ปัจจุบันขณะ – ปัจจุบันสันตติ

บางคนภาวนาเอาความคิดความเห็นเข้ามาใช้เยอะเกินไป คิดอย่างโน้นอย่างนี้ โน่นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตปล่อยวางอะไรอย่างนี้ ส่งการบ้านก็มี จิตปล่อยวางไปหมดแล้ว สติยังไม่มี สมาธิไม่มี ปัญญามันไม่มีหรอก ถ้าสติกับสมาธิไม่มี ปัญญามันก็ไม่มี ปัญญาไม่มี มรรคผลมันก็ไม่มี เมื่อเริ่มต้นก็ทำไปตามลำดับ รู้สึกตัวขึ้นมาให้ได้ก่อน ใจฟุ้งๆๆ คิดธรรมะไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่การเรียนธรรมะ ธรรมะเรียนไม่ได้ ด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง ด้วยการคิด การอ่าน การฟัง การคิด ทำให้เรารู้วิธีที่จะปฏิบัติเท่านั้นเอง ต้องลงมือปฏิบัติมันถึงจะเข้าใจ

หลวงพ่อเคยเจอท่านอาจารย์พุทธทาส หลวงพ่อไปถามท่าน เห็นท่านแต่งหนังสือเยอะแยะตอนนั้น ไปถามท่านว่า “ถ้าผมอ่าน หนังสือของท่านอาจารย์ทุกเล่ม ผมจะเป็นพระโสดาบันได้ไหม” ท่านตอบว่า “ไม่ได้ ต้องปฏิบัติเอา” ฉะนั้นอ่านเท่าไรๆ มันก็ไม่ได้ หรอก อ่านแล้วก็เอามาคิด คิดอย่างโน้นอย่างนี้ อะไรๆ ก็ไม่ยึด อะไรๆ ก็ไม่ยึด คิดไป สุดท้ายใจมันก็ยึดนั่นล่ะ มันก็ยึดความคิด ของตัวเอง หลงอยู่ไม่รู้จักว่าหลงอยู่

เวลาจิตมันหลง ก็ไปอยู่ในโลกของความคิด โลกของ ความคิดไม่ใช่โลกของความจริง มันคิดอะไรก็ได้ มันไม่ใช่ โลกของจริง ธรรมะของจริงมันไม่ไปอยู่ในโลกของความคิดหรอก ก็ต้องอยู่ในโลกของความจริง โลกของความจริงก็คือตัวรูปธรรม ตัวนามธรรมทั้งหลายนี่ล่ะความจริง ส่วนเรื่องราวที่คิดนึก ปรุงแต่งไปไม่ใช่เรื่องจริง เรียกอารมณ์บัญญัติ เรื่องราวที่คิด คิดว่าเป็นพระอรหันต์ยังได้เลย คิดว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า กลับชาติมาเกิดยังได้เลย บ้าได้ขนาดนั้น

หลุดออกมาจากโลกของความคิดให้ได้ แล้วก็มาดูความจริง ของจริง ร่างกายนี้เป็นของจริง ร่างกายอยู่ตรงไหน ร่างกายอยู่ในปัจจุบัน ร่างกายในอดีตไม่มีแล้ว มันเหลือแต่ แค่ความจำ อย่างเราไปดูรูปถ่ายเก่าๆ หน้าตาเราตอนโน้น กับตอนนี้ก็ไม่เหมือนกัน มันคนละคนกันแล้ว ดูรูปเก่าๆ คนนั้นตาย คนนี้ตาย คนโน้นอย่างนั้น คนนั้นอย่างนี้ ที่จริงมันไม่มีแล้ว มันจบไปแล้วในอดีต ตัวเราในอดีตยังไม่มีเหลืออยู่แล้ว ตัวเราเมื่อวานนี้ ตัวเราเมื่อปีก่อน มันก็ไม่ใช่ตัวเดียวกับตัวนี้ ของจริงมีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้นเอง

ความคิดมันทำให้เรา หลงไปอดีต หลงไปอนาคต พยายามกลับมาอยู่ในปัจจุบันด้วยการ หลุดออกจากโลกของ ความคิด มันมีศัพท์ตัวหนึ่ง คำว่า หลุดโลก หลุดโลกนี่หมายถึง หลุดจากโลกของความเป็นจริง ไปหลงอยู่ในโลกของความคิด มนุษย์หลุดโลก เราอยู่กับโลกให้ได้ สิ่งที่เรียกว่าโลก คือรูปกับนาม รูปนามมันก็มีอยู่ในปัจจุบัน รูปนามในอดีต มันดับไปแล้ว รูปนามในอนาคตมันยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เราอยู่กับปัจจุบันนี่ล่ะ เราก็รู้สึกลงไป เห็นรูป เห็นนาม ค่อยๆ สังเกตเอา

 

ดูรูป ต้องเป็นปัจจุบันขณะ

พอเราอยู่กับปัจจุบันได้ เราก็จะเห็นรูปนามได้ ถ้าเราหลงอดีต หลงอนาคตก็ได้แค่คิดเรื่องรูปนาม หรือจำเรื่องรูปนาม แต่ไม่มี รูปนามให้ดู ภาวนามันต้องเห็นของจริง ของจริงอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นอยู่กับปัจจุบัน ให้จิตใจมันอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงไป คิดโน้นคิดนี้ไปเรื่อยๆ พอเราอยู่กับปัจจุบัน ร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึก ร่างกายมันเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายมันหายใจ รู้สึก รู้สึกอยู่กับปัจจุบันอย่างนี้ ตรงที่รู้สึกอยู่กับปัจจุบัน ท่านเรียกว่า เรามีสติอยู่ สติเป็นเครื่องระลึกรู้ ระลึกรู้รูปนาม รูปนามอยู่ที่ไหน อยู่ในปัจจุบันนี้ ฉะนั้นการเจริญสติก็คือ การที่เรา หมั่นรู้รูปนามเนืองๆ มันอยู่ในปัจจุบัน อดีตอนาคตมันเป็นแค่ ความคิดกับความจำ ไม่มีจริง ไม่มีของจริง

