รู้จักคำว่าหยุดเสียบ้าง

พวกเราเคยรู้สึกไหมว่า ยิ่งผ่านวันเวลามาเราถูกกระตุ้นให้วิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ ถูกผลักดันให้วิ่งไปข้างหน้าเร็วขึ้นเรื่อยๆ บางทีวิ่งไปในโลก วิ่งตามๆ กันไป ไม่รู้วิ่งไปทำอะไร ในโลกก็มีแต่ต้องการความเร็ว คนโบราณมีม้าก็ถือว่าเร็วมากแล้ว ม้าชั้นยอด เขาตั้งชื่อว่าม้ามโนมัย มโนมย คือวิ่งเร็วเหมือนดังใจต้องการ เสร็จแล้วเราก็ต้องการเร็วกว่านั้นอีก ทุกวันนี้ก็พยายามทำรถไฟความเร็วสูง ทำโน่นทำนี่ เครื่องบินก็ให้เร็วมากขึ้นๆ มันเร็วเท่าไรถึงจะพอ ไม่มีอะไรเร็วเท่าใจของเรา ถ้าใจไม่รู้จักหยุด ต่อให้เคลื่อนที่เร็วเท่าไรก็ไม่สมหวัง

คนแต่ก่อนเขาทำนาปีละครั้ง เวลาที่เหลือก็ว่างๆ พวกหนึ่งก็ไปเล่นการพนัน พวกหนึ่งก็ไปเข้าวัดปฏิบัติธรรม มีเวลา มาถึงวันนี้พวกเราจะได้ยินคำว่าไม่มีเวลาบ่อย บ่อยมากเลยที่ได้ยินคำว่าไม่มีเวลา เวลาเราก็เท่าๆ กับคนโบราณ แต่ทำไมเรารู้สึกมันไม่พอทั้งๆ ที่เราพยายามทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นๆ เวลากลับรู้สึกว่าสั้นลงเรื่อยๆ ไม่พอ มันไม่พอใจที่มันดิ้นรน ใจที่มันหิว ใจที่มันอยาก

 

ให้เวลากับตัวเอง

การที่ต้องเคลื่อนที่เร็วตลอดเวลา เหนื่อย บางทีเหนื่อยจนกระทั่งไม่มีเวลาหยุดคิดทบทวนว่าเราวิ่งไปเพื่ออะไร วิ่งตามๆ กันไปเท่านั้นเอง ถ้าเรารู้จักคำว่าหยุดเสียบ้าง ชีวิตเราจะมีคุณค่ามากขึ้น เราจะรู้สึกชีวิตมีเวลามากขึ้น ยิ่งทำอะไรเร็วขึ้นเรื่อยๆ เวลายิ่งน้อยลง แต่ว่าเรารู้จักหยุด เราก็จะมีเวลาอยู่กับตัวเองได้เยอะขึ้น เวลาเราต้องทำมาหากินอยู่กับโลก ต้องแข่งขัน ต้องอะไรมากมาย ก็รู้จักเบรกตัวเองเป็นช่วงๆ แบ่งเวลาแต่ละวัน หรือแต่ละช่วงเวลา หัดแบ่งเวลาไว้เป็นเวลาของการหยุดอยู่กับตัวเอง ไม่ใช่วิ่งตามโลกไปเรื่อยๆ

เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ทำแบบนั้น ไปกินข้าวกลางวันเสร็จ หลบไม่ยุ่งกับใคร เดินไปวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ก็เดินจงกรมนั่นล่ะ แต่เราไม่ได้เดินกลับไปกลับมาให้คนเขาสงสัยว่าทำอะไร เดินไปที่วัด มีเวลาเหลือหน่อยก็ไปนั่งสมาธิ ฝึกจิตฝึกใจของเรา วันไหนฟุ้งมากก็ทำความสงบ วันไหนสงบพอสมควรแล้วก็เจริญปัญญา ใช้เวลาที่มันเหลืออยู่นิดๆ หน่อยๆ ให้กับตัวเอง ในขณะที่เพื่อนร่วมงานบางคนดิ้นรนสูง แย่งกันเป็นใหญ่ แย่งอะไร เขาขำหลวงพ่อว่าหลวงพ่อมีวันหยุดก็ไปวัด กลางวันมีเวลา ถ้าไม่มีงานด่วนก็ไปภาวนาอยู่ตามวัด ไปไหว้พระสวดมนต์ก็ยังดี

