วิธีฟังธรรมให้ถึงธรรม

นั่งรอฟังธรรมเราก็ภาวนาของเราไป ธรรมะนั้นแสดงตัว อยู่ตลอดเวลา ถ้าใจเราฉลาดใจมันเปิดรับธรรมะ เราจะพบว่า ธรรมะมีอยู่ตลอด ฉะนั้นที่บอกว่านั่งรอฟังหลวงพ่อแสดงธรรม แสดงว่ายังไม่ค่อยเข้าใจธรรมะ หลวงพ่อจะพูดธรรมะ หรือไม่พูดธรรมะ ธรรมะมันก็มีอยู่แล้ว อยู่ที่ใจของเราจะเปิดรับหรือเปล่า ถ้ามัวแต่คิดว่าหลวงพ่อยังไม่ได้เริ่มเทศน์ ตอนนั้นยังไม่มีธรรมะจะฟัง เข้าใจผิดแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ธรรมะแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา ทางฝ่ายมหายานเขาถึงบอกว่า พระพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเวลารอฟังหลวงพ่อแสดงธรรม เราก็ฟังธรรมะในจิตใจของเราแสดงธรรมะอยู่ตลอด เดี๋ยวก็แสดงธรรมะที่เป็นกุศล มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีปัญญา บางทีก็แสดงอกุศลให้เราดู สงบแล้วก็ฟุ้งซ่านอะไรอย่างนี้

หัดฟังธรรมะที่มันแสดงอยู่ในใจเรา ฟังทุกวันๆ มีเวลาเมื่อไรก็ฟังเมื่อนั้น จะเจอครูบาอาจารย์หรือไม่เจอครูบาอาจารย์ ก็ฟังธรรมะในใจของเราเอง มันแสดงเรื่องกุศลบ้าง แสดงเรื่องอกุศลบ้าง แสดงเรื่องสุขบ้าง เรื่องทุกข์บ้าง บางทีมันก็แสดงโลกธรรมให้ดู มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์อะไรอย่างนี้ ในใจเรามันก็หมุนๆๆ ไปเรื่อย นึกถึงคำสรรเสริญของคนอื่นใจก็พอง นึกถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียนของคนอื่นใจก็แฟบลงไปอะไรอย่างนี้ นี่ฟังธรรมะ ฟังกันอย่างนี้

ได้รับผลประโยชน์อย่างเช่น ถูกหวยอะไรอย่างนี้ ไม่แนะนำให้เล่น แต่ว่าเวลาถูกหวยอะไรนี้ มันดีใจ ใจมันฟูขึ้นมาก็รู้ทัน เวลาถูกหวยกิน ใจแฟบลงไปก็รู้ทัน พวกเล่นหวย มาดูก็น่าสงสาร ฝากอนาคต ฝากชีวิต ฝากความหวังเอาไว้กับเรื่องลมๆ แล้งๆ เราภาวนาอย่าไปสนใจ การพนันทั้งหลาย มันก็ขึ้นชื่อว่าอบายมุขนั่นล่ะ มันจะถูกกฎหมาย หรือมันจะผิดกฎหมาย มันก็คืออบายมุข คนถูกหวยกิน กับคนได้กินหวย คนถูกกินมันก็ต้องเยอะกว่า โอกาสมันต่ำ เวลาหวยออก ก็มีคนพวกหนึ่งดีใจ จำนวนน้อยดีใจ จำนวนมากเสียใจ เราฟังธรรมเป็น ตรงนี้ก็เป็นธรรมะ ใจเราดีใจ เราก็รู้ ใจเราเสียใจ เราก็รู้ นี่ธรรมะแสดงให้เราดู

 

“การปฏิบัติต้องทำอย่างนี้ คือ
ก่อนการฟังธรรมก็ฟังจิตใจตัวเองไป ฟังธรรมไปก็อ่านจิตใจไปด้วย
ไม่ต้องกลัวไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครรู้เรื่องธรรมะด้วยการคิด ด้วยการฟังหรอก”

 

ธรรมะไม่ได้แสดงแค่ว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็ตาม แต่ธรรมะได้แสดงสิ่งที่ลึกกว่านั้นอีก รูปธรรมทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ นามธรรมทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ เฝ้าดูของเราไปอย่างนี้ การปฏิบัติจะไม่มีเว้นวรรค ไม่มีเว้นวรรค เว้นช่วง เว้นตอน ช่วงนี้เป็นเวลาปฏิบัติ ช่วงนี้ไม่ได้ปฏิบัติ อย่างนั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ยังไม่ใช่เวลาปฏิบัติ เดี๋ยวฟังก่อนแล้ว ค่อยปฏิบัติหลังจากฟัง พวกนี้ไม่ได้เรื่องเลย จริงๆ ธรรมะมีอยู่แล้ว อย่างก่อนจะฟังหลวงพ่อเทศน์ เราก็อ่านใจของตัวเองไป ใจเราฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราก็รู้ทัน หรือใจเราเป็นกุศล ตั้งใจรอที่จะฟังธรรมะ เราก็รู้ใจมันเป็นกุศล มันต้องการฟังธรรมะ

 

