กิเลส 3 ระดับ

ช่วงนี้ก็มีอะไรแปลกๆ มีคนส่งรูปมาให้ดู คนไปทำเพจอะไรก็ไม่รู้ เอารูปหลวงพ่อไปใส่แล้วบอกว่า 3 ราศีนี้ หลวงพ่อให้รวย จะรวยแล้ว เอารูปเราไปใส่เฉยๆ หลวงพ่อไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องดวง วาสนาอะไรอย่างนี้ ไม่สนใจ เราเชื่อแต่เรื่องกรรมกับผลของกรรม บางที่บางคนก็เคยเอารูปหลวงพ่อไปแปะไว้หน้าเพจ เนื้อหาข้างในไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหลวงพ่อเลย บางที่ก็ทำคัทเอาท์เลยเรี่ยไร เอารูปหลวงพ่อไปใส่

ถ้าพวกเรารู้จักหลวงพ่อ จะรู้ว่าหลวงพ่อไม่เคยเรี่ยไร ไม่เคยมีอะไรที่ไม่ชัดเจน อย่างเรื่องดวงชะตาอะไรอย่างนี้เป็นเรื่องไม่ชัดเจน ไม่เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้า ชัดเจน ไม่ดิ้นไปดิ้นมา ไม่พลิ้วไปพลิ้วมา อย่างดูดวงหมอดูเขาว่าจะเกิดอย่างนี้ๆ แล้วมันก็เกิดบ้างไม่เกิดบ้าง มันไม่ชัดเจน ในขณะที่ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจน ไม่ดิ้น

 

ศาสนาพุทธมีเหตุมีผล มีขั้นตอนของการปฏิบัติ

อย่างเราภาวนาเราจะรู้เลย เราทำเหตุอย่างนี้ก็จะมีผลอย่างนี้ ทำเหตุที่ดีก็มีผลที่ดี ทำเหตุที่ชั่วก็มีผลที่ไม่ดี เป็นเรื่องของเหตุของผลทั้งหมดเลย ไม่มีบังเอิญ ไม่มีเรื่องแก้กรรม ไม่มีหรอก อย่างเวลาอกุศลให้ผลเรา เราประสบกับความวุ่นวายในชีวิต ยากลำบาก หรือมีความทุกข์ มีปัญหามากมาย ไม่ใช่ไปวิ่งแก้กรรม แต่เราต้องทำกรรมใหม่ที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อิทธิพลของกรรมดีมันจะไปล้างอิทธิพลของกรรมเก่าที่ไม่ดี

อย่างเราเกิดมายากจน เราทำกรรมใหม่ที่ดี กรรมใหม่ที่ดีไม่ใช่ไปขอหวยที่โน่นที่นี่ อันนั้นไม่ใช่กรรมที่ดีอันนั้นมันโลภ เราเติมกิเลสลงไปอีก ชีวิตเราก็ยิ่งวุ่นวายใหญ่ กรรมดีก็คือ ต้องรู้จักทำมาหากิน ต้องรู้จักลงทุน ต้องรู้จักเก็บออม ต้องรู้จักคบคนที่ดีๆ ต้องรู้จักดำรงชีวิตที่พอเหมาะพอสม ไม่ใช่รายได้เดือนละหมื่น บริโภคอะไรเท่ากับคนที่เขารายได้เดือนละแสน อย่างนั้นทำกรรมใหม่ที่ไม่ดี ไม่ประมาณตน อย่างไรก็จน

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผลตลอดสายของการปฏิบัติ ไม่มีใครมาทำให้เราทุกข์ เราทำของเราเอง ไม่มีใครจะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ เราก็ต้องทำของเราเองเหมือนกัน ถึงเราไปจับชายจีวรของพระพุทธเจ้าอยู่ ท่านก็ช่วยให้เราพ้นทุกข์ไม่ได้ ท่านช่วยเราได้แค่บอกทาง บอกวิธีปฏิบัติให้ บอกวิธีทำกรรมใหม่ที่ดีให้เรา อย่างสอนเราให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ส่วนเราจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอยู่ที่ตัวเองแล้ว ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็แค่บอกทางให้ ส่วนเราจะเดินทางหรือไม่เดินทาง มันก็เรื่องของคนคนนั้นแล้ว ถ้าใครเชื่อท่านก็เดินในเส้นทางที่ท่านสอน มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ในที่สุดความพ้นทุกข์มันก็เกิด ความดับทุกข์มันก็เกิด มี 2 สเต็ป ขั้นแรกพ้นทุกข์ ขั้นต่อไปก็ดับสนิทแห่งทุกข์ ตัวทุกข์คือตัวขันธ์ ขั้นแรกพ้นขันธ์คือจิตมันพ้นจากขันธ์ ขั้นสุดท้ายจิตมันวางขันธ์ มันทิ้งขันธ์ไป มันก็ดับสนิทแห่งทุกข์ คือขันธ์มันดับ

