วิธีเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง

วันนี้มีคนจากแคนาดามาเยอะ เรียนศาสนาพุทธต้องเข้าใจกรอบกว้างๆ ก่อน ศาสนาพุทธตอบโจทย์เราข้อเดียว ว่าทำอย่างไรจะไม่มีความทุกข์ ตอบโจทย์ข้อนี้เท่านั้น ศาสนาพุทธไม่ใช่การนั่งสมาธิทำจิตให้สงบ ไม่ได้นั่งสมาธิเพื่อจะรู้อดีต รู้อนาคต รู้อะไรต่ออะไรมากมาย อันนั้นไม่ใช่เป้าหมายของศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน คือทำอย่างไรจิตของเราจะรู้ ตื่น และก็เบิกบานขึ้นมา ไม่จมอยู่กับความทุกข์

คนในโลกน่าสงสาร มันจมอยู่กับความทุกข์ตลอดเวลา แล้วก็หาทางที่จะพ้นทุกข์กัน พวกนักปราชญ์ พวกศาสดาในลัทธิ ในศาสนาต่างๆ ก็พยายามค้นคว้าหาวิธีที่จะไม่ทุกข์เหมือนกัน ทำอย่างไรชีวิตจะมีความสุข ทำอย่างไรจะมีความสุขแบบอมตะนิรันดร ทำอย่างไรเราจะกลับไปอยู่กับพระเจ้าได้ ศาสนาพุทธไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านั้น พระเจ้าจะมีหรือไม่มี ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับชาวพุทธ ชาวพุทธเราเน้นอยู่ที่ปัจจุบันนี้ เราจะต้องไม่ทุกข์ให้ได้ในปัจจุบัน ไม่ใช่ทุกข์ไปแล้ว ตายแล้วไปอยู่กับพระเจ้าแล้วไม่ทุกข์ อันนั้นหวังกับอนาคตมากเกินไป

เราจะไม่ทุกข์อยู่ในปัจจุบันได้ เราก็ต้องศึกษา ความทุกข์มันเกิดจากอะไร ความทุกข์ก็มีเหตุของความทุกข์ ความทุกข์เป็นผล คนส่วนใหญ่ไม่อยากมีความทุกข์ แต่ว่าก็ไปทำเหตุให้เกิดความทุกข์โดยไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านเห็นว่า ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ทางร่างกายก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์ทางจิตใจ กระทบอารมณ์ที่ไม่ดีก็มีความทุกข์ พลัดพรากจากอารมณ์ที่ดี จากสิ่งที่รัก ก็มีความทุกข์ อยากได้อะไรแล้วไม่ได้ก็มีความทุกข์ หรือว่าอยู่ๆ ก็บางช่วงก็จมอยู่เฉยๆ กับความทุกข์ ความโศกเศร้าร่ำไรรำพัน เต็มไปด้วยความทุกข์ ฉะนั้นความทุกข์อยู่ที่กายที่ใจ

 

เหตุต้องละ ผลต้องรู้

พระพุทธเจ้าท่านก็สาวไปหาต้นเหตุ ความทุกข์เป็นผล ถ้าเราจะแก้ความทุกข์ เราก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ผล ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เหตุต้องละ ผลต้องรู้มัน อย่างชีวิตเรามีความทุกข์ เรารู้มัน ไม่ใช่หนีมัน ไม่มีใครหนีความทุกข์ได้ เหตุของความทุกข์ก็คือ จิตใจเราเข้าไปยึดถือ มีความอยาก มีความยึดถือ อย่างเรายึดถือในร่างกายของเรา พอร่างกายมันแก่เราก็ทุกข์ ร่างกายแก่เราก็ทุกข์ ร่างกายเจ็บไข้ จิตใจเราก็ทุกข์ไปด้วย ร่างกายจะตาย เราก็เศร้าโศกเสียใจ หรือจิตใจเรา เวลาเรากระทบอารมณ์ไม่ดี เราก็อยากให้มันพ้นไป อยากให้มันหมดไป กระทบอารมณ์ที่พอใจ เราก็อยากให้มันอยู่นานๆ อยากให้อารมณ์ที่ดีนั้นมันมาบ่อยๆ ท่านสาวลงไป ท่านพบว่าจริงๆ แล้วตัวความอยาก ตัวความยึดนั่นล่ะ มันทำให้จิตใจของเราเกิดความทุกข์ขึ้นมา

ร่างกายมันเกิดมาแล้ว มันต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย นี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครหนีได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนให้เราหนี แต่สอนให้เรารู้ความจริง ยอมรับความจริง ถ้าจิตใจเรายอมรับความจริงได้ ว่าเราต้องแก่ เราต้องเจ็บ ต้องตาย ยอมรับได้ มันก็จะไม่เกิดความอยาก อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ถ้าเรารู้ความจริง ความอยากมันจะไม่เกิด การรู้ความจริงเป็นวิชชา เรียกวิชชา ล้างอวิชชา ล้างความหลงผิดได้ เราไม่หลงผิดเสีย เราเข้าใจความจริงของร่างกายนี้ ร่างกายต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จิตใจมันยอมรับความจริงตรงนี้ได้ มันจะไม่เกิดความอยาก ไม่เกิดความดิ้นรน เวลาที่ร่างกายนี้มันแก่ ก็ไม่ได้อยากจะไม่แก่ แก่แล้วก็อยากกลับมาเป็นหนุ่มเป็นสาว ความอยากเกิดทีไร ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็เกิดทุกที ความทุกข์ก็เกิดทุกที เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นความจริงของร่างกาย อะไรจะเกิดขึ้นในร่างกายต่อไปนี้ จิตใจจะไม่ทุกข์

