การสุ่มตัวอย่างมาเรียน

หลวงพ่อจะไปเทศน์ที่บ้านจิตสบาย บ้านจิตสบายเป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับหลวงพ่อหรอก เขามีพื้นที่ เขานิมนต์ไปเทศน์ เขาก็คงเปิดจองส่วนหนึ่ง walk-in ส่วนหนึ่ง กฎกติกาอะไรก็เป็นเรื่องทางผู้จัดดำเนินการ ไม่เกี่ยวกับหลวงพ่อ ไม่เกี่ยวกับมูลนิธิฯ งานที่ทำอยู่มันแยกเป็นส่วนๆ แยกความรับผิดชอบออกไป อย่างมูลนิธิสื่อธรรม ที่เอาธรรมะหลวงพ่อไปเผยแพร่ มี 2 อัน อันหนึ่งมูลนิธิฯ ก็มีกรรมการของเขาต่างหาก ไม่ได้ขึ้นกับหลวงพ่อ ไม่ได้สังกัดวัด เป็นนิติบุคคลต่างหาก วัดก็เป็นนิติบุคคลอีกอันหนึ่ง คนละอันกัน

มีมูลนิธิของภาษาจีน มูลนิธิจีนก็จัดคอร์สออนไลน์เป็นระยะๆ มูลนิธิภาษาไทยทำหนังสือ ทำสื่อพวกนี้ ก็มีทีมไลฟ์ทีมอะไรอยู่กับมูลนิธิฯ สื่อก็มีหลายอัน ดั้งเดิมเลยก็มี Dhamma.com อันนั้น แล้วก็มามีอะไรหลายอัน มีเฟซบุ๊ก Dhamma.com มีอ่านธรรมคำสอน มีเพจมูลนิธิสื่อธรรม หลังสุดนี้มีผู้บริจาคเฟซบุ๊กกรุ๊ปชื่อหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ให้มูลนิธิฯ ดูแล อันนี้ลูกศิษย์ลูกหาเขาตั้งกันขึ้นเอง ทำมาช่วงหนึ่งก็มายกให้มูลนิธิฯ ดูแล

คนที่ทำงานก็ลำบากว่าต้องสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมาก บางทีก็อารมณ์ไม่ดีกัน ไม่ใช่ทีมงานหลวงพ่ออารมณ์ไม่ดี ไม่ใช่ทีมงานของมูลนิธิฯ อารมณ์ไม่ดี ทีมพวกนี้ได้รับการฝึกมาอย่างดีแล้ว รู้จักควบคุมสติ พวกเราบางทีติดต่อเขาเรียกร้องสูง เรียกร้องมากมาย เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีเรียกร้องว่าเขาเขียนบทความมาส่ง จะมาลงกรุ๊ปหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ทำไมมูลนิธิฯ ไม่ลงให้ ไม่โพสต์ให้ คนทำงานเขาก็มีกติกาของเขา ไม่ใช่ตามใจทุกคนได้ อย่างเขียนบทความมา ไม่รู้ใครเขียนเขาก็ไม่ลงให้ หรือบางทีบางข้อเขียนก็ดี แต่มันมีสิ่งปนเปื้อนอยู่ข้างใน พอกดเข้าไปแล้วมันไปขายบริการก็มี อยู่ในชื่อหลวงพ่อปราโมทย์

เคยมีเพจคนไปตั้งชื่อหลวงพ่อปราโมทย์ วัดสวนสันติธรรม หรือให้ต่างออกไปนิดหนึ่ง บางทีกดลงไปมีประกาศขายบริการขายอะไร เพราะฉะนั้นการที่ทีมงานเขาคอยดูแลอยู่ ก็จำเป็น บางทีก็ให้กู้เงิน เขียนแทรกๆ เข้ามา ปนเปื้อนเข้ามา หรือบางทีก็ไม่ตรงกติกา อย่างกติกาอันนี้เขาทำมาแต่เดิมแล้ว ก่อนที่ยกให้มูลนิธิฯ กรุ๊ปหลวงพ่อปราโมทย์ กติกาให้ลงธรรมะที่หลวงพ่อแสดงกับพวกผู้ช่วยสอนทั้งหลาย แล้วก็ธรรมะของในพระไตรปิฎก ถ้าเป็นพระสูตรกำหนดว่าให้อ้างอิง ต้องอ้างอิงว่าอยู่สูตรไหน เล่มไหน ธรรมะอีกอย่างหนึ่งคือธรรมะของครูบาอาจารย์ ที่หลวงพ่อเคยไปเรียนกับท่าน ส่วนใหญ่ก็สายวัดป่า อันนี้ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องอ้างอิงว่าท่านเทศน์เมื่อไรๆ เพราะแต่เดิมไม่ได้ทำกันไว้ แต่ว่าอ่านแล้วก็เข้าใจว่า ใช่หรือไม่ใช่คำสอนของครูบาอาจารย์ ดูไม่ยาก

อย่างพระร่วมสมัยหลวงพ่อเลี่ยง ทีมงานก็เลี่ยง พยายามเลี่ยงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ละท่านแต่ละองค์ไม่ใช่ท่านไม่ดี ท่านก็ดีของท่าน แต่ดีไม่เหมือนกัน แนวทางบางทีเหลื่อมไปเหลื่อมมา ก็เลยพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ได้โพสธรรมะของครูบาอาจารย์ร่วมสมัยยุคนี้ ปัญหาเยอะ ปัญหาเยอะแยะเลย บางทีพวกเราเขียนอะไรมาแล้วก็เขาไม่ลงให้ก็ไม่พอใจ ฟ้องมาที่หลวงพ่อก็มี หลวงพ่อบอกแล้วหลวงพ่อไม่ใช่ผู้ปกครองของมูลนิธิฯ เขาเป็นองค์กรฯ เป็นนิติบุคคลต่างหาก

ที่จริงสื่อออนไลน์มีเยอะแยะ เราไม่พอใจสื่ออันนี้เราก็ไปลงสื่ออื่นก็ได้ ไม่ต้องมาทะเลาะกันเสียเวลา เสียความรู้สึก ว่าทำงานเผยแพร่ก็ทำเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของคนอื่นด้วย เพื่อลดละกิเลสของเราด้วย ถ้าทำแล้วกิเลสมันแรง ต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน อย่าทำดีกว่า เพราะงานหลักของพวกเราชาวพุทธ ไม่ใช่เพื่อแย่งกันใหญ่ แย่งกันเด่น แย่งกันดัง งานหลักของพวกเราก็คือทำอย่างไร ตัวเราเองจะพ้นทุกข์ ทำอย่างไรเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจะพ้นทุกข์ ฝึกตัวเองดีแล้วก็ฝึกผู้อื่น ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลักอย่างนี้เลย คือเราเองต้องลดละกิเลสก่อน ถึงจะไปพูดธรรมะที่ลดละกิเลส

