ดูตัวเองดีกว่าคอยจับผิดคนอื่น

เดือนมีนาคมก็จะหมดไปอีกแล้ว เดือนหนึ่งๆ ผ่านไปรวดเร็ว คนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเวลา ใช้ประโยชน์จากวันเวลาที่ผ่านไปไม่เต็มที่ เวลาเป็นของที่แพงมาก หมดแล้วเอาคืนไม่ได้ หมดไปพร้อมกับชีวิตของพวกเรา คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึก มันประมาท มันคะนอง สนุกสนานเพลิดเพลินไปวันๆ ชิงดีชิงเด่น ก่อเรื่องวุ่นวาย มันลืมไปว่าชีวิตมันกำลังหมดไปสิ้นไป แย่งโน้นแย่งนี้กัน แย่งผลประโยชน์ แย่งอำนาจ แย่งอะไร

คนมีอำนาจมันก็มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่เห็นมีใครอยู่สักคนเดียว สุดท้ายมันก็ผ่านไปหมด ตอนหลวงพ่อเด็กๆ จอมพล ป. (แปลก พิบูลย์สงคราม) ก็ใหญ่มาก นายเผ่า (ศรียานนท์) ก็ใหญ่มาก ต่อมาก็จอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ใหญ่มาก จอมพลถนอม (กิตติขจร) จอมพลประภาส (กิตติขจร) หมดไปสิ้นไปเรื่อยๆ ที่แย่งๆ กันก็ไม่มีอะไรเหลือ บางคนก็นั่งคิดอุดมการณ์ว่าระบอบนี้ดีกว่าระบอบนี้

บางคนมีทิฏฐิมานะสูง ก้าวล่วงไปถึงวิจารณ์พระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าทำไม่ถูกออกมาบวช ทำไมไม่ปกครองให้ดี ราษฎรจะได้เป็นสุข ผู้ปกครองที่ดีมันก็มีมาอยู่เรื่อยๆ จุดสำคัญของการปกครอง อยู่ที่อย่างในหลวงองค์ก่อน (รัชกาลที่ 9) ท่านบอกไว้ ท่านไม่ได้บอกว่าระบอบอะไรดีกว่าระบอบอะไร ปัญญาท่านสูงจริงๆ ท่านบอกการปกครองมันมีทั้งคนดีทั้งคนชั่ว ทำอย่างไรให้คนดีได้ปกครอง

ฉะนั้นสิ่งที่ปกครองคนได้ดีที่สุด ก็คือความดีนี่เอง ถ้าคนเรามีความดีเป็นผู้ปกครองขึ้นมา บ้านเมืองมันก็ดี ไม่ใช่ระบอบนั้นดีกว่าระบอบนี้ นั่นเด็กเกินไปแล้ว ถ้าระบอบอะไรบ้านเมืองมันก็เจริญได้ คนมันก็มีความสุขได้ พระพุทธเจ้าท่านมองทะลุลงมา ไม่ว่าจะเซ็ตระบบให้ดีแค่ไหน ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบสังคมอะไร ไม่ว่าจะเซ็ตให้ดีแค่ไหน ถ้าคนมันชั่วเสียอย่างเดียว มันก็หาความสงบสุขไม่ได้หรอก ฉะนั้นท่านถึงพยายามมาคิดว่า พิจารณาค้นคว้า ทำอย่างไรคนจะไม่ชั่ว ทำอย่างไรคนจะไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีหลักวิชาใดที่จะตอบโจทย์ข้อนี้ได้เลย ทำอย่างไรคนจะไม่ชั่ว

บางฝ่ายก็พยายามตอบว่าถ้าเราไม่เห็นแก่ตัว เรามอบความภักดีให้กับพระเจ้า เราก็จะไม่เห็นแก่ตัว ทำอะไรก็คิดว่าทำเพื่อพระเจ้า อันนี้เขาก็ดีของเขา เป็นวิธีตอบโจทย์ของเขาเหมือนกัน ที่ว่าให้คนมันไม่ชั่ว บางคนก็เอานรก เอาสวรรค์อะไรมาอ้างอิง คนจะได้อยากดี ไม่อยากชั่ว

 

 

พระพุทธเจ้าเราก็สอนธรรมะที่ประณีตลึกซึ้ง มีเหตุมีผล อย่างอ้างว่าเราภักดีกับพระเจ้า พระเจ้าอยู่ที่ไหนเรายังไม่รู้เลย มีใครเคยเจอพระเจ้าบ้าง พระพุทธเจ้าเคยถามพวกพราหมณ์ มาโต้แย้งกับท่าน พราหมณ์ก็อ้างถึงพระเจ้า พระพุทธเจ้าก็ถามเคยเจอไหม บอกไม่เคย อาจารย์ของเธอ เคยเจอไหม ก็ไม่เคย ปรมาจารย์ของเธอกี่รุ่นๆ เคยเจอไหม ก็ไม่เคย ฉะนั้นมันมีความกำกวม หรือเรื่องอื่นมันก็เหมือนกัน กำกวมได้เหมือนกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่กำกวม ไอน์สไตน์ถึงบอกว่าเป็นศาสนาเดียวที่เข้ากับวิทยาศาสตร์ได้จริงๆ เพราะมันไม่มีเรื่องกำกวม เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้

อย่างการพิสูจน์ว่าทำอย่างไรคนเราจะดี ก็ถ้าคนเราไม่ชั่วมันก็ดี คนเรามันชั่วเพราะอะไร เพราะมันไม่รู้เท่าทันกิเลสที่มันเกิดขึ้นในจิตใจตัวเอง ฉะนั้นท่านสอนให้เรา ตัดตรงเข้ามาเรียนให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง ถ้าเราเรียนรู้ถึงจิตใจตัวเอง เราจะเห็นเลยว่า สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไปทั้งสิ้น ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรมันจะค่อยๆ อ่อนลง โดยเฉพาะความหลง มันหลงว่าเรามีอยู่จริงๆ มันถึงได้โลภมาก เขาเรียกว่าลืมตาย อยากเป็นอมตะอะไรอย่างนี้ บางคนก็นึกได้ว่าไม่นานก็ตาย มีอำนาจมากแต่ไม่นานก็จะต้องตาย ก็อยากไม่ตายอยากเป็นอมตะ อย่างจิ๋นซีฮ่องเต้ อยากมีอายุยืนเลยกินปรอทเข้าไป

