จิตคือละครโรงใหญ่

ให้จิตใจมาอยู่กับตัวเอง ถ้าใจไปข้างนอกมันภาวนาไม่ได้ ทำไมเราต้องน้อมเข้ามาหาตัวเอง ต้องโอปนยิโก น้อมเข้ามา ธรรมดาของจิตมันชอบหนี หนีไปเที่ยว วิ่งไปทางตาไปดูรูป วิ่งไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจส่วนใหญ่ก็หนีไปคิด ฉะนั้นใจ จิตใจเรามันมีธรรมชาติออกนอกตลอดเวลา เมื่อจิตใจมันไปข้างนอก เรามีร่างกายเราก็ลืมร่างกาย เรามีจิตใจเราก็ลืมจิตใจของตัวเอง เมื่อเราลืมกายลืมใจ เราก็ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ความจริงของกายของใจได้ เมื่อเราเรียนรู้ความจริงของกายของใจไม่ได้ เราก็ไม่สามารถจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจ ก็ยึดเป็นตัวเรา เป็นของเราอยู่อย่างนั้น

ตราบใดที่จิตเรายังยึดถือกายนี้ใจนี้อยู่ มันหลงผิดว่านี่คือตัวเรา นี่คือตัวเรา พอร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันจะตาย มันก็กลายเป็นเราแก่ เราเจ็บ เราจะตายแล้ว จิตใจมันก็ทุรนทุราย เร่าร้อน ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ หรือเราเห็นว่าจิตใจคือตัวเรา เราก็อยากให้จิตใจนี้มีแต่ความสุข แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถสั่งจิตใจเรา ให้มีความสุขตลอดเวลาได้ พอจิตเรามันไปกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ที่ถูกใจมันก็มีความสุข ไปกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจมันก็มีความทุกข์ เราเลือกไม่ได้ว่าจะต้องกระทบแต่อารมณ์ที่ถูกใจ ฉะนั้นแล้วแต่วิบากให้ผลมา บางทีกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี บางทีก็กระทบอารมณ์ดี จิตใจเราก็แกว่งขึ้นแกว่งลงตลอดเวลา กระทบอารมณ์ดีใจก็ฟูเชียว กระทบอารมณ์ไม่ดีใจก็เดือดพล่าน หรือห่อเหี่ยวแฟบไปเลย

 

ศัตรูเบอร์หนึ่งของการปฏิบัติก็คือใจลอย

เราต้องมาเรียนรู้ให้มาก วันหนึ่งก็จะเห็นจิตก็เป็นแค่ธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ฉะนั้นจะกระทบอารมณ์ที่ดี หรือกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี จิตมันจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ฉะนั้นตอนที่เรามาภาวนา จนจิตมันไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เพราะความแปรปรวนของกาย เพราะความแปรปรวนของอารมณ์ต่างๆ อันนี้เราต้องฝึก เริ่มต้นก็ฝึกที่จะรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าเราใจลอยไปมีกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจ เราไม่สามารถจะเห็นความจริงของกายของใจได้ หลักการของมันเป็นอย่างนี้ มีเหตุมีผลทั้งสิ้นเลย ฉะนั้นศัตรูเบอร์หนึ่งของการปฏิบัติก็คือใจลอย เวลาเราใจลอยมีกายลืมกาย มีใจลืมใจ มัวแต่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสภายนอก

ครูบาอาจารย์ท่านเรียกจิตออกนอก วิ่งไปข้างนอกลืมตัวเอง ก็ไม่สามารถเห็นความจริง ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฉะนั้นจุดตั้งต้นจิตใจต้องให้อยู่กับเนื้อกับตัว อย่าให้ล่องลอยออกไป ถ้าล่องลอยไปอย่างไรก็ไม่ได้ผลหรอก ตอนหลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 ท่านสอนให้ดูจิตตัวเอง แล้วหลวงพ่อก็ภาวนา ทำใจให้สงบก่อน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ให้ใจมันสงบสบายก่อน จิตใจไม่ฟุ้งซ่านแล้วก็ลองพิจารณา ท่านให้ดูจิต จิตมันอยู่ที่ไหน จิตมันก็ต้องอยู่ในร่างกายนี้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราจะเรียนรู้อยู่ในกายนี้ ไม่ให้เกินกายออกไป เราจะไม่ไปเรียนธรรมะที่ภูเขา ที่แม่น้ำ ที่ท้องนา ที่ป่า หรือตามต้นไม้ หมู หมา กา ไก่ หรือตามศูนย์การค้า

แต่ธรรมะเราจะเรียนลงที่กายที่ใจของเรา จิตใจมันก็อยู่ในร่างกายนี้ แล้วเราต้องไม่ลืมให้จิตใจเตลิดเกินกายออกไป พยายามรู้สึกอยู่ในกายนี้ แล้ววันหนึ่งเราก็จะเห็น จิตมันเป็นคนรู้คนดู ระลึกลงในกายก็เห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ตัวจิตใจเราก็เห็นมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พอกระทบอารมณ์อย่างนี้ จิตสุขกระทบอย่างนี้ จิตทุกข์กระทบอย่างนี้ จิตโลภ โกรธหลง กระทบอย่างนี้ จิตเป็นกุศล เราเห็นจิตมันเปลี่ยนแปลงตามการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนตลอดเวลา

ลองทดลองดู อย่างไปดูหนัง ดูละคร เดี๋ยวตาเราก็มองพระเอก มองนางเอก หูเราประเดี๋ยวก็ได้ยินเสียงเขาคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วใจเราก็คิดให้ค่าตีความหมายสิ่งที่เขาพูด เราก็เกิดอารมณ์คล้อยตาม ดูละครเรื่องนี้ ตอนนี้จิตมีความสุข ตอนนี้จิตมีความทุกข์ ตอนนี้จิตมีความเศร้าโศกสงสารนางเอก เมื่อก่อนหนังไทยเขาเรียกน้ำเน่า ละครหลังข่าวมีแต่เรื่องแม่ผัว ลูกสะใภ้ เมียน้อย เมียหลวง ด่ากันกระเจิงเลย นางเอกจะมีลักษณะพิเศษ นางเอกยุคก่อน ยุคนี้ไม่เคยเห็น คือต้องโง่ โดนเขารังแกตลอดเรื่องเลย ค่อยไปชนะนาทีสุดท้ายทีเดียว จบ เราเห็นนางเอกถูกรังแกเราก็โมโห โมโหนางผู้ร้าย โทสะขึ้น พอนางเอกโดนรังแกบ่อยๆ สู้เขาไม่ได้จริงๆ คราวนี้โมโหนางเอกแล้ว อีนี่โง่ เป็นกรรมพันธุ์โง่ พอผู้ร้ายแพ้ สะใจ ดีใจ ตัวชั่วตายไปแล้ว หรือพระเอกไม่เอา ไม่เลือก ใจเราแกว่งตลอด ตาเราเห็น หูเราได้ยิน ใจเราคิด ใจเราก็แกว่งไปแกว่งมา แกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายไปเรื่อยๆ

คนทั่วๆ ไปเขาดูหนัง ดูละคร เขาก็รู้เรื่องหนัง เรื่องละคร เรานักปฏิบัติดูหนัง ดูละคร เราก็ย้อนดูตัวเอง ย้อนมาดูจิตใจของเราเอง ดูตอนนี้แล้วใจมันเศร้ารู้ว่าเศร้า ตอนนี้ใจเราสุขรู้ว่าสุข อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ ดูละครก็ภาวนาได้ หรือดูฟุตบอล เตะบอลมี 2 ข้าง ถ้าใจเราเป็นอุเบกขาไม่เข้าข้างไหนเลย ไม่สนุก มันต้องเข้าข้างใดข้างหนึ่ง แล้วก็เชียร์ หรือดูมวย แต่ก่อนหลวงพ่อเคยเห็นในโทรทัศน์ คนเชียร์มวยเต้นแร้งเต้นกา เห็นไหม เขาเห็นอะไร เขาเห็นนักมวยชกกัน แต่เขาไม่เห็นว่าตัวเองกำลังบ้าอยู่ กระโดดโลดเต้น หรือเด็กๆ เขาไปดูคอนเสิร์ต กระโดดโลดเต้นกรี๊ดๆ ร้องเหมือนผีเปรตเลย กรี๊ดๆ สะใจ เขาเห็นอะไร เขาเห็นดารา เห็นนักแสดง เขาได้ยินเสียงเพลง อยู่ในบรรยากาศที่เร้า มีคนกรี๊ดๆ ด้วยกันหลายคนยิ่งมันใหญ่

สังเกตไหมว่าคนทั่วๆ ไปมันกระทบอารมณ์แล้วใจมันก็กระเทือนเหมือนกัน กระทบอารมณ์แล้วก็สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง โลภ โกรธ หลงบ้าง เราปฏิบัติเราก็กระทบอารมณ์ เราห้ามการกระทบอารมณ์ไม่ได้หรอก พอกระทบอารมณ์แล้ว จิตใจเราก็สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง เหมือนคนธรรมดานั่นเอง แต่เราต่างกับคนทั่วๆ ไปนิดเดียวเลย คนอื่นเขาเห็นแต่รูปข้างนอก ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้คิดนึกอะไรเพลิดเพลินสนุกสนาน ของเราต่างกับเขานิดเดียว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป

เพราะฉะนั้นเราดูหนัง สมมติว่าเราต้องดูหนัง บางทีหนีไม่ได้ เมื่อก่อนหลวงพ่อเกลียดการขึ้นรถทัวร์มากเลย รถทัวร์สมัยโบราณพอขึ้นไปแล้วมันจะต้องเปิดหนัง หนังบ้าๆ บอๆ โหดร้ายทารุณ แล้วก็เปิดเสียงให้ดังสนั่นหวั่นไหวเลย เราอยากอยู่เงียบๆ อยากจะนอน อยากอะไรทำไม่ได้ เสียงดัง เราก็เห็นว่าคนเขา Alert ตื่นตัวกัน เราก็รำคาญ คนอื่นเขาดูหนังเขาอินไปกับหนัง เราดูหนังเราอ่านใจตัวเองไป ใจเราสุข ใจเราทุกข์ ใจเราดี ใจเราโลภ ใจเราโกรธ ใจเราหลง

 

