สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าใจไม่ได้ด้วยการฟัง การอ่าน การคิด ฉะนั้นมาฟังหลวงพ่อเท่าไรๆ มันไม่รู้เรื่องหรอก เหมือนหลวงพ่อตอนยังไม่ได้บวช ตอนเป็นโยมตั้งแต่เด็กๆ พยายามอ่าน พยายามฟัง พิจารณาคิดเอาอะไรอย่างนี้ ไม่เข้าใจ มีเรื่องให้สงสัยไปเรื่อยๆ มาภาวนาเข้ามาถึงจิตถึงใจ จะหมดสงสัยได้ ทีแรกก็อาศัยตำรับตำรา อาศัยฟังครูบาอาจารย์ ก็ได้หลักการปฏิบัติ ค่อยๆ เข้าลู่ทาง เข้าร่องเข้ารอย

อย่างรุ่นของเรานี้ ครูบาอาจารย์ที่เขียนหนังสือไว้ชั้นเลิศ หลวงพ่อเห็นมีอยู่ 2 องค์ องค์หนึ่งความรู้ท่านกว้างขวางเหมือนมหาสมุทร คือท่านอาจารย์ ปยุต สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) เจอท่าน เรียกท่านอาจารย์จนชิน องค์นี้ความรู้กว้างขวาง หาใครเปรียบเทียบยาก อีกองค์หนึ่ง สุดยอดไปอีกข้างหนึ่ง คือท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเจ้าคุณปยุตนั้นท่านอธิบายธรรมะกว้างขวาง ไม่มีประมาณเลย ท่านพุทธทาสท่านย่อธรรมะที่กว้างขวางลงมาเหลือนิดเดียว มาจับแก่นจับใจความของศาสนาพุทธ ท่านน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา ของสิ่งที่เป็นหัวใจจริงๆ คือประโยคที่ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

เมื่อก่อนอ่านของท่านอาจารย์ปยุต เราก็ไม่เข้าใจ อ่านของท่านพุทธทาสก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร นู่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจในศาสนาจริงๆ ได้ครูบาอาจารย์ที่เลิศที่สุดในยุคนี้ 2 ท่านนี้ เราก็ยังไม่เข้าใจ มาภาวนา มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้เข้ามาที่ใจของตัวเอง มาเรียนรู้ไป พอเข้าใจจิตใจตัวเองเป็นลำดับๆ ไป มันก็เห็นเลยว่า จิตมันมีความทุกข์เพราะมันมีความอยาก เพราะมันมีความยึด เพราะมันมีความดิ้นรน

มีอยากก็คือมีตัณหา มียึดก็คือมีอุปาทาน มีความดิ้นรนคือมีภพ แล้วมันก็หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาเป็นตัวเรา เป็นของเราขึ้นมา ตัวนี้เป็นตัวชาติ พอภาวนาดูจากของจริง มันก็จะเห็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านแต่งตำราไว้ ท่านสอนไว้นั้นถูกต้อง ไม่มีผิดเพี้ยน แต่ถ้าเราไม่เห็นสภาวะด้วยตัวเราเอง เราได้แต่จำ แต่เราไม่ได้เข้าใจ ฉะนั้นธรรมะนี่อ่านเอา ฟังเอา คิดเอาอะไรนี่ มันได้ความรู้ขั้นต้น แต่ที่จะรู้ถ่องแท้ถึงขนาดลดละความยึดถือได้ หรือทำลายความยึดถือได้ ต้องภาวนา

การภาวนาจะเริ่มต้นอย่างไรดี การภาวนามันมี 2 ส่วน ส่วนของสมถกรรมฐานกับส่วนของวิปัสสนากรรมฐาน

 

สมถกรรมฐาน จิตสุข จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง

สมถกรรมฐานมีหลักง่ายๆ นิดเดียว อยากให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง ก็อย่าให้จิตมันฟุ้งซ่านไป จิตที่ฟุ้งซ่านคือจิตที่จับอารมณ์อันนั้นที จับอารมณ์อันนี้ที เราจับอารมณ์อันนั้นที จับอารมณ์อันนี้ที จิตมันก็ฟุ้งซ่านไปหาอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันฟุ้งไปอย่างนั้น มันไม่สุข ไม่สงบ ทีนี้ถ้าเราอยากให้จิตมันสุข ให้จิตมันสงบ เราก็อยู่ในอารมณ์อันเดียวได้ ไม่วิ่งวุ่นวายเหมือนหมาขี้เรื้อน วิ่งไปที่นู่นวิ่งไปที่นี่เรื่อยๆ

เราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข มีความสงบ สบายใจอยู่กับอารมณ์อันไหน เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น อยู่กับพุทโธแล้วมีความสุข เราอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับลมหายใจ พอจิตมันได้อารมณ์ที่มีความสุข มันเหมือนเด็กได้ของอร่อย ได้ของชอบ เด็กก็ไม่ไปวิ่งซนนอกบ้าน เด็กก็อยู่ในบ้าน มีอารมณ์ที่มีความสุข อย่างมันชอบกินไอศกรีม เอาไอศกรีมมาล่อมัน มันก็กินไอศกรีมอยู่ที่บ้าน ไม่วิ่งซนออกไปนอกบ้าน มันชอบอะไรก็เอาสิ่งนั้นมาล่อมัน จิตเรามันเหมือนเด็กนั่นล่ะ เราหาสิ่งที่ถูกอกถูกใจมาล่อมัน พอมันอยู่กับอารมณ์ที่ชอบใจ มันก็ไม่วิ่งไปหาอารมณ์อื่นๆ ที่มันวิ่งไปหาอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ก็เพราะมันอยากได้อารมณ์ที่ชอบใจ พอมีอารมณ์ชอบใจมีความสุข มันก็จะพอใจ อารมณ์ในโลก วิ่งหาเท่าไหร่มันก็ไม่มีหรอกที่จะมีความสุขที่แท้จริง แต่อารมณ์กรรมฐานมี