พอเราอยู่ในปัจจุบัน เราก็ดูรูปธรรมในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร รูปธรรมในปัจจุบันนี้กำลังนั่งอยู่ ก็เห็นรูปธรรมมันนั่งอยู่ พอได้ยิน หลวงพ่อพูดอย่างนี้ เข้าใจขึ้นมาหน่อยก็พยักหน้า รูปธรรมมัน เคลื่อนไหว ก็เห็นมันรูปธรรมมันทำงานอยู่ พอนั่งนิ่งๆ ถามว่ารูปมันยังเคลื่อนไหวไหม มันก็ยังเคลื่อนไหว มันยังหายใจอยู่ ก็เห็นรูปมันหายใจออก รูปมันหายใจเข้า ค่อยๆ ฝึกไป เวลานั่งอยู่ รู้ชัดว่านั่งอยู่ ถามว่าตอนที่นั่งอยู่ตอนนี้ รูปมันเที่ยงไหม มันก็ไม่เที่ยง ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ เดี๋ยวก็เป็น รูปหายใจออก เดี๋ยวก็เป็นรูปหายใจเข้า มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของทนอยู่ไม่ได้ อย่างเรานั่งอยู่อย่างนี้ นั่งนานๆ มันก็ปวดก็เมื่อย ก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องขยับ ลุกขึ้นยืน ลุกขึ้นเดิน หรือลงไปนอน นั่งฟังเทศน์อยู่อย่างนี้ ยังลงไปนอนก็ไม่ได้ ลุกเดินหนีมันก็น่าเกลียด ลุกไม่ได้ ก็ใช้ขยับไปขยับมา ขยับบิดซ้ายบิดขวาไป ทำไมต้องขยับ ไปเรื่อยๆ เพราะมันทุกข์

เราตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่เกิดมา ร่างกายมันก็ถูกความทุกข์ บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ตอนเด็กๆ นอนๆ อยู่ฉี่ราดออกมา เฉอะแฉะ อึดอัด รำคาญก็ร้อง ผู้ใหญ่ก็มาอุ้มเปลี่ยนผ้าเปลี่ยนอะไร ก็นอนเงียบๆ ได้ อ้าว เดี๋ยวหิวอีกแล้ว ร้องอีกแล้ว เด็กๆ มันแสดงออกด้วยการร้องเอา เราโตแล้ว มันไม่ค่อยร้อง มันอดทนมากขึ้น แต่สังเกตเอา มันทุกข์ นั่งนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ ต้องนอนพลิกไปพลิกมา มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย เดินนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ ทำอะไรๆ ก็ทุกข์ทั้งนั้น ดูลงมาของจริงอย่างนี้ล่ะ ก็แสดงความจริงให้เราดู

ของจริงที่ว่านี้คือตัวรูปของเรานี้ ความจริงก็คือไตรลักษณ์ แสดงให้เห็น หรือบางทีเรารู้สึกรูปอยู่ในปัจจุบันอย่างนี้ เราก็จะเห็น รูปนี้มันเป็นแค่วัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้าไป แล้วก็มีธาตุไหลออกมา ตลอดเวลา หายใจเข้าแล้ว ก็หายใจออกอะไรอย่างนี้ กินอาหาร เข้าไปแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำเข้าไปแล้วเดี๋ยวก็ไปฉี่ ไปเป็นเหงื่อซึม ออกมาบ้างอะไรบ้าง ดูไปๆ ร่างกายมันเป็นแค่วัตถุ มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่คนด้วย มันเป็นแค่วัตถุอันหนึ่ง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวเขา

พอเรามีสติรู้ลงในกายแล้วเห็นไตรลักษณ์ ร่างกายไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน ร่างกายนี้เป็นทุกข์ หายใจออกไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ หายใจเข้านานๆ ก็ทุกข์อีก ก็ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ นั่งอยู่ก็ถูกความทุกข์บีบคั้น ทำให้ปวดให้เมื่อย ต้องขยับตัวอะไรอย่างนี้ นี้เห็นตัวทุกข์ เห็นอนัตตาคือเห็นมันเป็นวัตถุ มันเป็นก้อนธาตุ มีธาตุเคลื่อนเข้า เคลื่อนออก ไหลเข้าไหลออก ดูอย่างนี้ มันจะเกิดปัญญา

แต่จุดแรกเลยก็คือ ต้องมีกายให้ดู กายที่มีอยู่คือกาย ที่อยู่ในปัจจุบัน ในอดีตไม่มีแล้ว มีแต่ความจำ ในอนาคตก็ยังไม่มี มีแต่ความคิด ฉะนั้นรูปธรรมในปัจจุบันก็อยู่ตรงนี้ ต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ไม่อยู่ที่อื่น ฉะนั้นเรามีสติ เรามีใจตั้งมั่นระลึกรู้ รูปธรรมที่เป็นปัจจุบัน ต่อไปเราเห็นความจริง เห็นความจริงก็คือ รูปธรรมนี้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ บางคนไม่ชอบดูรูปธรรม อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนไม่ชอบดูรูปธรรม หลังๆ นี้ดูรูปธรรมก็ได้ นามธรรมก็ได้ มันก็เหมือนๆ กันหมด ก็คือสิ่งที่ถูกรู้เหมือนกันหมด เสมอกัน หัดใหม่ๆ เราถนัดดูรูป เราก็ดูรูปไป ถนัดดูนาม เราก็ดูนามไป แต่ให้มันเด็ดเดี่ยว ไม่ใช่ดูรูปแล้ว เดี๋ยวไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ ใจวอกแวกๆ ไม่เห็นความจริงเสียที ฉะนั้นดูรูปก็ต้องให้เห็น ความจริงของรูปคือไตรลักษณ์

 

