สติสำคัญมาก ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ มีสติคือมีการปฏิบัติ จะทำสมถะก็ต้องมีสติ จะทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติ แต่ทำวิปัสสนาก็ต้องสติบวกปัญญา บวกสมาธิ บวกปัญญาเข้าไป ถ้าเราขาดสติตัวเดียว ก็ไม่ได้ภาวนาแล้ว หลง ลืม
จุดเริ่มต้นที่เราจะฝึกกัน ฝึกให้มันมีสติไว้ หายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกตัวไป เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง รู้สึกตัวไป ถ้าขาดความรู้สึกตัว ขาดสติ ให้เรารู้สึกตัวเนืองๆ ฝึกทุกวันๆ เวลาต้องการให้จิตสงบ ให้จิตได้พักผ่อน หรือจะฝึกให้จิตตั้งมั่น คือเรื่องของการฝึกสมาธิทั้งหลาย ก็ต้องอาศัยสติ
นักปฏิบัติส่วนใหญ่ที่หลวงพ่อเคยเห็น อย่างเขาจะทำสมาธิ เขาไม่ได้เน้นที่สติ เขาจะน้อมใจให้มันนิ่งๆ ซึมๆ ไป บางทีก็เพ่งเอาไว้เครียดๆ แล้วค้างอยู่อย่างนั้น คิดว่าอันนั้นคือทำให้เกิดสมาธิ ถ้าเราทิ้งสติเราก็ไม่ได้สมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสติเกิดขึ้น สัมมาสมาธิถึงจะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่นั่งสมาธิกัน นั่งกันซึมๆ หรือเครียดๆ มี 2 กลุ่ม พวกซึมกับพวกเครียด ส่วนที่นั่งไม่ได้เรื่องเลย นั่งฟุ้งไปเรื่อยๆ ใจหนีไปเรื่อยๆ เราต้องฝึกสิ่งเหล่านี้ อยู่ๆ จิตมันไม่เกิดหรอก สติ สมาธิ ปัญญาอะไรพวกนี้
พระพุทธเจ้าถึงสอนสติปัฏฐาน สติปัฏฐานในเบื้องต้นนั้นเป็นไปเพื่อความมีสติ สติปัฏฐานในเบื้องปลายเป็นไปเพื่อความมีปัญญา ฉะนั้นในสติปัฏฐานนี้ครอบคลุมทั้งสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐานด้วยการฝึกสติ กว่าจะจับหลักตัวนี้ได้ก็ภาวนาตั้งหลายปี แต่ก่อนภาวนาปฏิบัติธรรมมันเหมือนเราคลำไปในที่มืด ไม่รู้อะไรเลย คลำๆๆ คนที่คลำๆ จำนวนไม่ใช่น้อย แต่คลำแล้วไปถูกจุดมันเข้า หลุดออกมาได้ มีน้อย
หัดทีแรก ที่หลวงพ่อหัดก็หัดไปทางสมาธิ หายใจเข้าพุทออกโธอะไรอย่างนี้ จิตมันสงบ พอมันได้สมาธิต้นๆ ออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก อันนั้นเป็นสมาธิที่ไม่ถูกหรอก มันทำผิด เราไม่มีสติกำกับจิตใจของเรา จิตใจมันก็ฟุ้งไปตามกิเลส มันอยากเห็นอะไรมันก็ส่งจิตไปเห็น ไปเห็นสวรรค์ เห็นวิมาน เห็นสวนดอกไม้ของเทวดาอะไรพวกนี้ จิตมันหลอน จิตมันปรุงไป จริงหรือเปล่าไม่รู้ มันพิสูจน์อะไรไม่ได้ ไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกมันไม่มีสาระแก่นสารอะไร เราไปเห็นวิมานของเทวดาเราก็อยู่ไม่ได้ เห็นอะไรของเขา เราก็เข้าไปเสพไม่ได้สักอย่างเดียว เหมือนยาจกไปดูบ้านเศรษฐี รู้สึกเสียเวลาเรา ไม่เจียมตัว อีกอย่างหนึ่งก็กลัวว่าถ้าจิตออกข้างนอก แล้วไปเห็นผีจะทำอย่างไร หลวงพ่อเป็นคนกลัวผีมาแต่เด็ก ขนาดลูกแมวที่บ้านตาย กลางคืนพยายามจะไม่หลับ กลัวผีแมวมาเข้าฝัน กลัวได้ละเอียดลออมาก
พอนึกถึง เอ๊ะ ออกไปดูเทวดาเราไม่กลัว ถ้าไปเจอผีจะทำอย่างไร ตั้งแต่นั้นก็เลยพยายามฝึกใหม่ ก็หายใจเข้าพุทออกโธอย่างเดิม แต่พอใจมันจะเคลิ้มลง เพิ่มสติขึ้น เพิ่มความรู้สึกตัวให้มันชัดเจนขึ้น แต่ไม่ใช่เพิ่มตลอดเวลาจนมันแน่น ถ้าเพิ่มตลอดเวลามันจะแน่นๆ ไม่ถูกอีก เครียด อย่างพอใจเราเริ่มเคลิ้ม เราหายใจให้แรงขึ้นสัก 2-3 ที คล้ายๆ ปลุกความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น พอจิตมันตั้งมั่นมันรู้สึกตัวได้แล้ว ไม่เคลิบเคลิ้ม ไม่ถูกโมหะครอบ ดูลงไปตรงไหนก็จะเห็นเลยว่า ตรงนั้นมีแต่ความแตกสลายไป ไม่มีตัวตนอะไร ดูลงในร่างกาย ร่างกายก็แตกสลายไป อันนี้ก็เป็นกำลังของสมาธิในระดับอุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ตรงที่ไปเดินปัญญาออกมาข้างนอกอย่างนี้ ฉะนั้นทำสมาธิแล้วก็มีจิตตั้งมั่นอยู่ ดูลงในกาย ดูลงในใจไป อาศัยขณิกสมาธิ ดูไปๆ แล้วบางทีสมาธิมันแรงขึ้นมา มันเข้าไปที่อุปจารสมาธิ แล้วมันก็เริ่มเห็นนิมิตต่างๆ เช่น เห็นร่างกายนี้แตก หรือเห็นร่างกายเน่า
ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งที่หลวงพ่อเรียนกับท่านมากคือหลวงพ่อพุธ (ฐานิโย) ท่านก็เคยเล่าว่าตอนนั้นท่านเป็นวัณโรค สมัยท่านยังหนุ่มๆ เป็นพระเด็กๆ เป็นวัณโรค ยุคนั้นใครเป็นวัณโรคก็ตาย มันรักษาไม่ได้ พอท่านเป็นวัณโรค ท่านก็นอนอยู่ ท่านหายใจไปๆ ดูซิจะขาดใจตายตอนไหน ปรากฏว่าจิตมันรวม จิตมันถอดออกจากกาย เหมือนกับมันลอยไปอยู่ข้างบน มองลงมาเห็นร่างกายมันนอนอยู่ เสร็จแล้วก็เห็นร่างกายมันตาย ค่อยๆ เน่า ค่อยๆ พองขึ้นมา สุดท้ายก็เหลือแต่กระดูก ดูไปเรื่อยๆ กระดูกก็สลายตัวไป เหลือจิตดวงเดียว ตรงนี้ท่านก็บอกหลวงพ่อว่า มันเป็นเรื่องของสมาธิ แต่ว่าถัดจากนั้นท่านก็ภาวนาต่อไป ปัญญามันก็เกิด เพราะจิตมันมีสมาธิมาก การเจริญปัญญาก็ไม่ใช่เรื่องยาก เวลาดูลงในกาย มันจะรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เพราะว่าเคยเห็นแล้วมันแตกสลาย สูญหายไปหมด ท่านก็ภาวนาของท่านไป สุดท้ายท่านก็เข้ามาที่ตัวรู้ เข้ามาที่ผู้รู้ แล้วสุดท้ายท่านก็เห็น “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง” ประโยคนี้ word by word ที่ท่านสอนหลวงพ่อมา
สติปัฏฐานในเบื้องต้นนั้นเป็นไปเพื่อความมีสติ
สติปัฏฐานในเบื้องปลายเป็นไปเพื่อความมีปัญญา
ฉะนั้นเบื้องต้นเราก็ต้องฝึกให้จิตมันมีสมาธิขึ้นมา จิตมีสมาธิแล้วมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู อันนี้เป็นสมาธิที่ถูก เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยสติ ถ้าสมาธิไม่ประกอบด้วยสติ ตัวผู้รู้ไม่มี มีแต่ตัวผู้หลงอยู่ในความสุขความสงบ นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อยไปตายอยู่ตรงนี้ พวกที่เข้าสมาธิกัน ถ้าจิตมันไม่มีกำลังที่จะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนรู้คนดู การปฏิบัติเราต้องฝึกของเราทุกๆ วัน
การปฏิบัติที่หลวงพ่อย้ำนักย้ำหนาว่า มันมี 3 ขั้นตอน อันแรกต้องรักษาศีล ศีล 5 ศีล 5 สำคัญที่สุด ถึงเป็นพระบอกมีศีล 227 ก็ทิ้งศีล 5 ไม่ได้ ศีล 5 จริงๆ ตัวที่สำคัญข้อ 1 2 3 4 เท่านั้น เป็นศีลที่อยู่ในองค์มรรค กินเหล้าอะไรอย่างนี้ ถ้ากินเป็นยา กินเป็นอะไรอย่างนี้ยังไม่ได้ผิดศีล กระทั่งพระอาพาธก็ใช้เหล้าผสมยา ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสของเหล้าอะไรอย่างนี้ ท่านก็อนุญาต ฉะนั้นการกินเหล้ามันไม่ใช่ตัวผิดศีล มันผิดศีลเพราะว่ามันกินเยอะเกิน กินเยอะเกินจำเป็น เมา ฉะนั้นศีลสำคัญนะ คือศีลข้อ 1 2 3 4 รักษาไว้ให้ดี ให้เหนียวแน่นไว้ แล้วพยายามฝึกสติของเราให้ว่องไว มันผิดศีลเพราะว่ากิเลสมันเข้ามาที่จิต ให้เรารู้ทัน อย่างเราโกรธคนนี้ ก่อนที่เราจะตีเขา ก่อนที่จะด่าเขา ก่อนที่จะทำลายทรัพย์สินของเขา ก่อนที่จะไปรังแกคนที่เขารัก มันเกิดจากกิเลสของเราก่อน ให้เรารู้ทัน “โอ้ย โกรธแล้ว” พอโกรธรู้ว่าโกรธ ความโกรธมันครอบงำจิตใจเราไม่ได้ เราจะไม่ผิดศีล ศีลอย่างนี้สบาย มีศีลสบาย
ศีลมี 2 อัน ศีลสบายกับศีลลำบาก ศีลลำบากนี้ใช้ข่มใจเอา อยากฆ่ามันเต็มทีแล้ว ไม่เอาๆๆ ไม่ฆ่ามัน อันนี้ข่มลงมาที่กาย ที่วาจา มันก็เหน็ดเหนื่อยหน่อย แต่ถ้าเรามีสติรู้ลงที่จิตใจ เราไม่ต้องไปข่มที่กาย ที่วาจาให้เหนื่อยหรอก กายวาจามันเรียบร้อยไปเอง เพราะว่ากิเลสมันครอบงำจิตไม่ได้ ฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทันกิเลสของตัวเองไว้นี่ล่ะ แล้วศีลมันจะดีขึ้น นี้ข้อแรกที่พวกเราต้องฝึก เรียกว่าสีลสิกขา
