การยกระดับความสุข

วันนี้ดูแปลก นั่งรอหลวงพ่อก็ดูสงบหน่อย วันเสาร์ปกติจะฟุ้งซ่านเยอะ ส่วนใหญ่ก็วางแผนว่า ฟังเทศน์เสร็จแล้วจะไปไหนต่อ ส่วนวันอาทิตย์ไม่ค่อยฟุ้งซ่าน ฟังเทศน์เสร็จแล้วรีบกลับบ้าน

คนทั้งหลายมันก็วิ่งหาความสุขกัน ตลอดชีวิตวิ่งหาแต่ความสุข ใครๆ ก็อยากได้ความสุข ความสุขที่เขารู้จักนั้น เป็นความสุข ถ้าเป็นภาษาพระก็เป็นกามสุข สุขจากการดูหนัง ฟังเพลง กินของอร่อย ไปทัศนาจร ไปคุยกับเพื่อน มีกลุ่มสนุกสนาน ทำกิจกรรม เป็นสุขที่คลุกคลี ส่วนใหญ่จะคลุกคลี ต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น ความสุขที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น มันก็สุกๆ ดิบๆ มันไม่สุขจริง ก็คนมันวุ่นวาย แต่ละคนก็ยุ่งกันคนละอย่างสองอย่าง มาเจอกันก็มารวมความวุ่นวายเข้าด้วยกัน

 

คลุกคลีเท่าที่จำเป็น หลีกเร้นเป็นช่วงๆ

สนุก มันจะไปสนุก แต่มันไม่สุข มันเหนื่อย แต่ว่าคนส่วนใหญ่มันก็ได้แค่นั้น แยกไม่ออกระหว่างความสุขกับความสนุก จะเห็นว่าสนุกแล้วสุขดี ที่จริงเหนื่อย ยุ่ง วุ่นวาย ไปร้องคาราโอเกะ กินเหล้าแล้วก็ร้องเพลง ใครเขาได้ยิน เขาก็ไม่ได้มีความสุข คนร้อง แหม มีความสุขจัง สนุกสนาน ความสุขของโลก กามสุข มันกระทบกระทั่งกับคนอื่น กับสิ่งอื่นอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องความสุขเอาไว้ ท่านบอกความสุขที่มันเท่าๆ เสมอกับความสงบไม่มี ฉะนั้นความสงบเป็นยอดของความสุข ความสนุกมันไม่ค่อยสงบหรอก มันวุ่นวาย ชีวิต เหนื่อย

บางคนก็คิดว่ารวยๆ แล้วมีความสุข เหนื่อยจะตายไป หาเงิน ได้เงินมาก็ต้อง ทำอย่างไรจะรักษาเอาไว้ มีทรัพย์สิน มีบ้าน หวังว่าจะมีความสุข มีบ้านก็มีภาระมากมายตามมา ต้องดูแลรักษา ความสุขของโลกมันไม่สงบ มันมีแต่ความวุ่นวาย ความสุขที่อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ไม่สงบ มันปะทะกันตลอดเวลา ชอบผู้หญิงสักคนหนึ่ง ต้องแย่งกัน คนนั้นก็มาชอบ หรือชอบผู้ชายสักคนหนึ่ง คนนี้ก็แย่ง คนนั้นก็แย่ง ผู้ชายบางคนเป็นที่สนใจ มันกระทบกระทั่งกันตลอด ในโลกน่าสงสาร วิ่งหาความสุข แต่ไม่รู้ว่าความสุขที่ลึกซึ้ง ที่ประณีต คือความสงบ

ทำอย่างไรเราจะสงบ ถ้าเราอยู่กับโลก เราก็พยายามคลุกคลีกับคนอื่นให้น้อยๆ คลุกคลีเท่าที่จำเป็น ไม่ติดต่อกับคนอื่นเลย มันก็อยู่กับโลกยาก มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว ก็อยู่ยาก แต่ว่ารู้จักเว้นระยะห่างไว้ เว้นระยะห่างจากคนอื่น แล้วชีวิตมันจะมีความสุข เพราะว่ามันสงบมากขึ้น คลุกคลีกับคนมากๆ ไม่มีความสงบ ฉะนั้นอย่างครูบาอาจารย์ ถึงเวลาท่านก็หลีกเร้น ขนาดพระพุทธเจ้า ถึงเวลาท่านก็ต้องหลีกเร้นเป็นช่วงๆ พระพุทธเจ้าบางครั้ง ท่านหลีกเร้นไม่พบคนตั้ง 3 เดือน ไม่ยุ่งกับใคร

ถ้าเราอยู่กับโลก มีเวลาเราก็หลีกเร้นบ้าง เมื่อก่อนหลวงพ่อทำงาน หลวงพ่อเก็บวันลาไว้ ไม่เอาวันลาไปชวนคนไปเที่ยวโน้นเที่ยวนี้ ไปกินเหล้าอะไร ไม่เอา หลวงพ่อเก็บวันลาทั้งหมดเอาไว้ไปวัด ไปวัดก็ไม่ได้ไปทำอะไร ไปภาวนา ไปอยู่ป่า ไปอยู่ใต้ต้นไม้ กลางวันก็อยู่โคนไม้ กลางคืนก็นอน มีกุฏิก็นอน ไม่มีก็กางเต็นท์ กางกลดเอา อยู่สบาย ธรรมชาติมันไม่ยั่วกิเลส ใจเราไม่ต้องกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงให้มันวุ่นวาย แล้วมันมีความสุข

เพราะฉะนั้นถึงเราเป็นฆราวาส รู้จักรักษาระยะห่างจากคนอื่นบ้าง แล้วก็รู้จักปลีกตัวหลีกเร้นเป็นช่วงๆ บ้าง ถ้าเราหลีกเร้นไม่ได้ อยู่บ้านเราก็มีกติกาของตัวเอง เวลาช่วงนี้เป็นเวลาส่วนตัว ส่วนตัวไม่ได้เอาไปดูซีรีส์ เวลาส่วนตัวคือเราจะไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำให้ได้ทุกวันๆ อย่างน้อยหลีกเร้นทั้งวันไม่ได้ ก็หลีกเร้นเป็นเวลา ชั่วโมงหนึ่งก็ยังดี วันหนึ่งได้อยู่กับตัวเอง ทำความสงบ เรียนรู้ตัวเอง ไม่ยุ่งกับคนอื่น เพราะฉะนั้นเป็นฆราวาสก็ต้องมีสติมีปัญญา รู้จักหาความสุขจากความสงบบ้าง คลุกคลีเท่าที่จำเป็น มีเวลาก็หลีกเร้น ก็หาความสงบ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม แบ่งเวลาไว้เลย มีวินัยในตัวเอง อันนี้เป็นฆราวาสมันก็พอจะสงบได้ แล้วถ้าเราจะดีกว่านั้นอีก เราฝึกเข้าสมาธิ