ดูนาม ต้องเป็นปัจจุบันสันตติ

ถ้าดูนามจะทำอย่างไร นามในอดีต มันก็ไม่มีแล้ว นามในอนาคตมันก็หมด ยังไม่เกิดขึ้น มันยังไม่มี จะดูนามก็ต้อง อยู่กับปัจจุบันเหมือนกัน มีปัจจุบันเป็นคนดูนาม จิตที่มันอยู่ ในปัจจุบัน มันดูนามที่ดับไปสดๆ ร้อนๆ จะว่ากิเลสทั้งหลายนี่ คำว่า ปัจจุบัน มี 2 อัน ปัจจุบันขณะอย่างเราดูร่างกายนี่ ต้องเป็นปัจจุบันขณะ คือขณะนี้ร่างกายกำลังนั่ง ขณะนี้ร่างกาย กำลังหายใจออก ขณะนี้ร่างกายกำลังหายใจเข้า

แต่การดูนามธรรมนั้น เราจะดูในลักษณะที่เรียกว่า ปัจจุบันสันตติ เป็นปัจจุบันเหมือนกัน แต่เป็นปัจจุบันอีกแบบหนึ่ง เป็นปัจจุบันสันตติ คือมันสืบเนื่องอยู่กับปัจจุบัน อย่างจิตเรา หลงไปอย่างนี้ ในขณะที่หลง สติเกิดไม่ได้ อันนี้เราเคยฝึกที่จะมีสติ จิตมันหลงไม่นาน สติเกิดขึ้นมา มันก็จะเห็นว่าเมื่อกี้นี้หลง หรือมันโกรธขึ้นมา ขณะที่โกรธ มันไม่มีสติหรอก พอสติเกิดขึ้นมา ก็ระลึกได้ว่าเมื่อกี้นี้โกรธ หรือเมื่อกี้นี้โลภอะไรอย่างนี้ มันดูสภาวะของนามธรรมที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ อันนี้เรียกว่า ปัจจุบันสันตติ ก็จัดอยู่ในกลุ่มของปัจจุบันเหมือนกัน

บางคนก็บอกว่า หลวงพ่อปราโมทย์สอนวิปัสสนาไม่ได้หรอก สอนดูจิตแล้วบอกว่าให้ตามดู จิตโกรธแล้วรู้ จิตโลภแล้วรู้ อันนั้นเขาไม่เข้าใจ บอกว่าไม่เป็นปัจจุบัน มันเป็นปัจจุบัน แต่มันเป็นปัจจุบันสันตติ ไม่ใช่ปัจจุบันขณะ อย่าว่าแต่หลวงพ่อเลย ให้พระอรหันต์ที่ไหน ท่านดูนามธรรม ท่านก็ไม่ได้ดู นามธรรมทั้งหมดเป็นปัจจุบันได้ เป็นปัจจุบันขณะ พระอรหันต์ เยอะไปหน่อย ก็สูงไปหน่อย ลดลงมา อย่างพระอนาคามีอย่างนี้ เวลาจิตท่านเกิดมานะ ท่านมีสติไหม ก็ไม่มี ถ้ามีสติ มานะมันก็ไม่มี เพราะฉะนั้นมานะเกิดขึ้นแล้ว ท่านมีสติรู้ว่ามีมานะเกิดขึ้น ก็เห็นมานะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ก็จะเห็นแต่ความไม่เที่ยง สภาวะทั้งหลายมีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปทั้งหมด ทั้งตัวนามธรรมทั้งหลาย

เฝ้าดูไป บางทีจิตใจเรามีความทุกข์เกิดขึ้น เรามีสติรู้อยู่ พอสติรู้แล้ว บางทีความทุกข์ไม่หาย เราบอก เอ๊ะ ทำไมความทุกข์ ในใจไม่หาย ความทุกข์ทางกาย ถึงมีสติอย่างไรก็ไม่หาย จนกว่าจะหมดเหตุปัจจัยของมันที่จะทุกข์ แต่ความทุกข์ทางใจ จิตที่ทุกข์นี่เป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะ เขาเรียกเป็นโทสมูลจิต มีมูลฐานคือโทสะ มันจะมีเวทนา คือความทุกข์ เขาเรียกเสียโก้เลย เขาเรียก โทมนัสเวทนา ฉะนั้นเวลาภาวนา อย่างบางทีจิตเราทุกข์ขึ้นมา เราดูลงไป ทำไมไม่หาย สงสัยมากเลย ก็เห็นอยู่ว่าทุกข์ แต่ทำไมไม่หาย เพราะจริงๆ แล้วสติไม่เกิด ขณะนั้นโลภะเกิด อยาก ตัณหาเกิด อยากให้มันหาย เพราะมันมีโทสะซ้อนโทสะขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง

อย่างใจเรากลุ้มใจ อึดอัด ขัดข้องอยู่อย่างนี้ เรามีสติรู้ทัน เราก็ไม่ชอบมัน เราเกลียดมัน ตัวนั้นเป็นโทสะ พอเกลียดมันแล้ว ก็อยากให้มันหายไป จิตก็ดิ้นรนเลย ทำอย่างไรจะหายๆ ไม่มีหายหรอกอย่างนั้น เรากำลังทำเหตุของความทุกข์ให้เกิดขึ้น ทุกข์เก่า สมมติว่าเราอกหัก สมมติเราอกหัก ใจมันทุกข์ขึ้นมา เราคิดเรื่องแฟนเราแล้วมันทุกข์ขึ้นมา หนีไปอยู่กับคนอื่นแล้ว มันทุกข์ขึ้นมา เราดูลงไป มันทุกข์แต่มันไม่หาย ที่แท้เราดูไม่ออก ว่าตอนนั้นเราอยากจะให้มันไม่ทุกข์ อยากจะให้ความทุกข์ที่มีอยู่ มันดับทันที ความอยากมันเกิด ใจมันก็ดิ้นรนๆ ก่อนจะอยากนี่ จิตมันมีความทุกข์ มันเกิดไม่ชอบขึ้นมา มีโทสะซ้อนขึ้นมา อีกทีหนึ่ง ที่อกหักรักคุด มันเป็นอดีตไปแล้ว เป็นโทสะในอดีต โทสะในปัจจุบันก็คือ ตัวที่ไม่ชอบใจที่มันเป็นทุกข์ นี่เป็นโทสะใหม่ที่เกิดขึ้น เราไม่เห็นๆ ใจเราก็ยังทุกข์อยู่อย่างนั้น เพราะกิเลสยังเกิดอยู่