เราต้องฝึกการทำในรูปแบบ ฝึกในรูปแบบถ้าเราต้องการให้จิตสงบ มีเรี่ยวมีแรง เราก็มีสติ ทำกรรมฐานไป อย่างเราหายใจไปอย่างนี้ หายใจไป หรือกระทั่งจะดูจิต ถ้าดูจิตชำนาญ ดูให้เป็นสมถะก็ได้ เวลาเราจะทำสมถกรรมฐาน ทำให้จิตสงบ ให้จิตสบาย ให้จิตมีกำลัง เราสังเกตลงไปเลย ทำอะไรแล้วจิตใช้พลังงานน้อยที่สุด เราจะลดการใช้พลังงานของจิตลง เพื่อจะสะสมพลัง ฉะนั้นสมถกรรมฐานนี้ มันจะสะสมพลังของจิต ถ้าเราสังเกตเอา ทำอะไรแล้วใช้พลังงานของจิตมาก ตรงนั้นไม่ได้สะสมพลัง ใช้แรงมากกว่าเก่าอีก ฉะนั้นเราสังเกต เช่นเราหายใจไป รู้อยู่ที่ปลายจมูกนี้ พอจิตมันคิดเราก็จะเห็นแล้ว จิตคิดก็ใช้พลังงาน หรือพอคิดไปแล้วเกิดสุขขึ้นมาก็ใช้พลังงาน เกิดทุกข์ขึ้นมาก็ใช้พลังงาน เกิดกุศล เกิดอกุศล ยิ่งอกุศลนี่จิตยิ่งใช้พลังงานเยอะมากเลย ใช้ไปเรื่อยๆ ตามอกุศลไปเรื่อยๆ เลย ไม่เหลือพลังงาน ฉะนั้นเราสังเกตดูใจเรามันชอบทำงาน ถ้ามันทำงานดิ้นมากๆ ใจมันก็ไม่มีพลัง
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตใจของเรา การทำสมาธิก็จะไม่ยากอะไรเท่าไหร่ เรามีสติรู้เท่าทันจิตของเรา จิตของเราดิ้นรนปรุงแต่งฟุ้งซ่านไป นี่ใช้พลังงานแล้วเรารู้ทัน พอรู้ทันการใช้พลังงานก็ลดลงๆๆๆ มันก็มีพลังงานเหลือ สะสมเป็นพลังงานของจิตที่มากขึ้นๆ เราไปเดินวิปัสสนาก็ใช้พลังไปอีก เดินไปถึงจุดหนึ่งจิตเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว รีบกลับมาทำความสงบของจิต จิตที่สงบคือจิตที่ไม่ทำงานอะไรมาก ทำงานน้อยที่สุด ถ้าจิตทำงานมากจิตก็หมดพลัง เราลองสังเกตที่จิตใจของเรา ตรงไหนมันทำอะไรที่มันใช้พลัง รู้ทันมันเข้าไป มันจะค่อยๆ หยุดลงมา พอหยุดๆๆๆ ลงไปเรื่อย ในที่สุดก็หยุดจริงๆ รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ตรงนั้น ค่อยๆ ฝึกเอา อยู่ๆ มันไม่เป็นหรอก ของฟรีไม่มี ของฟลุคไม่มี ของบังเอิญไม่มี มีแต่เรื่องของกรรม การกระทำนั่นล่ะ มีการกระทำที่ถูกก็มีผลที่ถูก มีการกระทำถูก อย่างเราฝึกจิตฝึกใจเราให้มันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ดิ้นรนปรุงแต่งทำงานอะไรไป จิตก็สุข มีความสุข มีความสงบขึ้นมา
ค่อยๆ ฝึกจนมันชำนาญ อย่างเวลาเราจะให้จิตได้พักผ่อน ง่ายๆ เลยให้มันอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่างรู้สึกลงในร่างกายก็ได้ รู้สึกลงที่ร่างกาย ไม่ไปวุ่นวายอะไรกับร่างกาย ไม่ต้องไปคิดพิจารณาร่างกายเลย ถ้าทำอย่างนั้นจิตยังใช้พลังงานอยู่ รู้เฉยๆ ไป จิตมันจะค่อยๆ นิ่งๆๆ พอมันหนีไปเรารู้ทัน มันก็กลับมาอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเรานี้ อยู่ไปๆๆ จิตก็จะสงบขึ้นมา แล้วถ้าเรามีสติรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาด้วย ค่อยๆ ฝึกไม่ใช่เรื่องยากแต่ต้องฝึก ของฟรีไม่มี
การฝึกทำในรูปแบบสำคัญมาก
ถ้าเราอยากได้มรรคผลนิพพานในชีวิตนี้ เราต้องทำ
ต้องแบ่งเวลาไว้เลย
เวลาเราภาวนา เราต้องทำในรูปแบบ อยู่ๆ จะไปเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้นก็ดีแต่โม้ ทำไม่ได้ เอาอะไรไปเจริญ สติก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มีอะไรอย่างนี้ จะทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นฝึกในรูปแบบให้จิตมันมีพลังก่อน พอจิตมันมีกำลัง เวลามันเคลื่อนเราคอยรู้ เคลื่อนแล้วรู้ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาด้วย ฉะนั้นจะได้ทั้งความสงบ ได้ทั้งกำลัง ได้ทั้งความตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่นแล้ว คราวนี้เราพร้อมแล้วที่จะเข้าสนามรบ ตรงที่เราฝึกจิตฝึกใจของตัวเองนี่ เรียกว่าจิตสิกขา จิตสิกขามาฝึกอยู่ในโลกข้างนอกนี่ฝึกยาก มันฟุ้งซ่านง่าย ตอนที่เราทำในรูปแบบ เราฝึกจิตสิกขาง่าย เพราะเราไม่มีงานอื่น เราก็เรียนรู้จิตใจตัวเองไป จิตไปทำอย่างไร จิตไปอยู่อย่างไร จิตใช้พลังงานน้อยที่สุด สังเกตเอา แล้วก็พอจิตมันเคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนแล้วรู้ มันก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเองแล้ว แล้วสงบ ตั้งมั่น ได้ทั้งความสงบ ได้ทั้งความตั้งมั่น เราก็พร้อมที่จะเข้าสงครามแล้ว คล้ายๆ จิตเราเป็นทหารฝึกซ้อมรบมาดีแล้ว คราวนี้เข้าสงครามจริงได้แล้ว
