ขึ้นภูเขาได้หลายทาง

พวกเราก็ฟังธรรมกันมานาน บางคนเป็นสิบๆ ปี จับหลักของ การภาวนาให้เป็นแล้วลงมือทำ อย่าเอาแต่คิดเอา การปฏิบัติธรรมมันมี 2 ขั้นตอนเท่านั้น อันแรกเป็นขั้นการเตรียมใจ เตรียมจิตใจของเราให้พร้อม สำหรับการเจริญปัญญา ขั้นที่สองก็คือ เอาใจที่พร้อมแล้วมาเจริญปัญญา เราเจริญปัญญาเพื่อให้เห็น ความจริงของชีวิต ของกายของใจเรา พอเราเห็นความจริงแล้ว จิตมันยอมรับความจริงได้ เรียกว่าเราเข้าใจธรรมะแล้ว ถ้าเห็นความจริง แบบฉาบฉวย ลึกๆ ยังไม่ยอมรับความจริง เขาเรียกว่ายังไม่ได้ธรรมะ ไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม

ฉะนั้นธรรมะไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรเลย ถ้าเราพูดศัพท์วิชาการ ฟังแล้วยุ่งยาก อย่างการภาวนามีเรื่องของ สมถกรรมฐาน เรื่องของวิปัสสนากรรมฐาน ฟังชื่อมันก็น่ากลัวแล้ว ถ้าพูดภาษาของคนรุ่นเราก็คือ ขั้นแรกเป็นการเตรียมความพร้อม ของจิต ให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา ขั้นที่สองรู้วิธีที่จะเจริญปัญญา เอาจิตที่พร้อมแล้ว มาเรียนรู้ความจริงของกาย มาเรียนรู้ความจริงของใจ เรียนรู้ไปนานๆ จิตยอมรับความจริง จิตก็ปล่อยวาง ปล่อยวางความยึดถือในรูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย พอเขาปล่อยวางได้ก็พ้นแล้ว พ้นทุกข์แล้ว เพราะตัวรูป ตัวนามนั่นล่ะคือตัวทุกข์

ภาวนาจนมันปล่อยกายปล่อยใจ แต่ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม ปล่อยตามกิเลส อันนั้นไม่เรียกว่าปล่อย มันอยู่เหนือกิเลส ถึงจะปล่อยได้ ถ้าตามใจกิเลสแล้วบอกตอนนี้ ปล่อยเนื้อปล่อยตัว เหลวไหลไปเรื่อยๆ อันนั้นไม่ใช่คำว่า ปล่อย ไม่ใช่ปล่อยวาง ปล่อยวางมันเกิดจากปัญญา เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ พอคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น พอหลุดพ้น จึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

เส้นทางของการปฏิบัติมันจะอยู่ในแนวนี้ คือต้องเห็นตาม ความเป็นจริงให้ได้ จะเห็นตามความเป็นจริงให้ได้ ก็ต้องเตรียม ความพร้อมของจิตเสียก่อน พอจิตมีความพร้อมที่จะเจริญปัญญา ก็ลงมือเจริญปัญญาให้ถูกต้อง แล้วก็ให้มากพอ ถูกต้องอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมากพอด้วย อย่างการเจริญปัญญาอย่างถูกต้องนี่เรียกว่า ธรรมวิจยะ เป็นการวิจัย ค้นคว้าวิจัยธรรมะ ถัดจากธรรมวิจยะคือวิริยะ ทำให้ถูกก่อน แล้วค่อยทำให้มาก ถ้าเริ่มจากทำให้มากแล้ว ทำไม่ถูกนี่ไปไกลเลย หลงกันนาน แก้กันนาน เมื่อเช้ายังเล่าให้อาจารย์อ๊า ฟังเลยว่า คนไม่เคยปฏิบัติมาเรียนเรื่องปฏิบัติ มันจะง่าย พวกที่เคยปฏิบัติมาแล้ว พอลงมือปฏิบัติ ต้องนั่งแก้กันนานเลย บางคนแก้เป็นปีเลยกว่าจะได้ ส่วนใหญ่ก็ไปติดเพ่ง ติดอะไรอย่างนั้นไป มันก็ใช้ไม่ได้ คนไม่รู้เรื่องเลยมาหัดเรียน มันจะเข้าใจง่าย จะเรียนได้ง่าย

สมัยพุทธกาล คนไม่เคยฟังธรรมะที่ถูกต้องมาฟังธรรมะ ครั้งแรกจากพระพุทธเจ้า มันซึมซับง่าย คล้ายๆ จิตใจยังไม่ปนเปื้อน สิ่งสกปรกมาเยอะ อย่างพวกเราดูฤๅษีบางองค์อย่างนี้ ทำไมเขาตรัสรู้ได้เร็ว พวกฤๅษีที่ตรัสรู้ได้เร็ว ถ้าเราไปสังเกตดู พวกนี้จะมีพื้นฐานที่ดีอยู่ ส่วนใหญ่จะเชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรมอยู่ เขาเชื่อหลักพื้นฐานอยู่แล้ว เขาขาดวิธีเจริญปัญญาที่ถูกต้องเท่านั้นเอง เขาคิดว่าทำอย่างนี้แล้วเจริญๆ หรือบางคนก็กิเลสเขาเบาบาง ขนาดพระพุทธเจ้ายังบอกเลยว่า ดาบสองค์นี้กิเลสเบาบาง ถ้าได้ฟังธรรมนิดเดียว ก็จะบรรลุแล้ว ฉะนั้นพวกนี้ ถึงเคยปฏิบัติ แต่เขาปฏิบัติมาในเส้นทางที่ดี ก็มาต่อยอด พวกนี้ก็บรรลุง่าย

อย่างพวกชฎิลสามพี่น้องอะไรอย่างนี้ หรืออย่างอุปติสสะ โกลิตะอะไรพวกนี้ พวกนี้เป็นนักปราชญ์เป็นคนฉลาด แล้วก็แสวงหาความรู้ ไม่ใช่เป็นนักปราชญ์ชนิดกูเก่งๆ พวกนี้เที่ยวหาว่าหลักธรรมที่แท้จริง อยู่ที่ไหน เที่ยวหาไปเรื่อยๆ ถึงขนาดไปสมัครเข้าสำนักปริพาชก ปริพาชกสมัยกรีก มันก็มีในยุคของยุโรป ในยุคของกรีก คือเป็นพวกที่หาความจริง ด้วยการตั้งข้อโต้แย้ง พวกเราเคยได้ยินชื่อ โสเครติสไหม โสเครติสนี่ชอบ ตั้งคำถามกับคนอื่น แล้วเขาตอบไม่ถูก สุดท้ายก็จะได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่เชื่ออยู่นั้นเชื่ออย่างงมงาย พวกปริพาชกเขาก็เก่ง เขาตั้งคำถามเก่ง หลอกล่อเก่งอะไรอย่างนี้ เอาชนะกันด้วยวาทะ พระสารีบุตรก็ไปเรียน แล้วเป็นปริพาชกที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นตอนหลังท่านไปเจอปริพาชิกา ผู้หญิงที่เป็นปริพาชก นักโต้แย้ง มาโต้กับท่าน สู้ท่านไม่ได้ เพราะท่านเก่ง ท่านเคยฝึกโต้แย้งมาแล้ว

