วันอาทิตย์แปลก ดูญาติโยมมาวัดดูดีกว่าวันเสาร์ วันเสาร์ดูฟุ้งๆ ถ้าทำให้ได้เหมือนวันนี้ทุกวันจะพัฒนาเยอะเลย ส่วนมากภาวนากันแบบฉาบฉวย ทำบ้างไม่ทำบ้าง ขี้เกียจบ้าง ผัดวันประกันพรุ่งบ้าง เลยเอาดียาก เจริญแล้วก็เสื่อมๆ ก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติให้มันเด็ดขาดลงไป ถือศีล 5 ไว้ให้ดี สำคัญ ศีลเสียสมาธิก็เสีย สมาธิเสียเจริญปัญญาไม่ได้ เมื่อศีลเราดี จิตใจเรามีความสุข อย่างบางคนเคยอดเหล้า กินเหล้าทุกวันแล้วก็อดเหล้าตอนเข้าพรรษา ต้องออกพรรษาแล้วอย่าไปกินเหล้าอีก นึกถึงว่าได้อดเหล้ามา 3 เดือนแล้ว จิตใจมันจะอิ่มเอิบมีความสุข แล้วจะมีกำลังที่จะปฏิบัติต่อไป ฉะนั้นอย่าตามใจกิเลส อย่ายอมผิดศีล ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติทุกวันๆ
เบื้องต้นก็ถือศีล 5 ข้อไว้ก่อน ทุกวันทำในรูปแบบ ต้องทำ อยู่ๆ จะมาเจริญสติในชีวิตประจำวัน ยาก กำลังไม่ค่อยพอหรอก หลวงพ่อตั้งแต่เด็ก 7 ขวบ ทำสมาธิทุกวัน ทำอยู่ 22 ปี ไม่เว้น ทำทุกวัน มีเวลาเมื่อไรก็ทำ บางทีอยู่ที่โรงเรียนมีเวลาว่างๆ อย่างตอนเย็นๆ ยังไม่ได้กลับบ้าน ไปนั่งสมาธิริมสนามนั้นล่ะ สนามหน้าโรงเรียน มีเวลาเมื่อไรก็ภาวนา ฉะนั้นจิตมันจะมีสมาธิมาก ทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา แต่มันไปต่อไม่เป็น ยังเดินปัญญาไม่เป็น
น้อมกลับเข้ามาที่ใจตัวเองให้ได้
แล้วการปฏิบัติจะลัดสั้น
พอจิตเรามีสมาธิมากพอ เจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ท่านพิจารณาแล้ว ให้หลวงพ่อดูจิตไปเลย หลวงปู่ดูลย์ไม่ใช่เป็นพระที่สอนให้ทุกคนดูจิต อย่าเข้าใจผิด แต่คำสอนที่โดดเด่นของท่านคือเรื่องของการดูจิตเพราะครูบาอาจารย์อื่นไม่ค่อยสอน ลูกศิษย์จำนวนมากของท่าน บางคน บางท่านเริ่มแค่จากพุทโธ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ แล้วค่อยสังเกตว่าพุทโธเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตมันเป็นผู้รู้เป็นพุทโธ เป็นผู้ท่องพุทโธ นี่สอน บางคนท่านก็สอนให้ดูผม ดูกระดูก พิจารณากาย แต่หลวงพ่อสมาธิมันพอแล้ว ท่านบอกให้ดูจิตเอา คำสอนที่ดูจิตประโยคเดียว “ให้อ่านจิตตนเอง” คีย์เวิร์ด “ให้อ่านจิตตนเอง” ไม่ได้ให้ทำอะไร ให้อ่าน จิตเราเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้นไป หลวงพ่อดูได้
ทีแรกดูไม่เป็นก็ไปทำจิตให้ว่างๆ ทำสมาธิ จิตก็ว่างๆ เสียเวลาทำผิดอยู่ 3 เดือน ไปทำจิตให้ว่าง ไปหาท่านครั้งที่สอง ไปส่งการบ้าน ท่านบอกทำผิดแล้ว ให้ไปดูจิต ไม่ใช่ให้ไปดัดแปลงทำจิตให้ดี ให้ว่าง ให้สงบ ให้สุขอะไรอย่างนี้ จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง ให้ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของมันไป หลวงพ่อก็เลยมาลงมือทำใหม่ อ่านจิตตนเอง จิตของเรามีความเปลี่ยนแปลงเสมอ เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เวลาตาเราเห็นรูป จิตเราก็เปลี่ยน หูได้ยินเสียง จิตก็เปลี่ยน จมูกได้กลิ่น จิตก็เปลี่ยน ลิ้นกระทบรส จิตก็เปลี่ยน กายกระทบสัมผัส จิตก็เปลี่ยน ใจไปคิดนึก จิตก็เปลี่ยน
เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตมันตามหลังผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างเห็นผู้หญิงสวยๆ เห็นผู้หญิงสวยๆ ใจมันชอบ มันมีราคะ เรารู้ว่ามีราคะ เห็นหมาขี้เรื้อนวิ่งเข้ามา ใจรังเกียจ อันนี้เป็นโทสะ รู้ว่าใจมีโทสะ อย่างนี้เรียกว่าอ่านจิตตนเอง จิตมันมีราคะ เราก็รู้ว่ามันมีราคะ จิตมันมีโทสะ เราก็รู้ว่ามันมีโทสะ ให้ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ ที่จริงแล้วการปฏิบัติไม่ได้ต้องมาเริ่มต้นด้วยการดัดแปลงตัวเองให้ผิดธรรมชาติธรรมดา คนที่ไม่ปฏิบัติ ตาเขาก็มองเห็นรูป หูเขาก็ได้ยินเสียง จมูกเขาก็ได้กลิ่น ลิ้นเขาก็ได้รส กายเขาก็กระทบสัมผัส ใจเขาก็คิดนึก คนทั่วๆ ไปเป็นอย่างนี้ นักปฏิบัติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็กระทบอารมณ์ เหมือนคนธรรมดานั่นล่ะ ไม่ต้องผิดธรรมดา แล้วก็ไม่ต้องทำใจให้แข็งๆ ทื่อๆ นิ่งๆ ใจก็ให้มันเป็นใจธรรมดา ไม่ต้องไปดัดแปลงมัน
