ทำหน้าที่ทางโลกดีจะหนุนทางธรรมให้เจริญ

คอยรู้ทันความปรุงแต่งของจิตไว้ จิตก็เดี๋ยวปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว เดี๋ยวก็พยายามจะไม่ปรุง ตัวที่ทำให้จิตใจเราวุ่นวายก็คือตัวความปรุงแต่ง จิตมันทำงานขึ้นมา เรียกว่าภพ คำว่าภพ เราได้ยินเรื่อยๆ ภาวนาหรือทำบุญอะไรก็ชอบอธิษฐานให้สิ้นภพจบชาติอะไรอย่างนี้ เราไม่รู้ว่าภพคืออะไร ภพมี 2 อัน อันหนึ่งเรียกอุปปัตติภพ ภพโดยการเกิด อย่างพวกเรามีอุปปัตติภพเป็นมนุษย์อย่างนี้ แต่ภพอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญมากเลย เรียกว่ากรรมภพ การที่จิตมันทำงาน จิตมันปรุง ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง พยายามจะไม่ปรุงบ้าง ทุกคราวที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเมื่อไรเราพ้นความปรุงแต่งได้ เราก็พ้นทุกข์เมื่อนั้น

เราห้ามจิตไม่ให้ปรุงแต่งไม่ได้ ไม่มีใครห้ามได้ จิตมันมีหน้าที่คิด นึก ปรุง แต่ง มันก็คิด นึก ปรุง แต่งของมันทั้งวัน แต่การคิด นึก ปรุง แต่ง มี 2 ลักษณะ อันหนึ่งมันเจือความจงใจด้วยอำนาจของกิเลสเข้าไป ก็เป็นการกระทำกรรมขึ้นมา กรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ก็คือความปรุงแต่ง อีกอันหนึ่งจิตมันปรุงแต่ง เราไม่ได้มีเจตนา มันทำงานไปตามธรรมชาติธรรมดาของมัน มันเป็นกิริยาอาการของจิต ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาปอะไรทั้งสิ้น

 

ตราบใดที่จิตยังถูกปรุงแต่งได้ จิตไม่พ้นทุกข์

ฉะนั้นเวลาเราภาวนา ค่อยๆ สังเกตไป จิตมันปรุงขึ้นมา เราคอยรู้ไว้ ของพวกเรามันยังไม่ถึงขั้นที่ว่าปรุงจนเป็นกิริยา สักว่าปรุง ของเราปรุงแล้วมันเป็นกรรม ปรุงดีปรุงชั่วอะไรอย่างนี้ คนที่จิตเป็นกิริยา มีแต่พระอรหันต์ พระอนาคามีจิตก็ยังทำกรรมอยู่ สกิทาคามี พระโสดาบัน หรือปุถุชน จิตมันทำกรรมอยู่เสมอ

ให้เราคอยรู้เท่าทันมัน ข้ามพ้นมันไปได้ เราก็จะสงบสุขอย่างแท้จริง ข้ามพ้นมันไม่ได้ ใจเราก็แกว่ง กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตลอดเวลา ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบหรอก อย่างอยากภาวนา อยากปฏิบัติ จิตก็ดิ้นรนแล้ว แค่อยากปฏิบัติ ไม่ได้อยากชั่วอะไร อยากดี อยากปฏิบัติ จิตมันก็ปรุงขึ้นมา ใจมันก็ดิ้นรน ทำอย่างไรถึงจะถูก ทำอย่างไรไม่ถูก หาทางใหญ่ ยิ่งดิ้น ยิ่งดิ้นก็ยิ่งทุกข์ ไม่ดิ้นก็ไม่ค่อยทุกข์เท่าไร

ค่อยๆ สังเกตเอา ใจของเราดิ้นรนทั้งวัน อะไรที่ทำให้ใจเราดิ้นรน ความอยากนั่นล่ะ ทำให้ใจเราดิ้นรน เราอยากได้อารมณ์ที่ดี ใจก็ดิ้นรน แสวงหาอารมณ์ที่ดี เราอยากได้คุณงามความดี ใจก็ดิ้นรน แสวงหาคุณงามความดี เราอยากได้อารมณ์ที่ชั่ว หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เรียกกามคุณอารมณ์ ใจเราก็ปรุงแต่งไปทางชั่ว เราคอยเฝ้าสังเกต มีความอยากเกิดขึ้นทีไร ความดิ้นรนปรุงแต่งก็เกิดขึ้นทุกที ความดิ้นรนปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทุกที

อย่างท่านที่ภาวนาจนสิ้นตัณหาแล้ว ใจไม่อยาก ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น มันก็เลยเป็นแค่กิริยา ไม่มีผล ทำให้จิตท่านดีขึ้นหรือเลวลง แต่จิตพวกเรามันมีความอยากผลักดันอยู่ ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นก็เลยดีบ้างชั่วบ้าง จิตก็ต้องรับวิบาก ความปรุงแต่งก็คือการกระทำกรรมนั่นเอง จิตก็ต้องรับบาป หรือรับบุญ รับผลของการกระทำ รับผลของความปรุงแต่งเพราะฉะนั้นตัวความอยาก บางทีมันก็ทำให้เราทำชั่ว บางทีความอยากบางอย่างก็ทำให้เราทำดี ความอยากที่ผลักดันให้เราทำชั่ว มันก็ให้ผล เกิดการกระทำชั่วขึ้นมา ก็มีวิบาก ก็มีความทุกข์ ความอยากที่จะทำดีอะไรนี่ ก็ผลักดันให้เราปรุงแต่งฝ่ายดี มีผลเป็นความสุข คนส่วนใหญ่ก็มาได้แค่นี้ล่ะ พยายามอยู่กับความปรุงแต่งดีๆ ไว้

ถ้าเราภาวนามากเข้าจริงๆ เราจะพบว่าตราบใดที่จิตยังถูกปรุงแต่งได้ จิตไม่พ้นทุกข์หรอก ปรุงแต่งฝ่ายดี เราเป็นคนดี เราก็ทุกข์แบบคนดี ปรุงแต่งฝ่ายชั่ว เราก็ทำชั่ว มันก็มีผล มีความทุกข์เป็นผล คอยสังเกตความปรุงแต่งของจิตไว้ ตัวที่ผลักดันคือตัวอยาก เพราะพวกเรายังไม่ถึงขั้นที่จิตทำงาน จิตปรุงแต่งโดยไม่มีตัณหา ยังมีความอยากซ่อนอยู่ อยากดีอยากชั่วอะไรก็สารพัดจะอยาก ฉะนั้นสังเกตไป ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตนั้นมันมาจากความอยาก

อย่างบางคนมันมีญาติผู้ใหญ่ เขามาเล่าให้ฟัง ผู้เฒ่าเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาตั้งแต่เล็กๆ เลย ลูกหลานไม่มีพ่อแม่อะไร ก็เลี้ยง ตอนนี้แกแก่แล้วแกเป็นโรคหลายโรคอะไรอย่างนี้ จิตใจแกก็ไม่รู้เรื่องอะไร แกไม่ทุกข์เท่าไร พวกลูกหลานทุกข์ อยากให้แกตายเร็วๆ จะได้หมดภาระอะไรอย่างนี้ อยากให้บุพการีตาย แล้วก็คิด บางคนก็คิดว่าก็อยู่ก็ทรมาน ฉะนั้นก็ตายดีกว่า ตรงที่อยากให้เขาตายก็ทุกข์ ตัวเองทุกข์ เมื่อไรเขาจะตายๆ ตัวเองก็ทุกข์

 

การุณยฆาตไม่มี

ฉะนั้นไม่ว่าความอยาก บางคนอยากด้วยความกรุณา เห็นคนไม่สบาย หรือเห็นสัตว์ไม่สบายมากๆ อยากให้เขาตาย ใจมันมีความกรุณา อยากให้เขาพ้นทุกข์ แต่ใจตัวเองดิ้น ไม่มีหน้าที่ไปตัดสินให้สัตว์ตัวใดหรือบุคคลใดอยู่หรือตาย ตรงที่อยากให้เขาตาย จะด้วยจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม มันทำผิดหน้าที่ จิตมันก็เศร้าหมอง บางทีก็นึกว่า เออ เขาตายได้ก็ดี เขาไม่ทุกข์ บางทีก็นึกขึ้นมาอีก เราไปคิดให้เขาตาย นี่เราบาปไม่บาปอะไรอย่างนี้ หรือบางทีพ่อแม่เราไม่สบายแล้วใส่เครื่องช่วยหายใจไว้ บางทีไม่รอดแล้วล่ะ เราก็เห็นเขาทรมาน ก็ไปคิดว่าให้เขาตายดีกว่า ให้พ่อแม่ตายเสียดีกว่า ใส่เครื่องอย่างนี้ ก็ไม่หาย ทรมานเฉยๆ

ถ้าคิดอยากให้เขาตาย เป็นอกุศล การุณยฆาตไม่มีหรอก อยากให้เขาตาย อย่างไรก็บาป แต่ถ้าวางใจใหม่ วางใจถูก อยากให้เขาไม่ทรมาน นี่มันวางจิตผิดกันนิดเดียว ผลมันต่างกันมากเลย เราจงใจทำให้พ่อแม่ตาย บาปแสนสาหัส เราไม่ได้จงใจให้เขาตาย แต่เขาตายเอง อย่างนั้นเราไม่ได้บาป ฉะนั้นอย่างเวลาพ่อแม่เราไม่สบาย เราจะจับใส่เครื่องช่วยหายใจอะไร คิดให้ดี บางคนก็อยากให้อยู่นานๆ พออยู่ไปนานๆ รู้สึก guilty อีกแล้ว รู้สึกเราไปทรมานเขา ก็บอกหมอให้ถอดเสีย ให้ตายๆ เสีย ตัวนั้นไม่ได้ เป็นอนันตริยกรรมทันทีเลย