ถ้าเราภาวนาเป็น เราเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามาเรียนรู้ลงมาในกายในใจของตัวเอง ในขันธ์ 5 อายตนะ 6 ในธาตุ 18 ในอินทรีย์ 22 อะไรอย่างนี้ เรียนลงมาในสิ่งเหล่านี้ ย่อลงมาก็คือรูปธรรมกับนามธรรมที่มันประกอบกันขึ้นมา แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นตัวเราๆ ถ้ามันเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี มันจะอยากโน้นอยากนี้ไปทำอะไร จะอยากใหญ่แค่ไหน คนที่ทำชั่ว แย่งกันทุกสิ่งทุกอย่างเพราะมันไม่เห็นความจริงของตัวเอง ว่าตัวเองไม่มี ไปคิดว่าตัวเรามีจริงๆ มันถึงดิ้นรนอยากให้ตัวเองมีความสุขเยอะๆ อยากให้เป็นอมตะ อยากอย่างโน้น อยากอย่างนี้ขึ้นมา พอความอยากมันล้นเกิน มันก็เริ่มไปกระทบกระทั่งคนอื่น ไปเบียดเบียนคนอื่น อยากรวยก็ไปช่วงชิงผลประโยชน์ของคนอื่นเขามา หรือถ้าอย่างมีใจเป็นธรรม ก็เรียก win-win ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็น ส่วนใหญ่ก็คือโลภมาก เท่าไหร่ก็ไม่พอมันก็อยากได้คนเดียว อยากได้คนเดียว สุดท้ายก็คือการทำลายตัวเองลงไป

อย่างอยากรวยคนเดียว ตั้งโรงงานเอาเครื่องยนต์ เครื่องจักรมาใช้ เอาหุ่นยนต์มาใช้หมดเลย ไม่มีแรงงาน ไม่ได้จ้างคนทำงาน คนจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อของ สุดท้ายตัวเองก็ล้มสลายไป จุดอ่อนของระบบที่มนุษย์มันคิดสร้างขึ้นมา ด้วยความเห็นแก่ตัว

ฉะนั้นต้องพยายามฝึก เรารู้ทันมันไป เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป จนเราเห็นความจริงว่าทุกอย่างมันของชั่วคราว พอทุกอย่างมันของชั่วคราว มันจะโลภมากทำไม มันจะโกรธแค้นอาฆาตเกลียดชังกันทำไม คนโลภมากมันมีความสุขเสียที่ไหน คนเกลียดชังกันมันมีความสุขเสียที่ไหน ตัวเองไม่มีความสุข แล้วก็ระบาดความไม่มีความสุขไปสู่คนอื่น ทำให้คนอื่นวุ่นวายไปด้วย ฉะนั้นแทนที่จะไปแก้ปัญหาที่สิ่งภายนอก ระบอบระบบอะไรต่างๆ มันพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามเหตุ ตามผลของมัน จุดสำคัญคือคนมันต้องดี ถ้าคนมันไม่ดีเสียอย่างเดียว คิดระบบให้วิเศษอย่างไร มันก็โกง มันก็ทุจริตได้ มันก็เบียดเบียนคนอื่นได้

ฉะนั้นบางคนคิดแก้ปัญหา ร่างรัฐธรรมนูญอย่างนั้น ร่างรัฐธรรมนูญอย่างนี้ รัฐธรรมนูญวิเศษแค่ไหน ถ้าคนมันไม่ดี มันก็ไม่ดี ฉะนั้นแก้ปัญหานี่แก้ที่คน ไม่ใช่ไปแก้ที่อื่นหรอก ปัญหาต้นตอมันอยู่ที่ตัวคน เราจะไปแก้คนทุกคนทำไม่ได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเลยบอกว่า ทำอย่างไรให้คนที่ดีมันได้ปกครอง คนไปห้ามคนมันชั่ว มันห้ามไม่ได้หรอก คนมันมีทั้งดีและชั่ว ที่สำคัญคนที่ว่าชั่ว ในตัวมันก็มีอะไรที่ดีเหมือนกัน มันไม่ดีล้วน ไม่เลวล้วนหรอกมนุษย์

 

“โอปนยิโก” ย้อนกลับเข้ามาดูตัวเอง

พอเรามองเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ก็เกลียดกันไป เกลียดกันมา ทำร้ายกันตลอดเวลา พระพุทธเจ้าท่านฉลาดแหลมคม ท่านสอนให้เราย้อนเข้ามาเรียนรู้ที่ตัวเราเองนี้ พอเราเข้าใจแล้วก็ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรก็ลดลง ตัวสำคัญคือตัวความหลง ตัวโมหะ หลงว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ กายนี้ใจนี้คือตัวเรา แล้วทำอย่างไรเราจะเห็นความจริงว่ามันไม่ใช่ตัวเรา อันนี้พระพุทธเจ้าท่านตอบโจทย์ไว้ให้แล้ว การที่จะเห็นกาย เห็นใจนี้ไม่ใช่เราได้ ท่านไม่ได้บอกว่าไปฝึกให้มันไม่เป็นเรา ที่จริงมันไม่เป็นเรามาแต่แรกแล้ว แต่ความเห็นผิดทำให้เห็นว่า กายนี้ใจนี้มันเป็นตัวเรา เป็นของเรา