น้อมเข้ามาอ่านให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง

อ่านมันไปเรื่อยๆ นี่ล่ะเรียกว่าการภาวนา การปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าไม่ดูรูป ไม่ได้ยินเสียง เราไม่ได้หูหนวกตาบอด เราก็มีหูมีตาเหมือนกับคนทั่วๆ ไป แต่คนทั่วๆ ไปเขาหลง หลงไปที่รูป หลงไปที่เสียง ออกไปข้างนอกหมด หลงไปที่กลิ่น หลงไปที่รส หลงไปสิ่งสัมผัสต่างๆ หลงไปในเรื่องราวที่คิดทางใจ ของเราก็กระทบอารมณ์เหมือนคนทั่วไปนั่นล่ะ ไม่ห้าม แต่กระทบแล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร จิตใจเราสุขเรารู้ จิตใจเราทุกข์เรารู้ จิตใจเราสงบเรารู้ จิตเราฟุ้งซ่านเรารู้ จิตโลภ โกรธ หลง เรารู้ จิตไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เราก็รู้

เราต่างกับคนธรรมดานิดเดียวเอง คนธรรมดาเขาหลงออกข้างนอกตลอด เราโอปนยิโก น้อมเข้ามาอ่านให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องยากหรอกที่เราจะรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง มันละเลยที่จะรู้เท่านั้นเอง เพราะมัวแต่สนใจของข้างนอก ถ้าเราไม่ละเลย เราคอยสังเกตจิตใจของเราไป เราเห็น กระทบอารมณ์ทีไร ก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่จิตใจทุกทีไป ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ เราจะเห็นจิตมันเปลี่ยนตลอด มันมีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของทนอยู่ไม่ได้ จิตสุขก็ทนอยู่ไม่ได้ จิตทุกข์ก็ทนอยู่ไม่ได้ บางคนบอก เอ๊ะ จิตทุกข์ไม่เห็นมันดับสักที ทำไมมันช้าเหลือเกิน ที่ช้าเพราะอยากให้มันดับ ยิ่งอยากมันก็ยิ่งทุกข์ ถ้าใจเราเป็นกลาง เป็นแค่คนรู้คนเห็น มันก็เห็นจิตที่ทุกข์มันก็ชั่วคราว มาได้มันก็ไปได้ ไม่ต้องไปเกลียดมันหรอก ยิ่งเกลียดมัน ยิ่งไล่มัน มันยิ่งไม่ไปเลย มันยิ่งทุกข์มากกว่าเก่าอีก

เพราะฉะนั้นการภาวนา อย่าออกไปข้างนอก อย่าเพลินอยู่กับโลกข้างนอก เราสามารถรับรู้โลกข้างนอกได้เหมือนคนอื่นรู้นั่นล่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรากระทบอารมณ์เหมือนที่คนธรรมดากระทบ แต่กระทบแล้วใจเรากระเทือนขึ้นมา สุข ทุกข์ ดี ชั่ว อะไรเกิดขึ้นที่จิตที่ใจ รู้ทันไป แล้วต่อไปเราก็จะเกิดปัญญา เราจะเห็นว่าจิตทุกชนิดไม่เที่ยง จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ นี้มันไม่เที่ยง จิตทุกชนิดมันทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ จิตสุขเกิดขึ้นชั่วคราวก็ถูกบีบคั้น ความสุขที่เยอะๆ ก็ค่อยลดลงๆ สุดท้ายก็หายไป ความทุกข์เองก็ทนอยู่ไม่ได้

เราทำใจเป็นกลางๆ อย่างเวลามีความทุกข์มารู้เข้าไปเลย จิตมันทุกข์ขึ้นมารู้มันไป เราจะเห็นว่าความทุกข์ก็ไม่คงที่ เดี๋ยวก็ทุกข์มาก เดี๋ยวก็ทุกข์น้อยลง เดี๋ยวก็หายไป มันถูกบีบคั้นให้ทนอยู่ไม่ได้ แล้วมันก็บังคับไม่ได้ เราจะสั่งจิตให้เรามีแต่ความสุข ห้ามจิตว่าอย่าทุกข์ เราห้ามไม่ได้ ตรงที่ห้ามไม่ได้เรียกว่าเห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นเราภาวนา อย่าให้จิตมันเตลิดเปิดเปิงออกข้างนอกไป มันกระทบอารมณ์แล้ว จิตใจเราเป็นอย่างไร รู้ทันไป รู้เรื่อยๆ ไป เดี๋ยววันหนึ่งก็เห็น จิตนี้มันไม่เที่ยง จิตนี้มันทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ จิตนี้เป็นของบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเห็นอย่างนี้มันก็จะวางจิตลงไป ถ้าวางจิตได้ก็ไม่มีอะไรให้วางอีกแล้ว ก็จบกันตรงนั้น

เพราะฉะนั้นตัวที่เราจะต้องเรียนจนกระทั่งวางได้ ก็มีกายกับใจของเรา ขยายรายละเอียดออกไปก็คือ ขันธ์ 5 ร่างกายเราก็เป็นตัวรูป ในส่วนของจิตใจก็มีเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดี ปรุงไม่ชั่ว แล้วก็วิญญาณ ความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราภาวนาเราก็จะเห็น กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เวทนาความสุขทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อนัตตาเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความจำได้หมายรู้ บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สังขาร จิตที่เป็นกุศล กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ที่เกิดขึ้น มันเกิดแล้วก็ดับๆ มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน จิตใจของเราที่ออกรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือวิญญาณ

คำว่า วิญญาณ กับ จิต คำเดียวกัน คือสิ่งเดียวกัน คือธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ แต่ถ้าไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาเรียกว่าวิญญาณ เป็นศัพท์เฉพาะ พอได้ยินคำว่าวิญญาณ ก็คือตัวที่ออกไปรับอารมณ์ภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วมีจิตออกไปรับรู้ จิตตัวที่ออกรับรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 เรียกว่าวิญญาณ จิตกับวิญญาณก็อันเดียวกัน คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หรือมีคำอีกคำ คำว่าใจ ใจคือคำว่ามโน มโนแปลว่าใจ เดี๋ยวนี้เอาคำว่ามโนมาใช้เพี้ยนไป ความหมายเพี้ยน เดี๋ยวนี้เราว่าใครเขามีมโน เป็นพวกมโน กลายเป็นคำด่าไปแล้ว พวกคิดเอาเอง

แต่มโนจริงๆ คือคำสำคัญ คือคำว่า “ใจ” ใจทำหน้าที่อะไร ใจก็คือจิต คือวิญญาณที่ทำหน้าที่รู้ธรรมารมณ์ อารมณ์ทางใจ ถ้าจิตไปรู้อารมณ์ทางใจก็มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “ใจ” เรียกว่า “มโน” ถ้ารับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมด เขาเรียกวิญญาณ เวลารู้ทางใจก็มีวิญญาณทางใจ เขาก็เรียกว่าใจเฉยๆ ก็ได้ หรือจะเรียกว่าจิตก็ได้ “จิต” “มโน” “วิญญาณ” คืออันเดียวกัน แค่ทำหน้าที่กันคนละอย่าง เราก็เรียกคนละอย่างกัน มันก็เหมือนตำรวจ ทหาร หมอ มันก็คนเหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกันเลยเรียกชื่อต่างกันเท่านั้นเอง

 

ใจลอยตัวเดียวก็คือไม่ได้ทำกรรมฐานแล้ว

เราจะค่อยเรียน ย้อนเข้ามาเรียนที่ตัวเอง ในที่สุดก็จะเห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ไปรับอารมณ์ทางตา เดี๋ยวไปรับอารมณ์ทางหู ไปรับอารมณ์ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เดี๋ยวก็ไปรับอารมณ์ทางใจ มันไม่เที่ยง แล้วจิตจะไปดู หรือจิตจะไปฟัง หรือจิตจะไปคิด เราห้ามไม่ได้ อย่างเราจะห้ามจิตว่าอย่าคิด ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มาฝึกว่าจะต้องไม่คิด เพียงแต่ว่าพอคิดไป รู้เรื่องราวที่คิดแล้ว จิตสุขให้รู้ จิตทุกข์ให้รู้ จิตเป็นกุศลให้รู้ จิตเป็นอกุศลให้รู้ ตัวนี้ต่างหากสำคัญ ไม่ใช่ไปห้ามมันคิด ห้ามไม่ได้หรอก จิตมีหน้าที่คิด

ฉะนั้นเราจะค่อยๆ เรียนลงมาในกายในใจของเรา อย่าใจลอย ถ้าเราใจลอยตัวเดียวก็คือไม่ได้ทำกรรมฐานแล้ว จิตหลงไปอยู่ข้างนอก ไปรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ภายนอก ฉะนั้นเราต้องโอปนยิโก น้อมเข้ามารู้สึกอยู่ที่ตัวเองนี้ อย่าให้ใจมันหนีไป ถ้ารู้สึกลึกซึ้งลงมาได้ถึงจิต ดีที่สุด ถ้ากำลังไม่พอ ช่วงไหนกำลังไม่พอ รู้เข้ามาถึงจิตไม่ได้ ให้รู้เข้าไปที่กาย จิตนั้นมันหนีเร็ว หนีแผล็บๆๆๆ หนีไปแล้ว แต่ร่างกายมันไม่ไปไหน มันก็นั่งอยู่อย่างนี้ มันก็หายใจอยู่อย่างนี้

ฉะนั้นช่วงไหนหาจิตไม่เจอไม่ต้องไปหามัน หาจิตไม่เจอต้องรู้สึกลงในร่างกายเลย เห็นร่างกายนั่ง เห็นร่างกายเดิน เห็นร่างกายหายใจ รู้สึกไปเรื่อยๆ พอจิตมีแรงขึ้นมา บางทีก็เกิดปัญญา เห็นความจริงของกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือบางทีจิตมันชอบเดินปัญญาด้วยการดูจิต ดูนามธรรม พอเราดูกายไปสักช่วงหนึ่งจิตมีกำลังปุ๊บ มันจะย้อนกลับไปดูจิตอัตโนมัติเลย จะเห็นเลยตอนนี้จิตสุข ตอนนี้จิตทุกข์ ตอนนี้จิตสงบ ตอนนี้จิตฟุ้งซ่าน ฉะนั้นการที่เราดูกายก็มี 2 ส่วน ดูเพื่อให้เห็นความจริงของกายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้แบบหนึ่ง อีกอันหนึ่งดูเพื่อให้เกิดสมาธิ พอเราดูกายจิตไม่วอกแวกไปที่อื่น จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวคือรู้กาย จิตก็ได้สมาธิขึ้นมา พอได้สมาธิแล้วก็ถึงขั้นเดินปัญญา จะเดินปัญญาด้วยการเห็นความจริงของกายก็ได้ หรือบางคนถนัดดูจิต พอจิตมีกำลังมันดีดตัวขึ้นไป ไปดูจิตอัตโนมัติเลย