ตอนนั้นเขาหัวเราะๆ ผ่านวันผ่านเวลามา คนที่วิ่งเร็วๆ ตอนนี้เดินไม่ได้ หลายคนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เครียดตลอดชีวิต ชีวิตที่เคลื่อนที่เร็ว แย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างกัน มันเครียด ร่างกายก็เหมือนเครื่องยนต์ ใช้งานไม่บันยะบันยัง เครื่องก็พัง นอนเป็นผักบ้าง นอนติดเตียงบ้าง ที่วิ่งแย่งชิงกันมา มันได้อะไรขึ้นมา ในขณะที่หลวงพ่อก็ยังเดินได้ มีชีวิตที่สงบสุขได้ เรามีความสุขตั้งแต่ตอนยังเป็นฆราวาส ออกจากโลกมาแล้วมีจังหวะ มีโอกาสออกมาบวช ชีวิตก็ยิ่งสงบสุขมากขึ้นๆ

ฉะนั้นอย่างเราเป็นฆราวาส เราต้องรู้จักคำว่าหยุดบ้าง รู้จัก slow life บ้าง ไม่รู้จัก มีแต่วิ่งๆ วิ่งๆ ไป ถึงจุดหนึ่งวิ่งต่อไปไม่ไหว คนอื่นเขาก็วิ่งแซงไป เราวิ่งหมดแรง ก็นอนหมอบไปไหนไม่รอดแล้ว โลกมันต้องแข่งขันมากมาย ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องรวดเร็ว ต้องแย่งชิง แค่จะเอาลูกไปส่งโรงเรียนแล้วก็กลับมาทำงานให้ทันก็เหนื่อยแล้ว ตื่นเช้ามาคนในเมืองเหนื่อยๆ ทำอย่างไรลูกจะกินข้าวไวๆ บางทีเอาลูกขึ้นรถก็ป้อนข้าวลูกไปด้วย เวลารถมันติดเราก็ป้อนข้าวลูกไปอะไรไป ชีวิตดูแล้วเหนื่อยจริงๆ ถ้ามันจำเป็นต้องเหนื่อยก็เหนื่อยไปก่อน แต่รู้จักเบรกตัวเอง

การเบรกตัวเอง ถ้ามีเวลาก็ไปหาที่สงบภาวนา บางทีอยู่ที่บ้าน มันไม่มีทางสงบ มีเรื่องโน้นมีเรื่องนี้ตลอดเวลา ก็ปลีกตัวออกไป ไม่ต้องไปไกล ไปหาที่เงียบๆ ตามวัดในกรุงเทพฯ ก็มีหลายแห่ง เขาก็เปิดวิหารเปิดอะไร หรือเราไปนั่งข้างนอกก็ได้ ไม่ต้องยุ่งกับใคร มีเวลาก็ภาวนา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรอย่างนี้ มีเวลามากขึ้น อย่างช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เดี๋ยวนี้วันเสาร์ก็ทำงานกัน ทำงานมากขึ้นๆ ชีวิต ก่อน 4 โมงครึ่งเลิกงาน เดี๋ยวนี้ก็ทำถึงทุ่ม 2 ทุ่ม 2 ทุ่มได้กลับบ้านก็ถือว่าเร็วแล้ว

ถ้ามีเวลา มีวันหยุด ไปตามสวนสาธารณะตามอะไรอย่างนี้ ไปเดิน ไปนั่ง ไปเดิน อยู่กับตัวเองบ้าง วางเรื่องรกสมองทิ้งไปชั่วคราว ได้พักบ้าง ร่างกายไม่ได้พักเลย เครียดเกินไป สมองก็เครียด สมองก็ล้า เราจะมีชีวิตอย่างไม่มีความสุข แต่ถ้าเรารู้จักเบรก รู้จักพัก เราต้องอยู่กับโลก ทำงานหนักแต่เรายังมีความสุขอยู่ได้ การเบรกก็มียาวๆ อย่างมีวันลาพักผ่อนอะไรอย่างนี้ ก็พักผ่อน ไปหาที่สงบที่สบายเงียบๆ ไม่ต้องคิดอะไรรกสมอง ปิดมือถือเสีย ไม่มีใครกวน ให้เวลากับชีวิตตัวเองบ้าง ชีวิตจะได้มีความสุข