 

ความสุขที่เกิดจากความสงบ เริ่มตั้งแต่การทำสมาธิ

การทำสมาธิฟังแล้วยาก เพราะว่ายุคนี้เป็นยุคสมาธิสั้น สมาธิสั้นเพราะผัสสะมันแรง มันดึงดูดใจเรากระฉอกไปกระฉอกมา ถ้าเรามีวินัยในตัวเอง ถึงเวลาเราก็แยกตัวออกมา ภาวนาของเราคนเดียว สมมติว่า 2 ทุ่มไปแล้ว เราไม่ยุ่งกับใครแล้ว เราภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม แยกตัวออกมา เราก็สามารถทำสมาธิได้

แล้วถ้าเราชำนาญจริงๆ อยู่ในชีวิตธรรมดานี้ มีเวลาว่าง 5 นาที เราก็ทำสมาธิได้ ถ้าเราทำเป็น หลวงพ่อใช้เวลาในตอนที่เป็นโยม ไม่เฉพาะตอนก่อนจะนอน บางทีนอนไปดึกๆ ตื่นขึ้นมา เงียบสงัดแล้ว เราก็ภาวนาของเรา เมื่อก่อนจะใช้วิธี ก่อนนอนดื่มน้ำเยอะๆ จะได้ปวดฉี่เร็วๆ แล้วก็ตอนปวดฉี่ คนอื่นหลับหมดแล้ว เราตื่นขึ้นมา เราก็ได้ภาวนา ได้อยู่กับตัวเราเอง มันก็เหมือนเราอยู่ในป่าแล้ว คราวนี้เงียบๆ ไม่มีอะไร ไม่ต้องยุ่ง กลางวันทำงาน หลวงพ่อก็เบรกตัวเองเป็นช่วงๆ สักชั่วโมงหนึ่ง ชั่วโมงนิดๆ อะไรอย่างนี้ จะเดินไปเข้าห้องน้ำทีหนึ่ง ตอนที่เดินไปห้องน้ำ ก็เห็นร่างกายมันเดินไป ไปปัสสาวะเสร็จแล้ว ตอนที่เดินกลับมาทำงานต่อ ดูจิตกลับมาได้แล้ว เพราะจิตมันทรงสมาธิขึ้นมา

ทีแรกสมาธิมันออกนอก มันไปทำงาน พอเราเบรก เราก็กลับมารู้กาย เสร็จแล้วพอเรารู้กายไปช่วงหนึ่ง จิตมันมีกำลัง เพราะเราเคยฝึกให้ดี เราก็จะสามารถดูจิตของตัวเองได้ หลวงพ่อฝึกมาแบบนี้ เพราะหลวงพ่อก็เป็นฆราวาสเหมือนพวกเรา ในสมัยก่อน หลวงพ่อเมื่อก่อนก็เป็นฆราวาสอย่างพวกเรา คำว่า “ไม่มีเวลาปฏิบัติ” ไม่อยู่ในสารบบ เพราะมีเวลา 5 นาทีก็ทำ 5 นาที มี 10 นาทีก็ทำ 10 นาที มีชั่วโมงก็ทำชั่วโมง เรารู้จักหลีกเร้นไม่ยุ่งกับคนอื่น เอาเวลามาภาวนา จิตใจมันก็ค่อยสงบ ยิ่งถ้ากลางวันเราเก็บเล็กเก็บน้อยไป อย่างที่หลวงพ่อบอก ตกเย็นตกค่ำ เราจะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไร จิตมันสงบง่าย ถ้าฟุ้งซ่านตลอดวัน ไม่ได้เบรกตัวเองเลย พอตกเย็นตกค่ำจะไปนั่งสมาธิ ก็นั่งหลับ จิตมัน เหนื่อยเกินไป ไม่มีพลังงานที่จะทรงตัวมาทำสมาธิ ฉะนั้นมันจะไม่มีแรง

เป็นฆราวาสยุ่งกับคนอื่นน้อยๆ ปลีกตัว ปลีกตัวไม่จำเป็นว่า ต้องปลีกไปหลายๆ วัน เดินไปเข้าห้องน้ำนี้ก็ปลีกตัวแล้ว เพราะเวลาเราเข้าห้องน้ำ เราไปคนเดียวใช่ไหม มีไหมชวนกันไปเข้าห้องน้ำห้องเดียวกัน ได้คุยกัน ไม่มี แต่เดี๋ยวนี้มี เมื่อก่อนเดินทางไป จะแวะเข้าห้องน้ำตามปั๊มตามอะไร เป็นพระจะไปยืนฉี่ไม่ได้ ต้องรอห้องน้ำ เมื่อก่อนห้องน้ำว่างเยอะแยะเลย เข้าไปถึงก็เข้าได้แล้ว เดี๋ยวนี้ไปถึงประตูมันปิดเรียบเลย เล่นมือถืออยู่ข้างใน กดอยู่นั่นล่ะ สนุกสนาน ไม่มีที่จะเล่นแล้ว ไปเล่นอยู่ในห้องน้ำเยอะแยะเลย แทบจะทุกแห่งแล้ว มันสนุกอะไรนักหนา มันหลงโลกอะไรนักหนา

กระทั่งเวลาเข้าห้องน้ำ มันก็เป็นเวลาที่เราอยู่คนเดียว ส่วนตัว เข้าห้องน้ำก็อย่ามัวเล่นมือถือ เข้าห้องน้ำเราก็ภาวนาไป นี่เก็บเล็กเก็บน้อย แล้ววันๆ หนึ่ง ถ้าเราเก็บได้ชั่วโมงละ 5 นาที 12 ชั่วโมงคือ 60 นาที อย่านึกว่าน้อย มันทำได้เยอะเชียวล่ะ เพราะถ้าเราทำอยู่ในกลางวัน พอตกเย็นตกค่ำ เราไปภาวนาไม่นั่งหลับแล้ว จิตมันมีกำลัง นี้ทำอย่างไรจะให้เกิดสมาธิ