อย่างถ้าเราทำอานาปานสติ เราหายใจไปอย่างนี้ จิตใจเรามีความสุข ความสงบ ความสบาย ให้อยู่ทั้งชาติก็อยู่ได้ มันไม่เหมือนอารมณ์ทางโลก อยู่ประเดี๋ยวประด๋าวก็เบื่อ ฉะนั้นเราก็ต้องรู้จักเลือกอารมณ์ ดูตัวเอง ไม่ได้ดูเพื่อน ไม่ได้ดูครูบาอาจารย์ว่าท่านใช้กรรมฐานอะไร เราดูว่าอะไรเหมาะกับเรา ตัวนี้เป็นสัมปชัญญะตัวหนึ่ง รู้ว่าอะไรสมควรแก่เรา อะไรเหมาะกับเรา เป็นปัญญา ปัญญาขั้นต้นๆ นี้พอเราอยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข มีความพอใจ จิตใจก็ไม่หิวอารมณ์ เที่ยววิ่งร่อนเร่ไปเรื่อยๆ มันก็มีความสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว

สมถกรรมฐาน ก็คือการที่จิตมันไปสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวโดยไม่ได้บังคับ ถ้าบังคับให้มันอยู่ในอารมณ์อันเดียว มันไม่มีความสงบสุข มันจะเครียด มันจะเครียดขึ้นมา อย่างคนส่วนใหญ่นั่งภาวนา ใจมันจะเครียด เครียดเพราะว่าไปบังคับจิตให้อยู่กับอารมณ์อันนี้ ไม่ให้มันหนีไปที่ไหน กรรมฐานไม่ได้ทำอย่างนั้นหรอก ไม่ได้ทำให้เคร่งเครียด รู้จักตัวเองว่าสมควรกับอารมณ์ตัวไหน แล้วก็ใช้อารมณ์ตัวนั้น จิตใจมีความสุข จิตใจก็ไม่หนีไปไหนเองล่ะ สบายๆ อยู่อย่างนั้น บางทีหายใจเพลิน อยู่ไปเกือบสว่าง หรืออยู่ไปจนสว่างเลย ใจมันสงบ ใจมันสบาย มีความสุข ไม่วิ่งซ้าย วิ่งขวา วิ่งข้างบน ข้างล่าง ไปอดีต ไปอนาคตอะไรอย่างนี้ ไม่ไป นี้หลักของสมถกรรมฐาน ก็มีเท่านี้ล่ะ

ส่วนอารมณ์ของสมถกรรมฐาน มีมาก ไม่มีประมาณ ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ เช่น พวกคำบริกรรมทั้งหลาย พุทโธ นะ มะ พะ ทะ สัมมา อะระหังอะไร พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ อะไรได้ทั้งนั้น นี้เป็นอารมณ์เรียก อารมณ์บัญญัติ เรื่องที่คิดขึ้นมา หรือคิดพิจารณาร่างกายอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ก็เป็นการคิดเอา เป็นอารมณ์บัญญัติเหมือนกัน ก็ได้ความสุข ความสงบได้ อารมณ์รูปธรรม นามธรรมก็ใช้ทำสมถะได้

อย่างบางคนบอกดูจิตๆ กลายเป็นติดสมถะ เวลาเราดูจิตบางทีจิตมันว่าง มันสว่าง แล้วเราถลำลงไปอยู่ในความว่าง ในความสว่าง อันนั้นคือการทำสมถะ จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีความสุขอยู่ในอารมณ์อันเดียว เพราะฉะนั้นดูจิตดูใจก็เป็นสมถะได้ ดูกายก็เป็นสมถะ อย่างเห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ เห็นยกเท้า เห็นย่างเท้า เห็นหายใจเข้า เห็นหายใจออก อันนี้คือสมถะทั้งหมดเลย

อย่างหลวงพ่อตอนนั้นคิดว่าถ้าดูกาย ถ้าไปจ้องร่างกายไว้จะเป็นสมถะ ถ้าดูจิตดูใจจะเป็นวิปัสสนา เพราะเราเห็นจิตมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งจิตมันไปเห็นจิตที่กังวลเข้า พอไปเห็นจิตที่กังวล จิตมันรวมเลย ความกังวลก็ดับ โลกก็ดับ ร่างกายก็ดับหายไปหมดเลย เหลือแต่จิตดวงเดียว ก็ไปกราบเรียนหลวงปู่ดูลย์ บอกจิตมันเคลิ้มลงไป ใช้คำอย่างนี้ บอกท่าน ท่านก็เข้าใจ ท่านบอกจิตมันเข้าสมาธิ หลวงพ่อก็กราบเรียนท่านบอก “หลวงปู่ครับ ผมไม่ได้นั่งสมาธินะ ผมดูจิตอยู่” ท่านบอก ดูจิตมันก็ได้สมาธิอัตโนมัติ ตอนหลังถึงจะเข้าใจ โอ๊ย ดูจิตนั่นล่ะ ถ้าเราไปดูตัวจิต มันจะเป็นสมถะ เมื่อไหร่ที่เราดูสภาวะอันใดอันหนึ่ง เป็นสมถะหมดเลย มันจะเป็นวิปัสสนาต่อเมื่อเราเห็นสภาวะอันนั้นแสดงไตรลักษณ์

