วิหารธรรมที่เหมาะกับเรา

วันนี้วันมาฆบูชา ธรรมะสำหรับวันมาฆบูชา ไปดูคติธรรมของสมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านให้คติธรรมไว้ดีแล้ว ครอบคลุมธรรมะในเรื่องโอวาทปาติโมกข์ ธรรมะเราก็เรียนเราก็ฟังกันมาเยอะ กระทั่งธรรมะภาคปฏิบัติ พวกเราฟังเยอะแล้ว จุดสำคัญคือจะลงมือทำได้อย่างไรจริงๆ ลำพังฟังเฉยๆ 10 ปี 20 ปีก็เท่านั้น ไม่ลงมือปฏิบัติไม่มีวันเข้าใจธรรมะได้หรอก

ถ้าเราจะฝึกจิตฝึกใจเรา จุดแรกเลยที่เราต้องมีคือเครื่องอยู่ของจิต ถ้าเราไม่มีอารมณ์กรรมฐานที่เป็นเครื่องอยู่ของจิต หรือเป็นวิหารธรรม ในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านใช้คำว่าวิหารธรรม วิหรติ ภาษาไทยเราก็คือมันเป็นบ้าน เป็นเครื่องอยู่ของจิต เพราะฉะนั้นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ ที่จะฝึกจิตฝึกใจจริงๆ คือต้องมีวิหารธรรม แต่จริงๆ แล้วการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เรื่องแค่การฝึกจิตตรงๆ ที่เริ่มจากวิหารธรรม การปฏิบัติธรรมนั้นก็เริ่มแต่การทำทาน รักษาศีล ฝึกสมาธิจนกระทั่งจิตเราตั้งมั่น จะฝึกให้จิตตั้งมั่นเพื่อจะไปเดินปัญญาได้ ต้องมีวิหารธรรม ถ้าไม่เริ่มต้นตรงการมีวิหารธรรมที่เหมาะกับตัวเอง ไม่สำเร็จหรอก ไม่ได้ผล ใช้เวลาหลายปีแล้วก็คลำไปอยู่นั่นล่ะ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ฉะนั้นเราสำรวจตัวเองดู ว่าวิหารธรรมอย่างไหนเหมาะกับตัวเราเอง มันก็มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ กาย เวทนา จิต ธรรม

 

ใช้กายเป็นวิหารธรรม

กายก็แยกได้หลายแบบ อย่างเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า อันนี้ก็เป็นวิหารธรรมที่ดี พระพุทธเจ้าตอนเริ่มต้นภาวนา ทำสมาธิ ท่านก็เริ่มจากการทำอานาปานสติ มีสติเห็นร่างกายหายใจเข้า มีสติเห็นร่างกายหายใจออก บางคนรู้สึกลมหายใจมันละเอียดไป มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหนื่อยที่จะรู้ เราก็รู้ของที่เปลี่ยนแปลงช้าหน่อย อย่างรู้ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน การเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้เปลี่ยนตลอดเวลา อย่างเรานั่งพักหนึ่งแล้วก็ ถึงจะเปลี่ยนอิริยาบถมายืน มาเดิน หรือนั่งอยู่นานๆ แล้วก็เมื่อยก็ลงไปนอน แต่ละอิริยาบถมีเวลายาว

ฉะนั้นถ้ามีสติรู้อิริยาบถ บางคนรู้สึกมันหยาบไป อย่างนั่งอยู่ยังไม่ทันจะเปลี่ยนอิริยาบถเลย หลงไป 500 ครั้งแล้ว รู้สึกมันหยาบเกินไป บางคนก็รู้สึกดูกายใช้ลมก็ละเอียดไป รู้อิริยาบถก็หยาบไป มีตัวกลางๆ คือรู้ความเคลื่อนไหวและความหยุดนิ่งของร่างกาย ไม่เลือกอิริยาบถ อย่างเรานั่งอยู่ ถ้าเราจะนั่งอยู่แล้วเรารู้ลมหายใจก็ได้ รู้ เวลาเดินอยู่ไปรู้ลมหายใจก็ได้ เวลาทำเป็นเครื่องอยู่แล้วมันอยู่ได้ตลอด เวลาจะรู้ความเคลื่อนไหวหยุดนิ่ง เราก็เคลื่อนไหวหยุดนิ่งในทุกๆ อิริยาบถนั่นล่ะ อย่างนั่งนี่เดี๋ยวก็นั่งนิ่งๆ เดี๋ยวก็นั่งขยุกขยิก นั่งขยับไปขยับมา รู้สึก บางทีมือไม้เราก็ไป มือขยับคอยรู้สึกไป มันก็ระดับกลางๆ

การรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย มันเป็นความละเอียดระดับกลางๆ อย่างลมหายใจมันละเอียดมาก เพราะมันเปลี่ยนตลอดเวลา เดี๋ยวหายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า อิริยาบถมันก็หยาบมาก นานๆ ถึงจะเปลี่ยนอิริยาบถทีหนึ่ง ถ้ากลางๆ ไม่หยาบไป ไม่ละเอียดไป ก็คือการรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย เราก็สังเกตเอาแค่ไหนพอดีกับเรา บางท่านจิตท่านมีสมาธิดี ดูกายให้ดูแค่ลม ดูอิริยาบถรู้สึกยังไม่พอ ท่านเห็นกายลงเป็นธาตุ เป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม บรรจุอยู่ในอากาศธาตุคือช่องว่าง สเปซ มีธาตุเคลื่อนที่ตลอด เช่น หายใจเข้า หายใจออก กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำแล้วก็ปัสสาวะ เป็นเหงื่อเป็นอะไรออกไป ดูได้ตั้งหลายแบบ ถ้าใช้กายเป็นวิหารธรรม