ความสุขอย่างโลกๆ บอกแล้วไม่สุขจริง เพราะความสุขอย่างโลกๆ เรียกว่ากามสุข มันไม่สงบ มีแต่ฟุ้งซ่าน มีแต่ทำให้เสพติด ความสุขที่เกิดจากความสงบ มันเริ่มตั้งแต่การทำสมาธิ ที่หลวงพ่อสอนมากๆ เลย เป็นเรื่องของสมาธิ นานๆ บางคน หลวงพ่อจะสอนถึงการเจริญปัญญา ฉะนั้นสมาธิมันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการปฏิบัติ เพียงแต่หลวงพ่อไม่ได้พูดเป็นภาษาตามตำรา นั่งสมาธิ เริ่มต้นให้มีบริกรรมนิมิต จนกระทั่งได้อุคคหนิมิต ได้ปฏิภาคนิมิต พูดแล้วก็ได้แค่ท่องจำเอาไว้สอบ ทำจริงไม่เป็น

 

สมาธิเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการปฏิบัติ

แก่นแกนสำคัญของการทำสมาธิ ก็อย่าทิ้งสติ เพียงแต่เรามีสติ ระลึกอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง เคล็บลับมันอยู่ที่ อันที่หนึ่ง มีสติ อย่าขาดสติ ถ้าขาดสติแล้ว มันเป็นมิจฉาสมาธิทันที แล้วให้เราไปรู้อารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง อารมณ์อันนั้น ทั้งอารมณ์อันเดียว หมายถึงรู้อย่างเดียว ถ้าไปรู้ทีหนึ่ง 5 อย่าง จิตฟุ้งซ่าน ให้รู้อันเดียว จิตจะยอมรู้อารมณ์อันเดียวได้ ถ้าจิตมีความสุขที่จะรู้อารมณ์อันนั้น เพราะฉะนั้นเคล็ดลับของการทำสมาธิ อันแรกวางจิตให้ถูก จิตเป็นแค่ผู้มีสติรู้ ไม่ได้ไปบังคับจิต ใช้จิตธรรมดานี่ล่ะ รู้เนื้อรู้ตัว ธรรมดาๆ

แล้วก็ไปรู้อารมณ์ ต้องไปดูตัวเอง ว่าเราใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร แล้วเรามีความสุข เราใช้อารมณ์อันนั้นเป็นวิหารธรรม สำหรับการทำความสงบ อย่างถ้าเป็นหลวงพ่อ หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ตั้งแต่เด็กแล้ว 7 ขวบก็เริ่มเรียนสมาธิแล้ว เรียนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 ครูบาอาจารย์สอนให้นับถึง 10 แล้วก็ย้อนลงมา 9 8 7 อะไรอย่างนี้ หลวงพ่อนับไม่เป็น ตอนเด็กๆ นับถอยหลังแล้วมันเหนื่อย มันคิด ก็เลยนับไป 1-100 เลย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธนับ 2 นับถึง 100 ฝึกไปอย่างนี้

พอใจมันเริ่มสงบมันมีความสุข มันไม่ต้องยุ่งวุ่นวายอะไรกับใคร นั่งหายใจของเราไปคนเดียว บางทีก็นอน นอนหายใจไป ไม่อย่างนั้นถ้าลุกขึ้นมานั่ง เดี๋ยวผู้ใหญ่ตกใจ เรายังเด็กอยู่ เราก็นอนภาวนาอย่างนั้นล่ะ นอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 นับ 2 นับ 3 ไป พอใจมันเริ่มสงบ การนับเลขมันหายไป มันเหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตมันสงบมากขึ้น พุทโธหายไป พุทโธมันเป็นคำที่เราคิดขึ้นมา เป็นอารมณ์บัญญัติ เป็นของเกิน กลายไปส่วนเกินไปแล้ว ก็เหลือแต่ลมหายใจ

พอจิตมันสงบมากขึ้น ลมหายใจระงับ ลมมันจะเบาแผ่วๆ แล้วก็ตื้นๆ ลมตื้นๆ นี้ มันไม่ใช่ว่าลงมาแค่นี้ตื้น ลงมาแค่นี้ตื้นอะไรอย่างนี้ มันอยู่ที่ปลายจมูกนิดเดียวเอง มันตื้นอยู่แค่นี้เอง ไม่กี่มิล รู้สึกเหมือนลมกระทบนิดหนึ่ง แล้วก็นิ่งๆ อยู่แล้วก็ออกไป ภาวนาไปเรื่อยๆ จิตมันก็สงบ แล้วจิตหลวงพ่อมันชอบทำอานาปานสติ ให้ไปท่องพุทโธ อย่างเดียวจิตไม่ชอบ จิตรำคาญ แล้วต้องมีลมหายใจด้วย ตรงนี้แต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องดูตัวเอง ว่าเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข

อย่างในวัดนี้ก็มีพระบางองค์ หลวงพ่อให้ดูกระดูก ดูกระดูกแล้วมีความสุข จิตมันก็ทรงพลังมากขึ้นๆ ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ได้ เพราะเวลาดูกระดูก ถ้าจิตไหลไปที่กระดูก รู้ทันปุ๊บ จิตจะเด่นดวงตั้งมั่นขึ้นมาเลย ทีแรกก็ดูกระดูกไปเรื่อย จิตจดจ่ออยู่ที่กระดูก พอจิตมันมีแรง มันถอนตัวขึ้นมาเป็นคนดู พอจิตมันจะไปดูกระดูก แล้วมันไหลเข้าไปที่กระดูก สติรู้ทันเลย จิตจะดีดผางขึ้นมา จะเป็นผู้รู้เลย ของหลวงพ่อก็ใช้ลมหายใจ พอจิตไปอยู่ที่ลม ลมระงับไปกลายเป็นแสง จิตไหลไปที่แสง รู้ทัน จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันหลักอันเดียวกัน

 

ความสุขของจิตที่ตั้งมั่น

ทีแรกก็คือมีกรรมฐานอันหนึ่ง เพื่อล่อจิตเป็นเหยื่อตกปลา ล่อจิตให้มันมาอยู่ที่เดียว แล้วถัดจากนั้นค่อยรู้ทันจิตอีกทีหนึ่ง เวลาอย่างเราพุทโธๆ จิตไปอยู่กับพุทโธแล้ว จิตไปอยู่ที่ลมหายใจแล้ว ทำไป แล้วต่อมาพอจิตมันมีกำลังขึ้น มันจะสังเกตเห็น ตอนที่ไปรู้ลมหายใจ บางทีจิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ บางทีพุทโธจิตไหลไปอยู่กับคำว่าพุทโธ ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตไหลไปนั้น จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จิตที่มันสงบแนบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ตรงนี้ก็มีความสุขแล้ว แล้วถ้าจิตมันรู้ว่า มันไหลไปอยู่ที่อารมณ์ แล้วมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันได้สมาธิอีกชนิดหนึ่ง ก็มีความสุขอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกัน

ความสุขที่จิตไหลไปจม ไปแช่ ไปนิ่งอยู่กับอารมณ์ แหม มันสบายๆ แต่มันค่อนข้างเป็นความสุขที่โง่หน่อย มันไม่เดินปัญญาหรอกตอนนั้น จิตมันลงไปแช่นิ่งๆ อยู่กับอารมณ์ มีความสุขไหม มีความสุขเหมือนคนติดยา เพลินๆ สบายๆ แต่ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ แล้วเราเห็นว่า จิตเราไหลเข้าไปที่อารมณ์กรรมฐาน จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา คราวนี้เราจะรู้สึกว่าเราตื่นขึ้นมาแล้ว มันจะเป็นความตื่นที่แท้จริง คนทั่วไปมันตื่นเฉพาะร่างกาย แต่จิตมันไม่เคยตื่น จิตมันฝันกลางวันตลอดเวลา

เราทำกรรมฐานแล้ว เรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไป เคลื่อนไปหาอารมณ์กรรมฐานก็ได้ หรือเคลื่อนหนีไปทื่อื่น หนีไปคิดเรื่องอื่นก็ได้ ขอให้รู้ว่ารู้ทันจิตเท่านั้น ถ้ารู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไป จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันไม่เคลื่อน มันมีความสุขอีกแบบหนึ่ง ความสุขของสมาธิที่จิตลงไปจม มันเป็นความสุขแบบเด็กๆ เวลาเด็กมันเล่นอะไร สังเกตไหม มันเผลอๆ เพลินๆ มันมีความสุขไหม อย่างเล่นตุ๊กตา แล้วมันก็คุยกับตุ๊กตาได้ ตุ๊กตาตัวนี้คุยกับตัวนี้ได้ มันไม่วอกแวกไปที่อื่นเลย มันก็มีสมาธิ แล้วก็มีความสุขด้วย แต่มันความสุขแบบเด็กๆ ความสุขแบบเพ้อฝัน เผลอๆ เพลินๆ

ส่วนถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา มันมีความสุขแบบผู้ใหญ่ มันรู้ มันตื่น แล้วใจมันเบิกบานขึ้นเอง บางทีเรารู้สึกตัว เราทำอะไรต่ออะไร ไม่ได้เจตนาเลย อยู่ๆ ความสุขมันผุดขึ้นมาเอง อันนี้ใครเคยเป็นไหม อยู่ดีๆ ความสุขก็ผุดขึ้นมา ไม่ได้ทำอะไรเลย เราฝึกเรื่อยๆ แล้วจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ผู้รู้นี้บางทีก็แปลพุทโธ “พุทโธ” แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีความเบิกบานด้วย ไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เหี่ยวแห้ง ไม่ใช่ จิตมันชุ่มชื้นเบิกบาน

พยายามฝึกนะ แล้วเราจะได้ความสุขที่ประณีตมากขึ้น ความสุขของสมาธิชนิดสงบ มันความสุขของเด็กๆ ได้ของเล่นที่พอใจแล้วก็ไม่ไปซนที่อื่น ความสุขของจิตที่ตั้งมั่น เป็นความสุขแบบผู้ใหญ่ พร้อมที่จะรับสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยจิตที่เข้มแข็ง อะไรก็ได้ที่ผ่านมา จิตมันตั้งมั่นเป็นคนเห็นเท่านั้นเอง ไม่อิน นี่ก็เป็นความสุขของสมาธิ 2 ชนิด

 

ความสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก
คือความสุขจากการเจริญปัญญา

ความสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก คือความสุขจากการเจริญปัญญา ความสุขจากการเจริญปัญญาเป็นของแปลก ไม่ได้ทำสมาธิอะไรหรอก แต่เราเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ บางทีก็ทำความสงบ ทำสมถะ บางทีจิตตั้งมั่นขึ้นมา ก็เดินปัญญา เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปนามกายใจ ทำไปๆ แล้วมันเกิดความรู้ เกิดความเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นมา เวลาภาวนา บางที 7 วันก็มีความรู้อันหนึ่งเกิดขึ้น บางทีก็เดือนหนึ่ง มีความรู้เกิดขึ้น บางที 3 เดือน ก็มีความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้น

ไม่ใช่รู้เรื่องโลกๆ รู้เรื่องการภาวนานี่ล่ะ มันเข้าใจการปฏิบัติมากขึ้นๆ ตรงที่มันเข้าใจ มันมี จิตมันจะหยุดพัก ตรงที่ปัญญามันเกิดแต่ละครั้ง พอเกิดปัญญาแล้ว จิตมันจะพักตัวอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วตรงนี้มันมีความสุข มันได้พักผ่อน คล้ายๆ งานที่ยากลำบากอันนี้ทำเสร็จแล้ว Job นี้เสร็จแล้ว เดี๋ยวก็เริ่ม Job ใหม่ เข้าไปเจริญปัญญาใหม่ แล้วก็พอมันเกิดปัญญา จิตมันก็สงบ มีความสุขขึ้นมา ตรงนี้ต้องเคยผ่าน ถึงจะแยกแยะได้