 

“จะเอาชนะใจของเราเองได้
ก็ต้องหมั่นสังเกตจิตใจของตัวเองให้ดี”

 

ฉะนั้นงานหลักจริงๆ ก็คืองานลดละกิเลสของตัวเอง ไม่ใช่งานเอาชนะคนอื่น แต่เป็นการเอาชนะใจของเราเอง การจะเอาชนะใจของเราเองได้ ก็ต้องหมั่นสังเกตจิตใจของตัวเองให้ดี กิเลสมันชอบแทรกทีเผลอ จำประโยคนี้ไว้เลย “กิเลสมันเล่นงานทีเผลอ” คือมันเล่นตอนขาดสติ ถ้าไม่เผลอ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว รู้สึกกายรู้สึกใจอยู่กิเลสเล่นงานไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน ให้เรามีสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต และระลึกรู้สภาวธรรม ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศลธรรม ทั้งอกุศลธรรม แล้วก็เห็นกระบวนการทำงาน ความปรุงแต่งระหว่างความไม่รู้กับความทุกข์ เชื่อมโยงระหว่างอวิชชากับความทุกข์ ท่านสอนให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้

การที่เราจะเจริญสติปัฏฐานจะด้วยกาย เวทนา จิต หรือธรรม อันใดอันหนึ่ง ก็ทำไปเพื่อให้เกิดสติบ่อยๆ สติปัฏฐานนั้นมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ เบื้องปลายทำไปเพื่อความมีปัญญา ฉะนั้นสติปัฏฐานมี 2 ระดับ เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ เบื้องปลายทำไปเพื่อความมีปัญญา ฉะนั้นการที่เรามีวิหารธรรม อย่างไปดูในสติปัฏฐาน เริ่มต้นก็ต้องใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม หรือใช้เวทนาในเวทนาเป็นวิหารธรรม หรือใช้จิตในจิตเป็นวิหารธรรม หรือใช้ธรรมในธรรมเป็นวิหารธรรม ก็ต้องมีวิหารธรรม ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” ฟังแล้วมันแปลไม่ออกไม่รู้ว่าคืออะไร มันไม่ใช่ภาษาของคนรุ่นเราแล้ว ธรรมะที่แปลจากบาลีเป็นภาษาไทย แปลกันเป็นพระไตรปิฎกภาษาไทย ก็มีสมัยรัชกาลที่ 5 เวลาร้อยกว่าปี ภาษามันเคลื่อนไปเยอะแล้ว ฉะนั้นเราฟังบางทีไม่เข้าใจแล้ว ก็ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกทีหนึ่ง “กายในกาย” เป็นอย่างไร หมายถึงเราไม่ต้องเรียนกายทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนเวทนาทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนจิตทั้งหมด ไม่ต้องเรียนธรรมะทั้งหมด

เราเรียนบางอย่างบางข้อ ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นแล้ว เราจะเข้าใจธรรมะทั้งหมด เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน ไม่ได้ผิดอะไรกับการทำงานวิจัยภาคสนามเลย อย่างเราจะไปวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อรัฐบาล หรือของคนกรุงเทพฯ ต่อตัวผู้ว่าฯ ของกทม. เราไม่ต้องถามคนทั้งประเทศ เพื่อจะรู้ทัศนคติต่อนายกฯ เราไม่ต้องถามคนทั้งกรุงเทพฯ เพื่อจะรู้ทัศนคติต่อผู้ว่าฯ กทม. เราสุ่มตัวอย่าง ถ้าวิจัยเป็นก็สุ่มตัวอย่าง รู้จักวิธีเลือกตัวอย่างให้ดี แล้วมันจะสะท้อน จะเป็นตัวแทนภาพรวมของกลุ่มทั้งหมด ของกลุ่มคนทั้งหมด

การที่พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน สอนไม่ได้แตกต่างกับหลักที่หลวงพ่อบอกเลย สุ่มตัวอย่างมาเรียน ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เรียนแล้วจะเข้าใจทั้งหมด แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เราไปสุ่มส่งเดช ท่านกำหนดหัวข้อมาให้แล้ว อย่างเรื่องกาย ให้สุ่มเรียนอะไรบ้างเรื่องกาย ที่ง่ายๆ เช่น ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ทำอยู่แค่นี้ สุ่มตัวอย่างของร่างกายมา เอาแค่การหายใจอย่างเดียว ถ้าเมื่อไรเราหายใจไปเรื่อยๆ จิตหนีไปเรารู้ สติมันก็เกิด ต่อไปพอมีสติมีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว พอสติที่แท้จริงเกิด จิตจะเป็นผู้รู้อัตโนมัติเลย สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดอัตโนมัติขึ้นมา พอมีสติระลึกรู้อารมณ์ในสติปัฏฐาน ก็เป็นอารมณ์รูปนามนั่นล่ะ โดยมีสติถูกต้องปุ๊บสมาธิที่ถูกต้องก็เกิด

 

ฝึกเห็นร่างกาย

มีสติกับสมาธิที่ถูกต้องแล้ว ปัญญามันจะเกิด เพราะฉะนั้นอย่างเราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า ทีแรกก็เห็นร่างกายไปเรื่อยๆ ไม่หลง ไม่ลืม ไม่ใจลอยไปที่อื่น อันนี้เรียกว่าเรามีสติ การที่เราฝึกเห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้าเรื่อยๆ แล้วพอมันหนีเรารู้ทัน จะมีสติเกิดขึ้น นี่สติปัฏฐาน เบื้องต้นจะทำให้มีสติ เบื้องปลายทำให้มีปัญญาอย่างไร พอเรามีสติเห็นร่างกายหายใจออก ใจหนีไป เรารู้ทันปุ๊บ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมามีสมาธิ คราวนี้สติระลึกรู้ร่างกายที่หายใจออก ร่างกายที่หายใจเข้า จิตตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู ปัญญามันจะเกิด

ปัญญาไม่ใช่การคิดเอา แต่เป็นการเห็นเอา มันจะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา เหมือนถุงหนังใบหนึ่งเดี๋ยวก็พอง เดี๋ยวก็ยุบไป หายใจไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อันนี้เราได้ปัญญา ฉะนั้นเบื้องต้นทำสติปัฏฐานแล้วได้สติ เบื้องปลายเราได้ปัญญา นี้ถ้าเราเห็นกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา กายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา กายทั้งหมดมันก็ไม่ใช่เราแล้ว เพราะร่างกายเราก็มีแต่ร่างกายที่หายใจออก ร่างกายที่หายใจเข้า อย่างนี้เรียกเรามีวิหารธรรม ใช้กายที่หายใจเป็นวิหารธรรม พอเราเข้าใจความจริงว่า กายที่หายใจออกไม่ใช่เรา กายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา มันจะรู้ทันทีเลยกายทั้งหมดไม่ใช่เรา