อย่างถ้าเราใช้ลมหายใจ เห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ทีแรกก็เห็นแค่นี้ ต่อมาตอนที่หายใจออก หายใจเข้า บางทีจิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่น เอ้า จิตทิ้งวิหารธรรมไปแล้ว ไม่ดี หลงไปแล้วทิ้งวิหารธรรมก็หลงไป หลงไปไหน ก็หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลงไปคิดนึกปรุงแต่ง หลงไปดูรูป ไปดมกลิ่น ไปฟังเสียง ไปลิ้มรส จิตมันไหลไป ลืมการหายใจ ถ้าใช้ลมหายใจเราก็จะค่อยๆ ฝึกไป แล้วเห็นว่าสักพักหนึ่งจิตมันก็ทิ้งลม หนีไปที่อื่น มันทิ้งได้เองไม่ได้เจตนาจะทิ้ง รู้ลมอยู่ดีๆ มันก็หนีไปคิด หนีไปคิดแล้วทำอย่างไร หนีไปคิดแล้วก็รู้ว่าหลงไปคิด บางทีเรารู้ลมจิตก็ไหลไปอยู่ที่ลม จมลงไปอยู่ที่ลมหายใจ แล้วรู้ทันว่าจิตเราไหลลงไปที่ลมหายใจ ไปเพ่งลมหายใจ มันจะอึดอัดขึ้นมา

เพราะฉะนั้นจิตเราทำกรรมฐาน อย่างเราใช้ลมเป็นวิหารธรรม จิตหนีไปที่อื่นเรารู้ จิตถลำลงไปเพ่งลมเรารู้ ฝึกตัวเองให้มีวิหารธรรม แล้วสิ่งที่เราได้คือสมาธิที่ถูกต้อง ทันทีที่เรารู้ว่าจิตมันหนีไป หรือมันไหลไป จะไหลไปคิดหรือไหลไปเพ่งก็ตาม ถ้ารู้ทันจิตที่ไหลไป จิตที่ไหลก็ดับจิตที่รู้ก็เกิด แล้วจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา ได้สมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา พอได้สมาธิที่ถูกต้องเราก็หายใจของเราต่อไปนั่นล่ะ เราก็เห็นหายใจไป ทำไมร่างกายมันหายใจหนอ ดูเข้าไปเรื่อยๆ มันจะรู้เลยมันหายใจเพื่อหนีทุกข์ หายใจออกเพื่อหนีทุกข์ของการหายใจเข้า หายใจเข้าเพื่อหนีทุกข์ของการหายใจออก อยากรู้ว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ เราลองดู หายใจเข้า หายใจเข้าไปเรื่อยๆ อย่าไปหายใจออก ทุกข์ไหม แป๊บเดียวเราก็เห็นแล้วมันทุกข์ ก็ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ หายใจออกไปสักพักหนึ่งก็ทุกข์อีกแล้ว ก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์อีก

ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราจะเห็นเลย ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก นี่เข้าขั้นการเจริญวิปัสสนาแล้ว เข้าขั้นในการเจริญปัญญาแล้ว อย่างทีแรกเราหายใจแล้วจิตหนีไปเรารู้ จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจเรารู้ เราจะได้สมาธิ ถ้าเราดูละเอียดต่อไปมันจะได้ปัญญา เช่นเราหายใจอยู่อย่างนี้ เราจะรู้เลยเราหายใจเข้า เพื่อจะแก้ทุกข์จากการหายใจออก หายใจออกเพื่อแก้ทุกข์จากการหายใจเข้า กายนี้เป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง หรือเรารู้อิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน เรานั่งแล้วทำไมเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ที่เราเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อหนีทุกข์ นั่งอยู่ นั่งไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อหนีทุกข์ของการนั่ง แล้วก็ไปยืน ยืนไปนานๆ ก็ทุกข์อีก เราก็ต้องเคลื่อนไหว เช่น ไปเดิน หรือลงมานั่งใหม่ หรือลงไปนอน ที่เราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่ตลอดเวลาเพื่อหนีทุกข์

ฉะนั้นเราดูลงไปเรื่อยๆ ในทุกๆ อิริยาบถ มีสติระลึกรู้กายอยู่ทุกๆ อิริยาบถ เราจะเห็นว่ากายนี้มีทุกข์อยู่ทุกๆ อิริยาบถ นี่เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว เราเดินปัญญาแล้ว เห็นความเป็นทุกข์ของกาย นี่ตัวอย่าง ที่จริงมุมมองในการภาวนามันหลากหลาย ลึกซึ้ง แล้วเยอะแยะไปหมดเลย แต่กายนี้ตัวที่เด่นคือตัวทุกข์ มันดูง่าย ตัวจิตตัวอนัตตามันเด่น บังคับไม่ได้ แล้วก็ตัวอนิจจังมันเด่น มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กายนี้มันเปลี่ยนแปลงช้า จิตมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเราใช้กาย เบื้องต้นเราก็ได้สมาธิ เบื้องปลายเราก็ได้ปัญญา ได้สมาธิคือจิตมันตั้งมั่นไม่หลงไป แล้วก็ไม่ถลำลงไปเพ่ง ได้ปัญญาคือเห็นกายนี้ไม่มีอะไรหรอก กายนี้คือทุกข์ล้วนๆ เลย