เพราะฉะนั้นถ้าหากเราภาวนา เราดู ดูๆ แล้วทำไม ยังไม่หายทุกข์ ให้รู้เลยว่าเรากำลังสร้างทุกข์อีกตัวหนึ่งขึ้นมาแล้ว ทุกข์เก่านั้นมันจบไปแล้ว อย่างขณะที่เรากลุ้มใจว่าแฟนทิ้งอย่างนี้ เราคิดเรื่องแฟน มันก็ทุกข์ใช่ไหม พอเราเห็นว่ามันทุกข์ เราไม่ชอบ เราอยากให้หาย ตอนที่อยากให้หาย เราก็คิดทำ อย่างไรจะหาย ขณะที่คิดว่าทำอย่างไรจะหายทุกข์ ลืมคิดถึงแฟนแล้ว เพราะฉะนั้นความทุกข์เพราะแฟนทิ้ง มันดับไปแล้ว มันดับไปโดยอัตโนมัติ มันเกิดตัวใหม่ขึ้นมา เป็นทุกข์เพราะว่าอยากให้หายอกหักอะไรอย่างนี้

เราดูไม่ลงปัจจุบัน เราก็จะดูทุกข์ไม่ขาด ที่จริงสติ สมาธิ ปัญญาเราไม่พอ เราก็เลยเห็นมันไม่ขาด แต่สติ สมาธิ ปัญญาเราพอ มันก็จะขาดสะบั้นทันทีเลย อย่างใจมันทุกข์อยู่ พอเราเห็นปุ๊บ มันจะดับเลย เพราะตรงที่ใจมันทุกข์ มันเป็นอกุศลจิตชนิดโทสมูลจิต จิตมีโทสะเจืออยู่ พอสติเกิดปุ๊บ รู้สภาวะ คือรู้ถึงจิตที่มีโทสะ หรือรู้โทสะที่แทรกอยู่ในจิต ฝีมือไม่เท่ากันก็จะเห็นต่างกัน ถ้าฝีมืออ่อนหน่อย ก็จะเห็นว่าจิตมีโทสะ ถ้าฝีมือเข้มแข็งก็จะเห็นว่า โทสะมันแทรกเข้ามาในจิต ไม่ใช่จิตหรอก ถ้าเห็นถูกต้อง จิตมันไม่ไปตรึกในอารมณ์เก่า แต่มันใช้โทสะในปัจจุบัน ใช้ตัวทุกข์ในปัจจุบันเป็นอารมณ์ ไม่ได้เอาเรื่องแฟน มาเป็นอารมณ์แล้ว มันเปลี่ยน ฉะนั้นความทุกข์เรื่องแฟน ดับทันทีเลย จะขาดทันที

เราภาวนา ถ้าเราสติ สมาธิ เราดีจริงๆ พอเราเห็นสภาวะ นามธรรมที่เป็นอกุศล มันจะดับทันที อย่างจิตมีความทุกข์ มันเป็นโทสมูลจิต พอเราเห็นจิต ที่มีความทุกข์ ความทุกข์มันจะดับทันที จิตดวงนั้นจะดับ เกิดจิตดวงใหม่ คือจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตที่เป็นกุศล มันมีสติอยู่ ตัวอื่นๆ ก็ดูแบบเดียวกัน ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป ต่อไปก็ชำนาญ อะไรไหวขึ้นมาในจิต สติก็รู้ทันไป รู้ทันแล้วก็อยากให้มันหาย อยากให้มันหาย รู้ทันลงไปอีกแล้ว นี่อยากอีกแล้ว ไม่ชอบนั่นล่ะ มันมีโทสะอีกตัวหนึ่งเกิดขึ้น ไม่ชอบก็เลยอยากให้มันหาย

บางทีความรู้สึกในจิตเกิดขึ้น อย่างราคะ เวลามีราคะ จิตมีความสุขได้ ขณะที่จิตมีราคะ จิตจะมีเวทนาได้ 2 ชนิด คือมีความสุข เขาเรียกโสมนัสเวทนากับอุเบกขาเวทนา เฉยๆ ฉะนั้นเวลาราคะเกิด มีเวทนา 2 ตัว เวลาโทสะเกิด มีแต่ทุกข์ในใจ เรียกโทมนัสเวทนา อย่างเวลาโทสะเกิด ใจมันทุกข์ มันดูง่าย มันดูง่ายเลยว่า นี่มันทุกข์ แต่พอราคะเกิด มันมีความสุข จิตที่มีความสุข มันมี 2 แบบ จิตที่เป็นกุศลก็มีความสุข จิตที่มีราคะก็มีความสุข

อย่างถ้าจิตมีโทสะมันทุกข์ มันไม่มีหรอกจิตที่เป็น กุศลแล้วมีโทสะ เพราะฉะนั้นโทสะนี่ดูง่าย จิตที่มันทุกข์ดูง่าย เพราะว่ามันมีแต่จิตที่เป็นโทสะเท่านั้น จิตมันถึงจะทุกข์ แต่พอมันมีความสุขขึ้นมา มันไม่แน่ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล มันอาจจะเป็นจิตที่มีโลภะก็ได้ จิตที่มีราคะมันก็มีความสุขได้ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศล มันก็มีความสุขได้ หรือบางทีมันเฉยๆ ตรงที่มันเฉยๆ ต้องดูให้ดี มันเป็นจิตที่มีราคะแล้วมีอารมณ์เฉยๆ มีความรู้สึกเฉยๆ หรือเป็นจิตที่มีโมหะแล้วมีความรู้สึกเฉยๆ โมหะมันก็เฉยเหมือนกัน หรือเป็นจิตที่มีสติ ถ้ามีสติ จิตก็เป็นกุศล