กลไกของจิตมันอยู่ที่เราอยากอย่างกุศลหรืออยากอย่างอกุศล ถ้าเราอยากอย่างกุศล อยากให้เขาไม่ทุกข์ อยากให้เขาไม่ทรมาน นี่อยากแบบเป็นกุศล ถ้าอยากให้เขาตายเร็วๆ อยากเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเรารู้ทันความปรุงแต่งของจิตใจเรา อะไรมันอยู่เบื้องหลัง ความอยากที่เป็นกุศล หรือความอยากที่เป็นอกุศลกันแน่ รู้ทันไว้ หัดสังเกตมันให้ถ่องแท้

มีบางคนมาถาม แม่ไม่สบายมากเลย อยากถอดเครื่องช่วยหายใจ หลวงพ่อมีความเห็นว่าอย่างไรล่ะ เออ จะเอาบาปมาแบ่งให้เรา หาพวก ทีเรื่องดีๆ ไม่ค่อยมาถาม ถามจะทำอย่างไรแม่จะตายเร็วๆ อย่างนี้ มีคนหนึ่งตลก สงสารแม่ เห็นแม่ไม่สบาย ก็อยากจะถอดเครื่องช่วยหายใจ หลวงพ่อก็บอกเขา วางใจให้ถูกก็แล้วกัน ถ้ามันอยู่ไป ไม่มีอะไรดีขึ้นก็ถอด ไม่ใช่เพื่อให้เขาตายเร็วๆ แต่เพื่อไม่ให้เขาทรมาน คนนี้เขาถามต่อ ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว เราตัดอาหารด้วยไหม บอกแหม อันนั้นเจตนามากไปหน่อย มันอยู่ที่เจตนา กรรมมันอยู่ที่ตัวเจตนา เจตนาเป็นบุญ หรือเจตนาเป็นบาป แต่เคสที่เล่า พอถอดเครื่องหายใจแม่เลยแข็งแรงกลับบ้านได้เลย นี่บุญรักษา

ฉะนั้นตัวเจตนาของเรา เจตนาที่ดี หรือเจตนาที่ไม่ดี ตัวเจตนานั่นล่ะ มันทำให้เกิดความปรุงแต่ง เกิดการกระทำกรรม ฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทันจิตใจของเราที่เราคิด เราพูด เราทำ เราอยากนั้น อยากนี้ มันอยากด้วยกุศล หรืออยากด้วยอกุศล ด้วยจิตที่เป็นบุญ หรือจิตที่เป็นบาป ไม่มีใครมาตัดสินเราหรอก ตัวเราตัดสินตัวเอง ชาวพุทธเราดีอย่างหนึ่ง ชีวิตของเราไม่มีใครลิขิต เราลิขิตชีวิตตัวเราเอง เรามีเจตนาจะชั่ว เราก็ปรุงชั่ว แล้วเราก็รับผลชั่ว เรามีเจตนาที่ดี เราก็ปรุงดี เราก็รับผลที่ดี อันนี้เป็นเรื่องโลกๆ

ถ้าเรื่องพ้นโลกก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าเรื่องพ้นโลกก็คือเมื่อไรมีความปรุงแต่ง เมื่อนั้นก็มีความทุกข์ จะปรุงดีก็ทุกข์ ทุกข์แบบคนดี ปรุงชั่วก็ทุกข์แบบคนชั่ว มันคนละระดับกัน ธรรมะมีระดับที่อยู่กับโลก เรียกว่าโลกิยะ ระดับที่อยู่เหนือโลกเรียกโลกุตตระ ฉะนั้นเวลาฟังธรรมะ ฟังให้ดีว่าธรรมะระดับไหน ถ้าระดับอยู่กับโลก ทำดีดีกว่าทำชั่ว ถ้าระดับที่จะขึ้นไปเหนือโลก ไม่ว่าจะปรุงดีหรือปรุงชั่ว มันก็ทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น มันคนละเรื่องกัน แยกให้ออก

อย่างสมมติพ่อแม่ไม่สบาย แล้วเราก็มองแบบโลกุตตระ นี่เป็นวัตถุ เป็นธาตุ เราก็ไม่ดูแล ไม่อะไร เราไม่ดูแลดินจะเป็นอะไรไป เราไม่ดูแลน้ำจะเป็นอะไร เห็นไหม เราไม่ดูแลลม เราไม่ดูแลไฟ ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย อันนี้แยกแยะไม่ออกว่าควรใช้ธรรมะระดับโลกิยะหรือระดับโลกุตตระ โลกิยะก็ยังมีพ่อ มีแม่ มีลูก มีเมีย มีสามี มีหน้าที่การงาน เรามีหน้าที่อย่างโน้นอย่างนี้ มีสารพัด ต้องมี มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระสงฆ์ มีครูบาอาจารย์อะไรอย่างนี้ แล้วเราก็มีหน้าที่ปฏิบัติต่อคนแต่ละกลุ่มๆ อย่างถูกต้อง

 