ฉะนั้นการทำสมถะใช้อารมณ์อะไรก็ได้ ใช้อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่คิดก็ได้ ใช้รูปธรรมก็ได้ ใช้นามธรรมก็ได้ กระทั่งใช้นิพพานก็ทำได้ แต่ว่าจะทำได้เฉพาะท่านที่เคยเห็นพระนิพพานแล้ว อย่างพวกเราไม่เคยเห็นพระนิพพาน เราก็มโนเอา ว่านิพพานเป็นความสงบอะไรอย่างนี้ มีสติคอยรู้ความสงบไปเรื่อยๆ เขาเรียก อุปสมานุสสติ แต่มันยังไม่ใช่ของจริงหรอก ฉะนั้นความสงบมันก็มีหลายระดับ ความสงบสูงสุด สันติอย่างแท้จริง สงบอย่างแท้จริง คือ พระนิพพาน บางท่านที่ท่านภาวนาดี เป็นสุปฏิปันโนแล้ว เวลาท่านเข้าพัก ท่านก็ใช้อารมณ์นิพพาน ประกอบด้วยฌาน 1 2 3 4 5 6 7 8 ได้ ฉะนั้นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน นี่กว้างขวางไม่มีประมาณ ครอบคลุมอารมณ์ได้ทุกอย่างเลย ใช้ทำสมถะได้หมดเลย พอจิตใจเราพอใจอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง เราอยู่กับอารมณ์อันนั้น จิตไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น จิตก็เข้าถึงความสุข ความสงบ อันนี้เป็นส่วนของการภาวนาชนิดแรก การทำสมถกรรมฐาน

 

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม

อีกชนิดหนึ่งคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน การจะทำวิปัสสนากรรมฐานได้ ขั้นแรกต้องหัดเห็นสภาวธรรมก่อน เพราะวิปัสสนากรรมฐานมันเป็นการเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ก่อนที่จะไปเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามได้ ต้องเห็นรูปเห็นนามได้ก่อน เราต้องหัดแยกสภาวะให้ออก เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นแรกที่เราจะเดินไปสู่วิปัสสนา

ขั้นแรกเลยก่อนที่จะถึงวิปัสสนา เราต้องแยกขันธ์ให้ได้ แยกธาตุแยกขันธ์ให้ออก แยกรูป แยกนาม จะเรียกอะไรก็ได้ ที่จริงก็คือแยกออก สิ่งที่เรียกว่าตัวเราถูกแยกออกเป็นส่วนๆ การหัดแยกสภาวะ ทีแรกก็ต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาก่อน ก่อนจะเดินปัญญาได้ต้องมีสมาธิที่ถูกต้องก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา จะแยกธาตุแยกขันธ์ได้ก็ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูเสียก่อน ตรงนี้เราก็ใช้ต่อยอดจากการทำสมถะ หรือจะไม่ต่อยอดจากการทำสมถะ เพราะเราทำสมถะไม่เป็นเลย เรามาใช้ความสังเกตเอาก็ได้

อย่างร่างกายเรานั่งอยู่ รู้สึกลงไปร่างกายมันนั่ง ใจมันเป็นคนรู้ จิตมันเป็นคนรู้ ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ ร่างกายมันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน มันคู้ มันเหยียด มันหายใจออก มันหายใจเข้า จิตเป็นคนรู้คนดู ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ทำใจขึ้นมาว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู มันก็จะมีสิ่งที่เป็นผู้รู้ผู้ดู คือตัวจิตเกิดขึ้น มันจะแยกออกมา หรือเราเห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ความสุขความทุกข์เป็นของถูกรู้ถูกดู ตัวผู้รู้มันก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา

ค่อยๆ ดูไป ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตตสังขาร คือความเป็นกุศล อกุศลทั้งหลาย โลภ โกรธ หลงเกิด ก็รู้ว่าโลภ รู้ว่าโกรธ รู้ว่าหลงไป ไม่ใช่รู้ชื่อมัน แต่รู้สภาวะมัน อาการโลภเกิดขึ้นรู้ทัน อาการโกรธเกิดขึ้นรู้ทัน อาการหลงเกิดขึ้นรู้ทัน มีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ เราก็จะได้ตัวจิตผู้รู้ขึ้นมา หรือจิตหลงไปคิดรู้ทัน เราก็จะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นทีแรกเราก็หัดอาศัยกาย เวทนา จิตอะไรอย่างนี้ เป็นอารมณ์กรรมฐาน แล้วสังเกตลงไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของถูกรู้ถูกดู พอเรารู้ว่ามันถูกรู้ถูกดู มันก็จะเกิดผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา

จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูนั่นล่ะเรียกว่า จิตมันทรงสมาธิแล้ว แล้วคราวนี้ไม่ได้เจตนาจะรู้จะดู สภาวะอะไรเกิดขึ้น สติระลึกรู้สภาวะอันนั้น จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู มันจะเห็นว่าสภาวะอันนั้นไม่ใช่จิต สภาวะทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่ใช่จิต ตรงนี้เรียกว่าเราแยกออกแล้ว อย่างร่างกายนี่ไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้ร่างกาย ฝึกจนมันชำนาญ ไม่ต้องคิดนำ อย่างทีแรกเรานั่งอยู่ เราก็สอนตัวเอง นี่ร่างกายมันนั่ง รู้สึกไหม ร่างกายมันนั่งอยู่ จิตมันเป็นคนรู้อยู่อะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นอุบายขั้นแรกๆ พอจิตมันมีผู้รู้ขึ้นมาแล้ว พอร่างกายมันนั่ง สติมันรู้เลยว่าร่างกายมันอยู่ในอิริยาบถอย่างนี้ หรือความสุขความทุกข์อะไรเกิดขึ้น สติมันรู้ จิตมันเป็นคนดูแล้วมันก็เห็นว่าความสุขความทุกข์เป็นของถูกรู้ถูกดู แยกออกไปจากจิต ไม่ใช่จิต