ถ้าดูกายในมุมของธาตุจะเห็นอนัตตาได้ง่าย แต่ว่ามันยากถ้าไม่ได้ทรงฌานดูตรงนั้นยาก เอาของง่ายๆ นี่ล่ะ ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ดูแค่นี้พอ คนที่ไม่ได้ฌานมีสมาธินิดๆ หน่อยๆ ก็ยังพอไหวอยู่ ถ้าประณีตลึกซึ้งกว่านั้นละเอียดกว่านั้น ดูยาก ต้องทรงฌานถึงจะเห็นชัด เวลาถ้าเราทรงฌานจริงๆ ดูลงในกายเลย กายมันสลายให้ดูเลย อย่างเราดูผม ผมหายไปเลย สลายไปหมดเลย ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะเปิดเลย โล่งไปเลย หายไปเลย เห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลก หัวระเบิดไปเลย ดูกายทั้งกาย บางทีสลายตัว ลีลาการสลายตัวก็มีแปลกๆ เฟดไปเฉยๆ สลายไปเฉยๆ ก็มี บางทีเหมือนกับไฟไหม้พรึบขึ้นมาไหม้ไปหมดเลย สลายไปเลยก็มี นี่เป็นเรื่องของสมาธิทั้งหมด บางทีดูๆ อยู่ระเบิดเปรี้ยงสลายไปหมดเลย อันนั้นไว้พวกที่เขาทรงฌานเขาเล่นกัน เราเล่นไม่ได้เราก็ไม่ต้องไปเล่น

เอาง่ายๆ ที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ รู้สึกไปร่างกายนี้มันทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ร่างกายมันทุกข์อยู่ทุกๆ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายมันทุกข์ อย่างเรานั่งแล้วคันเราเกา คนทั่วไปมันก็เกาทุกคน หมามันก็เกา แมวมันก็เกา มันคันขึ้นมามันก็เกา ที่ผ่านมาเราไม่ได้ภาวนา คันเราก็เกา นี้ถ้าเราภาวนาพอคันขึ้นมา รู้สึกเลย สติระลึกรู้เลย มีความคันเกิดขึ้นในกาย กายนี้ทุกข์แล้ว ก็จะเกิดความอยากเกา รู้ว่าอยาก เข้ามาดูจิตได้แล้ว ลงมือเกาเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว นี่ก็ดูกายได้อีกแล้ว เห็นไหมแค่เกานี้ครอบคลุมกรรมฐานไว้ตั้งเยอะแยะเลย นี่ยกตัวอย่างให้ดูจริงๆ มันละเอียดกว่านี้อีกเยอะเลย ของเราพอคันก็เก่ายิกๆๆ ทำเหมือนหมาเหมือนแมวคัน ก็เกาเอา ของเราก่อนจะเกามีสติเสียหน่อย ทำไมต้องเกา มันทุกข์ เวลาคันแล้วเราไม่เกา ลองดู ทุกข์นะ ที่เราเกาก็เพื่อจะแก้ทุกข์ นี่อิริยาบถย่อย ก็เพื่อแก้ทุกข์อีก ทำไมนั่งอย่างนี้เดี๋ยวก็ต้องขยับ ขยับอย่างนี้ก็เพราะมันทุกข์

ถ้าเรามีสติเรามีวิหารธรรม ใช้กายเป็นวิหารธรรม ดูไปเรื่อย โอ้ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย ถ้าเราทรงฌาน เราดูกายลงไปเห็นแค่มันเป็นธาตุ เห็นมันว่างเปล่า ไม่มีตัวตน มีแต่เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้นเลย เราไม่ต้องอย่างนั้น ดูกายนี้มันตัวทุกข์ล้วนๆ ดูไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เวลาเราภาวนาไม่ว่าเริ่มต้นจะดูกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม อันไหนก็ได้ อย่างถ้าเราภาวนาด้วยการดูจิต ใช้จิตเป็นวิหารธรรม ตอนที่จิตมันจะแตกหักในภูมิธรรมขั้นที่สาม จิตมันจะมาเห็นกายเองอัตโนมัติเลย มันจะดูลงมา อย่างร่างกายมันเหนื่อย มันลงไปนอนพัก พอมันตื่นขึ้นมา จิตสั่งว่าร่างกายต้องลุกขึ้นมาได้แล้ว ถึงเวลาต้องลุกแล้ว มันสั่งไม่ได้ ร่างกายมันนอนจมความทุกข์อยู่ เราสั่งมันไม่ได้มันเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราด้วย สั่งมันไม่ได้ ดูๆ เรื่อยๆ สุดท้ายจิตมันก็แจ้ง กายนี้เป็นตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย

ถ้าเราภาวนาอย่างนี้ตั้งแต่ต้น เราก็ดูกายของเรามานี่ล่ะ หายใจออก หายใจเข้า ยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง มีแต่ทุกข์ ดูเรื่อยๆ จิตเราจะพัฒนาไปได้ถึงพระอนาคามี จะพัฒนาได้ถึงพระอนาคามีเลย แค่นี้ล่ะไม่ต้องเรื่องมาก ไม่ใช่ต้องรู้อะไรเยอะแยะ ต้องภาวนาอะไรเยอะแยะ เอาให้ได้เสียอย่างหนึ่ง จะใช้กายก็เอาไป ดูไปเรื่อยมีแต่ทุกข์ไม่มีอะไรหรอก ถึงจุดหนึ่งจิตมันสลัดกายทิ้งเลย สลัดเปรี้ยงเลย คล้ายๆ มันลุกขึ้นมาจับร่างกายนี้เหวี่ยงกระเด็น ทะลุผนังห้องออกไปได้เลย จิตมันทิ้งเลย แล้วตั้งแต่นั้นมันจะไม่ยึดถือกายอีกแล้ว เพราะมันรู้ว่ากายนี้ทุกข์จริงๆ จิตมันหมดความยึดถือได้เพราะมันเห็นทุกข์ ถ้ามันไม่เห็นทุกข์มันไม่เห็นธรรมหรอก ไม่ได้ธรรมะ