เราสุ่มตัวอย่างมาเรียน เรียนจุดเดียวเอง เรียนถึงกายที่หายใจเข้าหายใจออก พอเราเข้าใจความจริงแล้วมันจะเข้าใจกายทั้งหมดว่าไม่ใช่เรา หรือตัวอย่างอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสุ่มไว้ให้เรา คือกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าเมื่อไรเราสามารถเห็นว่า ร่างกายที่ยืนไม่ใช่เรา ร่างกายที่นั่งไม่ใช่เรา ร่างกายที่เดินไม่ใช่เรา ร่างกายที่นอนไม่ใช่เรา กายทั้งหมดก็จะไม่ใช่เรา เราเรียนบางสิ่งบางอย่างบางด้านของกาย แล้วเราก็เข้าใจกายทั้งหมด เรียนเรื่องการหายใจของกาย เรียนเรื่องอิริยาบถของกาย สุดท้ายก็เข้าใจกายทั้งหมด นี่คือการสุ่มตัวอย่างมาเรียน เราไม่ต้องเรียนกายวิภาคแบบของหมอเขาหรอก อันนั้นเยอะเกิน

เรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่าน ทำตัวอย่างเอาไว้ให้เราดูในสติปัฏฐานนี่ล่ะ หรือบางทีเราจะรู้สึกกายหายใจเข้า กายหายใจออก มันละเอียดเกินไป มันเร็วเกินไป มันเปลี่ยนตลอดเวลา ดูยาก ส่วนกายยืน เดิน นั่ง นอน นานๆ จะเปลี่ยนทีหนึ่ง นานเกินไป หายใจนี้เร็วไป ยืน เดิน นั่ง นอนนี้นานไป ช้าไป ท่านก็มีตัวกลางๆ ให้ คือสัมปชัญญบรรพ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก เพราะฉะนั้นอย่างถ้าเรานั่งหายใจ แหม มันเร็ว ตลอดเวลาเลย บางทีเหนื่อยไม่ถนัดมันเวอร์ไป จะไปดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ก็นาน เดินแต่ละก้าวจิตหนีไปห้าร้อยครั้งแล้ว บางที่เดินกันนาน ท่านก็มีตัวกลางๆ ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป ก็คือการเห็นร่างกายเคลื่อนไหวเรียกว่าสัมปชัญญบรรพ อยู่ในสิ่งที่ท่านเลือกมาให้ อยู่ในสติปัฏฐาน

ถัดจากนั้นก็มีเรื่องธาตุ เรื่องอะไรหลายอย่าง อาหาร ปฏิกูล เรื่องอะไรพวกนั้น บางอย่างก็เป็นสมถะ บางอย่าง อย่างเรื่องธาตุก็ทำวิปัสสนาได้ ที่จริงอารมณ์กรรมฐานทั้งหมดใช้ทำสมถะได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นอารมณ์รูปนามถึงจะใช้ทำวิปัสสนาได้ เพราะฉะนั้นอารมณ์รูปนามใช้ทำสมถะก็ได้ ใช้ทำวิปัสสนาก็ได้ อย่างเราเห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า หรือจิตนิ่งอยู่อย่างนี้ไม่หนีไปไหนนี้ก็สมถะ ถ้าเราเห็นร่างกายหายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายหายใจเข้าไม่ใช่เรา นี้ก็ทำวิปัสสนา หรือดูธาตุดูอะไร ถ้าเรื่องธาตุเรื่องอะไรนี้ก็เริ่มยากขึ้น ของง่ายๆ ในการดูกายก็มีเรื่องอานาปานสติ เห็นกายหายใจ อิริยาบถ เห็นกายยืน เดิน นั่ง นอน สัมปชัญญะ เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นกายหยุดนิ่ง อันนี้ง่ายๆ พื้นๆ ทำได้ง่าย

 

การดูเวทนาของกาย

ในเรื่องตัวอย่างของเวทนา เวทนามีตั้งเยอะตั้งแยะ เวทนาทางกายก็มี เวทนาทางใจก็มี ทางกายก็มีสุข มีทุกข์ ทางใจมีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ เวทนาบางอย่างต้องเร้าให้เกิด ต้องมีสิ่งที่มายั่วถึงจะเกิด เวทนาบางอย่างไม่ต้องมีสิ่งเร้า ไม่ต้องมีสิ่งยั่ว มันมีแตกย่อยออกไปเยอะแยะไปหมดเลย รวมแล้วมันมาก ท่านก็สุ่มตัวอย่างให้เรามาสุ่มตัวอย่างดู ถ้าร่างกายเราเป็นสุขเราก็รู้ ความสุขหายไปเราก็รู้ แต่ส่วนใหญ่ในกายไม่ค่อยเจอหรอก สุข มันเจอแต่ทุกข์ ถ้าดูลงในกายเรื่อยๆ มีสติระลึกอยู่ในกาย เดี๋ยวก็จะเห็นมันทุกข์ตรงนั้น เดี๋ยวก็ทุกข์ตรงนี้ เช่นนั่งๆ อยู่เดี๋ยวก็คัน มันคันเราก็เกา คันตรงนี้อีกแล้วก็เกา