ท่านเหล่านี้ ท่านขนาดมีชื่อเสียงเป็นปริพาชกมีชื่อเสียง ลึกๆ ท่านก็ยังรู้ว่านี่ไม่ใช่ทาง เพราะว่าความทุกข์ยัง ไม่พ้นไปจากใจของท่าน ท่านถึงตั้งกติกาตกลงกับโกลิตะ อุปติสสะคือพระสารีบุตร ไปตกลงกับโกลิตะ ซึ่งทีหลังเป็นพระโมคคัลลาว่า ถ้าหากใครได้ยินธรรมะที่ถูกต้อง แล้วให้มาบอกกัน สัญญากันไว้ แล้วอุปติสสะได้ยินก่อน ได้ยินจากพระอัสสชิ เห็นพระอัสสชิไปบิณฑบาต กริยามารยาทเรียบร้อย อินทรีย์ผ่องใส ท่านผ่องใส มันเป็นเรื่องปกติ พระอรหันต์ท่านก็ผ่องใส เพราะท่านไม่มี กิเลสเครื่องเศร้าหมอง พอใจมันไม่เศร้าหมอง ร่างกายมันก็สะอาด ผ่องใสไปด้วย

อุปติสสะก็ไปเห็นพระอัสสชิผ่องใสก็เดินตามไป รอให้พระอัสสชิ ฉันข้าวให้เสร็จก่อน บิณฑบาต ได้ฉันข้าวเสร็จแล้วก็เข้าไปคุยด้วย ถามว่าใคร เป็นอาจารย์ของท่าน ท่านชอบใจคำสอนของใคร ก็บอกว่าชอบใจ คำสอนของพระสมณโคดม พระสมณโคดมมีปกติสอนอะไร พระอัสสชิท่าน ก็ถ่อมตัว ท่านบอกท่านเพิ่งบวชไม่นานหรอก ท่านรู้นิดเดียว อุปติสสะก็เลยบอกว่า มีมากมีน้อยอะไร ท่านบอกมาเถอะ งานบอกเป็นเรื่องของท่าน งานทำความเข้าใจเป็น เรื่องของผมเอง ท่านก็สอนง่ายๆ “ธรรมใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และแสดงความดับไปแห่งธรรมนั้น พระตถาคตเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้” ฟังเท่านี้ได้เป็นพระโสดาบัน พวกเราฟังให้ตายก็ไม่เป็นเพราะเราฟังไม่ออก

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง บอกว่า “เย ธัมมา เหตุปัปพวา” ธรรมทั้งหลาย มันเกิดขึ้นมามันมีเหตุ เย ธัมมา เหตุปัปพวา ธรรมทั้งหลายที่เกิดจากเหตุ สิ่งที่เรียกว่าธรรมที่เกิดจากเหตุคือ สังขตธรรม สิ่งที่ไม่ได้เกิดจากเหตุ เรียกว่า อสังขตธรรม มีนิพพานอย่างเดียว สิ่งที่เรียกว่า สังขตธรรม ก็คือรูปธรรมนามธรรมนี้ มันเกิดจากเหตุ ตรงที่ท่านบอกว่า ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ท่านก็เข้าใจออกมา สิ่งที่เกิดจากเหตุก็คือ ตัวรูปธรรม ตัวนามธรรมทั้งหลายนี้เอง การที่รู้จักรูปธรรม รู้นามธรรม นั่นคือการรู้ทุกขสัจ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น ธรรมทั้งหลาย มันต้องมีเหตุ เหตุมันคือตัวสมุทัย เพราะฉะนั้นท่านฟังประโยคที่สอง ประโยคแรกท่านรู้จักคำว่า ทุกข์ ประโยคที่สอง ท่านรู้จักคำว่า สมุทัย และพระตถาคตเจ้าแสดงถึงความดับไปของธรรมนั้น ดับอย่างไร ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้ามีเหตุทำให้เกิด เวลาดับก็ดับที่เหตุ แล้วถ้ารูปนามมันดับไป อะไรจะเกิดขึ้น ตัวนิโรธ ตัวนิโรธนี้จะปรากฏขึ้น

เพราะฉะนั้นประโยคสั้นๆ นี้ครอบคลุมอริยสัจ สามข้อไปแล้ว แล้วพระตถาคตเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ ตัวนี้เป็นการชี้ทางแล้ว ถ้าเธอสามารถรู้ทุกข์ ละสมุทัยได้ เธอก็แจ้งนิโรธได้ การรู้ทุกข์จนกระทั่ง ละสมุทัยแจ้งนิโรธได้ นั่นล่ะคือการเจริญอริยมรรค ฉะนั้นท่านฟังแค่นี้ บารมีท่านเต็มแล้ว พวกเราฟังให้ตายก็ไม่รู้เรื่อง สวดให้ตายก็ไม่รู้เรื่อง เพราะบุญบารมีของเราไม่ขนาดท่าน

พอท่านได้พระโสดาบันแล้ว ท่านก็ถามว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พอพระอัสสชิบอกแล้ว ท่านก็บอกท่านยังไม่ไปหา เพราะท่านมี ข้อตกลงอยู่กับเพื่อน ต้องไปบอกเพื่อนก่อน โกลิตะเห็นอุปติสสะ เดินมาก็เห็นความผ่องใส ท่านเหล่านี้บารมีท่านแก่กล้าแล้ว ท่านเห็นอุปติสสะเดินมาผ่องใสผิดกว่าทุกวัน ดูออก ไม่ใช่เรื่องประหลาด อะไรเลย เพราะท่านเหล่านี้ส่วนใหญ่ท่านก็จะได้อภิญญา 5 มาแล้ว มีหูทิพย์ ตาทิพย์อะไรอย่างนี้ เป็นเรื่องปกติของพวกท่านอยู่แล้ว เห็นอุปติสสะผ่องใสมา ก็เลยถามว่าเพื่อนเราได้ธรรมะมาแล้วหรือ บอกก็ได้ เล่าคำสอนที่ พระอัสสชิสอนให้ ธรรมใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และแสดงความดับไปแห่งธรรมนั้น พระตถาคตเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ โกลิตะก็บรรลุโสดาบันอีกองค์หนึ่ง

ท่านเหล่านี้ท่านเป็นคนนอกศาสนาพุทธ ที่จริงคนในยุคพุทธกาล เป็นคนนอกศาสนาพุทธทั้งหมดนั่นล่ะ แต่ว่าบางกลุ่มมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ บางกลุ่มค่อนมาทางสัมมาทิฏฐิ อย่างพระโมคคัลลา พระสารีบุตร ท่านยอมรับเรื่องเหตุกับผล อย่างพวกชฎิลนั้นก็เรื่องบาปเรื่องกรรมอะไรก็กลัวอยู่ เป็นเรื่องมีความคิดเห็นที่ถูกต้องพื้นฐานอยู่แล้ว สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าทำกรรมดีให้มีผลดี ทำกรรมชั่ว มีผลชั่วอะไรอย่างนี้ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าอันไหนมันดี พอมาฟังธรรม ต่อยอดนิดเดียว เขารู้ว่าอันไหนมันดี คืออริยมรรคมีองค์ 8 มันดี เขาก็ไปได้ลิ่วเลย ในขณะที่บางคนนี้เซลฟ์จัด ฟังพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง หรือฟังด้วยจิตใจที่ไม่ได้เป็นกุศล อย่างเทวทัตนี่ไม่ใช่คนโง่ เทวทัตเก่งขนาด เก่งมากๆ เลย แต่ว่ามันขี้อิจฉา ก็เท่านั้นล่ะ ก็เลยรับธรรมะไม่ได้ แต่พอเลิกอิจฉาพระพุทธเจ้า ต่อไปก็จะได้ ธรรมะอย่างรวดเร็ว บารมีเยอะ

