนท์จนถึงคืนสุดท้ายยังดูกายอยู่เลย ที่จะบรรลุพระอรหันต์ แล้วพอหมดความจงใจเอนกายลงนอน ศีรษะไม่ทันถึงหมอน เท้าไม่ทันพ้นจากพื้น ท่านนอนเตียงเอนตัวลงไปหัวไม่ถึงหมอน เท้าไม่หลุดจากพื้นเลย บรรลุพระอรหันต์ ตอนที่เอนตัวลงไปมีสติ สมาธิอัตโนมัติมีแล้ว มีปัญญาอัตโนมัติแล้ว เห็นรูปมันเคลื่อนไหวแล้ว ฉะนั้นท่านบรรลุพระอรหันต์ตรงนั้น เพราะไม่มีโลภเจตนาในตรงนั้นแล้ว ก็เกิดอริยมรรค อรหัตตมรรคของท่านขึ้น

ท่านที่บรรลุด้วยการดูเวทนา อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านพระโมคคัลลา ท่านที่บรรลุด้วยการดูจิต คือท่านพระอนุรุทธ ท่านที่บรรลุด้วยธัมมานุปัสสนา ที่แน่ๆ องค์หนึ่งก็คือพระพุทธเจ้า ฉะนั้นสติปัฏฐาน 4 เหมือนประตูเมือง 4 ด้าน ฝึกให้ช่ำชองเพียงอันใดอันหนึ่งถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ อันนี้ในตำรับตำรามีอยู่ ในการปฏิบัติจริงมีอยู่ อย่างอันนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล หลวงพ่อเชื่อว่าหลวงปู่ดูลย์จบ เป็นความเชื่อไม่ได้ผิด ก็เชื่ออย่างนี้ ไม่ได้โฆษณาว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเรียนจากหลวงปู่มั่น เรียนจากหลวงปู่มั่นแล้วท่านเข้าใจธรรมะเบื้องต้นเท่านั้นเอง หลวงปู่มั่นสอนท่านพุทโธพิจารณากาย ท่านทำอยู่แล้วได้ธรรมะขั้นต้น ขั้นที่หนึ่ง เลย กลับมาหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนท่านดูจิตเลย ฉะนั้นถ้าคนไหนพร้อมจะดูจิต ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้ดูจิตไปเลย ไม่ใช่ว่าดูกายในขั้น 1 2 3 อะไรอย่างนี้ไม่จำเป็น แต่ละคนมีลีลาเฉพาะตัวแล้วแต่จริตนิสัย แล้วแต่วาสนาบารมี แต่ละคนไม่เหมือนกัน ทางใครทางมัน

พวกเราเรียนกรรมฐาน เราคิดว่ากรรมฐานมีทางเดียว ต้องอย่างนี้ๆ ถ้าต้องอย่างนี้ๆ มันยึดถือมากไป ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่หรอก กรรมฐานนี้ทางใครทางมัน แต่ทางนั้นต้องอยู่ในหลักของอริยมรรค อยู่ในหลักของสติปัฏฐาน อย่างหลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อเห็นชัดเลย หลวงปู่ดูลย์สอนลูกศิษย์แต่ละองค์ แต่ละคน มีทั้งองค์ ทั้งคน ทั้งฆราวาส ทั้งพระมี ท่านสอนแต่ละองค์ แต่ละคน ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเลย บางคนท่านให้พุทโธ เริ่มมาจากสมถะด้วยการพุทโธ บางองค์ท่านให้ดูกระดูก เริ่มจากการดูกระดูก บางคนใช้คำว่าบางคน ท่านให้ดูผมเส้นเดียว ฉะนั้นท่านสอนต่างกัน แต่สิ่งที่ได้เหมือนกัน คือได้สมาธิขึ้นมา ตรงที่ได้สมาธิแล้วก็เข้ามาเรียน จะสอนวิปัสสนาต่อให้ แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเจริญปัญญาด้วยการดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม แต่ละคนก็แตกต่างกันไป ค่อยๆ ดูทางใครทางมัน ไม่ใช่มีหลักสูตรแน่นอนตายตัว ต้องอย่างนี้เท่านั้นจึงจะถูก ต้องอย่างนี้เท่านั้นถึงจะถูก นี่เป็นความยึดถือมากเกินไป แต่ละคนจริตนิสัยแตกต่างกัน