ธรรมะของท่านมีเหตุมีผล มีขั้นตอนของการปฏิบัติ คือศีล สมาธิ ปัญญา แต่จะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาได้ ก็ต้องมีสติ ขาดสติตัวเดียวศีล สมาธิ ปัญญาไม่เกิดหรอก ฉะนั้นเบื้องต้นฝึกความมีสติเอาไว้ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึกไว้ แล้วศีล สมาธิ ปัญญามันจะเกิดขึ้น ศีลเป็นเครื่องมือต่อสู้กับกิเลสอย่างหยาบ กิเลสที่แรงๆ ก็คือตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง มันมีอิทธิพลเหนือกาย เหนือวาจาของเรา ฉะนั้นอกุศลที่รุนแรงจะมีอิทธิพลเหนือกาย เหนือวาจาของเรา ทำให้เราผิดศีล 5 อกุศลที่รองลงมาระดับกลาง ยังไม่มีผลต่อกาย ต่อวาจา แต่มันมีผลต่อใจ กิเลสอย่างกลางมีผลกับใจ กิเลสอย่างละเอียดยิ่งประณีตลึกซึ้งเข้าไปอีก ไม่แสดงตัวออกมา

 

อย่างกิเลสมันมีตั้ง 3 ระดับ โลภ โกรธ หลงอะไรพวกนี้ง่ายๆ มันแสดงออกมา โกรธแล้วก็หน้าตาบึ้งตึง แยกเขี้ยว ยิงฟัน ไล่ชกไล่ต่อย ไล่ตี ไล่แทง ไล่ยิงกัน นี้หยาบๆ ดูง่าย หรือด่ากันไปด่ากันมา ไปดูในอินเทอร์เน็ต จะเห็นคนเขียนอะไรด่ากันไปด่ากันมาตลอดเวลา นึกว่าตัวเองฉลาด ที่จริงกำลังโชว์กิเลส กิเลสมันเร้าจนทนไม่ไหว เขียนโน่นเขียนนี่ออกไป สนองกิเลสไปเรื่อยๆ ตัวใหญ่ๆ เลยที่ไม่เคยเห็นเลย คือกูเก่งกว่าคนอื่น ไม่เห็น เขียนโน้นเขียนนี่ กูดี กูถูกอยู่คนเดียว กิเลสมันออกมาทางกาย ทางวาจาแล้ว อันนั้นเป็นของหยาบ

กิเลสหยาบๆ เครื่องมือในการต่อสู้คือศีล ศีลเป็นเครื่องมือต่อสู้ในเวลาที่กิเลสมีกำลังเข้มแข็งกว่าสติ สมาธิ ปัญญาของเรา สมาธิเป็นเครื่องมือต่อสู้เวลากิเลสกับสติปัญญาสูสีกัน ศีลเป็นเครื่องข่มใจ ข่มใจตัวเองไม่ให้ทำผิดศีล ไม่ให้ทำตามใจกิเลส สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลส ข่มกิเลสได้ระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้เข้ามาครอบงำใจ ส่วนปัญญานั้นเป็นตัวขุดรากถอนโคนทำลายกิเลส มันคนละระดับกัน ไม่เท่าเทียมกัน

ฉะนั้นขั้นต้นต้องมีศีลก่อน ข่มใจตัวเองอย่าทำตามใจกิเลส ถ้าทำตามใจกิเลสก็ไปทำร้ายคนอื่น ทำร้ายสัตว์อื่น ไปลัก ไปขโมย ไปฉ้อโกง ปลิ้นปล้อนหลอกลวงเขาอะไรอย่างนี้ หรือไปทำผิดศีลธรรม ผิดในกาม ไปแย่งชิงคนรัก ไปแย่งชิงสิ่งที่รักของคนอื่นเขาโดยไม่ชอบธรรม โกหกหลอกลวง ศีลจะเป็นตัวข่มไม่ให้เราทำตามใจกิเลส ทำผิดศีล 5 สมาธิ เป็นเครื่องข่มกิเลสไม่ให้มารุกรานจิต สิ่งที่สมาธิมันข่มลงไปคือตัวนิวรณ์ เป็นกิเลสระดับกลางๆ ทำงานขึ้นมาแล้ว เข้ามาครอบงำใจ ทำให้ใจเราเสียสมดุลแกว่งขึ้นแกว่งลงไม่มีสมาธิ ปัญญา ขุดรากถอนโคนกิเลส ฉะนั้นกิเลสมันก็มีหลายระดับ เครื่องมือในการต่อสู้กิเลสก็มีหลายระดับ ถ้าพูดตามหลัก ตำรับตำราปริยัติ กิเลสชั้นหยาบ ก็คือตัวโลภ โกรธ หลง กิเลสชั้นกลาง อันนี้ยังไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา เรียกว่าอาสวกิเลส มี 4 ตัวหลักๆ มีกาม มีทิฏฐิ คือเจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรพวกนี้ มีภพ แล้วก็มีอวิชชา เรียกอาสวะ มันทำงานขึ้นมาจากกิเลสส่วนลึก เรียกว่าอนุสัย

 

กิเลสมีหลายระดับ เครื่องมือในการต่อสู้กิเลสก็มีหลายระดับ

อนุสัย คือกิเลสที่ยังไม่แสดงตัว เป็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในจิตสันดาน มองไม่เห็นเพราะมันไม่แสดงตัว หรอก ฉะนั้นกิเลสหยาบๆ เรายังพอสู้ กิเลสกลางๆ มีสติ สมาธิ ปัญญาแข็งแรงขึ้นมาก็พอสู้ แต่พอถึงตัวอนุสัย อนุสัยมี 7 ตัว เรามองไม่เห็นเพราะมันยังไม่แสดงขึ้นมา มันเหมือนร่างกายเรามีเชื้อโรคอยู่ แต่ยังไม่แสดงอาการ หมอก็ตรวจไม่เจอ