ความแตกต่างระหว่างคนปฏิบัติกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติมีนิดเดียว อย่างคนที่ไม่ปฏิบัติเวลาเขาเห็นผู้หญิงสวย ใจเขาเกิดชอบ เขาไม่เห็นว่าใจตัวเองชอบ เขาก็มัวแต่ตามดูผู้หญิงสวย หรือเป็นผู้หญิงเห็นผู้ชายหล่อ ใจมันชอบ เขาไม่เห็นว่าใจกำลังชอบ เขาก็มัวตามดูหนุ่มหล่อ สำหรับนักปฏิบัติ ตาเห็นผู้หญิงสวย ใจชอบ รู้ว่าใจชอบ ผิดกันนิดเดียว คือคนทั่วไปที่ไม่ปฏิบัติมันจะรู้ออกไปข้างนอก ไปรู้ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่สัมผัสร่างกาย แล้วก็ไปรู้เรื่องราวที่คิด ส่วนนักปฏิบัติรู้กลับเข้ามาข้างใน น้อมกลับเข้ามาเรียนรู้อยู่ข้างใน ตาเห็นรูป
คนอื่นเขามัวแต่ดูรูป เราเห็นว่าจิตชอบ หูได้ยินเสียง เสียงแตรรถดังๆ ไปบางที่บางประเทศ โอ๊ย กดแตรดังสนั่นหวั่นไหว ได้ยินแล้วรำคาญ คนทั่วไปรำคาญอะไรก็จะไปมองคนนั้น มองสิ่งที่ทำให้รำคาญ ในขณะที่นักปฏิบัติจะย้อนมาที่จิตตัวเอง จิตเรากำลังมีโทสะ รำคาญ มันกลับข้างกัน คนทั่วไปมันหลงแต่อายตนะภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่มาสัมผัสร่างกายแล้วก็เรื่องราวคิดนึกทางใจ ในขณะที่นักปฏิบัติย้อนกลับเข้ามาที่ใจตัวเอง ตาเห็นรูปแล้วจิตมันชอบ จิตมันไม่ชอบ จิตมันเกิดราคะ จิตมันเกิดโทสะ จิตมันเกิดสุข จิตมันเกิดทุกข์ ก็รู้เท่าทันที่จิตใจตนเอง
หลวงพ่อยกตัวอย่างให้ฟังบ่อยๆ คนไทยขับรถไม่ดี แต่ก็ดีกว่าหลายๆ ประเทศ แต่ว่าก็ยังถือว่าไม่เรียบร้อย อย่างคนญี่ปุ่นขับรถเรียบร้อย คนนิวซีแลนด์อะไรเขาขับรถเรียบร้อย คนไทยไม่เรียบร้อยเท่าไร คอยขับปาดซ้ายปาดขวา บางคน ไม่ใช่ทุกคน ส่วนน้อยด้วย อย่างเราขับรถในมอเตอร์เวย์ เราจะเห็น คนอื่นเขาก็ขับกันดีๆ จะมีส่วนน้อยมันปาดไปปาดมา รีบ เวลาเราเห็นคนมาขับรถปาดหน้าเรา ใจเราโกรธ คนที่ไม่ปฏิบัติจะตามมองคนที่มาปาดหน้าเรา บางทีโมโหมาก ก็จะไปปาดคืน รีบขับรถไปแข่งกับเขา จะไปปาดหน้าเขาคืน เห็นไหมมองอะไร ตาเห็นคนมาปาดหน้าเรา เราก็ไปมองคนที่ขับรถปาดหน้าเรา คนทั่วไปมันเป็นอย่างนี้ ถ้านักปฏิบัติถูกปาดหน้า ใจโกรธ รู้ว่าโกรธ กลับข้างกัน น้อมกลับเข้ามาที่ใจตัวเองให้ได้ แล้วการปฏิบัติมันจะลัดสั้นนิดเดียวล่ะ
หูได้ยินเสียง อย่างมีเสียงเพลงเพราะๆ คนทั่วไปมันก็จะเพลินๆ มีความสุข บางทีคิดถึงเรื่องราว ฟังเพลงเพราะๆ ก็คิดถึงสมัยมีความสุข ฟังเพลงเศร้าๆ คิดถึงตอนอกหักในอดีตอะไรอย่างนี้ มัวหลงไปอยู่ในโลกของความคิด ถ้าเราได้ยินเสียงเพลงนี้ เพลงนี้ชอบ รู้ว่าชอบ เพลงนี้ไม่ชอบ ฟังแล้วรำคาญ รู้ว่ารำคาญ รู้เข้ามาที่ใจตัวเอง กินอาหาร คนทั่วไปถ้าเจอของอร่อยก็เมามัน กินเอาๆ ชอบ ไม่เห็นว่าชอบ นักปฏิบัติกินอาหาร เจออาหารที่ถูกใจ อร่อย ชอบ รู้ว่าชอบ มันกลับข้างกันนิดเดียว
การปฏิบัติธรรมเป็นการเปลี่ยนจุดที่มอง
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่มนุษย์พิเศษหรอก ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง มันก็เกิดสุขเกิดทุกข์เหมือนคนทั่วไปนั่นล่ะ แต่คนทั่วไปไม่เห็น เราเห็นว่าใจเรามีความสุข ความทุกข์ กระทบแล้วเกิดกุศลบ้าง เกิดอกุศลบ้าง คนอื่นเขาก็เกิด คนที่ไม่ปฏิบัติเขาก็เกิด เราก็เกิด คนทั่วไปมันไม่เห็นแต่ว่าเราเป็นนักปฏิบัติ เราก็เห็น ตอนนี้ใจเป็นกุศล ใจเป็นอกุศล ความต่างมันนิดเดียวเท่านี้ล่ะ
