ถ้าปฏิบัติถูก ตัวกูจะเล็กลง

ธรรมะที่หลวงพ่อสอนให้ฟังจาก YouTube หรือดูวิดีโอ มีวิดีโอแจก ทุกวันนี้ก็มีไลฟ์สดให้ฟัง ธรรมะเหล่านี้ถ้าเราฟังแล้วลงมือปฏิบัติจริงๆ นี่มีผลแน่นอน การปฏิบัติมีผลแน่นอนถ้าทำถูก แต่ถ้าปฏิบัติผิดก็มีผลที่ผิด เช่น สะสมมิจฉาทิฎฐิให้มากกว่าเก่า ปฏิบัติแล้วกูเก่งๆ กูรู้มากกว่าคนอื่น ปฏิบัติแล้วตัวกูเบ้อเร่อเลย อันนั้นทำผิดแน่นอน ถ้าปฏิบัติถูก ตัวกูมันจะค่อยๆ เหี่ยวเฉาเล็กลงไป เวลามันเกิดทิฏฐิมานะขึ้น กูอย่างโน้น กูอย่างนี้ สติระลึกรู้ปุ๊บ มันจะละอายแก่ใจ เวลา self เกิดขึ้นมามันจะรู้สึกละอาย มันไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจอย่างแต่ก่อนแล้ว ถ้าเราภาวนาถูก เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองเลย

แต่เดิมของที่ควรละอายมันไม่ละอาย อย่างกิเลสเป็นของที่ควรละอายเราภาวนาไม่เป็นเราไม่รู้สึกน่าละอายอะไร เวลาจะทำดี จะทำบุญ จะใส่บาตร จะฟังธรรมรู้สึกละอาย บางคนจะฟังเทศน์ต้องใส่หูฟัง กลัวคนเขาได้ยินอะไรแบบนี้ เดี๋ยวเขาหัวเราะเยาะเอาว่าหัวโบราณ

ของที่ควรละอายคือกิเลส ตัณหาทั้งหลายไม่ค่อยละอาย ของที่ไม่ควรละอายเราละอาย แต่เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ระวังเหมือนกันอย่างเราจะเดินจงกรม เราก็พยายามไม่ให้คนอื่นเขารู้หรอก หลวงพ่อใช้วิธีเดินเหมือนเดินธรรมดานี่ล่ะเดินไปวัด เดินไปอะไร กินข้าวเสร็จแล้วก็เดิน เดินไปๆ เดินไปแล้วก็เดินกลับ คนถามว่าเดินไปทำอะไรทุกวัน เดินไปไหว้พระ ถ้าเดินไปไหว้พระคนยังยอมรับได้บ้าง แค่หัวเราะว่าหัวโบราณ แต่ถ้าบอกว่าเดินจงกรมนี่มันต้องว่าเราบ้า

ยุคนี้มันยุคโลกของคนบ้า คนไหนบ้าด้วยกันก็ถือว่าเป็นคนดี คนไหนดีไม่ทำตามมาตรฐานมันก็ว่าเราบ้า ก็ข่างมัน ทางใครทางมัน เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ รู้ว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์มีคุณค่ากับตัวเราเอง เราก็ทำไม่จำเป็นต้องไปฟังเสียงคนอื่น

ทีนี้ฆราวาสส่วนใหญ่ทนกิเลสไม่ไหว วันหนึ่งๆ ฟุ้งซ่านตลอดเวลายิ่งเล่นอินเทอร์เน็ตเล่นเฟส เล่นไลน์อะไรแบบนี้โอกาสดีนี้ยากมากเลย แต่ถ้าเล่นเพื่อทำมาหากินหลวงพ่อไม่ว่าเล่นแล้วขายของได้อะไรก็ดีใจด้วย แต่ถ้าวันๆ หนึ่งหมดเวลาไปกับอินเทอร์เน็ตนั่งดูพรรคพวกเราเขาเขียนอะไร เราจะได้เข้าไปกด like กด share เขา แสดงให้เห็นความเป็นพวกเดียวกัน เวลาเราเขียนอะไรโง่ๆ เขาจะได้มา share มา like เราบ้าง ถ้าใจว่อกแว่กอย่างนี้อย่ามาคุยเรื่องภาวนาเลยเป็นไปไม่ได้

การที่จะภาวนาจริงๆ มันต้องมีความใส่ใจ ต้องใส่ใจที่จะเรียนรู้ตัวเองจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องยาก วันหนึ่งๆ เราถูกโลกดึงดูดออกไปข้างนอกเยอะมากเลย เรื่องทำมาหากินเป็นเรื่องจำเป็นแก่ชีวิตเรา เรื่องดูแลครอบครัวเป็นเรื่องจำเป็นแก่ชีวิตเรา สิ่งใดจำเป็นก็ทำ แต่ถ้าไม่มีเรื่องที่จำเป็นแล้วอย่าเอาเวลาที่เหลือไปผลาญด้วยการทิ้งไปเปล่าๆ หรือด้วยการสะสมกิเลส เล่นอินเทอร์เน็ตมันไม่ได้ผลาญเวลาเปล่าๆ มันผลาญสติ ผลาญสมาธิ ผลาญปัญญาของเราด้วย คุณงามความดีของเราจะหดหายไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นเล่นเท่าที่จำเป็น ถ้าเล่นใช้ทำมาหากินก็ทำไป อย่างนั้นหลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอกมันจำเป็น แต่เล่นเอาสนุกเอาเพลิดเพลินนี่น่าเสียดายเวลา ก็เล่นให้น้อยๆ พักผ่อนบ้างได้ไม่ใช่ว่าพักผ่อนไม่ได้เลย นักภาวนาจะต้องเคร่งเครียดอันนั้นก็ไม่ใช่ สุดโต่งไป แต่พักผ่อนจนไม่มีเวลาภาวนานี่ไม่ใช่แล้ว

 

เรียนให้รู้เรื่อง จับหลักให้แม่น แล้วหัดภาวนาไป

จุดอ่อนของฆราวาสที่สำคัญที่สุดเลย อันแรกก็คือไม่รู้วิธีปฏิบัติ อย่างได้ฟังธรรม รู้วิธีปฏิบัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมไม่ใช่ทำเหยาะๆ แหยะๆ นานๆ ทำที หรือทำแบบซังกะตาย ตรอมใจ ตั้งนาฬิกาไว้วันนี้จะนั่งสมาธิ 1 ชั่วโมง 5 นาทีก็แอบดูทีหนึ่ง 5 นาทีก็แอบดูทีหนึ่งเมื่อไหร่มันจะหมดเวลา อย่างนี้เรียกว่าภาวนาผลาญเวลาสาปแช่งให้เวลามันหมดเร็วๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ภาวนาแบบนั้นเป็น อัตตกิลมถานุโยค ทรมานตัวเองทรมานใจ

พวกเรามีไหม? เดินจงกรมอยู่แล้วชำเลืองนาฬิกาเป็นระยะๆ ว่าจะหมดหรือยัง ทำไมทำอย่างนั้นเพราะเราไม่อยากเดิน เราไม่อยากเดินแล้วไม่เดินเลย เดี๋ยวเจอหน้าหลวงพ่อแล้วมองหน้าหลวงพ่อไม่ได้ เราอับอาย หรือพรรคพวกมาถามว่านั่งสมาธิเดินจงกรมหรือเปล่า? ไม่ได้ทำเลยเดี๋ยวอับอาย เลยทำแต่ทำแบบตรอมใจ ถ้าภาวนาแบบตรอมใจยังไม่ใช่ของจริง ใจมันยังเป็น อัตตกิลมถานุโยค อยู่ มันทรมาน เดินจงกรม 5 นาทีก็ทำอัตตกิลมถานุโยค 5 นาที นั่งสมาธิครึ่งชั่วโมงก็เป็นอัตตกิลมถานุโยคครึ่งชั่วโมง