หน้าที่ปฏิบัติต่อคนแต่ละกลุ่มๆ อย่างถูกต้อง

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้ไว้อยู่ในเรื่องทิศ 6 ไปลองเสิร์ช Google ดู เรื่องทิศ 6 ท่านสอนให้เราทำหน้าที่ต่อคนกลุ่มต่างๆ อย่างถูกต้อง นี่เป็นธรรมะระดับโลกิยะ ถ้าธรรมะระดับโลกุตตระ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา คนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นเวลาบางคนชอบเอาธรรมะไปอ้าง เอาโลกุตตระไปอ้างเพื่อจะไม่ทำหน้าที่ อันนั้นไม่ถูก ฉะนั้นแยกแยะให้ออก

ธรรมะมี 2 ส่วน ส่วนที่เป็นโลกิยะกับโลกุตตระ โลกิยะยังมีเขามีเรา มีพ่อมีแม่ มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีโน่นมีนี่ เราก็มีหน้าที่ปฏิบัติต่อคนแต่ละกลุ่มให้ถูกต้อง ทำหน้าที่ถูกต้อง เราจะไม่เสียใจทีหลัง ถ้าเราทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง เราจะเสียใจทีหลัง อย่างพ่อแม่เราไม่สบาย เราก็ดูแล เราไม่ได้มองว่านี่เป็นก้อนดิน ดินจะแตก ดินจะทำลายก็ช่างมัน จะหิวข้าวก็เรื่องของมัน เป็นกรรมของสัตว์ อันนี้มองแบบไม่รู้เรื่องแล้ว

อย่างตอนเมื่อก่อน หลายปีแล้ว 2 – 3 ปีก่อน ที่มีเด็กไปติดในถ้ำ ก็มีพวกเรียนธรรมะนี่ล่ะ บอกว่าไม่ต้องไปช่วยหรอก เด็กมีกรรมเป็นของตน ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขาอะไรหรอก สัตว์ทั้งหลายมันมีกรรมเป็นของตน ไม่ต้องช่วยหรอก อันนี้ปล่อยวาง ไม่รู้เรื่องเลย ไม่เข้าใจธรรมะเลย คำว่าเมตตากรุณามันหายไปไหน เพราะฉะนั้นแยกให้ออกระหว่างธรรมะฝ่ายโลกิยะกับธรรมะฝ่ายโลกุตตระ

อย่างเราเห็นคนตกยาก อย่างเด็กมันติดถ้ำ เราก็พยายามช่วย อยากให้เขาพ้นทุกข์อะไรอย่างนี้ เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นความปรุง ปรุงดี พอจิตเราเป็นกุศล เราปรุงๆ แต่เกิดช่วยไม่ได้ เด็กมันตาย จิตเราเศร้าหมอง อันนี้เราก็ไม่ฉลาด ตรงที่มองว่า เออ เขาก็มีกรรมของเขา เราช่วยเต็มที่แล้ว ก็ช่วยได้แค่นี้ล่ะ เขามีกรรมเป็นของตนเอง ตรงที่มองอุเบกขา เอาไว้ใช้ทีหลังเอาไว้ใช้เมื่อเมตตาไม่ไหว กรุณาไม่ไหว มุทิตาไม่ไหว ก็ค่อยอุเบกขา ถ้าเริ่มต้นก็ไม่เมตตา ไม่กรุณา เอะอะก็อุเบกขา นี่เพี้ยนแล้ว ไม่เข้าใจธรรมะแล้ว เอะอะก็สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม อย่างพ่อแม่เราแก่เฒ่าเลี้ยงตัวเองไม่ไหว เราก็บอกสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เออ ก็กรรมของแกจริงๆ มีลูกอย่างเรานี่กรรมสาหัสเลย

เพราะฉะนั้นเราทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้อง เราจะไม่เสียใจทีหลัง อย่างบางคนหลวงพ่อเคยเจอ แม่ไม่สบาย ดูแลแม่อย่างดีเลย แม่นอนติดเตียงอยู่เป็น 10 ปีเลย แล้วแม่ตื่น รู้สึกตัวทีไรจะต้องร่ำร้องหาลูก ลูกหายไปไหนไม่ได้เลย จะต้องเห็นตลอดเวลา มิฉะนั้นจิตใจจะเศร้าหมอง คนนี้ใจเด็ดจริงๆ แต่บ้านเขามีเงิน เขาลาออกจากงานเลย อยู่กับแม่ทั้งวัน แล้วเวลาแม่นอน เขาจะนอนอยู่บนเตียงของแม่ด้วย แต่นอนอยู่ตรงปลายเท้า นอนอยู่ปลายเตียง เขานอนขดๆ ลำบากอยู่อย่างนั้นเป็น 10 ปีเลย พอแม่ตื่น แม่กระทบลูกปุ๊บ แม่มีความสุขแล้ว เขาก็อดทน แล้วพอผ่านมาสิบกว่าปี แม่ตายไป บุญตัวนี้มันมหาศาลจริงๆ คือทุกครั้งที่เขาคิดถึงสิ่งที่เขากระทำ เขามีความอิ่มเอิบใจเกิดขึ้น