 

“มีเวลาเมื่อไรเราก็ให้เวลากับตัวเอง
อยู่กับกายอยู่กับใจของตัวเอง หยุดการวิ่งตามโลกชั่วคราว
แล้วการที่เราได้หยุดตัวเองเป็นระยะๆ เวลาเราวิ่ง เราวิ่งเร็ว”

 

หลวงพ่อให้เวลากับตัวเองเยอะ ไม่เฉพาะว่าตอนกลางวันไปเดินจงกรม ตอนเย็นไปนั่งภาวนาอยู่บ้านอะไร เสาร์อาทิตย์ไปตามวัดภาวนา วันหยุดพักร้อนพักผ่อนไปนอนอยู่วัดอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ทำแค่นั้นหรอก ในวันหนึ่งๆ หลวงพ่อก็มีเวลาพัก อย่างเรามีเวลาว่าง 5 นาที มีเวลาว่างสัก 5 นาที อย่าทิ้งเปล่าๆ 5 นาทีเราก็มาพักอยู่กับตัวเอง มาอยู่กับพุทโธ มาอยู่กับลมหายใจไป ชั่วโมงหนึ่ง เราพัก 5 นาที ถามว่ามีเวลาไหม มี ถ้ารู้จักแบ่งเวลา ถ้าแบ่งเวลาไม่เป็นก็รู้สึกว่าเวลาไม่พอ รู้จักแบ่งเวลา ทำไมมันจะไม่มี

เวลาที่เราบอกเราทำงาน ไม่มีเวลาโน้นนี้ ใจลอยไปตั้งเท่าไร เวลาที่ใจลอยเยอะวันๆ หนึ่ง อย่างเราศึกษาวิเคราะห์งานอะไรอย่างนี้ มันทำงานไปช่วงหนึ่ง ใจมันก็หนี มันต้องการพักแล้ว มันเหนื่อย มันก็หลบ ใจลอย คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป หลวงพ่อเก็บเวลาที่คนอื่นเขาเอาเวลาไปใจลอย หลวงพ่อเก็บเวลาตรงนั้นล่ะ มาอยู่กับตัวเอง มาภาวนา

อย่างภาวนาเวลาทำงาน เวลาจะรอเข้าประชุมอย่างนี้ เราเตรียมทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว เอกสาร ข้อมูล ประเด็นอะไรต่ออะไรครบครันแล้ว ระหว่างรอกรรมการมาประชุม มีเวลาแล้ว 5 นาที 10 นาที เราก็ภาวนาของเราไป ไม่จำเป็นต้องหลับตา ลืมตานี่ล่ะ หันซ้ายหันขวายังได้เลย แต่จิตใจมันอยู่กับตัวเอง ถ้าร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้สึก จิตใจเราเคลื่อนไหว เรารู้สึก นี่เก็บเล็กๆ น้อยๆ ทำได้ หรือเราไปถึงที่ทำงาน เราเดินขึ้นที่ทำงาน ไม่ใช่เดินใจลอย เดินฟุ้งซ่าน แต่เดินรู้สึกตัวไป ก็ภาวนาอยู่ ขึ้นไปถึงโต๊ะทำงาน เปิดคอมพิวเตอร์ ระหว่างมันบูทเครื่อง เรามีเวลา เราก็ภาวนา เก็บ หลวงพ่อเก็บถี่ยิบเลย