ฟังธรรมะของจริง

ระหว่างฟังก็ต้องฟังธรรมะของจริง สิ่งที่หลวงพ่อพูดให้มันก็แค่เสียงเท่านั้นเอง ไม่ใช่ธรรมะหรอก ไม่มีใครสอนธรรมะใครได้หรอก ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อพูด พอเราฟังแล้วเราก็คิด เราฟังแล้วเราก็คิด เราก็ไม่เห็นธรรมะ เพราะฉะนั้นเวลาฟัง ครูบาอาจารย์แสดงธรรมยุคก่อนๆ ท่านสอนกันให้ภาวนาเลย ลงมือปฏิบัติของเราไปเลยตอนนี้ ครูบาอาจารย์ท่านก็เทศน์ไป แล้วเราก็รู้ทัน อ่านธรรมะในใจของเรา

ธรรมะมันเป็นเรื่องเฉพาะตัว เราก็ดูไป จิตใจของเราตอนนี้หดหู่ รู้ทัน จิตใจตอนนี้เบิกบาน รู้ทัน ไม่ต้องกลัวฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครรู้เรื่องธรรมะด้วยการฟังหรอก การฟังธรรมะเป็นแค่ตัวกระตุ้นเท่านั้นเอง ให้ใจเราเคล้าเคลีย เราคิดถึงธรรมะ ฉะนั้นเวลาสมัยก่อนไปเรียนจากครูบาอาจารย์ เราก็นั่งภาวนาของเราไป ท่านก็เทศน์ของท่านไป ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป แล้วเวลาจิตใจเราติดข้องอยู่ ในธรรมะส่วนใด เดี๋ยวท่านก็จะบอกให้ เทศน์ออกมาให้ ใจมันก็จะสัมผัส เวลาธรรมะสำหรับเรา จิตมันจะตื่นตัวขึ้นมาฟัง เวลาธรรมะที่เป็นเรื่องทั่วๆ ไปของคนอื่นอะไรนี่ จิตของเราก็ ภาวนาของเราไป การปฏิบัติมันต้องทำกันอย่างนี้เลย

ก่อนจะฟังธรรมก็อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ระหว่างฟังธรรม ก็อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ไม่ต้องกลัวไม่รู้เรื่อง บอกแล้วว่าไม่มีใครรู้เรื่องธรรมะด้วยการคิด ด้วยการฟังหรอก ฉะนั้นเราภาวนาเป็นแล้ว เราอ่านของจริง ฟังธรรมของจริงที่จิตเราแสดงขึ้นมา เดี๋ยวมันก็แสดงเรื่องกุศล เดี๋ยวมันก็แสดงเรื่องอกุศล เดี๋ยวมันก็แสดงเรื่องสุข เดี๋ยวก็แสดงเรื่องทุกข์ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เดี๋ยวมันก็แสดงความยินดี เดี๋ยวมันก็แสดงความยินร้าย ไม่เว้นวรรคเว้นตอน ตั้งแต่ตื่นนอนมาก็ปฏิบัติธรรมเลย ฟังธรรมะของจริงในใจเรา

จะเจอครูบาอาจารย์ หรือไม่เจอครูบาอาจารย์ยังไม่ใช่ เรื่องสำคัญ ถ้าเราอ่านจิตอ่านใจตัวเองได้ เรียนธรรมะในจิตในใจ ของตัวเองได้ เรากำลังฟังธรรมจากพุทธะอยู่แล้ว สิ่งที่เรียกว่าพุทธะๆ ไม่ใช่สรีระร่างกายของพระพุทธเจ้า หรือของครูบาอาจารย์ พุทธะแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงสอนหลวงพ่อ ท่านบอกว่า “ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์นั่นเอง”

จิตเรายังไม่บริสุทธิ์ ธรรมะที่แสดงก็มีทั้งฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศล วุ่นวาย ฉะนั้นวันๆ หนึ่งอย่าเสียเวลา เที่ยวแสวงหาธรรมะที่อื่น ย้อนกลับมา โอปนยิโก – น้อมเข้ามาหากายหาใจของตัวเอง ธรรมะที่แท้จริงอยู่ที่กายที่ใจของเรา แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันอยู่ที่จิตนั่นล่ะ แต่กายมันเป็นบ้านของจิต บางทีเราดูจิตดูใจไม่ถึง คล้ายๆ เราหาเจ้าของบ้านไม่เจอ เราก็ไปรอดูที่หน้าบ้าน คือเรารู้อยู่ที่กายนี่ ประเดี๋ยวหนึ่งก็จะเจอเจ้าของบ้าน คือเห็นจิตได้ ทีนี้พอเราเห็นจิตเห็นใจ เราก็ดูไป ธรรมะมันแสดงตัวอยู่ที่กายที่ใจนี้ อย่างร่างกายเราสบายๆ ดี แป๊บเดียว มันก็แสดงความทุกข์ให้ดูแล้ว ธรรมะจะสอนเราเอง

อย่างเรามีความรู้สึกอยู่ในร่างกายนี่ เดี๋ยวก็คัน เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวกระหายน้ำ เดี๋ยวปวดอึ เดี๋ยวปวดฉี่ นี่ล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งสิ้น แสดงตัวอยู่ตลอดเวลา ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน เดี๋ยวก็เคลื่อนไหว เดี๋ยวก็หยุดนิ่ง นี่ล้วนแต่แสดงอนิจจัง ร่างกายก็สอนธรรมะเรา ร่างกายสอนให้เราเห็นว่า ร่างกายนี้มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าไปเดี๋ยวเดียวก็ทุกข์แล้ว ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ หายใจออก พอเดี๋ยวเดียวก็ทุกข์อีกแล้ว ก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ โอ ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ ทุกลมหายใจเข้าออก