จิตที่เป็นกุศลก็มีเวทนาได้ 2 ตัวเหมือนกัน คือมีความสุขกับมีความเฉยๆ เพราะฉะนั้นถ้าจิตมันมีความสุข ต้องดูให้ดี มันเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องสังเกตเอา ถ้ามันมีความสุขเพราะมันรักใคร่ผูกพัน ยึดถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันนั้นเป็นโลภะ ถ้ามันมีความสุขโดยที่มันไม่ได้ยึด ไม่ได้ถืออะไร มีความสุข หรือมันอยู่ในอารมณ์ที่ดี อารมณ์ที่เป็นกุศล อย่างเราคิดถึงพระพุทธเจ้า ใจมีความสุขขึ้นมา อันนี้เป็นความสุข ของจิตที่เป็นกุศล ถ้าคิดถึงสาวคนโน้นคนนี้ จิตงุ่นง่าน มีราคะขึ้นมา คิดมโนเอาว่าเรามีเมีย 500 คนอะไรอย่างนี้ แล้วรู้สึกมีความสุขขึ้นมา อันนั้นเป็นโลภะ เป็นความสุข ที่เกิดจากโลภะ

บางทีใจเฉยๆ ใจเฉยๆ ก็มีตั้ง 3 แบบ หนึ่ง ใจเป็นกุศล บางทีก็เฉย บางทีมีความสุข อันที่สอง ใจมีโลภะ มีราคะ เวลาใจมีโลภะ มีราคะนี่บางทีก็มีความสุข บางทีก็เฉย อีกอันหนึ่งอันที่สาม คือใจมีโมหะก็เฉยๆ เรียกเฉย ซื่อบื้อ ฉะนั้นที่ว่าเฉยๆ นี่ ขณะนี้จิตดิฉันเฉยแล้ว ที่จริงจิตมีโมหะอยู่ มีโมหะดูไม่ออก เฉยๆ แล้วก็สะสมความเห็นผิดไป สะสมเซลฟ์จัด อะไรขึ้นไป คิดว่าดีแล้ว หลงผิด โมหะมาเสียตัวเดียวนี่ ยับเยินเลยในการปฏิบัติ

ฉะนั้นกิเลสทั้งหลาย 3 ตัว โลภะ โทสะ โมหะ เวลามันเกิดในใจเรา เราคอยรู้สึกเอา ถ้าเรารู้สึกได้ถูกต้อง มันจะดับทันที แล้วตัวโทสะนี่ง่ายที่สุด โทสะเกิด จิตมีโทสะขึ้นมานี่ พอเรารู้ว่าจิตมีโทสะ แล้วเราเป็นกลาง กับมันจริงๆ ไม่ใช่ไปเกลียดมัน ถ้าเกลียดมันคือ เกิดโทสะอีกตัวหนึ่งแล้ว ถ้าเราเป็นกลาง เราเห็นจิตมีโทสะ ด้วยจิตที่เป็นกลาง มันจะดับทันทีเลย เพราะจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มีสติอยู่ เป็นจิตที่เป็นกุศล ฉะนั้นดูง่ายโทสะนี่ มันกิเลสที่ ละง่ายที่สุด เพราะหยาบที่สุด เผ็ดร้อนที่สุด ดูง่ายที่สุด

ฉะนั้นบางคนบอกว่าผมเป็นโทสจริตนี่แย่เลย ไม่ดีเลย โมโหมาก มีโอกาสตกนรกสูง ก็จริง มีโอกาสตกนรกสูง แต่เวลาลงมือปฏิบัติ มันเป็นกิเลสที่ละง่ายที่สุด เพราะว่า มันเห็นทุกข์ เห็นโทษง่าย ส่วนราคะมันเป็นกิเลส ที่มันไม่ทุกข์ มันมีความสุขก็ได้ มันเฉยๆ เป็นอุเบกขาอยู่ก็ได้ มันเลยละยากกว่า ส่วนโมหะนั้นสุดยอดเลย มันหลง มันเฉยๆ มันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์อะไร มันเฉยๆ เราก็นึกว่านี่อุเบกขา จิตดีเหลือเกิน จิตเป็นกลาง เห็นอะไรก็สักว่ารู้ เห็นอะไรก็สักว่าเห็นอะไรอย่างนี้ โอ๊ย จริงๆ เป็นโมหะ คือประเภทไม่รู้ร้อนรู้หนาว ดูยาก โมหะนี่เป็นกิเลสที่ละยากที่สุดเลย แล้วก็มีโทษมากที่สุดเลย เพราะทำเราหลงผิด

 

 

พระพุทธเจ้าท่านแจกแจง โทสะนี่เป็นกิเลสที่มี โทษมากแต่ละง่าย โทษมากอย่างไร จิตมีโทสะมันพร้อม จะตกนรกได้ มันมีโทษมาก ทำบาปทำกรรมอะไรก็รุนแรง ไปไล่ฆ่าไล่ตีเขาอะไรอย่างนี้ มันรุนแรง โทษมันมาก แต่มันละง่าย เพราะมันเห็นง่าย ราคะนี่มีโทษลดลง น้อยกว่าโทสะแต่ละยาก เพราะเราไม่เห็นว่ามันจะทุกข์ตรงไหนเลย ทำไมจะต้องรีบละ อย่างบางคนเจ้าชู้อะไรนี่ ก็เจ้าชู้ไปเรื่อยๆ ไม่เห็นจะต้องละเลย ไม่ทุกข์ ไม่รู้สึกว่าทุกข์อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะละยากกว่าโทสะ

โทสะนี่เห็นต่อหน้าต่อตาเลยว่าทุกข์ แต่ราคะนี่โทษมันก็ ไม่แรงมากเท่าโทสะ ราคะอย่างถ้าใจเรามีราคะเยอะๆ แล้วก็ไม่ได้ ไปทำชั่วอย่างอื่น มีแต่ราคะของเราอยู่ในใจหล่อเลี้ยงอยู่เรื่อยๆ ตายไปเราไปเป็นเปรต เป็นเปรตก็ยังสูงกว่าสัตว์นรกใช่ไหม โทสะนี่มันลงนรก เปรตนี่มันสูงขึ้นมาอีก ใกล้มนุษย์แล้ว อีกนิดหนึ่งก็เป็นคนแล้ว เพราะฉะนั้นโทสะมีโทษมาก ละง่าย ราคะมีโทษน้อยกว่าแต่ละยาก เพราะมันไม่อยากละ มันเสียดาย รู้สึกว่ามีอยู่ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย มีความสุขดี หรือนั่งเล่นเพชร นั่งเล่นพลอย ซื้อเพชรซื้อพลอยมาเยอะแยะ นั่งดูทั้งวัน อะไรอย่างนี้ มีความสุข ไม่เห็นมันจะทุกข์ตรงไหนเลย ตรงที่มันไม่เห็นทุกข์นั่นล่ะ มันละไม่ได้