 

 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้เรื่องลึกลับอะไร มันอยู่ใน 2 ส่วนเท่านั้น ส่วนเตรียมความพร้อมของจิตให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา กับส่วนที่ลงมือ เจริญปัญญา บางคนก็ได้เร็ว บางคนก็ได้ช้า ก็แล้วแต่บุพกรรมที่ทำมา อย่างที่เล่าให้ฟังนั้น การเตรียมความพร้อมของจิตเราก็ต้องรู้ก่อนว่า จิตที่จะใช้เจริญปัญญานั้นหน้าตามันเป็นอย่างไร จิตที่จะใช้เดินปัญญาได้จริงๆ มันเป็นมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง 3 ตัวนี้ เป็นมหากุศลจิต หมายถึงเป็นจิตที่เป็นกุศล ไม่มีความโลภ โกรธ หลงมาแฝงอยู่ ประกอบด้วยปัญญาๆ จิตที่ดีไม่เป็นอกุศล เป็นจิตที่เป็นกุศล บางดวงไม่มีปัญญาหรอก อย่างเรารู้สึกตัว เราดูจิตๆ เรารู้สึกตัวอยู่นี่ เรารู้สึกว่าจิตดวงนี้ดี ปรากฏดูจิตไปจนวันตาย ไม่ได้มรรคผลอะไร เพราะจิตไม่ได้เดินปัญญา

จิตที่เป็นกุศลไม่ใช่ทุกดวงเดินปัญญาได้ มันต้องเป็นจิตที่เคยฝึกฝน ที่จะหมายรู้รูปธรรม นามธรรม ในมุมของความเป็นไตรลักษณ์มาก่อน อย่างน้อยเคยได้ยิน เคยได้ฟัง แล้วก็พอลงมือปฏิบัติจิตมันก็เฉลียวใจ ย้อนมาสังเกตความเป็นไตรลักษณ์ของรูป ของนาม ที่สติไประลึกถึง อย่างนี้เรียกว่าจิตมันมีปัญญา

แล้วอสังขาริกังหมายถึงว่ามันเกิดขึ้นเอง โดยเราไม่ได้บิลต์ (build) ให้เกิด จิตที่เป็นกุศลบางอย่างมันต้องบิลต์ให้เกิด อย่างบางคน เพื่อนมาชวนไปทอดผ้าป่าอะไรอย่างนี้ ไม่อยากไป ขี้เกียจไป ต้องเชียร์กันนานถึงจะไปทอดผ้าป่า บางคนอยากมาวัดหลวงพ่อก็ไปชวนเพื่อน เพื่อนขี้เกียจตื่นแต่เช้า นี่บิลต์กันนานเลยกว่าจะมา คนที่ตั้งใจมาได้บุญสูงกว่า เป็นกุศลที่มีกำลังแรง คนที่ตามเพื่อนมาเพราะถูกบิลต์ เสียไม่ได้เลยมา ได้บุญเล็กน้อย ได้บุญไม่เท่าคนที่จิตมันเป็นกุศลอัตโนมัติขึ้นมาหรอก

จิตมันจะเป็นกุศลอัตโนมัติ มันก็ต้องคุ้นเคยที่จะเป็นกุศล มันถึงจะเป็นกุศลอัตโนมัติ ถ้ามันคุ้นเคยอกุศล มันก็อกุศลอัตโนมัติอีกล่ะ เพราะฉะนั้นทีแรกมันก็ต้องฝืนๆ หน่อย จิตเราคุ้นเคยกับกิเลส เช่น ขี้เกียจตื่นเช้าอะไรอย่างนี้ เราอยากดี เราก็ฝืนใจตื่นมันขึ้นมา พอตื่นมาได้แล้ว ก็ตื่นมาทำอะไร ตื่นมาเล่นอินเทอร์เน็ต งี่เง่า ตื่นมาฟังธรรมๆ นี่อุตส่าห์เทศน์ตอน 9 โมงแล้วนะ กะว่าคนกรุงเทพฯ มันควรจะตื่นแล้ว 9 โมง แต่บางคนมันตื่นเที่ยง ตื่นเที่ยงแล้วมันก็บอก เดี๋ยวไปดูรีรัน ไม่ได้กินหรอก

จะบอกความลับให้ข้อหนึ่ง ตอนที่กำลังเทศน์อยู่นี่ ถ้าเราฟังตอนนี้ จิตใจเราจะกระปรี้กระเปร่า จิตใจจะมีพลัง ถ้าไปฟังแห้งแล้ง ฟังตามทีหลัง มันจะจืดๆ เพราะใจมันไม่เข้มแข็ง ไม่ใช่ปาฏิหาริย์อะไรทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องใจเรามันไม่เข้มแข็ง เวลาไปเปิด เอ๊ะ เดี๋ยวยังไม่ว่างก็ pause ไว้ก่อนอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวค่อยมาฟังต่อ อย่างนี้มันจะไปเข้มแข็งได้อย่างไร แต่มาเผชิญหน้ากัน อยู่อย่างนี้ ฟังฉอดๆๆ อยู่อย่างนี้ ไม่กล้าเหลวไหล จะนั่งหลับก็ยังเกรงใจเลย เพราะอย่างนั้นพลังมันจะต่างกัน ฉะนั้นเวลาฟังหลวงพ่อเทศน์นี่ พยายามฟังสดๆ อย่างนี้ จะได้ความสดใหม่ สดใหม่กว่าไปนั่งฟังทีหลัง ถ้านั่งฟังทีหลัง จะจืดลงไปส่วนหนึ่ง เพราะใจของเรามันจืด ใจของเรามันไม่คึกคัก ไม่ดิ้นรนขวนขวายที่จะฟัง อย่างดิ้นรนขวนขวายที่จะฟัง รีบตื่นมา ทำตัวให้สดชื่นแล้วก็รอฟังอะไรอย่างนี้ จิตมันจะมีกำลังมากกว่ากัน

 

ฝึกจิตฝึกใจของเราให้กลับมาเป็นจิตธรรมดาให้ได้

องค์ประกอบจิตที่จะใช้เดินปัญญาเป็นจิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ถ้าเราโลภ เราอยากจะดี อยากปฏิบัติอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่จิตที่เป็นกุศลหรอก เป็นจิตโลภ ก็ยังไม่ใช่จิตที่เป็นกุศลที่ดี หรือลงมือปฏิบัติแล้วก็เครียด เครียดนั่งเพ่ง นั่งจ้อง เครียดไปหมดเลย จิตที่เครียดเป็นจิตอกุศล เป็นโทสมูลจิต จิตที่มีโทสะเป็นพื้นฐาน มันก็ไม่ใช่จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นกุศล ก็คือจิตธรรมดานี้ล่ะ ก่อนที่ราคะ โทสะ โมหะมันจะมา จิตของคนปกติดีที่สุด จิตปกติดีที่สุด จิตมันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา กิเลสไม่ได้มาตลอดเวลา กิเลสมาเป็นคราวๆ นี้ เราพยายามกลับมาหาจิตที่เป็นปกติของเรา