ถ้าเราไม่ได้ทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้อง จิตใจเราจะเศร้าหมองทุกครั้งที่คิดถึง เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ถูก เรามีอะไรที่ควรทำ เราก็ทำ อะไรที่ไม่ควรทำ เราก็ไม่ทำ สังเกตจิต สังเกตใจตัวเองไป ความอยากมันห้ามกันไม่ได้หรอก บางทีก็อยากดี บางทีก็อยากไม่ดีอะไรนี่ ก็คอยรู้ทันเอา ถ้าความอยากที่ไม่ดีเกิดขึ้น เรารู้ทัน เราก็ไม่ปรุงชั่ว ถ้าความอยากไม่ดีเกิดขึ้น เราไม่รู้ทัน เราก็ปรุงชั่ว ความทุกข์มันก็จะตามหลังเรามาเหมือนเงาตามตัว ไม่หนีไปไหนหรอกกรรม ทั้งกรรมดีทั้งกรรมชั่วไม่มีทางหนีเราไปไหนหรอก มันเป็นกฎของธรรมชาติ

ฉะนั้นทุกวันพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด รู้ตัวว่าเราเป็นใคร ควรจะทำอะไร เห็นไหม มีตัวมีตน ไม่ใช่ไม่มี มีหน้าที่อะไรต่อใคร อย่างไร พยายามทำหน้าที่ให้เต็มที่ แล้วก็อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป บางทีเราเป็นหมอ สมมติเป็นหมอ คนไข้คนนี้ดูแลยาก เราหงุดหงิดอะไรอย่างนี้ นึกในใจเมื่อไรมันจะตายเสียที หรือเมื่อไรลูกหลานมันจะเอาออกจากโรงพยาบาลไปเสียที ใจเรามีโทสะ อยากให้เขาตายเร็วๆ อยากให้เขาไปให้พ้นอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ใจเราจะเศร้าหมอง แต่ถ้าใจเรามีเมตตา กรุณา อยากให้เขาหาย ถ้าเขาไม่หาย รักษาเต็มที่แล้ว เราอุเบกขา อย่างนี้ถูกต้อง เราจะไม่เสียใจ เพราะฉะนั้นทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ไม่ได้ทำไปด้วยความอยาก

 

ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ไม่ได้ทำไปด้วยความอยาก

ความอยากนั้นต้องสังเกตให้ดี ถ้าอยากดีก็ยังโอเคอยู่ มีผลดี ถ้าเราอยากด้วยอำนาจของกิเลส อันนั้นอยากชั่ว พยายามละเสีย เลิกเสีย นี่เป็นความปรุงแต่ง ถ้าเรารู้ทัน จิตมันปรุงชั่ว เรารู้ทัน เราก็ไม่ทำชั่ว จิตมันปรุงดี เรารู้ทัน เราก็ทำความดีแบบไม่งมงาย ไม่ใช่ทำด้วยความอยาก แต่ทำเพราะรู้สึกว่ามันสมควรทำ ทำแล้วมีประโยชน์ต่อตนเอง มีประโยชน์ต่อผู้อื่นอะไรอย่างนี้ เราก็ทำ จะเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลแล้ว ไม่ใช่เรื่องการใช้ความอยากนำหน้าไป เราไม่ใช่หมา อยากสืบพันธุ์ก็สืบพันธุ์ อยากกัดก็กัด อยากหอนก็หอนอะไรอย่างนี้ เราไม่ใช่สัตว์อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเราก็สังเกตดู ความอยากมันห้ามไม่ได้ ความอยากเกิดขึ้นรู้ทันมัน อันนี้มันอยากเพราะกุศล หรืออยากเพราะอกุศล อันไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ อันไหนผิดหน้าที่ เราก็ไม่ทำ ค่อยๆ สังเกตแล้วชีวิตของเราจะดีขึ้น ชีวิตของเราจะสงบสุข แล้วเราไม่เสียใจทีหลัง อย่างถ้าเราดูแลพ่อแม่เราเต็มที่ พอพ่อแม่ตาย เราจะไม่เสียใจทีหลัง แต่ถ้าตอนเขาอยู่ เขาอยากกินอะไร เราก็ไม่เอาแล้ว เหนื่อย วันๆ หนึ่ง อย่าไปกินเลย กินไปก็เท่านั้นล่ะ เขาทุกข์ทรมาน พอเขาตาย รีบมาหาพระเชียว เอารูปมาให้หลวงพ่อดู เอากระดูกมา เอาผ้ามาให้ชักบังสุกุล แม่ชอบกินอันโน้น แม่ชอบกินอันนี้ เอาอาหารมาถวายพระ แม่จะได้กินหรือเปล่า เลื่อนลอย ไม่แน่ว่าจะได้กินหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นทำหน้าที่ของเราตั้งแต่เขายังเป็นๆ อยู่ ดูแลกันเข้าไป ไม่เฉพาะหน้าที่ต่อพ่อแม่ หน้าที่ต่อลูก ก็มีหน้าที่ หน้าที่ต่อสามีภรรยา เราก็มีหน้าที่ อย่าให้เสียใจทีหลัง ว่าตอนที่เขาอยู่ เราดูแลเขาไม่ดีพอ ฉะนั้นถ้าเราทำอะไรแล้วไม่เสียใจทีหลัง ก็ดีแล้วล่ะ ถ้าทำแล้วต้องเสียใจทีหลัง ไม่ควร กระทั่งทำบุญ บางคนทำบุญทำเยอะ แต่ก่อนเขาสอนกันบอกว่าให้ขายบ้านไปเลย เอาเงินไปสร้างเจดีย์อะไรต่ออะไร นี่จิตใจก็มีศรัทธา ไปขายบ้าน มีทรัพย์สินอะไรยกให้พระให้วัดไปหมดเลย เสร็จแล้วตัวเองไม่มีจะกิน ไม่มีบ้านจะอยู่อะไรอย่างนี้ จิตเศร้าหมอง นี่ทำไม่ถูกแล้ว ลืมหน้าที่ไปแล้ว