แต่ถ้าเราทำด้วยความมีสติด้วยใจที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ดู เราทำ 5 นาทีก็คือปฏิบัติ 5 นาที ทำชั่วโมงก็คือปฏิบัติชั่วโมงหนึ่ง มันอยู่ที่คุณภาพของการปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่เวลาที่ปฏิบัติ ถ้าเราทำถูกมีคุณภาพในการปฏิบัติแล้วคราวนี้ต้องทำให้มาก ทำแบบเหยาะๆ แหยะๆ ทำนิดๆ หน่อยๆ วันหนึ่งนิดๆ หน่อยๆ พอ

อย่างหัดใหม่ๆ เมื่อหลายปีก่อน หลวงพ่อบอกพวกเราว่าหลวงพ่อขอสักวันละ 15 นาทีขอน้อยมากเลย 15 นาที ทำไมหลวงพ่อไม่บอกพวกเราหลวงพ่อขอเวลาเริ่มต้น 1 ชั่วโมง พวกเราจะไม่ทำ หลวงพ่อให้ทำ 15 นาทีมันยังพอทนไหว แต่ถ้าเราทำจริงๆ 15 นาทีนานๆ ไปเราจะพบว่า 15 นาทีสั้นนิดเดียว แล้วมันจะเพิ่มเวลาได้ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้บางคนทำในรูปแบบวันหนึ่ง 3 ชั่วโมงไม่ได้รู้สึกยากลำบากอีกต่อไปแล้ว เพราะสะสมมาจากของเล็กๆ นี่ล่ะ ความดีเราสะสมไปเรื่อยๆ มันก็เป็นความดีที่ใหญ่ขึ้น ความชั่วเราสะสม ทีแรกก็ชั่วน้อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ มันก็ใหญ่ขึ้นเหมือนกัน กฎของกรรมมันก็ธรรมดายุติธรรมที่สุดแล้ว ทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น

ฉะนั้นเวลาภาวนานี่ขั้นแรกเลยเรียนให้รู้เรื่อง ฟังให้รู้เรื่อง จับหลักให้แม่นก่อน พอได้หลักแล้วอย่าคิดมาก หัดภาวนาไป ทำอะไรไม่ถูกทำสมถะไว้ก่อนครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนั้น ฉะนั้นทำอะไรไม่ได้ก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป 15-30 นาทีอะไรก็ทำไปเถอะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่างขอให้ทำ พอเราทำไปเรื่อยๆ ใจเราค่อยๆ มีพลังขึ้นมา สงบขึ้นมาถึงจุดหนึ่งใจมันจะเป็นสภาวะที่อยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมา สมาธิที่ดีมันเริ่มเกิดแล้ว ทีนี้ต่อไปเราก็ค่อยฝึกตัวเองไปหายใจไปเล่นๆ มันก็เริ่มสงบ แล้วต่อมาพอมันสงบแล้วสักพักหนึ่งมันหนีไปคิดเรื่องอื่น เราก็รู้ทันว่าตอนนี้ใจมันหนีไปแล้ว เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น

ทีแรกทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ได้ เอาที่เราถนัด จะยุบหนอพองหนอ นะมะพะทะ สัมมาอรหัง จะขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน อะไรก็ได้ไม่มีข้อจำกัดหรอกเรื่องของสมถะ แต่ทำไปบ่อยๆ พอจิตใจมันมีพลังแล้วนี่จิตใจมันจะอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ตรงนี้ต้องระวังมันมีมิจฉาสมาธิอยู่ มิจฉาสมาธิคือสมาธิที่ไม่มีสติ จะเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมดเลยถ้ามันไม่มีสติ เพราะฉะนั้นเราจะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธก็ทำด้วยความรู้สึกตัว จะบริกรรมนะมะพะทะก็ทำด้วยความรู้สึกตัวไม่ใช่ทำแล้วเมาเพลิน จะขยับมือก็รู้สึกตัวไม่ใช่ขยับแล้วก็ใจหนีไปที่อื่นยังไม่รู้เลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้มันเป็นมิจฉาสมาธิ

ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็มีสติอยู่กับกรรมฐานนั้น พอจิตมันหนีไปจากกรรมฐานคอยรู้ทันไว้ ฝึกไปนานๆ ฝึกไปแรมเดือนบางคนเป็นปี บางคนไม่กี่วันหรอกแล้วแต่ต้นทุนที่เคยสะสมมา อันนี้ยุติธรรม เราจะไปเห็นว่าคนอื่นเขาภาวนาได้เร็ว ก่อนที่เขาจะเร็วเขาช้ามาแล้วเขาสะสมของเขามาแล้ว ของเราถ้าทุกวันนี้ทำแล้วรู้สึกมันยังไม่ค่อยพัฒนา เรายังทำไม่พอ สะสมไป ชาตินี้บุญบารมีพอก็ได้มรรคผลได้โสดาบันได้อะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องยากเกินวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาๆ จะทำได้

ธรรมะของพระพุทธเจ้าพอดีกับมนุษย์ ไม่ได้ยากเกินไป แต่ถ้าทำมาหลายปีแล้วมันก็ยังไม่เป็น ทำแล้วก็ซึมๆ สงบๆ อยู่เหมือนที่ทำตอนนี้มันทำผิด (ท่านบอกพระลูกศิษย์) ทำผิดให้รู้หลักว่าทำอย่างไรถูกทำอย่างไรผิด ถ้านั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวไม่มีสติ ผิดแน่นอน นั่งสมาธิแล้วก็ใจหนีไปที่อื่นไม่มีสติ ผิดแน่นอน ฉะนั้นมีสติอยู่กับการหายใจ มีสติอยู่กับพุทโธ มีสติอยู่กับคำบริกรรมของเรา มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายอะไรแบบนี้

มีสติระลึกรู้อารมณ์เดียว อารมณ์กรรมฐานอันเดียวอย่างต่อเนื่องรู้ไปเรื่อยๆ แล้วใจมันจะเริ่มมีพลังขึ้น จะเริ่มมีพลัง พอใจมันมีพลัง มันจะมีอาการเหมือนใจเรามันจะเด่นดวงขึ้นมามันลอยตัวขึ้นมา มันเด่นดวงสว่างไสวรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาโดยไม่ได้เจตนา เรารู้เนื้อรู้ตัวขึ้นโดยไม่เจตนา

แต่ก่อนจะถึงตรงนี้เจตนาปฏิบัติก่อน แล้วก็มีสติอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราไปเรื่อยๆ สติเราดีสมาธิมันจะเกิด นี้สมาธิที่เกิดจากการมีสติอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันเดียวนี้ เป็นสมาธิชนิดสงบจะเป็นอารัมมณูปนิชฌาน จิตมันจะทรงพลังขึ้นมา พอจิตมันทรงพลังขึ้นมามันจะคล้ายๆ มันจะยกตัวขึ้นมา ในที่สุดมันก็กลายเป็นคนดูนะกลายเป็นคนดู หรือว่าต่อไปเวลาเราทำกรรมฐานหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรอย่างนี้ พอจิตมันมีพลังขึ้น สติมันจะรู้ทัน พอจิตมันมีพลังขึ้นแล้วสติมันจะดีขึ้นด้วย จิตมันแอบไปคิดเรื่องอื่นปุ๊บ ลืมหายใจเข้าพุทลืมหายใจออกโธ สติจะรู้ได้อย่างรวดเร็ว แล้วตรงที่สติรู้ทันจิตที่เคลื่อนไปนั้น จิตชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้น