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องลึกลับ มันเป็นการเปลี่ยนจุดที่มอง แทนที่จะมองออกไปข้างนอก ก็มองย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้แล้วมันจะไปได้อย่างรวดเร็ว พอเราเรียนรู้ลงที่จิตใจบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความจริง จิตใจนี้มันเป็นไตรลักษณ์ จิตใจมันเป็นไตรลักษณ์ เวลามันมีความสุข มันมีความทุกข์ หรือมันเป็นกุศล หรือมันโลภ โกรธ หลงก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ชั่วคราว ความสุข จิตใจมีความสุข ก็สุขชั่วคราว จิตใจมีความทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว จิตใจเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชั่วคราว จิตใจโลภ โกรธ หลง ก็โลภ โกรธ หลงชั่วคราว เราเห็น อย่างนี้เรียกว่าเห็นอนิจจัง
หรือบางทีเราทำสมาธิ จิตเราสงบสบาย นิ่งๆ ว่างๆ แล้วเราก็พบว่าสมาธิของเรากำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป เสื่อมสลาย จากจิตที่ทรงสมาธิ สมาธิก็เริ่มหมดไปๆ ในที่สุดจิตก็หลุดออกมาอยู่ข้างนอก ฉะนั้นจิตที่ทรงสมาธิก็ทรงอยู่ไม่ได้ตลอดกาล อยู่ได้ชั่วคราวก็ถูกผลักดันให้หลุดออกมาจากสมาธิ นี่มันทนอยู่ไม่ได้ หรือเราเห็นว่าจิตมันเป็นอนัตตา จิตเราสั่งให้สุขก็ไม่ได้ เราห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ ตรงที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับเรียกว่าเราเห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการที่เราย้อนกลับเข้ามาที่จิตแทนที่จะหลงไปที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ทั้งหลาย ย้อนกลับมาที่จิตใจตัวเอง เราก็จะเห็นจิตใจนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ธรรมะมันอยู่ตรงนี้เอง มันไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก ย้อนกลับเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนหลวงพ่อไปเทศน์ที่ มสธ. ก็ยังพูดเลยว่าการปฏิบัติเริ่มที่จิตแล้วก็จบลงที่จิต เริ่มที่จิตก็อย่างที่ว่านี่ล่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์อย่างไร จิตมีความเปลี่ยนแปลงอะไร เรียนรู้มันไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าจิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล แล้วต่อมาปัญญามันแก่กล้าขึ้น มันก็เห็นว่าจิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตดีก็ไม่เที่ยง จิตชั่วก็ไม่เที่ยง การปฏิบัติถ้าเริ่มต้นตัดตรงเข้ามาถึงจิตถึงใจได้ การปฏิบัติจะลัดสั้น เพราะกุศลก็เกิดที่จิต อกุศลก็เกิดที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต นิพพานก็รู้ด้วยจิต ฉะนั้นจิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นเรียน ถ้าสามารถตัดตรงเข้ามาอ่านจิตอ่านใจตัวเองได้ เข้ามาเลย ไม่ต้องอ้อมค้อม
แต่บางคนทำไม่ได้ จิตใจมันฟุ้งซ่านมาก ไม่มีกำลังพอ อ่านจิตตัวเองไม่ออก จิตกำลังฟุ้งซ่านก็ดูไม่ออก จิตกำลังหงุดหงิดก็ดูไม่ออก จิตกำลังอยากพูดก็ดูไม่ออก ถ้าดูไม่ออกก็รู้สึกร่างกายไปก่อน รู้สึกร่างกาย รู้สึกอย่างไร อันแรกเลย รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้สึกด้วยใจธรรมดาๆ ไม่ต้องทำใจให้เครียดๆ เคร่งๆ ขรึมๆ อะไรหรอก แล้วก็ไปเพ่งไปจ้อง อย่างนั้นใช้ไม่ได้ อย่างขณะนี้ร่างกายเรานั่งอยู่ เราก็รู้สึก รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย ร่างกายมันหายใจเราก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย ขั้นต้น รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย ไม่ใช่เพ่งร่างกาย ไม่ใช่คิดเรื่องร่างกาย แล้วต่อมามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในร่างกายแล้วค่อยรู้เอา อันนี้ขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่ง
ขั้นแรกรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย แล้วต่อไปก็จะรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เป็นไตรลักษณ์ของร่างกาย การที่เราคอยรู้สึกกายๆ อยู่ บางทีจิตมันมีกำลังขึ้นมา บางคนทำสมาธิทำฌานไม่เป็น เวลาจิตฟุ้งซ่าน อย่าฝืนไปดูจิต ให้รู้สึกร่างกาย ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึก รู้สึกถึงความมีอยู่ของมัน ไม่ต้องเพ่ง อย่างหลวงพ่อยกมืออย่างนี้ รู้สึกถึงความมีอยู่ของมัน รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของมัน ไม่ใช่เพ่ง ทำใจเคร่งเครียดแล้วรู้สึก เคร่งเครียดแล้วรู้สึก อย่างนี้ใช้ไม่ได้