ถ้าอยู่ๆ บอกว่าจะเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจให้ตั้งมั่น ให้สงบมีกำลังเสียก่อน มันเหมือนเอาเด็กหัดใหม่ เอาเด็กรักษาดินแดนไปออกไปรบ ก็ตายเปล่า พลิกตำราไม่ทัน ข้าศึกมาทางนี้ทำอย่างไร เอ้า สู้แทบตายเลยฆ่าศึกยุคนี้ไม่มีตัวตน มันใช้เครื่องจักร ใช้โดรน ใช้จรวดยิง ตัวมันอยู่ไหนก็ไม่รู้ เราจะเอาปืนไปไล่ยิงมัน หามันไม่เจอแล้ว คล้ายๆ ไก่อ่อน เข้าสนามรบมันสู้ใครเขาไม่ได้หรอก จะไปรบกับใครได้ รู้ว่าข้าศึกอยู่ในป่า บุกเข้าไป ไม่ทันไรก็หลงป่าแล้ว ไม่ได้เรื่องหรอก ฉะนั้นอย่างจิตเราไม่ได้มีกำลังพอ เราจะไปเจริญสติในชีวิตประจำวัน มันก็เหมือนเด็กหลงป่านั่นล่ะ มันช่วยอะไรไม่ได้
ฉะนั้นการฝึกทำในรูปแบบสำคัญมาก ถ้าเราอยากได้มรรคผลนิพพานในชีวิตนี้ เราต้องทำ ต้องแบ่งเวลาไว้เลย ถึงเวลาต้องปฏิบัติ จะพุทโธ จะหายใจอะไรก็ได้ อย่างเราพุทโธๆๆ ไปอย่างนี้ แล้วจิตมันจะฟุ้งซ่าน เราเห็นนี่จิตมันฟุ้งซ่านแล้ว ตรงที่มันฟุ้งซ่าน แหมมันเปลืองแรง มันใช้พลังงาน รู้ทันมันแบบนี้ มันจะค่อยๆ ลดการใช้พลังงาน เข้าโหมดเซฟพลังงานลง ใจมันก็ค่อยๆ มีกำลัง มีกำลังขึ้นมา มีกำลังดีแล้วก็มาเจริญสติในชีวิตประจำวัน
การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การทำอะไรก็ได้มั่วซั่วไปเรื่อยๆ แล้วบอกว่าเจริญสติในชีวิตประจำวัน การเจริญสติในชีวิตประจำวันจะทำได้นั้น เราก็ต้องมีสติรู้ทันจิตตัวเอง จิตหลงไปดูรู้ทัน จิตหลงไปฟังรู้ทัน จิตหลงไปดมกลิ่นรู้ทัน จิตหลงไปลิ้มรสรู้ทัน จิตหลงไปรู้สัมผัสทางกายรู้ทัน จิตหลงไปคิดนึกทางใจรู้ทัน ตอนทำกรรมฐานในรูปแบบ มันก็ไม่มีการไปทางตา หู จมูก ลิ้น มันเหลือแต่กายกับใจ แค่เรานั่งอยู่แล้วมันปวดมันเมื่อยขึ้นมา จิตไหลลงไปในกายรู้ทัน จิตหนีไปคิดรู้ทัน ฉะนั้นตอนที่เราฝึกในรูปแบบนั้น จะเน้นมาที่ 2 อายตนะคือกายกับใจ ในตอนที่ออกสงครามจริง ฝึกในชีวิตประจำวันเราสู้ทั้ง 6 ช่องเลย ศัตรูมาได้ 6 ช่องทาง คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง 6 ช่องนี้ นี้การกระทบอารมณ์ทั้ง 6 ช่อง เราเลือกไม่ได้ ว่าต่อไปนี้จิตจะไปดูรูป หรือจิตจะไปฟังเสียง หรือจิตจะไปดมกลิ่น หรือจิตจะไปลิ้มรส หรือจิตจะไปรู้สัมผัสทางกาย เราเลือกไม่ได้
ในทางจิตใจก็เหมือนกัน จิตจะเป็นกุศล หรือจิตจะเป็นอกุศล เราก็เลือกไม่ได้ เราห้ามมันไม่ได้หรอก สั่งมันไม่ได้หรอก มันเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นเวลาออกมาอยู่ในชีวิตจริง ในโลกข้างนอกนี่ มันเหมือนตะลุมบอน เดี๋ยวข้าศึกก็มาทางตา เดี๋ยวก็มาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เดี๋ยวก็หลงไปคิด ข้าศึกมาทุกทิศทาง เรียกว่ามาทุกทิศทาง จะสู้กับมันได้อย่างไร คนที่จะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ ไม่ต้องไปสู้ 6 ทิศทาง สู้อย่างนั้นไม่ฉลาดหรอก ไม่มีทางชนะหรอก รักษาไว้อันเดียว รักษาใจไว้อันเดียว รักษาจิตเอาไว้อันเดียว ผู้ใดรักษาจิตไว้ได้ ก็จะพ้นบ่วงแห่งมาร สิ่งที่เป็นบ่วงแห่งมาร ก็ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นเอง มันคือบ่วงแห่งมาร เป็นสิ่งที่มาคล้องคอเรา ลากจูงเราไปในโลก
ฉะนั้นเรามีสติรักษาจิตของเราอยู่นี่ ก็เราฝึกตอนทำในรูปแบบ เราก็ฝึกอยู่แล้ว จิตเราฟุ้งซ่านเราก็รู้ จิตเราออกเรี่ยวออกแรงเราก็รู้ จิตเป็นอย่างไรเราก็รู้ เราฝึกรู้ทันจิตของเราจนชำนิชำนาญ พอออกมาอยู่ในชีวิตจริงนี้ ตาเห็นรูป จิตยินดียินร้ายรู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตยินดียินร้ายรู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตเกิดความยินดียินร้าย มีสติรู้ทันไปนะ นี่ฝึกอย่างนี้ รักษาจิตอันเดียว เราจะไปรักษาตาได้อย่างไร ลืมตาขึ้นมามันก็เห็นรูปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้เจตนาจะเห็นมันก็เห็นแล้ว ฉะนั้นเรารักษามันไม่ได้ รักษาหูไม่ให้ได้ยินเสียงได้ไหม มันก็รักษาไม่ได้ รักษาจมูกไม่ให้ได้กลิ่น ทำได้ไหม ก็ไปติดโควิดเสีย ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส พวกติดโควิดบอกว่าจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส เสียไป 2 อายตนะ ไม่สมบูรณ์แล้ว