ถ้าไม่ดูในมุมของการหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ดูในอิริยาบถ 4 เราก็จะเห็นเลย ร่างกายนั่งไม่นาน ร่างกายก็ทุกข์ ก็ต้องขยับ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องขยับตัว นี่ธรรมะแสดงอยู่แล้ว หัดดูเสียบ้าง ไม่ใช่เรียนธรรมะที่อื่น เรียนอยู่ที่กายที่ใจของตัวเอง ให้มันเห็นจริงๆ อย่ามัวแต่วอกแวกๆ ไปเรียนธรรมะที่โน่น เรียนธรรมะที่นี่ ที่ไหนก็ไม่มีธรรมะหรอก ธรรมะอยู่ที่กาย ที่ใจของตัวเอง ฉะนั้นรู้สึกลงในกาย รู้สึกลงในใจไป ก็จะเห็นร่างกายมันไม่เที่ยง หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า ยืนแล้วก็เดินแล้วก็นั่ง แล้วก็นอนอะไรอย่างนี้ เคลื่อนไหวแล้วก็ หยุดนิ่ง มันไม่เที่ยง

ทำไมต้องหายใจออก-หายใจเข้า หายใจออก-หายใจเข้าเพื่อแก้ทุกข์ ความทุกข์มันมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกในกายนี้ ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อแก้ทุกข์ ความทุกข์มันมีอยู่ในกายนี้ทุกๆ อิริยาบถ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป หรือบางคนสติปัญญามาก รู้สึกร่างกายอยู่ มันจะเห็นเลย ร่างกายเป็นวัตถุธาตุ เป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นวัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก เช่น หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก กินอาหารแล้ว ก็ขับถ่าย ดื่มน้ำแล้วก็ไปปัสสาวะอะไรอย่างนี้ มีธาตุหมุนเวียนอยู่ เมื่อไรธาตุไม่หมุนเวียน ร่างกายนี้ทนอยู่ไม่ได้ก็แตกสลาย ฉะนั้นหายใจเข้าแล้วหายใจออกไม่ได้ก็ตาย หายใจออกแล้ว หายใจเข้าไม่ได้ก็ตาย แตกสลายไป ร่างกายจะแตกสลายเมื่อไรเราเลือกไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ ตายเมื่อไรก็ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป หรือเห็นมันเป็นแค่วัตถุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

 

“เวลาลงมือภาวนา ไม่ต้องคิดมาก
สติมันไประลึกรู้รูปธรรม หรือนามธรรมใด ๆ ก็ตาม
ปัญญามันจะเห็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตาก็ตาม
เห็นอะไรก็ได้ ทำไปเถอะ”

 

ดูลงในกายแล้วจะเห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มุมใดมุมหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องรู้ทั้ง 3 มุมหรอก เวลาบรรลุมรรคผล บางคนบรรลุมรรคผลด้วยการเห็นอนิจจัง บางคนเห็นทุกขัง บางคนเห็นอนัตตา อย่างเราเห็นสภาวะเกิดแล้วก็ดับๆ เช่น สุขเกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ หายใจออก หายใจเข้า เกิดแล้วดับ ยืน เดิน นั่ง นอน เกิดแล้วดับอะไรนี้ จิตมันก็รู้ ความจริงว่าร่างกายนี่มันหาสาระแก่นสารไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับๆ อยู่อย่างนั้น จิตมันก็ปล่อยวางกาย หรือเห็นตัวจิตเองก็เกิดดับๆ เห็นความไม่เที่ยงของมัน มีอยู่แล้วก็หายไป ไม่มีที่จะสำคัญ มั่นหมาย

ที่สำคัญมั่นหมายได้ มีที่สังเกตได้ก็ดับหายไป หลุดพ้นด้วย การเห็นอนิจจัง เขาเรียกอนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย แต่สิ่งที่มีเครื่องหมายอยู่นั้น มันเกิดแล้วมันดับไป บางคนก็เห็นทุกข์ กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ ก็ปล่อยวาง พวกนี้เรียกว่าหลุดพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ บางพวกปัญญามากก็เห็นกายนี้ไม่ใช่เราหรอก ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา จิตนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา พอเห็นอย่างนี้ก็ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในจิต นี่เวลาหลุดพ้นมันก็หลุดในมุมใดมุมหนึ่ง เห็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา

แต่เวลาลงมือภาวนา ไม่ต้องคิดมาก สติมันไประลึกรู้รูปธรรม หรือนามธรรมใดๆ ก็ตาม แล้วปัญญามันจะเห็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตาก็ตาม เห็นอะไรก็ได้ ทำไปเถอะ อย่างเราหัดภาวนาทีแรกเราเห็นจิตเกิดดับๆ ไปเรื่อย จิตสุขเกิดดับ จิตทุกข์เกิดดับอะไรนี่ ดูเหมือนดูอนิจจังอยู่ แต่ตอนที่จิต ตัดสินความรู้บรรลุมรรคผล จิตอาจจะบรรลุเพราะเห็น อนิจจังหรือทุกขัง หรืออนัตตาก็ได้ บางคนมันปิ๊งขึ้นมา ก็เห็นเกิดดับๆ อยู่นี่ล่ะ มันปิ๊งขึ้นมา โอ้ จิตไม่ใช่ตัวเรา หรือเห็นปิ๊งขึ้นมา ร่างกายนี้มันไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มีอะไรอย่างนี้ นี่อันนี้เห็นอนัตตา เราเลือกไม่ได้ จิตเขาเลือกของเขาเอง หน้าที่ของเราก็คือฟังธรรม ฟังธรรมที่กายแสดง ฟังธรรมที่จิตแสดง ธรรมะมีให้ฟังทั้งวัน ไม่เสียค่าไฟ ไม่เสียค่าอินเตอร์เน็ต ขอให้ดูของจริง ธรรมะของจริงอยู่ที่ตัวเอง

ทำไมคนทั้งหลายไม่เห็น คนทั้งหลายไม่เคยรู้เลยว่าธรรมะอยู่ที่กายที่ใจของตัวเองนี่เอง ฝ่ายของโลกิยะมีตัณหาเป็นเหตุ มีทุกข์เป็นผล ฝ่ายโลกมันก็อยู่ที่กายที่ใจนี้ ฝ่ายโลกุตตระมีศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเหตุ มีนิโรธคือนิพพานเป็นผล ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดที่ไหน ก็เกิดที่กายที่ใจนี้ แล้วตรงที่บรรลุนิโรธถึงนิพพานอย่างแท้จริง มันพ้นจากกายจากใจออกไป มันพ้นของมันเอง ฉะนั้นเราเรียนลงที่กายที่ใจนี้ล่ะ

 

กิเลสตัณหา นายช่างผู้สร้างเรือน

ถ้าจิตใจเรามีความอยากขึ้นมา จิตใจมีความยึดขึ้นมา จิตใจเกิดการดิ้นรน ก็ใช้กาย ใช้วาจาทำนั่นทำนี่สนองกิเลสไป ร่างกายเป็นสิ่งที่น่าสงสารมาก มันตกเป็นทาสของจิต จิตใช้งานมันตลอดเวลาเพื่อสนองความพอใจของตัวเอง จิตที่มันมีกิเลส มันเห็นแก่ตัวมากเลย มันใช้ร่างกายทำนู่นทำนี่ทั้งวันเลย เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง ร่างกายนี้น่าสงสาร เพราะฉะนั้นอย่าไปฆ่ามัน บางคนภาวนาผิด เกลียดร่างกาย ถ้าภาวนาถูก เราจะมีความรู้สึกเมตตาสงสารมันเหมือนสัตว์ ตัวหนึ่งที่น่าสงสาร นี่ใจมันจะเป็นอย่างนั้น ไม่เกลียดชังหรอก

ร่างกายน่าสงสารจริง จิตล่ะเป็นตัวแสบ สั่งให้ร่างกาย ทำชั่วอย่างนู้นอย่างนี้ ให้คิด ให้พูดชั่ว ให้ทำชั่วอะไรอย่างนี้ เพราะว่าจิตมันคิดชั่ว ภาวนาไปอีก ดูธรรมะในจิตในใจจริงๆ ค่อยๆ เห็นไป จิตเองก็ไม่ได้ชั่ว จิตเองก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน ในลักษณะเดียวกับที่ร่างกายตกเป็นเหยื่อของจิต จิตนี้ตกเป็นเหยื่อของกิเลสอีกทีหนึ่ง เป็นเหยื่อของตัณหาอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นตัวที่ชั่วจริงๆ นี่ตัวกิเลสตัณหา

จิตไม่ได้ดี จิตไม่ได้ชั่วหรอก จิตไร้เดียงสา ซื่อๆ พอความชั่วความปรุงแต่งฝ่ายชั่วผ่านเข้ามา จิตก็ตกเป็นขี้ข้า ตกเป็นทาสของความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว อย่างความโลภ ความโกรธ ความหลงมันเกิดขึ้นมา จิตก็ตกเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง ดูๆ ไป เออ จิตมันก็น่าสงสาร ก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งที่น่าสงสารเหมือนกัน ไม่เกลียดมันหรอก บางคนภาวนาแล้วเกลียดจิต ในที่สุดจิตดับ พวกที่ไปเป็นพรหมลูกฟัก พวกนี้ไม่ชอบจิต รู้สึกว่าถ้ายังมีจิตอยู่ ยังมีทุกข์อยู่ เพราะมองไม่ออก มีจิตอยู่ มีทุกข์อยู่ จริงๆ ตัวจิตเองมันผ่องใส มันประภัสสร มันมีทุกข์ มันมีความมืดมนเพราะกิเลส ที่จรมาเป็นคราวๆ