ความสุขอย่างโลกๆ อันนี้เข้าใจง่าย ความสุขจากการทำความสงบของจิต ให้จิตไปคลุกอยู่กับอารมณ์อันเดียวนี้เหมือนเด็กๆ ความสุขที่จิตตั้งมั่นทรงสมาธิขึ้นมา อันนี้เป็นความสุขแบบเข้มแข็ง แล้วก็จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น บางคราวมีความเบิกบานผุดขึ้น พอเราเจริญปัญญาไป เรามีจิตที่ตั้งมั่น มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง กระบวนการตรงนี้ เป็นการเจริญปัญญา เจริญปัญญาไป บางทีจิตก็เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คำว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ คือเรื่องปฏิบัติทั้งนั้น ไม่ใช่รู้ว่าหวยจะออกอะไร อันนั้นไม่ได้ ฟุ้งซ่านแหลกลาญเลย

อย่างบางทีภาวนา มันเกิดความเข้าใจอะไรขึ้นมา มันมีความสุข มันมีความอิ่มอกอิ่มใจอยู่ ก็ประมาณไม่เกิน 7 วัน มันก็เสื่อม เมื่อก่อนหลวงพ่อ ทุกเดือนจะออกไปหาครูบาอาจารย์ สมัยก่อนครูบาอาจารย์มาเทศน์ในกรุงเทพฯ เดือนหนึ่งมีหลายที่ ที่มูลนิธิพระอาจารย์มั่นฯก็มี ที่วัดบรมนิวาสฯก็มี ที่วัดน้อยแถวพระราม 6 ก็มี มีหลายแห่ง เราก็ดูรายการ ที่วัดเบญจมบพิตรก็มี ก็ดูอาทิตย์ไหนครูบาอาจารย์องค์ไหน จะไปเทศน์ที่ไหน วันอาทิตย์ไม่ไปเที่ยวหรอก แต่จะไปฟังธรรม

บางอาทิตย์ไม่มีครูบาอาจารย์ที่เราลงใจให้ เราก็ไม่ไปฟังธรรม เราก็อยู่บ้าน ก็ภาวนาของเราเอง อาทิตย์ไหนได้มีครูบาอาจารย์ที่เราใจเราลงให้ เราก็ไปหา ไปฟัง ไม่ได้คุยกับท่าน เพราะเวลาเทศน์คนเยอะๆ อย่างเหมือนเทศน์อย่างนี้ ไม่ได้คุยด้วย แต่การที่เราได้ไปนั่งฟัง ได้เห็นท่าน ใจเรามีแรง มันเกิดกำลัง การได้เห็นสมณะ การได้เข้าใกล้สมณะ การได้ฟังธรรมจากพระสมณะ ใจมันอิ่ม ก็มีแรงสู้ชีวิตไปได้อีกอาทิตย์หนึ่ง เข้มแข็ง ไม่ท้อแท้ สู้โลกได้ สู้งานได้

เดือนหนึ่งหลวงพ่อจะออกไปโคราชทีหนึ่ง จะไปวัดป่าสาลวัน ไปหาหลวงพ่อพุธ ตรงนี้จะได้คุยกับท่าน ส่วนมากก็ไปนั่งฟังท่าน ไม่ค่อยมีอะไรถามท่าน นั่งฟังท่าน ได้นั่งใกล้ๆ จิตมันก็มีแรง ได้แรงเยอะ แล้วก็ 3 เดือนประมาณนั้น ช่วงที่มีวันหยุดยาวๆ ช่วงมาฆบูชา ปีใหม่ ไม่ไปไหนหรอก คนมันวุ่นวายทั้งประเทศ ช่วงมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา แล้วช่วงวันเฉลิมฯ 5 ธันวาคม ช่วงนั้น 5 – 10 ธันวาคม ช่วงนี้ มีวันหยุดก็ลางานนิดๆ หน่อยๆ ก็อยู่วัดได้ ประมาณ 3 เดือน 2 – 3 เดือน บางทีช่วงก็ยาว 4 เดือน 5 เดือนแล้วแต่โอกาส จะไปภาวนาที่วัด ก็จะเลือกที่ ที่เราภาวนาได้จริงๆ ไปอยู่ในป่าบ้าง อยู่โคนไม้บ้าง อยู่ในถ้ำบ้าง แต่ในถ้ำที่ไป ไม่ค่อยดี ยุงเยอะเหลือเกิน เยอะแยะเลย

เวลาออกไปอย่างนั้น เป็นเวลาที่เราให้กับตัวเองจริงๆ ก็ได้ภาวนาจริงจัง เวลาที่จะไปหาครูบาอาจารย์ บางทีเราก็ เอ๊ะ เราจะไปส่งการบ้านอะไร ไม่รู้จะส่งการบ้านอะไร ก็ภาวนาไปเรื่อยๆๆๆ ก็เกิด โอ้ เข้าใจอันนี้ขึ้นมาแล้ว ถึงเวลาเราก็ไปส่งการบ้าน ไปถามครูบาอาจารย์ “พ่อแม่ครูอาจารย์สอนผมมาอย่างนี้ ผมมาปฏิบัติแล้วมันมีผลอย่างนี้ มันเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ ถูกหรือไม่ถูก ถ้าไม่ถูก ขอพ่อแม่ครูอาจารย์ช่วยแก้ไข ถ้าถูกแล้ว ขอพ่อแม่ครูอาจารย์บอก เส้นทางปฏิบัติที่จะก้าวหน้าต่อไป”

ครูบาอาจารย์รุ่นก่อน ท่านไม่บอกแบบที่หลวงพ่อบอกนี้ หลวงพ่อบอกแบบบอกแผนที่ ครูบาอาจารย์แต่ก่อนบอกทีละช็อต บอกให้ทีละช็อต ทีละช็อต ถ้าเราไม่เดินไปสู่จุดนี้ ไม่บอกต่อ ถ้าท่านบอกมาแล้ว เราทำตรงนี้ได้แล้ว เราไปส่งการบ้านแล้ว ท่านก็จะให้การบ้านต่อ นี่เป็นวิธีสอนของครูบาอาจารย์รุ่นก่อน ซึ่งมันเป็นวิธีที่ดีสำหรับคนที่สู้ ถ้าคนที่อินทรีย์อ่อน ยิ่งยุคนี้คนเจ้าความคิดเจ้าความเห็น เวลาสอนให้ทำอะไร มันจะตั้งคำถามเลย ทำไปทำไม ทำไมต้องทำ ทำอย่างอื่นได้ไหม คำถามมากมายมันเกิดขึ้น