ฉะนั้นการปฏิบัติในชีวิตจริง ก็หมายถึงว่ามีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกปรุงแต่ง ให้มันทำงานไปตามธรรมชาติ แต่เรามีสติรักษาจิตเอาไว้อันเดียว ฉะนั้นเวลาตาเห็นรูป จิตยินดียินร้ายขึ้นมารู้ทัน เกิดสุข เกิดทุกข์ แล้วก็ยินดี ยินร้าย เกิดโลภ โกรธ หลงอะไรขึ้นมา ก็จะรู้ทันไป รักษาจิตอันเดียว ไม่ต้องรักษา 6 อัน รักษา 6 อันไม่มีใครทำได้หรอก มันเหมือนที่หลวงพ่อเคยเล่าบ่อยๆ เมื่อก่อนนี้ พระโปฐิละ จำได้ไหมเรื่องพระโปฐิละ ใครยังจำไม่ได้มีไหมสารภาพมา พระโปฐิละเป็นธรรมะที่ดี บทที่ท่านเรียนกรรมฐาน คือพระโปฐิละแตกฉานพระไตรปิฎก ท่องพระสูตรอะไรได้เยอะแยะไปหมดเลย แตกฉานมากแล้วก็เป็นครูบาอาจารย์ สอนพระอื่นได้อีกตั้งเยอะแยะ เป็นคนเก่งนะไม่ใช่ไม่เก่ง แต่ไม่ได้ดูของตัวเอง ไม่ได้ภาวนาเลย ได้แต่จำสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เอาไปสอนต่อ
พระพุทธเจ้าท่านสงสาร พอเห็นหน้าพระโปฐิละท่านก็เรียก จริงๆ ท่านไม่ได้ชื่อโปฐิละ ท่านชื่ออะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าเรียกท่านว่าโปฐิละ โปฐิละแปลว่าหนังสือที่ไม่มีตัวอักษร คัมภีร์ที่ไม่มีตัวอักษร ใบลานเปล่า คือมีคัมภีร์อยู่ แต่ใจไม่ได้รับธรรมะ ว่างเปล่า เหมือนพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าใบลานเปล่า แต่ก่อนเขียนหนังสือในใบลาน ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็มีซีดีอยู่แต่ซีดีว่างเปล่า มีฮาร์ดดิสก์ แต่ฮาร์ดดิสก์ไม่มีข้อมูลอะไรอย่างนี้เป็นคำเปรียบเทียบ พอถูกว่าบ่อยๆ ท่านก็อาย ท่านก็เลยออกไปอยู่วัดกรรมฐาน อยากปฏิบัติบ้างแล้ว จะได้มีธรรมะ พระพุทธเจ้าจะไม่ได้ติเตียน ออกไปอยู่วัดกรรมฐาน ไปหาอาจารย์ใหญ่ บอกขอเรียนกรรมฐานด้วย อาจารย์ใหญ่ไม่สอน บอกสอนไม่ไหวหรอกท่านเก่งกว่าผมอีก รู้เยอะกว่าผมอีก ผมจะสอนอะไรท่านได้ ท่านก็ไปหาพระที่รองๆๆๆ ลงไป ทั้งวัดไม่มีใครสอนท่านเลย จนถึงเณร เณรนี้ยอมสอนท่าน แต่บอกว่ามีเงื่อนไข สั่งอะไรท่านต้องเชื่อ ท่านก็ยอมรับอาจารย์เณรสั่งอะไรก็จะทำ
เณรบอกให้ท่านลุยลงน้ำไปเลย ท่านเป็นพระบ้าน จีวรก็เป็นจีวรผ้าไหมสวยงาม ราคาแพง เณรสั่งให้ลุยน้ำ ไม่ได้บอกให้ถอดจีวรก่อนด้วย ท่านก็ใจเด็ดจริงๆ ท่านก็ลุยลงน้ำจริงๆ แต่ลงไปแค่ตาตุ่มเท่านั้น ลงไปนิดเดียวเณรให้หยุด คือจีวรท่านยังไม่ได้เปียกน้ำ เณรบอกให้หยุด แล้วเณรชี้ให้ดู บอก “ข้างๆ ตลิ่งนี่ มีจอมปลวกอยู่จอมปลวกหนึ่ง จอมปลวกนี้มีรูอยู่ 6 รู มีทางเข้าออก 6 ทาง” ต้องใหญ่มากเลยจอมปลวกนี้ มันถึงมีรูได้ตั้ง 6 รู แล้วก็ “ในจอมปลวกนี้มีเหี้ยอยู่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ เหี้ยนี้ก็วิ่งเข้าวิ่งออก เดี๋ยวรูโน้น เดี๋ยวรูนี้ ถ้าเราจะจับเหี้ยตัวนี้ให้ได้ เราปิดสัก 5 รู เปิดไว้รูเดียว มันไม่มีทางออกที่อื่น มันต้องออกตรงนี้ล่ะ เดี๋ยวเราก็จับเหี้ยได้”
พระโปฐิละท่านได้ยินแค่นี้ ท่านก็บอกเณรว่าท่านเข้าใจแล้ว แค่นี้พอแล้ว เณรสอนอะไรท่าน สอนว่าเข้ามาที่จิตนี่เอง รักษาจิตไว้ดวงเดียวนี้ก็จะได้ธรรมะทั้งปวง รู 6 รูนั้นคืออายตนะทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดเสีย 5 รู ปิดนี่ไม่ใช่ปิดตา ปิดตาแล้วก็เดินไม่ได้ ปิดหูแล้วก็ฟังไม่ได้ ปิดในที่นี้หมายถึงว่า concentrate ใส่ใจลงมาที่จิตใจของตัวเอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอะไรก็สักว่ากระทบไป ช่างมัน อยากกระทบก็กระทบไป แต่กระทบแล้วใจกระเทือนขึ้นมา มีสติรู้ลงมาที่จิต ที่ใจของตัวเองนี้