เราค่อยภาวนา อันนี้เป็นฝ่ายโลกิยะพูดเรื่องกิเลส ถ้าโลกุตตระ จิตนั้นล่ะมันพ้นสภาพของจิตไป ตัวจิตนั้นเป็นตัวทุกข์ ตัวจิตเป็นตัวขันธ์ สภาพของนิโรธ ของนิพพานนั้นมันพ้น ขันธ์ออกไป มันก็พ้นทุกข์ออกไป อย่าไปปนกัน บางคนบอกว่าจิตเที่ยง จิตเป็นสุข บอกภาวนาดีแล้วจะเห็นอย่างนั้น อันนั้นพูดสับสนระหว่างจิตที่ยังต้องปฏิบัติอยู่ ต้องเรียนรู้อยู่ กับจิตที่พ้นการปฏิบัติแล้วเพราะว่าแจ่มแจ้งแล้ว คนละเรื่องกัน เอาธรรมะไปปนกัน เอาของต่ำไปปนกับของสูง เอาของสูงปนกับของต่ำ มั่วไปหมดเลย แยกให้ออก

ธรรมะฝ่ายโลกิยะนี่ ตัววุ่นวายก็คือตัวกิเลสตัณหา ของเรานั่นล่ะ มันเข้ามาบีบคั้นจิตใจ ทำให้จิตมันคิดชั่ว ตรงที่กิเลสที่เข้ามาครอบงำจิตใจ เรียกว่าอาสวกิเลส กิเลสที่มาย้อมใจ พอมันย้อมใจสำเร็จ มันก็เริ่มบังคับร่างกายแล้ว เอาร่างกายเป็นทาสอีกชั้นหนึ่ง จิตตกเป็นทาสของ กิเลสตัณหาก่อน แล้วจิตก็เอาร่างกายมาสนองกิเลสตัณหา เอามาสนองใช้ร่างกาย มันทำงานไป มันก็พูดชั่ว คิดชั่ว ตรงนั้นกำลังของกิเลสเข้มแข็งเต็มที่แล้ว กลายเป็นกิเลสที่ เป็นอกุศลกรรมบถชัดๆ เลยเต็มที่เลย เป็นโลภ โกรธ หลงเลย กิเลสมันทำงานอย่างนี้

อย่างกิเลสที่มันซ่อนลึกอยู่ในสันดานของเรา เขาเรียกอนุสัย ตรงที่มันมาย้อมใจเราได้เรียกว่าอาสวะ ตรงที่มันบงการ พฤติกรรมทางกาย ทางวาจาเรานี่ก็เป็นโลภ โกรธ หลง หยาบๆ เพราะฉะนั้นตัวที่มาสร้างความวุ่นวายให้กาย ให้จิตคือตัวกิเลส คนอื่นไม่ใช่ศัตรูของเรา กิเลสนี่ล่ะคือสิ่งที่ร้ายกาจที่สุด เพราะฉะนั้นตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ท่านทักทายกิเลสเลย ท่านเยาะเย้ยกิเลสบอก “นายช่าง ตัณหาเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน เรือนของเจ้านี่เราทำลายลงแล้ว แล้วเจ้าก็สร้างเรือนใหม่ คือสร้าง ภพสร้างชาติใหม่ให้เราไม่ได้อีกแล้ว” เห็นไหมมันเป็นคู่ชก ฉะนั้นตอนที่ท่านชกชนะ ท่านเยาะเย้ยมัน เยาะเย้ยกิเลส

หลวงปู่ดูลย์ท่านมีศัพท์อยู่คำหนึ่ง คำว่า “จิตยิ้ม” คำว่าจิตยิ้ม ของท่านไม่ใช่จิตนั่งอมยิ้ม อย่างนั้นมีปีติ มีอะไร จิตอมยิ้มอยู่ ไม่ใช่ คำว่าจิตยิ้มของท่านนี่ ท่านบอกว่าจิตมันยิ้มเยาะเย้ยกิเลส มันยิ้มเยาะเย้ยกิเลสว่า กิเลสตัวนี้หมดปัญญาที่จะมา บงการจิตใจของเราได้อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์เรียก จิตยิ้มๆ นี่เราเข้าใจนะยิ้มอะไร ไม่ใช่จิตนั่งอมยิ้มหรอก แต่จิตมันยิ้มเยาะเย้ยกิเลส ก็เป็นอาการเดียวกับที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้วท่านก็เยาะเย้ยตัณหา “นี่แน่ะ นายช่างผู้สร้างเรือน เรารู้จักเจ้าแล้ว เรือนที่เจ้าสร้างเราก็ทำลายแล้ว เจ้าสร้างเรือน ให้เราอีกไม่ได้แล้วต่อไปนี้” นี่ท่านเยาะเย้ยกิเลส ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกจิตยิ้มๆ

ก่อนจะมาถึงตรงนี้ เรียนรู้ลงไป ดูสิร่างกายนี้เป็นของเรา จริงไหม ร่างกายนี้เป็นของดีจริงไหม จริงๆ ดูไปๆ โอ้ มันน่าสงสาร ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แถมตกเป็นทาส ถูกจิตสั่งอย่างนู้นอย่างนี้ ให้สนองกิเลส ทำงานเหนื่อย แทบตายเลย อย่างอยากสวย ผู้หญิงอยากสวย เดี๋ยวนี้ผู้ชายเขาสวยกว่าผู้หญิงแล้ว หลวงพ่อเริ่มเห็นแล้วว่า เออ ผู้ชายสวยกว่าผู้หญิงแล้ว ไม่ใช่หลวงพ่อแปรปรวน แต่ว่าผู้ชายแต่งตัวสวยๆ เดี๋ยวนี้ เขียนหน้าทาปากอะไรด้วย ทาตา สวยงาม ร่างกายมันอยู่ของมันดีๆ หาอะไรไปพอกมัน เหงื่อจะออกก็ออกลำบาก ถูกปิดรูขุมขนไว้หมดเลย ร้อนอยู่ภายใน สนองกิเลส สนองความอยากของจิตใจ