ลักษณะของอนุสัยกิเลสมี 7 อย่าง ตัวที่จะทำลายอนุสัยได้ คืออริยมรรค ตัวอื่นทำลายอนุสัยไม่ได้ เราเคยได้ยินแต่ว่าอริยมรรคไปทำลายสังโยชน์ 10 ประการ นอกจากสังโยชน์ 10 ประการแล้ว มันลงลึกลงไปอีก ไปทำลายกิเลสในก้นบึ้งของใจเรา ลงไปทำลายอนุสัย อนุสัยคือสันดานเรา เวลาโสดาปัตติมรรคเกิด จะทำลายอนุสัยไป 2 ตัว อนุสัยทั้งหมดมี 7 ตัว พอได้พระโสดาบัน อนุสัย 2 ตัวคือตัวทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดๆ ต่างๆ และก็ตัววิจิกิจฉา 2 ตัวนี้จะถูกทำลายไปอัตโนมัติเลย

พอเป็นพระอนาคามี จะทำลายอนุสัยอีก 2 ตัว คือตัวกามราคะตัวหนึ่ง แล้วก็ตัวปฏิฆะ ความขัดเคืองใจ ได้ 4 ตัวแล้ว อีก 3 ตัวที่เหลือ ภวราคะ ความติดใจในภพ มานะ และก็ตัวอวิชชาสิ่งเหล่านี้มันยืนพื้นซ่อนเร้นอยู่ อริยมรรคจะเป็นตัวเข้าไปทำลายมัน เรายังไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร แต่ว่าตัวเหล่านี้มันผลักดันให้เกิดการกระทำที่หยาบๆ ขึ้นมา อย่างพวกกามราคะอะไรพวกนี้ มันก็ผลักดันให้เกิดอาสวะ กามาสวะเกิดขึ้น พวกทิฏฐิ อนุสัยของทิฏฐิก็ผลักดันให้เกิดทิฏฐาสวะ อาสวะที่เป็นทิฏฐิ อวิชชาอาสวะ ก็เกิดจากอนุสัย อวิชชานุสัย มันเกิดขึ้นมา ภพทั้งหลายมันก็เกิดจากอนุสัย เพราะว่าภวราคานุสัย พูดอย่างนี้ฟังยาก ดูจากการปฏิบัติ

 

 

ถ้าเรามีสติอยู่ เราจะเห็นจิตมันแอบสร้างภพตลอดเวลา อย่างพอเราหัดภาวนาเราก็จะเห็น ทันทีที่คิดเรื่องการปฏิบัติ จิตก็สร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ทำขรึมๆ เคร่งๆ ซึมๆ นิ่งๆ อะไรขึ้นมา แต่งขึ้นมาตลอดเวลา จิตมันไปสร้างภพขึ้นมา มันเคยชินที่จะสร้างภพ ตัวที่มันเคยชินเรียกว่าตัวอนุสัย อยู่ในสันดานเลยที่จะต้องสร้างภพ เมื่อคิดถึงการปฏิบัติก็สร้างภพขึ้นมา ตัวนี้เรียกว่า ภวาสวะ เป็นภพของนักปฏิบัติ ก็เป็นภพอันหนึ่ง เป็นอาสวกิเลส จิตไปแต่งภพขึ้นมา แล้วก็ไปแช่อยู่ในภพอันนั้น นิ่งๆ เนียนๆ เฉยๆ ตัวนี้กว่าจะเข้าใจได้ ไม่ใช่ง่ายเลย แค่จงใจปฏิบัติจิตก็สร้างภพมาแล้ว ถามว่าไม่สร้างภพได้ไหม ไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้สร้างภพอะไรเลย เวลาเราคิดถึงการปฏิบัติ แล้วเราไม่สร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง เราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ จิตใจมันจะว่างๆ เราจะกลัว จิตใจมันว่างๆ เรากลัวจะหล่นลงไปในความว่าง กลัวจะหลุดลงไปในความไม่มีอะไร เราต้องมีอะไรเอาไว้เกาะสักอย่างหนึ่ง คือเกาะอยู่ในภพอันหนึ่งของนักปฏิบัติ

ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะเห็นจิตไปสร้างโลกๆ หนึ่ง แล้วเข้าไปอยู่ อยู่อย่างนั้น แล้วก็ออกมาไม่ได้ ทำอะไรๆ ก็เป็นสร้างโลกขึ้นมาอีกโลกหนึ่ง บางทีก็เป็นโลกของกาม บางทีก็เป็นโลกของสมาธิ รูปฌาน อรูปฌาน ล้วนแต่เป็นภพทั้งนั้นเลย เป็นภพที่สร้างขึ้นมา จากการที่จิตมันเข้าไปเสวยภพโน้นภพนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่เสวยภพก็ไม่ได้ มันมีภวราคานุสัย มันมีสันดานที่จะสร้างภพ มันพอใจในภพ มันติดใจอยู่ในภพ เมื่อมันติดใจอยู่ในภพ มันก็ปล่อยวางไม่ได้ จนกว่าเราจะเห็นเลยว่า ภพทั้งหลายที่จิตไปสร้างขึ้นมา มันก็นำความทุกข์มาให้ทั้งสิ้น เป็นภาระของจิตทั้งสิ้น

ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ สังเกตไปแต่ละวันๆ เราภาวนาเราไม่ได้รู้แจ้งแทงตลอดทีเดียวทั้งธรรมะทั้งหมดหรอก ค่อยๆ ดู ค่อยๆ เห็นไป อย่างทีแรกกิเลสมันแรง ใจมันทนไม่ไหวแล้ว ดิ้นเร่าๆ แล้ว ความชั่วกำลังจะล้นออกมาทางกาย ทางวาจา ผิดศีล มีสติรู้ทันเข้าไป พอกิเลสหยาบๆ ไม่เกิด อาสวะมันเป็นกิเลสที่ย้อมใจ เป็นกิเลสที่ย้อมอยู่ในใจเรา แต่ยังไม่ล้นออกมาทางกาย ทางวาจา เราก็รู้ทันเอา โดยเฉพาะนักปฏิบัติมันติดในภพ ภพของนักปฏิบัติ ชอบทำตัวเอง ชอบทำจิตใจตัวเองให้มันไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดา ต้องมีอะไรที่เกินปกติ นิ่งๆ ซึมๆ ทื่อๆ อยู่อะไรอย่างนี้ ให้รู้ทันลงไปกำลังติดอยู่ในภพ อาสวะทั้งหลายมันมีความแปลก มันห่อหุ้มจิตอยู่ เวลาจิตมันไปดูรูป อาสวะมันก็ไปห่อหุ้มจิตที่ดูรูป เวลาจิตไปฟังเสียง อาสวะมันก็ไปห่อหุ้มจิตที่ฟังเสียง เวลาคิด อาสวะก็ห่อหุ้มจิตที่ไปคิดอีก

ถ้าเราภาวนาตอนที่อริยมรรคเกิด อริยมรรคมันจะแหวกอาสวะออก จิตจะเป็นอิสระจากอาสวะชั่วคราว ในขั้นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ในขั้นสุดท้ายจิตจะหลุดพ้นจากอาสวะ ความประหลาดมันอยู่ตรงที่ว่า จิตพ้นจากอาสวกิเลส ไม่ใช่เพราะเราทำลายอาสวะได้ แต่จิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้ เพราะเราล้างอวิชชาได้ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดอาสวะ แล้วอาสวะก็เข้ามาหล่อเลี้ยงอวิชชาไว้ ระหว่างอาสวะกับอวิชชามันเกื้อกูลกัน เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน เวลาเราจะภาวนา จิตจะพ้นจากอาสวะได้ ในพระไตรปิฎกพูดชัดเลย “จิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น” ไม่ถือมั่นในอะไร ก็ในรูป ในนาม ในกาย ในใจนี้

เพราะฉะนั้นเราก็มาภาวนา ถ้าจะทำลายอาสวกิเลส ส่วนกิเลสหยาบอะไรพวกนี้ก็ข่มมัน ข่มใจไม่ทำตามมันด้วยศีล เวลาจะมาสู้กับอาสวะ ดูลงมาที่รูป ที่นาม ที่กาย ที่ใจนี้เลย อันนี้ไม่ใช่เรื่องของนิวรณ์ ถ้าเรื่องนิวรณ์ เป็นเครื่องปิดกั้นคุณงามความดี อาสวะมันเป็นสิ่งที่ย้อมเยิ้มอยู่ในใจเรา ทำให้เราหลงไปอยู่ในภพ สร้างภพ สร้างชาติ สร้างวัฏสงสารไม่มีที่สุด จะทำลายอาสวะ ก็ต้องทำลายอวิชชา อวิชชาเป็นปัจจัยของอาสวะ อาสวะก็เป็นปัจจัยของอวิชชา จะทำลายอวิชชาก็ต้องเห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจนี้ “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ดูไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปเวลาเกิดอริยมรรคขึ้น อริยมรรคจะทำลายอาสวกิเลส แหวกอาสวกิเลสออก แล้วถ้าเป็นอริยมรรคที่เกิด ไม่ได้แหวกเฉพาะอาสวะ มันแหวกลงไปถึงอนุสัยด้วย ไปทำลายอนุสัยด้วย กิเลสที่ยังไม่แสดงตัว อนุสัยคืออะไร อนุสัยคือกิเลสที่ยังไม่แสดงตัวขึ้นมา เป็นเชื้ออยู่ เป็นเชื้อเกิดของเรา ถ้าทำงานแสดงตัวขึ้นมาก็เป็นอาสวกิเลส แสดงได้เต็มที่ เต็มเหนี่ยวเลย มันก็เป็นโลภ โกรธ หลง กิเลสหยาบๆ ข้างบนนี้

 

กิเลสมันมีชั้นเชิงของมัน
ฉะนั้นเราก็รักษาศีลไว้
แล้วก็เจริญสติ เจริญปัญญาของเราเรื่อยๆ ไป
มีจิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดูกายดูใจทำงานไปเรื่อยๆ
จะเห็นว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
มันก็จะทำลายอาสวะเป็นระดับๆ ไป
ไม่ยากหรอกแต่ต้องอดทน