ในความเป็นจริงแล้วไม่เฉพาะการรู้จิตที่เคลื่อน ที่จะทำให้เกิดตัวจิตผู้รู้ขึ้น ถ้าเมื่อไรเรารู้สภาวธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจิตผู้รู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่บางคนบอกว่ารู้สภาวะ รู้สภาวะแต่ไม่ได้รู้จริง อย่างเห็นท้องพองเห็นท้องยุบบอกรู้สภาวะ แล้วก็บริกรรมไปเรื่อยพองหนอยุบหนออะไรแบบนี้ อันนั้นยังไม่ได้เห็นสภาวะ อันนั้นคิดเรื่องสภาวะ ถ้าเห็นสภาวะจริงๆ จิตต้องตั้งมั่น จิตต้องมีพลังก่อนมีความสงบอยู่ในตัว แล้วมีอะไรแปลกปลอมเข้าในกาย สติระลึกรู้ สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในกายมันจะเป็นสภาวะ สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิตมันจะเป็นสภาวะ เราจะคอยรู้ตรงนี้

ทันทีที่เรารู้สภาวะเช่นความโกรธผุดขึ้นมาในใจโดยที่เราไม่ได้เจตนาจะโกรธ แล้วไม่ได้เจตนาจะรู้ว่าโกรธความโกรธมันผุดขึ้นมา หรือความโลภมันเกิดขึ้นมาผุดขึ้นมา เราไม่ได้เจตนาจะให้ความโลภผุดขึ้นมา เราไม่ได้เจตนาจะรู้ว่าความโลภผุดขึ้นมา ไม่มีเจตนาแต่พอจิตเรามีพลัง พอความโลภความโกรธผุดขึ้นมา สติจะระลึกได้เอง ตรงสติระลึกรู้สภาวะได้นี่ตัวรู้จะเกิดขึ้น จิตชนิดสมาธิชนิดตั้งมั่น จิตที่มีสมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

หัดทำกรรมฐานที่เราถนัด ไม่เปลี่ยนกรรมฐานบ่อยๆ

ฉะนั้นเบื้องต้นนะพวกเราไปหัดทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เอาที่เราถนัดแต่อย่าเปลี่ยนบ่อย ตอนเช้าหายใจกลางวันทำอีกอย่างกลางคืนทำอีกอย่าง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำไม่ได้ดีหรอก จิตใจมันถ้าเป็นนิสัยทางโลกเขาเรียกจับจด จะทำอันนี้เดี๋ยวก็ทำประเดี๋ยวเดียวก็เลิก เดี๋ยวทำอันนี้เดี๋ยวก็เลิกอย่างนี้

มันเหมือนเด็กยุคนี้ จบมหาวิทยาลัยมาเดี๋ยวก็ไปสมัครงานที่นี่เรียกเงินเดือนสูงๆ เอาเขารับเข้ามาทำทำไม่กี่วันถูกดุว่าทำงานไม่เป็น ลาออกไปย้ายบริษัท ย้ายไปเรื่อยๆ ปีหนึ่งย้ายตั้ง 10 ครั้ง 20 ครั้ง พวกนี้ไม่มีวันเก่งเพราะว่าจับหลักในการทำงานไม่เป็น ถ้าอดทนนไปสมัครงานลองทำงานดูให้มันเข้าใจในงานที่ตัวเองทำ เข้าใจแล้วรู้สึกไม่ชอบอะไรแบบนี้ก็เปลี่ยน แต่ไม่ใช่ เข้าไปวันสองวันก็เปลี่ยนแล้วบอกว่าตกงาน อันนั้นไม่ใช่คนตกงาน เราต้องแยกให้ออกระหว่างคนตกงานกับคนไม่ทำงาน คนตกงานคืออยากทำงานแต่ไม่ได้ทำงาน คนไม่ทำงานคือมีงานกูก็ไม่ทำ เมืองไทยเต็มไปหมดเลย ที่ว่าตกงานเยอะๆ มันไม่ยอมทำงาน ถ้าคนไทยทำงานคงไม่ต้องไปจ้างต่างด้าวมาทำหรอก นี่ต้องขนต่างด้าวมาทำเป็นแสนเป็นล้านเพราะคนไทยไม่ยอมทำงาน นี้เราชอบพูดบอกว่าไม่มีงานทำ จริงๆ ไม่ได้อยากทำอยากได้เงินเดือนเยอะๆ เฉยๆ อย่างนี้จับจด ไม่มีวันเก่ง ถ้าหลวงพ่อเป็นเจ้าของบริษัทแล้วคนมาสัมภาษณ์งาน หลวงพ่อไหนขอดูประสบการณ์ซิ นี่มีเยอะเลย 1 ปีนี้ทำงานมา 20 แห่งประสบการณ์สูง คืนไปเลย ไม่มีประสบการณ์หรอก มีแต่ความสำส่อน มีแต่ความโลเล

กรรมฐานนี้ก็เหมือนกัน เปลี่ยนกรรมฐานตลอดเวลาเลยก็เหมือนคนสำส่อน คนมักง่ายคนโลเล คล้ายๆ คนเปลี่ยนงานบ่อยจับหลักไม่ได้สักที ฉะนั้นกรรมฐานเราไม่เปลี่ยนบ่อย สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ดีก็ช่าง ร้ายก็ช่างจะทำแล้ว อย่างหลวงพ่อเวลาทำสมาธิมาแต่เด็ก หลวงพ่อฝึกอานาปานสติ เพราะท่านพ่อลีท่านสอนมาตอนเด็กๆ เราไม่รู้หรอกกรรมฐานอื่นเป็นอย่างไร ท่านพ่อลีสอนอานาปานสติมาก็มาทำหายใจเข้าพุทหายใจออกโธนับหนึ่งด้วย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับสองอะไรอย่างนี้ ท่านสอนให้นับถึง 10 แล้วก็ 9 8 7 อะไรแบบนี้ หลวงพ่อทำไม่เป็นหลวงพ่อนับถึง 10 แล้วก็ต่อ 11 12 ไปถึง 100 แล้วก็เริ่ม 1 ใหม่ ทำไปโดยไม่ได้ใส่ใจว่าทำแล้วจะได้อะไร

ครูบาอาจารย์บอกให้อยู่กับกรรมฐานอยู่กับลมหายใจนี่ล่ะ กับอยู่กับพุทโธนี่ล่ะ ก็เชื่อท่านรักท่าน ดูท่านน่ารัก ท่านสงบ ท่านสบาย ท่านใจดีเราก็อยากดีอย่างท่านบ้าง ท่านสอนหายใจสอนอานาปานสติสอนพุทโธมาเราก็มาทำ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่างไม่ได้คิดว่าทำแล้วจะได้อะไร ตอนทำทีแรกไม่ได้เคยคิดเลยว่าทำแล้วจะได้อะไร คิดแค่ว่าจะทำเท่านั้นเอง ฉะนั้นหลวงพ่อหายใจอยู่ไม่กี่วัน พุทโธก็หายไป ทีแรกการนับหายไปก่อน พอจิตสงบมากขึ้นการนับก็หายไป จิตสงบมากขึ้นพุทโธหายไปเหลือแต่หายใจ จิตสงบมากขึ้นลมหายใจหายไปเหลือแต่แสงสว่าง ก็ใช้แสงสว่างเป็นนิมิตแทนลมหายใจแล้ว นี่ฝึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง ใจมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่ฝึกมาง่ายๆ อย่างนี้เองแต่ว่าทำไปโดยที่ไม่ได้หวังผล ไม่ได้หวังว่าหายใจแล้วต้องดีต้องสุขต้องสงบอันนั้นตื้นไป ทำด้วยความโลภ

ลองปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าสิไม่โลภ เราจะนั่งหายใจชั่วโมงหนึ่งถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ดีกว่าเอาดอกไม้มาบูชาอีก บูชาด้วยลมหายใจของตัวเอง หายใจไปนึกถึงพระพุทธเจ้าไปพุทโธๆ ไป ถือว่าเรากำลังบูชาพระอยู่ ไม่ได้หวังว่าจะเอาอะไร พอเราไม่หวัง ไม่นานเลยจิตจะสงบจิตจะมีสมาธิมีพลังขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นมีพลังขึ้นมาเด่นดวงขึ้นมาแล้ว บางทีก้าวไปถึงจิตตั้งมั่นเลยไม่ใช่แค่จิตสงบ

หลวงพ่อฝึกทำอานาปานสติจนสุดท้ายได้จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา อยู่ในโลกธรรมดานี่ล่ะจิตมันตั้งมั่น แต่ตอนเด็กๆ ยังดูไม่เป็น เราก็คิดว่าคนอื่นเขาก็เหมือนเราทุกคน โตขึ้นมาภาวนาขึ้นมาแล้วถึงรู้ว่าในโลกนี้หาคนที่รู้สึกตัวได้หายากเต็มที ตอนที่หลวงพ่อเข้าไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์เรียนอยู่ 7 เดือนหลวงปู่รับรองว่าช่วยตัวเองได้แล้ว พอท่านรับรองว่าช่วยตัวเองได้แล้วไม่หลงทางแล้ว หลวงพ่อออกไปดูสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ ออกไปหลายสาย ไม่ใช่เฉพาะสายวัดป่าออกไปดูเขาภาวนากัน ก็ดูบางที่ครูบาอาจารย์ท่านก็ดีลูกศิษย์ที่ท่านสอนไว้ดีมีบางวัดบางแห่ง บางที่ครูบาอาจารย์ดีลูกศิษย์ทำไม่เป็นนี่ก็เยอะ บางที่อาจารย์ก็ไม่เป็นลูกศิษย์ก็ไม่เป็นอย่างนี้ก็มี เที่ยวตระเวนไปดูเรื่อยๆ ไป

บางครั้งไปอยู่ตามวัดครูบาอาจารย์ท่านดีเลิศเลย หลวงพ่อก็ไปภาวนาตกกลางคืนเห็นเขานั่งสมาธิในโบสถ์มาเดินจงกรมอยู่รอบๆ โบสถ์ อยู่กันหลายร้อยอยู่กันเยอะแยะไปหมดเลยตั้งอกตั้งใจภาวนากันมากเลย หลวงพ่อไปเดินดูชะโงกไปดูในโบสถ์ไม่เห็นมีใครภาวนาเลยมีคนอยู่ 2-3 จำพวก จำพวกที่หนึ่ง นั่งหลับไปแล้วหายใจ 2-3 ทีก็หลับไปแล้วไม่ได้มีสติ จำพวกหนึ่งเคร่งเครียดนั่งแล้วเพ่งเครียดไปหมดเลยพวกนี้ อัตตกิลมถานุโยค พวกหนึ่งนั่งแล้วก็ใจลอย กามสุขัลลิกานุโยค ออกมานอกโบสถ์มาดูรอบๆ เดินจงกรมกัน นั่งสมาธิตามต้นไม้ตามอะไร ในใจก็นึก ‘เออ ที่นี่ไม่เห็นมีใครปฏิบัติเลย’ นึกในใจที่นี่ไม่เห็นมีใครเขาปฏิบัติเลย แล้วก็แยกตัวออกไปปฏิบัติของเราคนเดียว

เช้าขึ้นมาตามคุณป้าท่านหนึ่งเข้าไปหาหลวงปู่ครูบาอาจารย์เข้าไปกราบท่าน ท่านเห็นหน้าท่านยิ้มๆ แล้วท่านก็พูดของท่านเอง วัดนี้เขาไม่ปฏิบัติกันแล้วล่ะ หลวงพ่ออายซะหน้าชาเลย สติปัญญามันเกิด ตอนที่เราไปเที่ยวดูเขาว่าเขาไม่ปฏิบัติขณะนั้นเราก็ไม่ได้ปฏิบัติ แล้วเราก็ไปนึกที่นี่ไม่เห็นมีใครเขาปฏิบัติเลย ก็รวมทั้งเราด้วยเราก็ไม่ได้ปฏิบัติ นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอน สอนเราฟังแล้วเราสะเทือนเข้าถึงใจเลย เรามัวแต่ไปเพ่งโทษของคนอื่นเราไม่เห็นโทษของตัวเอง เราก็ห่วยแตกยิ่งกว่าเขาอีก เขาไม่รู้หลักเรารู้หลักเรายังแทนที่จะปฏิบัติของเรา กลับไปสนใจคนอื่นเขา

 

ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า

พยายามฝึกตัวเอง ค่อยๆ ฝึกไป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ทำไปให้มันสม่ำเสมอ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่างดีก็ช่างร้ายก็ช่าง ถือว่าปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าเช่น หายใจเข้าหายใจออกถือว่าบูชาพระพุทธเจ้าอานิสงส์มากนะบูชาอย่างนี้ ยิ่งกว่าบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนอีก เหมือนอย่างเทวทัต เทวทัตทำความผิดมาตลอดชีวิตเลยทำอนันตริยกรรม 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งทำพระพุทธเจ้าห้อเลือด อีกครั้งหนึ่งทำสงฆ์แตกแยก ฉะนั้นทำอนันตริยกรรมไว้ตั้ง 2 รอบ ตอนที่ใกล้จะตายที่แผ่นดินดูดลงไป เหลือแต่หัวโผล่ขึ้นมาหน่อยกำลังจะจมแล้ว คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าขึ้นมา เอาลูกคางวางบนพื้นดินขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกระดูกลูกคางนี้ เพราะมือไหว้ไม่ได้แล้วมือถูกดูดไปแล้ว ขยับหัวได้แค่นี้ขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกระดูกลูกคางนี้ เอาลูกคางแตะแผ่นดินบูชา มีอานิสงส์ใหญ่

ขณะนั้นตายไปกรรมชั่วที่ทำนี้มันแรงให้ผลตกนรกอเวจี พวกเรายุคนี้ก็ไหว้ชูชกกัน เขายังไม่ได้ขึ้นมาช่วยเราหรอกยังอยู่อีกนาน แต่อานิสงส์ที่เขาสร้างความดีของเขามาเนิ่นนาน บวกกับอานิสงส์ครั้งสุดท้ายที่บูชาพระพุทธเจ้าด้วยกระดูกลูกคางนี้ พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าต่อไปจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ท่านให้คำพยากรณ์ถึงขนาดนี้