ฉะนั้นเวลาสอน หลวงพ่อสอนแบบแผนที่เลย ดูแผนที่ตรงนี้ จากนี้จะไปตรงนี้ ทีแรกต้องฝึกให้จิตมีกำลัง มีความตั้งมั่น ถัดจากนั้นฝึกเจริญปัญญา เจริญปัญญาเริ่มต้นจากการแยกรูปแยกนาม ต้องสอนละเอียดเลย เดี๋ยวนี้ถ้าสอนช็อตเดียว ไม่ทำ อินทรีย์ของคนแต่ละรุ่นมันอ่อนลงๆ แต่รุ่นที่หลวงพ่อเข้าวัด มันก็ไม่ใช่ทุกคนตั้งใจ จำนวนมากก็คือไปทำบุญ เข้าวัดนั้นออกวัดนี้ มีสำนวนอันหนึ่งเขาเรียก “อรหันต์ทัวร์” มีข่าวว่าวัดไหนมีพระอรหันต์ ก็จัดรถทัวร์ไปกัน แวะวัดนั้นออกวัดนี้ไปเรื่อยๆ ร่อนเร่ไปเรื่อย มันได้อะไร ก็ได้บุญเล็กๆ น้อยๆ

บางทีนั่งรถไปก็กินเหล้ากัน ทำบุญเจือบาป ว่างๆ ก็เล่นไพ่กัน เสียเวลา ถ้ารถคว่ำก็ตายเป็นผีเฝ้าถนนอยู่อย่างนั้น เอาดีไม่ได้ คือไม่ใช่ว่าคนรุ่นเก่ามันจะดีทุกคน แต่คนที่สู้ คนที่สู้ก็สู้จริงๆ ยอมลำบาก ยอมต่อสู้ แต่รุ่นเรามันเปาะแปะๆ เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มี มาบวชองค์หนึ่ง อยู่ได้วันเดียวหนี ขอสึกแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย บอกไม่ชอบที่นี่ มีแมลงคือมียุง ไม่อยากมียุงก็ไปอยู่ในเมือง มีมุ้งลวดอยู่ แต่ละรุ่นมันอ่อนแอลงเรื่อยๆ

 

ความสุขที่ยกระดับขึ้นไปจากอริยมรรค อริยผล

ถ้าเราภาวนา เราเกิดความรู้ความเข้าใจ จิตใจมันอิ่มเอิบ มีปัญญา แล้วก็ถัดจากนั้น ถ้ามันเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล มันมีความสุขยกระดับขึ้นไปอีก เวลาที่เกิดอริยมรรคแล้ว ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จิตใจมันมีความมั่นคง มันมีความมั่นคง มันรู้ว่าการเดินทางถัดจากนี้ ในสังสารวัฏที่เหลือนี้ไม่ตกต่ำ ไม่ตกต่ำหมายถึง ไม่ตกต่ำทางจิตใจ แต่ทางร่างกายอาจจะตกต่ำได้

อย่างเราทำปาณาติบาตเยอะ แล้วเราภาวนา เราเกิดได้โสดาบัน ในขณะได้โสดาบัน เราไม่ได้ทำปาณาติบาต บุญบารมีเราก็สร้างมาก็ได้โสดาบันแล้ว แล้วตายไป อำนาจของปาณาติบาตจะส่งผลมา แต่อย่างไรเราก็เป็นมนุษย์ อย่างต่ำก็เป็นมนุษย์ แต่มันจะเป็นมนุษย์ขี้โรค กรรมมันจะให้ผลมาอย่างนี้ จะกลายเป็นมนุษย์ขี้โรค หรือคนขี้โกรธ ออกมาได้เป็นมนุษย์หน้าตาดูไม่ได้ ใครเห็นแล้วก็ไม่มีความสุข

เราสังเกตไหม เวลาที่ใจเรามีความสุข มีความสงบ หน้าตาเราก็ยังธรรมดาอย่างนี้ แต่คนเห็นหน้าเราแล้ว เขาสบายใจ เพราะใจเราสบาย แต่ถ้าใจเราหงุดหงิดๆ ตลอดเวลา ใครเขาเห็นหน้าเรา เขาก็ไม่สบายใจ กรรมอย่างนี้มันก็ส่งผลไป เราขี้โมโหโทโส แต่ว่าได้โสดาบันไปแล้ว ไม่ตกนรกแล้ว แต่ว่าใจไม่มีความสุข ใจมันจะหงุดหงิดๆ ไปเรื่อยๆ มันก็มีปัญหา ใครเข้าใกล้เขาก็อึดอัด ก็เป็นวิบาก

เรายิ่งภาวนาไปเรื่อยๆๆๆ ใจห่างโลกออกไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็เจอพระนิพพาน ที่จริงการเห็นพระนิพพาน เห็นครั้งแรกตอนที่เกิดโสดาปัตติมรรค แล้วถัดจากนั้นในโสดาปัตติผล จิตก็ทรงพระนิพพานอยู่ชั่วแวบเดียว แล้วก็ถอยออกมา กลับมาอยู่ในโลกอย่างนี้ ก็ภาวนาต่อ ตอนที่ได้สกทาคามี จิตก็สัมผัสพระนิพพานอีก อีกแว็บหนึ่ง ไม่นาน จนครั้งที่ 4 ถึงจะใช้ได้

ครั้งที่ 1 ตอนที่อริยมรรคเกิด อาสวกิเลสนั้นจะถูกแหวกตัวออกไป จิตที่ปราศจากอาสวะก็ผุดขึ้นมา เด่นดวงขึ้นมา ทรงพระนิพพานอยู่แล้วก็ดับ แล้วอาสวกิเลสก็กลับเข้ามาย้อมจิตใหม่ ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ก็เป็นแบบนั้น หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ “หลวงปู่ครับ มันต้องแหวกกี่ครั้ง มันถึงจะเลิกกัน” ท่านบอก “4” ท่านไม่ได้กางตำราพูด ตอนที่ท่านพูด หลวงพ่อรู้เลย ท่านไม่ได้นั่งนึกถึงปริยัติเลย ท่านนั่งนับนิ้วเอาเลย 3 1 2 3 ไม่ใช่ 1 2 3 4 บอก 4 ครั้ง