มันมีหน้าที่ต่อตัวเองก็ต้องเลี้ยงดูตัวเองให้ได้ มีบ้านให้อยู่ มีข้าวให้กินอะไรอย่างนี้ ครอบครัวของตัวเอง ตัวเองก็ต้องเลี้ยง เกิด แหม ศรัทธาอยากทำบุญ ขายบ้านขายทุกสิ่งทุกอย่าง เอาไปประเคนให้พระอะไรอย่างนี้ ได้บุญไหม ตอนที่ทำ ตอนที่อยากทำ จิตเบิกบาน มีศรัทธาเป็นบุญ แต่ตอนที่ทำแล้ว จิตหดหู่ จิตเศร้าหมองทีหลัง อันนี้เป็นอกุศล บุญชนิดนี้เป็นบุญที่ไม่สมประกอบอย่างยิ่งเลย ถ้าเราไม่มีบุญอะไรที่ยิ่งกว่านี้ บุญตัวนี้ให้ผลเรา เราไปเกิด เราจะเกิดเป็นคนพิการเลย คือไม่สมประกอบโดยกำเนิดเลย

เพราะฉะนั้นเวลาจะทำ กระทั่งจะทำดี จะทำบุญ ก็รู้จักประมาณ รู้จักประมาณในการทำ ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลทั้งนั้นเลย ไม่ใช่ทำไปด้วยความบ้าบุญ หรืออยากได้บุญเยอะๆ อยากเป็นเทวดา อยากโน้นอยากนี้ อันนี้ทำด้วยอกุศล ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจตัวเอง สิ่งที่ผลักดันจิตใจเราให้มีความอยากอย่างนั้นอยากอย่างนี้ มันเป็นกุศล หรืออกุศล แล้วผลักดันให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้แล้ว เราก็มีความไตร่ตรอง อันนี้ควรทำ หรืออันนี้ไม่ควรทำ สังเกตให้ดี อันไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป แล้วชีวิตเราจะร่มเย็นเป็นสุข เราจะไม่เสียใจทีหลัง ถ้าทำดีเกินไป ดีแบบไม่มีสติ ไม่มีปัญญากำกับ ก็ได้รับความทุกข์ ชีวิตลำบากอะไรอย่างนี้

อย่างโยมบางคนมาหาหลวงพ่อ เอาโฉนดมา จะเอาโฉนดมาถวายหลวงพ่อ ถวายบ้าน ถวายที่ดิน หลวงพ่อบอกว่า หลวงพ่อยังไม่รับหรอก เอาไปอยู่ เอาไปกินของเราเถอะ เพราะหลวงพ่อยังไม่รู้จะเอาไปทำอะไร อย่างเอาบ้าน เอาที่ดินมายกให้หลวงพ่ออะไรอย่างนี้ บอกอย่างนั้นยกให้วัด บอกโยมต้องคิดให้ดีก่อน ถ้าแก่ๆ หมดกำลังแล้ว ไม่มีใครเลี้ยงดู บ้านก็ยกไปแล้ว ไม่ใช่ของตัวเองแล้ว แล้วจะอยู่ที่ไหน จะกินอะไร หลวงพ่อบอกว่าถ้าอยากทำ ก็ไปทำพินัยกรรมยกให้วัด ยังเป็นๆ อยู่ เกิดจำเป็นขึ้นมา เอาไปขายกินได้ ไม่ผิดอะไร พินัยกรรม ยกเลิกเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นโยมที่มาถวายที่ดินถวายบ้านอะไรที่หลวงพ่อ หลวงพ่อจะบอกให้ไปคิดให้ดี ถ้าอยากทำจริงๆ เอาทำพินัยกรรมก็พอแล้ว เปลี่ยนใจได้ เกิดลำบากขึ้นมา เปลี่ยนใจได้ ไม่รู้สึก guilty ทีหลัง