ที่จริงแล้วร่างกายเราทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เห็น อย่างพอเราคันขึ้นมาเราเกาไปแล้ว ไม่ทันจะรู้เลยว่ามันทุกข์ เราเมื่อย นั่งนานๆ มันเมื่อยเราก็ขยับซ้ายขยับขวา ถ้าต้องนั่งอยู่ในห้องประชุม ในที่ฟังธรรมอย่างนี้ จะลุกขึ้นบิดขี้เกียจอะไรก็ไม่งดงาม นั่งนานๆ เมื่อยก็ขยับ นี้เราขยับจนเคยชิน พอร่างกายมันทุกข์ เราไม่ทันเห็นทุกข์ เราก็แก้ทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว มันคันตรงนี้เราก็เกาไปแล้ว ยังไม่ทันรู้เลยว่าคัน เกาไปอัตโนมัติ แล้วหายคันไปแล้ว เลยรู้สึก แหม ร่างกายนี้สบายๆ นั่งอยู่มันปวดมันเมื่อยเราก็ขยับไปแล้ว หรือเมื่อยมากๆ ลงไปนอน เราไม่ทันเห็นว่าร่างกายนี้ ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้นถ้าเราดูเวทนาในกาย เราจะเห็นกายนี้ไม่มีอย่างอื่น กายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ดูลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าสมาธิไม่พอ สติจะแตก มันทุกข์ๆๆๆ กันทนไม่ไหว คลุ้มคลั่งเอาง่ายๆ ฉะนั้นจะดูเวทนาในกาย มันเหมาะกับคนที่ไปทำฌานเสียก่อน อย่างสายโกเอนก้าเขาทำอานาปานสติก่อน จิตมีสมาธิแล้วก็มาดูเวทนาของกาย อย่างนี้ใช้ได้ ถ้าอยู่ๆ ไปดูเวทนาของกาย เดี๋ยวสติแตก เราไม่ต้องเข้มงวดรุนแรงมากก็ได้ เราปรับลดระดับให้มันง่ายขึ้นนิดหนึ่ง ต่อไปนี้เวลาก่อนที่เราจะขยับ ให้รู้สึกร่างกายเสียหน่อยหนึ่ง ทำไมเราต้องขยับ เพราะมันเมื่อย มันจำเป็นต้องขยับ ทำไมเราเกา เพราะมันทุกข์ มันคัน มันเลยต้องเกา ทำไมเราต้องหาว เพราะมันทุกข์ มันต้องหาว ทำไมมันต้องเรอ เพราะมันทุกข์ มันถึงต้องเรอ

ก่อนที่จะทำอะไรในร่างกาย รู้สึกมันสักนิดหนึ่ง ทำไมต้องอึ ทำไมต้องฉี่ ทำไมต้องกินข้าว ทำไปเพื่อบำบัดทุกขเวทนาทั้งสิ้น ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกต ต่อไปก็จะเห็น ปัญญามันจะเกิด กายนี้ไม่มีอย่างอื่น กายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เห็นความจริงของกายแล้ว นี้ปัญญาเกิดแล้ว กายนี้ไม่มีอย่างอื่นหรอก กายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ จิตก็ปล่อยวางกายได้ ปล่อยวางกายได้ เป็นภูมิธรรมที่ขึ้นไปถึงพระอนาคามีได้ วางกายได้ ถ้าวางจิตได้ก็จบลง มันจบลงที่จิต ปล่อยวางจิตได้ ที่พระพุทธเจ้าท่านสุ่มตัวอย่างให้เราทำสติปัฏฐาน ต้องมีเครื่องอยู่ เครื่องอยู่ก็คือตัวที่ท่านสุ่มมาให้เราใช้นั่นเอง เครื่องอยู่ก็คือเช่น ดูกายก็เห็นกายหายใจออก กายหายใจเข้า นี้เป็นวิหารธรรม รู้บ่อยๆ แล้วสติก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็จะเกิด

ดูกายยืน เดิน นั่ง นอน แรกๆ ก็ได้สติ ร่างกายยืนก็รู้ ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน ก็รู้ ต่อไปก็ได้ปัญญาเห็นร่างกายที่มันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง คู้ เหยียด มันทำไปเพราะมันจำเป็น มันหนีทุกข์ หรือว่ามันมีกิจการต้องทำ อย่างเราลูกค้าเข้ามาในร้านเรา เราต้องลุกขึ้นไปต้อนรับ ก็เดินไป ตรงนี้เราไม่เลิกปฏิบัติ ตอนเราเดินไปรับลูกค้า เดินไปด้วยความรู้สึกตัว แต่อย่าเดินอย่างย่องๆ บางที่สอนกว่าจะเดินก้าวหนึ่งเป็นนาทีๆ ลูกค้าหนีไปร้านอื่นแล้ว แล้วจะมาบ่นทีหลังว่าลูกค้าหนีหมด ก็ทำอะไรงุ่มง่าม ลูกค้ามาก็กระฉับกระเฉง เคลื่อนไหวรวดเร็วแต่มีสติ ก็ทำได้ไม่ใช่ทำไม่ได้ ไม่ต้องงุ่มง่าม ทำธรรมดานี้เอง

หรือดูเวทนา ดูรู้สึกอยู่ในกายเรื่อยๆ แล้วจะเห็นกายมันทุกข์ ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ดูมันไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็รู้กายนี้มันเป็นทุกขตา มันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา แล้วเป็นอนัตตา เราบังคับมันไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ ห้ามปวดก็ไม่ได้ ห้ามเมื่อยก็ไม่ได้ ห้ามหิว ห้ามกระหาย ห้ามหนาว ห้ามร้อน ห้ามปวดอึ ห้ามปวดฉี่ ห้ามแก่ ห้ามเจ็บ ห้ามตาย ห้ามไม่ได้เลย พอเรามีสติเรียนรู้กายอยู่ เห็นเวทนาบีบคั้นจนแตกสลาย แน่แค่ไหนสุดท้ายกายนี้ก็แตกสลาย ถูกเวทนาบีบคั้นจนแตกสลาย เราหัดดูเรื่อยๆ

ที่จริงการดูเวทนาของกาย ก็มีประโยชน์มากตอนที่จะตาย ตอนที่จะตายบางคนเวทนารุนแรงมาก ถ้าเราไม่เคยดูเวทนา ไม่เคยซ้อมดูเวทนาในกาย พอถึงจุดนั้นบางทีทนไม่ไหว คลุ้มคลั่ง แต่หลังๆ หมอเขาก็ช่วย เขาฉีดมอร์ฟีนให้ ให้เคลิ้มๆ ไป ตายไปแบบไม่มีสติไป ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วแต่บุญแก่กรรมแล้วอันนั้น หรือบางทีการดูอย่างสุ่มตัวอย่าง อย่างดูจิตนี้ จิตนี้มันวิจิตรพิสดารมีตั้ง 89 ชนิด แยกละเอียด 120 กว่าชนิด เราไปเรียนทั้งหมดไม่ได้ แล้วจิตหลายอย่างที่เราไม่มี ในจิตเอาย่อๆ คือจิต 89 อย่าง จิต 8 อย่างของเราไม่มี เป็นโลกุตตระ มรรคจิต 4 ผลจิต 4 ปุถุชนไม่เคยมี เราก็เหลือ 81 ใน 81 นี้เป็นจิตของผู้ทรงฌานเสียจำนวนมาก เป็นจิตในพรหมโลก ซึ่งเราไม่มี ก็เหลือจิตในกามาวจรอยู่กลุ่มหนึ่ง ก็ยังเยอะอยู่ ก็ยังมีหลายสิบตัว

 