ร่างกายไม่ใช่จิต ความสุขทุกข์ไม่ใช่จิต กุศล อกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่จิต เป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้น ก็ล้วนแต่เป็นของถูกรู้ถูกดู เราไม่ต้องใส่ชื่อมันก็ได้ แต่ต้องเห็นสภาวะของมัน อย่างสภาวะของความโลภมันจะมีลักษณะที่จะดึงอารมณ์เข้าหาจิตใจของเรา มันจะดึงเข้าหาตัวเอง สภาวะของความโกรธมันจะเป็นสภาวะที่ผลักอารมณ์ออกไปจากตัวเราเอง สภาวะของความหลง ตัวโมหะ จะเป็นสภาวะที่จับอารมณ์ได้ไม่มั่นคง

ฉะนั้นถ้าเราเห็นจิตมันไปดึงโน่นดึงนี่ ถึงเราไม่เรียกมันว่าจิตมีโลภะ จิตมีราคะ แต่ตัวนั้นล่ะคือตัวราคะที่แท้จริง ตัวที่มีพลังงานที่ไปดึงดูดอารมณ์เข้ามา ไม่รู้ชื่อก็ไม่เป็นไร เรียกไม่ถูกหรอก แต่เห็นว่ามันไปดึงอะไรบางอย่างเข้ามา นั้นล่ะคือตัวจิตมีโลภะ หรือบางทีเราก็เห็นจิตพยายามผลักอารมณ์นี้ออกไป เราไม่ต้องเรียกว่าโทสะก็ได้ แต่เราเห็นอาการของจิตที่มันผลักอารมณ์ ถ้าจิตมันดึงอารมณ์ นี่ก็เป็นอาการอย่างหนึ่ง จิตมันผลักอารมณ์ก็เป็นอาการอย่างหนึ่ง จิตมันหมุนไปหมุนมา จับอารมณ์ได้ไม่มั่นคง ก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพูดภาษาให้มันมีคำบัญญัติขึ้นมา ก็คือมีราคะ โทสะ โมหะนั่นเอง แต่คำว่าราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ใช่สภาวะ เป็นสมมติบัญญัติ สมมติว่าสภาวะที่ดึงดูดอารมณ์เข้า เรียกว่าราคะ สภาวะที่ผลักอารมณ์ออกไป เรียกว่า โทสะ สภาวะที่หมุนไปหมุนมา หันซ้ายหันขวา ไม่รู้จะเอาอะไรดี เรียกว่าโมหะ คำเรียกขานไม่จำเป็น สิ่งที่จำเป็นคือการเห็นสภาวะ

เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดเห็นสภาวะเนืองๆ พอจิตมันเป็นคนดูแล้วมันจะเห็นสภาวะทั้งหลายผ่านมาผ่านไปๆ จนกระทั่งใจมันสามารถหมายรู้ได้ มันจะเห็นว่าโลภเกิดแล้วโลภก็ดับ โกรธเกิดแล้วโกรธก็ดับ คำว่า โลภเกิด โกรธเกิดอะไรนี่โดยบัญญัติหรอก ก็เห็นอาการที่จิตไปดึงอารมณ์เข้ามาบ้าง จิตมันผลักอารมณ์ออกไปบ้าง จิตมันส่ายไปส่ายมาไม่รู้จะจับอารมณ์อันไหนดีอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นต่างๆ นานา อย่างนี้เรียกว่า เราเห็นสภาวะ เห็นสภาวะของสังขาร สังขารก็คือความปรุงของจิต ฉะนั้นสังขารไม่ใช่ตัวจิต แต่เป็นความปรุงแต่งของจิต ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ปรุงสุขบ้าง ปรุงทุกข์บ้าง ปรุงโลภ โกรธ หลง ปรุงไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง นี่สิ่งเหล่านี้เป็นความปรุงแต่งทั้งหมด ทั้งปรุงดี ทั้งปรุงชั่ว หรือพยายามจะไม่ปรุงก็คือความปรุงอีกชนิดหนึ่ง

เราค่อยๆ ดูไป จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู เฝ้ารู้เฝ้าดูนานๆ ไป เราจะเห็นทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น เฝ้ารู้เฝ้าดูมัน จะเห็นทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น ดูไปเรื่อยๆๆๆ กำลังของศีล สมาธิ ปัญญามันเพียงพอ อริยมรรคมันจะเกิดขึ้นเอง เวลาที่อริยมรรคเกิด เราไม่ได้เจตนาให้เกิด ไม่มีใครสั่งอริยมรรคให้เกิดได้ อันนี้พระพุทธเจ้าท่านบอก ไม่มีใครสั่งให้เกิดมรรคผลได้หรอก จิตมันเกิดมรรคเกิดผลขึ้นเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญามันสมบูรณ์เต็มที่แล้ว

 

แยกธาตุ แยกขันธ์

เราก็มาฝึก ทีแรกหัดดูสภาวะทั้งหลายไป เห็นจิตเป็นคนรู้คนดูไป ฝึกอย่างนี้ ค่อยๆ แยกๆๆๆ ไป แล้วนานๆ ไปมันจะเห็นเลย สภาวะทั้งหลายพอมันแยกออกจากกันแล้ว แยกออกเป็นส่วนๆ แล้ว คำว่า ส่วน บาลีเรียกว่า ขันธ์ มันคือคำว่า ส่วน แยกเป็นส่วนๆ สภาวธรรมทั้งหลายแยกเป็นส่วนๆ ส่วนของร่างกายก็ส่วนหนึ่ง ทำไมรู้ว่าร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง เพราะจิตมันเป็นคนรู้อยู่ ส่วนของเวทนาก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ทำไมรู้ว่าเวทนาเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะจิตมันเป็นคนรู้แล้วมันเห็นว่าเวทนาไม่ใช่จิต มันเป็นของที่จิตรู้ เวทนาไม่ใช่กาย