 

ฉะนั้นกิเลสมีหลายระดับ หยาบๆ รักษาศีลไว้ให้ดี ข่มใจไว้ แล้วก็เจริญสติ เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ วันใดที่อริยมรรคเกิด อริยมรรคก็จะเข้าไปทำลายอาสวกิเลส แล้วก็อนุสัยกิเลส แต่ตอนที่มันทำลายครั้งที่หนึ่ง มันแหวกอาสวะออก ชั่วแป๊บเดียวก็จะเข้ามาคลุมใหม่ อาสวกิเลสมันย้อมจิตเหนียวแน่นที่สุดเลย ครูบาอาจารย์ท่านเทียบบอกเหมือนไหปลาแดก บอกเหมือนไหปลาร้า เราเอาปลาร้าใส่ในไห ใส่มาตั้งนาน ต่อมาปลาร้าหมดแล้วเราเอาไหไปล้าง ล้างดีวิเศษแค่ไหนยังมีกลิ่นปลาร้าติดอยู่ มันร้ายขนาดนั้น มันเข้ามาคลุมเข้ามาอีก จนถึงครั้งที่สี่ จิตเห็นแจ้งความจริงในรูปนาม ว่ารูปนามนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตปล่อยวางรูปนาม ไม่ยึดถือรูปนามได้ อาสวะนี้จะแตกสลายออกไป พร้อมๆ ด้วยอนุสัยที่อยู่เบื้องหลังอาสวะอีกทีหนึ่ง

อนุสัยพวกเรามองไม่เห็น เพราะมันไม่แสดง ฉะนั้นเวลาภาวนาไม่ต้องไปสู้กับอนุสัย สู้กับกิเลสหยาบๆ สู้กับอาสวกิเลส พวกนักปฏิบัติระวังให้ดี อาสวะมันหลอกเราให้สร้างภพของนักปฏิบัติ มันเป็นความคุ้นเคยของจิตที่จะทำตามกิเลส อย่างจิตมันคุ้นเคยกับกาม มันก็กระตุ้นให้คิดถึงกาม ให้ปรุงเรื่องกาม พอมันแรงมากขึ้นๆ ในที่สุดก็ผิดศีล ถ้าเป็นพระก็ผิดพระวินัย เป็นกิเลสที่ชั่วหยาบแล้ว เราอาศัยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน รู้ลงไปในกาย รู้ลงไปในใจของตัวเองเนืองๆ อย่างขณะนี้จิตเราไปติดอยู่ในกาม ถูกกามย้อมจนเยิ้มไปหมดแล้ว ถ้าพวกเราดูเราจะรู้ ถ้าเราภาวนา เวลาคนที่จิตมีราคะย้อมอยู่ข้างใน เห็นหน้ามันยังรู้เลย หน้าตามันหื่น ถ้ามันออกทางกาย ทางวาจา นั้นหยาบมากแล้ว ถ้าละเอียดจะเห็นในใจมันจะถูกเร้าให้คิดเรื่องกาม จะถูกเร้า พอเราไปเชื่อมัน เราไปคิดเรื่องกาม ในที่สุดเราก็อาจจะทำผิดศีลในเรื่องของกาม

กิเลสมันมีชั้นเชิงของมัน ฉะนั้นเราก็รักษาศีลไว้ แล้วก็เจริญสติ เจริญปัญญาของเราเรื่อยๆ ไป มีจิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดูกายดูใจทำงานไปเรื่อยๆ จะเห็นว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็จะทำลายอาสวะเป็นระดับๆ ไป ไม่ยากหรอกแต่ต้องอดทน ตรงนี้เคยเห็นกันไหม เคยมองเห็นไหม ว่าจิตเราสร้างภพตลอดเวลา สร้างภพบางอย่างแล้วก็เข้าไปอยู่ในนั้นตลอดเวลาเลย เปลี่ยนภพไปเรื่อยๆ ด้วยเดี๋ยวก็เป็นภพดี เดี๋ยวก็เป็นภพร้าย เดี๋ยวก็เป็นภพที่เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นภพที่เป็นอกุศลอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นเรามีสติรู้ลงไปเลย

 