เรียนจิตใจของเรา บางอย่างก็พอแล้ว

พระพุทธเจ้าก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเรา เรียนจิตทีหนึ่งตั้งหลายสิบตัว ไม่มีทางเข้าใจหรอก เยอะเกิน ท่านก็เลยสุ่มตัวอย่างให้เราเรียนจิตใจของเรา บางอย่างก็พอแล้ว อย่างถ้าเราเป็นคนขี้โลภ มีราคะมากอะไรอย่างนี้ เจออะไรก็อยากได้ไปหมดเลย เห็นรูปก็อยากได้รูป ได้ยินเสียงก็อยากได้เสียง ได้รส ได้สัมผัสอะไรก็ชอบไปหมด พวกราคะรุนแรง ราคะเด่น ท่านสอนให้เราสุ่มตัวอย่าง เรียนนิดเดียวเอง จิตเรามีราคะให้รู้ จิตไม่มีราคะให้รู้ แทนที่จะต้องเรียนจิตตั้งเป็น 80-90 หรือ 120 กว่า เรียน 2 อันเอง จิตมีราคะกับจิตไม่มีราคะ นี่สุ่มตัวอย่างมาเรียน ฉะนั้นทั้งวันเราจะเห็น จิตเดี๋ยวก็มีราคะ เดี๋ยวก็ไม่มีราคะ ตอนไม่มีราคะอาจจะเป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เป็นจิตที่มีโมหะก็ได้ เป็นจิตที่มีโทสะก็ได้ มันไม่มีราคะแต่มันมีกิเลสอื่นก็ได้ หรือเป็นกุศลก็ได้

ฉะนั้นคำว่า “จิตไม่มีราคะ” นี้กว้าง เราไม่ต้องคิดมาก เราสังเกตนิดเดียวง่ายๆ จิตเรามีราคะเราก็รู้ จิตที่มีราคะดับไปเราก็รู้ เรียนแค่นี้พอไม่ต้องคิดมาก คิดมากยากนาน คนรุ่นเราส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกราคะมาก ส่วนใหญ่ของคนรุ่นเรา โทสะมาก หงุดหงิดเก่ง เดี๋ยวก็หงุดหงิด รถติดก็หงุดหงิด ฝนตกก็หงุดหงิด ฝนไม่ตกอากาศอ้าวก็หงุดหงิด อะไรๆ ก็หงุดหงิดไปหมดเลย ฉะนั้นท่านก็สอนให้เราดู จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ เรียน 2 อย่างพอ เพราะฉะนั้นดูจิตไม่ต้องดูจิตทุกชนิด ดูจิตคู่เดียวก็พอ จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตรู้ก็รู้ หรือจะดูจิต บางคนมันฟุ้งเก่ง ก็ดูไป จิตฟุ้งซ่านก็รู้ พอมันฟุ้งมากๆ เดี๋ยวมันก็ซึม มันหมดแรงฟุ้งมันก็ซึม เป็นจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านกับจิตหดหู่ สลับไปเรื่อยๆ

จิตมีราคะสลับกับจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะสลับกับจิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะกับจิตไม่มีโมหะ สลับไปเรื่อยๆ เรียนแค่นี้ สุ่มตัวอย่างอันใดอันหนึ่ง ไม่ต้องเรียนเยอะหรอก แค่อันใดอันหนึ่ง ถ้าเราเห็นว่าจิตที่มีราคะก็ไม่เที่ยง จิตไม่มีราคะก็ไม่เที่ยง ดูไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันปิ๊งเลยว่า จิตทั้งหมดไม่เที่ยง เพราะจิตมีราคะกับจิตไม่มีราคะ ครอบคลุมจิตทั้งหมดไว้แล้ว เป็นการสุ่มตัวอย่างมาทั้งหมดแล้ว หรือจิตมีโทสะ เราเห็นจิตมีโทสะไม่เที่ยง จิตไม่มีโทสะไม่เที่ยง ก็จะเห็นว่าจิตทั้งหมดไม่เที่ยง นี้ที่เรียกว่าเรียนแบบสุ่มตัวอย่าง อันนี้เรียกว่าจิตในจิต เรียนจิตบางอย่างถ้าเข้าใจแล้ว จะเข้าใจจิตทั้งหมด

ธรรมในธรรมเอาไว้ก่อน ยาก ยาว พูดกันเยอะ เว้นไว้ก่อน เอาของง่ายๆ กาย เวทนา จิต นี้ของง่าย แล้วที่ง่ายๆ ก็คือกายกับจิต เวทนาบอกแล้วถ้าไม่ทรงสมาธิจริงๆ บางทีทนไม่ไหว แต่ก็อยากให้ลองซ้อมบ้าง เผื่อเวลาจวนตัวจะตายขึ้นมา มันเจ็บ สติจะแตกหรือไม่แตก หรือพอสู้ไหว แต่หลวงพ่อบอกความลับให้ข้อหนึ่ง อย่างพวกเราเวลาภาวนาตอนยังแข็งแรงอยู่ บางทีใจอ่อนแอ แต่ถ้าเราเคยภาวนาของเราสม่ำเสมอ แบบล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ ถึงนาทีฉุกเฉินจิตมันจะรวมตัวเข้ามา มันรู้แล้วว่านาทีสุดท้ายกำลังจะถึงแล้ว ถึงเคยฝึกได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถึงตอนนั้นจิตจะมีกำลังมาก มันฮึดสู้เรียกว่าสู้ตาย คือสู้แล้วตายแน่นอนคราวนี้ แต่มันต้องสู้ จิตมันจะมีกำลังขึ้นมาอัตโนมัติเลย

 

ประโยชน์ของสติ

อย่างบางคนภาวนานานๆ ขันธ์จะแยกสักที นานๆ ขันธ์ถึงจะแยกได้สักที ขับรถไปรถเกิดจะคว่ำ รถหมุนๆ แล้วพลิกไปพลิกมา จิตมันดีดผางออกมาเลย เป็นคนดู มันเห็นร่างกายนี้กลิ้งไปเรื่อยๆ พลิกไปๆ จิตมันดีดตัวขึ้นมาตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูได้เลย สมาธิมันเกิดอัตโนมัติ แล้วสติก็ไวมากเลย เห็นร่างกายขยับเป็นช็อตๆๆๆ หรือที่เราหัดรู้สึก ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ของเราไปนี่ล่ะ หัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เดินๆ อยู่แล้วเราเกิดหกล้ม ลื่น ลื่นจะหกล้ม เราจะเห็นร่างกายนี้ขามันลอยขึ้นมาก่อน แล้วร่างกายค่อยๆ หล่นลงไป มันจะรู้สึกเป็นช็อตๆ เป็น สเต็ปๆๆๆ ก่อนจะถึงพื้น สติมันเร็วมากเลยมันเห็น ถ้าคนไม่เคยฝึกไถลพรืดเลยถึงพื้นแล้ว ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย ล้มท่าไหนยังไม่รู้เลย แต่นักปฏิบัติเวลาล้ม หรือเวลารถคว่ำรถหงายอะไรนี้ จะรู้หมดเลย รู้ทุกช็อตเลย อันนั้นสติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติมันจะเกิดขึ้น

ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่าให้ฟังมี 2 องค์ องค์หนึ่งคือหลวงพ่อพุธ ฐานิโย หลวงพ่อเรียนกับท่านประจำองค์นี้ ท่านเป็นพระที่พูดแล้วปัญญาชนรู้เรื่อง ไม่ใช่อวดว่าเราเป็นปัญญาชน หมายถึงเราไม่ใช่พวกที่งมงาย ไม่ใช่ยอมง่าย ถ้าไม่มีเหตุผลแล้วไม่ยอม ท่านเคยเล่าให้ฟังท่านนั่งรถตู้ไป ญาติโยมก็นั่งไปด้วย เสร็จแล้วมันพลาดท่าไหนไม่รู้ รถตกเหว แต่มันไม่ใช่เหวตั้งฉากอย่างนี้ มันลาดๆ ลงไปประมาณ 40-50-60 องศาพุ่งลงไปข้างล่าง ท่านบอกว่าพอรถมันตกปุ๊บ จิตท่านก็ตั้งมั่นขึ้นมา เห็นรถวิ่งเข้าไปจะชนต้นไม้ พอรถมันจะชนต้นไม้ พอท่านเห็นปุ๊บรถมันก็หลบต้นไม้ ต้นไม้ไม่ยอมหลบรถ แต่รถมันหลบต้นไม้ พุ่งไปอีกเห็นอีกต้นหนึ่งขวางอยู่ ต้นไม้อีกต้นขวางอยู่ พอท่านเห็นปุ๊บรถมันก็เบี่ยงหลบต้นไม้ไปอีก อันนี้ระดับครูบาอาจารย์ท่านทรงฤทธิ์ ทรงอภิญญา ท่านเล่นได้ พวกเราแค่เห็นว่ารถกำลังพุ่งไปชนต้นไม้ ตอนนี้คอกำลังเคลื่อนแล้วคอหักแล้ว แค่นี้ก็เก่งแล้ว ไม่ถึงขนาดโยกรถหลบต้นไม้ แล้วตรงท่านเล่า ตลกดีหลบไปหลบมาๆ บอกต้นสุดท้ายจิตท่านหมดแรง แต่ว่ารถมันลงที่ลาดๆ แล้ว แต่จิตท่านหมดกำลัง รถมันก็ชนต้นไม้ต้นสุดท้ายแล้ว ชนแล้วติดอยู่ตรงนั้น มันจะเห็นเป็นช็อตๆๆๆ

หลวงตามหาบัวท่านก็เคยเล่า รถท่านคว่ำ ท่านเห็นร่างกายมันขยับมันพลิกทีละนิดๆ ท่านเห็น ตรงที่ตอนที่ท่านแขนหัก ถ้าสติท่านไม่ดีท่านอาจจะคอหักก็ได้ พอท่านจะฟาดทางนี้แรงท่านก็ขยับเสีย ท่านก็เอามือกัน จากจะต้องเจ็บหนักก็เจ็บน้อย ตรงนั้นสติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติมันเกิด แต่ยกตัวอย่างท่านเหล่านี้มันก็ไม่เหมาะ เพราะท่านเหล่านี้ สติสมาธิของท่านอัตโนมัติอยู่แล้ว เป็นปกติ เอาพวกเราก็ได้ วันนี้มาหรือเปล่าก็ไม่รู้ รายนี้นักขับรถซิ่งในมอเตอร์เวย์นี้ล่ะ ขับรถท่าไหนไม่รู้รถหมุน ตรงที่รถมันหมุน มันเห็นร่างกายขยับทีละช็อตๆๆ มันเคยเป็นอย่างนั้น มันอัตโนมัติขึ้นมาเอง

หลวงพ่อตอนเป็นโยมก็เคย ตอนนั้นยังไม่ได้บวชกับแม่ชี ได้ยินว่ามีนกปากห่างอยู่แถวปทุมธานี ขับรถไป ไม่เคยขับรถไปบ้านนอก ไปเจอสะพานที่ข้างบนมันแบนๆ หัวตัด ลาดๆ ขึ้นไปแต่ข้างบนหักเฉยๆ เลย ตรงๆ เราก็วิ่งมาเต็มเหนี่ยวเลยจะขึ้นสะพาน สบายใจ กระแทกขอบ มันลอย รถลอยขึ้นกลางอากาศ หัวชนเพดานรถเลย มองลงไปข้างหน้า เฮ้ย พ้นสะพานนี้นิดเดียว ถนนหักศอก สติมันทำงานอัตโนมัติแล้ว มันเห็นตั้งแต่ร่างกายเราลอยขึ้นไป หัวไปชน มองไปข้างหน้าเห็นถนนหักศอกอยู่ สติมันทำงานอัตโนมัติเลย มันไว หลวงพ่อเหยียบเบรกเต็มที่ ลดเกียร์ลงเหลือเกียร์หนึ่ง ยุคนั้นมันรถใส่เกียร์ เหยียบเบรกเต็มที่เลย แล้วก็เปลี่ยนเกียร์ ยังอยู่ในอากาศ ทำเสร็จแล้ว รถกระแทกโครมลงมาพุ่งไปแล้ว ค่อยประคองรถเลี้ยวไปได้ ถ้าสติเราไม่เร็ว ตอนนั้นก็รถคว่ำตกถนนไปแล้ว ที่ชันๆ

ฉะนั้นพวกเราพยายามฝึกตัวเอง มีสติเรื่อยๆ ทำสติปัฏฐาน เลือกเอาถนัดอะไรเอาอันนั้น ถนัดกายก็เอากาย ถนัดกายบรรพไหนหมวดไหน ก็เอาอันนั้น ถนัดเวทนาก็เอาเวทนา เวทนาทางกายก็เล่นยากหน่อย เวทนาอีกอันหนึ่ง เวทนาทางใจก็ง่ายหน่อย ถนัดดูจิตก็ดูจิตไป แล้วสติเราจะเร็วขึ้นๆ สมาธิก็อัตโนมัติขึ้น เกิดอะไรขึ้น จิตมันจะดีดตัวเป็นผู้รู้ขึ้นมาอัตโนมัติเลย โดยที่ไม่ได้เจตนา ถ้าเราฝึกจนถึงจุดนี้ได้ เราไม่ต้องกลัวหรอกเวลาตาย เวลาตายจิตเราจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา อย่างไรก็ไปสุคติ มีสติจนกระทั่งตายไป อย่างไรก็สุคติ เพราะตายไปด้วยจิตที่มีสติ ด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิ

จิตที่มีสัมมาสมาธิต้องมีสติเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อใดมีสติเมื่อนั้นโอเคแล้ว แต่สติมี 2 อย่าง สติโลกๆ กับสติรู้กายรู้ใจ สติโลกๆ เรียกสติเฉยๆ สติรู้กายรู้ใจพระพุทธเจ้าท่านเรียกสัมมาสติ เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อพูดมาตลอดเรื่องของสัมมาสติ ไม่ใช่เดินถนนแล้วไม่ตกท่อ น้ำกำลังท่วมกทม.เดินๆ ไปหล่นปุ๊บลงไปในท่อระบายน้ำ โผล่ไม่ขึ้นแล้วเพราะน้ำพาไปไหนแล้วก็ไม่รู้ บนหัวเราเป็นถนนไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นเดินไม่ตกท่อ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นสติธรรมดา ข้างขวดเหล้าชอบเขียน “ดื่มสุราทำให้ขาดสติ” รู้แล้วมาขายทำไม ทำให้ขาดสติ สติอันนั้นสติโลกๆ

แต่สติที่พวกเราชาวพุทธมุ่งคือสติปัฏฐาน คือสติที่ระลึกรู้กาย สติรู้เวทนา สติรู้จิตของตนเอง สติรู้รูปธรรม นามธรรม รู้กุศลธรรม อกุศลธรรม รู้กระบวนการทำงานของจิต สิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นเราต้องฝึก ต้องซ้อม ไม่ฝึกไม่ซ้อมทำไม่ได้หรอก ก็ต้องทำเอา แล้วเวลาฉุกเฉินจวนตัว เวลาจะตาย จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาแล้วตายอย่างสง่าผ่าเผย หรือเวลาเกิดอุบัติเหตุคอจะหัก ก็อาจจะทุเลาได้ เปลี่ยนเป็นแขนหัก หลบเลี่ยงได้ ช่วยเราได้เยอะ ไฟไหม้บ้านคนอื่นตกใจ เราก็เฉยๆ ไม่ตกใจ พอสติปัญญาทำงานควรจะขนอะไรหนี ขนของเครื่องอยู่นอกประกัน เครื่องเพชรอะไรต่ออะไร ไม่ใช่ขนตุ่มน้ำ คนโบราณตกใจขนตุ่มน้ำ กำปั่นใส่เงินไม่ขนไปแบกตุ่มน้ำ วิ่งออกไปนอกบ้าน อย่างนั้นไม่มีสติ

ถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วสติทำงาน มันจะรู้ว่าควรทำอะไร ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางโลก ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางธรรม ใช้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบัน ใช้ประโยชน์สำหรับอนาคต อย่างถ้าเราจะตายด้วยความมีสติ เป็นประโยชน์ในอนาคต แล้วถ้าเราสามารถมีสติ มีสมาธิ แล้วเกิดปัญญาในขณะนั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ฉะนั้นเจริญไว้ สติ ดูไปเรื่อยๆ

 

 

ขอยลโฉมคนในศาลาหน่อย ในศาลารู้สึกไหมจิตเราเปลี่ยน พอหลวงพ่อบอกว่าจะดูพวกเรา จิตเราก็เกิดความหวาดระแวง หวาดระแวงรีบอึดตั้งป้อมแล้ว จะต้องพยายามดีให้หลวงพ่อเห็น ตรงที่พยายามดีนั้นล้มเหลวไปแล้ว ตรงที่จิตฟุ้งซ่านแล้วรู้ว่าฟุ้งซ่าน ตรงนั้นดี ดีหรือเลวในการปฏิบัติ ไม่เหมือนดีหรือเลวในทางจริยธรรม ถ้าทำชั่วทำอะไร เลวในทางจริยธรรม ทำบุญ ทำกุศล จิตใจดี อันนี้เป็นบุญในทางจริยธรรม

แต่ในทางการเจริญสติ เจริญปัญญา จิตเป็นอกุศลรู้ว่าเป็นอกุศล ดี อย่างจิตเราฟุ้งซ่านเรารู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน ดี จิตเป็นอกุศลไม่รู้ว่าเป็นอกุศล เลว มันเลวเพราะไม่รู้เท่าทัน ถ้าจิตเป็นกุศลไม่รู้ว่าเป็นกุศล อันนี้ก็เลวเหมือนกันใช้ไม่ได้ ถ้าจิตเป็นกุศลเรารู้ว่าเป็นกุศล อันนี้ดี เพราะฉะนั้นดีกับเลว อยู่ที่ว่าเรารู้ทันหรือไม่รู้ทัน ไม่ใช่อยู่ที่ตัวมันดีหรือตัวมันเลว ตัวมันดีตัวมันเลวนั้นเป็นเรื่องทางจริยธรรม แต่ในทางการปฏิบัติ ตัวไหนที่เรารู้ทัน อันนั้นดี อย่างจิตเราโกรธขึ้นมาเรารู้ว่าโกรธ อันนี้ดี ดีในการปฏิบัติ แล้วความโกรธจะสอนธรรมะเรา ความโลภ ความหลง สอนธรรมะเราได้หมดเลย แล้วก็เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เพราะฉะนั้นมีกิเลสอะไรเกิดขึ้นก็รู้ทัน มีกิเลสเกิดขึ้นรู้ทัน นั่นล่ะการเจริญสติ เจริญปัญญา

ประคองจิตอยู่นิดหนึ่ง ประคอง เพิ่งจะเริ่มประคองนี่ล่ะ รู้สึกไหมมันตั้งท่า เหมือนนักมวยตั้งการ์ด บางคนเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว จิตใจผูกพัน จดจ่อ ถ้าจิตใจไปผูก ไม่ดี จิตใจผูกอะไรก็ไม่ดีทั้งนั้นล่ะ เมตตา ความเมตตา อย่างสมมติเรามีหมามีแมว เรามีความเมตตา แต่ราคะความเป็นเจ้าของ รู้สึกนี่ของเราๆ เราพัฒนาเมตตาไม่พัฒนาราคะขึ้นมา ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป พัฒนาความกรุณาอย่าให้มันเปลี่ยนเป็นโทสะ อย่างเราเห็นลูกเรา น้ำท่วมแล้วชอบไปลุยน้ำเล่น กลัวตกท่อ กลัวงูกัด กลัวไฟฟ้าดูด ห้ามไม่ฟังเราโกรธ กรุณาเปลี่ยนเป็นโทสะ เมตตา เราเมตตาคนนี้ เมตตามากๆ กลายเป็นผูกพันเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เมตตามันก็พลิกไปเป็นราคะได้