การที่เราคอยรู้สึกร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตมันจะค่อยๆ มีแรงขึ้นมา เพราะเราไม่คิดมาก จิตที่มันไม่มีแรง เพราะมันฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ทำงานหนัก มันก็หมดแรง เราก็ให้จิตได้พักผ่อน มาแค่รู้สึกร่างกายนี้ เป็นอารมณ์อันเดียวที่จิตมารู้สึก ร่างกายมีอยู่ รู้สึก หันซ้าย หันขวา รู้สึก ถ้ารู้สึกอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตไม่วิ่งพล่านไปอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็มีกำลังขึ้นมา ไม่ได้ใช้พลังงานมาก รู้อารมณ์อันเดียว จิตจะชาร์จตัวเอง
อย่างคล้ายๆ มือถือ ถ้าเราเสียบสายชาร์จไปด้วยแล้วก็เล่นไปด้วย เมื่อไรมันจะเต็ม มันก็ไม่เต็มสักที มือถือโอกาสที่จะชาร์จให้มันเต็มทำไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเราไม่เล่น คือไม่พาจิตไปคิดนึกปรุงแต่ง ชาร์จมันอย่างเดียวเลย รู้สึกอยู่ในอารมณ์อันเดียว รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย การที่เรารู้อารมณ์อันเดียว จิตมันจะชาร์จตัวเองได้รวดเร็ว มันจะมีแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเลย พอจิตมันมีกำลังขึ้นมาแล้ว ต่อไปเราจะอ่านจิตตัวเองง่าย เพราะจิตมันมีแรงพอ หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อดูจิต เพราะจิตหลวงพ่อมีแรงพอแล้ว ทำสมาธิอยู่ตั้ง 22 ปี ฉะนั้นจะมาดูจิตเลยไม่ใช่เรื่องยาก
พวกเราถ้าสมาธิยังไม่มี ต้องฝึกให้มีสมาธิเสียก่อน ทำกรรมฐาน เข้าฌานไม่เป็น แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย แค่นี้สมาธิก็เกิดแล้ว หรือบางคนมันขี้โมโหมาก เจอคนๆ นี้เกลียดที่สุดเลย รู้สึกเขาทำทุกสิ่งทุกอย่างเลวทุกเรื่อง อย่างนี้จะให้ดูว่าจิตกำลังโกรธ ดูไม่ออกแล้ว ก็ทำสมถะก่อน อย่างบางคนดูกายไม่ชอบๆ การทำสมถะ มีวิธีเยอะแยะไป ใช้อารมณ์ที่ตรงข้ามกับสิ่งที่กำลังมีกำลังเป็นก็ได้ อย่างเราเกลียดคนๆ นี้มาก เราก็หัดมองคนๆ นี้ใหม่ มองอีกมุมหนึ่ง ทำไมเขาเป็นอย่างนี้ ลองนึกดู ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ในเงื่อนไขแบบเดียวกับเขา เราจะทำอย่างไร เราจะพบว่า เฮ้ย เราก็จะทำแบบเขาเหมือนกัน บางทีเรา เอ๊ะ เราก็ไม่ได้ดีอะไรกว่าเขาหรอก ความจำเป็นเกิดขึ้น บีบคั้นเกิดขึ้น เราก็จะทำแบบเดียวกับเขานั่นล่ะ ไม่ได้ต่างกัน
หรือบางคนนิสัยไม่ดี เรารู้สึกเขาไม่ดีมากๆ เลย เป็นคนย้ำคิดย้ำทำ อย่างถ้าเราเป็นลูกน้องของเจ้านายที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ โรคไม่มีความมั่นใจในตัวเอง โอ๊ย เราโกรธ เราเกลียด เราเปลี่ยนมุมมอง แทนที่จะมองเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ลองเอาจิตใจของเขาเป็นตัวตั้ง โอ้ ชีวิตเขาลำบาก ชีวิตเขาผจญสิ่งที่เลวร้ายมามากมาย อย่างเขาเกิดในยุคสงครามโลก ชีวิตเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ลูกระเบิดมาลงเรื่อยๆ อะไรอย่างนี้ ฉะนั้นชีวิตเขารู้สึกไม่มั่นคงเลย เต็มไปด้วยความหวาดระแวง เต็มไปด้วยความหวาดกลัว
พอเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ภาษาไทยมี เอาใจเขามาใส่ใจเราปุ๊บ หายโกรธเลย เข้าใจ เข้าใจเขา พอเราเข้าใจเขา เราก็เลยไม่โกรธเขา เห็นอกเห็นใจเขาเสียอีก เมตตามันเกิด ทีแรกมีโทสะ พอเอาใจเขามาใส่ใจเรา ความเมตตาเกิดขึ้น ความเมตตาอันนี้ ถ้าจิตเราทรงความเมตตาอยู่ เราจะได้สมาธิ แล้วเป็นสมาธิระดับสูงถึงอรูปฌานได้ อย่างถ้าเรารู้ร่างกาย ความมีอยู่ของร่างกาย ความเคลื่อนไหวของร่างกาย ถ้าสมาธิมันเกิด มันเข้าถึงรูปฌานได้ ฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์