ถ้าจะเห็นถูก ก็ต้องเห็นแบบไม่มีอคติ ไม่มี bias เห็นด้วยความเป็นกลาง แล้วมาฝึกจิตฝึกใจ ให้สามารถรู้สภาวะรูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย ด้วยความเป็นกลางได้ ถ้าเราสามารถรู้กายด้วยจิตใจที่เป็นกลาง รู้จิตใจด้วยจิตใจที่เป็นกลาง เราจะเห็นความจริงของกายของใจ มันมีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของเป็นทุกข์ มีแต่ของไม่ใช่ตัวเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ

คำว่า “อนัตตา” เป็นคำลึกซึ้ง มีหลายนัยยะ แปลว่าไม่ใช่ตัวเราก็ได้ แปลว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับก็ได้ แปลว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่กำหนดก็ได้ มีแปลได้หลายอย่าง รวมความแล้วก็คือ มันไม่ใช่ของเราที่แท้จริง ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา มันเป็นไปตามเหตุ แบบแปรปรวนไป สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้

ทีนี้มาดูของจริง ของจริงมีอยู่แล้ว แต่มันไม่มีคนดูต่างหาก ฉะนั้นธรรมะนี่มีอยู่แล้ว จะมีพระพุทธเจ้า หรือไม่มีพระพุทธเจ้า ธรรมะก็มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านถึงขนาดบอกว่า “ไม่ว่าท่านจะตรัสรู้ หรือไม่ตรัสรู้ ธรรมะก็มีอยู่แล้ว” เพียงแต่ว่าคนทั้งหลายมองข้ามธรรมะไป ธรรมะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดเลย คือเรื่องของตัวเราเอง กายมันก็ไม่อยู่ไกล ความรู้สึก นึกคิด จิตใจอะไรก็อยู่กับตัวเรานี้เอง เป็นของที่อยู่กับตัวเราเอง เป็นของใกล้ตัวที่สุดเลย ไม่มีคนสนใจ ต้องอาศัยปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สอนให้เราย้อนมาดู เพราะเราสนใจแต่ของข้างนอก เราสนใจรูปมากกว่าสนใจประสาทตาของตัวเอง เราสนใจเสียงมากกว่าสนใจประสาทหูของตัวเอง เราสนใจกลิ่นมากกว่าสนใจประสาทจมูกของตัวเอง เราสนใจรสชาติต่างๆ มากกว่าสนใจประสาทรับรู้ของลิ้น

เราไม่ได้สนใจสิ่งที่เป็นตัวเราแท้จริงหรอก เราสนใจวัตถุสิ่งของภายนอก เราไม่ค่อยสนใจร่างกายของเราเอง วันๆ หนึ่งเรามองคนอื่นมากกว่ามองตัวเอง ฉะนั้นก็เห็นแต่คนอื่น มันไม่เห็นตัวเอง เห็นคนอื่นแล้วใจของเรามันมีกิเลส มันก็เห็นคนอื่นในมุมที่ตัวเองอยากเห็น ชอบขึ้นมาก็มองว่าเขาดี ไม่ชอบขึ้นมาก็เขาเลว มองอย่างที่ตัวเองอยากมอง ของจริงคือรูปธรรมนามธรรมนี้ มันอยู่กับเรามาแต่ไหนแต่ไร ทำไมต้องอาศัยพระพุทธเจ้ามาชี้ให้เราย้อนกลับมาดู “โอปนยิโก” ย้อนกลับเข้ามาดูตัวเอง เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนบอก “โดยธรรมชาติ จิตย่อมส่งออกนอก” จิตส่งออกนอก คือสนใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส หรือในเรื่องราวที่คิดนึกต่างๆ สนใจแต่สิ่งพวกนี้ ไม่สนใจในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปธรรม นามธรรมที่ประกอบกันเป็นตัวเอง ไม่สนใจ

ฉะนั้นเราก็ควรจะสนใจเสียบ้าง หัดมาสนใจตัวเอง ไม่ต้องสนใจคนอื่นมากนัก ไม่ต้องไปจับผิดคนอื่น มาจับผิดตัวเอง จับผิดคนอื่นง่าย ไอ้โน้นไม่ดี ไอ้นี้ไม่ดี กูดีอยู่คนเดียว มีโยมเขาซื้อไอแพดมาให้หลวงพ่อดู หลวงพ่อก็ลองไปดู ดูแล้ว โอ้ มีแต่กิเลสทั้งนั้นเลย มันว่าคนอื่นตลอดเลย ไม่เห็นมีใครมันวิจารณ์ตัวเองสักกี่คนเลย คนโน้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี รัฐบาลไม่ดี ฝ่ายค้านไม่ดี อะไรต่ออะไร มีแต่มองออกนอก สนใจแต่ของนอก ลองย้อนกลับมาทำตัวเองให้มันดีเสียก่อน ย้อนกลับมาฝึกตัวเองให้มันดีเสียก่อน ค่อยวิจารณ์คนอื่นก็ได้ ไม่สายไปหรอก ย้อนมาดูตัวเอง

 

 

ร่างกายเรานี้มันเป็นตัวเราเป็นของเราจริงหรือเปล่า วิธีดู อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่ ลองรู้สึกสิร่างกายมันกำลังนั่งอยู่ หรือร่างกายมันกำลังเดินอยู่ ร่างกายมันกำลังยืนอยู่ ร่างกายมันกำลังนอนอยู่ รู้สึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนอิริยาบถ นั่งนานๆ เดี๋ยวมันก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย พอปวดเมื่อยก็ต้องขยับไปขยับมา หนีความทุกข์โอ้ร่างกายนี้ มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ดูลงไปอย่างนี้ ร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นเดี๋ยวก็เปลี่ยนอิริยาบถ เดี๋ยวหายใจเข้า เดี๋ยวหายใจออก ร่างกายนี้เป็นทุกข์ คือมันถูกความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ยังทุกข์เลย ต้องพลิกซ้าย พลิกขวา ดูของจริงลงไปสิ ร่างกายมีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของเป็นทุกข์ ร่างกายเป็นแค่วัตถุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราที่แท้จริง