ลองนึกดูเวลาเราภาวนา ลองนึกดูว่า เอ๊ะ ก่อนที่เราจะลงมือ ปฏิบัติจิตใจเราเป็นอย่างไร ตอนที่เราลงมือตั้งใจปฏิบัติจิตใจเราเป็นอย่างไร สังเกตดู ตอนที่เราไม่ได้คิดเรื่องปฏิบัติ จิตใจเบา ว่องไว คล่องแคล่ว ไม่หนัก ไม่แน่น ไม่แข็ง ไม่ซึม ไม่ทื่อ พอลงมือปฏิบัติทำไมมันทั้งหนัก ทั้งแน่น ทั้งแข็ง ทั้งซึม ทั้งทื่อ เพราะว่าเราทำลายจิตธรรมดาไปแล้ว กลายเป็นจิตของผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติมันก็ต้องเหนือมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่คนธรรมดา เราทิ้งความเป็น ธรรมดาไป ไปหยิบฉวยเอาความไม่ธรรมดา เพราะหลงว่า นักปฏิบัติต้องเหนือธรรมดา

นักปฏิบัติจริงๆ ธรรมดาที่สุดเลย ธรรมดาจนไม่รู้จะธรรมดาอย่างไรเลย จนกระทั่งคนในโลกซึ่งมันไม่ธรรมดามันไม่เข้าใจ มันจะคิดว่านักปฏิบัติ เป็นคนไม่ธรรมดา ที่จริงตัวเองล่ะไม่ธรรมดา ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบอยู่ ยังนึกว่าตัวเองเป็นคนธรรมดา จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตธรรมดา จิตธรรมดาคือ จิตซึ่งปกติอย่างนี้ ตอนที่ราคะ โทสะ โมหะมันยังไม่ได้ครอบเรา แล้วก็พอรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาสบายๆ แล้วเวลาสติมันรู้ลงไปที่กาย มันเคยชิน ที่จะเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ อย่างนี้เรียกว่ามันรู้จักเดินปัญญาแล้ว หรือเวลามันรู้ไปที่ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย มันเคยชินที่จะเห็น ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ อย่างพอโกรธขึ้นมา ไม่ได้นั่งคิดว่าทำอย่างไรจะหายโกรธ กลัวขึ้นมาก็ไม่ได้นั่งคิดว่า ทำอย่างไรจะหายกลัว

เมื่อ 2-3 วันก่อนมีคนมาเล่าให้ฟัง บอกว่าไปภาวนาในป่าช้า กลัวมากเลย มาถามเคล็ดลับหลวงพ่อว่าทำอย่างไรจะไม่กลัว หลวงพ่อบอกว่า เข้าใจการภาวนาผิดแล้ว กลัวให้รู้ว่ากลัว ไม่ใช่ไปภาวนาเพื่อให้หายกลัว อยากให้หายกลัวไม่ต้องภาวนาก็หายได้ ดูสัปเหร่อสิมันกลัวผีเสียที่ไหน มันจับอยู่ทุกวัน ไม่เห็นมันจะกลัวเลยเห็นไหม บอกว่า “คุณนะไปเข้าป่าช้าบ่อยๆ วันหลังคุณเลิกกลัว มันไม่กลัวเองล่ะ ไม่เห็นจะต้องปฏิบัติอะไรเลย” มันเรื่องเบสิกแค่นี้เอง

เพราะฉะนั้นเราไปอยู่ป่าช้า ก็ไม่ใช่เพื่อให้หายกลัว แต่เพื่อจะทำ ความรู้จักกับจิตใจของตัวเอง เห็นไหมมันรักตัวกลัวตาย กลัวผีหลอก กลัวผีหักคออะไรอย่างนี้ นี่รู้ทันจิตใจของตัวเอง ไปเพื่อเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่ไปเรียนรู้ผี มัวแต่สนใจว่าผีจะอยู่ตรงไหน ผีจะซ่อนอยู่ที่ไหนอะไรนี่ อย่างนั้นฟุ้งซ่าน จิตจะปรุงผีขึ้นมาเต็มไปหมดเลย ผีจริงๆ มันไม่ไปนอนอยู่กับศพหรอก พอตายแล้วมันก็ไปตามเวรตามกรรมของมัน จะไปเฝ้าศพอยู่ทำไม แต่ผีเฝ้าศพก็มี เคยเจอเหมือนกัน อันนั้นไม่อยากตาย ไม่อยากตาย พอตายแล้วอยู่ในโลงแล้ว ก็ยังรอว่าเผื่อพ่อแม่จะไปหาหมอเก่งๆ มารักษาให้ นั่นพยายามนอนทาบลงไปบนศพ จะให้พอดี แล้วกะว่าจะลุกขึ้นมาได้ ขืนเธอลุกขึ้นมาได้ พ่อแม่เธอล่ะวิ่งคนแรกเลย ไม่เอาแล้ว แบบนั้นนานๆ เจอทีหนึ่ง ส่วนใหญ่พอตายปุ๊บก็ไปตามเวรตามกรรมของมันแล้ว จิตเรามันหลอกผีตัวเอง หลอกผีอยู่ตรงนั้น ผีอยู่ตรงนี้ ถูกมันหลอก กิเลสนั่นล่ะหลอก

เราพยายามฝึกจิตฝึกใจของเรา ให้กลับมาเป็นจิตธรรมดาให้ได้ จิตธรรมดาก็คือ จิตที่ไม่ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลงมันหลอก จิตใจสบายๆ รู้ตื่น เบิกบานนี้ล่ะ มันจิตธรรมดา ค่อยๆ ฝึกไป แล้วพอมีจิตที่รู้ตื่น เบิกบานแล้ว ถ้ามันรู้อยู่เฉยๆ อันนี้เราก็กระตุ้นให้มันเดินปัญญา อย่างครูบาอาจารย์วัดป่า ท่านให้คิดพิจารณาร่างกายไปเลย ลีลาการคิด พิจารณาร่างกายแต่ละองค์ก็ไม่เหมือนกัน อย่างหลวงปู่สิมท่านเคยสอน เรื่องดูกระดูก ดูตั้งแต่หัวกะโหลก เบ้าตานี่กลวงๆ ดูเข้าไปจนเห็น หัวกะโหลกเห็นอะไรนี่ ดู ค่อยๆ ดู นี่ดูอย่างนี้ พิจารณาลงไปเรื่อย จะให้เห็นมันไม่ใช่ตัวเราของเรา บางองค์ท่านก็ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนังไปทีละส่วนๆ อย่างหลวงปู่แหวนอย่างนี้ท่านดูทีละส่วน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ค่อยๆ ดูๆๆ จนเห็นมันไม่ใช่เรา ตรงที่ใจมันขยันดูไตรลักษณ์บ่อยๆ ดูความไม่เป็นเราบ่อยๆ มันคือกา ฝึกสัญญา ฝึกให้จิตรู้จักหมายรู้ ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ

 