มีเวลาเมื่อไรเราก็ให้เวลากับตัวเอง อยู่กับกายอยู่กับใจของตัวเอง หยุดการวิ่งตามโลกชั่วคราว แล้วการที่เราได้หยุดตัวเองเป็นระยะๆ เวลาเราวิ่ง เราวิ่งเร็ว ในขณะที่คนอื่นทำเป็นวิ่งไม่เคยหยุด วิ่งแบบป้อแป้ๆ เต็มทีแล้ว ทำงานสู้เราไม่ได้หรอก เวลาเราคิดอะไร เราวิเคราะห์อะไร ไปได้เร็วกว่าเขาเยอะเลย เพราะใจเราเคยได้พักแล้ว ใจเรามีกำลัง พวกเราเป็นฆราวาสก็ต้องรู้จักอยู่กับตัวเอง หยุดที่จะวิ่งบ้าๆ บอๆ ไป อยู่กับตัวเองให้มากๆ เท่าที่ทำได้ เก็บเล็กเก็บน้อยก็ยังดี

อย่างที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังอย่างนี้ ในแต่ละวันมีเวลาตอนไหน หลวงพ่อก็ภาวนาตอนนั้น กลางวันมีเวลาเยอะขึ้นหน่อย ไปเดินจงกรม เดินไปวัด ตอนเย็นไม่มีธุระอะไรกลับบ้าน ไม่เถลไถลไปกินเหล้าเฮฮาอะไร ไม่เอา เสียเวลา เขาชวนไปงานแต่งงานอะไรก็ไม่ไป ถ้างานศพก็ไป แต่งานแต่งไม่เอา เสียเวลา ไปหลงโลก กลับบ้าน มีเวลาแล้วก็อยู่กับบ้าน กลับมาภาวนาอยู่ที่บ้านเรา มีวันหยุดเราก็หาที่ภาวนาที่สงบ ชีวิตมันจะไม่เหนื่อย มันจะไม่เร่งร้อน แล้วเวลาที่ต้องเร่งร้อน เราจะเร่งร้อนได้ดีกว่าคนอื่น เพราะเราได้พักมาเพียงพอแล้ว

บางคนเหนื่อยมาก ชีวิตฝืนมากเลย เหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา มี หลวงพ่อเคยเจอ ทำงานด้วยกัน ถึงเวลากินข้าวไม่กินๆ ไม่ให้ลูกน้องกินด้วย จะต้องโชว์ว่าทำงานหนัก ทุ่มเทให้กับงาน คนพวกนี้อายุไม่มากก็พิกลพิการไปหมดแล้ว สมองมันเสื่อมหมด ฉะนั้นเราจะวิ่งตามโลกให้ทันก็ต้องตามด้วยความฉลาด ไม่ใช่ตามอย่างโง่ๆ ต้องรู้จักหยุด รู้จักคำว่า slow life บ้าง บางช่วงบางเวลา ให้เวลากับจิตใจของตนเอง แล้วเราจะต่อสู้กับโลกได้เข้มแข็งมากกว่าคนที่ตะลุมบอน ทุกวันนี้เราถูกหลอกให้ตะลุมบอนกับโลก

 

วิธีให้จิตใจได้พักผ่อน

ฉะนั้นหาเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ทำอะไรไม่เป็น ภาวนาไม่เป็นอะไรอย่างนี้ ไหว้พระสวดมนต์ไป สวดมากๆ ไม่เป็น สวดนิดๆ หน่อยๆ แต่สวดแล้วสวดอีกก็ได้ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ สวดอยู่ในใจเรา สวดทั้งวันเลย ถ้ามีเวลาว่าง เราก็สวดอย่างนี้ หรือพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ สวดมนต์ไปเรื่อยๆ ใจมันก็ได้พัก ใจมันก็พัก แทนที่จะต้องคิดแต่เรื่องต่อสู้แย่งชิง ก็มาเบรก มาอยู่กับคำบริกรรม อยู่กับการสวดมนต์ หรือเก่งขึ้นมากว่านั้นก็เข้าสมาธิ ถ้าทำฌาน ทำอะไรได้ ยิ่งได้พักมากเลย