อย่างเวลาดูกายอย่างนี้ มันก็จะเห็นเลยร่างกายไม่ใช่จิต ร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน อย่างนี้เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ร่างกายกับจิตมันเป็นคนละอันกัน เวทนาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่จิต สัญญา ความจำได้หมายรู้ ตัวนี้ดูยาก เว้นไปก่อนก็ได้ ดูไปที่ตัวสังขารเลย ฉะนั้นในสติปัฏฐาน ไปดูให้ดีเถอะ พระพุทธเจ้าสอนจากสอนกาย เวทนา จิต จิตนั้นคือจิตตสังขาร กายคือตัวรูป เวทนาคือตัวเวทนา ตัวจิตตสังขาร คือตัวสังขาร ท่านก็ข้ามตัวสัญญาไปก่อน เพราะตัวนี้ยุ่ง บางคนเข้าใจผิด ไปวุ่นวายกับสัญญานี่บ้าเลย อย่างเห็นโต๊ะนี่บอกว่าจะล้างสัญญา เห็นโต๊ะเรียกว่าเตียง เห็นกระติกน้ำร้อนเรียกว่า พัดลมอะไรอย่างนี้ นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องสัญญาเลย นั่นทำให้สัญญาบ้าหนักเข้าไปอีก ธรรมดาก็บ้าอยู่แล้ว ฉะนั้นสัญญานี่ไว้ก่อน เว้นไว้ก่อน

แยกกายออกไปจากจิต แยกเวทนาออกจากกาย ออกจากจิต แยกสังขาร สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย ไม่ใช่จิต มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายมันเป็นวัตถุ เป็นรูปธรรม แต่ตัวสังขารเป็นนามธรรม คนละตัวกัน ไม่ใช่เวทนา เวทนาเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น เมื่อมีผัสสะเท่านั้นเอง สังขารนี่มันเกิดตามมาทีหลัง ที่จริงสังขารนี่มันเกิดจากสัญญาและเวทนา สัญญาและเวทนานี่ทำให้เกิดสังขาร สังขารปรุงขึ้นมา เพราะฉะนั้นบางทีท่านอธิบายคำว่า จิตตสังขารนี่ ท่านชี้ลงมาที่ตัวสัญญาและเวทนา มีสัญญากับเวทนา เวทนาเกิดขึ้น สัญญาเข้าไปหมาย สังขารก็ปรุงขึ้นมา นี้เป็นกระบวนการของมัน

เราก็จะเห็นเลยตัวเวทนาก็ตัวหนึ่ง ตัวสังขารก็ตัวหนึ่ง อย่างพอมีความสุขเกิดขึ้นอย่างนี้ สังขารก็ปรุงเลย เกิดราคะ ชอบใจ อารมณ์นี้มีความสุข ตัวความสุขมันเป็นตัวเวทนา พอมีเวทนาอย่างนี้ สัญญาหมายรู้ว่านี่เวทนา ตัวนี้มีความสุข เป็นสุขเวทนา จิตใจก็ปรุงแต่งความรักใคร่พอใจ ปรุงราคะขึ้นมา ถ้ามีผัสสะแล้วมีเวทนา มีการแปลความหมายของเวทนานี้ว่าเป็นทุกข์ จิตก็ปรุงสังขารคือโทสะขึ้นมา นี่กระบวนการของขันธ์มันทำงานอย่างนี้ พอมันปรุงขึ้นมาแล้ว เราก็เห็นลงไป สังขารไม่ใช่ร่างกาย สังขารไม่ใช่เวทนา มันเป็นอีกสิ่งหนึ่ง แล้วสังขารก็ไม่ใช่จิต

แยกๆๆ อย่างนี้ออกไปเรื่อยๆ พอเราหัดแยกจนชำนิชำนาญ ต่อไปมันแยกโดยเราไม่ได้เจตนา พอจิตมันรู้สึกตัวตั้งมั่นปุ๊บ ขันธ์มันแยกเอง เรียนกับหลวงพ่อ มันจะต้องมีคำว่ามันเป็นเองๆ อยู่เรื่อยล่ะ แยกขันธ์ก็ต้องให้ขันธ์มันแยกได้เอง แต่ทีแรกมันไม่แยก เราก็ต้องแยกให้มัน หัดแยกร่างกายมันนั่ง จิตเป็นคนดู ร่างกายมันเดินมันนอนอะไรอย่างนี้ จิตเป็นคนดู จิตใจมีความสุข จิตใจมีความทุกข์ จิตใจเฉยๆ นี่จิตเป็นคนดูอะไรอย่างนี้ ร่างกายเป็นสุข เป็นทุกข์ จิตเป็นคนดู นี่ค่อยๆ หัดสอนๆๆ มันไป แยกมันไป ต่อไปมันแยกเอง มันแยกเอง พอเกิดอะไรขึ้นมา จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ พอจิตมันตั้งมั่นอัตโนมัติ มีสมาธิแล้ว สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา พอจิตตั้งมั่นมีสมาธิปุ๊บขึ้นมา ขันธ์แยกอัตโนมัติ ไม่ใช่เรื่องยากเลย