ค่อยๆ ฝึก วิธีการหรือแทคติกนี่มีนับไม่ถ้วน แต่หลักนั้นมีอันเดียว
คือทำอย่างไรจิตจะกลับไปสู่ภาวะเดิม ซึ่งไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มีความผ่องใสอยู่ในตัวเอง

 

ลีลาแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน อย่างหลวงปู่หลุย วิธีพิจารณากายของท่าน ท่านใช้นั่งสมาธิแล้วกำหนดนิมิตเอา ฉีกร่างกายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ท่านเรียก ม้างกาย ม้างคือแยก ดึงแขน ดึงขา ดึงหูออกไปอะไรอย่างนี้ แต่แขนเอาไว้ดึงทีหลัง เอาไว้ดึงอย่างอื่นก่อน ถ้าดึงแขนไปแล้ว อ้าว แล้วกูจะเอาอะไรไปดึงต่อ ดึงหูออกไป ควักลูกตาออกไปอะไรนี่ ควักจมูก ดึงลิ้นออกไป ดึงขาทิ้งไป แหวกท้อง ควักไส้ออกมาอะไรอย่างนี้ ท่านพิจารณาอย่างนี้ แยกๆๆๆๆ จนกระทั่งจิตมันชำนาญ มันชำนาญ พอเห็นร่างกายปุ๊บ เห็นความเป็นไตรลักษณ์เลย ตรงที่มันเห็นได้เองนั่นล่ะ มันถึงจะขึ้นวิปัสสนา ตอนนี้มันเป็นการฝึกสัญญา เป็นการฝึกสัญญาก่อน

ลีลาแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน แต่หลักมันอันเดียวกันคือฝึกจนกระทั่ง ได้จิตที่ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง ไม่มีกิเลสชั่วคราว ถ้าไม่มีกิเลสเลยมันก็เป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องฝึกแล้ว พอจิตเรามีสมาธิขึ้นมา จิตมันก็จะข่มนิวรณ์ ข่มกิเลสได้ชั่วคราว เพราะฉะนั้นบางท่านจะสร้าง จิตธรรมดานี้ด้วยการเข้าสมาธิ เข้าฌานไป พอถึงฌานที่สอง มันจะได้ตัวจิตผู้รู้ขึ้นมา บางท่านไม่ได้ฌาน อย่างคนยุคเราส่วนใหญ่ มันเข้าฌานไม่เป็นหรอก เราก็ใช้วิธีดูสภาวะเอา เช่น ร่างกายมันนั่ง ใจเราเป็นคนดูอย่างนี้ ร่างกายมันหายใจ ใจเราเป็นคนดู ร่างกายมันเปลี่ยนอิริยาบถเคลื่อนไหว หยุดนิ่งอะไรนี่ ใจเป็นคนดู ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ในที่สุดใจที่เป็นผู้รู้มันก็เกิดได้เหมือนกัน

ลีลาที่จะทำให้ตัวรู้มันเกิดจิตตั้งมั่น ที่พร้อมจะเดินปัญญาเกิดขึ้น มีวิธีการสารพัดวิธีเลย ทางใครทางมัน แต่หลักนั้นมีอันเดียว คือทำอย่างไรจิตจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา แล้วสามารถเจริญปัญญาได้โดยไม่เจตนา แล้วจิตผู้รู้นี้ก็ไม่ได้เจตนาให้เกิด เกิดขึ้นอัตโนมัติ ตรงที่มันเกิดขึ้นอัตโนมัติ ตัวนั้นเรียกว่า อสังขาริกัง ไม่ได้เจตนาให้เกิด มันเกิดเอง ทำไมมันเกิดได้ เพราะมันเคยเกิดบ่อย อะไรที่เคยเป็นมันก็เป็นง่าย ฉะนั้นถ้าเราเคยฝึกจิตให้มันเป็นผู้หลง มันก็หลงง่าย ถ้าเรามาฝึกจิตให้เป็นคนรู้ ต่อไปมันก็รู้ง่าย ไม่ต้องเจตนาจะรู้ มันก็รู้ได้เอง

อย่างที่หลวงพ่อบอก นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ เดินอยู่ก็รู้ว่าเดินอยู่ นอนอยู่ก็รู้ไป ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ หรือจิตหนีไปคิด จิตก็เป็นคนรู้ ตรงที่รู้ว่าจิตหนีไปคิด จิตก็เป็นผู้รู้แล้ว ตรงเห็นร่างกายขยับ จิตก็เป็นผู้รู้แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะได้ จิตซึ่งตั้งมั่นขึ้นมา จิตดวงนี้เราไม่ได้เจตนาสร้าง เราไม่ได้เจตนาสร้าง เพราะถ้าเจตนาสร้าง เรามีความโลภ การสร้างของเราก็ไม่บริสุทธิ์สะอาด กลายเป็นการบิลต์มันขึ้นมา เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน

ค่อยๆ ฝึก วิธีการหรือแทคติกมีนับไม่ถ้วน แต่หลักนั้นมีอันเดียว คือทำอย่างไรจิตจะกลับไปสู่ภาวะเดิมซึ่งไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มีความผ่องใสอยู่ในตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านสอน จิตเดิมนั้นมันประภัสสร แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา เราก็อย่าไปปล่อยใจตามกิเลสไปเท่านั้น ค่อยๆ ฝึกตัวเองทำกรรมฐานไป ถ้ามีกิเลสอะไรแทรกก็รู้ทันมันไป ค่อยๆ ฝึกๆ เวลาฝึกก็ฝึกมันอย่างเดียวก็พอ เคยม้างกาย ถนัดก็ม้างกายไป ไม่มีใครเขาว่าหรอก เคยทำอานาปานสติก็ทำไป ใครจะมาว่าใครได้ ทางใครทางมัน หรือจะเคยฝึกดูจิตก็ได้ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ๆ มันก็เกิดจิตผู้รู้เหมือนกัน ในที่สุดเราก็จะได้จิตที่มันพร้อมที่จะเดินปัญญาขึ้นมา จิตที่พร้อมเจริญปัญญาก็คือจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั่นเอง ถ้าพูดให้ฟังยากก็คือ มหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง มี 2 ลักษณะ คือบางดวงมีความสุข บางดวงเป็นอุเบกขา ไม่มีตัวทุกข์ ถ้าจิตทุกข์นี่จิตเป็นอกุศลแน่นอนเลย