อย่างหลวงพ่อตอนหัดใหม่ๆ ก็หัดพุทโธนี่ล่ะ หัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมันสว่างขึ้นมา แล้วทีแรกไม่รู้เรื่อง ไม่มีครูบาอาจารย์แนะนำ แล้วจิตมันสว่างขึ้นมาก็อยากเห็นอะไร อยากเห็นผี เห็นเทวดา ดูนรก ดูสวรรค์ จิตมันก็แต่งให้เราดู จริงหรือเปล่าพิสูจน์ไม่ได้ แต่มันเห็น เห็นเทวดา เห็นอย่างโน้นอย่างนี้ เทวดาก็ไม่ใช่อยู่ปราสาทยอดแหลมอย่างเดียว เทวดาอยู่ตึกก็มี เทวดาอยู่กระต๊อบก็มี เขาชอบของเขาอย่างนั้น แต่ถ้าเราดูตามฝาผนังโบสถ์ เทวดาต้องอยู่ปราสาทยอดแหลมๆ ไม่จำเป็นหรอก แล้วแต่พอใจ จิตออกไปรู้ๆๆ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เชื่อถือไม่ได้

ต่อมารู้ว่าออกไปรู้ข้างนอก ไม่เห็นเกิดประโยชน์ตรงไหนเลย ไปเห็นเทวดาเราก็อยู่กับเขาไม่ได้ เขามีอาหารกิน เราก็กินของเขาไม่ได้ เขามีสวนดอกไม้สวยๆ เราไปดูได้โฉบๆ ดูได้ ไปอยู่ตรงนั้นก็อยู่ไม่ได้ คล้ายๆ เราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี เราเป็นยาจกแล้วเราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี รู้สึกไม่มีสาระ เสียเวลา หลังจากนั้นพยายามหายใจ พอใจมันสว่างขึ้นมา มันจะพุ่งออกไปรู้โน่นรู้นี่ รู้ทัน สติรู้ทัน จิตมันไม่ไหลออกไปแล้ว พอจิตมันไม่ไหลก็สว่างเด่นดวงอยู่ มีความสุข มีปีติเกิดขึ้นมา ใจเราค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มีกำลัง ถ้าจิตเที่ยววอกแวกออกข้างนอกไป จิตจะไม่มีแรง

เพราะฉะนั้นที่เราทำสมาธิจิตมันได้กำลัง แต่ถ้าทำสมาธิแล้วก็เคลิ้มเห็นโน่นเห็นนี่ จิตไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ จะนั่งสมาธิแล้วเห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นจิตคนอื่น เห็นผี เห็นเทวดา เห็นชาตินี้ เห็นชาติหน้า เห็นอดีต ไม่ใช่ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ที่เราทำสมาธิเพื่อให้จิตมีกำลัง พอจิตมีกำลังแล้วเราก็มาเดินปัญญา ดูกายก็ได้ ดูใจก็ได้แล้วแต่ถนัด อย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ ก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ ก็พยายามหาทางที่จะปฏิบัติ ก็มาดูร่างกาย ดูไปที่ผม กำลังสมาธิมันเยอะผมหายไปเลย เห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะเปิดเลยเห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลก หัวกะโหลกหายไปเลย หัวขาดเป็นผีหัวขาดแล้ว ดูลงในร่างกายนี้ที่เหลือ เนื้อหนังอะไรก็สลายไป เหลือกระดูก ดูกระดูกๆ ระเบิดกลายเป็นกรวดเล็กๆ หล่นอยู่ ดูลงไปอีกก้อนกรวดนี้สลายตัวกลายเป็นแสง เป็นคลื่นแสง เป็นอนุภาค เป็นอะไรก็แล้วแต่เขาจะเรียก ที่เราเห็นมันมันกลายเป็นแสง สลายตัวกลืนเข้ากับจักรวาลไป เห็นอย่างนี้แล้วก็รู้สึกว่าการดูกายนี้จืดชืด ดูแล้วมันก็มาลงตรงนี้ ไม่มีอะไรให้ดูต่อ ก็เลยไม่ชอบดูกายรู้สึกดูกายนี้คับแคบ คล้ายๆ เราเป็นปลาตัวใหญ่ต้องอยู่ในตู้แคบๆ อึดอัด ไม่สนุก ไม่ชอบ

 

ดูละครในใจของเรา

ขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก ท่านพิจารณาแล้ว ท่านสอนหลวงพ่อดูจิตเลย ไม่ต้องดูกายให้ดูจิตเข้าไปเลย เราก็สนุกเลยคราวนี้ จิตนี้เปลี่ยนแปลงทั้งวัน ทีแรกไปดูจิตก็ดูไม่เป็น พยายามควบคุมจิตให้มันสงบ ให้มันนิ่ง ให้มันสว่าง ให้มันไม่คิดไม่นึกอะไร แล้วต่อมาหลวงปู่ท่านบอกว่าทำผิด จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง ไม่ใช่ไปทำมันจนไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง อันนั้นล่ะคือความปรุงแต่ง ตรงที่จะพยายามไม่แต่งนั่นล่ะคือแต่ง

“ให้ไปดู ไม่ได้ให้ไปทำ” ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็เลยดู ดูจิตเหมือนเราดูหนัง ดูหนังเราไม่ใช่คนเขียนบท บทมันมีอย่างไร ตัวละครมันก็เล่นไปอย่างนั้น เราเป็นแค่คนดู แล้วเราก็ไม่ใช่คนเล่นละคร เราไม่ต้องอิน เราเป็นแค่คนดูเฉยๆ ดูแบบคนวงนอก ดูจิตเหมือนคนวงนอกเราไม่อินกับมัน จิตดีก็ โอ๊ย ปลื้ม จิตไม่ดีก็เศร้าโศกเสียใจ จิตเป็นอย่างไรก็รู้มันไปอย่างนั้น ดูแบบคนวงนอก ไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี มันเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องไปอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี เราไม่ใช่นักวิจารณ์ ไม่ใช่คนเขียนบท ไม่ใช่ผู้แสดง ไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่นักวิจารณ์ละคร เราแค่เป็นคนดู ดูจิตแสดงละคร