พระโปฐิละท่านดูอยู่ที่จิตที่ใจ ตรงนี้ที่ท่านเจริญสติในชีวิตประจำวันจริงๆ แล้ว ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง ท่านมีสติรู้ลงไป รู้ลงที่จิต ไม่นานท่านก็บรรลุพระอรหันต์ บรรลุพระอรหันต์สมัยที่อ่าน อ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจทำไมบรรลุง่ายๆ ที่จริงเพราะท่านเรียนลงที่จิต ท่านปล่อยวางจิตได้ ถ้าปล่อยวางจิตได้ ขันธ์ 5 มันก็หมดความหมายแล้ว เพราะขันธ์ 5 มันก็ออกไปจากจิตนี่เอง ฉะนั้นถ้าเรียนตัดตรงเข้าที่จิตเลย เข้าที่ศูนย์กลางของธรรมะเลย
หลวงปู่ดูลย์ถึงบอกว่า “ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ออกมาจากจิตนี่เอง” ฉะนั้นอย่างพระโปฐิละ ท่านเรียนเข้ามาที่จิตก็ขาดสะบั้นตรงนั้นเลย ถามว่าตอนนั้นท่านเป็นพระอนาคามีหรือยัง ท่านยังเลย เพราะท่านยังไม่รู้วิธีปฏิบัติเลย ฉะนั้นเริ่มปฏิบัติท่านปฏิบัติด้วยการดูจิตเลย ดูจิตไม่นานท่านก็จบของท่าน บุญบารมีท่านมาก พอจบแล้วท่านเป็นพระที่แตกฉานมาก เพราะว่าท่านรู้ปริยัติมามากมายแล้ว พอรู้เคล็ดลับของการปฏิบัติ ท่านก็สามารถสอนลูกศิษย์ลูกหาได้เยอะแยะเลย มีฝีมือ
ผู้ใดมีสติรักษาจิตไว้ได้ ก็จะพ้นบ่วงของมาร
ฉะนั้นได้จิต คือได้ธรรม ไม่ได้จิต คือไม่ได้ธรรม ครูบาอาจารย์กรรมฐานท่านก็สอนอย่างนี้ หลวงปู่มั่นท่านก็สอน “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” เสียจิตไป จิตหลงไปเลย ก็คือยิ่งไม่ได้อะไรเลย ฉะนั้นการที่เราจะภาวนา เราก็ตัดตรงเข้ามาที่จิตให้ได้ มีสติรักษาจิตไว้ ผู้ใดมีสติรักษาจิตไว้ได้ ก็จะพ้นบ่วงของมาร ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฉะนั้น เราอาศัยสติรักษาจิต ศีลที่ไม่เคยมีก็จะมี สมาธิที่ไม่เคยมีก็จะมี ปัญญาที่ไม่เคยมีก็จะมีขึ้นมา ด้วยการที่เรามีสติรักษาจิตของตัวเอง อย่างเมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว การรักษาศีล มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรเกิดขึ้น รู้ทันมันเข้าไป พอรู้ทันแล้ว กิเลสมันครอบงำจิตไม่ได้ เราก็ไม่ทำผิดศีลหรอก ศีลอัตโนมัติมันเกิด
หรือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เรามีสติรักษาจิต อินทรียสังวรศีลจะเกิดทันทีเลย เป็นการสำรวมอินทรีย์ สำรวมอินทรีย์ไม่ใช่แปลว่า มีตาก็ไม่ดู มีหูก็ไม่ฟัง มีจมูกก็ไม่ดมกลิ่น มีลิ้นไม่รู้รส มีกายไม่รู้สัมผัส มีใจไม่คิด อันนั้นไม่เรียกว่าการสำรวม การสำรวม ก็คือการมีสติรักษาจิตตัวเองอยู่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ก็สักว่ากระทบไป จิตมันเป็นอย่างไร จิตมันมีกิเลสอะไรขึ้นมา รู้ทันมันเข้าไป ฝึกอย่างนี้ ศีลที่ไม่เคยมีมันก็จะมี สมาธิที่ไม่มีมันก็จะมีขึ้นมา ปัญญาที่ไม่เคยเกิดมันก็จะเกิดขึ้นมา อย่างศีลบอกแล้วว่า คนผิดศีลเพราะกิเลส
สมาธิก็เหมือนกัน คนเสียสมาธิไปก็เพราะกิเลสนั่นล่ะ ถ้าไม่มีกิเลสไม่มีเรื่องสมาธิตกอะไรนี่ไม่มีหรอก สมาธิตัวนี้หมายถึงสภาวะที่จิตมันตั้งมั่นจริงๆ ไม่ใช่สมาธิชนิดขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิอะไรพวกนั้น พวกนั้นถ้าไม่ฝึกซ้อมก็เสื่อม กระทั่งพระอรหันต์ ถ้าท่านไม่ฝึกซ้อมเข้าฌาน เวลาจะเข้าฌานก็เข้ายากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะเข้าได้ การเข้าฌานอย่างนั้นเป็นเรื่องของขันธ์ มันไม่ใช่เรื่องของธาตุรู้ตัวนี้ ธาตุรู้ตัวนี้ ทรงสมาธิที่ไม่เสื่อม มันสว่างเจิดจ้าอยู่ทั้งวันทั้งคืน แต่ว่าสมาธิที่เนื่องด้วยขันธ์อย่างนั้นมันเสื่อม อย่างเข้าฌานโน้น ฌานนี้อะไรนี่ ถ้าไม่ฝึกซ้อมก็เสื่อม
เรารู้ทันจิต สมาธิมันเสื่อมไปเพราะอะไร เพราะนิวรณ์ ฉะนั้นนิวรณ์มันเป็นกิเลส เรามีสติรู้ทัน จิตเกิดกามฉันทะรู้ทัน จิตเกิดพยาบาทรู้ทัน จิตเกิดลังเลสงสัยรู้ทัน จิตฟุ้งซ่านรำคาญใจรู้ทัน รู้ๆๆๆ มันไป นิวรณ์มันเป็นกิเลสมันก็ดับ จิตมันก็ทรงสมาธิขึ้นมา อันนี้สมาธิที่เนื่องกับขันธ์ ไม่ใช่ตัวอมตธาตุตัวนั้น ไม่ใช่ตัวธาตุรู้ตัวนั้นหรอก คนละเรื่องกันอย่าเอาไปปนกัน บางคนฟังครูบาอาจารย์แล้วก็ได้ยิน ท่านพูดถึงตัวธาตุที่มันเป็นอมตธาตุตัวนี้ พอได้ยินว่าจิตเกิดดับนี่บอกว่านี่สอนผิดแล้วคิดผิดแล้ว ก็พระพุทธเจ้าสอน “จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน” ท่านสอนอย่างนี้ก็ดูตรงนี้ไป จนกระทั่งมันวางจิตลงไปได้ก็จะเข้าไปถึงสภาวะอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมันสว่างจ้าอยู่อย่างนั้น มันไม่ดับหรอก