สมมติอย่างหลวงพ่อจะขยับ นี่เขาเรียกลูกบวบ จะขยับลูกบวบ ขยับอย่างนี้ เราเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว เราแค่รู้สึก แล้วจิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่นี่ มันจะเห็นตัวที่เคลื่อนไหวไม่ใช่เราหรอก มันไม่ใช่เรา อย่างโยมหลายคนแปรงฟันอยู่ แปรงๆๆ ไปอยู่ รู้สึกปุ๊บเลย ไอ้นี่อะไรอย่างหนึ่ง มันเป็นอะไรอย่างหนึ่ง แขนท่อนนี้ ไม่มีคำว่าแขนด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ของเราด้วย ไม่รู้สึกว่าเป็นเรา ขยับๆ นี่ ทำไมขยับไปอย่างนี้ แล้วมันเห็นแขนไม่ใช่เราขึ้นมาได้ เพราะจิตมันตั้งมั่นขึ้นมา ตรงที่ขยับๆๆ สติระลึกรู้อารมณ์เดียว แล้วก็มันเห็นสภาวะ เห็นการขยับ พอมันเห็นด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ มันจะตั้งมั่นขึ้นมา มันตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมา มันจะเริ่มเดินปัญญา มันจะเห็นแขนนี้ไม่ใช่เราหรอก เป็นอะไรอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าเราฝึกชำนาญ เราจะเห็นทั้งตัวนี้ จะเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวา จะเต้นแอโรบิก จะรำไทเก็กอะไร มันก็ไม่เป็นเรา แต่พูดอย่างนี้ไม่ใช่หมายความว่าจะไปฝึกแยกขันธ์ด้วยการรำไทเก็ก หลวงพ่อไม่เคยเจอใครทำได้ อาจจะมีคนทำได้ แต่หลวงพ่อไม่เคยเห็น ส่วนใหญ่มีแต่หลงๆๆ ออกไป หลงจนกระทั่งสะกดตัวเองเคลิ้มไปเลย แทนที่จะมีสติมันก็กลายเป็นไม่มีสติไป ฉะนั้นเราใช้หลักสูตรของพระพุทธเจ้าง่ายๆ นี่ล่ะ มีสติรู้กาย รู้เวทนา รู้จิตตสังขารของเราไป เราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ตัวผู้รู้มันก็จะเกิด

อย่างส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะสอนให้รู้ทันจิตที่คิด จิตที่คิดคือจิตฟุ้งซ่านนั่นเอง ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตฟุ้งซ่าน จิตผู้รู้ก็เกิด ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเรารู้สภาวธรรมใดๆ ก็ตามถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเป็นปัจจุบันละก็ ตัวรู้เกิดทั้งสิ้น อย่างร่างกายนั่งอยู่ เรารู้ทันว่านี่รูปมันนั่งอยู่ ตัวผู้รู้มันก็เกิด นี้พอมันเกิดแล้ว เราจะเริ่มเดินปัญญาจริงๆ แล้ว จิตมันเป็นคนรู้อยู่ พอสติระลึกรู้รูปที่เคลื่อนไหว มันจะเห็นเลยรูปนี้ไม่ใช่เราหรอก นี่ปัญญามันก็จะเกิดตามมา

ทีแรกก็จะเห็นก่อนว่าตัวที่เคลื่อนไหวมันไม่ใช่จิต ไม่ใช่จิต เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ แล้วต่อไปมันจะรู้สึกลึกซึ้งเข้าไปอีก เอ๊ะ ตัวที่เคลื่อนไหวก็ไม่ใช่เรา นี่มันไม่ใช่เรา ตรงที่ถอดถอนความเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา นี่เรียกว่าเราทำวิปัสสนาแล้ว มันถอดถอนความเห็นผิดแล้ว มันเริ่มมีปัญญาที่แท้จริงถูกต้องแล้ว เรียกว่า เห็นตามความเป็นจริงแล้ว

ฉะนั้นทีแรกหัดแยกสภาวะให้ได้ หลวงตามหาบัวท่านเคยสอน ท่านเคยพูดบอกว่า “นักปฏิบัติๆ ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็น อย่ามาคุยอวดเรานะว่าเจริญปัญญา” ท่านเรียกตัวเองว่าเรา บอก “นักปฏิบัตินะถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็น อย่ามาคุยอวดเรานะว่าเดินปัญญา” ยังไม่ได้เดินหรอก เพราะฉะนั้นการจะเจริญปัญญานี่เริ่มจากการแยกธาตุแยกขันธ์ ถ้าพูดอย่างอภิธรรมก็บอกว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ มีปัญญาสามารถจำแนกแยกแยะรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายออกได้

เพราะฉะนั้นการที่เราฝึก เราท่องตำรา ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่พอเราลงมือฝึกเราถึงจะเห็น เออ มันแยกได้จริงๆ มันแยกเป็นส่วนๆ ร่างกายก็ส่วนหนึ่ง เวทนาก็ส่วนหนึ่ง สังขารก็ส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนดูก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง คำว่าส่วนนั่นล่ะคือคำว่า ขันธ์ ภาษาบาลีใช้คำว่า ขันธ์ ของไทยเราใช้ว่าเป็นส่วนๆ พอแยกเป็นส่วนๆ แล้ว ต่อไปเราก็จะเห็นเลย แต่ละส่วนนั้นไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ตรงนี้ล่ะที่จะเป็นวิปัสสนา มันจะเห็น ไม่ใช่คิด