เรายืมธาตุ ยืมวัตถุจากโลกมาใช้อยู่ชั่วครั้งชั่วคราว เบื้องต้นยืมธาตุของพ่อของแม่มาอย่างละนิดหน่อย เสร็จแล้วก็มาอาศัยอากาศ อาศัยน้ำ อาศัยอาหารของโลกนี้ เป็นสมบัติของโลก จริงๆ ร่างกายของเราเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่สมบัติของเรา ฉะนั้นมีใครบ้างหอบเอาร่างกายไปได้ตลอดกาล ไม่มีหรอก ไม่นานก็ต้องทิ้ง ทิ้งแล้วเขาก็จะเอาไปเผาบ้าง เอาไปฝังบ้าง นี่ก็จะถึงเทศกาลเชงเม้งแล้ว คนจะต้องมาไหว้บรรพบุรุษ ถามว่าดีไหม? ดี เป็นสัญลักษณ์ของความกตัญญู รู้จักบุญคุณของคนที่มีบุญคุณ ถามว่าผีมาให้เราไหว้ไหม ไม่มาหรอก ตายแล้วก็ไปตามเวรตามกรรมของตัวเอง แต่ว่านึกถึงคุณของผู้มีคุณ ก็เรื่องของคนดี แต่ในความเป็นจริงก็คือ ร่างกายสุดท้ายก็ต้องทิ้งไปให้โลก จะทิ้งไว้ในฮวงซุ้ยหรือจะเอาไปเผา เอากระดูกไปโยนทิ้งแม่น้ำอะไรอย่างนี้ เอาขี้เถ้าไปโยนทิ้งทะเล ทิ้งแม่น้ำอะไรอย่างนี้ มันก็คือการคืนสู่โลกนั่นเอง ฉะนั้นจริงๆ ร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสมบัติของโลก

วิธีเรียนรู้กาย รู้ลงไปเลย ร่างกายนี้มันเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดิน นั่ง นอน เดี๋ยวเคลื่อนไหว เดี๋ยวหยุดนิ่ง ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ นั่งก็ทุกข์ ยืนก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ ไม่มีหรอกร่างกายที่ไม่ทุกข์ นั่งนานๆ เดี๋ยวก็ทุกข์แล้ว ดูลงไปร่างกายนี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเนืองๆ ดูไปถึงจุดหนึ่ง จิตมันเข้าใจความจริงร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ร่างกายเป็นแค่วัตถุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ดูไปที่นามธรรมทั้งหลายบ้าง สิ่งที่คนเราหลงใหล ก็คือตัวเวทนา เราอยากได้ความสุข เราเกลียดชังความทุกข์ นี้เราก็มาดูความจริง ความสุขมันคงที่หรือเปล่า มันเที่ยงไหม มันสุขจริงหรือเปล่า หรือมันกำลังถูกบังคับให้แตกสลายไป ตรงที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป เรียกว่าทุกขัง อนิจจังก็คือ ของที่เคยมีแล้วมันก็ไม่มี อย่างความสุขทั้งหลายในชีวิตเรา ลองย้อนไปดูสิ แต่ละคนๆ ผ่านความสุขมาเท่าไหร่ แล้วความสุขที่ผ่านมาแล้ว มันหายไปไหน มีใครมาแย่งชิงไปได้หรือเปล่า ถึงจะรักษาอย่างดีอย่างวิเศษแค่ไหน ถึงจุดหนึ่งมันก็ไม่อยู่ ฉะนั้นความสุขเองไม่คงที่ เฝ้าดูของจริง ไม่ใช่คิดเอา ความสุขที่กำลังมีอยู่นี่ รู้สึกไหมว่ามันกำลังถูกบีบคั้นให้แปรปรวนไป

อย่างใจเรามีความสุข เรารู้ลงไปที่ใจที่มีความสุข มันจะค่อยๆ ลดระดับลงไป สุดท้ายก็หายไป มันเป็นความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ คำว่าทนอยู่ไม่ได้ ในภาวะอันใดอันหนึ่งนี่เรียกว่า ทุกขตา ทุกขัง ที่เราพูดกันง่ายๆ ว่าทุกขังๆ มันคือสภาวะที่บีบคั้นให้ทนอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ได้ยาก ยากที่จะทน ทนก็ทนได้ชั่วคราว เดี๋ยวก็ต้องแตกสลาย อนิจจัง หมายถึงของซึ่งเคยมี แล้วมันก็ไม่มี มันหมดไปสิ้นไป ทุกขัง ของที่กำลังมี กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไป สิ้นไป อนัตตตา เราเรียกง่ายๆ อนัตตา ของจะมี หรือของจะไม่มี ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับของเรา ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยที่มากำหนด ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง

อย่างความสวยความงาม ผู้หญิงหลายคน หลงใหลในความสวยความงามของตัวเอง สั่งให้สวยตลอดมันก็ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยมีดหมอมาช่วย มันก็สวยได้ชั่วครั้งชั่วคราว โดยยีนของมัน มันถูกกำหนดว่าจะต้องแก่แล้ว เราก็ทำภาพลวงตา ไปดึงหนังให้ตึงอะไรอย่างนี้ แต่โดยความจริงแล้ว ร่างกายไม่ได้เป็นสาวขึ้นมาเลย หรือเป็นหนุ่มขึ้นมาเลย มันหลอกตาเท่านั้นเอง ไปดึงหน้าให้ตึงๆ อะไรอย่างนี้ เสริมตรงนั้น เสริมตรงนี้ เป็นการสร้างภาพลวงตา ไว้หลอกคนอื่น แล้วทำให้ตัวเองปลื้มใจ มันก็เหมือนเราทาแป้ง ผู้หญิงก็มีเครื่องสำอางเยอะแยะเลย ทาสีโน้นสีนี้ แต่งโน้นแต่งนี้ ถามว่ามันใช่ตัวจริงไหม ของที่แต่งขึ้นมา มันก็ไม่ใช่ ฉะนั้นมันทำไป มันไม่สามารถปิดบังความจริงได้ตลอดหรอก มันได้หลอกคนโง่ได้ชั่วครั้งชั่วคราว สุดท้ายมันก็เห็น มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราเลย ร่างกายจะแก่จะเหี่ยวเฉาจะอะไรอย่างนี้ สั่งมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ได้ มันไม่ได้อยู่ในอำนาจ