ทำนองเดียวกัน ถ้าเราเห็นความจริงของจิตใจ ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในจิตใจ เราก็จะไม่ทุกข์ ความจริงของจิตใจ มันก็คือมันไม่เที่ยง จิตใจที่มีความสุขมันก็อยู่ได้ชั่วคราว จิตใจที่มีความทุกข์มันก็อยู่ชั่วคราว จิตใจที่ดีมันก็อยู่ชั่วคราว จิตใจที่ไม่ดี อย่างจิตใจที่โลภ ที่โกรธ ที่หลง มันก็อยู่ชั่วคราว จิตใจที่ดีเราก็สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ จิตใจเป็นของที่อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับของเรา สั่งไม่ได้ จิตใจมันจะฟุ้งซ่าน บอกอย่าฟุ้งซ่าน สั่งไม่ได้ จิตใจจะทุกข์ บอกว่าอย่าทุกข์ สั่งไม่ได้ จิตใจไม่ได้มีความสุข สั่งว่าจงมีความสุข สั่งไม่ได้ จะโกรธขึ้นมา เราสั่งตัวเองอย่าโกรธๆ มันก็สั่งไม่ได้ มันก็โกรธจนได้ อย่าโลภ หรือบางทีผู้หญิงมีแฟน แล้วแฟนนิสัยไม่ดี ก็ตั้งใจว่าต่อไปนี้ไม่รักมันแล้ว มันมาง้อก็จะไม่คืนดีด้วยแล้ว พอเขามาง้อไม่กี่วันก็คืนดีอีกแล้ว จิตใจมันก็เป็นของที่ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้จริง

เพราะฉะนั้นเราจะเห็น ถ้าเราเรียนรู้ความจริงของจิตใจ จิตใจนี้มันไม่เที่ยงหรอก มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างคนทั่วไปอยากให้จิตใจมีความสุขตลอดกาล เป็นเรื่องไร้เดียงสา อยากให้กระทบแต่อารมณ์ที่ดี ไม่กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี นี่ก็เป็นเรื่องไร้เดียงสา ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ล้วนแต่มีความไม่เที่ยง ล้วนแต่เป็นของบังคับไม่ได้ สภาวะทางจิตใจมันเป็นอย่างนั้น

สภาวะทางร่างกาย ก็คือมันไม่เที่ยง มันควบคุมไม่ได้ เป็นอนัตตา แล้วก็มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่เสมอ ร่างกายเราไม่ใช่ของดีหรอก มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ ทำอะไรก็ทุกข์ อย่างบางคนบอกทำงานหนัก เมื่อย เหนื่อย ต้องไปนอน คิดว่านอนแล้วมีความสุข นอนแล้วมีความสุขอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อย ต้องพลิกซ้ายพลิกขวาไปเรื่อย ทำไมร่างกายเราต้องเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ เพราะมันหนีความทุกข์ ถ้ามันไม่ได้เคลื่อนไหวเมื่อไรมันทุกข์ ความจริงของร่างกายที่เด่นชัดเลยคือมันทุกข์ แล้วมันไม่อยู่ในอำนาจหรอก เราสั่งไม่ได้ว่าอย่าเจ็บ อย่าป่วย สั่งไม่ได้สักเรื่องหนึ่ง

สรุปก็คือความจริงของร่างกาย ความจริงของจิตใจก็คือ มีลักษณะร่วมกัน คือมันเป็นไตรลักษณ์ เป็นของไม่เที่ยง ร่างกายก็ไม่เที่ยง จิตใจก็ไม่เที่ยง ร่างกายก็เป็นทุกข์ จิตใจก็เป็นทุกข์ อย่างเวลาเราอยู่ในอารมณ์เดียวนานๆ อย่างเราอยากฟังเทศน์ ฟังแล้วหลวงพ่อเทศน์ไม่เลิก เดี๋ยวใจเราก็เบื่อแล้ว ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ชอบ ทีแรกก็ชอบ อยู่ไปๆ ก็ไม่ชอบ หรือเรารักใครสักคน จีบผู้หญิงมา เรารักมากเลย คิดว่าชีวิตนี้เราต้องรักตลอดกาล พอมาอยู่ด้วยกันหลายๆ ปี ใจเฉยๆ ถ้าไม่ถูกใจกันก็โกรธกันเสียอีก ความจริงของชีวิต มีแต่ของที่ทนอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ในอารมณ์เดิมนานๆ ไม่ได้ กระทั่งอารมณ์ในฌานสมาบัติ เข้าฌานไปมีความสุขอยู่ได้เป็นวันๆ เสร็จแล้วก็ต้องออกจากฌานนั้นมา มันทนอยู่กับฌานต่อไปไม่ได้ เรียกว่ามันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา แล้วก็มันบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้