ค่อยๆ ฝึกไป ฉะนั้นอาศัยสติรู้จิตนี่ล่ะ ศีลที่ไม่เคยมีมันก็จะมี มันไม่ผิดศีลหรอก ศีลที่ไม่เคยมีเช่น อินทรียสังวรศีล ไม่เคยมี เคยแต่มีศีลเป็นข้อๆ ปาฏิโมกข์ศีล ศีลเป็นข้อๆ เราฝึกไปนี้ เกิดศีลที่สูงขึ้นๆ สุดท้ายมันเป็นอริยกันตศีล ศีลที่พระอริยะชมเชย ศีลที่ไม่ต้องรักษา อันนี้ยังรักษาอยู่ก็ยังมีงานที่ต้องทำอยู่ คนละเรื่องกัน คนละระดับกัน มีหลายอย่าง
สมาธิก็เหมือนกัน สมาธิเสื่อมไปก็เพราะว่ากิเลส ถ้าเรามีสติรักษาจิตอยู่ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ สมาธิมันก็เกิด ไม่ยากหรอกวิธีที่เราจะทำสมาธิ อย่างใจเรามีกามราคะอยู่ กามราคะเกิดที่ในใจอย่างพวกพระเรานี้ จิตมีกามราคะมีได้ไหม มีได้ไม่ใช่ไม่มี ยังมีฮอร์โมนเพศอยู่ ยังเป็นมนุษย์ผู้ชายอยู่อะไรอย่างนี้ ลูกอัณฑะยังทำงานอยู่ เกิดกระตุ้น ราคะเกิดห้ามได้ไหม ห้ามไม่ได้ มันเป็นเรื่องของขันธ์ แต่ว่าเรามีสติ พอเรามีสติรู้ทันกามราคะดันขึ้นมาเรารู้ทัน ถ้าเรารู้ไม่ทันอะไรจะเกิดขึ้น ตัวนี้มันจะผลักดัน กิเลสมันจะผลักดันให้เกิดกามวิตกขึ้น การคิดไปในเรื่องกาม พอเราคิดไปในเรื่องกาม คราวนี้ละเสร็จเลย ตกเป็นทาสของมันเลย แพ้อะไร แพ้ความคิดของตัวเอง ไม่ได้แพ้กิเลสอะไรหรอก แพ้ความคิดของตัวเอง กิเลสมันแค่มากระตุ้นให้คิด เสร็จแล้วก็แพ้ความคิดของตัวเองไป
ถ้าเรามีสติรู้ กามราคะเกิดขึ้น ไม่ได้ไปห้ามมันแต่รู้ทัน จิตสะเทือนขึ้นมาแล้วรู้ทัน จิตหวั่นไหวขึ้นมาแล้วรู้ทัน ไม่ห้ามจิตด้วย จิตมันสะเทือนขึ้นมา รู้ ไม่ต้องไปห้ามว่าจงอยู่เฉยๆ พอเรารู้ทันตรงนี้จิตไม่ปรุงต่อแล้ว ไม่คิดนึกปรุงแต่งต่อแล้ว ไอ้กามราคะที่มันเกิดขึ้นด้วยฮอร์โมนเพศอะไร มันก็ไม่มีอิทธิพลอะไรต่อจิต มันมีอิทธิพลต่อกายเท่านั้น แต่ไม่มีอิทธิพลต่อจิต แต่ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมันไม่มีอิทธิพลต่อกายด้วย ถ้าเราภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง อย่างร่างกายมันยุติการผลิตน้ำอสุจิเลย มันจะไม่ผลิตแล้ว อันนั้นจิตมันเหนือกายไปแล้ว แต่ว่ามันเหนือได้ไม่ตลอดหรอก กายมันจะแก่ห้ามมันไม่ได้ กายมันจะเจ็บห้ามมันไม่ได้ กายมันจะตายห้ามมันไม่ได้ สุดท้ายก็คือกายนี้ก็เป็นอนัตตา บังคับมันไม่ได้จริงหรอก เวทนา สัญญา สังขารอะไรนี่ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป
กระทั่งตัวจิตก็เป็นอนัตตา สั่งมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ได้หรอก มันจะดี หรือมันจะชั่วเราก็สั่งมันไม่ได้ แต่เรามีสติรู้ทันๆๆๆ เข้าไปเรื่อย ในที่สุดมันก็จะเข้าถึงสภาวะที่เหนือจากขันธ์ ตัวขันธ์นั่นล่ะเรียกว่าโลก อย่างในตำราท่านสอนเลย สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปกับนาม รูปนามก็คือตัวขันธ์ 5 ฉะนั้นจิตที่เหนือโลก ก็คือจิตที่อยู่เหนือขันธ์ วางขันธ์ได้ก็เข้าโลกุตตระ โลกุตตระ คือคำว่าเหนือโลก
ค่อยๆ ฝึก อาศัยสติรู้ทันจิตของตัวเองไป ศีลก็จะเกิด สมาธิก็จะเกิด ปัญญาก็เกิด อย่างเราเห็นจิตมันปรุงราคะ โทสะขึ้นมานะ เราเห็นมันปรุงเอง เราไม่ได้ปรุงมันปรุงเอง แต่พอเราขาดสติปุ๊บ ไอ้กิเลสนั้น ทีแรกกิเลสมันเกิดขึ้นมา มันจะมาปรุงแต่งจิตเรา พอเรารู้ไม่ทันคราวนี้จิตไปปรุงกิเลสต่อแล้ว ไปคิดเรื่องกาม เรื่องอะไรต่ออะไร เรื่องพยาบาทอะไร คิดต่อไปอีกแล้ว มันปรุงกันไปปรุงกันมา ปรุงกันไปปรุงกันมา มีสติรู้ทันไว้ก็เลิกปรุงไป ก็แค่นั้น พูดฟังง่ายก็แค่นั้น ก็ฝึกกันปางตาย ค่อยๆ ฝึกไป เวลาฝึกหลวงพ่อก็สังเกตตัวเอง สมัยที่ฝึกพากเพียรทุ่มเทฝึก ล้มลุกคลุกคลาน ก็ล้มลุกคลุกคลานมาแล้วทั้งนั้น ไม่ได้ดีวิเศษอะไร หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่งอะไรหรอก เป็นแค่คนอึด คนทน แล้วเป็นคนที่เคารพครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนอะไรก็ฟังแล้วเอามาทำ ไม่ได้ฟังเล่นๆ ไม่ได้ฟังประดับความรู้ แต่ฟังแล้วมาทำจริงๆ
ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป วันนี้ใจมันเคยหลงทั้งวัน มันรู้สึกตัวขึ้นได้ 2 – 3 ครั้งก็ดีใจแล้ว แค่นี้ก็ดีใจแล้ว ก็ฝึกของเราไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็รู้ตัวได้ถี่ขึ้นๆๆ แล้วเห็นความพัฒนาของตัวเอง พอเราเห็นว่าจิตใจเรามีพัฒนาการขึ้นมามันอิ่มอกอิ่มใจ แล้วมันก็เกิดความเชื่อมั่น มีศรัทธาขึ้นมา ศรัทธามันเกิดจากการเห็นผลของการปฏิบัติ ไม่ใช่เกิดจากการเชื่องมงาย ทีแรกเราศรัทธาในครูบาอาจารย์ อันนี้น้อมใจไปศรัทธา เราเห็นว่าท่านดูดี ท่านดูสงบ ดูสะอาด ดูสว่าง เราดูสกปรกมอมแมมเหลือเกิน เมื่อไหร่จะได้อย่างท่าน ท่านทำอย่างไรท่านถึงดีอย่างนี้ เราก็ถามกรรมฐานท่าน ท่านก็สอนวิธี เราก็มาทำของเรา เราดูลงมา โอ๊ย มีแต่กิเลสทั้งนั้นเลย แล้วก็หลงทั้งวันเลย นานๆ รู้ตัวขึ้นมาทีหนึ่ง รู้ตัวแล้วรู้ตัวอยู่ได้แป๊บเดียวก็หลงอีกแล้ว หลงยาวๆ
ทีแรกเป็นวันๆ ไป กว่าจะรู้ตัวได้ครั้งหนึ่ง แล้วก็พอรู้ตัวได้หนึ่งครั้งก็ดีใจแล้ววันนี้ ต่อมาก็ได้ 2 ครั้ง 3 ครั้งอะไรอย่างนี้ จิตใจก็มีความสุข มีความเชื่อมั่นว่าเส้นทางนี้มันดีจริงๆ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เคยทุกข์มากก็เหลือทุกข์น้อย เคยทุกข์นานก็เหลือทุกข์สั้น ก็ง่ายๆๆ รู้สึกสบายขึ้นทุกทีๆ ฝึกทีแรกล้มลุกคลุกคลาน ลำบากยากเข็ญ ฝึกไปเรื่อยๆ มันรู้สึกสบาย ยิ่งฝึกนะเรารู้ทันจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ กิเลสเราเกิด เรารู้ทันๆๆ ไป ใจก็โปร่ง โล่งเบาสบาย มีความสุข มองไปที่ครูบาอาจารย์ โอ้ ท่านดีจังเลย เราตอนนี้ก็มอมแมมน้อยลง ไม่จัดว่าดีหรอก เรียกว่าสกปรกน้อยลง แค่นั้นก็ดีใจแล้ว
พอเข้าไปหาท่าน เข้าไปด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่กลัวเลย คิดว่าไปรายงานผลการปฏิบัติ ถ้าทำผิดท่านด่านี่ก็เป็นบุญของเราแล้ว เราจะได้รู้ว่าเราผิดที่ไหน ฉะนั้นหลวงพ่อไม่กลัวครูบาอาจารย์ เคารพอย่างยิ่งเลยแต่ไม่กลัว ถ้าครูบาอาจารย์ดุด่านี่ไม่น้อยใจด้วย จะดีใจมากเลย อิ่มเอิบใจเลย ถูกดุถูกด่ามานี่ ครูบาอาจารย์ที่ท่านชมๆ หลวงพ่อฟังมาเยอะแล้ว ส่วนใหญ่ท่านชมทั้งนั้น แต่องค์ไหนที่ถูกท่านดุท่านด่ามานี่ จำแม่นเลย องค์ที่โดนหนักที่สุด คือท่านอาจารย์บุญจันทร์ ไม่รู้จักท่าน ท่านก็เรียกไปหาให้พระมาตามไปหา แล้วท่านก็จวกให้ว่าภาวนาไม่ได้เรื่อง ภาวนาผิด นี่จำได้เลย ฝังใจมาจนป่านนี้แล้ว ไม่ใช่อาฆาตท่าน ฝังใจนี่ หมายถึงเป็นบุญคุณของท่านล้นหัว ล้นเกล้าของเราเลยจริงๆ
อาศัยอย่างนี้ ค่อยๆ สู้มา ล้มลุกคลุกคลานก็สู้ไป ค่อยๆ รู้เท่าทันจิตตัวเองไป สุดท้ายมันก็สบาย ศีลก็ดีขึ้น รักษาง่ายขึ้น สมาธิมันก็เกิดง่ายขึ้น ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก คือตัวปัญญามันก็มีมากขึ้น รู้ มองลงไปที่ไหน ค่อยๆ ฝึก ต่อไปมันก็เห็นเอง ทุกหนทุกแห่งว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน ว่างเปล่าไม่ใช่ว่างเปล่าอย่างนั้น ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย มันมีอยู่ แต่มันไม่มีตัวมีตน
ค่อยๆ ฝึกไปนะ เดี๋ยวก็ดีเองล่ะ อดทนไว้ ถูกดุถูกว่าก็อย่าเสียใจ เสียอกเสียใจ ร้องไห้อะไร ถ้าเป็นพระนี่น่าเกลียดเลย ถูกครูบาอาจารย์ว่าแล้วก็เสียใจ คับแค้น ครูบาอาจารย์ลำเอียง ทำไมไม่ด่าองค์นั้น ทำไมด่าเราคนเดียว ก็องค์นั้นยังไม่สมควรด่า เดี๋ยวไว้ถึงเวลาสมควรด่า ท่านก็ด่าของท่านเอง ก็ต้องดูอย่างนี้ แล้วก็ปรับตัวเองไป
วัดสวนสันติธรรม
17 เมษายน 2564