 

ใช้เวทนาเป็นวิหารธรรม

ฉะนั้นภาวนาให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปเลย มีวิหารธรรม ถ้าใช้กายอย่างที่หลวงพ่อบอก บางคนไม่ถนัดกายก็ใช้เวทนาเอา เวทนามี 2 ส่วน เวทนาทางกายกับเวทนาทางใจ เวทนาทางกายเล็กๆ น้อยๆ อะไรพวกเราก็ดูได้ เช่น มีความคันเกิดขึ้นในร่างกาย มีความเมื่อยเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นในร่างกาย เราก็พอดูไหว แต่ถ้าเวทนาทางกายแสนสาหัส จิตที่ไม่ได้ทรงฌานมันดูไม่ไหว สติแตก อย่างเวลาปวดมากๆ โอ๊ย ทุรนทุราย เวลาคนปวดมากๆ หลวงพ่อเคยเห็นคนจะตาย เขาทรมานมากอยู่ที่โรงพยาบาล เอามือจับลูกกรงเหล็กที่ข้างเตียงที่กันตก เขย่า เมื่อไหร่จะตายสักทีโว้ย อยากตาย เวทนามันรุนแรง สติแตก คลุ้มคลั่ง ถ้าทรงฌานอยู่ถึงจะทำได้ เวทนาทางกาย

ถ้าเราทรงฌานอยู่จริงๆ เราจะเริ่มเห็นกายก็ส่วนหนึ่ง เวทนาก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง แยกกันอยู่ ก็ทำได้ หรืออยากลิ้มรสลองเล็กๆ ลองปฏิบัติดูเวทนาทางกายแบบเล็กๆ เวลาเราทำฟัน เจ็บ หมอเขาทำอย่างไรก็เจ็บถ้าไม่ได้ฉีดยาชา ถ้าจะฉีดยาชาตอนที่ฉีดยาก็เจ็บอีกล่ะ อย่างเขากรอฟันเรา ขูดหินปูน ถ้าขูดเข้าไปใต้เหงือก เจ็บมาก หมอบางคนก็อยากให้สะอาดมาก เขาล้วงเข้าไปใช้เครื่องเขย่านั่นล่ะ จะเจ็บมาก ถ้าเรามีสมาธิพอเราก็จะเห็นกายอยู่ส่วนหนึ่ง ความเจ็บอยู่ส่วนหนึ่ง จิตใจที่เป็นคนดูอยู่อีกส่วนหนึ่ง เห็นเลยความเจ็บนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราสั่งมันไม่ได้ สั่งว่าอย่าเจ็บสั่งไม่ได้ พอเจ็บมากๆ รู้สึกไม่ไหวทนดูไม่ไหวแล้ว ถ้าชำนาญในเรื่องของฌาน เรื่องของสมาธิ เราก็ย้ายจิตเสีย ย้ายจิตไปอยู่ที่หัวแม่เท้าเสีย เขาก็ทำที่ปาก แต่จิตมันอยู่ที่หัวแม่เท้า ปากมันไม่เจ็บหรอก มันไม่รู้สึกหรอก

ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงพ่อเคยได้ยินท่านเล่า หลวงตามหาบัว ท่านฉันยาจีนท่านบอก โอ๊ย ยานี้เหม็นมากเลย กลิ่นดุเดือดมากเลย ท่านบอกเวลาจะฉันยานี้ท่านเอาจิตไปไว้บนขื่อ รู้จักขื่อไหม ขื่ออยู่เหนือเพดานขึ้นไป อยู่ใต้หลังคา เป็นไม้ที่กั้น เอาจิตไปไว้ข้างบนนั้นแล้วดื่มยาไม่เหม็นแล้ว เพราะจิตไม่ได้อยู่ที่จมูก ถ้าทรงฌาน เจ็บปวดหนักๆ สุดจะทนแล้ว ก็เปลี่ยน ทำสมาธิย้ายที่เสีย ย้ายจิตเสีย ถ้าเราทำไม่ได้เราไปดูมากๆ สู้ไม่ไหวเดี๋ยวคลุ้มคลั่ง สติแตก ฉะนั้นเวทนาทางกายมันเป็นเครื่องอยู่ที่เหมาะกับคนมีฌาน

ถ้าเราไม่มีฌานเราย้ายมาดูอีกเวทนาหนึ่ง เวทนาทางใจ เราจะเห็นเลยในใจเรามันจะมีเวทนาได้ 3 ชนิด 3 ชนิดเท่านั้นไม่มี 4 ชนิด อันแรกก็คือมีความสุขทางใจ อันที่สองมีความทุกข์ทางใจ อันที่สามเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ฉะนั้นใจเราถ้าเราใช้เวทนาทางใจ บางคนไม่ชอบดูกาย ไม่ชอบดูจิต แต่ฌานก็ไม่ได้อะไรก็ไม่ได้ จะไปดูเวทนาทางกายก็ไม่ไหว ก็ดูเวทนาทางใจไม่ต้องทรงฌานหรอก เราจะเห็นเดี๋ยวเวทนาความสุขก็เกิดขึ้นในใจ เดี๋ยวความสุขก็หายไป เดี๋ยวความทุกข์ก็เกิดขึ้นในใจ ความทุกข์เรารู้สึกหายช้า ความสุขเรารู้สึกหายเร็ว เพราะเราชอบความสุขก็เลยรู้สึกว่ามันอายุสั้น เราเกลียดอะไรเราจะรู้สึกสิ่งนั่นอายุยืน อย่างถ้าเราเกลียดใครสักคนเราจะรู้สึกเมื่อไรมันจะตายเสียที ทำไมอายุมันยืนนัก เวทนาในใจนี้ก็เหมือนกัน เราชอบเวทนาที่มีความสุข เราจะรู้สึก แหม มันสั้นจังเลย น้อยไปหน่อย เราเกลียดเวทนาที่มีความทุกข์ เรารู้สึกทำไมไม่หายทุกข์เสียที ทุกข์นาน ที่แท้มันก็ทุกข์แค่รู้เท่านั้นล่ะ ไม่ไปสนใจมัน มันก็หายเหมือนกัน