ฉะนั้นความจริงของร่างกาย ความจริงของจิตใจ ก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คือความจริง ถ้าหากจิตใจเรายอมรับความจริงตรงนี้ได้ จิตใจก็จะหมดความอยาก หมดความยึดถือ หมดความดิ้นรน ไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่ง สภาวะอะไรเกิด จิตก็โอเค ตอนนี้มันจะแก่ก็โอเค ธรรมดา เวลามันจะเจ็บ จิตมันรู้ความจริงแล้ว ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็โอเค มันจะเจ็บก็ยอมรับได้ มันจะตายก็ยอมรับได้ มันจะพลัดพรากจากคนที่เรารัก ก็ยอมรับได้ เพราะมันเข้าใจแล้วว่า อารมณ์ที่ดีทั้งหลายก็อยู่ได้ชั่วคราว เวลาเราเจอมากับอารมณ์ที่ไม่ดีในชีวิตเรา จิตใจเศร้าหมอง เราก็ยอมรับได้ หรือเวลาจิตใจฟุ้งซ่าน เราก็ยอมรับได้ ไม่ใช่ยอมรับได้เฉพาะจิตที่ดีๆ ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ จิตที่ไม่ดีเราก็ยอมรับได้ จิตมันจะเป็นกลางต่อทุกๆ สภาวะ ต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว เมื่อจิตเข้าไปสู่ความเป็นกลางได้ จิตก็หมดความดิ้นรน เมื่อจิตหมดความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง

 

สันติ ความสงบอย่างแท้จริง

วิธีที่เราจะเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง ก็คือการเห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เข้าถึงความสงบด้วยการเข้าฌาน เข้าฌานเก่งแค่ไหนก็ตาม ถึงจุดหนึ่งจิตก็ต้องออกจากสมาธิมา มากระทบอารมณ์ข้างนอกอีก ตอนเจ้าชายสิทธัตถะออกมาบวช ก็ไปเรียนเข้าสมาธิกับฤาษี แล้วท่านพบว่า มันยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง ตอนที่อยู่ในฌานก็มีความสุขดี พอออกมาแล้วกิเลสก็เหมือนเดิม แล้วเท่าที่หลวงพ่อเห็น คนที่ติดสมาธิ พอจิตออกจากสมาธิ มักจะร้ายกว่าคนปกติ กิเลสมันคิดดอกเบี้ยเอา

เพราะฉะนั้นการจะเข้าถึงความสงบด้วยการนั่งสมาธิ ยังไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริง มันคล้ายๆ เราไม่สบาย เราก็กินยาแก้ปวด มันก็หายปวดชั่วคราว พอหมดฤทธิ์ของยามันก็ปวดอีก เวลาจิตใจเราวุ่นวาย เราก็ไปเข้าฌาน พอหมดกำลังของฌาน เราก็กลุ้มใจอีก ลักษณะอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านเลยพบว่า การที่เราไปนั่งสมาธิเก่งๆ นั่งสมาธินานๆ นั่งปุ๊บสงบปั๊บเลย ยังไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาที่แท้จริง ท่านก็เลยมาดูว่าอะไรเป็นเหตุ ที่ทำให้จิตใจมันมีทุกข์ขึ้นมา เหตุที่แท้จริงก็คือเราไม่ยอมรับ จิตมันไม่ยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ ล้วนแต่เป็นของที่บังคับควบคุมไม่ได้

เมื่อจิตไม่ยอมรับตรงนี้ จิตก็จะเกิดความอยาก อย่างจิตยอมรับไม่ได้ว่าเราต้องแก่ มันก็เลยอยากไม่แก่ ถ้าเรายอมรับได้ว่ามันต้องแก่ มันก็ไม่เห็นจะต้องอยากอะไร แก่แล้วก็ดี เป็นธรรมชาติ ฉะนั้นธรรมะจริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมดา เราชอบวาดภาพเอาไว้ว่า ธรรมะมันผิดธรรมดา เหนือธรรมดา ที่จริงธรรมะคือเรื่องธรรมดา แต่พวกเราต่างหากที่ไม่ธรรมดา คือเรายอมรับธรรมดาไม่ได้ ธรรมดาของร่างกายต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ธรรมดาของจิตใจต้องสมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง กระทบอารมณ์ที่ดีบ้าง กระทบอารมณ์ที่ไม่ดีบ้าง มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ความจริงของจิตใจมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเรายอมรับไม่ได้ อย่างจิตใจเราฟุ้ง เราก็ยอมรับไม่ได้ เราก็หาทางทำให้หายฟุ้ง ไปนั่งเข้าฌาน

ถ้าเมื่อไรเราสามารถยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันอยู่นอกเหนืออำนาจบังคับบัญชา ยอมรับความจริงตัวนี้ได้ จิตจะหมดความอยากสิ้นเชิง เมื่อจิตหมดความอยากหรือหมดตัณหา จิตจะหมดความดิ้นรน เมื่อจิตหมดความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติ ความสงบที่แท้จริง สันติตัวนี้ก็คือนิพพาน

มีศัพท์อยู่คำหนึ่ง คำว่า “นิโรธ” นิโรธ นิโรธ นิโรธเป็นความดับทุกข์ นิโรธมีตั้งหลายระดับ ดับทุกข์ อย่างดับทุกข์แบบเข้าฌาน ก็ดับทุกข์เหมือนกัน แต่ดับทุกข์ชั่วคราว เข้าฌานก็ดับความทุกข์ชั่วคราว ดับทุกข์เพราะการทำ การเจริญปัญญา เวลาเราเจริญปัญญา พอจิตเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรก็มีความสุขขึ้นมา เรื่องที่ทุกข์อยู่ก็หายไป ดับทุกข์เพราะอริยมรรค ดับทุกข์เพราะอริยผล ดับทุกข์สูงสุดคือนิพพาน ตัวนิโรธเป็นตัวความดับ นิพพานเป็นตัวสงบ ความสงบที่แท้จริง อยู่ตรงที่เราสามารถละความเห็นผิดได้ เข้าใจธรรมะได้ ละความเห็นผิดได้ก็หมดความอยาก หมดความดิ้นรนของจิต พอจิตมันไม่ดิ้นจิตมันก็สงบ อันนี้มันสงบเพราะการเจริญปัญญามาตามลำดับๆ จนถึงมรรคถึงผล สัมผัสพระนิพพานที่แท้จริง คือความสงบ

นิพพานไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร สภาวะของนิพพาน ลักษณะของนิพพาน มันสงบ สงบจากอะไร สงบจากความโง่ สงบจากความไม่รู้ สงบจากความอยาก สงบจากความยึด สงบจากความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต สิ่งเหล่านี้มันเกิดได้เพราะปัญญา เรามีปัญญาเห็นความจริงของร่างกาย มีปัญญาเห็นความจริงของจิตใจ จิตยอมรับความจริงของร่างกายได้ จิตจะไม่ทุกข์เพราะร่างกาย จิตยอมรับความจริงของจิตใจได้ ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตจะไม่ทุกข์เพราะจิตใจ อย่างถ้าเราเข้าสมาธิแล้วมีความสุข เราก็คิดว่าต้องเข้าสมาธิถึงมีความสุข อันนี้ยังไม่ใช่ความจริง เพราะความสุขในสมาธิก็ยังเป็นของชั่วคราวอยู่ เรียกว่าเรายังเข้าไม่ถึงความจริง เพราะฉะนั้นวิธีแก้ความทุกข์ของนักเข้าฌานทั้งหลาย มันคือการหนีทุกข์ มันไม่ได้พ้นทุกข์จริง จะพ้นทุกข์จริง ต้องพ้นด้วยปัญญา เห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ

 

การจะรู้ความจริงของกายของใจ
เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ทำอย่างไรจะเห็นความจริงของกายของใจได้ เราจะเห็นความจริงของกายของใจได้ เราก็ต้องมีธัมมวิจยะ ธรรมวิจัย มีสติตามรู้ความเป็นจริงของกายของใจ แล้วเราต้องรู้แบบไม่มี Bias ไม่มีอคติ นั่นก็คือการรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น จิตเราไม่เป็นกลาง จิตจะมี Bias แล้วก็ไม่สามารถเห็นสภาวะตามความเป็นจริงได้ ฉะนั้นการที่เราจะเห็นความจริงของกาย จะเห็นความจริงของจิตใจได้ เราต้องรู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น ไม่ใช่รู้กายอย่างที่อยากให้กายเป็น ไม่ใช่รู้ใจอย่างที่อยากให้ใจเป็น กายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้ซื่อๆ

ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านใช้คำว่า “รู้ซื่อๆ” คือรู้แบบไม่ดัดจริต ไม่ต้องทำตัวว่าฉันเป็นคนดี ฉันจะต้องดีเยี่ยม ฉันจะต้องไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง พยายามทำตัวเป็นคนดี แล้วก็เคร่งเครียดกับความเป็นคนดี ให้รู้ซื่อๆ จิตของเราชั่วให้รู้ว่าชั่ว รู้สิ ดูสิ จิตที่ชั่วนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูตรงนี้ อย่างจิตใจเราฟุ้งซ่าน เราไปนั่งสมาธิแล้วจิตเราฟุ้งซ่าน ถ้าเราอยากสงบยิ่งไม่สงบ ให้รู้อย่างที่มันเป็น ตอนนี้จิตใจกำลังฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน ดูสิเธอจะฟุ้งซ่านได้นานสักแค่ไหน สุดท้ายความฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง จิตก็สงบ พอจิตสงบเราก็หลงยินดี โอ้ ดีจังเลย วันนี้เราภาวนาดี ดีกว่าเมื่อวาน เมื่อวานไม่ดี วันนี้ดี วันนี้สงบแล้ว จิตยินดีพอใจขึ้นมา นั่งไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน จิตที่สงบ เดี๋ยวมันก็เคลื่อนออกมาทำงานต่อ มาคิดนึกปรุงแต่งต่อ

เรียนรู้ความจริงของมัน เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาดี เพราะดียังไม่เที่ยง เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาสุข เพราะสุขก็ไม่เที่ยง เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบ เพราะความสงบอย่างที่เรารู้จักยังไม่เที่ยง แต่เราปฏิบัติเพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจ ปฏิบัติเพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจ ถ้าเห็นความจริงของกายของใจได้ จิตก็หมดความอยาก หมดความยึดถือ หมดความดิ้นรน จิตเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริงด้วยปัญญา คราวนี้ไม่ต้องรักษาแล้ว ถ้าจิตเข้าถึงจุดสุดยอดตรงนี้แล้ว ไม่ต้องรักษา จิตมันก็มีแต่ความสงบ มันว่าง

ตรงนี้ที่เรียกสุญญตาๆ สุญญตาไม่ได้อยู่ข้างนอก สุญญตาอยู่ตรงที่จิตเราพ้นจากความปรุงแต่งได้แล้ว มันว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากความปรุงแต่ง ว่างจากกิเลส ว่างจากทุกข์ นิพพานมันอยู่ตรงนั้น ไม่ได้อยู่ที่อื่น ไม่ใช่เป็นโลกโลกหนึ่ง ที่เราจะต้องแสวงหา ตราบใดที่เราแสวงหานิพพาน เราจะหาไม่เจอ เพราะการแสวงหานั้น มันทำไปด้วยกิเลสตัณหา การแสวงหาก็คือความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีทางที่จะพบนิพพานได้ด้วยการดิ้นรนปรุงแต่งหรอก

เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักของพวกเราชาวพุทธ เรียนรู้กายอย่างที่กายเป็น เรียนรู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็น เรียนรู้อย่างที่มันเป็น กายนี้ใจนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่ามันคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ฉะนั้นกายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ เราไม่ได้ไปภาวนา เพื่อให้มันกลายเป็นตัวดีตัววิเศษขึ้นมา จริงๆ มันคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ เราเรียนรู้ พระพุทธเจ้าสอนทุกข์ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ พวกเราอยากละทุกข์กันทั้งนั้น แทนที่จะละเหตุของทุกข์ ละเหตุของทุกข์ก็คือละความอยาก ละความยึดถือ ละความอยาก ละความยึดถือ ความอยากความยึดถือก็ยังมีเหตุ คือความไม่รู้ความจริง การไม่ยอมรับความจริงของกายของใจ เพราะฉะนั้นถ้าละถึงต้นตอ ก็คือละความเห็นผิดเรื่องของกายของใจนี้

ถ้าเรารู้ความจริงกายนี้คือตัวทุกข์ ความอยากให้กายเป็นสุข ไม่เกิด ความอยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่เกิด ถ้าเราเห็นความจริง จิตยอมรับความจริงได้ว่า จิตวิญญาณคือตัวทุกข์ ความอยากให้จิตวิญญาณเป็นสุขก็ไม่เกิด ความอยากให้จิตวิญญาณไม่ทุกข์ก็ไม่เกิด เพราะรู้อยู่แล้วว่าขันธ์ 5 ทั้งกายทั้งใจ ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวทุกข์ ทุกข์ให้รู้ไม่ใช่ให้ละ สิ่งที่ท่านให้ละคือเหตุของทุกข์ เหตุของทุกข์มีหลายระดับ ระดับตื้นๆ หน่อยก็คือตัวความอยาก ตัวความยึด ตัวความดิ้นรนของจิต เหตุที่เป็นรากเป็นเหง้าของความทุกข์ ที่ทำให้เกิดความอยาก ความยึด ความดิ้นรนของจิต ก็คืออวิชชา ความไม่รู้ความจริงของรูปนามกายใจ ตัวนี้คือรากคือเหง้า ที่ทำให้เกิดความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตขึ้นมา

เพราะฉะนั้นเราจะภาวนา เราจะต้องเรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของใจ จนกระทั่งจิตมันยอมรับความจริงได้ กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อจิตยอมรับความจริงได้ จิตจะหมดความอยาก จิตจะหมดความยึด จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะเข้าถึงสันติ ความสงบคือพระนิพพานที่แท้จริง ไม่ใช่นิพพานปลอมๆ อย่างเข้าสมาธิ ก็บอกว่าเข้านิพพานๆ อันนั้นเขาเรียกว่านิพพานแบบพรหม ไม่ใช่แบบนิพพานแบบพุทธ ถ้านิพพานของพุทธ เข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดอันนี้ด้วยปัญญา คือรู้ความจริงของกายของใจได้

วิธีที่จะรู้ความจริงของกายของใจทำอย่างไร การจะรู้ความจริงของกายของใจ เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนามาจากคำว่า “วิ” คำว่า “ปัสสนะ” ปัสสนะแปลว่าการเห็น วิแปลว่าแจ้ง เห็นแจ้ง เห็นจริง เห็นอะไร เห็นรูปนาม เห็นกาย เห็นใจนี้ อย่างที่เขาเป็น อย่างที่มันเป็นก็คือมันเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราในการเจริญวิปัสสนา คือดูความจริงของร่างกาย ดูความจริงของจิตใจ ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นล่ะถึงจะเรียกว่าวิปัสสนา ไม่ใช่การคิดเอา แต่ต้องเป็นการเห็นจริงๆ เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น เราจะเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตใจอย่างที่จิตใจเป็นได้ ขั้นแรกเราต้องฝึกจิตให้เป็นผู้เห็นให้ได้

 

ขั้นแรกเราต้องฝึกจิตให้เป็นผู้เห็นให้ได้

ครูบาอาจารย์สายวัดป่า ท่านเรียกจิตตัวนี้ว่า “จิตผู้รู้” จิตผู้รู้คือจิตที่ถอนตัวออกจากโลกของความคิด มาอยู่ในโลกของความเป็นจริง เห็นปรากฎการณ์ของร่างกาย เห็นปรากฎการณ์ของจิตใจไหลผ่านไป โดยจิตเป็นแค่ผู้เห็น เป็นผู้รู้ผู้เห็นเท่านั้นเอง จิตที่จะเป็นผู้รู้ผู้เห็นได้ อยู่ๆ มันไม่เป็น จิตของเราไม่ได้เป็นผู้รู้ผู้เห็น จิตของเราเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ผู้หลง ผู้ฟุ้งซ่าน ผู้แสวงหาที่เกิด คือแสวงหาอารมณ์โน้น แสวงหาอารมณ์นี้เรื่อยๆ ไป ไม่รู้จักจบจักสิ้นเพราะฉะนั้นจิตของเราเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ขั้นแรกเลยเราจะต้องมาพัฒนาจิตของเรา ให้เป็นผู้รู้ผู้ตื่นให้ได้ วิธีที่จะทำจิตให้เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง

อย่างหลวงพ่อใช้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน จิตหลงไปคิดพุทโธ รู้ทัน พอเรารู้ทันจิต จิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ ไม่ใช่ผู้คิด ไม่ใช่ผู้หลงเพ่ง สิ่งที่เป็นศัตรูของผู้รู้ก็มี 2 อัน คือผู้หลง กับผู้ไปเพ่งอารมณ์ไว้นิ่งๆ พวกที่เข้าฌานนั้นล่ะ พวกเพ่งอารมณ์นิ่งๆ ไม่ได้เป็นผู้รู้จริง หลวงพ่อใช้หายใจเข้าพุทออกโธ อาจารย์อ๊าไม่ได้เป็นอย่างนี้ อาจารย์อ๊าใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก บางทีใจลอย พอเคลื่อนไหวปุ๊บ อ้าว ใจลอย รู้ทันว่าใจลอย จิตก็ตั้งมั่น รู้สึกขึ้นมา จิตก็ตื่นขึ้นมา หลวงพ่อเคยชี้ให้พระอาจารย์อ๊าดู ตอนนั้นไปนั่งอยู่ที่ร้านที่มอเตอร์เวย์ บอกเห็นไหมคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ไม่มีคนรู้สึกตัวเลย ไม่มีคนที่เป็นผู้รู้เลย มีแต่ผู้หลง หลงอยู่ในโลกของความคิดนึกปรุงแต่งตลอด น้อยคน

ต้องฝึก ต้องฝึกสะสมความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นมา วิธีก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง ไม่ใช่ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ไม่ใช่แค่นั้น หลวงพ่อไม่ได้พูดแค่นั้น หลวงพ่อพูดว่า ทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ให้คอยรู้ทันจิตตัวเอง คีย์เวิร์ดคือรู้ทันจิตตัวเอง เพราะฉะนั้นอย่างเราบริกรรมพุทโธๆ หรือนะมะพะทะ สัมมาอะระหัง แล้วจะบริกรรมอะไรก็ได้ นะโมพุทธายะ อะไรก็ได้ แต่ถ้าบริกรรมแล้ว จิตหลงไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน จิตไปเพ่งจิตให้นิ่งๆ รู้ทัน ดูท้องพองยุบก็ได้ ดูท้องพองยุบแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งท้องแล้ว รู้ทัน ดูลมหายใจก็ได้ ดูลมหายใจแล้ว จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นก็รู้ทัน จิตหนีไปเพ่งลมหายใจก็รู้ทัน ขยับมือทำจังหวะแบบสายหลวงพ่อเทียนก็ได้ จิตขยับไปแล้ว จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งมือก็รู้ ใช้หลักเดียวกัน

ทำกรรมฐานอันหนึ่งขึ้นมาที่เราถนัด อะไรก็ได้ที่เราถนัด แต่จุดสำคัญที่หัวใจของมัน ก็คือต้องรู้ทันจิตตนเอง จิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐานก็รู้ จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้ ฝึกอย่างนี้ให้มากๆ ต่อไป อย่างหลวงพ่อหายใจเข้าพุทออกโธ พอจิตหนีไปคิดมันลืมพุทโธแล้ว ลืมหายใจแล้ว มันจะไม่ลืมนาน เดี๋ยวเดียว เอ๊ย ลืมไปแล้วนี่ หลงไปแล้วนี่

มีครั้งหนึ่งหลวงพ่อลองไปขยับอย่างหลวงพ่อเทียนดู ขยับดู เพราะหลวงพ่อเดินมาทางอานาปานสติ แล้วเดินปัญญาด้วยการดูจิต เห็นทางหลวงพ่อเทียนท่านขยับก็เอาบ้าง ขยับ ขยับรวมทั้งหมด 14 14 จังหวะ 2 ข้าง ลองเล่น เล่นๆๆๆๆ แล้ววันหนึ่งเห็นเพื่อนเดินอยู่คนละฝั่งถนน เพื่อนคนนี้ไม่เจอนานแล้ว ดีใจ ดีใจแล้วไม่เห็นว่าดีใจ ขาดสติ ก้าวเท้ากำลังจะขยับเท้า เพื่อจะก้าวข้ามถนนไปหาเพื่อน พอเท้าเริ่มขยับเท่านั้นล่ะ สติเกิดเลย ร่างกายเคลื่อนไหวปุ๊บ เฮ้ย นี่มันหลงแล้ว หัด ตอนหัด หัดขยับมือแล้วรู้สึก เห็นไหม ตอนนั้นไม่ได้ขยับมือ ตอนนั้นขยับเท้า ก็รู้สึกขึ้นมาได้เอง สติอัตโนมัติมันเกิด แล้วจิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แต่หัวใจสำคัญก็คือรู้ทันจิตตนเอง จิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน จิตไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน ทำตรงนี้ให้ได้ แล้วจิตจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา หลวงพ่อหายใจตั้งแต่ 7 ขวบ ทำอานาปานสติ แล้ววันหนึ่งกำลังเล่นอยู่หน้าบ้าน บ้านเป็นตึกแถว สมัยโน้นรถราอะไรไม่ค่อยมีหรอก ฟุตพาททางเดินหน้าบ้าน หน้าตึกแถวโล่งๆ ว่างๆ พวกเด็กหลายๆ บ้านจะมาเล่นลูกหินด้วยกัน เล่นเป็นไหม เด็กเดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นหรือเปล่า สมัยก่อนเขามีลูกหิน มันไม่ใช่หินหรอก มันเป็นดินเผา เป็นอะไรพวกนี้ เป็นลูกแก้ว ดีดใส่กัน