ปุถุชน คนหนา

หลวงพ่อเคยเล่าว่า หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่เป็นโยม หลวงพ่อเห็นว่าจิตมันถูกห่อหุ้มอยู่ อาสวกิเลสมันห่อหุ้มอยู่ เป็นภวาสวะสร้างภพขึ้นมาหุ้มไว้ รู้เลยว่าตั้งแต่เราเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็ตาม เราไม่เคยเป็นอิสระเลย เราถูกขังอยู่ในภพ ถูกขังอยู่ในอาสวะ เหมือนอยู่ในแคปซูล ครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนหลวงพ่อ ท่านก็เปรียบเทียบบอกถูกขังอยู่ในไหอะไรอย่างนี้ ท่านที่หลวงพ่อไปเรียนส่วนใหญ่ก็คนทางภาคอีสาน ท่านก็ชินกับไห หลวงพ่อไม่รู้สึกว่าจิตมันถูกขังในไห รู้สึกว่ามันอยู่ในแคปซูล เราคนทันสมัยหน่อยเราเห็นว่ามันอยู่ในแคปซูล ถูกขังอยู่ ตั้งแต่เกิดมาเราเป็นนักโทษที่อาสวกิเลสขังเราไว้ เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยเห็นเลย เรามีแต่ความอหังการ คิดว่ากูแน่ กูหนึ่ง กูเป็นอิสระ ไม่มีใครบังคับกูได้ โดนกิเลสหลอกเลย พอเห็นตรงนี้ครั้งแรกรู้สึกเลย โอ้ติดคุกอยู่นี่หว่า ติดคุกมาตั้งแต่เกิด คือเกิดอยู่ในคุกไม่เคยรู้จักโลกข้างนอกเลย คิดว่าโลกทั้งหมดมีแค่คุกนี้ พอภาวนาเห็นจิตมันติดคุก ทนไม่ได้ ใจลึกๆ มันมีปณิธานเลย ถ้าแหกคุกนี้ไม่ได้จะไม่เลิกปฏิบัติ ใจมันคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตั้งอกตั้งใจภาวนา บางทีมันก็แตกออกแล้วมันก็เข้ามาปิดอีก เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ ไม่มีทางออกจากคุกนี้ได้เลย ทำอย่างไรก็ทำลายมันไม่ลง ทำลายมันไม่แตก มันทั้งหยุ่น ทั้งเหนียว ทั้งหนา

คำว่า ปุถุชน แปลว่าคนหนา มันไม่ได้หนาแต่คำพูดเปรียบเทียบ จริงๆ ถ้าภาวนาเข้ามาจะเห็นมันทั้งเหนียวทั้งหนาจริงๆ อาสวกิเลสที่มันห่อหุ้มจิตอยู่ เหนียว เป็นยางเหนียว แล้วก็หนาไม่มีอะไรทำลายมันได้เลย เฝ้าภาวนาไปเรื่อยๆ ให้สติ สมาธิ มันสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วมันก็ทำลายตัวของมันเอง ถึงเวลานี้จิตมันจะเจาะทำลายเปลือก คืออาสวกิเลสออกมาเอง หลวงพ่อพุธท่านเคยสอนหลวงพ่อ หลวงพ่อไปบอกท่านว่า “หลวงพ่อครับ ผมยังทำลายตัวรู้ไม่ได้เลย” เห็นตัวรู้มันยังมีขอบเขต มีจุด มีดวง มีที่ตั้ง มีการไป มีการมา มีการจุติ มีการอุบัติหมุนไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น ไปบอกท่านตรงๆ “ผมยังทำลายไม่ได้เลย” ท่านก็สอน หลวงพ่อจำถึงอกถึงใจมากเลย ประโยคที่ท่านสอนท่านบอกว่า “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง” เปลือกของมัน คือตัวอาสวกิเลสนี่เอง มันถูกทำลายไป แล้วถ้าทำลายขั้นเด็ดขาด จะทำลายลงไปถึงรากของอาสวะ คือตัวอนุสัย จะถูกทำลายไปด้วย

 

ทางรอดของเราอยู่ตรงที่เราต้อง “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ไม่มีทางที่สอง

 

ฉะนั้นที่เราภาวนา ทางรอดของเราอยู่ตรงที่เราต้อง “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ไม่มีทางที่สอง ต้องทำอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงในกายในใจ ระหว่างนี้มันก็จะมีอุปสรรคเกิดขึ้น เวลาเราจะคอยมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง อุปสรรคสิ่งที่มากีดกั้นการทำความดีของเรา เป็นกิเลสอีกพวกหนึ่ง เรียกว่านิวรณ์ จริงๆ แล้วกิเลสจะระดับไหนก็ตาม จะเป็นกิเลสระดับหยาบ ระดับอาสวะ ระดับนิวรณ์ ระดับสังโยชน์ หรือระดับอนุสัย จริงๆ มันก็แค่โลภ โกรธ หลงเท่านั้น แต่ว่าดีกรีความเข้มข้นของมัน ความประณีตลึกซึ้งของมันไม่เท่ากัน ศัตรูจริงๆ ก็ตัวกิเลส อาศัยพยายามรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางไปเรื่อย ตัวที่จะมาคอยขัดขวางเราเรียกว่า นิวรณ์

นิวรณ์เป็นกิเลสที่ขัดขวางการล้างความชั่ว ขัดขวางการกระทำความดี นี่คือคำว่านิวรณ์ อย่างเราจะทำสมาธิ นิวรณ์ก็มากั้นไม่ให้เราทำสมาธิ เราจะเจริญปัญญา นิวรณ์ก็มากั้นไม่ให้เราเจริญปัญญา อย่างใจเราเกิดฟุ้งซ่านขึ้นมา กำลังทำวิปัสสนาอยู่ อยู่ๆ ก็จิตพลิกจากจิตที่เดินปัญญา ไปเป็นจิตฟุ้งซ่านเฉยๆ เลย เราห้ามไม่ได้ด้วย อยู่ที่กำลังของจิต อันนี้หลวงพ่อเห็นเลย เราภาวนาๆ เราเดินปัญญาอยู่ดีๆ ดูรูป ดูนามไป อยู่ๆ จิตมันหยุดการเจริญปัญญา พลิกไปสู่สมถะเฉยเลย อันนี้นิวรณ์มันกั้นแล้ว มันไม่ยอมให้เราเดินปัญญาต่อ จะข่มนิวรณ์ก็ข่มด้วยสมาธิ ใช้สมาธิไปข่มมัน หรือบางทีก็ใช้ศรัทธาก็ได้ ใช้พละ 5 ก็ช่วยข่มนิวรณ์ได้ มีธรรมะที่ช่วยข่มนิวรณ์ได้หลายอย่าง อย่างพละ 5 ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็ช่วยข่มนิวรณ์ ฌานสมาบัติก็ช่วยข่มนิวรณ์ คือทำลายสิ่งกีดขวาง มันคือคำว่าอุปสรรคนั่นเอง อุปสรรคที่จะไม่ให้เราทำความดี นี่ก็เป็นกิเลสอีกหน้าตาหนึ่ง