น่าสงสาร ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ แล้วถูกกดขี่ มาดูจิตที่เป็น ผู้กดขี่ใช่ไหม โอ จิตก็ถูกกิเลสกดขี่มาอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้นตัว ร้ายจริงๆ คือตัวมารจริงๆ ก็คือตัวกิเลสนั่นล่ะ เรียกกิเลสมาร กิเลสมารเกิดขึ้น ก็เกิดความดิ้นรนปรุงแต่งในจิต เรียกอภิสังขารมาร จิตดวงนั้นก็เป็นจิตมารไปเพราะ ถูกกิเลสครอบงำ ก็เป็นเทวปุตตมารไป ก็มากดขี่ร่างกายนี้เป็นขันธมาร แต่สุดท้ายก็ทนความทุกข์ไม่ไหว ก็แตกสลายไป ก็เป็นมัจจุมาร มันวนเวียนอยู่แค่นี้เอง วัฏฏะไม่มีอะไรหรอก

 

วิธีเรียนรู้ธรรมะ คือคอยรู้ลงที่กายที่ใจตัวเอง

ฉะนั้นเราอย่าปล่อยเวลาให้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ต้องแสวงหาธรรมะที่อื่น การฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ หรืออ่านพระไตรปิฎก เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ทำ ทำเพื่อจะรู้วิธีที่จะเรียนรู้ธรรมะ วิธีที่จะเรียนรู้ธรรมะก็คือการที่คอยรู้ลงที่กายที่ใจของตัวเอง ธรรมะแสดงอยู่ที่กายที่ใจนี้ มีสติคอยรู้ลงไป มีจิตตั้งมั่น ไม่ถลำลงไปรู้ ในที่สุดปัญญาก็เกิด ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฉะนั้นการที่เราฟังธรรมหรืออ่านธรรมะก็เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติธรรม เรียนรู้ธรรมที่แท้จริงคือการเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ จะเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจได้ ใจต้องมีความตั้งมั่น มีสมาธิ สติต้องระลึกลงในกาย สติต้องระลึกลงในใจ สติเป็นตัวระลึกรู้ อย่างร่างกายเราขยับอย่างนี้ สติระลึกรู้ ขยับไปขยับมาอะไรอย่างนี้ สติเป็นตัวรู้ทันๆ จิตเป็นคนดู ถ้าจิตเป็นคนดู ร่างกายขยับ มันจะเห็นเลย ที่ขยับนี่ไม่ใช่เรา ลองทำดูสิ ทำได้ไหม ลองขยับดู อย่าคิดมาก ใช่เรา ไม่ใช่เรา ไม่ได้เรื่องหรอก ลองขยับสิ

มันบอกไหมว่ามันเป็นเรา ไม่บอก รู้สึกไหมว่ามันไม่เป็นเรา มันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ฉะนั้นความจริงมันแสดงตัวอยู่ทนโท่อยู่แล้ว นี่มันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ มันไม่ใช่เราสักหน่อย คนโง่คนหลงโลกมันก็นี่เราๆ อะไรก็เราหมดเลย สุดท้าย นี่ร่างกายของเรา ครอบครัวของเรา บ้านของเรา รถของเรา สุดท้ายโลกของเราอีก จักรวาลของเรา พวกนักดาราศาสตร์นี้ มันดูจักรวาลอื่น ดูกาแล็กซีอื่น แล้วก็เรียกตรงนี้ว่าจักรวาลของเรา โลกของเรา นี่ความเป็นเราขยายตัวไปเรื่อยๆ เลยตามความหลง หลงโลกมาก มันก็เราก็เยอะหน่อย ถ้าหลงน้อย มันก็เราก็น้อยลงๆ มีเราก็มีทุกข์ขึ้นมา แบกเอาไว้

เข้าใจแล้วนะ การฟังธรรมะไม่ต้องมาทุรนทุราย การที่ต้องดิ้นรนหาครูบาอาจารย์เพื่อจะรู้วิธีปฏิบัติ การอ่าน พระไตรปิฎกเพื่อจะรู้วิธีปฏิบัติ วิธีปฏิบัติธรรมก็คือการเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของตัวเองอย่างที่มันเป็น มีเครื่องมือหลักๆ 2 ตัว สติ สัมมาสติกับสัมมาสมาธิ แล้วสติระลึกรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว สติระลึกรู้ จิตมีสมาธิตั้งมั่น จะเห็นเลยร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่ใช่ตัวเรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเวลากิเลสเกิด สติระลึกรู้ ความโลภเกิด ความโกรธ ความหลงเกิด จิตตั้งมั่นเป็นคนดู มันจะเห็นเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต มาแล้วก็ไปๆ แต่คายพิษเอาไว้ให้จิต มันสั่งให้จิตทำนู่นทำนี่ นำความทุกข์มาให้จิต