เราก็ไม่ต้องเอาอย่างเทวทัต ลงนอนแล้วก็เอาคางเกยพื้นขอบูชาด้วยกระดูกลูกคาง อย่างนั้นมันเสแสร้ง เราก็บูชาด้วยการเดินจงกรม บูชาด้วยการหายใจ หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ นึกถึงพระพุทธเจ้าไปมันมีอานิสงส์ในตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ จิตใจที่เคยฟุ้งซ่านก็สงบเข้ามา จิตใจที่สงบเข้ามาแล้วก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เวลามันลืมพุทโธสติก็ระลึกได้เร็ว ตรงลืมพุทโธไปลืมหายใจไปคิดเรื่องอื่น สติจะระลึกอย่างรวดเร็วพอสติเกิดรู้ทันสภาวะแห่งความหลง สัมมาสมาธิ คือสมาธิชนิดจิตตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ สมาธิทีแรกที่เราฝึก เราฝึกทำกรรมฐานมาจนกระทั่งมีความสงบ มีความรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาแล้ว ต่อไปพอเกิดอะไรขึ้นในกายมีสติรู้ทัน เกิดอะไรขึ้นในจิตมีสติรู้ทัน สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นเอง

ที่จริงถ้าฝึกสมถะกรรมฐานดีๆ ก็ได้สมาธิชนิดตั้งมั่นได้เหมือนกัน อย่างถ้าเราทำอานาปานสติจนกระทั่งกลายเป็นแสงสว่างเรารู้แสงสว่างจนกระทั่งชำนาญ กำหนดเล็กก็ได้ใหญ่ก็ได้ จิตมีความสนุกสนานมีปีติมีความสุขขึ้นมามีความเป็นหนึ่งขึ้นมา เราเข้าปฐมฌาน ต่อมาสติปัญญามันรู้ทันว่า การที่ไปกำหนดรู้อยู่ที่แสงสว่างนี่เป็นการตรึกอยู่ที่แสงสว่างเป็นการเคล้าเคลีย คือการตรองอยู่ที่แสงสว่างเรียกว่ามีวิตกวิจารอยู่กับแสงสว่าง พอรู้อย่างนี้จิตวางแสงสว่างทวนกระแสเข้ามาที่ตัวผู้รู้

เพราะฉะนั้นในฌานที่ 2 ถ้าเราทำตามรูปแบบในฌานที่ 2 เราจะเกิดตัวผู้รู้ขึ้นมา ในพระไตรปิฎกเรียกว่า เอโกทิภาวะ พวกที่เรียนแต่ปริยัติไม่เข้าใจก็เปิดอรรถกถาดู เอโกทิภาวะ ก็คือ เอกัคคตาเจตสิก มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับเอกัคคตาเจตสิกตัวอื่นๆ ที่แท้แล้ว เอโกทิภาวะ สำหรับนักปฏิบัติมันก็คือสภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วพอได้ตัวนี้แล้วถ้าเราออกจากฌานมา หรือเราเข้าฌานสูงขึ้นไปเอโกทิภาวะยังอยู่ พอออกจากสมาธิมาแล้วเอโกทิภาวะยังทรงตัวอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน ไม่เหมือนอย่างเราหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ สภาวะที่เป็น 1 เกิดชั่วขณะเท่านั้นเอง

ฉะนั้นอย่างถ้าเราทำในรูปแบบเต็มที่มา เราได้จิตผู้รู้ที่มีกำลังแก่กล้าอยู่ได้นาน มีเวลาเจริญปัญญาได้นาน แต่ถ้ามีสมาธิทีละขณะๆ สะสมกันนาน นานๆ จะเกิดปัญญาทีหนึ่ง เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูก เรียกว่าปัญญา ค่อยๆ ฝึกค่อยๆ สะสม ทุกวันต้องปฏิบัติอย่าเอาเวลาเหลวไหลทำอะไรเล่นๆ สิ้นเปลืองเวลา อยู่ไปจนแก่จนเฒ่าหาสาระแก่นสารให้ตัวเองไม่ได้น่าสงสารที่สุดเลย พยายามฝึกเข้า

 

 

คำถาม 1: มั่นใจว่าจิตไม่เพ่งแล้ว ถ้าประคองรู้ทันได้เรื่อยๆ ช่วง 6 เดือนมีปัญหาเจ็บหัวเข่าเดินจงกรมได้แบบก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าวถอยหลัง 2 ก้าว พักหลังมีรู้ลมเพิ่ม รู้สึกชอบเห็นขันธ์ทำงานได้ชัด อยากให้หลวงพ่อชี้แนะว่าผิดตรงไหนคะ

หลวงพ่อ: ภาวนาดีแล้วแต่ตอนนี้ตื่นเต้นเลยเพ่งเอาไว้ จิตมีกำลังมากขึ้นแล้วรู้ตัวไหม? เออใช่ จิตมีกำลังขึ้นแล้ว เราก็ภาวนาของเราต่อไปเดินปัญญา ดูลงไปร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา สังเกตุ ไม่ได้ดูอย่างนั้นดูด้วยความรู้สึก ไม่ได้เอาตาไปดู ดูด้วยความรู้สึกพยักหน้ารู้สึกไหม? เห็นไหมตัวที่พยักหน้านี่มันถูกรู้ถูกดู เห็นไหมตัวที่ถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา ดูอย่างนี้ ไม่ใช่บอกให้ดูกาย จ้องลงไปอย่างนี้ อันนี้ไม่มีสมาธิแล้ว จิตไหลลงไปแล้ว

จิตต้องตั้งมั่นเป็นคนดูอยู่แล้วระลึกรู้ลงในกาย ไม่ใช่ไปเพ่งกาย ถ้าระลึกรู้ลงไปในกายเห็นกายนี้ของถูกรู้ถูกดู กายนี้ไม่ใช่เรา หรือจิตตั้งมั่นอยู่จิตแอบไปคิดมีความฟุ้งซ่านคือแอบไปคิด มีสติรู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาใหม่อย่างนี้เป็นการเดินปัญญา ไม่ใช่บอกให้ดูจิตก็จ้องลงไปแบบนี้ใช้ไม่ได้ บอกให้ดูกายก็จ้องแบบนี้ไปไม่ได้ใช้ไม่ได้ ไปพัฒนาการเดินปัญญา สมาธิดีขึ้นแล้ว ต่อไปก็ฝึกเดินปัญญาให้ชำนิชำนาญขึ้น

 

คำถาม 2: หนูใช้ลมหายใจเป็นกรรมฐานยังเพ่งอยู่เรื่อยๆ ค่ะ แล้วก็ฟุ้งไปด้วย บางทีส่วนใหญ่รู้สึกแน่นๆ เป็นก้อนในลำคอ ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำค่ะ

หลวงพ่อ: แน่นเป็นผลจากการเพ่ง การเพ่งเป็นผลจากความโลภอยากปฏิบัติ พออยากปฏิบัติก็เพ่ง พอเพ่งก็อึดอัดให้เรารู้ต้นทาง มันอึดอัดอย่าไปคิดแก้มันให้รู้ทันว่าตอนนี้มันไปเพ่งอยู่ พอรู้ว่าเพ่งอยู่อยากหายเพ่งอีกแล้วรู้ว่าอยาก พอใจไม่อยาก ใจเป็นกลาง อาการที่แน่นๆ จะค่อยๆ ลดลง ไม่หายทันทีเพราะมันเป็นวิบากไปแล้วมันไม่ใช่ตัวกิเลส กิเลสนี่ถ้าเรามีสติรู้ปุ๊บดับทันที แต่ตัววิบากนี่ต้องชดใช้ต้องใช้หนี้