แต่เบื้องต้น บางคนเห็นร่างกายแล้วก็นิ่งๆ อยู่อย่างนั้น เพ่งร่างกายอยู่เฉยๆ อันนั้นเป็นสมถะ อย่างเห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายพอง ร่างกายยุบ อันนั้นคือสมถกรรมฐาน เพราะอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเห็นนี่ร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน นี่เริ่มเดินปัญญาขั้นต้น เห็นเลยว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา เกิดขึ้นมาแล้วดับทั้งสิ้น อันนั้นเรียกว่า เราเห็นอนิจจัง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นกำลังถูกบีบคั้นให้ดับไป อันนั้นเรียกเห็นทุกขัง ทุกขตา ทุกสิ่งทุกอย่าง มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ตัวนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา

ค่อยๆ ฝึกจนจิตค่อยๆ เขยิบๆๆ ขึ้นมา คนทั่วไปมีแต่จิตฟุ้งซ่าน เราก็มาฝึกให้จิตสงบบ้าง แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ทำกรรมฐานไปแล้วก็สังเกต ทุกอย่างมันของถูกรู้ถูกดู จิตหนีไปคิดนี่ก็ของถูกรู้ถูกดู ทันทีที่รู้ว่าจิตหนีไปคิด จิตรู้ก็จะเกิดขึ้น นี้ฝึกจนกระทั่งเรามีจิตรู้อัตโนมัติ ไม่เจตนาจะรู้เลย ขยับเขยื้อนอะไรนี่มันเห็นหมดเลยว่าสิ่งเหล่านี้ถูกรู้ถูกดูทั้งหมดเลย แล้วถ้าใจไม่ไปนิ่ง ไปแช่ ไปติดในความว่างความเฉย จิตมันเคยเดินปัญญา มันก็จะไปเห็นไตรลักษณ์

 

วิปัสสนาคือเห็นแจ้ง เห็นถูกต้อง เห็นตามความเป็นจริง
ว่ามันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องเห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา

ถ้ามันไม่เห็นไตรลักษณ์ เห็นแต่รูปธรรม เห็นแต่นามธรรม ต้องกระตุ้นมันด้วยการคิดพิจารณา แต่ถ้ามันเห็นไตรลักษณ์แล้วอย่าไปคิด การคิดพิจารณานี่มันเป็นจุดตั้งต้น เป็นอุบาย หลวงพ่อพุธท่านบอกเป็นการนำร่องให้จิตเดินปัญญาเท่านั้นเอง หลวงพ่อบอกตั้งแต่แรกแล้ว ปัญญาที่เกิดจากการคิดยังใช้ไม่ได้จริงหรอก แต่อาศัยมัน หลวงปู่ดูลย์ถึงบอก “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” คิดนำร่องให้มันดูไตรลักษณ์ สอนกายไป สอนให้เห็น ให้จิตมันเห็น สอนจิตด้วย ให้มันเห็นไปว่ากายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นจิตใจมันทำงาน ก็สอนมันไป

ถ้ามันรู้อยู่เฉยๆ ก็สอนมันไป จิตนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน แต่พอมันเห็นได้เองแล้ว ห้ามคิดเลยคราวนี้ ให้รู้ ถ้าเราไปจงใจคิดขึ้นมาอีก จิตจะหลุดออกจากวิปัสสนาทันทีเลย กลายเป็นการคิดแล้ว วิปัสสนาไม่ใช่การคิด วิปัสสนาเป็นการเห็น ปัสสนะแปลว่าเห็น ปัสสนะแปลว่าการเห็น วิ แปลว่า เห็นแจ้ง เพราะฉะนั้นวิปัสสนาคือเห็นแจ้ง เห็นถูกต้อง เห็นตามความเป็นจริงว่ามันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องเห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา แต่การคิดนั้นเป็นการกระตุ้นให้จิตมันหัดเห็น ที่จริงคือการกระตุ้นสัญญา ให้หัดหมายรู้รูปธรรมนามธรรมว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นการกระตุ้นสัญญาเท่านั้นเอง ไม่ทำให้เกิดตัวปัญญาแท้ๆ

 

 

ยากไปไหม ยากก็ช่วยไม่ได้ ไม่ว่าเราทำอะไรใหม่ๆ มันก็ยากทั้งนั้น หัดขับรถใหม่ๆ ก็ยาก จับพวงมาลัยเสียแน่นเลย รถยังส่ายไปส่ายมาเลยใช่ไหม พอขับรถเก่งๆ มือแตะไว้หน่อยเดียว รถก็ไม่ส่ายแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ที่ทักษะ หัดใหม่ๆ ไม่ว่าอะไรก็ยากทั้งนั้น ขี่จักรยานหัดใหม่ๆ ก็ล้มแล้วล้มอีก พอขับเป็นแล้ว ปล่อยมือยังไม่ล้มเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าทำอะไร ยังไม่เคยทำ ทำแรกๆ มันยากทุกอย่าง อย่างอกหักครั้งแรกก็ยากมาก อกหักครั้งที่ 20 เฉยๆ แล้ว เพราะชำนิชำนาญแล้ว อะไรที่ซ้ำๆๆ ไป มันจะชิน ชำนาญ

เพราะฉะนั้นเราหัด อย่าไปนึกว่ายาก อย่าไปบ่นว่ายาก เวลาจะทำกรรมฐาน โอ๊ย ยากเหลือเกินๆ เหนื่อยเหลือเกินอะไรอย่างนี้ ท้อใจ เอาดีไม่ได้หรอก ไม่มีความอดทน ต้องอดทน ธรรมะเบื้องต้นเลย อดทน รู้ไปอย่างซื่อสัตย์ ซื่อตรง รู้สภาวะไป อดทนไป จะสุขหรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่วก็อดทน รู้มันไปเรื่อยๆ ที่มันกลุ้มใจว่าทำไมมันไม่ได้เสียที เพราะมันโลภ เพราะมันอยากได้ ถ้าไม่ได้อยากได้ มันไม่รู้สึกว่านานหรอก