กำลังเล่นๆ เห็นไฟไหม้ข้างบ้าน ห่างออกไป 4 – 5 ห้อง ที่เป็นตึกแถวด้วยกัน ตกใจ พอตกใจคว้าลูกหินเลยของเรา งกไม่หาย ไฟจะไหม้แล้วยังหวงลูกหินอยู่ คว้าแล้วก็วิ่งด้วยความตกใจ ก้าวที่ 1 ตกใจ ก้าวที่ 2 ตกใจ ก้าวที่ 3 จิตมันเห็นความตกใจ ความตกใจขาดสะบั้นเลย จิตเป็นผู้รู้เด่นดวงขึ้นมาเลย ตอนนั้น 10 ขวบ แล้วเวลาฝึก หลวงพ่อฝึกหายใจ แต่เวลากระทบอารมณ์ความตกใจอย่างแรงๆ ตรงนั้นไม่ใช่หายใจเลย แต่สติเกิดเองเลย

เหมือนอย่างที่ฝึกขยับมือ พอเท้าขยับสติก็เกิดเอง ไม่ใช่ว่าต้องรอให้มือขยับถึงจะสติเกิด ไม่ใช่ต้องรอรู้ลมหายใจก่อนแล้วสติเกิด พอมีอารมณ์มากระทบปุ๊บ จิตมันดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ไม่มีความตื่นเต้นตกใจ กลายเป็นผู้รู้ขึ้นมา เราต้องฝึกตัวเอง ทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อความสงบ ไม่ใช่เพื่อความสุข ไม่ใช่เพื่อความดี ทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่ง แล้วคอยรู้เท่าทันจิตตนเอง จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่ง รู้ทัน แล้วจิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา

พอจิตมันตั้งมั่นเด่นดวงมีกำลังแล้ว ก็เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจไป สติระลึกรู้กาย เราเห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สติระลึกรู้ความสุขทุกข์ในกายในใจ ก็เห็นความสุขความทุกข์ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สติระลึกรู้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นอยู่ เป็นผู้รู้อยู่ ก็จะเห็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

จิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็จิตเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ละเอียดขึ้นไป เห็นวิญญาณเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นของถูกรู้ อะไรไปรู้ จิตไปรู้จิต จิตดวงหนึ่งไปเห็นรูป ไปหลงดูรูป จิตอีกดวงหนึ่ง ตรงที่หลงดูรูป มันทำงานไปหลายช็อตแล้ว ดวงที่หนึ่งจิตเห็นรูปไม่มีกิเลส ต่อมามีการแปลความหมายของรูป จิตก็เลยพอใจในรูป จิตสนใจ จิตก็ถลำไปดูรูป อันนี้เรียกหลงดู อันแรกสักแต่ว่าเห็นเท่านั้นเอง ไม่มีกิเลส ตาเห็นรูป ขณะช็อตแรกไม่มีกิเลส แต่พอแปลความหมายได้นี่รูปอะไร คราวนี้ตั้งใจดูแล้ว

อย่างเราเห็นคนเดินอยู่ เห็นภาพไหวๆ อยู่ เราหันไปดูตอนนั้นยังไม่มีกิเลส พอไปเห็น เฮ้ย นี่นางงามจักรวาลมาเดิน ใจรู้สึก โอ้ สวยจังเลย ชอบ อยากดู แล้วคราวนี้ตามดู อันนี้หลงดูแล้ว หลงดูแล้ว เจือด้วยโลภเจตนาแล้ว หลงดู ตัวนี้เป็นอกุศล ถ้าเราฝึกจิตของเราดี เฮ้ย หลงดูแล้วนี่ ถ้าหลงดูแล้วปุ๊บ จิตที่หลงดูดับปุ๊บ จิตผู้รู้จะเกิดอัตโนมัติเลย หรือบางทีครูบาอาจารย์สอน เรื่องหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ก็คือหลักอันนี้ นั่งหายใจเข้าพุทออกโธไป จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ ทุกครั้งที่รู้ว่าจิตหลงคิด จิตหลงคิดจะดับ จิตผู้รู้จะเกิดขึ้นมา เราต้องฝึกจนได้จิตผู้รู้ที่เข้มแข็ง

 

จิตต้องตั้งมั่นและก็เป็นกลาง
จึงจะเห็นความจริงของกายของใจได้

พอเรามีจิตผู้รู้ที่เข้มแข็งแล้ว การเจริญปัญญาจะไม่ใช่เรื่องยาก หลักของการเจริญปัญญามีนิดเดียว ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตผู้รู้นั่นล่ะ คือจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าไม่เป็นกลางก็เริ่มเป็นผู้หลงแล้ว หลงยินดี หลงยินร้าย ให้มีสติ มีอะไร มีสติ มีสติไปทำอะไร มีสติไปเห็นกาย มีสติไปเห็นใจของตัวเอง ดูของตัวเอง เห็นอย่างไร เห็นตามความเป็นจริง คือเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของกายของใจ เราจะเห็นกายใจแสดงไตรลักษณ์ได้ จิตเราต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ จิตต้องตั้งมั่น แล้วพอกระทบอารมณ์ ยินดีให้รู้ทัน ยินร้ายก็ให้รู้ทัน จิตจะเป็นกลาง ถ้าจิตเราตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตก็เรียกว่าไม่มี Bias แล้ว จิตจะสามารถเรียนรู้กายโดยไม่มีอคติ เรียนรู้จิตใจโดยไม่มีอคติ ก็จะรู้ตามความเป็นจริง