จิตนี้เหมือนละครโรงใหญ่เลย แสดงแต่มันแสดงทีละตัว เราดูละครเวที บางทีมีดารามาเล่นทีหนึ่งตั้ง สิบตัว ละครเต็มเวที ดูจิตมันก็เหมือนกัน ในสภาวะอันหนึ่งๆ มีตัวละครประกอบกันจำนวนมาก แต่ตัวเดียวที่เรารู้ อย่างเราดูละครเวที ตัวแสดงสิบตัว เราไม่ได้ดูทั้งสิบตัว ตัวไหนมีบทบาทเด่นเราดูตัวนั้นใช่ไหม ตอนนี้ผู้ร้ายเด่นเราดูผู้ร้าย ไม่ได้ดูนางเอกแล้ว ตอนนี้พระเอกเด่นเราก็ดูพระเอก นางเอกเด่นเราก็ดูนางเอก ฉะนั้นเวลาดูละครเวทีถึงจะมีตัวละครเป็นสิบตัว ยิ่งถ้าเล่นโขนมีหลายสิบตัวเลย เล่นโขน พระรามก็พวกหนึ่งตั้งหลายสิบตัว พวกยักษ์ก็อีกหลายสิบตัว เต้นกันไปเต้นกันมา ถามว่าเราดูไหมไอ้ที่เต้นๆ ไม่ได้ดู เราดูหัวหน้ายักษ์ ไม่ก็ดูพระลักษณ์ พระราม ดูนางสีดา

เราจะดูตัวที่เป็นตัวที่กำลังแสดง เป็นตัวเอกขณะนั้น ไม่ใช่ตัวเอกต้องเป็นพระเอก นางเอก ตัวเอกหมายถึงตัวที่มีบทบาทหลักในขณะนั้น ดูละครเราก็ดูอย่างนี้ใช่ไหม หรือจะดูแต่นางเอกไม่คลาดสายตาเลย นั่นเขาไม่เรียกว่าดูละคร เขาเรียกพวกหื่นจะดูแต่คนสวย ดูละครเดี๋ยวก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวก็ดูตัวนี้ แต่ว่าดูได้ทีละตัว สังเกตให้ดีเราดูทีละตัวเท่านั้น ดูจิตนี้ก็เหมือนกัน ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยกัน ไม่ใช่จิตมีดวงเดียวแล้วก็มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น มันมีทั้งเวทนาก็มีอยู่ สังขารก็มี สัญญาก็มี ความจงใจ มนสิการ ความใส่ใจที่จะรู้ก็มี ความเป็นหนึ่ง รู้อารมณ์อันเดียวก็มีเรียก เอกัคคตา ความรับรู้เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่

เวลาเราดูจิตดูใจ บางทีโทสะมันแรงเราไม่เห็นจิต โทสะมันเด่น เราก็รู้ว่าจิตมีโทสะ รู้โทสะไป พอโทสะมันดับจิตมันเด่นดวงขึ้นมา เราก็รู้จิตของเรา ดูตัวที่ทำงานเป็นตัวเอก แล้วต่อไปจะค่อยๆ ลอกเปลือกมันไป ตัวนี้ตัวประกอบทั้งนั้นเลย ความสุขทุกข์เป็นตัวประกอบ กุศลอกุศลเป็นตัวประกอบ ความจำได้หมายรู้เป็นตัวประกอบ ตัวเอกคือจิต จิตก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าเราดูจิตเหมือนดูละคร บางครั้งจิตเราก็เป็นผู้ร้าย เคยไหมจิตเป็นผู้ร้าย จิตเป็นนางอิจฉาเคยไหม ยุคนี้ผู้ชายก็มีเขาเรียกเป็นนายอิจฉา จิตเป็นนายอิจฉา อิจฉาคนนั้น อิจฉาคนนี้ นี่กำลังเล่นละครอยู่

เราดูจิตใจเราเล่นละคร มันเปลี่ยนตลอดเลย เดี๋ยวตัวนี้เล่นๆ เดี๋ยวตัวอิจฉาเล่น เดี๋ยวตัวโกรธเล่น เดี๋ยวตัวรักเล่น เดี๋ยวตัวโลภเล่น เล่นหมุนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวเศร้าโศกก็เล่น เดี๋ยวตัวมีความสุขก็เล่นขึ้นมา ดูใจของเราเหมือนดูละคร ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่ต้องหา บางคนจะดูจิต เอ๊ะ จิตอยู่ตรงไหนๆ จะดูอะไรดี ตรงนั้นกำลังฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน จบแล้ว ตัวเอกในขณะนั้นก็คือฟุ้งซ่าน เอ๊ะ ตรงนี้ เอ๊ะ ที่นี่ เอ๊ะ ไอ้นี่ ตัวเอกคือตัวสงสัย สงสัยรู้ว่าสงสัย ใจดิ้นเร่าๆ อยากจะหาว่าจะดูอะไรดี ฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นดูจิตดูใจก็เหมือนดูละคร ตัวไหนมีบทบาทหลักก็ดูตัวนั้น ไม่ต้องเที่ยวหา อย่างตัวละครขึ้นมาไม่ต้องไปสอดส่อง เอ๊ะ ตัวนี้มันหายไปไหน ทำไมมันยังไม่ออกมา เสียเวลา ฟุ้งซ่านกว่าเก่า ดูละครไม่สนุก ไม่รู้เรื่อง