ฉะนั้นเราเฝ้ารู้ลงที่จิตที่ใจของเรา ใช้วิหารธรรมคือเวทนาทางใจเป็นเครื่องอยู่ของจิต เป็นเครื่องอยู่คือรู้มันเนืองๆ รู้มันบ่อยๆ รู้มันประจำ แต่ไม่ใช่ว่าห้าม ห้ามไปรู้อย่างอื่น ไม่ใช่ มันก็เหมือนเรารู้ลมหายใจ เราก็ไม่ได้ห้ามว่า ห้ามไปดูรูป ห้ามไปฟังเสียง พอจิตมันทิ้งลมไป เรารู้ จิตมันไปเพ่งลม เรารู้ อันนี้ก็เหมือนกัน จิตหนีไปจากความรู้สึกว่าสุข ทุกข์ เฉยๆ ในใจ เรารู้ นี่จิตมันหลงไปแล้ว จิตมันจมลงไปมีความสุข แล้วมันก็จมลงไปในความสุขก็รู้ทัน มีความทุกข์มันก็จมลงไปในความทุกข์ เราก็รู้ทัน เฉยๆ ก็เผลอๆ เพลินๆ เราก็รู้ทัน รู้ไปอย่างนี้จะได้สมาธิ แล้วต่อไปปัญญาก็เกิดด้วย มันจะเห็นเวทนาทุกชนิดไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เวทนาทุกชนิดเป็นอนัตตาสั่งไม่ได้ สั่งว่าจงสุขมันไม่สุข สั่งว่าห้ามทุกข์มันก็ทุกข์ สั่งอะไรมันไม่ได้ สั่งให้เฉยๆ เดี๋ยวก็มีความสุข เดี๋ยวก็มีความทุกข์ขึ้นมา สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่คือคำว่าอนัตตา

เห็นไหมเราใช้วิหารธรรมคือเวทนาทางใจ ได้ทั้งความสงบในเบื้องต้น ได้ปัญญาในเบื้องปลาย ความสงบก็คือถ้าจิตมันหนีไปจากเวทนานี้เรารู้ทัน จิตมันนอนลงไปแช่จมอยู่ในเวทนาเรารู้ทัน เราจะได้สมาธิที่ดีขึ้นมา แล้วเราก็เห็นเวทนาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ดูไปก็เกิดปัญญา เวทนาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก คนที่บ้ากันวุ่นวายทั่วโลกก็เพราะหลงเวทนานั่นล่ะ อยากมีความสุข แล้วก็คิดว่าทำอย่างไรจะมีความสุข มีเมียสวยๆ จะมีความสุข มีลูกฉลาดจะมีความสุข มีเงินเยอะๆ จะมีความสุข ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะมีความสุข ได้กลับประเทศไทยแล้วจะมีความสุข ได้อย่างโน้น ได้อย่างนี้ ใจมันหิวตลอดไม่ได้มีความสุขหรอก

ถ้าเรามีสติปัญญารู้ลงไป เวทนาของไม่เที่ยง เวทนาเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ นี่ได้ปัญญา สุดท้ายจิตมันก็วาง วางเวทนาที่หยาบๆ ไปอยู่ในเวทนาที่ละเอียด แต่คำว่าวางไม่ใช่ไม่มีเวทนา กระทั่งจิตพระอรหันต์ก็มีเวทนาไม่ใช่ไม่มี อย่างบรรลุพระอรหันต์ขันธ์มันยังอยู่ ร่างกายนี้มันก็ยังอยู่ มันก็ทุกข์เหมือนคนอื่นนั่นล่ะ เวทนามันก็มีเพียงแต่มันมีน้อยกว่าคนอื่นเขา คนทั่วๆ ไปมีเวทนา 3 อย่างคือสุข ทุกข์ เฉยๆ อย่างพระอรหันต์จะมีเวทนาแค่มีความสุข กับอุเบกขาเฉยๆ ทางใจ แต่ทางกายยังมีสุขมีทุกข์เหมือนคนปกติ ไปตีหัวพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็เจ็บหัวเหมือนกัน แต่เวลาจิตมันทรงฌานอยู่ บางทีถูกทำร้ายไม่รู้สึก หรือรู้สึกนิดๆ อย่างพระสารีบุตรท่านเข้าสมาบัติอยู่ โดนยักษ์มันตีหัวเอาตีเปรี้ยงลงไป พอท่านออกจากสมาธิมา พระโมคคัลลาถามว่าตอนที่นั่งอยู่รู้สึกอะไรบ้างไหม ท่านบอกรู้สึกคันๆ ที่ศีรษะนิดหนึ่ง ถ้าเป็นคนอื่นแบนไปแล้ว คันนิดหนึ่ง