พอ 4 ครั้งแล้วอาสวะมันจะถูกพรากออกไป แยกออกไป จิตมันจะแยกออกจากขันธ์เด็ดขาด พรากออกจากขันธ์ ขันธ์นั้นคือตัวทุกข์ เพราะฉะนั้นจิตมันพ้นขันธ์ จิตพ้นขันธ์ก็คือจิตพ้นทุกข์ ก็อยู่ไปเรื่อยๆ จนขันธ์แตกขันธ์ดับก็เรียกว่าดับทุกข์ เพราะขันธ์ดับก็คือดับทุกข์ แล้วจิตที่เป็นอิสระก็ส่วนหนึ่ง ความสุขอันนี้ไม่มีอะไรเหมือน เป็นความสุขที่เสถียรเลย ความสุขของพระนิพพาน เป็นสุขยิ่งกว่าสิ่งอื่น

นิพพานมีลักษณะอย่างไร มีลักษณะสงบ มีลักษณะว่าง ว่าง เวลาจิตภาวนาจนถึงพระนิพพานแล้ว ไม่ต้องเข้านิพพาน ไม่ต้องกำหนดจิตไปเข้านิพพาน เข้าๆ ออกๆ นิพพานที่ยังมีเข้ามีออก นิพพานจอมปลอม มันคือภพอันหนึ่ง แล้วคนไปหลงว่าเป็นนิพพาน นิพพานจริงๆ อยู่ต่อหน้าเรานี่เอง เมื่อไรจิตเราไม่ถูกอาสวะห่อหุ้ม เมื่อไรจิตเราไม่มีอวิชชา คือเรารู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์อย่างเด็ดขาด จิตหมดความอยาก จิตไม่มีความอยากเกิดขึ้น มันจะไร้ตัณหา

จิตไม่มีความเข้าไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วก็จิตไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตก็เป็นอิสระจากความปรุงแต่ง เป็นอิสระจากตัณหา เป็นอิสระจากการครอบงำของอาสวกิเลสทั้งหลาย จิตนี้มีความสุข มีความสุข มองโลก โลกก็ว่าง มองลงที่กาย กายก็ว่าง มองที่จิต จิตก็ว่าง ไม่มีจุด ไม่มี ดวงอะไรขึ้นมา ถ้าจิตยังมีจุดมีดวง ยังมีการต้องรักษาจิต ต้องกำหนดจิตอย่างนั้น ต้องกำหนดจิตอย่างนี้ เพื่อจะทรงพระนิพพาน อันนั้นยังไม่จบหรอก

ฉะนั้นความสุขที่เราจะสัมผัส มันมีเป็นระดับๆ ไป เพราะสุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี แล้วก็พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” เพราะอะไร เพราะนิพพานสงบอย่างยิ่ง สงบจากกิเลส สงบจากตัณหา สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากความยึดถือทั้งปวง เพราะฉะนั้นมันมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างนี้พวกเรามีโอกาสเข้าถึง เพราะเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว คือเรื่องของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

 

จับหลักการปฏิบัติให้แม่น
แล้วเราจะไม่มีคำว่าไม่มีเวลา

พื้นฐานต้องรักษาศีล 5 ไว้ แล้วก็ฝึกทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ต้องทำ สมถะก็มี 2 อัน อันหนึ่งทำให้จิตสงบ อันหนึ่งทำให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถัดจากนั้นเราก็เจริญปัญญา การเจริญปัญญาขั้นต้นก็คือ หัดแยกรูปแยกนาม อย่างขณะนี้ร่างกายเรานั่งอยู่ เห็นไหมร่างกายนั่งอยู่ ร่างกายที่นั่งอยู่เป็นของถูกรู้ จิตเราเป็นคนรู้ร่างกายที่นั่งอยู่ อันนี้เรียกว่าเราแยกรูปแยกนามได้แล้ว หรือเวลามีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย เราเห็นแล้ว สุขทุกข์กับร่างกายนี้เป็นคนละอันกัน นี่ก็แยกรูปแยกนามได้ เพราะตัวสุขทุกข์มันเป็นนาม ตัวร่างกายมันเป็นรูป

หรือเราแยกละเอียดลงไปเรื่อยๆ เราจะเห็นเลยความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรนี้ ก็เป็นสภาวะอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่ความสุขความทุกข์ ไม่ใช่ความจำได้หมายรู้ แต่เป็นความปรุงแต่งของจิต แล้วมันก็ไม่ใช่จิต เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ค่อยๆ ดูเรื่อยๆ แล้วต่อไปเราก็เดินปัญญาละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป เราจะเห็นว่าขันธ์ 5 ทุกๆ ตัว สภาวธรรมทุกๆ ตัว เกิดขึ้นแล้วดับทั้งสิ้น ตรงที่เราเห็นว่าสภาวธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดแล้วดับไป อันนั้นล่ะคือวิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ ลำพังเราเห็นว่ากายกับใจเป็นคนละอัน นี่เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ถึงวิปัสสนา ถ้าจะเป็นวิปัสสนาจริง เราก็ต้องเห็นว่าทุกอย่างที่เกิดมาในร่างกายนี้ เกิดแล้วดับ ร่างกายที่หายใจออก เกิดแล้วดับ ร่างกายที่หายใจเข้า เกิดแล้วดับ ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน เกิดแล้วดับ ความสุขความทุกข์ในร่างกาย เกิดแล้วก็ดับ ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ในจิตใจ เกิดแล้วก็ดับ กุศลอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจ เกิดแล้วก็ดับ จิตเองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้วิ่งไปดูรูปทางตา วิ่งไปฟังเสียงทางหู วิ่งไปดมกลิ่นทางจมูก นี่เป็นจิตคนละดวง คนละดวงกัน ฉะนั้นจิตเองก็เกิดดับ อย่างนี้เรียกว่าเราทำวิปัสสนา