เวลาจิตรวม มันได้พักผ่อนอย่างมากเลย นอนหลับแต่ละวันก็ได้พักผ่อนสำหรับวันนั้น แต่เราทำสมาธิจิตเรารวม เราพักผ่อนได้ทีหนึ่งหลายวันเลย มีความสุข มีความสงบ มีเรี่ยวมีแรงอยู่ หลายวัน 3 วัน 4 วัน ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเราพักถึงระดับพักในฌานได้ พักได้นาน ได้กำลังเยอะ ออกมาแล้วสดชื่นเลย เหมือนตื่นขึ้นมาสดชื่นเลย มีความรู้สึกเหมือนชุ่มชื่น เย็น ชื่นฉ่ำ ทั้งกายทั้งใจ มันเย็น มันสงบ มันสุข ในขณะที่พวกเรา มันเร้าตัวเอง มันร้อนไปหมด หัวก็ร้อน หน้าก็ร้อน ตัวก็ร้อน อกก็ร้อน เร้ามากไป

เพราะฉะนั้นถ้าเราเบรก มีเวลาเบรก ทำอะไรไม่ได้เลย สวดมนต์ไป ถ้าทำเก่งกว่านั้นก็ทำสมถะ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป ง่ายๆ อย่าอยากสงบ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง นี่เคล็ดลับของการทำสมถะ ใช้อารมณ์กรรมฐานที่เราสบายใจ อยู่แล้วมีความสุข สบายใจ หลวงพ่อทำกรรมฐานได้หลายชนิด เยอะเลย ตั้งแต่เด็กๆ บ้านอยู่ริมคลอง ชอบไปนั่งริมคลองแล้วก็ดูน้ำมันไหล บางทีลมมันพัดพลิ้วเป็นระลอกเล็กๆ อะไรอย่างนี้ เห็นแค่นี้ใจก็สงบแล้ว มันเป็นอาโปกสิณ ใจก็สงบ สว่าง สบาย ไปนั่งใต้ต้นไม้ ลมมาพัดเย็นๆ ลมพัด รู้สึก ลมมากระทบไหวๆๆ นี่ก็กสิณลมได้ ค่อยๆ ฝึก อยู่กับธรรมชาตินี้ล่ะ ฝึกกรรมฐานไป บางทีเราเห็นแสงแดดลอดใบไม้ลงมา เรานั่งใต้ต้นไม้ อย่างไปอยู่สวนสาธารณะ อยู่ใต้ต้นไม้ แสงแดดมันลอดใบไม้ลงมา ไหววับๆๆๆ ก็เป็นกสิณแสง

ถ้าเราภาวนาเป็น อยู่ตรงไหนมันก็ทำได้ สมาธิ สมถะ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย มันอยู่ที่การรู้จักวางใจของเราให้ถูก ให้จิตมันอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง มีสติอยู่ ไม่ใช่มีความสุขแล้วก็เผลอเพลิน เอ๋อๆ ไป หรือจะทำสมาธิก็ทำจิตให้เอ๋อๆ แล้วคิดว่านี่ดี ไม่ดีหรอก ขาดสติ ธรรมดาก็ไม่ค่อยจะมีสติอยู่แล้ว ไปนั่งสมาธิก็ไปทำให้เอ๋อหนักขึ้น ไม่ได้เรื่องหรอก

ฉะนั้นเราจะทำสมถะเพื่อจะได้พักผ่อน เราก็ทำกรรมฐานของเราไป อย่างแค่ดูน้ำไหลมีความสุข ใจก็สงบได้แล้ว เห็นแสงแดดลอดใบไม้สวยงามอะไรอย่างนี้ ใจก็สงบได้ ลมพัดยอดไม้ หรือลมพัดกระทบผิวกายเรา เราก็สงบได้ ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรหรอกถ้ารู้จักวางใจให้ดี อยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข ที่จิตมันชอบ แล้วก็ไม่เผลอไม่เพลิน อยู่ด้วยความมีสติ ไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องสงบ ถ้าอยากสงบจะไม่มีทางสงบเลย มันเหมือนนอนหลับ อยากหลับแล้วมันจะไม่หลับ ตอนหลับมันไม่ได้อยาก ลองไปดูตัวเองสิ ตอนที่หลับไม่ได้อยากหลับหรอก แต่ตอนที่อยากหลับ พรุ่งนี้มีงานแต่เช้ามืดอะไรอย่างนี้ อยากหลับ มันไม่ยอมหลับ ใจมันเครียด