ทำอะไรต้องมีเหตุมีผล คนสมัยโบราณอยากยกไร่ยกนาอะไรให้วัดให้อะไร ทำได้ง่าย สมัยนี้ตัวคนเดียว แก่มาใครจะดูแล ใครจะช่วยเหลืออะไรอย่างนี้ ก็ต้องเตรียมที่จะดูแลตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองให้ได้ จะมาศรัทธานำหน้าไป แล้วก็ลำบากทีหลัง ทุกข์ ทรมานทีหลัง ไม่ควร ฉะนั้นทำความดี มีโอกาสก็ทำ แต่ทำโดยรู้จักประมาณ รู้จักประมาณตนเอง แค่ไหนพอดี แค่ไหนไม่พอดี เราทำอย่างนี้ ชีวิตเราจะร่มเย็นเป็นสุข ถ้ามีหน้าที่ก็ทำหน้าที่ของตัวให้ดีไป

วันนี้ยากไปไหมเทศน์อย่างนี้ วันนี้เทศน์ไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญ ถ้าพวกเราดำรงชีวิตไม่ถูก ชีวิตเราก็วุ่นวาย ชีวิตที่มันวุ่นวาย เคร่งเครียด ภาวนายาก ถ้าเราดำรงชีวิตเราอย่างถูกต้อง ทำหน้าที่ของเราอย่างถูกต้อง จิตใจไม่ฟุ้งซ่านมาก การภาวนาไม่ใช่เรื่องยาก เพราะฉะนั้นโลกิยธรรมที่ดีก็หนุนเสริมการพัฒนาไปสู่โลกุตตรธรรม ถ้าโลกิยธรรมยังทำได้ไม่ดีเลยแล้วหวังโลกุตตรธรรม มันทำไม่ได้หรอก ฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนทั้งหมดเป็นประโยชน์แล้วก็เกื้อกูลเราเพื่อความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น

 

ทำหน้าที่ของเราในทางโลกให้ดี
แล้วในทางธรรมจะเจริญง่าย

อย่างเราเป็นฆราวาส ท่านก็สอนโลกิยธรรมให้ พอเราประพฤติโลกิยธรรมได้ดี ชีวิตเราสงบสุข การที่เราจะศึกษาธรรมะจะปฏิบัติธรรมะก็ทำแบบหายห่วง ไม่กังวล ไม่เคร่งเครียด ถ้าจะนั่งสมาธิแล้วก็พรุ่งนี้จะกินอะไรอย่างนี้ นั่งยาก ลำบาก เพราะฉะนั้นธรรมะฝ่ายโลกิยะก็หนุนก็เสริม ให้การเจริญธรรมะฝ่ายโลกุตตระนั้นทำได้ง่ายขึ้น เราไม่เคร่งเครียด ไม่กังวล ไม่เสียใจ ค่อยๆ พัฒนาตัวเอง ลองไปสังเกตดู ธรรมะฝ่ายโลกิยะมีตั้งเยอะตั้งแยะ แล้วธรรมะบางอย่างดีทั้งโลกิยะทั้งโลกุตตระเลย อย่างการไม่คบคนชั่วอย่างนี้ การคบบัณฑิต ดีทั้งทางโลกดีทั้งทางธรรมเลย

ธรรมะบางอย่างดีกับโลก อยู่กับโลกได้ดี ธรรมะบางอย่างก็เน้นมุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ก็แล้วแต่สถานะของเรา อย่างถ้าเราเป็นฆราวาส หลวงพ่อเคยเจอผู้หญิงหลายคนอยากพ้นทุกข์ แล้วก็ยังอยากอยู่กับสามี อยากอยู่กับลูกต่อไปด้วย อยากนิพพานด้วย บอกฟังแล้วเวียนหัวเลย อยากสารพัดอยากเลย แล้วสามีจะหลับนอนด้วย ไม่ยอม อยากประพฤติพรหมจรรย์ หนักเข้าไปอีก จะทำให้โลกุตตระเจริญ แต่ทำโลกิยะให้เสื่อม สุดท้ายสามีก็ไปมีเมียใหม่ คราวนี้ร้องห่มร้องไห้มาฟ้องพระ หลวงพ่อ ทำไมหนูทำความดี ทำไมกรรมอะไรมาให้ผล บ้านแตก ก็หนูโง่ หนูทำหน้าที่ผิด

เพราะฉะนั้นโลกิยธรรมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ รู้ว่าเราเป็นใคร มีหน้าที่อะไร ทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้องเสีย จะได้ไม่เสียใจทีหลัง แล้วพอเราทำหน้าที่ของเราถูกต้อง จิตใจเราสงบสุข มันมีความอิ่มเอิบ อย่างคนเมื่อกี้ที่เล่า ที่เขาดูแลแม่เขา นอนขดอยู่บนเตียง ปลายเตียง ปลายเท้า อยู่บนเตียงแม่ แต่นอนขดอยู่บนที่ปลายเท้าเลย อยู่อย่างนั้นเป็น 10 ปี พอเขานึกถึงเรื่องนี้ทีไร จิตใจเขาก็อิ่มเอิบเบิกบานมีความสุข เห็นไหมความดี คิดถึงทีไรแล้วก็มีความสุข