พระพุทธเจ้าถึงสอนธรรมะแตกต่างกันตั้งมากมาย กรรมฐานมีตั้งเยอะตั้งแยะ เพราะว่าจริตนิสัยคนต่างกัน ไม่ใช่ต้องเหมือนกันหมดทุกคน อย่างพวกเราได้ยินว่าหลวงพ่อทำสมถะด้วยอานาปานสติ หลวงพ่อเจริญวิปัสสนาด้วยจิตตานุปัสสนา ใช้การดูจิตดูใจเอา แล้วเราจะต้องเรียนอย่างหลวงพ่อไหม ไม่จำเป็น หลายคนหลวงพ่อก็ให้ดูกระดูกด้วยซ้ำไป บางคนหลวงพ่อเริ่มต้นให้ดูกระดูก ให้ดูร่างกาย ให้พิจารณากายคตาสติ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่เป็นเรื่องของสมถะ แต่พอจิตมันมีเรี่ยวมีแรง บางคนให้ดูจิตไป จิตไหลแล้วรู้ๆ ก็ได้สมาธิขึ้นมาเหมือนกัน ฉะนั้นทางใครทางมัน คุณแม่น้อย (แม่ชีพิมพา วงศาอุดม) ท่านอยู่กับหลวงปู่เทสก์ จริงๆ ท่านภาวนามานานนักหนาแล้ว ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง ท่านบอกว่า หลวงพ่อพูดภาษาอีสานไม่เป็น แต่เนื้อหาก็คือ “คนหลายๆ คน จะไปกินน้ำบ่อเดียวกัน เดินทางเดียวกัน แต่ไม่เหยียบรอยกัน” อันนี้คือหลักของธรรมะ

เดินในทางเดียวกัน คือเดินอยู่ในเอกายนมรรค ในทางที่พระพุทธเจ้าสอนเอกายนมรรค ทางสายเอก สายเดียว คือเดินในทางของสติปัฏฐาน แล้วแต่ละคนไม่เหยียบรอยกัน คือทางใครทางมัน แต่อยู่ในหลักวิชาอันเดียวกัน ก็ไปกินน้ำบ่อเดียวกัน คือไปถึงพระนิพพานที่เดียวกัน ฉะนั้นไม่ใช่ทุกคนต้องทำเหมือนๆ กัน จริตนิสัยเป็นอย่างไรสังเกตตัวเองเอา ทำสมาธิแบบไหนแล้วสงบก็เอาอย่างนั้น เจริญปัญญาดูรูป หรือดูนาม ดูนามก็จะดูเวทนา หรือจะดูกุศล อกุศล ถนัดอันไหนก็เอาอันนั้น ไม่ต้องเลียนแบบกัน ทางใครทางมัน แต่สุดท้ายก็ลงไปที่เดียวกัน

พยายามฝึกทุกวันๆ พยายามฝึกเข้า รักษาศีล 5 ไว้ อย่าไปยุ่งกับอบายมุขทั้งหลายมีแต่เสื่อม คบคนที่ดีๆ ไว้ ถ้าสังเกตในมงคล ถ้าเราอยากมีชีวิตที่เป็นมงคล มงคล 38 ประการเริ่มมาจากไม่คบคนพาล คบบัณฑิต มงคลทั้งหลายมันเริ่มมาจากการคบคน ถ้าคบคนไม่ดีก็เป็นอัปมงคลแน่ชีวิต ถ้าคบคนดีเป็นมงคลแน่ แล้วความดีต่างๆ จะงอกงามขึ้นไป ฉะนั้นเลือกคบคน แล้วก็ภาวนา แบ่งเวลาภาวนาทุกวัน ตอนแรกจิตไม่สงบฝึกให้สงบ สงบแล้วก็คอยรู้ทันสภาวะ จิตก็จะตั้งมั่น พอตั้งมั่นแล้วเจริญสติในชีวิตจริงๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ความรู้สึกเกิดอะไรขึ้นมารู้ทันไป จะเห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกอย่างบังคับไม่ได้ คนจริงก็ได้ของจริง คนดีแต่พูดไม่มีทางได้ของจริงหรอก

นักปฏิบัติจำนวนมากดีแต่พูด พูดธรรมะกันแจ้วๆ ให้ลงมือทำจริงๆ ไม่ค่อยทำเท่าไร ทำน้อย พูดเยอะทำน้อย มันถึงไม่ค่อยจะได้ดีเท่าไร แต่คนไหนทำจริงก็จะได้ของจริง อดทน ทีแรกล้มลุกคลุกคลาน เป็นเรื่องธรรมชาติ อดทนไว้ พากเพียรไป ถึงวันหนึ่งมันก็ดีขึ้นมา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 มกราคม 2564