แต่อย่างถ้าเราเจริญเมตตา เจริญเมตตาไม่ใช่นั่งท่องเอา เมตตาๆ เมตตา คุณณัง อะระหัง เมตตา พุทธะ เมตตัง จิตตัง มะมะ โอ๊ย สารพัดจะท่อง อย่างนั้นยังไม่ค่อยเมตตา แต่ถ้าเอาใจเขามาใส่ใจเราเมื่อไร เมตตาเลย เกิดอย่างรวดเร็วแล้วก็ยืนนานด้วย ไม่ใช่ โกรธเขาแล้วก็เมตตาๆๆ บริกรรมเรื่อยๆ แล้วก็ลืมคิดถึงเขามันก็หายโกรธ ประเดี๋ยวพอเห็นหน้าเขาก็โกรธใหม่ แต่ถ้าเอาใจเขามาใส่ใจเราปุ๊บ มันจะเลิกโกรธเลย มันจะเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วโกรธไม่ลง พอใจเรามีเมตตาเกิดขึ้น แล้วเราอยู่กับความรู้สึกเมตตาไป บางทีจิตรวมเข้าถึงอรูปฌาน เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ ถึงอรูปฌานที่สามได้ จิตว่าง ปล่อยวางหมด
ตอนที่ดูจิตไม่ได้ ให้หาทางเพิ่มกำลังของสมาธิ
เราก็ต้องรู้จักเทคนิค สังเกตตัวเอง ถ้าตอนไหนที่เราดูจิตไม่ได้ เราก็หาทางเพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นมา ง่ายๆ เลยก็ดูร่างกาย ร่างกายมีอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหว จิตจะได้พักอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่วอกแวก จิตก็จะมีแรง พอจิตมีแรงมันก็อ่านจิตตัวเองออก อุ๊ย จิตตอนนี้อยากพูดแล้วอะไรอย่างนี้ ก็จะอ่านออก ถ้าจิตไม่มีแรง ฟุ้งซ่านอยู่ จิตเป็นอะไรก็อ่านไม่ออก
บางคนไม่ชอบดูกายก็ทำกรรมฐานอย่างอื่นที่เราทำได้ ขี้โมโหก็อาจเจริญเมตตา หรืออยู่กับลมหายใจ อยู่กับอานาปานสติ หรือถ้าราคะมันรุนแรงก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะ อย่างสมมติว่าเราชอบผู้หญิงสักคนหนึ่ง อุ๊ย มันหลงรักมากเลย แถมเขาก็มีสามีแล้วด้วย ยังจะไปรักเมียชาวบ้านเขา ทำอย่างไรก็ไม่หาย ต้องพิจารณาลงไป โอ๊ย เขาสวยตรงไหน ผู้หญิงคนหนึ่งมันสวยที่ไหน มันสวยตรงที่เรามองเห็นนั่นล่ะ แล้วเรามองเห็นอะไรในตัวเขา เรามองเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของเขาเท่านั้น ลึกกว่านั้นไม่เห็นหรอก
ลองนึก มองหน้าคนใกล้ๆ เราก็ได้ เราเห็นอะไรเขา เราเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังของเขาเท่านั้นเอง คือสิ่งที่ห่อหุ้มร่างกายอยู่ หลงรักเขามากก็มองลงไป เอ๊ะ ผมมันสวยจริงไหม มันเป็นเส้นๆ มันต่างกับขนหมาตรงไหน อ๋อ มันนิ่มกว่าขนหมา มันต่างกับขนแมวตรงไหน อ๋อ มันแข็งกว่าขนแมว ดูแล้ว มันก็สัตว์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง สกปรก หมาไม่อาบน้ำก็เหม็น เราสาวงามอะไรอย่างนี้ไม่อาบน้ำไม่สระผมก็เหม็นเหมือนกัน ดูอย่างนี้มันก็ข่มราคะได้ ถ้าข่มราคะได้ กามราคะไม่เกิดในขณะที่จิตยังทรงสมาธิตัวนี้อยู่ แต่พอสมาธิในการพิจารณาปฏิกูลอสุภะเสื่อม ราคะก็กลับมาใหม่
บางคนก็คิดว่า เอ๊ะ ถ้าเราพิจารณาอสุภะทั้งวันทั้งคืน พิจารณาไปเรื่อยๆ จิตเราก็ไม่มีกามราคะ เราก็เป็นพระอนาคามีสิ ไม่เป็นหรอก อนาคามีไม่ได้เป็นด้วยการพิจารณาอสุภะ ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์ ต้องเห็นไตรลักษณ์ ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเห็นอย่างถ่องแท้ จิตถึงจะละกิเลสได้จริงๆ ไม่ใช่ข่มกิเลส การพิจารณาปฏิกูลอสุภะ เป็นการข่มกิเลส แต่การเห็นไตรลักษณ์จะช่วยล้างกิเลสได้จริง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฝึกจิตฝึกใจของเรา ถือศีล 5 ไว้ ทำในรูปแบบทุกวัน ขี้โมโหก็อาจจะเจริญเมตตา ฟุ้งซ่านมากก็อาจจะรู้ลมหายใจ ราคะแรงอาจจะพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ
สมถกรรมฐานมีอารมณ์ให้เราเลือกทำได้เยอะแยะไปหมดเลย ในตำราบอกมี 40 อย่าง แต่เอาเข้าจริงมันเกินนั้นอีก กลางคืน ถ้าใครไม่เคยอยู่กลางแจ้งตอนกลางคืน ลองออกมาอยู่ แต่ในกรุงเทพฯ มันทำไม่ได้หรอก อย่างอยู่ที่วัดกลางคืน ออกมาอยู่กลางแจ้ง โอ้ มีเดือนมีดาว อากาศก็เย็นสบาย มีแสงเดือน มีแสงดาว มีความสงบ มีความสงัด แค่ออกมาอยู่ในที่สงบสงัด จิตก็มีความสุขแล้ว พอจิตมีความสุข สมาธิก็เกิดง่าย ถ้าเราไม่เพลิน มีความสุข เรารู้ว่ามีความสุข จิตก็สงบแล้ว