การทำสมาธิก็เหมือนการนอนหลับ แต่ไม่ใช่นั่งหลับ มีสติอยู่ หลับมันไม่มีสติ เราก็ภาวนาไป เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป ทีแรกเราก็เห็นลมมันยาว ดูไปเรื่อยๆๆ มันจะค่อยหดลงมาอยู่ที่ปลายจมูก รู้สึกอยู่ที่ปลายจมูก หายใจจนกระทั่งลมมันระงับ ตอนที่ลมระงับมันจะกลายเป็นแสงสว่างเกิดขึ้น ใจมันก็สงบ แต่ถ้าเราเคยภาวนาจนกระทั่งลมสงบแล้วมันสว่างขึ้นมา เราโลภ เราไม่ได้ทำไปตามลำดับขั้นตอน เราโลภแล้ว อยู่ๆ ก็จงใจกำหนดให้สว่าง กำหนด ใจจะเครียดๆ ไม่สงบ

เพราะฉะนั้นเวลาจะทำสมถะ อย่าอยากสงบ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ขอให้เราอยู่ในอารมณ์กรรมฐานที่จิตมันพอใจด้วยความมีสติ แล้วจิตมันจะสงบเอง อย่างเราหายใจ หลวงพ่อหายใจแต่เด็ก ชอบ ท่านพ่อลีท่านสอนหายใจ ทีแรกหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ 1 รอบ นับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 นับไปเรื่อยๆ พอจิตมันเริ่มสบาย เริ่มสงบ การนับมันหายไป สงบมากขึ้น พุทโธหายไป พุทโธกลายเป็นส่วนเกินแล้ว เป็นเครื่องรุงรังแล้ว พอหายใจไปเรื่อยๆ สงบ ลมมันจะตื้นๆๆ ขึ้นมา ในที่สุดลมก็ระงับไป เพราะลมเป็นส่วนเกินขึ้นไปแล้ว ใจมันก็สงบของมันเอง แต่ถ้าเราอยากสงบ มันจะไม่สงบ

 

รู้จักหยุด รู้จักรอ

ถ้าเราทำอย่างนี้เราจะได้พักผ่อน ถ้าเราทำได้เราจะมีแรงมากกว่าคนอื่น บางครั้งมันมีงานที่ยุ่งยากซับซ้อน คิดเท่าไรก็คิดไม่ตก คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี ถ้าเรารู้จักเบรกตัวเอง มันคิดไม่ออกก็อย่าเพิ่งไปคิดมัน งานนี้ยุ่งยากเกินไป ตอนนี้คิดไม่ได้ก็อย่าเพิ่งคิด กลับมาอยู่กับลมหายใจ มาอยู่กับพุทโธ พอจิตเราสงบลงไป พอจิตถอยออกมา จิตมันกลับไปพิจารณางานนั้น มันของง่ายๆ เลย ไม่ใช่เรื่องยากเลย

อันนี้หลวงพ่อพุธท่านก็เคยเล่า ตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่บวช กราบท่านทุกเดือน หาเวลาขึ้นไปโคราช ท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านมีลูกศิษย์เป็นสถาปนิก ลูกศิษย์เขาออกแบบอาคารใหญ่ ใหญ่มากๆ แต่ใหญ่มากๆ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน มันก็ไม่ได้ใหญ่มากหรอก ถ้าเทียบกับยุคนี้ แต่ยุคโน้นวัสดุอุปกรณ์อะไรก็ไม่ดีเท่ายุคนี้ เทคโนโลยีอะไรก็ไม่เหมือนยุคนี้ ฉะนั้นมันยากทำงานภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดมากกว่าคนรุ่นเรานี้ คิดทุกวัน คิดๆๆ จะออกแบบอาคารนี้ คิดไม่ตก พอคิดไม่ตก แกก็ช่างมันเถอะ เหนื่อยเต็มทีแล้ว ลงไปนอน นอน หายใจพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ เหนื่อย พอจิตมันสงบ พอจิตมันถอนออกจากสมาธิมา มองปั๊บเดียว เข้าใจแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร แกแก้ปัญหาได้อย่างง่ายๆ เลย