หลวงพ่อดูจิต หลวงปู่ดูลย์สอนดูจิต โอย มันสนุกจริงๆ เหมือนเราดูละครทั้งวันเลย แล้วตัวละครหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันขึ้นมา เดี๋ยวก็ผู้ร้าย เดี๋ยวก็พระเอก เดี๋ยวตัวดี เดี๋ยวตัวชั่ว เดี๋ยวตัวสุข เดี๋ยวตัวทุกข์ เดี๋ยวตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง อย่างบางทีใจเราก็เป็นเดรัจฉาน เล่นบทของสัตว์เดรัจฉาน จิตเรานี่ล่ะ จิตเดรัจฉานเป็นอย่างไร จิตเหม่อๆ จิตหลงๆ เหม่อเป็นไหม หลงเป็นไหม เออ ถ้าเหม่อเมื่อไรก็บอกตัวเอง อ๋อ เดรัจฉานกำลังแสดงบทบาทอยู่ สัตว์เดรัจฉานมันชอบหลง นั่งเหม่อๆ ใจลอยไป หรือบางทีจิตเราก็จมอยู่ในความทุกข์ เราก็ดู อ๋อ ตอนนี้เป็นบทของสัตว์นรกกำลังแสดงอยู่

ดูจิตดูไปเรื่อยๆ ดูละคร ละครข้างนอกก็อย่างนั้นๆ มาดูละครโรงในนี้ โรงในจิตเรานี้ สนุก เราก็จะเห็นเดี๋ยวก็เป็นสัตว์นรกไปแล้ว เศร้าโศกเสียใจ เดี๋ยวก็ขี้ขลาดตาขาว เจ้าเล่ห์แสนกล ไม่กล้าสู้ใครเขาซึ่งหน้าหรอก เล่นลับหลังอะไรอย่างนี้ เล่นทีเผลอ พวกนี้พวกอสุรกาย พวกขี้ขลาด เล่นลับหลัง อย่างพวกเล่นไสยดำ พวกนี้อสุรกาย พื้นฐานเลยก็คืออสุรกาย ลอบทำร้าย หรือบางทีจิตเราก็แสดงบทเปรต อยากโน้นอยากนี้ บางทีจิตก็อยากเอาชนะ อยากเอาชนะคนอื่น เราดูละคร ไม่ต้องไปเสียเงินดูที่อื่นหรอก ไม่เสียค่าดูด้วย ดูละครในใจของเรานี้สนุ้กสนุก

 

พอเห็นไตรลักษณ์แล้วถึงจุดหนึ่ง จิตมันจะวาง

ตั้งแต่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อให้ดูจิต อันอื่นไม่สนใจเลย รู้สึกจิตเรานี้น่าดูจริงๆ มีอะไรให้ดูได้เยอะแยะไม่รู้จักจบจักสิ้น รู้สึกเรียนรู้เท่าไรก็ยิ่งรู้ว่าไม่รู้ ยิ่งเรียนรู้ก็เหมือนกัน เอ๊ะ ไอ้นี่ก็ไม่รู้ๆ ค่อยๆ เรียนๆๆ ไป ถึงวันหนึ่งมันก็จะเห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้น เหมือนเราดูละคร พระเอกก็ไม่ใช่ของเรา นางเอกก็ไม่ใช่ของเรา ตัวไหนก็ไม่ใช่ของเราทั้งนั้น ละครภายในนี้ก็เหมือนกัน จิตจะดีจะชั่ว จะสุขจะทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นเรามาหัดดูละครภายใน แล้วสนุก

ตั้งแต่หลวงปู่สอนให้ดูจิต หลวงพ่อ โอ๊ย สนุกจังเลย จิตนี้มันวิจิตรพิสดารจริงๆ เรียนเท่าไรๆ ก็เหมือนกับเรียนแล้วไม่มีที่สิ้นสุดเลย ไอ้นี่เรียนขึ้นมา โอ้ เกิดความรู้ เดี๋ยวภาวนาไปเรื่อย เอ้า รู้เรื่องนี้อีกแล้ว ถ้าไปหลงอยู่ในความรู้ก็ใช้ไม่ได้อีก ใจจะเครียดขึ้นมา แต่ถ้าเรารู้ลงปัจจุบันไป รู้แล้ววาง รู้แล้ววางไป อย่าห่วงความรู้ อย่างเวลาเราภาวนาแล้วเกิดความรู้ความเข้าใจอะไร พอรู้แล้วก็โยนทิ้งไปเลย ไม่ต้องหวง บางทีจิตมันภาวนาแล้วมันเกิดรู้อะไรขึ้นมา แล้วพยายามจำ จำๆๆ พักเดียวใจเราจะหนักอึดเลย ภาวนาแล้วก็กลายเป็นพวกแบกตู้พระไตรปิฎก ภาวนาผิดแล้ว ภาวนาแล้วรู้เยอะเกิน