ส่วนโมหะละยากที่สุด พระพุทธเจ้าบอกว่า โมหะมีโทษมาก ที่สุดแล้วก็ละยากที่สุดเลย มันดูไม่ออก มีโมหะนี่ไปเป็นเดรัจฉาน เรานึกว่าเดรัจฉานดีกว่าเปรตใช่ไหม ไม่ใช่ เปรตสูงกว่าเดรัจฉาน เดรัจฉานนี่เป็นภูมิที่แย่มากแล้ว แย่สุดๆ ส่วนใหญ่สัตว์เดรัจฉาน พอตายไป ถ้าไม่มีบุญหนุนหลังอะไรอยู่ ส่วนใหญ่ตกนรกไปอีก เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานนี่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี แม่มันมันยังจะขี่เลย อะไรอย่างนี้ มันไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีอะไร เพราะฉะนั้น โทษมันแรงที่สุด

หรือมีมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าท่านออกปากเลยว่า ท่านไม่เห็นอะไรมีโทษมากเท่ากับมิจฉาทิฏฐิเลย มิจฉาทิฏฐิ เช่น มีความเชื่อว่า ตายแล้วสูญ หรือตายแล้วเกิดอะไรอย่างนี้ เราฟังแล้วไม่เห็นจะโทษมากตรงไหนเลย ใครมันจะเชื่อว่า ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญมันก็เรื่องของมัน แล้วมันก็ไม่ได้ ไปทำอะไรใครเขา ทำไมท่านว่ามันโทษมาก มันโทษมากเพราะมันขวางมรรคผลนิพพานของตัวเอง แล้วถ้ามัน แพร่ความคิดนี้ออกไปให้คนอื่นเชื่อตาม มันก็แพร่สิ่งที่ เข้าใจผิดออกไป มนุษย์เราไม่ได้ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ มันมีแต่เรื่องขันธ์ 5 มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้สืบเนื่องกันไป ฉะนั้นไม่มีตัวอะไรเกิด ไม่มีตัวอะไรตายหรอก นี่เข้าใจยาก เพราะฉะนั้น ตัวโมหะนี่เข้าใจยาก

อย่างบางทีงมงาย หัวปักหัวปำ ยึดถือในลัทธิอุดมการณ์ อะไรเข้มข้น อย่างนี้มันทำด้วยความหลง ว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี คิดเอาทั้งนั้น ใจมันมีโมหะครอบงำอยู่ แก้ยาก อย่างเวลาเรามีโทสะ เราไปตีหัวคน ก็ตีได้ทีละคนใช่ไหม พวกมิจฉาทิฏฐิบางคน มันเกิดมิจฉาทิฏฐิ มันเห็นว่าชนชาตินี้เลว ต้องฆ่าให้หมด ก็ไล่ฆ่าตายกันหลายล้านเลย นี่เพราะมิจฉาทิฏฐิตัวเดียว ฆ่าคนตั้งหลายล้าน ถ้าจะฆ่าคนด้วยความโกรธ เป็นคนๆ มันก็ฆ่าทีละคน หรือบางทีมันก็มีลัทธิอุดมการณ์ ถ้าไม่ใช่ ชนชั้นเดียวกับเรานี่ เป็นศัตรูต้องทำลายให้หมด มีบาง ประเทศปฏิวัติมา ชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมา ฆ่าคนไปครึ่งประเทศ เพราะไอ้พวกนี้เรียนหนังสือเยอะ เรียนหนังสือเยอะนี่ คนละชนชั้นกับเรา ไอ้นี่ทำมาหากิน ทำบริษัทคนละชนชั้นกับเรา ไอ้นี่เป็นครูมีความรู้มาก คนละชนชั้นกับเรา มันฆ่าหมดเลย เพราะฉะนั้นโมหะนี่มีโทษร้ายแรงที่สุดเลย ทำผิดทำบาปได้แบบ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็ละยาก เวลามันยึดถือในลัทธิอุดมการณ์อะไรของมัน แก้ไขยากมากเลย มันคิดว่าดี เราชาวพุทธเราก็ต้องเรียนรู้ ว่ามันก็โมหะนั่นล่ะ

ค่อยๆ ดูไป ราคะเดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็โทสะเกิด เดี๋ยวก็หลงอะไรอย่างนี้ โมหะตื้นๆ ก็เช่น เผลอไป ใจลอยไป ฟุ้งซ่านไป ลังเลสงสัย เรื่องโน้นเรื่องนี้ นี่ชักจะเป็นโมหะหยาบขึ้นมาแล้ว ยิ่งกว่าใจลอย สงสัย บางคนสงสัยมันทุกเรื่องเลย จะทำกรรมฐานก็นั่งสงสัยไปเรื่อย อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด ที่ทำอยู่นี่มันถูกหรือมันผิด คิดวนอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ดูว่ากำลังสงสัยอยู่ โมหะมันร้ายอย่างนี้ บางทีคิดฟุ้งซ่านอยู่ในธรรมะ คิดว่าเจริญปัญญาอยู่ ความจริงฟุ้งซ่าน เจริญปัญญาจะทำได้จิตต้องมีสมาธิ ถ้าจิตไม่มีสมาธิ เราก็พิจารณาธรรมะลงไป ก็เรียกว่าฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านในธรรมะ เรียกธัมมุทธัจจะ ธรรมะ-อุทธัจจะ ฟุ้งซ่านในธรรมะ เพราะฉะนั้นจะพิจารณาธรรมะก็ต้องทรงสมาธิ อย่างน้อยที่สุดต้องมีขณิกสมาธิ จิตที่ตั้งเป็นผู้รู้ เป็นขณะๆ ไป ต้องมี