จิตนี้ดูไปๆ ไม่ใช่เรานี่ กิเลสจะมาหรือกุศลจะมาก็เลือกไม่ได้ ไม่มีน้ำยาเลย สั่งให้มันสุขก็ไม่ได้ ห้ามมันทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้มันดีก็ไม่ได้ ห้ามมันชั่วก็ไม่ได้ ดูลงไป โอ้ จิตเองก็เป็นอนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดู กายนี้ก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตนี้ก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูเรื่อยๆ ไป พอรู้แล้วมันก็จะวาง เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึง คลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น

หลุดพ้นๆ ได้ยินคำว่าหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากอาสวกิเลสที่มันห่อหุ้มจิตอยู่ อาสวะนี้ทั้งเหนียว ทั้งหนา แล้วเก่งมากเลย มันมีเปลือกซ้อนๆ กันอยู่ ที่มันห่อหุ้ม จิตใจเราไว้นี่มีเปลือกซ้อนกันอยู่ 4 ชั้น อย่างความคุ้นเคยกับกาม จิตใจมันคุ้นเคยที่จะแสวงหาความสุข หารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดีอะไรนี่ จิตใจมันคุ้นเคยกับการที่จะมีความคิด มีความเห็นว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ จิตใจมันคุ้นเคย ที่จะต้องสร้างภพ สร้างที่อยู่ให้จิต มิฉะนั้นเดี๋ยวจิตไม่มีที่อยู่ จะอิสระเกินไป นี่ก็เป็นเปลือก เป็นชั้นๆ เข้าไป

เปลือกชั้นในสุดเขาเรียกอวิชชา มันเป็นความคุ้นเคยของจิต ตัวอาสวะนี่มันเป็นความคุ้นเคยที่พวกกิเลสทั้งหลายมันจะเข้ามาครอบงำจิต มันจะเยิ้มๆ เคลิ้มๆ เข้ามาครอบ ถ้าดูเป็นก็จะเห็น โอ้ จิตนี้ไม่มีอิสรภาพ จิตนี้ถูกครอบงำด้วยอาสวะทั้ง 4 อย่างนี้ ค่อยภาวนาๆ พอเราได้พระโสดาบัน เปลือกของที่มันหุ้มอยู่ อาสวะนี่มันจะตายไปส่วนหนึ่ง คือทิฏฐาสวะ ความเห็นผิดมันจะตายไป ฉะนั้นเราจะรู้สึกว่าใจเรา จะโปร่งขึ้นมา ภาวนาต่อไปอีก ก็จะล้างกามาสวะได้ตอนที่ เป็นพระอนาคามี ตรงที่ล้างภพ ล้างความผูกพัน รักใคร่ในภพ ล้างได้ แล้วก็ล้างอวิชชาได้ ตรงที่เป็นพระอรหันต์ เปลือกนี่มันจะขาดสะบั้นลงไปเลย

พออวิชชาขาด อาสวะก็จะขาด แต่ถ้าอาสวะยังไม่ขาด มันก็จะไปสร้างเปลือกอันใหม่ขึ้นมาอีก อวิชชายังไม่ขาดก็จะสร้างอาสวะใหม่ขึ้นมาอีก มาหุ้มอีก เพราะฉะนั้นเวลาบรรลุ พระโสดาบัน เราจะรู้สึกว่าอริยมรรคมันทำลายสิ่งห่อหุ้มออกไป ความว่างก็ปรากฏ แสงสว่างก็ปรากฏ ความเบิกบานก็ปรากฏขึ้น เพียงชั่วครู่เดียวอาสวะก็กลับเข้ามาปกปิดอีกแล้ว แต่ถ้าเราดูให้ดี เราจะเห็นว่ามันบางลง เพราะมันถูกทำลายชั้นที่หนึ่งไปแล้ว มันถูกทำลายทิฏฐาสวะ อาสวะที่ทำให้หลงผิด เกิดความเห็นผิดต่างๆ นานา คือมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายนี่จะขาดตรงนั้น ฉะนั้นอาสวกิเลสที่มันห่อหุ้มจิตนี่มันก็จะลดน้อยลง

ตรงเป็นพระอนาคามี ถ้าใครได้อนาคาฯ แล้วก็สังเกตอีก จิตก็ยังมีเปลือกหุ้มอยู่ จิตยังแสวงหาภพอยู่ การที่เราภาวนา กำหนดจิตอย่างโน้นอย่างนี้ มันคือการสร้างภพทั้งสิ้นเลย แต่ก็ต้องอาศัยภพ ศีล สมาธิ ปัญญามันถึงจะเกิด ค่อยสังเกตไป โอ้ จิตมันยังติดอะไรบางอย่างอยู่ จิตยังไม่อิสระอยู่ จิตยังมีสิ่งห่อหุ้มอยู่ นี่ถ้าได้อนาคาฯ แล้วก็ดูไปอีก ตัวที่มาห่อหุ้มไว้ก็คือความติดใจในภพ จิตจะต้องหาที่อยู่ให้ได้ มิฉะนั้นเดี๋ยวจะว้าเหว่ จิตก็ไปสร้างภพขึ้นมา เป็นความคุ้นเคยที่จะต้องสร้างภพ แล้วมันก็คุ้นเคยอยู่กับอวิชชา คุ้นเคยอยู่กับความเห็นผิด ไม่รู้แจ้งอริยสัจนั่นล่ะ แล้วรู้แจ้งอริยสัจ อาสวะก็จะถูกทำลายออกไป อนุสัยจะถูกทำลายออกไป