ฉะนั้นถ้าเราเพ่งจนแน่น บางคนใช้หนี้ต้องเป็นเดือนเลยกว่าจะหาย หรือบางพระมีพระเล่าให้ฟัง นั่งดูใจมันเครียดอยู่นั้นล่ะ อยู่ๆ มันระเบิดขึ้นมามันเหมือนภูเขาไฟระเบิด ความร้อนก็พุ่งออกมาโครมๆ เลย อันนี้เพราะสะสมไว้เยอะจะไปนั่งดูให้หายร้อนนี่ไม่ได้ อันนี้เป็นวิบากอย่าทำกรรมใหม่ก็แล้วกัน

ฉะนั้นรู้ทันจิตใจตัวเองไป การเดินปัญญายังไม่ชำนาญ สมาธิยังเพ่งบ้าง เผลอบ้างอยู่ ทำต่อ แต่ทำอย่างมีหลักไม่ใช่ทำเพื่อสุข เพื่อสงบ เพื่อดี ทำไปเพื่อความรู้เนื้อรู้ตัวให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว พอใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วมันจะเห็นเลย ร่างกายก็ถูกรู้ ใจเป็นคนรู้ ความสุขความทุกข์ก็ถูกรู้ใจเป็นคนรู้มันเห็นเอง แล้วต่อไปปัญญามันก็เกิดกายนี้ไม่ใช่เรา จิตใจนี้ไม่ใช่เรา อะไรๆ ก็ไม่ใช่เรา ตัวนี้เป็นตัวปัญญาชั้นเลิศเลย ก็มาเริ่มต้นมันมาจากฝึกสมาธิอย่างนี้ แล้วค่อยๆ ต่อยอดไป จิตยังฟุ้งซ่านอยู่รู้สึกไหม? ฟุ้งเก่ง เพราะฉะนั้นถ้ามันฟุ้งมากก็พุทโธถี่ๆ ไว้ ถ้ามันฟุ้งน้อยก็พุทโธห่างๆ ไว้เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ได้ แต่ถ้ามันฟุ้งจริงๆ ทิ้งลมหายใจไปก่อนก็ได้มาท่องพุทโธเร็วๆ พุทโธๆๆๆๆ อย่างนี้ไม่ให้มีช่องโหว่ที่จะหลงไปคิด อันนี้ทำให้ใจเราเชื่องขึ้น แต่ทีแรกก็เหนื่อยหน่อยยอมเอา แล้วพอใจมันเริ่มสงบเราก็พุทโธช้าๆ พอใจมันฟุ้งซ่านเราก็พุทโธเร็วๆ ปรับกรรมฐานของเราขึ้นๆ ลงๆ ตามสถานการณ์

 

คำถาม 3: สมัยก่อนพบหลวงพ่อ โยมปฏิบัติด้วยการทำอานาปานสติ กำหนดพุทโธไม่เคยดูจิต หลังจากฟังหลวงพ่อแล้วจึงหันมาดูจิตพบว่าจิตชอบไหลไปคิดมีโทสะ ได้เคยมีโอกาสนั่งสมาธิ 2-3 ชั่วโมงพบว่าเมื่อเกิดกายเวทนาความคิดฟุ้งซ่านน้อยลง แต่กลับเห็นความเจ็บแทน ทำแบบนี้ใช่วิธีที่ควรทำหรือไม่คะ? อยากขอคำแนะนำจากหลวงพ่อถึงวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับโยมด้วยค่ะ กราบขอบคุณหลวงพ่อที่ทำให้โยมได้เห็นวิธีปฏิบัติที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ปฏิบัติถูกแล้ว แต่เราไม่ทิ้งลมหายใจ ไม่ทิ้งพุทโธ หลวงพ่อเคยพลาดหลวงพ่อทำอานาปานสติบวกกับพุทโธตั้งแต่เด็ก 7 ขวบแล้วมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาได้แต่ของเล่น เล่นโน่นเล่นนี่เสียเวลามากเลย มาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิตที่มันเกิดดับเปลี่ยนแปลง มันเดินปัญญารวดไปเลย กำลังของสมาธิ 22 ปีนี่ใช้เดินปัญญาได้ปีกว่าๆ แล้วมันก็หมดพลัง หมดพลัง ได้ประมาณ 2 ปี เลยตอนหลังจับหลักได้ว่าอย่างไรเราก็อย่าไปทิ้งสมาธิ

ทุกวันแบ่งเวลาไว้เลยหายใจเข้าพุทหายใจออกโธ ทำไป แต่ว่าพอจิตใจมันสงบมีเรี่ยวมีแรงแล้ว อย่าอยู่เฉยแค่นั้นมันโง่ ออกมาเดินปัญญา เดินปัญญาอะไรไม่เป็นดูกายไปก่อนก็ได้ เห็นร่างกายมันหายใจไม่ใช่เราหายใจ อย่างนี้ก็ยังใช้ได้ถือว่าเริ่มเดินปัญญาแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ขันธ์มันแยกได้อย่างนี้เรียกว่าเราเดินปัญญาแล้วเป็นปัญญาขั้นต้นๆ หรือเห็นกิเลสมันมากิเลสมันไป กิเลสเกิดแล้วกิเลสก็ดับ นี้ก็เป็นปัญญาเห็นไตรลักษณ์เห็นเกิดดับได้ เพราะฉะนั้นสงบแล้วก็อย่าสงบเฉยๆ รีบเดินปัญญาไป

เดินปัญญาก็อย่าโลภใช้ความสังเกตุ ไม่ใช้การคิด ใช้การสังเกตเอาร่างกายนี้ของถูกรู้ สังเกตุออกไหม? ร่างกายเป็นของถูกรู้ ลองพยักหน้าซิ รู้สึกไหมร่างกายที่พยักหน้ามันถูกรู้ นี่รู้ด้วยใจที่ปกติ ความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นก็เป็นของถูกรู้รู้ด้วยใจปกติ ใจปกติเลยสำคัญที่สุดมันคือจิตผู้รู้นั่นเองใจปกตินี่ นี่ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สมาธิเราก็จะดีปัญญาเราก็จะดี งงหรือเปล่า ใช้วิธีพยักหน้าหรือส่ายหน้าซิ ไม่งงนะ หลงไปคิดหรือเปล่า เออ ตอบถูกใช้ได้

ฝึก ที่ฝึกมาใช้ได้แต่พลังของสมาธิยังไม่พอ จิตมันยังกว้างๆ ออกข้างนอกไป ยังรู้แล้วกว้างๆ สบายๆ ไปให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวจริงๆ แต่อย่าดึงมัน แค่รู้ว่าตอนนี้จิตมันกว้างไปแล้วทำกรรมฐานของเราไป หายใจไปพุทโธไปโดยรู้เท่าทันว่าจิตมันกว้างๆ ออกข้างนอกไป เดี๋ยวมันกลับเข้ามาเอง แล้วมันจะได้สมาธิที่ดี ตอนนี้สมาธิยังไม่พอ ใจมันไม่ค่อยมีแรง นี่หายใจไปด้วยใจสบายๆ หายใจไปพุทโธไปอย่างสบายๆ หลงไปคิดก็รู้ว่าหลงไปคิด จิตไหลไปเพ่งลมหายใจรู้ว่าจิตไหลไปเพ่ง นี่หายใจไปแล้วรู้ทันจิต เออ แต่ไม่ได้มุ่งที่ความสงบน่ะมันสงบเอง ไปทำเอาสงสัยก็รู้ว่าสงสัย

 