เราค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป จะดูกาย ก็ให้เห็นความจริงของกาย คือเห็นไตรลักษณ์ของกาย กายก็อยู่ในปัจจุบัน ความรู้สึกก็อยู่ในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันสันตติ เราก็ดู เห็นมันเลย ความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนแต่ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป มีไหมความสุขที่เกิดแล้วไม่ดับ มีไหมความทุกข์ที่เกิดแล้วไม่ดับ มีไหมใจเฉยๆ แล้วไม่ดับ ไม่มีหรอก มีหรือเปล่าใจจะโกรธถาวร ไม่มี ใจจะโลภถาวรมีไหม ไม่มี ใจจะหลงถาวรมีไหม ก็ไม่มีเหมือนกัน อย่างคนไม่ได้ภาวนา นี่ถามว่าหลงถาวรไหม ไม่หลงถาวรหรอก

จิตที่หลงมันเกิดตรงที่เรียกว่า เขาเรียกว่า ชวนจิต จิตที่เสพอารมณ์ ส่วนที่เป็นวิบากจิต มันก็เหมือนจิต ของคนปกตินี่ล่ะ ส่วนที่ขณะที่ตามองเห็นนี่ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่ถัดจากนั้นจะหลง หลงดู หลงชอบ หลงเกลียด ค่อยเกิดขึ้นมา เฝ้ารู้เฝ้าดูของจริงก็อยู่ในปัจจุบัน ถ้าเป็นกายนี่ เป็นปัจจุบันขณะ นามธรรมก็เป็นปัจจุบันสันตติ คือสืบเนื่องกับปัจจุบัน

ดูไป พอเราเห็นรูปธรรม เห็นนามธรรมแล้ว แค่นี้ไม่พอ ตรงที่เราเห็นรูปธรรมนามธรรมนี่ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา จะต้องเห็น ไตรลักษณ์ เห็นความจริงของรูปธรรมนามธรรม รูปธรรม แสดงไตรลักษณ์ เมื่อกี้พูดแต่แรกแล้ว ร่างกายนั่งอยู่ มันก็นั่งตลอดไม่ได้ หายใจออกก็หายใจออกตลอดไม่ได้ หายใจเข้าก็หายใจเข้าตลอดไม่ได้ ร่างกายมันถูกความทุกข์ บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มันทนอยู่ไม่ได้ในอิริยาบถเดิม มันก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไป ร่างกายเป็นอนัตตา เป็นวัตถุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นวัตถุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา สุดท้ายธาตุนั้นก็แตกสลายออกไป ดินก็ไปสู่ดิน น้ำก็ไปสู่น้ำ ลมก็สู่ลม ไฟก็สู่ไฟ หาความเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขาไม่ได้ อันนี้ในส่วนของดูรูปธรรม อยู่ในปัจจุบันนั่นล่ะ ดูแล้วให้เห็นไตรลักษณ์

นามธรรมเป็นปัจจุบันสันตติ ดูแล้วก็ต้องให้เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่โกรธรู้ว่าโกรธ แล้วกูก็จะโกรธ อย่างนั้นดูไม่เป็นหรอก อย่างเราเห็นความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อย่างนี้เรียกว่า เราดูเป็นแล้ว ความโลภเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ความหลงเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ความสุข ความทุกข์ในใจ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เรียกว่า เราเห็นอนิจจัง ตัวทุกขัง ของนามธรรมนี่ดูยาก ถ้าเราทรงฌานจะดูง่าย แต่ถ้าเราไม่ทรงฌาน จะดูอนิจจังง่ายกับดูอนัตตาง่าย อนัตตาคือ นามธรรมทั้งหลาย มันไม่ได้เกิดเพราะเราสั่งให้เกิด แล้วมันไม่ได้ดับเพราะเราสั่งให้ดับ มันมีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้ อันนี้นามธรรมที่จะแสดงอนัตตา นามธรรมที่แสดงทุกขังนี่ดูยากมาก ตัวที่เด่นของนามธรรม คืออนิจจังกับอนัตตา

 

 

เรามีบทสวดมนต์อยู่อันหนึ่งที่เราจะสวดกัน เป็นบท ทำวัตรเช้า ก็จะขึ้น รูปัง อนิจจัง เวทะนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง แล้วกระโดดข้ามมา รูปัง อนัตตาเลย รูปเป็นอนัตตา เวทะนา อนัตตา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา จะเป็นอย่างนี้ ทำไมกระโดดข้ามทุกขังมา เพราะการดูนามธรรม ดูตัวทุกขังมันไม่เด่น มันเด่นที่ตัวไม่เที่ยง เพราะว่ายิ่งตัวไม่เที่ยงนี่จะเด่นมากเลย เพราะนามธรรมเกิดดับ หมุนเวียน เปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งกว่ารูปธรรมอีก

อย่างนั่งอยู่นี่นั่งอยู่ได้ตั้งหลายนาทีใช่ไหม แต่ใจนี่จะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่วก็เปลี่ยนยิบๆๆๆ ตลอดเวลาเลย มันแสดงอนิจจัง อยู่ตลอดเวลา อย่างร่างกายเรานี่บางทีเราไม่รู้สึกว่าเราแก่ลงไป ใกล้ความตายลงไปอะไรอย่างนี้ มองไม่ออก แต่ว่านามธรรม จะเกิดดับๆๆ ตลอดเวลา ฉะนั้นมันจะเด่นในเรื่องของอนิจจัง ตัวเด่นของนามธรรมอีกตัวคือตัวอนัตตา เราจะเห็นเลยจิตมันโลภ มันโกรธ มันหลง มันสุข มันทุกข์ มันจะดีอะไรนี่ เลือกไม่ได้ สั่งไม่ได้ สั่งให้จิตสงบ มันก็ไม่สงบ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อันนี้เรียกว่า อนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปก็จะเห็นอนิจจัง อนัตตาของพวกนามธรรม