อนุสัยลึกลงไปกว่าอาสวะอีก อนุสัยเป็นกิเลสส่วนที่ลึก ที่สุดเลย เป็นกิเลสที่ซ่อนตัวอยู่ ไม่แสดงตัว มองไม่ออก ตอนที่มันแสดงตัว มันแสดงขึ้นมาเป็นอาสวะ แล้วก็มาเป็น กิเลสหยาบ โลภ โกรธ หลง เราก็เรียนรู้จากร่องรอยที่มันแสดงนี้ล่ะ จนวันหนึ่งอริยมรรคเกิด ก็จะทำลายลงไปถึงอนุสัยได้

ธรรมะเขาเรียนกันอย่างนี้ เรียนที่กาย เรียนที่ใจดูเรื่อยๆ ไป ไม่ยาก ขอให้สู้เท่านั้นล่ะ ตั้งใจให้ถูก ตั้งใจให้ตรง ถูก-ตรง คือรู้ถูก เข้าใจถูก เมื่อสิ่งที่เราต้องเรียนคือเรียนรู้ลงที่กายที่ใจนี้ วิธีเรียนรู้ก็คือฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นผู้รู้-ผู้ดู เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ลงที่กายจะเห็นไตรลักษณ์ของกาย เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ลงที่จิตจะเห็นไตรลักษณ์ของจิต ถ้าเห็นแล้วมันจะปล่อย ปล่อยวางได้ เกิดมรรคเกิดผลเป็นชั้นๆ ไป ก็ลดละอำนาจของกิเลสเป็นระดับๆ ไป

 

“พยายามภาวนา วันนี้หลวงพ่อยังคอยดุด่าว่ากล่าวให้ ต่อไปต้องสอนตัวเองให้ได้
หลวงพ่อตามสอนพวกเราตลอดชาติไม่ได้หรอก
เราสอนตัวเองให้ดี จนใจเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะ
เราก็จะรู้เลยว่าครูบาอาจารย์อยู่กับเราทั้งวันเลย พระพุทธเจ้าอยู่กับเราทั้งวันเลย
พระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์แสดงธรรมให้เราทั้งวันเลยถ้าใจเราเป็นธรรมะ”

 

สู้เอา ตั้งใจไว้ว่าต่อไปนี้จะฟังธรรมทุกครั้งที่มีโอกาส การฟังธรรมทุกครั้งที่มีโอกาสไม่ได้หมายถึงฟังยูทูป แต่ฟังที่กายที่ใจตัวเอง ทำให้ได้แล้วจะรู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระอริยสงฆ์มีจริง จะรู้ด้วยตัวเอง

วันนี้พอสมควรแล้ว เช้าๆ บางทีหลวงพ่อก็นึกจะเอา อะไรไปเทศน์ เทศน์มาตั้งหลายสิบปีแล้ว ไม่รู้จะเทศน์เรื่องอะไรแล้ว แต่ถึงเวลาพอเห็นกิเลสพวกเราแล้ว มันเลยเทศน์คล่อง อย่างนั่งรอฟังเทศน์ (หลวงพ่อทำท่านั่งสมาธิเคร่งเครียดให้ดู) นี่ท่ารอฟังเทศน์ บางคนก็ใจฟุ้งไปฟุ้งมา พอหลวงพ่อเห็นกิเลสของพวกเรา แหม ธรรมะซึ่งมันไม่มี มันก็ออกมาได้เลย เพราะฉะนั้นหลวงพ่อไม่มีสคริปต์หรอก ในการแสดงธรรม พวกเราล่ะเป็นสคริปต์ให้หลวงพ่อ หลวงพ่อถึงให้คัดเลือกมาเสนอหน้าให้หลวงพ่อ เห็นในจอ หลวงพ่อเลยเทศน์ง่าย เห็นกิเลส

เพราะฉะนั้นพยายามภาวนา วันนี้หลวงพ่อยังคอยดุด่าว่ากล่าวให้ ต่อไปต้องสอนตัวเองให้ได้ หลวงพ่อตามสอนพวกเราตลอดชาติไม่ได้หรอก เราสอนตัวเองให้ดี จนใจเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะ เราก็จะรู้เลยว่าครูบาอาจารย์อยู่กับเราทั้งวันเลย พระพุทธเจ้าอยู่กับเราทั้งวันเลย พระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์แสดงธรรมให้เราทั้งวันเลยถ้าใจเราเป็นธรรมะ ส่วนธาตุขันธ์ของครูบาอาจารย์ ของพระพุทธเจ้า ถึงเวลาก็แตกดับไป แต่ธรรมะตัวจริง พระพุทธเจ้าตัวจริง พระธรรมตัวจริง พระสงฆ์ตัวจริงอยู่ที่จิตใจอันบริสุทธิ์ของพวกเราต่างหาก ไม่ตายหรอก.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 มิถุนายน 2564