คนเราเวลารู้สิ่งต่างๆ แล้วรู้ไม่ตามความเป็นจริง ไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะอคติ เพราะ Bias อย่างเด็ก 2 คนทะเลาะกัน เราเคยชินว่าเด็กคนนี้นิสัยดี คนนี้นิสัยไม่ดี เห็นมันทะเลาะกัน เราตัดสินเรียบร้อยแล้ว คนนิสัยไม่ดีล่ะคือต้นเหตุ อย่างนี้เรียกอคติ แต่ถ้าจิตเราเป็นคนเห็น เราจะเห็นไอ้ 2 คนมันทะเลาะกัน อ๋อ มึงก็ขี้โมโหด้วยกันทั้งคู่ล่ะ เพียงแต่ไอ้ตัวหนึ่งชั้นเชิงดีกว่า เวลาผู้ใหญ่อยู่ทำเป็นเรียบร้อยอะไรอย่างนี้ มันจะเห็นความจริง ฉะนั้นเราจะเห็นความจริงของกายของใจได้ จิตเราต้องตั้งมั่นและก็เป็นกลาง

ซึ่งเกิดจากการฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้ หลงไปคิดก็รู้ หลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้ ฝึกอย่างนี้ พอจิตตั้งมั่นแล้ว ต่อไปสติระลึกรู้กาย ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้จิต ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิต พอเห็นซ้ำๆๆ ถึงจุดหนึ่งจิตยอมรับความจริงได้ กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอจิตเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงได้ เรียกเข้าใจธรรมะแล้ว ธรรมะก็คือตัวความจริงนั่นล่ะ จิตยอมรับความจริงได้ จิตก็หมดความอยาก หมดความยึดถือ หมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตก็เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง

จิตที่พ้นความปรุงแต่งนั้นล่ะ เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ไม่คิด ไม่คิด ก็ยังคิดได้ปกติ แต่จิตไม่อิน ไม่หลงเข้าไปในโลกของความคิดเลย เห็นกระแสความคิดไหลผ่านไปเฉยๆ เห็นกระแสของความสุขไหลผ่านไปเฉยๆ เห็นอุเบกขาไหลผ่านไปเฉยๆ จิตมันสงบ มันสงบแล้วก็มันมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน ความสุขทั้งหลายทั้งปวงที่เรารู้จักกัน เป็นความสุขที่ต้องอาศัยคนอื่น อาศัยสิ่งอื่น ถ้าเป็นอารมณ์เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ถ้าเรามีความสุข เพราะอารมณ์ชนิดรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางร่างกาย อันนี้เขาเรียกว่าเป็นความสุขแบบมีอามิส อามิสภาษาบาลี ไม่ต้องรู้ก็ได้ ถ้าเป็นความสุขของฌานสมาบัติ เขาเรียกความสุขไม่มีอามิส ความสุขของพระนิพพานนั้น มันเลยขึ้นไปอีก มันไม่ใช่ต้องอาศัยฌานสมาบัติ

เพราะฉะนั้นนิพพานไม่มีการเข้า นิพพานไม่มีการออก นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ เมื่อไรจิตพ้นจากความปรุงแต่ง ไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือรูปนามกายใจได้ พ้นจากความปรุงแต่งได้ จิตมันเข้าถึงสันติสุขอยู่โดยตัวของมันเองแล้ว นี่คือใจความทั้งหมดที่จะต้องเรียน แล้วการเรียนก็ลงมือปฏิบัติ ถือศีล 5 ไว้ก่อน โดยเฉพาะข้อ 1 2 3 4 สำคัญที่สุด ข้อ 5 มันทำให้สติเราเสีย เรื่องถ้าผิดศีลข้อ 5 ศีลที่สำคัญมากเลย 1 2 3 4

แล้วก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง คอยรู้ทันจิต จิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน ฝึกอย่างนี้ ในที่สุดผู้รู้จะเกิด พอมีผู้รู้แล้ว สติระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้เวทนา สติระลึกรู้จิต ก็จะเห็นไตรลักษณ์ สุดท้ายก็จะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ก็ล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตหมดความยึดถือ เมื่อจิตหมดความยึดถือ จิตก็หมดความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติสุขคือพระนิพพาน

นี่คือใจความทั้งหมดที่เราจะต้องศึกษากัน วันใดที่เราศึกษาจบ เขาเรียกเสขบุคคล คือพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่ใช่มนุษย์ผิดปกติ พระอรหันต์อดอาหารก็หิว อดน้ำก็กระหาย ไม่สบายก็เจ็บก็ป่วย ธรรมดา ไม่ใช่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย จิตต่างหากที่ไม่หวั่นไหว สงบสันติอยู่ตลอดกาล ฉะนั้นเราต้องฝึก แล้วจุดหมายปลายทางของเรา อยู่ตรงที่เราพ้นจากความทุกข์สิ้นเชิง ตรงที่พ้นทุกข์ก็คือ พ้นจากความยึดถือในรูปนามกายใจนี้ล่ะ มันพ้นทุกข์แล้ว เราไม่ไปหยิบรูปนามขึ้นมา ไม่หยิบกายหยิบใจขึ้นมา กายกับใจมันเป็นตัวทุกข์ ขืนหยิบขึ้นมาเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้นล่ะ พอวางมันทิ้งไปแล้ว ไม่ทุกข์แล้วคราวนี้

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ว่าจะเทศน์ให้คนที่มาใหม่ๆ ฟัง ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ก็นั่งสมาธิกันมา ก็เข้าใจหน่อยว่านั่งสมาธิ นั่งให้ถูก นั่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ส่วนนั่งสมาธิแบบฤๅษี นั่งแบบเข้าฌาน ออกจากสมาธิก็เดือดร้อนเหมือนเดิม

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 มกราคม 2567