 

 

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ความสุขก็เหมือนกัน ความสุขก็อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป ถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป เราก็ห้ามไม่ได้ ความสุขจะเกิดเราสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วสั่งให้อยู่ตลอดก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรที่ทำได้ สั่งได้สักอย่างเดียวเลย จะเป็นร่างกาย หรือจะเป็นเวทนา ตัวความสุขที่แย่งชิงกันแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายมันก็ไม่เที่ยง สุดท้ายมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็เป็นอนัตตา ฉะนั้นถ้าเราฉลาด เราไม่เสียเวลาเหน็ดเหนื่อย ในการวิ่งหาความสุขมากมายอะไรนักหรอก แค่มีชีวิตอยู่ได้มันก็ดีหนักหนาแล้ว

บางคนรู้สึกว่าชีวิตมีความทุกข์เยอะเหลือเกิน ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ เกลียดความทุกข์ พระพุทธเจ้าก็สอนให้เราดูลงมา สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ๆ มันอยู่ตรงไหน ความทุกข์มันอยู่ที่ร่างกาย ความทุกข์มันอยู่ที่จิตใจ ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในกาย มันก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกันความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ จิตใจก็เป็นแต่ของไม่เที่ยง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ความทุกข์เกิดขึ้นก็อยู่ชั่วคราวเหมือนกัน จะสั่งไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นก็สั่งไม่ได้ ความทุกข์เกิดแล้วสั่งให้หายไป ก็สั่งไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้สักอย่างหนึ่ง

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ในที่สุดจิตมันก็มีปัญญาขึ้นมา ความสุขมันก็อย่างนั้นๆ ความทุกข์มันก็อย่างนั้นๆ ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเห็นได้อย่างนี้ ใจก็จะไม่หลงโลกมากนักหรอก ที่หลงโลกวุ่นวาย แย่งชิงอะไรกันนั้น มันคือแย่งกันหาความสุข แต่แย่งอย่างที่ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา อย่างคิดว่ามีอำนาจแล้วมีความสุข ถามหน่อยเถอะว่ามีใครมีอำนาจตลอดไป ไม่มีหรอก มีเงินแล้วจะมีความสุข มีเงินแล้วมีความสุขจริงหรือ เรากินเงินเข้าไปได้ไหม ถ้าหิวข้าวขึ้นมาใช่ไหม ไปติดเกาะอยู่มีสมบัติ มีทองคำอยู่เยอะแยะเลย กินได้ที่ไหน มันเป็นภาพลวงตา เมื่อก่อนมีหม่อมเจ้าอะไรอยู่องค์หนึ่ง ท่านพูดบอกว่า “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นความจริง” คือข้าวปลาอาหารนี่เรายังบริโภคได้ มีเครื่องเพชรเครื่องทอง ถามว่ากินเข้าไปได้หรือเปล่า ก็กินไม่ได้ แต่แย่งกัน ค่อยๆ ดู ค่อยๆ เรียนรู้ความจริง แล้วเราจะรู้สึกเลยว่า ทุกวันนี้ที่เราเหน็ดเหนื่อยมากมายนี้ เหน็ดเหนื่อยกับเรื่องโง่ๆ ทั้งนั้นเลย หาสาระแก่นสารไม่ได้

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงในใจของเรา พอดูได้ละเอียดขึ้นๆ ก็จะเห็นในจิตใจเรา นอกจากมีความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ แล้ว ยังมีความดี ความชั่วด้วย บางคนก็อยากเป็นคนดี มาภาวนาแล้วก็อยากเป็นคนดี เข้าวัดแล้วก็อยากเป็นคนดี หลวงพ่อเข้าวัดมาแต่เด็กนะ ตั้งแต่เล็กๆ เลย พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายพาเข้าวัด ไปโตอยู่ในวัด ไปเล่นอยู่ในวัดนั่นล่ะ ก็เห็นนะ ค่อยๆ ดูไป ที่คนเข้าวัดส่วนใหญ่เขาอยากดี อยากดีไปนั่งอยู่ในวัด แต่ก่อนนี้คนแก่ถึงวันพระต้องไปนอนที่วัด เขาเรียกว่าฝึกรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่วัด แต่จริงๆ ไม่ได้รักษาอุโบสถศีลอะไรหรอก ไปนั่งคุยกัน มีตะบันหมากไปคนละอัน ตะบันๆๆ กิน ดันก้นมัน เคี้ยวไปเรื่อยๆ พอหมากจืดก็เริ่มตำใหม่อะไรอย่างนี้ โต้รุ่งเลย ถามว่าทำไมไปนอนวัด มันเหมือนที่สังสรรค์ คล้ายๆ ที่สังสรรค์ แต่ว่าลึกๆ เลยก็รู้สึกได้บุญ อยากได้บุญ อยากจะได้เป็นคนดีอะไรอย่างนี้ เรียกว่ายังไม่รู้วิธี นอนในวัดนี่กิเลสไม่กลัว ถ้ากิเลสกลัววัดล่ะก็ หมาแมวในวัดนี้บรรลุมรรคผลไปหมดแล้ว กิเลสไม่ได้กลัววัดหรอก กลัวการภาวนา