เราพยายามกลับมาเป็นคนธรรมดาเสียที คำว่านักปฏิบัติของเรานั่นล่ะ เป็นมายา เป็นสิ่งจอมปลอม หลอกเราว่าเราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องทำอะไร ไม่เหมือนคนอื่น ต้องเหนือคนอื่น จะต้องดีตลอดอะไรอย่างนี้ อย่างหลวงพ่อ ตอนเป็นโยมอย่างนี้ คนถามว่า เอ๊ะ ปฏิบัติตั้งนานแล้วทำไม บางทียังดูหงุดหงิดเลย โมโหอะไรอย่างนี้ บอกว่า “ไม่ใช่พระอนาคามีนี่ครับ ยังโมโหได้ ถามมากยิ่งโมโหนะครับ” ว่าอย่างนี้หนีเลย ไม่กล้าแล้ว กลัว ตอนนั้นหลวงพ่อไม่ได้อ้วนอย่างนี้ มือไม้นี่แข็งแรง แขนขายาว ชกกับเราไม่ได้เปรียบหรอก ก็คนมันยังมีกิเลส จะให้มันดีอะไรหนักหนา มันเป็นไปไม่ได้ นอกจากแกล้งดี จะทำอะไรก็แกล้งเป็นนักปฏิบัติ วิญญาณนักปฏิบัตินี่ ฆ่ามันให้ตายไปเลย มันหลอกลวงเรา มันก็คือภพๆ หนึ่ง เท่านั้นเอง ซึ่งกิเลสตัณหาหลอกเรา โมหะหลอกเราว่าเราเป็นนักปฏิบัติ นักปฏิบัติจริงๆ ไม่มียี่ห้อหรอก ฝึกตัวเองให้ใจมันตื่นขึ้นมาเท่านั้นเอง พอใจมันตื่นขึ้นมา ได้แล้วก็เดินปัญญา

 

 

งานที่สอง คือเดินปัญญา การเดินปัญญาก็มีวิธีการเยอะแยะไปหมดเลย ก็เหมือนการฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมา มีวิธีการนับไม่ถ้วนเหมือนกัน หลักมีอันเดียว แต่วิธีการแล้วแต่บุคคล ถึงบอกทางใครทางมัน อย่างหลวงพ่อฝึกตัวรู้ขึ้นมาได้ ขึ้นมาด้วยการทำอานาปนสติ พอจิตมันสงบ สว่าง มีปีติ มีความสุขขึ้นมา เห็นว่าปีติกับความสุขก็เป็นของถูกรู้ถูกดู นี่มันมีหลักนิดเดียวเองคือ ถ้าเมื่อไหร่เห็นว่าสิ่งหนึ่งเป็นของถูกรู้ถูกดู สิ่งที่เป็นผู้รู้ผู้ดูมันก็จะเกิด อัตโนมัติขึ้นมา ง่ายๆ แค่นี้

พอเรามีตัวผู้รู้แล้วเดี๋ยวเราก็เห็นผู้รู้มันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไป เดี๋ยวก็เป็นผู้ไหลไปดู ไหลไปฟัง ไหลไปดมกลิ่น ไหลไปลิ้มรส ไหลไปรู้สัมผัสทางกาย ไหลไปคิดนึกทางใจ ไหลไปเพ่งทางใจอะไรอย่างนี้ สารพัดจะเป็น นี่เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ตรงที่เราเห็น สภาวะทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั่นล่ะคือการเจริญปัญญา ส่วนจะเจริญปัญญาโดยการดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิต หรือเรียนถึง ธัมมานุปัสสนาอะไร แล้วแต่แต่ละคนไม่เหมือนกัน ทางใครทางมัน ไม่มีทางไหนดีกว่าทางไหนหรอก

บางอย่างมันง่าย อย่างดูกายกับดูจิตนี่ ถือว่าเป็นของง่าย ดูเวทนากับธัมมานุปัสสนา นี่ถือว่าเป็นของยาก ก็บางคนให้มาดูกายแล้วมันจืด อย่างหลวงพ่อถ้าไปเจอหลวงปู่ดูลย์ แล้วท่านบอกให้ดูกาย หลวงพ่อจะรู้สึก จืดชืด ใจไม่มีความ alert ที่จะเข้าไปดูเลย เฉื่อยชา ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่อยากดู ดูมันทำไม ไม่เห็นมีอะไรเลย เรายืมโลกมาใช้ไม่นาน เราก็คืนโลกให้ไป ร่างกายนี้มีแต่ภาระทั้งนั้นเลย ตื่นนอนมาก็มีภาระมากมายใช่ไหม ตั้งแต่ตื่น ทำอะไรบ้าง ตื่นมาก็ต้องไปเก็บที่หลับที่นอน ล้างหน้าใช่ไหม อาบน้ำ แปรงฟัน สระผม ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ ตั้งแต่หัวถึงเท้านี่สารพัดเลย แล้วก็มาแต่งตัว ใส่กางเกงใน ใส่กางเกงนอก ใส่เสื้อใน ใส่เสื้อนอก ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้า หวีผมอีกอะไรอย่างนี้ ภาระทั้งนั้นเลย ถึงเวลาก็ไปหาข้าวกิน ถึงเวลา ก็ต้องแบกร่างกายนี้ไปขึ้นรถเมล์ไปทำงาน ภาระทั้งนั้นเลย ไม่เห็นมัน จะสนุกตรงไหนเลย ใจมันไม่ชอบ มันอยู่ที่ใจชอบหรือเปล่า บางคนชอบดูกายก็ใช้กาย ดูกายแล้ว แหม จิตใจมันกระปรี้กระเปร่า เราก็เหมาะกับการดูกาย เราก็ใช้กาย บางคนให้ไปดูกาย จิตมันจืด มันไม่เอา

หลวงพ่อไปหาหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก หลวงปู่นั่งหลับตาเงียบเลย หลวงพ่อไปกราบท่าน บอกหลวงปู่ครับ ผมอยากปฏิบัติ หลวงปู่เงียบ หลับตานิ่งๆ ค่อนชั่วโมง ลืมตาขึ้นมา ท่านก็สอนให้หลวงพ่อดูจิตไปเลย เพราะถ้าท่านสอนหลวงพ่อดูกาย ใจหลวงพ่อไม่ลงหรอก ใจมันลงให้กับการดูจิต แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ในขั้นต้นๆ บางคนก็เริ่มต้นดูกาย บางคนก็เริ่มต้นดูเวทนา บางคนก็เริ่มต้นดูจิต ทางใครทางมัน แต่ในสุดท้ายไม่ว่าจะดูกาย เวทนา หรือจิต หรือธรรม สุดท้ายมันก็ลงไปที่เดียวกัน เข้าไปสู่วิมุตติอันเดียวกัน เข้าไปสู่ความบริสุทธิ์ หลุดพ้นอันเดียวกัน เข้าไปสู่พระนิพพาน ก็อันเดียวกันนั่นล่ะ มันเป็นสภาวะที่เหมือนกัน

ก็คล้ายๆ คนขึ้นภูเขา ทางขึ้นภูเขาก็อยู่รอบทิศทาง บางช่วงเป็นหน้าผา คนที่ชอบปีนหน้าผา มันมี ให้มันเดินราบๆ ไปอย่างนี้ มันไม่เอา บางคนมีเงินมาก บารมีมากขึ้น ขึ้นเฮลิคอปเตอร์แป๊บเดียวถึงยอดเขาเลย บางคนไม่อยากเป็นอย่างนั้น อยากเดินชมวิว ชมต้นไม้ ชมนกอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ เดินๆๆ แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน บางคนให้สบาย มันไม่ชอบ มันต้องอะไรที่ลำบากๆ มันถึงจะชอบ ใจมันถึงจะลง เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเทคนิคเฉพาะตัว เส้นทางนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่เป้าหมายอันเดียวกัน แต่วิธีการทำนี่หลากหลายมาก

 