สังโยชน์ก็เป็นกิเลสอีกเวอร์ชันหนึ่ง ก็กิเลสเหมือนกัน โลภ โกรธ หลงเหมือนกัน แต่สังโยชน์มันเป็นการมองกิเลสในมุมที่มันผูกเราไว้ ผูกโยงเราไว้ในวัฏฏะ ไม่ให้เราหลุดออกจากวัฏสงสาร กิเลสสังโยชน์ เครื่องผูกมัดเรา กิเลสมันก็โลภ โกรธ หลง แต่เวลามันทำงานในมุมนี้ เราก็เรียกชื่ออย่างนี้ ทำงานในมุมนี้เราเรียกชื่ออย่างนี้ แล้วก็มีความละเอียด ความหยาบที่แตกต่างกัน ย่อลงมาก็คือโลภ โกรธ หลงเหมือนกัน แล้วตัวหัวโจกจริงๆ ก็คือตัวหลง ตัวอวิชชา คือหัวหน้าตัวหลง ทำลายอวิชชาได้ อวิชชานุสัย อนุสัยของอวิชชาก็ดับ อวิชชาสวะ อาสวะของอวิชชาก็ดับ มันก็ดับหมด ดับๆๆๆ ลงไป อาสวะระดับอวิชชาถูกทำลาย อาสวะทั้งหลายก็จะดับไปทั้งหมดเลย ภวาสวะ การสร้างภพของจิตก็จะไม่เกิดขึ้นอีก จิตเราก็จะไม่อยู่ๆ ก็ไหลเข้าไปอยู่แช่อยู่ในภพใดภพหนึ่งขึ้นมา อย่างที่หลวงพ่อเห็นหน้าพวกเรา หลวงพ่อเห็นปุ๊บก็รู้เลย จิตมันติดอยู่ในภพ ฉะนั้นเราก็ต้องเห็นของตัวเราเอง จะหลุดออกมาได้

 

 

ยากไปไหม ที่สอนวันนี้สรุปง่ายๆ ก็คือให้เรา “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ไว้ ต่อไปไม่ว่ากิเลสจะอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง คือพวกอาสวะอะไรพวกนี้ กิเลสอย่างละเอียด คืออนุสัย หรือกิเลสที่เป็นตัวถ่วง ตัวขวางความดี ตัวนิวรณ์ กิเลสที่ผูกมัดใจเราให้อยู่ในภพ เรียกว่าสังโยชน์ กิเลสพวกนี้ถูกทำลายไปพร้อมๆ กันหมดเลย เวลาที่อวิชชาถูกทำลายตัวเดียว อวิชชา คือความไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้อะไร ไม่รู้ทุกข์ ทุกข์คืออะไร คือรูปนาม คือกาย คือใจของเรานี้ เราก็มีหน้าที่รู้เข้าไป รู้ความจริงของรูป ของนาม การรู้รูปนามมี 2 ระดับ อันแรกมีสติรู้ความมีอยู่ของรูปนาม อันที่สองมีปัญญาเห็นความจริง คือความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ต้องมีถึงขั้นเห็นมีปัญญา ถึงจะสู้กิเลสได้จริงๆ สติก็สู้กิเลสได้ชั่วคราว สมาธิสู้กิเลสได้ชั่วคราว ปัญญาเป็นตัวทำลายล้างกิเลส ค่อยๆ สะสมไป

วันนี้ล้มลุกคลุกคลานไม่ใช่เรื่องแปลก จิตของเรามีอาสวะ มันคุ้นเคยกับกิเลส คุ้นเคยกับกาม คุ้นเคยกับความคิดความเห็น คุ้นเคยกับภพ ต้องสร้างภพ คุ้นเคยที่จะไม่รู้ความจริงของรูปนามกายใจ เห็นผิดในรูปนามกายใจ เราคุ้นเคยอย่างนี้ ตัวที่มันคุ้นเคยกับกิเลสนั่นล่ะที่เรียกว่าอาสวะ มันคุ้นเคย ฉะนั้นเราภาวนาดูความจริงของกายของใจไป มีสติรู้กายรู้ใจไป แล้วก็รู้ให้ถึงความจริง ตรงความจริงก็คือรู้ด้วยปัญญาแล้ว ความจริงคือไตรลักษณ์ ปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง คือมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นก็คือมีสมาธิ จิตที่เป็นกลางคืออุเบกขา เป็นโพชฌงค์ 2 ตัวสุดท้ายเลย จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง มีสมาธิสัมโพชฌงค์ มีอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ตรงที่เรามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ตรงนั้นมีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีวิริยะสัมโพชฌงค์ ของที่จะแถมมามันก็คือปีติ ปัทสัทธิ มีปีติขึ้นมา ปีติสัมโพชฌงค์ มีปัทสัทธิสัมโพชฌงค์ มีสติรู้ต่อไปอีก ในที่สุดจิตก็ทรงสมาธิสัมโพชฌงค์ แล้วก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ในที่สุด

ฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนประโยคสั้นๆ “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” อันนี้จะคลุมโพชฌงค์อยู่ ถ้าเราเดินตามวันหนึ่งเราก็ทำลายอวิชชาได้ ทำลายอวิชชาได้ อนุสัยของอวิชชา เรียกอวิชชานุสัยก็จะถูกทำลาย อาสวะ อวิชชาสวะก็จะถูกทำลาย จิตจะไม่มีเปลือกหุ้ม จะไม่มีเปลือกห่อหุ้มอีกต่อไปแล้ว ไม่มีตัวอะไรมาย้อม มาเยิ้ม มาครอบงำครอบคลุม ค่อยๆ ฝึกๆ ทุกวันๆ ต้องทำ แต่บางทีจิตไม่มีกำลังพอแล้ว อันนั้นก็ไปทำสมถะ จิตไม่มีแรงแล้ว จิตท้อแท้หดหู่อะไรนี่นิวรณ์เกิดแล้ว นิวรณ์เกิดขึ้นจะอาศัยพละ 5 ไปสู้ก็ยังได้ แต่ที่ง่ายๆ ก็คือทำสมถะ ทำสมาธิไปสู้นิวรณ์ อย่างใจถ้าจะสู้ด้วยพละ 5 เช่นใจมันท้อแท้อะไรอย่างนี้ ก็ปลุกเร้ามัน มีศรัทธา พระพุทธเจ้าก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี แต่ก่อนนี้ท่านก็มีกิเลสเหมือนที่เรามี ท่านก็ล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว แต่ท่านสู้ท่านถึงชนะขึ้นมาได้ ปลุกใจตัวเองให้มันห้าวหาญต่อสู้ขึ้นมา หรือบางทีกามมันรุกราน เราก็สอนมันลงไป มันมีดีตรงไหน กามมันเกิดขึ้น มันก็ทำให้จิตใจเรามัวหมอง จิตใจเราหมดความเป็นอิสระ อาศัยสิ่งเหล่านี้พิจารณาลงไปๆ จิตก็สงบขึ้นมาอีก

บางทีภาวนาแล้วก็ห่วงคนโน้น ห่วงคนนี้ ก็ใช้สติใช้ปัญญาสอนมันลงไป พิจารณาลงไป ห่วงเขาทำไม สัตว์โลกมีกรรมเป็นของตัวเอง ตัวเราเองเรายังบังคับไม่ได้ เรายังสั่งให้มีความสุขตลอดเวลาไม่ได้ จะไปอยากให้คนอื่นเขาดีอย่างโน้นอย่างนี้ มันเป็นความเพ้อฝัน สิ่งเหล่านี้เป็นการปลุกเร้าตัวเอง เป็นวิธีต่อสู้กับนิวรณ์เหมือนกัน หรือจะใช้สมาธิข่มนิวรณ์เลยก็ได้ ถ้าทำสมาธิไม่เป็นก็รู้จักปลุกเร้าตัวเอง จิตฟุ้งซ่านก็พยายามระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อะไรอย่างนี้ จิตก็สงบได้ ค่อยๆ สังเกต มันเป็นอุบายในการต่อสู้ เพื่อทำลายอุปสรรคคือตัวนิวรณ์ พอจิตมีกำลังขึ้นมาแล้ว เราก็มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางต่อไป แล้วขั้นสุดท้ายมันก็จะไปล้างกิเลส เวลาอาสวะมันแตกออก มันเหมือนกรงขังแตก สิ่งที่เคยขังเราอยู่มันแตกสลายออกไปแล้ว ใจก็มีอิสรภาพ เป็นอิสระ สว่างรู้ตื่น เบิกบาน สว่าง

ยากไปหรือเปล่า ถ้าคิดว่ายากพุทโธไว้ ทำอะไรไม่ได้พุทโธไป มีเครื่องอยู่พุทโธๆๆ ไป เดี๋ยวพอใจสงบแล้ว ที่ว่ายากมันก็ไม่ยากหรอก ใจฟุ้งซ่านคือใจมันมีนิวรณ์ ทำอย่างไรมันก็เอาดีไม่ได้ มันกั้นความดีเราอยู่ ทำอะไรไม่ได้ก็พุทโธๆๆ ไป พุทโธเร็วๆ ก็ได้ เวลาเราพุทโธๆๆ ใจเราก็ไม่ไหลไปหากาม ไม่คิดเรื่องกามวิตก ไม่คิดเรื่องพยาบาทวิตก ไม่คิดเบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนกระทั่งตัวเอง จิตใจก็ค่อยๆ สงบ สันติ มีกำลังขึ้นมา ก็ค่อยเดินสติ เดินปัญญา ดูความจริงของกายของใจไป พอหมดแรงก็กลับมาทำความสงบเป็นรอบๆ ไป ค่อยๆ ฝึก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 มิถุนายน 2564