ฉะนั้นเวลาที่ชีวิตเรามีปัญหาหนัก คิดไม่ออก อย่าเพิ่งคิด เสียเวลา ปวดหัวเปล่าๆ หยุดก่อน งานนี้ยากเกินไป หยุดก่อน เรื่องนี้ยุ่ง ซับซ้อนเกินไป หยุดก่อน กระทั่งเรื่องในชีวิต เรื่องในชีวิตเราเกิดปัญหา วุ่นวาย ลูกติดยาขึ้นมา เราจะทำอย่างไร หยุดตัวเองก่อน อย่าเพิ่งกลุ้มใจ อย่าเพิ่งวุ่นวาย อย่าคิดแล้วคิดอีก หาทางออกไม่ได้ เบรกตัวเอง ไหว้พระสวดมนต์ไปเรื่อยๆ ลืม ลืมปัญหาที่มีอยู่สักชั่วคราวก่อน พอจิตใจเราสงบ มันถอยออกมาจากการที่มันหยุด มันได้พักแล้ว มันถอยออกมา สติปัญญามันจะแหลมคม มันจะมองการแก้ปัญหาได้อย่างง่ายดายเลย

เมื่อปี 2553 หลวงพ่อก็เจอวิกฤตครั้งหนึ่งในชีวิต โดนรุมโจมตีรอบทิศทาง คล้ายๆ สงคราม 9 ทัพ มาทุกทิศทางเลย ไปฟ้องร้องหลายรอบ สารพัด กะว่าต้องเล่นงานเราจอดแน่ๆ รอบนี้ เรื่องติดคุก เขารู้ว่าหลวงพ่อไม่ต้องติดคุกหรอก เพราะเขารู้อยู่ว่าหลวงพ่อไม่เคยทำอะไรชั่ว แต่ต้องการกดดันให้บ้าตายไปเลยอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อไม่เห็นจะเดือดร้อนเลย ถึงเวลาเราก็ทำความสงบของเราไป บางทีนอนด้วยซ้ำไป นอนไป ตื่นขึ้นมา รู้แล้วว่าเราจะต้องทำอะไร จะต้องทำอะไร ทำตอนไหน ทำอย่างไร จิตมันรู้ขึ้นมาหมดเลย มันก็เดินไปด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ปัญหาที่ว่าใหญ่ ไม่เห็นจะใหญ่จริงเลย ปัญหาที่หนักหนา ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ภาวนาคงบ้าตาย เราเฉยๆ เราผ่านไปอย่างสบายๆ

นี่ยกเป็นตัวอย่างให้ฟังว่า เวลาที่วิกฤต เวลาชีวิตมีวิกฤตกาล เราคิดอะไรไม่ออกอย่าฝืนคิด พักเสีย หัดหยุดเสีย หยุดกับการไหว้พระสวดมนต์ หยุด หยุดความฟุ้งซ่านในสมองของเราให้ได้ แล้วใจเราสงบ ใจเราสบาย มันจะมีทางออกที่มันง่ายกว่าที่คิด ที่ว่าคิดแล้วหาทางออกไม่ได้ จริงๆ ทุกปัญหามีทางออกในตัวเองทั้งนั้นล่ะ ในชีวิตเรา เราบอกปัญหานี้ร้ายแรงไม่มีทางออก ไม่จริงหรอก ทุกปัญหาต้องมีทางออก บางทีเราไม่ต้องทำอะไร ปัญหามันก็แก้ตัวของมันเอง เวลาเคลื่อนเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป ที่เคยเป็นปัญหา มันก็ไม่เป็นแล้ว

เพราะฉะนั้นเรารู้จักหยุด รู้จักรอ มันเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตอันหนึ่ง ในทางธรรมก็ใช้ได้ รู้จักหยุดแล้วจิตมันจะมีกำลังมาเจริญปัญญา พิจารณาธาตุ พิจารณาขันธ์ พิจารณากาย พิจารณาใจ จิตมันต้องมีกำลัง ในทางโลก หยุด เวลาที่สับสนวุ่นวาย ไม่ต้องคิดมากว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร บางทีไม่ต้องทำอะไร ปัญหามันแก้ตัวของมันเองก็ได้ เพราะมันก็ไม่เที่ยง

 