เพราะฉะนั้นคนหัดใหม่ สถานที่สัปปายะก็ยังจำเป็นอยู่ แต่ถ้าเราเลือกไม่ได้ เราต้องอยู่ในเมือง ก็พยายามฝึกตัวเองให้มันอยู่ได้ในทุกที่ กรรมฐานจะมาเก่งตอนอยู่ป่าอยู่วัด ยังใช้ไม่ได้จริงหรอก อยู่ที่ไหนก็ต้องฝึกตัวเองให้ได้ อย่างหลวงพ่อชอบดูน้ำ เห็นน้ำ เมื่อก่อนบ้านอยู่ริมคลอง คลองในกรุงเทพฯ แต่ก่อนมันก็ไม่ได้เน่าหรอก เวลาระลอกน้ำมันพลิ้วพัด น้ำมันก็จะพลิ้วๆ ลมมันพัด ระลอกน้ำพลิ้วๆ ดูแล้วสบายใจ ใจสงบ หลับตาลงก็เห็นระลอกน้ำพลิ้วๆๆ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่านั่นเป็นกสิณน้ำ แต่ดูไปเรื่อย มันเป็นภาพติดตา แล้วใจมันก็สงบรวมลงมา
สมถกรรมฐานมีอารมณ์เยอะแยะเลย สารพัด เพราะฉะนั้นเราไปดูตัวเองว่าเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอันนั้น เราก็มีความสุข หรือบางทีบางวัน ทำงานมากๆ จิตฟุ้งซ่าน อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดเพราะเหนื่อย หลวงพ่อนึกถึงหลวงปู่ดูลย์ นึกถึงหลวงปู่ พอนึกถึงครูบาอาจารย์จิตใจสงบร่มเย็นเลย นี่ก็เป็นสมถกรรมฐาน ฉะนั้นสมถกรรมฐานมีอารมณ์ให้เลือกเยอะแยะไปหมด ก็ไปสังเกตตัวเองว่าเราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ อยู่แล้วจิตใจมันได้พักผ่อน ไม่วอกแวกไปหลายๆ อารมณ์ อยู่ในอารมณ์อันเดียว
พอจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว มันก็ได้ชาร์จพลัง จิตก็จะมีแรงขึ้นมา พอจิตมีแรงขึ้นมา ถ้ามีแรงมากพอ ดูจิตใจ อ่านจิตใจไปเลย จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ ถ้าแรงยังไม่พอ เราก็ดูร่างกายไป เห็นร่างกายมีอยู่ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว คู้ เหยียด เห็นร่างกายกินอาหาร เห็นร่างกายขับถ่าย ดูเรื่อยๆ ไป ก็จะเห็นร่างกายเหมือนโรงงานโรงหนึ่ง เอาวัตถุดิบใส่เข้าไป ใส่เข้าไปทางปากทางจมูกนี่ล่ะ ผลผลิตที่ได้ก็ออกมาทางทวารทั้งหลาย ผลผลิตโรงงานนี้วิเศษมากเลย เอาไก่ย่างใส่เข้าไป ออกมาเป็นอึอย่างนี้ รู้สึกๆ เห็นมันเป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่มีสาระไม่มีแก่นสารอะไร อย่างนี้ก็ใช้ได้ คือถ้าดูจิตไม่ออก ดูกายไปเลย ให้เห็นมันเป็นไตรลักษณ์ แต่ถ้าจิตไม่มีแรง ทำสมถะๆ ไป
ไม่ยากหรอก ไม่ยาก ยิ่งถ้าจิตเรามีกำลังพอ ดูจิตไปเลย การดูจิตก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทัน ไม่ใช่ไปดัดแปลง จิตมีความโกรธเกิดขึ้น ไม่ต้องหาทางทำให้หายโกรธ จิตมีความรักเกิดขึ้น ไม่ต้องหาทางทำให้หายรัก จิตหลงก็ไม่ต้องโมโหตัวเองว่าทำไมหลงบ่อย จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้ด้วยความเป็นกลาง คือไม่ยินดีกับมัน ไม่ยินร้ายกับมัน ถ้ารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นจิตมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ พอเห็นจริงมันจะวาง วางจิต
อริยมรรคอริยผลเกิดที่จิต
เวลาเราปฏิบัติ บางคนเริ่มจากดูกาย เจริญปัญญาด้วยการดูกาย บางคนเริ่มจากเวทนา บางคนดูจิตที่เป็นกุศลอกุศลอะไรอย่างนี้ แต่เวลาที่เราจะตัดกิเลส จิตรวมลงที่จิต ไม่ว่าจะเริ่มต้นมาจากกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม เวลาที่จะเกิดอริยมรรคมันเกิดที่จิต ขณะที่เรารู้กายๆ นี่ล่ะ แต่เวลาที่อริยมรรคจะเกิด เกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่กาย กิเลสไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย
เพราะฉะนั้นอย่างเราดูร่างกาย หรือเราดูเวทนา สุข ทุกข์ในกายในใจ หรือดูจิตที่เป็นกุศล อกุศล ดูเห็นเกิดดับๆ ไปเรื่อย ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กายก็อยู่ในไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ในไตรลักษณ์ สังขารปรุงดีปรุงชั่วก็อยู่ในไตรลักษณ์ เห็นซ้ำๆๆ ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะรวมเข้ามา แล้วมันสรุปได้เองว่าทุกสิ่งทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สภาวะทั้งหลายสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจะรวมเข้ามาที่จิตแล้วเกิดปัญญาตัวนี้ขึ้นมา ไม่ใช่คิด ไม่ใช่ความคิด แต่จิตมันจะเข้าใจขึ้นมา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา พอความรู้ตัวนี้เกิดขึ้น อริยมรรคก็เกิดขึ้น อริยผลก็เกิดขึ้นทันที เพราะฉะนั้นเกิดที่จิตนั่นล่ะ
อาสวกิเลสที่มันห่อหุ้มจิตอยู่มันเหมือนเปลือกหุ้มจิต แล้วมันซึมซ่าน หมักดอง ย้อมอยู่ในจิต มันจะถูกอาสวะทำลายออกไป มันจะแยกตัวออกไปจากจิต เหมือนเรามีบ่อน้ำ เหมือนเราไปเจอบ่อน้ำ แล้วบ่อน้ำนี้มี รู้จักแหนไหม แหน เขียวๆ เล็กๆ บางทีมันขึ้นเต็มบ่อเลย จนมองไม่เห็นน้ำ เรามีก้อนหินใหญ่ๆ ทุ่มโครมลงไป น้ำก็แหวกออก แหนเล็กๆ กระจายออกไป เราก็มองเห็นน้ำ ตอนที่อริยมรรคเกิดครั้งที่หนึ่ง มันก็จะแหวกออกไป เราก็จะเห็นตัวจิตจริงๆ ไม่ใช่จิตที่ถูกปกคลุมห่อหุ้มด้วยจอกแหน คืออาสวกิเลส จะเห็นตัวจริงของมัน ตัวจริงของมันใส กว้าง ไม่มีตัวมีตนอะไรหรอก
แล้วในไม่กี่ขณะจิต จอกแหนนี้ก็เข้ามาปิด อาสวะก็กลับเข้ามาปิดจิตอีก เราก็ทำสมถะ ทำวิปัสสนาของเราต่อไปอีก จนเราแหวกครั้งที่สอง แหวกออกไปแล้วมันก็เข้ามาปิดอีก ครั้งที่สามก็เข้ามาปิดอีก หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ครับ หลวงปู่ท่านใช้คำว่าจิตยิ้ม คือพอแหวกออกมา ธรรมชาติเดิมของจิตมันรู้ มันตื่น มันเบิกบานเต็มที่เลย หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกจิตยิ้ม ถามท่าน “หลวงปู่ครับ จิตยิ้มมันต้องเกิดกี่ครั้งครับ” หลวงปู่ก็นับ 1 2 3 ไม่ใช่ 1 2 3 4 – 4 ครั้ง พอครั้งที่สี่ มันเหมือนอุกกาบาตชนใส่เลย ตูม สลายไปหมดเลย แล้วไม่มีจอกแหนอะไรจะกลับมาปกปิดจิตใจได้อีกต่อไป จิตหลุดพ้นจากอาสวะ
จิตหลุดพ้นจากอาสวะได้เพราะอะไร เพราะความไม่ถือมั่น หมดความยึดถือในขันธ์ 5 หมดความยึดถือในขันธ์ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมดความยึดถือในจิต ในบรรดาขันธ์ 5 เวลาหมดความยึดถือ ไม่ได้หมดพร้อมกัน มันจะหมดความยึดถือในตัวรูปไปก่อน ภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี จะหมดความยึดถือในร่างกาย ในรูป แล้วภาวนาเรื่อยๆ ไป จะหมดความยึดถือในจิตในขั้นสุดท้าย พอหมดความยึดถือในจิต เรียกว่ารู้แจ้งแล้วว่าขันธ์ 5 รวมทั้งจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ นี่รู้อริยสัจ รู้อริยสัจ 4 ขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ รูป นาม กาย ใจ ก็คือตัวทุกข์ พอเห็นแจ้งอย่างนี้มันจะวาง ขันธ์ 5 ซึ่งเราเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พอถึงจุดที่มันวางแล้ว มันจะแปรสภาพเป็นว่าง มันมีอยู่แต่มันว่าง ไม่ใช่ไม่มี มีอยู่แต่ว่าง อย่างมองอย่างนี้ มีคนเยอะแยะ แต่ถ้าจิตมันหลุดพ้นไปแล้ว จิตมันวาง ปล่อยวางจิตได้แล้ว มันจะรู้สึกมันว่าง แล้วความว่างนี้ไม่เคยหายไปไหน ความว่างนี้ทั้งโลกธาตุ ตัวนี้ก็ว่าง จิตใจนี้ก็ว่าง แล้วเวลาที่จะตาย ธาตุขันธ์จะแตกจะดับ
คนที่เข้าถึงธาตุตัวนี้แล้ว เข้าถึงธรรมธาตุตัวนี้แล้ว เห็นความว่าง เห็นสุญญตาที่แท้จริง เห็นพระนิพพานที่แท้จริงแล้ว เขาจะไม่นั่งคิดหรอกว่าตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน พระอรหันต์นิพพานแล้วจะไปมีสภาพเป็นอย่างไร จะไม่มีความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้นหรอก ถ้ายังคิดว่า เอ๊ะ เราเป็นพระอรหันต์แล้ว เดี๋ยวนิพพานแล้วเราจะไปอย่างไร ญาติโยมทั้งหลายก็น้อมส่งสู่แดนนิพพาน ก็พวกไม่รู้เรื่องด้วยกันพูดด้วยกันนั่นล่ะ ที่จริงแล้วการสัมผัสพระนิพพานไม่ได้ไปไหนเลยๆ เมื่อไรที่เราวางขันธ์ 5 ลงไปได้ โดยเฉพาะการวางจิตลงไปแล้ว นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตาอยู่แล้ว
นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นความยึดถือในขันธ์ 5 ไม่เข้าไปหยิบไปฉวยขันธ์ 5 เขาเรียกไม่มีชาติอีกต่อไปแล้ว เป็นสภาวะที่ไม่มีตัณหา เรียกว่าวิราคะ ปล่อยวางรูปนามได้ เป็นวิมุตติ ไม่มีความอยากใดๆ เกิดขึ้น เรียกวิราคะ ไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่ง เรียกว่าวิสังขาร ความคิดมีอยู่ แต่มันเป็นอีกลักษณะหนึ่ง มันไม่ใช่เหมือนที่พวกเราคิด พวกเราคิดมันเจือด้วยความจงใจปรุงแต่งเข้าไป แต่อย่างถ้าพระอรหันต์คิด มันเหมือนสักแต่ว่าๆ สภาวะทั้งหลายมันสักแต่ว่าทั้งหมดล่ะ ฉะนั้นคำว่าสักว่าๆ เราพูดง่าย ภาวนากันปางตาย รอดตายมาถึงจะเจอ
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเริ่มจากจิตของเรา ฝึกจิตตัวเองให้มีเรี่ยวมีแรงก่อนแล้วไปเดินปัญญา แล้วมาตัดกิเลสที่จิต มาปล่อยวางที่จิต แล้วมาสัมผัสพระนิพพานที่จิต นี่ที่หลวงพ่อพูดว่าการปฏิบัติเริ่มมาจากจิตแล้วก็ไปจบลงที่จิต ถึงตรงนั้นไม่มีที่ต้องไปต่อ
ที่เล่าเรื่อยๆ ว่ามีพระในสมัยพุทธกาล ท่านคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านก็ประกาศวาทะว่าท่านรู้แล้วว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน เพื่อนพระด้วยกันก็รู้ว่าองค์นี้ยังไม่เข้าใจ พยายามบอก พยายามแก้ แก้ไม่ตก ไปนิมนต์พระสารีบุตรมาช่วยสอน พระสารีบุตรก็สอน สิ่งที่ท่านสอนคืออยู่ในอนัตตลักขณสูตรที่พระพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์ล่ะ ถามว่า “รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” ท่านก็ดูตามไป “รูปไม่เที่ยง” “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์” “เป็นทุกข์” “สิ่งใดเป็นทุกข์ ควรยึดถือว่าเป็นเราไหม” “ไม่ควร” “เวทนาเที่ยงไหม สัญญา สังขาร สุดท้ายถึงตัววิญญาณ คือจิต จิตเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง” เห็นแล้วจิตไม่เที่ยง “สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นสุขหรือทุกข์” “เป็นทุกข์” ตัวจิตนั่นคือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษ
การที่รู้แจ้งอย่างนี้สำคัญมากเลย แล้วสิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นควรเห็นว่าเป็นเราไหม ควรยึดถือไหม ไม่ควรยึดถือ ตรงที่ว่าไม่ควรยึดถือ จิตก็หมดความยึดถือจิต เมื่อจิตหมดความยึดถือจิต ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นผลผลิตของจิต โลกธาตุทั้งหมดซึ่งปรากฏขึ้นมา จักรวาลทั้งหมดซึ่งปรากฏขึ้นมาเพราะมีจิตไปรู้เข้าก็พลอยล่มสลายลงไปหมดพร้อมๆ กันกับที่เราวางจิต ก็จะวางขันธ์ 5 วางโลก วางทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมๆ กัน คราวนี้ไม่ต้องถามต่อเลย ตายแล้วไปไหน เพราะอะไร เพราะตรงที่วางขันธ์ 5 ลงไปแล้ว มหาสุญญตาเต็มเปี่ยมอยู่ตรงนั้นแล้ว พระนิพพานเต็มเปี่ยมอยู่ตรงที่วางขันธ์ 5 ลงไปแล้ว ไม่ต้องแสวงหาที่ไหนอีกแล้ว
สมัยที่หลวงพ่อยังภาวนา ตอนนั้นไม่ได้บวช ยังเคยคิดว่านิพพานแล้วต้องกำหนดจิตไม่ยึดไม่ถือ ไม่จับอะไรเลย ที่จริงมันก็เป็นสมาธิชนิดหนึ่ง ไม่ยึดทั้งอารมณ์ ไม่ยึดทั้งจิต แล้วก็ว่างๆ สมาธิอย่างนี้คล้ายนิพพานมากที่สุด ดีว่าเจอหลวงปู่บุญจันทร์ โดนท่านโขกกะโหลกเอา บอก “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” โดนท่านด่าเอา ท่านดุ ไม่ใช่ท่านด่า ท่านดุ เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก เฮ้ย เสียเสียงดังเลย หลวงพ่อก็เลยรู้ ถ้าเรายังกำหนดจิตอย่างนั้น กำหนดจิตอย่างนี้ กำหนดจิตไปนิพพาน อันนี้ของเก๊ แต่เมื่อไรเราสามารถวางขันธ์ 5 ลงไปได้ โดยเฉพาะปล่อยวางจิตได้ เราจะเห็นนิพพานมันอยู่ตรงนั้นแล้ว อยู่กับเรามาแต่ไหนแต่ไร แต่เราไม่เคยเห็นหรอก มันครอบโลกครอบจักรวาลอยู่ทั้งหมดนั่นล่ะ
สรุปก็คือเริ่มที่จิตแล้วก็ไปจบลงที่จิต
วัดสวนสันติธรรม
28 มกราคม 2567