ฉะนั้นถ้าเราภาวนาเป็น ค่อยภาวนาไป ทีแรกเราก็ภาวนาแล้วเราก็อยากดี อย่างเราลงมือปฏิบัติ เราก็ล้วนแต่อยากดี อยากได้มรรคผลนิพพานอะไรอย่างนี้ พออยากดีเกิดขึ้นก็เริ่มเข้าไปแทรกแซงกาย แทรกแซงใจของตัวเอง ไปสร้างความวุ่นวายให้กาย ให้ใจของตัวเอง นั่งก็ต้องนั่งไม่เหมือนชาวบ้าน เดินก็ต้องเดินไม่เหมือนชาวบ้าน จะนอนก็นอนไม่เหมือนชาวบ้านเขา ต้องนอนตะแคงขวาเท่านั้นอะไรอย่างนี้ เรื่องมาก จะกินก็ต้องกินช้าๆ ค่อยๆ เคี้ยว อย่างประณีต ค่อยๆ ทำอะไรที่ไม่เหมือนคนปกติ ทำไมต้องทำอย่างนั้น คิดว่าทำแล้วมันจะดี ถ้าคิดว่าทำอย่างนั้นแล้วชั่ว มันก็ไม่ทำหรอกพวกเข้าวัด แต่คิดว่าทำแล้วมันดี คืออยากได้ความดี แต่ยังไม่รู้วิธีการ อยากได้ความดีก็เริ่มบังคับร่างกาย บังคับการกระทำต่างๆ เข้ามาไม่ถึงจิต มันดีไม่ได้หรอก ฉะนั้นถ้าอยากดีจริงๆ ก็ต้องรู้ทันจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ จิตมันชั่วขึ้นมาก็รู้

อย่างเรามาอยู่วัดบางทีพวกญาติโยมเข้าวัด มีบ่อยไป โยมมาเข้าวัด ตอนเช้าๆ นี่ก็หงุดหงิดกัน แย่งกันจอดรถ ถ้าแต่ก่อนเปิดให้เข้ามาเยอะๆ ก็หงุดหงิดแล้ว แย่งกันจอดรถ แย่งกันเข้าศาลา แย่งกันกินข้าว แย่งกันเข้าห้องน้ำ ชีวิตมีแต่เรื่องการแก่งแย่ง เพราะอยากจะได้ฟังธรรมะ อยู่ใกล้ๆ หลวงพ่อแล้วจะได้ดี ดีไปไม่ได้หรอกมันโง่ มันไม่เห็นกิเลสตัวเอง ไม่เห็นความโลภ ไม่เห็นอะไรของตัวเอง โกรธขึ้นมาก็ไม่เห็น หงุดหงิดขึ้นมาก็ไม่เห็น เต็มไปด้วยคนที่ดูคนอื่น มันไม่ดูตัวเอง กระทั่งเข้าวัดก็ไม่ค่อยดูตัวเองหรอก ชอบดูคนอื่น เราค่อยๆ เรียน ย้อนมาดูตัวเอง ดูลงไปในร่างกาย ก็เห็นแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูลงไปในเวทนา คือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ มันก็จะเห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ทั้งสุข และทุกข์ ดูลงไปในที่จิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เราก็เห็นจิตมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน จิตที่ดีก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่ชั่ว โลภ โกรธ หลงก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

 

 

พอเราเฝ้ารู้เฝ้าดูนานไปๆ จิตมันเข้าใจมันรู้เลยว่า ในความเป็นจริงแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่จิตเราไปรู้เข้า มันเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ความสุข กับความทุกข์ เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ความดี และความชั่ว ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีอะไรที่คงทนถาวรตลอดกาลได้ รู้ลงไปๆ จิตใจมันจะเริ่มฉลาดขึ้นๆ พอมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา ตัวนี้สำคัญมาก เราจะต้องเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ เห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของใจเนืองๆ เห็นไปเรื่อยๆ ถนัดรู้กายก็ดูไตรลักษณ์ของกาย ถนัดรู้จิตใจ ก็ดูไตรลักษณ์ของจิตใจไป จิตใจเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย นี่ละเฝ้ารู้เฝ้าดูไป สุดท้ายจิตมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง สุข หรือทุกข์ ดี หรือชั่ว มันก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

ตรงที่จิตมันเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเสมอกัน จิตมันจะไม่กระเพื่อมขึ้น กระเพื่อมลง เจอความสุขมันก็ไม่ฟูขึ้น เจอความทุกข์มันก็ไม่แฟบลงไป มีกุศลเกิดขึ้นก็ไม่ฟู รู้สึกกูเก่ง กูดีกว่าคนอื่นอย่างนี้ ไม่มีสภาวะอย่างนี้ เวลาจิตใจมีกิเลสขึ้นมาก็ไม่นั่งด่าตัวเอง มันชั่วเหลือเกิน ทำไมกิเลสมันเยอะนักหนา หงุดหงิด มีกิเลสขึ้นมาพอเห็นแล้วก็หงุดหงิดตัวเองเข้าไปอีก สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดถ้าปัญญามันเกิด จะเห็นว่าทุกอย่างมันเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอทุกสิ่งทุกอย่าง เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์นี่ จิตจะไม่ฟูขึ้น ไม่แฟบลง ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เวลามันกระทบอารมณ์ เมื่อมันไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มันก็เป็นกลาง