เป้าหมายอันเดียวกัน แต่วิธีการทำหลากหลาย

วิธีทำสมถะของแต่ละคนคือ การเตรียมจิตให้พร้อมกับ การเดินปัญญาแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พอจิตมันพร้อมจะเจริญปัญญา แล้วการจะเจริญปัญญาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างให้หลวงพ่อ ไปดูกายนี่จืดมากเลย เพราะหลวงพ่อเคยดูมาแล้ว ก่อนเจอหลวงปู่ดูลย์ นั่งสมาธิไปแล้วเคยได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ได้ไปหาท่าน อ่านหนังสือบ้าง ฟังจากโทรทัศน์บ้างอะไรบ้าง ครูบาอาจารย์ก็มาเทศน์ดูกาย เราก็ลองดูบ้าง ท่านดูเราก็ดู ดูไปที่เส้นผม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูผมก่อน จิตมันมีสมาธิ ผมมันหายไปเลย เห็นหนังศีรษะ พอดูหนังศีรษะ หนังศีรษะก็หายไป เห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลก หัวขาดกลิ้งไปเลย ดูลงมาในตัว เนื้อ หนัง เอ็น กระดูกอะไรหลุดไปหมด เหลือแต่กระดูก ดูกระดูกลงไป กระดูกระเบิด กลายเป็นก้อนกรวดเล็กๆ เกลื่อนอยู่ตามพื้น ยังมีสิ่งให้ดูต่อก็คือก้อนเล็กๆ นี่ กระดูกเล็กๆ นี่ ดูมันต่อไป มันสลายตัวเป็นคลื่นแสง แล้วแสงมันเป็นคลื่น มันเป็นคลื่นๆ สลายออกไป ดูอย่างนั้นแล้วก็ตัวรู้มันก็เกิดขึ้นมา แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าได้ตัวรู้แล้วจะไปทำอะไรต่อ

ถ้าหลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อดูกาย ใจเราไม่ลงให้ แต่พอท่านบอก ให้ดูจิตนี่ เออ เป็นอะไร ไม่เคยเห็น จิตเป็นอะไรก็ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะเอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ จะดูอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับจิตใจตัวเอง แต่ใจมันรู้อย่างหนึ่งว่าถ้าจิตไม่ทุกข์ ใครจะทุกข์ ถ้าจิตไม่ทุกข์ ใครจะทุกข์ นี่ใจมันรู้อย่างนี้ แต่ใจมันรู้ตรงนี้ตั้งแต่อ่านธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรกแล้ว เขาพิมพ์แทรกไว้ในหนังสือของวัดสัมพันธวงศ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ เหรียญหลวงปู่แหวน มีเหรียญหลวงปู่แหวนอยู่หลายรุ่น มีที่กระดาษ เหลืออยู่หน่อยหนึ่ง เขาก็มาลงธรรมะหลวงปู่ดูลย์ บอกจิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ อนึ่งธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก แต่จิตส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติ เป็นสมุทัย ถ้าส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวแล้ว ก็มีผลเป็นทุกข์ ถ้าจิตส่งออกนอก กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติอยู่เป็นการเจริญมรรค ในที่สุดมันก็มีผลเป็นนิโรธ ท่านก็พูดอย่างนี้ แล้วสุดท้ายท่านก็สรุปท่อนที่สาม พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่ จบอริยสัจ ท่านว่าอย่างนี้

พอหลวงพ่ออ่านตรงนี้ หลวงพ่อรู้เลยว่าถ้าจิตไม่ทุกข์ ใครจะทุกข์ อ่านตรงนี้แล้วรู้อย่างนี้ขึ้นมา ฉะนั้นเลยออกไปหาหลวงปู่ พอหลวงปู่สอน ให้ดูจิต ดีใจ ก่อนจะเจอท่าน ก่อนจะเจอตัวท่าน ก่อนจะได้ยินธรรมะของท่าน ก่อนจะรู้จักชื่อท่านอะไรอย่างนี้ นั่งสมาธิอยู่ วันหนึ่งมีนิมิตขึ้นมา อันนี้นิมิตก็เหมือนฝัน ตอนนั้นเป็นโยม เราฝันว่ามีพระแก่ๆ องค์หนึ่ง ผอมๆ แก่ๆ มาหา ยื่นผลไม้อะไรมาให้ก็ไม่รู้ลูกหนึ่ง เราก็รับมา ท่านก็สอน “ผลไม้นี้มัน จะเปรี้ยวหรือจะหวาน มันเกิดจากภายในของมัน” แล้วท่านก็ไป เราก็ปิ๊งเลย คนเราจะชั่วหรือดีอยู่ที่จิตตนเอง จะเปรี้ยวหรือหวานอยู่ที่จิตตนเองนั่นเอง นี่จิตมันเรียนตรงนี้

ฉะนั้นพออ่านเจออริยสัจแห่งจิตของหลวงปู่ดูลย์ ใจมันซาบซึ้งถึงใจว่า โอ้ ถ้าจิตไม่ทุกข์ ใครจะทุกข์ ก็ขึ้นไปหาท่าน สืบอยู่พักหนึ่งว่าท่านเป็นใคร อยู่ที่ไหน ยังมีชีวิตอยู่ไหมอะไรอย่างนี้ ขึ้นไปเรียนกับท่าน ท่านสอนให้ดูจิต พอสอนให้ดูจิต มันถูกกับจริตเรา มันก็ดูเอาๆ ขยันดู ไม่ต้องเกณฑ์ครั้งที่สอง หลวงปู่ไม่เคยสั่งหลวงพ่อสองครั้งเลยว่าให้ไปดูจิต พูดครั้งเดียว เวลาหลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์พูดคำเดียวพอแล้ว หลวงพ่อไม่ต้องให้ท่านมาโอ้โลมปฏิโลม พูดหลายๆ รอบอะไรอย่างนี้ ไม่ต้อง อย่างเรียนกับท่านพ่อลี พ่อพาไปหาท่านตอนเด็ก ท่านพ่อลีบอก ให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุทออกโธ นับสอง ก็ตั้งแต่วันนั้นทำมาตลอด ท่านพ่อลีไม่ต้องมาสั่งครั้งที่สอง ว่าให้ทำอย่างนี้ เจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านให้ดูจิต ก็ดูเลย ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว

ครั้งหนึ่งมีปัญหากรรมฐาน นั่งสมาธิก็หลับ เดินก็หลับ ทำอะไรก็หลับ ขึ้นไปกราบหลวงปู่สิมพอดี เข้าไปหาท่าน ไปเล่าให้ท่านฟังว่า ผมจะทำอย่างไรดี ท่านก็บอกผู้รู้ๆ จะสงสัยอะไร ภาวนาไปเถอะ แล้วจะได้ของดีในพรรษานี้ล่ะ ท่านว่าอย่างนี้ เห็นไหมท่านบอกไม่ต้องสงสัย ครูบาอาจารย์บอกไม่สงสัย หลวงพ่อก็ไม่สงสัย เออ มึงอยากหลับก็หลับไป กูจะภาวนาของกูเรื่อยไป มีสติตามรู้เรื่อยไป อยากหลับก็หลับไป จิตมันก็ค่อยๆ เข้าไปพัก แล้วพอมันมีแรงมันก็ออกมาๆ เดินปัญญาต่อ ก็ได้ดิบได้ดีขึ้นมา อะไรอย่างนี้ เพราะว่าฟังครูบาอาจารย์สั่งคำเดียว ท่านบอกไม่ต้องสงสัย คือไม่ต้องสงสัย ถ้าเป็นรุ่นเรานี่ ถ้าหลวงพ่อบอกไม่ต้องสงสัยหรอก เราจะสงสัยต่อทำไมหลวงพ่อว่าไม่ต้องสงสัย มันจะสไตล์นี้มันเห็นแล้ว อยากเบิ๊ดกะโหลกจริงๆ มันใจไม่ถึง ถ้าใจถึงบอกอะไรก็ทำเข้าไปเถอะ ครูบาอาจารย์ไม่ได้โง่ ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ ที่ท่านบอกนี่ เป๊ะๆๆ ทั้งนั้นเลย