คำถาม 4: เป็นคนฟุ้งซ่านง่ายเวลาทำในรูปแบบคือนั่งภาวนาดูลมหายใจพุทโธ จิตชอบเข้าไปแทรกแซง ทำให้การดูลมหรือการภาวนาไม่เป็นปกติ ต้องกลับมาทำแค่ความรู้สึกตัวเท่านั้น ขอความเมตตาหลวงพ่อแนะนำวิหารธรรมที่ถูกกับจริตด้วยครับ

หลวงพ่อ: เอาตัวเราเป็นวิหารธรรม ทั้งตัวนี่ ตัวนี้พยักหน้ารู้ ตัวนี้นั่งอยู่รู้ ตัวนี้หายใจรู้ รู้มันทั้งตัวนี่ล่ะ รู้มันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตมันจะได้มีพลังมากกว่านี้ ที่ฝึกอยู่ก็ใช้ได้นะ ฝึกอยู่ดีขึ้นตั้งเยอะแล้ว เราก็นี่รู้สึกกายทั้งกาย กายยืน กายเดิน กายนั่ง กายนอน กายเหลียวซ้าย กายแลขวา กายหายใจออก กายหายใจเข้า กายกินอาหาร กายขับถ่าย นี่ค่อยฝึกรู้อยู่ในกายไปรู้อย่างสบายๆ ไป จิตมันจะมีพลังขึ้นเอง มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งคือหลวงพ่อพุธท่านชอบสอนยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ท่านชอบสอนอยู่อย่างนี้ท่านสอนให้มีสติจริงๆ อะไรเป็นคนยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด ร่างกาย อะไรเป็นคนคิดใจเป็นคนคิด มีสติรู้เท่าทันไปเรื่อยๆ สบายๆ ใจก็จะค่อยมีสมาธิสงบ แล้วก็ฉลาด ค่อยๆ สะสมของมันไป

 

คำถาม 5: ปกติภาวนาในรูปแบบทุกวัน วันละ 30 นาที ช่วงเข้าพรรษาเพิ่มการภาวนาในรูปแบบเป็นวันละ 1 ชั่วโมงรักษาศีล 5 ใช้โซเชียลเท่าที่จำเป็นฟังซีดีหลวงพ่อทุกวันพบว่าจิตมีกำลังมากขึ้นแต่สมาธิยังไม่ตั้งมั่น และในการทำรูปแบบจะนั่งหลับตาไม่ได้จะฟุ้ง หลับตกภวังค์จึงเดินและบริกรรมแทน ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำการปฏิบัติเพื่อให้สมาธิตั้งมั่น ภาวนาได้ถูกทางต่อไป และขอถวายการปฏิบัติเป็นอาจาริยบูชาแก่หลวงพ่อค่ะ

หลวงพ่อ: อนุโมทนานะ ภาวนาให้มันสม่ำเสมอไม่คาดหวังผลแล้วมันจะได้ผลเร็ว ถ้าภาวนาแล้วหวังผลว่าทำไมไม่สงบสักที ทำไมไม่สงบสักทีนะไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นภาวนาไม่ได้หวังผลอะไร ถ้าคาดหวังอย่างโน้นคาดหวังอย่างนี้มันเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส เราก็คอยรู้ทันกิเลสที่เกิดในใจของเราไป สังเกตุไหมเวลาเราภาวนาถ้าใจไม่ฟุ้งไปใจก็เพ่งเอาไว้ อย่างเราเพ่ง เพ่งอยากให้มันสงบมันจะเพ่งอย่าไปอยากสงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ถือว่าปฏิบัติเป็นพุทธบูชาถวายพระพุทธเจ้าส่วนผลที่จะได้มันได้ของมันเอง นี่ทำด้วยความอยากทำไม่ได้จริงนะเหน็ดเหนื่อย

ใจมันยังไม่ได้หลัก ยังไม่ได้หลักที่แท้จริงฝึกไปก่อน ทุกวันทำให้สม่ำเสมอรู้ทันใจของเราไป ใจเราแต่ละวันแต่ละเวลาไม่เคยเหมือนกัน นี่คอยรู้คอยดูไป ค่อยๆ สะสมความรู้ความเข้าใจไปแล้วก็ปฏิบัติในรูปแบบนะทำไปสม่ำเสมอไป ค่อยๆ สังเกตจิตใจเราแต่ละวันไม่เคยเหมือนกัน ในวันเดียวกันแต่ละเวลาก็ไม่เหมือนกัน จิตใจของเราแต่ละขณะ ในขณะที่เห็นรูปใจเราก็เปลี่ยน ขณะที่ได้ยินเสียงใจเราก็เปลี่ยน ขณะที่จมูกได้กลิ่นลิ้นกระทบรสกายกระทบสัมผัสจิตใจของเราก็เปลี่ยน ขณะที่หลงไปคิดจิตใจของเราก็เปลี่ยน คิดเรื่องนี้สุข คิดเรื่องนี้ทุกข์ คิดเรื่องนี้โลภ คิดเรื่องนี้โกรธ คิดเรื่องนี้หลงอะไรแบบนี้ นี่ทำกรรมฐานของเราไปแล้วถ้าใจเราเป็นอย่างไรนะค่อยรู้เอา ไปฝึก จะได้ชำนิชำนาญมากขึ้น

 

คำถาม 6: ขอให้หลวงพ่อช่วยตรวจสอบการทำสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานที่ทำอยู่เพื่อต่อยอดการปฏิบัติต่อไป เวลาภาวนาจะรู้สึกว่ามีจิตอีกดวงหนึ่งอยู่ในร่างกายเรา เขาจะสามารถแสดงความรู้สึกหรือท่าทางออกมาเวลาเราทำสมาธิ อยากให้หลวงพ่อช่วยแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อรู้สึกได้ถึงการมีอยู่ของเขา เจริญเมตตาแล้วไม่เป็นผลค่ะ

หลวงพ่อ: อย่าไปยุ่งกับมัน มันมีก็มีไปมันจะแสดงอะไรก็ช่าง เราแค่รู้ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง นี้เรางงว่า เอ๊ะ นี่มันตัวอะไร ดิ้นไปดิ้นมาเมื่อไหร่มันจะสงบเมื่อไหร่เราจะได้ดีอย่างนี้ ไม่ได้ทำอย่างนั้นมันอยากดิ้นมันอยากจะมีสักกี่ตัว บางคนมีตั้ง 5 ตัว ของเรามีอีกตัวหนึ่งก็ไม่เห็นแปลกอะไร ที่สำคัญคือที่จิตเราต่างหาก พอมีไอ้ตัวนี้ขึ้นมาเราเกิดสงสัยว่ามันอะไร รู้ว่าสงสัยรู้ทันจิตตนเอง อันนั้นไม่ใช่จิตเรามันเป็นตัวอะไรที่ปรุงแต่งขึ้นมา ฉะนั้นอย่าไปตกอกตกใจ อย่างไรเราก็ไม่ทิ้งจิตของเรา รู้เท่าทันจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ การปฏิบัติมันก็จะก้าวหน้า

ในส่วนของสมาธิใช้ได้แล้ว เสียอย่างเดียวบางครั้งโมหะยังแทรก มันยังมัวๆ อยู่ ถ้ามันมัวเรามีสติรู้ทันว่ามัว มีสติรู้ทันว่าใจไม่ชอบ มีสติรู้ทันว่าอยากหายมัว นี่รู้ทันมันเข้าไปอย่างนี้ ใช้สติเป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยขัดเกลาสมาธิของเราให้ดี สติเป็นเครื่องขัดเกลาสมาธิ สมาธิก็ช่วยขัดเกลาสติเหมือนกันช่วยซึ่งกันและกัน ในที่สุดก็หนุนเสริมกันขึ้นไปเกิดปัญญา

ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก สมาธิของเรามันยังเจือโมหะอยู่ ยังมัว เป็นไหม? หลวงพ่อก็เดาๆ เอานะ ยังมัวอยู่ก็รู้ เห็นไหมตรงที่รู้ว่ามัวแล้วมันหายนี่อยู่ที่แค่รู้ทันเท่านั้น รู้ด้วยความเป็นกลาง จิตมัว จิตมัวทำอย่างไรก็ไม่หายรู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่เราหรอกอยากมัวก็มัวไปเถอะ ใจเราเป็นกลาง ไอ้ตัวนั้นมันของถูกดูตัวมัว จิตของเราไม่มัวจิตเป็นคนดูสว่างไสวขึ้นมานะที่มัวนั้นขาดไปเลยหายไป ค่อยๆ ฝึกใช้ได้สมาธิอย่างนี้ถึงใช้ได้ สมาธิที่ทำทีแรกไม่ใช่โมหะแทรก ปัญญาก็พอเดินดูได้หรอกแต่ใจมันยังฟุ้ง ปัญญามันก็ไม่แหลมคม เอาต่อไป

 

คำถาม 7: ผู้ช่วยสอนชี้ให้เห็นจิตที่เกิดดับทางอายตนะ 6 สามารถเห็นตามได้ และสามารถเห็นความสัมพันธ์ต่อมาที่เวทนาทางใจ และบางครั้งเห็นต่อมาที่ตัณหา รู้สึกว่าธรรมะมีเหตุผลทำให้กลับมามีฉันทะ ขอคำแนะนำเพิ่มเติมครับ

หลวงพ่อ: อนุโมทนานะ ที่ภาวนาทำถูกแล้วล่ะ ดี

 

คำถาม 8: ยังไม่เห็นจิตเกิดดับเป็นดวงๆ อย่างมากเห็นจิตยืดจากศูนย์กลางไปยังตรงที่มีการกระทบผัสสะ ควรจะภาวนาต่อไปอย่างไรครับ

หลวงพ่อ: รู้ทันไป มีสติไปเรื่อยๆ จิตเราไปทำอะไรก็รู้ๆ แล้วทุกวันแบ่งเวลาทำสมาธิด้วย นี่เพิ่งมีพระในวัดหลวงพ่อจำไม่ได้ว่าองค์ไหนท่านเห็นว่าจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วมันดับ แล้วมันก็ว่างๆ ไปนิดหนึ่งแล้วเกิดจิตอีกดวงหนึ่งขึ้นมาแล้วก็ดับแล้วก็เกิดว่างๆ ขึ้นมาตัวนี้เรียกว่า สันตติขาด

สันตติขาดนี่ขึ้นวิปัสสนาที่แท้จริงแล้ว เริ่มเห็นแล้วว่ากระทั่งตัวจิตก็เกิดดับ ของคุณยังไม่เห็นจิตที่เกิดดับ ยังเห็นจิตมีดวงเดียว จิตดวงนี้วิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับมาอะไรอย่างนี้ นี้ถ้าเราเห็นจิตวิ่งไปแล้วก็เกิดโลภขึ้นมาเรารู้ว่าโลภความโลภดับ เราไม่ต้องไปดึงจิตดวงนั้นคืน ตรงที่ความโลภมันดับ ความจริงจิตมันเริ่มดับตั้งแต่เรารู้ว่าตัวนี้โลภแล้ว เห็นจิตมันไหลไปแล้วมันอยาก มันชอบในรูปอันนี้เกิดจิตอีกดวงรู้ทันว่าจิตไปชอบ จิตไหลไปจิตไปชอบรูป จิตที่ไปชอบรูปตัวนั้นเป็นอดีตไปแล้ว จิตตัวปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วมันคนละตัวกัน

ค่อยๆ ฝึกแล้วเราจะเห็นว่าคนละดวงกัน ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ฉะนั้นตัวตนที่แท้จริงไม่มีหรอก แต่ตอนแรกเราจะเห็นจิตเหมือนแมงมุมวิ่งออกไปทางนี้ แล้วก็วิ่งกลับเข้ามาตรงกลาง เดี๋ยวก็วิ่งไปอีกด้านหนึ่งแล้วก็วิ่งกลับมาตรงกลาง นั่นยังเห็นว่าจิตมีดวงเดียวแต่ว่าฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกไปตามรู้ตามดูมีสติมีสมาธิไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็เริ่มขาด สันตติความต่อเนื่องขาด เห็นจิตที่ดูมันก็ดวงหนึ่ง จิตที่ฟังก็ดวงหนึ่ง จิตที่ลิ้มรสก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้สัมผัสก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงคิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้ก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน จิตที่เพ่งก็เป็นอีกดวงหนึ่งกลายเป็นจิตนี้มีเยอะแยะเลย แล้วทุกดวงมีลักษณะร่วมคือเกิดดับ คำว่าลักษณะร่วมคือ สามัญญลักษณะ

สามัญลักษณะ ถ้าจะแปลภาษาไทยก็คือลักษณะร่วม ลักษณะร่วมของสิ่งที่ปรุงแต่งก็คือเป็นของไม่เที่ยงเหมือนๆ กัน เป็นของถูกบีบคั้นเหมือนๆ กัน เป็นของบังคับไม่ได้เหมือนๆ กัน ตรงนั้นเป็นตัวปัญญาแท้จริงเห็นลักษณะร่วม ตอนนี้เห็นทีละตัวไปก่อน แต่ว่าถ้ามันยังไม่แยกมันจะเห็นวิ่งไปวิ่งมาก็ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องพยายามแยกมัน พอสติสมาธิดีขึ้นมันแยกเป็นตัวๆ ได้เอง นี่พวกพระภาวนาตั้งนานถึงจะเห็นแยกเป็นตัวๆ ได้ ของเราค่อยๆ ทำเดี๋ยวก็ดีแล้ว

 

หมดแล้วรึ หมดแล้วเชิญนะเชิญกลับบ้าน เว้นแต่ว่าใครอยากฟังผู้ช่วยสอนก็ค่อยว่ากัน ไม่ใช่ทุกคนต้องฟัง ที่จริงเรียนกับหลวงพ่อแล้วไม่ต้องเรียนกับใครก็ได้เหลืออย่างเดียวคือเรียนที่ตัวเอง ยกเว้นว่ามันมีข้อข้องใจต้องการให้ผู้ช่วยสอนช่วยแซะเราในรายละเอียดอะไรอย่างนี้ อันนี้ก็จำเป็นถ้าอินทรีย์เรายังอ่อน ผู้ช่วยสอนก็มีประโยชน์ แต่ถ้าจะมานั่งฟังเลคเชอร์มันก็เหมือนที่หลวงพ่อเทศน์ เลคเชอร์ไม่ต้องฟังหรอกเอาถ้าคุยกับผู้ช่วยสอน เอาสภาวะที่เราปฏิบัติ เอาไปเล่าให้ผู้ช่วยสอนฟังแล้วว่าจะพัฒนาอย่างไร อย่างนั้นจะมีประโยชน์กว่า อย่าให้ผู้ช่วยสอนนั่งเทศน์ไม่เผลอเป็นอย่างนี้ ไม่เพ่งเป็นอย่างนี้ อะไรอย่างที่หลวงพ่อเทศน์นี่เสียเวลา ไปฟังซีดีก็ได้ ถ้าเอาสภาวะไปส่งนะถึงจะมีประโยชน์จริง เอ้าเชิญ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 สิงหาคม 2563