ครูบาอาจารย์ร่วมสมัยเราก็มี หลวงปู่สาม อกิญจโน หลวงปู่สามลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ แล้วก็ไปเรียนกับหลวงปู่มั่นด้วย รุ่นเดียวกับหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่อ่อน คนนี้ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ ก็ไปเรียนกับหลวงปู่มั่นด้วย หลวงปู่สามท่านไปภาวนาในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในหมู่บ้านนั้นเขามีวัดบ้านๆ อยู่ พอท่านไปอยู่ ท่านเรียบร้อย ท่านภาวนาดูงาม มีศีล ดูสงบ ดูดี ชาวบ้านนับถือ พวกเจ้าถิ่นไม่พอใจว่าลาภสักการะลดลง คนหันมานับถือหลวงปู่สาม มันจ้างนักเลงไปตีท่าน ก็ต้องตีกลางคืน ตีกลางวันไม่ได้เดี๋ยวคนเห็น ย่องไปกลางคืน ท่านนั่งสมาธิของท่านอยู่ พอจิตท่านถอนออกจากสมาธิตอนเช้า ท่านเอ๊ะเราอยู่ที่ไหน เมื่อคืนเราก็นั่งอยู่ในกุฏิ ตอนนี้ทำไมถูกอะไรต่ออะไร ถูกไม้ถูกอะไรทับอยู่เยอะเลย ค่อยๆ สังเกต อ๋อกุฏิมันพังลงมาทับ แล้วทำไมมีอะไรเหนียวๆ เลอะที่หน้า คลำดูอ้าวหัวก็แตก ท่านไม่ได้อย่างพระสารีบุตร ไม่แตก นี้หลวงปู่สามศีรษะแตก ตอนที่เข้าสมาธิอยู่ท่านตัดเวทนาทางกายออกไป พอกลับมามีร่างกายมันก็เจ็บเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่เจ็บ

ฉะนั้นเราอย่าไปวาดภาพ นักปฏิบัติให้มันกลายเป็นหุ่นยนต์ บางคนวาดภาพพระอริยะเป็นหุ่นยนต์ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักปวด ไม่รู้จักหิว ไม่รู้จักกระหาย อย่างนั้นเพี้ยนแล้วความคิดอัปลักษณ์มากเลย ถ้าเราเอาเวทนาเป็นวิหารธรรม เราก็จะเห็น ถ้าจิตเราหนีไปจากเวทนาเรารู้ เราจะได้สมาธิ ถ้าจิตเราจมแช่อยู่ในเวทนาเรารู้ จิตจะถอนตัวขึ้นมามีสมาธิ แล้วเราก็จะเห็นเวทนานั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราเห็นอนิจจัง เราเห็นว่าเราสั่งเวทนาไม่ได้ นั่นคืออนัตตา

 

ใช้จิตเป็นวิหารธรรม

ถ้าเราจะใช้จิตเป็นวิหารธรรม เราจะทำอย่างไร จิตที่เราใช้เป็นวิหารธรรม เราจะใช้จิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เริ่มต้นท่านแนะนำให้ใช้จิตที่เป็นอกุศล เพราะว่าพวกเรามีอกุศลเยอะ กุศลไม่ค่อยมี คนไหนขี้โกรธ เราใช้ความโกรธเป็นวิหารธรรม เราจะเห็นเลยจิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย ในพระสูตรท่านใช้คำว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ” ถ้าพวกขี้โลภก็ใช้จิตโลภ จิตอยาก เป็นวิหารธรรม เดี๋ยวจิตก็อยาก เดี๋ยวจิตก็หายอยาก จิตมีราคะแล้วจิตก็ไม่มีราคะ สลับกันไปเรื่อยๆ อย่างเรามีจิตโกรธ พอจิตโกรธมันผุดขึ้นมา เรารู้ว่าจิตโกรธ แต่ว่าความโกรธมันมีกำลังแรงกว่าสติของเรา แรงกว่าสมาธิของเรา มันกลายเป็นเราโกรธ อันนี้ลืมการปฏิบัติ จิตหลงไปตามความโกรธ นี้ขาดสติ ขาดสมาธิแล้ว จิตหลงไปตามความโกรธ

ถ้าโกรธแล้วรู้ว่าโกรธ จิตกับความโกรธแยกออกจากกัน จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จิตได้สมาธิขึ้นมา ฉะนั้นถ้าจิตมันจมลงไปในความโกรธ มันก็ไม่มีสมาธิ ถ้ารู้ว่าจิตจมอยู่ในความโกรธ จิตก็แยกขึ้นมา ถ้าความโกรธมันพุ่งขึ้นมาครอบจิตใจ เรารู้ทัน ความโกรธก็แยกออกไปจากจิต ต่างคนต่างอยู่ จิตก็ทรงสมาธิขึ้นมา เห็นไหมดูจิตตสังขาร ใช้จิตตสังขารเป็นวิหารธรรม เบื้องต้นก็ได้สมาธิ เบื้องปลายก็ได้ปัญญาเหมือนกัน บางทีเรารู้อารมณ์เราอยู่ เห็นความโกรธผุดขึ้นมาเรารู้ เสร็จแล้วลืมขาดสติแล้ว พุ่งไปใส่คนที่ทำให้โกรธ สังเกตไหมเวลาโกรธเราสนใจสิ่งที่ทำให้เราโกรธ มากกว่าสนใจจิตใจของเราเอง เราโกรธคนนี้เราจะคอยจ้องมัน มันมาแล้วใจเราจะไปอยู่ที่เขา เราลืมตัวเราเอง เราไม่สนใจจิตใจของตัวเอง

การดูจิตดูใจไม่ใช่เรื่องยากหรอก หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” นี่เรื่องจริง อย่างจิตเราโกรธเรารู้ว่าโกรธ มันยากตรงไหน แต่คนทั่วไปไม่ยอมรู้ ละเลยที่จะรู้ ไม่สนใจที่จะรู้ พอโกรธขึ้นมาจะไปดูแต่คนที่ทำให้โกรธ จะไปดูแต่สิ่งที่ทำให้ไม่พอใจ จะไปสนใจของข้างนอก สนใจคนอื่น สนใจสัตว์อื่น สนใจสิ่งอื่นไป ไม่สนใจว่าจิตกำลังโกรธ เวลาโลภขึ้นมา เวลารักขึ้นมา ก็จะไปสนใจอารมณ์ที่ทำให้เรารัก เช่น สาวงามคนนี้เราเห็นเราชอบ ใจเราก็วิ่งไปอยู่ที่เขาเลย เราไม่เห็นว่าใจของตัวเองกำลังมีราคะอยู่