รู้ปัจจุบัน รู้แล้วก็วางเสีย ไม่ต้องไปแบกเอาไว้ เราจะค่อยๆ คลายออกๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะปิ๊งเลย จิตไม่ใช่เรา แล้วภาวนาเรื่อยๆ ไป วันหนึ่งเราจะรู้จิตมันคือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษหรอก ตรงที่มันเห็นทุกข์นั่นมันจะวาง ถ้าไม่เห็นทุกข์มันไม่วางหรอก ถ้าเราเห็นกายเป็นทุกข์ จิตก็วางกาย เห็นจิตเป็นทุกข์ มันก็วางจิต คำว่าเห็นเป็นทุกข์ๆ ไม่ใช่เห็นแค่ความทุกข์ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นล่ะ มันคืออาการของความทุกข์ทั้งหลายแหล่ ความไม่เที่ยง ก็เป็นแสดงความทุกข์ให้ดู การทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่ง นั่นก็แสดงความทุกข์ให้ดู การที่เราควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา นั่นก็เป็นความทุกข์ให้ดู คือดูไตรลักษณ์นั่นล่ะ พอเห็นไตรลักษณ์แล้วถึงจุดหนึ่ง จิตมันจะวาง

เพราะฉะนั้น อย่างพระอรหันต์ ท่านมี 3 จำพวก พวกหนึ่งบรรลุด้วยอนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีที่สังเกตเลย อันนี้เห็นอนิจจังเพราะทุกสิ่งเกิดแล้วดับหมดเลย ก็เลยไม่มีนิมิตอะไรเหลืออยู่ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ท่านเหล่านี้บรรลุพระอรหันต์เพราะเห็นอนิจจัง บางท่าน ท่านทรงฌาน จิตท่านมีความสุขมหาศาล ต่อมาท่านเห็นว่าจิตที่ว่ามีความสุข นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ก็จะวาง อันนี้เรียกว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ มันจะวางเพราะว่าเห็นทุกข์ ความสุขก็คือทุกข์ มันจะเห็นถึงขนาดนั้น แล้วถ้าบางท่านมีปัญญากล้า ท่านจะบรรลุพระอรหันต์โดยสุญญตวิโมกข์ เห็นอนัตตา

เพราะฉะนั้นเวลาเห็น จะเห็นอนิจจังก็ได้ ทุกขังก็ได้ อนัตตาก็ได้ จิตมันเห็นของมันเอง เรามีหน้าที่ดูไปเรื่อยๆ ดูสภาวะปัจจุบันไปเรื่อยๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้วใจเราเป็นอย่างไร เรารู้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเห็นมันเล่นละครทั้งวัน ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้เลย จิตทุกชนิดไม่เที่ยง จิตทุกชนิดเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นอยู่ตลอด จิตทุกชนิดเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ มันเห็นเองว่ามันจะเลือกมุมใดมุมหนึ่ง ไม่มีใครบรรลุทีเดียว 3 มุมหรอก ก็บรรลุในมุมใดมุมหนึ่ง ฉะนั้นเราภาวนา เราไม่ได้มีหน้าที่บรรลุ เรามีหน้าที่ทำเหตุ แล้วผลมันเกิดขึ้นเอง

ถ้าเราภาวนาแล้วเราอยากบรรลุเร็วๆ รู้เลยจิตกำลังแสดงบทบาทของเปรตอยู่ จิตกำลังเป็นเปรตแล้วอยากบรรลุ โลภ ดูละคร ดูละครภายในนี้ ต่อไปถึงจุดหนึ่งมันเข้าใจความจริง กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะควบคุมบังคับไม่ได้ ใจก็จะวาง พอวางแล้วคราวนี้มันวางกายได้ อะไรจะเกิดขึ้นในกาย ไม่มีความทุกข์เข้ามาถึงจิตถึงใจอีกแล้ว ถ้าวางจิตได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์อะไร จิตก็ไม่ฟูไม่แฟบ จิตก็สงบเข้าถึงสันติสุขอยู่ภายใน มีความสงบสุข สิ้นทุกข์ก็สิ้นกันตรงที่จิตหมดความปรุงแต่ง หมดความหิวโหย หมดความดิ้นรน หมดความอยาก หมดความยึดถือ

ค่อยๆ ฝึกไป ดูของจริงไป ฉะนั้นจุดตั้งต้นเลยก็คือ อย่าส่งจิตออกนอก คอยรู้สึกตัว รู้สึกกายรู้สึกใจ แล้ววันหนึ่งปัญญามันก็จะพัฒนาอย่างที่หลวงพ่อบอก แต่ถ้าจุดตั้งต้นเราทำไม่ได้ ใจเราลอยทั้งวัน คิดเรื่องคนอื่นทั้งวัน คนโน้นเขาจะคิดกับเราอย่างไร คนนี้เขาจะว่าอย่างไร ไม่เคยดูกายดูใจตัวเอง เอาดีไม่ได้หรอก เอาดีไม่ได้ วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไม่ยากนะวันนี้ง่ายๆ ง่ายไหม ฟังไม่ยากหรอกแต่ทำจริงก็ยากเหมือนกัน เพราะจิตเราชอบหนีไปเที่ยว เที่ยวไปเรื่อยๆ ฉะนั้นจิตมันเที่ยวรู้ทันมัน มันฟุ้งซ่าน รู้ๆๆ ไป ต่อไปก็เห็นกายก็ทุกข์ ใจก็ทุกข์ ไม่มีอะไร นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ก็แค่นี้เอง ก็วางแล้ว

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 กรกฎาคม 2565