มันเหมือนเราทำงาน สิ้นเดือนเราได้รับเงินเดือน ถ้าบางคนมันขยันทำงาน มันชอบทำงาน มันลืมวันเงินเดือนออกเลย ถึงเวลาเงินเดือนมันก็ออกของมันเอง แต่ว่ามีความสุข ทุกวันๆ นี่มีความสุขที่ได้ทำงาน เราทำกรรมฐานก็ต้องเป็นแบบนี้ อีกพวกหนึ่งขี้เกียจทำงาน ไม่อยากทำงานเลย เบื่อๆ เลย นั่งนับวัน อีก 30 วันเงินเดือนถึงจะออก ตื่นอีกวัน อีก 29 วัน ถึงจะออกอะไรอย่างนี้ มีความทุกข์ทุกวันเลย นานไป 30 วัน มีวันที่มีความสุขวันเดียว ในขณะที่คนทำงานด้วยความสุข มีความสุข 30 วันเลย เงินเดือนออกเหมือนแจ็กพอต ได้รับความสุขเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง การปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน ถ้าหวังผลละก็มันจะรู้สึกว่ายาวนานเหลือเกิน มันจะท้อใจเมื่อไหร่จะได้ๆ เมื่อไหร่จะดี ฟังหลวงพ่อพูดมาตั้งหลายปีแล้ว ทำไมไม่ได้เสียทีอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อบอกให้เลย อีก 20 ปีมันก็ไม่ได้ถ้ายังคิดอย่างนี้อยู่

หัดรู้สภาวะอย่างที่มันเป็น รู้ซื่อๆ ไป เดี๋ยวมันก็เป็นเอง มันก็เข้าใจเอง ทีแรกหัดรู้ตัวสภาวะไป พอเห็นสภาวะทั้งหลายมันแยกออกไปจากจิตที่เป็นคนรู้เรียกว่า เราเริ่มแยกขันธ์ ทีแรกเห็นตัวสภาวะแต่ละตัวๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นทุกๆ ตัวนั้นถูกรู้ถูกดู แล้วต่อไปก็ดู เขยิบขึ้นไป ทุกๆ ตัวนั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กระทั่งตัวจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เพราะว่าจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เห็นไหม ผู้รู้ก็ไม่เที่ยง ผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ ผู้คิดเกิดแล้วก็ดับ เฝ้าดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะเห็นเลยว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา นี่เราได้ธรรมะขั้นต้น เป็นพระโสดาบันแล้ว

ค่อยภาวนาไปเรื่อยๆ ถึงจุดสุดท้ายเราจะเข้าใจสิ่งที่ท่านพุทธทาสท่านสอนว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น อย่างถ้าเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราจะชอบคิดเอาว่านิพพานแล้วมันไปไหน นิพพานแล้วมันไปไหนหนอ อยากรู้จังเลย ทำไมพระพุทธเจ้าก็ไม่สอน ครูบาอาจารย์ก็ไม่สอน นิพพานแล้วมันไปไหน พวกหนึ่งก็วาดภาพนิพพานมีตัวตนอยู่ นิพพานเป็นโลกๆ หนึ่ง พอตายไปแล้วเราก็ไปนั่งเข้าแถวอยู่ในโลกๆ นั้น นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ชื่อสัสสตทิฏฐิ คิดว่ามีสิ่งซึ่งเที่ยงแท้อมตะอยู่ อีกพวกหนึ่งก็คิดว่านิพพานแล้วสูญไปเลย พวกนี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ชื่ออุจเฉททิฏฐิ

แล้วถามว่าแล้วพระอรหันต์จริงๆ ท่านรู้สึกอย่างไร ท่านรู้สึกนิดเดียวเอง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป ท่านไม่พูดต่อแล้วว่าดับไปแล้วไปไหน เพราะไม่ได้เห็นอยู่แล้วว่ามันมีตัวอะไรจะไปไหน มันมีการบรรลุมรรคผล แต่ไม่มีผู้บรรลุมรรคผลมาตั้งแต่แรกแล้ว ฉะนั้นตอนที่จะนิพพานนี่ไม่มีผู้ไปเข้านิพพานหรอก แต่ไม่ใช่สูญ ตรงนี้ล่ะที่ท่านไม่ค่อยสอนกัน เพราะจิตของเรานี่เคยชินที่จะสุดโต่งไปข้างมีกับข้างไม่มี ส่วนข้างว่างนี่ไม่รู้จัก เรารู้จักแต่ของที่มีกับของที่ไม่มี สิ่งที่ว่าง เราไม่รู้จัก มันไม่ใช่มี ไม่ใช่ไม่มี ถ้ามีก็ยังไม่ว่าง ถ้าไม่มีก็ยังไม่ว่าง

ค่อยภาวนา สนุกๆ นะ หลวงพ่อก็ได้แต่ชวน สอนชักชวนให้ร่าเริงใจ ให้เกิดกำลังใจจะปฏิบัติ พอห่างหลวงพ่อก็ไม่ยอมปฏิบัติ มันก็เอาดีไม่ได้ บางคนไม่เจอหลวงพ่อก็ยังภาวนาอยู่ ถึงวันหนึ่งเขาก็ดีของเขา ไม่ต้องมาส่งการบ้านเลย แต่ว่าอ่านจิตตนเองนี่อ่านให้ออก กิเลสอะไรแอบแฝงอะไรอยู่ สภาวะอะไรมีอยู่ สภาวะแต่ละอย่างเที่ยงไม่เที่ยงอะไรนี่ ดูความจริงไปเรื่อยๆ แล้วมันก็เข้าใจธรรมะด้วยตัวของมันเอง ค่อยๆ ฝึกไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
21 มีนาคม 2564