เพราะฉะนั้นพยายาม ความดีอะไรมีโอกาสทำก็ทำเสีย ความชั่ว มีโอกาสทำก็ไม่ทำ ละเสีย แล้วการภาวนามันจะง่าย ทำหน้าที่ของเราในทางโลกให้ดี แล้วในทางธรรมมันจะเจริญง่าย ถ้าทางโลกเราเสื่อม โอกาสทำทางธรรมให้ดี มันยากๆ จิตใจมันจะเศร้าหมอง กังวลไปเรื่อยๆ วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ บางคนได้ยินเทศน์เรื่องพ่อเรื่องแม่แล้วร้องไห้ น้ำตาร่วงเลย บางทีก็ยังแก้ไขทัน พ่อแม่ยังอยู่ ก็ไปดูพ่อแม่เสีย บางคนก็แก้ไขไม่ทันแล้ว เศร้าหมอง ทำหน้าที่ให้ดี แล้วก็ชีวิตมันจะได้ดี

 

โยมที่มาอยู่ในศาลา ไหนๆ ก็มาวัดแล้วก็พยายามรู้เท่าทันจิตใจของเราไปเรื่อยๆ อย่างเรามาวัด บางทีก็มีอยาก อยากโน้นอยากนี้ อยากคุยกับหลวงพ่อ อยากเจอคนนั้น อยากเจอเพื่อนอะไรอย่างนี้ ให้รู้ทันใจที่มันอยาก รู้ทันใจที่มันดิ้นรนปรุงแต่งไว้ ถ้าเรารู้ทันใจที่มันอยาก ใจที่มันดิ้นรน ความทุกข์มันก็จะค่อยๆ ลดลงๆ ค่อยๆ ดูของเราไปทุกวันๆ อย่าละเลย ธรรมะนั้นเป็นเรื่องของตัวใครตัวมัน เป็นเรื่องเฉพาะตัว ฉะนั้นเราอยากพ้นทุกข์ เราก็ต้องภาวนาของเราเอง ใครก็ช่วยเราไม่ได้

เราภาวนา เราก็ดูให้ทันอีก ภาวนาเพราะว่าสมควรภาวนา หรือภาวนาเพราะอยาก ก็รู้ทันอีก ภาวนาเพราะอยากมันจะไม่ได้ผลหรอก แต่พอภาวนาเพราะมันเป็นหน้าที่อันสมควรทำ เราเป็นชาวพุทธ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็มีหน้าที่พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาอะไรอย่างนี้ ทำสมถะ ทำวิปัสสนาอะไร มันเป็นหน้าที่ของเรา เป็นงาน เป็นกิจที่เราต้องทำ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำ แต่ไม่ได้ทำด้วยความอยาก สังเกตให้ดี ทำไปตามหน้าที่ เพราะเราเป็นพุทธบริษัท มีหน้าที่เจริญอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา เส้นทางที่พระพุทธเจ้าบอกให้เราเจริญ เราก็ทำหน้าที่ของเราไป ไม่ได้อยากว่าจะต้องได้อันโน้นได้อันนี้

ฉะนั้นทำหน้าที่ให้ถูกต้อง แล้วชีวิตจะมีความสุข อย่าว่าแต่โยมเลย ถึงพระก็เหมือนกัน อย่างบวชเข้ามา ถ้าทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ชีวิตจะมีความสุข หน้าที่ของเราก็คือปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย เพราะฉะนั้นอย่างเราบวชเข้ามา ก็รู้จักว่าเราเป็นใคร เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราเป็นพระ ก็ทำหน้าที่ที่พระควรจะทำ ต้องมีความมักน้อย มีความสันโดษ มีความฝักใฝ่ในความวิเวก ความสงบ ปรารภความเพียร นี่สิ่งเหล่านี้ต้องทำ พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาจนกระทั่งเกิดวิมุตติ เกิดวิมุตติญาณทัศนะขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เราต้องทำ โดยเฉพาะพระจะต้องทำ อย่างถ้าพระไปยุ่งกับโยม นี่ไม่ใช่หน้าที่แล้ว ผิดหน้าที่แล้ว

พระมีหน้าที่ยุ่งอยู่คนเดียว คือยุ่งกับกิเลสของเราเองเท่านั้น สู้เอา พอสู้แล้ว สิ่งที่เราได้คือความสงบสุข กระทั่งพระก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ถูกแล้วชีวิตจะสงบสุข อย่างเมื่อกี้สอนคือสอนฆราวาส ฆราวาสก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี แล้วชีวิตจะสงบสุข แล้วการภาวนาเพื่อโลกุตตรธรรมอะไรก็จะปลอดโปร่ง ใจไม่กังวล ไม่เศร้าหมอง ไม่กังวล ภาวนาง่าย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
31 กรกฎาคม 2565