การปฏิบัติมันพลิกนิดเดียวเอง แต่เดิมนั้นมันพุ่งออกไปสนใจสิ่งภายนอก โกรธก็ไปดูของข้างนอก โลภก็ไปดูของข้างนอก หลงก็ไปคิดออกไปข้างนอกอีก เราพลิกกลับข้างนิดเดียวเอง ย้อนมาดูใจของเราเอง โกรธรู้ว่าใจกำลังโกรธ โลภรู้ว่าใจกำลังโลภ หลงรู้ว่าเมื่อกี้นี้หลงไปแล้ว รู้แล้วในขั้นต้นจะได้สมาธิ จิตกับความโกรธมันแยกออก จิตมันทรงตัวเป็นผู้รู้ขึ้นมา จิตกับความโลภก็แยก จิตทรงตัวเป็นผู้รู้ขึ้นมา จิตที่ทรงตัวเป็นผู้รู้นั่นล่ะ เป็นจิตที่ทรงสมาธิที่ดี

ฉะนั้นอย่างเราดูจิตดูใจ ในเบื้องต้นเราก็ได้สมาธิ หรือบางทีเราภาวนาชำนาญ เราดูลงไปไม่มีโลภ โกรธ หลงหรอก ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ แต่มีหลง เช่นเราดูๆ อยู่แล้วมันสว่างขึ้นมา มันไหลออกไปข้างนอก มันสว่างอยู่ข้างนอก จิตเราก็ไปสงบสบายว่างๆ อยู่ข้างนอกอย่างนี้ อันนี้จิตหลง จิตมันหลงไป แล้วมันไปจมไปแช่อยู่อย่างนั้น มันได้สมาธิแต่มันเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเรารู้ว่าจิตถลำออกไป อยู่ในแสงสว่างอยู่ในความว่าง จิตถอนตัวตั้งมั่นขึ้นมา ได้สมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา ฉะนั้นดูจิตดูใจเบื้องต้นก็ได้สมาธิ เบื้องปลายก็ได้ปัญญา เราก็จะเห็นจิตมีราคะก็ไม่เที่ยง จิตไม่มีราคะก็ไม่เที่ยง จิตมีโทสะก็ไม่เที่ยง จิตไม่มีโทสะก็ไม่เที่ยง จิตมีโมหะคือหลงก็ไม่เที่ยง จิตไม่หลงก็ไม่เที่ยง จิตฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง จิตหดหู่ก็ไม่เที่ยง

ดูไปเรื่อยๆ แล้วจะรู้ว่าจิตทุกชนิดไม่เที่ยง หรือเราเห็นต่อไปอีกบางทีก็เห็นอนัตตา จิตมันจะโลภ หรือจะโกรธ หรือจะหลง หรือจะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เราสั่งไม่ได้ เราเลือกไม่ได้ อย่างเราตั้งใจว่าจะไม่โกรธอยู่ๆ ก็โกรธ ตั้งใจจะไม่โลภ จะไปเดินห้างเล่นร้อนๆ แค่ไปเดินเอาแอร์ไม่เสียสตางค์ที่บ้าน ไม่เสียค่าแอร์ จะไปเดินเดี๋ยวเดียวก็โลภแล้ว เที่ยวซื้อโน่นซื้อนี่ยากจนไปยิ่งกว่าเก่าอีก ตั้งใจว่าจะไม่โลภมันยังโลภเลย ตรงนี้แสดงอนัตตา เพราะฉะนั้นการดูจิตมันก็เหมือนดูกาย เหมือนดูเวทนานั่นล่ะ เบื้องต้นได้สมาธิ เบื้องปลายได้ปัญญา ดูจิตดูใจจะเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาชัด

 

ใช้ธัมมานุปัสสนาเป็นวิหารธรรม

อีกอันหนึ่งคือธัมมานุปัสสนา อันนี้ยากถ้าจิตเราไม่ได้ทรงฌานจริงๆ ก็เล่นยากนิดหนึ่ง แต่ถ้าทรงฌานแล้วสงบอยู่เฉยๆ ก็ใช้อะไรไม่ได้ จิตต้องมีกำลังของสติเข้มแข็งมากพอ ต้องมีกำลังของสมาธิเข้มแข็งมากพอ ถึงจะเจริญธัมมานุปัสสนาได้ ธัมมานุปัสสนาเป็นธรรมะ เป็นวิหารธรรมที่กว้างขวางที่สุดเลย มีทั้งกุศล มีทั้งอกุศล มีทั้งกระบวนการ เห็นกระบวนการเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี มันก็ยากอยู่ อย่างเราจะดูอกุศล เราไม่ได้ดูโลภ โกรธ หลง อันนั้นโลภ โกรธ หลงมันหยาบไป มันตื้นไป สิ่งที่ลึกซึ้งลงไปกว่าโลภ โกรธ หลง คือพวกนิวรณ์ นิวรณ์เป็นเครื่องกั้นคุณงามความดีไม่ให้เกิดขึ้น ก็จะต้องดูเห็นนิวรณ์ 5 ตัว ถ้าเราทำธัมมานุปัสสนาแล้วไม่ใช่แค่เห็นนิวรณ์ เราจะรู้เหตุรู้ผลด้วย