นักปฏิบัติชอบพูดว่ารู้ทุกอย่าง สักว่ารู้ สักว่าเห็น จิตเป็นกลาง ได้แต่พูด นักปฏิบัติจะมีสักกี่คนที่สักว่ารู้ว่าเห็นได้ ไม่มีเท่าไหร่หรอก น้อยตัวเต็มที เพราะปัญญามันไม่พอที่จะสักว่ารู้ว่าเห็น ถ้าเราภาวนาทุกวันๆ ไม่เลิก สติระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนา คือความสุข ทุกข์ ก็เห็นไตรลักษณ์ของความสุข ความทุกข์ สติรู้จิตสังขาร ก็เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตสังขารไป เฝ้ารู้เฝ้าดูไปนานๆๆๆ สุดท้ายจิตมันก็จะพ้นจากความปรุงแต่ง พ้นจากความหิวโหยก่อน หมดความอยากที่จะให้ดี หมดความอยากที่จะให้สุข หมดความอยากที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน จิตที่มันไม่มีความอยากนั่นล่ะ คือจิตที่จะสัมผัสพระนิพพาน

 

เรียนเข้ามาที่ตัวเอง แล้ววันหนึ่งเราจะรู้จักสันติสุขที่แท้จริง

นิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก ห้ามใจไม่ให้อยาก ห้ามไม่ได้ วิธีทำใจให้พ้นความอยาก ก็คือเห็นความจริงของกายของใจ การเห็นความจริงของกายของใจ เรียกว่า วิชชา ล้างอวิชชา คือการไม่รู้ความจริงของกายของใจ ของอริยสัจ 4 พอเราล้างความเห็นผิดตัวนี้ได้ ใจมันก็หมดความดิ้นรน ใจที่หมดความดิ้นรน ก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง คือพระนิพพาน แต่ไม่ใช่ไปนั่งสมาธิ พอจิตสงบแล้วบอกนิพพาน นิพพานไม่ได้มีอย่างนั้นหรอก แต่ว่าวิมุตติมี วิมุตติมีตั้ง 5 ชนิด วิมุตติความหลุดพ้น หรือนิโรธก็มี 5 อย่าง มันดับมันพ้นเพราะการทำสมถะ มันดับมันพ้นเพราะการทำวิปัสสนา มันดับมันพ้นแต่พ้นชั่วคราวนะพวกนี้ มันดับมันพ้นเพราะอริยมรรค มันดับมันพ้นเพราะอริยผล เป็นความดับพ้นที่จริงแท้คือพระนิพพาน นี้มี 5 ตัว ตัวนิโรธตัวความดับ

อย่างนั่งสมาธิจิตฟุ้งซ่านสงบลงไป เรียกว่ามีวิมุตติเหมือนกัน มีนิโรธเหมือนกัน แต่ว่าตื้นๆ ทำด้วยสมาธิ ทำด้วยสมถะ บางทีก็จะเราเกิดกิเลสแรงนะ เราดูลงไป โอ้ ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่สาระแก่นสาร จิตใจก็ไม่ใช่สาระแก่นสาร กิเลสก็สงบลงไป นี่สงบ หรือสัมผัสนิโรธชนิดที่ 2 สัมผัสด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ถัดจากนั้นที่เราทำอย่างนี้มากๆ จนจิตเป็นกลางแล้ว เราจะเจอนิโรธอันที่ 3 คือนิโรธเพราะอริยมรรค อันที่ 4 นิโรธเพราะอริยผล แล้วก็อันที่ 5 คือตัวพระนิพพาน นิพพานไม่เกิด นิพพานไม่ดับ ของอื่นเกิดๆ ดับๆ ทั้งสิ้นเลย ฉะนั้นเราค่อยๆ ภาวนาไป ก็เข้าถึงนิโรธ เข้าถึงใกล้นิพพานเข้าไปๆ ฝึกทุกวันๆ ด้วยการที่เห็นความจริงของกายของใจนี่ล่ะ มันถึงจะได้ของจริง ถ้าเราไม่เห็นความจริงของกายของใจ มันก็หลงโลก พอหลงโลกคราวนี้ก็กูดีกว่าคนอื่นแล้ว หรือความเห็นแก่ตัวต่างๆ ก็เกิดขึ้น เริ่มอยากจะเหนือคนอื่น อยากจะได้ดีกว่าคนอื่น อยากรวยกว่าคนอื่น อยากมีอำนาจมากกว่าคนอื่น

ตัวเองมีแล้วก็อยากให้ลูกของตัวเองได้ต่ออะไรอย่างนี้ หลายประเทศ ตั้งลูกขึ้นมาสืบตำแหน่ง เป็นประธานาธิบดีแล้ว ก็อยากให้ลูกเป็นอีก บางประเทศก็สืบตระกูลกันเลย ปกครองไม่เฉพาะระบอบกษัตริย์ ที่เลือกตั้งๆ บางทีมันก็ตระกูลทั้งนั้น ไปดูนักการเมือง อย่างประเทศอเมริกา เขาเล่นกันเป็นตระกูลๆ ไปที่ไหนมันก็เป็นอย่างนั้น เมืองไทยก็ดูสิเห็นไหม พ่อเคยเป็นรัฐมนตรีก็ดันลูกเป็น ส.ส. ต่อไปลูกก็เป็นรัฐมนตรี ก็เล่นกันเป็นตระกูลอีก เราไปห้ามอะไรอย่างนั้นไม่ได้ อาชีพเขา เราจะไปแก้ทุกคนไม่ได้ คนแรกที่เราจะต้องแก้ คือตัวเราเอง ตัวเราเองยังแก้ไม่ได้ จะไปแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างไร คนส่วนใหญ่คิดว่ากูเก่ง กูฉลาดเสียเหลือเกิน พูดออกมาแต่ละคำนี่รู้ว่าโง่ โง่จนไม่รู้จะโง่อย่างไรเลย พูดออกมาได้แต่ละคน บางทีไม่พูดแล้วนึกว่าฉลาด พอพูดแล้วเลยรู้เลยว่าไม่ฉลาด เพราะมันมัวแต่มองคนอื่น ดูเข้ามาที่ตัวเอง เรียนเข้ามาที่ตัวเอง แล้ววันหนึ่งเราจะรู้จักสันติสุขที่แท้จริง