เมื่อวิปัสสนาเราเจริญให้มาก ทำให้มาก เรียกเข้าใจความจริง กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของที่เกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ต่อไปเราก็เห็นลึกซึ้งเข้าไปอีก ทำวิปัสสนาไป ความรู้ก็ลึกซึ้งขึ้น ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา นี่เห็นตั้งแต่เป็นโสดาบันแล้ว ที่จริงเห็นตั้งแต่ปุถุชนก็เห็นได้ ร่างกายไม่ใช่เรา แต่ถ้าเห็นขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา รวมทั้งจิตใจไม่ใช่เราแล้ว ได้เป็นโสดาบัน มันไม่ใช่เรา แล้วมันเป็นอะไร มันเป็นตัวทุกข์ ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ จิตใจนี้คือตัวทุกข์

ถ้าเราเห็นร่างกายเป็นตัวทุกข์ได้ เป็นปัญญาขั้นกลาง จิตจะหมดความยึดถือในกาย เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี ถ้าเราเห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์ได้ จิตปล่อยวางจิตได้ เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอรหันต์ ฉะนั้นจิตจะเข้าถึงความสงบ เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นบรมสุข ฉะนั้นนิพพานคือตัวความสงบอย่างแท้จริง นี่ล่ะคือความสุข คนในโลก มันเป็นความสุขแบบหมาถูกน้ำร้อน วิ่งพล่านๆ ไปเรื่อยๆ มันก็มีความสุข แต่มันสนุกมากกว่าสุข มันไม่รู้จักว่าความสุขจริงๆ เป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้นพวกเราหัดปลีกตัว ตรงไหนที่ไม่จำเป็นต้องยุ่งกับโลก อย่าไปยุ่งมันๆ หาเวลาปลีกตัว อยู่กับตัวเอง แค่เดินไปห้องน้ำก็ทำได้แล้ว เวลากินข้าว เวลากินข้าวเราไม่มานั่งเมาท์มอย คุยคนโน้นคนนี้ เวลากินข้าวก็กิน ตั้งอกตั้งใจกินไป เดินปัญญาได้ไหมเวลากินข้าว ได้ เราเห็นธาตุไหลเข้าไป อีกสักพักหนึ่งธาตุก็ไหลออกมา ไหลเข้าทางปากแล้วออกทางก้นอะไรอย่างนี้ มันก็เห็นธาตุมันหมุนเวียนไป

ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ไม่เห็นมีอะไรดี มีแต่ทุกข์ เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ จะอาบน้ำ ก็อาบน้ำ ทำไมต้องอาบน้ำ ก็ร่างกายมันทุกข์ มันสกปรก มันเหม็น มันร้อน ก็ไปอาบน้ำ สังเกตดูร่างกายไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของวิเศษอะไรเลย เป็นภาระทั้งสิ้น การเจริญปัญญา การภาวนานี้ ถ้ามีความฉลาดพออยู่ตรงไหนก็ทำได้ ยกเว้นตอนนอนหลับ กับตอนที่ทำงานที่ต้องคิด ถ้าเวลานอกนั้น ปฏิบัติได้หมด ขอให้ปฏิบัติให้เป็น รู้หลักเท่านั้นล่ะ แล้วทำได้หมด

แค่จะอึจะฉี่ยังภาวนาได้เลย ถ้าจะอึ เราก็เห็นธาตุไหลออกไป ร่างกายมันก็แค่ก้อนธาตุ เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ดูอย่างนี้ก็ได้ ขับถ่ายอยู่ วันนี้ถ่ายไม่ค่อยออกเลย ใจมีความทุกข์ นี่เห็นไหมแค่จะอึนะ ออกมา เข้ามาที่เวทนานุปัสสนาแล้ว อึไม่ออก โอ้ ทุกข์ วันนี้อึดีจังเลย คล่องแคล่ว ว่องไว มีความสุข เห็นความสุขเกิดขึ้น เพราะว่าขับถ่ายได้ เห็นไหมความสุขนี้ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง ตอนถ่ายยังไม่ออก ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ พอขับถ่ายได้ ความทุกข์หายไป กลายเป็นความสุข แล้วถ่ายไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด จากความสุขกลายเป็นทุกข์อีกแล้ว

เห็นไหมแค่จะอึ ดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตใจก็ได้ อึไม่ออกกลุ้มใจ รู้ว่ากลุ้มใจ นี่จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อึได้สบายใจ เพลิดเพลินยินดี ชอบอกชอบใจ นี่ก็จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นอย่านึกว่า การภาวนานั้นมันยุ่งยากซับซ้อนอะไร ขอให้ทำให้เป็น มันทำได้ทั้งวัน นี่ยกตัวอย่างของที่แย่ที่สุด แค่อึอย่างเดียว กายานุปัสสนาก็ได้ เวทนานุปัสสนาก็ได้ จิตตานุปัสสนาก็ได้ ถ้าปัญญาแก่รอบจริง มันก็ขึ้นธัมมานุปัสสนาอีก ก็เห็นเลยว่า ร่างกายก็เป็นแค่สภาวธรรม เวทนาก็สักแต่ว่าสภาวธรรม สัญญา สังขาร จิต ก็สักแต่เป็นสภาวธรรม ทำหน้าที่ของมันไป

เพราะฉะนั้นถ้าเราจับหลักการปฏิบัติให้แม่น แล้วเราจะไม่มีคำว่าไม่มีเวลา แล้วอยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ อยู่ตรงไหนก็มีความสุข มีความสงบจากการภาวนาได้ แล้วถ้าปัญญาเกิด เราก็มีความสุขจากการมีปัญญา ถ้ามรรคผลเกิด เราก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นๆ เป็นลำดับไป

อย่าน้อมจิตไปแปะนิ่งๆ อยู่ ถ้าอย่างนั้นไม่ถูก อย่าแต่งจิตให้นิ่ง ไม่ดี รู้สึกร่างกายไว้ ขยับร่างกายไว้ อย่าทิ้งร่างกาย รู้สึกร่างกายไว้ รู้สึกร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง รู้สึกอย่างนี้บ่อยๆ จิตมันจะได้มีกำลังขึ้น ลำพังดูลม ดูร่างกายหายใจ มันละเอียดไป ดูร่างกายเคลื่อนไหวไว้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 มีนาคม 2567