“การที่เราเบรกตัวเองเป็นช่วงๆๆ แล้วก็ย้อนมาสังเกตตัวเอง มันก็คือการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นการทำงานทางโลกกับการปฏิบัติธรรมนั้นสามารถควบคู่กันไปได้
แต่ถ้าเบรกตัวเองไม่เป็น ไม่สามารถปฏิบัติธรรมควบคู่กับการดำรงชีวิตในโลกได้”

 

ฉะนั้นเรารู้จักดำรงชีวิต อย่าเร่งเร้าตัวเอง วิ่งๆๆ ไป แย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อวันหนึ่งจะพบว่ามันว่างเปล่า แย่งตำแหน่ง แย่งหน้าที่ แย่งโน่นแย่งนี่กัน สุดท้ายทุกคนมันก็ว่างเปล่า มันไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวไป แต่ว่าชีวิตทั้งชีวิตเอาไปใช้กับความเครียดหมดเลย แต่ถ้าเรารู้จักเบรกตัวเอง มีหน้าที่อะไรก็ทำไป จะทำได้ดีด้วย เพราะจิตมันรู้จักพักแล้ว

อย่างหลวงพ่อเวลาทำงาน ก่อนนี้สมาธิหลวงพ่อเยอะ เอกสารเป็นตั้งๆ ยุคโน้นมันคอมพิวเตอร์อะไรมันยังไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไรหรอก เอกสารเป็นตั้งๆ อ่านเที่ยวเดียว เอกสารเหมือนจิ๊กซอว์แต่ละตัว พอเราอ่านไปรอบหนึ่งแล้ว มันต่อจิ๊กซอว์ในหัวเราให้เสร็จแล้ว จิตที่มีสมาธิ หลวงพ่อก็ลงนั่งแล้วคีย์ออกมาเลย คีย์จะทำเปเปอร์อะไรสักอัน จากเอกสารเยอะๆ มันจัดระดับในสมองของเราเอง เราไม่ได้คิด เราคีย์ออกมาเรียบร้อย ตอนคีย์อยู่ พวกผู้ใหญ่ บอสทั้งหลายมายืนคุยกันรอบโต๊ะ มารอเซ็น ถ้าคนอื่นไม่มีสมาธิพอ ผู้ใหญ่มารอเซ็นอยู่ข้างตัวเรานี้ เครียดตายเลย ทำไม่ได้ หลวงพ่อรู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในสวนสาธารณะ ไม่ได้มีมนุษย์ที่ไหนอยู่ข้างตัวเลย คีย์ออกมาเสร็จแล้ว ปรินท์ออกมา เซ็นได้แล้ว

เรื่องของจิตซึ่งมันมีสมาธิ จิตที่มันมีการพักเพียงพอ มันมีคุณภาพในการทำงาน อยู่กับโลกก็ได้ มีปัญหาในชีวิตก็แก้ง่าย ไม่จนมุมหรอก แล้วก็ส่งเสริมในการปฏิบัติธรรมด้วย การที่เราเบรกตัวเองเป็นช่วงๆๆ แล้วก็ย้อนมาสังเกตตัวเอง มันก็คือการปฏิบัตินั่นล่ะ เพราะฉะนั้นการทำงานทางโลกกับการปฏิบัติธรรมนั้นสามารถควบคู่กันไปได้ แต่ถ้าเบรกตัวเองไม่เป็น ไม่สามารถปฏิบัติธรรมควบคู่กับการดำรงชีวิตในโลกได้

ทำไมวันนี้เทศน์เรื่องนี้ พวกเราน่าจะเครียดเยอะ รู้จักเบรกบ้าง แล้วชีวิตจะมีความสุข ที่แย่งกันจะเป็นจะตาย สุดท้ายว่างเปล่า นอนหายใจแขม่วๆ นึกถึงทุกอย่าง มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ เคยได้รับคำสรรเสริญก็ถูกเขาด่าอะไรอย่างนี้ แล้วอะไร มีสุขอยู่ก็มีทุกข์ได้ โลกมันเป็นอย่างนั้น หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นรู้จักพัก รู้จักเบรก แล้วชีวิตจะก้าวหน้าทั้งทางโลกทางธรรม

 

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 สิงหาคม 2565