เวลาเราจะภาวนา จนกระทั่งใจมันรู้จักการปล่อยแล้ว ดูลงมาที่กาย มันปล่อยวางกาย มันเห็นเลย กายไม่ใช่เราอะไรหรอก เป็นสมบัติของโลก ดูที่เวทนา มันก็ปล่อยเวทนา ดูที่สัญญา ก็ปล่อยสัญญา ดูที่สังขาร ก็ปล่อยสังขาร ดูที่จิตก็วางจิต ตรงที่มันวางลงไปนี่ มันจะเกิดสภาวะอันหนึ่ง อย่างถ้าเราภาวนาจนเราทำตรงนี้ชำนิชำนาญแล้ว จนเป็นอัตโนมัติแล้ว เวลาเราระลึกถึงแค่ร่างกายนี้ เราเห็นร่างกายนี้รู้สึกร่างกาย แค่รู้สึกร่างกาย จะเห็นว่าร่างกายนี้ว่างเปล่า แล้วความว่างเปล่านี้เป็นอันเดียวตลอดทั้งจักรวาลเลย เป็นสิ่งเดียวกันรวดเลย ตัวกายนี้จิตเราไม่ยึดถือจริงๆ ดูลงไปแล้วจะเห็นสุญญตา ร่างกายนี้ว่าง โลกก็ว่าง จิตที่เป็นคนไปรู้ก็ว่าง ทุกอย่างนั้นว่างเสมอกันหมดเลย ไม่ใช่ว่างเปล่า ว่างเปล่านี้กระจอกมากเลย แต่นี่ว่าง ว่างเฉยๆ ไม่มีคำว่าว่างเปล่า

ค่อยภาวนาดูลงมาเรื่อยๆ ในกายในใจของตัวเอง ความทุกข์ก็จะค่อยๆ ลดลง ความเห็นผิดมันลดลง ความทุกข์มันก็ลดลง ความเห็นผิดมันมาก มันก็เกิดความอยากมาก เกิดความยึดมาก เกิดความดิ้นรนของจิตใจมาก ก็เกิดความทุกข์มาก มันเห็นความจริงของกายของใจแล้ว ความอยากมันก็ไม่เกิด ความยึดมันก็ไม่เกิด ความดิ้นรนของจิตใจมันก็ไม่เกิด ความทุกข์มันก็ไม่เกิด เพราะโลกนี้จะว่างเสมอกันไปหมดเลย ฉะนั้นในว่างนี้อัศจรรย์ มันไม่ใช่ว่างเปล่า ในว่างนั้นมันคือความบรมสุข คือความสะอาด สงบ สว่างที่แท้จริงเลย ไม่มีเจ้าของ

ค่อยๆ ฝึกวันหนึ่งก็เห็นเอง วันนี้ยังไม่เห็นไม่เป็นไร ภาวนาไปทุกวันๆ ปีหน้าอาจจะเห็น ปีโน้นอาจจะเห็น บุญบารมียังไม่พอ ชาติต่อไปก็จะเห็นง่าย อย่างบางคนเราเห็นเขาภาวนาแป๊บๆ เขาเข้าใจแล้ว ก่อนที่เขาจะภาวนาแป๊บๆ เข้าใจแล้ว เขาลำบากมาตั้งเท่าไหร่แล้ว เราไม่รู้ตรงที่เขาลำบาก บางท่านท่านก็ไม่รู้ตัวท่าน เพราะท่านระลึกไม่ได้ บางท่านระลึกได้ท่านก็รู้ว่าท่านทุกข์มาเยอะแล้ว ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อองค์หนึ่ง ท่านเขียนไว้ไม่มีใครเห็นหรอก จนท่านสิ้นไปแล้ว เขาถึงเอามาพิมพ์ออกมา ท่านบอกว่าท่านคงไม่เกิดแล้ว เพราะท่านเห็นแล้วว่ามันไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ องค์ที่ท่านเขียนเรื่องนี้ไว้ คือหลวงปู่เทสก์ ท่านบอกท่านไม่เอาแล้ว ท่านไม่เกิดแล้ว เกิดทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที

เราค่อยภาวนา เราจะเข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง ไม่ใช่สุขที่เรารู้จัก ไม่ใช่ความว่างอย่างที่เรารู้จัก ความว่างของเราเป็นสิ่งที่ยังเป็นคู่อยู่ ว่างที่คู่กับวุ่นวาย ความว่างของเราเป็นว่างที่เป็นคู่ ว่างที่คู่กับวุ่นวาย ส่วนที่หลวงพ่อบอกนี่แค่ระลึกลงในกายนี่ มันก็ว่าง โลกว่าง จิตก็ว่าง มันว่างอีกแบบหนึ่ง ว่าง มันสันติจริงๆ เป็นสันติ คำว่าสันติๆ คือลักษณะของพระนิพพาน อย่างวัดเราชื่อวัดสวนสันติธรรม สันติธรรมก็คือพระนิพพานนั่นเอง เป็นการบอกให้เรารู้ว่าถ้ามาที่นี่แล้วอย่าหวังสิ่งอื่น มานี่เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง จะแจ้งหรือไม่แจ้ง เมื่อไหร่ไม่สำคัญหรอก แล้วแต่บุญบารมีแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ให้มันรู้ทางแล้วลงมือเดิน ไม่ใช่รู้ทางแล้วเดี๋ยวแก่ๆ แล้วค่อยเดิน ไม่ได้กินหรอก ผัดไปเรื่อยๆ

พอรู้ทางแล้วลงมือปฏิบัติไปเลย เราก็จะใกล้ฝั่งคือพระนิพพานเข้าไปเรื่อยๆ นึกว่านิพพานอยู่ตรงโน้น ใกล้ๆๆ พอเห็น ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่จิตที่มันสะอาดบริสุทธิ์ แต่จิตที่สะอาดบริสุทธิ์ไม่ใช่นิพพาน สภาวะคนละอันกัน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 มีนาคม 2564