แล้วทุกขังเห็นได้ไหม ทุกขังก็เห็นได้ อย่างอันนี้เราต้องทรง สมาธิมากหน่อย เวลาเราทำสมาธิไป ใจสงบ สว่าง เราเห็นจิตใจที่สงบ สว่าง สบาย มีความสุขอยู่นี่ จิตที่ทรงสมาธิอยู่ นี่มันมีความสุขมาก จะให้ปล่อยวางปล่อยไม่ลงหรอก มันเสียดาย จนกระทั่งวันหนึ่ง สติปัญญามันแก่กล้าพอ มันจะเห็นเลยว่า ตัวจิตที่ว่าดีที่ว่าวิเศษ โดยเฉพาะจิตผู้รู้ที่ว่าดีที่ว่าวิเศษนี่ เอาเข้าจริงมันคือตัวทุกข์ อย่างเราภาวนาไป จิตเรามีความสุข อิ่มเอิบ สบายอยู่ดีๆ สติ ปัญญามันพอขึ้นมา มันมองทะลุลงไปเห็น ตัวนี้คือตัวทุกข์ ตัวผู้รู้นี่คือตัวทุกข์ที่แท้จริงเลย มันบีบคั้น มันกดดัน มันบีบคั้นถึงขนาดเหมือนกับภูเขาใหญ่ๆ ลูกใหญ่ๆ ลงมาบดๆๆ ไม่ใช่แค่มาทับ แต่มันขยี้เลย ขยี้ลงมาที่จิตเลย โอ๊ย มันทุกข์จริงๆ ไม่เห็นอะไรทุกข์เท่าตัวนี้เลย นี่พอเห็นทุกข์อย่างนี้ จิตมันถึงจะยอมวาง จิตจะปล่อยวางจิต

ถ้าดูทางอนิจจัง ก็ดูง่ายๆ เดี๋ยวก็วางแล้ว ทุกขังนี่ดูยาก ส่วนใหญ่ที่จะพ้นด้วยการเห็นทุกข์จะเป็นพวกทรงฌาน อย่างเวลา ทรงฌานอยู่ กระทั่งดูกาย กายเบา จิตเบา สบาย ไม่ค่อยทุกข์ ฉะนั้นพวกที่ทรงฌาน เวลาจะบรรลุพระนิพพานอะไรนี่ ก็จะเห็นตัวทุกข์ ถึงจะยอมปล่อย เห็นกายเป็นทุกข์ถึงจะปล่อย เห็นจิตเป็นทุกข์ถึงจะปล่อย ถ้าไม่ได้ทรงฌาน เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาอะไรอย่างนี้ก็ปล่อย ถ้าพวกปัญญากล้า เขาเห็นอนัตตา เขาก็ปล่อยแล้ว พวกศรัทธากล้า เห็นอนิจจัง ก็ยอมปล่อย เออ พระพุทธเจ้าสอนจริง ทุกอย่างเกิดแล้วดับ เชื่อแล้ว ใจยอมเชื่อแล้ว ปล่อยเลย ฉะนั้นแล้วแต่จริตนิสัย เพราะฉะนั้นเวลามันปล่อย มันเลยมี 3 แบบ

ถ้าเห็นอนิจจัง เขาเรียก อนิมิตตวิโมกข์ คือไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีเครื่องหมายทำไม ไม่มีเครื่องหมาย ทุกอย่างที่มันเกิด มันดับหมด มันไม่มีอะไรเหลือเลย มันก็เลยเรียก อนิมิตตวิโมกข์ พวกที่ทรงฌานอยู่มันจะหลุดพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ มันจะเห็น ความทุกข์ ความบีบคั้นของสิ่งซึ่งเราคิดว่าดี ในที่สุดเราก็เห็นว่า มันไม่ใช่ของดีหรอก จิตมันก็ปล่อย ส่วนพวกที่ปัญญามากหน่อย ก็จะหลุดพ้นด้วยการเห็นอนัตตา เขาเรียก สุญญตวิโมกข์

ฉะนั้นก็จะหลุดพ้น แต่ละแบบไม่เหมือนกันหรอก แล้วแต่จริตนิสัย แล้วแต่วาสนาบารมีที่สะสมมา แต่ละคน ไม่เหมือนกัน แต่พอหลุดพ้นแล้ว ก็เหมือนกันหมดแล้วคราวนี้ แต่คุณสมบัติไม่เท่ากัน แต่ว่าความบริสุทธิ์นั้นเสมอกันหมด ตั้งแต่ พระอรหันต์เบสิกเลย พระอรหันต์สุกขวิปัสสก กับพระพุทธเจ้า ความบริสุทธิ์ก็เสมอกัน แต่ความรู้ความเข้าใจอะไรต่างๆ ความสามารถพิเศษอะไรนี่ ไม่เหมือนกัน เครื่องอยู่ก็ไม่เหมือนกัน แต่ละองค์ๆ ก็มีเครื่องอยู่ที่ตัวเองถนัด บางองค์ฝึกมาทางกายมาก เครื่องอยู่ก็ไปอยู่ที่กายอะไรอย่างนี้ บางองค์อยู่กับนามธรรมมาก เครื่องอยู่ก็ไปอยู่กับนามธรรม

เครื่องอยู่มันก็คือบ้าน บ้านของคนแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน บางคนอยู่บ้านแบบนี้มีความสุข อีกคนหนึ่งมาอยู่ไม่มีความสุข ฉะนั้นตัวบ้านอยู่สบายๆ แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง ก็คือการเห็นโลกนี้ว่างเปล่า ดูลงในกายก็จะรู้สึกเลย กายนี้ว่างเปล่า เสมอกับโลกข้างนอก จิตที่เป็นคนรู้คนดูก็ว่างเปล่า เสมอกับกาย เสมอกับโลกข้างนอก ความว่างเสมอกันไปหมด กลืนเป็นเนื้อเดียวกันไปหมด ก็ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร ฉะนั้นถ้าเห็นแต่ว่ารูปธรรม นามธรรม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ก็ไม่มานั่งคิดหรอกว่านิพพานแล้วจะไปไหน ก็โลกนี้มันว่างไปหมด แล้วจะไปไหนอีก ใจมันก็จะเห็นแค่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะเห็นอย่างนั้น มันว่าง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 เมษายน 2564