ฉะนั้นตัวธัมมานุปัสสนา เราดูไปเรื่อยเพื่อให้เห็นเหตุผล จะเห็นเลยนิวรณ์เกิดเพราะอะไร แต่ละตัวเกิดเพราะอะไรมี 5 ตัว หรือกุศลที่เรายกตัวอย่างมาเรียน ก็คือตัวโพชฌงค์ 7 โพชฌงค์ 7 เกิดจากอะไร เกิดด้วยอะไร รู้เหตุรู้ผล หรือเรียนเรื่องขันธ์ ขันธ์มันเกิดมาได้อย่างไร มีจิตหยั่งลงไปรูปนามก็เกิดขึ้น ขันธ์ก็เกิดขึ้น อายตนะก็เกิดขึ้น ก็จะเห็นขันธ์แต่ละขันธ์มันแยกออกจากกัน ขันธ์แต่ละขันธ์ทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง ไม่เหมือนกัน เรื่องพวกนี้พูดต้องพูดเยอะเลย ยาว ตัวสุดท้ายของธัมมานุปัสสนาก็คือตัวปฏิจจสมุปบาท อันนี้ค่อยภาวนา ค่อยเห็นเอาเอง

 

 

ไม่ว่าเบื้องต้นจะเจริญกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนา จะใช้อะไรเป็นวิหารธรรมก็ได้ พอเห็นไตรลักษณ์เรื่อยๆ สุดท้ายมันจะมาลงที่ธัมมานุปัสสนาอัตโนมัติทุกคน เพราะทุกคนจะต้องรู้อริยสัจ ถ้าตราบใดที่เรายังไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด พระอานนท์ท่านเคยไปบอกพระพุทธเจ้าว่า “ปฏิจจสมุปบาท หรือตัวอริยสัจที่พระองค์บอกว่ามันละเอียดลึกซึ้ง ข้าพระองค์เห็นเป็นของตื้น” ข้าพระองค์เห็นว่าเป็นของตื้น พระพุทธเจ้าบอก “อย่าพูดอย่างนั้นอานนท์ ตราบใดที่ไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ หรือไม่รู้แจ้งแทงตลอด ปฏิจจสมุปบาท ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก”

ฉะนั้นที่ว่ารู้ๆ มันรู้ตามระดับ ตามชั้น ตามภูมิ มันไม่ได้รู้แจ้งแทงตลอด อย่างเราบอกว่าเรารู้ทุกข์ กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ เรารู้แต่ปาก เวลาดูจริงเราเห็นไหมกายนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง จิตนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง ไม่ใช่กายนี้ทุกข์ จิตนี้ทุกข์ ถ้าเห็นอย่างถ่องแท้เรียกว่าเห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นอริยสัจ มันจะรู้เลยว่ากายนี้จิตนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีแต่ทุกข์กับสุข ธัมมานุปัสสนานี้ก็เหมือนกันถ้าใช้เป็นวิหารธรรม เบื้องต้นได้สมาธิ เบื้องปลายได้ปัญญา สูงสุดได้วิมุตติ ทุกตัวถึงวิมุตติได้หมด ถึงมรรคถึงผลได้ทั้งนั้น ใช้อันใดอันหนึ่งก็ได้

ยากไปไหมเทศน์ มีคนบอกว่าหลวงพ่อยิ่งเทศน์ยิ่งยาก เทศน์ให้ง่ายๆ ก็ได้ จะเทศน์ง่ายๆ ฟังให้ดี ไปหาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียอย่างหนึ่ง ไปดูเอาควรจะอยู่กับอะไร เช่น อยู่กับลมมันละเอียดไป หลงยาว ไม่ค่อยจะรู้เนื้อรู้ตัวเลย ก็ใช้ของที่หยาบขึ้น รู้ยืน เดิน นั่ง นอน มันหยาบไป ระหว่างที่นั่งก็หลงนาน ระหว่างที่ยืนก็หลงนาน ก็ใช้กลางๆ ใช้ขยับก็รู้ ขยับก็รู้ไป มันพอดีๆ ไม่มากไปไม่น้อยไป หรือจะดูเวทนา แนะนำให้ดูเวทนาทางใจ ถ้าจะดูจิต จิตของเราขี้โลภ เราก็ใช้ความโลภเป็นตัวหลักเป็นวิหารธรรม จิตของเราขี้โกรธก็ใช้ความโกรธเป็นวิหารธรรม จิตของเราฟุ้งซ่านก็ใช้ความฟุ้งซ่านเป็นวิหารธรรม ก็ต้องค่อยๆ หัดดูไป เดี๋ยวก็ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา สุดท้ายก็จะไปรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ก็ได้ธัมมานุปัสสนาเหมือนกัน

สมาธิกับปัญญามันต้องไปด้วยกัน มีสมาธิอย่างเดียวไม่เจริญปัญญาก็โง่ มีแต่ความสุข สุขโง่ๆ มีปัญญา เจริญปัญญาอย่างเดียวไม่มีสมาธิก็ฟุ้งซ่าน ไปไม่รอดหรอก มันต้องทำทั้ง 2 อย่าง สมาธิก็ทำ เจริญปัญญาก็ทำ ตอนไหนจิตไม่สงบฟุ้งซ่านทำสมาธิไป ตอนไหนจิตสงบมีกำลังแล้วเจริญวิปัสสนาไป ฝึกของเราอย่างนี้เรื่อยๆ ไป วันหนึ่งเดี๋ยวเราก็ดีจนได้ล่ะ แต่จุดสำคัญต้องมีเครื่องอยู่ ข้อย้ำอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่มีเครื่องอยู่ ไม่ได้เริ่มภาวนาเสียที ไม่ได้เริ่มการปฏิบัติเสียที.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 กุมภาพันธ์ 2565