 

 

เราค่อยๆ ฝึกไป มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางคือจิตที่พร้อม กับการเจริญปัญญา ฝึกมาอย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้นี้ แล้วการเจริญปัญญา ก็คือสติระลึกรู้กาย เราก็หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้จิต หมายความเป็นไตรลักษณ์ของจิต มันรู้อะไรก็หมายรู้ความเป็น ไตรลักษณ์ของมัน แรกๆ ก็ต้องตั้งใจหมายรู้ก่อน จงใจพามันคิดพิจารณา อย่างมันรู้กายก็พิจารณากายลงไป เวลาจะเรียนรู้กายก็ไม่ต้องมาห่วงจิต บางคนเรียนรู้กายด้วย อยากรู้จิตด้วย เรียกว่าจับปลาหลายมือ ไม่ได้กินหรอก ถ้าจะดูกายก็ดูให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป จะดูจิตก็ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป ให้จิตมันตั้งมั่นเท่านั้นล่ะ แล้วทุกเส้นทางมันไปที่เดียวกันอย่างที่บอก ง่ายๆ ไม่มีอะไรยากหรอก

เตรียมความพร้อมของจิตก่อน จิตที่พร้อมที่จะเดินปัญญา คือจิตปกติ จิตปกติ คือจิตของคนธรรมดา ก่อนที่กิเลสมันจะเข้ามา อย่างเวลาเรา จะเป็นนักปฏิบัติ พอเรานึกว่าเราเป็นนักปฏิบัติ โมหะมันเข้าแล้ว หลงตัวเองแล้วว่าเป็นนักปฏิบัติ เสร็จแล้วก็เริ่มบังคับกาย บังคับใจ โทสะมันก็เกิด อยากดีใช่ไหม มีราคะ คิดว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติก่อน อันนี้โมหะ แล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติ ต้องอยากดี นี่ราคะ ก็บังคับตัวเอง อันนั้นโทสะ พยายามรู้เท่าทันกิเลสตัวเองไป

จิตใจที่ดีที่สุดคือจิตใจของคนธรรมดา แต่จิตใจของคนธรรมดานี่มัน ไม่รู้วิธีที่จะเจริญปัญญา เราเป็นคนธรรมดาที่รู้วิธีเดินปัญญา คนธรรมดา ไม่ใช่ยอดมนุษย์ ไม่ใช่อมนุษย์ ยอดมนุษย์ต้องเก่งต้องดี ต้องวิเศษ เราจะต้องไม่มีราคะ เราต้องไม่มีโทสะ เราต้องไม่หลง นั่นหลงผิดแล้ว กำลังหลงเลยล่ะ นี่ค่อยๆ กลับมาเป็นคนธรรมดา จิตที่ธรรมดาที่สุดดีที่สุด พอจิตใจเราธรรมดาแล้ว ถ้าสติมันหมายรู้ สติมันระลึกรู้ลงที่กาย สัญญาก็หมายรู้เลย กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แรกๆ คิดเอาก่อน ต่อไปไม่ต้องคิด พอนึกถึงร่างกายเห็นเลย โอ้ ไม่ใช่เราเว้ย เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์อะไรนี่ มันเห็นเอง ตรงที่มันรู้ได้เอง ตรงนั้นมันขึ้นวิปัสสนาแล้ว

ค่อยๆ เรียนไป ไม่ยากหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกไว้แล้ว การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง อันนี้สำหรับผู้ดูจิต ถ้าเราดูกาย เราก็ดูความเป็นจริง ของกายไปเรื่อยๆ จิตเป็นแค่คนดู ต้องมีจิตเป็นคนดู ถ้าพิจารณากายแล้ว แต่ไม่มีจิตเป็นคนดูละก็ฟุ้งซ่าน จิตที่เป็นคนดูคือจิตที่มีสมาธิ เพราะฉะนั้น การพิจารณากายก็ต้องใช้สมาธิ จิตมีสมาธิตั้งมั่นอยู่แล้วก็ดูกาย กายเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ อย่างนี้ถึงจะดูกายเป็นจะเกิดปัญญา ถ้าดูกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนังไปเรื่อยๆ นี่ได้สมาธิ ได้สมถะ แต่ถ้าจะให้เกิดปัญญา จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วก็ดูกายมันทำงานไป หมายรู้ว่ามันเป็นไตรลักษณ์

ถ้าดูจิตก็เห็นจิตมันทำงาน หมายรู้ว่าจิตมันเป็นไตรลักษณ์ เราภาวนาไป ถึงจุดที่จิตมันปล่อยวางเป็นลำดับๆ ไป มันปล่อยวางกายก่อน แล้วมันก็จะมา ปล่อยอารมณ์ที่ละเอียดทีหลัง รูปราคะ อรูปราคะอะไร มานะ อุทธัจจะ อวิชชาอะไรนี่ มาวางทีหลัง ปล่อยของหยาบคือส่วนของรูปก่อน พอปล่อยได้ทั้งหมดแล้ว เวลาเราจะพักอยู่กับพระนิพพานใช่ไหม ไม่ใช่เรื่องยากต่อไปแล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลานั่งเข้าฌาน ตามลำดับเพื่อจะมาอยู่กับพระนิพพานอะไร แค่เราระลึกลงในร่างกาย พอระลึกลงที่ร่างกายแล้วจิตตั้งมั่น มันหมายรู้ลงไป ถึงความเป็นไตรลักษณ์ของกาย กายนี้จะว่างทันทีเลย โลกธาตุที่แวดล้อมกายอยู่ก็จะว่าง จิตก็จะว่าง ว่างไปหมดเลย ตรงนั้นเป็นมหาสุญตา เป็นความว่างทั้งหลายที่รวมเป็นเนื้อเดียวกันหมด ความว่างของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ใจก็ได้พักผ่อน

บางท่านพักผ่อนโดยมีกายเป็นฐาน บางท่านพักผ่อนโดยมี เวทนาเป็นฐาน บางท่านดูจิตเป็นฐาน บางท่านพิสดารกว่านั้น ดูโลกธาตุภายนอก ดูสัตว์ตายแล้วเกิด พระอนุรุทธนี่เครื่องอยู่ของท่าน ดูโลกธาตุ ดูสัตว์ทั้งหลายมันตายแล้วมันไปเกิดที่ไหนๆ เห็นได้อย่างรวดเร็ว เครื่องอยู่แต่ละองค์ไม่เหมือนกันหรอก ฉะนั้นทางใครทางมัน จนจุดสุดท้ายเครื่องพักผ่อนของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 มีนาคม 2564