ฉะนั้นเราคอยสำรวจใจตัวเอง ไม่ว่าจะมีเมตตา กรุณา หรือมุทิตา มุทิตานี่ยินดีที่ผู้อื่นเขาได้ดี อันนี้แก้ความอิจฉาของเรา แต่ไม่ระวังก็หมั่นไส้ขึ้นได้ อะไรมันจะดีตลอดเวลา เขาดีเกินไปชักหมั่นไส้ เป็นกิเลสแทรก ก็ต้องหัดมีอุเบกขา มีเมตตาแต่ก็มีอุเบกขา มีกรุณา มีมุทิตา ก็มีอุเบกขากำกับ อุเบกขาไม่ใช่ใจไม้ไส้ระกำ ใจไม้ไส้ระกำนั้น ใจร้ายเป็นอกุศล ใจที่มีอุเบกขาเป็นใจที่ดี ใจเราจะเกิดอุเบกขาได้ ถ้ามันเข้าใจกฎแห่งกรรม อย่างเรามีลูก เรารักๆ ลูกเราเกิดตายไป จิตเราเศร้าหมอง แต่ถ้าเรารู้กฎแห่งกรรม ทำกรรมที่อยู่ร่วมกันเท่านี้ หรือพ่อแม่เราจะตาย เรายอมรับเรื่องกฎแห่งกรรม ทำบุญร่วมกันมาเท่านี้ล่ะ เขาก็ต้องไปตามทางของเขา อย่างนี้ใจเราก็จะเป็นอุเบกขา ยอมรับสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ ไม่ทุรนทุราย

ฉะนั้นเราสังเกตดู พยายามเรียนรู้กฎแห่งกรรมไว้ให้มากๆ เรียนอย่างไรกฎแห่งกรรม เรียนที่ตัวเอง สังเกตดูเวลาจิตของเราทำชั่ว คิดชั่ว สิ่งที่ตามมาคือจิตที่เศร้าหมอง พอจิตเราคิดไปทางบุญทางกุศล เห็นไหมมีความสุขตามมา จิตผ่องใสเบิกบาน เวลาจิตเป็นอกุศลความทุกข์ตามมาทันที เวลาจิตเป็นบุญเป็นกุศล เห็นไหมความสุขตามมาทันที เราเริ่มเรียนรู้กฎแห่งกรรมแล้ว เวลาจิตเรามีราคะรุนแรง ถัดจากนั้นถ้าไม่เซื่องซึมไปส่วนใหญ่ก็จะเป็นโทสะ ถัดจากราคะแรงๆ โทสะมักจะแรง นี่กำลังรับวิบาก เพราะเวลาจิตมีโทสะจิตจะไม่มีความสุข

เราค่อยๆ ดูจากตัวเองนั่นล่ะ เวลาเราคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว จิตเราเศร้าหมอง เรากำลังรับผลกรรมอยู่ อย่างบางคนโมโหพ่อแม่ ตะคอกพ่อแม่ ดุพ่อแม่ พอหายโมโหแล้วเสียใจ จิตใจมีความทุกข์ตามหลังมา เราเรียนรู้กฎแห่งกรรมที่ใจของเราเอง แล้วต่อไปมันจะขยายความรับรู้ออกไปที่คนอื่น เราจะพบเลยว่ากายนี้ใจนี้ของเรา เราก็ยังบังคับมันไม่ได้ ฉะนั้นกายคนอื่นจะแก่ จะเจ็บ จะตาย เราบังคับไม่ได้ อย่างพ่อเราไม่สบาย เราก็ดูแลเต็มที่ แต่ถ้าเขาจะต้องตาย อันนั้นเป็นเรื่องของกรรมแล้ว เขาทำกรรมของเขาที่จะได้เป็นมนุษย์ในชาตินี้แค่นี้ ธาตุขันธ์มันก็แตก ถ้าเรารู้ ยอมรับทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เราก็ไม่เศร้าหมอง

ฉะนั้นพยายามเรียนรู้กฎแห่งกรรม เรียนจากใจของเรา ต่อไปมองโลกข้างนอกก็จะเข้าใจด้วย ถ้าเข้าใจจิตตนเองก็จะเข้าใจโลกข้างนอกด้วย พอเข้าใจแล้วจิตก็จะเป็นอุเบกขา เป็นอุเบกขาเพราะมีปัญญาเห็นความจริง ไม่ใช่ใจร้าย เห็นคนตกน้ำช่วยได้ก็ไม่ช่วย บอกอุเบกขา อันนี้พวกใจร้าย เห็นคนติดในถ้ำ ยังมีความสามารถจะช่วยเหลือกันได้แล้วไม่ช่วย บอกเป็นกฎแห่งกรรม อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นใจร้าย ไม่ใช่อุเบกขา ค่อยๆ ฝึกที่จิตของเรา ในที่สุดจิตใจเราก็จะมองโลกตรงไปตรงมา แล้วไม่ชั่ว รับรองว่าไม่ชั่ว ฝึกจิตฝึกใจของตัวเองไป ความเมตตา ความกรุณา มีอัตโนมัติขึ้นมาในใจ

ความแปลกคือพวกขี้โมโห เวลาภาวนาดีๆ ขึ้น ความเมตตาสูง ยิ่งพวกขี้โมโหร้ายๆ สุดท้ายความเมตตาสูงๆ เป็นเรื่องแปลกมากเลย มันสุดขั้วกันเลย เพราะฉะนั้นเราพยายามมาเรียนรู้กฎแห่งกรรมในใจของเราเรื่อยๆ ไป อย่างถ้าเราปล่อยใจเราฟุ้งซ่าน ผลของกรรมจิตใจเราไม่มีความสุข เราภาวนาของเราทุกวันๆ จิตเรามีกำลังมากขึ้นๆ ตั้งมั่นเด่นดวง สงบสุข ก็เป็นผลของกรรม เราทำกรรมฐานจิตใจเราก็ดีขึ้น เราปล่อยจิตใจตามโลก ตามกิเลส จิตใจเราก็เศร้าหมอง นี่ก็คือเรื่องของกฎแห่งกรรม เรียนให้เยอะๆ แล้วเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลก ใจจะร่มเย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนไปกับโลกหรอก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 สิงหาคม 2565